โรงหนังดี ๆ ... ใกล้เพียงคลิก
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2550
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
9 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 

ลีลาในงานร้อยแก้วของ อังคาร กัลยาณพงศ์

ลีลาในงานร้อยแก้วของ อังคาร กัลยาณพงศ์ Style in AngKhan Kalayanapong’s Poetical Prose จากการศึกษาวิทยานิพนธ์ของ ธเนศ เวศร์ภาดา






-----------------------------------------------------------------------------------


วัจนลีลา ในความหมายของ ธเนศ เวศร์ภาดา






“ คำ ‘ลีลา’ ในงานวิจัยนี้ใช้ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า style หมายถึงกระบวนวิธีการแสดงออกซึ่งความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนเจตนคติของนักเขียน อันได้แก่
การสรรคำ การสร้างประโยค การใช้ภาพพจน์
การสร้างจินตนภาพ การดำเนินเรื่อง การบรรยายและพรรณนาความ และการใช้มุมมองในการเล่าเรื่อง”


และ ธเนศ เวศร์ภาดา ได้สรุปถึง วัจนลีลาของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ไว้ดังนี้


“ งานร้อยแก้วของอังคาร กัลยาณพงษ์ มีลีลาที่เป็นลักษณะเด่นเฉพาะตัว ได้แก่ การไม่ใช้คำลักษณนาม การใช้กลุ่มคำที่มีขนาดยาว การเรียงลำดับคำในประโยค การสร้างจินตภาพของธรรมชาติ เป็นต้น และมีลีลาอีกบางประการที่สืบทอด “ขนบ” จากวรรณคดีร้อยแก้วประเภทคำสอนและชาดก ได้แก่ การใช้คำซ้อน ๔ พยางค์ การใช้สำนวนแปลจากภาษาบาลีและสำนวนโบราณ การใช้ภาพพจน์ การสร้างสมดุลทางโครงสร้างภาษา การเล่นเสียงสัมผัสคล้องจอง เป็นต้น”


และ ธเนศ เวศร์ภาดา ยังได้ตั้งข้อสมมุติฐานของการวิจัยนี้ไว้ว่า

"งานร้อยแก้วของอังคาร กัลยาณพงษ์น่าจะมีความเด่นในด้านลีลา ซึ่งบางส่วนสืบทอด “ขนบ” จากวรรณคดีร้อยแก้วประเภทคำสอนและชาดก"

ในการนี้ ธเนศ เวศร์ภาดา ได้นำเอาวรรณคดีอย่าง "เตภูมมิกถา" , "พระปฐมสมโพธิกถา" และ "นิบาตชาดก" มาเปรียบเทียบ เพื่อหาร่องรอยของการรับอิทธิพลจากข้อสมมุติฐาน ในงานร้อยแก้วของอังคาร กัลยาณพงศ์ ทั้งสิ้น ๒๗ เรื่อง มานำเสนอให้เห็นจริง


-----------------------------------------------------------------------------------


ตัวอย่างงานร้อยแก้วใน เตภูมมิกถา




เทพยดาจำพวก ๑ พึงรู้แง่ภูเขาอันอยู่ในแผ่นดินนี้ก็อยู่เป็นพิมานเทพยดาจำพวก อยู่กลางพอเชิงเหนือต้นไม้ขึ้นเป็นพิมานอยู่มีปราสาทอยู่เหนือต้นไม้ใหญ่พุ่งไม้นั้นเป็นพิมานฯ ผิมีต้นฟัดตาไม้นั้น ขาใต้วิมานนั้นพังแลฯ ผิไม้นั้นหากหักเองก็ดี ปราสาทเทพยดานั้นพังฉลายแลฯ ผิว่าค่าคบไม้นั้นยังค้างใต้ปราสาทพิมานยังค้างแลฯ ผิค่าไม้หักสิ้นทุกพายไส้ ปราสาทเทพยดานั้นหักสิ้นแลฯ ฝูงเทพยดาอันอยู่ในพฤกษาพิมานนั้นถ้าต้นไม้หักพิมานก็หักสิ้นแลฯ ถ้ายังแต่ตอไม้ก็ดีปราสาทแก้วนั้นบมิพังสักอันยังตั้งดังเก่าไส้ ผิต้นไม้นั้นฉค่นลงทั้งรากสิ้นไส้ ปราสาทนั้นจึงหายแลบมิเห็นสักแห่งแล
(เตภูมิกถา , ฉกามาพจรภูมิ)




ตัวอย่างงานร้อยแก้ว ของ อังคาร กัลยาณพงษ์




พ่อบอกลูกว่า “หยาดน้ำค้างคืออะไร หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา”
        
ลูกจึงถามพ่อว่า “เวลาร้องไห้ทำไมคะ เสียอกเสียใจอะไรหรือคะพ่อ” พ่อก็ตอบว่า “เสมอว่าเวลาร้องไห้เพราะต้องจากเราไปไกลแสนไกลในระลอกคลื่นแห่งวิถีกาลจักรอันไม่คืนกลับหลัง...แต่ที่ร้องไห้มิใช่เพราะเสียอกเสียใจอย่างเดียว”
          
“เหตุเพราะว่า น้ำค้างปิติยินดีที่เคารพดวงตะวัน ทั้งได้สะท้อนคุณค่าแท้ของคลื่นแสงพระสุริยาทั้งเจ็ดสีพลีกำนัลแด่โลกแล้ว น้ำค้างก็เสมอว่าเศร้าสร้อยน้อยใจที่ต้องพลันแตกดับวับสลายอำลาจากเราไป ไม่ได้อยู่เจียระไนแววตาให้ซึ้งคุณค่าของแสงรุ้งและสุนทรีอื่นๆ ฉะนั้นไม่ว่าจะดีอกดีใจหรือวิปโยคโศกเศร้า น้ำค้างก็อย่างหยาดน้ำตา”


จากเรื่อง “หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา”


-----------------------------------------------------------------------------------


ผู้ศึกษาวิเคราะห์จากวิทยานิพนธ์ของ ธเนศ เวศร์ภาดา



ธเนศ เวศร์ภาดา สรุปว่า อังคาร กัลยาณพงษ์ รับอิทธิพล “ลีลาการใช้ภาษา” มาจาก เตภูมิกถา , พระปฐมสมโพธิกถา และ นิบาตชาดก
ซึ่งนั่นเท่ากับว่า “วัจนลีลา” อาจไม่ใช่ลีลาเฉพาะบุคคลแต่เพียงอย่างเดียว หากยังเป็นลีลาเฉพาะในกลวิธีการเขียนโดยรวมทั้งหมด ซึ่งมีความแตกต่างจากงานเขียนประเภทเดียวกัน
วัจนลีลา ของ อังคาร กัลยาณพงษ์ ถูกยกตัวอย่างออกมา ได้แก่ การใช้คำซ้อน ๔ พยางค์ การใช้สำนวนแปลจากภาษาบาลีและสำนวนโบราณ การใช้ภาพพจน์ การสร้างสมดุลทางโครงสร้างภาษา การเล่นเสียงสัมผัสคล้องจอง เป็นต้น

ดังนั้น หาก อังคาร กัลยาณพงษ์ ถูกระบุว่า รับอิทธิพลมาจากงานเขียนร้อยแก้วในงาน เตภูมิกถา , พระปฐมสมโพธิกถา และ นิบาตชาดก จริง ย่อมเท่ากับว่างานเหล่านั้นมีลีลา การใช้คำซ้อน ๔ พยางค์ การใช้สำนวนแปลจากภาษาบาลีและสำนวนโบราณ การใช้ภาพพจน์ การสร้างสมดุลทางโครงสร้างภาษา การเล่นเสียงสัมผัสคล้องจอง เช่นกันหรือไม่
ลองยกตัวอย่างจากงานของอังคาร มาดูซัก ๒ – ๓ บรรทัด อาจจะพบเห็น “ร่องรอย” ที่แสดงความเหมือนหรือต่างกันดังกล่าวได้ชัดขึ้น

สิ่งหนึ่งที่วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ อธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจแก่ผู้ศึกษาคือ การลอกเลียนวัจนลีลา
หากเราเข้าใจกันว่า วัจนลีลา คือ ลีลาเฉพาะบุคคล การลอกเลียนใด ๆ จึงยากจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะหากเป็นการลอกเลียนลีลาจากอัจฉริยะบุคคล ที่นับเนื่องว่าเป็นยอดกวีหรือรัตนกวีในประวัติศาสตร์ไทย
แต่ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ พยายามชี้ให้เห็นว่า วัจนลีลา ไม่ใช่ลีลาเฉพาะบุคคล หากเป็นลีลาเฉพาะรูปแบบการนำเสนองานวรรณกรรมใด ๆ ที่มีร่องรอยบ่งชี้ให้เห็น “ลายเซ็น” ของผู้แต่งหรือผู้สร้างสรรค์งาน อาจย้อนรวมไปถึงอิทธิพลของงานชิ้นอื่น ๆ ที่มีต่อตัวผู้แต่งหรืองานชิ้นที่ทำการศึกษาอยู่ด้วย

เช่นในงานศึกษาของ ธเนศ เวศร์ภาดา เล่มนี้ พยายามชี้ให้เราเห็นว่า สิ่งที่เป็น “ตัวตน” หรือ “ลายเซ็น” ของอังคาร กัลยาณพงษ์ ในปัจจุบัน เป็นการรับอิทธิพลมาจากงานวรรณคดีร้อยแก้วประเภทคำสอนและชาดกในอดีต
ถามว่า ใช่การ “ลอกเลียน” หรือไม่
ดร.สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา กล่าวถึงงานร้อยแก้วของอังคารไว้ว่า
“อังคาร กัลยาณพงษ์เป็นผู้สืบทอดและรักษา ‘คุณลักษณะ’ ของงานร้อยแก้วไว้ในเชิงความเหมาะเจาะหมดจดงดงามของภาษา ...
‘ร้อยแก้ว’ ของอังคาร จึงยังคงความหมายอันดั้งเดิมแท้จริงไว้ มิใช่เป็นเพียงความเรียงหรือภาษาอันไร้ฉันทลักษณ์เท่านั้น”

วัจนลีลา ของ อังคาร ในงานร้อยแก้ว จึงเป็นการนำเอา “คุณลักษณะ” ในงานวรรณคดีร้อยแก้วมาปรับใช้ เพื่อเล่าเรื่อง, ความคิด ของตน ในรูปของงานร้อยแก้วเช่นเดิม
“คุณลักษณะ” ที่ว่า ยกตัวอย่างเช่น การใช้ภาพพจน์ การสร้างสมดุลทางโครงสร้างภาษา การเล่นเสียงสัมผัสคล้องจอง ซึ่งปรากฏทั้งในงานของ อังคาร กัลยาณพงษ์ และ วรรณคดีร้อยแก้ว แต่ก็เป็นแค่ความเหมือน ที่สามารถเทียบเคียงได้ ไม่ใช่เหมือนอย่างถอดแบบกันมาทุกระเบียดนิ้ว ซึ่งนั่นจะไม่ทำให้เกิด “วัจนลีลา” ใหม่ขึ้นมาได้เลย

ฉะนั้น ข้อสรุปของการศึกษาดังกล่าวคือ “วัจนลีลา” จัดเป็น ลีลาเฉพาะในการประพันธ์ของตัวผู้แต่ง ไม่ใช่เป็นเพียงระดับการใช้ภาษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากยังรวมไปถึง การสรรคำ การเว้นวรรคตอน การวางโครงสร้างของภาษา การเล่นสัมผัส การเล่นเสียง ฯลฯ โดยรวมทั้งหมดที่ปรากฏในงานเขียนประเภทใดประเภทหนึ่งนั้น และปรากฏสืบต่อกันในลีลาเช่นเดียวกันในงานอื่นๆด้วย เรียกว่า “วัจนลีลา”
ส่วนการสืบทอด หรือ รับอิทธิพล ลีลาการประพันธ์มาจากแหล่งอื่น ๆ ไม่เรียกว่าเป็นการลอกเลียน หากมีการปรับใช้จนกลายเป็นลีลาเฉพาะของผู้ใช้เองไปในที่สุด ถึงแม้จะยังมีส่วนคล้ายคลึงหรือชวนให้นึกถึงต้นแบบลีลาการประพันธ์ดังกล่าวก็ตาม


-----------------------------------------------------------------------------------


โดยส่วนตัวผมประทับใจในบทกวีของท่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ อยู่มาก และขอยกเอาบทกวีที่ผมชื่นชอบมาลงไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ


บทกวีของ อังคาร กัลยาณพงษ์



เสียเจ้า

๑.เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า
มิหวังกระทั่งฟากฟ้า ซบหน้าติดดินกินทรายฯ
๒.จะเจ็บจำไปถึงปรโลก ฤารอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย อย่าหมายว่าจะให้หัวใจฯ
๓.ถ้าเจ้าอุบัติบนสวรรค์ ข้าขอลงโลกันตร์หม่นไหม้
สูเป็นไฟเราเป็นไม้ ให้ทำลายสิ้นถึงวิญญาณฯ
๔.แม้แต่ธุลีมิอาลัย ลืมเจ้าไซร้ชั่วกัลปาวสาน
ถ้าชาติไหนเกิดไปพบพาน จะทรมานควักทิ้งทั้งแก้วตาฯ
๕.ตายไปอยู่ใต้รอยเท้า ให้เจ้าเหยียบเล่นเหมือนเส้นหญ้า
เพื่อจดจำพิษช้ำนานา ไปชั่วฟ้าชั่วดินสิ้นเอยฯ

อังคาร กัลยาณพงษ์




-----------------------------------------------------------------------------------




 

Create Date : 09 ตุลาคม 2550
0 comments
Last Update : 9 ตุลาคม 2550 1:29:24 น.
Counter : 10273 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


paphartnet
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




คุยกันได้นะครับ ออน M บ่อยอยู่แล้วผม ยิ่งกับคอหนังเก่า ๆ เหมือนกัน Add มาเลยครับ ฮ่า ๆ


อาจพบตัวบ่อย ๆ ที่ห้องศุภฯ นะครับและบางครั้งที่ ห้องเฉลิมไทย ...
Friends' blogs
[Add paphartnet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.