บล๊อกของลุง กับป้า ที่ชอบการท่องเที่ยว
Group Blog
 
 
ธันวาคม 2558
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
27 ธันวาคม 2558
 
All Blogs
 

ตอน 3 - มรดกโลกแห่งเมืองมามัลละปุรัม


แม้จะได้ห้องปรับอากาศ อากาศไม่ร้อนแล้ว แต่ทั้ง 3 สว. ก็ต้องรีบทำเวลา ย้ายไปโรงแรมใหม่ แล้วก็เดินไปยังกลุ่มโบราณสถานมรดกโลกแห่งมามัลละปุรัมทันที   หนังสือ "อินเดียเริ่มที่นี่ ทมิฬนาฑู" มีข้อมูลค่อนข้างละเอียดเหมาะสำหรับเป็นคู่มือเที่ยวอินเดียใต้  และ ณ โอกาสนี้ ขอนำสาระสำคัญบางประการมาประกอบการเขียน  เริ่มจากเทวาลัยชายหาดค่ะ  ค่าเข้าชมเทวาลัยชายหาด รวมปัญจปาณฑพรถะ (Pancha Pandava Rathas / Five Rathas) คนละ 250 รูปี

เทวาลัยชายหาด (Shore Temple)

เทวาลัยชายหาด หรือ ตามชื่อในศิลาจารึกว่า  "ราชสิงห์เหศวร" เป็น กลุ่มของ 3 เทวาลัย สร้างในสมัยราชวงค์ปาลวะ ปลาย ศต. ที่ 7 หรือต้น ศต. ที่ 8  บนชายหาดฝั่งโคโรแมนเดล อ่าวเบงกอล ที่มหาบาลีปุรัม (มีชื่อเดิมว่ามามัลละปุรัม) ซึ่งเป็นเมืองท่าของอาณาจักรปาลวะในขณะนั้น เป็นเทวาลัยที่มีรากฐานที่ตัดแต่งจากโขดหินธรรมชาติ  ตัวเทวาลัยก่อด้วยหินที่สกัดเป็นก้อน ดูสง่างาม และโรแมนติค 




ณ ชายหาดอันเป็นที่ตั้งของเทวาลัย





เทวาลัยชายหาดมี 2 ยอด เป็นเทวาลัยของพระศิวะ มีขนาดสูงลดหลั่นกัน ยอดเทวาลัยทั้งสองหันหน้าเข้าหากัน มียอดหนึ่งหันไปทางทิศตะวันออก อีกยอดหนึ่งหันไปทางตะวันตก ซึ่งจะจับภาพพระอาทิตย์ได้ทั้งขึ้นและตก




ปี 1990 มีการขุดพบบ่อน้ำผังกลม ด้านทิศเหนือข้างเทวาลัย มีรูปสลักหมูก้มหน้ายืนอยู่ด้านหนึ่ง  ตรงกลางมีเทวาลัยหลังน้อย ประดิษฐานรูปพระนารายณ์และพระลักษมี  ภาพสลักรูปหมูนี้ หมายถึง "วราหาวตาร" หรือพระนารายณ์ปางอวตารเป็นหมูป่า ซึ่งขุดดุนแผ่นดินโลกขึ้นจากที่อสูรนำไปซ่อนไว้ใต้บาดาล  เชื่อกันว่าบ่อน้ำนี้ ในอดีตคงเคยมีน้ำทะเลไหลเข้ามาตามเวลาน้ำขึ้นน้ำลง  ดังนั้น รูปสลักวราหาวตารก็จะกลับ "มีชีวิต" กอบกู้แผ่นดินขึ้นจากมหาสมุทรอยู่เช่นนั้นทุกวัน สร้างความหมายทางสัญญลักษณ์ที่สมบูรณ์ให้แก่เทพปกรณัมและงานศิลปะ นับเป็นอัจริยะภาพอันน่าทึ่ง (อินเดียเริ่มที่นี่.. หน้า 229)

 นักวิชาการเชื่อกันว่า รูปแบบเทวาลัยอินเดียใต้ยุคพันกว่าปีก่อนเช่นที่มามัลละปุรัมนี้  ได้กลายมาเป็นต้นแบบของศาสนสถานยุคแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ไม่ว่าจะเป็น "ปราสาท" ขอม หรือ "จันทิ" ในเกาะชวา  ตลอดจนศาสนสถานอาณาจักรจามปาในแดนเวียตนาม  ก่อนจะส่งต่อมายังเมืองไทย  แล้วคลี่คลายจนกลายเป็นพระปรางค์ในเมืองไทย จากเทวลัยชายหาด ก็เดินต่อไปยัง

ปัญจปาณฑพรถะ (Pancha Pandava Ratha) หรือปราสาทหินห้าพี่น้องปาณฑพ (Five Rathas) 

ชื่อ "ปัญจปาณฑพ" ตั้งใหม่โดยคนท้องถิ่นสมัยก่อน ที่เห็นอาคารโบราณ 5 หลัง ตั้งเรียงกัน จึงผูกโยงเข้ากับตระกูลปาณฑพ วีรบุรุษในมหากาพย์ มหาภารตะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวอินเดียคุ้นเคย เหตุที่ได้ชื่อรถะ เนื่องจากกลุ่มปราสาทหินนี้ มีลักษณะคล้ายราชรถที่เทวสถานในอินเดียใต้ ใช้ชักลากอัญเชิญเทวรูปจำลองออกแห่แหนในงานเทศกาลประจำปี 

ปราสาทหินแต่ละหลัง ไม่ได้สร้างขึ้นด้วยการก่อหินก้อนเป็นตัวอาคาร แต่ใช้เทคนิคของงานประติมากรรม สกัด สลัก หรือ "คว้าน" โขดหินแกรนิตสีชมพู จนกลายเป็นสถาปัตยกรรม




จากแผนผังปราสาทหินทั้งห้า โบราณสถานแห่งแรกที่จะพบ คือ 

เทราปตีรถะ (Draupadi Ratha)



เป็นเทวาลัยหลังเล็กที่สุด (ทางซ้ายของภาพ) และเสร็จสมบูรณ์มากที่สุด ขนานนามตามนางผู้เป็นสหภรรยาของห้าพี่น้อง  เนื่องจากมีภาพสลักเป็นรูปเทพสตรีอยู่ภายใน  แต่จากการศึกษารายละเอียด  พบว่าที่จริงเป็นภาพพรนางทุรคา ปางหนึ่งของพระนางปารวตี ชายาของพระศิวะ
อรชุนรถะ (Arjuna Ratha)



หลังถัดมาคือ อรชุนรถะ ตั้งชื่อตามอรชุน วีระบุรุษคนสำคัญในมหาภารตะ  เป็นเทวาลัยผังสี่เหลี่ยมจตุรัส ตัวรถะสลักให้ชั้นล่างมีขนาดสัดส่วน สำหรับคนจริง ๆ เข้าไปใช้งาน  ชั้นหลังคาสลักหินเลียนแบบชั้นล่าง แบบย่อส่วนขึ้นไปซ้อน ๆ กันเอาไว้ ให้เล็กลงตามลำดับ อันเป็นเทคนิคของช่างโบราณ ในการสร้างมิติลวงตาว่าที่เห็นอยู่นี้มีหลายชั้น เทวาลัยนี้อุทิศแก่พระศิวะ

ภีมะรถะ (Bhima Ratha)





เทวาลัยทรงสี่เหลึ่ยมผืนผ้า อุทิศแก่พระวิษณุ  มีหลังคาทรงโค้ง รถะหลังนี้ตั้งชื่อตามภีมะ "ผู้ทรงพลัง" เพราะรูปทรงที่ดูหนักแน่นมั่นคง  ชั้นล่างของภีมะรถะยังไม่ได้ขุดเจาะเข้าไปเป็นห้อง 

ธรรมราชารถะ (Dharmaraja Ratha) 



รถะหลังสูงสุด อุทิศแก่เทพเจ้ากลายองค์ รวมถึงเทพแห่งดวงอาทิตย์ (Surya - สุริยา)  และ เทพแห่งฝนและพายุ (Indra) ตามความเชื่อในศานาฮินดู เนื่องจากเป็นรถะที่สูงที่สุด จึงได้รับชื่อว่า ธรรมราชา ซึ่งหมายถึงยุธิษฐิระ  พี่ชายคนโตของพี่น้องปาณฑพ

นกุล-สหเทพรถะ (Nakula - Sahadeva Ratha)

 นกุล-สหเทพรถะ  เทวาลัยหลังสุดท้าย อุทิศแก่เทพแห่งฝนและพายุ (Indra)  ลักษณะพิเศษคือ ผังอาคารที่ด้านหน้าเป็นรูปจั่วตัดตรง แต่ด้านหลังโค้งมน  อยู่ถัดจากรูปแกะสลักช้าง ซึ่งหากเข้ามาทางประตูด้านเหนือ จะเห็นบั้นท้ายอันกลมกลึงของช้างก่อน  





เทวาลัยนี้จึงเรียกอีกชื่อว่า Galaprishthakara (คชปฤษฎาคาร - elephant's back side)  ช้างสลักหินชนาดเท่าจริงนี้ ได้รับการยกย่องว่าเป็นช้างสลักที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่งในอินเดีย

เนื่องจากมามัลละปุรัมเป็นทั้งศูนย์กลางงานแกะสลักหิน และเป็นที่ตั้งของโรงเรียนประติมากรรมของทางภาครัฐ เราจึงเห็นร้านแกะสลักหินที่แสดงผลงานของตนเอง เรียงรายกันตลอดทางที่ (Beach Road) ที่ไปเทวาลัยชายหาดและเรื่อย ๆ ไปถึงปัญจปาณฑพรถะ







จากนั้นก็แวะเข้าไปชม Sculpture Museum ตามคำแนะนำของ Lonely 


Sculpture museum เป็นพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ แสดงผลงานของนักศึกษาของวิทยาลัยประติมากรรมของรัฐ ค่าเข้าชมคนละ 5 รูปี (ไม่รู้ว่าเป็นเพราะ 5 รูปี 3 บาท นี่หรือเปล่าถึงได้แวะเข้าไปกัน)  มีผลงานทั้งภาพวาด ภาพแกะสลัก และภาพปูนปั้น ให้ดูพอสมควรค่ะ





ต่อไปคือ Olakkannesvara Temple เรียกโดยทั่วไปว่า Olakkanatha Temple (เทวาลัยโอลักนาถ) Olakkannesvara แปลว่าดวงตาแห่งไฟ "flame eye" เข้าใจว่าอาจมาจากคำว่า "Ulaikkannisvaram" ซึ่งแปลว่า "เทวาลัยของพระศิวะ ทีี่บนหน้าผากมีรูปพระจันทร์เสี้ยว หรือดวงตาแห่งความฉลาด" 



เทวาลัยโอลักนาถเป็นเทวาลัยเล็ก ๆ ตั้งอยู่บนยอดสูงสุดของเนินเขาโอลักนาถ สันนิษฐานว่าเดิมคงมียอดสูงช่นเดียวกับเทวาลัยชายหาด แต่ปัจจุบันส่วนยอดหักพังไปหมดแล้ว ส่วนบนจะมีบันไดแคบ ๆ วนได้รอบ มีรั้วกั้นกันตก 



ผ่านสถานีรถบัส แวะถามตารางเวลาที่รถจะไป Chengalpattu เพื่อต่อรถไป Trichy วันรุ่งขึ้น เที่ยวแรก 4.45 น. เที่ยวต่อไป 5.15 น.

จากนั้นก็ย้อนกลับขึ้นไปทางถนน Mada Koil เพื่อชมกลุ่มโบราณสถานมรดกโลก และที่สำคัญที่ห้ามพลาด ก็คือ ภาพแกะสลักอรชุนบำเพ็ญตบะ

ภาพแกะสลักอรชุนบำเพ็ญตบะ (Aruja's Penace)

ภาพนี้เป็นภาพสลักนูนต่ำที่หน้าผาหินแกรนิต เรียกกันว่า ภาพสลักพระแม่คงคาเสด็จสู่โลกมนุษย์ (The Descent of the Ganges) หรือ ภาพสลักอรชุนบำเพ็ญตบะ (Arjuna Penance)  เล่าเรื่องพระเจ้าภคีรถบำเพ็ญตบะ จนพระศิวะเสด็จมาประทานพร ให้พระแม่คงคาไหลลงมาสู่โลก คือธารน้ำตรงกลางภาพ และเชื่อกันว่าพระแม่คงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์  การถือศีลไถ่บาปของอรชุน (ภาพพระฤษี) มีรูปสลักของสัตว์น้อยใหญ่เป็นองค์ประกอบ แกะได้เหมือนจริงราวมีชีวิต

หน้าผาธรรมชาติขนาดใหญ่แห่งนี้ มีความยาว 29 เมตร สูง 13 เมตร เป็นส่วนหนึ่งของเนินเขากลางเมือง ซึ่งมีเทวาลัยและถ้ำเทวสถานยุคปัลลวะอยู่นับสิบแห่ง


กลางหน้าผาเป็นธารน้ำ มีพญานาคและนาคินี (นางนาค ท่อนบนเป็นมนุษย์ ครึ่งล่างเป็นงู) กำลังแสดงอาการรื่นเริงบันเทิงใจ


ภาพสลักที่หน้าผาแห่งนี้ แบ่งเป็น 2 ระดับ  ตอนบน เป็นสวรรค์ชั้นฟ้า มีปวงเทพเหาะมาชุมนุมกัน


 เทพสององค์ที่มีรัศมีรอบเศียร คงได้แก่พระอาทิตย์ และพระจันทร์  นอกจากนั้นก็มีฤษี วิทยาธร คนธรรพ์ รวมทั้งพระศิวะทางถือตรีศูลในพระหัตถ์ขวา พระหัตถ์ซ้ายแสดงปางประทานพร ยืนแวดล้อมด้วยเหล่า "คณะ" คือ คนแคระบริวารของพระองค์  



ตอนล่าง ทางฝั่งขวาของลำธาร เป็นเหล่าสัตว์นานาชนิด มีครอบครัวช้าง ฝูงกวาง แมวบำเพ็ญตบะ  ส่วนฝั่งซ้าย เป็นอาศรมของดาบส มีเทวลัยประดิษฐานรูปพระวิษณุ เหล่าดาบสต่างกำลังอาบน้ำ ซักผ้า บำเพ็ญพรต หรือไม่ก็สวดมนต์  ติดกับภาพแกะสลักอรชุนบำเพ็ญตบะ คือ

กฤษณะมณฑป (Krisha Mandapa)



กฤษณะมณฑปเป็นเทวาลัยถ้ำ อุทิศแก่พระศิวะ ภายในมีภาพสลักเป็นเรื่องราวของ กฤษณอวตาร อวตารปางที่ 8 ของพระวิษณุ ยาว 8 เมตร

ก้อนเนยของพระศิวะ(Krisha's Butterball)



 ในบริเวณเนินเขาเดินต่อจากภาพสลักอรชุนบำเพ็ญตบะ    จะเห็นก้อนหินธรรมชาติรูปร่างกลมใหญ่  เหมือนลูกบอลขนาดยักษ์  จะเรียกกันว่า "ก้อนเนยของพระศิวะ" (Krisha's Butterball)  ในตำนานศาสนาฮินดู เล่าว่าพระกฤษณะ เมื่อครั้งเป็นเด็กอาศัย  มีนิสัยร่าเริงและซุกซน  มักไปลักเอานมเนย แล้วเอาไปเผื่อแผ่เด็กคนอื่น ๆ ด้วย แต่ที่น่าแปลกคือ วัวในบ้านที่ถูกลักขโมย กลับให้น้ำนมมากกว่าเดิม  ชาวบ้านเลยออกอุบายบอกที่ซ่อนนมและเนยเสมอ 

ชาวฮินดูทุกวันนี้ จึงถวายบูชาพระกฤษณะด้วยก้อนเนย  เพื่อขอพรให้เพิ่มพูนความสมบูรณ์แก่ชีวิต 

คเณศรถะ (Ganesh Ratha)



คเณศรถะ เป็นเทวาลัยที่สกัดจากโขดหิน มีรูปทรงกล้ายกับภีมรถะ คือเป็นอาคารทรงยาว  แต่แกะสลักเสร็จสมบูรณ์กว่า   และเรียกว่า "รถะ" เช่นเดียวกัน  และที่มีนามว่าคเณศรถะ  เพราะเมื่อราวร้อยปีก่อน มีชาวบ้านอัญเชิญรูปพระคเณศมาประดิษฐานไว้ภายใน

ถ้ำวราหะ (Varaha Cave

ถ้ำวราหะมีเสาหินสองต้นอยู่ด้านหน้า   ส่วนสำคัญของถ้ำนี้คือ ภาพสลักที่ผนังถ้ำ ที่เป็นเรื่องราวของเทพฮินดูถึงสี่ปาง













ภาพวราหาวตาร  - อวตารปางที่3 ของพระนารายณเปนหมูปากูแผนดินที่หิรัญยักษ์มวนซอนไวใตบาดาล

ภาพคชลักษมี - ชางสรงนํ้าใหพระนางลักษมีเทวี
















ภาพพระนางทุรคา คือปางดุร้ายของปาราวตี ชายาของพระศิวะ   

ภาพพระวิษณุตรีวิกรม - อวตารปางที่5ของพระวิษณุเปนพราหมณเตี้ย ยางสามขุม 

 ความจริงที่มามัลละปุรัมยังมีโบราณสถานให้ชมอีกหลายแห่ง แต่มาถึงตอนนี้ก็เย็นพอดี ก็เลยชมบรรยากาศรอบ ๆ แทนค่ะ  มีนักเรียนมานั่งประชุมกันที่สนาม  พอเริ่มถ่ายรูป       เด็ก ๆ (สาว ๆ) ก็ยิ้มรับกันเต็มที่





รอบ ๆ บริเวณ   มีซุ้มขายน้ำ สีสรรสดใสตามสไตล์  มีบริษัทมือถือเป็น สปอนเซอร์ค่ะ




ขอจบมามัลละปุรัม - เมืองมรดกโลก เพียงแค่นี้ด้วยความสบักสบอม และโทรมสุดขีด  เราพักที่นี่อีกคืน แล้วก็จะต่อไป ตริชี่ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ "อินเดียเริ่มที่นี่ ทมิฬนาฑู" ศรันย์ ทองปาน และ  วิชญดา ทองแดง




 

Create Date : 27 ธันวาคม 2558
0 comments
Last Update : 29 มกราคม 2559 15:20:29 น.
Counter : 4853 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สมาชิกหมายเลข 1920579
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 1920579's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.