บล๊อกของลุง กับป้า ที่ชอบการท่องเที่ยว
Group Blog
 
<<
มกราคม 2559
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
10 มกราคม 2559
 
All Blogs
 
ตอน 4 - ศรีรังคนาถสวามี ตริชี่


พักที่มามัลละปุรัม 2 คืน เมืองต่อไปคือ ติรุชชิรัปปัลลิ (Tiruchirappalli) ตามข้อมูลที่ได้มาจะมีรถจาก เช็งกลาพัตตู  Chengalpattu (หรือ เช็งกลาพัต) ที่จะต่อไป ติรุชชิรัปปัลลิ หรือ ตริชี่ได้ 



ป้ายข้างทาง มีการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติค ตั้งแต่ปี 2011  ลากกระเป๋ากันเสียงดังกรึง ๆๆ ออกจากที่พักกันตั้งแต่ตี 4 กว่า เพื่อขึ้นรถเที่ยวแรก 4.45  ถึงท่ารถแสงไฟสลัว มีคนรอกันอยู่บ้างแล้ว



รอสักพักรถมินิบัสก็มาถึง ใช้เวลาประมาณ 50 นาที ก็ถึงเช็งกลาพัต  ตอนที่หาข้อมูลคิดว่าเป็นสถานีเล็ก ๆ  แต่พอไปถึงสิ่งที่เห็นไม่เหมือนกับสิ่งที่คิดค่ะ (ความที่เวลาไปไหน ลุงเป็นคนหาข้อมูลทั้งหมด ส่วนป้า, ลุงบอกชอบคิดเอาเอง)   ภาพจาก www.veethi.com ข้างล่าง   คือ สถานีเช็งกลาพัตเวลากลางวัน  แต่ตอนนั้นยังไม่สว่างดี ไม่รู้ว่าจริงๆ สถานีหน้าตาเป็นอย่างไร  รู้แต่ชุลมุนพอควร


แล้วเราจะรู้ไหมว่ารถคันไหนไปตริชี่  เห็นหมือนห้องนายท่าเล็ก ๆ อยู่แถวนั้น ก็เข้าไปถาม ได้ความว่าไม่มีรถตรงไปตริชี่เลย ต้องไป  Main road ก่อน แล้วค่อยต่อจากที่นั่นไปตริชี่  ก็บอกเขาว่า Main Road อยู่ที่ไหน แล้วรถคันไหนไป Main road ก็ไม่รู้  พอดีเด็กประจำรถมาเช็คตั๋ว เขาก็เลยบอกให้ตามคนนั้นไป  เขาจะไป Main road 

ได้ขึ้นรถที่จะไป Main road แล้ว ก็ค่อยหายใจคล่องหน่อย นั่ง ๆ ไป พอออกถนนใหญ่ ก็ไม่เห็นจะจอดให้ลง แล้วก็ดูเหมือนเป็นทางที่จะย้อนไปเจนไนเลย  กำลังคิด ๆ ว่าต้องไปต่อรถใกล้ ๆ เจนไนหรือเปล่า พอถึงด่านเก็บค่าผ่านทาง หลังจากนั่งไปประมาณ 20 นาที เด็กบอกให้ลงตรงนี้  แล้วหารถต่อไปเอง

ความจริง Main road ก็เหมือนซุปเปอร์ไฮเวย์นะค่ะ รถจะตรงมาจากเจนไนเลย  ไม่ได้แวะเข้าเช็งกลาพัต พอลงจากรถก็ยังงง ๆ อยู่ ไม่รู้ว่าขึ้นรถฝั่งไหน  เลยถามหนุ่มอินเดียใต้ที่ยืนเหมือนรอรถอยู่ ว่าจะไปตริชี่ขึ้นรถฝั่งไหน เขาบอกฝั่งตรงข้าม .. แล้วก็พา สว. ข้ามถนนมา (ช่วงนั้นรถไม่ได้วิ่งเร็ว เพราะชะลอจ่ายค่าผ่านทาง)  แล้วก็บอกให้รอก่อน คอยดูรถให้ คุยกันเขาว่าเขากำลังจะไปทำงานที่เจนไน  พอรถมาเขาก็โบก และดูแล สว. ขึ้นรถเรียบร้อย ขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ 

ใช้เวลาประมาณเกือบ 4 ชม. รถบึ่งฉลุย-เกือบไม่ได้รับผู้โดยสารอื่นเลย นั่งรับลมเย็น ไปตลอดทาง ถึงตริชี่ประมาณเที่ยง



ถึงแล้วสถานีรถบัสตริชี่ หาที่พักแถวสถานีรถบัส เพราะจะพักที่นี่คืนเดียว บริเวณนี้มีหลายโรงแรมให้เลือก ได้โรงแรมมธุรา (Mathura) อยู่ตรงข้ามสถานีเลย  

Tiruchirapalli, Trichy, Tiruchi

เมืองในรัฐทมิฬนาฑู ใหญ่เป็นอันดับสี่ของรัฐ เป็นศูนย์กลางการบริหารงานของเทศบาลเมือง รวมทั้งการคมนาคม การค้า และที่สำคัญคือศูนย์กลางการศึกษา และเป็นที่ตั้งของสถาบันรัฐที่ได้รับการยกย่องหลายแห่ง เช่น Indian Institue of Management (IIMT), Indian Institute of Information Technology (IITT) และ National Institue of Technology (NITT)  (T - ตัวหลัง คือ Tamil Nadu)

ตริชี่อยู่ห่างจากเจนไนไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 322 กม. และอยู่เหนือเมืองกันนิยากุมารี 379 กม. โดยสภาพภูมิศาสตร์ตริชี่ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางของรัฐ

ชื่อ Tiruchirapalli, Trichy, Tiruchi มีประวัติตามตำนานศาสนาฮินดูหลากหลาย ยาวเหยียด สรุปเป็นว่าน่าจะมีความหมายในภาษาทมิฬว่า "Holy-rock-town" (เมืองแห่งศิลาศักดิ์สิทธิ์) หรือ "Holy little town" (เมืองเล็ก ๆ ที่ศักดิ์สิทธิ์)

หาที่พักได้แล้ว  ก็เริ่มชมเมืองและสถานที่สำคัญของตริชี่กันเลยค่ะ นั่งรถเมล์ไปลงที่ Gandhi Market   เป็นตลาดขายส่งสินค้าเกษตร    เดิมสร้างขึ้นเพื่อเป็นตลาดของป้อม (Fort Market) ตั้งแต่ปี 1867 แล้วเสร็จในปีต่อมา ได้ขยายออกไปอีก ในปี 1927  และได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า Mahatma Gandhi Market  อายุอานามของตลาดนี้ ปัจจุบันก็ปาเข้าไป 149 ปี แล้วค่ะ



พอเดินเข้าตลาด ก็เจอสีสันของตลาดอินเดีย  




พ่อค้าหน้าตายิ้มแย้มเมื่อมีคนมาถ่ายรูป แถมเชื้อเชิญให้ถ่ายอีกด้วย





หน้าตาคล้ายข้าวเกรียบ ที่ยังไม่ได้ทอด 



กลุ่มนี้แถมนามบัตรมาให้ด้วย เผื่อจะสั่งดอกไม้ เอ้ย !! ไม่ใช่ค่ะ กลับบ้านแล้วช่วยอัดส่งไปให้ด้วยนะ Nandri - ขอบคุณ จัดให้อยู่แล้วจ้า

ต่อไปก็แวะที่ Lourdes Church ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบ neo- Gothic จำลองมาจากมหาวิหารแห่งลูรด์ที่ฝรั่งเศส สร้างแล้วเสร็จในปี 1896 ยอดแหลมของโบสถ์ เป็นรูปพระเยซูถูกตรึงบนไม้กางเขน ภายในมีภาพวาดของมรณสักขี




Sri Ranganathaswamy Temple (เทวาลัย ศรีรังคนาถสวามี)

Sri Ranganathaswamy Temple (ศรีรังคนาถสวามี) ตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำที่อยู่ระหว่างแม่น้ำเกาเวริ (Kauveri) กับแม่น้ำคอลลิดัม เรียกกันว่าศรีรังคาม ห่างจากตัวเมืองตริชี่ไปทางเหนือ 6 กม.  ศรีรังคนาถสวามีเป็น "ศาสนธานี" ที่สำคัญที่สุดแห่งพระวิษณู บางครั้งเรียกว่า "วัดใหญ่" (Big Temple) เพราะเป็นเทวาลัยฮินดูที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ครอบคลุมพื้นที่ 2.5 ตร.กม. วัดความกว้างยาวรวมกำแพงด้านนอกได้ 816 และ 950 เมตร ประกอบด้วยวงกำแพงล้อมถึง 7 ชั้น   ตามแผนผังด้านล่างนี้แสดงวงกำแพงชั้นที่ 1-4 เท่านั้น
ภาพจาก //www.art-and-archaeology.com/india/trichy/ran01.html

A =  มณฑปพันเสา B = มณฑปม้าศึก

S = เทวาลัยประธาน (พระนารายณ์) 1-4 วงกำแพง 4 ชั้น  

วงกำแพงชั้นนอกอีก 3 ชั้น เป็นเสมือนเมือง ๆ หนึ่ง ประกอบด้วยถนน บ้านเรือน และร้านค้า  ส่วนภายในวงกำแพง 4 ชั้น ถือว่าเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์  ชั้นในสุด คือเทวสถานพระนารายณ์

ภาพที่เห็นนี้ เป็นโคปุระ (gopura) ที่ใหญ่ที่สุด อยู่ที่กำแพงวงนอกทางด้านใต้ สูง 72 เมตร (220 ฟิต)  สร้างใน ศต. 17 แต่แล้วเสร็จในปี 1987





ก่อนเข้าโคปุรัมทางด้านใต้นี้ ก็มีร้านค้าเรียงรายไปตลอด  ตรงประตูทางเข้าก็มีแผงขายผลไม้ รูปบูชาเรื่อยไปจนเข้ากำแพงวงนอก จะไปชั้นที่ 6





ผ่านกำแพงชั้นที่ 6 โคปุรัมมีขนาดเล็กกว่า แต่ก็สวยงามไม่แพ้กัน



ระหว่างวงกำแพงชั้นที่ 6 และ 5  ก็มีร้านค้าตลอดทาง แต่จะเป็นรูปบูชาเสียเป็นส่วนใหญ่  




จากข้อมูลหนังสือ "อินเดียเริ่มที่นี่....." กล่าวว่า ตั้งแต่กำแพงชั้นนอกสุด คือชั้นที่ 7 เข้ามาถึงแนวกำแพงชั้นที่ 4 กลายเป็นบ้านของพราหมณ์ ตลาดร้านค้า เทวาลัยใหญ่น้อย โรงเก็บรถของเทวาลัยศรีรังคนาถ ตลอดที่พักแรมสำหรับผู้แสวงบุญ ประมาณกันว่า มีผู้คนอาศัยอยู่ในเขตกำแพงนี้หลายหมื่นคน



เมื่อผ่านเข้ามาข้างใน ทางโคปุรัมทิศตะวันออก มีอาคารที่โดดเด่นอีกแห่งหนึ่ง คือ "มณฑปม้าศึก" (Seshagiri Raya Mandapa) (ภาพจาก internetค่ะ)   เป็นรูปแบบสมัยราชวงค์วิชัยนคร  ซึ่งช่างได้สลักต้นเสาหินขนาดใหญ่ ให้กลายเป็นประติมากรรมลอยตัวรูปม้าศึก พร้อมนักรบบนหลังกำลังต่อสู้กับสัตว์ร้ายหรือข้าศึก



ผ่านไปเรื่อย ๆ ถึงมณฑปพันเสา   (One Thousand-Pillared Madapa) ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ข้อมูลบอกว่ามีเสาอยู่เพียง 953 ต้น แต่ละต้นสูง 5.5 เมตร สกัดจากหินแกรนิต




กลางโถงมีแท่นบัลลังค์รูปร่างคล้ายรถะ  สำหรับประดิษฐานเทวรูปรังคนาถ ในระหว่างเทศกาลไวกูณฐเอกทศ (Vaikuntha Ekadasi festival) ในเทศกาลนี้ ประตูทางด้านเหนือจะเปิดออก เหมือนเปิดทางไปสู่สวรรค์ "doorway to heaven"   ผู้ที่ผ่านประตูนี้จะมีส่วนร่วมในการรับพร แห่งคุณธรรมและความดี



ภาพจาก internet  ขบวนแห่ในเทศกาลไวกูณฐเอกทศ (Vaikuntha Ekadasi festival)  

 ตอนนี้เริ่มไม่แน่ใจ ว่าอยู่บริเวณไหน เดินไป - เดินมา  วนเข้า - วนออก ที่โน่นที่นี่  แต่คิดว่าคงกำลังจะผ่านวงกำแพงชั้นที่ 3 แล้ว 



ถอดรองเท้าเข้าวงกำแพงชั้นที่ 3 ผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาฮินดู จะได้รับอนุญาตให้เข้าเพียงชั้นนี้

เข้ามาอีกชั้น

วงกำแพงชั้นที่ 2 และชั้นในสุด (อนุญาตให้เข้าได้เฉพาะฮินดู)  คือเทวสถานพระนารายณ์ หรือวิมานศรีรังคนาถ  ภายในประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์บรรทมสินธ์ุ ขนาดยาว 4.5 เมตร เป็นประธาน (ภาพจาก internet)



โดยรวมแล้ว เทวาลัยศรีรังคนาถสวามี เป็นเทวาลัยศาสนาฮินดูที่ใหญ่ที่สุดที่ยังคงมีการประกอบพิธีบูชาอยู่ทุกวันนี้  ส่วนนครวัดที่กัมพูชา เป็นเทวาลัยฮินดูที่ยังมีสภาพดีอยู่ที่ใหญ่ที่สุด

ศาสนธานีศรีรังคามมีอาณาเขต 156 เอเคอร์ (631,000 ตร.เมตร) มีขอบเขตรอบปริมณฑลยาวรวมกันได้ 4,116 เมตร (10,710 ฟิต)  ทำให้เป็นเทวาลัยที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย และเป็นชุมชนวัดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีวงกำแพงล้อมรอบถึง 7 ชั้น (ภาษาทมิฬเรียกว่า "ปราการ" (prakarams) ลานด้านนอก) มีความยาวรวมทั้งหมด 32,592 ฟิต หรือมากกว่า 6 ไมล์

เทวาลัยนี้มีโคปุรัม (หอคอย) 21 แห่ง โดยโคปุรัมทางเข้าหลักทางใต้ มีความสูงเป็นที่สองของเอเชีย ศาลา 39 แห่ง  เทวาลัยรวม 50 หลัง  มีมณฑปพันเสา  (Ayiram kaal mandapam)  และมีแหล่งน้ำเล็กๆ อยู่ภายใน 2 -3 แห่ง.  อาณาบริเวณของเทวาลัยศรีรังคาม มีสถาปัตยกรรมแบบดราวิเดียน  

กว่าจะออกจากศาสนธานีศรีรังคามก็มืดพอดี  แล้วค่อยไป เทวาลัยป้อมหิน (Rock Fort Temple) บล๊อคหน้าค่ะ  

ขอบคุณหนังสือ เว็บไซด์ และภาพต่าง ๆ ที่ไปขอคัดข้อมูลมา ณ ที่นี้ค่ะ




Create Date : 10 มกราคม 2559
Last Update : 29 มกราคม 2559 15:13:04 น. 1 comments
Counter : 2672 Pageviews.

 
สาธุ.....คนอินเดียสมัยโบราณ ปุราณะ เขาช่างประดิษฐ์ประดอย แกะสลักเสลา พวกหินต่าง ๆ อย่างกะเราแกะขี้ผึ้งอย่างนั้นแหละ ดูชมแล้วอัศจรรย์ใจจริง ๆ ใครได่้เห็นก็เป็นุญตา


โดย: โลวหยั่น IP: 171.101.39.208 วันที่: 15 มกราคม 2559 เวลา:19:51:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 1920579
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 1920579's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.