บล๊อกของลุง กับป้า ที่ชอบการท่องเที่ยว
Group Blog
 
<<
เมษายน 2559
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
5 เมษายน 2559
 
All Blogs
 
ตอน 13 - กฏักกะลิ (Kathakali) แห่งโคชิ






ก่อนสมัยอาณานิคม โคชิเป็นหมู่บ้านประมงของเมืองโคชิ  ใน ปี 1503  มหาราชาแห่งโคชิได้มอบดินแดนที่ภายหลังเรียกว่าป้อมโคชิให้แก่โปรตุเกส  เพื่อตอบแทนที่ช่วยรบกับกองทัพของ Saamoothiri แห่ง โคชิโกต  และยังได้อนุญาตให้โปรตุเกสสร้างป้อมใกล้ริมน้ำเพื่อปกป้องการค้าของตนเอง นี่คือส่วนที่เป็นป้อมโคชิ (Fort Kochi) ค่ะ

St. Francis Church



ชาวโปรตุเกสได้ตั้งชุมชนของตนเอง และสร้างโบสถ์คาทอลิคที่เป็นโบสถ์ไม้   ต่อมาในปี 1516 ได้สร้างใหม่เป็นโครงสร้างถาวร อุทิศแก่นักบุญแอนโทนี (Antony)  และอยู่ในการดูแลของนักบวชคณะฟรานซิสกัน  


กระทั่ง ปี 1663 ที่ชาวดัทช์ซึ่งเป็นโปรเตสตัน (Protestants) เข้ามายึดครองโคชิน  ได้ทำลายโบสถ์ของชาวโปรตุเกสทั้งหมด ยกเว้นโบสถ์แห่งนี้ ที่ชาวดัทช์ได้ปรับปรุงและเปลี่ยนให้เป็นโบสถ์ของรัฐบาล  


ด้านหน้าของโบสถ์ที่มีโครงสร้างโค้งมน ได้ถูกนำไปเป็นต้นแบบโบสถ์คริสต์เกือบทั้งหมดในอินเดีย

ปี 1795 อังกฤษสามารถเอาชนะชาวดัทช์ แต่ยังคงให้ชาวดัทช์รักษาโบสถ์นี้ไว้  ในปี 1804 อาสาสมัครชาวดัทช์ได้ส่งมอบโบสถ์ให้แก่แองกลิคัน คอมมิวเนียน (Anglican  Communion) และอยู่ภายใต้การดูแลของกรมศาสนาของรัฐบาลอินเดีย     เชื่อว่าคณะแองกลิคันได้เปลี่ยนชื่อโบสถ์ ตามนักบุญองค์อุปถัมภ์  คือ "นักบุญฟรานซิส" (St. Francis Church)



ภายในโบสถ์




หลังจากประสบความสำเร็จจากการนำสินค้าจากอินเดีย เช่น เครื่องเทศ ไหม ทองและเงินไปขาย  วาสโก ดา กามาได้กลับมาอินเดียอีก 2 ครั้ง  และมาถึงโคชินอย่างเต็มตัวใน คศ. 1503  ก่อนจะป่วยและเสียชีวิตที่เมืองโคชิ ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม คศ. 1524





ร่างของวาสโก ดา กามา ได้ถูกฝังไว้ที่โบสถ์นักบุญฟรานซิส แห่งโคชิ นี้เป็นเวลา 14 ปี  ก่อนจะได้รับการนำกลับไปที่บ้านเกิดเมืองนอนที่ลิสบัว ประเทศโปรตุเกส


สวนเล็ก ๆ หน้าโบสถ์

ปัจจุบันโบสถ์นักบุญฟรานซิสมีชื่อเสียงไปทั่วโลก  เชื่อว่าเป็นโบสถ์แรกที่สร้างโดยชาวยุโรปในอินเดีย ในเดือนเมษายน ปี 1923ได้รับการประกาศให้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติที่ต้องปกป้องรักษา   มีพิธีทุกวันอาทิตย์และวันสำคัญอื่น ๆ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ในวันธรรมดาค่ะ

วาสโก ดา กามา ทำให้โคชินเป็นที่รู้จัก และนำชื่อเสียงมาสู่รัฐเกระละ ปัจจุบันชื่อวาสโก ดา กามา เสมือนหนึ่งเป็นสัญญลักษณ์ ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของป้อมโคชิอีกด้วย  เราจะเห็น



วาสโกโฮมสเตย์ ที่กล่าวว่าเคยเป็นที่พักของวาสโก ดา กามา - วาสโก คาเฟ่ ที่มีบรรยากาศแบบยุโรปมากกว่าอินเดีย


วาสโกทัวร์แอนด์ทราเวล 


Santa Cruz Cathedral Basilica


Santa Cruz Cathedral Basilica ที่ป้อมโคชิ   เป็นหนึ่งในแปดของ Basilica ในอินเดีย มีคุณค่าในฐานะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านโครงสร้างและสถาปัตยกรรม เป็นโบสถ์ที่สง่างามและน่าประทับใจมากที่สุดแห่งหนึ่งในอินเดีย  นอกจากเป็นสักการะสถานแล้ว ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งศิลป สถาปัตยกรรม และสีสันแบบโกธิค  ถือเป็นมหาวิหารในสังฆมณฑลโคชินค่ะ 


สร้างครั้งแรกโดยชาวโปรตุเกส  เมื่อปี 1505 และได้รับการยกสถานะให้เป็นวิหาร (Catheral) โดย Pope Paul IV ในปี 1558 ที่ได้ตั้งสังฆมณฑลโคชิน ซึ่งเป็นสังฆมณฑลคาทอลิคที่ 2 ในอินเดียด้วย  ต่อมาชาวดัทช์ได้ใช้โบสถ์นี้เป็นที่เก็บอาวุธ    และเมื่อบริทิชเข้ามาครอบครองโคชิน ในปี 1795  ได้ทำลายอาคารโบสถ์เดิมทิ้ง




ปี 1887 สังฆราชคาทอลิคแห่งโคชินได้สร้างโบสถ์ขึ้นมาใหม่  จนแล้วเสร็จและเฉลิมฉลองใน ปี 1905  ปี 1984 Pope John Paul II ได้ประกาศยกสถานะ Santa Cruz Cathedral เป็น Basilica เนื่องจากเป็นวิหารโบสถ์โบราณ ที่มีความสง่างามของศิลป และยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกด้วย


กฏักกะลิ (Kathakali)

ในหนังสือ "Rough Guide to India"  กล่าวว่า โคชิเป็นเพียงเมืองเดียวในรัฐเกรละ ที่รับประกันได้ว่าเราจะได้ชม Kathakali อย่างแน่นอน  และยังเป็นตัวอย่างของการแสดงที่ดีที่สุด  แล้วก็ได้มีโอกาสไปชมกฏักกะลิในครั้งนี้ที่ Kerala Khatakali Centre ค่าเข้าชมคนละ 250 รูปี ค่ะ




Kathakali มาจากคำในภาษามาลายาลัม (Malayalam) คำว่า "Katha" หมายถึง "เรื่องราว"  และ "Kali"  หมายถึง "การแสดง" รวมแล้วก็คือ "การแสดงที่เล่าเรื่องราว"

กฏักกะลิ เป็นนาฏศิลป์พื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของเกรละ แสดงเรื่องราวในตำนาน แบบที่เรียกกันว่า อุปรากร  โดยผสมผสานทัั้งละครใบ้ (mime)  ละคร (drama)  สื่อเรื่องราวโดยใช้การเคลื่อนไหวทุกส่วนของร่างกาย รายละเอียดของท่าทาง   เอกลักษณ์การรำ เน้นที่การร่ายรำนิ้วมือ การแสดงออกทางสีหน้า และนัยน์ตา





 เดิมละครรำแบบคลาสสิคดั้งเดิมของเกรละ คือ Ramanattam ที่แสดงเรื่องราวของพระนารายณ์ จบใน 8 องค์ ภายใต้การอุปถัมภ์ของราชา Veera Kerala Varma (คศ. 1653 - 1694)  เป็นการแสดงภายในพระราชวังเท่านั้น  เมื่อราชวงค์สิ้นสุดลง  ก็เป็นการสิ้นสุดศิลปการแสดงที่ยิ่งใหญ่นี้ด้วย





















ปี 1930 Mahakavi Vallathol Narayana Menon หนึ่งในนักกวีที่ยิ่งใหญ่แห่งเกรละ ได้ทำงานหนัก และพยายามอย่างมาก ได้ฟี้นฟูกฏักกะลิขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เป็นที่รู้จักทั่วไป  

ท่านได้ตั้งสถาบันชื่อ Kerala Kalamandalam ที่ Cheruthuruthy ริมฝั่งแม่น้ำ นิลา (Nila) ที่ Trissivaperur (อำเภอ Trichur)  ที่สอนศิลป เรื่องราว และทุกอย่างเกี่ยวกับกฏักกะลิ เช่น ท่าเต้นที่ปรับปรุงจากการเต้นแบบ "Ramanattam"  และดนตรี ที่ดัดแปลงมาจาก Karnatic (ดนตรีคลาสสิคของอินเดียใต้) กลอง (drum-chenda)  การร้อง  การแสดง และการแต่งหน้า  


นักแสดงกฏักกะลิต้องเรียนรู้ทุกอย่างข้างต้น  ซึ่งรวมถึงการนวดกล้ามเนื้อ เทคนิคการแต่งหน้า ความรู้ที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่จะสื่อความหมาย โดยใช้การเคลื่อนไหวของนิ้ว ร่างกาย ตา และอื่น ๆ ในการแสดง  ต้องใช้เวลาเรียน 8 - 10 ปี  ต้องฝึกทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อที่จะบรรลุเป็นศิลปินกฏักกะลิ 

การแต่งหน้าของตัวละคร เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชม. ก่อนนักแสดงพร้อมที่จะขึ้นเวที 



การแต่งหน้าที่ Kerala Kathakali Centre (ถ่ายรูปเองไม่ชัดเลย ขออนุญาตใช้รูปจาก internet ด้วยค่ะ)




























ในสูจิบัตรที่ได้มากับตั๋ว  จะระบุไว้เลยว่า Kathakali Daily Evening Show 6.00 pm. to 7.30 pm.  Make-up Starts 5.00 pm. (การแต่งหน้าจะทำบนเวทีให้ชมค่ะ)




ก่อนการแสดงจะเริ่ม พิธีกรจะสาธิตและอธิบายเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย สีหน้า มือ ขา และอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจความหมายที่ตัวละครสื่อออกมา


ปกติจะมีนักดนตรี 2 คน (ที่เวทีนี้ วันนี้มีนักดนตรี 3 คนค่ะ)  อยู่ด้านหลังของเวที ที่จะเล่นเครื่องดนตรีเพียง 2 อย่าง คือกลองและฉาบเล็ก พร้อมทั้งร้องบทสนทนาประกอบ เพื่อให้ จังหวะการเคลื่อนไหวของร่างกาย  สอดคล้องกับจังหวะการแสดง ดนตรี และการเคาะจังหวะ  เป็นการแสดงทีี่ไม่ต้องใช้เครื่องดนตรีเยอะ  



"กฏักกะลิ"  การแสดงและรำในรูปแบบของละครที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในรัฐเกรละ  เป็นหนึ่งในสี่ของการแสดงหลัก ที่เป็นแบบอินเดียคลาสสิค 



ภาพลักษณ์ของนักแสดงกฏักกะลิของเกรละ  คือ มีชุดแต่งกายที่สวยงาม และการแต่งหน้าแบบไม่ธรรมดา สีสันสดใส  สวมใส่อาภรณ์ที่งดงามตระการตา ทั้งหมดสอดประสานเข้ากับจังหวะของดนตรี



  นักแสดงทุกบทบาทเป็นชาย


ที่ Kerala Kathali Centre พิธีกร ผู้จัดการ นักดนตรี ผู้เล่าเรื่อง พนักงานต้อนรับ (คนเดียวกันหมดค่ะ) เป็นผู้วาดโกลัม (Kolams)  บนพื้นตามทางเดิน



  โกลัมเป็นรูปแบบของการวาดโดยใช้แป้งข้าวจ้าว ช็อค หรือปูนขาว อาจใช้สีธรรมชาติหรือสีสังเคราะห์ผสม   ปกติสตรีฮินดูมักจะวาดภาพโกลัมที่หน้าบ้าน มีความเชื่อว่าโกลัมจะนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่ครอบครัว ทั้งยังเป็นเครื่องหมายถึงการยินดีต้อนรับทุกคนเข้ามาในบ้าน ไม่ใช่เพียงแต่เจ้าแม่ลักษมี -เทพแห่งความอุดมสมบูรณ์และความมั่งคั่งเท่านั้น  ขณะเดียวกันสิ่งชั่วร้ายไม่สามารถผ่านเข้ามาในโกลัมได้ ก็เป็นการป้องกันไม่ให้เข้ามาในบ้านด้วยเช่นกัน


โกลัมที่ Kerala Kathali Centre คงมีความหมายทำนองเดียวกัน คือ การต้อนรับทุกคนเข้ามาในบ้าน  และป้องกันสิ่งเลวร้ายไม่ให้เข้ามาในบ้าน

เราก็จบวันนี้ด้วยการชมกฏักกะลิค่ะ 

ขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย ภาพจาก internet และ

//www.santacruzcathedralbasilica.org/index.php?

//www.cochin.org.uk/tourist-attractions/fort-kochi.html
//www.kamsonbkk.com/index.php/catholic-catechism




Create Date : 05 เมษายน 2559
Last Update : 15 เมษายน 2559 12:57:34 น. 0 comments
Counter : 2046 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 1920579
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 1920579's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.