ธมฺมํ ปสฺสโต มโน สุขํ.
เมื่อมองเห็นธรรม ใจย่อมเป็นสุข ฯ
Group Blog
 
<<
กันยายน 2554
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
5 กันยายน 2554
 
All Blogs
 
นิทานเวตาล









แม้จะมีการเล่านิทานเวตาลสู่กันฟังมาไม่ต่ำกว่าพันปี ทั้งโดยปากต่อปากและลายลักษณ์อักษร แต่มันกลับมีชีวิตชีวาอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนอยู่เสมอ โดยเฉพาะตัวเวตาลผู้มีบุคลิกโดเด่นด้านความเจ้าเล่ห์แสนกล และช่างพูดข่างเจรจา"เวตาล น่าจะเป็นปีศาจจำนวนไม่กี่ตนในโลกนี้ที่ผู้คนเกลียดและกลัวไม่ลง

ในแวดวงวรรณกรรม เรื่องปรัมปราเรื่องนี้ กลายเป็นตัวอย่างอ้างอิงของวิชาการวรรณกรรมสมัยใหม่แทบทุกครั้งที่มีการกล่าวถึงงานเขียนแบบเรื่องซ้อนเรื่อง หรือ Metafiction

งานเขียนแบบ Metafiction ตลอดจนทฤษฏีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นผลจากการที่นักวรรณกรรมตะวันตกเบื่อหน่ายกับวรรณกรรมสัจนิยมเหมือนจริง ที่ครอบงำวัฒนธรรมวรรณกรรมตะวันตกมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ การค้นพบทฤษฎีเรื่องซ้นเรื่องเมื่อช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้นดีใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักเขียนสมัยใหม่

สำหรับโลกตะวันออก รูปแบบเรื่องซ้อนเรื่องมีมานานตั้งแต่ผู้คนเริ่มรู้จักการสื่อสารกันด้วย "เรื่องเล่า" ก็ว่าได้ เรื่องรูปแบบนี้เป็นผลผลิตของการสื่อสารแบบมุขปาฐะ จากนิยาย นิทานเรื่องเดียว แก่นเดียว ก็แตกแยกย่อยออกไปเป็นหลาย ๆ เรื่อง แล้วแต่จะแพร่กระจายออกไปกว้างขวางเพียงไหน โดยที่"แก่นเรื่อง" จะคงเดิม เปลี่ยนไปก็แต่องค์ประกอบแวดล้อม เช่น ชื่อตัวละคร ฉาก เหตุการณ์ สัญลักษณ์ เท่านั้น ในเชิงวิชาการ เรื่องซ้อนเรื่องจึงถือเป็นพัฒนาขั้นสูงที่สุดของนิทานชาวบ้าน

วรรณคดีอินเดียโบราณ ทั้งที่เขียนโดยภาษาบาลีและสันสกฤต ปรากฏรูปแบบการเขียนชนิดเรื่องซ้อนเรื่องอยู่จำนวนมาก เรื่องเอกส่วนใหญ่คือคัมภีร์ศาสนาหรืออรรถกถาธรรม อันมีแก่นแกนว่าด้วยความดี ความงาม ความจริง การหลุดพ้น ถึงขั้น "สัจจะ" ที่ไม่อาจมีอะไรมาสั่นคลอนได้ นิทานย่อย ๆ จำนวนมากที่เกิดขึ้นภายใต้เรื่องเอกเหล่านี้ จึงมีส่วนเสริมให้แก่นของเรื่องเอกคมชัดกว่าและหนักแน่นน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

ในระดับของการเล่าเรื่อง นิทานที่ซ้อนเข้าไปในโครงเรื่องใหญ่จะทำให้เรื่องในโครงเรื่องใหญ่เข้าใจง่ายขึ้น ผู้แต่งจะใช้กลวิธีให้ตัวละครในเรื่องใหญ่เป็นผู้เล่าเรื่อง มีการผูกปมปริศนา ตั้งปัญหา สุดท้ายจะเฉลยปัญหา และชี้ทางเลือก

น่าอัศจรรย์ที่นิทานเวตาลเป็นได้ทั้งรากเหง้า และพัฒนาการขั้นสูงสุดของเรื่องเล่าแนวนี้

นักอ่านชาวไทยคุ้นเคยกับนิทานเวตาลของ น.ม.ส. เป็นอย่างดี แม้ว่าจะทรงแปลไว้เพียง ๑๐ เรื่อง จากต้นฉบับ ๒๕ เรื่อง สาระบันเทิงจากนิทานเวตาลฉบับนี้อาจเห็นได้จากการที่มีผู้จัดรายการโทรทัศน์นำไปสร้างเป็นละครจนได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเมื่อหลายปีก่อน

เวตาลปัญจวิงศติ โดย อาจารย์ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา เล่มนี้ กล่าวได้ว่าเป็นนิทานเวตาลฉบับสมบูรณ์ของบรรณพิภพไทย เพราะท่านแปลจากต้นฉบับดั้งเดิมที่พิมพ์ด้วยอักษรเทวนาครี ครบทั้ง ๒๕ เรื่อง

ด้วยเหตุนี้ นอกจากความบันเทิงแล้ว สิ่งที่นิทานเวตาลฉบับสมบูรณ์จะให้แก่ผู้อ่าน จึงลึกไปถึงโลกทัศน์และชีวทัศน์อินเดียดั้งเดิม นับเป็นหนทางย้อนกลับสู่การศึกษา "รากเหง้าแห่งวิถีตะวันออก" ได้เป็นอย่างดี


เรื่องย่อนิทานเวตาล



ณ ฝั่งแม่น้ำโคทาวรี มีพระมหานครแห่งหนึ่งตั้งอยู่นามว่า ประดิษฐาน ที่เมืองนี้ในสมัยบรรพกาลมีพระราชาธิบดีองค์หนึ่ง ทรงนามว่า ตริวิกรมเสน ได้ครองราไชศวรรย์มาด้วยความผาสุก พระองค์เป็นราชโอรสของพระเจ้าวิกรมเสนผู้ทรงเดชานุภาพเทียมท้าววัชรินทร์

ต่อมาได้มีนักบวชชื่อ ศานติศีล ได้นำผลไม้มาถวายทุกวันมิได้ขาด ซึ่งพระราชาแปลกใจ และได้ไปพบในคืนหนึ่งตามนัด ได้ถามถึงเหตุผลและเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ โยคีศานติศีลจอมเจ้าเล่ห์ได้ขอให้พระราชาตริวิกรมเสนนำเวตาลมาให้ตนเพื่อจะประกอบมหายัญพิธี

พระราชาผู้มีสัจจะเป็นมั่น ได้ไปนำเวตาลมาให้โยคีเจ้าเล่ห์ แต่เวตาลก็พยายามหน่วงเหนี่ยวด้วยการเล่านิทานทั้งสิ้น ๒๔ เรื่องด้วยกัน ซึ่งแต่ละเรื่องจะมีคำถามให้พระราชาตอบ โดยมีข้อแม้ว่า หากพระราชาทราบคำตอบแล้วไม่ตอบ ศีรษะของพระราชาจะต้องหลุดจากบ่า และหากพระราชาเอ่ยปากพูดเวตาลก็จะกลับไปสู่ที่เดิม

และก็เป็นดังนั้นทุกครั้ง ที่พระราชาตอบคำถามของเวตาล เวตาลก็จะหายกลับไปสู่ต้นไม้ที่สิงที่เดิม พระราชาก็จะเสด็จกลับไปเอาตัวเวตาลทุกครั้งไป จนเรื่องสุดท้ายพระราชาไม่ทราบคำตอบ ก็ทรงเงียบไม่พูด เวตาลพอใจในตัวพระราชามาก เพราะเป็นพระราชาผู้ไม่ย่อท้อ ผู้มีความกล้าหาญ ทำให้เวตาลบอกความจริงในความคิดของโยคีเจ้าเล่ห์ ว่าโยคีนั้นแท้จริงแล้ว ต้องการตำแหน่งราชาแห่งวิทยาธร โดยจะเอาพระราชาเป็นเครื่องสังเวยในการทำพิธี และอธิบายถึงวิธีกำจัดโยคีเจ้าเล่ห์

เมื่อพระราชาเสด็จมาถึงโยคีตามที่นัดหมายไว้ ก็ปรากฏว่าโยคีได้เตรียมการทำอย่างที่เวตาลได้บอกกับพระราชาไว้ พระราชาจึงแก้โดยทำตามที่เวตาลได้อธิบายให้พระราชาฟัง พระราชาจึงได้ตำแหน่งราชาแห่งวิทยาธร และเวตาลได้บอกกับพระราชาตริวิกรมเสนว่า "ตำแหน่งนี้ได้มาเพราะความดีของพระองค์ ตำแหน่งนี้จะคอยพระองค์อยู่หลังจากที่ทรงเสวยสุขในโลกมนุษย์จนสิ้นอายุขัยแล้ว ข้าขอโทษในกาลที่แล้วมาในการที่ยั่วยวนประสาทพระองค์ แต่ก็ไม่ทรงถือโกรธต่อข้า บัดนี้ข้าจะถวายพรแก่พระองค์ ขอทรงเลือกอะไรก็ได้ตามใจปรารถนาเถิด" พระราชาก็ตรัสว่า "เพราะเหตุที่เจ้ายินดีต่อข้า และข้าก็ยินดีในความมีน้ำใจของเจ้าเช่นเดียวกัน พรอันใดที่ข้าจะปรารถนาก็เป็นอันสมบูรณ์แล้ว ข้าเพียงแต่อยากจะขออะไรสักอย่างเป็นที่ระลึกระหว่างข้ากับเจ้า นั่นก็คือนิทานที่เจ้ายกปัญหามาถามข้าถึงยี่สิบสี่เรื่อง และคำตอบของข้าก็ให้ไปแล้วเช่นเดียวกัน แลครั้งที่ยี่สิบห้าคือวันนี้ถือเป็นบทสรุป แสดงอวสานของเรื่อง ขอให้นิทานชุดนี้จงมีเกียรติแพร่กำจายไปในโลกกว้าง”

เวตาลก็สนองตอบว่า “ขอจงสำเร็จ โอ ราชะ บัดนี้จงฟังเถิด ข้าจะกล่าวถึงคุณสมบัติที่ดีเด่นของนิทานชุดนี้ สร้อยนิทานอันร้อยรัดเข้าด้วยกันดังสร้อยมณีสายนี้ ประกอบด้วยยี่สิบสี่เรื่องเบื้องต้น แลมาถึงบทที่ยี่สิบห้า อันเป็นบทสรุปส่งท้าย นับเป็นปริโยสาน นิทานชุดนี้จงเป็นที่รู้จักกันในนามของเวตาลปัญจวิงศติ (นิทานยี่สิบห้าเรื่องของเวตาล) จงมีเกียรติยศบันลือไปในโลก และนำความเจริญมาสู่ผู้อ่านทุกคน ใครก็ตามที่อ่านหนังสือแม้แต่โศลกเดียว หรือเป็นผู้ฟังเขาอ่านก็เช่นเดียวกัน จักรอดจากคำสาปทั้งมวล บรรดาอมนุษย์ทั้งหลาย มียักษ์ เวตาล กุษมาณฑ์ แม่มด หมอผีและรากษส ตลอดจนสัตว์โลกประเภทเดียวกันนี้ จงสิ้นฤทธิ์เดชเมื่อได้ยินใครอ่านนิทาน อันศักดิ์สิทธิ์นี้”

พระศิวะได้ฟังเรื่องของต่าง ๆ ของเวตาลจบก็กล่าวชื่นชมในองค์พระราชาตริวิเสนมาก ซึ่งพระศิวะได้สร้างจากอนุภาคโดยให้มาปราบอสูรคนร้ายต่าง ๆ เมื่อพระราชาตริวิกรมเสนได้เป็นจอมราชันแห่งวิทยาธรทั้งโลกและสวรรค์แล้ว ก็เกิดความเบื่อหน่าย หันไปบำเพ็ญทางธรรมจนบรรลุความหลุดพ้น

เวตาลปัญจวิงศติ

เป็นปีศาจชั่วร้ายพวกหนึ่ง ซึ่งหากินอยู่ในสุสาน และสิงสู่อยู่ในศพโดยทั่วไป ว่ากันถึงรูปร่างหน้าตาของเวตาล ในวรรณคดีของอินเดียภาคใต้กล่าวไว้ว่า เวตาลได้รับการเคารพนับถือว่าเป็นภูตที่มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองดูและประชาชนในท้องถิ่น ตั้งแต่ที่ราบสูงเด็กข่าน เรื่อยลงมาทางภาคใต้ เวตาลมักจะปรากฏรูปร่างเป็นมนุษย์ แต่มือและเท้าหันกลับไปทางด้านหลัง นัยน์ตาเป็นสีลานแกมเขียว มีเส้นผมตั้งชันทั้งศีรษะ มือขวาถือไม้เท้า มือซ้ายถือหอยสังข์ ขณะเมื่อมาปรากฏตัวจะนุ่งห่มเสื้อผ้าสีเขียวทั้งชุด นั่งมาบนเสลี่ยงบางคราวก็ขี่ม้า มีภูตบริวารถือคบเพลิงแวดล้อมโดยรอบ และส่งเสียงโห่ร้องกึกก้อง รูปเคารพของเวตาลที่ใช้เป็นรูปบูชามักทำด้วยหินทาสีแดง บนส่วนยอดของแท่งหินแกะสลักเป็นรูปหน้าคน

  โอม ขอชัยชนะจงมีแด่พระคเณศ พระผู้ซึ่งขณะฟ้อนรำได้ยังปวงดาราให้พรั่งพรูลงจากฟากฟ้าราวกับสายธารแห่งบุปผามาลัย ด้วยแรงลมเป่า จากปลายงวงของพระองค์แม้เพียงเล็กน้อย

  ณ ฝั่งแม่น้ำโคทาวรี มีพระมหานครแห่งหนึ่งตั้งอยู่นามว่า ประดิษฐาน ที่เมืองนี้ในสมัยบรรพกาลมีพระราชาธิบดีองค์หนึ่ง ทรงนามว่า ตริวิกรมเสน ได้ครองราไชศวรรย์มาด้วยความผาสุก พระองค์เป็นราชโอรสของพระเจ้าวิกรมเสนผู้ทรงเดชานุภาพเทียมท้าววัชรินทร์

ทุก ๆ วัน เมื่อพระราชาเสด็จออกว่าราชการ ณ ท้องพระโรงธารคำนัล จะมีนักบวชชื่อ ศานติศีล เข้ามาเฝ้าถวายความเคารพ แล้วถวายผลไม้ผลหนึ่งและทุก ๆวัน พระราชาก็ได้ประทานผลไม้นั้นแก่ขุนคลังผู้อยู่ใกล้ชิดให้เอาไปเก็บไว้ ด้วยประการฉะนี้แล กาลเวลาก็ผ่านไปนับสิบปี

อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อโยคีศานติศีลเข้ามาเฝ้าถวายผลไม้เช่นเคย แล้วทูลลากลับไป พระราชาทรงยื่นผลไม้นั้นแก่ลิงตัวหนึ่งซึ่งทรงเลี้ยงไว้ในตำหนัก และหนีคนเลี้ยงเข้ามาวิ่งเล่นอยู่ในท้องพระโรง ลิงรับผลไม้แล้วเอาเข้าปากขบกัด ทำให้เปลือกผลไม้ฉีกออก ทันใดนั้นเพชรมณีอันงามและมีค่าหามิได้ก็ร่วงตกลงมาเป็นประกายระยิบระยับ พระราชาทรงหยิบมณีเม็ดนั้นขึ้นมาพิจารณาและตรัสแก่โกศาธิบดีว่า

"นี่แนะขุนคลัง เจ้าจำได้ไหมว่าข้าเคยมอบผลไม้ของโยคีให้แก่เจ้าทุก ๆ วัน ป่านนี้ก็คงจะมีจำนวนมากโขอยู่ เจ้าเอาไปเก็บไว้ที่ไหนเล่า"

ได้ฟังรับสั่งดังนั้น ขุนคลังก็เกิดความตระหนกเป็นล้นพ้น อึกอักกราบทูลว่า

"ข้าแต่มหิบาล ขอทรงอภัยด้วยเถิด ข้าพระบาทคิดว่าเป็นผลไม้ธรรมดาก็เลยไม่ได้เอาใจใส่ ได้รับมาครั้งใดก็โยนเข้าไปในหน้าต่างท้องพระคลัง ป่านนี้จะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ ข้าพระองค์ขอเปิดประตูคลังดูก่อน"
โกศาธิบดีกราบทูลแล้วรีบวิ่งมาที่พระคลัง เปิดประตูออกดูภายในครู่หนึ่งก็รีบกลับมาทูลว่า

"โอ นฤบดี ผลไม้ดังกล่าวนั้นเปื่อยเน่าไปหมดแล้ว เหลือแต่เมล็ดคือ ดวงแก้วมณีกองเป็นภูเขาเลากาเต็มไปหมด ส่องแสงระยิบระยับไปทั้งห้องพระเจ้าข้า"

พระราชาได้ฟังดังนั้นก็ตรัสว่า

"สมบัติของข้าในท้องพระคลังก็มีมากมายเหลือที่จะคณานับ ข้าจะปรารถนาอะไรกับอนรรฆมณีเหล่านั้น ข้าขอมอบให้แก่เจ้าทั้งหมด จงเอาไปเถิด"

วันรุ่งขึ้น เมื่อเสด็จออกท้องพระโรง ทอดพระเนตรเห็นโยคีศานติศีลเข้ามาเฝ้า จึงตรัสว่า

"ดูก่อนมุนี ท่านมาหาเราทุกวัน เอามณีจินดาค่าควรเมืองนับไม่ถ้วนมาให้แก่เรา ท่านมีความประสงค์อะไร จงบอกมาตามจริง ถ้าท่านยังไม่บอกเรา วันนี้เราก็จะไม่รับผลไม้จากท่าน"

โยคีได้ฟังก็ตอบว่า

"ข้าพเจ้ากำลังจะประกอบมหายัญพิธีอันสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำสำเร็จไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้บุรุษสุดกล้าหาญอย่างท่านมาช่วยเหลือ ขอทรงเมตตาเถิด โอ ราชะ"

พระราชาได้ฟังก็ตรัสว่า

"ท่านโยคี ข้ายินดีจะช่วยเหลือท่านทุกอย่าง จะให้ทำอะไรก็บอกมาเถิด"

"โอ วิศามบดี ข้าพเจ้ายินดีนัก" โยคีศานติศีลกล่าว "ข้าพเจ้าจะรอพระองค์อยู่ที่สุสานนอกเมืองเมื่อถึงข้างแรมคืนแรกแห่งกาฬปักษ์ พระองค์จงมาพบข้าพเจ้าในเวลาค่ำที่บริเวณใต้ต้นไทรเถิด อย่าทรงลืมเป็นอันขาด"

พระราชาทรงยินยอม ตรัสว่า "เอาเถิด ข้าจะไปตามนัด"

โยคี เมื่อได้รับคำสัญญาของพระราชา ก็ทูลลากลับไปด้วยความยินดี
ฝ่ายพระราชาผู้มหาวีระ ครั้นถึงวันแรมแรกก็เสด็จออกจากวัง ทรงแต่งพระองค์อย่างรัดกุม โพกพระเศียรด้วยผ้าสีดำ ทรงเลาะเร้นไปตามทางโดยไม่มีผู้พบเห็น จนกระทั่งบรรลุถึงสุสานนอกเมืองตามที่นัดหมาย บริเวณนั้นมืดด้วยเงาแมกไม้ ปรากฏเพียงตะคุ่ม ๆ ในที่สุดก็มาถึงที่ใกล้จิตกาธานอันสว่างวอมแวมด้วยไฟที่เผาไหม้ซากอสุภอยู่ บางส่วนก็เหลือเพียงโครงกระดูกและกะโหลกศีรษะเรี่ยรายอยู่ ทำให้เกิดความสะพรึงกลัวแก่ผู้ได้พบเห็นยิ่งนัก ณ ที่นั้นมีพวกภูตและเหล่าเวตาลลอยอยู่เกลื่อน บ้างก็ยื้อแย่งกินศพอันชวนให้สะอิดสะเอียนเหียนราก เสียงหมาไนหอนโหยหวนอยู่ในที่ใกล้เคียงเหมือนเสียงปีศาจมาหลอกหลอน รวมแล้วความสยดสยองทั้งหลายที่ปรากฏก็เป็นประดุจการมาเยือนของพระไภรวะ (พระศิวะหรือพระอิศวร ปางดุร้าย) นั่นเทียว

จากนั้นพระราชาทรงค้นหาสำนักของโยคีศานติศีลจนพบที่ใต้ต้นไทรใหญ่ อันมีรากย้อยระย้า จึงเสด็จเข้าไปหา ตรัสว่า

"ข้ามาแล้ว ท่านโยคีจะให้ข้าทำอะไรเล่า"

เมื่อโยคีเห็นพระราชาเสด็จมาตามสัญญาก็ดีใจ กล่าวว่า

"โอ ราชะ ข้าพเจ้าเห็นแล้วจากพระเนตรของพระองค์ว่า ทรงมีเมตตาต่อข้าพเจ้า ทรงฟังเถิด ถ้าพระองค์เสด็จจากนี่ไปทางทิศใต้ไม่ไกลนัก จะทรงพบต้นอโศกต้นหนึ่ง บนกิ่งอโศกมีศพชายคนหนึ่งแขวนอยู่ ขอให้นำศพนั้นมาให้ข้าพเจ้า นั่นแหละคืองานที่ข้าพเจ้าต้องการจะให้พระองค์ช่วยเหลือ โอ มหาวีระ"

ทันทีที่วีรกษัตริย์ผู้มั่นคงต่อคำสัญญาได้ยินถ้อยคำดังกล่าว ก็ทรงกล่าวแก่โยคีว่า "ข้าจะทำตามคำของท่าน" แล้วเสด็จไปทางทิศใต้ ครู่หนึ่งก็มาถึงที่อันอยู่ไม่ไกลจากกองไฟที่ใกล้จะมอด แลเห็นต้นอโศกอยู่บริเวณนั้น บนกิ่งอโศกมีศพชายผู้หนึ่งแขวนอยู่ราวกับห้อยลงมาจากบ่าของอสุรกาย พระราชาทรงปีนต้นอโศกขึ้นไปปลดเอาศพลงมาอย่างยากเย็นและเหวี่ยงมันลงบนพื้นดิน ทันทีที่ร่างนั้นกระทบแผ่นดินมันก็หวีดร้องราวกับเจ็บปวดเต็มที่ พระราชาทรงคิดว่าร่างนั้นมีชีวิต ก็ปีนลงมาจากต้นอโศกเข้าประคองเอาไว้ ทรงนวดเฟ้นร่างนั้นด้วยความกรุณาเพื่อให้คลายเจ็บ ทันใดนั้นศพก็กรีดเสียงหัวเราะเยือกเย็นราวกับเสียงภูตผี พระราชาทรงทราบได้ทันทีว่าศพนั้นถูกเวตาลสิงอยู่ จึงถามมันว่า "เจ้าหัวเราะอะไร อย่ามัวชักช้าอยู่เลย รีบไปกันเถอะ" ทันใดนั้นเอง ศพที่เวตาลเข้าสิง ก็ลอยกลับขึ้นไปห้อยอยู่บนกิ่งอโศกตามเดิม พระราชาเห็นดังนั้น ก็รีบปีนขึ้นไปดึงเอาศพนั้นลงมาแล้วเหวี่ยงขึ้นบ่า เสด็จไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่เสด็จมาตามทาง เวตาลในร่างของศพที่พาดบ่าอยู่ก็กล่าวแก่พระราชาว่า

"โอ ราชัน ข้าจะเล่านิทานสนุก ๆ ให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง ระหว่างทางจะได้ไม่เบื่อ โปรดทรงสดับเถิด และเมื่อฟังแล้วอย่าได้ตรัสอะไรเลย"





Create Date : 05 กันยายน 2554
Last Update : 5 กันยายน 2554 17:01:46 น. 36 comments
Counter : 9913 Pageviews.

 
นิทานเรื่องที่

แต่โบราณกาล มีเมืองหนึ่งชื่อพาราณสี อันเป็นที่กล่าวกันว่าเป็นที่ประทับของพระศิวะผู้เป็นเจ้าเพราะเมืองนี้เป็นที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์ในศาสนา ซึ่งเปรียบเหมือนภูเขาไกรลาสอันเป็นที่ชุมนุมของทวยเทพ แม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์มีน้ำเปี่ยมฝั่งตลอดกาลไหลเลียบพระนครนี้ ทำให้ดูเสมือนสร้อยแก้วมณีอันบรรเจิดที่คล้องเอาไว้โดยรอบ
ที่พระนครพาราณสีนี้ มีพระราชาองค์หนึ่งทรงนามว่า พระเจ้าประตาปมกุฎปกครองอยู่ พระองค์เป็นผู้เลิศด้วยเดชานุภาพ สามารถปราบปรามเหล่าอริราชศัตรูได้ราบคาบราวกับกองอัคนีที่เผาผลาญป่าใหญ่ให้วอดวาย ฉะนั้นพระองค์มีราชโอรสองค์หนึ่งชื่อ วัชรมกุฎ ผู้ทรงโฉมอันงามยอดยิ่งเพียงดังจะเย้ยกามเทพให้ได้อาย เจ้าชายมีสหายผู้หนึ่งชื่อพุทธิศรีระ ซึ่งทรงรักและตีราคาคุณค่าของเขาเท่ากับชีวิตของพระองค์นั่นเทียว แลพุทธิศรีระนั้นเป็นบุตรมนตรีผู้ใหญ่ของพระราชา
สมัยหนึ่งเจ้าชายกับพระสหายพากันแสวงหาความบันเทิงสุขโดยการขี่ม้าประพาสป่าไล่ล่าสิงโตอย่างสนุก ทรงยิงธนูตัดสร้อยคอของสีหะเหล่านั้น อันมีลักษณะดังแส้จามรีของมันขาดกระจุย ในที่สุดเสด็จมาถึงป่าใหญ่แห่งหนึ่งที่นั้นมีความงดงามรื่นรมย์ราวกับอุทยานของกามเทพ มีเสียงนกดุเหว่าวิเวกแว่วอ่อนหวาน ผสมผสานมากับสายลมที่แผ่วรำเพยมาจากแนวพฤกษ์อันมีดอกบานสะพรั่งทุกกิ่งก้านกวัดไกวไปมา ระหว่างทิวไม้อันคดโค้งในเบื้องหน้าเป็นทะเลสาบซึ่งมีน้ำอันใสเขียวดังมรกตและมีระลอกน้อย ๆ วิ่งไล่กันเข้าสู่ฝั่งมิได้ ขาด กลางบึงใหญ่มีกอบัวอันสลับสล้างด้วยสีสันวรรณะต่าง ๆ อย่างงดงาม ณ ที่นั้น เจ้าชายทอดพระเนตรเห็นนารีนางหนึ่งมีรูปโฉมงดงามดังเทพอัปสร ลงเล่นน้ำอยู่พร้อมด้วยคณานางผู้เป็นบริวาร นางมีพักตร์อันงามดังสมบูรณจันทร์ อันทำให้เศวโตตบล (บัวสายสีขาว) ทั้งหลายต้องได้อาย เพียงได้แลเห็นนางครั้งแรก เจ้าชายหนุ่มก็รู้สึกเหมือนว่านางได้คร่าเอาดวงหทัยของพระองค์ไปเสียแล้วด้วยเสน่ห์อันลึกซึ้งของนาง แลนางนั้นกำลัง เพลิดเพลินอยู่ด้วยการเล่นน้ำจนมิทันระวัง อาภรณ์ที่หลุดร่วงจากอุระ ขณะที่เจ้าชายและสหายกำลังจ้องดูนางอยู่
ด้วยความสงสัยว่านางเป็นใครนั้น ก็พอดีนางเหลือบมาเห็นเข้า นางเมินหน้าหนีด้วยความอาย แต่แล้วกลับแสดงท่าทีเป็นนัย ๆ ให้ทราบว่านางเป็นใครมาจากไหน นางเด็ดดอกบัวออกจากมาลาที่สวมศีรษะนางดอกหนึ่งเอาทัดหูไว้ นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วเอาดอกบัวออกจากหู บิดให้เป็นรูปเครื่องประดับอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ทันตบัตร (แผ่นฟันเป็นรูปอาภรณ์ชนิดหนึ่ง) จากนั้นนางหยิบดอกบัวอีกดอกหนึ่งขึ้นวางบนศีรษะ และเอามือปิดอุระไว้ตรงหัวใจนาง เจ้าชายมองดูอากัปกิริยาของนางอย่างไม่เข้าใจ แต่สหายผู้เป็นบุตรมนตรีเข้าใจโดยตลอด นางโฉมงามนิ่งอยู่ครู่หนึ่งก็ขึ้นจากน้ำแวดล้อมด้วยบริวารเดินทางกลับไปยังนิวาสสถานของนาง
เมื่อนางเข้าในบ้านก็ล้มตัวลงบนที่นอน มีใจอันเต้นระทึกคิดถึงเจ้าชายด้วยความสงสัยว่าพระองค์จะเข้าใจสัญญาณของนางหรือไม่ ส่วนเจ้าชายวัชรมกุฎ เมื่อมิได้เห็นนางอีกแล้วก็เปรียบเหมือนวิทยาธรที่สิ้นไร้ซึ่งมนต์วิเศษ เมื่อเสด็จกลับถึงพระนครก็มีแต่จิตประหวัดคิดถึงนางอยู่มิรู้วาย ทรงตกอยู่ในอารมณ์รันทด มีแต่ความเศร้าสร้อยอาวรณ์หาแต่นางผู้เดียว วันหนึ่งบุตรมนตรีเข้ามาเฝ้าและสนทนากันด้วยเรื่องต่าง ๆ พุทธิศรีระ บุตรมนตรี ได้ถามเจ้าชายผู้เป็นสหายว่ามีความคิดอย่างไรเรื่องนางงามที่พบที่ทะเลสาบ ในความคิดของตนเห็นว่านางนั้นอาจจะติดต่อได้ง่ายกว่าที่คิดเพราะทุกอย่างไม่มีปัญหาอะไรเลย
เจ้าชายได้ฟังก็พลุ่งขึ้นมาว่า “เจ้าพูดได้อย่างไรว่าเข้าหาไม่ยากเลย ข้าไม่รู้จักแม้แต่ชื่อของนาง ที่ซึ่งนางอยู่ หรือแม้แต่หัวนอนปลาย ตีนของนางทั้งสิ้น เจ้าช่างกวนโมโหข้าเสียจริง”
เมื่อเจ้าชายตรัสดังนี้ พุทธิศรีระก็ถึงกับอ้าปากค้าง กล่าวว่า “อะไรนะ พระองค์ไม่ทราบได้อย่างไรในเมื่อนางให้สัญญาณออกโจ่งแจ้งอย่างนั้น ก็เมื่อนางเอาดอกบัวทัดที่หู นางหมายจะบอกพระองค์ว่า ‘ฉันอยู่ในแว่นแคว้นของพระราชานาม กรรโณตบล’ (ผู้มีดอกกบัวประดับที่หู) เมื่อนางบิดกลับบัวเป็นอาภรณ์ทันตบัตร นางหมายความว่า ‘จงรู้เถิดว่าฉันเป็นลูกของทัตแพทย์ที่เมืองนั้น’ การที่นางหยิบดอกบัวขึ้นชูบนศีรษะว่า นางชื่อปัทมาวดี และการที่นางเอามือทาบหทัยประเทศก็หมายความว่า พระองค์สถิตอยู่ในหัวใจของนางแล้วนั่นเอง พระองค์ไม่รู้หรือว่าพระราชากรรโณตบลนั้นเป็น กษัตริย์แห่งแคว้นกลิงคะ และมีพระสหายที่โปรดปรานคนหนึ่งเป็นหมอฟันชื่อสงครามวรรธน์ ก็ชายผู้นี้แหละ มีลูกสาวชื่อ ปัทมาวดี ผู้เป็นมุกดาแห่งโลกทั้งสาม และบิดาของนางตีราคานางเท่ากับชีวิตของเขานั่นเทียว


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:17:11:34 น.  

 
เรื่องราวเหล่านี้ข้าพเจ้าทราบจากคำคนเขาพูดกันมานานแล้ว เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงตีความหมายของนางได้ถูก ต้องไม่ว่านางจะแสดงท่าทีอย่างไร
เมื่อราชบุตรได้ฟังคำเฉลยอันแจ่มแจ้งของบุตรมนตรีดังนี้ ก็มีใจปลอดโปร่งสิ้นความกังวลวิตก มีใบหน้าอันแช่มชื่นขึ้นทันที และเห็นโอกาสที่จะไปหานางอันเป็นที่รักได้โดยง่าย จึงจัดการเสด็จอีกครั้งหนึ่งพร้อมด้วยบุตรมนตรี โดยแสร้งทำเป็นว่าจะไปล่าสัตว์แล้วมุ่งไปหานางโดยทันทีตามเส้นทางเดิม พอมาถึงกลางทาง เจ้าชายก็กระตุ้นม้าเผ่นโผนไปด้วยความเร็วจนข้าราชบริพารตามไม่ทัน แล้วมุ่งหน้าไปยังแคว้นกลิงคะพร้อม ด้วยบุตรมนตรีตามเสด็จอย่างใกล้ชิด ณ ที่นั้นชายหนุ่มทั้งสองก็มุ่งไปยังพระนครของพระราชากรรโณตบล แล้วสืบเสาะจนพบคฤหาสน์หลังงามของทันตแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าชายและพระสหายแวะเข้าไปสู่บ้านของหญิง ชราผู้หนึ่งซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับคฤหาสน์นั้น พุทธิศรีระจัดการให้หญ้าให้น้ำแก่ม้าทั้งสองตัว แล้วเอาไปซ่อนในที่ ลับตา จากนั้นก็กล่าวแก่หญิงชราต่อพระพักตร์ของเจ้าชายว่า “คุณแม่ ท่านเคยรู้จักหมอฟันชื่อ สงครามวรรธน์บ้างหรือ”
พอนางได้ฟังถ้อยคำดังนั้น ก็กล่าวแก่ชายหนุ่มอย่างอ่อนน้อมว่า “แม่รู้จักเขาดีทีเดียว ก็แม่นี่แหละเคยเป็นแม่นมของเขา เดี๋ยวนี้เขาให้แม่เป็นคนดูแลลูกสาวของเขาแล้ว แต่แม่ก็ไม่ได้เข้าไปที่บ้านใหญ่นั่นหรอก เพราะไม่มีเสื้อผ้าดี ๆ จะแต่ง มีแต่ชุดปอน ๆ นี่จะใส่ไปก็อายเขา ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะอ้ายลูกชายชาติชั่ว มันเล่นการพนันหมดเนื้อหมดตัว ไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว มันเห็นเสื้อผ้าสวย ๆ ของแม่มีอยู่ มันก็ขนเอาไปจนหมด” เมื่อบุตรมนตรีได้ฟังดังนั้นก็ยินดี แลเห็นช่องทางโดยตลอด จึงถอดสร้อยสังวาลออกมอบให้นางพร้อมด้วยของขวัญอีกหลายอย่าง ทำให้นางปลาบปลื้มเป็นอันมาก บุตรมนตรีเห็นได้โอกาสจึงกล่าวแก่นางว่า
“คุณแม่จงเป็นแม่ของพวกเราเถิด ตอนนี้ฉันมีความลับอย่างหนึ่งที่จะบอกคุณแม่ และขอให้คุณแม่ช่วยสงเคราะห์ด้วย ให้คุณแม่ไปหานางปัทมาวดี ลูกหมอฟันและกล่าวแก่นางว่า เจ้าชายที่เจ้าเห็นที่ทะเลสาบนั้น บัดนี้มาถึงแล้ว และเพราะความรักของเขาที่มีต่อเจ้าอย่างท่วมท้น เขาจึงรีบให้แม่มาบอกเจ้า”
เมื่อหญิงชราได้ฟังดังนั้นก็ตอบตกลง เพราะได้ลาภสักการมาไว้แล้วอย่างเต็มที่ รีบกระวีกระวาดเข้าไปพบนางปัทมาวดีในปราสาท และกลับมาในเวลาเพียงชั่วครู่ เจ้าชายและพระสหายเห็นนางกลับมาก็ถามเรื่องราวโดยทันที นางได้ฟังก็ตอบว่า “แม่ไปพบนางอย่างลับ ๆ และแจ้งข่าวแก่นางว่าเจ้ามาถึงแล้ว พอนางฟังจบก็ด่าข้ายกใหญ่ มิหนำซ้ำยังตบหน้าข้าทั้งสองข้างข้างละทีด้วยฝ่ามือที่ทาด้วยการบูร แล้วไล่ข้ากลับมา นางทำให้ข้าต้องร้องไห้ด้วยความเสียใจเพราะถูกดูหมิ่นอย่างคาดไม่ถึง นี่ไงล่ะ ลูกเอ๋ย รอยที่นางตบข้ายังเป็นผื่นห้านิ้วอยู่เลยเห็นไหม”
เมื่อได้ฟังดังนี้ เจ้าชายก็รู้สึกเป็นทุกข์เพราะความผิดหวังยิ่งนัก แต่บุตรมนตรีผู้ฉลาดได้กล่าวปลอบโยนว่า “อย่าทรงเศร้าโศกไปเลยพระเจ้าข้า ที่นางทำอย่างนี้เป็นแต่เพียงปริศนาเท่านั้นหรอก การที่นางบริภาษแม่เฒ่าและตบหน้าทั้งสองแก้มด้วยมือทาการบูรทั้งสิบนิ้วเป็นรอยสีขาวอย่างนั้นก็เพราะนางต้องการจะตอบเป็นนัย ๆ ว่าให้พระองค์ทรงรออีกสิบวันข้างขึ้น เพราะระหว่างนี้เป็นวันที่ฤกษ์ไม่ดี”
หลังจากที่บุตรมนตรีกล่าวปลอบโยนเจ้าราชบุตรดังนี้แล้ว บุตรมนตรีก็ออกไปตลาด แอบเอาเครื่องทองหยองออกขายอย่างลับ ๆ เอาเงินมาให้แม่เฒ่าไปทำอาหารอย่างดีเลิศมากินกันทั้งสามคน หลังจากนั้นเมื่อรอมาครบสิบวัน บุตรมนตรีก็ส่งแม่เฒ่าไปพบนางปัทมาวดีอีกเพื่อดูว่านางจะว่าอย่างไร ฝ่ายหญิงชราหลังจากที่ถูกปรนเปรอด้วยเหล้ายาปลาปิ้งและอาหารนานารสอย่างอิ่มหมีพีมันแล้วก็มีกำลังใจยอมช่วยเหลือเต็มที่ นางเดินทางไปหานางปัทมาวดีอีกครั้งเพื่อเอาใจแขกทั้งสอง นางไปแล้วมิช้าก็กลับมากล่าวแก่ชายทั้งสองว่า “แม่ไปมาแล้ว และไม่ทันได้พูดอะไร แต่นางกลับเยาะเย้ยแม่ว่าทำเป็นแม่สื่อดีนัก นางเอามือที่ทาชาดมาแปะหน้าอกข้าเป็นรอยนิ้วมือสามนิ้ว ข้าจึงกลับมายังเจ้าพร้อมด้วยรอยนิ้วมือของนางนี่แหละ”


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:17:12:31 น.  

 
เมื่อบุตรมนตรีได้ฟังและพิเคราะห์ด้วยความฉลาดก็ทูลเจ้าชายให้สงบพระทัย และไตร่ตรองในปริศนาของนาง ซึ่งตนเห็นว่าไม่ลี้ลับอะไรเลย “นางต้องการจะบอกให้ทราบว่า นางยังไม่ว่างที่จะพบใครในสามวันนี้” บุตรมนตรีเฉลยปัญหาอย่างมั่นใจ
หลังจากนั้นอีกสามวัน พุทธิศรีระก็ส่งหญิงเฒ่าไปหานางปัทมาวดีอีก คราวนี้นางปัทมาวดีต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี ปรนเปรอด้วยอาหารอันเอมโอชและสุราอย่างดี หญิงชราเพลิดเพลินอยู่ที่คฤหาสน์ตลอดวัน จนกระทั่งถึงเวลาเย็นนางจึงลากลับบ้าน ขณะนั้นปรากฏเสียงอื้ออึงในท้องถนนหน้าคฤหาสน์เสียงคนร้องเอะอะว่า “ระวังด้วย มีช้างบ้าหลุดจากเสาตะลุงวิ่งมาทางนี้ มันกระทืบคนตายไปหลายคนแล้ว หนีเร็ว” นางปัทมาวดีได้ยินดังนั้นจึงกล่าวแก่หญิงชราว่า “แม่อย่าออกไปทางถนนใหญ่เลย อันตรายเปล่า ๆ เราจะให้แม่นั่งในกระเช้าแล้วค่อยหย่อนเชือกลงไปจากหน้าต่างดีกว่า พอลงไปถึงสวนแล้วก็ปีนต้นไม้ออกไปที่กำแพง แล้วข้ามกำแพง ลงไปโดยไต่ลงต้นไม้อีกต้นหนึ่ง ถึงทางลัดแล้วแม่ก็กลับไปบ้านเถิด” หลังจากกล่าวดังนี้แล้ว นางปัทมาวดีก็ให้หญิงชราลงไปนั่งในกระเช้า เอาเชือกพันแน่นหนา แล้วก็ค่อยหย่อนนางลงทางหน้าต่าง เมื่อลงไปถึงสวนแล้วก็ให้นางทำตามที่บอกจนหญิงเฒ่ากลับสู่บ้านด้วยความปลอดภัย เมื่อนางกลับมาบ้านแล้วก็เล่าเรื่องทั้งหมดให้ชายหนุ่มทั้งสองฟัง บุตรมนตรีได้ฟังดังนั้นก็กล่าวแก่เจ้าชายว่า “ความปรารถนาของพระองค์ถึงความสำเร็จแล้ว เพราะฟังจากถ้อยคำแม่เฒ่านี่ นางปัทมาวดีได้แนะหนทางให้พระองค์ไปสู่บ้านของนางแล้ว เพราะฉะนั้นจงเสด็จไปเถิด ไปเสียวันนี้เลย เวลาย่ำค่ำ ไปตามหนทางที่นางชี้แนะไว้แล้วนั่นแหละ”
เมื่อบุตรมนตรีกล่าวดังนี้ เจ้าราชบุตรก็เดินทางไปพร้อมด้วยบุตรมนตรีลัดเลาะมาจนถึงแนวกำแพงบ้านนางตามที่หญิงชราบอกไว้ ที่ตรงนั้นมีเชือกผูกระเช้าหย่อนลงมาจากหน้าต่าง ที่ขอบหน้าต่างแลเห็นสาวใช้กำลังเยี่ยม ๆ มอง ๆ เหมือนนางกำลังคอยหาเจ้าชายอยู่ ดังนั้นเจ้าจึงลงไปนั่งในกระเช้านางสาวใช้สองคนก็ช่วยกันชักกระเข้าขึ้นไปจนถึงหน้าต่าง จากนั้นเจ้าชายก็เสด็จเข้าไปในปราสาทและตรงเข้าไปหานางอันเป็นที่รัก บุตรมนตรีเห็นว่าเสร็จธุระของตนแล้วก็กลับที่พัก
ส่วนเจ้าชายเมื่อเข้าไปถึงห้องของนางก็แลเห็นนางนั่งอยู่บนอาสน์ มีใบหน้าอันงามปลั่งเปล่งดังจันทร์เพ็ญฉายแสงอร่ามเรืองในราตรี นางแลเห็นเจ้าชายก็รีบลุกจากแท่นเข้ามากอดไว้ด้วยความเสน่หาอันแผดเผาอุระให้ทรมานมานับเดือน เจ้าชายประคองนางไว้ด้วยความรัก และกระทำวิวาหะต่อนางตามแบบคานธรรพวิวาห์ (การได้เสียกันเองด้วยความพอใจทั้งฝ่ายชายและหญิง วิวาหะชนิดนี้ถือเป็นแบบหนึ่งที่ถูกต้องตามกฏหมายอย่างหนึ่งใน 8 ชนิด) เมื่อความปรารถนาของพระองค์บรรลุความสำเร็จแล้ว เจ้าชายก็ประทับอยู่กับนางเรื่อยมาโดยการลักลอบมิให้รู้ถึงผู้อื่น จนเวลาผ่านไปหลายวัน
วันหนึ่งขณะในที่อยู่กับนางในที่รโหฐาน เจ้าชายรำลึกถึงพระสหายได้ จึงกล่าวแก่นางว่า “ดูก่อนเจ้าผู้เป็นที่รัก สหายร่วมใจของข้ากำลังคอยข้าอยู่ที่บ้านแม่เฒ่า เวลาก็ผ่านไปหลายวันแล้ว ข้าคิดว่าควรจะกลับไปเยี่ยมเยียนเขาบ้าง เพราะเขาคอยฟังข่าวจากข้าอยู่ เสร็จธุระแล้วข้าจะกลับมาที่นี่อีก”
ปัทมาวดีโฉมงามได้ฟังก็นิ่งอยู่ ไตร่ตรองด้วยความฉลาดของนาง แล้วก็กล่าวแก่สามีของนางว่า “โอท่านผู้เป็นบดี (สามี หรือนาย) ของข้า เมื่อพระองค์ตรัสดังนี้ก็ดีแล้ว แต่ข้ายังมีความสงสัยอยู่อย่างหนึ่งที่จะถามว่า ก่อนหน้านี้ข้าเคยทำปริศนาหลายอย่างต่อพระองค์ พระองค์ทรงตีปัญหาแตกด้วยความคิดของพระองค์เองหรือ หรือว่าบุตรมนตรีผู้เป็นสหายเป็นคนคิดให้”
เจ้าราชบุตรได้ฟังดังนั้นก็กล่าวตอบโดยความซื่อว่า “ข้าไม่ได้คิดเองเลยสักอย่าง แต่สหายของข้าคือบุตรมนตรีผู้นั้นเป็นผู้แนะนำต่างหาก”
นางได้ฟังดังนั้นก็คิดในใจด้วยความล้ำลึก ปกปิดความรู้สึกอันแท้จริงมิให้ปรากฏออกนอกหน้า กล่าวว่า “พระองค์ทำผิดเสียแล้วที่ไม่แจ้งเรื่องนี้แก่ข้าก่อน เมื่อเขาเป็นสหายของพระองค์ เขาก็ควรจะเป็นพี่ของข้าด้วย ข้าควรจะให้เกียรติแก่เขายิ่งกว่าใคร ๆ ทั้งหมด โดยให้ของขวัญอันมีค่าต่าง ๆ”
เมื่อนางกล่าวดังนี้แล้ว ตกเวลากลางคืนนางก็ส่งเจ้าชายกลับไปโดยวิธีเดิมเหมือนขามา เจ้าชายก็กลับมาหาพุทธิศรีระและพักอยู่ด้วยกันเป็นเวลาหลายวัน วันหนึ่งราชบุตรกล่าวแก่บุตรมนตรีว่าพระองค์ได้เล่าเรื่องการแก้ปริศนาของเขาให้นางทราบหมดแล้วเพื่อต้องการจะยกย่องความฉลาดของเขา สหายหนุ่มได้ฟังก็ตำหนิ ว่าเป็นการเสี่ยงมากที่ทรงทำดังนั้น การสนทนาระหว่างสองชายดำเนินไปจนกระทั่งเย็นค่ำ วันต่อมา หลังจากการสวดประจำวันเวลาเช้าสิ้นสุดลง ก็ปรากฏว่ามีสาวใช้คนสนิทของนางปัทมาวดีมารอพบอยู่ เอาหมากพลูมาให้พร้อมกับอาหารซึ่งน่ากินหลายอย่าง นางถามสารทุกข์สุกดิบของบุตรมนตรีตามธรรมเนียม แล้วมอบของกินให้แก่เขาและกล่าวแก่เจ้าชายว่า นางปัทมาวดีกำลังคอยอยู่ ขอให้พระองค์เสด็จไปเสวยอาหารที่บ้านของนางโดยเร็ว นางกล่าวจบก็รีบผลุนลันกลับไป บุตรมนตรีเห็นนางไปแล้วก็กล่าวแก่เจ้าชายว่า
“ข้าแต่ราชบุตร โปรดคอยดู ข้าจะแสดงอะไรให้ดูสักอย่าง” กล่าวจบก็นำอาหารในภาชนะนั้นมาให้สุนัขกิน สุนัขกินอาหารนั้นยังไม่ทันหมดก็ล้มลงขาดใจตาย เจ้าชายแลดูด้วยความงุนงง ตรัสว่า “นี่มันอะไรกัน ข้าไม่เข้าใจ”
บุตรมนตรีจึงอธิบายว่า “ความจริงก็คือ นางผู้เป็นที่รักของพระองค์รู้ว่าข้าเป็นคนมีปัญญา เพราะสามารถตีปัญหาของนางออกทุกอย่าง นางจึงส่งอาหารใส่ยาพิษมาให้ข้ากิน ที่นางทำเช่นนี้ก็เพราะนางรักพระองค์มากเหลือเกิน นางต้องการให้พระองค์รักนางอย่างสุดจิตสุดใจ และนางเห็นว่า ตราบใดที่ข้ายังมีชีวิตอยู่ ข้าอาจเป็นก้างขวางคอนาง และอาจจะยุยงพระองค์ให้เหินห่างจากนางเมื่อไรก็ได้ นางจึงคิดจะฆ่าเสีย มิให้ข้านำพาพระองค์เสด็จกลับพระนคร แต่พระองค์อย่าโกรธนางเลย ทางที่ดีขอให้พระองค์เล้าโลมนางจนคิดหนีจากสกุลติดตามพระองค์กลับสู่พระนครจะดีกว่า ข้าจะเป็นผู้ออกอุบายดำเนินเรื่องนี้เอง”
เมื่อบุตรมนตรีทูลดังนี้ เจ้าราชบุตรก็ทรงยิ้มแย้มด้วยความพอพระทัยตรัสว่า “เจ้านี่สมแล้วที่ได้ชื่อว่า พุทธิศรีระ เพราะเจ้าเป็นแหล่งของความฉลาดแท้เทียว”
ขณะที่เจ้าชายกำลังกล่าวยกย่องพระสหายอยู่นั้นก็ได้ยินเสียงคนเป็นอันมากส่งเสียงปริเทวนาการมาจากท้องถนนว่า “โธ่เอ๋ย ช่างกระไรราชบุตรน้อยของพระราชามาด่วนจากไปเสียแล้ว ไม่ควรเลย ยังเด็กอยู่แท้ ๆ” บุตรมนตรีได้ยินเสียงดังนั้นก็รู้สึกยินดีนัก กล่าวแก่เจ้าชายว่า “รีบเสด็จไปบ้านนางเถอะ คืนนี้เมื่อพระองค์อยู่กับนาง จงพยายามให้นางดื่มสุราให้มาก ให้นางเมาจนสิ้นสติแน่นิ่ง แล้วจงเอาเหล็กเผาไฟนาบสะโพกของนางเป็นเครื่องหมายแล้วเก็บสร้อยถนิมพิมพาภรณ์เครื่องประดับกายของนางมาให้หมด จากนั้นขอให้เสด็จกลับมาทางเดิม เมื่อกลับมาบ้านแล้วข้าจะดำเนินการตามแผนที่คิดไว้ทุกอย่าง” เมื่อบุตรมนตรีกล่าวดังนี้แล้วก็มอบเหล็กแหลมรูปตรีศูลอันเล็ก ๆ มีลักษณะแหลมราวกับขนหมูป่าให้แก่เจ้าชายเพื่อไปกระทำตามแผน เจ้าชายรับมาแล้วทรงพิจารณาดูอาวุธน้อยอันดำเป็นมันขลับราวกับตะกั่วดำ พลางคิดว่าทั้งนางปัทมาวดีผู้เป็นที่รัก กับพุทธิศรีระผู้เป็นสหายแก้ว ดูจะเป็นคนใจหินด้วยกันทั้งคู่ไม่มีใครเป็นรองใครจึงตรัสว่า “เอาเถอะข้าจะทำตามที่เจ้าสั่งทุกอย่าง”
คืนนั้นเจ้าชายเสด็จไปยังคฤหาสน์ของนางปัทมาวดี เพราะขึ้นชื่อว่าเจ้าชายย่อมจะต้องทำตามคำแนะนำของมนตรีที่ฉลาดเสมอ ณ ที่นั้นพระองค์ได้ภิรมย์อยู่ด้วยนางจนเวลาค่อนคืน ปรนเปรอนางด้วยสุรา จนนางเมามายถึงขนาดและแน่นิ่งไป เจ้าชายเห็นได้โอกาสก็หยิบตรีศูลมาลนไฟแล้วนาบลงที่สะโพกของนางโดยนางยังคงสลบไสลไม่ได้สติเช่นเดิม เสร็จแล้วทรงรวบรวมรัตนาภรณ์ของนางใส่ห่อผ้า เสด็จเร้นพระองค์ลงจากหน้าต่างในความมืด แฝงกายลัดเลาะมาถึงบ้าน แจ้งเหตุการณ์ทุกอย่างให้บุตรมนตรีทราบ ทำให้บุตรมนตรีดีใจที่แผนการประสบผลสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว
รุ่งเช้าบุตรมนตรีแอบไปยังสุสานนอกเมือง พร้อมด้วยราชบุตร และเปลี่ยนเสื้อผ้า โดยบุตรมนตรีปลอมตนเป็นโยคี ส่วนเจ้าชายปลอมเป็นสาวก เสร็จแล้วบุตรมนตรีกล่าวแก่เจ้าชายว่า “พระองค์จงนำรัตนาวลีนี้ไปเร่ขายในตลาด แล้วทำเป็นโก่งราคาเสียจนไม่มีใครกล้าแตะ จงเดินเร่ขายไปเรื่อย ๆ ทำให้ใคร ๆ ได้เห็นกันจนทั่ว และเมื่อถูกราชบุรุษ (ตำรวจ) จับ จงทำเป็นไม่รู้ อิโหน่อิเหน่ตอบแต่เพียงว่า ท่านโยคีอาจารย์ของข้าสั่งให้ข้าเอาสร้อยเส้นนี้มาขาย
เมื่อบุตรมนตรีกำชับกำชาเรียบร้อยแล้วก็ส่งเจ้าชายออกไปที่ตลาด เจ้าชายแกล้งตระเวนขายสายสร้อยมณีไปทั่วตลาด ในที่สุดก็ถูกราชบุรุษจับ เพราะราชบุรุษได้รับแจ้งความมาว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัตนาภรณ์ที่โจรเอาไปจากลูกสาวเศรษฐีผู้เป็นทันตแพทย์ เมื่อราชบุรุษจับกุมเจ้าชายไปแล้วก็นำไปมอบแก่ตุลาการ ตุลาการแลเห็นราชบุตรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าของโยคี ก็รีบแสดงความเคารพและถามด้วยความนอบน้อมว่า “ข้าแต่ท่านสาธุ ท่านเอาสร้อยมณีเส้นนี้มาจากไหน ท่านรู้หรือไม่ว่า สร้อยเส้นนี้เป็นของธิดาเศรษฐีใหญ่ คือธิดาทันตแพทย์หลวง นางทำหายไปโดยไร้ร่องรอยจำไม่ได้ว่าที่ไหน บางทีอาจจะถูกขโมยเมื่อคืนนี้ก็ได้”
เมื่อเจ้าชายผู้ปลอมเป็นสาธุได้ฟังดังนั้นจึงตอบว่า “ท่านมหาคุรุผู้เป็นอาจารย์ของข้าเป็นคนมอบให้ข้าเอง ถ้าท่านอยากรู้อะไรก็จงสอบถามท่านคุรุเถิด”
ตุลาการได้ฟังก็เดินทางไปที่สุสาน แลเห็นบุตรมนตรีนั่งอยู่ คิดว่าเป็นโยคีจึงเข้าไปทำความเคารพและถามว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านได้มุกดาวลีเส้นนี้มาจากไหน ข้าได้มาจากศิษย์ของท่าน”
เมื่อหนุ่มเจ้าเล่ห์ได้ฟังก็ตอบว่า “ข้าเป็นนักบวชแสวงบุญ เดินทางท่องเที่ยวจาริกแสวงบุญไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่พำนักถาวร ข้าชอบท่องเที่ยวไปในไพรกว้าง ออกจากป่าโน้นเข้าป่านี้ตามอำเภอใจของข้า คราวนี้ประเหมาะได้เจอเรื่องตื่นเต้นเข้าจนได้ เมื่อคืนข้ามาพักอยู่ในสุสานนี้ ข้าได้เห็นนางแม่มดจำนวนมากมาประชุมกันที่นี่ พวกมันคนหนึ่งนำเอาร่างสลบไสลของชายคนหนึ่งมาด้วย มันเอาร่างเปล่าเปลือยของชายเคราะห์ร้ายมาวางเป็นเครื่องบูชายัญแด่องค์พระไภรวะ (ผู้น่ากลัว หมายถึงพระศิวะ (อิศวร) ปางดุร้าย) นางแม่มดตนหนึ่งมีอำนาจตบะแรงกล้ามิใช่น้อย แอบเข้ามาขโมยสร้อยประคำที่ข้าใช้ท่องบ่นมนตราอันศักดิ์สิทธิ์ไป ข้าลืมตาขึ้นเห็นนางตัวดีวิ่งหนีไปข้างหน้า ข้าโกรธมาก วิ่งตามไปจิกหัวมัน กระชากสร้อยประคำคืนมาแล้วมัดนางไว้ เอาตรีศูลของข้าลนไฟแล้วนาบสะโพกมัน ข้าหยิบสร้อยมุกดาที่มันสวมคอเอามาด้วย แล้วปล่อยมันไป ข้าเห็นว่ารัตนาวลีนี้เป็นของมีค่า มิใช่ของอันดาบสพึงเก็บเอาไว้ใช้สอย จึงให้ลูกศิษย์ข้าเอาไปขายที่ตลาด เรื่องก็มีเท่านี้แหละ
เมื่อตุลาการได้ฟังเรื่องราวโดยตลอดเช่นนั้นก็รีบกลับเข้าวังทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาได้ฟังรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อยที่มีเรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้น ในที่สุดทรงสรุปเอาว่า สร้อยมุกดานั้นชะรอยจะเป็นเส้นเดียวกับเส้นที่หายไป พระราชาจึงส่งนางพนักงานชราที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้คนหนึ่งไปสืบที่บ้านเศรษฐี เพื่อดูว่าธิดาเศรษฐีผู้นั้นมีรอยรูปตรีศูลอยู่ที่สะโพกหรือหาไม่ หญิงเฒ่าไปแล้วมิช้าก็กลับมาทูลว่า นางปัทมาวดีนั้นมีรอยรูปตรีศูลบนสะโพกเห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อได้ฟังดังนั้นพระราชาก็ทรงมั่นพระทัยว่า นางปัทมาวดีเป็นแม่มด และเป็นคนเดียวกับที่ฆ่าพระโอรสของพระองค์เป็นแน่แท้ ดังนั้นพระองค์จึงเสด็จไปแต่ลำพัง เข้าไปหาโยคีที่สุสาน และถามว่า พระองค์ควรจะจัดการอย่างแก่นางปัทมาวดี โยคีปลอมจึงทูลแนะนำให้เนรเทศนางไปเสียจากพระนคร พระราชาจึงออกคำสั่งให้เนรเทศนางไปเสีย ทำให้บิดามารดาของนางเศร้าโศกเพียงชีวิตจะแตกสลาย เมื่อนางปัทมาวดีถูกขับไล่ออกจากเมือง เสื้อผ้าแพรพรรณและถนิมพิมพาภรณ์ของนางก็ถูกยึดไปหมด เหลือแต่ผ้านุ่งห่มปอน ๆ ผืนเดียว นางเข้าไปอยู่ในป่าแต่ผู้เดียว สิ้นความคิดที่จะช่วยเหลือตัวเอง นั่งซึมเซาอยู่ตกเย็นบุตรมนตรีกับเจ้าชายเปลี่ยนเครื่องแต่งกายนักบวช แล้วขี่ม้าเข้ามาในป่าตรงไปหานาง ปลอบโยนนางให้คลายโศกแล้วเจ้าชายก็อุ้มนางขึ้นขี่ม้าตัวเดียวกันเดินทางกลับพระนครพาราณสี และดำรงชีวิตอยู่ด้วยกันด้วยความผาสุก ส่วนเศรษฐีทันตแพทย์ เมื่อธิดาของตนจากไปแล้วและมิได้ยินข่าวเกี่ยวกับนางอีกก็คิดว่านางคงถูกสัตว์ป่ากินสิ้นชีวิตไปแล้ว มีความทุกข์ระทมแสนสาหัส ก็ตรอมใจตาย ต่อมามิช้านางผู้ภริยาก็ตายตามไปด้วยอีกคนหนึ่ง
ฝ่ายเวตาลเมื่อเล่าเรื่องจบลงแล้ว ก็แสร้งกล่าวแก่พระราชาว่า “โอ อารยบุตร ข้ามีความสงสัยอยู่อย่างหนึ่งในเรื่องที่เล่ามานี้ว่า ในกรณีที่บิดามารดาของนางปัทมาวดีต้องสิ้นชีวิตลงไปนี้ ทรงเห็นว่าเป็นความผิดของใคร บุตรมนตรี หรือว่าเจ้าชาย หรือนางปัทมาวดีกันแน่ โปรดทรงวินิจฉันให้ข้าฟังหน่อยเถอะ เพราะพระองค์ก็ได้ชื่อว่าเป็นยอดนักปราชญ์ผู้หนึ่ง โอ ราชะ ถ้าพระองค์ไม่กล่าวคำจริงทั้ง ๆ ที่ทรงรู้ดีอยู่แก่ใจแล้วละก็ พระเศียรของพระองค์จะต้องแยกออกเป็นร้อยเสี่ยงแน่เทียว”
เมื่อเวตาลกล่าวดังนี้ พระราชาผู้เป็นสัตยเคราะห์ (ผู้ยึดมั่นในความสัตย์) ก็ตกพระทัยเพราะความเกรงกลัวในคำสาป จึงตรัสว่า “โอ เวตาล เจ้าก็เป็นผู้ชำนิชำนาญในมายาศาสตร์ทั้งปวง เรื่องนี้ยากเย็นอะไร บุคคลทั้งสามที่เจ้าเอ่ยมานั้นข้าไม่เห็นว่าจะมีใครเป็นผู้ผิดแม้แต่คนเดียว ความผิดในเรื่องนี้ทั้งหมดเป็นของพระราชากรรณโณตบลนั่นต่างหาก”
เวตาลได้ฟังก็กล่าวว่า “อะไรกัน พระราชาเป็นผู้ผิดด้วยเหตุใด บุคคลทั้งสามนั่นแหละเป็นผู้ก่อความผิดเกี่ยวเนื่องกันทั้งสามคน ก็กานั้นเสพของสกปรกจะต้องพลอยมีความผิดด้วยหรือ ในเมื่อหงส์นั้นมิได้กินภักษาหารเหมือนกา แต่กินข้าวเปลือกแทน”
พระราชาตรัสอธิบายว่า “ว่าตามจริงคนทั้งสามมิได้ทำความผิดเลยสักนิด บุตรมนตรีไม่ได้ทำผิดเพราะสิ่งที่เขาทำไปเป็นเพราะเขาต้องการจะช่วยเจ้านายของเขา นับเป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องทำอยู่แล้วในฐานเสวกและสหาย ส่วนนางปัทมาวดีและเจ้าราชบุตรก็มิได้ทำผิดอะไร เพราะทั้งสองคนต่างก็ถูกเผาไหม้ด้วยพิษศรกามเทพเช่นเดียวกัน สิ่งที่พวกเขากระทำไปก็เพราะเขาต่างรักกัน และทำไปด้วยความโง่เขลาต่างหาก จึงไม่ควรถูกตำหนิในเรื่องนี้ ก็พระราชากรรโณตบลนั่นแหละ ขาดความรู้ความเข้าใจในนิติศาสตร์อันเป็นหลักที่พระเจ้าแผ่นดินควรจะรู้ ไม่สืบสวนข้อเท็จจริงให้ประจักษ์ในงานอันเกี่ยวกับแว่นแคว้นที่ตนปกครอง ไม่รู้จักการใช้จารชนให้เป็นประโยชน์ แม้ในเรื่องของราษฎรภายใต้อำนาจของตัวเองก็ไม่รู้ ไม่มีความเฉลียวในเล่ห์ของทรชน ขาดความชำนิชาญในการตีความสิ่งที่ปรากฏแม้ง่าย ๆ ที่กล่าวมานี้แล คือความบกพร่องอันควรนับว่าเป็นความผิดของพระราชากรรโณตบลโดยแท้” เวตาลผู้สิงอยู่ในศพเมื่อได้ฟังพระราชากล่าวดังนั้น ทราบว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่พระราชาได้ลืมคำสัญญาที่ว่าจะไม่พูดแล้ว จึงเป็นโอกาสอันดีที่ตนจะหนีไป เวตาลก็ผละจากไหล่ของพระราชาและอันตรธานหายไป ทำให้พระราชาตริวิกรมเสนต้องเสด็จเที่ยวติดตามเพื่อจับเอาตัวมาอีก


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:17:13:22 น.  

 
นิทานเรื่องที่

พระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปที่ต้นอโศกอีกครั้งหนึ่งเพื่อจับตัวเวตาล เมื่อเสด็จไปถึงที่นั้น ทรงสอดส่ายพระเนตรดูโดยรอบในความมืดอันมีแสงไฟเรือง ๆ จากจิตกาธานส่องมา ในที่สุดก็พบศพนั้นนอนหงายอยู่บนพื้นดินกำลังกรนอยู่ จึงเข้าไปจับตัวศพนั้นซึ่งมีเวตาลสิงอยู่ตวัดขึ้นบนบ่า และรีบดำเนินไปอย่างรวดเร็วเพื่อไปยังที่ซึ่งนัดไว้กับโยคีศานติศีล เวตาลซึ่งแขวนอยู่บนบ่าก็เริ่มกล่าวทำลายความเงียบขึ้นว่า
"โอ ราชะ ภาระที่พระองค์ต้องทนแบกไว้นี้ช่างสาหัสสากรรจ์เสียจริง ๆ ไม่เหมาะสมแก่พระองค์เลย ถ้ากระไรข้าจะเล่านิทานให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง เพื่อจะได้ทรงเพลิดเพลิน ขอให้ทรงฟังเถิด"
บนฝั่งของแม่น้ำยมุนา ณ ที่แห่งนั้น เป็นเขตคามที่กำหนดไว้สำหรับพวกพราหมณ์โดยเฉพาะ มีชื่อว่าหมู่บ้านพรหมสถล ในหมู่บ้านนี้มีพราหมณ์ผู้หนึ่งอาศัยอยู่ มีชื่อว่า อัคนิสวามิน เป็นผู้ที่เจนจบในคัมภีร์พระเวททั้งปวง (คือคัมภีร์ไตรเวท ประกอบด้วยคัมภีร์ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท ต่อมาภายหลังได้เพิ่มเข้าไปอีกคัมภีร์หนึ่ง คืออถรรพเวท จึงเรียกว่า จตุรเวท) พราหมณ์ผู้นี้มีบุตรสาวแสนสวยผู้หนึ่งชื่อว่า มันทารวดี ความงามของนางล้ำเลิศหาที่เปรียบมิได้ราวกับเป็นผลงานที่พระพรหมทรงสรรค์สร้างขึ้น และเมื่อนางได้กำเนิดมาแล้วก็ดูเหมือนว่าท้าวธาดาเธอทรงสิ้นเยื่อใยในเทพอัปสรทั้งปวงโดยสิ้นเชิง เมื่อนางเจริญวัยเป็นสาวแรกรุ่นนั้นปรากฏว่ามีพราหมณ์หนุ่มสามคนเดินทางมาจากแคว้นกันยกุพชะ พราหมณ์เหล่านี้เป็นผู้แตกฉานในศาสตร์ทั้งปวงเท่าเทียมกัน และพราหมณ์แต่ละคนก็มุ่งมาสู่ขอมันทารวดีโฉมงามจากบิดาของนาง ต่างคนต่างก็สาบานว่าถ้านางแต่งงานกับคนอื่น ตนก็จะฆ่าตัวตาย แต่บิดาของนางก็มิได้ยกนางให้แก่ใคร เพราะเกรงว่าถ้ายกให้คนหนึ่ง อีกสองคนก็จะฆ่าตัวตายเสีย ดังนั้นนางจึงคงอยู่เป็นโสดเรื่อยมามิได้คิดแต่งงานกับใคร และพราหมณ์ทั้งสามก็ยังคงพักอยู่ที่นั่นเรื่อยมา ทั้งกลางวันและกลางคืนก็เฝ้าแต่มองดูพักตร์ของนางอันงามเปล่งปลั่งราวกับสมบูรณจันทร์ (พระจันทร์เต็มดวง) ต่างก็ไม่ได้กินไม่ได้นอน ทำตนราวกับนกจโกระ (นกเขาไฟ ตามนิยายโบราณกล่าวว่า "ยังชีพอยู่ได้ด้วยแสงจันทร์") ซึ่งอาศัยแสงจันทร์เป็นอาหารฉะนั้น
ต่อมานางมันทารวดีล้มป่วยเป็นไข้อย่างรุนแรง นางมิอาจจะทนทานต่อพิษไข้ได้ก็ถึงแก่ความตาย พราหมณ์หนุ่มทั้งสามมีความเศร้าโศกอย่างยิ่ง นำร่างอันเป็นศพของนางไปสู่ป่าช้า สวดให้แก่นางด้วยความรักและเผาศพนางที่จิตกาธาน พราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งสร้างกระท่อมน้อยขึ้นตรงที่ใกล้ เอาเถ้าถ่านอังคารของนางมาโปรยลงบนเตียงและนอนทับบนพื้น เขายังชีพไปวันหนึ่ง ๆ ด้วยการถือกะลาขออาหารกินตามมีตามเกิด พราหมณ์คนที่สองรวบรวมกระดูกของนางเอาไปทิ้งในแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ ส่วนพราหมณ์คนที่สามถือเพศเป็นโยคีท่องเที่ยวพเนจรไปยังดินแดนต่าง ๆ
โยคีเดินทางผ่านแว่นแคว้นต่าง ๆ เรื่อยมาจนถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อวัชรโลก จึงเข้าไปภิกขาจารที่บ้านพราหมณ์ผู้หนึ่ง ท่านพราหมณ์ได้ต้อนรับเขาด้วยอัธยาศัยอันดียิ่ง เขาจึงนั่งบริโภคอาหารในบ้านพราหมณ์ผู้นั้น ขณะนั้นมีเสียงทารกร้องจ้าขึ้นมาและร้องติดต่อกันไม่หยุด ไม่มีใครจะห้ามให้หยุดได้ นางพราหมณีผู้เป็นมารดาบันดาลโทสะจึงจับทารกขึ้นมาแล้วโยนโครมลงไปในกองไฟ เด็กถูกไฟเผาจนกลายเป็นเถ้าถ่าน โยคีผู้นั่งกินอาหารอยู่เงียบ ๆ แลเห็นเหตุการณ์โดยตลอดก็ตกใจ รู้สึกสยดสยองจนขนหัวลุกชัน ร้องออกมาว่า "พุทโธ่ พุทโธ่เอ๋ย นี่ข้าเข้ามาในบ้านของพราหมณ์รากษสหรือนี่ ข้าไม่กินอะไรแล้ว เพราะการเสพอาหารในบ้านของพราหมณ์ปีศาจเช่นนี้เป็นบาปกรรมอย่างมหันต์ไม่ว่าจะเป็นอาหารชนิดใดก็ตาม"
ขณะเมื่อเขากล่าวดังนี้ พราหมณ์ผู้คฤหบดี (เจ้าของบ้าน) จึงพูดว่า
"อย่าตกอกตกใจไปเลย ท่านจงคอยดู ข้าจะชุบชีวิตเด็กคนนี้ขึ้นใหม่ โดยการร่ายมนตร์อันศักดิ์สิทธิ์ ดูสิ"
เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว มหาพราหมณ์ก็เดินไปหยิบคัมภีร์มหาเวทอันศักดิ์สิทธิ์มาเปิดออกแล้วสวดมนตร์บทหนึ่ง ขณะที่สวดอยู่ก็เอาขี้เถ้าโปรยลงในกองไฟ พอสวดจบลง เด็กก็ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่ มีลักษณะและองคาพยพ (อวัยวะ) เหมือนเดิมทุกประการ พราหมณ์อาคันตุกะเห็นเหตุการณ์เป็นดังนั้นก็ค่อยคลายใจ ลงมือเสพอาหารต่อไปตามปกติ พราหมณ์เจ้าของบ้านเมื่อร่ายมนตร์เสร็จแล้ว ก็เอาคัมภีร์ไปเก็บไว้ที่เดิม ลงมือกินอาหารเสร็จแล้วก็เข้านอนในราตรี พราหมณ์อาคันตุกะก็กระทำเช่นเดียวกัน
พอเห็นพราหมณ์เจ้าของบ้านและภรรยานอนหลับแล้ว โยคีหนุ่มก็ลุกขึ้นค่อย ๆ ย่องไปที่เก็บคัมภีร์และหยิบเอาไป ตั้งใจจะเอาไปใช้ชุบชีวิตให้แก่นางมันทารวดีผู้เป็นที่รัก โยคีหนุ่มออกจากบ้านนั้นไปพร้อมด้วยคัมภีร์มหาเวท รีบเร่งเดินทางทั้งกลางวันและกลางคืน มุ่งกลับไปยังสุสานที่ตนและพรรคพวกช่วยกันเผาศพนางครั้งนั้น พอมาถึงป่าช้าก็แลเห็นพราหมณ์คนที่สองเดินทางกลับมาแล้วหลังจากที่เอาอัฐิของนางไปโยนแม่น้ำคงคาเพื่อให้นางไปสู่สุคติ และที่สุสานนั้นเช่นกันก็แลเห็นพราหมณ์ผู้เอาอังคารธาตุของนางมาโปรยนอน กำลังหลับอยู่ในกระท่อมที่สร้างไว้ จึงพูดกับพราหมณ์สหายให้รื้อกระท่อมทิ้งเสีย เพื่อตนจะได้ทำพิธีร่ายมนตร์มฤตสัญชีวินี (มนตร์ชุบคนตายให้ฟื้นคืนชีวิต พระศุกร์ได้มาจากพระศิวะและสืบต่อกันมาถึงคนรุ่นหลัง) ชุบชีวิตนางขึ้นใหม่ เมื่อรื้อกระท่อมทิ้งแล้วเถ้าถ่านของนางก็ตกเรี่ยรายอยู่บนพื้นดิน โยคีหนุ่มเมื่อเห็นทุกสิ่งพร้อมแล้วก็เปิดคัมภีร์ร่ายมนตร์อันศิกดิ์สิทธิ์พร้อมกับโปรยฝุ่นลงไปบนพื้นดินผสมผสานกับเถ้าถ่าน มินานพอจบมนตร์ดังกล่าวก็ปรากฎร่างนางมันทารวดีขึ้นในกองไฟ นางก้าวออกมาจากกองไฟพิธีด้วยรูปโฉมอันเปล่งปลั่งงดงามยิ่งกว่าเดิม ราวกับทองคำที่ถูกไฟชำระแล้วมีความสุกปลั่งผุดผ่องฉะนั้น
เมื่อพราหมณ์ทั้งสามแลเห็นนางมันทารวดีผู้งามเฉิดฉายราวเทพอัปสรปรากฏเฉพาะหน้า ต่างคนต่างก็แทบจะคลั่งตายเพราะความรัก และต่างก็ทุ่มเถียงแก่งแย่งกรรมสิทธิ์ในตัวนางด้วยกัน ไม่มีใครยอมเสียสละแก่กัน พราหมณ์ผู้เป็นโยคีกล่าวว่า "นางต้องเป็นของข้าเพราะข้าเป็นคนร่ายมนตร์ศักดิ์สิทธิ์ชุบนางขึ้นมาจากความตาย ข้าย่อมมีสิทธิ์ในตัวนาง" พราหมณ์คนที่สองเถียงว่า "นางควรเป็นของข้าเพราะข้าเป็นคนเอาอัฐิของนางไปโปรยลงในแม่น้ำคงคา ทำให้นางสะอาดบริสุทธิ์ด้วยสายน้ำอันศักดิ์สิทธิ์นั้น" และพราหมณ์คนที่สามก็กล่าวขึ้นอย่างเชื่อมั่นเต็มที่ว่า "ข้าเท่านั้นที่ควรจะได้นางเป็นภรรยา เพราะข้าเอาเถ้าถ่านของนางมาเก็บไว้และบำเพ็ญตบะเพื่อนางทุกวัน"
"โอ ราชะ" เวตาลกล่าวยิ้ม ๆ "โปรดตัดสินทีเถอะ ว่าในสามคนนี้นางควรจะเป็นของใคร ถ้าพระองค์รู้แล้วแกล้งไม่ตอบ พระเศียรของพระองค์จะต้องแยกเป็นเสี่ยง ๆ"
ฝ่ายพระเจ้าตริวิกรมเสนเมื่อได้ยินเวตาลพูดดังนั้นจึงตรัสว่า "ชายคนที่ร่ายมนตร์ทำให้นางคืนชีวิตขึ้นมานั้น ถึงแม้เขาจะต้องใช้ความสามารถและลำบากลำบนปานใด ก็ควรจะเป็นพ่อของนางเท่านั้น และพราหมณ์คนที่เอาอัฐิของนางไปสู่แม่น้ำคงคาก็ควรจะถือว่าเป็นลูกของนางอย่างเดียว ส่วนพราหมณ์ที่เก็บเถ้าถ่านของนางและคงอยู่ที่ป่าช้าถึงกับสร้างที่อยู่ตรงที่เผาศพนาง และบำเพ็ญตบะเพื่อนางนั่นต่างหาก ควรจะได้เป็นสามีของนางโดยแท้ เพราะเขาอยู่กับนางตลอดเวลามิได้ทอดทิ้งนางไปไหน แสดงความรักอันดื่มด่ำต่อนางแม้เพียงนอนบนเถ้าธุลีของนางโดยมิได้รังเกียจ"
เมื่อเวตาลได้ฟังพระเจ้าตริวิกรมเสนตรัส ดังนั้น เป็นการละเมิดสัญญาที่ตกลงกัน จึงอันตรธานจากบ่าของพระราชากลับไปที่อยู่ของตน แต่พระราชาก็ต้องทนลำบากติดตามหาตัวมันอีก ทั้งนี้ก็เพราะพระองค์ทรงถือมั่นในสัจจะที่ให้ไว้แก่โยคีศานติศีล และบุคคลที่มีสัจจะเช่นพระองค์นั้นไม่ว่าจะเป็นใครก็ย่อมจะปฏิบัติเหมือนกันหมด คือต้องทำภาระของตนให้สำเร็จลุล่วงไป ไม่ว่าจะต้องทนลำบากแม้ใหญ่หลวงเพียงไร


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:17:14:21 น.  

 
นิทานเรื่องที่

พระวีรกษัตริย์ตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปที่ต้นอโศกอีกครั้งหนึ่งเพื่อจับตัวเวตาลเอามา ณ ที่นั้นได้แลเห็นซากศพที่มันสิงอยู่ห้องหัวบนกิ่งอโศก จึงปีนขึ้นไปจับตัวมันพาดไหล่ แล้วเสด็จกลับไปตามทางเดิม ระหว่างทางอันเงียบสงัด เวตาลได้ถือโอกาสกล่าวขึ้นว่า "ข้าแต่วิศามบดี" ข้ารู้สึกประหลาดใจมากที่แลเห็นพระองค์สู้ทนความลำบากเสด็จกลับไปกลับมาหลายเที่ยว เพื่อจะทำธุระให้แก่คนอื่นโดยใช่เหตุ ข้าจึงคิดว่าจะเล่านิทานสนุก ๆ สักเรื่องหนึ่งถวาย เพื่อเป็นเครื่องปลอบพระทัย ขอทรงฟังเถิด"
แต่ปางบรรพ์มีพระนครอันใหญ่และสวยงามชื่อปาฏลีบุตร มีพระมหากษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงนามว่าพระเจ้าวิกรมเกศริน ซึ่งทรงมีคุณธรรมอันไพศาล พอ ๆ กับท้องพระคลังของพระองค์ซึ่งอุดมด้วยมณีรัตนะนับไม่ถ้วน พระองค์มีนกแก้วตัวหนึ่ง ซึ่งมีความเฉลียวฉลาดอย่างอัศจรรย์ราวกับเทพยดาเข้าดลใจแลมีความชำนิชำนาญในศาสตร์ทั้งปวง เหตุที่มันต้องมาเกิดเป็นนกในชาตินี้ก็เพราะมันถูกสาปด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นกแก้วตัวนี้มีชื่อว่าวิทัคธจูฑามณี มันได้ทูลแนะนำพระองค์ให้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงผู้ทรงศักดิ์แห่งแคว้นมคธชื่อจันทรประภา เจ้าหญิงเองก็ทรงเลี้ยงนกไว้เป็นคู่พระทัยตัวหนึ่งเป็นนกขุนทองตัวเมียมีชื่อว่า โสมิกา เป็นนกที่เจนจบในวิชาการต่าง ๆ ทั้งนกแก้วและนกขุนทองถูกเลี้ยงไว้ในกรงทองกรงเดียวกันราวกับเป็นคู่ผัวเมียฉะนั้น
วันหนึ่งนกแก้วเกิดความกำหนัดในนางนกโสมิกาจึงกล่าวแก่นางว่า "มาแต่งงานกับข้าเถิด เจ้ารูปงาม ไหน ๆ เราก็หลับนอนและได้รับการเลี้ยงดูในกรงเดียวกันแล้ว"
นางนกขุนทองได้ฟังก็ตอบว่า "อย่าเลย ข้าไม่เคยพิศวาสในผู้ชายหน้าไหนทั้งนั้น เพราะขึ้นชื่อว่าผู้ชายแล้วล้วนแต่ชั่วช้าและใจร้าย" ทั้งสองต่างก็โต้เถียงกันอย่างไม่ลดละ ในที่สุดเกิดท้าทายและพนันกันว่า ถ้านกแก้วชนะจะได้นกขุนทองเป็นเมีย และถ้านางนกขุนทองชนะ นกแก้วจะต้องกลายเป็นทาสของนางตลอดไป เมื่อตกลงกันดังนี้แล้วก็พากันไปเฝ้าเจ้าชาย ทูลเรื่องให้ฟังและขอให้ตัดสินอย่างยุติธรรม ขณะนั้นเจ้าชายประทับอยู่ในท้องพระโรงธารกำนัลของพระราชบิดา เมื่อได้ฟังคดีวิวาทของนกทั้งสอง จึงตรัสแก่นางนกโสมิกาว่า
"เจ้าจงเล่าให้ข้าฟังสิว่า เหตุใดจึงว่าผู้ชายเป็นคนอกตัญญู"
นางนกได้ฟังดังนั้นก็กล่าวว่า "ขอทรงฟังเถิด" แล้วก็ลงมือเล่าเรื่องประกอบข้อกล่าวหาของตนดังต่อไปนี้
(เรื่องแทรกของนางนกโสมิกา)
พระเจ้าข้า ในสมัยโบราณมีพระนครชื่อ กามันทกี ในเมืองนี้มีพ่อค้าคนหนึ่งร่ำรวยมาก มีชื่อว่า อรรถทัตต์ พ่อค้ามีลูกชายอยู่เพียงคนเดียวชื่อ ธนทัตต์ เมื่อไวศยะผู้เศรษฐีถึงแก่กรรมลง ลูกขายก็ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ผลาญทรัพย์ที่มีอยู่แม้มากมายมหาศาลให้หดเหี้ยนไป ธนทัตต์คบเพื่อนที่ล้วนแต่ชั่วช้าเลวทราม ซึ่งคนชั่วเหล่านี้ได้ชักจูงให้เขาประพฤติชั่วต่าง ๆ มีการเล่นการพนันและอื่น ๆ ต่อมามิช้าทรัพย์สมบัติก็มลายไปหมด ชายหนุ่มมีความละอายที่กลายเป็นคนยากจนเพราะรักษาสมบัติของตัวเองไม่ได้ จึงละถิ่นฐานบ้านเรือนออกตุหรัดตุเหร่ไปในดินแดนต่าง ๆ
ในระหว่างทางที่ผ่านไป ชายหนุ่มมาถึงเมืองแห่งหนึ่ง ชื่อจันทนปุระ และบังเกิดความหิวโหยเหนื่อยล้าเป็นอย่างยิ่ง จึงเข้าไปในบ้านนายวาณิชผู้หนึ่งเพื่อขออาหารกิน และราวกับโชคบันดาลให้เป็นไป เผอิญพ่อค้าผู้นั้นไม่มีบุตรชายและเห็นธนทัตต์เป็นชายหนุ่มรูปงามท่าทางเป็นผู้ดีมีสกุล ก็บังเกิดความสนใจ จึงไต่ถามเรื่องราวความเป็นมาของเขา เมื่อได้ทราบว่าเป็นไวศยะเหมือนกับตน นายวาณิชผู้เฒ่าก็รู้สึกยินดีจึงรับชายหนุ่มไว้เป็นบุตรบุญธรรม และยกธิดาชื่อรัตนวลีให้เป็นภรรยาอีกด้วย ธนทัตต์ก็อยู่บ้านพ่อตามีความสุขสำราญตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
กาลเวลาผ่านไป ธนทัตต์ผู้อยู่บ้านพ่อตาอย่างสุขสบาย มีเงินจับจ่ายใช้สอยไม่ขาดมือก็เกิดความดิ้นรนขึ้นมาอีก คิดจะกลับบ้านเดิมเพื่อจะเอาทรัพย์ไปเล่นการพนันให้สนุกตื่นเต้นตามนิสัยสันดานเดิมของตนซึ่งอดไม่ได้ จึงขออนุญาตพ่อตาเดินทางกลับบ้านเดิมและพาภรรยาไปด้วย นายวาณิชเฒ่ามีบุตรสาวเพียงคนเดียวก็มีความอาลัยไม่อยากจะให้ไป แต่เมื่อขัดไม่ได้ก็จำใจต้องให้ตามสามีไป นางแต่งเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ไปเต็มที่ มีพี่เลี้ยงเฒ่าติดตามไปเป็นเพื่อน ทั้งสามคนก็ออกเดินทางไป หลังจากที่เดินมาพักใหญ่ถึงป่าเปลี่ยว ซึ่งน่าจะเป็นที่อยู่ของพวกโจร ขายหนุ่มจึงกล่าวแก่นางผู้ภรรยาว่า เพื่อความปลอดภัยขอให้นางถอดเครื่องประดับมามอบให้ตนดูแล เพราะถิ่นนี้เป็นถิ่นโจร เมื่อได้รัตนาภรณ์อันมีค่ามาแล้ว ชายชั่วก็เก็บเข้ารวมกับห่อสมบัติของตนอนิจจาเอ๋ย ขอให้ตรองดูเถิดว่าเจ้าผัวจำแลงนี้มันชั่วชาติเพียงไร มันติดการพนันจนโงหัวไม่ขึ้น คนอย่างนี้ใจแข็งและคมกริบเหมือนดาบ
เจ้าโจรใจฉกาจเมื่อหลอกได้ทรัพย์ของภรรยาแล้ว ก็คิดจะฆ่านางเสียเพื่อปิดปาก จึงผลักนางกับแม่เฒ่าลงไปอยู่ในเหวแล้วรีบเดินทางต่อไป หญิงชรานั้นตายในเหวแต่นางบุตรสาวเศรษฐีหาได้ตายไม่ เพราะเมื่อตกลงไปในเหวนั้น เผอิญนางตกลงไปบนซุ้มไม้เลื้อยที่เกี่ยวพันกันราวกับลงไปอยู่ในตาข่าย นางจึงรอดชีวิตไป นางค่อยไต่เชิงเถาวัลย์ขึ้นมาจนถึงปากเหว มีความรู้สึกเหนื่อยอ่อนแทบจะขาดใจ นางค่อยลัดเลาะมาจนถึงทางที่นางผ่านมา และล้มลุกคุกคลาน โซซัดโซเซมาตามทางจนในที่สุดกลับมาถึงบ้านโดยปลอดภัย แต่ร่างกายของนางฟกช้ำดำเขียวเจ็บระบมไปหมด เมื่อนางกลับมาถึงบ้าน บิดามารดาของนางตกใจมาก ไต่ถามสาเหตุด้วยความสงสัย นางผู้มีคุณธรรมจึงกลับเรื่องเสียใหม่โดยกล่าวแก่บิดามารดาว่า
"พวกเราถูกโจรปล้นระหว่างทาง สามีของลูกถูกโจรมันจับมัดลากเอาตัวไป ยังไม่รู้ชะตากรรมเลย แม่เฒ่าถูกฆ่าตาย แต่ลูกรอดชีวิตมาได้เพราะเมื่อถูกเหวี่ยงลงเหวนั้น เผอิญตกไปค้างอยู่บนซุ้มไม้เลื้อยจึงไต่ขึ้นมาได้ ถึงปากเหวก็สลบเหมือด แต่นักเดินทางกลุ่มหนึ่งช่วยเอาไว้ โชคยังดีอยู่จึงกลับมาถึงบ้านได้"
เมื่อนางรัตนาวลีเล่าเรื่องจบ เศรษฐีผู้เป็นบิดาและมารดาก็กล่าวปลอบโยนนางต่าง ๆ มิให้เสียใจในเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะการที่นางเอาชีวิตรอดมาได้ก็นับว่าโชคช่วยอย่างมากแล้ว นางอยู่ในบ้านพ่อแม่เรื่อยมา แต่ไม่มีความสุขนักเพราะเฝ้าแต่คิดถึงสามีอันเป็นที่รักไม่เว้นวาย
ฝ่ายธนทัตต์ผู้สามีซึ่งเดินทางกลับไปเมืองที่ตนเคยอาศัยอยู่พร้อมด้วยทรัพย์สินของภรรยานั้น ต่อมามิช้าเขาก็ถลุงเงินจนหมดเกลี้ยงด้วยการเล่นการพนันอย่างหามรุ่งหามค่ำ และปรนเปรอตัวเองด้วยของกินชนิดเลิศและสุรานารีไม่เว้นแต่ละวัน เมื่อเงินหมดก็คิดหาทางที่จะแสวงหาอีก โดยมีความคิดว่า "เราจะกลับไปบ้านพ่อตา อ้อนวอนขอเงินเขามาสักก้อนหนึ่งเอาไปทำทุน เราจะบอกแก่เขาว่า ลูกสาวของเขายังพักอยู่ที่บ้านของเรา มิได้เอามาด้วย" เมื่อกำหนดแผนการเรียบร้อยแล้ว ชายหนุ่มก็เดินทางไปที่บ้านพ่อตา พอเข้าประตูบ้านภรรยาของเขาแลเห็นแต่ไกลก็ดีใจ วิ่งมาต้อนรับและทรุดตัวลงคารวะอย่างนอบน้อม ทั้งที่รู้อยู่ว่าเขาเป็นโจรใจอำมหิต ความจริงก็เป็นดังนี้แหละ ผู้หญิงดีนั้นแม้ผัวจะชั่วชาติสักปานใด นางก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงความรู้สึกเคารพรัก ที่นางมีต่อเขา เมื่อเห็นนางวิ่งเข้ามหาโดยไม่คาดฝัน ชายหนุ่มก็ตกใจแทบสิ้นสติ แต่นางก็กล่าวปลอบโยนเขาให้คลายใจ โดยกล่าวว่า นางได้สร้างเรื่องโกหกแก่บิดมารดาของนางว่า นางถูกโจรปล้นจับเอาตัวสามีไปและผลักนางตกเหว แต่นางเอาชีวิตรอดมาได้และยังไม่รู้ชะตากรรมของสามีว่าเป็นอย่างไร เมื่อชายหนุ่มได้ฟังก็หายวิตก เข้าไปสู่บ้านพ่อตาแม่ยายของตนพร้อมด้วยภรรยา ข้างพ่อตาแม่ยายแลเห็นเข้า ก็ดีอกดีใจที่ลูกเขยกลับมาได้ จึงเรียกประชุมญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงจัดการฉลองอย่างใหญ่โตเป็นการรับขวัญลูกเขย และประกาศว่า "ช่างน่ายินดีนี่กระไรที่ลูกเขยของเราถูกโจรจับไปแต่หนีรอดมาได้ในที่สุด"
หลังจากนั้นธนทัตต์ก็อาศัยอยู่กับนางรัตนาวลีในบ้านพ่อตาแม่ยายด้วยความสุข มีเงินทองใช้อย่างอุดมสมบูรณ์ แต่เจ้าประคุณเอ๋ย คืนหนึ่งอ้ายคนชั่วเห็นได้โอกาสก็แอบฆ่าภรรยาของตนตอนที่นางหลับอยู่ กวาดเอาทรัพย์สินและของมีค่าต่าง ๆ หนีกลับไปสู่ถิ่นเดิมของตน มีชีวิตอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่มีใครได้ข่าวคราวอีกนับแต่นั้น
"ฉะนั้นเราอาจจะกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า ผู้ชายมันก็ชั่วเหมือนกันทั้งโลกนั่นแหละ" นางนกขุนทองสรุปทิ้งท้ายอย่างแค้นเคือง
พระราชาจึงหันมาตรัสแก่นกแก้วว่า "คราวนี้ถึงทีเจ้าแล้วละ มีอะไรจะเถียงไหม"
นกแก้วได้ยินก็กล่าวว่า "โอ เทวะ ขึ้นชื่อว่าผู้หญิงแล้ว ล้วนมีจริตเหลือที่จะทนทาน เป็นคนทุศีล และชั่วช้าสามานย์เหมือนกันหมด ขอได้โปรดสดับเรื่องราวที่ข้าพระบาทจะเล่าถวายดังต่อไปนี้"
(เรื่องแทรกของนกแก้ว วิทัคธจูฑามณี)
มีนครหนึ่งชื่อหรรษวดี ในนครนี้มีไวศยะที่มีชื่อเสียงเลื่องลือคนหนึ่งมีชื่อว่า ธรรมทัตต์ มีทรัพย์หลายสิบโกฏิ พ่อค้าผู้นี้มีธิดาคนหนึ่งชื่อ วสุทัตตา มีความงามหาที่เปรียบมิได้ เป็นที่รักของบิดาปานชีวิต ต่อมาเศรษฐีจัดการแต่งนางกับพ่อค้าหนุ่มผู้มั่งคั่งชื่อ สมุทรทัตต์ ซึ่งมีฐานะเท่าเทียมกันทั้งทรัพย์สมบัติและรูปสมบัติอันงามพร้อม เป็นที่ต้องตาของสตรีทั้งหลายซึ่งทอดสายตาให้ด้วยความหลงใหลราวกับนกจโกระที่คลั่งไคล้ต่อแสงจันทร์ฉะนั้น ไวศยะหนุ่มผู้นี้มาจากเมืองตามรลิปติ ซึ่งเป็นแหล่งของคนดีมีเกียรติยศทั้งหลาย
ครั้งหนึ่งนางวสุทัตตาพักอยู่ที่บ้านพ่อของนางในขณะที่สามีกลับไปทำธุรกิจในแว่นแคว้นของตน นางแลเห็นชายหนุ่มผู้หนึ่งเดินทางมาแต่ระยะไกล ชายผู้นั้นมีความงดงามมาก บังเกิดความพิศวาสหลงใหลด้วยอำนาจของมารผู้เฒ่า (เป็นฉายานามของกามเทพ) จึงแอบเชื้อเชิญเขาอย่างลับ ๆ และทำเขาให้เป็นชู้ของนาง หลังจากนั้นนางก็แอบมาพบเขาทุก ๆ คืน มีความคลั่งไคล้แต่ชายชู้ผู้เดียวโดยมิเสื่อมคลาย
ครั้นแล้ววันหนึ่ง สามีของนางก็กลับมาจากเมืองของเขา การปรากฏตัวของเขายังความปลาบปลื้มแก่บิดามารดาของนางอย่างยิ่ง ต่างก็ต้อนรับเขาอย่างกุลีกุจอ ในวันแห่งความรื่นรมย์นั้น แทนที่นางจะสดชื่นรื่นเริง กลับไม่พูดอะไรกับสามีเลย และเมื่ออยู่สองต่อสองกับนาง นางก็แกล้งทำเป็นหลับ ไม่ไยดีต่อสามี ในใจนางมีแต่ความโหยไห้คิดถึงแต่หนุ่มชายชู้เท่านั้น ส่วนสามีของนางมึนเมาไม่ได้สติเพราะเสพสุรา ประกอบกับความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเพราะการเดินทางมาตลอดวันทำให้เขาม่อยหลับไป
ขณะนั้นมีโจรคนหนึ่งแอบเจาะช่องกำแพงเล็ดลอดเข้ามาในบ้าน ประจวบกับนางวสุทัตตาลุกขึ้นจากเตียง แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอันงดงาม ประดับดัวยรัตนาภรณ์แพรวพราวระยับเดินออกมาจากห้องนอนโดยไม่ทันเห็นโจร มุ่งหน้าออกไปยังสถานที่ที่นางนัดไว้กับชายชู้ เมื่อโจรแลเห็นนางรีบลุกลี้ลุกลนออกไปก็สงสัย กล่าวแก่ตนเองว่า "นางผู้นี้ออกไปจากห้องในเวลาดึกดื่นเที่ยงคืนแต่งตัวงดงามด้วยปิลันธนาภรณ์อันมีค่าซึ่งเราตั้งใจจะเข้ามาขโมยพอดี ดีละเราจะสะกดรอยดูว่านางจะไปไหน" เมื่อโจรตั้งใจดังนี้แล้วก็แอบออกไปจากห้องติดตามนางวสุทัตตาไปโดยมิให้คลาดสายตา และนางไม่ทันสังเกตุ
นางวสุทัตตาถือช่อดอกไม้และของขวัญอันมีค่าเดินออกจากบ้านไป มีโจรติดตามไปอย่างลับ ๆ เข้าไปสู่อุทยานแห่งหนึ่งนอกพระนครออกไปไม่ไกลนัก ที่อุทยานั้นเอง นางได้เห็นชู้รักของนางถูกแขวนคอห้อยอยู่กับกิ่งไม้ด้วยเชือกเส้นหนึ่ง เนื่องจากราชบุรุษ(ตำรวจ) มาพบเขาด้อม ๆ มอง ๆ อยู่ในสวนในเวลากลางคืน จึงจับเขาแขวนคอเป็นการลงทัณฑ์เพราะคิดว่าเขาเป็นขโมย นางซวนกายผงะหงายด้วยความตกใจแทบสิ้นสติ ร้องออกมาว่า "ฉิบหายแล้วเรา" พร้อมกับทรุดกายลงนั่งกับพื้นดินร่ำไห้ด้วยความรักและเสียดาย
เมื่อค่อยสร่างโศกได้สติขึ้นนางจึงปีนขึ้นไปบนกิ่งไม้ แก้เชือกออกปล่อยร่างชู้รักลงไปบนพื้น แล้วลงมายกศพของเขาขึ้นวางในท่านั่งแล้วลูบไล้ร่างกายของเขาด้วยวิเลปนะของหอม และประดับด้วยบุปผามาลัยอันวิจิตร และถึงแม้ร่างของเขาจะปราศจากชีวิตแล้ว นางก็ยังโอบกอดเขาไว้ด้วยความเสน่หา ร่ำไห้เหมือนใจจะขาด และในความโศกรันทดนั้นเอง นางจับหน้าของเขาให้เงยขึ้นและประจงจูบอย่างทะนุถนอม ขณะนั้นเวตาลเข้าสิงศพอยู่ เห็นนางยื่นหน้าเข้ามาใกล้ก็กัดจมูกนางในทันที นางวสุทัตตาตกใจรีบผละหนีไป แต่แล้วก็เกิดความงุนงงจับต้นชนปลายไม่ถูก จึงเดินกลับมาใหม่เพื่อจะดูให้แน่ว่าชู้รักของนางยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า ครั้นเห็นเวตาลละร่างไปแล้ว และร่างนั้นตายสนิทเคลื่อนไหวต่อไปอีกไม่ได้ นางก็ผละจากศพนั้นเดินทางกลับไปบ้าน ร้องไห้ด้วยความกลัวและอัปยศอดสู
ระหว่างนั้นโจรซึ่งแฝงกายแอบดูอยู่ ได้เห็นเหตุการณ์โดยตลอดก็กล่าวแก่ตัวเองว่า
"นางหญิงชั่วมาทำอะไรที่นี่ อนิจจา จิตใจของผู้หญิงนี้ช่างน่ากลัวและดำราวกับความมืดของบ่อน้ำลึกสุดหยั่งที่ใครตกลงไปแล้วไม่มีวันจะได้กลับขึ้นมาได้อีก เราสงสัยนักว่านางจะทำอย่างไรนับแต่นี้"
หลังจากรำพึงดังนี้แล้ว โจรก็แอบย่องตามนางกลับไปทางเดิมด้วยความพิศวงว่านางจะแก้สถานการณ์ด้วยวิธีใด
นางวสุทัตตากลับไปถึงบ้านก็ตรงเข้าไปในห้องนอน เห็นสามียังหลับอยู่ก็ทำตีอกชกหัวร้องไห้ร้องห่ม แผดเสียงว่า "ช่วยด้วย ช่วยด้วย ไอ้คนชาติชั่วผัวเลวทรามมันกัดจมกูข้าขาดแล้ว ข้าไม่ได้ทำความผิดอะไรแม้แต่สักนิด" ฝ่ายสามีของนางพร้อมด้วยพ่อตาและบรรดาคนใช้ได้ยินเสียงนางร้องตะโกนดังนั้น ต่างตกใจตื่นและวิ่งกรูกันมาด้วยท่าทางตื่นเต้น บิดานางวสุทัตตาแลเห็นลูกสาวของนางที่ถูกกัดมาใหม่ ๆ ก็ปักใจเชื่อว่าเป็นการกระทำของลูกเขยตน จึงให้บ่าวไพร่ช่วยกันจับตัวมัดและกล่าวหาว่าชายผู้เคราะห์ร้ายเป็นคนทำร้ายธิดาของตน ฝ่ายสมุทรทัตต์ถึงแม้จะถูกมัดและถูกกล่าวหาดังนั้นก็ยังคงนิ่งเฉยมิได้ตอบโต้แต่ประการใด ราวกับเป็นใบ้ พ่อตาและคนอื่น ๆ ต่างก็หันหลังให้แก่เขาด้วยความชิงชัง
เมื่อนายโจรได้เห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเช่นนั้นก็ค่อย ๆ เลี่ยงหลบไปเงียบ ๆ และเมื่อคืนแห่งความโกลาหลดังกล่าวได้ผ่านไปแล้ว ถึงเวลาเช้าบุตรไวศยะก็ถูกลากตัวไปเฝ้าพระราชาพร้อมด้วยนางผู้ภรรยาซึ่งมีจมูกโหว่เพราะถูกกัด เมื่อพระราชาได้ฟังเรื่องราวฟ้องร้องดังนั้น มิทันได้พิจารณาโดยรอบคอบก็สั่งให้เพชฌฆาตนำตัวบุตรพ่อค้าไปประหารในข้อหาว่า ทำร้ายภรรยาของตนให้พิการ ทั้งนี้โดยมิฟังข้อแก้ตัวใด ๆ เลย ขณะที่ชายหนุ่มถูกนำตัวไปยังตะแลงแกงเพื่อประหารชีวิต และกลองตีรัวเป็นสัญญาณนั้น ก็มีโจรผู้หนึ่งปรากฏตัวขึ้นและกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ผู้เป็นราชบุรุษว่า "ท่านไม่ควรจะประหารชายผู้นี้เพราะเขามิได้กระทำผิดเลยสักนิด ข้าเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์โดยตลอดแต่ผู้เดียว พาข้าไปเฝ้าพระราชาโดยเร็วเถิดเพื่อจะได้ทูลความจริงให้ทรงทราบ"
เมื่อได้ยินโจรเล่าดังนั้น บรรดาราชบุรุษก็พาโจรไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อได้รับราชานุญาติแล้ว โจรก็กราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบโดยตลอดตั้งแต่ต้น และกล่าวเสริมว่า "ถ้าพระองค์ไม่เชื่อข้าพระบาทก็โปรดทอดพระเนตรจมูกของผู้หญิงคนนี้ในปากของศพชายชู้ของนางเถิด"
พระราชาได้ฟังดังนั้นก็ส่งราชบุรุษไปดูสถานที่เกิดเหตุก็ได้ทราบความจริงจึงกลับคำพิพากษาให้งดโทษประหาร แต่สั่งให้เนรเทศหญิงชั่วไปให้พ้นแว่นแคว้น พร้อมกับตัดใบหูเสียงทั้งสองข้าง ยิ่งกว่านั้นยังโปรดให้ริบทรัพย์ของผู้เป็นบิดานางเสีย และสำหรับนายโจรนั้น พระราชาทรงโปรดปรานว่าเป็นคนเฉลียวฉลาดและกล้าหาญจึงตั้งให้เป็นหัวหน้าตุลาการของพระนคร
"ได้โปรดเกล้า ทรงเห็นหรือยังว่าผู้หญิงนั้นโดยธรรมชาติเป็นคนชั่วร้ายและเจ้าเล่ห์แสนกลเพียงใด" นกแก้วกล่าวสรุปในที่สุด
พอเล่าเรื่องจบลง นกแก้วก็พ้นจากคำสาปของพระอินทร์ กลายร่างเป็นคนธรรพ์รูปงามชื่อ จิตรรถ เหาะไปสู่สรวงสวรรค์ ขณะเดียวกันคำสาปของนางนกขุนทองก็เสื่อมลง นางนกโสมิกาก็กลายร่างเป็นนางเทพอัปสรชื่อ ติโลตตมา กลับคืนไปถวายการบำเรอท้าววัชรินทร์ในสวรรค์เช่นเดิม อย่างไรก็ดี กรณีพิพาทของนกทั้งสองก็ยังไม่ได้ตัดสินในท้องพระโรง
เมื่อเวตาลเล่าเรื่องจบลง ก็กล่าวแก่พระราชาว่า "ขอพระองค์โปรดทรงวินิจฉัยด้วยเถิดว่า ฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงพูดถูก ถ้าพระองค์ทราบแล้วมิแสดงความเห็น พระเศียรของพระองค์ก็จะต้องแตกเป็นเสี่ยง ๆ โดยพลัน"
ฝ่ายพระราชาเมื่อถูกเวตาลซึ่งห้อยอยู่บนบ่ากล่าวถ้อยคำดังนั้นก็ตรัสว่า "นางจอมมายาหญิงในเรื่องของนกแก้วนั่นแหละเป็นหญิงที่ชั่วช้าที่สุด เพราะว่าผู้ชายอาจจะหลงทำผิดได้ชั่วครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ผู้หญิงนั้นว่าโดยความจริงเป็นคนชั่วในทุกโอกาส"
เมื่อพระเจ้าแผ่นดินตรัสดังนี้ เวตาลก็หลุดลอยหนีไปจากพระอังสาของพระองค์ กลับไปยังที่เดิม และพระราชาก็ต้องเสด็จย้อนไปทางเดิมเพื่อไปจับตัวเวตาลกลับมาใหม่


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:17:15:49 น.  

 
นิทานเรื่องที่

พระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปยังต้นอโศกอีกครั้งหนึ่ง และคว้าตัวเวตาลซึ่งสิงอยู่ในศพโดยปราศจากความหวาดกลัวถึงแม้มันจะกรีดเสียงร้องโหยหวนเพียงใดก็ตาม เมื่อจับมันได้แล้วก็ตวัดร่างมันขึ้นพาดบ่า เสด็จไปตามทางเดินอย่างเงียบ ๆ เวตาลเห็นพระราชานิ่งเงียบอยู่ ก็กล่าวทำลายความเงียบขึ้นว่า
"โอ ราชะ ข้าไม่คิดเลยว่าพระองค์จะมาเสียเวลาทำงานให้แก่อ้ายโยคีชั่วคนนั้น เพื่อประโยชน์อันใด จะว่าไปพระองค์ก็รู้ดีอยู่แล้วมิใช่หรือว่า งานที่ทรงทำนี้ย่อมไร้ผลเปล่าโดยแท้ อย่างไรก็ดีหนทางยังอยู่อีกไกล ข้าคิดว่าข้าจะเล่านิทานสนุก ๆ ให้พระองค์ฟังสักเรื่องหนึ่งเพื่อคลายเหงาโปรดทรงสดับเถิด"
แต่ครั้งดึกดำบรรพ์ ยังมีนครใหญ่แห่งหนึ่งชื่อ โศภาวดี มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองอยู่ทรงนามว่า ศูทรกะ เป็นผู้ห้าวหาญอย่างยอดยิ่งในสงคราม ซึ่งไฟแห่งชัยชนะของพระองค์ถูกกระพือโหมให้เจิดจ้าด้วยพัดที่โบกจากหัตถ์ของนางกษัตริย์ที่ตกเป็นเชลยเพราะสวามีทั้งหลายต้องพ่ายแพ้ในสงคราม ข้าคิดว่าแผ่นดินโลกนี้มีเกียรติมหาศาลในรัชสมัยของพระราชาองค์นี้โดยแท้ ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมาโดยตลอด มิได้หยุดเว้นแม้แต่สักวัน คุณธรรมของพระองค์ชนะใจแม้กระทั่งแม่พระธรณี ทำให้พระเทวีลืมบุคคลอื่นโดยสิ้นเชิง แม้องค์พระรามจันทร์ผู้ยอดเยี่ยมในวีรจริตก็ตาม
สมัยหนึ่งมีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ วีรวร เดินทางมาจากแคว้นมาลวะ เพื่อมารับจ้างทำงานในราชสำนักของพระราชา เพราะทราบกิตติศัพท์ว่าพระราชาผู้นี้เป็นผู้โปรดปรานคนกล้า ภรรยาของพราหมณ์ชื่อนางธรรมวดี และทั้งสองสามีภริยามีบุตรชายด้วยกันชื่อ สัตตววร และบุตรสาวชื่อวีรวดี คนทั้งสามนี้เป็นครอบครัวของเขา นอกเหนือจากลูกน้องซึ่งมีอีกสามคน วีรวรนั้นเหน็บกริชไว้ที่สีข้าง มือข้างหนึ่งถือดาบ และอีกข้างหนึ่งถือโล่
ถึงแม้ว่าเขาจะรวมกันเป็นบริษัทอันน้อยนิดเท่านี้ก็ตาม เขายังกล้าเรียกร้องค่าจ้างต่อพระราชาถึงวันละห้าร้อยเหรียญทีนาร์ (เหรียญทองโบราณชนิดหนึ่งของอินเดีย) แต่พระราชาศูทรกะก็มิได้เกี่ยงงอน ทั้งนี้เพราะพอพระทัยในรูปร่างท่าทางอันแข็งแรงของเขา จึงตกลงจ้างเอาไว้ แต่ก็ทรงพิศวงในพระทัยไม่หาย ว่าเขาเอาเงินไปทำอะไรมากมายทั้ง ๆ ที่เขาก็เลี้ยงคนเพียงไม่กี่คน พระราชาจึงสั่งให้สายลับของพระองค์ติดตามดูพฤติกรรมของเขาอย่างใกล้ชิด ความจริงปรากฎว่าทุก ๆ วัน วีรวรจะต้องเข้าเฝ้าพระราชาตอนเช้า ตอนกลางวันยืนยามอยู่หน้าประตูวัง มือถือดาบมั่นคง หลังจากนั้นก็กลับไปบ้าน จ่ายเงินหนึ่งร้อยทีนาร์แก่ภรรยาเป็นค่าอาหาร และจ่ายหนึ่งร้อยเหรียญเพื่อเสื้อผ้า วิเลปนะเครื่องลูบไล้ร่างกาย และซื้อหมากพลู เมื่ออาบน้ำแล้วเอาเงินหนึ่งร้อยเหรียญไปบูชาพระวิษณุและพระศิวะ อีกสองร้อยเหรียญสุดท้ายใช้ทำบุญแก่พราหมณ์ที่ยากจน ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือการใช้จ่ายประจำวันจากเงินค่ารับจ้างห้าร้อยเหรียญต่อวัน หลังจากนี้วีรวรก็ทำการบูชายัญด้วยเนยใส และทำพิธีอื่น ๆ อีก เสร็จแล้วจึงรับประทานอาหาร เมื่อรับประทานอาหารเสร็จก็กลับไปอยู่ยามหน้าประตูวังตามเดิมตลอดถึงเวลาค่ำคืนยืนถือดาบเปลีอยอยู่
เมื่อพระราชาศูทรกะได้ทราบเรื่องจากสายลับที่ไปสืบได้ความว่า วีรวรเป็นผู้ประพฤติชอบธรรมดังนั้น ก็ทรงชื่นชมยิ่งนัก จึงโปรดให้จารบุรุษเหล่านั้นยุติการติดตามวีรวร และทรงนิยมเลื่อมใสว่าเขาช่างเป็นคนดีนี่กระไร
วันหนึ่งอากาศร้อนจัด ดวงอาทิตย์แผดแสงแรงกล้าจนแทบจะทนไม่ไหว และแล้วมรสุมใหญ่ก็เคลื่อนเข้ามาพร้อมด้วยเสียงคำรามกึกก้องในท้องฟ้า สายฝนกระหน่ำลงมาอย่างรุนแรงไม่ขาดสายทั้งกลางวันและกลางคืน แต่วีรวรก็ยังยืนนิ่งไม่สะทกสะท้านอยู่กลางห่าฝนที่ประตูพระราชวัง พระเจ้าศูทรกะทอดพระเนตรเห็นในเวลากลางวันจากยอดมนเทียร ครั้นเวลากลางคืนเสด็จขึ้นไปยอดมนเทียรอีกเพื่อดูว่าเขายังอยู่ที่เดิมหรือเปล่า จากที่นั้นพระราชาตะโกนลงไปว่า "ใครยืนอยู่ที่ประตูวังนั่น" เมื่อวีรวรได้ยินก็ตอบไปว่า "ข้าพระบาทเอง พระเจ้าข้า" พระราชาศูทรกะทรงนึกในพระทัยว่า "อา วีรวร เจ้าช่างเป็นชายที่เข้มแข็งและจงรักภักดีต่อข้ายิ่งนัก ข้าจะเลื่อนเจ้าให้มีตำแหน่งสูงขึ้นไปกว่านี้" เมื่อพระราชาทรงคิดดังนี้แล้วก็เสด็จลงจากยอดมนเทียรเข้าสู่สิริไสยาและเข้าบรรทม
ในวันรุ่งขึ้น เมฆดำในท้องฟ้าก็ยังหลั่งฝนลงมาอย่างรุนแรงตามเดิม ความมืดแผ่ซ่านไปทั่วเหมือนจะบดบังไม่ให้เห็นสวรรค์อีกต่อไป พระราชาเสด็จขึ้นไปบนยอดมนเทียรอีกครั้งด้วยความสนใจใคร่รู้ ทรงตะโกนถามลงไปด้วยเสียงอันแจ่มใสว่า "ใครยืนเฝ้าหน้าประตูปราสาทนั่น" วีรวรก็ตะโกนขึ้นไปว่า "ข้าพระบาทอยู่ที่นี่"
ขณะที่พระเจ้าแผ่นดินกำลังนึกชื่นชมองครักษ์ของพระองค์อยู่นั้น พลันได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้คร่ำครวญมาแต่ที่ไกล เป็นเสียงโหยหวนเหมือนคนมีทุกข์ใหญ่ปิ่มว่าใจจะขาดรอน เมื่อพระราชาได้สดับดังนั้นก็บังเกิดความสงสารจับใจ กล่าวแก่พระองค์เองว่า "ในอาณาจักรของข้า ไม่มีใครถูกบังคับกดขี่ ไม่มีคนยากไร้ หรือมีใครเดือดร้อน ก็ผู้หญิงคนนี้เป็นใครเล่า จึงมาพิลาปร่ำไห้อยู่แต่ผู้เดียวในยามค่ำคืนเช่นนี้" คิดดังนี้แล้วพระราชาก็ออกคำสั่งแก่วีรวรผู้ยืนอยู่ข้างล่างว่า "ฟังนะวีรวร ข้าได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้ในที่ไกล จงออกไปดูว่านางคือใคร และนางร้องไห้ทำไม"
เมื่อวีรวรได้ฟังรับสั่งก็กราบทูลว่า "ข้าพระบาทจะไปสืบดู พระเจ้าข้า" แล้วออกเดินหา มือถือดาบกระชับแน่น มีกริชห้อยเอว ค่อยด้อมมองเหมือนรากษสที่ด้อมหาเหยื่อ มีแสงฟ้าแลบแวบวาบจากท้องฟ้าดูประหนึ่งแสงจากดวงตาของอสูรร้าย และเม็ดฝนซึ่งตกกราดไปทั่วนั้นเล่าก็ดูประหนึ่งก้อนหินที่มันขว้างปามาฉะนั้น พระราชาศูทรกะเมื่อแลเห็นองครักษ์หนุ่มออกวิ่งไปแต่ผู้เดียวในราตรีเช่นนั้น พระทัยของพระองค์ก็เป็นห่วง และเกิดความอยากจะรู้เหตุการณ์จึงรีบเสด็จลงจากยอดมนเทียร พระหัตถ์กุมดาบวิ่งตามหลังไปติด ๆ แต่ลำพังโดยที่เขาไม่ทันรู้
วีรวรวิ่งติดตามเสียงคร่ำครวญไปจนถึงบึงแห่งหนึ่งอยู่นอกพระนคร ณ ที่นั้น ชายหนุ่มแลเห็นหญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ในบึงกำลังเปล่งเสียงร้องไห้คร่ำครวญอยู่ นางแลเห็นเขาก็กล่าวว่า "โอ ท่านผู้วีระ ท่านผู้มีเมตตา ท่านผู้มีใจอันกว้างขวาง ขอท่านจงช่วยเหลือข้าด้วยเถิด ข้าจะอยู่ได้อย่างไรเล่า ถ้าปราศจากท่านเสียแล้ว" ฝ่ายวีรวรผู้ซึ่งพระราชาแอบติดตามมาเงียบ ๆ ได้ฟังถ้อยคำของหญิงลึกลับก็กล่าวด้วยความสนเท่ห์ว่า "เธอเป็นใครทำไมมานั่งคร่ำครวญอยู่ที่นี่"
นางได้ฟังก็ตอบว่า "วีรวรที่รัก ท่านจงรู้เถิดว่าข้านี่แหละคือแม่นางธรณี และพระราชาศูทรกะนั้นเป็นนาถะของข้า น่าเสียดายที่พระองค์จะต้องสิ้นพระชนม์เสียแล้วนับแต่นี้ไปอีกสามวัน ข้าจะอยู่ต่อไปได้ไฉน และข้าจะหาใครที่เป็นที่พึ่งอันวิเศษสุดเช่นพระองค์ได้ที่ไหนเล่า ด้วยเหตุนี้แหละข้าจึงเศร้าโศกและมานั่งคร่ำครวญสงสารตัวเองและพระราชาองค์นั้นด้วย"
วีรวรได้ยินนางกล่าวก็ตกใจ กล่าวละล่ำละลักว่า
"เรื่องเป็นเช่นนั้นหรือ โอ้พระปฤถิวีเทวี จะมีหนทางใดที่จะช่วยชีวิตของพระราชาไว้ได้เล่า เหตุใดพระโลกนาถจะต้องสิ้นพระชนม์ชีพด้วยเล่า"
พระธรณีนิ่งไตร่ตรองอยู่ครู่หนึ่งจึงตอบว่า
"มีอยู่ทางเดียวเท่านั้นที่จะพลิกผันชะตากรรมนี้ได้ และเจ้าผู้เดียวที่จะรับภาระนี้ไป"
เมื่อได้ฟังดังน้น วีรวรก็รีบรับคำว่า "บอกมาเถิด พระแม่เจ้า บอกมาเร็ว ๆ เพื่อข้าจะได้รีบทำ ข้าเต็มใจทุกอย่างแม้จะต้องพลีด้วยชีวิตของข้าก็ตาม"
พระเมทนีได้ฟังก็กล่าวว่า "ใครเล่าจะกล้าหาญและภักดีต่อองค์พระภูบดีเหมือนเจ้า จงฟังคำของข้าให้ดี วิธีที่จะช่วยพระนฤบดินทร์ได้มีอยู่ทางเดียวคือ เจ้าต้องเอาลูกของเจ้าคือสัตตววรสังเวยต่อพระแม่เจ้าจัณฑี (ผู้ดุร้าย หมายถึงพระอุมา มเหสีของพระศิวะในปางดุร้าย ซึ่งเป็นปางที่พระเทวีมาปรากฏพระองค์เพื่อทำสงครามกับเหล่าอสูรเท่านั้น บางทีเรียกว่าเจ้าแม่กาลี) พระมหาเทวีผู้ทรงเกียรติระบือจะทรงปรากฏพระกายต่อหน้าผู้ภักดีต่อพระองค์และพร้อมจะทรงช่วยได้เสมอ พระจัณฑีผู้นี้ประทับอยู่ภายในวิหารที่อยู่ใกล้พระราชวังนี้แหละ เจ้าจงทำอย่างที่ข้าแนะและพระราชาก็จะปลอดภัย และมีชีวิตยืนยาวต่อไปอีกร้อยปี ถ้าเจ้าจะปฏิบัติตามคำของข้าโดยเร็ว ข้าก็เชื่อแน่ว่าพระชนม์ชีพของพระองค์จะดำรงอยู่ แต่ถ้าเจ้ามัวแต่รีรอ ก็เชื่อเถิดว่า พระราชาจะต้องสิ้นชีวิตภายในสามวันนับแต่วันนี้เป็นต้นไป
เมื่อพระปฤถิวีเทวีแจ้งให้ทราบเรื่องความลับดังนี้ วีรวรก็ให้คำมั่นสัญญาว่า "ข้าแต่พระเทวี ข้าจะไปดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด" พระเทวีจึงให้พรว่า "ขอจงสำเร็จเถิด" แล้วอันตรธานหายไป ถ้อยคำทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบดังกล่าวมิได้รอดพ้นโสตของพระราชาไปได้ เพราะพระองค์แอบติดตามวีรวรมาอย่างลับ ๆ โดยที่วีรวรไม่รู้ตัว
วีรวรกลับไปบ้านของตนอย่างรวดเร็วในความมืด ส่วนพระราชาศูทรกะมีความอยากรู้ว่าเหตุการณ์จะดำเนินไปอย่างไร ก็แอบย่องตามหลังชายหนุ่มไปติด ๆ โดยเขาไม่รู้สึกตัว แลเห็นวีรวรตรงเข้าไปหานางธรรมวดีผู้เป็นภรรยาและแจ้งให้นางทราบว่า ตนได้รับคำแนะนำจากพระธรณีให้มาเอาบุตรชายไปสังเวยต่อเจ้าแม่กาลี เพื่อช่วยชีวิตพระราชา เมื่อนางได้ฟังก็กล่าวว่า
"ท่านพี่ เรามีหน้าที่ต้องพิทักษ์พระชนม์ชีพของพระราชา จงอย่ารีรอเลย รีบไปปลุกลูกชายของเราเถิด และแจ้งให้เขาทราบด้วยตัวท่านพี่เอง"
วีรวรจึงปลุกลูกชายของตนให้ลุกขึ้น เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง และกล่าวว่า "สัตตววรลูกรัก จงรู้เถิดว่า ถ้าเจ้ายอมเป็นเครื่องสังเวยพระแม่เจ้าจัณฑี พระราชาก็จะรอดชีวิต แต่ถ้าเจ้าไม่ยินยอม พระราชาก็จะต้องสูญสิ้นพระชนม์ชีพภายในสามวัน"
สัตตววรแม้จะเป็นเด็กก็ตาม แต่ก็มีความกล้าหาญอย่างยอดยิ่งสมกับชื่อ สัตตววร ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้มีชื่อเสียงอันโดดเด่นเพราะความกล้าหาญ" เด็กน้อยจึงตอบบิดาว่า
"ลูกจะสังเวยชีวิตเพื่อพระราชาเอง เพื่อจะได้ตอบแทนพระคุณของพระองค์ผู้ประทานข้าวปลาอาหารเลี้ยงชีวิตของพวกเรา ฉะนั้นจะต้องลังเลทำไม เอาลูกไปวางบนแท่นสังเวยของพระแม่เจ้าเถิด ขอให้ลูกเป็นผู้รับภาระอันนี้เพื่อความผาสุกขององค์นฤบดีเถิด"
เมื่อสัตตววรกล่าวเช่นนี้ วีวรก็โล่งอก กล่าวว่า "ลูกเอ๋ย เจ้าช่างสมเป็นลูกพ่อยิ่งนัก"
ฝ่ายพระราชาผู้สะกดรอยตามมาและแอบฟังอยู่ข้างนอก ได้ยินเรื่องราวโดยตลอดก็ทรงตื้นตันพระทัยนัก ทรงรำพึงแก่พระองค์เองว่า "อา คนเหล่านี้มีความกล้าหาญเหมือนกันหมดโดยแท้"
วีรวรนำบุตรชายออกจากบ้าน ให้เด็กน้อยนั่งบนบ่า และนางธรรมวดีผู้ภรรยาก็จูงลูกสาวชื่อ วีรวดี ติดตามมาด้วย พากันไปยังเทวาลัยของพระจัณฑี ฝ่ายพระราชาก็ติดตามมาดูเหตุการณ์อย่างกระชั้นชิด
ครั้นแล้ววีรวรก็อุ้มลูกชายลงจากบ่า และวางบนแท่นสังเวยของเทวรูป เมื่อสัตตววรถูกนำมาสู่เบื้องพระพักตร์พระเทวีก็มิได้มีความหวาดหวั่นแต่ประการใด ก้มศีรษะลงอย่างนอบน้อม กล่าวว่า
"ข้าแต่พระเทวี ขอให้การสังเวยศีรษะของข้าในวันนี้จงเป็นผลยังพระราชาศูทรกะให้ดำรงพระชนม์ชีพยืนนานถึงร้อยปีด้วยเถิด ขอให้พระองค์ทรงปกครองราชอาณาจักรด้วยความเกรียงไกรไร้ผู้ต้านทานเถิด"
เมื่อสัตตววรกล่าวจบลง วีรวรก็เปล่งเสียงด้วยความยินดีว่า "ดีละ ลูกของพ่อ" พร้อมกับชักดาบออกจากฝักฟันฉับลงไปที่คอของบุตรชาย แล้วนำไปถวายเบื้องพระพักตร์พระจัณฑีเทวี และกล่าวว่า "ข้าพเจ้าได้สังเวยบุตรต่อองค์พระแม่เจ้าแล้ว ขอทรงช่วยให้พระราชารอดพ้นความตายด้วยเถิด"
ทันใดก็มีเสียงอุโฆษลอยมาในอากาศทำให้ได้ยินทั่วกันว่า "สาธุ วีรวรเจ้าช่างเป็นคนซื่อสัตย์และภักดีต่อพระราชานี่กระไร จะหาใครเสมอเหมือนเจ้าก็ยากนัก เพราะการที่เจ้าทำการสังเวยต่อข้าด้วยชีวิตของลูกชายผู้ประเสริฐดังนี้ พระราชาศูทรกะจะมีพระชนม์ชีพยาวนาน และอาณาจักรของพระองค์จะรุ่งโรจน์สืบไปชั่วกาลนาน"
ขณะนั้นเองนางวีรวดีบุตรสาวของวีรวรก็ลุกขึ้น ตรงไปสวมกอดศีรษะของพี่ชาย ซึ่งหาชีวิตไม่แล้ว สะอึกสะอื้นด้วยความรันทด และด้วยความทุกข์แสนศัลย์สุดที่จะทนทาน หัวใจนางก็แตกสลายล้มลงขาดใจตาย พระราชาทรงเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้โดยตลอดจากที่ซ่อนของพระองค์
ทันใดนั้นนางธรรมวดีผู้เป็นภรรยาของวีรวรก็ลุกขึ้นกล่าวแก่สามีว่า "เราได้ช่วยเหลือพระเจ้าแผ่นดินและอาณาจักรของพระองค์ไว้แล้ว บัดนี้ข้ามีบางสิ่งจะพูดกับท่าน ก็ตั้งแต่ลูกสาวของข้า แม้เป็นเด็กไร้เดียงสา ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วย ยังต้องมาตายเพราะความโศกเศร้าถึงพี่ชาย เป็นอันว่าชีวิตของลูกทั้งสองของข้าก็สิ้นสูญไปแล้ว ชีวิตของข้าจะมีประโยชน์อันใดอีกเล่า ข้าเป็นคนโง่เองที่มิได้เสนอตัวเองเพื่อสังเวยตั้งแต่แรกเพื่อความอยู่รอดของพระราชา ฉะนั้นขอให้ข้าเข้ากองไฟตายพร้อมกับลูก ๆ ด้วยเถิด"
เมื่อนางปลงใจจะทำเช่นนี้ วีรวรก็ขัดไม่ได้ จึงกล่าวแก่นางว่า
"นางผู้เป็นภัฏฏินี (หญิงผู้เจริญ หญิงผู้ดี) ของข้า ถ้าเป็นความประสงค์ของเจ้า ก็จงทำเถิด ขอความเจริญจงมีแก่เธอ ข้ารู้ว่าข้าไม่อาจจะยับยั้งเจ้าได้ เพราะเจ้ามีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำเช่นนี้ ข้ารู้ว่าเจ้าจะทนทานต่อไปอีกไม่ไหวเพราะเมื่อสิ้นลูก ชีวิตเจ้าก็พลอยสิ้นสูญไปด้วย แต่อย่าโทษว่าเป็นความผิดของตัวเองเลย เพราะเจ้าเองมิได้ถูกกำหนดให้ต้องสังเวยชีวิต ตัวข้าก็เช่นเดียวกันที่จะต้องสังเวย ถ้ามิใช่ความประสงค์ของพระแม่เจ้าที่ประสงค์เฉพาะลูกชายของข้าเท่านั้น เจ้าจงคอยอยู่ที่นี่ก่อน จนกว่าข้าจะจัดกองไฟสำหรับเจ้าด้วยฟืนเหล่านี้ และทำรั้วล้อมรอบมณฑลแห่งยัชญพิธีของพระแม่เจ้าเสียก่อน" วีรวรกล่าวจบก็ลงมือทำจิตกาธาน (ที่เผาศพ ,เชิงตะกอน) และรั้วยัชญมณฑลจนเสร็จเรียบร้อย แล้ววางศพลูกทั้งสองบนกองฟืน จุดไฟลุกโชติช่วงด้วยตะเกียง
นางธรรมวดีเห็นทุกสิ่งจัดเตรียมเรียบร้อยแล้วก็คุกเข่าลงแทบเท้าสามีกล่าวอำลา และหลังจากที่บูชาพระแม่เจ้าจัณฑีแล้ว ก็สวดมนตร์และอธิษฐานว่า "ขอให้สามีในปัจจุบันของข้าได้ไปเจอกันอีกในชาติหน้าภพใหม่ และขอให้การสังเวยชีวิตของข้าจงเป็นผลเพื่อสวัสดิภาพของพระราชานั้นทุกประการ" กล่าวจบนางผู้เลิศด้วยคุณธรรมก็โผร่างเข้าหากองไฟอันช่วงโชติในจิตกาธานซึ่งเป็นเปลวแลบเลียไปทั่วทุกทิศทุกทาง
ครั้นแล้ววีรวรบุรุษผู้วีระก็กล่าวแก่ตนเองว่า
"เราได้ทำทุกสิ่งไปแล้วเพื่อการรอดชีวิตของพระราชา และทำตามที่เสียงสวรรค์ได้เป็นประจักษ์พยานรับรู้ บัดนี้เราก็ใช้หนี้ให้แก่นายของเราผู้ให้ข้าวให้น้ำเรากินจนหมดสิ้นแล้ว บุญคุณอื่นใดเป็นอันยุติ เดี๋ยวนี้เราก็เป็นอิสระแล้ว ประโยชน์อันใดที่เราจะยึดมั่นในชีวิตนี้อีกต่อไป การมีชีวิตอยู่โดยปราศจากผู้เป็นที่รักคือลูกและเมียย่อมไร้ค่าสำหรับคนซึ่งมีหน้าที่จะต้องกระทำอย่างเรา ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ไยเราไม่สังเวยชีวิตที่เหลืออยู่นี้ให้แก่พระทุรคาเทวี(เทวีผู้เข้าถึงยาก หมายถึงพระอุมาปางดุร้าย) เล่า"
เมื่อคิดดังนี้แล้วเขาก็ก้าวเข้าไปยืนอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระเทวี และกล่าวโศลกถวายด้วยความนอบน้อมว่า
"ขอเกียรติคุณจงมีแด่พระเทวีผู้ประหารมหิษาสูร (อสูรผู้มีร่างเป็นควาย เป็นอสูรร้ายกาจที่พระทุรคาต้องเสด็จมาปราบและทรงประหารมันได้ในที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงทรงได้นามว่า มหิษาสรมรรทินี ) ในบรรพกาล พระผู้ทำลายชีพของทานพรุรุ (ทานพ ชื่อรุรุ เป็นชื่อของอสูรหรือทานพผู้หนึ่งที่ได้รับพรจากพระพรหมแล้วมีใจกำเริบ ยกทัพไปย่ำยีสวรรค์ บรรดาทวยเทพต่างก็หนีไปเฝ้าพระทุรคาหรือศักติ (มเหสีพระศิวะ) ที่ภูเขาอัญชัน และทูลขอร้องให้ช่วย พระเทวีจึงเสด็จมาปราบ อสูรรุรุ และทรงประหารอสูรด้วยเล็บพระบาท) โอ พระเทวีผู้ทรงตรีศูลเป็นเทพาวุธ ขอความรุ่งโรจน์จงมีแด่พระโลกมาตา ผู้เป็นยอดแห่งผู้เป็นมารดาทั้งหลาย พระองค์เป็นผู้นำความบันเทิงสุขมาสู่ทวยเทพ และเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งโลกทั้งสาม ขอสิทธิศักดิ์จงมีแด่พระองค์ ผู้มีพระบาทอันชาวโลกทั้งมวลพึงกราบไหว้ พระเป็นที่พึ่งของสัตตวนิกรทั้งหลายผู้มาพึ่งพำนักจิตเพื่อความหลุดพ้น ขอชัยจงมีแด่พระองค์ผู้ทรงพัสตราภรณ์คือรัศมีแห่งสูรยะ ผู้ขับไล่ความมืดความวุ่นวายให้สิ้นไป โอ้ พระแม่เจ้ากาลี พระเทวีผู้ทรงสายประคำคือกะโหลกมนุษย์ และทรงประดับพระเศียรด้วยกระดูกแห่งสรีระ ขออนัตชัยจงมีแด่องค์พระศิวา (มเหสีของพระศิวะ หมายถึงพระอุมา ทุรคา กาลี จัณฑี เคารี และอื่น ๆ) ขอทรงมีพระเกียรติยิ่งยืนนาน ขอพระองค์ทรงพอพระทัยในการสังเวยศีรษะของข้า และทรงอวยพระพรให้พระราชาศูทรกะมีชนมายุยิ่งยืนนานเถิด"
หลังจากการกล่าวถ้อยคำดังนี้แล้ว วีรวรก็ตัดศีรษะของตนให้ขาดออกโดยฟันด้วยดาบเพียงฉับเดียว
พระราชาศูทรกะผู้เป็นสักขีในเหตุการณ์ทั้งหมด จากการแอบดูในที่ซ่อนของพระองค์ ทรงประหลาดพระทัย และรู้สึกงุนงงอย่างยิ่งจากภาพที่ได้เห็น ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ตรัสแก่พระองค์เองว่า "ชายผู้มีค่ายิ่งคนนี้พร้อมด้วยครอบครัวของเขาได้ประกอบกรรมอันยากยิ่งเพื่อช่วยเหลือเรา กรรมอันนี้เป็นที่ที่เหลือเชื่อ ยากที่ใคร ๆ ในแผ่นดินโลกจะทำได้อย่างนี้ และเขากระทำเพื่อเราโดยไม่มุ่งหวังการตอบแทนสักนิด ถ้าเรามิได้รู้ถึงบุญคุณของเขา ความเป็นราชันยะของเราจะมีคุณค่าอะไร เราก็คงจะไม่แตกต่างไปจากสัตว์ตัวหนึ่งโดยแท้"
ดำริฉะนี้แลพระวีรราชาก็ชักพระแสงดาบออกจากฝัก เสด็จเข้าไปหาพระเทวี และกล่าวอ้อนวอนด้วยความนอบน้อมว่า
"ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอได้โปรดข้าด้วยเถิด โปรดประทานพรแก่ข้า ขอให้พราหมณ์ชื่อ วีรวร ผู้นี้ซึ่งมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับชื่อของเขา ผู้เสียสละแม้ชีวิตเพื่อความอยู่รอดของข้า ขอให้เขาและครอบครัวจงกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาเถิด"
เมื่อกล่าวกถาดังนี้แล้ว พระราชาเตรียมจะเชือดพระศอด้วยดาบอันคมกล้า ทันใดนั้น ก็มีเสียงลอยมาในอากาศว่า "ช้าก่อนราชะ ข้าพอใจในพลีของท่านแล้ว เอาเถอะ ข้าจะให้พราหมณ์วีรวรกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่พร้อมด้วยภรรยาและบุตรของเขา"
เมื่อได้กล่าวประกาศิตแล้วเสียงสวรรค์ก็หายไป ทันใดวีรวรก็คืนชีพขึ้นมาพร้อมด้วยบุตรชาย บุตรสาว และภรรยาของเขา พอเห็นคนเหล่านี้ฟื้นขึ้นมา พระราชาก็รีบวิ่งเข้าหาที่ซ่อนเร้น กำบังมิให้ใครเห็น ทรงจ้องดูภาพของคนเหล่านั้นด้วยความอัศจรรย์ใจ และมีอัสสุชลเปี่ยมปริ่มด้วยความยินดีเป็นล้นพ้น
ฝ่ายวีรวรเมื่อได้มีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง มีความรู้สึกเหมือนคนตื่นจากหลับแลไปเห็นบุตรและภรรยาต่างก็ยังมีชีวิตอยู่ ก็สับสนในใจไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น จึงถามบุตรและภรรยาว่า
"พวกเจ้าถูกไฟเผาไหม้จนเป็นเถ้าถ่าน แล้วกลับฟื้นขึ้นมาอีก เป็นไปได้อย่างไร ข้าก็เหมือนกัน จำได้ว่าข้าตัดหัวตัวเองไปแล้วหลังจากที่เผาศพพวกเจ้า แล้วนี่ข้ากลับมีชีวิตขึ้นมาอีก นี่จะเป็นมายาที่หลอกตาข้าหรือไร หรือว่าพระแม่เจ้าโปรดให้เรารอดจากตายด้วยความกรุณาของพระองค์ ช่างน่าอัศจรรย์เสียจริง ๆ"
เมื่อได้ฟังดังนี้ภรรรยาและบุตรจึงกล่าวว่า "ที่เราได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งนี้ คงจะเป็นด้วยอำนาจของพระเทวีบันดาลให้เป็นไประหว่างที่เราหมดสตินั่นเอง"
วีรวรใคร่ครวญดูว่าเรื่องคงจะเป็นไปอย่างที่คนเหล่านั้นพูด มิได้มีข้อสงสัยอีกต่อไป จึงกระทำการบูชาต่อองค์พระจัณฑี แล้วพาครอบครัวกลับไปบ้านมีความยินดีว่าตนได้ปฏิบัติภารกิจเสร็จไปแล้วตามปรารถนาทุกประการ และหลังจากที่พาบุตรภรรยากลับไปบ้านแล้วก็กลับมายืนยามหน้าประตูวัง อันเป็นหน้าที่ประจำของตนในราตรีนั้นนั่นเอง ส่วนพระราชาศูทรกะผู้แลเห็นเหตุการณ์โดยตลอดก็ออกจากที่ซ่อนเสด็จกลับสู่วังและขึ้นไปที่ยอดพระมนเทียร และตะโกนลงมาว่า "ใครอยู่หน้าประตูนั่น" วีรวรได้ยินก็กล่าวด้วยเสียงอันดังว่า "ข้าพระบาทอยู่ที่นี่พระเจ้าข้า โอ ราชะ ตามที่ทรงมีบัญชาให้ข้าพระบาทไปสืบเรื่องหญิงผู้นั้น แต่นางได้อันตรธานไปต่อหน้าต่อตาเมื่อข้าพระบาทแลเห็นนาง ราวกับว่านางคือรากษสี (นางรากษส หรือนางอสูรประเภทหนึ่ง) ตนหนึ่ง หาใช่เป็นคนธรรมดาไม่"
พระราชาได้ฟังคำตอบของวีรวรก็ทรงประหลาดพระทัยมาก เพราะพระองค์เป็นบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์โดยตลอด ทรงรำพึงในพระทัยว่า "จริงแท้ทีเดียวบุคคลผู้ประเสริฐ ล้วนเป็นผู้ที่รู้จักตนเองและควบคุมจิตใจได้อย่างลึกซึ้ง เหมือนทะเลอันกว้างใหญ่และลึกสุดหยั่ง เพราะเมื่อเขาประกอบกรณียกิจอันหาใครเปรียบมิได้นั้น แทนที่เขาจะโอ้อวดตนเอง กลับนิ่งเงียบไม่กล่าวอะไรเลย" เมื่อทรงรำพึงดังนี้แล้ว พระราชาก็เสด็จลงมาจากยอดมนเทียรกลับคืนสู่ห้องบรรทมและทรงพักผ่อนตลอดคืน
ในตอนเช้าวีวรถูกตามมาเฝ้าต่อหน้าประชุมชน พระราชาผู้ทรงมีพระทัยอันเปี่ยมไปด้วยความยินดีได้ตรัสแก่ที่ประชุมมนตรีถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในเวลากลางคืนโดยตลอด ทำให้ทุกคนในท้องพระโรงตื่นเต้นกันมาก ครั้นแล้วพระราชาได้ประทานของขวัญอันล้ำค่าแก่วีรวรเพื่อเป็นเครื่องตอบแทนน้ำใจอันยิ่งใหญ่ คือทรงยกดินแดนแว่นแคว้นลาฏะและกรรณาฏะให้วีวรปกครอง หลังจากนั้นพระราชาสองพระองค์คือ พระเจ้าวีรวรและพระเจ้าศูทรกะ ผู้มีอานุภาพเสมอกันก็ปกครองดินแดนของตนด้วยความสงบสุขสืบมา
เมื่อเวตาลเล่านิทานอันพิสดารสุดขีดจบลง ก็กล่าวแก่พระราชาตริวิกรมเสนว่า "โอ นฤบดี ในเรื่องที่ข้าเล่ามานี้ พระองค์ทรงเห็นว่าใครเป็นผู้ที่กล้าหาญที่สุดในจำนวนคนเหล่านั้น ถ้าพระองค์ทรงทราบและไม่พูด คำสาปที่ข้าเคยกล่าวมาแล้วแต่ต้นก็จะประสบแก่พระองค์โดยแท้"
พระราชาได้ฟังถ้อยคำของเวตาลก็ตรัสว่า "พระราชาศูทรกะนั่นแหละ เป็นผู้ที่กล้าหาญที่สุดในบรรดาคนทั้งหลาย"
เวตาลได้ฟังก็แย้งว่า "คนที่กล้าหาญที่สุดมิใช่วีรวรหรอกหรือ เพราะเขาได้ทำวีรกรรมที่ยากจะหาใครเสมอเหมือนในโลกนี้ และมิใช่ภรรยาของเขาดอกหรือที่กล้าหาญกว่า เพราะเป็นแม่ที่ต้องทนเห็นลูกชายต้องถูกสังเวยไปต่อหน้าต่อตา และมิใช่ลูกชายคือสัตตววรหรอกหรือ แม้จะเป็นเพียงเด็กแต่ก็กล้าพลีชีพของตนเพื่อพระราชาและบิดาของตน นี่ไม่เรียกว่าวีรกรรมอันยอดยิ่งดอกหรือไร ไฉนพระองค์จึงตรัสว่าพระราชาศูทรกะเป็นผู้กล้าหาญยิ่งกว่าคนเหล่านั้นเล่า"
เมื่อได้ยินเวตาลกล่าวดังนั้น พระราชาตริวิกรมเสนก็อธิบายว่า
"เจ้าอย่าพูดอย่างนั้นเลย ก็วีรวรนั้นเป็นคนตระกูลสูง จะอยู่ในครอบครัวใดก็ตาม ว่าตามจริงเขาต้องเป็นหัวหน้าที่มีความรับผิดขอบ รวมทั้งลูกและเมียของเขาก็เช่นเดียวกัน ทุกคนถือเป็นหน้าที่อยู่แล้วที่จะต้องสละชีวิตเพื่อคุ้มครองพระราชาของตน ในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากวีรวรจะทำตามหน้าที่ผูกพันกับพระราชาแล้ว นางผู้เป็นภรรยานั้นเล่าก็เป็นหญิงประเสริฐที่เคารพรักสามียิ่งชีวิต หล่อนทำไปเพราะถือเป็นหน้าที่ว่าภรรยาจะต้องดำเนินรอยตามสามีด้วยใจภักดิ์ ส่วนสัตตววรผู้เป็นลูกนั้นเล่าก็เป็นเช่นเดียวกับพ่อและแม่ของตน ย่อมทำตามพ่อแม่ด้วยความรักและความผูกพันโดยแนบแน่นเหมือนเส้นด้ายที่ตีขึ้นมาจากฝ้ายฉะนั้น แต่พระราชาศูทรกะเป็นเยี่ยมเหนือกว่าคนเหล่านั้นทุกคน เพราะพระองค์เป็นผู้พร้อมที่จะพลีชีวิตเพื่อคนรับใช้ของพระองค์ เป็นการเสียสละอย่างกล้าหาญที่พระเจ้าแผ่นดินไม่มีความจำเป็นจะต้องทำเช่นนั้นเลย"
เมื่อเวตาลได้ยินคำอธิบายจากพระโอษฐ์ของพระราชาเช่นนั้น ก็ผละจากอังสาของพระราชา หายแวบไปทันทีโดยไม่มีใครเห็น และกลับคืนไปสู่ที่เดิมด้วยอิทธิฤทธิ์ของตน ทำให้พระราชาต้องเสด็จกลับทางเดิม เพื่อไปนำตัวเวตาลกลับมาใหม่


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:17:17:23 น.  

 
นิทานเรื่องที่

พระเจ้าตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปที่ต้นอโศก แลเห็นซากศพที่เวตาลเข้าสิงห้อยอยู่บนกิ่งไม้จึงขึ้นไปลากตัวลงมา และหลังจากที่ทรงบริภาษเวตาลแล้วก็รีบเสด็จกลับไปทางเดิมเพื่อมุ่งไปสู่จุดที่หมาย แต่ในขณะที่ดำเนินไปตามทางที่นำไปสู่สุสานของโยคีในราตรีนั้น เวตาลซึ่งเกาะอยู่บนอังสาของพระราชาก็กล่าวขึ้นว่า
"ราชะ พระองค์ช่างอดทนในภาระนี่กระไร ข้าเห็นพระองค์ครั้งแรกก็รู้สึกชอบเสียแล้ว ข้าจะเล่านิทานให้ทรงฟังสักเรื่องหนึ่งเพื่อเป็นเครื่องบันเทิงพระทัย โปรดสดับเถิด"
ในพระนครอุชชยินี มีพราหมณ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังผู้หนึ่งเป็นราชเสวกและมนตรีของพระราชาปุณยเสน มีชื่อว่าหริสวามิน พราหมณ์มีภรรยาที่เป็นหญิงมีตระกูลเสมอกันและมีบุตรชายคนหนึ่งเป็นชายหนุ่มรูปงามชื่อ เทวสวามิน ต่อมานางให้กำเนิดบุตรหญิงคนหนึ่ง เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว มีความงามอันยอดยิ่งหาผู้ใดเสมอมิได้ ชื่อ โสมประภา ครั้นสืบมานางมีวัยอันพึงมีคู่ครองได้แล้ว (คืออายุ ๑๖ ปี) นางจึงให้มารดาไปเจรจาต่อบิดาและพี่ชายของนาง โดยสั่งว่า "ลูกจะแต่งงานกับชายที่มีความกล้าหาญ หรือมีความรู้ดีเลิศ (จากศัพท์ว่า ชญานิน) หรือมิฉะนั้นก็ต้องเป็นชายที่เรียนรู้มายาศาสตร์เท่านั้น ขออย่าบังคับให้ลูกแต่งงานกับคนอื่นนอกเหนือจากนี้ ถ้าพ่อยังเห็นว่าชีวิตของลูกยังมีค่าอยู่"
เมื่อหริสวามินผู้บิดาได้ยินดังนี้ ก็กังวลใจมาก ไม่ทราบว่าจะหาบุรุษใดมีคุณสมบัติตามข้อใดข้อหนึ่งในสามข้อที่นางตั้งเงื่อนไขเอาไว้ ขณะนั้นพอดีกับที่เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตสันติเพื่อไปทำสัญญาไมตรีกับพระราชาแห่งเดกข่าน ซึ่งกำลังจะเข้ามารุกรานแว่นแคว้น
หริสวามินได้ทำงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และเดินทางกลับมาบ้าน ขณะนั้นเอง พราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งได้ทราบข่าวระบือในความงามอันยอดยิ่งของนางโสมประภาก็เข้ามาหา และสู่ขอนางเพื่อการสมรส หริสวามินจึงกล่าวแก่พราหมณ์ผู้นั้นว่า
"ลูกสาวข้าจะไม่แต่งงานกับใครเลย ถ้าชายนั้นมิได้มีคุณสมบัติทางด้านความกล้าหาญ ความเป็นผู้รู้เลิศ หรือเจนจบในมายาศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่งไหนลองบอกมาสิว่า ท่านชำนาญทางไหนในสามอย่างนี้"
เมื่อหริสวามินกล่าวดังนี้แก่พราหมณ์หนุ่ม ชายหนุ่มก็ตอบว่า "ข้าเป็นผู้ชำนาญในมายาศาสตร์ยิ่งกว่าอย่างอื่น" หริสวามินจึงกล่าวว่า "ถ้ากระนั้นจงแสดงให้ข้าดูสิ"
ชายหนุ่มผู้มีมายาศาสตร์ได้ฟังก็เริ่มการแสดงโดยทันทีตามความชำนาญของตน คือ นำรถมาคันหนึ่ง ซึ่งมีศักยภาพสามารถแล่นไปอย่างรวดเร็วในอากาศ ชายหนุ่มเชิญให้พราหมณ์เฒ่าลงสู่รถแก้วแววฟ้าลอยลิ่วไปในอากาศชมสวรรค์และแผ่นดินโลกเป็นที่เพลิดเพลิน แล้วนำกลับลงมาที่พลับพลาของพระเจ้ากรุงเดกข่าน ผู้ซึ่งใช้ให้เขาไปเจรจาสู่ขอนางโสมประภาต่อบิดานางนั่นเอง หริสวามินก็ตกลงยินยอมให้ธิดาแก่ผู้ชำนาญมายาศาสตร์นั้นโดยกำหนดวันทำพิธีสมรสอีกเจ็ดวันข้างหน้า
ในระหว่างนั้น พราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งตั้งนิวาสสถานอยู่ในกรุงอุชชยินีก็มาหาเทวสวามินผู้บุตรชายของหริสวามิน และสู่ขอนางโสมประภาในฐานะที่เขาเป็นพี่ชายของนาง เทวสวามินตอบว่า "นางไม่ความประสงค์ที่จะได้สามีที่ไม่มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่าง คือ มีความรู้เลิศ เจนจบในมายาศาสตร์ และเป็นวีรบุรุษ" เมื่อได้ฟังดังนั้นพราหมณ์ก็แสดงตนเป็นวีรบุรุษ แล้วแสดงการใช้อาวุธทั้งไกลตน (คือยิงธนู) และประชิดตน (คือใช้ดาบ) อย่างดีเยี่ยม จนเทวสวามินเลื่อมใส จึงสัญญาว่าจะยกน้องสาวให้ และโดยการแนะนำของโหรตามที่บิดาได้ตอบแก่ชายคนแรกที่มาสูขอไปว่า ฤกษ์แต่งงานจะมีในเจ็ดวันข้างหน้า เทวสวามินก็แจ้งแก่ชายคนที่สองเช่นเดียวกัน และเขาก็ตัดสินใจไปโดยที่มารดามิได้รู้เห็น
ในวันเดียวกันนั้นเอง ชายคนที่สามก็เดินทางมาถึงและเข้าไปพบกับภรรยาของหริสวามิน เจรจากเป็นส่วนตัวสู่ขอนางโสมประภาเช่นเดียวกัน นางพราหมณีได้ฟังก็ตอบว่า "ลูกสาวของข้าต้องการสามีที่ทรงคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างคือ เป็นวีรบุรุษ หรือชำนาญในมายาศาสตร์ หรือเจนจบในชญานะอย่างดีเลิศ" และหลังจากที่นางได้ถามไถ่เรื่องอดีตและอนาคตของเขาแล้ว ก็ตกลงใจรับการสู่ขอของเขา และสัญญาจะให้ธิดาของตนแต่งงานกับชญานินผู้นี้ในเวลาอีกเจ็ดวันข้างหน้า เช่นเดียวกับที่สามีและบุตรชายของนางได้ให้สัญญาแก่ชายสองคนแรก
วันรุ่งขึ้นหริสวามินกลับมาถึงบ้าน กล่าวแก่ภรรยาและบุตรชายเรื่องที่ตนได้ตกลงไว้กับเจ้าบ่าวคนที่หนึ่งว่าจะยกธิดาให้ในพิธีสมรสอีกเจ็ดวันข้างหน้า ภรรยาและบุตรชายต่างก็แจ้งให้หริสวามินทราบเรื่องที่ตนต่างก็สัญญาจะยกนางให้เจ้าบ่าวคนที่สองและที่สามในวันเดียวกันคือ อีกเจ็ดวันข้างหน้า หริสวามินได้ทราบก็ตกใจ และกลัดกลุ้มยิ่งนักเพราะเจ้าบ่าวทั้งสามต่างก็ได้รับการเชิญมาในวันสมรสวันเดียวกัน
ครั้นถึงวันสมรส ชายทั้งสามต่างก็เดินทางมาถึงบ้านของหริสวามินพร้อมกันทั้งชญานิน มายากร และวีรบุรุษ ขณะนั้นเองความมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น ปรากฎว่าเจ้าสาวคือนางโสมประภาหายไปอย่างไม่มีร่องรอย ถึงจะมีการค้นหาสักเท่าไร ๆ ก็มิได้พบเห็น หริสวามินจึงกล่าวแก่ชญานินว่า "ท่านเป็นผู้ทรงคุณวิทยา เรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะอะไร ลูกสาวข้าหายไปไหน"
เมื่อชญานินหนุ่มได้ฟังดังนั้นก็ตอบว่า "รากษสตนหนึ่งชื่อธูมรศิขะ เป็นผู้ลักตัวนางไปสู่ที่อยู่ของมันในป่าเชิงเขาวินธัยแล้ว"
หริสวามินได้ยินชญานินกล่าว ก็ตกใจว้าวุ่นร้องว่า "อนิจจาเอ๋ย อนิจจาเราจะตามตัวนางกลับมาได้อย่างไร แล้วนางจะแต่งงานอย่างไรเล่า"
มายากรผู้ชำนาญในมายาศาสตร์ได้ฟังก็กล่าวว่า "ทำใจให้ดี ๆ ไว้เถิด ข้าจะพาท่านไปในพริบตา เพื่อติดตามนางไปยังที่ซึ่งชญานินกล่าวถึงนั่น"
กล่าวจบมายาวินก็เตรียมงานของตนโดยนำรถแก้วเข้ามาเทียบ แล้วพาหริสวามินพร้อมด้วยชญานินและวีรบุรุษ ลงนั่งในรถเหาะลิ่วไปในอากาศ ชั่วครู่หนึ่งก็มาถึงที่พำนักของรากษสในป่าวินธัย ตามที่ชญานินบรรยายไว้ทุกประการ รากษสเมื่อเห็นดังนั้นก็วิ่งออกมาจากสำนักด้วยความโกรธ วีรบุรุษซึ่งถูกหริสวามินผลักดันให้ออกหน้าก็ตะโกนท้าทายให้รากษสมาต่อสู้กับตนตัวต่อตัว ครั้นแล้วทั้งสองฝ่ายก็ต่อสู้กันอย่างทรหดด้วยอาวุธชนิดต่าง ๆ เพื่อชิงนางมาเป็นของตน ต่อมาในช่วงเวลาอันสั้น รากษสก็เสียทีถูกตัดหัวกระเด็นด้วยฝีมือวีรบุรุษหนุ่ม เมื่อประหารรากษสแล้ว ต่างก็พานางโสมประภาลงรถแก้วแววฟ้าของมายาวินกลับสู่บ้าน
เมื่อกลับมาถึงบ้านหริสวามิน การแต่งงานก็ยังเริ่มไม่ได้ถึงแม้มหุติฤกษ์จะมาถึงและผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพราะเกิดการโต้เถียงกันไม่ยุติว่านางควรจะแต่งงานกับใคร ทั้งชญานิน มายาวิน และวีรบุรุษต่างก็โต้ตอบกันอย่างเผ็ดร้อน อ้างความเป็นเจ้าของนางกันทุกคนน ชญานินกล่าวว่า "ถ้าข้าไม่จับยาม ดูว่านางถูกพาไปไหน พวกท่านยังจะมีปัญญาสืบรู้ได้ละหรือ ด้วยเหตุนี้นางควรจะตกเป็นของข้าจึงจะถูก"
มายาวินได้ฟังก็กล่าวว่า "ถ้าข้าไม่ใช้รถแก้วของข้าเหาะลอยไปในอากาศเพื่อเดินทางไปสุดหล้าฟ้าเขียวอย่างป่าวินธัยโน่น พวกเจ้าจะมีปัญญาทำอะไร ข้ามิได้ทำให้เจ้าเดินทางไปกลับในชั่วอึดใจเดียวราวกับเทวดาเดินหน ป่านนี้เจ้าจะยังมะงุมมะงาหราอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เพราะเหตุนี้โสมประภาจึงควรเป็นของข้าแต่ผู้เดียว" ชายคนที่สามคือวีรบุรุษได้ยินดังนั้นก็กล่าวขึ้นบ้างว่า "ข้าเป็นคนประหารรากษสที่ร้ายกาจนั่นด้วยดาบของข้าแท้ ๆ ทำให้พวกเรารอดอันตรายพานางกลับมาได้ ฉะนั้นข้านี่ต่างหากที่ควรเป็นสามีของนาง"
ขณะที่ทุกคนโต้เถียงกันวุ่นวายอยู่นั้น หริสวามินนั่งฟังอยู่เงียบ ๆ บังเกิดความพิศวงเป็นกำลัง ไม่อาจจะตัดสินอะไรได้
เวตาลจึงกล่าวแก่พระราชาว่า "โอ ราชะ โปรดตัดสินให้ทีเถิด ใครควรจะได้เป็นสามีนางโสมประภาโดยเหตุผลอันสำคัญเป็นเครื่องชี้ขาดเล่า แต่ถ้าพระองค์รู้แล้วไม่ยอมพูดก็จงรู้ไว้เถิดว่า ศีรษะของพระองค์จะต้องแยกเป็นเสี่ยง ๆ เชียวนะ พระเจ้าข้า"
เมื่อพระเจ้าตริวกรมเสนได้ฟังเวตาลกล่าวดังนี้ ก็ลืมพระองค์ไปชั่วขณะตรัสตอบว่า
"นางควรจะตกเป็นของวีรบุรุษต่างหาก ทั้งนี้เพราะชายกล้าหาญผู้นี้มิใช่หรือที่ต่อสู้ศัตรูอย่างเข้มแข็งเต็มกำลังความสามารถ เอาชีวิตเข้าแลกกับความตายเพื่อนางโดยแท้ ส่วนชายอีกสองคนคือ ชญานิน และมายาวิน ทำตามหน้าที่ท้าวธาดาพรหมกำหนดมาให้เป็นเครื่องมือของแผนการดังกล่าวนี้ทั้งหมด คนมีความรู้ก็ดี คนถนัดในมายาศาสตร์ก็ดี ล้วนแต่เป็นตัวประกอบในวีรกรรมนี้ทั้งสิ้น"
เวตาลได้ฟังดังนั้นก็รีบรุดลงจากอังสาของพระราชาและหายลับไปในทันที โดยปราศจากร่องรอยใด ๆ ให้เห็น พระราชาทรงรู้สึกพระองค์ก็ต่อเมื่อ เวตาลอันตรธานไปแล้ว จึงต้องเสด็จไปตามตัวมันอีก


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:17:18:52 น.  

 
นิทานเรื่องที่

พระราชาตริวกรมเสนเสด็จกลับไปยังต้นอโศก จับตัวเวตาลพาดบ่าเสด็จมุ่งหน้าไปยังสุสานที่นัดพบกับโยคีศานติศีล ระหว่างที่เดินทางมาในความเงียบครู่หนึ่ง เวตาลก็เอ่ยขึ้นว่า "อารยบุตร ข้าสังเกตุดูพระองค์ก็เป็นคนฉลาดและกล้าหาญมิน้อย ข้าชักจะรักพระองค์แล้วสิ ฉะนั้นข้าจะเล่านิทานถวายให้ทรงฟังเล่นเพลิน ๆ สักเรื่องหนึ่ง โปรดทรงสดับเถิด"
ในอดีตกาลมีพระราชาผู้มีพระนามบันลือในพิภพองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้ายศเกตุ ครองราชสมบัติ ณ นครโศภาวดี และในนครนี้เอง มีเทวาลัยของพระเคารี(ผู้มีผิวสีเหลืองอ่อน หรือสีนวล เป็นชื่อของพระอุมามเหสีพระศิวะปางใจดี) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเทวาลัย มีทะเลสาบอันงดงามชื่อ เคารีตีรถะ(ฝั่งน้ำ หมายถึงเทวาลัยริมน้ำอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของผู้จาริกแสวงบุญ) และทุก ๆ ปีจะมีการฉลองในวันขึ้นสิบสี่ค่ำเดือนอาษาฒะ (เดือน ๘ ตกราวเดือนกรกฎาคม)จะมีผู้คนทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาสระสนานกันที่นี่เป็นประจำ
ครั้งหนึ่งในวันดังกล่าวนี้ มีชายคนหนึ่งชื่อธนวละ เดินทางมาจากแคว้นพรหมสถล เขาได้เห็นสาวงามผู้หนึ่งชื่อมัทนสุนทรี บุตรของชายชื่อศุทธบฏ มีเรือนร่างเฉิดโฉมราวอัปสรสวรรค์ กำลังเล่นน้ำอยู่ในบึงนั้น หัวใจเขาก็ถูกนางยึดแน่นราวพระจันทร์ถูกเงาราหูเข้าเบียดบัง เขาพยายามสืบถามจนรู้ว่านางชื่ออะไร และอยู่ในตระกูลอะไร จากนั้นเขาก็เดินทางกลับบ้าน มีแต่ความหลงใหลในตัวนางอย่างไม่ว่างเว้น เขาคิดถึงนางจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ ในที่สุดเมื่อถูกมารดาซักไซ้บ่อย ๆ เขาก็จำใจยอมเผยความจริงว่าเขาหลังรักนางมัทนสุนทรี และปรารถนานางแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น นางได้ฟังก็เล่าให้สามีของนางชื่อวิมลฟังโดยตลอด ผู้เป็นบิดาได้ทราบเรื่องก็เข้ามาหา แลเห็นลูกรักตกอยู่ในภาพเศร้าโศกท้อแท้เช่นนั้นก็กล่าวว่า
"ลูกของพ่อ ไฉนจึงเป็นทุกข์เป็นร้อนเช่นนี้ เรื่องนี้ไม่เห็นจะยากเย็นอะไรเลย ศุทธบฏจะต้องให้ลูกสาวเขาแต่งงานกับลูกแน่ ๆ ถ้าพ่อไปเจรจาต่อเขาด้วยตนเอง ทั้งนี้ก็เพราะพ่อกับเขาต่างก็มีฐานะเท่าเทียมกันทั้งทรัพย์สินและกิจการงาน พ่อรู้จักเขาและเขาก็รู้จักพ่อดี เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ยากเลยในการที่จะไปพูดกับเขา"
เมื่อปลอบโยนบุตรชายดังนี้แล้ว วิมลก็คะยั้นคะยอให้บริโภคข้าวน้ำตามปกติ และในวันรุ่งขึ้นเขาก็พาลูกชายไปยังบ้านของศุทธบฏ เจรจาสู่ขอบุตรสาวของเจ้าของบ้านให้แก่บุตรชายของตน ศุทธบฏก็ยินดีที่จะยกนางให้โดยมิตรไมตรี และเตรียมหาฤกษ์งามยามดีไว้เรียบร้อย ครั้นได้เวลาอันเป็นมงคลก็จัดการแต่งงานนางมัทนสุนทรีกับหนุ่มธนวละ เมื่อชายหนุ่มได้นางมาเป็นคู่ครองสมใจนึกแล้ว ต่อมามิช้าก็พานางเดินทางกลับมาอยู่บ้านบิดาของตนด้วยความสุข และนางมัทนสุนทรีก็เช่นเดียวกัน นางรักสามีตั้งแต่พบครั้งแรก จึงยินดียอมเป็นภรรยาของเขาโดยไม่มีข้อเกี่ยงงอนด้วยประการใด ๆ
วันหนึ่งขณะที่ชายหนุ่มมีความสุขด้วยครอบครัวของตนที่บ้าน พลันน้องเมียของนางมัทนสุนทรีก็เดินทางมาเยี่ยมที่บ้าน ทุกคนต่างก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี นางมัทนสุนทรีนั้นวิ่งเข้ามาสวมกอดน้องชายของนางด้วยความดีใจ พลางไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกันด้วยความคิดถึง หลังจากที่ชายหนุ่มได้พักผ่อนชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว เขาก็กล่าวแก่คนเหล่านั้นว่า "บิดาของข้าให้มาเชิญนางมัทนสุนทรีกับลูกเขยไปยังบ้านของเรา เนื่องด้วยทางบ้านกำลังทำพิธีฉลองพระทุรคาเทวี"
เมื่อได้ยินดังนี้ บรรดาญาติพี่น้องของฝ่ายชายก็เห็นสมควรด้วย และเลี้ยงดูปูเสื่อชายหนุ่มในวันนั้นอย่างเต็มที่ด้วยโภชนาหารและสุราเมรัยครบถ้วน
เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น ธนวละออกเดินทางไปบ้านพ่อตาพร้อมด้วยนางมัทนสุนทรีและน้องชายของนาง ทั้งหมดมาถึงเมืองโศภวดี และเห็นมหาเทวาลัยของพระทุรคาเทวีอยู่ข้างหน้า จึงเดินเข้าไปใกล้และกล่าวแก่ภรรยาและน้องชายของนางด้วยศรัทธาอันเปี่ยมล้นที่มีต่อพระเทวีว่า
"เราเข้าไปในวิหารของพระแม่เจ้ากันเถอะ"
เมื่อน้องชายของนางได้ฟังดังนั้น ก็กล่าวแก่พี่เขยด้วยอาการอิดเอื้อนว่า "พวกเรามีตั้งสามคน จะเข้าไปในเทวาลัยมือเปล่าได้กระไร"
ธนวละจึงตัดบทว่า
"เอาเถอะ พี่จะเข้าไปก่อน แล้วเจ้าค่อยตามเข้าไปทีหลังก็แล้วกัน"
กล่าวจบเขาก็เข้าไปในเทวาลัย เพื่อถวายการสักการะ
เมื่อเขาเข้าไปแล้วก็กระทำอัญชลีต่อพระแม่เจ้า และกระทำสมาธิจิตเพ่งเฉพาะพระเทวีผู้มีสิบแปดกร ถืออาวุธครบครันกำลังประหารมหิษาสูรอยู่ พลันดวงจิตก็ท่วมท้นด้วยแรงศรัทธาและภักดี ชายหนุ่มเข้าไปหมอบแทบบัวบาทของนางซึ่งกำลังกระทืบทานพ (อสูรจำพวกหนึ่งในนิทาน) ร้ายอยู่ และราวกับตกอยู่ในหัตถ์แห่งชะตากรรมอันฝ่าฝืนมิได้ เขาก็กล่าวแก่ตัวเองว่า "คนทั้งหลายต่างก็ถวายพลีกรรมต่อพระเทวีด้วยสัตว์มีชีวิตต่าง ๆ ก็เราเองล่ะ เมื่อแสวงหาวิมุกติ(การเข้าถึงความหลุดพ้นในองค์พระผู้เป็นเจ้า) ในองค์พระแม่เจ้าแล้วจะรีรอเพื่ออะไรเล่า ทำไมไม่สังเวยชีวิตของเราเพื่อพระองค์ด้วยใจภักดีแท้จริง"
หลังจากใคร่ครวญดังนี้แล้ว ธนวละก็หันมองไปมาแลเห็นดาบเล่มหนึ่งซุกอยู่ข้างแท่นพระเทวี คงจะเป็นสมบัติของผู้จาริกแสวงบุญสมัยก่อนนำมาถวาย จึงหยิบดาบนั้นมาถือไว้ แล้วผูกผมเข้ากับเชือกระฆัง ยกดาบขึ้นฟันฉับศีรษะหล่นกลิ้งลงบนพื้นทันที
ฝ่ายน้องภรรยาของธนวละคอยอยู่ข้างนอกเป็นเวลานาน ไม่เห็นพี่เขยกลับออกมา จึงเข้าไปตาม แลเห็นนอนกลิ้งศีรษะขาดก็ตกใจ บังเกิดความประหลาดใจเป็นล้นพ้น และในท่ามกลางความอัศจรรย์ใจนั้นเอง ชายหนุ่มก็ตัดศีรษะของตนขาดจากร่างด้วยดาบเล่มที่ใช้ประหารธนวละนั่นเอง
ฝ่ายนางมัทนสุนทรี เห็นคนทั้งสองหายเข้าไปข้างในเทวาลัยช้านานก็ร้อนใจ ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น จึงติดตามเข้าไปข้างใน และเห็นศพของสามีและน้องชายนอนกลิ้งอยู่ไร้ศีรษะ ก็ตกใจแทบชีวิตจะออกจากร่าง ร้องว่า
"ตายแล้ว เกิดอะไรขึ้นนี่ ข้าต้องถึงความฉิบหายแน่ ๆ"
นางค่อยยันกายขึ้น แลดูศพของคนทั้งสอง และร้องไห้คร่ำครวญด้วยความเสียใจ พักหนึ่งจึงตั้งสติได้ รำพึงแก่ตนเองว่า "ชีวิตนี้จะมีประโยชน์อะไรแก่ข้าต่อไปเล่า" คิดดังนี้จึงกล่าวแก่เทวรูปพระทุรคาเทวีว่า
"โอ พระเทวีเจ้า พระผู้ทรงความสำคัญอันอุกฤษฏ์เหนือเทพอื่นใด พระผู้ทรงความบริสุทธิ์และเจ้าแห่งกฎอันศักดิ์สิทธิ์ พระผู้เป็นอรรธภาค (ครึ่งส่วน,ครึ่งหนึ่ง) แห่งพระศิวะผู้เป็นพระสวามี พระผู้เป็นสรณะแห่งสตรีทั้งมวลในสกลโลก พระผู้ขจัดความโศกศัลย์ให้สิ้นไป โอ้ พระเทวี เหตุไฉนพระองค์จึงทรงพรากน้องและสามีของข้าไปเสียเล่า พระองค์ไม่ควรทำแก่ข้าถึงเพียงนี้เลย เพราะข้าเป็นสาวกที่ซื่อสัตย์และภักดีของพระองค์ตลอดมามิเคยเปลี่ยนแปลง ขอได้โปรดฟังคำของข้าสักนิด ข้ากำลังจะละร่างนี้ซึ่งมีแต่ความเศร้าหมองอันไม่อาจจะทานทนต่อไปอีกได้ ข้าขอพระพระแม่เจ้าสักอย่างคือ ไม่ว่าข้าจะเกิดในชาติใดภพใด ขอให้คนทั้งสองนั้นไปเกิดเป็นสามีและน้องของข้าในทุก ๆ ชาติเถิด"
เมื่อกล่าวสดุดีกถาต่อเทวรูปพระเทวีดังนี้แล้ว นางก็ก้มลงกราบอีกครั้งหนึ่ง แล้วเอาเถาวัลย์มาประดิษฐ์เป็นบ่วง ชายข้างหนึ่งผูกไว้กับกิ่งอโศกแล้วยื่นคอสอดเข้าไปในบ่วง ทันใดนั้นก็มีเสียงลอยมาในอากาศว่า "อย่าทำดังนั้นเลย ลูกเอ๋ย แม่พอใจอย่างยิ่งแล้วในความกล้าหาญอันหาที่เปรียบมิได้ของลูก แม้เจ้าจะเป็นเพียงผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งก็ตาม ขอให้บ่วงนี้จงต่อคอของสามีและน้องชายของเจ้าเข้ากับร่าง และด้วยพรของข้า ขอให้คนทั้งสองกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นอีกเถิด"
เมื่อนางมัทนสุนทรีได้ฟังดังนั้น นางก็ปล่อยบ่วงให้ตกลงบนพื้น รีบวิ่งกลับมายังศพของคนทั้งสองด้วยความดีใจ แต่ด้วยความฉุกละหุกตะลีตะลานและไม่ทันสังเกตสิ่งที่นางกำลังกระทำอยู่ ทำให้นางต่อศีรษะสามีเข้ากับร่างน้องชาย และต่อศีรษะน้องชายเข้ากับร่างสามี ทันใดคนทั้งคู่ก็ฟื้นคืนชีพขึ้นมา ไม่มีร่องรอยบาดแผลใด ๆ แต่ศีรษะกับร่างนั้นสับกันเป็นคนละคน
แล้วทั้งสองชายก็เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นแก่ตนให้ฟังซึ่งกันและกัน และต่างก็ปลาบปลื้มยินดีที่ได้เกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง และหลังจากการบูชาพระเทวีแล้ว ทั้งสามคนก็ออกเดินทางต่อไป แต่นางมัทนสุนทรีผู้เดียวมีความรู้สึกว่านางได้ทำผิดเสียแล้วในการสับหัวสับร่างบุคคลทั้งสอง และจนปัญญาไม่รู้ว่าจะทำฉันใดดี
"โอ ราชะ" เวตาลกล่าว "โปรดทรงวินิจฉันด้วยเถิดว่า คนทั้งสองที่คืนชีวิตมานั้น คนไหนเป็นน้อง และคนไหนเป็นสามีของนาง ถ้าทรงรู้แล้วแต่ไม่ยอมพูดก็โปรดทรงทราบเถิดว่า ผลลัพธ์คือคำสาปจะตกอยู่แก่ใคร"
เมื่อพระราชาตริวกรมเสนได้ฟังเรื่องราวโดยตลอด และถูกเวตาลตั้งคำถามอย่างนั้น ก็เผลอพระองค์ตรัสออกไปว่า
"ในสองคนนี้คนใดก็ตามมีศีรษะของชายผู้เป็นสามีติดอยู่ ก็คนนั้นแหละควรเป็นสามีแท้ ๆ ของนาง เพราะหัวเป็นส่วนสำคัญที่สุดของร่างกาย และเป็นสิ่งที่ทำให้คนเราจำได้ว่าใครเป็นใคร การที่จะชี้ว่าใครเป็นใครก็ต้องดูที่หัวของคนคนนั้นแหละ"
เมื่อพระราชาตรัสจบลงเวตาลก็หัวเราะด้วยความชอบใจ ผละจากอังสาของพระราชากลับคืนไปสู่ที่พำนักของตน ทำให้พระราชาต้องเสด็จกลับไปตามตัวมันอีก


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:17:20:15 น.  

 
นิทานเรื่องที่

พระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปยังต้นอโศก เห็นเวตาลอยู่ที่นั่น ก็จับมันเหวี่ยงขึ้นบ่า แล้วเดินทางกลับไปทางเดิม ระหว่างที่เดินทางมาเงียบ ๆ เวตาลก็กล่าวขึ้นว่า "อารยบุตรโปรดฟังหน่อย ข้ามีนิทานเรื่องหนึ่งจะเล่าให้พระองค์ฟัง เผื่อพระองค์จะได้คลายความเหน็ดเหนื่อยลงบ้าง"
มีเมืองเมืองหนึ่งตั้งอยู่บนฝั่งทะเลตะวันออกชื่อ เมืองตามรลิปติ นครแห่งนั้นมีพระราชาปกครองทรงนามว่าพระเจ้าจัณฑสิงห์ ผู้ทรงหันพระพักตร์จากภรรยาของผู้อื่น แต่ไม่เคยหันพระพักตร์หนีจากสนามรบ พระองค์ทรงกวาดต้อนทรัพย์สมบัติของอริราชศัตรู แต่ไม่เคยแตะต้องทรัพย์สินของแว่นแคว้นที่เป็นเพื่อนบ้าน
ครั้งหนึ่งมีเจ้าราชปุฏ(ชนพวกหนึ่งซึ่งอ้างตนเป็นราชบุตร โดยกล่าวว่าตนสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งในสมัยโบราณ) แห่งแคว้นแดกข่าน ชื่อว่าสัตตวศีล เดินทางมาถึงหน้าประตูพระราชวัง และประกาศตนเองให้รู้ว่าเป็นผู้ยากไร้แสนเข็ญ โดยฉีกเสื้อผ้าขี้ริ้วที่สวมใส่อยู่ต่อหน้าพระราชา พระราชาจึงโปรดให้เขาเป็นผู้รับอนุเคราะห์โดยมีฐานะเป็นข้าไทและอยู่รับใช้พระเจ้าแผ่นดินมาหลายปี แต่ก็หาเคยได้บำเหน็จรางวัลแม้แต่ครั้งเดียวไม่ เขาจึงกล่าวแก่ตัวเองด้วยความน้อยใจว่า "ถ้าเราเกิดในตระกูลกษัตริย์จริง ไฉนจึงยากจนถึงเพียงนี้เล่า ดู ๆ ไป ความยากจนนี้ก็ใหญ่หลวงเกินทน แต่เหตุใดท้าวธาดาพรหมจึงสร้างให้เราเป็นคนทะเยอทะยานใหญ่หลวงนัก เพราะถึงแม้เราจะรับใช้พระราชาองค์นี้มาอย่างขยันขันแข็ง และบริวารของเราก็เช่นเดียวกัน ต่างก็เดือดร้อนหิวโหยเหมือนกันกับเรา แต่พระราชาสิจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่เห็นเราอยู่ในสายตาเลย"
ระหว่างที่เขารำพึงรำพันด้วยความน้อยใจนั้น วันหนึ่งพระราชาเสด็จเข้าไปล่าสัตว์ มีทหารม้าและทหารเดินเท้าแวดล้อมเป็นพลนิกายขบวนใหญ่ เข้าไปสู่ป่าใหญ่อันอุดมด้วยสัตว์ป่า มีเสวกผู้ต่ำต้อยวิ่งนำหน้า มือถือไม้ท่อนหนึ่ง หลังจากที่พระราชาไล่ล่าสัตว์อย่างสนุกสนานมาได้พักหนึ่งก็แลเห็นหมูป่าตัวหนึ่งวิ่งออกมาจากพุ่มไม้ตัดไปข้างหน้าก็ทรงควบม้าติดตามไปจนกระทั่งถึงป่าสูงอันรกชัฏและชุ่มชื้นร่มเย็น หมูป่าตัวนั้นก็หายไป พระราชารู้สึกเหนื่อยอ่อนและเมื่อยล้า หลงทางกับข้าราชบริพารไปแต่พระองค์เดียว มีเสวกผู้วิ่งนำหน้าม้าพระที่นั่งเท่านั้นที่อยู่เป็นเพื่อน ต่างคนต่างก็หิวโหยเต็มทีและกระหายน้ำจนคอแห้งผาก พระราชาแลดูเสวกผู้ต่ำต้อยซึ่งอุตส่าห์วิ่งมาอย่างเต็มที่ทั้ง ๆ ที่ม้าพระที่นั่งวิ่งเร็วราวกับลมพัด พระราชาตรัสถามด้วยความเมตตาว่า "เจ้าจำทางที่เรามาได้ไหม"
เสวกได้ฟังก็คุกเข่าลงกับพื้นประสานมืออัญชลีด้วยความนอบน้อมตอบว่า
"ข้าพระบาทจำทางได้ดี แต่พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยเต็มที น่าจะพักอยู่ที่นี่ก่อน เพราะตอนนี้ดวงอาทิตย์ยังแผดแสงแรงกล้านัก อย่าเพิ่งเสด็จไปเลย"
พระราชาได้ยินดังนั้น ก็ตรัสแก่ชายหนุ่มอย่างอ่อนโยนว่า
"เอาเถิด เราจะพักอยู่ที่นี่ก่อน แต่ข้ากระหายน้ำเต็มที ถ้าเจ้ารู้ว่ามีน้ำอยู่ที่ไหนก็หามาให้ข้ากินเถอะ"
"ข้าพระบาทจะไปเดี๋ยวนี้" เสวกทูลรับอาสาทันที จัดแจงปีนขึ้นไปบนต้นไม้สูงต้นหนึ่ง มองไปเบื้องหน้าก็แลเห็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ไม่ไกลก็ปีนกลับลงมากราบทูลให้พระราชาทราบ และนำทางไปจนถึงแม่น้ำนั้น เมื่อไปถึงก็เอาอานม้าลง ปล่อยให้ม้ากินน้ำและนอนเกลือกกลิ้งไปมา จากนั้นก็หาหญ้าอ่อนมาให้มันกินอย่างอิ่มหนำ ทำให้มันสดชื่นขึ้นมาก ส่วนพระราชาก็เสด็จลงอาบน้ำในแม่น้ำนั้น เสวกก็ควักผลอามลกะ(มะขามป้อม) จากกระเป๋าสองสามผลถวายให้ทอดพระเนตร เมื่อพระราชาเห็นผลอามลกะก็ประหลาดพระทัย ถามว่าเขาเอามาจากไหน เสวกก็คุกเข่าลงแบมือที่มีผลอามลกะวางอยู่สองสามผล กราบทูลว่า
"พระเจ้าข้า เมื่อสิบปีมาแล้ว ข้าพระบาทยังชีพติดต่อกันมานานด้วยผลอามลกะเช่นนี้ ข้าพระบาทได้ปรนนิบัติพระราชาองค์หนึ่งด้วยความภักดี แต่พระองค์ก็มิได้พระราชทานอะไรให้เลย ข้าพระบาทต้องดำรงชีพแบบฤษี กินแต่ผลอามลกะเพื่อยังชีพไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น"
พระราชาได้ฟังก็ตรัสว่า "อย่างนี้นี่เล่า เจ้าจึงสมกับชื่อของเจ้าว่า สัตตวศีล" ทรงตื้นตันพระทัยด้วยความสงสาร รำพึงในพระทัยว่า "ช่างน่าอายนักที่พระราชาไม่ได้สอดส่องทุกข์สุขของบ่าวไพร่เช่นนั้น ไม่รู้ว่าใครเดือดร้อนแค่ไหน จะช่วยได้อย่างไร ช่างน่าอายนักที่พวกขุนนางวางน้ำทั้งหลายก็เอาแต่เสพสุขเฉพาะตน แม้จะรู้ว่าคนทุกข์ยากลำเค็ญเป็นใครก็เงียบเฉย หาได้กราบทูลพระเจ้าแผ่นดินให้ทราบไม่" พระราชาคิดดังนั้นแล้วก็เห็นใจเสวกผู้ต่ำต้อยยิ่งนัก อย่างไรก็ดี ด้วยความหิวโหย พระองค์ก็จำต้องหยิบเอาผลอามลกะไปเสวยสองผล หลังจากเสวยเสร็จและดื่มน้ำแล้ว ก็นอนพักผ่อนเอาแรงชั่วระยะหนึ่งพร้อมด้วยเสวกผู้นั้น
ครั้นตื่นขึ้น เสวกก็เอาม้าทรงมาถวาย พระราชาเสด็จขึ้นม้าเดินทางต่อไป มีเสวกวิ่งนำหน้าเพื่อนำทางเสด็จ แม้พระราชาจะเมตตาโปรดให้เขาขึ้นขี่ม้าตัวเดียวกับพระองค์ แต่เขาก็เจียมตนไม่ยอมตามพระประสงค์ ในที่สุดพระราชาก็เสด็จกลับคืนพระนคร และพบกองทหารของพระองค์มารอรับอยู่แล้ว พระราชาโปรดให้ประกาศเกียรติคุณของเสวกผู้ภักดีเป็นเลิศ และประทานทรัพย์ศฤงคารเป็นอันมากแก่เขา พร้อมด้วยที่ดินหมู่บ้านอันเป็นส่วยเลี้ยงชีวิตอย่างอุดมสมบูรณ์ เป็นการตอบแทนบุญคุณที่เขามีต่อพระองค์เป็นอันมาก สัตตวศีลจึงกลายเป็นคนร่ำรวยมั่งคั่งตั้งแต่นั้น และยังคงปรนนิบัติพระราชาอยู่เหมือนเดิม
วันหนึ่งพระราชาจัณฑสิงห์ทรงมอบงานสำคัญให้แก่สัตตวศีลโดยสั่งให้เดินทางไปยังเกาะลังกา เพื่อเจรจาสู่ขอพระราชธิดาของกษัตริย์พระองค์นั้น เสวกหนุ่มออกเดินทางโดยเรือเดินทะเล สัตตวศีลกระทำบวงสรวงแก่ทวยเทพผู้คุ้มครองตน แล้วออกเดินเรือไปกับพราหมณ์คณะหนึ่งซึ่งพระราชาทรงแต่งตั้งให้ร่วมทางไปด้วย เมื่อเรือแล่นไปได้ครึ่งทางก็มีธงผุดขึ้นจากทะเลเป็นที่อัศจรรย์แก่ทุกคนในเรือลำนั้น ธงนี้สูงเด่นจนยอดแตะกลุ่มเมฆ ประดับด้วยทองคำและเครื่องหมายเหมือนธงทั้งหลายที่พลิ้วสะบัดอยู่ในสายลม ในขณะนั้นเองกำแพงเมฆก็ตั้งขึ้นในท้องฟ้า เกิดสายฝนถั่งเทลงมาอย่างหนัก และพายุพัดกระหน่ำรุนแรง จนทำให้เรือถูกบังคับให้แล่นเข้าสู่ธงทองนั้นด้วยอำนาจของลมและฝน และถูกผูกติดกัน มีลักษณาการดังควาญช้างบังคับให้ผูกขาติดกับเสาตะลุงฉะนั้น และทั้งธงทั้งเรือก็ค่อย ๆ จมลงในมหาสาครอันบ้าคลั่ง
บรรดาพราหมณ์ที่อยู่ในเรือต่างก็ตื่นตระหนกตกใจกลัวตาย และตะโกนร้องเรียกให้พระเจ้าจัณฑสิงห์ช่วย เมื่อสัตตวศีลได้ยินเสียงพราหมณ์ร้องก็คิดถึงพระราชาผู้เป็นนาย ด้วยความภักดี จึงถือดาบมือหนึ่ง พันอาภรณ์เข้ากับตนอย่างทะมัดทะแมง กระโจนลงไปในเกลียวคลื่นเพื่อติดตามหาสาเหตุแห่งภัยพิบัติ โดยดำน้ำลงไปตรงที่ธงผุดขึ้นมา และในทันทีที่เขาจมลงไป เรือลำนั้นก็ถูกกระแสน้ำและลมพัดพาไปไกล ทำให้เรือเคว้งคว้างไปมาครู่หนึ่งแล้ว ก็พาเอาทุกคนจมหายไปในทะเลลึก สู่ปากของอสูรทะเลที่กำลังกระเหี้ยนกระหือรือคอยทีอยู่
ส่วนสัตตวศีลเมื่อจมลงไปในท้องทะเล รู้สึกตัวว่าตกลงมาในนครแห่งหนึ่งอันงดงามโอฬาร ไม่แลเห็นทะเลอยู่ที่ใดเลย เมื่อแลดูรอบ ๆ ก็พบกับภาพอันวิจิตรสุดบรรยาย คือปราสาทราชวังที่หลังคาเป็นทองกระทบแสงอาทิตย์เป็นประกายวูบวาบ ตั้งอยู่บนเสาอันเรียงรายเป็นแถวทำด้วยเพชรมณีระยิบระยับไปทั่ว มีอุทยานแห่งหมู่ไม้และดอกไม้บานสะพรั่งใกล้กับทะเลสาบซึ่งมีน้ำใสกระจ่างราวกับแผ่นแก้ว ที่ทะเลสาบมีบันได้แก้วมณีสีต่าง ๆ ทอดลงสู่ผืนน้ำและในทะเลสาบนั้นเองมีเทวาลัยของพระทุรคาเทวีตั้งโดดเด่นเป็นสง่าราวกับภูผาพระสุเมรุ มีกำแพงหินสีงามและธงทิวเพชรพลอยเรียงรายอยู่โดยรอบ สัตตวศีลเข้าไปสู่ตีรถะของพระเทวี กระทำการบูชาด้วยใจศรัทธา กล่าวโศลกเทวีมาหาตมยันถวายบทหนึ่ง และนั่งพักด้วยความรู้สึกงงงวยราวกับตกอยู่ในความฝัน
ในระหว่างนั้น มีเทพอัปสรตนหนึ่งเปิดทวารเทวาลัยเข้ามา แผ่รัศมีสว่างโชติช่วงตรงหน้าเทวรูปพระเทวี นางมีเนตรยาวเรียวราวกับกลีบบัวอินทีวร(บัวสายสีน้ำเงินชนิดหนึ่ง) มีพักตร์เอิบอิ่มเช่นสมบูรณจันทร์ มียิ้มอันงามละมุนดังดอกไม้ มีสรีระอันแบบางละไมราวกับแท่งเทียนที่หล่อหลอมขึ้นมาจากใยรากพลับพลึง จะเปรียบความงามของนางโดยส่วนรวมก็คล้ายกับสระโบกขรณีที่เคลื่อนไหวได้นั่นเอง นางเดินผ่านฝูงนางบริวารเข้าไปสู่พระวิมาน(ส่วนลึกที่สุดในเทวาลัย เป็นที่สถิตของเทวรูป) ที่สถิตของเทวรูปและที่ที่สถิตของหัวใจสัตตวศีลในขณะเดียวกัน เมื่อนางกระทำการบูชาพระเทวีแล้วก็ออกมาจากพระวิมาน แต่หาได้ออกจากหัวใจของชายหนุ่มไม่ นางเข้าไปสู่ที่ว่างภายนอกวิหาร สัตตวศีลก็ติดตามนางไป พออกมาพ้นเทวาลัยชายหนุ่มก็แลเห็นนครอีกแห่งหนึ่งปรากฏตรงหน้า งามโอ่อ่าคล้ายกับอุทยายอันเป็นที่รวมแห่งความบันเทิงทั้งหลาย เมื่อเข้าไปสู่อุทยานสุตตวศีลก็แลเห็นนางนั่งอยู่บนแท่นซึ่งประดับประดาด้วยเพชรพลอย เขาจึงตามเข้าไปและนั่งลงเคียงข้างนาง นัยน์ตาจับจ้องแต่ใบหน้าของนางด้วยความเสน่หาเป็นล้นพ้น ราวกับบุรุษที่ปรากฏในภาพวาดมีลักษณะแน่วนิ่งฉะนั้น เพียงแต่มีแข้งขาอันสั่นเทิ้มและโลมาอันชูชันเพราะความปรารถนานางอย่างแรงกล้า เมื่อนางแลเห็นว่าเขามองนางด้วยความหลงใหลก็ยิ้มและพยักหน้าให้บริวารของนางถอยออกไป นางผู้บริวารทั้งหลายจึงกล่าวแก่ชายหนุ่มว่า
"ท่านมาสู่ที่นี่ในฐานะอาคันตุกะของเรา ฉะนั้นจงมีใจรื่นเริงต่อทุกสิ่งที่นายหญิงของพวกข้าจะเสนอแก่ท่านเถิด จงลุกขึ้นไปอาบน้ำให้สะอาดแล้วมาบริโภคอาหาร"
เมื่อชายหนุ่มได้ฟังดังนั้นก็รู้สึกชื่นมื่นขึ้น ค่อยลุกขึ้นอย่างมีเรี่ยวแรง เดินไปยังสระน้ำที่นางเหล่านั้นชี้ให้ และในขณะที่เขาดำลงไปในสระนั้น ก็โผล่ขึ้นแลดูโดยรอบด้วยความอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง เพราะปรากฏว่าเขาโผล่ขึ้นมากลางสระในสวนขวัญของพระราชาจัณฑสิงห์แห่งนครตามรลิปติ และทันทีที่แลเห็นเขาก็ต้องอุทานออกมาว่า
"อะโห นี่มันเรื่องอะไรกัน เดี๋ยวนี้เราอยู่ในอุทยานหลวง แต่เมื่อตะกี้เราอยู่ในนครอันงามโอฬารนี่ ความรื่นรมย์ที่มีอยู่ที่นั่นหายไป กลายเป็นความโศกเศร้าแสนศัลย์ที่นี่เพราะต้องแยกจากนางมา แต่นี่ก็มิใช่ความฝัน เพราะเราเห็นทุกอย่างในสภาพของคนที่ตื่นแล้วแท้ ๆ บัดนี้ความจริงก็แจ่มแจ้งแล้วว่า เราถูกนางในบาดาลแห่งนั้นหลอกเหมือนอ้ายโง่ตนหนึ่งนั่นเอง"
คิดดังนี้แล้ว สัตตวศีลก็ออกเดินท่องเที่ยวไปในสวนอย่างไร้จุดหมาย มีลักษณเหมือนคนบ้า มีความเสียใจอย่างลึกซึ้งที่ต้องพรากจากนางมาโดยไม่มีทางจะได้พบกันอีก เดินพลางร่ำไห้ด้วยใจรันทดผิดหวัง
บรรดาผู้รักษาอุทยานแลเห็นชายหนุ่มเดินกระเซอะกระเซิงอยู่ในสวนมีร่างกายอันเรี่ยราดด้วยเกสรดอกไม้สีเหลืองเต็มไปทั่วเช่นนั้น ก็รีบพากันไปกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาจัณฑสิงห์ได้ฟังก็งุนงงในพระทัยยิ่งนัก เสด็จมาด้วยพระองค์เอง แลเห็นเสวกของพระองค์ตกอยู่ในสภาพที่น่าสงสารเช่นนั้นก็ทรงปลอบด้วยความปรานี ตรัสแก่เขาว่า
"เพื่อนรักของข้า นี่มันเรื่องอะไรกันเล่า ช่วยเล่าให้ข้าฟังทีสิ ข้าใช้ให้เจ้าเดินทางไปทำธุระในที่หนึ่ง แต่เจ้ากลับไปอีกที่หนึ่ง ลูกศรของเจ้าพลาดที่หมายเสียแล้วหรือ"
เมื่อสัตตวศีลได้ฟังรับสั่งเช่นนั้น ก็กราบทูลเรื่องราวที่เป็นมาทั้งหมดให้พระราชาฟัง พระราชาได้ฟังก็ฉงนพระทัยยิ่งนัก รำพึงแก่ตนเองว่า
"ช่างประหลาดอะไรอย่างนี้ ชายคนนี้เป็นวีรบุรุษอย่างไม่ต้องสงสัย เขาถูกความรักหลอกเล่นจนหัวปั่น แต่จะว่าไปข้ากลับยินดีด้วยซ้ำเพราะข้าได้โอกาสที่จะปลดเปลื้องหนี้แห่งบุญคุณที่เขามีต่อข้าเสียที"
ดังนั้นพระราชวีระจึงกล่าวแก่เขาว่า "เจ้าจงหยุดเศร้าโศกเสียทีเถิด ข้าจะพาเจ้ากลับไปทางเดิมเพื่อไปสู่นางอสุรีที่เจ้ารักด้วยตัวของข้าเอง" เมื่อปลอบโยนดังนี้แล้วก็รับสั่งให้เขาไปอาบน้ำและกินอาหาร เป็นการพักผ่อนเอาแรงไว้
วันรุ่งขึ้น พระราชาทรงมอบราชอาณาจักรแก่เหล่าเสนาบดีให้ช่วยดูแล แล้วเสด็จลงเรือแล่นใบไปในทะเลพร้อมด้วยสัตตวศีลซึ่งเป็นผู้นำทาง ทันทีที่เรือมาถึงครึ่งทาง สัตตวศีลก็แลเห็นคันธงมหัศจรรย์ผุดขึ้นจากน้ำทะเลพร้อมด้วยผืนธงอันสง่างามเหมือนที่เคยเห็นเมื่อครั้งก่อน จึงกราบทูลพระราชาว่า
"นั่นไงล่ะพระเจ้าข้า เสาธวัชอันยิ่งใหญ่ เครื่องหมายแห่งสมบัติอันหาค่ามิได้ผงาดโดเด่นอยู่ในทะเลอย่างสง่างาม ข้าพระบาทจะกระโดลงตรงนั้น ต่อจากนั้นพระองค์โปรดกระโดดตามข้าพระบาท ดำดิ่งลงไปตามเสาธงนี่แหละ"
ขณะที่สัตตวศีลกราบทูลอยู่นั้นเรือก็แล่นเข้าไปใกล้เสาธงทอง เป็นเวลาเดียวกับที่เสาธงกำลังเริ่มจะจมลง สัตตวศีลรีบกระโดดลงไปเป็นคนแรก พระราชาเป็นคนที่สองที่กระโดดตามลงไป ในไม่ช้าก็ปรากฏว่าทั้งสองคนลงมาถึงนครอันโอฬารพร้อมกัน พระราชาทรงตื่นพระทัยเป็นล้นพ้นต่อภาพที่ปรากฏเฉพาะหน้า หลังจากเสด็จเข้าไปบูชาเทวรูปพระแม่เจ้าปารวตีแล้ว ก็เสด็จกลับมานั่งข้างสัตตวศีล
ระหว่างนั้นเองในท่ามกลางแสงทองระยิบระยับ นางโฉมงามก็ปรากฏร่างแวดล้อมด้วยบริวารจำนวนมาก สัตตวศีลแลเห็นก็รีบกราบทูลละล่ำละลักว่า นั่นแหละคือนางยอดดวงใจของตน พระราชาทอดพระเนตรแล้วรู้สึกว่า ถึงนางจะงามเพียงไร แต่หาได้ผูกมัดพระองค์ให้คลั่งไคล้ได้ไม่ ดวงหทัยของพระองค์มีแต่ความว่างเปล่า หาได้มีเยื่อใยจต่อนางแม้แต่น้อย นางโฉมงามแลเห็นพระราชาผู้สง่างาม ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษอันเด่นชัดเช่นนั้นก็ประหลาดใจรำพึงแก่ตนเองว่า
"ใครหนอช่างงามสง่าถึงเพียงนี้"
แล้วนางก็กลับเข้าไปในเทวาลัย กระทำนมัสการเทวรูปพระเทวี และอธิษฐาน ฝ่ายพระราชามีความรู้สึกดูหมิ่นต่อนาง ไม่ต้องการจะเห็นนางอีก จึงพาสัตตวศีลเดินเข้าไปพักผ่อนในสวน ในเวลาไม่นานนักนางแทตย์(จากศัพท์ไทตย หมายถึงอสูรพวกหนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรของพระกัศปเทพบิดรกับชายาองค์หนึ่งคือนางทิติ) โฉมงามกลับออกมาจากพระวิมาน หลังจากที่ได้อธิษฐานขอสามีที่ดีต่อพระเทวีแล้ว นางเรียกบริวารคนหนึ่งเข้ามาและกล่าวว่า "เพื่อนเอ๋ย ไปหาดูสิว่า ชายผู้งามสง่าเป็นมหาบุรุษที่ข้าเห็นเมื่อตะกี้เป็นใคร แล้วเชิญให้เขาเข้ามาเพื่อเราจะได้ต้อนรับเขาให้สมเกียรติ เราจะต้องต้อนรับเขาให้ดีเพราะเขาเป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ สมควรจะได้รับการต้อนรับเป็นพิเศษ"
เมื่อนางบริวารได้รับคำสั่งเช่นนั้นก็รีบติดตามจนพบพระราชาอยู่ในสวนกำลังก้มลงกระทำอัญชลีอย่างนอบน้อม และนำสารของผู้เป็นายมากราบทูลให้ทรงทราบ พระราชาผู้วีระกลับตรัสอย่างไม่แยแสด้วยเสียงอันเหยียดหยามว่า "สวนนี้ก็ให้ความรื่นรมย์แก่ข้าเพียงพอแล้ว ข้าจะปรารถนาความบันเทิงอะไรนอกเหนือไปจากนี้เล่า"
เมื่อนางบริวารนำความกลับมาแจ้งแก่นางอสูรผู้เป็นนาย นางก็คิดในใจว่าพระราชาองค์นี้ไม่ไยดีต่อเรา เพราะถือว่าพระองค์มีเกียรติยศสูงส่งยิ่งกว่าเรา ถ้ากระไรเราควรถวายการต้อนรับอย่างวิเศษสุดแก่พระองค์ดีกว่า ดังนั้นนางแทตย์จึงออกมาหาพระราชาด้วยตนเองที่อุทยาน และคิดว่าพระราชาองค์นี้ถูกส่งมาให้เป็นสวามีของนางด้วยผลบุญที่นางได้บูชาพระทุรคาเทวีนั่นเอง ขณะเมื่อนางยาตรกายเข้ามานั้น บรรดารุกขชาติต่างก็ให้เกียรติแก่นางโดยค้อมกิ่งลงต่ำ หมู่มวลปักษินชาติก็ร้องเพลงอย่างไพเราะ และลดาวัลย์ก็กวัดไกวไปมาตามสายลมอ่อนรำเพย ปรายโปรยเกสรกุสุมรสลงสู่ร่างของนางมิขาดสาย เมื่อนางดำเนินเข้ามาใกล้วีรกษัตริย์ ก็ก้มลงถวายความเคารพอย่างนอบน้อม เชิญชวนให้พระองค์ทรงรับไมตรีของนาง
พระราชาได้ฟังก็ทรงชี้ไปที่สุตตวศีล และตรัสแก่นางว่า
"ข้าเดินทางมาที่นี่ก็เพื่อถวายการบูชาแด่องค์พระทุรคาตามที่ชายคนนี้เชิญชวน ข้าก็ได้บูชาพระเทวีแล้วด้วยธวัชอันงาม หลังจากนี้แล้วก็หมดภาระของข้า เจ้ายังมีอะไรจะมาเสนอข้าอีก"
เมื่อนางได้ฟังดังนั้นก็กล่าวว่า "ถ้ากระนั้นก็ทรงมาเถิด ข้าจะพาพระองค์ไปยังนครแห่งที่สองของข้า ซึ่งนับได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดในสามโลกนี้"
เมื่อได้ฟังนางกล่าวจบ พระราชาก็สรวลเสียงกึกก้อง ตรัสว่า
"โอ๊ะโอ๋ เรื่องนั้นน่ะหรือ ชายคนนี้ได้เล่าให้ข้าฟังหมดแล้ว ถึงเรื่องวังอันมหัศจรรย์พร้อมด้วยทะเลสาบที่น่าลงไปอาบของเจ้านั่นแหละ"
นางโฉมงามได้ฟังก็กล่าวว่า "อารยบุตร ขออย่าตรัสอย่างนั้น ข้ามิได้มีเจตนาจะหลอกลวงพระองค์เลย ใครเล่าจะกล้าหลอกลวงบุคคลที่น่านับถืออย่างพระองค์ได้ ข้าเป็นดั่งทาสของท่านทั้งสองอยู่แล้ว จะเกรงอะไรอีก ขอเชิญเสด็จมากับข้าเถิด"
พระราชาได้ฟังก็ทรงตกลง พาสัตตวศีลไปด้วยพระองค์ เสด็จตามนางงามเข้าไปสู่วังชั้นในของนาง เมื่อเปิดประตูเข้าไปสู่วังอันงาม ก็ทอดพระเนตรเห็นสวนขวัญอันงดงามสุดพรรณนา ดารดาษไปด้วยพฤกษชาติซึ่งมีดอกบานตระการตาทุกหนทุกแห่ง นครภายในแห่งนี้มลังเมลืองไปด้วยแสงทองแสงแก้วระยิบระยับไปหมด ราวกับยอดภูผาพระสุเมรุอันเป็นที่ตั้งแห่งเมืองฟ้า นางแทตย์เชิญชวนให้พระราชาประทับบนบรรยงก์รัตนาสน์ที่รจิตไว้อย่างสุดบรรเจิด และถวายการต้อนรับด้วยอรรฆยะ (การต้อนรับผู้เป็นแขกด้วยการมอบเมล็ดข้าว หญ้าทูรวะ ดอกไม้ และน้ำ ให้แก่แขกผู้มาเยือน) และทูลพระราชาว่า
"โอ นโรดม ข้านี้เป็นธิดาของอสุรกาลเนมี(นามอสูรหรือรากษสตนหนึ่ง เป็นลูกของอสูรวิโรจนะ ผู้เป็นหลานของพญายักษ์ หิรัณยกศิปุ ถูกพระนารายณ์ฆ่าด้วยจักรสุทรรศน์) ผู้ทรงกิตติคุณอันประเสริฐแห่งเหล่าอสูรทั้งหลาย แต่พ่อของข้าละโลกไปสู่สวรรค์แล้ว โดยอาญาของพระวิษณุ(หรือพระนารายณ์ เป็นเทพสูงสุดองค์หนึ่งในจำนวนสามองค์ ซึ่งประกอบด้วยเทพอีกสองค์คือ พระศิวะ(อิศวร) และพระพรหม) ผู้เป็นพระจักรี(ผู้ทรงจักร (ชื่อสุทรรศน์)เป็นอาวุธ หมายถึงพระวิษณุ หรือพระนารายณ์) และนครแฝดที่ทรงแลเห็นนี้ ข้าได้รับมรดกมาจากบิดาของข้า เป็นนครอันเลิศที่รังสรรค์ด้วยฝีมือของพระวิศวกรรมัน(หรือวิศวกรรม)(เทพผู้เป็นนายช่างใหญ่แห่งสวรรค์) ผู้ใดอยู่ในปุระนี้จะปรารถนาอะไรก็จะได้ดังใจ เป็นที่ซึ่งความชราและความตายมิอาจมาเยี่ยมกรายเลย มาบัดนี้ข้ามีความนับถือพระองค์ดุจดังพ่อของข้า ตัวข้าและพระนครทั้งสองนี้เป็นของใต้ฝ่าพระบาทแล้ว"
กล่าวแล้วนางก็คุกเข่าลงกราบแทบบัวบาทของพระราชาแสดงการถวายตัว พระราชาจึงตรัสแก่นางว่า "ถ้าเป็นดั่งที่เจ้าพูด ข้าก็ขอมอบเจ้าไว้แก่เพื่อนข้าคือ สัตตวศีลผู้นี้ ผู้ซึ่งข้ารักเหมือนญาติสนิท"
เมื่อพระราชาผู้ทรงสิริดังพระทุรคาเทวีในร่างมนุษย์ตรัสถ้อยคำนี้ นางก็เข้าใจและยอมรับฟังโดยดี ด้วยประการฉะนี้ สัตตวศีลก็ได้บรรลุจุดสุดยอดแห่งความปรารถนาคือ ได้นางผู้เป็นยอดดวงใจ และได้เป็นราชันครองนครทั้งสองด้วยในขณะเดียวกัน พระราชาจึงตรัสแก่เขาว่า
"แน่ะ เจ้าเพื่อนยาก บัดนี้ข้าก็ได้ให้สิ่งที่เจ้าปรารถนาแล้วเป็นเครื่องตอบแทนผลอามลกะที่เจ้าเคยให้ข้ากินผลหนึ่งในสมัยก่อน แต่ข้าก็ยังเป็นหนี้เจ้าอยู่ ข้ายังไม่ได้ให้รางวัลแก่เจ้าเป็นอย่างที่สอง"
เมื่อพระราชาจัณฑสิงห์กล่าวแก่สัตตวศีลผู้ยืนก้มศีรษะอยู่ดังนั้นแล้ว ก็หันมาตรัสแก่นางแทตยาสุรีว่า
"ทีนี้เจ้าจงแสดงหนทางที่จะนำข้ากลับพระนครเถิด"
นางอสูรได้ฟังดังนั้นก็ถวายกระบี่เล่มหนึ่งแก่พระราชาพร้อมทั้งแนะนำว่า "กระบี่วิเศษนี้ชื่อปราบสกลทิศ ไม่มีใครเอาชนะได้ พระองค์จงเอาติดตัวไปพร้อมด้วยผลไม้นี้ซึ่งมีคุณอันเลิศ ซึ่งเมื่อพระองค์ได้เสวยแล้วจะสามารถเอาชนะความแก่และความตายได้"
พระราชาทรงทราบวิถีที่นางกล่าวเป็นนัยดังนั้นแล้ว ก็กระโจนลงสู่บึงใหญ่ตามที่นางชี้ให้ และสิ่งที่เกิดตามมาก็คือ พระองค์ได้ผุดขึ้นในนครของพระองค์เองราวปาฏิหาริย์ ส่วนสัตตวศีลมิได้ติดตามไป เพราะได้เป็นราชาครองสองพระนคร ณ บาดาล พร้อมด้วยนางอสุรีโฉมงาม มีความสุขอยู่ในแดนทิพย์แห่งนั้นชั่วกาลนาน
"ข้าแต่เทวบุตร" เวตาลกล่าวหลังจากนิทานจบลงแล้วว่า "ข้ายังสงสัยอยู่ว่าใครกันแน่ระหว่างบุรุษทั้งสองนั้นที่กล้าหาญที่สุดในการโจนลงทะเล"
เมื่อเวตาลตั้งปุจฉาดังนี้ พระราชาตริวกรมเสนผู้ทรงเกรงคำสาปของเวตาลก็กล่าวว่า
"ถ้าจะให้ข้าตอบ ข้าก็ต้องบอกว่า สัตตวศีลนั่นแลคือคนที่กล้าหาญที่สุด เพราะเขากระโจนลงสู่สมุทร ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เขาไม่รู้ถึงเหตุการณ์ และมิได้มีความหวังใด ๆ เลย ส่วนพระราชานั้นทรงทราบดีอยู่แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อดำลงไปใต้น้ำเพื่อหาอะไรที่นั่น และพระองค์ก็มิได้ตกหลุมรักนางแทตยาสุรี เพราะพระองค์หาได้มีความปรารถนานางแต่ประการใดไม่"
ฝ่ายเวตาลเมื่อได้ยินพระราชาตรัสดังนั้นเป็นการละเมิดกติกา ก็หายแวบไปจากอังสาของพระราชา กลับไปสู่ต้นอโศกตามเดิม พระราชาก็เสด็จกลับไปยังที่นั้นอีกครั้งหนึ่งเพื่อจะเอาตัวมันมาให้ได้ ทั้งนี้เพราะบุรุษผู้มีความรับผิดชอบต่องานที่ตนทำ ย่อมไม่ละทิ้งไปก่อนที่งานของตนจะสำเร็จลงตามสัญญา


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:17:22:10 น.  

 
นิทานเรื่องที่

ครั้นพระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปจับเวตาลที่ต้นอโศกมาแล้วก็พาดมันไว้บนบ่า เดินกลับไปทางเดิมเพื่อจะไปพบโยคีศานติศีลที่ป่าช้า แต่ขณะที่เดินมาในความเงียบนั้นเอง เวตาลก็กล่าวขึ้นว่า "แน่ะ ราชะหนทางยังอีกไกล เพื่อจะให้พระองค์ลืมภาระอันหนักนี้ โปรดเตรียมสดับปัญหาของข้าเถิด"
แต่โบราณกาล ยังมีท้องถิ่นหนึ่งเป็นสมบัติของตระกูลพราหมณ์ในแคว้นอังคะ เรียกว่า หมู่บ้านพฤกษฆัฏ ในหมู่บ้านดังกล่าวนี้มีพราหมณ์ที่ร่ำรวยคนหนึ่งมีชื่อว่าวิษณุสวามิน พราหมณ์ผู้นี้มีภรรยาซึ่งอยู่ในตระกูลทัดเทียมกับตนด้วยชาติกำเนิด นางพราหมณีได้ให้กำเนิดบุตรชายสามคนซึ่งมีความเป็นผู้ดีหัวสูงเช่นเดียวกัน ในกาลต่อมาเมื่อเด็กทั้งสามเติบโตเป็นหนุ่มก็เป็นที่ภาคภูมิใจของบิดามารดามาก
วันหนึ่งเมื่อพราหมณ์กำลังจะกระทำยัชญพิธี(พิธีบวงสรวง) ก็เรียกบุตรชายทั้งสามเข้ามาและสั่งให้ทั้งสามคนออกไปเที่ยวหาเต่าทะเลที่ชายหาด เมื่อไปถึงฝั่งทะเลมินานก็พบเต่าตัวหนึ่ง พราหมณ์ผู้พี่ใหญ่ก็กล่าวแก่น้องชายทั้งสองว่า
"พวกเจ้าคนหนึ่งคนใดในสองคนจงแบกเต่าเอาไปให้ท่านพ่อทำยัชญพิธีเถิด ข้าคงจะแบกมันไปไม่ได้เพราะมันลื่นด้วยตะไคร่น้ำ"
เมื่อพี่ชายใหญ่กล่าวดังนี้ น้องทั้งสองก็กล่าวว่า "ถ้าพี่ลังเลใจ ไม่กล้าแบกมันไป ทำไมพวกข้าจะต้องแบกไปเล่า"
พี่ชายใหญ่ได้ฟังก็กล่าวว่า
"เจ้าทั้งสองจะต้องเอาเต่านี้ไป ถ้าเจ้าไม่ทำ เจ้าก็จะได้ชื่อว่า ขัดยัชญพิธีของพ่อ ทำให้ไม่สำเร็จ ทั้งเจ้าและท่านพ่อก็จะตกนรกด้วยกันทั้งคู่แน่ ๆ"
เมื่อเขาบอกแก่น้องทั้งสองดังนี้ คนทั้งสองกลับหัวเราะเยาะและกล่าวว่า "ถ้าพี่รู้หน้าที่ของพวกเราดังนี้แล้ว ทำไมไม่รู้ตัวเองว่าพี่ก็ต้องทำหน้าที่เช่นเดียวกัน"
พี่ชายใหญ่จึงกล่าวว่า "ข้าเป็นผู้ดีในการกิน และข้าไม่คิดว่าจะแตะต้องเจ้าเต่าตัวนี้ มันน่าขยะแขยงสิ้นดี"
น้องคนกลางได้ฟังจึงพูดว่า "ถ้าเช่นนั้นข้าก็เป็นผู้ดีที่สุด เพราะข้าเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดในเรื่องของเพศอันละเอียดอ่อน"
เมื่อได้ฟังดังนี้พี่ชายใหญ่ก็กล่าวว่า "ถ้ากระนั้นก็ให้เจ้าน้องเล็กนี่แหละนำเต่านี้ไป"
น้องคนสุดท้องได้ยินก็ขมวดคิ้วด้วยความไม่พอใจ กล่าวแก่พี่ชายทั้งสองว่า "เจ้าคนโง่ ข้าเป็นผู้ดีเรื่องเตียงนอน เพราะฉะนั้นข้านี่แหละเป็นผู้ดีมากที่สุด"
ทั้งสามพี่น้องต่างก็ทะเลากันเพราะความหยิ่งลำพองในตัวเอง ดังนั้น คนทั้งสามจึงละจากเต่าทะเล เดินทางเข้าไปในเมืองวิฏังกปุระ ซึ่งมีพระเจ้าแผ่นดินชื่อ พระเจ้าประเสนชิตปกครองอยู่ เพื่อจะให้ตัดสินกรณีพิพาทของตน
เมื่อสมุหราชมนเทียรขานชื่อเรียบร้อยแล้ว พี่น้องทั้งสามก็เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน และบรรยายเรื่องราวให้ทรงทราบอย่างละเอียด พระราชาฟังเรื่องราวแล้วก็ตรัสว่า "คอยอยู่ที่นี่แหละ ข้าจะให้เจ้าได้พิสูจน์ตัวเองเสียก่อน" ชายทั้งสามก็ตกลงและนั่งรออยู่ ณ ที่นั้น
ขณะนั้นเป็นเวลาที่พระราชาจะเสวยภัตตาหารมื้อกลางวัน จึงเรียกให้ชายทั้งสามเข้ามาร่วมโต๊ะเสวยซึ่งมีอาหารอันโอชะปรุงแล้วอย่างดีที่สุด ส่งกลิ่นหอมฟุ้งยั่วยวนจมูก ประกอบด้วยรสต่าง ๆ ถึง ห้ารส พราหมณ์ผู้เป็นพี่ใหญ่แลเห็นแล้วก็ไม่ยอมกิน กลับเชิดหน้าอย่างหยิ่งจองหองและขยะแขยง พระราชาจึงตรัสถามว่า "อาหารบนโต๊ะเสวยนี้ล้วนแต่ของดีวิเศษทั้งสิ้น เหตุใดเจ้าจึงไม่ยอมกิน" พราหมณ์ได้ฟังก็ทูลตอบว่า
"ข้าพระบาทสังเกตเห็นว่า อาหารนี้มีกลิ่นตุ ๆ ราวกับกลิ่นซากศพ ดังนั้นข้าพระบาทจึงไม่อาจเข้าไปเฉียดใกล้อาหารพวกนี้ ไม่ว่ามันจะอร่อยสักแค่ไหนก็ตาม"
พระราชาจึงตรัสถามผู้ที่นั่งล้อมรอบโต๊ะนั้นว่ารู้สึกอย่างไร คนเหล่านั้นได้ฟังรับสั่งก็ทูลว่า "กระยาหารนี้คือข้าวขาวหอมโดยธรรมชาติ ไม่มีตำหนิอะไรเลย" แต่พราหมณ์ผู้หยิ่งในความเป็นผู้ดีอย่างยิ่งยวดในการกินก็ยังไม่ยอมแตะต้อง นั่งทำจมูกย่นอยู่ พระราชาทรงดำริว่าเรื่องนี้สมควรจะสืบสวนให้รู้เท็จจริง มนตรีจึงทูลว่า ข้าวเสวยนี้เป็นข้าวที่ปลูกในสาลีเกษตรซึ่งอยู่ใกล้กับฆาฏ(ที่เผาศพโดยมากอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น แม่น้ำคงคา เป็นต้น) อันเป็นที่เผาศพของคนในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พระราชาได้ฟังก็ประหลาดพระทัยมาก ทรงพอพระทัยอย่างยิ่ง ตรัสแก่พราหมณ์ว่า "ตัวท่านนี้มีความรู้ในโภชนศาสตร์ยิ่งนัก ท่านเป็นคนเก่ง หาได้ยาก จงเลือกกินอาหารอย่างอื่นตามใจชอบเถิด"
หลังจากการกินเลี้ยงสิ้นสุดลง พระราชาก็ปล่อยให้พราหมณ์กลับไปยังที่พักของตน และส่งหญิงงามที่สุดคนหนึ่ง งามเพริศพริ้งทั้งสรรพางค์หาที่เปรียบมิได้ ตกแต่งร่างกายด้วยปิลันธาภรณ์อันแพรวพราวด้วยมณีจินดาค่าควรเมือง ส่งไปประทานแก่พราหมณ์คนรองผู้เป็นเอตทัคคะในกามศาสตร์ นางผู้เปรียบดังผู้จุดไฟของกามเทพ และเป็นผู้ที่มีพักตร์อันงามดังดวงศศีในยามเที่ยงคืน มาสู่ห้องของพราหมณ์โดยมีสาวสรรกำนัลนางแวดล้อมเป็นบริวาร
เมื่อนางผู้งามบรรเจิดมาถึงห้องพักของพราหมณ์หนุ่มผู้เลิศในโลกิยวิสัย พราหมณ์แลเห็นก็แสดงอาการเหมือนจะเป็นลม เอามือซ้ายปิดจมูกไว้และตะโกนบอกแก่เสวกผู้ติดตามนางมาว่า
"เอานางคนนี้ออกไปให้พ้น ขืนชักช้าอยู่ข้าต้องตายแน่ คนอะไรมีกลิ่นตัวเหม็นราวกับแพะ"
ราชเสวกได้ฟังก็ตกใจ มีความประหลาดใจเป็นล้นพ้น รีบพานางโฉมงามกลับไปเฝ้าพระราชา กราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ พระราชาจึงส่งคนนำคำสั่งไปแจ้งให้บุรุษที่คลื่นไส้นั้นมาเฝ้า ตรัสว่า "เจ้าจงบอกข้ามาซิว่า หญิงงามที่ข้าส่งไปให้เจ้ามีกลิ่นกายเหม็นได้อย่างไร นางเป็นคนสะอาด หมั่นชำระล้างร่างกายเสมอ และประทิ่นกายด้วยของหอม เช่น ผลจันทน์แดง ผงการบูร ผงยาดำ(กฤษณา) และเครื่องหอมนานาชนิด ซึ่งนางสรรหามาจากทั่วโลก อย่างนี้ยังจะมีกลิ่นเหม็นเหมือนแพะอีกหรือ"
ถึงแม้พระราชาจะอ้างเหตุผลอย่างไร ๆ ชายผู้คลื่นไส้ก็ไม่ยอมเชื่อ พระราชาทรงคำนึงว่าเรื่องนี้น่าจะมีความเร้นลับแอบแฝงอยู่ จึงซักถามนางงามด้วยวิธีต่าง ๆ ในที่สุดนางก็ยอมรับว่า เมื่อยังเยาว์วัยนางพรากจากครอบครัวไปอยู่ที่อื่น และนางถูกเลี้ยงมาด้วยนมแพะ
เมื่อพระราชาได้ประจักษ์ความจริงดังนี้ ทรงพิศวงในความรู้แจ้งอันเร้นลับของพราหมณ์หนุ่มเป็นอันมาก จากนี้ทรงสืบสวนถึงความมหัศจรรย์ของพราหมณ์ผู้เป็นน้องสุดท้องว่า เขามีความรู้สึกซึ้งเกี่ยวกับเตียงนอนอย่างไร พระราชาโปรดให้นำเตียงนอนพิเศษสุดตัวหนึ่งมาปูลาดด้วยเสื่อเจ็ดชั้นสลับกับฟูก มีผ้าปูที่นอนอันนิ่มละมุนละไม ปูทับด้านบน เมื่อตกแต่งเรียบร้อยแล้ว ก็นำไปให้พราหมณ์หนุ่มนอนในห้องไสยาอันโอ่อ่า
เมื่อเวลาผ่านไปครึ่งยาม พราหมณ์หนุ่มก็ผุดลุกขึ้นนั่งเอามือทั้งสองบีบที่สีข้าง และเปล่งเสียงร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด บริพารของพระราชาซึ่งเฝ้าดูอยู่ในที่นั้น แลเห็นเหตุการณ์ก็เข้าไปประคองจึงแลเห็นเครื่องหมายคด ๆ งอ ๆ เป็นผื่นแดงที่สีข้างของชายหนุ่มราวกับเป็นเส้นขนที่ฝังแน่นลงไปในเนื้อ เมื่อคนเหล่านั้นกลับไปทูลพระราชา พระราชก็ตรัสแก่คนเหล่านั้นว่า "พวกเจ้าไปดูสิว่ามีอะไรอยู่ในเสื่อหรือไม่" คนเหล่านั้นจึงช่วยกันดูอย่างพินิจพิเคราะห์ตั้งแต่เสื่อผืนล่างที่สุดของเตียง ไล่ขึ้นมาทีละชั้นจนครบเจ็ดชั้น ในที่สุดก็พบขนเส้นหนึ่งอยู่กลางฟูชั้นล่างที่สุดจึงหยิบเอามาแสดงแก่พระราชา และนำตัวพราหมณ์ผู้รู้ความลับเกี่ยวกับเตียงนอนมาเฝ้าด้วย และเมื่อพระราชาทอดพระเนตรเห็นอาการเจ็บปวดของพราหมณ์ อันเกิดจากขนเส้นหนึ่งจากเสื่อชั้นล่างสุดเข้าไปฝังตัวใต้ผิวหนังของเขาก็ยิ่งทรงฉงนสนเท่ห์พระทัยนัก ทรงใช้เวลาทั้งคืนเฝ้าขบคิดเรื่องปริศนาจนรุ่งสว่างก็ไม่อาจจะค้นคว้าหาคำตอบได้
เช้าวันรุ่งขึ้น พระราชาเสด็จออกท้องพระโรง ประทานรางวัลให้แก่พราหมณ์ทั้งสามคนนั้น คือเหรียญทองสามแสนเหรียญให้ไปแบ่งกัน เพราะบุรุษทั้งสามนั้นเป็นอัจฉริยบุคคลซึ่งหาได้ยากยิ่ง และบุรุษทั้งสามนั้นก็ได้อยู่ในวังของพระเจ้าแผ่นดิน มีความสุขสบายตามอัตภาพวิสัย แต่คนทั้งสามจะคิดสักนิดหนึ่งก็หาไม่ว่าเขาได้ทำบาปต่อพ่อของเขาโดยทำให้ส่วนหนึ่งในยัชญพิธีต้องขาดไป เพราะเขามิได้เอาเต่าไปให้พ่อทำพิธีนั่นเอง ส่วนเต่าทะเลซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาได้มีชีวิตอันผาสุกนั้น เขาลืมมันสิ้น
เมื่อเวตาลเล่านิทานจบลง ก็ทูลถามพระเจ้าตริวิกรมเสนว่า "โอ ราชัน ข้ามีคำถามอันชวนให้สงสัยไม่หายและไม่อาจจะหาคำตอบได้ ฉะนั้นโปรดทรงชี้แนะด้วยเถิดว่า ในจำนวนบุรุษอัจฉริยะสามคนนั้นใครเป็นคนเก่งที่่สุด และใครเก่งเป็นรองตามอันดับลงมา"
พระราชาได้ฟัง ลืมคิดถึงคำสัญญาที่ตกลงไว้แก่เวตาล ตรัสด้วยความรู้สึกส่วนตัวว่า
"น้องสุดท้อง คนที่ต้องเจ็บปวดเพราะเส้นผมนั่นต่างหากที่ควรนับว่าเก่งที่สุด เพราะเป็นพยานที่สำคัญที่สุด ส่วนพี่ชายอีกสองคนนั่นอาจจะได้ระแคะระคายมาจากคนอื่นแล้วก็ได้ ข้าจึงว่าไม่สู้จะอัศจรรย์อะไรนัก"
"อย่างนั้นหรือพระเจ้าข้า" เวตาลยิ้มอย่างเจ้าเล่ห์ "ถ้ากระนั้นก็โปรดเสด็จกลับมารับข้าอีกก็แล้วกัน" กล่าวจบเวตาลก็อันตรธานไปจากบ่าของพระราชา หายแวบกลับไปที่ต้นอโศกตามเดิม


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:17:24:17 น.  

 
นิทานเรื่องที่

เมื่อเวตาลหนีไปแล้วพระเจ้าตริวิกรรมเสนก็ต้องเสด็จกลับไปยังต้นอโศกที่ร่างเวตาลแขวนอยู่ ทรงดึงมันลงมาพาดไว้ที่บ่า เสด็จกลับไปตามทางเดินมุ่งหน้าไปยังสุสานผีดิบที่โยคีเฒ่าคอยอยู่ ขณะที่ดำเนินไปเงียบ ๆ เวตาลก็เอ่ยขึ้นว่า "จะรีบเสด็จไปไย ที่หมายยังอยู่อีกไกล ฟังนิทานกันดีกว่า ข้าจะเล่าถวายเอง โปรดทรงสดับเถิด"
ในแคว้นอวันตี ยังมีพระนครแห่งหนึ่งซึ่งทวยเทพได้ลงมาสร้างไว้ตั้งแต่สมัยต้นอายุของโลก มีความไพศาลสุดประมาณดังประกายรัศมีของพระศิวะผู้เป็นเจ้า เมืองนี้เป็นที่รื่นรมย์ และมีความเจริญยิ่งนัก เฉกเช่นพระกายของพระมหาเทพ(นามหนึ่งของพระศิวะ) ที่ประดับด้วยสังวาลงูที่แผ่พังพาน และมีอังคารเป็นเครื่องลูบไล้(มีร่างกายชโลมด้วยเถ้ากระดูก เป็นลักษณะของพระศิวะในตอนที่ลงมาใช้ป่าช้าเป็นที่พำนัก) เมืองนี้มีชื่อว่าปัทมาวดีในกฤตยุค(ยุคที่ ๑ ของโลก เป็นสมัยที่คนมีศีลธรรมเต็มร้อย) ชื่อโภควดีในสมัยเตรตายุค(หรือไตรดายุค เป็นยุคที่ ๒ ของโลก เมื่อศีลธรรมของคนลดลงไป ๑ ส่วนใน ๔ ส่วน) ชื่อหิรัณยวดีในสมัยทวาปรยุค(ยุคที่ ๓ ของโลก เมื่อศีลธรรมของคนลดลงไป ๒ ใน ๔) และในยุคปัจจุบันคือกลียุค(ยุคสุดท้ายของโลก ศีลธรรมของคนลดลงไป ๓ ส่วนใน ๔ ส่วน) นี้มีชื่อว่าอุชชยินี เมืองนี้มีพระราชาปกครองชื่อ พระเจ้าวีรเทพ และมีมเหสีชื่อ ปัทมาวดี ทั้งสองพระองค์นี้เสพสุขอยู่ด้วยกันช้านานแต่หาได้มีโอรสไม่ พระราชาจึงพาพระมเหสีเสด็จไปยังฝั่งของสระมันทากินี(ชื่อสระแห่งหนึ่งในป่าหิมพาน) และกระทำความเพียรอันอุกฤษฏ์เพื่อให้พระเจ้าโปรดปรานประทานโอรสให้ และหลังจากที่ทรงบำเพ็ญตบะมาช้านานแล้วทำพิธีสรงสนานและสวดมนตร์สรรเสริญพระเป็นเจ้าแล้ว วันหนึ่งก็มีเสียงลอยมาจากสวรรค์ เป็นเสียงแห่งองค์พระภูเตศวร(เป็นฉายาของพระศิวะ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่เหนือภูตพรายทั้งหลาย) ผู้ทรงยินดีในตบะกรรมที่กษัตริย์ทั้งสองบำเพ็ญถวายว่า
"ดูก่อนราชะ ข้าจะให้พรแก่เจ้า นับแต่นี้ไปเจ้าจะมีโอรสองค์หนึ่ง มีความแกล้วกล้าสามารถเป็นยอดชายในแผ่นดิน จะได้เป็นหัวหน้าครอบครัวต่อไป และเจ้าจักได้ธิดาองค์หนึ่งซึ่งมีสิริโฉมงามหาใครเปรียบมิได้ เป็นความงามที่แม้นางอัปสรสวรรค์ก็ยังได้อาย"
เมื่อพระราชาวีรเทพได้ฟังเสียงสวรรค์บันลือเช่นนี้ ทรงปลาบปลื้มพระทัยเป็นอันมาก พาพระมเหสีเสด็จกลับพระนคร เมื่อภารกิจได้บรรลุผลสำเร็จแล้ว
จากนั้นพระองค์ก็ได้พระโอรสองค์แรกมีนามว่า ศูรเทพ และพระนางปัทมาวดีก็ประสูติธิดาองค์หนึ่ง พระบิดาจึงตั้งชื่อนางว่า อนงครตี(อนงค์ (กามเทพ)+รติ(ความยินดี, ความรัก) อันมีความหมายว่า "เป็นที่ยินดีของกามเทพ" และเมื่อนางเจริญวัยขึ้น พระราชาผู้เป็นชนกก็เตรียมการหาคู่ให้นางเพื่อจะได้ชายที่เหมาะสมเป็นคู่ครอง โดยสั่งให้ศิลปินเดินทางไปวาดภาพพระราชาทุกองค์บนพื้นพิภพมาให้นางเลือกดู ปรากฏว่านางมิได้พอใจรูปชายใดเลย พระราชาจึงพูดกับนางด้วยน้ำเสียงอันอ่อนโยนว่า "ลูกเอ๋ย พ่อไม่สามารถจะหาชายคนใดที่คู่ควรกับลูกได้อีกแล้ว เราคงจะต้องประกาศเชิญพระราชาและเจ้าชายทั้งหลายมาให้ลูกเลือกเสียแล้ว การได้พบตัวจริงของชายอาจทำให้ลูกตัดสินได้ง่ายเข้าก็ได้"
เจ้าหญิงได้ฟังพระบิดากล่าวดังนั้นจึงทูลตอบว่า "เพคะ ท่านพ่อ ลูกกระดากใจที่จะเลือกสามีเองยิ่งนัก แต่จะอย่างไรก็ตาม ลูกจะแต่งงานกับผู้ชายรูปงามที่มีความรู้ในศิลปศาสตร์อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ลูกไม่ปรารถนาชายอื่นนอกจากที่ว่านี้เป็นอันขาด"
เมื่อพระราชาได้ทราบความประสงค์ของเจ้าหญิงอนงครตีเช่นนั้น ก็ส่งคนไปสืบเสาะหาบุรุษที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ในที่สุดก็ได้ชายหนุ่มจากแคว้นเดกข่านมาสี่คน เป็นชายงาม กล้าหาญและรู้ศิลปศาสตร์ ชายเหล่านี้เดินทางมาก็เพราะได้ทราบข่าวโจษจันกันนั่นเอง ชายทั้งสี่ได้รับการต้อนรับจากพระราชาเป็นอย่างดี และต่างคนต่างก็แสดงวัตถุประสงค์ที่จะให้นางเลือกตนเป็นคู่ด้วยกันทั้งนั้น
คนที่หนึ่งกล่าวว่า "ตัวข้าเป็นศูทร ชื่อ ปัญจาผุฏฏิกะ ข้ามีความสามารถในการตัดเย็บเสื้อผ้าอย่างงามวันละห้าชุด ชุดที่หนึ่งข้าถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า ชุดที่สองให้แก่พราหมณ์ ชุดที่สามข้าเอาไว้ใช้เอง ชุดที่สี่จะให้แก่ภรรยาของข้า ซึ่งก็ควรจะเป็นเจ้าหญิงองค์นี้ ชุดที่ห้าสำหรับขายเพื่อเอาเงินมาซื้ออาหารและสุรากิน ข้ามีศิลปะอย่างนี้จึงสมควรที่จะได้นางเป็นภรรยาใช่หรือไม่"
เมื่อชายคนที่หนึ่งกล่าวจบลง ชายคนที่สองก็ประกาศตนว่า "ข้าเป็นไวศยะมีชื่อว่า ภาษชยะ ข้ารู้ภาษาสัตว์และนกทั้งปวง จงยกเจ้าหญิงให้แก่ข้าเถิด"
ชายคนที่สองกล่าวจบลง คนที่สามก็กล่าวขึ้นว่า "ข้าเป็นกษัตริย์มีชื่อว่า ขัฑคธร ได้รับการยกย่องจากคนทั้งหลายว่าเป็นผู้ทรงพลัง ไม่มีใครอีกแล้วในโลกนี้ที่จะรู้ศิลปะในการใช้ดาบยิ่งไปกว่าข้า โอ ราชะ โปรดทรงยกนางให้แก่ข้าเถิด"
เมื่อได้ฟังขายคนที่สามว่าดังนั้น ชายคนที่สี่ก็ลุกขึ้นประกาศว่า "ข้าเป็นพราหมณ์ มีชื่อว่า ชีวทัตต์ และข้ามีความรู้ศิลปะอันเลิศคือ สามารถช่วยคนและสัตว์ที่ตายไปแล้วให้กลับมีชีวิตได้ ดังนั้นขอให้พระธิดาคนงามแต่งงานกับข้าเถอะ เพราะข้าเป็นผู้ที่มีศิลปะเลิศกว่าใครทั้งหมด"
เมื่อได้ฟังบุรุษทั้งสี่อ้างสรรคุณของตัวจบลง พระราชาวีรเทพพร้อมด้วยเจ้าหญิงราชธิดาซึ่งประทับอยู่เคียงข้าง ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า คนทั้งสี่นั้นต่างก็มีรูปงามราวเทพ และนุ่งห่มด้วยพัสตราภรณ์อันงามยิ่งเหมือนกันทั้งสิ้น ไม่อาจจะตัดสินได้ว่าใครดีกว่าใคร จึงต่างนิ่งอึ้งอยู่
เวตาลเมื่อได้เล่านิทานจบลงแล้ว ก็กล่าวแก่พระราชาตริวิกรมเสน ด้วยการคะยั้นคะยอให้ตอบปัญหา โดยกล่าวว่า "โอ มหาราช โปรดบอกข้าหน่อยได้ไหมว่า ชายคนใดในสี่คนนี้สมควรจะได้แต่งงานกับเจ้าหญิงอนงครตี"
พระราชาได้ฟังก็ตรัสแก่เวตาลว่า
"อ้ายเจ้าเล่ห์ เจ้าพยายามหลอกล่อให้ข้าพูดหลายครั้งหลายหนแล้ว ข้าก็เผลอตอบปัญหาของเจ้าทุกที เพราะมันมีแง่มีมุมที่ตัดสินได้ยาก ข้าจึงต้องแสดงความคิดให้เจ้าฟัง แต่ว่าคราวนี้ข้าเห็นว่าปัญหาของเจ้ามันแสดงความโง่เซอะของเจ้าแท้ ๆ เจ้าไม่เห็นหรือว่าหญิงในวรรณะใดก็ต้องหาสามีในวรรณะนั้นเท่านั้น นางกษัตริย์ก็ต้องแต่งงานกับกษัตริย์ด้วยกัน จะไปแต่งกับชายวรรณะอื่นได้อย่างไร ก็ชายทั้งสี่นั้นต่างก็อยู่ในวรรณะแตกต่างกัน ชายตัดเสื้ออยู่ในวรรณะศูทร ชายคนที่รู้ภาษาสัตว์เป็นคนในวรรณะไวศยะ ชายคนที่รู้มนตร์ช่วยชุบชีวิตคนตายให้ฟื้นเป็นวรรณะพราหมณ์ คงเหลืออยู่คนเดียวคือ ขัฑคธร ที่เป็นวรรณะกษัตริย์ เพราะฉะนั้นคนที่จะแต่งงานกับเจ้าหญิงได้ก็ต้องเป็นขัฑคธร เท่านั้น"
"โอ ราชะ" เวตาลกล่าวอย่างโล่งอก "ขอบพระทัยที่ช่วยตอบปัญหาของข้า แต่เห็นทีพระองค์จะต้องติดตามข้าอีกแล้วพระเจ้าข้า" กล่าวจบเวตาลก็ผละจากบ่าของพระราชา และหายไปในความมืดของราตรี พระราชาต้องเสด็จกลับไปที่ต้นอโศกอีกครั้งหนึ่ง เพราะขึ้นชื่อว่า ความท้อถอยหมดอาลัยหาได้มีอยู่ในบุคคลผู้วีระไม่ เพราะจิตใจของเขาไม่เคยเปิดเพื่อความอ่อนแอเลย


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:17:26:03 น.  

 
นิทานเรื่องที่
๑๐
ดังนั้น พระเจ้าตริวกรมเสนจึงได้เสด็จกลับไปที่ต้นอโศกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจับตัวเวตาล เมื่อจับได้แล้วก็ทรงเหวี่ยงขึ้นบนพระอังสา เสด็จมุ่งหน้าไปยังที่นัดพบกับโยคีโดยไม่ปริปากใด ๆ เลย เวตาลเห็นพระราชาทรงเงียบอยู่ก็กล่าวขึ้นว่า
"ราชะ ตอนนี้พระองค์ก็เหน็ดเหนื่อยมาแล้วมากเต็มที ดังนั้นข้าจะเล่านิทานสนุก ๆ ให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง เพื่อจะได้ขับไล่ความเหน็ดเหนื่อยให้ประลาตนาการไป โปรดฟังเถิด"
แต่ปางบรรพ์ยังมีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง ทรงนามว่า วีรพาหุ เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญอย่างยอดยิ่ง คำสั่งของพระองค์นั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พระราชาทุกแว่นแคว้นจะต้องรับไว้เหนือเศียรเกล้า ทรงครองราชย์ ณ นครอันโอ่อ่า ชื่อนครอนงคปุระ ในนครนี้มีเศรษฐีผู้หนึ่งอาศัยอยู่ชื่อ อรรถทัตต์ ไวศยบดี(หัวหน้าพ่อค้า) ผู้นี้มีบุตรชายผู้หนึ่งชื่อ ธนทัตต์ และมีบุตรหญิงผู้เป็นรัตนะแห่งสตรีทั้งหลายมีชื่อว่า มัทนเสนา
วันหนึ่ง ขณะที่นางมัทนเสนากำลังเล่นอยู่กับเพื่อน ๆ ในสวน ชายหนุ่มบุตรชายวาณิชชื่อธรรมทัตต์ ซึ่งเป็นสหายของพี่ชายของนางผ่านมาเห็นเข้า ก็ตะลึงในความงามอันกอปรด้วยเสน่ห์อันลึกล้ำของนาง ผู้มีอกอันเต็มอิ่ม มีคอเป็นสามปล้องราวกับริ้วคลื่นในทะเลสาบ และมีเอวอันบางสลวยรับกับสะโพกอันกลมกลึง ชายหนุ่มมองนางด้วยความรักอันรุนแรงราวกับถูกศรกามเทพพรั่งพรูเข้าสู่หัวใจ พลางรำพึงในใจว่า "อนิจจาเอ๋ย หญิงผู้นี้ ช่างงามจับใจจริงหนอ ใครเล่าจะรู้ว่า นางนั้นคือเหยื่อซึ่งกามเทพส่งมาให้เราต้องหลงใหลเพ้อคลั่งเหมือนคนขาดสติ และศรอันอันคมกล้านี้สิหนอที่ผ่าหัวใจของเราจนแยกเป็นเสี่ยง ๆ อย่างไม่เวทนาปรานี" เมื่อรำพึงดังนี้ ชายหนุ่มก็หยุดยืนจ้องดูนางสายตาไม่กระพริบจนเวลาอันยาวนานผ่านไป มีอาการดังนกจากพราก(นกจักรวาก, บางทีเรียกเป็ดแดงหรือเป็ดพกราหมณ์ ตอนกลางคืน นกชนิดนี้จะแยกกันหาอาหารคนละฝั่งแม่น้ำและร้องเรียกหากันตลอดคืน) ที่โหยหาคู่ของมันฉะนั้น
ในที่สุดนางมัทนเสนาก็กลับเข้าบ้านของนาง ทิ้งให้ธรรมทัตต์เฝ้าแลตามด้วยความเสน่หาอาลัย เมื่อนางลับสายตาไปแล้ว ความทุกข์ก็กลับมาสุมอก ทำให้ร้อนรุ่มในใจเหลือที่จะทนทาน ขณะนั้นดวงอาทิตย์ก็ค่อยคล้อยต่ำลงทางทิศตะวันตกเหมือนกับว่ายังอาลัยที่จะมิได้พบเห็นเธออีก ส่วนดวงศศี เมื่อถึงเวลาดอกบัวกุมุทเริ่มขยายกลีบแบ่งบานในราตรี แล้วก็ค่อยเคลื่อนขึ้นสู่ขอบฟ้า เปล่งรัศมีสีนวลใยแผ่ซ่านไปทั่วนภดล เหมือนจะช่วยปลอบใจที่รุ่มร้อนของชายหนุ่มให้บรรเทาลง
ธรรมทัตต์กลับไปบ้าน ใจยังคิดถึงนางอยู่ตลอดเวลา นอนพลิกกระสับกระส่ายอยู่ไปมาบนเตียง ถึงแม้ว่ามิตรสหายและญาติพี่น้องจะซักไซ้ไต่ถามสาเหตุเพียงไรเขาก็ไม่ยอมตอบ หัวใจปั่นป่วนเพราะฤทธิ์กามเทพ ตกถึงเวลากลางคืนชายหนุ่มก็เคลิ้มหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย แต่ใจที่คิดถึงนางอยู่มิวายทำให้ฝันเห็นนางผู้เป็นที่รักอีก ถึงเวลาเช้าเขาตื่นขึ้นรีบแต่งตัวให้งดงามออกไปดักดูนางที่สวนอีก พยายามแอบแฝงมิให้ใครเห็น พอถึงเวลา นางก็เข้ามาในสวน ชายหนุ่มแลเห็นก็ดีใจแทบจะวิ่งเข้าไปกอดนาง เขาพร่ำรำพันต่อนางด้วยถ้อยคำอันอ่อนหวาน แสดงความรักที่เขามีต่อนางอย่างเหลือล้น แต่นางตอบด้วยความไม่ยินดียินร้ายว่า
"ข้าเป็นหญิงที่มีคนมั่นหมายแล้ว บิดาของข้าได้ยกข้าให้เป็นคู่หมั้นของหนุ่มพ่อค้าคนหนึ่งชื่อสมุทรทัตต์ และข้ากำลังจะแต่งงานกับเขาภายในเร็ววันนี้ ฉะนั้นท่านจงกลับไปเสียเถิด และอย่าให้ใครเห็น เดี๋ยวจะเกิดความเดือดร้อนเปล่า ๆ " แต่ธรรมทัตต์กล่าวแก่เธออย่างหนักแน่นว่า "ช่างมันเถอะ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ข้าจะมีชีวิตอยู่โดยปราศจากเจ้าไม่ได้หรอก"
เมื่อบุตรีไวศยะได้ฟังดังนั้นก็ตกใจ กลัวว่าเขาจะใช้กำลังบังคับนาง จึงกล่าวว่า
"ข้าขอแต่งงานก่อน และขอให้พ่อของข้าได้ปลื้มใจที่ลูกจะได้เป็นฝั่งเป็นฝาตามความมาดหมายของท่านก่อนเถอะ หลังจากนั้นข้าจะกลับมาหาท่านเพราะความรักของท่านได้ชนะใจของข้าแล้ว"
เมื่อธรรมทัตต์ได้ฟังดังนี้ ก็กล่าวว่า
"ข้าไม่อยากจะกอดผู้หญิงที่ถูกชายอื่นกอดเสียแล้วดอก ก็ภมรไหนเล่าจะปรารถนาดอกบัวที่ผึ้งตัวอื่นย่ำยีเสียแล้วเล่า"
นางได้ฟังก็ตอบว่า
"ถ้าอย่างนั้น ข้าจะรีบมาหาท่านในทันทีที่แต่งงานเสร็จ หลังจากนั้นข้าจึงจะตามสามีไป"
แม้นางจะสัญญาดังนี้ ชายหนุ่มก็ยังไม่ยอมปล่อยนางไปจนกว่านางจะทำให้เขาเชื่อใจด้วยการปฏิญญาสาบานเสียก่อน จนเมื่อนางยอมกระทำแล้ว เขาจึงปล่อยนางไป และนางก็กลับไปเรือนด้วยความวิตก
เมื่อวันที่กำหนดว่าฤกษ์ดีมาถึง และงานพิธีสมรสได้ผ่านไปแล้ว นางมันทเสนาก็เดินทางไปบ้านสามี ใช้เวลารื่นรมย์อยู่ด้วยเขาและพักผ่อนกับเขาด้วยเวลาอันสมควร อย่างไรก็ดีนางพยายามผลักอ้อมกอดของเขาให้หลุดพ้น และแสดงอาการเฉยเมย ครั้นเมื่อสามีซักถามสาเหตุ นางก็น้ำตาไหลอาบแก้มนิ่งอยู่ เขาจึงคิดในใจว่า "ว่าตามจริงนางคงไม่รักเราหรอก" และกล่าวแก่เธอว่า "แม่งาม ถ้าเจ้าไม่รักข้า ข้าก็ไม่รักเจ้าเหมือนกัน ไปสิ ที่รัก ไปหาชายคนที่เจ้ารักเถิด ไม่ว่าจะเป็นชายใดก็ตามที"
เมื่อได้ยินสามีพูดดังนี้ มัทนเสนาก็กล่าวอ้อมแอ้มด้วยความละอายว่า
"ข้ารักท่านยิ่งกว่าชีวิตของข้าเสียอีก อย่าทำหน้าบึ้งตึงอย่างนั้นสิ สัญญาแก่ข้าว่าท่านจะไม่เอาโทษ และสาบานให้ข้าฟังก่อนสิ สวามีของข้า แล้วข้าจะเล่าให้ฟัง"
เมื่อนางกล่าวดังนี้ สามีของนางก็จำต้องยอมรับเงื่อนไขอย่างไม่เต็มใจนัก นางจึงกล่าวต่อไปด้วยความละอาย รันทด และหวาดกลัวว่า "มีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อธรรมทัตต์ เป็นเพื่อนของพี่ชายข้า เขาแลเห็นข้านั่งอยู่แต่ลำพังในสวน จึงเข้ามาหาและระบายความในใจว่าเขาตกหลุมรักข้าอย่างถอนตัวไม่ขึ้น และเมื่อเขาทำท่าจะปลุกปล้ำข้าด้วยกำลัง ข้าก็กลัวว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้พ่อต้องได้รับความอับอาย และสูญเสียผลบุญในการจัดให้ลูกสาวได้แต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา และเพื่อไม่ให้มีข่าวนินทาว่าร้ายในภายหลัง ข้าจึงตกลงทำสัตย์สาบานแก่ชายผู้นั้นว่า "เมื่อข้าแต่งงานแล้ว ข้าจะมาหาเขาครั้งหนึ่งก่อนที่จะตามสามีไป" เพราะฉะนั้นข้าจึงต้องรักษาสัจจะที่ให้ไว้แก่เขา ข้าแต่สวามี อนุญาตให้ข้าไปเถิด ข้าจะไปหาเขาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แล้วจะกลับมาหาท่าน ทั้งนี้เพราะข้าไม่อาจจะตระบัดสัตย์ต่อใครได้ ตั้งแต่ข้ายังเป็นเด็กแล้ว"
สมุทรทัตต์ได้ฟังก็รู้สึกปวดแปลบในหัวใจเหมือนถูกสายฟ้าฟาดในทันทีทันใด รู้สึกเป็นพันธะผูกพันที่เขาได้ให้นางไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เขารำพึงอยู่ในใจว่า
"โธ่เอ๋ย นางมีรักต่อชายอื่นเสียแล้ว นางจะต้องไปแน่นอน เราจะทำให้นางต้องเสียคำพูดได้อย่างไร สู้ปล่อยนางไปดีกว่า เราจะกระเหี้ยนกระหืออยากจะได้นางไว้เป็นภรรยาด้วยประโยชน์อันใด"
เมื่อไตร่ตรองดังนี้แล้ว เขาก็ปล่อยให้นางไปตามปรารถนา นางก็ลุกขึ้นและเดินออกจากบ้านสามีไป
ในขณะนั้นดวงจันทร์อันมีรัศมีเย็นก็โผล่พ้นแนวไศลขึ้นมา แสงจันทร์จับพุ่มไม้ใบหญ้าแลเห็นตะคุ่ม ๆ ดอกบัวกุมุทก็แย้มกลีบสลับสล้างแลสะพรั่งในบึง ขณะที่นางก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างใจลอย ก็ได้ยินเสียงฝีเท้าวิ่งไล่มาข้างหลัง และมีมือยื่นมาคว้าชายเสื้อของเธอไว้ นางเหลียวกลับไปด้วยความตกใจก็พบโจรผู้หนึ่ง มันตะคอกถามว่า "เจ้าเป็นใคร ออกมาเดินกลางค่ำกลางคืนอย่างนี้จะไปไหน"
นางมัทนเสนาได้ฟังโจรตะคอกก็ตัวสั่นด้วยความกลัว แข็งใจตอบว่า
"มันเรื่องอะไรของเจ้า ปล่อยข้าไปเถอะ ข้ามีงานสำคัญจะต้องทำที่นี่"
โจรได้ฟังก็กล่าวว่า
"ข้าเป็นโจร ข้าจะปล่อยเจ้าไปได้อย่างไร"
ได้ยินดังนี้ นางก็อ้อนวอนว่า
"ปล่อยข้าไปเถอะ ข้ามีเครื่องประดับติดตัวราคาไม่น้อย ข้าจะให้เจ้าทั้งหมด"
"นางรูปสวย" โจรพูดพลางจับตาดูนางไม่วางตา "ข้าจะปรารถนาอันใดกับเครื่องประดับนี้เล่า ถ้าข้าจะต้องการก็มีแต่ตัวเจ้าเท่านั้นดอก ว่าที่จริงข้าก็ไม่เคยเห็นผู้หญิงสวยอย่างนี้มาก่อน ดูหน้าเจ้าสิงามเปล่งปลั่งเป็นนวลใยราวแก้วมุกดา ผมดำเหมือนนิลมณี เอวเหมือนเพชรรัตน์(ต้นฉบับใช้คำว่า "วชร" จะแปลว่า เพชร หรือสายฟ้าก็ได้) แขนขาก็งามดังทองศฤงคี และเท้าแดงงามราวแก้วทับทิม(ปัทมราค) อย่างนี้ข้าไม่ปล่อยให้หลุดมือไปหรอก"
เมื่อโจรกล่าวดังนี้ นางมัทเสนาก็จำต้องเล่าความจริงให้มันฟังโดยตลอด และกล่าววิงวอนว่า "ขออภัยเถอะ ข้ามีพันธะจะต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ต่อเขา แต่เมื่อเสร็จธุระแล้ว ข้าจะรีบกลับมาหาท่าน ถ้าท่านจะรออยู่ที่นี่ก่อน เชื่อข้าเถอะ ข้าไม่เคยผิดสัญญาต่อใครหรอก"
เมื่อโจรได้ยินดังนั้นก็ปล่อยตัวนางไป เพราะเชื่อว่านางคงพูดความจริง เมื่อนางไปแล้วเขาก็นั่งคอยอยู่ ณ ที่นั้นโดยหวังว่านางจะต้องกลับมา
ฝ่ายนางเมื่อละจากโจรแล้วก็รีบเดินทางมาหาธรรมทัตต์ไวศยบุตร เมื่อเขาแลเห็นนางออกมาจากป่าก็ถามนางว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อได้ฟังเรื่องราวแล้วก็ไตร่ตรองอยู่ชั่วขณะหนึ่ง จึงกล่าวว่า
"ข้าดีใจที่เจ้ารักษาคำพูดอย่างแท้จริง แต่ว่าข้าจะทำอะไรกับหญิงผู้เป็นภรรยาของชายอื่น ฉะนั้นจงกลับไปตามทางที่เจ้ามานั่นแหละ ก่อนที่ใครจะมาเห็นเจ้าเข้า"
เมื่อเขาสั่งให้นางกลับ นางก็กล่าวว่า "ก็ได้" และละที่นั้นกลับไปหาโจร ซึ่งกำลังคอยนางอยู่ ณ ที่เดิม โจรแลเห็นนางกลับมาก็กล่าวว่า "เกิดอะไรขึ้นกับเจ้าเมื่อเจ้าไปถึงที่นั่น"
นางมัทนเสนาก็เล่าความจริงโดยตลอดว่าเหตุใดพ่อค้าหนุ่มจึงปล่อยให้นางกลับมา โจรได้ฟังก็กล่าวว่า
"จงกลับไปหาสามีของเจ้าเถิด ข้าเห็นใจในความสัตย์ซื่อของเจ้าที่มีต่อข้าแล้ว ข้าไม่หน่วงเจ้าไว้ให้เสียเวลาหรอก เอาเครื่องประดับของเจ้าไปด้วย"
ดังนั้นโจรก็ปล่อยนางไป และเป็นเพื่อนตามไปส่งนางจนถึงบ้านของสามีและดีใจที่ตนมิได้กระทำให้นางต้องเสียเกียรติ นางอำลาโจรแล้วแอบเข้าไปในบ้านอย่างเงียบ ๆ และตรงไปหาสามีของนาง เล่าเรื่องให้ฟังโดยตลอดมิได้ปิดบัง แม้ความจริงข้อหนึ่งข้อใด ส่วนสมุทรทัตต์ได้เห็นภรรยาของตนเป็นผู้บริสุทธิ์และรักษาวาจาสัจไว้อย่างมั่นคงดังนี้ ก็รับนางไว้ด้วยความยินดี และครองคู่อยู่ด้วยกันด้วยความสุขตั้งแต่นั้นมา
เมื่อเวตาลเล่านิทานจบลงก็ถามพระราชาว่า "โอ ราชะ ขอได้บอกข้าสิว่าในจำนวนบุรุษสามคนนั้น ใครเป็นคนที่ใจกว้างที่สุด อย่าลืมนะ ถ้าพระองค์รู้แล้วไม่ตอบ พระเศียรของพระองค์จะต้องแตกเป็นร้อยเสี่ยง"
พระเจ้าตริวิกรมเสนได้ฟังเวตาลพูดดังนั้น ก็ตรัสทำลายความเงียบขึ้นว่า
"ในจำนวนบุรุษทั้งสามคนนั้น ข้าเห็นว่าโจรนั่นแล เป็นคนที่ใจกว้างอย่างแท้จริง ที่เหลืออีกสองคน คนหนึ่งเป็นสามีของนาง เขาปล่อยนางไปด้วยความจำใจ เพื่อให้นางรักษาวาจาสัจไว้ โดยที่เขายังมีจิตประหวัดว่านางจะต้องเสียตัวแก่ชายอื่น ส่วนไวศบุตรชื่อธรรมทัตต์นั้นเล่า เขาปล่อยให้นางเป็นอิสระเพราะเขารักนางด้วยตัณหามาแต่แรก เมื่อตัณหาเบาบางลงแล้ว เขามิได้จริงจังอะไรต่อนางอีก โจรนั่นสิ เป็นคนร้าย ทำมาหากินด้วยความทุจริต หากินอยู่ในความมืด คอยแสวงหาเหยื่อ เขาปล่อยนางไปและไม่เอาเครื่องประดับของนางเลย เพราะเห็นใจว่านางเป็นคนดี"
เมื่อเวตาลได้ฟังดังนั้นก็ส่งเสียงหัวเราะ ไม่กล่าวประการใด ละพระอังสาของพระราชา แล้วลอยกลับไปสู่ต้นอโศกตามเดิม ส่วนพระราชาผู้มีความเพียรไม่ท้อถอย ก็สู้เสด็จติดตามเวตาลไปโดยไม่ลังเลพระทัย มีความมุ่งมั่นที่จะจับตัวเวตาลมาอีกครั้งหนึ่ง


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:17:29:23 น.  

 
นิทานเรื่องที่
๑๑
พระราชาตริวิกรมเสนเสด็จไปสู่ต้นอโศก ทรงดึงตัวเวตาลลงมาเหวี่ยงขึ้นพระอังสา แล้วเสด็จกลับมาทางเดิม มาได้หน่อยหนึ่ง เวตาลก็กล่าวขึ้นว่า "โอราชะ ข้ามีนิทานสนุกอยู่เรื่องหนึ่ง อยากจะเล่าถวาย โปรดทรงสดับเถิด"
ในอดีตกาลมีพระราชาครองกรุงอุชชยินี ทรงนามว่า พระเจ้าธรรมธวัช พระองค์มีชายาสามองค์ ล้วนแต่เป็นพระธิดาของกษัตริย์ทั้งสิ้น พระนางทั้งสามล้วนเป็นชายาคนโปรดของพระราชาผู้สวามีอย่างยิ่ง ชายาองค์ที่หนึ่งชื่ออินทุเลขา องค์ที่สองชื่อดาราวลี และองค์ที่สามมีนามว่ามฤคางกวดี นางทั้งสามล้วนมีเสน่ห์น่ารักเหมือนกันหมด พระราชาแห่งอุชชยินีเป็นกษัตริย์ผู้กล้าหาญ ทรงมีชัยชำนะเหนืออริราชศัตรูทั้งมวลหาใครเสมอมิได้ เสวยราชย์ด้วยความสุขสำราญพร้อมด้วยพระชายาทั้งสามเรื่อยมา
ครั้งหนึ่ง เมื่อถึงฤดูวสันต์อันเป็นฤดูแห่งความชื่นบาน พระราชาปรารถนาจะพักผ่อนให้สำราญพระทัย จึงพาพระชายาทั้งสามไปสู่สวนขวัญประทับอยู่ด้วยความรื่นรมย์ ณ อุทยานนั้น โอกาสหนึ่งทรงทอดพระเนตรเห็นลดาวัลย์ไม้เลื้อยต้นหนึ่ง เกี่ยวเกาะอยู่กับต้นไม้ใหญ่มีดอกบานสะพรั่งห้อยระย้าแกว่งไกวตามกระแสลม และเครือเถาวัลย์นั้นมีความอ่อนช้อยงดงามราวกับคันศรของพระกามเทพ และฝูงแมลงภู่ซึ่งเกาะและไต่ตอมกลีบดอกไม้นั้นเล่า ก็ดูราวกับสายธนูของพระมันมถะ(ผู้ก่อกวนใจ หมายถึง พระกามเทพ) เช่นเดียวกัน พระราชาผู้องอาจปานพระวัชรปาณี(ผู้มีมือถือวัชระ เป็นสมญานามของพระอินทร์ ทรงเพลินอยู่กับกระแสเสียงของนกโกกิลาอันเจื้อยแจ้วมาตามลม ราวกับเสียงของพระมกรเกตุ(ผู้มีธงรูปปลามังกร หมายถึงกามเทพ) ผู้เป็นเทพแห่งความรัก กำลังพาอัปสรทั้งหลายมาเริงเล่นสำราญด้วยความมึนเมาแห่งสุรามฤตที่เสพกันอยู่ทุกหมู่เหล่าโดยทั่วกัน ขณะนั้นพระชายาอินทุเลขากำลังสรวลเสกับการดึงพระเกศาของพระราชาเล่น ปรากฏว่าดอกบัวอินทีวร (บัวสายสีน้ำเงิน) ที่นางทัดหูเป็นเครื่องประดับเศียรเกล้า ได้ร่วงหล่นลงมาบนตักของนางผู้เอวบาง ทำให้นางตกใจ เปล่งเสียง "ต๊าย ตาย" ออกมาแล้วเป็นลมหมดสติ ในทันทีนั้นก็เกิดรอยแผลขึ้นที่ต้นขาของนาง ทำให้พระราชาและบริพารตื่นตกใจกันมาก และรู้สึกเป็นทุกข์ในอุบัติเหตุของนาง ต่างก็เอาน้ำหอมมาให้นางกำนัลลูบไล้ตามร่างของพระนาง ให้นางกำนัลตกแต่งแผลให้นางและดูแลตามคำสั่งของหมอหลวงอย่างเคร่งครัด
ในเวลาราตรี พระราชาเสด็จมาดูอาการของนาง เห็นว่าค่อยยังชั่วขึ้นบ้างแล้ว ก็พานางดาราวดีพระชายาคนที่สองเสด็จไปสู่ห้องบรรทมชั้นดาดฟ้าซึ่งงามวิจิตรอยู่ในแสงนวลใยของพระจันทร์ ณ ที่นั้นแสงของดวงศศีส่องมาอาบร่างของนางผู้ซึ่งนอนหลับเคียงข้างพระราชาอยู่ สายลมเย็นยามดึกรำเพยพัดมาที่ร่างของนาง ทำให้ภูษาภรณ์ของนางเคลื่อนคล้อยไปจากองค์ ทันใดนั้นนางก็รู้สึกตัวตื่นขึ้นมามีอาการตระหนก เปล่งเสียงร้องออกมาว่า "ช่วงด้วยเถิด ข้าถูกไฟเผา" แล้วลุกจากเตียง เอามือนวดตามแขนขาเป็นพัลวัน เสียงของนางทำให้พระราชาตื่นจากบรรทมด้วยความตกพระทัย และเห็นแผลพุพองขึ้นตามร่างกายของพระเทวี จึงซักถามด้วยความพิศวงว่า "นี่มันเรื่องอะไรกัน" พระนางดาราวดีทูลตอบว่า "รัศมีจันทร์ที่ส่องมากระทบร่างของหม่อมฉัน เป็นเหตุให้หม่อมฉันต้องทนทุกข์เพราะแผลพุพองเหล่านี้" ทูลจบนางก็ฟูมฟายด้วยความโศก ร้องไห้สะอึกสะอื้นมิหยุดหย่อน พระราชาเห็นดังนั้นก็สงสารนัก รับสั่งเรียกนางข้าหลวงบริวารให้เข้ามาช่วยโดยด่วน จัดทำเตียงปูลาดด้วยใบบัวให้นางนอน ประพรมร่างของนางด้วยสุคนธรส โปรยปรายเฟื่องฟุ้งดังฝอยฝน และเอาน้ำมันจันทน์หอมทาตามแผลเจ็บปวดของนาง
ในระหว่างเวลาที่ชุลมุนวุ่นวายกันนี้ นางมฤคางกวดีชายาองค์ที่สาม ได้ยินเสียงอื้ออึงก็ออกจากตำหนักของนางเพื่อมาดูเหตุการณ์ และเมื่อเดินพ้นออกมาสู่ที่แจ้งนั้นเอง นางก็หยุดนิ่ง ได้ยินเสียงหนึ่งดังลอยลมมาแต่ไกลในความเงียบสงัดของราตรี นางหยุดกึกลงด้วยความสนใจและเงี่ยหูฟังในที่สุดก็เข้าใจว่า เป็นเสียงครกตำข้าวดังมาแต่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไป ในขณะที่เงี่ยหูฟังเสียงนั้น นางผู้มีเนตรงามดังตากวางก็เปล่งเสียงออกมาด้วยความตกใจว่า "ช่วยด้วย กำลังถูกฆ่า" สิ้นเสียงนางก็ทรุดฮวบลงนั่งกับพื้น ยกมือทั้งสองข้างอันสั่นระริกขึ้นชูไปเบื้องหน้า แสดงอาการเจ็บปวดแสนสาหัส นางข้าหลวงผู้เป็นบริวารเห็นดังนั้นก็รีบเข้าไปประคอง พานางกลับไปตำหนักของนางทันที พอถึงห้องนางมฤคางกวดีก็ล้มลงนอนบนเตียงอย่างหมดเรี่ยวแรง และส่งเสียงครวญครางไม่ขาดระยะ เมื่อนางบริวารช่วยกันตรวจหาสาเหตุแห่งความเจ็บปวดของนางก็แลเห็นมือของนางเต็มไปด้วยรอยฟกช้ำ เหมือนกับดอกบัวที่ถูกฝูงผึ้งไต่อยู่คลาคล่ำ นางกำนัลจึงรีบไปทูลพระราชา พระเจ้าธรรมธวัชได้ฟังก็ตกพระทัยมาก รีบเสด็จมาดูอาการของพระชายาคู่พระทัย และทรงฉงนพระทัยว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร นางยื่นหัตถ์ให้ดู และกล่าวว่า "หม่อมฉันได้ยินเสียงครกกระเดื่องดังมาจากที่ไกล เสียงของมันทำให้มือของหม่อมฉันต้องฟกช้ำเป็นจ้ำ ๆ อย่างนี้แหละเพคะ" พระราชาทรงเดือดร้อนพระทัยยิ่งนัก รีบสั่งให้นางพนักงานไปนำเอาสีผึ้ง ผงจันทน์หอมและโอสถชนิดต่าง ๆ มาให้นาง เพื่อใช้บรรเทาความเจ็บปวด
พระราชารำพึงในพระทัยว่า "เรื่องนี้ช่างประหลาดยิ่งนัก เมียคนหนึ่งของเราได้รับบาดแผลเพราะดอกบัวตกถูกหน้าขา เมียคนที่สองก็ถูกรังสีพระจันทร์ไหม้ผิวหนัง โธ่เอ๋ย ยังคนที่สามอีกเล่า เพียงแต่ได้ยินเสียงตำข้าวเท่านั้นก็เกิดรอยฟกช้ำที่มือทั้งสองข้าง นี่ต้องเป็นเรื่องของชะตากรรมแน่เทียว จึงบันดาลให้เกิดอาเพศถึงเพียงนี้" รำพึงฉะนี้แล้วพระราชาก็เสด็จออกจากตำหนักใน เดินคิดหาเหตุผลต่าง ๆ ก็ยังคิดไม่ตก เวลาล่วงไปหลายชั่วโมงพระราชาก็ไม่รู้สึกพระองค์ คงดำเนินเรื่อยอยู่ ถึงตอนเช้าแพทย์หลวงจึงพากันมาเฝ้าดูอาการของพระชายาทั้งสาม และช่วยกันพยาบาลจึงอาการดีขึ้น
เมื่อเวตาลผู้เกาะอยู่บนบ่าของพระราชาเล่าเรื่องจบลง ก็กล่าวแก่พระราชาตริวิกรมเสนว่า "ไหนทรงเฉลยให้ข้าเข้าใจซิว่า พระองค์มีความเห็นว่าในเรื่องนี้พระชายาองค์ใดเป็นผู้แบบบางต่อการกระทบมากที่สุด แต่ขอให้ทรงตระหนักไว้ว่า ข้าได้เตือนพระองค์มาก่อนแล้วว่า ถ้าพระองค์รู้คำตอบของปัญหานี้แล้วยังไม่ตอบ ศีรษะของพระองค์จะแยกเป็นเสี่ยง ๆ ตามคำสาปของข้า"
เมื่อพระเจ้าตริวิกรมเสนได้ฟังดังนั้น ก็ตอบว่า "ข้าไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย นางเทวีองค์ที่มีความอ่อนไหวมากที่สุดก็คือคนที่เพียงแต่ได้ยินเสียงครกตำข้าวแว่วมาแต่ไกล นางก็เกิดอาการฟกช้ำดำเขียวที่หัตถ์ของนางน่ะซิ สองคนแรกอ่อนไหวเพราะมีสิ่งแตะต้องวรกายของนาง คือดอกบัวและแสงจันทร์ แต่คนที่สามนั้นไม่มีอะไรมาแตะต้องกายของนาง เพียงแต่แว่วเสียงมาตามลมแต่ที่ไกล แม้จะมองไม่เห็นมัน นางก็ได้รับบาดแผลอันเกิดจากความอ่อนไหวของนาง เป็นดังนี้ข้าจึงเชื่อว่านางผู้นี้แหละคือ คำตอบที่เจ้าต้องการจะรู้ จริงหรือไม่"
"จริงสิ พระเจ้าข้า" เวตาลกล่าวด้วยสำเนียงเยาะหยัน ประชดประชัน แล้วก็ละจากพระอังสาของพระราชา ลอยละลิ่วกลับไปสู่ต้นอโศกอันเป็นที่อยู่ของตนทันที ทำให้พระราชาต้องย้อนกลับไปลากตัวมันมาอีก


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:17:31:24 น.  

 
นิทานเรื่องที่
๑๒
พระเจ้าตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปยังต้นอโศก ดึงร่างเวตาลลงจากคบไม้ วางไว้บนพระอังสา แล้วเดินย้อนกลับไปทางเดิม ถึงกลางทางเวตาลก็กล่าวขึ้นว่า "ราชะ ข้ารักพระองค์มาก รู้ไหมว่าทำไม ก็พระองค์เป็นคนดื้อรั้นไม่ยอมจำนนต่อใครง่าย ๆ น่ะซิ เอาละ ข้าจะเล่านิทานสนุก ๆ ถวายสักเรื่องหนึ่งให้เป็นที่บันเทิงพระทัย ขอได้โปรดทรงสดับเถิด"
ในแคว้นอังคะ มีพระราชหนุ่มองค์หนึ่งทรงนามว่า ยศเกตุ พระองค์มีความงามล้ำเลิศราวกับพระกามเทพที่ปราศจากร่างแล้ว (พระกามเทพต้องปราศจาร่าง กลายเป็นพระอนงค์ก็เพราะว่า ไปแผลงบุษปศรต้องพระทรวงของพระศิวะ เพื่อให้พระองค์หลงรักพระอุมาไหมวตี พระศิวะทรงพิโรธว่ากามเทพบังอาจดูหมิ่น จึงลืมพระเนตรที่สามเป็นไฟกรดเผาผลาญร่างกามเทพ จนกลายเป็นเถ้าถ่านไป กามเทพจึงไม่ร่างกายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา) กลับมาปรากฏในเรือนร่างของพระราชานั่นเทียว พระราชาทรงเป็นผู้กล้าหาญเด็ดเดี่ยวสามารถสยบศัตรูได้ทุกแว่นแคว้น ราวกับท้าววัชรินทร์ผู้ประหารศัตรูทั่วหน้า โดยมีพระพฤหัสบดีเป็นที่ปรึกษาฉะนั้น พระราชายศเกตุก็เช่นเดียวกัน ทรงมียอดมนตรีผู้หนึ่งเป็นที่ปรึกษาข้อราชการทั้งปวง ชื่อว่าทีรฆทรรศิน ในกาลต่อมาปรากฏว่าพระราชาผู้ทรงลุ่มหลงในพระรูปโฉมของตนเองเริ่มแสวงหาแต่สิ่งที่เป็นความบันเทิงเริงรมย์ หาความสุขให้แก่พระองค์เอง และละเลยราชการแผ่นดินให้ตกอยู่ในมือของมหาอำมาตย์ทีรฆทรรศินแต่ผู้เดียว ซึ่งเขาก็ตั้งใจบริหารราชการแผ่นดินด้วยความเอาใจใส่เป็นอย่างดีเรื่อยมา ในขณะที่พระราชาทรงปล่อยพระองค์ให้เพลิดเพลินอยู่แต่ในฮาเร็ม หมกมุ่นอยู่กับนางบำเรอ และเสียงเพลงอันไพเราะ ไม่สนใจไยดีกับเสียงทักท้วงของผู้ปรารถนาดีทั้งหลาย
แต่ผู้ที่แบกภาระไว้บนบ่าแต่ผู้เดียวก็คือทีรฆทรรศิน ซึ่งต้องทุ่มเทกำลังความสามารถทั้งหมดให้แก่ราชการแผ่นดินโดยมิรู้จักการพักผ่อน ทั้งนี้เพราะมีความจงรักภักดีต่อพระราชาเป็นที่ตั้ง ถึงแม้เขาจะทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเหนื่อยยากเพียงไรก็ยังมิวายมีเสียงเล่าลืออันไม่เป็นมงคลว่า เขากำลังจะฮุบอำนาจในการปกครองประเทศไปจากพระราชา และจะตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์ การนินทาว่าร้ายดังกล่าวนี้นับวันจะทวียิ่งขึ้นทุกที ทีรฆทรรศินจึงปรารภแก่นางเมธาวดีผู้เป็นภรรยาว่า
"ดูก่อนเจ้าผู้เป็นที่รัก บัดนี้พระราชาทรงมัวเมาเพลิดเพลินอยู่แต่กามสุขอย่างเดียว ข้าต้องรับภาระบริหารราชการแผ่นดินด้วยความเหน็ดเหนื่อยเหลือประมาณ แม้กระนั้นก็ยังมีผู้อิจฉาตาร้อนพากันประโคมข่าวใส่ความว่าข้ากำลังคิดกบฎต่อราชบัลลังก์ คำกล่าวอันไร้สัจจะนี้ได้ทิ่มแทงหัวใจของข้าให้เจ็บแปลบ เช่นเดียวกับมหาบุรุษและรัฐบุรุษทั้งหลายต้องถูกทิ่มตำให้ทนทุกข์มาแล้ว ก็เรื่องนินทาฉาวโฉ่อย่างนี้ใช่ไหมเล่าที่ทำให้พระรามต้องเนรเทศพระแม่เจ้าสีดาไปโดยนางหาความผิดมิได้ ก็ในกรณีของข้านี้จะให้ข้าทำอย่างไรเล่า"
เมื่อได้ยินสามีกล่าวดังนี้ นางเมธาวดีผู้เป็นปดิวรัดา (หญิงผู้จงรักภักดีต่อสามี) ก็กล่าวปลอบโยนว่า "ถ้าจะแก้ปัญหานี้ ท่านพี่ก็ควรจะทูลลาพระเจ้าแผ่นดิน โดยอ้างว่าจะไปบำเพ็ญบุณยยาตรานมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ตีรถะ (แปลว่า ฝั่งน้ำ หมายถึงท่าน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ไหลผ่าน และมีเทวาลัยตั้งอยู่ ผู้ใดอาบน้ำ ณ ท่าดังกล่าวนี้และกระทำการบูชาเทวรูปในเทวาลัย จะได้รับผลบุญบริสุทธิ์ ตีรถะดังกล่าวมีเรียงรายอยู่ริมแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น แม่น้ำสรัสวดี แม่น้ำคงคา และอื่น ๆ เป็นต้น) ต่าง ๆ พระราชาก็คงไม่อาจจะห้ามท่านได้ เมื่อเป็นดังนี้แล้วไซร้ โอ้ท่านมหาตมัน (ผู้มีอาตมันใหญ่ หมายถึง ผู้มีใจบริสุทธิ์ยิ่งใหญ่ หรือผู้มีใจสูง เพราะอาตมันที่อยู่ในใจนั้นเป็นสิ่งอมตะชั่วนิรันดร์) ท่านจงถือโอกาสท่องเที่ยวไปยังดินแดนต่างประเทศเป็นการพักผ่อนจิตใจของท่านเสียบ้าง จะทำให้ท่านรู้สึกว่าดวงจิตของท่านได้ถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ ไม่ต้องกังวลเรื่องหน้าที่การงานอีกต่อไป และในเวลาที่บ้านเมืองปราศจากท่านนี้ พระราชาก็จะต้องแบกภาระเองทุกสิ่งทุกอย่าง และจะค่อยสำนึกพระองค์เองทีละน้อย ๆ จนถึงที่สุดทรงกลับเป็นพระราชาที่ดีตามเดิม เมื่อถึงเวลาที่ท่านพี่กลับมาจะได้ทำงานโดยสะดวกใจ ไม่ต้องถูกคนนินทาว่าร้ายอีกต่อไป"
เมื่อได้ฟังภริยากล่าวดังนี้ ทีรฆทรรศิน ก็ตกลงและกล่าวว่า "ข้าจะทำดังนั้น" และเข้าไปเผ้าพระราชายศเกตุในวัง กราบทูลว่า
"ข้าบาทขอทูลลาไปบำเพ็ญบุญกิริยาตามเทวสถานต่าง ๆ เพราะข้าบาทมีความเห็นว่า ถึงเวลาอันสมควรแล้วที่จะต้องสร้างสมผลบุญทางพระศาสนาเสียที ช้าไปก็อาจจะไม่มีโอกาส เพราะข้าบาทอาจจะตายเสียก่อนก็ได้ ขอทรงอนุญาตด้วยเถิด"
เมื่อพระราชาได้ดังนั้นก็ตกพระทัย ตรัสว่า "เจ้าทำอย่างนั้นนะ เจ้าไม่จำเป็นจะต้องเดินทางไปยังตีรถะต่าง ๆ ก็ได้นี่นา จะบำเพ็ญบุญอยู่ที่บ้านเฉย ๆ ก็ได้ อนึ่งเทวาลัยต่าง ๆ ในเมืองเราก็ถมเถไป เจ้าจะต้องเสียเวลาเดินทางไปนอกประเทศให้เหนื่อยยากทำไม การทำบุญไม่เลือกว่าที่ไหน ๆ ก็ทำให้คนขึ้นสวรรค์ได้ทั้งนั้น"
ทีรฆทรรศินได้ฟังก็กราบทูลว่า "โอ ราชะ ผลบุญที่เกิดจากการให้ทรัพย์ แม้จะมากหลายเพียงไรก็ไม่อาจจะนับว่าเป็นผลบุญอันสูงสุดได้ เพราะมิได้ยังให้เกิดศรัทธาวิสุทธ์ได้ การธุดงค์ไปยังตีรถะต่าง ๆ และลงอาบน้ำอันศักดิ์สิทธิ์หน้าเทวาลัยนั่นต่างหากที่นับว่าเป็นบุญบริสุทธิ์ที่แท้จริง โอ อารยบุตร ขึ้นชื่อว่า การธุดงค์ไปยังตีรถะต่าง ๆ นั้นพึงกระทำแต่วัยหนุ่ม เพราะใครเลยจะรู้ได้ว่ามฤตยูจะมาถึงตนเมื่อใด บุคคลไม่พึงประมาทต่อกิจอันจำเป็นที่จะต้องทำมิใช่หรือ ขอทรงโปรดอนุญาตข้าพระบาทเถิด"
ขณะที่พระราชากำลังโต้ตอบอยู่กับมหามนตรีนั้น ก็พอดีมหาดเล็กคนหนึ่งเข้ามาขัดจังหวะกราบทูลว่า "พระอาญาไม่พ้นเกล้า โอ พระนฤเบศร บัดนี้พระสูรยาทิตย์กำลังคล้อยต่ำลงแล้ว ได้เวลาบูชาเทวะแล้วพระเจ้าข้า"
พระราชาได้ฟังก็รีบลุกจากพระราชอาสน์ เสด็จเข้าข้างในเพื่อลงสรงทันที เป็นโอกาสให้ทีรฆทรรศินรีบออกจากตำหนักกลับไปบ้านของตน เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้วก็รีบเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว เพื่อจะไปกระทำบุณยยาตราและห้ามภริยามิให้ติดตามไป การเดินทางถูกปิดเป็นความลับ มิให้คนรับใช้และใคร ๆ ล่วงรู้ เขามุ่งหน้าเดินทางไปยังแว่นแคว้นต่าง ๆ ตามลำดับ ได้บำเพ็ญบุญตามตีรถะสำคัญ ๆ โดยทั่วถึง ในที่สุดก็เดินทางมาถึงแคว้นปาณฑระ นครหลวงของแคว้นนี้อยู่ริมทะเล ทีรฆทรรศินได้เข้าไปบูชาพระศิวะในเทวาลัย ณ ที่นั้น เสร็จแล้วออกมานั่งพักอยู่ที่ลานภายนอก ขณะนั้นมีวาณิชผู้หนึ่งชื่อนิธิทัตต์ เข้ามานมัสการเทวรูปพระมหาเทพ (ชื่อหนึ่งขอพระศิวะ หรือพระอิศวร) เช่นเดียวกัน นายวาณิชแลเห็นทีรฆทรรศินนั่งอยู่ที่ลานหินแต่ลำพัง มีท่าทางอิดโรยเพราะแสงอาทิตย์ที่ร้อนแรงแลเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางไกล ก็มีใจเมตตาเพราะผู้ที่แลเห็นนั้นเป็นพราหมณ์ เพราะสวมสายยุชโญปวีต (เส้นด้ายศักดิ์สิทธิ์ที่พราหมณ์สวมเฉวียงบ่า แสดงว่าเกิดครั้งที่ ๒ คือ เกิดในศาสนา) และมีเครื่องหมายบางประการแสดงให้รู้ว่าเป็นพราหมณ์ผู้สูงส่ง ก็เข้าไปทักทายและเชิญมาบ้านของตนด้วยใจอารี ให้อาบน้ำและรับประทานอาหารตลอดจนเครื่องดื่มอันแสดงถึงฐานะอันมั่งคั่งของผู้เป็นเจ้าของบ้านเป็นอย่างดี เสร็จแล้วก็สนทนาปราศรัยผู้เป็นแขกว่า "ท่านเป็นใคร มาจากไหน และกำลังจะไปที่ใด" มหามนตรีจึงตอบว่า
"ตัวข้าเป็นพราหมณ์ชื่อ ทีรฆทรรศิน ข้าเดินทางมาจากแคว้นอังตคะ เพื่อทำบุญยจาริกไปในที่ต่าง ๆ "
เมื่อได้ฟังดังนั้น ไวศยบดี (เจ้าแห่งไวศยะ หมายถึง หัวหน้าพ่อค้า) ผู้ชื่อนิธิทัตต์ ก็กล่าวว่า
"ข้ากำลังเตรียมจะออกเดินทางไปค้าขายที่สุวรรณทวีป (เกาะทอง หมายถึงดินแดนแหลมอินโดนีเซีย) ฉะนั้นท่านจะต้องพักอยู่ที่บ้านข้าก่อน จนกว่าข้าจะกลับ เมื่อหายเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการจาริกครั้งนี้แล้วจึงค่อยกลับบ้านเถิด"
ทีรฆทรรศินได้ยินจึงกล่าวว่า
"ทำไมข้าจะต้องเฝ้าบ้านอยู่ที่นี่ เสียเวลาเปล่า ๆ ข้าจะเดินทางไปกับท่านนั่นแหละ ท่านมหาไวศยะ ถ้าท่านไม่ขัดข้องที่จะพาข้าไปด้วย"
หัวหน้าพ่อค้าได้ฟังก็ยิ้ม ตอบตกลงทันที มหามนตรีได้รับอนุญาตก็ดีใจ เตรียมของใช้ส่วนตัวไว้พร้อมแล้ว ก็ออกเดินทางไปกับกองคาราวานของนิธิทัตต์ ขบวนคาราวานมาถึงริมทะเลก็จัดแจงขนสินค้าลงเรือ และแล่นออกสู่ทะเลกว้าง รอนแรมไปในมหาสมุทรนับเดือน ในที่สุดก็เดินทางมาถึงสุวรรณทวี ทีรฆทรรศินมองดูบ้านเรือนหอห้างร้านค้าอันจ้อกแจ้กจอแจด้วยความตื่นใจและออกท่องเที่ยวเตร็ดเตร่ในเมืองนั้นหลายวัน จนกระทั่งนิธิทัตต์ขายสินค้าเสร็จและซื้อสินค้ากลับบ้าน เรือของสมุทรวาณิชก็ออกจากท่ารอนแรมมาในทะเลตามเส้นทางเดิม ขณะที่เรือแล่นมาในมหาสาคร วันหนึ่งทีรฆทรรศินแลไปในทะเล เห็นลูกคลื่นใหญ่พุ่งขึ้นไปในอากาศ มีต้นกัลปพฤกษ์ (ต้นไม้สารพัดนึก เป็นต้นไม้สวรรค์อย่างหนึ่งในจำนวน ๔ อย่าง คือ กัลปพฤกษ์ ปาริชาติ มณฑารพ (หรือมณฑา) และสันตานะ) ชูต้นและกิ่งก้านเป็นทองระยิบระยับ มีแก้วประพาล (ปะการังสีแดง) เกาะอยู่ตามกิ่งแพรวพราว ต้นไม้ต้นนั้นมีดอกและผลเป็นเพชรพลอยหลากสีสวยงามยิ่งนัก บนกิ่งของต้นไม้มีร่างของนางงามอันหาที่เปรียบมิได้เอนร่างนอนอยู่บนรัตบรรยงก์ (แท่นแก้ว) อันงามวิจิตร ปรากฏการณ์อันประหลาดนี้ทำให้มหามนตรีพิศวงอยู่ในใจว่า "พระช่วย นี่มันอะไรกัน"


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:23:44:17 น.  

 
ทันใดนั้นนางงามผู้มีพิณอยู่ในหัตถ์ก็เริ่มขับลำนำเพลงเจื้อยแจ้ว มีเนื้อร้องว่า "ใครก็ตามที่สร้างสมบุญไว้ในชาติปางก่อน มาถึงชาตินี้ก็ย่อมได้แสวงผลบุญของตนอย่างไม่มีที่สงสัย เพราะชะตากรรมใดเล่าจะมาเปลี่ยนแปลงให้เป็นอื่นได้"
พอร้องเพลงจบ นางโฉมงามก็กลับจมหายไปในทะเลพร้อมด้วยต้นกัลปพฤกษ์และมัญจาสนะ (เตียงนอน) ที่นางนอน ทีรฆทรรศินประสบเหตุการณ์ประหลาดอัศจรรย์ดังนั้น ก็รำพึงแก่ตัวเองว่า
"วันนี้เราได้ประจักษ์ภาพอันประหลาดเหลือเชื่อจริงหนอ ใครเล่าจะเคยคิดฝันบ้างว่า มีต้นกัลปพฤกษ์และนางเทพธิดาอยู่ในทะเล ปรากฏอยู่ประเดี๋ยวเดียวก็หายไป หรือว่านี่คือเหตุการณ์อย่างเดียวกับที่เกิดขึ้นในกูรมาวตาร (นารายณอวตาร ปางที่ ๒ พระนารายณ์อวตารลงมาเกิดเป็นเต่าใหญ่รองรับภูเขามันทรตอนกวนน้ำทิพย์ ก่อนจะกวนได้สำเร็จมีของวิเศษผุดขึ้นมาจากทะเล ๑๔ อย่าง ในจำนวนนี้มีต้นปาริชาติ พระลักษมี และพระจันทร์ รวมอยู่ด้วย) ซึ่งในคราวกวนน้ำทิพย์ครั้งนั้น พระลักษมี พระจันทร์ ต้นปาริชาติ และของวิเศษต่าง ๆ มิได้ผุดขึ้นมาจากทะเลหรอกหรือ"
บรรดาลูกเรือแลเห็นทีรฆทรรศินแสดงอาการงงงวยเช่นนั้นก็กล่าวว่า "ท่านประหลาดใจนักหรือ ความจริงก็น่าประหลาดดอก เพราะท่านเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก แต่พวกเราเคยเห็นเสียจนชินแล้วจึงไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไร"
นี่คือถ้อยคำที่เหล่ากะลาสีกล่าวแก่มนตรีหนุ่ม แต่พราหมณ์หนุ่มก็ยังครุ่นคิดอยู่ไม่หาย จวบจนเรือสินค้าแล่นมาเทียบท่าที่เมืองเดิม บรรดาลูกเรือต่างก็ขนข้าวของลงจากเรือเป็นจ้าละหวั่น พอมาถึงบ้านพ่อค้าทีรฆทรรศินก็กล่าวแก่หัวหน้าพ่อค้าว่า
"ดูก่อนไวศยบดี บัดนี้การเดินทางก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว ข้ารู้สึกขอบคุณท่านเป็นอย่างยิ่ง เห็นทีข้าจะต้องอำลาท่านไปก่อน จงอยู่เย็นเป็นสุขเถิด"
ธนทัตต์ได้ฟังก็อาลัยไม่อยากจะให้ไป แต่เห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะพยายามหน่วงเหนี่ยวไว้อีก จึงยอมให้มนตรีหนุ่มจากไป ทีรฆทรรศินก็ออกเดินทางผ่านแว่นแคว้นต่าง ๆ ตามทางที่เคยผ่านมา ในที่สุดก็บรรลุถึงแคว้นอังคะอันเป็นบ้านของตน
ฝ่ายจารบุรุษที่พระราชายศเกตุส่งไปสอดแนมทีรฆทรรศิน แลเห็นอัครมนตรีเดินทางกลับมาและกำลังจะผ่านประตูเมืองเข้ามาก็รีบนำข่าวไปทูลพระราชา พระราชาผู้มีความทุกข์เพราะการจากไปของเสวกามาตย์ตัวโปรดก็รีบเสด็จออกไปต้อนรับถึงนอกเมือง ทรงทักทายและสวมกอดทีรฆทรรศินด้วยความรัก และรีบพาเข้าวัง ไม่ทันที่เขาจะได้พักผ่อนเพราะความเหน็ดเหนื่อยในการเดินทาง ทรงตัดพ้อว่า
"เจ้าช่างใจร้ายนี่กระไร ทิ้งข้าได้ลงคอเหมือนคนไม่มีหัวใจ นึกจะไปก็ไปง่าย ๆ ปุบปับก็เกิดอยากจะไปธุดงค์โดยกะทันหัน นี่คงเป็นชะตาลิขิตที่พระพรหมธาดากำหนดไว้เป็นแน่แท้กระมัง เอาเถอะไหนลองบอกข้ามาซิว่า เจ้าไปถึงไหน และได้พบได้เห็นอะไรแปลกบ้าง"
ทีรฆทรรศินได้ฟังก็เล่าเรื่องทูลพระราชาตั้งแต่ต้นจนจบ ตลอดจนเรื่องที่เดินทางกลับจากสุวรรณทวีป และได้เห็นนางทิพย์ผุดขึ้นมาจากท้องทะเล มีความงามเลอเลิศยิ่งกว่านางใดในโลกทั้งสาม และมัญจาสนะของนางบนกิ่งของต้นกัลปพฤกษ์นั้นเล่าก็วิจิตรตระการตาสุดที่จะบรรยาย แต่ได้ชมไม่ถึงอึดใจนางก็หายกลับลงไปใต้ทะเลอีก
ทันทีที่พระราชาฟังจบ ก็บังเกิดความหลงใหลใฝ่ฝัน อยากจะได้เห็นนางเป็นกำลัง ทรงรุ่มร้อนพระทัยด้วยความรัก จนคิดว่าราชอาณาจักรและชีวิตของพระองค์หมดความหมายลงทันทีถ้ามิได้นางเชยชมสมพระทัย พระราชาทรงจับมือมนตรีไว้ ละล่ำละลักว่า
"ข้าจะต้องได้เห็นนางยอดดวงใจนั้นให้ได้ มิฉะนั้นข้าคงตายแน่ ๆ ข้าเดินทางไปพบนางโดยทางที่เจ้าบอกข้า และในกรณีนี้ข้าจะไปคนเดียวเจ้าไม่ต้องไปด้วย ข้าจะมอบราชการทั้งปวงให้เจ้าดูแล จงอย่าขัดคำสั่งของข้า มิฉะนั้นมฤตยูจะไปเยือนเจ้าถึงบ้านทีเดียว"
ตรัสดังนั้นแล้ว โดยมิให้โอกาสมนตรีของพระองค์ได้อ้าปากตอบแต่ประการใด พระราชาก็รีบส่งมนตรีกลับไปบ้านของตนเพื่อพบปะญาติมิตรที่มาคอยต้อนรับอยู่ แต่เมื่อกลับไปถึงบ้านและพักผ่อนแล้วทีรฆทรรศินก็ยังหาได้มีความสงบใจไม่ ก็มนตรีที่ไหนเล่าจะมีความสุขอยู่ได้ในเมื่อเจ้านายของตนต้องเดือดร้อนใจเพราะไฟพิศวาสเผาผลาญเช่นนั้น
คืนวันรุ่งขึ้นพระราชายศเกตุออกเดินทาง ทรงปลอมพระองค์เป็นโยคี และทรงมั่นพระทัยว่าได้มอบราชกิจทั้งปวงไว้ในมือของมหามนตรีเรียบร้อยแล้ว ขณะที่เดินทางไปนั้นทรงพบโยคีชื่อ กุศนาภ ในระหว่างทางจึงเข้าไปกระทำความเคารพอย่างนอบน้อม พระโยคีแลเห็นก็ยิ้มกล่าวปราศรัยแก่นักบวชปลอมว่า
"ข้ารู้ว่าท่านจะไปไหน แต่หนทางที่จะไปนั้นมิใช่ง่าย จงมีความกล้าหาญและอดทนเถิด จากนี้ไปถึงฝั่งทะเลจะมีเรือพ่อค้าวาณิชจอดอยู่จงลงเรือไปสุวรรณทวีป วาณิชที่เป็นเจ้าของเรือมีชื่อว่าลักษมีทัตต์ เรือของเขาจะต้องแล่นผ่านทะเลที่มีนางทิพย์ปรากฏ ถ้าท่านโชคดีก็อาจจะมีโอกาสได้พบนางดังใฝ่ฝัน ขอให้โชคดีเถิด"
ถ้อยคำของตปัสวิน(ผู้มีตบะ หมายถึง ฤษี หรือโยคี) ทำให้พระราชาเกิดกำลังใจขึ้นเป็นอันมาก ทรงกระทำอัญชลีแล้วเดินทางต่อไป หลังจากที่ผ่านแม่น้ำหลายสายและภูเขาหลายลูกแล้วในที่สุดก็มาถึงฝั่งทะเล ได้พบคนมากหน้าหลายตาเดินขวักไขว่อยู่ที่ท่าจอดเรือ พระราชาทรงไต่ถามชาวเรือ ณ ที่นั้น จนได้พบลักษมีทัตต์ผู้ซึ่งโยคีแนะนำมา กำลังจะออกเรือไปสุวรรณทวีป ลักษมีทัตต์แลดูพระราชา เห็นมีลักษณะผิดจากคนทั่วไป กล่าวคือมีลายกงจักรอยู่ที่รอยเท้าและลักษณะต่าง ๆ แสดงวรรณะของกษัตริย์ก็มีความสนใจอนุญาตให้โยคีจำแลงโดยสารเรือไปด้วย เรือของวาณิชแล่นฝ่าฟันคลื่นลมไปจนถึงสะดือทะเล ก็มีนางงามโผล่ขึ้นมาจากน้ำโดยนั่งบนกิ่งของต้นกัลปพฤกษ์ พระราชารู้สึกตื่นเต้นต่อภาพที่แลเห็นเฉพาะหน้า จนตะลึงตะไล อ้าปากค้าง ราวกับนกจักโกระ (นกเขาไฟผู้เสพแสงจันทร์เป็นอาหาร) ที่เพ่งดูแสงจันทร์ฉะนั้น ขณะนั้น นางก็เริ่มขับร้องด้วยน้ำเสียงอันอ่อนหวานประสานกับเสียงพิณที่นางดีดด้วยท่วงท่าอันเป็นเสน่ห์จับใจยิ่งนัก บทเพลงที่นางขับมีเนื้อร้องว่า
"คนที่กระทำกรรมอันใดไว้ในชาติก่อน ย่อมไม่มีข้อสงสัยเลยว่า เขาจะต้องเสวยผลแห่งกรรมในชาตินี้ ชะตากรรมของเขาย่อมเที่ยงแท้แน่นอนไม่มีวนผันเป็นอื่น ฉะนั้นบุคคลใดที่เกิดมาไม่ว่าที่ใดสถานใด จะหลีกหนีพรหมลิขิตของตนหาได้ไม่"
พระราชาได้ฟังนางขับร้องด้วยเนื้อเพลงนี้ ทรงรู้สึกเคลิ้มตาม และมีหัวใจอันแหลกสลายเพราะความรัก ทรงหยุดนิ่งมิได้แสดงอาการเคลื่อนไหว พระเนตรจ้องเหม่อที่นางอย่างไม่กะพริบ ครั้นแล้วก็รู้สึกทรงโค้งพระเศียรลงต่อแสดงความคารวะต่อมหาสมุทรอันไพศาล และกล่าวถ้อยคำต่อไปนี้
"ข้าแต่พระสมุทรคงคาอันเป็นรัตนากร (ที่เกิดแห่งรัตนะ หมายถึง มหาสมุทร) ของโลก ผู้ทรงความลึกซึ้งดื่มด่ำจนสุดที่จะหยั่งได้ ท่านได้ซ่อนเร้นนางอัปสรสมุทรนี้ไว้โดยยื้อยุดหฤทัยขององค์พระวิษณุไว้ให้เหินห่างจากองค์พระลักษมี ด้วยประการฉะนี้แล ข้าขอทอดตัวเองให้อยู่ในความพิทักษ์ของท่าน โอ้สมุทรเทพผู้เป็นที่พึ่งของราชะเยี่ยงข้านี้ ขอได้โปรดประทานพรให้ข้าสมปรารถนาด้วยเถิด"
ขณะที่พระราชาทรงกล่าวถ้อยคำนี้ นางโฉมงามก็ค่อยอันตรธานตนหายไปจากท้องทะเล พร้อมกับต้นกัลปพฤกษ์ พอพระราชาแลเห็นดังนั้น ก็รีบกระโจนลงสู่ทะเลติดตามนางไป เหมือนกับจะขอให้น้ำทะเลช่วยขจัดเปลวไฟเสน่หาในพระอุระให้บรรเทาลง
เมื่อไวศยบดีลักษมีทัตต์ แลเห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ตกใจเป็นอันมาก คิดว่าพระราชาสิ้นชีวิตแล้ว มีความโศกเศร้ายิ่งนัก ว้าวุ่นด้วยความวิตกแทบว่าจะฆ่าตัวตาย แต่ทันใดมีเสียงดังมาจากสวรรค์ว่า "ไวศยะเจ้าอย่าทำโง่ ๆ หน่อยเลย พระราชาหาได้เป็นอันตรายไม่ ถึงแม้พระองค์จะจมหายลงในทะเล พระราชายศเกตุผู้นี้ซึ่งปลอมร่างเป็นโยคีเพื่อติดตามหานางนั้น ความจริงทั้งพระองค์และนางต่างก็เคยเป็นสามีภรรยากันมาแต่ชาติก่อน เมื่อได้นางสมปรารถนาแล้ว พระองค์ก็จะกลับคืนบ้านเมืองของพระองค์เอง"
เมื่อลักษมีทัตต์ได้ยินเสียงสวรรค์บันลือเช่นนั้นก็หายวิตก ให้เรือแล่นต่อไปยังสุวรรณทวีปอันเป็นที่หมาย
ฝ่ายพระราชายศเกตุ เมื่อโจนลงทะเลไปนั้น ชั่วอึดใจหนึ่งก็ลงมาถึงก้นสมุทร ทันใดก็ประสบภาพนครอันงามวิจิตรตั้งอยู่เบื้องหน้าเป็นที่มหัศจรรย์ยิ่งนัก นครนั้นสว่างรุ่งเรืองด้วยปราสาทราชวัง อันมีเสาทำด้วยรัตนมณีสีต่าง ๆ เป็นประกายระยิบระยับ มีหลังคาอันดาษด้วยทองศฤงคีทอแสงวูบวาบลังเมลือง หน้าต่างทุกบานก็ประดับด้วยไข่มุกขาวปลั่งเป็นสายสร้อยห้อยระย้า ใกล้ ๆ กับปราสาทมีสวนขวัญอันสะพรั่งด้วยดอกไม้นานาพรรณ แลสระน้ำอันมีน้ำใสปานแก้ว บันไดท่าน้ำประดับด้วยมณีหลากสี บนฝั่งเล่าก็เรียงรายไปด้วยต้นกัลปพฤกษ์อันมีกิ่งก้านเป็นอำพันสีน้ำผึ้ง เมื่อพระราชาทรงเปิดประตูแก้วเข้าไปในปราสาท ทอดพระเนตรเห็นตั่งทองอันแกะสลักอย่างประณีตบรรจง บนตั่งนั้นมีร่างมนุษย์ผู้หนึ่งนอนเหยียดยาว มีผ้าแพรปิดหน้าอยู่ พระราชาทรงประหลาดพระทัยไม่ทราบว่าเป็นร่างใคร ด้วยความใคร่รู้จึงเปิดผ้าที่คลุมออก ก็จำได้ทันทีว่านางคือสตรีที่พระองค์ใฝ่ฝันนั่นเอง นางมีวงพักตร์อันงามปลั่งดั่งสมบูรณจันทร์ หาที่ตำหนิมิได้ ทันทีที่ผ้าคลุมร่างสีดำตกลง ภาพของนางก็เฉิดฉายปรากฏขึ้นประหนึ่งดวงศศีที่งามปลั่งในราตรี
ทันทีที่พระราชาทอดพระเนตรเห็นนาง พระองค์ก็มีพระทัยแช่มชื่นขึ้นทันที ประหนึ่งว่า บุรุษที่เดินกระเซอะกระเซิงมาในทะเลทรายในเวลากลางวันที่ร้อนระอุด้วยแดดที่แผดเผาอย่างแรงกล้า และได้พบแม่น้ำโดยบังเอิญ ทันใดนั้นนางก็เปิดเปลือกตาขึ้น แลไปพบพระราชาผู้ประกอบด้วยบุรุษลักษณ์อันงามสง่า ก็รีบลุกขึ้นจากแท่นด้วยความดีใจ กระทำการต้อนรับด้วยท่าทางอันละมุนละม่อม และกล่าวด้วยความขวยเขินว่า "อภัยเถิด ข้าอยากรู้ว่าท่านเป็นใคร เหตุใดจึงลงมาถึงที่อันอยู่ก้นบึ้งของบาดาลนี้ อันใคร ๆ ยากจะลงมาถึง และทำไมท่านผู้ประกอบด้วยกษัตริยลักษณะจึงปลอมตัวมาโดยเพศโยคี โปรดตรัสเถิดว่าพระองค์มีพระประสงค์สิ่งใด จึงมาหาข้าถึงที่นี่"


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:23:46:37 น.  

 
เมื่อพระราชาได้ฟังคำของนางจึงตอบว่า "แม่โฉมงาม ข้าเป็นราชาแห่งแคว้นอังคะ มีชื่อว่ายศเกตุ ที่ข้ามานี่ก็เพราะข้าได้ทราบข่าวจากสหายที่ข้าเชื่อถือ ว่าเจ้าจะปรากฏร่างขึ้นจากน้ำทะเลทุกวัน ดังนั้นข้าจึงปลอมตัวเป็นโยคีมาสืบเรื่องของเจ้า รู้ไหมว่าข้าต้องสละราไชสวรรค์ ติดตามเจ้ามาจนได้เห็นหน้าเจ้า และโจนลงทะเลโดยไม่อาลัยแก่ชีวิต เจ้าจะบอกได้ไหมว่าเจ้าคือใคร"
นางได้ฟังคำของพระราชาก็ทูลตอบด้วยความรู้สึกที่กระอักกระอ่วนครึ่งอดสูและปลาบปลื้มในใจว่า
"โอ ราชะ ขอจงทรงทราบเถิด เมืองนี้เป็นของพระราชาแห่งวิทยาธร ชื่อ มฤคางกเสน ตัวข้าเป็นลูกของพระราชาผู้นั้น มีชื่อ มฤคางกวดี บิดาของข้ามีความจำเป็นบางอย่างต้องละทิ้งบ้านเมืองและตัวข้าไป ทำให้ข้าต้องอยู่โดดเดี่ยวด้วยความเหงาหงอย ข้าทนความเปล่าเปลี่ยวไม่ไหว จึงต้องขึ้นมาจากทะเลพร้อมด้วยต้นกัลปพฤกษ์และพิณงาม นั่งขับเพลงให้หายเหงาไปวันหนึ่ง ๆ "
เมื่อนางได้กล่าวดังนี้ วีรกษัตริย์ก็กล่าวปลอบโยนด้วยความสงสาร ทำให้นางแช่มชื้นขึ้น นางสนองตอบด้วยอากับปกิริยาอันแสดงความเสน่หาอย่างท่วมท้น และให้สัญญาว่านางจะยอมเป็นชายาของพระองค์โดยมีเงื่อนไขว่า
"โอ บดินทร์ ข้าขอให้พระองค์อนุญาตให้ข้าลาจากไปเดือนละสี่วันทุก ๆ เดือน คือวันสิบสี่ค่ำและแปดค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม ข้าคงจะไม่ได้อยู่ปรนนิบัติพระองค์ตามวันดังกล่าวนั้น โปรดอย่าทรงบังคับให้ข้าน้อยต้องตอบว่าไปไหน หรืออย่าได้ทรงห้ามข้ามิให้ไปเลย"
เมื่อนางทิพย์ได้กล่าวถ้อยคำอันเป็นเงื่อนไขดังนี้ พระราชาก็ตรัสตกลง และทรงวิวาห์กับนางโดยแบบคานธรรพวิวาหะ(การแต่งงานโดยฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง ยินยอมได้เสียกันเอง)
วันหนึ่ง ขณะที่พระราชากำลังเสพสุขสำราญด้วยนางมฤคางกวดี นางได้กล่าวกำชับว่า
"ยอดรัก ข้าขอเตือนพระองค์ว่าวันนี้เป็นวันแรมสิบสี่ค่ำ ข้าจะต้องจากไปด้วยกิจสำคัญอย่างหนึ่งตามที่ทูลไว้แล้ว ขอให้พระองค์ประทับอยู่ที่นี่อย่าออกไปไหน และระหว่างที่ประทับรออยู่นี้ อย่าได้เสด็จเข้าไปในพลับพลาแก้วนั้นเป็นอันขาด โอ สวามิน ถ้าพระองค์เข้าไปในพลับพลาแก้ว ก็จะเจอทะเลสาบแห่งหนึ่ง พระองค์จะตกลงไปในนั้นและจะต้องกลับคืนไปสู่โลกมนุษย์อีก" เมื่อกล่าวจบนางก็อำลาออกเดินจากนครไป แต่พระราชามิได้ทำตามคำของนาง ทรงถือขรรคาวุธย่องติดตามนางไปอย่างลับ ๆ โดยหวังจะสืบหาสาเหตุแห่งพฤติกรรมของนางให้จงได้
เมื่อตามนางไปมิชาก็แลเห็นราษสตนหนึ่ง เดินตรงเข้ามาหานางด้วยท่วงท่าอันดุร้าย มีปากอ้าแสยะแลเห็นฟันอันแหลมคมน่าสะพรึงกลัวเรียงรายเป็นแถว มันรองคำรามกึกก้อง และคว้าร่างนางยัดใส่ปากกลืนหายลงไปในคอทันที พระราชาแลเห็นดังนั้นก็ตกตะลึง เมื่อได้สติก็รีบชักดาบออกจากฝัก ปราดเข้าหารากษสนั้นด้วยความโกรธสุดขีด และฟันคอของมันขาดกระเด็นไป เลือดพรั่งพรูราวกับน้ำ ร่างอันใหญ่โตล้มฮวบลงขาดใจตาย ทันใดร่างนางมฤคางกวดีก็ปรากฏออกมา พระราชาทรงประคองนางไว้ด้วยความตื่นเต้นและเต็มตื้นไปด้วยความดีพระทัย ละล่ำละลักถามว่า "ที่รักของข้า นี่มันเรื่องอะไรกัน ข้าฝันไปหรือว่าที่นี่เป็นเพียงภาพมายาเท่านั้น"
เมื่อถูกพระราชาถามดังนี้ นางวิทยาธรี (วิทยาธรผู้หญิง) ก็รำลึกถึงเหตุการณ์ขึ้นมาได้ จึงทูลเล่าความจริงว่า
"โอ นฤเบศร ทรงฟังเถิด นี่มิใช่ความฝันและมิใช่มายาดอก แต่เป็นคำสาปที่เกิดจากบิดาของข้าเอง ผู้เป็นราชาแห่งวิทยาธรทั้งหลาย เดิมทีเดียวท่านพ่อเคยครองนครนี้อยู่ ถึงแม้จะมีโอรสหลายองค์ แต่ก็ทรงรักข้ายิ่งกว่าใคร ๆ ขนาดที่ว่าวันไหนไม่เจอหน้าข้า พระองค์จะไม่ยอมเสวยเป็นอันขาด แต่ข้าเป็นผู้ที่มีความภักดีในองค์พระศิวะ ข้าต้องมาทำพิธีบูชาพระองค์ ณ ที่นี้ อันเป็นที่สงัดปราศจากผู้คน ในวันแปดค่ำและสิบสี่ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรมของเดือน วันหนึ่งเป็นวันสิบสี่ค่ำ ข้ามาที่นี่และบูชาพระเคารี (เป็นชื่อหนึ่งของพระอุมา ชายาของพระศิวะ ถือว่าเป็นปางที่สวยงาม และใจดี เช่นเดียวกับพระอุมา เคารี แปลว่า ผู้มีผิวสีเหลืองอ่อนหรือสีนวล) เป็นเวลาช้านาน เพราะข้าเป็นผู้ขยันมั่นภักดีในพระองค์อย่างยิ่ง เวลาผ่านไปจวนจะสิ้นวันก็ยังบูชาไม่เสร็จ วันนั้นท่านพ่อไม่ได้เสวยอะไรทั้งข้าวและน้ำ มีความหิวกระหายเป็นกำลัง ทั้งนี้เพราะท่านรอข้าอยู่ ท่านโกรธมาก พอข้ากลับมาข้ารู้สึกสำนึกผิด มีความละอายเป็นอันมาก พอแลเห็นหน้าข้าท่านก็สาปด้วยความโกรธว่า
"กลับมาแล้วหรือนางตัวดี ช่างอวดดีนี่กระไร ข้าหิวแทบตายชักเพราะอดมาทั้งวัน เจ้าเคยเห็นใจข้าบ้างไหม ปล่อยให้ข้าคอยมาทั้งวัน ดีละนับแต่นี้ไป ในวันแปดค่ำและสิบสี่ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม ข้าจะให้รากษสชื่อ กฤตานตสันตราส จับเจ้ากินเป็นอาหารให้สาสมกับที่เจ้าขยันไปบูชาพระศิวะ ณ ที่นั้นจนลืมข้า และทุก ๆ ครั้งที่เจ้าถูกกิน เจ้าจะต้องเป็นไปตามคำสาปของข้า และจะได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัส ถูกราษสมันขย้ำ เจ้าจะต้องอยู่แต่เดียวดายในนครนี้เรื่อยไปไม่มีกำหนด"
เมื่อถูกท่านพ่อสาปเอาเช่นนี้ ข้าตกใจแทบสิ้นชีวิต พยายามวิงวอนขอโทษ จนในที่สุดท่านใจอ่อน ยอมแก้ไขคำสาปลงว่า "เอาเถิด เจ้าจะพ้นโทษสักวันหนึ่ง เมื่อใดก็ตามถ้ามีพระราชาองค์หนึ่งชื่อยศเกตุ ผู้ครองแคว้นอังคะเดินทางมาถึงที่นี่ พระองค์จะได้เป็นสามีของเจ้า ได้เห็นรากษสกลืนกินเจ้าเป็นอาหาร พระองค์จะฆ่ามัน เจ้าก็จะได้เป็นอิสระอีกครั้งหนึ่งและพ้นจากคำสาปของข้า"
"เมื่อท่านพ่อกำหนดคำสาปแก่ข้าดังนี้แล้ว ท่านก็จากไป พร้อมกับนำบริวารไปสู่ภูเขานิษัทอันเป็นที่อยู่ของมนุษย์ ส่วนตัวข้าก็ถูกทอดทิ้งอยู่ที่นี่ต่อไปตามคำสาป บัดนี้คำสาปก็สิ้นสุดลงแล้ว และข้าก็จำความหลังได้ทุกสิ่งทุกอย่าง บัดนี้ข้าก็จะได้กลับไปหาท่านพ่อของข้าที่ภูเขานิษัท เพราะมีกฎในระหว่างพวกเราชาวสวรรค์ว่า เมื่อใดคำสาปสิ้นสุดลง เมื่อนั้นผู้ถูกสาปจะได้คืนสู่สภาพเดิม และกลับไปอยู่กับพวกพ้องตามเดิม ส่วนพระองค์จะพอพระทัยประทับอยู่ที่นี่ต่อไปก็สุดแต่ความประสงค์ หรือจะเสด็จกลับบ้านเมืองก็แล้วแต่จะทรงตัดสินพระทัย"
เมื่อนางกล่าวจบลง พระราชารู้สึกเสียพระทัยนัก ตรัสแก่นางว่า
"เจ้ารูปงาม ได้โปรดเถอะ เจ้าอย่าจากข้าไปภายในเจ็ดวันนี้เลย ข้าอยากจะอยู่กับเจ้าในสวนขวัญนี้สักระยะหนึ่งก่อน เพื่อรักษาความเจ็บปวดในหัวใจด้วยความสุขครั้งสุดท้าย จากนั้นข้าก็จะกลับไปบ้านเมืองของข้า"
นางฟังคำวิงวอนก็ใจอ่อน ยอมตกลงตามสัญญา พระราชาได้ประทับอยู่กับนางในอุทยานเป็นเวลาหกวัน ทรงเล่นน้ำในสระแก้วอันมีดอกบัวบานสะพรั่งกับนาง น้ำในสระอุบลนั้นแผ่ไพศาลสุดสายตา มีคลื่นม้วนตัวเป็นเกลียววิ่งเข้าสู่ฝั่งไม่ขาดระยะ ยังเสียงบังเกิดดังซ่าผสานเสียงหงส์และนากกาเรียนที่บินและเล่นอยู่เหนือผิวน้ำ เป็นเสียงเศร้าสร้อยเหมือนกับจะกล่าวว่า "อยู่ที่นี่เถิดนะ อย่าได้จากไปเลย"
ถึงวันที่เจ็ด พระราชาพานางกลับเข้าสู่พลับพลาแก้ว ผ่านพ้นทวารเข้าไปเป็นบึงน้ำสีเขียวสดใสดังมรกต เป็นที่จะผ่านไปสู่แดนมนุษย์ พระราชาทรงโอบเอวนางเดินมาถึงฝั่งสระศักดิ์สิทธิ์ แล้วกระโจนหายลงไปในสระนั้น ปรากฏว่ามาผุดขึ้นที่สระในสวนหลวงที่แคว้นอังคะ เมื่อคนเฝ้าอุทยานแลเห็นก็รีบพากันมาต้อนรับด้วยความยินดี และส่งข่าวไปยังทีรฆทรรศินผู้เป็นมหาอำมาตย์นายก เมื่อมหาอำมาตย์ทราบข่าวก็รีบมาเฝ้าทูลเชิญเสด็จเข้าวังพร้อมด้วยนางผู้มีสิริ คือนางมฤคางกวดี มนตรีหนุ่มแลเห็นนางก็จำได้ว่านางคือใคร มีความฉงนใจถึงกับรำพึงในใจว่า
"กระไรหนอ แท้จริงนางนี้คือทิพยกัญญาที่ข้าเห็นในมหาสมุทรนี่นา ทำไมพระราชาไปหานางมาได้เล่า ช่างเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อจริง ๆ แต่เรื่องเช่นนี้ทำไมจะเป็นไปไม่ได้เล่า ในเมื่อชะตาชีวิตของทุกคนนั้นเป็นที่สิ่งที่พระธาดาพรหมทรงลิขิตไว้แล้วบนหน้าผากของเขา"
บรรดาข้าเฝ้าเหล่าบริพารตลอดจนประชาราษฎรทั้งหลาย ได้ทราบข่าวการเสด็จกลับมาของพระราชา ต่างก็ปิติยินดีกันทั่วหน้า มีการเฉลิมฉลองและเล่นมหรสพกันเป็นที่ครึกครื้น แต่นางมฤคางกวดีผู้เดียวบังเกิดความร้อนรุ่มในใจ เมื่อเป็นเวลาเจ็ดวัน บัดนี้ก็ครบกำหนดแล้ว จะต้องกลับคืนไปสู่ดินแดนแห่งวิทยาธรอันเป็นที่อยู่ของตนตามสัญญา ถึงแม้จะมีความรักและความอาลัยในพระราชาเพียงใดก็จำเป็นจะต้องไป แต่พอเตรียมตัวจะไป ก็ปรากฏว่าอิทธิฤทธิ์ที่จะเหาะเหินเดินอากาศได้นั้นเสื่อมหายไป ไม่อาจจะเดินทางกลับสวรรค์ได้อีก แม้นางจะพยายามเพ่งมโนมยิทธิอย่างไรก็ไม่เป็นผล ทำให้นางเศร้าโศกผิดหวังยิ่งนัก พระราชาแลเห็นนางเอาแต่พิลาปคร่ำครวญก็ถามว่า "เจ้าผู้เป็นที่รักองข้า เจ้าเป็นทุกข์ร้อนด้วยเหตุใด จึงโศกศัลย์ถึงเพียงนี้ เป็นอะไรบอกข้าบ้างสิ" นางวิทยาธรีได้ฟังก็ทูลตอบว่า "โอ้ อารยบุตร ข้าติดตามพระองค์มาด้วยความรัก และอยู่ด้วยพระองค์จนเกินกำหนดเวลา บัดนี้ไสยเวทของข้าได้เสื่อมหมดแล้ว ไม่อาจจะกลับไปหาพวกพ้องของข้าได้อีก ข้าจึงเป็นทุกข์ยิ่งนัก"
เมื่อพระราชาได้ฟังนางกล่าวดังนั้น ก็กล่าวว่า "จะเป็นทุกข์ไปไยเล่า เจ้ามีข้าอยู่ทั้งคนแล้วมิใช่หรือ ควรจะดีใจเสียอีกว่า เราทั้งสองจะได้อยู่ด้วยกันโดยไม่ต้องพรากจากไปไหนอีกจนชั่วชีวิต ข้าสัญญาว่าข้าจะรักเจ้าตลอดไป ไม่มีใจเป็นอื่นเลย"
พระราชากับนางวิทยาธรีมีชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุกนับตั้งแต่นั้น เว้นแต่ทีรฆทรรรศิน จอมมนตรีแต่ผู้เดียวที่ประสบความผิดหวังเต็มแปล้ ต้องนอนแซ่วอยู่บนเตียงด้วยความโทมนัส และสิ้นใจตายไปด้วยหัวใจที่แตกสลาย แม้จะได้รับการชดเชยด้วยนางงามมาแทนที่ก็ตาม พระราชายังทรงรู้สึกว่าชีวิตของพระองค์นั้นขาดอะไรอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีทางจะเรียกคืนได้อีก
เมื่อเวตาลผู้นั่งอยู่บนพาหาของพระเจ้าตริวิกรมเสนได้จบนิทานของตนลง ก็กล่าวแก่พระราชาว่า "เรื่องนี้พระองค์ทรงคิดอย่างไร เหตุใดหัวใจของมหามนตรีจึงแตกสลาย ในเมื่อเจ้านายของตนได้ประสบความสำเร็จสมความปรารถนาเช่นนั้น เขาต้องหัวใจสลายเพราะความโศกเศร้าเนื่องจากเอาชนะความรักของนางทิพย์ยอดเสน่หาผู้นั้นไม่ได้ หรือว่าเสียใจที่จะต้องสูญเสียอำนาจในการปกครองไป และต้องผิดหวังอย่างยิ่งในการที่พระราชาเสด็จกลับพระนครพร้อมด้วยนาง โอ ราชะ ถ้าแม้พระองค์รู้คำตอบแล้ว แต่ไม่ยอมตอบข้า ผลบุญที่พระองค์สะสมไว้ทั้งหมดก็จะสิ้นสูญไป และพระเศียรของพระองค์ก็จะต้องแยกเป็นเจ็ดเสี่ยงด้วย"
เมื่อพระราชาติวิกรมเสนได้ฟังดังนั้นก็ตรัสแก่เวตาลว่า
"มหามนตรีต้องช้ำใจตายหาได้เกี่ยวกับนางงามที่พระราชาพามาด้วยไม่ แท้ที่จริงเป็นเพราะชายที่ทรงคุณธรรมอันเลิศผู้นี้ได้ตระหนักแก่ใจว่า พระราชานั้นหาได้กระทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและราษฎรของพระองค์ไม่ พระองค์ทรงทอดทิ้งราชกิจไปอย่างคนไร้น้ำใจ เพียงเพราะต้องการผู้หญิงคนหนึ่งเท่านั้น ตัวมหามนตรีเองต้องสู้ทนความเหนื่อยยากตรากตรำรับภาระอันยิ่งใหญ่แต่ผู้เดียว ในขณะที่พระราชามิได้มีความรู้สึกแม้แต่สักนิดว่า เขามีค่าในสายพระเนตรของพระองค์บ้างหรือไม่ ด้วยประการฉะนี้แล คนดี ๆ อย่างเขาจึงไม่อาจจะทนทานอยู่ต่อไปเพื่อคนที่เห็นแก่ตัวเช่นนั้นได้ เมื่อทนไม่ได้หัวใจของเขาจึงต้องแตกสลายดังนี้"
พอได้ฟังพระราชาตรัสดังนี้ เวตาลก็หัวเราะคิกคักด้วยความสะใจผละจากบ่าของพระองค์ หายแวบกลับไปสู่ต้นอโศกตามเดิม ทำให้พระราชาต้องรีบเสด็จกลับไปลากตัวมันมาอีกครั้งหนึ่ง


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:23:49:03 น.  

 
นิทานเรื่องที่
๑๓
เมื่อพระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับมาเอาเวตาลคืนไปแล้ว ก็เสด็จต่อไปตามเส้นทางเดิม ระหว่างทางเวตาลผู้นั่งอยู่บนบ่าก็เริ่มขยับตัวและพูดขึ้นว่า การเดินทางเป็นเรื่องน่าเบื่ออย่างหนึ่ง ข้าจึงคิดจะแก้เบื่อโดยเล่านิทานถวายอีกเรื่องหนึ่ง พระองค์น่าจะทรงฟังไว้บ้าง เรื่องมีมาว่าดังนี้
มีนครใหญ่แห่งหนึ่งชื่อ วาราณสี เป็นที่ประทับของพระศิวะบนโลกนี้ ในนครนี้มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า เทวสวามินอาศัยอยู่ เป็นผู้ที่พระราชาเคารพนับถือมาก พราหมณ์เศรษฐีผู้นี้มีลูกชายคนหนึ่งชื่อ หริสวามิน ตัวหริสวามินเองเป็นผู้มีโชคเพราะภรรยามีความงามเป็นเลิศชื่อ ลาวัณยดี ข้าคิดว่า พระผู้เป็นเจ้าคงจะทรงสร้างนางขึ้นมาภายหลังจากที่ทรงสร้างนางติโลตตมาขึ้น พร้อม ๆ กับนางเทพอัปสรอื่น ๆ ในสวรรค์เป็นแน่ นางจึงงามประเสริฐอย่างหาที่ติมิได้
ราตรีหนึ่ง หริสวามินนอนหลับอยู่ในปราสาทพร้อมด้วยนางลาวัณยวดีผู้เป็นที่รัก ในบรรยากาศที่เย็นละไมด้วยแสงจันทร์ ขณะนั้นเองเจ้าชายแห่งวิทยาธรชื่อมทนเวค ท่องเที่ยวเหาะไปในอากาศ แลเห็นนางลาวัณยวดีนอนแนบข้างสวามีของนางบนเตียง มีพัสตราภรณ์อันเลื่อนหลุดโดยไม่รู้ตัว เปิดเผยให้เห็นร่างงามอรชรและขาอันกลมเรียวสมส่วน หัวใจของวิทยาธรหนุ่มก็วาบหวานหลงใหลในตัวนางอย่างสุดระงับ และเพราะความคลั่งไคล้ด้วยแรงเสน่หา วิทยาธรจึงโฉบลงอุ้มนางพาเหาะไปในอากาศทันที
ฝ่ายหริสวามินรู้สึกตัวตื่นขึ้น มองไม่เห็นภรรรยาก็ตกใจ ลุกขึ้นมองหาโดยรอบก็มิได้พบ รำพันด้วยความตระหนกว่า "นี่มันอะไรกัน นางหายไปไหน นางล้อข้าเล่นหรือแกล้งซ่อนตัวกันแน่"
ชายหนุ่มเที่ยวตามหานางตลอดคืนทั่วทุกหนทุกแห่ง ไม่เว้นแม้แต่บนหลังคาปราสาทและในสวน เมื่อหาจนสิ้นปัญญาแล้วแต่มิได้พบก็มีความเศร้าโศกยิ่งนัก ทรุดลงนั่งอย่างอ่อนแรง ทอดอาลัยตายอยาก คร่ำครวญว่า
"อนิจจาเอ๋ย เจ้าผู้มีพักตร์ดังจันทรมณฑล ยอดดวงใจของข้า เจ้าผู้ผ่องละมุนดังแสงศศิธร ก็ดวงจันทร์นั้นอิจฉาความงามของเจ้าหรือไฉน จึงพรากนางไปเสียจากข้า โอ้เจ้าช่างโหดร้ายเสียเหลือเกิน เจ้าลวงข้าให้หลงใหลในความงามของเจ้า แล้วไฉนจึงเสียบแทงข้าด้วยศรอาบยาพิษของเจ้า ทำให้ใจข้าต้องร้อนรนกระวนกระวายถึงเพียงนี้ เจ้าเอายอดดวงใจของข้าไปซ่อนไว้ที่ไหนกันเล่า"
เมื่อหริสวามินคร่ำครวญมิหยุดหย่อนด้วยหัวใจแทบแตกสลายนี้ ราตรีอันยาวนานก็ผ่านไป และแสงอุษาก็เริ่มฉายจับท้องฟ้าเป็นสัญญาณว่าราตรีนั้นสิ้นแล้ว เขาและนางคงจะต้องแยกกันแน่นอน ไม่เหมือนนกจากพราก (ชื่อนกชนิดหนึ่ง เป็ดแดงหรือเป็ดพราหมณ์ก็เรียก เป็นนกที่หากินตอนกลางคืน ตัวผู้กับตัวเมียอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ ส่งเสียงร้องหากันตลอดทั้งคืน ถึงเวลาเช้าจึงได้กลับคืนรัง พบกันอีกครั้งหนึ่ง) ที่จากกันตลอดคืน แต่ได้พบคู่ของมันอีกเมื่อสิ้นราตรี ก็เขาเล่าราตรีที่สิ้นสุดลงจะมีความหมายอะไร
พราหมณ์หนุ่มผู้ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะไฟเสน่หา ยังพร่ำเพ้อถึงนางมิขาดปาก แม้บรรดาญาติพี่น้องจะปลอบโยนด้วยประการใด ๆ ก็ไร้ประโยชน์ หริสวามินผู้เพ้อคลั่งเที่ยวกระเซอะกระเซิงหานางทางโน้นและทางนี้ ปากก็คร่ำครวญว่า "นางเคยยืนตรงนี้ นางเคยสระสนานในที่นี้ นี่ก็เป็นที่ที่นางแต่งตัว และที่ตรงนี้นางก็เคยสรวลสันต์หรรษาด้วยความชื่นบานยามที่นางอยู่กับข้า โธ่เอ๋ย นางหนีข้าไปไหนเล่า"
บรรดาญาติสนิทมิตรสหายแลเห็นเหตุการณ์ ต่างก็พากันเป็นห่วงจึงกล่าวเตือนสติว่า
"จะตีโพยตีพายไปทำไม นางยังไม่ตายหรอก เจ้าอย่าคิดฆ่าตัวตายเลย ถ้าเจ้ายังมีชีวิตอยู่ เจ้าก็คงจะได้พบนางอีก ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ทำใจดี ๆ ไว้เถอะ ค่อยค้นหานางต่อไป ในโลกนี้คนที่ตั้งใจจริงเท่านั้นที่จะได้สิ่งอันพึงปรารถนา"
เมื่อหริสวามินได้ยินญาติสนิทมิตรสหายกล่าวดังนั้น ก็ค่อยมีกำลังใจขึ้น คิดจะอยู่สู้โลกต่อไปอีก เพื่อจะได้ติดตามหานางอันเป็นสุดที่รัก ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจอย่างเด็ดขาด กล่าวแก่ตนเองว่า
"ข้าจะบริจาคทุก ๆ สิ่งที่ข้ามีอยู่ให้แก่พราหมณ์ แล้วจะออกจาริกแสวงบุณย์ไปตามตีรถะ เพื่อจะได้ชำระบาปให้สิ้นไป บางทีในระหว่างการธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ ข้าอาจจะได้พบสุดที่รักของข้าเข้าสักวันหนึ่ง"
หลังจากที่ใคร่ครวญตามความคิดนี้อยู่ชั่วครู่หนึ่ง เขาก็ตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะทำตามที่คิดไว้ วันรุ่งขึ้นเขาก็เชิญพราหมณ์มาเลี้ยงอาหารอันประณีต เสร็จแล้วก็มอบทรัพย์สินบรรดามีให้แก่พราหมณ์จนหมดสิ้น โดยมิได้อาลัยไยดีแม้แต่น้อย หลังจากให้ทานเสร็จแล้ว เขาก็ออกเดินทางไปนมัสการสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ และชำระสระสนานกายตามตีรถะอันมีชื่อเสียง เพื่อขจัดบาปให้สิ้นไป ในระหว่างที่เดินทางร่อนเร่ไปนั้น เขาก็ต้องผจญกับความร้อนอันสาหัสจากแสงอาทิตย์ที่แผดกล้าในฤดูครีษมะ (ฤดูร้อน) อย่างจะเผาผลาญทุกสิ่งให้วอดวายเป็นผุยผง สายลมร้อนที่พัดกรรโชกอย่างรุนแรง ส่งเสียงกึกก้องเหมือนเสียงโอดโอยด้วยความเจ็บปวดของคู่รักที่ต้องพรากจากกัน และโหยหากันด้วยหัวใจอันแตกสลาย บรรดาห้วยหนองคลองบึงที่แลเห็น ต่างก็เหือดแห้งเพราะแสงอันแรงร้อนของดวงอาทิตย์แผดเผาจนเหลือแต่โคลน และบรรดาต้นไม้ริมทางก็ยืนต้นเหี่ยวเฉาเหมือนจะไว้อาลัยต่อวสันตฤดู (ฤดูใบไม้ผลิ) ที่จากไป หริสวามินเดินโซเซอย่างอ่อนแรงเพราะความร้อน ความหิวและความกระหายน้ำ มาตามทางที่ผ่านมา ที่มิได้เจอผู้คนแม้แต่คนเดียว ในที่สุด ก่อนจะหมดแรง เขาก็แลเห็นหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งอยู่ข้างหน้า เมื่อมาถึงก็ได้พบกับพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ ปัทมนาภ กำลังทำพิธียัชญะสังเวยเทพอยู่ เมื่อแลเห็นพวกพราหมณ์กำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่ในบ้านของตน หริสวามินก็เดินเข้าไปใกล้ เขาก็เข้าไปยืนเกาะเสาประตูบ้านด้วยความอ่อนแรง ขณะนั้นนางพราหมณีผู้เป็นภรรยาของปัทมนาภแลเห็นเขายืนเกาะเสาแน่นิ่งไม่ไหวติงก็บังเกิดความสงสาร รำพึงแต่ตัวเองว่า "อนิจจาเอ๋ย ความหิวนี้เป็นทุกข์จริงหนอ ใครจะช่วยบรรเทาได้บ้าง ดูซิที่ประตูนี้มีคนอดโซคนหนึ่งมายืนเกาะอยู่ ดูท่าจะเป็นคฤหัสถ์เป็นแน่ ดูเขาซิ ยืนก้มหน้าด้วยความอับอาย ชะรอยจะเป็นนักเดินทางไกลแน่เทียว ท่าทางหิวโหยโรยแรงเหมือนอดอาหารมานาน น่าสังเวชนัก เราควรจะให้อาหารแก่เขาบ้าง"
เมื่อคิดดังนี้ นางพราหมณีผู้มีใจเมตตาก็เข้าไปในบ้าน เอาอาหารใส่ชามมาจนเต็ม คือข้าวที่ต้มด้วยน้ำนม พร้อมด้วยเนยใสและน้ำตาล นางยื่นชามข้าวให้แก่เขาและกล่าวว่า "เอ้านี่ เอาไปกินซิ ไปนั่งกินริมบึงนั่นแหละ เพราะที่นี่ไม่เหมาะที่เจ้าจะมานั่งกิน เพราะพราหมณ์เขากำลังกินอาหารกันอยู่" หริสวามินแลเห็นก็ดีใจ รับชามอาหารมาจากนาง และกล่าวว่า "ข้าจะทำตามท่านว่า" แล้วเดินไปหาที่นั่งใต้ต้นไทรริมฝั่งน้ำไม่ห่างไกลจากที่นั้น จัดการล้างมือล้างเท้าและบ้วนปากจนสะอาด หลังจากนั้นก็นั่งลงบริโภคอาหารด้วยใจยินดี
ขณะนั้นมีเหยี่ยวตัวหนึ่งคาบงูด้วยปาก และจับไว้แน่นด้วยกรงเล็บ พาบินมาเกาะอยู่บนกิ่งไม้ต้นนั้น ปรากฏว่างูตัวนั้นตายแล้ว และมีน้ำลายปนพิษไหลหยดลงมาในชามข้างของหริสวามินซึ่งวางอยู่ใต้ต้นไม้พอดี พราหมณ์หนุ่มไม่ทันสังเกตเพราะกำลังหิวจัด ก็กินข้าวจนหมดชาม พิษงูก็ซาบซ่านเข้าสู่ร่าง ได้รับความเจ็บปวดทรมานเป็นอันมาก จึงร้องขึ้นด้วยความตกใจว่า "อะโห โชคชะตาของมนุษย์นี่หนอ เวลาเคราะห์หามยามร้าย อะไร ๆ ก็หนีไปหมด ดูแต่ในชามนี้สิ แม้แต่จะปรุงแต่งด้วยของดีเลิศ คือน้ำนม น้ำตาล และเนยใส ก็ยังมาเปลี่ยนเป็นยาพิษไปได้"
กล่าวดังนั้นแล้ว ชายหนุ่มก็กัดฟันลุกขึ้นเดินโซซัดโซเซไปที่บ้านพราหมณ์ด้วยความลำบากแสนสาหัส แลเห็นนางพราหมณีผู้ให้อาหารกำลังนั่งอยู่ที่นั้น ก็กล่าวแก่นางว่า "เมื่อตะกี้ข้ากินข้าวของนางเข้าไปปรากฏว่ามียาพิษปนอยู่ ข้าคงจะตายแน่ ช่วยตามหาหมอมารักษาข้าด้วย เร็ว ๆ นะ ขืนชักช้าข้าตายลง บาปจะตกแก่เจ้า เพราะเจ้าทำให้พราหมณ์ถึงแก่ความตาย"
พอจบคำพูด ยังมิทันจะแก้ไขแต่ประการใด หริสวามินทนพิษร้ายไม่ไหว ก็ขาดใจตาย ทำให้นางพราหมณีตกใจแทบสิ้นสติ ฝ่ายพราหมณ์ปุโรหิตผู้เป็นสามีของนางเห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเช่นนั้นก็โกรธจึงขับไล่นางออกจากบ้าน ทั้ง ๆ ที่นางเป็นคนบริสุทธิ์และมีใจเมตตากรุณา นางถูกกล่าวโทษโดยไร้ความผิดเช่นนั้น ก็มีความเสียใจมาก เมื่อรู้ว่านางมิได้ทำบาปแม้แต่น้อย แต่ต้องมาได้รับโทษ จึงเดินไปยังท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อจะชำระล้างบาปของตน
ปัญหาของเรื่องที่เกิดนี้ก็คือ ในบุคคลทั้งสี่ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ เหยี่ยว งู และพราหมณ์สามีภรรยาทั้งสองนั้น ใครเป็นผู้ผิดในกรณีการตายของหริสวามิน เรื่องนี้ยังหาได้มีการเฉลยปัญหาไม่
เวตาลจึงกล่าวขึ้นว่า "ข้าแต่พระราชาตริวกรมเสน โปรดตอบข้าว่า ใครเป็นคนผิดในกรณีนี้ ถ้าพระองค์ไม่ทรงตอบก็ขอให้ตระหนักว่า คำสาปอันใดจะเกิดแก่พระองค์"
เมื่อพระราชาได้ฟังเวตาลทูลบังคับให้ตอบดังนั้น ก็ทรงเฉลยว่า
"ในเรื่องนี้ จะว่าไปแล้วก็ไม่เห็นจะมีผู้ผิดเลย แน่ละสำหรับงูตัวนั้นมันตายสนิทมาก่อนแล้ว จะทำผิดได้อย่างไร ถึงแม้เหยี่ยวจะคาบมันมาที่นั่นก็ตาม ส่วนเหยี่ยวนั้นเล่า มันคาบเหยื่อของมันมาเพื่อจะกินเป็นอาหารมันจะทำผิดอะไรเล่า ขณะเดียวกันสองพราหมณ์ผัวเมียก็ไม่ผิด เพราะเขาเป็นผู้ชอบธรรม คนหนึ่งให้ทานด้วยใจบริสุทธิ์ อีกคนหนึ่งก็ทำถูกจารีต อะไรผิดอะไรบาปก็ว่ากันไปตามกฎเกณฑ์แห่งศาสนา เพราะฉะนั้นเขาย่อมไม่ผิด ตกลงไม่มีใครผิดในกรณีนี้ ตรงกันข้ามข้ากลับมีความคิดว่า ธรรมดายาพิษไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับใครก็เป็นอันตรายแก่ชีวิตทั้งสิ้น ไม่เลือกว่าพราหมณ์ หรือคนวรรณะอื่น ใครเล่าจะโง่เขลาถึงกับจะคิดเลยเถิดหาความผิดในความไม่ผิดได้เล่า"
พอพระราชาตรัสดังนี้ เวตาลก็หัวเราะด้วยความชอบใจ ผละจากอังสาของพระราชาหายแวบไปสู่สำนักของตนโดยทันที และพระราชาก็ต้องย้อนกลับไปลากตัวมันกลับมาอีกครั้งหนึ่ง


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:23:52:15 น.  

 
นิทานเรื่องที่
๑๔
พระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปยังต้นอโศก ปลดเวตาลลงจากกิ่งเหวี่ยงขึ้นพระอังสา เดินย้อนกลับตามทางเดิม มาได้ครู่หนึ่งเวตาลก็กล่าวขึ้นว่า "ราชะ ดูพระองค์จะทรงเหน็ดเหนื่อยอยู่ ถ้ากระไรเพื่อมิให้ต้องเบื่อหน่ายเกินไปเพราะหนทางยังอยู่อีกไกล ข้าจะเล่าเรื่องสนุกให้ทรงฟังสักเรื่องหนึ่ง จะโปรดว่าอย่างไร" เมื่อเห็นพระราชาไม่ตอบ เวตาลจึงเล่าเรื่องนิทานดังนี้
มีเมืองใหญ่เมืองหนึ่งชื่อเมืองอโยธยา อันได้ชื่อว่าเป็นที่ประทับขององค์พระวิษณุเป็นเจ้าครั้งที่ทรงอวตารลงมาเกิดเป็นพระราม (ปรากฏเรื่องเราวในนารายณ์อวตารปางที่ ๗) ผู้ทรงทำลายเหล่ารากษสให้พินาศย่อยยับไป (รากษสนั้นคือ ทศกัณฐ์กับพวกพ้อง) นครนี้มีพระราชาผู้เกรียงไกรทรงนามวีรเกตุเป็นผู้ครองอยู่ ในเมืองนั้นมีนายวาณิชมหาเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อ รัตนทัตต์เป็นไวศยบดี (หัวหน้าของพ่อค้าทั้งหลาย) แห่งพ่อค้าทั้งปวง มีภรรยาชื่อ นันทยันตี และมีธิดาชื่อรัตนวดี ซึ่งเทพทั้งหลายประทานให้มาเกิดในตระกูลของคนทั้งสอง นางรัตนวดีเจริญวัยขึ้นด้วยความฟูมฟักถนอมของบิดาและมารดา นอกจากมีสิริโฉมเป็นเลิศแล้วยังมีความเรียบร้อยน่ารักอีกด้วย ความงามของนางเป็นที่จับใจของบุรุษทั้งหลาย ฉะนั้นจึงมีผู้ชายมารักใคร่นางและสู่ขอนางเป็นภรรยา ไม่แต่เพียงบรรดาไวศยะตระกูลใหญ่ ๆ เท่านั้น แม้ราชาทั้งหลายก็หลงใหลใฝ่ฝันในตัวนาง อยากจะได้เป็นชายาด้วยกันทั้งสิ้น แต่นางมิได้ปลงใจรักใคร่บุรุษใดเลย ไม่ว่าจะเป็นใคร ต่อเป็นองค์อัมรินทร์นางก็ไม่ปรารถนา และประกาศเจตนาของนางอย่างเด็ดเดี่ยวว่า นางยินดีตายเสียดีกว่าจะคิดแต่งงานกับใคร พฤติกรรมของนางทำให้ไวศยะผู้บิดาบังเกิดความเศร้าใจ แต่ก็ไม่เคยขัดใจนางในเรื่องนี้ และข่าวคราวของนางนั้นก็เป็นที่รู้จักกันทั่วไปทั้งนครอโยธยา
ในกาลนั้นปรากฏว่าพวกราษฎรชาวเมืองถูกโจรปล้อนสะดมติดต่อกันบ่อย ๆ ประชาชนผู้เดือดร้อนจึงมาชุมนุมกันเรียกร้องต่อพระราชาวีรเกตุให้ช่วยเหลือ โดยกล่าวว่า
"ข้าแต่นฤบดี พวกเราทั้งหลายมีความเดือดร้อนยิ่งนัก เพราะมีโจรมาปล้นแทบทุกคืน และเราก็จับมันไม่ได้ ขอพระองค์โปรดทรงช่วยเหลือด้วยเถิด"
เมื่อพระราชาได้ฟังคำร้องทุกข์ของราษฎร ก็สั่งให้วางยาม แต่งตัวปลอมเป็นชาวเมืองแยกย้ายกันไปเฝ้าในจุดต่าง ๆ เพื่อจับโจรมาลงโทษ แต่เวลาผ่านไปช้านานก็ยังจับโจรไม่ได้ การปล้อนสะดมอันอุกอาจก็ยังเกิดขึ้นเป็นประจำทุกคืน ดังนั้นพระราชาจึงต้องปลอมพระองค์ออกไปดูเหตุการณ์ด้วยพระองค์เองในคืนวันหนึ่ง
ขณะที่พระราชาทรงถืออาวุธด้อมมองมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งในพระนครนั้น ก็เจอชายคนหนึ่งทำลับ ๆ ล่อ ๆ อยู่ข้างถนนข้างหน้า มีกิริยาชวนให้สงสัย เพราะเหลียวซ้ายแลขวาลอกแลกเป็นพิรุธ พระราชาแลเห็นดังนั้นก็สะกดรอยตามไปห่าง ๆ ทรงรำพึงว่า "เจ้านี่คงจะเป็นโจรอย่างไม่ต้องสงสัยเลย มันกำลังมองหาทางเข้าบ้านเพื่อจะตัดช่องย่องเบาเอาทรัพย์ของชาวบ้านแน่ ๆ" คิดดังนี้แล้วก็ทรงเร่งฝีเท้าติดตามไปทันที ฝ่ายโจรเหลียวกลับมาเห็นเข้าก็ถามว่า "เจ้าเป็นใคร" พระราชาแสร้งตอบว่า "ข้าเป็นโจรน่ะซิ" บุรุษนั้นได้ฟังก็กล่าวว่า "เหมาะทีเดียว ข้าได้เพื่อนร่วมทางของข้าแล้ว คือเจ้านี่เอง เพราะเจ้ามีอาชีพอย่างเดียวกับข้า ไปบ้านข้าเถอะ ข้ายินดีต้อนรับเจ้า"
เมื่อได้ยินโจรกล่าวดังนั้น พระราชาก็ตอบตกลง และติดตามโจรไปยังที่อยู่ของมัน ซึ่งเป็นห้องใต้ดินอยู่ลึกเข้าไปในป่าแห่งหนึ่ง ห้องบนตกแต่งงดงามตระการตาด้วยของมีค่าราคาแพงทั้งสิ้น เมื่อกระทบแสงตะเกียงก็สะท้อนเป็นประกายระยิบระยับ ดูราวกับเป็นสวรรค์ใต้บาดาลอีกแห่งหนึ่งซึ่งพลี (พลี เป็นพญาอสูรตนหนึ่งเคยรุกรานมนุษย์และเทวดาจนสามารถตั้งตัวเป็นใหญ่ครอบครองทั้ง ๓ โลก แต่ในที่สุดถูกรพระนารายณ์อวตาลเป็นพราหมณ์เตี้ย (วามนาวตาร) มาปราบพลีถูกไล่ลงไปครองบาดาลอันเป็นเสมือนสวรรค์ใต้ดิน และได้รับคำมั่นสัญญาจากพระวิษณุว่า ถ้าทำตัวดีต่อไปภายหน้าจะให้เป็นพระอินทร์อีกครั้ง) มิได้เป็นเจ้าของฉะนั้น
ฝ่ายพระราชา เมื่อเสด็จเข้าไปในนิวาสสถานของโจรแล้วก็ทรงแลดูโดยรอบ และนั่งลงบนพื้นที่ปูลาดด้วยพรมอันงามวิจิตร ในขณะที่นายโจรเดินหายเข้าไปในห้องชั้นใน มีนางทาสผู้หนึ่งเดินออกมาและกล่าวแก่พระราชาว่า
"โอ วีระ ท่านเข้ามาในที่นี้ทำไม รู้ไหมว่านี่เป็นปากแห่งมฤตยูแท้เทียว ชายคนที่ท่านตามมานี้เป็นมหาโจรจอมโหดคนหนึ่ง ประเดี๋ยวเขาออกมาจากห้อง เขาจะจัดการกับท่านอย่างไม่ต้องสงสัย ข้าขอเตือนท่านว่า โจรคนนี้เป็นคนเจ้าเล่ห์แสนกล มีอุบายสารพัด จงรีบหนีไปโดยเร็วเถิด"
พระราชาได้ฟังดังนั้น ก็รีบเสด็จกลับวังทันที เมื่อถึงวังแล้วก็เรียกทหารมีฝีมือพวกหนึ่งมาประชุม สั่งให้เตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เมื่อเรียบร้อยแล้วก็ทรงนำทหารไปจุดช่องทางเข้าสำนักโจรและเรียงรายล้อมเอาไว้ทุกด้าน ฝ่ายโจรเมื่อรู้ว่าสำนักถูกล้อมก็รู้ว่าความลับของตนแตกเสียแล้ว ก็วิ่งถลันออกมาต่อสู้อย่างยอมตายถวายชีวิต
เมื่อนายโจรออกมาเผชิญหน้ากับกองทหาร ก็ร่ายมนตร์อันศักดิ์สิทธิ์ป้องกันตนเอง และกวัดแกว่งดาบฟันฉับลงที่งวงช้างจนขาดกระเด็นแล้วฟันขาม้าจนขาดสะบั้น จากนั้นก็เด็ดศีรษะทหารที่รุมล้อมด้วยอาวุธอ้นคมกริบ พระราชาและเห็นความอุกอาจกล้าหาญของโจรใจฉกาจเช่นนั้นก็กวัดแกว่งขรรคาวุธคู่พระหัตถ์ปราดเข้ารับมือโจรทันที ทรงใช้ฝีมืออันชำนาญคล่องแคล่วจนโจรเสียท่าหงายหลังลงกับพื้น แล้วทรงเหยียบร่างมันไว้ จับมัดมือไขว้หลังลากถูลู่ถูกังกลับวัง และให้ริบทรัพย์สมบัติบรรดามีของโจรเข้าเก็บไว้ในท้องพระคลังหลวง ทรงพิจารณาว่าโจรนั้นได้ก่อกรรมทำเข็ญต่อราษฎรมาแล้วมากมาย จึงตัดสินให้ประหารชีวิตเสีย โดยเอาไปเสียบเสียในวันรุ่งขึ้น
เมื่อได้เวลาประหาร โจรก็ถูกมัดเดินไปตามท้องถนนพร้อมกับมีกองทหารรัวกลองเป็นจังหวะติดตามไป พาไปสู่ตะแลงแกงที่ประหาร ระหว่างทางที่ผ่านไป นางรัตนวดีลูกสาวเศรษฐีเปิดหน้าต่างปราสาทมองลงมา แลเห็นโจรหนุ่มมีร่างอันเปรอะเปื้อนด้วยโลหิตและมอมแมมไปด้วยฝุ่น ก็บังเกิดความสงสารและความพิศวาสในฉับพลัน นางจึงวิ่งเข้าไปหาบิดาอย่างร้อนรนและกล่าวกระหืดกระหอบว่า "ท่านพ่อ ช่วยข้าด้วย ข้าเห็นนายโจรถูกตระเวนผ่านไปเดี๋ยวนี้ ข้ารักเขา ข้าเลือกเขาเป็นสามีแล้ว แต่เขากำลังจะถูกนำไปสู่ตะแลงแกง พ่อต้องเอาเงินไปไถ่ตัวเขาให้เป็นอิสระ ถ้าพ่อไม่ทำตามใจข้า ข้าจะยอมตายพร้อมกับเขาในวันนี้แหละ"
รัตนทัตต์เศรษฐีได้ฟังนางกล่าวก็ประหลาดใจ กล่าวว่า
"ลูกเอ๋ย เจ้าเอาอะไรมาพูด แต่ก่อนนี้ผู้ชายทั้งรูปงาม มีทรัพย์และมีคุณธรรมมากมายหลายคน มางอนง้อต่อเจ้าเลือกเขาเป็นสามี เจ้าก็ไม่ไยดี ปฏิเสธไปหมดทุกราย มาบัดนี้เจ้ากลับมาเลือกโจรต่ำช้าเป็นสามี เจ้าคิดอย่างไรเล่าลูกเอ๋ย"
ถึงแม้บิดาจะคัดค้านและเตือนสติมากมาย แต่นางก็ยืนกรานความปรารถนาของนางอย่างดื้อดึง และไม่ยอมเปลี่ยนใจ จนในที่สุดเศรษฐีก็ใจอ่อน รีบไปเฝ้าพระราชา ทูลขอไถ่ตัวนักโทษด้วยเงินจำนวนมหาศาลหลายร้อยโกฏิ แต่พระราชาก็ไม่ทรงฟัง เพราะโจรผู้นี้ได้ปล้นสะดมทรัพย์สินราษฎรมาแล้วเป็นมูลค่ามหาศาล และทำร้ายผู้คนมามากมายนับไม่ถ้วน ยิ่งกว่านั้นกว่าจะจับมันมาได้พระองค์ต้องเสี่ยงเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้จงไม่สามารถจะปล่อยโจรให้เป็นอิสระได้
เศรษฐีได้ฟังคำปฏิเสธจากพระราชาดังนั้น ก็เดินคอตกกลับมาบ้านด้วยความผิดหวัง นางรัตนวดีแจ้งว่าบิดาทำงานไม่สำเร็จก็ประกาศยืนยันเจตนาของนางว่า นางยินดีจะตายตามโจรหนุ่มไปปรโลกโดยไม่อาลัยต่อชีวิต ไม่ว่าบิดาหรือญาติพี่น้องจะเกลี้ยกล่อมเพียงใดก็ตาม นางจัดแจงอาบน้ำแต่งตัวแล้วขึ้นวอมีสัปทนกางกั้นตรงไปสู่ลานประหารโดยด่วน มีบิดามารดากับญาติติดตามไปด้วยความเป็นห่วง ต่างคนต่างเศร้าโศก เพราะรู้ว่าคงจะไม่ได้พบหน้านางอีกต่อไป
ก่อนที่ขบวนของเศรษฐีจะเดินทางไปถึง นายโจรก็ถูกเสียบประจานอยู่บนขาหยั่งแล้ว และลมหายใจกำลังแผ่วลงทุกทีใกล้จะถึงแก่ความตาย เมื่อเห็นนางรัตนวดีพร้อมด้วยกลุ่มผู้ติดตามเดินเข้ามายังลานประหารก็ประหลาดใจ จึงไต่ถามจนทราบความจริงแล้วก็ร้องไห้ต่อหน้าคนทั้งหลาย สักครู่หนึ่งก็เปลี่ยนเป็นหัวเราะแล้วขาดใจตาย นางรัตนวดีตรงเข้ากอดร่างของโจรด้วยความอาลัย แล้วให้นำโจรลงจากที่ประหาร พาไปยังกองไฟที่ก่อขึ้น วางร่างโจรลงบนจิตกาธาน แล้วขึ้นไปนอนเคียงข้างกันในท่ามกลางกองไฟอันลุกโชติช่วงโดยรอบ
ทันใดนั้น องค์พระศิวะวิสุทธิเทพผู้ประทับอยู่ในสุสานโดยไม่มีใครมองเห็น ก็เปล่งเสียงดังได้ยินมาทางอากาศว่า "อะโห เจ้าผู้เป็นปดิวรัดาช่างมีใจภักดี ยากจะหาใครเสมอเหมือน เจ้าจงเลือกขอพรต่อข้าเถิด ข้าจะให้เจ้าสมความปรารถนาทุกประการ"
เมื่อนางรัตนวดีได้ยินสำเนียงทิพย์ดังนั้น ก็ยกมือกระทำอัญชลีต่อพระผู้เป็นเจ้า และทูลขอพรว่า "ข้าแต่พระมเหศวร บิดาของหม่อมฉันเป็นคนไร้บุตรชายที่จะสืบสกุล ขอโปรดประทานพรให้ท่านมีบุตรชายสักร้อยคนเถิด เพราะถ้าท่านไม่มีบุตรชาย และข้าสิ้นชีวิตไปแล้ว ท่านก็คงจะต้องตายตามหม่อมฉันไปอย่างแน่นอน"
พระผู้ทัดจันทร์เป็นปิ่น (พระจันทรเศขร พระศิวะเอาพระจันทร์มาเสียบเป็นปิ่นปักพระเมาลี หลังจากยุติข้อพิพาทระหว่างพระจันทร์กับพระพฤหัสบดีเรื่องนางดาราแล้ว เพราะจะช่วยให้พระจันทร์ได้เข้าสู่เทวสภาอีกครั้งหนึ่ง) ได้ฟังคำนางก็สบพระทัยยิ่งนัก ตรัสว่า
"เอาเถิด ข้าจะให้บิดาของเจ้ามีลูกชายร้อยคน จงขอพรอีกข้อหนึ่งเถิด เพราะหญิงที่ประเสริฐสุดอย่างเจ้าสมควรจะได้อะไรที่เจ้าเห็นสมควรอีก ข้าจะให้เจ้า"
เมื่อได้ฟังเทวดำรัสเช่นนี้ รัตนวดีโฉมงามจึงกราบทูลว่า
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าสูงสุด หากจะทรงเมตตาแก่หม่อมฉันแล้วไซร้ ขอได้โปรดชุบชีวิตของสามีหม่อมฉันด้วยเถิด ให้เขาได้ดำรงชีวิตเป็นคนดีสืบไปชั่วกาลนาน"
เมื่อพระศัมภู (พระผู้มีความสุข เป็นพระฉายานามหนึ่งในจำนวน ๑,๐๐๐ นาม ของพระศิวะ) ได้ฟังถ้อยคำของนางก็ตรัสตอบมาโดยอากาศ อันใคร ๆ หาได้แลเห็นพระองค์ไม่ว่า
"จงเป็นเช่นนั้นเถิด ขอให้สามีของเจ้าจงลุกออกมาจากกองไฟ และมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ขอให้เขาประพฤติตนเป็นคนดีสืบไป และให้พระราชาวีรเกตุยกโทษให้แก่เขาด้วยเถิด"
ทันใดนั้น นายโจรก็ลุกออกมาจากกองไฟ มีชีวิตและปราศจากบาดแผลทั้งปวงในร่างกาย เศรษฐีรัตนทัตต์แลเห็นภาพอัศจรรย์ที่นายโจรและธิดาของตนรอดชีวิตมาทั้งคู่ บรรดาญาติทั้งหลายที่มาชุมนุม ณ ที่นั้นก็มีความพิศวงตื่นเต้นไปตามกัน เมื่อกลับเข้าในปราสาทที่พำนักแล้ว เศรษฐีก็จัดการเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่ และทำพิธีบวงสรวงองค์พระศิวะที่ได้ประทานพรแก่ตนและวงศ์ตระกูล ให้มีลูกชายเกิดมาถึงร้อยคน พระราชาวีรเกตุก็เช่นเดียวกัน แลเห็นว่าโจรผู้มีฝืมือนั้นได้กลับตัวเป็นคนดีแล้วก็โปรดให้เข้ามาเฝ้า ทรงแต่งตั้งเป็นยอดขุนพลประจำกองทัพ และโปรดให้ทำพิธีแต่งงานระหว่างยอดขุนพลกับนางรัตนวดีอย่างสมเกียรติ
ฝ่ายเวตาลผู้นั่งอยู่บนอังสาของพระเจ้าตริวิกรมเสนเล่านิทานของตนจบลงแล้ว ก็ทูลถามปัญหาต่อพระราชา โดยคุกคามให้พระองค์ตระหนักในคำสาปอย่างที่เคยขู่มาแล้วทุกครั้งว่า
"โอ ราชะ โปรดตอบหน่อยเถิดว่า เหตุใดนายโจรผู้ถูกเสียบประจานนั้น เมื่อเห็นนางรัตนวดีและบิดาของนางเดินเข้ามาหา จึงแสดงอาการประหลาดคือ ร้องไห้ในตอนแรกและหัวเราะในตอนหลัง"
พระราชาได้ฟังก็ตรัสว่า "นายโจรร้องไห้เพราะตระหนักในบุญคุณของเศรษฐีที่ยอมสละทรัพย์หลายสิบโกฏิเพื่อจะไถ่โทษตน ซึ่งน้ำใจเช่นนี้ตนหาได้มีโอกาสจะทดแทนได้ไม่ ส่วนนางรัตนวดีนั้นเล่า ช่างน่าขำนักที่นางมีโอกาสจะได้อภิเษกกับพระราชาทั้งหลาย แต่ก็กลับปฏิเสธไปหมด นางมาเลือกเราด้วยประโยชน์อันใดเล่า หัวใจของผู้หญิงนี้หนอ ช่างลึกลับซับซ้อนดังเขาวงกต ใครเล่าจะเข้าใจได้
เมื่อพระราชาตรัสดังนี้ เวตาลผู้ทรงพลังก็ใช้มนตร์วิเศษของตน บันดาลกายหายวับไปกับตา ปล่อยให้พระราชาต้องเหน็ดเหนื่อยพระทัย เสด็จกลับไปยังต้นอโศกอีกครั้งหนึ่งเพื่อจับตัวมันมาไว้ที่พระอังสาตามเดิม


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:23:56:35 น.  

 
นิทานเรื่องที่
๑๕
แล้วพระเจ้าตริวิกรมเสนก็เสด็จกลับไปสู่ต้นอโศก ทรงดึงตัวเวตาลลงมา และเริ่มออกเดินทางต่อไป ขณะที่ดำเนินไปข้างหน้า เวตาลซึ่งอยู่บนบ่าของพระองค์ก็ชวนคุยขึ้นว่า "แน่ะ ราชะ ขอทรงเงี่ยโสดสดับเถิด ข้ามีเรื่องสนุก ๆ จะเล่าถวาย"
ครั้งหนึ่งในอาณาจักรเนปาล มีนครตั้งอยู่ชื่อนครศิวปุระ และที่นครนี้ พระราชาทรงนามว่ายศเกตุทรงปกครองอยู่ พระองค์มีราชเสวกผู้ใกล้ชิดอยู่คนหนึ่งชื่อ ปรัชญาสาคร และทรงไว้วางพระทัยให้เขาดูแลพระราชกิจทุกอย่าง ส่วนพระองค์เองทรงใช้เวลาสำราญพระทัยอยู่กับพระมเหสีคือ พระนางจันทรประภา เวลาผ่านไป พระราชาทรงได้พระธิดาองค์หนึ่งอันประสูติแต่พระราชเทวี ทรงตั้งพระนามให้ว่าเจ้าหญิงศศิประภา พระราชกุมารีพระองค์นี้มีวรรณะอันผุดผ่องดั่งแสงพระจันทร์ผู้เป็นประหนึ่งดวงเนตรของโลก
จำเนียรกาลสืบมา พระราชธิดาทรงจำเริญวัยเป็นสตรีแรกรุ่นมีสิริโฉมงดงามยิ่งนัก วันหนึ่งในฤดูวสันต์ เจ้าหญิงเสด็จชมราชอุทยานพร้อมด้วยนางบาทบริจาริกาแวดล้อมโดยรอบเพื่อชมการแสดงฉลองฤดูใบไม้ผลินั้น และที่แห่งหนึ่งในอุทยานนี้เอง พราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งชื่อ มนสวามิน บุตรชายของเศรษฐีได้เข้ามาเที่ยวด้วย มาณพหนุ่มแลเห็นเจ้าหญิงกำลังเก็บดอกไม้อยู่ แขนของนางที่เคลื่อนไหวนั้นดูแฉล้มเฉลายิ่งนัก แสดงให้เห็นทรวดทรงอันงามจับตาหาที่ติมิได้ ยามนางกรีดกรายนิ้วเด็ดกิ่งดอกไม้ก็ดูงามสลวยไม่ขัดตา เมื่อหนุ่มน้อยมนสวามินได้เห็นนาง เขารู้สึกในบัดดลว่านางได้เด็ดเอาหัวใจของเขาไปด้วย ทำให้เขางงงวยด้วยความรักนางจนแทบจะระงับสติไว้ไม่อยู่ ชายหนุ่มรำพึงแก่ตัวเองว่า "นี่คือนางรตี (รตี แปลว่า รักใคร่, พอใจ, รื่นรมย์ เป็นชายาของพระกามเทพ (เทพแห่งความรัก) นางเป็นธิดาของพระทักษะพรหมฤษีประชาบดี เป็นผู้ที่มีบทบาทเหมือนกับเทวีอโฟรโดต์ของกรีก หรือวีนัสของโรมัน ในกาลครั้งหนึ่ง พระศิวะทรงเศร้าโศกอย่างหนักเนื่องจากพระสตีผู้เป็นชายาของพระองค์กลั้นใจตาย เพราะทักษะบิดาของนางดูหมิ่นพระศิวะ ความเศร้าโศกของพระศิวะโดยไม่สนใจไยดีต่อโลก ทำให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว ในกาลนั้นพระสตีไปเกิดใหม่เป็นพระอุมา ธิดาท้าวหิมวัต เจ้าแห่งขุนเขาหิมาลัย ทวยเทพทั้งหลายจึงคิดจะให้นางได้เป็นชายาของพระศิวะ เพื่อจะได้บังเกิดโอรสเป็นเทพแห่งสงครามจะได้ไปปราบศัตรูของทวยเพท จึงขอความอนุเคราะห์จากพระกามเทพให้ช่วยเหลือ พระกามเทพจึงยิงศรดอกไม้ไปที่พระศิวะ ทำให้พระองค์ลืมพระเนตรขึ้นแลเห็นพระอุมาก็หลงรักนาง แต่พอรู้ว่ากามเทพเป็นผู้ยิงพระองค์ด้วยบุษปศร ก็โกรธ จึงลืมพระเนตรที่สามเป็นไฟกรดเผาผลาญกามเทพกลายเป็นจุณไป พระกามเทพจึงไม่มีร่างกาย ได้นามใหม่ว่าพระอนงค์ (ผู้ไม่มีร่างกาย) ไป นางรติมีความเศร้าโศกเสียใจมาก ทูลขอสามีคืนจากพระศิวะหลายครั้ง ในที่สุดพระศิวะให้พระกามเทพลงไปเกิดเป็นโอรสของพระกฤษณะในสงครามมหาภารตะชื่อ พระประทยุมน์ และให้นางรตีลงไปเกิดเป็นภรรยาอสูรชื่อมายาวดี ต่อมานางได้ประทยุมน์กุมารจากท้องปลาใหญ่ นางเลี้ยงดูประทยุมน์มาจนเป็นหนุ่ม และได้ประทยุมน์เป็นสามี เพราะพระนารทฤษีบอกนางว่า นางคือนางรตีในชาติก่อน และประทยุมน์นั้นก็คือกามเทพนั่นเอง รตี มีฉายาต่าง ๆ กันดังนี้
๑. เรวา, กามิ, ปรีติ = ผู้ยังให้เกิดความรักใคร่ยินดี
๒. กามปัตนี = เมียของกามเทพ
๓. กามกลา = ผู้เป็นส่วนของกามเทพ
๔. กามปรียา = ผู้เป็นที่รักของกามเทพ
๕. ราคลตา = ไม้เลื้อยแห่งความกำหนัด
๖. มายาวดี = ผู้มีเล่ห์กล
๗. เกลิกิลา = ยวนเสน่ห์
๘. ศภางคี = ผู้งามทั้งร่าง ฯลฯ)
(ชายากามเทพ) หรือไฉน นางปรากฎร่างเพื่อมาเก็บรวมรวมบุปผามาลีที่เกลื่อนกล่อนในฤดูวสันต์เพื่อเอาไปทำบุษปศรถวายพระมันมถะ (มันมถะ แปลว่า ผู้ก่อกวนใจ เป็นฉายานามหนึ่งของกามเทพ เพราะกามเทพนั้นทำให้หัวใจมนุษย์ที่ถูกยิงด้วยบุษปศรต้องปั่นป่วนรัญจวนด้วยความรัก) (กามเทพ) แน่เทียว และหรือว่านี่คืออรัญญานี (นางไม้) ที่ปรากฏร่างขึ้นเพื่อกระทำสักการะต่อพระวสันตเทพบุตร (วสันตะ, วสันต์ ชื่อเทพองค์หนึ่งที่ทำให้เกิดวสันตฤดู หรือฤดูใบไม้ผลอันสวยงามยิ่งกว่าฤดูใด ๆ เพราะมีธรรมชาติอันตระการตาชวนให้เพลิดเพลิน วสันตะเป็นเพื่อนสนิทของกามเทพ ไม่ปรากฏว่าเป็นโอรสของใคร) ในฤดูกาลเช่นนี้กระมัง ขณะที่ชายหนุ่มกำลังรำพึงแก่ตัวเองอยู่นั้น เจ้าหญิงก็เหลือบมาเห็นเข้าพอดี นางรู้สึกเหมือนกับว่าเทพแห่งความรัก (พระอนงค์) ผู้หาพระกายมิได้แล้วกลับมาปรากฏให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง นางตะลึงต่อภาพที่เห็นเบื้องหน้า ลืมเก็บดอกไม้ ลืมเคลื่อนไหว ลืมหมดทุก ๆ อย่าง
ในระหว่างที่บุคคลทั้งสองกำลังจ้องมองกันอยู่ด้วยความรักอันดื่มด่ำหลงใหลนี้เอง พลันก็มีเสียงร้องตะโกนเอะอะด้วยความตื่นตกใจ คนทั้งสองได้ยินก็ชะเง้อคอดูว่าเกิดอะไรขึ้น ทันใดก็แลเห็นที่มาแห่งเสียง คือช้างพลายเชือกหนึ่งวิ่งมาแต่ไกลเพราะได้กลิ่นนางช้าง มันสลัดเครื่องพันธนาการหลุดออก เหวี่ยงควาญช้างกระเด็น แล้วตะลุยฝ่าไม้ไล่หักโผงผางเตลิดมาตามทาง นางบาทบริจาริกาที่แวดล้อมเจ้าหญิงอยู่ต่างก็พากันวิ่งหนีเอาชีวิตรอดด้วยความตกใจกลัวสุดขีด แต่มนสวามินได้สติก่อน เขาวิ่งถลันตรงมาที่นาง และอุ้มนางไว้ในอ้อมกอด นางกอดเขาไว้อย่างขลาด ๆ ความรู้สึกสับสนด้วยความกลัว ความรัก และความละอาย ชายหนุ่มตระกองกอดนางไว้แน่น วิ่งหนีไปได้ระยะทางไกล พ้นเขตที่ช้างเมามันจะตามมาทัน ในที่สุดนางกำนัลทั้งหลายก็ตามมาทัน กล่าวคำยกย่องสรรเสริญพราหมณ์หนุ่มเป็นอันมากที่ช่วยพระธิดาไว้ แล้วพานางกลับวัง แต่ระหว่างทางที่นางจากไป นางเหลียวหลังกลับมาดูเขาบ่อย ๆ ด้วยความอาวรณ์ เมื่อกลับสู่วังแล้วนางก็โศกครวญหวนหาแต่เขาผู้เป็นวีรบุรุษในใจของนางทิวาและราตรีก็ผ่านไปด้วยความตรอมใจในความรักที่นางมีต่อเขา
ส่วนมนสวามิน ก็ออกจากอุทยาน แลตามนางไปจนกระทั่งนางหายลับเข้าตำหนักไป เขากล่าวแก่ตัวเองว่า "ข้าอยู่โดยปราศจากนางไม่ได้ ที่พึ่งของข้าในยามนี้ก็เห็นจะมีแต่มูลเทวะ จอมเจ้าเล่ห์ที่เชียวชาญทางไสยเวทเท่านั้น"
รำลึกฉะนี้แล้ว ก็เตรียมจะไปพบจอมขมังเวทย์ผู้นั้น ครั้นถึงวันรุ่งขึ้น ชายหนุ่มออกเดินทางไปยังสำนักของมูลเทวะผู้เป็นบดีแห่งมายาวินทั้งหลาย แลเห็นจอมขมังเวทย์กับศศินผู้เป็นสหาย กำลังทดลองมนตร์ไสยต่าง ๆ หลายแบบหลายวิธี สะเทือนฟ้าสะเทือนเดินราวกับสงครามที่อสูรขับเคี่ยวกับทวยเทพกำลังดำเนินอยู่ ชายหนุ่มเข้าไปแสดงคารวะต่อเจ้าสำนักอย่างขลาด ๆ แล้วแจ้งความประสงค์ของตนให้ทราบ มูลเทวะได้ฟังก็หัวเราะยกใหญ่ แต่ในที่สุดก็ยอมรับว่าจะช่วยให้ชายหนุ่มได้สัมฤทธิ์ผล จอมขมังเวทย์มนุษย์เจ้าเล่ห์หยิบเม็ดยากลม ๆ เล็ก ๆ ที่ปลุกเสกแล้วเม็ดหนึ่งใส่ลงไปในปากของตนเอง ทันใดก็กลายเป็นรูปพราหมณ์แก่ แล้วเอายาเม็ดที่สองใส่ปากของมนสวามิน ทำให้ชายหนุ่มกลายร่างเป็นหญิงสาวรูปงาม จากนั้นราชาไสยเวทก็จูงมือสาวน้อยไปสู่ท้องพระโรงของกษัตริย์ผู้เป็นพระบิดาของเจ้าหญิงศศิประภา และทูลว่า "โอ ราชะ ข้ามีลูกชายอยู่เพียงคนเดียว ข้าได้ไปสู่ขอหญิงงามคนหนึ่งมาให้เป็นภรรยาของเขา และอุตส่าห์เดินทางดั้นด้นมาแต่ไกล เพื่อจะมอบนางให้แก่ลูกของข้า แต่ไม่พบเขา ข้าจะต้องออกติดตามให้เจอเขาให้ได้ ข้าจำเป็นจะต้องทูลขอร้องพระองค์ให้ช่วยดูแลหญิงผู้นี้ไว้ให้ข้าด้วย จนกว่าข้าจะตามเจอลูกชายของข้า ที่ข้ามาทูลต่อพระองค์เช่นนี้ ก็เพราะพระราชานั้นได้ชื่อว่า นฤบาล เป็นผู้คุ้มครองคนทั้งหลาย และทรงเป็นผู้พิทักษ์โลกอีกด้วย"
เมื่อพระเจ้ายศเกตุได้ฟังคำขอร้องของพราหมณ์เช่นนั้น ก็รีบรับคำเพราะทรงเกรงกลัวคำสาปของพราหมณ์ถ้าทรงปฏิเสธ จึงตรัสเรียกพระราชธิดาศศิประภามาเฝ้า ดำรัสว่า "ลูกหญิง เอาหญิงผู้นี้ไปไว้ที่ตำหนักของลูก เลี้ยงดูนางให้ดี ให้นางนอนกับเจ้า และกินอาหารร่วมกับเจ้าทุกวัน" เจ้าหญิงก็ดำรัสแล้วก็พามนสวามินผู้แปลงร่างเป็นสาวน้อยตามไปที่ตำหนักของนาง ส่วนมูลเทวะผู้แปลงรูปเป็นพราหมณ์แก่ก็เดินทางท่องเที่ยวไปตามอัธยาศัย และมนสวามินก็ได้อยู่กับเจ้าหญิงที่ตนรักในสภาพที่ตนเป็นหญิงเช่นเดียวกัน
ในเวลาไม่นานนักนางก็มีความสนิทสนมและให้ความรักความเอ็นดูแก่สหายคนใหม่ของนาง และแล้ววันหนึ่งเจ้าหญิงก็เริ่มมีอาการเศร้าสร้อย และแสดงอาการแหนงหน่ายต่อสิ่งทั้งหลายที่นางเคยรักเคยใคร่ พลิกซ้ายป่ายขวากลับไปกลับมาอยู่บนบรรจถรณ์ไม่หยุดหย่อน มนสวามินผู้นอนอยู่บนเตียงถัดไปในสภาพของหญิงสาวจึงปลอบถามนางว่า "ศศิประภายอดรัก ทำไมเจ้าจึงดูซีดเซียวนัก และร่างกายก็ซูบผอมลงทุกวัน ดูราวกับคนที่พลัดพรากจากคู่รักของตนต้องตรอมใจโหยหานึกถึงคนรัก บอกข้าสิ ถ้าเจ้ายังไว้ใจข้าผู้เป็นเพื่อนของเจ้าคนนี้ ดีละ ถ้าเจ้ายังไม่ยอมพูด ข้าจะอดอาหารตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าเจ้าจะบอกความจริงแก่ข้า"
เจ้าหญิงได้ฟังดังนั้นก็ถอนใจ ในที่สุดก็ยอมเล่าเรื่อง นางกล่าวว่า "ข้าจะไม่เชื่อใจเจ้าได้อย่างไรเล่า ฟังให้ดีนะ ข้าจะเล่าสาเหตุให้เจ้าฟัง ครั้งหนึ่งเมื่อวสันตฤดูมาเยือน ข้าไปเที่ยวที่สวนดอกไม้เพื่อความเพลิดเพลิน และที่นั้นเอง ข้าได้เจอพราหมณ์หนุ่มรูปงามคนหนึ่ง ผู้งามสดใสปานฤดูใบไม้ผลิ และผุดผ่องดังรัศมีพระจันทร์ เขาทำให้ข้าตกหลุมรักตั้งแต่แรกเห็น และทำให้ข้าชื่นใจราวกับได้ทิพยรสในดวงจันทร์ (หมายถึง อาหารอันเป็นทิพย์ที่มีอยู่ในดวงจันทร์ เมื่ออาหารนี้ถูกกินนาน ๆ เข้า จำนวนก็ลดน้อยลงทำให้พระจันทร์เรียวลง ๆ เป็นรูปโค้ง ในที่สุดก็หมดดวง ยามนี้คือข้างแรม ต่อมาพระจันทร์ก็มีเสี้ยวใหญ่ขึ้น ๆ จนเต็มที่ นั่นคือ สมบูรณจันทร์หรือพระจันทร์เต็มดวง อันแสดงว่าทิพยาหารในดวงจันทร์เริ่มสะสมขึ้นมาใหม่) นั้น กำลังมองดูเขาด้วยใจอันเผลอไผลนั้นเอง ก็พอดีช้างใหญ่เชือกหนึ่งหลุดจากปลอกพันธนาการวิ่งเตลิดผ่านเข้ามาในอุทยาน รูปร่างของมันกำยำดำมืดเหมือนเมฆฝน พวกนางกำนัลทั้งหลายของข้าก็แตกกระเจิงวิ่งหนีไปหมด และระหว่างที่ข้ายังละล้าละลังไม่รู้จะทำอย่างไร พราหมณ์หนุ่มก็ถลันเข้ามาอุ้มข้าไว้ทันที พาหนีจากที่นั้น การสัมผัสกับร่างกายของชายหนุ่มเป็นความรู้สึกแปลกใหม่ที่ข้าไม่เคยประสบมาก่อน การกอดอย่างนิ่มนวลละมุนละไมของเขาทำให้ข้ารู้สึกเหมือนถูกชะโลมลูบด้วยผงจันทร์อันหอมกรุ่น และรู้สึกเต็มตื้นด้วยความอิ่มเอิบใจ ราวกับได้ลิ้มรสทิพยาหารในดวงเดือน ข้ารู้สึกเป็นสุขเหลือที่จะบรรยายออกมาได้ หลังจากนั้นมินาน บรรดาสาวสรรกำนัลของข้าก็กลับมาชุมนุมกันดังเก่า และเขาก็พาข้ากลับวัง ทั้ง ๆ ที่ข้าไม่เต็มใจเลย ทำให้รู้สึกเหมือนว่าข้าถูกเหวี่ยงจากสวรรค์ลงมาสู่ดินในพริบตา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาใจของข้าก็เฝ้าแต่คิดถึงเขามิรู้วาย ยามตื่นก็รู้สึกเหมือนเขาอยู่เคียงข้าง และแม้ยามหลับข้าก็แลเห็นเขาในความฝัน ว่าเขาประคองกอดและจุมพิตข้าอย่างนิ่มนวล แต่แม้กระนั้นข้าก็ยังลืมถามชื่อเขา และส่วนอื่น ๆ อันเกี่ยวกับตัวเขา ดังนั้นข้าจึงต้องทนทุกข์ทรมานอย่างที่เจ้าเห็นนี่แหละ เขาทำให้หัวใจของข้าต้องร้อนรุ่มด้วยไฟแห่งความทุกข์ เพราะการพรากจากเขาผู้เป็นบดีแห่งชีวิตของข้า"
พอมนสวามินได้ยินเรื่องราวของนาง เขาก็รู้สึกชุ่มชื่นหัวใจ มีความอิ่มเอิบราวกับได้รับอมฤตรส เพราะวาจาของนางผู้เป็นที่รัก แม้เขาจะอยู่ในร่างของหญิงสาว ณ ที่นั้นก็ตาม เมื่อประจักษ์ความจริงดังนี้ ชายหนุ่มก็รู้ว่าบัดนี้ถึงเวลาที่เขาจะเปิดเผยตัวเองได้แล้ว จึงคายเม็ดยาวิเศษออกจากปาก และแสดงรูปร่างอันแท้จริงให้ประจักษ์ พลางกล่าวว่า "แม่ตากลมแลดูข้าสิ ข้านี่แหละคือพราหมณ์หนุ่มคนที่เจ้าถวิลหาตั้งแต่พบกันในสวนเป็นครั้งแรก และข้าก็ตกเป็นทาสของเจ้าตามความหมายของ "ทาส" ที่แท้จริงทุกประการ ตั้งแต่เราหยุดชะงักเพราะช้างใหญ่วิ่งเข้ามา การได้อุ้มเจ้าหนีอันตรายก็เป็นสิ่งที่มิได้คาดถึง จนเมื่อเจ้าจากไปแล้วข้าก็คิดถึงเจ้ามิวาย จึงต้องหาวิธีที่จะได้พบเจ้าอีก ก็อย่างที่เห็นในรูปร่างผู้หญิงนี่แหละ เพราะฉะนั้น เจ้าผู้เป็นที่รักของข้าเอ๋ย ขอให้ความโศกศัลย์เพราะการพลัดพรากของเราทั้งสองจงถึงที่สุดเถิด เราได้ทนทุกข์ทรมานมามากพอแล้ว อย่าให้เราต้องอดทนอีกเลย เพราะพระกามเทพเองก็ไม่อาจจะทนรอโอกาสให้เราอีกต่อไปแล้ว" ฝ่ายเจ้าหญิงเมื่อได้แลเห็นรูปร่างอันแท้จริงของชายในหทัยของนางปรากฏต่อหน้าและกล่าวถ้อยคำดังกล่าว นางก็เต็มตื้นใจเป็นล้นพ้น ดังนั้นทั้งสองก็กระทำการสมรสกันโดยแบบคานธรรพวิวาห์ (คานธรรพวิวาห์ แปลว่า แต่งงาน หรือได้เสีย กันเองด้วยความสมัครใจของชายและหญิง ถือว่าเป็นการวิวาห์อย่างหนึ่งในแปดอย่างที่ใช้ได้แม้จะไม่เปิดเผยแก่สาธารณชนก็ตาม วิวาห์ ๘ แบบได้แก่
๑. พราหมวิวาหะ หมายถึง การแต่งงานที่ได้หมั้นกันเรียบร้อยด้วยทรัพย์ และมีการทำพิธีถูกต้องทางศาสนา
๒. ไทววิวาหะ คือการวิวาห์ที่ฝ่ายพ่อแม่ยกลูกสาวให้แก่พระผู้ทำพิธี ในฐานะที่ใช้เป็นของแทนค่าจ้าง
๓. อารษวิวาหะ คือการวิวาห์ที่มีสินสอดเป็นแม่โค หรือพ่อโค
๔. ปราชาปัตยวิวาหะ คือการวิวาห์ซึ่งฝ่ายพ่อแม่ยกลูกสาวให้เจ้าบ่าวโดยไม่เรียกร้อง
๕. คานธรรพวิวาหะ (คานฺธรฺววิวาห) คือการวิวาห์โดยความพึงพอใจของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ที่จะได้เสียกันเองโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากญาติของฝ่ายหญิง
๖. อาสุรวิวาหะ คือการวิวาห์โดยการซื้อขายเหมือนสินค้า
๗. รากษสวิวาหะ คือการวิวาห์ที่ใช้วิธีตีชิงหรือปล้นเอาโดยพละกำลัง
๘. ไปศาจวิวาหะ คือการวิวาห์โดยการลักหลับผู้หญิง วางยานอนหลับหรือมอมเมาสุรา)
จากนั้นมนสวามินก็มีชีวิตอย่างผาสุกในวังของนาง โดยดำรงร่างเป็นสองแบบ กล่าวคือเมื่อถึงเวลากลางวันก็เอาเม็ดยาวิเศษอมไว้ในปาก มีรูปร่างเป็นหญิง ตกถึงเวลากลางคืนก็คายเม็ดยาออก กลายร่างเป็นชาย


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 6 กันยายน 2554 เวลา:0:00:41 น.  

 
ด้วยประการฉะนี้แลเวลาก็ผ่านไป ครั้นแล้วันหนึ่ง พี่เขยของพระราชายศเกตุ มีชื่อว่า มฤคางกทัตต์ ได้ยกพระธิดาชื่อมฤคางกวตีให้อภิเษกสมรสกับพราหมณ์หนุ่มลูกชายของมหาเสนาบดี ผู้เป็นอำมาตย์นายกของพระราชา ชื่อ ปรัชญาสคร และนางมฤคางกวตีได้รับทรัพย์สินจำนวนมากจากพระบิดาของนาง ในงานอภิเษกสมรสครั้งนี้ เจ้าหญิงศศิประภาได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานด้วยที่วังของพระญาติองค์นี้ นางก็เสด็จแวดล้อมไปด้วยเหล่านางผู้รับใช้เป็นอันมาก ในจำนวนนี้มีมนสวามินในร่างสาวสวยตามเสด็จไปด้วย
ฝ่ายลูกชายของมหาอำมาตย์ปรัชญาสาคร ได้เห็นางแปลงคือมนสวามินในร่างหญิงสาวสวย ก็เกิดความหลงใหลเหมือนถูกเสียบด้วยศรกามเทพ เมื่อเสร็จการแต่งงานแล้วเจ้าบ่าวก็พาเจ้าสาวกลับไปสู่เรือนของตน ชายหนุ่มรู้สึกใจหายที่ต้องพรากจากนางงาม มีความรู้สึกเหมือนหัวใจของตนถูกปล้อนเอาไปจากร่างฉะนั้น ชายหนุ่มเฝ้าแต่ครุ่นคิดถึงนางอยู่มิวาย หลับตาลงคราใดก็แลเห็นแต่ใบหน้าของนางทุกครั้ง หัวใจก็เจ็บปวดไปหมดด้วยพิษพญางูแห่งความรักอันแรงร้าย นอนกระสับกระส่ายเดี๋ยวลุกเดี๋ยวนั่งหาความสงบมิได้ คนที่มาช่วยงานและพักอยู่ที่นั้นต่างก็งุนงงต่อภาพที่ได้เห็น ปรึกษากันว่าเกิดอะไรขึ้น และบิดาของชายหนุ่มคือ ท่านมหามนตรีปรัชญาสาคร พอได้ทราบเรื่องก็รีบมาเยี่ยม ท่านมุขมนตรีพยายามปลอบถามสาเหตุอย่างไร ๆ ก็ไม่ได้เรื่อง พอถูกซักถามหนักเข้า ชายหนุ่มก็กระโจนลงจากเตียง ส่งเสียงกรีดร้องพูดรำพันเพ้อพร่ำฟังไม่ได้ศัพท์ ทำให้ผู้เป็นพ่อกลุ้มใจยิ่งนัก และตระหนักว่าสถานการณ์นั้นร้ายแรงเกินกว่าจะเยียวยาได้ เมื่อพระราชาทราบเรื่องก็รีบเสด็จมาเยี่ยมเป็นการส่วนพระองค์ พอเห็นอาการของชายหนุ่มก็ทรงทราบได้ทันทีว่าตกอยู่ในความทรมานเพราะพิษรักอันร้ายแรงถึงขั้นที่ ๗ ในจำนวนทั้งหมด ๑๐ ขั้น ดังนั้นพระองค์จึงตรัสแก่เหล่าอำมาตย์ว่า "ถ้าข้าได้หญิงบริสุทธิ์จากตระกูลพราหมณ์มาสักคนหนึ่ง ข้าจะลองดูซิว่า เขาจะมีความรักนางได้หรือไม่ ถ้าเขายังไม่สามารถทำใจให้รักนางได้ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เขาจะต้องไปถึงขั้นที่ ๑๐ (ตาย) (๑๐ ขั้นของการทนทุกข์ทรมานเพราะความรัก ได้แก่ ๑. รักนัยน์ตาสวย ๒. ผูกพันทางใจ ๓. กระสัน ๔. นอนไม่หลับ ๕. ซูบผอม ๖. ไม่รู้หนาวรู้ร้อน ๗. ไม่รู้จักอาย ๘. ใจเลื่อนลอย ๙. ลมใส่ ๑๐. ตาย) แน่ ๆ ถ้าเขาตายลง พ่อเของเขาผู้เป็นมหามนตรีของข้าก็คงจะถึงความพินาศ ถ้าเขาถึงความพินาศ อาณาจักรของข้าก็ย่อมพลอยพินาศไปด้วย ลองบอกหน่อยทีว่า ข้าจะทำอย่างไรดี"
เมื่อพระราชาตรัสดังนี้ เหล่ามนตรีก็กราบทูลว่า "ราชะ มีคำท่านกล่าวไว้ว่า บารมีของพระเจ้าแผ่นดิน ย่อมคุ้มครองทวยราษฎร์ทั้งปวง และในหมู่ราษฎร มนตรีเป็นบุคคลที่สำคัญกว่า ถ้ามนตรีพินาศ การคุ้มครองของพระราชาก็ไม่มีผล เมื่อเป็นดังนี้ บาปย่อมเกิดเพราะความตายของบุตรมหามนตรีนี้ เพราะฉะนั้นพระองค์จะต้องไม่ทำให้เกิดบาปกรรมนี้ มิฉะนั้นพระองค์จะถูกประณามว่าทำผิดหลักธรรม และเพื่อหลักการอันนี้ พระองค์ควรทดลองแก้ไขให้ดีที่สุด อุบายในกรณีนี้ก็คือ พระองค์ควรแสวงหาหญิงตระกูลพราหมณ์ที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง และงามพร้อมด้วยรูปสมบัติคุณสมบัติอันเลิศมาให้แก่บุตรมนตรี ให้เขาอยู่กับนางสักชั่วระยะเวลาหนึ่ง ถ้าไม่ถูกใจเขาก็คงส่งนางคืน เมื่อถึงเวลานั้น เราค่อยมาปรึกษาหารือกันใหม่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป"
เมื่อเหล่ามนตรีกราบทูลแสดงความคิดเห็นดังนี้พระราชาก็ทรงเห็นชอบด้วย ในการที่จะส่งนางแปลงไปให้แก่บุตรชายของมุขมนตรี และหลังจากที่ตรวจฤกษ์งามยามดีเรียบร้อยแล้ว พระราชาก็สั่งให้เอาตัวมนสวามินชายในร่างหญิง มาจากตำหนักของเจ้าหญิงพระราชธิดามาเฝ้า แล้วแจ้งเรื่องให้ราบ ชายหนุ่มได้ฟังจึงกราบทูลว่า "ราชะ ถ้าพระองค์ตั้งพระทัยจริงจังว่า จะส่งตัวหม่อมฉันไปเป็นเมียลูกมุขมนตรีคนนั้น หม่อมฉันก็ยอม แต่โปรดทรงระลึกว่า หม่อมฉันเป็นคนที่พราหมณ์ชราผู้หนึ่งนำมาฝากพระองค์ไว้และตัวเขาก็หายสาบสูญไป ถ้าหม่อมฉันจะต้องแต่งงานในครั้งนี้ หม่อมฉันจะต้องขอให้สามีของหม่อมฉันกระทำบุญเสียก่อน คือให้เขาออกเดินทางจาริกแสวงบุญไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามตีรถะ (ท่าน้ำ) ต่าง ๆ อันเป็นที่ตั้งเทวาลัยของทวยเทพ เมื่อครบ ๖ เดือนที่เขาไปประพฤติบุญยยาตราเสร็จเรียบร้อยแล้วกลับมาบ้าน เมื่อนั้นแหละจึงค่อยส่งหม่อมฉันไปเป็นเมียเขา เงื่อนไขที่หม่อมฉันกราบทูลนี้จะรับได้หรือไม่ ถ้าไม่รับ แต่จะบังคับหม่อมฉันให้เป็นเมียเขา หม่อมฉันก็จะกัดลิ้นให้ขาด ฆ่าตัวตายให้รู้แล้วรู้รอดไป"
เมื่อนางกล่าวดังนี้ พระราชาก็แจ้งให้บุตรชายของมหามนตรีทราบ ชายหนุ่มได้ทราบดังนี้ อาการป่วยก็หายเป็นปกติทันที และรีบรับเงื่อนไขทันทีโดยไม่มีข้อต่อรอง ชายหนุ่มรีบดำเนินการวิวาห์ต่อไปจนครบถ้วนกระบวนการ และตั้งนางมฤคางกวตีเป็นเมียหลวงอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง และให้ว่าที่เมียคนที่สองหรือหญิงปลอมอยู่บ้านเดียวกัน ให้มีคนคอยระแวดระวังรับใช้นางอย่างดีที่สุด ส่วนชายโง่เมื่อจัดการเสร็จแล้วก็จัดแจงออกเดินทางไปจาริกแสวงบุญตามตีรถะต่าง ๆ เพื่อเอาใจนางตามข้อตกลง
ฝ่ายมนสวามินอยู่ด้วยกันกับนางมฤคางกวตีเมียหลวงโดยนอนเตียงเดียวกัน กินอาหารโต๊ะเดียวกัน คืนหนึ่งในขณะที่คนทั้งสองนอนบนเตียงด้วยกัน และคนรับใช้ซึ่งอยู่นอกห้องนอนหลับหมดแล้ว นางมฤคางกวตีกล่าวแก่เพื่อนร่วมเตียงว่า "เพื่อนเอ๋ย ข้านอนไม่หลับ ช่วยเล่านิทานให้ข้าฟังสักเรื่องสิ" เมื่อมนสวามินได้ยินดังนั้นก็กล่าวว่า "ข้าจะเล่านิทานให้เจ้าฟัง เรื่องมีว่าในสมัยดึกดำบรรพ์นานมาแล้ว มีราชฤษีองค์หนึ่งชื่ออิฑะ เป็นกษัตริย์สูรยวงศ์องค์หนึ่งได้ถูกคำสาปของพระเคารี (พระอุมา) กลายเป็นหญิง และพระองค์ในสภาพที่ถูกสาปเป็นหญิงเกิดไปรักพระพุธ (โอรสของพระจันทร์) ในการพบกันครั้งแรก ณ พุ่มไม้บริเวณอาศรม และได้เสียเป็นผัวเมียกันที่นั่น จนเกิดโอรสด้วยกันคือเจ้าชายปุรูรวัส" เมื่อหนุ่มเจ้าเล่ห์เล่ามาถึงตอนนี้ ก็สรุปว่า "ดังนั้น ด้วยความอนุเคราะห์จากเทพก็ดี หรือด้วยเวทมนตร์และโอสถก็ดี บางทีก็อาจทำให้ผู้ชายกลายเป็นผู้หญิง หรือในทางกลับกัน ผู้หญิงกลายเป็นชายก็ได้เหมือนกัน และด้วยวิธีนี้แม้แต่มหาบุรุษก็อาจตกเป็นผู้พ่ายแพ้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเพราะความรักชักนำไปได้เหมือนกัน"
เมื่อนางมฤคางกวตี ผู้ตรอมใจเพราะถูกสามีทอดทิ้งโดยเขารีบออกเดินทางไปจาริกแสวงบุญ หลังจากพิธีวิวาห์เพิ่งเสร็จไปใหม่ ๆ ได้ฟังนิทานเรื่องนี้ นางก็กล่าวแก่หญิง (มนสวามิน) ผู้เป็นเมียน้อยของสามีและผู้เป็นที่นางไว้ใจเพราะอยู่ด้วยกันในฐานะหญิงผู้ร่วมสามีเดียวกันกับนางว่า "นิทานที่เจ้าเล่ามาทั้งหมดนี่ ทำให้กายของข้าสั่นเทิ้ม และหัวใจของข้าก็วาบหวิวไปหมด สหายเอ๋ย บอกข้าหน่อยเถอะว่าเรื่องนี้หมายความว่ากระไร" เมื่อพราหมณ์หนุ่มในร่างหญิงได้ยินดังนี้ ก็กล่าวต่อไปว่า "เพื่อนเอ๋ย นี่คือสมุฏฐานอันร้ายแรงที่เกิดจากความรัก ข้าก็ทนไม่ไหวเหมือนกัน ข้าจะไม่ปิดบังเจ้าอีกต่อไปแล้ว" เมื่อนางแปลงกล่าวดังนี้ นางมฤคางกวตีก็กล่าวต่อไปอย่างช้า ๆ ว่า "สหายเอ๋ยข้ารักเจ้าเหมือนชีวิตของข้าเอง เพราะฉะนั้นไฉนข้าจึงไม่ควรพูดสิ่งที่ข้าคิดว่าสมควรจะเปิดเผยเช่นเดียวกัน จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า ใครก็ได้ที่ใช้กลอุบายอันชาญฉลาดอาจจะถูกพามาสู่วังนี้ได้" เมื่อศิษย์ของจอมขมังเวทได้ฟังดังนี้ เขาก็เข้าใจว่านางหมายความว่าอะไร จึงประสมประเสแต่งเรื่องเพื่ออธิบายตนเองว่า "ถ้าจะถือเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้วละก็ ข้าจะตอบตามตรงว่า ข้าได้รับพรจากพระวิษณุเป็นเจ้าว่า ถ้าข้าอยากจะแปลงร่างเป็นชายในเวลากลางคืนข้าก็ทำได้ เพราะฉะนั้นข้าจะแปลงกายเป็นชายให้เจ้าดูเดี๋ยวนี้" ว่าแล้วก็คายเม็ดยาวิเศษออกจากปาก และปรากฎกายเป็นเด็กหนุ่มรูปงามต่อหน้านาง และด้วยกุสโลบายอันชาญฉลาดเช่นนี้ พราหมณ์หนุ่มก็ได้อยู่กันกับภรรยาของลูกมุขมนตรี โดยเป็นหญิงในเวลากลางวันและเป็นชายในเวลากลางคืน แต่หลังจากนี้มินานก็มีข่าวแจ้งมาว่าสามีของนางได้เสร็จการจาริกแสวงบุญแล้ว และกำลังเดินทางกลับบ้าน ชายหนุ่มผู้เป็นชู้ได้ทราบข่าวก็ตกใจ รีบพานางมฤคางกวตีหนีออกจากบ้านไปในยามดึก
ถึงตอนนี้ก็ปรากฏว่า จอมขมังเวทย์มูลเทวะผู้เป็นอาจารย์ของชายหนุ่มมนสวามิน หลังจากที่ท่องเที่ยวหาความสำราญใจไปในดินแดนต่าง ๆ ได้ทราบเรื่องที่ศิษย์ของตนก่อขึ้น จึงรีบแปลงกายกลับเป็นพราหมณ์ชราตามเดิม พร้อมด้วยศศินผู้เป็นสหายซึ่งแปลงกายเป็นพราหมณ์หนุ่มตรงไปเฝ้าพระราชายศเกตุ กราบทูลว่า "ข้าแต่ราชะ คงจะทรงจำได้ว่าข้าคือใคร บัดนี้ข้าไปติดตามจนพบลูกชายของข้าแล้ว จึงกลับมาทูลขอคืนลูกสะใภ้ที่ข้าฝากพระองค์ไว้กลับคืน เพราะฉะนั้นขอได้ทรงคืนนางให้แก่ลูกชายของข้าเถิด" พระราชาได้ฟังดังนี้ก็ตกพระทัย กลัวจะถูกพราหมณ์สาปเอาจึงกล่าวอ้อมแอ้มแก้ตัวว่า "ท่านพราหมณ์ ข้าจะทำอย่างไรดีเล่า เพราะลูกสะใภ้ของท่านเพิ่งหนีออกจากบ้านเมื่อสองสามวันนี้เอง ไม่ทราบว่าไปไหน จนป่านนี้ยังตามตัวไม่พบเลย นี่เป็นความผิดของข้าเอง เอาอย่างนี้แล้วกัน ข้าจะมอบลูกสาวของข้าให้ท่านเป็นการทดแทนลูกสะใภ้ของท่านที่หายไป ขอท่านจงรับเอาไปเถอะ"
เมื่อคนเจ้าเล่ห์ในร่างของพราหมณ์ชราได้ยินก็ซ่อนยิ้มด้วยความพอใจ แต่แกล้งตีสีหน้าบึ้งตึงให้พระราชาเกรงกลัว เมื่อรับเจ้าหญิงมาแล้วก็มอบให้แก่ศศิน พราหมณ์หนุ่มผู้ถูกสมมุติให้เป็นลูกชายของพราหมณ์เฒ่า การวิวาห์อย่างเอิกเกริกก็ได้กระทำขึ้นในวังหลวง เสร็จพิธีแล้วมูลเทวะก็นำคนทั้งสองเดินทางกลับบ้านโดยไม่สนใจไยดีต่อทรัพย์ศฤงคารที่พระราชาประทานให้
ณ บ้านของมูลเทวะนั่นเอง มนสวามินผัวคนแรกของเจ้าหญิงก็เดินทางมาถึง เกิดการโต้เถียงยกใหญ่กับศศินผู้เป็นผัวคนใหม่ของนางต่อหน้ามูลเทวะ มนสวามินกล่าวว่า "เจ้าหญิงศศิประภาองค์นี้ควรจะถูกส่งคืนให้ข้า เพราะข้าได้เป็นสามีของนางคนแรกโดยอาศัยกลวิธีของท่านครูแท้ ๆ " ศศินตอบว่า "อ้ายหน้าโง่ เจ้ามีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับนาง นางเป็นเมียข้าแท้ ๆ เพราะพระบิดาของนางประทานนางให้แก่ข้า โดยเข้าพิธีวิวาห์ต่อหน้ากองไฟอันศักดิ์สิทธิ์" ปรากฏว่าทั้งสองชายต่างก็ทุ่มเถียงกันอย่างไม่ลดราวาศอกให้กันและกัน ต่างก็ยืนยันสิทธิเหนือตัวนางด้วยกัน ไม่มีใครตัดสินในเรื่องนี้ได้
"โอ ราชันโปรดตอบข้าหน่อยว่าในระหว่างชายสองคนคู่พิพาทในกรณีนี้ ใครสมควรจะเป็นเจ้าของนางอย่างแท้จริง"
เมื่อพระราชาตริวกรมเสนถูกถามจากเวตาล ซึ่งอยู่บนพระอังสาของพระองค์ดังนั้น ก็ตรัสตอบปัญหาว่า "ข้าพิจารณาเรื่องนี้แล้ว มีความเห็นว่าเจ้าหญิงควรเป็นภริยาของศศินโดยแท้ เพราะว่า พระราชาทรงยกนางให้แก่ศศิน และจัดพิธีวิวาห์ให้อย่างเปิดเผยต่อหน้าคนทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเจ้าหญิงจึงเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายของศศิน เขาเท่านั้นที่เป็นเจ้าของนางโดยไม่มีที่สงสัย ส่วนเจ้าหนุ่มมนสวามินนั่น ไม่ได้เข้าพิธีวิวาห์กับนางเพียงแต่ได้เสียกันเองอย่างลับ ๆ ตามแบบคานธรรพวิวาห์เท่านั้น ไม่มีผู้รู้เห็นเป็นพยาน จะมาอ้างสิทธิเหนือนางกระไรได้"
เมื่อเวตาลได้ฟังคำตอบของพระราชา มันก็ละจากพระอังสา และลอยกลับไปยังกิ่งอโศกตามเดิม


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 6 กันยายน 2554 เวลา:0:04:09 น.  

 
นิทานเรื่องที่
๑๖
พระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปที่ต้นอโศก ดึงเวตาลลงจากกิ่ง เอาพาดไว้บนพระอังสาตามเดิม และในขณะที่เดินทางกลับไปทางเก่านั้น เวตาลก็กล่าวขึ้นอีกว่า "ราชะ โปรดฟังข้าสักนิด ข้ามีเรื่องดี ๆ จะเล่าให้พระองค์ฟัง"
ในโลกอันไพศาลนี้ มีขุนเขาอันใหญ่มหึมา ชื่อภูเขาหิมวัต อุดมด้วยรัตนากรมากมายเป็นล้นพ้น และ ณ ที่นี้ก็เป็นที่เกิดของเทวีพี่น้องคือ พระคงคาและพระเคารี (พระอุมา) ผู้เป็นที่โปรดปรานของพระศิวะ ภูเขาอันมีนามกระฉ่อนนี้ยังหาได้มีคนหนึ่งคนใดเคยปีนขึ้นไปถึงยอดไม่ มหาบรรพตนี้จึงชูยอดตระหง่านล้ำภูเขาทั้งปวง ด้วยเหตุดังกล่าวนี้แล จึงมีเหล่ากวีแต่งเพลงขับร้องสดุดีไปตลอดทั้งสามโลก ที่ไหล่เขาหิมวัตนี้เองเป็นที่ตั้งของเมืองกนกนคร (เมืองทอง) ซึ่งมีความสว่างไสวแพรวพราวราวกับแสงแห่งสูรยะที่ส่องระดมลงมายังพื้นพิภพโดยเฉพาะ
แต่กาลนานลึกดึกดำบรรพ์มาแล้ว เมืองทองดังกล่าวนี้เป็นที่อยู่ของเหล่าวิทยาธรทั้งหลาย ซึ่งมีพระเจ้าชีมูตเกตุเป็นพระราชา งามสง่าดังพระอินทร์ประทับอยู่บนเขาพระสุเมรุ ในพระราชอุทยานของพระองค์มีต้นไม้สารพัดนึก (กัลปพฤกษ์) ต้นหนึ่ง ซึ่งเป็นที่หวงแหนของราชตระกูลเป็นอย่างยิ่ง ต้นไม้ต้นนี้มิได้มีชื่อว่า "ผู้ให้ตามใจปรารถนา" โดยไร้เหตุผลก็หามิได้ พระราชานับถือบูชาต้นไม้สวรรค์ต้นนี้อย่างจริงใจ และทรงขอพระโอรสองค์หนึ่ง ในกาลต่อมาพระองค์ก็ได้โอรสสมความปรารถนา พระกุมารองค์นี้สามารถระลึกชาติได้ และเป็นพระโพธิสัตว์กลับชาติมาเกิด เจ้าชายเป็นผู้ที่กล้าหาญยิ่งและมีความเก่งกล้าสมเป็นวีรบุรุษคนหนึ่ง นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นผู้มีน้ำพระทัยเมตตากรุณาแก่สัตว์โลกทั้งหลายโดยทั่วหน้า เจ้าชายผู้ทรงคุณธรรมอันโดดเด่นนี้ มีพระนามว่า ชีมูตวาหน และเมื่อเจริญวัยขึ้น พระบิดาก็สถาปนาให้เป็นมกุฎราชกุมาร เพราะทรงมีคุณสมบัติดีเลิศ เป็นที่พึ่งของอำมาตย์ราชมนตรีทั้งหลาย
เมื่อชีมูตวาหนได้เป็นเจ้าชายรัชทายาทใหม่ ๆ ปรากฏว่าเหล่ามนตรีมีความเป็นห่วงในเรื่องสมบัติอันประเสริฐของแว่นแคว้นคือ ต้นกัลปพฤกษ์เป็นอันมาก ได้พากันมาเฝ้าและทูลว่า "ข้าแต่พระกุมาร บ้านเมืองของเรานี้เจริญรุ่งเรืองก็เพราะเรามีต้นกัลปพฤกษ์อันสุดประเสริฐหาสิ่งใดเสมอเหมือนมิได้เป็นหลักบ้านเมืองอยู่ ตราบใดที่เรายังมีต้นไม้นี้อยู่ แม้พระอินทร์และศัตรูเหล่าร้ายใด ๆ ก็หาอาจทำอันตรายเราได้ไม่" ชีมูตวาหนได้ฟังดังนั้นก็รำพึงว่า "อนิจจาเอ๋ย บรรพบุรุษของเรา และแม้คนปัจจุบันเหล่านั้น จะมีต้นไม้อันประเสริฐนี้อยู่ ก็หาได้อะไรอันสมควรจากต้นไม้นี้ไม่ เขาปรารถนากันแต่เพียงสมบัติพัสถานเพื่อตนเองแทบทั้งสิ้น เขาทำให้ค่าของตนต่ำทรามลง และทำให้ต้นไม้นี้พลอยถูกเหยียดหยามไปด้วย ดีละ ข้าจะทำอะไรดังที่ข้าคิดไว้มั่ง" คิดดังนั้นแล้วก็เข้าไปเฝ้าพระบิดาในที่ประทับรโหฐานและทูลว่า "พระบิดาเจ้าข้า ข้ามีความคิดว่า บรรดาชาวโลกทั้งหลายนี้ล้วนมีความคิดว่าชีวิตนี้เป็นที่รื่นรมย์หาที่สุดมิได้ เกิดมาแล้วต้องเสวยสุขให้เต็มที่ หารู้ไม่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง หาความจีรังยั่งยืนไม่ได้ ชีวิตของคนเราสั้นนัก ถ้าจะเปรียบก็เหมือนคลื่นในทะเลที่วิ่งเข้าสู่ฝั่งแล้วก็แตกทำลายไป ทรัพย์ศฤงคารที่ได้มาก็เช่นเดียวกัน มันเกิดได้ มันก็เสื่อมสูญได้ ทางที่สมควรซึ่งคนเราควรประพฤติปฏิบัติก็คือ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน นั่นต่างหากที่เป็นหลักธรรมอันควรประพฤติร่วมกัน หลักนี้ปรากฏอยู่ยงคงทนมาแล้วนับร้อย ๆ ยุค พระบิดาเจ้าข้า ขอให้ข้าได้ทำสิ่งที่ต้องการตามความมุ่งหมายของข้าเถิด ข้าจะขอสิ่งอันพึงปรารถนาให้แก่เพื่อนบ้านและเพื่อนร่วมโลก ให้เขามีความสุขโดยทั่วหน้าเถิด"
เมื่อพระบิดาตรัสว่า "ตามใจเจ้าเถิด" ชีมูตวาหนก็ถวายบังคมลาออกไปยังต้นกัลปพฤกษ์ และกล่าวแก่ต้นไม้ทิพย์ว่า "โอ เทวะ พระองค์ได้ประสิทธิ์ประสาทสิ่งอันใคร ๆ ปรารถนามาแล้วทั้งในอดีตและปัจจุบัน ครั้งนี้ข้าทูลขออย่างเดียวเท่านั้น ข้าขอให้ชาวโลกจงปราศจากความยากจน และขอความมีโชคจงสถิตอยู่กับเขาเหล่านั้น จงไปเถิด ขอให้ทำได้สำเร็จสมความมุ่งหมาย ข้ายกเจ้าให้แก่โลกของผู้ที่ปรารถนาความมั่งคั่งร่ำรวยเหล่านั้นแล้ว จงไปเถิด" เมื่อชีมูตวาหนกล่าวพร้อมกับพนมมือแสดงความเคารพเช่นนี้แล้ว ก็มีเสียงมาจากต้นกัลปพฤกษ์ว่า "เมื่อท่านปล่อยข้าแล้ว ข้าก็ขอลาจากท่าน ณ บัดนี้" และในฉับพลันนั้น ต้นไม้สารพัดนึกก็ลอยขึ้นสู่สวรรค์ และหลั่งฝนแห่งแก้วแหวนเงินทองโปรยพรั่งพรูลงสู่โลกมากมาย และคนยากจนทั้งหลายทั่วโลกก็ได้รับสมบัตินั้นโดยทั่วหน้ากัน มิได้ละเว้นผู้ใดแม้แต่คนเดียว ด้วยผลแห่งการทำความดีเช่นนี้ ทำให้ชีมูตวาหนได้รับการแซ่ซ้องสาธุการตลอดสามโลก
การกระทำครั้งนี้ ทำให้บรรดาพระญาติวงศ์ทั้งปวงเดือดร้อนและแค้นมากเพราะ "ผู้ให้สมบัติ" คือกัลปพฤกษ์ต้นนั้นได้ลอยไปสู่สวรรค์แล้ว เพราะฝีมือของชีมูตวาหน ทำให้พวกตนพลอยหมดลาภไปด้วย จึงรวมหัวกันนำบริวารมาล้อมวังเพื่อจะขับไล่ชีมูตวาหน และบิดา ออกไปจากราชอาณาจักร ชีมูตวาหนแลเห็นดังนั้นก็กล่าวแก่พระเจ้าชีมูตเกตุผู้บิดาว่า "ท่านพ่อ เราจะเกณฑ์กำลังคนไปสู้กับพวกเขาเราก็ทำได้ แต่นั่นหมายถึงสงครามและการเสียเลือดเนื้อ ถ้าคนใจกว้างมีความปรารถนาจะครองอาณาจักรแล้วละก็ เขาจะต้องฆ่าฟันพวกญาติพี่น้องของเขาตายเป็นเบือ เพียงเพื่อสนองความปรารถนาของเขาเท่านั้นหรือ เขาจะต้องทำอย่างนี้แลหรือ ดังนั้นราไชศวรรย์จะมีประโยชน์อันใดแก่เราสองพ่อลูกอีกต่อไปเล่า ลูกว่าเราควรจะเป็นฝ่ายจากไปดีกว่า ไปหาที่อยู่ใหม่ที่ไม่วุ่นวาย เป็นที่สงบสุขเหมาะแก่การบำเพ็ญพรตภาวนา ปล่อยให้พวกญาติที่น่าสงสารเหล่านั้นผจญกันเอง เพราะความโลภเป็นสาเหตุ เขาอยากได้อาณาจักรก็ให้เขาเอาไปเถอะ"
เมื่อชีมูตวาหนกล่าวดังนี้ พระเจ้าชีมูตเกตุผู้เป็นบิดาก็ตรัสว่า "ลูกเอ๋ย พ่ออยากได้อาณาก็เพื่อลูกเท่านั้น ถ้าเจ้าผู้เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรมต้องการสละมัน มันจะมีค่าอะไรสำหรับพ่ออีกเล่า พ่อแก่แล้วจะปรารถนาอะไรอีก"
เมื่อพระเจ้าชีมูตเกตเห็นชอบด้วยตามข้อเสนอของโอรส ชีมูตวาหนก็พาบิดาพร้อมด้วยมารดาหนีออกจากวัง เดินทางไปยังภูเขามาลยะ สละราชสมบัติไว้เบื้องหลังอย่างสิ้นอาลัยไยดี ณ ที่นั้นชายหนุ่มก็เสาะแสวงหาชัยภูมิอันเหมาะที่จะตั้งอาศรม และได้พบหุบเขาซึ่งมีธารน้ำไหลผ่าน มีป่าจันทน์ห้อมล้อมรอบดูมิดชิดดี ก็ลงมือสร้างบรรณนาศรมอยู่ ณ ที่นั้น และดำรงชีวิตอย่างผาสุกปรนนิบัติพ่อแม่ด้วยความรักความอาทร มีความสงบสุขไร้ความกังวลใด ๆ ในกาลต่อมาชีมูตวาหนก็ได้เพื่อนใหม่คนหนึ่งชื่อ มิตราวสุ เป็นบุตรของหัวหน้าคณะนักสิทธิ์ผู้พำนักอยู่บนภูเขามาลยะแห่งนั้น
วันหนึ่ง ขณะที่ชีมูตวาหนกำลังเดินเที่ยวอยู่ ณ บริเวณป่าแห่งนั้น ก็แลเห็นวิหารของพระแม่เจ้าเคารี ซึ่งตั้งอยู่ในสวนจึงจะเข้าไปทำการสักการบูชาต่อเทวรูปนั้น ณ เทวาลัยนั้นเอง เจ้าชายหนุ่มก็แลเห็นหญิงสาวผู้หนึ่งมีสรีระรูปงดงามแวดล้อมด้วยเหล่านางบริจาริกากำลังบรรเลงพิณอยู่ เป็นการน้อมถวายพระธิดาแห่งขุนเขาหิมวัต ความไพเราะของเสียงพิณเป็นที่จับจิตจับใจมาก ขนาดเนื้อทรายยังยืนนิ่งไม่กระดุกกระดิก เพื่อเงี่ยหูสดับเสียงแห่งพิณทิพย์นั้นด้วย นัยน์ตาอันกลมโตแจ่มแจ๋วไร้เดียงสา หญิงสาวผู้นั้นมีร่างเล็กแบบบางและมีเอวอันกลมกลึง ราวกับว่าพระธาดาพรหมได้กดแม่แบบของนางด้วยนิ้วพระหัตถ์อันงามเรียว เพียงครั้งแรกที่ชีมูตวาหนได้เห็นภาพนางก็ตกตะลึง รู้สึกเหมือนว่านางได้แทงทะลุนัยน์ตาของเขาลงไปเสียบก้นบึ้งแห่งหัวใจ และหญิงสาวเมื่อแลเห็นรูปลักษณ์อันงามสง่าสมชายของเจ้าชายหนุ่ม ดวงจิตของนางก็ปั่นป่วนไปหมด มีความรู้สึกเหมือนแลเห็นพระวสันตเทพบุตรมาปรากฏกายเฉพาะหน้า แสดงความอาลัยในการถูกเผาไหม้ของพระกามเทพผู้เป็นปิยสหายของพระองค์ หญิงสามีอาการงุนงงเหมือนจิตไม่อยู่กับร่าง จนเผลอตัวลืมดีดพิณปล่อยให้เสียงเพลงหยุดชะงักและหยุดนิ่งในที่สุด
เมื่อชีมูตวาหนได้สติ ก็เกิดความใคร่รู้ว่านางเป็นใครกันแน่ จึงถามนางกำนัลผู้คอยรับใช้นางว่า ผู้เลอโฉมมีนามว่ากระไร เป็นลูกเต้าเหล่าใคร เมื่อนางกำนัลได้ฟังก็ตอบว่า "นางชื่อมลยวตี เป็นน้องของมิตราวสุ และบิดาของนางคือวิศวาวสุ ราชาแห่งสิทธะทั้งหลาย" เมื่อนางกล่าวดังนี้แก่ชีมูตวาหน เป็นการเผยประวัติของนางมลยวตี และวงศ์ตระกูลแล้วก็ถามประวัติของฤษีหนุ่มชีมูตวาหนและราชฤษีทั้งสอง คือบิดาและมารดาของฤษีหนุ่มที่ติดตามออกมาบวชด้วย ว่าเป็นใครมาจากไหน หลังจากนี้นางก็รายงานต่อมลยวตีให้ทราบโดยย่อ ๆ นางมลยวตีได้ฟังก็กล่าวยิ้ม ๆ ว่า "ทำไมไม่ทูลเชิญเจ้าชายแห่งวิทยาธรผู้มาเยือนมาที่นี่เล่า เพราะพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงเกียรติเป็นที่ยกย่องของคนทั้งโลก" เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว ราชธิดาโฉมงามของราชาแห่งสิทธะก็นั่งเงียบอยู่ และก้มหน้าลงซ่อนความขวยเขิน นางข้าหลวงจึงกล่าวแก่ชีมูตวาหนว่า "พระธิดาทรงขวยอาย ขอให้หม่อมฉันทำคารวะพระองค์แทนนางก็แล้วกัน กล่าวจบนางก็ถวายพวงมาลาแก่เจ้าชาย เจ้าชายผู้หลงรักนางเพียงดวงใจก็ยินดีรับพวงมาลานั้นมาสวมคอนางมลยวตี ส่วนนางผู้พิศวาสเจ้าชายอย่างลึกซึ้งก็สวมคอเจ้าชายหนุ่มด้วยพวงมาลาดอกบัวอินทีวร (บัวสีน้ำเงิน)
ด้วยประการฉะนี้แล เจ้าชายและเจ้าหญิงก็ผ่านพิธีเลือกคู่ไปอย่างเงียบ ๆ ทั้งสองฝ่าย ทันใดนางปาทจาริกาผู้หนึ่งก็เข้ามาทูลเจ้าหญิงว่า "โอ ราชกุมารีเสด็จแม่ให้หม่อมฉันมาตามพระองค์ไปเฝ้า รีบเสด็จไปเดี๋ยวนี้เถิด" นางได้ฟังดังนั้นก็จำใจผละจากชายสุดที่รักของนางไปอย่างเสียดายและไม่เต็มใจ เพราะนางถูกศรกามเทพเสียบอุระเสียแล้ว แต่นางก็ไม่ขัดขืน เดินไปสู่ตำหนักของนางโดยดี ส่วนชีมูตวาหนผู้หลงรักปักใจต่อนางเช่นกัน ก็แยกทางกลับไปอาศรมของตน
ฝ่ายมลยวตีแลเห็นมารดาของนาง นางก็แล่นปราดไปยังบรรจถรณ์ทุ่มตัวลงกลิ้งเกลือกไปมา ทุรนทุรายเพราะความวิปโยค (พลัดพราก) จากชายคนรัก น้ำตาไหลพรากไม่ขาดสาย ร่างกายถูกทรมานด้วยไฟเสน่หา ถึงแม้นางข้าหลวงจะชโลมร่างนางด้วยผลไม้จันทน์และเครื่องลูบไล้ต่าง ๆ และพัดวีด้วยใบบัว แต่อาการร้อนรุ่มของนางก็หาได้บรรเทาลงไม่ ไม่ว่าจะอยู่บนเตียง อยู่บนตักของพี่เลี้ยง หรือบนพื้นก็ตาม เมื่อถึงเวลาสายัณห์ตะวันรอน พระอาทิตย์ลับฟ้าไปแล้ว ดวงศศีก็เยี่ยมเมฆขึ้นมาทางทิศตะวันออกส่องแสงเป็นนวลใย แต่ความเย็นของแสงจันทร์หาได้ช่วยให้นางสบายใจไม่ จะมีก็แต่ดอกบัวที่ขยายกลีบในยามกลางคืนเพื่อรับแสงนิศากรเท่านั้น
ฝ่ายเจ้าชายชีมูตวาหน พอรุ่งเช้าก็รีบเดินทางไปยังเทวาลัยของพระเคารี ซึ่งเป็นสถานที่ตนเองได้พบธิดาของราชแห่งสิทธะ ชายหนุ่มเดินทางมาคอยพบนางด้วยดวงจิตอันร้อนรุ่มเพราะถูกเผาผลาญด้วยไฟเสน่หา และมีลูกฤษีที่เป็นบริวารคอยปลอบโยนอยู่ไม่ห่าง ณ ที่นั้นนางมลยวตีก็เดินทางมาคอยพบอยู่ด้วยเพราะทนต่อความคิดถึงไม่ไหว นางแอบมาอย่างลับ ๆ แต่ลำพัง มิให้ใครติดตามมา แต่เมื่อมาถึงเทวาลัยก็หาได้พบชายผู้เป็นยอดดวงใจไม่ เพราะชายหนุ่มยืนอยู่หลังต้นไม้ต้นหนึ่ง จึงกล่าวต่อเทวรูปพระแม่เจ้าเคารีด้วยใบหน้านองน้ำตาว่า "ข้าแต่พระแม่เจ้าผู้เป็นที่พึ่งของข้า ลูกได้บำเพ็ญภักดีต่อพระแม่เจ้ามาชั่วเวลาช้านานแล้ว แต่ลูกก็หาได้ชีมูตวาหนเป็นสามีในชาตินี้ไม่ ลูกคงต้องรอเขาไปถึงชาติหน้าเป็นแน่แท้" กล่าวจบนางก็ดึงเชือกที่ร้อยเสื้อของนางออกมาทำเป็นบ่วงคล้องกิ่งอโศกต้นหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่ข้างหน้าเทวาลัยของพระเคารี และกล่าวด้วยความละห้อยน้อยใจว่า "เจ้าชายชีมูตวาหนของข้าผู้เป็นเจ้าแห่งปวงชนทั่วโลก ด้วยเหตุผลอันใดเล่า พระองค์ผู้มีความเมตตากรุณาเห็นปานนี้จึงทอดทิ้งข้าได้ลงคอ" กล่าวจบนางก็เอาบ่วงคล้องคอเตรียมกระตุกให้รัดคอของนางให้แน่นเข้า แต่ในช่วงเวลาอันคับขันนั้นเอง ก็มีเสียงลอยลงมาจากอากาศว่า "ลูกเอ๋ย อย่าร้อนรนไปเลยลูก เพราะชีมูตวาหนเจ้าชายแห่งวิทยาธร ผู้จะเป็นจักรพรรดิโลกในอนาคตกาลนี้แล จะเป็นสวามีของเจ้า"
ขณะเมื่อพระเทวีตรัสดังนี้ ชีมูตวาหนก็พลอยได้ยินด้วย จึงเดินตรงเข้าไปหานาง ตามติดด้วยบุตรฤษีผู้เป็นสหาย บุตรฤษีกล่าวแก่นางว่า "เห็นไหมนี่แหละคือเจ้าบ่าวผู้ซึ่งพระเทวีประทานให้เจ้า" ชีมูตวาหนได้กล่าวต่อนางด้วยน้ำเสียงอันอ่อนละมุนเล้าโลมนางให้ชื่นใจ พลางแก้บ่วงออกจากคอของนางและดื่มด่ำในความรู้สึกต่อกันเหมือนได้เสพละอองไอแห่งน้ำทิพย์อันเป็นอมตะ นางมลยวตีสุดแสนที่จะขวยเขิน ได้แต่ก้มลงขีดเขียนอะไรเล่นบนพื้นดิน ขณะนั้นนางพี่เลี้ยงก็โผล่เข้ามา และกล่าวด้วยความปิติว่า "น้องเอ๋ย เจ้าช่างโชคดีนัก ในที่สุดเจ้าก็ได้สิ่งที่เจ้าปรารถนามากที่สุด เพราะวันนี้เองที่พี่ชายของเจ้าคือมิตราวสุได้ทูลพระบิดาของเจ้า ข้าแอบได้ยินมาว่าดังนี้ "พระบิดาเจ้าข้า พญาวิทยาธรคือชีมูตวาหนผู้นั้น ผู้เป็นที่ยกย่องของคนทั้งโลก ผู้ยอมสละแม้แต่ของมีค่าที่สุดคือต้นไม้สวรรค์กัลปพฤกษ์ให้เป็นทาน บัดนี้พระองค์ได้เสด็จมาอยู่ปลายแว่นแคว้นอาณาจักรของเรา เพื่อแสวงหาความสันโดษ พวกเราสมควรจะต้อนรับพระองค์ด้วยใจยินดี ในฐานะเป็นอาคันตุกะของเรา และยกมลวตีผู้เป็นมุกดามณีของอาณาจักรเราให้แก่เขา" พระราชาได้ฟังก็เห็นชอบด้วย ตรัสว่า "จงเป็นเช่นนั้นเถิด" และบัดนี้พระมิตราวสุผู้เชษฐาของเจ้า กำลังเดินทางไปที่อาศรมของเจ้าชายด้วยเรื่องนี้ และข้าทราบยิ่งกว่านั้นด้วยว่าการอภิเษกสมรสของเจ้าจะเกิดขึ้นทันที เพราะฉะนั้นจงรีบกลับวังเถิด ส่วนเจ้าชายยอดบุรุษก็กำลังจะรีบกลับอาศรมเช่นเดียวกัน" เมื่อพี่เลี้ยงของเจ้าหญิงกล่าวดังนี้แล้วก็รีบพานางกลับไป
ฝ่ายชีมูตวาหนเมื่อได้ยินคำพี่เลี้ยงของนางกล่าวเช่นนั้นก็รีบเร่งกลับไปอาศรมทันที และได้ฟังจากปากของมิตราวสุยืนยันเรื่องการวิวาห์ก็มีความยินดียิ่งนัก และเมื่อเจ้าชายรำลึกชาติปางก่อนได้ ก็ทราบว่าในชาติที่แล้วมิตราวสุเป็นเพื่อนสนิทของตน และนางมลยวตีนั้นก็เป็นภริยาของตนนั่นเองเมื่อมิตราวสุได้ทราบก็ยิ่งยินดีมากขึ้น และนำเรื่องราวทั้งหมดไปแจ้งแก่บิดาและมารดาให้ทราบ และในวันนั้นนั่นเอง มิตราวสุก็นำชีมูตาวาหนไปยังปราสาทของเขา และเตรียมงานมงคลวิวาห์อย่างมโหฬารให้แก่สหาย และน้องสาวของตน จากนั้นชีมูตวาหนจอมวิทยาธรก็ได้ดำเนินชีวิตอย่างผาสุกพร้อมกับมลยวตีชายาของตน
อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่ชีมูตวาหนกับมิตราวสุท่องเที่ยวไปตามทิวเขามลยะตามประสาผู้ใคร่รู้ใคร่เห็นในสิ่งต่าง ๆ อยู่นั้น ทั้งสองคนก็เดินทางมาถึงป่าแห่งหนึ่งซึ่งทอดเป็นทิวยาวริมฝั่งทะเล ณ ที่นั้นมีกระดูกกองพะเนินเทินทึกอยู่ริมหาด ชีมูตวาหนแลเห็นก็เกิดความสงสัย จึงถามมิตราวสุว่า "สหายเอ๋ย นี่มันกองกระดูกของอะไร" มิตราวสุผู้เป็นพี่เขยได้ฟังก็ตอบว่า "ฟังเถิด เรื่องนี้เป็นมาอย่างไรข้าจะเล่าให้เจ้าฟัง ในอดีตกาลนานแสนนานมาแล้ว นางกัทรูมารดาของพวกนาคทั้งปวง มีชัยชนะโดยการพนันกับนางวินตามารดาของครุฑโดยใช้กลโกง ทำให้นางวินตาผู้เป็นพี่สาวต้องตกเป็นทาสของนาง นางวินตาต้องตกระกำลำบากอยู่ช้านาน จนในที่สุดนางคลอดลูกเป็นครุฑ พญาเทพปักษินผู้มีพลังยิ่งใหญ่หาใครเสมอมิได้ ครุฑมีความเคียดแค้นผูกพยาบาทพวกนาคทั้งหลายผู้เป็นลูกนางกัทรู แม้นางวินตาแม่ของตนจะได้อิสรภาพแล้วก็ตาม จึงจับพวกนาคกินเป็นอาหารนับไม่ถ้วน โดยติดตามพวกนาคลงไปเมืองบาดาล ประหารพวกนาคอย่างไม่มีความปรานี จับนาคฟาดฟันอย่างโหดเหี้ยม เพียงแต่เห็นหน้าครุฑพวกนาคก็ตกใจตายเสียแล้ว
พญาวาสุกิผู้เป็นราชาแห่งนาคประสบภัยพิบัติเช่นนี้ก็ตกใจมาก บังเกิดความหวาดกลัวว่าพวกนาคจะถูกครุฑฆ่าตายจนสิ้นเผ่าพันธุ์ จึงขอเจรจายุติการจองล้างจองผลาญกับครุฑโดยกล่าวว่า "โอ พญาราชปักษิน ข้าจะส่งนาคมาให้ท่านกินวันละตัวที่ชายหาดแห่งทะเลทักษิณนี้ทุกวัน ขอท่านจงอย่าได้ลงไปย่ำยีเมืองบาดาลอีกเลย" เมื่อราชาแห่งนาคกล่าวดังนี้ พญาครุฑเห็นว่าตนได้เปรียบก็ยินยอมตกลงด้วย นับจากนั้นเป็นต้นมา ครุฑมากินนาคทุกวันที่ชายหาดตามคำสัญญาของพญานาควาสุกิ ดังนั้น สหายเอ๋ย กองกระดูกมหึมาที่ท่านแลเห็นอยู่นี่แหละ จงทราบเถิดว่า เป็นกระดูกของพวกนาคที่ครุฑสังหารเสียมากมายจนกระทั่งถึงวันนี้แหละ"
เมื่อชีมูตวาหนผู้ยิ่งด้วยความเมตตากรุณาและความกล้าหาญ ได้ฟังดังนี้ตามเรื่องที่มิตราวสุเล่า ก็มีความเศร้าใจยิ่งนัก จึงตอบมิตราวสุว่า "ใครก็ตามที่รู้เรื่องที่วาสุกินาคราชทำแก่ประชากรของตนอย่างขี้ขลาด และเห็นแก่ตัวอย่างนั้น ก็คงจะอดเศร้าใจมิได้ พญาวสุกิมีหัวตั้งพัน มีปากตั้งพัน ทำไมหัวหด ไม่มีแม้แต่ปากใดปากหนึ่งที่จะอาสาตัวเองต่อพญาครุฑว่า "กินข้าก่อนเถอะ" วาสุกิผู้ขี้ขลาดจะกล่าวดังนั้นแลหรือ เขาทนได้อย่างไรที่จะเห็นพญาครุฑทำลายเผ่าพันธุ์ของเขาไปทีละตัว ๆ เขาทำหูทวนลมต่อเสียงคร่ำครวญของบริวารอย่างไม่แยแสทุก ๆวัน มีแต่ความเศร้าระทม แม่พรากจากลูก ลูกพรากจากแม่ เพราะความตายที่วาสุกินนาคราชหยิบยื่นให้ ข้างฝ่ายครุฑนั้นเล่า ก็พอกัน ถึงแม้จะมีศักดิ์สูง เป็นถึงโอรสของพระกัศยปเทพบิดร และเป็นวีรบุรุษผู้เกรียงไกร และยังมีเกียรติศักดิ์อันสูงเด่น คือได้เป็นถึงเทพพาหนะขององค์พระกฤษณะ (พระนารายณ์) แต่ก็ยังทำชั่วบาปไม่ละอายแก่ใจ"
เมื่อชีมูตวาหนได้กล่าวตำหนิคู่กรณีดังนั้นแล้ว ก็ประกาศเจตนาในหัวใจว่า "ขอให้ข้าได้มีโอกาสเสียสละแก่สัตว์โลก โดยเอาชีวิตของตัวเองแลกกับชีวิตของผู้อื่นที่จะต้องตาย ถ้าเป็นไปได้ข้าขอพลีชีวิตเพื่อแลกกับชีวิตของนาคผู้ไร้ที่พึ่ง โดยข้าขอเสนอร่างกายของข้านี้ให้แก่ครุฑ เป็นเครื่องแลกเปลี่ยนแทนนาคผู้จะต้องตกเป็นเหยื่อของครุฑนั้นด้วยเถิด"
ขณะที่ชีมูตวาหนกำลังใคร่ครวญคำนึงอยู่นั้น นายทวารบาลตำหนักของบิดามิตราวสุก็ตามมาเรียกและบอกให้ทราบว่ามีคำสั่งให้เข้าเฝ้า ชีมูตวาหนจึงกล่าวแก่สหายว่า "เจ้ากลับไปก่อนเถอะ ข้าจะตามไปทีหลัง" เมื่อส่งมิตราวสุไปแล้ว ชีมูตวาหนก็ท่องเที่ยวในบริเวณป่านั้นตามลำพัง ชั่วเวลามินานก็ได้ยินเสียงร้องโหยหวนดังมาจากบริเวณชายป่าข้างหน้า แสดงความทุกข์ลำเค็ญแสนสาหัส เจ้าชายรีบวิ่งไปตามเสียงนั้น เมื่อถึงชายเขาริมทะเล ก็แลเห็นแท่นหินตั้งอยู่บนเนินผาลาดแห่งหนึ่ง และที่ใกล้เคียงกันนั้น ชายหนุ่มรูปงามคนหนึ่งกำลังนั่งคร่ำครวญร่ำไห้อยู่ ดูเหมือนว่าเขาจะถูกฉุดลากให้ขึ้นมาที่แท่นหินอย่างไม่ปรานีปราศรัย จากชายร่างกำยำคนหนึ่งแต่งกายเหมือนราชมัลของพระราชาองค์ใดองค์หนึ่งที่เพิ่งเดินจากไป ชายหนุ่มที่แลเห็นนั้นกำลังแสดงอาการปลอบโยนหญิงแก่คนหนึ่ง เพื่อให้นางจากเขาไปเสีย แต่หญิงชราผู้นั้นก็ไม่ยอมจากไป พยายามยื้อยุดชายหนุ่มไว้เพื่อให้เขากลับไป
ชีมูตวาหนแอบดูหลังชะง่อนหินและสังเกตเห็นว่า หญิงชราผู้นั้นมองดูชายหนุ่มอย่างเศร้าสร้อยครั้งแล้วครั้งเล่า พลางร่ำไห้คร่ำครวญว่า "อนิจจา ศังขจูฑะลูกแม่ หัวใจแม่เหมือนถูกแทงครั้งแล้วครั้งเล่าสักร้อยครั้ง อนิจจาเอ๋ย ลูกเป็นคนซื่อบริสุทธิ์ ลูกของแม่เอ๋ย ไฉนลูกจึงเคราะห์ร้ายอย่างนี้เล่า เจ้าเป็นความหวังเพียงสิ่งเดียวของตระกูลเรา ตั้งแต่นี้ต่อไปแม่คงจะไม่ได้เห็นหน้าเจ้าอีกแล้ว ยอดรักของแม่ เมื่อเจ้าผู้มีหน้าดังเดือนเพ็ญ เป็นที่สว่างตาสว่างใจแม่จะต้องหายลับไปในคราวนี้ แม่จะต้องทนอยู่ในความมืดตลอดกาลได้อย่างไร แล้วพ่อของเจ้าเล่า เขาจะทนมีชีวิตอยู่ต่อไปจนแก่เฒ่าได้ละหรือ ร่างของเจ้าก็แบบบาง ผ่องผิวละเอียดอ่อน ทนได้แต่แสงอาทิตย์ที่สองรังสีมาลูบโลม เจ้าจะทนความเจ็บปวดแสนสาหัสยามเมื่อถูกครุฑฉีกร่างเป็นชิ้น ๆ ได้อย่างไรเล่า แม่ไม่เข้าใจเหมือนกัน พิภพนี้แสนจะกว้างใหญ่ เหตุไฉนราชาของเจ้าจะมีปัญญาสืบเสาหาเจ้าพบจนได้"
เมื่อได้ฟังคำคร่ำครวญของมารดา นาคหนุ่มน้อยก็กล่าวว่า "แม่จ๋า เวลานี้ลูกก็ทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสอยู่แล้ว ทำไมแม่มาทำให้ลูกต้องทุกข์หนักยิ่งขึ้นอีกเล่า กลับบ้านเถอะ ขอให้ฉันกล่าวคำอำลาครั้งสุดท้ายต่อแม่ไว้ตรงนี้เถิด เพราะอีกไม่ช้าครุฑก็จะมาถึงที่นี่แล้ว" เมื่อหญิงเฒ่าได้ฟังถ้อยคำเช่นนั้น ก็เหลียวดูโดยรอบขอบฟ้า และร้องไห้ด้วยเสียงอันดัง กล่าวว่า "ข้าหมดหวังแล้ว ใครเล่าจะมาช่วยชีวิตลูกของข้าได้"


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 6 กันยายน 2554 เวลา:0:06:51 น.  

 
ขณะนั้น ชีมูตวาหนผู้มีน้ำใจเป็นพระโพธิสัตว์ ได้แลเห็นภาพและได้ยินเสียงโศกาดูรโดยตลอด ก็มีใจอันท่วมท้นไปด้วยความสังเวชอย่างลึกซึ้ง รำพึงว่า "ข้าเห็นละ นี่ต้องเป็นนาคที่เดือดร้อนแสนสาหัสแน่ ๆ นาคหนุ่มนี่ชื่อ ศังขจูฑะผู้ถูกวาสุกินาคราชส่งตัวมาเป็นเครื่องสังเวยพญาครุฑแน่ ๆ และนั่นก็คือแม่ผู้ชราของเขาผู้มีลูกเพียงคนเดียว นางสู้อุตส่าห์ติดตามลูกมาอย่างไม่ลดละ และครวญคร่ำร่ำไห้ด้วยความเศร้าใจอย่างสุดซึ้ง อนิจจาเอ๋ย ถ้าข้าจะไม่ช่วยสัตว์ผู้ยากนี้โดยอุทิศร่างของข้าแทนเขา ข้าจะทนอยู่ได้อย่างไร ชีวิตของข้าทั้งชีวิตก็จะว่างเปล่าหาประโยชน์อันใดมิได้ ข้าจะเกิดมาเพื่อประโยชน์อันใดเล่า?"
เมื่อชีมูตวาหนใคร่ครวญโดยตลอดแล้ว ก็รีบตรงเข้าไปหาหญิงชราและกล่าวแก่นางว่า "แม่เฒ่าอย่าวิตกต่อไปเลย ข้าจะช่วยลูกท่านเอง" หญิงชราฟังไม่ทันได้พิจารณาอะไร คิดว่าครุฑมาแล้วก็ตกใจ ตะโกนละล่ำละลักว่า "กินข้าสิ ครุฑ กินข้าเถิด" ศังขจูฑะแลเห็นดังนั้นก็กล่าวว่า "แม่จ๋า อย่ากลัวไปเลย เขาไม่ใช่พญาครุฑดอก เป็นคนละคนแน่เทียว นี่เป็นบุรุษผู้เพ็ญพักตร์ดั่งดวงจันทร์ หาใช่ครุฑผู้กักขฬะหยาบช้าไม่" เมื่อศังขจูฑะอธิบายดังนี้ ชีมูตวาหนก็กล่าวว่า "แม่เอ๋ย ข้าเป็นวิทยาธรมาช่วยลูกของท่านให้พ้นอันตราย โดยข้าจะพลีร่างของข้าให้ครุฑผู้หิวโหยกินแทน แม่จงพาลูกชายของแม่กลับไปบ้านเถอะ"
เมื่อหญิงชราได้ฟังก็กล่าวว่า "จะคิดอย่างไรก็ตาม เจ้าก็เหมือนลูกของข้าแท้ ๆ เพราะเจ้าห่วงใยเราด้วยใจจริง เหมือนกับลูกรักคนหนึ่งของแม่แท้ ๆ " ชีมูตวาหนได้ฟังดังนั้น ก็กล่าวตอบว่า "ท่านทั้งสองจงรีบไปเถิด อย่าทำให้ข้าต้องผิดหวังในการกระทำของข้าเลย" เมื่อถูกเร่งดังนี้ศังขจูฑะก็กล่าวว่า "ว่าตามจริง ท่านผู้มีใจงามก็ได้แสดงน้ำใจอันประเสริฐอย่างยิ่งแล้ว แต่ข้าไม่เห็นด้วยกับการที่ท่านจะช่วยชีวิตข้าโดยยอมพลีชีวิตของท่านเองเช่นนี้ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับการช่วยรักษาก้อนหินไว้โดยสละดวงมณีแทน โลกนี้เต็มไปด้วยบุคคลอย่างตัวข้า ผู้ที่มีแต่ความเห็นแก่ตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่บุคคลอย่างท่านมีแต่ความสงสารเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คนอย่างนี้มีน้อยนัก แทบจะหาไม่ได้ด้วยซ้ำนอกจากนี้ ท่านสาธุชนที่เคารพ ข้าพเจ้าไม่อาจที่จะทำให้เกิดจุดด่างดำขึ้นได้ในพงศ์เผ่าของศังขบาล เหมือนรอยด่างดำบนดวงจันทร์นั้นดอก"
เมื่อศังขจูฑะกล่าวเบี่ยงเบนความหวังดีของเจ้าชายหนุ่มคนธรรพ์ดังนั้นแล้ว ก็หันมาเร่งมารดาว่า "แม่จ๋า กลับไปเถิดเร็ว ๆ เข้า ทิ้งสถานที่แห่งความโหดร้ายนี้ไปเสีย แม่ไม่เห็นหรือว่า ผาลาดแห่งนี้อันเป็นตะแลแกงของพวกนาค มีคราบเลือดแดงฉานติดอยู่ทุกหนทุกแห่ง น่ากลัวราวกับแท่นประหารของมัจจุราช ตอนนี้ฉันจะต้องรีบไปถวายการบูชาแด่พระโคกรรณ (พระศิวะ) ในเทวาลัยข้างล่างเสียก่อน แล้วจะรีบกลับขึ้นมาที่นี่ก่อนครุฑจะมาถึง" เมื่อศังขจูฑะกล่าวดังนี้แล้ว ก็อำลามารดาด้วยความเคารพก่อนจากกัน แล้วก็รีบวิ่งลงไปยังเทวาลัยเบื้องล่าง เพื่อกระทำการบูชาเทวรูปพระโคกรรณ
ฝ่ายชีมูตวาหนก็ตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะทำตามความตั้งใจของตน คือคอยให้ครุฑมาถึง แล้วจะขอร้องครุฑให้กินตนแทนเพื่อช่วยนาคเอาไว้ ระหว่างที่กำลังคิดอยู่ก็แลเห็นต้นไม้ใหญ่น้อยเบื้องหน้าลู่ตามลมพายุซึ่งพัดกระหน่ำอย่างรุนแรง ประหนึ่งจะถอนรากถอนโคนหมู่ไม้ให้ย่อยยับลง ลมพายุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันนี้ก็คือแรงกระพือปีกของพญาครุฑ ซึ่งกำลังบินอย่างเร็วรุดมาจากสุดขอบฟ้านั่นเอง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยกะทันหัน แสดงให้รู้ว่าพญาเทพปักษินผู้ทรงพลังมหาศาลกำลังจะมาถึงที่หมายคือแท่นสังเวยแล้ว ชีมูตวาหนรู้ดังนี้ก็รีบปีนป่ายขึ้นไปที่แท่นสังเวยโดยรวดเร็ว ทันใดนั้นครุฑผู้ทรงอำนาจก็ร่อนราถาลงเบื้องล่างอย่างรวดเร็ว จิกร่างของเจ้าชายผู้นอนอยู่บนแท่นสังเวย ในพริบตาพาบินไปสู่ยอดเขามลยคีรี เพื่อจะกินเป็นภักษาหาร ณ ที่นั้นขณะที่ถูกขุนสุบรรณจิกกระชากเนื้อหลุดเป็นชิ้น ๆ นั่นเอง จอมวิทยาธรก็ตั้งจิตอุทิศร่างกายต่อมัจจุราชผู้กำลังจมทำลายชีวิตของตนให้สิ้นสูญอย่างทะนงองอาจโดยกล่าวว่า "ข้าขออุทิศร่างของข้าเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ ข้าจะหวังสวรรค์สมบัติอันใดก็หาไม่ ข้าขอเพียงแต่ว่าให้เกิดมาใหม่ทุก ๆ ชาติ เพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้อื่นทุกชาติไป ให้เขาพ้นทุกข์ แม้ข้าจะตายแล้วตายอีก เกิดแล้วเกิดอีกชั่วกัปแสนกัลป์อนันตชาติข้าก็ยินดี ถ้าข้าสามารถทำให้คนอื่นเป็นสุขสมความปรารถนา" เมื่อจอมวิทยาธรตั้งจิตประกาศปณิธานดังนี้ ก็ปรากฏฝนบุปผชาติ โปรยปรายลงมาเหมือนทวยเทพพากันอนุโมทนาด้วยใจยินดี
ระหว่างนั้น มงกุฎเพชรซึ่งเปื้อนเลือดหยาดหยดย้อยก็หล่นลงจากศีรษะของชีมูตวาหน ตกกลิ้งอยู่ต่อหน้ามลยวตีผู้ติดตามหาสามีของนางมาอย่างรีบเร่ง พอนางแลเห็นก็จำได้ทันทีว่าเป็นมงกุฎของสามี แต่ตัวของสามีหายไปไม่ทราบว่าหายไปไหน จึงรีบนำมงกุฎเลือดมาให้พ่อผัวและแม่ผัวด้วยน้ำตาอันนองหน้า คนทั้งสองแลเห็นก็จำได้แม่นยำว่าเป็นมงกุฎของผู้เป็นโอรสสุดที่รัก แต่เหตุใดเจ้าของมงกุฎจึงหายไป พระเจ้าชีมูตเกตุและชายาคือพระนางกนกวตี จึงสงบสติอารมณ์เข้าฌานอยู่ครู่หนึ่งก็รู้สาเหตุและความเป็นไปทั้งหมด ต่างคนเมื่อรู้ดังนั้นแล้วก็รีบออกเดินทางพร้อมด้วยพระสุณิสา(สะใภ้) เร่งรีบไปยังจุดที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นที่พญาครุฑกำลังจิกกินเนื้อหนังมังสาของชีมูตวาหนอยู่ ในระหว่างเวลาดังกล่าวนั้น พอดีศังขจูฑะกลับมาจากการลงไปนมัสการพระโคกรรณในเทวาลัย เมื่อขึ้นไปถึงแท่นสังเวยก็แลเห็นรอยเลือดสด ๆ หยดเรี่ยรายอยู่ก็รู้ว่าครุฑมาโฉบเอาเหยื่อไปกินแล้ว และเหยื่อนั้นก็คือเจ้าชายชีมูตวาหนผู้เสียสละพระองค์ มาไถ่ชีวิตของตนนั่นเอง ศังขจูฑะยิ่งคิดก็ยิ่งเสียใจนัก คร่ำครวญว่า "อนิจจาเอ๋ย เป็นความผิดของข้าแท้ ๆ ทีเดียวที่มาทำให้พระองค์ต้องสิ้นชีวิตเช่นนี้ ไม่สมควรเลย จะทำอย่างไรดีล่ะ อย่างก็ไรก็ดี ข้าจะต้องรีบออกติดตามไปให้ทัน ก่อนที่สัตว์จอมพยาบาทจะฆ่าพระองค์เสีย" กล่าวดังนั้นแล้ว นาคหนุ่มก็ออกติดตามรอยเลือดไปเพื่อจะให้ทันก่อนที่ครุฑจะฆ่าชีมูตวาหนเสีย
ระหว่างนั้น ครุฑกำลังเขมือบเนื้อและเลือดสด ๆ จากร่างของชีมูตวาหนอยู่ เมื่อก้มลงดูหน้าของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายก็ประหลาดใจยิ่งนักที่เห็นเหยื่อนอนสงบนิ่ง มิได้ดิ้นรนหนีความตายแต่ประการใด ใบหน้ามีแต่ความสงบเยือกเย็นและยิ้มน้อย ๆ เหมือนจะให้อภัยแก่ผู้ที่จะทำลายชีวิตของตน ครุฑแลเห็นดังนั้นก็หยุดกึกทันทีด้วยความประหลาดใจเป็นล้นพ้น และกล่าวแก่ตนเองว่า "ช่างประหลาดนัก ร่างนี้คงเป็นชายผู้มหาวีระหาผู้ใดจะเปรียบได้ไม่ เขาคงเป็นผู้มหาตมะ (ผู้มีใจใหญ่) แน่ทีเดียว แม้เราจะจิกกระชากเนื้อและเลือดจากร่างของเขา เขาก็ยังไม่สะดุ้งสะเทือน มิได้เสียดายแก่ชีวิตเลย แม้โลมชาติ (เส้นขน) ก็ยังตั้งชูชัน แสดงความยินดีในทานที่ตนกำลังให้อยู่ นัยน์ตาของเขาก็มองเราอย่างอ่อนโยน ไม่แสดงความโกรธความชิงชังให้ปรากฏแม้แต่น้อย เขาทำเหมือนกับว่าเราเป็นผู้กระทำคุณแก่เขาด้วยซ้ำ ฉะนั้นบุรุษผู้นี้ต้องมิใช่นาคแน่นอน เขาคงจะเป็นอริยบุคคลคนใดคนหนึ่งกระมังหนอ เราควรจะหยุดทำร้ายเขา และซักถามดูให้รู้เรื่องว่ามีความเป็นมาอย่างไร" เมื่อครุฑหยุดไตร่ตรองดังนี้ก็หยุดชะงักไปชั่วขณะ ชีมูตวาหนจึงกล่าวถามว่า "ข้าแต่พญาราชปักษิน ท่านหยุดไปทำไมเล่า ข้ายังมีเลือดและเนื้ออีกถมไป และท่านก็ยังไม่อิ่มนี่ จงกินต่อไปเถิด" เมื่อพญาสุบรรณราชได้ฟังดังนั้น ก็กล่าวตอบด้วยความสนเท่ห์ว่า "ท่านผู้มหาตมะ ท่านนี้หาได้เป็นนาคไม่ ฉะนั้นจงบอกมาเถิดว่าท่านคือใคร" แต่ชีมูตวาหนก็แกล้งปกปิดความจริงเสีย ตอบว่า "กล่าวตามความเป็นจริง ข้านี่แหละคือนาค ท่านมาถามดังนี้มีความหมายอย่างไร ได้โปรดเถอะ จะมีใครที่ไหนเล่าที่โง่เง่าเสียจนไม่รู้ว่าตัวเป็นใคร ถ้าข้ามิใช่นาค ข้าจะมานอนรออยู่ที่แท่นสังเวยให้ครุฑมาฉีกเนื้อกินกระนั้นหรือ นี่เป็นชะตากรรมของนาคเท่านั้นที่จะต้องยอมรับเป็นหน้าที่ของตน และจะต้องมาสังเวยแก่ครุฑวันละตัวทุกวัน ข้าก็เป็นหนึ่งในบรรดานาคที่เคราะห์ร้ายเหล่านั้น"
ขณะที่ชีมูตวาหนกำลังตอบแก้ความสงสัยของครุฑอยู่นี้ ศังขจูฑะก็ตะโกนมาแต่ไกลว่า "ข้าแต่บุตรของนางวินตา ท่านจงงดเถอะ อย่าทำร้ายชายหนุ่มผู้นี้เลย เขามิได้เป็นนาคหรอก ข้านี่แหละคือนาคที่ถูกกำหนดให้มาสังเวยแก่ท่าน" ศังขจูฑะเมื่อประกาศดังนี้แล้วก็รีบปีนป่ายขึ้นไปบนยอดเขาอย่างรวดเร็ว และขึ้นมายืนคั่นกลางระหว่างบุรุษทั้งสอง และเมื่อเห็นครุฑกำลังแสดงความประหลาดใจจนพูดไม่ออกดังนั้น ศังขจูฑะก็กล่าวต่อไปว่า "พญาสุบรรณราช ท่านจะประหลาดใจไปไย ท่านไม่เห็นหรือว่า ข้ามีพังพานแผ่อยู่เหนือศีรษะและมีลิ้นเป็นสองแฉก ตรงกันข้ามกับรูปลักษณ์อันงามวิจิตรหาที่ติมิได้ของวิทยาธรผู้นี้" ระหว่างที่ศังขจูฑะกำลังบรรยายอยู่นั้น ชายาของชีมูตวาหนและบิดามารดาทั้งสอง ก็ขึ้นมาถึงที่นั้นด้วยการวิ่งอย่างสุดกำลังวังชา บิดามารดาของชายหนุ่มพูดอย่างกระหืดกระหอบว่า "โอ้ ลูกรัก เจ้าชีมูตวาหนผู้เปื่ยมด้วยความกรุณา จนถึงกับพลีชีวิตของตนเพื่อผู้อื่นได้ น่าสงสารนัก ดูหรือเลือดออกโทรมตัว เป็นฝีมือของเจ้าใช่ไหม บุตรของนางวินตา ทำไมเจ้าจึงไร้สติอย่างนี้ กล้ากระทำบาปมหันต์ถึงกับจะปลงชีวิตพระโพธิสัตว์ผู้ทรงกระทำแต่คุณความดีได้ลงคอ เจ้ารู้หรือไม่ว่าบุรุษผู้นี้คือชีมูตวาหนผู้ยอมพลีชีพเพราะเห็นแก่สัตว์โลก และเป็นผู้มีเกียรติคุณปรากฏกระเดื่องทั่วทั้งสามโลก จงดูสิ บัดนี้เขากำลังจะตายแล้ว บัดนี้ก็ถึงคราวข้าจะต้องเข้ากองไฟตายตามเขาไปด้วย อนิจจาเอ๋ย ผลแห่งความชั่วความบาปจากต้นไม้พิษ ยังจะให้ผลสุกหวานหอมแก่ใครได้เล่า" ในขณะที่ครุฑยังไม่อาจคุมสติของตนได้นั้น ชีมูตวาหนก็ทอดสายตาดูผู้เป็นที่รักในครอบครัว คือพ่อแม่และเมีย เป็นการอำลาและล้มลมสิ้นใจ
บิดามารดาของชีมูตวาหนแลเห็นลูกชายล้มลมตายต่อหน้าก็ใจหายสุดที่จะกลั้นโศกได้ ก็ร่ำไห้คร่ำครวญเพียงหัวใจจะแตกสลาย ข้างศังขจูฑะนั้นก็พร่ำตำหนิตนเองครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าเป็นต้นเหตุแห่งการตายของชีมูตวาหนในครั้งนี้ ในที่นั้นแม่แต่มลยวตีผู้เดียวที่มิได้เศร้าโศกเหมือนผู้อื่น ถึงแม้จะมีน้ำตานองหน้าแต่ก็มิได้คร่ำครวญ นางช้อนตาขึ้นดูสวรรค์ด้วยความชิงชัง และกล่าวพ้อเทวีอัมพิกา (พระอุมา) ผู้เคยประทานพรแก่นางในอดีตว่า "โอ พระแม่เจ้าเคารี พระองค์ได้ให้สัญญาแก่ข้าว่า จะให้สามีแก่ข้า และว่าเขานั้นคือพระจอมจักรพรรดิของวิทยาธร และจะได้เป็นที่เคารพของมนุษย์ทั่วพื้นพิภพ พระแม่เจ้าเป็นผู้ผิดสัญญาเสียแล้ว ไหนล่ะพระจอมจักรพรรดิของโลกผู้เป็นสามีสุดที่รักของลูก เขาคือยอดบุรุษผู้นอนตายอยู่ตรงนี้หรือพระเจ้าข้า" เมื่อถูกตัดพ้อเช่นนี้พระเคารีก็ปรากฏพระองค์ให้เห็น และตรัสว่า "ลูกเอ๋ย แม่จะตระบัดสัตย์ได้อย่างไร เจ้าจงตั้งตาดูให้เถอะ" ตรัสเสร็จพระมหาเทวีก็หลั่งน้ำทิพย์จากพระเต้าษิณทก โปรยปรายประหนึ่งสายฝนประพรมร่างของชีมูตวาหนจนทั่ว ทันใดชีมูตวาหนก็กลับฟื้นคืนชีวิต มีความเปล่งปลั่งงดงามยิ่งกว่าแต่ก่อน บาดแผลตามร่างกายก็อันตรธานหายไปหมด
เจ้าชายลุกขึ้นอย่างว่องไว และตรงไปกราบพระเทวีด้วยความเคารพอย่างสุดซึ้ง และคนอื่น ๆ ก็กระทำเช่นเดียวกัน พระโลกมาตาจึงตรัสว่า "ลูกเอ๋ย แม่ซาบซึ้งในน้ำจิตน้ำใจในการเสียสละอย่างอุกฤษฏ์ของเจ้านัก บัดนี้แม่จะทำพิธีอภิเษกเจ้าเป็นพระจักรพรรดิแห่งวิทยาธรด้วยมือของแม่เอง ขออวยพรให้เจ้าดำรงตำแหน่งนี้ยั่งยืนไปชั่วกัลป์เถิด" เมื่อตรัสดังนี้แล้ว พระเคารีก็ประพรมชีมูตวาหนด้วยน้ำทิพย์จากพระเต้าษิโณทก แสดงจักรพรรดิยาภิเษกอันทรงเกียรติแก่โลก แล้วพระปรเมศวรีก็อันตรธานไปจากที่นั้น ขณะเดียวกันบุปผามาลัยอันหอมชื่นก็โปรยปรายลงมาจากสรวงสวรรค์ พร้อมกับเสียงเภรีอันเป็นทิพย์ก็บันลือลั่นสนั่นนินนาทไปทั่วทั้งจักรวาล
ขณะนั้นพญาครุฑเทพปักษินก็เข้ามาก้มศีรษะด้วยความนอบน้อมต่อหน้าชีมูตวาหน และกล่าวว่า "ข้าแต่องค์จักรพรรดิ ข้าพเจ้าซาบซึ้งในวีรกรรมของท่านยิ่งนัก ท่านเป็นวีรบุรุษที่หาใครเทียมมิได้แล้วในโลกทั้งสามนี้ มีจิตใจอันเผื่อแผ่ไปให้แก่ชนทั้งหลายโดยไม่เลือกหน้า และยอมเสียสละแม้ชีวิตอันเป็นที่รักของตนเอง การกระทำอันน่าอัศจรรย์ของท่านนี้จะถูกจารึกไว้ในที่อันสมควรที่สุด แม้กระทั่งพราหมาณฑ์ (ไข่พรหม)(ฟองไข่สากล ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแห่งจักรวาล บางทีเรียกว่า หิรัณยครรภ(ไข่ทอง) ซึ่งด้วยอำนาจแห่งความร้อนหรือตบะ ได้แตกออกเป็นสองซีก ซีกบนคือสวรรค์ และซีกล่างเรียกว่า ปฤถิวี หรือแผ่นดินโลก) อันเป็นต้นกำเนิดแห่งจักรวาลนี้แล ดังนั้นเพื่อเป็นการสดุดีเกียรติยศของท่าน ข้าพเจ้าเต็มใจประสาทพรแก่ท่าน ท่านจะขอพระอะไร ข้าพเจ้ายินดีจะให้ทุกอย่าง"
เมื่อครุฑกล่าวแล้วดังนี้ ชีมูตาวาหนผู้มหาตมันก็ขอพรว่า "ท่านจงสำนึกผิด ไม่คิดที่จะประหัตประหารพวกนาคทั้งหลายอีก และช่วยบรรดานาคที่ถูกท่านฆ่าตายเพื่อเป็นอาหาร อันเหลือแต่กระดูกตกเรี่ยรายเกลื่อนกล่อนโดยรอบบริเวณนี้ จงกลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่" ครุฑได้ฟังดังนั้นก็กล่าวว่า "ข้ายอมประสิทธิ์พรนี้แก่ท่าน และนับแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าสัญญาว่าจะเลิกกินนาคโดยเด็ดขาด ขอให้บรรดานาคทั้งปวงที่ถูกข้าพเจ้าทำลายชีวิตในอดีตกาลจงมีชีวิตกลับคืนเถิด"
สิ้นถ้อยคำของพญาครุฑ บรรดานาคที่ถูกฆ่าตายในอดีต มีกระดูกอันเกลื่อนกลาดเรี่ยรายในที่นั้น ก็ได้กลับคืนมีชีวิตตามเดิม ด้วยอำนาจอันเป็นประดุจน้ำทิพย์ของพรนั้น บรรดาทวยเทพ คณะฤษีที่มาชุมนุมอยู่ ณ ที่นั้น ต่างก็เปล่งเสียงสาธุการโดยทั่วหน้ากัน ครั้งนั้นภูเขามลยะก็มีชื่อเลื่องลือไปตลอดสามโลกว่าเป็นอนุสรณ์สถานของวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะดำรงคงอยู่ไปชั่วฟ้าดิน
ขณะนั้นบรรดาราชาทั้งหลายของเหล่าวิทยาธร ได้ทราบจากพระเคารีถึงกิติกรรมอันโด่งดังของพระโพธิสัตว์ชีมูตวาหน ต่างก็เร่งรีบพากันมาเฝ้าแสดงความจงรักภักดี และพาชีมูตวาหนไปยังภูเขาหิมาลัยอันเป็นที่อยู่ของบรรดามิตรสหาย และญาติในครอบครัวของพระจักรพรรดิแห่งวิทยาธรผู้เพิ่งได้รับอภิเษกจากพระเทวีมาไม่นาน ณ ที่นั้นชีมูตวาหนก็ถูกแวดล้อมด้วยบิดามารดามิตราวสุผู้เป็นมิตร มลยวตีผู้เป็นชายา ศังขจูฑะและมารดาของตนผู้กลับไปยังที่อยู่ของตนและแจ้งข่าวดีแก่ญาติสนิทมิตรสหาย และรีบกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อมาอวยพรแก่พระจักรพรรดิแห่งวิทยาธรทั้งหลาย ผู้ได้รับตำแหน่งมาใหม่ ๆ เพราะความเป็นผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ และประกอบวีรกรรมอย่างยอดเยี่ยม
หลังจากที่เล่านิทานอันทรงคุณค่าและมีคติอันดีงามเรื่องนี้จบลง เวตาลก็ไม่รีรอที่จะตั้งคำถามแก้ความสงสัยของตนต่อพระเจ้าตริวิกรมเสนว่า "ได้โปรดเถิดราชะ ในหว่างศังขจูฑะและชีมูตาวาหนนั้น ใครเป็นผู้ที่มีความอดทนต่อความทุกข์อันแสนสาหัสยิ่งกว่ากัน ขอให้ท่านตอบโดยพิจารณาจากเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว" เมื่อพระราชาตริวิกรมเสนได้ฟังคำถามของเวตาลว่าดังนั้น ทรงเกรงคำสาปของเวตาลถ้าไม่ทรงตอบ จึงตรัสว่า "พฤติกรรมเช่นนี้ไม่อัศจรรย์อะไรสำหรับชีมูตวาหน เพราะเขาได้ชื่อเสียงเกียรติคุณเช่นนี้มาหลายยุคหลายสมัยที่เขาเกิดมาในโลกนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่น่าอัศจรรย์อันใด แต่ศังขจูฑะนั่นต่างหากที่สมควรจะได้รับการยกย่อง เพราะหลังจากที่เขารอดชีวิตไปแล้ว เขามิได้หนีเตลิดไปด้วยความกลัว แต่กลับวิ่งตามพญาครุฑผู้เป็นมัจจุราชของตนไป ด้วยหวังจะช่วยเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายคือชีมูตวาหนผู้นั้น เป็นระยะทางไกลจนทันและตะโกนบอกครุฑให้มาจับตนกินเสีย โดยมิเกรงว่าครุฑจะหันมาฆ่าตน นับเป็นการแสดงความกล้าหาญและเสียสละที่เหนือกว่าในกรณีดังกล่าวนี้"
เมื่อเวตาลผู้ฉลาดล้ำได้ฟังคำตอบของพระราชาดังนั้น ก็ยิ้มเยาะโดยไม่กล่าวว่าอะไร ผละจากพระอังสาของพระราชา ลอยละลิ่วกลับไปยังต้นอโศก ทำให้พระราชาต้องเสด็จย้อนกลับไปทางเดิมอีกวาระหนึ่ง


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 6 กันยายน 2554 เวลา:0:09:32 น.  

 
นิทานเรื่องที่
๑๗
พระเจ้าตริวิกรมเสนต้องจำพระทัยเสด็จย้อนกลับไปที่เก่า ถึงต้นอโศก ก็จับตัวเวตาลมาเกาะที่พระอังสาตามเดิม เมื่อเสด็จไปได้หน่อยหนึ่ง เวตาลก็พูดออกมาจากย่ามที่พระราชาทรงคล้องไว้ที่พระอังสาว่า “ฟังนี่แน่ะราชะ เพื่อไม่ให้เกิดการเดินทางที่ไร้รสชาติ ข้ามีเรื่องสนุกจะเล่าถวาย ดังต่อไปนี้
มีนครหนึ่งชื่อกนกนคร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาอันเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ความบาปความชั่วหาอาจเข้าถึงไม่ ในนครนี้มีพระราชาองค์หนึ่งทรงนามว่า พระเจ้ายโศธน ผู้มีความแข็งแกร่งประดุจหินผาริมฝั่งทะเลที่คอยกั้นขวางมิให้แผ่นดินต้องถล่มทลายลง พระราชาถึงแม้จะไม่ชำนิชำนาญในการเข่นฆ่าศัตรูในดินแดนใกล้เคียง แต่ก็ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญในศิลปะศาสตร์แทบทุกสาขา บรรดาไพร่ฟ้าประชากรต่างสดุดีพระองค์ว่าเป็นผู้ทรงคุณธรรมและเกรงกลัวต่อบาป ไม่ทรงเบียดเบียนก้าวก่ายละเมิดต่อภรรยาของผู้อื่น พระองค์มีแต่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความรัก
ในพระนครของพระราชาองค์นี้ มีวาณิชมหาศาลอยู่คนหนึ่ง มีบุตรหญิงที่ยังมิได้แต่งงานชื่อ อนุมาทินี ผู้ซึ่งใครก็ตามถ้าได้ยลโฉมนางก็จะพิศวงงงงวยเคลิบเคลิ้มเสียสติไปทุกราย เพราะนางนั้นงามนัก แม้พระกามเทพเอง ถ้าได้เห็นนางก็คงจะเผลอไผลอารมณ์หลงรูปของนางอย่างแน่นอน ต่อมานางเจริญวัยขึ้นเป็นสาวเต็มตัว พ่อค้าผู้เป็นบิดาของนางเป็นคนหัวใส แลเห็นว่านางจะเป็นประโยชน์มหาศาลแก่ตน จึงพานางไปเผ้าพระราชายโศธนและกราบทูลว่า “โอ้พระนรบดี ข้ามีธิดาคนหนึ่งสมควรแก่การจะออกเรือนแล้ว นางเปรียบประดุจดวงมุกดาของทั้งสามโลก ข้ามิอาจจะยกนางให้แก่ชายใดได้ โดยมิได้กราบทูลให้พระองค์ทรงทราบก่อน โอ นฤเบศร บรรดามณีรัตน์ทั่วไปในแหล่งหล้าล้วนเป็นของพระองค์ทั้งสิ้น ธิดาของข้าก็เช่นเดียวกัน เป็นมณีดวงหนึ่งในแหล่งหล้านี้ ข้าจึงขอถวายนางให้แก่พระองค์ จะทรงรับไว้ หรือจะทรงปฏิเสธก็สุดแต่พระวินิจฉัยของพระองค์เถิด”
เมื่อพระราชาได้ฟังดังนั้น ก็ทรงส่งพราหมณ์คณะหนึ่งของพระองค์ออกไปตรวจดูว่า นางอนุมาทินีเป็นผู้มีบุณยลักษณะของกัลยาณีครบถ้วนหรือเปล่า คณะพราหมณ์เดินทางไปถึงคฤหาสน์ของพ่อค้า ได้แลเห็นโฉมนางอนุมาทินีผู้มียอดมงกุฎของนางงามในไตรโลก ก็เกิดความคลั่งไคล้ไหลหลงเหมือนคนบ้าไปชั่วขณะ ในที่สุดรวบรวมสติได้ก็รำพึงว่า “ถ้าพระราชาของเราได้ทอดพระเนตรเห็นหญิงผู้นี้แล้วไซร้ พระราชอาณาจักของพระองค์คงถึงความวินาศเป็นแน่แท้ เพราะพระหฤทัยของพระองค์คงจะปั่นป่วนวุ่นวายหาความสงบมิได้ เมื่อเป็นดังนี้พระองค์จะปกครองแว่นแคว้นต่อไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราจะไม่กราบทูลพระราชาว่าหญิงนี้มีสิริอันควรแก่การยกย่องแต่อย่างใด” เมื่อได้สดับถ้อยคำของคณะพราหมณ์ พระราชาก็มีพระทัยเอนเอียงไปตามคำเพ็ดทูลนั้น และไม่ไยดีต่อนางอีก
และโดยพระราชโองการของพระราชา อนุญาตให้นางอนุมาทินีแต่งงานกับคนอื่นได้ บิดาของนางจึงให้นางแต่งงานกับเสนาบดี (แม่ทัพ) ของแว่นแคว้นผู้มีชื่อว่า พลธร นางอยู่กับสามีด้วยความสุขในบ้านของนางมาช้านาน แต่นางก็ไม่วายผู้ใจเจ็บพระราชาที่ไม่ไยดีต่อนาง ด้วยเหตุผลว่านางเป็นคนไม่มีสิริ นางจะต้องให้พระราชาสำนึกในวันหนึ่งในให้จงได้
แล้วเวลาก็ผ่านไป ในที่สุดสีหราชแห่งฤดูวสันต์ก็เข้ามาเยือน ฆ่าคชสารแห่งฤดูเหมันต์ผู้มีงาอันขาวนวลคือเถามะลิเลื้อย และเป็นผู้เหยียบย่ำกอบัวให้แหลกลาญด้วยงวงของมัน (ช้างเหยียบย่ำกอบัวแหลกลาญ หมายความว่าในฤดูหนาวนั้น ดอกบัวต่างก็เหี่ยวเฉาตายไปเป็นอันมาก ท่านจึงว่าฤดูหนาวเป็นศัตรูอันร้ายกาจของบัว ในข้อความนี้มีการเปรียบฤดูหนาวเหมือนช้าง ซึ่งเป็นผู้ทำลายกอบัวเช่นเดียวกัน) และในวนารัญอันไพศาลนั้นแล พญาสีหราชก็เล่นสนุกระเริงตนอย่างเต็มที่ มันมีสร้อยคอยาวสวยคือลัดามาลีที่แกว่งไกวไปมาตามกระแสลม และมันมีอุ้งเท้าคือช่อมะม่วงอันเป็นพุ่มพวงทุกกิ่งก้านของพฤกษา ในฤดูแห่งความบันเทิงเบิกบานนี้แล พระราชายโศธนก็เสด็จมาทอดพระเนตรการฉลองฤดูในพระนครตามปกติเช่นที่กระทำมา พระองค์เสด็จทรงพระคชาธารตัวประเสริฐ ทอดพระเนตรสถานที่ต่าง ๆ ด้วยความเพลิดเพลินพระทัย ระหว่างที่เสด็จไปนั้น พนักงานนำเสด็จก็ตีกลองชนะเป็นสัญญาณให้ผู้คนในถนนหลบหลีกไปให้พ้นทางเสด็จ ราวกับว่าการจ้องดูพระสิริโฉมของพระองค์ย่อมนำมาซึ่งความพินาศ
เมื่อนางอนุมาทินีได้ยินเสียงกลองนำเสด็จมาตามทาง นางก็รู้ว่าพระราชากำลังจะเสด็จผ่านมาทางบ้านของนาง จึงรีบขึ้นไปปรากฏตัวบนดาดฟ้าของคฤหาสน์ที่นางอยู่เพื่อให้พระเจ้าแผ่นดินแลเห็น นางจ้องดูขบวนเสด็จอย่างใจจดใจจ่อด้วยความพยาบาท เพราะพระราชาเคยปฏิเสธไม่ยอมรับนางในครั้งก่อน โดยอ้างว่านางไร้สิริมงคล นางรออยู่มินานกระบวนเสด็จก็ผ่านมาถึง พระราชาทอดพระเนตรขึ้นไปบนดาดฟ้า แลเห็นนางอนุมาทินีก็สะดุ้งพระทัยเหมือนถูกศรชัยของกามเทพเสียบพระทัย มีความรู้สึกเหมือนถูกไฟแผดเผาให้ร้อนรุ่มมิรู้คลาย ถึงแม้ลมอ่อนแห่งฤดูวสันต์ที่โชยมาจากภูเขามลยะ ก็มิได้ช่วยให้เย็นพระทัยขึ้นเลยขบวนเสด็จเคลื่อนต่อไปจนรอบพระนครแล้วกลับเข้าสู่พระราชวัง พระราชาผู้ทรงหลงใหลและดื่มด่ำในรสเสน่หาอย่างถอนตัวไม่ขึ้น เรียกมนตรีและคณะพราหมณ์เข้ามาสอบถาม ว่าหญิงที่อยู่บนดาดฟ้าของบ้านพ่อค้าใหญ่ คือธิดาของพ่อค้าที่เคยคิดนำนางมาถวายพระองค์ แต่พระองค์ปฏิเสธนางไปใช่หรือไม่ ด้วยเหตุที่นางไร้สิริมงคล พรรคพวกที่ถูกไต่สวนก็ยอมรับว่าจริง พระราชาทรงพระพิโรธยิ่งนัก สั่งให้เนรเทศคนเหล่านั้นออกจากราชอาณาจักรโดยทันที เมื่อเนรเทศคนต้นเหตุไปแล้ว พระราชาก็เก็บพระองค์อยู่ตามลำพังเงียบ ๆ เฝ้าคิดถึงนางผู้เป็นยอดพิสมัยทุกค่ำคืน และรำพันว่า “อา ทำไมจิตวิญญาณของข้าจึงมืดทึบนัก และพระจันทร์เล่าก็หายางอายมิได้ พยายามที่จะขึ้นมาสะเออะอวดโฉม ทั้ง ๆ ที่นางผู้พิมลพักตร์ของข้าก็อยู่แค่นี้เอง ใครจะเปรียบกับนางผู้เป็นมิ่งขวัญของข้าได้เล่า” ดำริในพระทัยเช่นนี้แล้ว พระราชาผู้ถูกไฟรักเผาผลาญก็ปลีกพระองค์ห่างจากคนทั้งหลาย หลบลี้อยู่แต่พระองค์เดียว วันแล้ววันเล่าไม่ยอมพบใคร ๆ แต่ในที่สุด ด้วยความความละอายพระทัยพระองค์ทรงเรียกมหาดเล็กคนสนิทให้เข้ามาเฝ้า ตรัสถามว่าพระองค์จะทำอย่างไรดีในสถานการณ์เช่นนี้ เสวกคนสนิทก็กราบทูลแนะว่า “ข้าแต่พระนรบดีไฉนพระองค์ทรงวิตกเช่นนี้ ไม่เห็นมีปัญหาอะไร พระองค์เป็นเจ้าแผ่นดิน ทุกอย่างเป็นของพระองค์ เมื่อมีพระประสงค์ในตัวนางก็พานางมาสิพระเจ้าข้า นางจะขัดขืนได้อย่างไร ถ้าพระองค์มีบัญชา” พระราชาทรงเป็นผู้ทรงคุณธรรม ได้ฟังคำแนะนำดังนั้น เห็นผิดระบอบชอบธรรม ก็ไม่อาจจะทำตามได้ จึงทรงนิ่งเสีย
ฝ่ายพลธรอัครเสนาบดีได้ทราบข่าวที่แพร่ออกมาดังนี้ ก็ไม่มีความสบายใจ เพราะเขาเป็นผู้จงรักภักดีและยินยอมสละทุกอย่างเพื่อพระเจ้าแผ่นดินอย่างแท้จริง ก็รีบเข้าเฝ้าพระราชาโดยทอดตัวเองลงแทบพระบาทและกราบทูลว่า “โอ้พระนฤบดินทร์ ขอพระองค์ทรงรับนางทาสผู้นี้ไว้เถิด โดยทรงคิดเสียว่า นางเป็นทาสของพระองค์มิใช่เป็นเมียของเสนาบดีอย่างข้าพระบาทหรือของใคร ๆ และข้าขอถวายนางต่อพระองค์ด้วยความเต็มใจ โปรดทรงรับนางไว้เถิด หรือมิฉะนั้นข้าจะสละนางให้เป็นเทพทาสีในเทวาลัย อันจะทำให้นางเป็นอิสระมิได้เป็นของชายใดโดยเฉพาะ และด้วยประการฉะนี้ พระองค์จะได้ไม่ต้องทรงคิดต่อไปว่านางเป็นเมียของคนอื่น” เมื่ออัครเสนาบดีกราบทูลวิงวอนดังนี้ พระราชาก็กล่าวตอบอย่างทรงพิโรธว่า “ข้าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ข้าจะทำสิ่งที่ไร้คุณธรรมเช่นนั้นได้อย่างไร ถ้าข้าจะละทิ้งความชอบธรรมเสียแล้ว ใครเล่าจะซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ของตนต่อไปอีก และสำหรับตัวเจ้าผู้มีความจงรักภักดีต่อข้า ทำไมมายุให้ข้าทำบาปเช่นนี้ ซึ่งแน่ละมันอาจจะให้ความบันเทิง สุขชั่วแล่น แต่ข้าจะมีความผิดมหันต์ จะต้องชดใช้กรรมในปรโลก และถ้าเจ้ายังคิดที่สละเมียให้แก่ข้าอีก ข้าก็จะไม่ปล่อยให้เจ้าลอยนวลต่อไปโดยไม่ถูกลงโทษ เพราะใครก็ตามที่อยู่ในฐานะอย่างข้าจะทนทานต่อความไร้ศีลธรรมได้หรือ เพราะฉะนั้นข้าว่าความตายเท่านั้นที่สมควรแก่ข้าในภาวะเช่นนี้”
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ที่คัดค้ามิให้พระราชายอมรับข้อเสนอของแม่ทัพได้ เพราะทรงถือว่าเกิดเป็นผู้มีเกียรติแล้ว สู้ยอมตายเสียดีกว่าจะอยู่อย่างไร้เกียรติ การตัดสินพระทัยอย่างเด็ดขาดของพระราชาเช่นนี้ ทำให้ทุกคนตระหนักว่าจะทูลเสนอเรื่องทำนองนี้สักเท่าใดก็จะมีผลอย่างเดียวกัน คือถูกปฏิเสธ
เมื่อเหตุการณ์เป็นไปเช่นนี้ ก็ไม่มีทางจะเยียวยาอีก พระราชาซูบผอมลงทุกวัน บรรทมแซ่วอยู่บนพระที่ ถูกทรมานด้วยไฟเสน่หาอันมีความรุนแรงเผาไหม้อยู่ตลอดวันตลอดคืน คงเหลือแต่พระนามและพระเกียรติเท่านั้นทียังคงอยู่มิได้สิ้นสูญไปตามกำลังความร้อน แต่อัครเสนาบดีพลธรผู้ซื่อสัตย์และภักดีต่อพระราชาของตน ไม่อาจจะปล่อยให้พระราชาต้องทนทุกข์ทรมานต่อไป อันจะนำความพินาศมาสู่พระองค์ในที่สุด ดังนั้นเขาจึงเข้ากองไฟเผาตัวเองจนสิ้นชีวิต ในฐานที่เป็นจอมทัพผู้ไม่มีความสามารถจะช่วยเหลือเจ้านายของตนเองให้รอดพ้นจากความตาย
เมื่อเวตาลซึ่งนั่งอยู่บนอังสาของพระเจ้าตริวิกรมเสนเล่าเรื่องจบลงก็ทูลถามพระเจ้าแผ่นดินว่า “โปรดทรงตัดสินด้วยเถิดราชัน ในระหว่างบุคคลทั้งสองในเรื่องนี้ ใครเป็นคนสัตย์ซื่อยิ่งกว่ากัน จอมพล หรือพระราชา แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่จะทรงตอบ โปรดรำลึกไว้ด้วยว่า เรามีข้อตกลงกันว่าอย่างไร ข้ายังถือสัญญานั้นอยู่นะพระเจ้าข้า” เมื่อเวตาลกล่าวดังนี้ พระราชาก็ทรงนิ่งไปครู่หนึ่งแต่จะไม่ตอบปัญหาก็ทนอยู่ไม่ได้จึงตรัสว่า “ในระหว่างบุคคลทั้งสองนั้น ข้าว่าพระเจ้าแผ่นดินนั่นแหละซื่อสัตย์ที่สุด” เมื่อเวตาลได้ฟังดังนั้น ก็กล่าวต่อพระราชาเชิงตำหนิว่า “ทรงเฉลยมาสิว่าเหตุใดพระองค์จึงเห็นว่าพระราชาเหนือกว่าแม่ทัพในกรณีนี้ เพราะถ้าจะพูดอย่างยุติธรรมจริง ๆ แล้ว อัครเสนาบดีควรจะมีความสัตย์ซื่อเหนือกว่า ชายผู้นี้รู้จักเสน่ห์อันลึกซึ้งของหญิงผู้เป็นภรรยาของเขาอยู่เต็มอกในฐานะที่อยู่กินกันมาช้านาน เขารักนางเพียงไรใคร ๆ ก็รู้ แต่แม้กระนั้นเขาก็ยังเสียสละ โดยถวายนางให้แก่พระราชา เพราะเขารักพระองค์มากกว่า และเมื่อพระราชาสิ้นชีวิตแล้วเขาก็ยอมตายตามพระองค์โดยเข้าสู่กองไฟ แต่พระราชานั่นสิมิได้รับรู้อะไรเกี่ยวกับนางเลย ยังปฏิเสธไม่ยอมรับนางด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่ผู้เป็นสามีต้องเสียสละอย่างสุดยอด มอบนางให้แก่พระองค์ด้วยความเต็มใจ”
เมื่อเวตาลกล่าววิจารณ์ดังนี้ พระเจ้าตริวิกรมเสนก็ทรงพระสรวลด้วยความขบขัน และตรัสว่า “เจ้าจงยอมรับความจริงในเรื่องนี้สิ ไม่มีอะไรน่าประหลาดใจในเรื่องนี้สักนิด ความจริงก็คือ อัครเสนาบดีผู้นั้นเป็นผู้มีสกุลรุนชาติสูงก็จริง และการที่เขาแสดงออกซึ่งความภักดีต่อเจ้านายเช่นนั้นเป็นสิ่งแปลกหาได้ยากนักหรือ เพราะใครที่รับใช้เจ้านายเช่นนั้น ก็ต้องแสดงความจงรักภักดีต่อเจ้านายของตนเป็นธรรมดา แม้จะยอมเสียสละชีวิตของตนก็ไม่เห็นแปลกอะไร มันเป็นหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว แต่ผู้ที่เป็นพระราชานั้นโดยปกติเป็นผู้มีความเย่อหยิ่ง ยากที่ใครจะบังคับได้ มีลักษณะเหมือนช้างป่าที่ควบคุมมิได้ เมื่อคนประเภทนี้เกิดความหมกมุ่นหลงใหลในกามสุขแล้วไซร้ สายโซ่แห่งศีลธรรมหรือคุณธรรมก็รั้งไว้ไม่อยู่ ต้องขาดผึงออกจากกันทันที ทั้งนี้ก็เพราะจิตใจของเขาท่วมท้นไปด้วยแรงเสน่หาเสียแล้ว และความรับผิดชอบใด ๆ ก็ถูกชำระล้างออกไปจากใจ เหมือนบุคคลเหล่านั้น ถึงแม้จะได้รับน้ำอภิเษกในพิธี แต่ก็ถูกกวาดหายไปหมด และถ้าจะเปรียบเหมือนพัดวาลวิชนีที่เคยรำเพยลมอ่อน ๆ ต่อผู้ที่คร่ำเคร่งในการศึกษาอย่างใจจดใจจ่อต่อพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ให้เย็นชื่นใจอย่างละเมียดละไม ก็กลายเป็นพัดที่โบกมาเพื่อไล่แมลงหรือยุงเท่านั้น หรือจะเปรียบอีกทีก็เหมือนฉัตรที่ใช้กำบังแสงพระอาทิตย์เท่านั้น ทั้งที่มันควรจะกางกั้นความจริงมิให้เป็นอันตรายมากกว่า ถึงแม้พระเจ้าแผ่นดินผู้ชนะตลอดสามโลกอย่างพระจักรพรรดินหุษผู้เกรียงไกรยังหลงเล่ห์ของพญามาร ทำให้เกิดความวุ่นวายไปทั่วทุกหนทุกแห่ง แต่พระราชายโศธนองค์นี้ ถึงจะมีฉัตรอันสูงใหญ่ปกทั่วพิภพ ก็หาได้ยอมตกอยู่ใต้เสน่ห์ของนางอนุมาทินี ผู้งามละม้ายแม้นพระลักษมีเทวี ว่าตามจริง พระราชานั้นถึงสภาพการณ์จะเป็นเช่นไรก็หาได้เหยียบพระบาทลงบนทางผิดไม่ พระองค์สู้ยอมเสียชีวิตโดยประกาศไม่ยอมทำผิดจารีตอันเป็นหลักแห่งความประพฤติของบุคคลทุกคน สู้สละชีวิตเพื่อรักษาไว้ซึ่งสัจธรรมโดยแท้ พระองค์จึงประเสริฐกว่าอัครเสนาบดีแน่นอน
เมื่อเวตาลได้ยินคำเฉลยของพระเจ้าตริวิกรมเสนดังนั้น ก็ไม่ยอมเสียเวลาต่อไปแม้แต่ชั่วอึดใจ รีบเผ่นจากพระอังสาของพระราชา หายวับไปในความมืดกลับไปสู่ที่พำนักของตนตามเดิม พระราชาต้องเสด็จติดตามไปอย่างรวดเร็ว จนถึงต้นอโศกและดึงตัวเวตาลกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพราะมหาบุรุษจะละทิ้งกิจธุระของตนไว้เพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ โดยเริ่มต้นมาแล้วอย่างลำบากยากเย็นแสนเข็ญหาได้ไม่ ถึงจะมีอุปสรรคก็จะต้องดำเนินต่อไปจนกว่าประโยชน์จะสำเร็จ


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 6 กันยายน 2554 เวลา:0:12:25 น.  

 
นิทานเรื่องที่
๑๘
ในป่าช้าผีดิบที่เวตาลพำนักอยู่บนกิ่งอโศกนั้น เต็มไปด้วยเปลวไฟที่แลบเลียอยู่บนจิตกาธานที่ใช้เผาศพ เปลวอัคคีอันแรงร้อนวูบวาบดูราวกับลิ้นของพวกรากษสที่ตวัดไปมาในการเสพเนื้อมนุษย์สด ๆ แต่ภาพอันน่าสะพรึงกลัวดังกล่าวหาได้ทำให้พระราชาทรงหวาดหวั่นไม่ ขณะที่ทรงดำเนินฝ่าไปจนถึงต้นอโศก
และ ณ ที่สุดสานผีดิบนั่นเอง โดยไม่คาดฝัน พระราชาประสบภาพสิ่งอันน่าเกลียดต่าง ๆ คือ มีศพของบุคคลต่าง ๆ หน้าตากประหลาดคล้ายคลึงกันแขวนอยู่บนกิ่งไม้เหมือนกับตัวเวตาลนับร้อยนับพันห้อยอยู่ พระเจ้าตริวิกรมเสนทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงรำพึงในพระทัยว่า “อา นี่มันอะไรกัน หรือว่านี่เป็นภาพมายาที่เวตาลเนรมิตขึ้น เพื่อจะถ่วงเวลาเราเล่น และเราจะต้องเสียเวลาสักเท่าไร จึงจะหาได้ถูกต้องว่าศพไหนคือเวตาลตัวจริง ถ้าเราจะต้องเสียเวลาทั้งคืน เราก็คงจะทำภารกิจให้เสร็จไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นเราจะเข้ากองไฟเสียดีกว่า แทนที่จะทนรับความอัปยศเพราะเรื่องอย่างนี้” ฝ่ายเวตาลเมื่อทราบวาระน้ำจิตของพระราชาเช่นนั้น ก็มีความพอใจในความกล้าหาญมานะเด็ดเดี่ยวอย่างยิ่ง จึงคลายมายาเวททั้งปวง ทำให้พระราชาแลเห็นตัวจริงของตน คือ เวตาลที่เป็นซากศพแขวนอยู่บนกิ่งไม้แต่เพียงผู้เดียว ในขณะที่รูปมายาทั้งหลายอันตรธานหายไป พระราชาทรงปลดเวตาลลงจากกิ่งโศก เอาพาดพระอังสาแล้วเสด็จกลับไปตามหนทางเดิม ขณะที่มาตามทางเวตาลก็กล่าวกะพระราชาว่า “ราชะ ความแข็งแรงของพระองค์เป็นที่น่าสรรเสริญอยู่ ถ้ากระไรลองฟังนิทานของข้าอีกสักหนึ่งเรื่องเป็นอย่างไร”
เรื่องมีว่า มีนครอันงดงามแห่งหนึ่งบนโลกนี้ชื่อนรครอุชชยินี เมืองนี้จะงามเป็นรองก็แต่นครโภควดี (ของวาสุกินาคราช) และนครอมราวดี(ของพระอนิทร์) เท่านั้น ซึ่งพระศิวะผู้ทรงเล่นพนันกับพระเคารีเทวีได้ทรงเลือกเป็นที่ทรงพระสำราญร่วมกันในโลก เพราะนครอุชชยินีนั้นงามยิ่งกว่างาม เลิศยิ่งกว่าเลิศ ในพระนครนี้มีสิ่งบันเทิงใจนานาประการ ซึ่งผู้มาเยือนที่มีเกียรติยศเด่นหรือฐานร่ำรวยเท่านั้นที่จะถูกต้อนรับเป็นอย่างดี ณ ที่นี้สิ่งที่ตึงเต่งก็คือ ถันนารี สิ่งที่โค้งสลวยก็คือคิ้วเรียวงามเหมือนจันทรกลา (เสี้ยวพระจันทร์) สิ่งที่กลอกกลับไปมาเนืองนิจก็คือเนตรดำขลับอันเหลือบชม้ายของผองพธู สิ่งที่ดูมืดก็คือราตรี สิ่งที่คดงอไปมาได้ก็คือ บทกวีนิพนธ์อันมีหลายแง่ของกวี สิ่งที่เห็นบ้าคลั่งคือคชสารเมามัน สิ่งที่เป็นความเย็นเยือกก็คือ มุกดามณี น้ำจัณฑ์ และดวงศศี
ในเมืองนั้น มีพราหมณ์ชำนาญเวทอยู่คนหนึ่งชื่อ เทวสวามิน ผู้กระทำยัชญพิธีสังเวยเทพมามากมายหลายครั้ง และพราหมณ์ผู้นี้ก็คือ พราหมณ์มหาศาลร่ำรวยด้วยสินทรัพย์นับไม่ถ้วน เป็นที่เคารพยกย่องของพระราชาแห่งแว่นแคว้น ผู้มีพระนามว่า จันทรประภะ ในกาลต่อมา พราหมณ์เทวสวามินมีบุตรชายชื่อจันทรสวามิน ผู้ซึ่งได้เล่าเรียนศิลปวิทยาเป็นอันมากเมื่อจำเริญวัยเป็นหนุ่มฉกรรจ์ แต่เขาก็หาได้นำวิชาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ กลับหลงใหลมัวเมาในการพนันอย่างหามรุ่งหามค่ำ คราวหนึ่งพราหมณ์หนุ่มจันทรสวามินเข้าไปในบ่อนการพนันเพื่อจะเล่นการพนัน ทำให้เกิดปั่นป่วนโกลาหลในบ่อนขึ้น เพราะนักการพนันในที่นั้นแลเห็นขาใหญ่มือระดับมหาเศรษฐีเข้ามาเล่น ก็เฮกันเข้ามาดูด้วยความอยากรู้อยากเห็น จันทรสวามินหนุ่มผู้มีเงินเต็มกระเป๋า พอย่างเข้ามาก็คุยโอ่ว่า “ไหน – ไหน ใครในห้องนี้จะถูกข้าต้อนเหมือนแพะบ้าง ถ้าอยากเป็นก็เข้ามาเลย ข้านี่แหละจะทำให้หมดตัว ต่อให้มีทรัพย์ล้นโลกอย่างท้าวกุเวรเจ้านครอลกา (ชื่อเมืองสวยงาม ตั้งอยู่บนไหล่เขาหิมาลัย เป็นที่ประทับของพระกุเวร พญายักษ์สามขาโลกบาลประจำทิศเหนือ และเป็นเจ้าแห่งขุมทรัพย์ทั้งปวงในโลก) ข้าก็ยังตุ๋นแทบจะหมดตัวมาแล้ว” พราหมณ์หนุ่มลงมือเล่นพนันสกาอย่างสนุกสนานด้วยความเหิมเกริม มิช้าก็ถูกกินเรียบด้วยฝีมือของนักพนันยอดโกงในที่นั้น ชายหนุ่มเสียหมดทุกอย่างแม้กระทั่งเสื้อผ้าที่นุ่งห่มอยู่ และเมื่อกู้ยืมเงินเจ้าของบ่อนมาเล่นแก้ตัวก็เสียหมดอีก ด้วยเหตุนี้พอถูกเจ้าของบ่อนทวงหนี้ ชายหนุ่มจึงไม่มีอะไรจะให้ ทำให้เจ้าของบ่อนโกรธมาก สั่งให้ลูกน้องจับจันทรสวามินนอนลงแล้วโบยตีด้วยหวาย จนเป็นริ้วรอยไปทั้งตัว นอนสลบไม่ไหวติงเหมือนก้อนหิน ร่างที่นอนไม่กระดุกกระดิกของชายหนุ่มดูเหมือนคนตาย จนเวลาผ่านไปสองสามวันก็ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีก แต่ยังไม่กระดุกกระดิกตามเคย เจ้าของบ่อนแลเห็นก็โกรธมาก และกล่าวแก่พวกบริวารในโรงบ่อนและนักการพนันที่มาเล่นพนันเป็นขาประจำของบ่อนว่า “เจ้าคนนี้พยายามใช้เล่ห์หลบเลี่ยงหนี้ บิดตะกูดฉ้อโกงไปต่าง ๆ เพราะฉะนั้น จงจับอ้ายคนโสโครกนี้ไปโยนทิ้งที่บ่อแห้ง ซึ่งเป็นบ่อน้ำเก่าข้างนอกนั่น ข้าจะให้เงินแก่ผู้ที่ทำตามคำสั่งของข้าเป็นรางวัล”
เมื่อหัวหน้าบ่อนประกาศแก่นักพนันดังนี้ คนเหล่านั้นก็ช่วยกันแบกร่างจันทรสวามินเข้าไปในป่า มองหาบ่อน้ำเก่าอย่างที่ว่าก็ไม่พบ นักพนันแก่ผู้หนึ่งจึงพูดกับพรรคพวกว่า “เจ้าหนุ่มนี่มันตายแล้ว จะต้องลำบากไปหาบ่อน้ำที่ไหนให้มันวุ่นวายเปล่า ๆ เราปล่อยมันไว้ตรงนี้แหละ แล้วไปบอกนายบ่อนว่าเราโยนมันลงบ่อไปแล้ว” ทุกคนได้ฟังก็เห็นด้วยและตกลงทำตามคำสั่ง
ด้วยประการฉะนี้ พวกนักพนันก็ทิ้งร่างของจันทรสวามินไว้ในป่า แล้วแยกย้ายกันกลับไป จันทรสวามินเห็นว่าปลอดอันตรายแล้วก็ลุกขึ้น แลเข้าไปสู่เทวาลัยของพระศิวะ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ นั้น ชายหนุ่มค่อยพักฟื้นมีเรี่ยวแรงขึ้นบ้าง ก็รำพึงแก่ตัวเองด้วยความเศร้าใจว่า “อนิจจา เพราะข้าไปหลงกลของอ้ายพวกขี้โกงพวกนั้นแท้ ๆ ข้าถูกมันหลอกต้มเสียป่นปี้ จนไม่มีอะไรเหลือติดตัวเลย ข้าจะออกไปเดินที่ไหนได้เล่าในสภาพเช่นนี้ ร่างเปลือยเปล่ามิพอ ยังรอยที่ถูกเฆี่ยนเต็มไปทั้งตัว และเปื้อนฝุ่นมอมแมมสกปรกอย่างนี้ นี่ถ้าพ่อแลเห็นข้าในสภาพเช่นนี้ หรือญาติของข้าตลอดจนเพื่อน ๆ ของข้าก็ตาม เมื่อแลเห็นข้าเข้าเขาจะนึกอย่างไร เพราะฉะนั้นข้าจะหลบอยู่ในเทวาลัยตลอดวัน ถึงเวลากลางคืนค่อยออกไปหาอาหารมายาไส้พอประทังหิว ขณะที่เขากำลังตรึกตรองเรื่องความหิวและร่างกายที่เปลือยเปล่าอยู่นี้ พระอาทิตย์ก็ค่อนผ่อนคลายความแรงร้อนลง และกำลังสลัดอาภรณ์ที่นุ่งห่มคือนภากาศ ให้เคลื่อนคล้อยลงสู่อัสดง ณ หลังเขาอันไกลสุดขอบฟ้า จนลับดวงไปในที่สุด
ขณะนั้นฤษีประเภทปาศุบต (ปาศุปต) (ชื่อฤษีพวกนหนึ่งซึ่งเป็นสาวกของพระปศุบดี หรือพระศิวะ ผู้เป็นใหญ่ในสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย) ผู้หนึ่งก็เข้ามาในเทวาลัย มีร่างกายอันชะโลมด้วยเถ้าถ่านกระดูก (จากจิตกาธาน) มีมวยผมมุ่นไว้บนศีรษะ มือถือสามง่ามด้ามยาว (ตรีศูล) ดูราวกับพระศิวะองค์ที่สอง เมื่อแลเห็นจันทรสวามินก็ถามว่า “เจ้าคือใคร” จันทรสวามินก็เล่าเรื่องให้ฟังโดยตลอด และก้มศีรษะแสดงความเคารพอย่างนอบน้อม ฤษีเมื่อได้ฟังดังนั้นก็กล่าวด้วยความเมตตาว่า “เจ้าหนุ่มเอ๋ย เจ้ากระเซอะกระเซิงมาถึงที่นี่ ซึ่งเป็นอาศรมของข้าโดยไม่นึกไม่ฝัน จงเป็นแขกของข้าเถิด ลุกขึ้น ไปอาบน้ำเสียก่อนแล้วค่อยมากินอาหาร ซึ่งข้าภิกษาจารมาเมื่อเช้านี้” เมื่อฤษีกล่าวดังนี้ จันทรสวามินก็กล่าวด้วยความเคารพว่า “ท่านสาธุที่เคารพ ตัวข้าเป็นพราหมณ์โดยกำเนิด ข้าจะกินอาหารที่ท่านภิกษาจารมาได้อย่างไรเล่าขอรับ”


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 6 กันยายน 2554 เวลา:0:13:42 น.  

 
เมื่อฤษีผู้ใจดี ผู้ชำนาญพระเวทมนตรา ได้ฟังดังนั้นก็เดินเข้าไปในบรรณนาศรม นั่งลงเข้าฌานสมาธิสักครู่หนึ่งก็เรียกรูปวิทยาให้ปรากฏ รูปวิทยานี้สามารถเนรมิตทุกสิ่งตามคำสั่งของผู้เป็นนายได้ทั้งสิ้น เมื่อปรากฏต่อหน้าฤษีแล้วก็กล่าวว่า “ท่านจะใช้ให้ข้าพเจ้าทำอะไร จงบอกมาเถิด” ฤษีจึงบัญชาว่า “จงเตรียมของให้พร้อมสรรพเพื่อต้อนรับอาคันตุกะของข้า” รูปวิทยาก็ตอบว่า “ข้าจะทำทุกอย่างตามที่ท่านสั่ง” ทันใดนั้นจันทรสวามินก็แลเห็นกนกนคร (เมืองทอง) ปรากฏขึ้นต่อหน้า ประกอบด้วยอุทยานอันงามวิจิตร มีหญิงบาทบริจาริกาอยู่ในนั้นเป็นอันมาก นางเหล่านั้นเข้ามาใกล้จันทรสวามิน ผู้แลดูด้วยความอัศจรรย์ใจเป็นล้นพ้น นางกล่าวว่า “โปรดลุกขึ้นเถิด ตามข้ามา จงบริโภคอาหารอร่อยให้เต็มที่ แล้วลืมความเหน็ดเหนื่อยลำบากกายเสียให้หมด” นางเหล่านั้นพาชายหนุ่มเข้าไปในเมืองทอง อาบน้ำให้ และลูบไล้ด้วยผงจันทน์หอม หลังจากนั้นก็ตกแต่งร่างกายของพราหมณ์หนุ่มด้วยภูษาภรณ์อันงามระยับ เสร็จแล้วก็นำจันทนสวามินไปยังอีกห้องหนึ่ง ณ ที่นั้นชายหนุ่มแลเห็นหญิงสาวผู้หนึ่ง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นหัวหน้าของบริจาริกาพวกนั้น นางมีความสวยงามทุกสัดส่วนจนหาที่ติมิได้ จนดูราวกับว่า พระธาดาพรหมเป็นผู้สร้างนางขึ้นมาเป็นสมบัติของโลกโดยแท้ และพระองค์ทรงลืมไปแล้วว่าพระองค์ทรงสร้างนางขึ้นด้วยสาระวิเศษสิ่งใดบ้าง
นางลุกขึ้นอย่างกระฉับกระเฉงว่องไวเพื่อต้อนรับชายหนุ่ม และลงไปเชิญเขาให้ขึ้นมานั่งบนบัลลังก์ทองคู่กับนาง และชายหนุ่มก็ได้รับประทานอาหารซึ่งมีรสทิพย์ร่วมกับนาง และกินหมากซึ่งมีรสชาติเหมือนผลไม้ห้าชนิด
ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น จันทรสวามินตื่นขึ้นก็พบตัวเองนอนอยู่ในเทวาลัยพระศิวะ ไม่มีทั้งนครทอง เทพธิดาและแม้นางบาทบริจาริกาก็มิได้ปรากฏให้เห็นอีก ทันใดฤษีก็ออกมาจากอาศรมด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม และถามว่าชายหนุ่มได้ผ่านราตรีนั้นมาด้วยความสุขวิเศษหรือไม่ จันทรสวามินซึ่งยังมีอาการงงงวยจับต้นชนปลายไม่ติด ตอบว่า “ข้าแต่สาธุผู้ประเสริฐ ด้วยความอนุเคราะห์ของท่าน ข้าพเจ้าหลับอย่างสุขสบายตลอดทั้งคืน แต่ในบัดนี้สิเมื่อตื่นขึ้นมา นางฟ้าของข้าพเจ้าก็หายไปแล้ว ข้าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไร ถ้าปราศจากนาง” เมื่อฤษีได้ฟังดังนั้นก็หัวเราะด้วยอารมณ์ดี กล่าวปลอบใจว่า “จงอยู่ที่นี่ต่อไปเถอะ แล้วเจ้าจะได้พบเห็นสิ่งที่เจ้าปรารถนาทุกอย่างในคืนนี้” เมื่อได้ยินดังนั้นจันทรสวามินก็ตกลงว่าจะอยู่ต่อไปอีก และด้วยความช่วยเหลือของฤษี ทุกสิ่งทุกอย่างก็เกิดขึ้นและเป็นไปเหมือนคืนก่อน ทำให้ชายหนุ่มมีความสุขและเพลิดเพลินไปกับภาพมายาทุกคืน
แต่ในที่สุด ชายหนุ่มก็รู้ว่า สิ่งทั้งหลายที่เขาได้พบได้เห็นนั้นล้วนเกิดจากมายาทั้งสิ้น ดังนั้นในวันหนึ่ง ด้วยชะตากรรมบันดาล ชายหนุ่มเข้าไปหาฤษีและทำการประจบประแจงให้ฤษีพอใจ แล้วกล่าวว่า “ท่านสาธุขอรับ ถ้าท่านจะมีเมตตาสงสารข้าพเจ้าผู้เคราะห์ร้าย หนีมาพึ่งพาท่านเพราะไร้ที่พึ่งอื่นอีกแล้ว ขอท่านจงช่วยอนุเคราะห์แก่ข้าพเจ้า ช่วยสั่งสอนวิทยาคมอันยิ่งใหญ่นี้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”
เมื่อถูกรบเร้าหนักเข้า ฤษีก็กล่าวว่า “คนอย่างเจ้าเข้าไม่ถึงวิชานี้หรอก เพราะมันจะต้องลงไปฝึกถึงใต้น้ำ และระหว่างที่ผู้ฝึกกำลังท่องมนตร์อยู่ใต้ท้องน้ำ รูปวิทยานี้ก็จะสร้างภาพหลอนให้ปรากฏแก่เขา เช่นทำให้เขารู้สึกเหมือนเกิดใหม่เป็นทารก แล้วเจริญวัยเป็นเด็ก จากนั้นก็เป็นหนุ่มแล้วก็แต่งงานตัวของผู้ทำพิธีจะเกิดจิตหลอนว่าตัวเองมีลูกชาย และลูกขายของเขาก็จะถูกหลอกให้เกิดความหลงผิดว่า เขามีเพื่อนที่เป็นคนดีคนหนึ่ง และเป็นศัตรูอีกคนหนึ่ง ตัวเขาจะหลงลืมแม้กระทั่งชาติกำเนิดที่บอกให้รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ไม่รู้ตัวแม้แต่ว่าตนกำลังร่ายมนตร์ภาวนาเพื่อเข้าถึงวิชาอะไร แต่ใครก็ตาม เมื่อรู้สึกว่าเขาได้พากเพียรมาจนถึงยี่สิบสี่ปีแล้ว ก็จะกลับคืนสติตามเดิมด้วยมนตร์ของอาจารย์ และจะมีกำลังจิตที่มั่นคง สามารถจดจำชีวิตของตนเองได้ และรู้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เกิดจากมายา และถึงแม้ว่าเขาจะตกอยู่ในอิทธิพลของมายา เขาก็รู้จักมันดีที่สุด เขาได้เข้าถึงกองไฟซึ่งเผาไหม้ภาพมายาเหล่านั้น และสำเร็จวิทยาที่ต้องการในที่สุด หลังจากนี้เขาจะขึ้นมาจากน้ำ ได้แลเห็นความจริงในที่สุด แต่ถ้าศิษย์ผู้แสวงหาวิชานั้นยังไม่สามารถจะบรรลุถึงวิทยาอันสูงสุดได้ทั้ง ๆ ที่ข้าได้ทุ่มเทให้ทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ข้าก็ต้องพลอยสิ้นสูญไปด้วย บัดนี้ข้าว่าเจ้าก็ได้วิทยาที่ข้ามีจนหมดสิ้นแล้ว จะรีรออยู่ทำไมเล่า จงรู้ไว้เถอะว่าวิทยาของข้าไม่มีวันตายหรอก เจ้าตระหนักดังนี้แล้วก็จงมีความยินดีเถิดว่า ความสุขสมปรารถนาของเจ้านั้นก็จะไม่สิ้นสูญเช่นเดียวกัน”
เมื่อฤษีกล่าวดังนี้แล้ว จันทรสวามินก็ยืนยันว่า “ข้ารับรองว่าข้าสามารถทำทุกสิ่งได้ตามใจปรารถนาแล้ว ท่านอย่ากังวลไปเลย”
อย่างไรก็ดี รูปวิทยานั้นเป็นสิ่งที่ได้ยาก ได้รับแล้วก็ปกครองยาก บังคับยาก เมื่อพลังจิตของผู้ฝึกยังไม่เข้มแข็งถึงที่สุดรูปวิทยาก็หนีไป ต้องฝึกกันต่อไปอีก ในกรณีของจันทรสวามินก็เช่นเดียวกัน ฤษีผู้เป็นอาจารย์รู้วาระน้ำจิตของลูกศิษย์ดีว่ายังไม่แกร่งเพียงพอที่จะผจญมายาได้ถึงที่สุด จะถูกล่อหลอกต่อไปอีกอย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง ปาศุบตนักพรตคิดดังนั้นแล้ว ก็เดินไปยังฝั่งแม่น้ำ และกล่าวแก่พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ว่า “ลูกเอ๋ย ขณะที่ร่ายมหามนตรานี้แล้ว เจ้าก็จะได้พบกับมายาอันเป็นภาพลวงตาลวงใจ ทำให้เกิดความสงสัยและเข้าใจไปต่าง ๆ นานา เพราะฉะนั้นข้าจะคอยส่งกระแสจิตตรวจดูเจ้าตลอดเวลา เมื่อเกิดติดขัดอันใด ข้าจะช่วยแก้ไขให้เจ้าอยู่บนฝั่งแม่น้ำนี้ตลอดเวลา” เมื่อจอมนักพรตกล่าวดังนี้แล้วก็นั่งลงสำรวมจิตตั้งสมาธิยังจิตใจให้บริสุทธิ์คอยท่าอยู่ เพื่อติดตามจันทรสวามินต่อไป ซึ่งฝ่ายจันทรสวามินก็ชำระล้างหน้าให้บริสุทธิ์ และอมน้ำบ้วนปากหลายครั้งจนสะอาดเรียบร้อย เสร็จแล้วพราหมณ์หนุ่มก็เข้ามากระทำนมัสการต่อผู้เป็นอาจารย์ด้วยความเคารพ แล้วก็โผลงสู่แม่น้ำดำดิ่งลงสู่ก้นแม่น้ำทันที
เมื่อเขาร่ายมหามนตราอยู่ใต้แม่น้ำนั้น เขาก็เห็นภาพมายาปรากฏขึ้น ทำให้เขาลืมชาติกำเนิดของตนเองสิ้น เขาเห็นภาพตนเองในชาติกำเนิดใหม่ว่า เขาเป็นคนที่เกิดอยู่ในเมืองอื่นเมืองหนึ่งที่ไม่รู้จัก เป็นลูกของพราหมณ์คนหนึ่ง และตัวเขาเองค่อย ๆ เจริญวัยขึ้นทีละน้อย ๆ ในที่สุดเขาก็ได้สวมยัชโญปวีตสายธุรํามงคลอันแสดงถึงการเป็นพราหมณ์เต็มตัว และเขาได้ศึกษาคัมภีร์ พระเวทตามประเพณีพราหมณ์ด้วย จากนั้นก็แต่งงานมีภรรยา มีชีวิตเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้างตามฐานะของคนที่แต่งงานแล้ว ในกาลต่อมาเขาก็มีบุตรชายคนหนึ่งและเขายังอาศัยอยู่ในเมืองนั้น วุ่นวายด้วยธุรกิจทำมาหากิน เลี้ยงดูลูกชายที่แสนรักและภรรยาที่แสนดี แวดล้อมด้วยพ่อแม่ญาติและบริวารทั้งปวง
ในขณะที่เขาดำรงชีวิตอยู่ตามภาพมายานั้น เขาก็เหินห่างจากความจริงคือชีวิตแท้ ๆ ซึ่งเขาเคยมีอยู่ นักพรตผู้เป็นครูซึ่งส่งกระแสจิตตามไปควบคุมโดยใกล้ชิด มิให้เขาหลงอยู่ในวงมายาที่ทำให้ห่างเหินไปจากความเป็นจริงไปทุกที ทันใดนั้นจันทรสวามินก็ตื่นจากภวังค์ในทันที เพราะกระแสจิตของผู้เป็นครูเข้าคุมอยู่โดยเข้มงวด ทำให้เขาได้สติกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง และรู้ว่าแท้จริงสิ่งที่เขาพบผ่านมาเมื่อครู่ยามนั้นหาได้มีความจริงอยู่เลยแม้แต่น้อย เขาเห็นและรู้สึกไปเองโดยห้วงมายาโดยแท้ การหลุดจากมายาทำให้เขาคิดว่าตัวเองสำเร็จแล้ว หลุดพ้นแล้ว บังเกิดความกระหายที่เข้าสู่กองไฟเพื่อหวังวิทยาอันสุดยอดในทันที แต่เขาก็ถูกห้อมล้อมมะรุมมะตุ้มด้วยเพื่อนอาวุโส และเจ้านาย และวงศาคณาญาติ ผู้พยายามจะกีดขวางความสำเร็จของเขา แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าคนเหล่านั้นจะใช้วิธีการหลอกล่อเขาสักเพียงไรก็ไม่สำเร็จ ผลสุดท้ายหลังจากถูกเกลี้ยกล่อมให้เคลิ้มกับการไปสู่สวรรค์เพื่อความบันเทิงสุขนิรันดร ณ ที่นั้น ชายหนุ่มก็ยินยอมพาคนเหล่านั้นไปสู่ฝั่งแม่น้ำ และตระเตรียมกองไฟใหญ่ที่นั้น จันทรสวามินแลไป เห็นบิดามารดาผู้ชราของตนและภรรยา พร้อมที่จะเข้าสู่กองไฟด้วยความเศร้าโศก และบรรดาลูก ๆ ก็ร้องกระจองอแงไปหมด ในความสับสนของเหตุการณ์อันเกิดจากมายานั้น ชายหนุ่มกล่าวแก่ตนเองว่า “อนิจจาเอ๋ย บัดนี้ญาติพี่น้องของเราทั้งหมดกำลังจะตายถ้าเราเข้าสู่กองไฟ และเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า คำมั่นสัญญาของอาจารย์จะจริงหรือไม่จริง จะให้เราเข้ากองไฟอย่างนั้นหรือ หรือเราจะไม่เข้าดีกว่า แต่คิดไปคิดมา คำมั่นสัญญาจะผิดได้หรือ เพราะเท่าที่ท่านสั่งไว้เป็นขั้นตอนมันก็ถูกอย่างที่ท่านว่า เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นสมจริงทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราจะเข้ากองไฟละ” เมื่อพราหมณ์จันทรสวามินไตร่ตรองโดยตลอดแล้วก็เดินเข้าไปในกองไฟ
ทันใดที่เขาเข้าไปในกองไฟ ชายหนุ่มก็รู้สึกประหลาดใจมาก เพราะไฟนั้นแทนที่จะร้อนแรงผลาญร่างกายดังที่คิด กลับเย็นยะเยือกดังหิมะ เขาก็ผลุดจากแม่น้ำทันที และมายาทั้งปวงถึงจุดอวสาน ชายหนุ่มรีบเดินไปตามฝั่งแม่น้ำเพื่อหาอาจารย์ ในที่สุดก็แลเห็นฤษีปาศุบตนั่งอยู่ริมแม่น้ำ ก็เดินเข้าไปลดตัวลงกราบแทบเท้าอาจารย์ และเมื่อผู้เป็นอาจารย์ซักถาม เขาก็บรรยายให้ทราบเรื่องที่เกิดจากมายาทุกสิ่งทุกอย่าง และจบลงด้วยเรื่องไฟเย็น เมื่อได้ฟังดังนี้ ผู้เป็นอาจารย์ก็กล่าวกะเขาว่า “ลูกเอ๋ย ข้าเกรงว่าเจ้าจะทำอะไรผิดตอนร่ายมหาเวทเสียละกระมัง หาไม่แล้วไฟจะเย็นสำหรับเจ้าได้อย่างไร ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ปรากฏแก่เจ้าในการแสวงหารูปวิทยานั้น ต้องผิดพลาดแน่ ๆ” เมื่อจันทรสวามินได้ยินการวิพากษ์ของอาจารย์ ดังนั้นก็ตอบว่า “ท่านสาธุขอรับ ข้าพเจ้าแน่ใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิดเลย”
ปาศุบตผู้เป็นอาจารย์เห็นว่าเรื่องนี้มีอะไรที่ผิดความคาดหมายอยู่ จึงตั้งใจจะสืบสวนเพื่อความแน่ใจอีกครั้ง จึงตั้งสมาธิเพ่งรูปวิทยาให้ปรากฏในฌาน แต่รูปวิทยาไม่ปรากฏให้ทั้งอาจารย์และศิษย์ ดังนั้นทั้งสองคนก็ได้ประจักษ์ว่ารูปวิทยานั้นหนีไปแล้ว ทั้งสองก็เดินคอตกกลับไปอย่างสิ้นหวัง
เมื่อเวตาลเล่าเรื่องจบลงก็ตั้งคำถามต่อพระเจ้าตริวิกรมเสน หลังจากที่ทูลเตือนพระราชาให้ตระหนักถึงเงื่อนไขที่ให้ไว้ต่อกันมาก่อนว่า “โอ ราชะ ขอได้โปรดแก้ปัญหาให้ข้าหน่อย ทรงเฉลยมาสิว่า ทำไมรูปวิทยาจึงสูญหายไปจากคนทั้งสอง ในเมื่อเขาร่ายมหาเวทอย่างถูกต้องตามที่บรรยายไว้ทุกประการ” เมื่อพระวีรกษัตริย์ได้ฟังคำถามของเวตาลเช่นนั้น ก็ตอบว่า “ข้ารู้ เจ้าจอมขมังเวทเจ้ากำลังหลอกล่อให้ข้าเสียเวลาเปล่า แต่เอาเถอะ ข้าจะตอบเจ้า คนเราจะเข้าถึงความสำเร็จเพราะการปะกอบพิธีรีตรองที่ถูกต้องเพียงอย่างเดียวก็หามิได้ ทั้งนี้เว้นไว้เสียแต่ว่า จิตของเขาจะมั่นคงเด็ดขาด ตั้งอยู่ในความกล้าหาญอันไร้มลทินโทษโดยสิ้นเชิง ไม่หยุดยั้งรีรอในการติดสินใจให้แน่วแน่ ปราศจากความกวัดแกว่งไม่แน่นอน ถึงแม้ครูของเขาจะส่งพลังจิตไปช่วยแล้วก็ตาม ดังนั้น มหาเวทที่เขาร่ายอยู่จึงไม่ทำให้เขาได้บรรลุความสำเร็จ ส่วนครูของเขาเองก็สูญเสียอำนาจในการควบคุมมายาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะเขาให้สิ่งที่ดีต่อคนที่ไม่สมควรจะได้รับ”
เมื่อพระราชาทรงอธิบายดังนี้ เวตาลผู้ยิ่งใหญ่ก็ละจากพระอังสาของพระราชาทันที ด้วยมนตร์เวทที่กำบังสายตามิให้ใครเห็น กลับคืนไปสู่สำนักของตน ทำให้พระราชาต้องเสด็จกลับไปจับตัวมันมาอีกครั้งหนึ่ง


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 6 กันยายน 2554 เวลา:0:16:40 น.  

 
นิทานเรื่องที่
๑๙
พระเจ้าตริวิกรมเสนจำใจเสด็จย้อนกลับไปที่ป่าช้าอีกครั้งหนึ่ง เพื่อดึงตัวเวตาลลงมาจากกิ่งอโศก เอาพาดกับพระอังสาแล้วดำเนินกลับมาทางเดิม ระหว่างที่เสด็จมาตามทางนั้น เวตาลก็ถือโอกาสกล่าวขึ้นว่า “ราชะ ขอได้โปรดฟังนิทานสนุก ๆ สักเรื่องเถิด ข้าจะเล่าถวาย โปรดทรงฟัง”
มีนครแห่งหนึ่งในโลกนี้ชื่อ วโกรลกะ มีความงามอลังการเสมอด้วยนครอมราวดีของทวยเทพนั่นเทียว นครนี้มีพระราชาปกครองทรงนามว่าพระเจ้าสูรยประภะ ซึ่งทรงความยิ่งใหญ่เสมอด้วยพระอินทร์ พระราชาองค์นี้เปรียบเสมือนองค์พระวิษณุผู้ทรงถนอมโลกไว้ให้พ้นภัย โดยทรงรองรับโลกไว้ด้วยพระกรของพระองค์ (ทรงโอบอ้อมโลกไว้ในวงพระกร เหมือนบิดาโอบอุ้มลูกของตนไว้ในอ้อมแขน) ด้วยประการฉะนี้พระองค์จึงมีความยินดีในการรองรับภาระของราษฎรมิรู้เบื่อหน่ายในราชอาณาจักรของพระองค์ ถ้าจะเห็นน้ำตาของใครก็ย่อมมีแต่น้ำตาที่เกิดจากควันเข้าตาเท่านั้น จะพูดถึงความตายก็เฉพาะกรณีของคู่รักคู่เสน่หาที่โหยหากันเหมือนตายทั้งเป็นอย่างน่าสงสาร จะพูดถึงของสวยงามก็ให้ดูที่ไม้เท้าทองคำของอารักษ์ที่คุ้มครองพิทักษ์ พระราชานั้นเองเป็นตัวอย่างของผู้ครองพระราชทรัพย์อันมากมายล้นฟ้า อย่างไรก็ดี แม้พระองค์จะมีชายามากมายนับไม่ถ้วน แต่ก็หาได้มีพระราชโอรสไม่
ทีนี้จะเริ่มตอนสำคัญของเรื่องนี้ให้ฟัง ในมหานครแห่งหนึ่งชื่อ เมืองตามรลิปติ มีพ่อค้าที่ร่ำรวยมหาศาลชื่อ ธนบาล เป็นผู้ที่ร่ำรวยมากที่สุดยิ่งกว่าใคร ๆ ทั้งหมดที่เป็นเศรษฐีในเมืองนั้น เขามีธิดาเพียงคนเดียวชื่อ ธนวดี ผู้มีความงามจับจิตราวกับเป็นวิทยาธรี (นางวิทยาธร) ที่หล่นลงมาจากสวรรค์เพราะถูกสาป เมื่อนางเจริญวัยขึ้นเป็นสาว พ่อค้าก็ตายลง พวกญาติก็กลุ้มรุมกันเข้ายึดทรัพย์สมบัติไปหมด ทั้งนี้เพราะพระราชาหาได้ช่วยเหลือคุ้มกันอะไรไม่ ดังนั้นผู้เป็นภรรยาของพ่อค้าคือ นางหิรัณยวดี ก็รีบฉวยสมบัติส่วนตัวของนางคือ เพชร พลอย และเครื่องประดับต่าง ๆ เอาไปซ่อนไว้ในที่เร้นลับไม่มีใครรู้ แล้วแอบหนีออกจากบ้านอย่างลับ ๆ ในยามต้นของราตรีพร้อมด้วยธิดาของนาง คือ ธนวดี หลบหน้าญาติพี่น้องเอาตัวรอดไป นางเล็ดรอดออกจากบ้านไปด้วยความลำบากยากยิ่ง นางจูงแขนลูกหนีกระเซอะกระเซิงอย่างมืดแปดด้าน และใจของนางยิ่งมืดมืดยิ่งกว่าความมืดของราตรี เพราะความเศร้าโศกมืดมิดในจิตใจและมืดมนจนปัญญาก็เพราะไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี ในที่สุดหลังจากที่มะงุมมะงาหรามาในความมืด นางก็รู้สึกตัวว่าวิ่งไปชนโจรผู้หนึ่งซึ่งถูกทางบ้านเมืองเสียบประจานด้วยหลาว แต่มันยังไม่ตาย และการที่ถูกผู้หญิงวิ่งมาชนโดยแรง ทำให้แผลของมันฟกช้ำเจ็บปวดยิ่งขึ้น จึงร้องขึ้นว่า “โอ๊ย ใครเอาเกลือมาขยี้แผลของข้า แสบเหลือเกิน” ภรรยาพ่อค้าได้ฟังก็ตกใจ ถามว่า “ท่านคือใคร” โจรตอบว่า “ข้าเป็นโจร ทางบ้านเมืองติดตามตัวข้ามานาน ในที่สุดจับข้าได้ ตัดสินให้เสียบทวารข้าด้วยหลาวเหล็ก เอาขึ้นตั้งประจานไว้ริมทางนี้รอวันตาย แต่ถึงจะเสียบข้าเจ็บปวดสาหัสถึงเพียงนั้น แต่ข้าก็ยังไม่ตาย ว่าที่จริงจะพูดไป ข้ามันก็แค่ชายชั่วธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น ไม่วิเศษวิโสอะไร ส่วนท่านเล่าเป็นใคร จึงได้วิ่งมากลางค่ำกลางคืนดึกดื่นป่านนี้” เมื่อภรรยาพ่อค้าได้ฟังก็เล่าเรื่องของตนให้โจรฟังโดยตลอด ขณะนั้นพระจันทร์ผ่านพ้นหมู่เมฆส่องแสงสว่างนวลใย แสงเดือนที่อ่อนละมุนจับต้องใบหน้าของธิดาพ่อค้า (ธนวดี) ทำให้เห็นความงามของนางอย่างเด่นชัด นายโจรจึงกล่าวกะแม่ของนางว่า “ข้าอยากจะขอร้อง อะไรท่านสักอย่าง ฟังให้ดีนะ ข้าจะให้ทองคำแก่ท่านพันตำลึง ท่านจงรับไว้และส่งนางมาเป็นเมียข้าเถิด” นางได้ฟังก็หัวเราะอย่างขบขัน และกล่าวว่า “เจ้าจะทำอะไรต่อนาง” โจรได้ฟังก็ตอบว่า “ข้าเวลานี้จะเป็นจะตายก็เท่ากัน ข้าไม่มีลูกชายเลยแม้แต่คนเดียว ท่านก็ทราบดีแล้วว่า ผู้ชายที่ไร้ลูกชายนั้น หาอาจที่จะได้รับผลบุญอันนำไปสู่ภพทั้งหลายอันมีแต่ความบันเทิงสุขไม่ แต่ถ้าท่านยอมตกลงตามข้อเสนอของข้า หญิงที่เป็นเมียข้าคนนี้จะคลอดลูกเป็นชาย โดยข้าอาจจะให้ชายอื่นมาเป็นพ่อของเด็กได้ และข้าจะยอมรับด้วยความเต็มใจว่าเขาเป็นลูกจริง ๆ ของข้า นี่คือเหตุผลของข้าว่าทำไมจึงขอร้องให้ท่านยกนางให้เป็นเมียข้า ท่านจะช่วยให้ข้าได้บรรลุจุดประสงค์ตามที่ปรารถนาได้หรือไม่” เมื่อหญิงหม้ายเมียพ่อค้าได้ฟังคำของร้องเช่นนั้น ประกอบกับความโลภที่มีอยู่ในนิสัยอยู่แล้ว นางจึงไปหาน้ำมาจากที่ใดที่หนึ่ง มารดมือนายโจร และกล่าวว่า “ข้ายกหญิงผู้เป็นลูกสาวของข้าคนนี้ให้แก่เจ้าในการสมรสครั้งนี้” นายโจรได้แต่งงานกับธิดาวานิชแล้วก็สั่งกำชับให้นางยึดมั่นในสัญญาตามที่ตกลงกันไว้ และให้นางแม่หม้ายให้ไปเอาทองตามสัญญาว่า “จงไปขุดเอาทองที่ฝังไว้ใต้ต้นนิโครธ (ต้นไทร) ต้นนั้นเถิด แล้วเก็บไว้ให้ดี เมื่อไรที่ข้าสิ้นลม จงเผาศพข้าอย่างธรรมดาเหมือนคนธรรมดาทั่วไปเถิด อย่าให้มีพิธีรีตองอะไรเลย หลังจากเผาศพข้าแล้วจงเอากระดูกของข้าไปโยนลงแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใดก็ได้ เสร็จเรื่องของข้าแล้ว เจ้าสองคนแม่ลูกจงเดินทางไปนครวโกรลกะ ที่เมืองนั้น ผู้คนมีความสบายกันทั่วหน้า เพราะมีผู้ปกครองที่ดี มีพระราชาสูรยประภะเป็นประธานสูงสุด คนที่อยู่เมืองนั้นล้วนอบอุ่นใจไร้ความกังวลใด ๆ และพวกท่านก็จะไม่ถูกใครข่มเหงรังแกอีกด้วย”
เมื่อนายโจรกล่าวมาถึงตอนนี้ บังเกิดความกระหายน้ำอย่างรุนแรง ก็ดื่มน้ำที่นางหญิงม่ายเอามาให้ แล้วถึงแก่ความตาย เพราะต้องถูกหลาวเสียบประจานมาหลายวัน ความบาดเจ็บแสนสาหัสทำให้ไม่อาจจะทนทานต่อไปได้อีก ฝ่ายนางหญิงหม้ายก็รีบไปขุดเอาทองมาไว้เป็นสมบัติของตน แล้วพาลูกสาวเดินทางไปอย่างเร้นลับ สู่บ้านเพื่อนคนหนึ่งของสามีนาง ระหว่างที่นางอาศัยพักพิงอยู่ที่นั่น นางก็ให้คนไปเอาศพนายโจรไปเผาเสีย และเอากระดูกไปโยนทิ้งที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สายหนึ่ง และทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้ตามประเพณี วันรุ่งขึ้น นางเอาทรัพย์ที่ซ่อนไว้ และออกเดินทางพร้อมด้วยลูกสาวท่องเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ จนในที่สุดมาถึงนครวโกรลกะ ณ ที่นั้น นางได้ซื้อบ้านหลังหนึ่งจากพ่อค้าชื่อสุทัตต์ และอาศัยอยู่ด้วยความผาสุกกับลูกสาวของนางคือ ธนวดี
ในเวลานั้นมีครูผู้หนึ่งชื่อ วิษณุสวามิน อาศัยอยู่ในเมือง เขามีลูกศิษย์เป็นพราหมณ์หนุ่มรูปงามคนหนึ่งชื่อ มนสวามิน ซึ่งถึงแม้ว่าเขาจะมีชาติกำเนิดสูง มีการศึกษาดี แต่ตกเป็นทาสรักของหญิงคณิกาคนหนึ่งชื่อ หงสาวลี แต่นางเรียกค่าบริการสูงถึงครั้งละห้าร้อยเหรียญทองทีนาร์ ซึ่งชายหนุ่มหาได้มีเงินถึงขนาดนั้นไม่ เป็นสาเหตุให้เขากลัดกลุ้มใจเป็นกำลังเพราะความรักที่ไม่สมหวัง วันหนึ่งธนวดีธิดาพ่อค้าขึ้นไปพักผ่อนอยู่บนดาดฟ้าของคฤหาสน์ที่นางอาศัยอยู่ พร้อมด้วยบริวารแวดล้อมตามปกติ นางมองลงไปเบื้องล่าง แลเห็นพราหมณ์หนุ่มมนสวามินโดยบังเอิญ หัวใจนางก็ผวาต่อภาพของเขา และตกเป็นทาสความงามล้ำเลิศของเขาโดยทันที นางระลึกถึงคำสั่งของนายโจรสามีนางขึ้นมาได้จึงเข้าไปหามารดา และกล่าวฉอเลาะต่อนางว่า “แม่จ๋า เมื่อลูกได้เห็นความงามของหนุ่มฉกรรจ์คือพราหมณ์ผู้นี้แล้ว ลูกรู้สึกชื่นชมนี่กระไร เหมือนสายอมฤตธาราไหลพรูลงสู่หัวใจของข้าผู้ที่ได้พบเห็นเขา แม่เข้าใจไหมจ๊ะ” หญิงหม้ายผู้มารดาได้ฟังวาจาซึ่งกล่าวเป็นนัยดังนั้นก็เข้าใจในความหมายของลูกสาวทันที นางแลเห็นว่าลูกสาวของนางได้ตกหลุมรักพราหมณ์หนุ่มเข้าแล้ว ทำให้นางระลึกถึงสัญญาที่นางกระทำไว้ต่อนายโจรขึ้นมาได้ จึงรำพึงในใจว่า “ลูกสาวของเรามีสัญญาผูกพันกับนายโจรผู้เป็นสามีที่อนุญาตให้ลูกสาวของนางแสวงหาสามีได้ โดยมีเงื่อนไขว่าถ้ามีลูกชายด้วยกัน จะต้องให้ลูกชายยอมรับว่าตนเป็นพ่อ ซึ่งเงื่อนไขนี้ลูกสาวของนางจะต้องปฏิบัติตาม จะฝ่าฝืนมิได้ เมื่อมีเงื่อนไขอนุญาตอยู่อย่างนี้ ไฉนเล่านางจะเชิญชวนหนุ่มผู้นี้มาคุยด้วยไม่ได้” เมือใคร่ครวญดังนี้แล้ว นางก็ส่งสาวใช้ไปอย่างลับ ๆ ให้ไปพบพราหมณ์หนุ่ม เพื่อดำเนินงานตามแผนของนางทันที


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 6 กันยายน 2554 เวลา:0:20:54 น.  

 
นางสาวใช้เดินทางออกจากบ้านไปหามนสวามิน และเจรจาตามแผนที่ได้รับมอบหมาย พราหมณ์หนุ่มได้ฟังคำขอร้องของหญิงคนใช้ก็ตอบว่า “ข้าจะตกลงด้วยก็ได้ ถ้าพวกเจ้าจะจ่ายแก่ข้าเป็นเหรียญทองห้าร้อยทีนาร์ ข้าจะได้เอาไปให้แก่นางหงสาวลียอดรักของข้า และข้าก็จะได้ร่วมอภิรมย์กับนางคืนหนึ่ง” เมื่อพราหมณ์หนุ่มตอบดังนี้ นางสาวก็กลับไปรายงานนายของตน หญิงหม้ายไวศยก็ยอมตกลงจ่ายเงินให้โดยไม่ชักช้า เมื่อมนสวามินได้เงินแล้ว ก็เดินตามสาวใช้ไปยังเรือนของนางธนวดี ผู้ซึ่งจะต้องเป็นภริยาของตนตามสัญญา เขาได้พบนางผู้งามด้วยรูปโฉมก็มีใจยินดีเหมือนนกเขาไฟที่เพลิดเพลินกับแสงนวลใยของพระจันทร์ฉะนั้น และหลังจากที่เขาได้ร่วมอภิรมย์กับนางคืนหนึ่งเขาก็เล็ดรอดหนีนางไปอย่างลับ ๆ ในเวลาเช้าตรู่
ฝ่ายนางธนวดีลูกสาวพ่อค้าหลังจากได้ร่วมอภิรมย์กับพราหมณ์ในคืนนั้นแล้วนางก็ตั้งครรภ์ เมื่อครบกำหนดก็คลอดบุตรเป็นชาย มีลักษณะประกอบด้วยมงคลลักษณ์อันสูงส่ง นางและแม่ต่างก็พากันยินดีอย่างยิ่งที่ได้ลูกชายสมใจหวัง องค์พระศิวะมหาเทพก็เสด็จมาเข้าฝันนางทั้งสองในคืนวันหนึ่ง และตรัสแก่หญิงทั้งสองว่า “จงรับเด็กนี้ไว้ ในเวลาที่เขายังนอนอยู่ในเปล จงพาไปวางไว้ที่หน้าประตูวังของพระเจ้าสูรยะประภะ พร้อมด้วยเหรียญทองพันเหรียญในตอนเช้ามืด โดยวิธีนี้ ทุกอย่างจะเป็นผลดีอย่างน่าอัศจรรย์แก่เจ้า” ฝ่ายหญิงหม้ายไวศยะและลูกสาว เมื่อได้รับโองการจากพระศิวะดังนั้นแล้ว ก็รู้สึกตัวตื่นขึ้น ต่างคนต่างก็เล่าความฝันของตนให้ฟังซึ่งกันและกัน และเพราะมีความศรัทธาในองค์พระศิวะอย่างไม่แคลนคลอน คนทั้งสองก็อุ้มทารกน้อยพร้อมด้วยเหรียญทองในถุงรวมหนึ่งพันเหรียญไปวางไว้หน้าประตูวังของพระเจ้าสูรยะประภะ
ในระยะเวลาดังกล่าวนั้น พระศิวะเป็นเจ้าก็เสด็จมาเข้าฝันพระราชาสูรยะประภะ ผู้ทรงทรมานมานานช้าโดยการไร้โอรสผู้จะสืบราชบัลลังก์ และตรัสว่า “ราชะ ลุกขึ้นเถิด มีคนเอาเด็กผู้ชายหน้าตางดงามคนหนึ่งและถุงทองมาวางไว้หน้าประตูวังของเจ้า ไปรับเอามาสิในเวลาที่เขายังนอนแบเบาะอยู่” เมื่อพระศิวะตรัสแก่พระราชาในความฝันเช่นนั้น พระองค์ก็รีบลุกขึ้นจากบรรจถรณ์ในเวลาเช้าตรู่ พอดีกับยามเฝ้าประตูเข้ามาเฝ้ากราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้น เหมือนดำรัสของพระศิวะเจ้าทุกประการ พระองค์ก็รีบเสด็จไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง เมื่อถึงประตูวังก็เห็นเด็กทารกคนหนึ่งนอนอยู่ ข้าง ๆ กายมีถุงทองวางอยู่ด้วย และเมื่อทรงอุ้มเด็กขึ้นเชยชมก็ทอดพระเนตรเห็นว่ากุมารน้อยมีลักษณะอันเป็นมงคล เช่น มือและเท้ามีเส้นเป็นลายรูปต่าง เช่น รูปฉัตร รูปธง และรูปอื่น ๆ จึงตรัสว่า “พระศิวะทรงประทานลูกชายที่น่ารักแก่ข้า” แล้วทรงโอบกอดกุมารน้อยแนบพระอุระ เสด็จเข้าสู่พระราชนิเวศ โปรดให้ทำพิธีฉลองสมโภชพระโอรสและให้ทานแก่บุคคลที่ยากจนให้มีทรัพย์สินสำหรับเลี้ยงชีวิตเป็นสุขสบายโดยทั่วหน้า และพระราชาสูรยประภะก็โปรดให้มีมหรสพดนตรีและการละเล่นเป็นเวลาถึงสิบสองวัน เสร็จแล้วทรงประทานนามแก่พระโอรสว่า จันทรประภะ
แล้วเวลาก็ผ่านไป เจ้าชายจันทรประภะเจริญวัยขึ้นตามลำดับ มีรูปร่างงดงามและมีอุปนิสัยดียิ่ง เป็นที่ชื่นชมของข้าราชบริพารและผู้พบเห็นซึ่งพากันยกย่องสรรเสริญโดยทั่วหน้า ในที่สุดเจ้าชายก็เติบโตเป็นหนุ่มฉกรรจ์ มีพละกำลังแข็งขันราวกับจะแบกธรณีนี้ไว้ได้ (มหิธร) มีความกล้าหาญ มีความใจกว้าง มีความรู้ในศิลปวิทยาต่าง ๆ ยังความสำเร็จให้เกิดแก่กิจการทั้งปวง ฝ่ายพระบิดา คือพระเจ้าสูรยประภะ เมื่อทรงพิจารณาเห็นว่าเจ้าชายหนุ่มมีคุณสมบัติอันเลอเลิศเช่นนั้น ก็ทรงพอพระทัยอย่างยิ่ง จึงทรงตั้งให้เป็นรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ต่อไป พระราชาสูรยประภะนั้นทรงชราแล้ว ได้ทรงสร้างความเจริญแก่แผ่นดินมาแล้วเป็นปึกแผ่นมั่นคง และเห็นว่าไม่มีอะไรจะต้องกังวลในชีวิตอีก จึงสละราชสมบัติให้แก่องค์รัชทายาทแล้วเสด็จไปเมืองพาราณสี และในเวลาดังกล่าว เจ้าชายรัชทายาทก็ปกครองแผ่นดินได้อย่างเรียบร้อย และยังแว่นแคว้นให้เจริญรุ่งเรืองด้วยความเฉลียวฉลาดของพระองค์ หามีราชอาณาจักรใดบนพิภพจะเปรียบปานได้ไม่ ส่วนราชาสูรยประภะเมื่อสละราชสมบัติแล้วก็ผนวชเป็นฤษีบำเพ็ญตบะอันแรงกล้า และละชีวิตไปสู่สวรรค์ของพระเป็นเจ้า เจ้าชายจันทรประภะได้ทราบข่าวการทิวงคตของพระราชบิดาก็ทรงเศร้าเสียพระทัยนัก และสั่งให้ทำพิธีถวายกุศลแก่พระราชบิดาอย่างสมพระเกียรติ และมีพระดำรัสแก่เสวกมาตย์ว่า “ข้าจะทำอย่างไร จึงจะตอบแทนพระบิดาของข้าให้สมกับที่พระองค์มีพระกรุณาธิคุณแก่ข้าเป็นเหลือล้นได้ ข้าจะชดใช้พระคุณนั้นด้วยมือของข้าเอง ข้าจะรวบรวมอัฐิอังคารของพระองค์ไปโปรยปรายลงที่แม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้นข้าจะเดินทางจารึกแสวงบุณย์ไปยังวิหารแห่งคยาเพื่อนมัสการพระเป็นเจ้าที่นั่น และกระทำพิธีเปตพลีอุทิศผลบุณย์ให้แก่บรรพบุรุษของข้าด้วย จากนั้นข้าจะธุดงค์ไปยังแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ไปให้ไกลจนถึงฝั่งมหาสาคนตะวันออกนั่นเทียว”
เมื่อพระราชาดำรัสดังนี้ บรรดาอำมาตย์ราชมนตรีทั้งหลายก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระจักรพรรดิ ขึ้นชื่อพระราชาทั้งหลาย ย่อมไม่ควรที่จะกระทำอย่างนี้ เพราะการเป็นราชันนั้นมีข้อเสียหลายข้อที่จะต้องระมัดระวัง เมื่อพลาดพลั้งไปแล้วจะแก้ไขได้ยากนัก เพราะฉะนั้นพระองค์ควรที่จะตอบแทนพระคุณของพระบิดาด้วยวิธีอื่น มีประโยชน์อันใดเล่าที่พระเจ้าแผ่นดินจะต้องตะลอน ๆ ไป นมัสการแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ให้ลำบากพระกาย แทนที่จะกระทำพระบัญชา สั่งออกไปให้ผู้สนองพระโองการทำโน่นทำนี่ โดยมอบอำนาจหน้าที่ให้เขาไปทำเลยขึ้นชื่อว่าพระราชาทั้งหลาย ย่อมมีทหารรักษาพระองค์อยู่แล้ว โดยปกติย่อมประทับอยู่แต่ในวัง จะออกไปเที่ยวจาริกธุดงค์ตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นการเปิดเผยพระองค์ ทำให้เสี่ยงต่ออันตรายจากศัตรูทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นมิใช่หรือ” เมื่อพระราชาจันทรประภะได้ฟังถ้อยคำของอำมาตย์ราชมนตรีเช่นนั้นก็ตอบว่า “พอกันทีกับการตั้งข้อสงสัยเปล่า ๆ ปลี้ ๆ ทำให้ต้องยับยั้งเสียเวลาต่อไปอีก ถึงอย่างไร ๆ ข้าก็ต้องไปเพื่อเห็นแก่พ่อของข้า ข้าจะต้องเดินทางไปนมัสการแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ให้จงได้ในขณะที่ข้ายังหนุ่มแน่นเข็งแรงอยู่ ใครเล่าจะรู้ว่าอะไรจะเกิดจากนี้เป็นต้นไป ถ้าร่างกายต้องสูญสลายในฉับพลัน จะอย่างไรก็ดี เจ้ามีหน้าที่ดูแลแว่นแคว้นของข้าไว้ จนกว่าข้าจะกลับมา” บรรดาราชมนตรีทั้งหลายได้ฟังกระแสรับสั่งเด็ดขาดดังนี้ ต่างก็พากันเงียบอยู่ พระราชาก็เตรียมตัวออกเดินทาง และรอวันฤกษ์ดีซึ่งจวนจะมาถึงในไม่ช้า เมื่อวันฤกษ์ดีมาถึง พระราชาก็เสด็จเข้าสรงสนาน ทำพิธีสังเวยพระอัคนี (ไฟ) และประทานลาภสักการแก่เหล่าพราหมณ์ เสร็จแล้วเสด็จขึ้นรถทรง ซึ่งมีม้าเทียมอยู่พร้อมสรรพ พระองค์ทรงพัสตราภรณ์โยคีเวศอันต่ำต้อย และเริ่มการเดินทางธุดงคจาริก ทรงฝ่าฝูงชนเป็นอันมากออกไปอย่างลำบาก ตั้งแต่พวกหัวหน้าเผ่าต่าง ๆ พวกราชบุตรชาวนคร และคนบ้านนอก ซึ่งติดตามมาส่งเป็นระยะทางไกลถึงชายราชอาณาเขต จนพระองค์ต้องขอร้องให้กลับไป ทั้ง ๆ ที่เขาเหล่านั้นล้วนแต่ไม่เต็มใจจะจากพระองค์เลย พระองค์ทรงปลดภาระราชกิจอันหนักยิ่งไว้ให้แก่เหล่าเสนาบดีทั้งปวงแล้วก็มีพระทัยแช่มชื่นปราศจากกังวลใด ๆ เสด็จโดยรถแล่นไปตามทาง มีข้าราชบริพารคือกรมวัง แวดล้อมด้วยหมู่พราหมณ์ทั้งหลายตามเสด็จไปในรถอีกหลายคัน พระองค์ได้ทรงพบเห็นดินแดนแว่นแคว้นต่าง ๆ ผู้คนต่างชาติต่างภาษา และในที่สุดก็เสด็จมาถึงแม่น้ำคงคา พระองค์หยุดยืนทอดพระเนตรภาพแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏเฉพาะพระพักตร์ แลเห็นเกลียวคลื่นทอดเป็นสายยาววิ่งเข้าสู่ฝั่ง ดูราวกับสะพานที่ทอดรับมรรตัยชนจากโลกนี้ไปสู่สวรรค์ พระคงคานี้อาจจะชวนให้นึกถึงพระอัมพิกา(พระอุมา) ผู้เป็นน้อง เพราะมีกำเนิดมาจากภูเขาหิมวัต(หิมาลัย) เช่นเดียวกัน ก็พระคงคาสายนี้แลที่ไหลวนเวียนอยู่ในพระเมาลีของพระศิวะเป็นเวลานานนับพันปีแล้วตกลงสู่โลก เป็นที่เคารพบูชาในหมูเพทฤษีและคณะ (คณะ หมายถึง เทพกลุ่มหนึ่งหรือพวกหนึ่ง ซึ่งคอยบำเรอรับใช้พระศิวะโดยเฉพาะ) ท้าวจันทรประภะมีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยมในพระหฤทัยก็เสด็จลงจากรถ และสรงสนานพระวรกายในมหานทีแห่งนั้น แล้วทรงโปรยอัฐิอังคารของพระเจ้าสูรยประภะลงสู่แม่น้ำคงคาตามประเพณี
และหลังจากที่พระราชาทรงให้ทานและทำพิธีศารทธพรต (ศราทธ์ หรือศราทธพรต เป็นพิธีที่ลูกชายบำเพ็ญเพื่อผู้ตายซึ่งเป็นบิดาของตน) เสร็จแล้วก็เสด็จขึ้นรถพระที่นั่งแล่นไปจากสถานที่นั้น ในที่สุดมาถึงประยาค ซึ่งเป็นที่อันฤษีทั้งหลายพากันเคารพอย่างสูง เพราะเป็นที่แม่น้ำคงคากับแม่น้ำมยุนาไหลมาบรรจบกัน และเป็นสถานที่เหล่าฤษีพากันทำพิธีบูชากูณฑ์ (กูณฑ์ คือ กุณฑะ ซึ่งหมายถึงหลุมที่ขุดขึ้นเพื่อก่อไฟ โดยพราหมณ์จะตักเนยใสหยอดลงไป ทำให้ไฟลุกอยู่เพราะเชื้อคือเนยใส การบูชาไฟคือ การถวายเครื่องสังเวยแก่พระอัคนีโดยเฉพาะ) เรียงรายไปตามริมฝั่งน้ำเป็นเปลวไฟลุกวับ ๆ แวม ๆ ไปตลอดทางและมีควันไฟพวยพุ่งขึ้นมาไม่ขาดสายพระราชาจันทรประภะ ทรงถือศีลจานทรายณะ (จานทรายณะ หมายถึง พิธีถือศีลอดโดยกำหนดเวลาตามพระจันทร์หรือถือพระจันทร์เป็นหลักในการคำนวณ) และทรงประกอบศาสนกิจที่สำคัญคือ การสระสนานในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ การให้ทานพระราชทรัพย์และอื่น ๆ เสร็จขบวนการพิธีศราทธ์โดยครบถ้วนแล้ว พระราชาก็เสด็จไปสู่นครพาราณสี ซึ่งเป็นที่รวมแห่งโบสถ์วิหารอันศักดิ์สิทธิ์ มีธงเทียวปลิวสะบัดพลิ้วบนยอดหลังคาเหมือนจะกวักมือเชิญชวนผู้จารึกแสวงบุณย์มาแต่ไกลว่า "มาเถิดและสู่โมกษะ (ความหลุดพ้นทุกข์) ณ ที่นี้"
ในนครนี้ พระราชาจันทรประภะทรงถือศีลอดสามวัน และทรงบูชาพระศิวะด้วยมังสาหารชนิดต่าง ๆ หลังจากนั้นทรงออกเดินทางไปยังตำบลคยา ขณะที่เสด็จผ่านไปตามไพรสณฑ์อันประกอบด้วยไม้นานาพรรณ ซึ่งมีกิ่งค้อมลง เพราะน้ำหนักแห่งผลอันดกสะพรั่งทุกกิ่งก้าน มีนก ร้องเพลงอย่างไพเราะอ่อนหวานเป็นที่จำเริญโสตยิ่งนัก ดูคล้ายกับว่าต้นไม้ที่ค้อมกิ่ง และนกที่ส่งเสียงแจ้วจำเรียงนั้นเป็นผู้ที่ก้มกายอัญชลี และถวายเสียงสดุดีสรรเสริญพระองค์ ฉะนั้น ขณะที่สายลมอ่อนรำเพยพัดลู่กิ่งดอกไม้ป่าไปมาก็เหมือนกำลังถวายพวงบุปผามาลัยแก่พระองค์ขณะเสด็จย่างผ่านไป ในที่สุดพระองค์ก็เสด็จล่วงพ้นแนวป่า และบรรลุยังภูเขาคยาอันศักดิ์สิทธิ์ (ภูเขาคยาศีรษะ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของอินเดียว แปลตามรูปศัพท์ว่า "ศีรษะแห่งคยา" กล่าวคืออสูรชื่อคยาได้บำเพ็ญตบะอันแรงกล้าที่ภูเขาโกลาหล พระพรหมและเทวดาทังหลายพากันมาเยี่ยม พระพรหมถามคยาสูรว่า ทำความเพียรเพื่ออะไร อสูรจึงขอพรพระพรหมว่าขอให้ร่างกายของตนเมื่อหาชีวิตไม่แล้ว จงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลก ซึ่งใครก็ตามได้แตะต้องร่างของตนแล้วจะบรรลุความหลุดพ้นทุกข์ทั้งปวงคือ บรรลุโมกษะนั่นเอง) ณ ที่นั้นพระราชาทรงบำเพ็ญศราทธพรตอีก และประทานทรัพย์ให้แก่พราหมณ์ จากนั้นเสด็จเข้าสู่ป่าศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่พระองค์กำลังทำพิธีถวายข้าวบิณฑ์แก่พระราชบิดาในบ่อน้ำแห่งคยานั้น ก็มีมือสามมือยื่นขึ้นมาจากบ่อน้ำเพื่อจะรับข้าวทิพย์พร้อม ๆ กัน เมื่อพระราชาทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็ทรงพิศวงงุนงงยิ่งนัก จึงตรัสถามคณะพราหมณ์ของพระองค์ว่า "นี่หมายความว่ากระไร ข้าจะส่งข้าวบิณฑ์ให้มือไหนล่ะ" คณะพราหมณ์ก็ทูลว่า "ราชะ มือนี้ที่ยื่นมามีรอยศูล (หลาว) แทงมาก่อน แสดงว่าเขาเป็นโจร มือที่สองที่ถือปูมโหรแสดงว่าเป็นพราหมณ์ ส่วนมือที่สามซึ่งนิ้วสวมแหวนและมีเส้นวาสนานี้เป็นมือของพระราชา ดังนั้นพวกข้าพระองค์จึงไม่ทราบว่ามือไหนสมควรแก่การรับข้าวบิณฑ์ และเหตุการณ์ทั้งหมดหมายความว่ากระไร" เมื่อคณะพราหมณ์กล่าวดังนี้ พระราชาจันทรประภะก็ทรงลังเลพระทัยไม่อาจจะตัดสินลงไปได้
เมื่อเวตาลซึ่งนั่งอยู่บนบ่าของพระราชาได้จบนิทานอันแสนมหัศจรรย์ลงแล้ว ก็กล่าวแก่พระเจ้าตริวิกรมเสนว่า "เอาละ พระองค์จะตัดสินได้หรือยังว่า มือของใครควรจะได้รับข้าวบิณฑ์พระราชทานนั้น ขอให้ใต้ฝ่าพระบาทตอบข้าด้วย แต่อย่าลืมคำสัญญานพระเจ้าข้าว่าทรงตกลงอะไรไว้แก่ข้า"
ฝ่ายพระเจ้าตริวิกรมเสนผู้ทรงเชี่ยวชาญในพระธรรมศาสตร์ ได้ฟังถ้อยคำของเวตาลก็ทรงลืมพระองค์ ตรัสทำลายความเงียบขึ้นว่า
"ก้อนข้าวบิณฑ์พึงให้แก่มือโจร เพราะเจ้าจันทรนประภะผู้ทำพิธีศราทธพรตนี้เป็นลูกของเขา มีชีวิตเติบโตขึ้นมาได้ก็เพราะคำสัญญาที่นางผู้เป็นมารดาของเด็กตกลงแก่เขาไว้ เพราะฉะนั้นชายอีกสองคน จึงหาใช่บิดาของเขาไม่ เพราะถึงแม้ว่าพราหมณ์หนุ่มคือ มนสวามิน จะเป็นผู้ให้กำเนิดแก่จันทรประภะก็ตาม เขาก็ไม่อาจนับว่าเป็นพ่อที่แท้จริงไม่ เพราะมนสวามินเป็นเพียงผู้ชายขายตัวเพียงคืนหนึ่ง เพื่อเอาเงินไปบำเรอหญิงคณิกาชื่อนางหงสาวลีเท่านั้น อย่างไรก็ดีจันทรประภะอาจพิจารณาว่าเป็นโอรสของพระเจ้าสูรยประภะก็ได้ เพราะว่ากษัตริย์พระองค์นั้นทรงรับพระองค์ไว้เป็นโอรส โดยทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ต้อนรับตั้งแต่แรกเกิด เรียกว่า พิธีชาตกรรม เมื่อทรงรับเป็นลูกแล้วก็ทรงเลี้ยงดูกุมารน้อยอย่างดีที่สุดจนเติบใหญ่ แต่มีข้อควรคิดว่าพระเจ้าสูรยประภะรับมาเลี้ยง โดยที่กุมารมีทรัพย์สินเป็นทองพันตำลึงเป็นค่าจ้างเลี้ยงดูตั้งแต่นอนอยู่ในเปล ถ้าพระเจ้าสูรยประภะไม่รับทรัพย์สินดังกล่าวนี้พระองค์ก็คงได้ชื่อว่าเป็นพ่อของเด็กโดยบริสุทธิ์กายและใจ อย่างไรก็ดีความจริงมีอยู่ว่าพระเจ้าจันทรประภะเป็นผู้ทีชายคนหนึ่งทำให้เกิดมาโดยเจตนาและกติกาที่นายโจรวางไว้ว่า บุตรชายนั้นจะเกิดจากใครก็ตามก็ต้องเป็นลูกของตนเท่านั้น เงื่อนไขนี้ใคร ๆ จักปฏิเสธมิได้ เพราะแม่ของเด็กได้ทำพิธีสมรสกับโจร โดยหลั่งน้ำทักษฺโณทกบนมือถูกต้องตามประเพณีทุกอย่าง เมื่อนายโดจรเป็นพ่อของเด็กคือพระเจ้าจันทรประภะ ตามเหตุผลดังกล่าวนี้ เขาจึงสมควรและมีสิทธิ์จะได้รับข้าวบิณฑ์ของลูกของเขาในพิธีศราทธ์ทุกอย่าง และนี่คือความเห็นของข้า"
เมื่อพระราชาตรัสดังนี้ เวตาลก็กระโดดจากพระอังสาของพระองค์อย่างรวดเร็ว หายวับกลับไปยังที่อยู่ของตนทันที และพระเจ้าตริวิกรมเสนก็ต้องเสด็จติดตามเพื่อเอาตัวเวตาลกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 6 กันยายน 2554 เวลา:0:24:01 น.  

 
นิทานเรื่องที่
๒๐
แล้วพระเจ้าตริวิกรมเสนก็จำพระทัยเสด็จกลับไปยังต้นอโศกอีกครั้งหนึ่ง นำตัวเวตาลขึ้นวางไว้บนพระอังสา แล้วพากลับไป ทรงรักษาความเงียบไว้อย่างดี ไม่ตรัสอะไรเลย เวตาลก็ไม่ยอมแพ้ กล่าวกระตุ้นขึ้นว่า “ราชะ ไฉนจึงนิ่งเฉย ฉะนี้ ราตรียังอยู่อีกยาวนาน จะรีบร้อนแบกข้าไปให้เจ้าโยคีทุศีลนั่นทำไมกัน เอาเถอะถ้ายังทรงดึงดันอยู่อีกก็ตามใจสิ แต่ลองฟังนิทานสนุก ๆ ของข้าสักเรื่องมิดีกว่าหรือ”
แต่โบราณมีนครแห่งหนึ่งชื่อ จิตรกูฏ เป็นชื่อที่ไพเราะเหมาะสมชื่อหนึ่ง นครนี้ไม่มีการแบ่งแยกถือผิวถือวรรณะอะไรทั้งสิ้น มีพระราชาองค์หนึ่งปกครองแว่นแคว้นอยู่ ทรงพระนามว่า จันทราวโลก ผู้เป็นประดุจยอดมงกุฎแห่งกษัตริย์ทั้งหลาย พระองค์ทรงหลั่งสายธารแห่งอมฤต คือความเมตตาปรานีแก่ทวยนาครของพระองค์โดยทั่วหน้า นักปราชญ์ทั้งหลายพากันถวายคำสรรเสริญสดุดีพระองค์ว่า ทรงหนักแน่นมั่นคงในความกล้าหาญเหมือนสาตะลุงที่ผูกช้าง เป็นผู้มีพระทัยกว้างขวางที่สุด และเป็นพลับพลาแห่งความรื่นรมย์และเป็นสัญลักษณ์แห่งความงามบนพื้นพิภพ อย่างไรก็ดี พระราชาก็ยังมีความระทมทุกข์ซ่อนเร้นอยู่ในพระทัย นั่นก็คือ ถึงแม้จะทรงมั่งคั่งในธนสารสมบัติอันมโหฬาร และมีอานุภาพอันเต็มเปี่ยมอย่างนี้ก็จริง พระองค์ก็ยังขาดอยู่อย่างหนึ่ง คือชายาอันเหมาะสมจะเคียงคู่พระองค์ในราไชศวรรย์นี้
วันหนึ่งพระเจ้าแผ่นดิน ทรงม้าพระที่นั่งแวดล้อมข้าราชบริพารออกไปประพาสป่าใหญ่เพื่อทรงล่าสัตว์ เพื่อให้หายกลุ้มพระทัย พระองค์ทรงเป็นผู้สามารถในการายิงธนูเป็นสายติดต่อกันจากแล่ง ถูกเป้าหมายคือฝูงหมาป่าอย่างแม่นยำเหนือกว่าพระอรชุน (พระอรชุน กษัตริย์ปาณฑพองค์ที่ ๓ ในเรื่องมหาภารตะ เป็นโอรสของพระอินทร์กับนางกุนตี มเหสีของพระเจ้าปาณฑแห่งจันทรวงศ์ เจ้าชายอรชุนเป็นยอดนักรบซึ่งมีฝีมือเป็นเยี่ยม หาใครเสมอมิได้) ผู้ทรงพลัง และทรงสามารถพิชิตราชสีห์ผู้แกล้วกล้าด้วยฝีพระหัตถ์ในการยิงธนู ทำให้มันล้มลมบนเตียงแห่งลูกธนู (เตียงแห่งลูกธนู หมายถึง เจ้าชายภีษมะผู้เฒ่าในเรื่องมหาภารตะ ถูกพระอรชุนผู้เป็นหลานยิงด้วยลูกธนูในสงครามมหาภารตะนั้น ลูกธนูได้เสียบร่างของภีษมะเต็มไปหมด หาช่องว่างมิได้ เจ้าชายก็ล้มลงกลางสมรภูมิบนลูกศรทั้งหลายที่เสียบร่างจนกลายเป็นเตียงในสนามรบ และเจ้าชายภีษมะนอนนิ่งอยู่บนเตียงลูกศรนั้นจนสิ้นมหาสงคราม) อันเสียบโดยรอบจนแทบจะหาที่ว่างมิได้ ทรงมีกำลังกายอันทรงสมรรถนะเหมือนดังพระอินทร์ (ทรงสมรรถนะเหมือนดังพระอินทร์ พระอินทร์ตามเรื่องในสมัยพระเวท มีลักษณะต่างกับพระอินทร์ในยุคหลัง เพราะสมัยพระเวทนั้นพระอินทร์เป็นจอมทัพของเหล่าเทวดา มีรูปร่างอ้วนใหญ่ทรงพลังไม่มีใครเสมอเหมือน มิใช่เป็นบุรุษแน่งน้อยงดงามอย่างที่ปรากฎในสมัยหลัง ๆ นี้) ในการตัดปีกภูเขาทั้งหลาย มีภูเขาศรภะเป็นต้น (ตัดปีกภูเขาทั้งหลาย ในวรรณคดีสันสกฤตยุคพระเวท ภูเขาทั้งหลายยังมีปีกสามารถบินไปไหนมาไหนได้ พระอินทร์จึงเอาวัชระตัดปีของภูเขาเสีย ทำให้ภูเขาหมดฤทธิ์ที่จะเคลื่อนไหวได้อีก) ให้ขาดกระเด็นด้วยโตมรอันคมแข็งดังวัชรายุทธ์ ระหว่างที่ทรงขับม้าเลียบไปตามชายป่านั้น พระราชาเกิดความปรารถนาอย่างเร้นลับในพระทัย อยากจะแยกทางจากบริวารเข้าไปให้ถึงใจกลางแห่งมหาพนป่าใหญ่นั้น ซึ่งเป็นที่อันไกลสุดกู่และไม่เคยพบเห็นมาก่อน ในฉับพลันพระราชาก็ทรงกระตุ้นสีข้างม้าอย่างแรงพร้อมกับหวดควับด้วยแซ่ ทำให้มันแผ่นโผนโจนทะยานพุ่งไปอย่างสุดฤทธิ์ พาพระราชาเตลิดเข้าไปในป่าทึบ แยกจากเหล่าข้าราชบริพารซึ่งขับตามมาไม่ทัน ม้าพระที่นั่งวิ่งเร็วดังลมพัด ชั่วเวลาเพียงครู่เดียวก็มาไกลถึงสิบโยชน์
เมื่อมาถึงที่นั้นม้าก็หยุดลง พระราชาทรงเหน็ดเหนื่อยอิดโรยเต็มที ทรงลงจากหลังม้าพระที่นั่ง แล้วดำเนินดูโดยรอบบริเวณก็แลเห็นทะเลสาบใหญ่อยู่ไม่ไกลจากที่นั้น มีกอบัวไกลลิบ ๆ อยู่ปริ่มน้ำ ซึ่งเมื่อลมพัดผิวน้ำเป็นคลื่นน้อย ๆ ทยอยเข้าสู่ฝั่งก็ดูกระเพื่อมเหมือนดั่งจะชวนเชิญให้พระองค์เสด็จเข้าไปใกล้ พระราชาจูงม้ามาริมน้ำ ปลดบังเหียนและอานม้าที่ผูกมันออก ปล่อยมันลงไปอาบน้ำ เสร็จแล้วทรงจูงมันไปผูกไว้กับต้นไม้ที่ให้ที่ให้ร่มเงาต้นหนึ่ง หลังจากนั้นพระราชาทรงสรงสนานด้วยความเบิกบานพระทัย และเสวยน้ำจนสิ้นความกระหาย ทำให้คลายจากความอิดโรยเป็นอันมาก ทรงนั่งพักอยู่สักครู่และทอดพระเนตรดูภูมิทัศน์โดยรอบทะเลสาบ และแลเห็นว่าริมทะเลสาบด้านหนึ่งมีต้นอโศกขึ้นอยู่ต้นหนึ่งแผ่กิ่งก้านสาขาไปโดยรอบ ที่โคนต้นอโศกนั้นมีหญิงสาวกลุ่มหนึ่งชุมนุมกันอยู่ นางที่ดูเป็นหัวหน้านั้นมีรูปลักษณ์งามบาดใจยิ่งนัก นางสวมมาลาดอกไม้เป็นเครื่องประดับศีรษะ และนุ่งห่มด้วยผ้าเปลือกไม้ ซึ่งบอกให้รู้วานางเป็นลูกสาวคนหนึ่งของฤษี นางดูอ่อนวัย และมีเสน่ห์ตลอดเรือนร่าง ผมดำขลับของนางถูกเกล้าเป็นมวย (เมาลี) ตามแบบของดาบสินี (นางดาบส) โดยทั่วไป
ฝ่ายพระราชา เมื่อเห็นนางเพียงครั้งแรกก็ถูกศรรักระดมยิงหฤทัยราวห่าฝน มีความหลงใหลเพ้อพกถึงกับตรัสแก่พระองค์เองด้วยความรัญจวนว่า “นางเป็นใครกันหนอ หรือว่านางคือพระเทวีสาวิตรี (เทวีสาวิตรี เทวีแห่งอักษรศาสตร์และศิลปะศาสตร์ เป็นชายาของพระพรหม เรียกกันว่าสาวิตรี หรือพรหมี ทรงถือพิณและมีนกยูงเป็นพาหนะ) เสด็จลงมาประทับสระสนานที่ทะเลสาบแห่งนี้ ถ้ามิใช่ นางคือพระเคารีเทวีพลัดจากอ้อมพระกรของพระศิวะลงมาบนแดนดิน และกลับคืนเป็นหญิงชาวเขา (ปารวตี) เพื่อบำเพ็ญพรตตามเดิม (หญิงชาวเขา (ปารวตี หรือบรรพตี) หมายถึงพระอุมาผู้เป็นชายาของพระศิวะ (อิศวร) นางได้ชื่อว่าหญิงชาวเขาเพราะนางเป็นธิดาของพระหิมวัต (ภูเขาหิมาลัย) และเป็นน้องสาวของพระคงคาด้วย นางปารวตีหลังจากที่พระศิวะเริ่มรักนางอันเป็นผลของศรกามเทพแล้วเสด็จหนีไป นางได้ไปบำเพ็ญพรตอย่างอุกฤษฏ์เป็นเวลาช้านาน พระศิวะจึงได้กลับมาและให้นางเป็นชายาของพระองค์ในที่สุด) หรือว่านางคือนางงามอันเกิดจารัศมีพระจันทร์ (นางอันเกิดจากรัศมีพระจันทร์ คือนางมาริษาเทวี ซึ่งเกิดจากนางอัปสรชื่อ ปรัมโลจา โดยนางอัปสรวิ่งหนีจากอาศรมของฤษีกัณฑุด้วยความเกรงกลัว ขณะที่นางเหาะไปนางสะบัดเหงื่อของนางกระเด็นไปติดบนกิ่งไม้ในป่า ตอนกลางคืนพระจันทร์ขึ้นสู่ขอบฟ้า แสงพระจันทร์ส่องไปกระทบหยาดเหงื่อบนใบไม้ทำให้กลายเป็นเด็กผู้หญิงรูปร่างสวยงาม นางได้รับนามว่ามาริษาเทวี) และกำลังบำเพ็ญตบะอยู่ เพราะฉะนั้นข้าควรจะทำความรู้จักนางอย่างเงียบ ๆ และค้นหาความจริงให้รู้ให้ได้ ตรึกได้ดังนั้นแล้ว พระราชาก็เสด็จเข้าไปใกล้นาง
แต่เมื่อนางเห็นพระองค์เดินเข้ามาหา นัยน์ตานางก็เบิกกว้างด้วยความประหลาดใจที่ได้เห็นความงามของพระราชา มือที่กำลังร้อยมาลาก็ตกลงโดยไม่รู้สึกตัว รำพึงว่า “เขาคือใครหนอที่อุตส่าห์ดั้นด้นมาถึงนี่ได้ เขาคือสิทธะ หรือเป็นวิทยาธรกันแน่ จะว่าไป เขาก็เป็นคนรูปงามนักหนา สมควรที่จะอวดคนได้ทั่วโลก” เมื่อนางคิดดังนี้ก็ค่อยลุกขึ้น เหลือบตาดูชายหนุ่มด้วยความสะเทิ้นอายแล้วเดินจากไป หัวใจของนางร้อนรุ่มไปหมด และขาก็พาลจะหมดเรี่ยวแรงที่จะก้าวต่อไปอีกด้วย
พระราชาหนุ่มผู้สุภาพอ่อนโยนและมีความอุตสาหะ จึงเสด็จเข้าไปใกล้นาง และตรัสว่า “แม่รูปงาม ข้าจะไม่ถามเจ้าละว่าเจ้าเป็นใคร จึงไม่รู้จักมาต้อนรับข้าผู้มาจากแดนไกลและเพิ่งพบเจ้าเป็นครั้งแรก ข้ามีไมตรีอันดีต่อเจ้า ข้าไม่ได้หวังผลอะไรจากเจ้าหรอก เพียงแต่อยากเห็นเจ้าให้เต็มตาเท่านั้นแหละ เจ้าจะหนีข้าไปไยเล่า หรือว่าเพราะเจ้าเป็นนางดาบส เจ้าจึงจำต้องประพฤติอย่างเคร่งครัดไม่ยอมพบผู้ชายง่าย ๆ” เมื่อพระราชาตรัสดังนี้ นางก็จำต้องนั่งลงท่ามกลางบริวารของนางด้วยอาการประหม่าขวยเขิน และกล่าวต้อนรับพระราชาด้วยเสียงอันเบาแผ่ว
ดังนั้นพระราชาก็กล่าวแก่เธอด้วยความพิศวาส และอ่อนโยนว่า “ดูก่อนภัฏฏินี (ภัฏฏินี นางผู้เจริญ, หญิงผู้ดี) เจ้าเป็นศรีแห่งสกุลใดอันเป็นที่ยกย่องนับถือของสหายของเจ้า และทำไมเจ้าจึงต้องมาทนระกำลำบากอยู่ในวนาลัยนี้ เพื่อรับใช้เหล่ามุนีทั้งปวง และเจ้ามีนามว่าอะไรเล่า” เมื่อนางพี่เลี้ยงของนางได้ยินพระราชาตรัสดังนั้นก็อธิบายว่า “สาวงามผู้นี้เป็นธิดาของพระมหาฤษีกัณวะ แม่นางชื่อเมนกา เป็นนางอัปสร ผู้มีนามอันเลื่องลือตลอดสามโลก ส่วนลูกสาวของนางได้รับการเลี้ยงดูและอบรมมาในหมู่ฤษีเหล่านั้น และได้รับนามว่า อินทีวรประภา (อินทีวรประภา ชื่อของหญิงงามผู้หนึ่งรู้จักกันในนามของนางศกุนตลา ลูกบุญธรรมของฤษีกัณวะ ต่อมาได้เป็นมเหสีของท้าวทุษยันต์ (จันทราวโลก) มีโอรสด้วยกันองค์หนึ่ง ชื่อพระภรต ได้เป็นจักรพรรดิเจ้าโลก และเป็นต้นกำเนิดของชาวอินเดียทั้งมวลซึ่งเรียกตนเองว่า “ภารตะ” แปลว่า “ลูกหลานของพระภรต”) นางมาอาบน้ำในสระวันนี้ โดยได้รับอนุญาตจากบิดาของนาง และอาศรมของพระมุนีก็อยู่ไม่ไกลจากที่นี่นัก”


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 6 กันยายน 2554 เวลา:0:28:00 น.  

 
เมื่อนางพี่เลี้ยงกราบทูลดังนี้ พระราชาก็ดีพระทัย เสด็จขึ้นม้าพระที่นั่งวิ่งตรงไปยังอาศรมของพระกัณวมุนี ด้วยความประสงค์จะถามเรื่องบุตรสาวของท่านให้รู้โดยแจ้งชัด เมื่อมาถึง พระราชาลงจากม้า ปล่อยไว้ในที่ใกล้แล้วเข้าไปสู่อาศรมพระดาบสด้วยความนอบน้อม พระกัณวะนั่งอยู่บนอาสนะตรงกลางแวดล้อมด้วยเหล่าฤษีบริวารเป็นอันมาก เรือนร่างของพระมหามุนีเปล่งแสงสุกสว่างเหมือนดวงเดือนอันแจ่มกระจ่างท่ามกลางดาวฤกษ์ทั้งหลาย ดังนั้นพระราชาจึงตรงเข้าไปนมัสการและกอดเท้าพระมหาชฏิลไว้ด้วยความเคารพ พระมุนีผู้ฉลาดก็ให้การต้อนรับพระราชาเป็นอย่างดี ทำให้ความเหน็ดเหนื่อยของพระราชาหายไป และโดยไม่ยอมให้เสียเวลา พระมุนีก็กล่าวแก่พระราชาว่า “จันทราวโลกลูกเอ๋ย จงตั้งใจฟังคำแนะนำที่ข้าจะสั่งแก่เจ้าให้ดี ๆ นะ เจ้าก็รู้มิใช่หรือ ขึ้นชื่อว่า สัตว์โลกย่อมรักตัวกลัวตายด้วยกันทั้งนั้น เหตุใดเจ้าจึงฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เช่นฆ่ากวางที่น่าสงสารโดยไม่มีสาเหตุ พระเป็นเจ้าทรงกำหนดให้อาวุธของนักรบให้มีไว้เพื่อป้องกันผู้อ่อนแอมิใช่หรือ ดังนั้นจกปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินด้วยความเป็นธรรม กำจัดศัตรูทั้งปวงที่มาย่ำยีแว่นแคว้น จงรักษาทรัพย์สินของราษฎรอย่าให้เป็นอันตรายด้วยกำลังทหารช้าง ทหารม้า และอื่น ๆ จงมีความยินดีในการปกครอง ให้ทานและประกาศเกียรติคุณให้ตลอดทั่วโลก แต่เจ้าควรเลิกการล่าสัตว์อันเป็นบาปกรรมเสีย จะมีประโยชน์อะไรกับการไล่ล่าประหัตประหารสัตว์ป่า ทั้งที่สัตว์ป่าก็ดี ผู้ที่ล่ามันก็ดี หรือแม้แต่สัตว์พาหนะ สัตว์ใช้งานทั้งหลายก็ดี ทั้งหมดนี้มีชีวิตเป็นที่รักของตนเองทั้งสิ้น บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกล้วนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากันทั้งสิ้น เจ้าไม่เคยได้รู้ได้ยิน เรื่องราวของพระเจ้าปาณฑุ (ผู้มีผิวขาวซีด เป็นชื่อของกษัตริย์จันทรวงศ์องค์หนึ่ง) เลยหรือ”
พระราชาผู้มีปัญญาเลิศ (พระเจ้าจันทราวโลก) ได้ฟังก็มีพระทัยยินดี ทรงรับอนุศาสน์จากพระฤษีกัณวะด้วยพระทัยแช่มชื่น และกล่าวด้วยความเคารพว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้า ข้าได้รับการสั่งสอนจากพระคุณท่าน ข้ารู้สึกซาบซึ้งยิ่งนัก จะปฏิบัติตามโอวาทของท่านทุกอย่าง ข้าขอประกาศไว้ ณ ที่นี้ ว่า ข้าจะเลิกล่าสัตว์อันเป็นบาปกรรมนี้เสียตั้งแต่บัดนี้ เพื่อให้สัตว์มีชีวิตด้วยความผาสุก ไม่ต้องหวาด หวั่นต่ออันตรายอีกต่อไป” เมื่อพระมุนีได้ฟังก็ยินดีเป็นอันมาก กล่าวอนุโมทนา “ข้ายินดีด้วยกับเจ้าที่เจ้าให้อภัยต่อสัตว์ทั้งหลาย ไม่ก่อเวรต่อไป ดังนั้นข้าจะให้พรแก่เจ้า เจ้าประสงค์สิ่งใดก็จงขอมาเถิด” เมื่อพระมุนีกล่าวดังนี้ พระราชาก็พอพระทัยมาก รีบสนองตอบทันทีว่า “ถ้าพระคุณเจ้าจะเมตตาต่อข้าจริง ๆ แล้ว ข้าขอนางอินทีวรประภาธิดาของท่านเพียงอย่างเดียว” เมื่อพระราชาตรัสดังนี้ พระมหาฤษีก็ยกนางให้ตามปรารถนา ในขณะที่นางโสรสรงเสร็จมาใหม่ ๆ และทำพิธีแต่งงานอันศักดิ์สิทธิ์แก่บุคคลทั้งสอง ในขณะที่นางชายาทั้งหลายของพระมุนี ต่างก็แสดงความยินดีและอวยชัยให้พรแก่เจ้าบ่าวเจ้าสาวโดยพร้อมเพรียงกัน แล้วพระราชาจันทราวโลกก็อุ้มนางอัปสรธิดาขึ้นนั่งบนหลังม้าพระที่นั่ง เสด็จออกจากพระอาศรม มีเหล่าฤษีดาบสตามมาส่งจนลับตา เมื่อพระราชาเสด็จไปตามทางนั้น ดวงสูรยะเพิ่งคล้อยต่ำลงสู่ยอดเขาและลับดวงไปในมิช้า เวลาย่ำค่ำเริ่มต้นด้วยนางอัปสรราตรีผู้มีนัยน์ตาดังมฤคเนตร เริ่มปรากฏตัวด้วยเรือนร่างอันงาม มีพัสตราภรณ์สีม่วงเป็นเครื่องนุ่งห่มเหมือนสีแห่งราตรี
ในขณะนั้น พระราชาอุ้มนางเสด็จไปตามทาง ทรงแลเห็นต้นอัศวัตถะ (บาลีเรียก อัสสัตถะ หมายถึง ต้นโพ) ขึ้นอยู่ริมทะเลสาบ อันมีน้ำใส่บริสุทธิ์เฉกเช่นน้ำใจของสัตบุรุษ และทรงเห็นว่าสถานที่นั้นเป็นที่ร่มรื่นไม้ใบบังเป็นที่ร่มเย็น มีเนินหญ้านุ่มนิ่มน่านั่งนอน จึงตกลงพระทัยว่าจะหยุดพักแรมที่นั่น ดังนั้นจึงเสด็จลงจากม้า ให้มันกินหญ้ากินน้ำ เสร็จแล้วพระราชาก็เอนองค์ลงบรรทมบนผืนทรายอันละเอียดอ่อน หลังจากที่เสวยน้ำแล้ว และนอนผึ่งลมอันเย็นและลูบไล้พระกายด้วยความอ่อนโยน ยามรำเพยพลิ้วแผ่วมาเป็นระยะตลอดราตรี พระราชาบรรทมด้วยนางผู้เป็นที่รักอย่างแสนสุข ขณะนั้นดวงศศีก็ค่อยปรากฏบนท้องฟ้า ฉายแสงสีขาวนวลละไมแผ่ไปในฟากฟ้า ขับไล่ความมืดของราตรีให้เจือจางลง
เมื่อถึงเวลาเช้าตรู่ พระราชาบรรทมตื่นขึ้นพอดีแสงสุวรรณารุณฉายจับขอบฟ้า ทรงสวดบูชาสูรยะตามประเพณี แล้วลงสรงสนานในทะเลสาบ จากนั้นก็เตรียมเดินทางต่อ ขณะนั้นเองก็แลเห็นพราหมณาสูรตนหนึ่ง ดำราวกับถ่านผมเหลืองเหมือนสายฟ้า รวมกันเข้าแล้วก็เหมือนกับสายฟ้าในเมฆมืด อสูรตนนี้สวมศิรมาลา มีสายยัชโญปวีตเฉวียงบ่า (ยัชโญปวีต เส้นดายดิบถักเป็นเส้นสังวาลใช้สวมเฉวียงบ่า เป็นสัญลักษณ์ของพวกพราหมณ์บางทีเรียก สายธุรำมงคล) มันกำลังแทะศีรษะคนที่ตกอยู่ในมือมัน โดยกัดกระชากเนื้อบนศีรษะ และดื่มโลหิตจากกะโหลกนั้น พรหมณ์ปีศาจผู้มีเขี้ยวโง้งแสยะน่าสยดสยอง มันอ้าปากกว้างและหัวเราะด้วยเสียงอันชวนให้ขนหัวลุก และพ่นเปลวไฟพิโรธออกจากปากของมัน แล้วคำรามคุกคามพระราชาว่า “อ้ายคนสาระเลว จงรู้เอาไว้ว่า กูนี่แหละเป็นพรหมณ์อสูรชื่อ ชวาลามุข และต้นอัศวัตถะต้นนี้ก็เป็นที่อาศัยของกู ไม่เคยมีใครบุกรุกเข้ามาที่นี่ไม่ว่ามันจะเป็นหน้าอินทร์หน้าพรหมคนไหน แต่มึงอวดดีบุกเข้ามานอนที่นี่พร้อมกับเมียของมึง กูท่องเที่ยวไปตามความพอใจของกูตลอดคืน พอกลับมาก็เห็นมึงนอนอยู่ที่นี่แล้ว เพราะฉะนั้นจงเตรียมตัวรับโทษเถอะ แน่ะ อ้ายคนชั่ว ฟังให้ดี กูจะฉีกเนื้อของมึงเป็นชิ้น ๆ แล้วจะกินหัวใจของมึงให้สาสมกับความทะลึ่งทะเล่อทะล่าเข้ามาในที่ของกู จากนั้นกูจะดื่มเลือดสด ๆ ของมึงเสีย”
เมื่อพระราชาได้ทรงฟังวาจาคุกคามของอสูรเช่นนั้น ประกอบกับได้เห็นนางผู้เป็นชายาตกใจจนขวัญหนีดีฝ่อ และทรงรู้ดีว่าไม่มีทางสู้มันได้ จึงพูดกับมันด้วยความสะทกสะท้านว่า “ข้าขออภัยอย่างยิ่งในการที่โง่เขลาไม่รู้จักกาลอันควรและไม่ควร แต่ข้าเข้ามาที่นี้ก็เพราะว่าต้องการขอความกรุณาขออาศัยแรมคืนเพียงชั่วคืนเดียว รุ่งเช้าข้าก็จะไป ไม่มีเจตนาจะบุกรุกที่ของท่านหามิได้ และเพื่อเป็นการตอบแทนท่าน ข้าจะให้สิ่งอันท่านปรารถนา โดยจะส่งมนุษย์ผู้มีเนื้ออันหอมหวานมาให้แก่ท่าน ท่านจะได้กินอย่างเอร็ดอร่อย และหายโกรธข้ากับเมียลงบ้าง” เมื่ออสูรพราหมณ์ได้ฟังดังนั้นก็คลายความโกรธลง และพูดกับตัวเองว่า “ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ใช้ได้” หลังจากนั้นก็กล่าวแก่พระราชาว่า “ข้าจะอดโทษที่เจ้าดูหมิ่นข้าไว้สักครั้ง แต่เจ้าจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้าคือ เจ้าจะต้องหาเด็กพราหมณ์มาให้แก่ข้าคนหนึ่ง ถึงแม้จะอายุถึงเจ็ดขวบก็ยังใช้ได้ แต่ขอให้เป็นเด็กฉลาด มีตระกูลผู้ดี และพร้อมที่จะสละตนเพื่อเห็นแก่เจ้า ให้พ่อและแม่ของเด็กวางลูกลงบนพื้นดิน จับแขนขับขาไว้ให้แน่นระหว่างที่กำลังทำพิธีสังเวยอยู่ และจำไว้ว่า ถ้าเจ้าหาเหยื่อตามที่ว่านั้นได้ เจ้าจะต้องเป็นผู้สังหารเด็กนั้นด้วยการฟันเพียงฉับเดียว แล้วนำร่างเด็กคนนั้นมาให้ข้าในวันที่ ๗ หลังจากนั้น แต่ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ โอ ราชะ ข้าจะฆ่าเจ้าเสียและทำลายราชสำนักของเจ้าให้สิ้นสูญภายในชั่วพริบตาเดียว” เมื่อพระราชาได้ฟังก็ตกพระทัยอย่างยิ่ง รีบตอบตกลงตามข้อเสนอทุกประการ ทันใดนั้นอสูรพราหมณ์ก็หายวับไปทันที
ฝ่ายพระราชาจันทราวโลก เมื่ออสูรหายไปแล้วก็เสด็จขึ้นหลังม้าพร้อมด้วยพระชายาอินทีวรประภา เที่ยวติดตามหาทหารผู้เป็นบริวารซึ่งพลัดพรากกันในวันประพาสล่าสัตว์ ด้วยพระหฤทัยอันเศร้าหมองและเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เมื่อขับม้ามาตามทางทรงรำพึงว่า “อนิจจาเอ๋ย เพราะการล่าสัตว์กับความรักทำให้ข้าหลงไป จึงต้องมาประสบความฉิบหายเหมือนอย่างกษัตริย์ปาณฑพ (เจ้าชายปาณฑพ เจ้าชาย ๕ องค์ โอรสของพระเจ้าปาณฑุกับนางกุนตี (สามองค์แรก) และองค์ที่ ๔, ๕ เป็นโอรสฝาแฝดเกิดจากนางมาทวีผู้เป็นมเหสีองค์ที่ ๒ เจ้าชายปาณฑพเล่นการพนันจนหมดตัว ถูกขับไล่ไปเดินป่า ๑๒ ปี) แท้เทียว ช่างโง่เขลานี่กระไร ข้าจะมีปัญญาไปหาเหยื่อมาให้รากษสได้ที่ไหน และต้องทำตามอย่างที่มันบรรยายเอาไว้ด้วย ฉะนั้นในระหว่างนี้ข้าควรจะกลับบ้านเมืองก่อนดีกว่า จะคอยดูว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น” ขณะที่ทรงรำพึงอยู่ก็พอดีกองทหารที่ติดตามหาพระองค์ติดตามมาทัน ดังนั้นทั้งหมดจึงเดินทางกลับพระนครจิตรกูฏ ทำให้ราษฎรทั้งหลายมีความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่าพระราชาของตนได้พระชายาแล้ว แต่พระราชานั้นหาได้มีความสุขในพระทัยไม่ ทรงครุ่นคิดถึงเรื่องที่จะบังเกิดต่อไปด้วยความหดหู่พระทัยอยู่มิวาย
วันรุ่งขึ้น พระราชาทรงเรียกเหล่ามนตรีเข้ามาปรึกษาหารือเป็นความลับ ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแก่พระองค์ในป่า มนตรีที่ไว้ใจได้ผู้หนึ่งจึงกราบทูล่า “ข้าแต่มหาราช ขออย่าได้ทรงกังวลพระทัยเลย ข้าขอรับอาสาเป็นผู้สืบหาเด็กดังกล่าวมาถวายแด่พระองค์เอง เรื่องแปลก ๆ ในโลกอย่างนี้คงจะหาไม่ยากนัก”
เมื่อมนตรีได้ปลอบโยนพระราชาของตนแล้ว ก็เร่งรีบกระทำการตามแผนของตนอย่างรวดเร็วที่สุดคือ ให้นายช่างหล่อรูปเด็กเจ็ดขวบด้วยทองคำ แล้วประดับหูทั้งสองด้วยกุณฑลเพชร ต่อจากนั้นเอารูปปฏิมาลงวางในเกวียน แล้วขับลากไปในเมืองต่าง ๆ ตามหมู่บ้านทั้งหลาย และที่ชุมชนของคนเลี้ยงสัตว์ ในระหว่างทางที่เกวียนของรูปปฏิมาแล่นไปนั้น มนตรีก็ป่าวประกาศซ้ำแล้วซ้ำอีกข้างหน้ารูปปฏิมา พร้อมกับตีกลองไปข้างหน้าว่า “เจ้าข้าเอ๊ย บ้านนี้และช่องนี้ ใครมีเด็กพราหมณ์อายุ ๗ ขวบ และเต็มใจจะเสนอตัวเองให้เป็นพลีแก่พรหมณ์อสูร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกคนก็ให้บอกมาด้วย และถ้าพ่อแม่ของเด็กจะมอบเด็กให้เป็นพลี โดยยึดเท้ายึดมือให้แน่นในระหว่างการฆ่าเด็กแล้วไซร้ พระราชาจะให้ค่าตอบแทนสำหรับเด็กนั้น ผู้ซึ่งเห็นแก่ความอนุเคราะห์พ่อแม่ด้วยความกตัญญู โดยยกรูปหล่อทองคำประดับเพชรพลอยรูปนี้ให้เป็นรางวัล พร้อมกับส่วยอีกหนึ่งร้อยหมู่บ้าน
ปรากฏว่าในละแวกนั้น มีเด็กพราหมณ์คนหนึ่งอายุ ๗ ขวบ ดำรงชีพอยู่ด้วยเงินอุปการะทีพระราชาทรงเลี้ยงดูแก่พราหมณ์ เด็กผู้นี้เป็นผู้กล้าหาญอย่างยอดยิ่ง และมีกิริยามารยาทอันน่าชม เมื่อได้ยินการตีฆ้องร้องป่าวดังนั้น เด็กผู้นี้ถึงจะเป็นผู้มีอายุน้อย แต่ก็เฉลียวฉลาด มีคุณธรรมดีงาม อันได้สะสมมาแต่ชาติก่อน และเป็นผู้ที่จะยังพระราชาให้สำเร็จประโยชน์ในชาตินี้ เขาจึงก้าวออกมาพูดกับผู้ป่าวประกาศว่า “ข้ายินดีสละตัวข้าเองเป็นพลีแก่พระราชาด้วยความเต็มใจ ข้าจะกลับไปแจ้งเรื่องแก่พ่อแม่ของข้า แล้วจะกลับมาหาเจ้า” เมื่อเด็กน้อยกล่าวดังนี้ ผู้ประกาศก็ดีใจมาก และให้เด็กกลับไปบ้าน เด็กน้อยกลับไปบ้านก็กระทำความเคารพอย่างนอบน้อมต่อบิดามารดาของตน และกล่าวว่า “ลูกจะพลีตัวเองเพื่อประโยชน์สุขแก่คนทั้งหลายด้วยร่างกาย อันจะมีแต่ความผุพังเปื่อยเน่าร่างนี้ โปรดอนุญาตลูกเถิด ขอให้ลูกได้ยุติความยากจนของพ่อแม่ เพราะถ้าลูกไปพลีชีวิตต่อพระราชา พระองค์จะพระราชาทานรูปหล่อทองคำให้แก่ลูก และยังแถมด้วยส่วยอีกร้อยหมู่บ้าน เมื่อลูกได้รับพระราชทานมาแล้ว ลูกจะยกให้พ่อแม่ทั้งหมด ด้วยประการฉะนี้ ลูกจักได้ชื่อว่าทดแทนบุญคุณของพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูลูกมา ความยากจนของเราก็จะได้สิ้นสุดลงเสียที และพ่อแม่ก็ยังจะมีลูกอีกหลายคนมาแทนลูกคนนี้”
พอได้ฟังลูกชายกล่าวดังนั้น พ่อและแม่ก็พูดว่า “เจ้าพูดอะไรอย่างนั้นเล่าลูก เจ้าปั่นป่วนเพราะลมพัดจนหัวหมุนหรือไร หรือว่าเจ้าถูกดาววิ่งมาชนกระนั้นหรือ ถ้าเจ้าไม่ได้เป็นสองประการนี้ เจ้าจะพูดบ้า ๆ อย่างนี้ได้อย่างไร มีมนุษย์ที่ไหนเขายอมแลกชีวิตลูกชายกับทรัพย์สมบัติบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสมบัติมหาศาลปานใด มีตัวอย่างที่ไหนที่ลูกมาขอให้เขาเอาตัวไปเป็นพลี” เมื่อบุตรชายได้ฟังบิดามารดาดังนั้นก็อธิบายว่า “ลูกไม่ได้พูดเพราะสติเลอะเลือนแต่อย่างใดหรอก ฟังลูกพูดสักนิด ก็ร่างกายของคนเรานี้ล้วนเป็นสิ่งไม่บริสุทธิ์ มีความน่าเกลียดจนเหลือที่จะบรรยายได้หมดสิ้น น่าเกลียดน่าชังมาตั้งแต่เกิด เป็นรังแห่งความทุกข์ อยู่ไม่นานก็จะพินาศฉิบหาย ดังนั้นนักปราชญ์จึงกล่าวว่า “สาระที่แกร่งและสถาวรที่สุดในสงสารภพนี้ก็คือบุณย์ ซึ่งร่างอันหาค่ามิได้นี้เป็นผู้สร้างขึ้น และบุณย์ใดเล่าจะประเสริฐเลิศล้ำยิ่งไปกว่าการทำประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์โดยทั่วหน้า ดังนั้นถ้าข้าไม่แสดงความเสียสละดังกล่าวนี้แก่พ่อแม่ ผลบุญอื่นใดเล่าที่ข้าจะได้รับจากร่างกายนี้” ด้วยถ้อยคำเหล่านี้และอื่น ๆ อันแสดงความชักจูงนานาประการ กุมารน้อยผู้มีความตั้งใจเด็ดเดี่ยวเต็มที่ก็สามารถโน้มใจพ่อแม่ให้เห็นชอบด้วยในที่สุด เสร็จแล้วเขาก็กลับไปพบกับเหล่าราชบริพารที่กำลังตีฆ้องร้องประกาศอยู่และขอรับปฏิมาทองคำ พร้อมกับส่วยร้อยหมู่บ้าน จากนั้นก็ออกเดินทางพร้อมด้วยพ่อแม่ตรงไปยังนครจิตรกูฎอันเป็นสำนักของพระเจ้าแผ่นดิน ฝ่ายพระราชาจันทราวโลกเมื่อได้ทราบเรื่องราวทั้งหมดก็มีความพอพระทัยอย่างยิ่ง เพราะภารกิจสำคัญของพระองค์จะได้สัมฤทธิผลในโอกาสนี้ บรรดาเหล่าผู้เป็นอำมาตย์ราชมนตรีทั้งมวลก็แสดงความชื่นชมยินดีด้วย ขณะเมื่อกุมารนำพ่อแม่เข้าไปเฝ้า พระราชาแลเห็นก็ปลาบปลื้มยิ่งนัก สั่งให้เอากุมารไปอาบน้ำ เสร็จแล้วชโลมร่างด้วยสุคนธรสอันหอมรื่น ให้ประดับศีรษะด้วยมาลาลังการ แล้วอุ้มกุมารขึ้นนั่งบนหลังช้างพระที่นั่ง และให้พ่อแม่ของกุมารขึ้นช้างตามไปพบพราหมณาสูรด้วยกัน เมื่อขบวนมาถึงที่สถิตของอสูร บริเวณอัศวัตถมณฑล พระราชาก็สั่งให้หยุด ทำเครื่องหมายวงกลมโดยรอบต้นไม้นั้น แล้วให้พราหมณ์ปุโรหิตกระทำการบูชาไฟ และถวายเครื่องพลีกรรมแก่พราหมณ์รากษสตามสัญญา ทันใดปีศาจพราหมณ์ก็ปรากฏกายขึ้น ส่งเสียงหัวเราะกึกก้องพร้อมกับร่ายพระเวทเป็นการตอบรับ ภาพปีศาจนั้นกลัวสยดสยองยิ่งนัก มันกำลังมึนเมาด้วยการดื่มโลหิตของมนุษย์ ต่อมาก็แสดงการหาวและทุบหน้าอกของตนหลายครั้ง นัยน์ตาของมันเป็นเปลวไฟเจิดจ้า และเงาของมันปรากฏจากร่างที่สูงทะมึนราวกับภูผาใหญ่สุดขอบฟ้า ค่อยย่างก้าวเข้ามา พระราชาจันทราวโลกแลเห็นดังนั้นก็เสด็จเข้าไปใกล้ น้อมพระองค์ลงแสดงความเคารพ และตรัสว่า “ภควาน ข้าพามนุษย์มาสังเวยแก่ท่านตามสัญญาภายในเจ็ดวัน บัดนี้ก็ได้เวลาตามสัญญานั้นแล้ว ขอท่านจงพึงพอใจในพลีนี้เถิด” เมื่อพระราชาตรัสวิงวอนดังนี้ พราหมณ์รากษสก็มองลงไปที่กุมารด้วยความยินดี และแลบลิ้นเลียริมฝีปากด้วยความกระหาย
ในขณะนั้น กุมารน้อยผู้ใจสูงก็กล่าวแก่ตัวเองด้วยความปีติว่า “ขออย่าให้กุศลผลบุญซึ่งเกิดจากการสังเวยชีวิตของข้า จะทำให้ข้าไปสู่สวรรค์หรือความหลุดพ้นทุกข์ ถ้าหากผลบุณย์นี้จะไปไปถึงสัตว์โลกทั้งมวล ข้าเสียสละตนเองเช่นนี้ ข้าทำเพื่อผู้อื่นเท่านั้น และข้าก็จะกระทำอย่างนี้เสียสละอย่างนี้ตลอดชาตินี้ ชาติหน้า เรื่อยไปไม่มีวันสิ้นสุด” ในขณะที่กุมารน้อยประกาศสัจจะต่อโลกนี้ สวรรค์ก็เปิดออกในฉับพลัน มีรถแก้วแววฟ้านับจำนวนมิถ้วน ทุกคันเต็มแน่นไปด้วยเทพบุตรและเทพธิดา ถือพานโปรยปรายบุปผามาลีลงมาสดุดีราวกับฝอยฝน
ครั้นแล้วเด็กน้อยก็ถูกพาไปยังแท่นสังเวยต่อหน้าพราหมณ์ปีศาจ โดยผู้เป็นบิดาหิ้วเท้าและมารดาหิ้วแขนพาไปวางลง ขณะนั้นพระราชาก็ถอดพระแสงออกจากฝักเพื่อจะสังหารเด็ก แต่ในช่วงขณะแห่งความเป็นความตายนั้นเอง เด็กก็ระเบิดเสียงหัวเราะดังสนั่นหวั่นไหว เสียงหัวเราะนี้ทำให้ทุกคน ณ ที่นั้น รวมทั้งพราหมณ์ปีศาจด้วยต่างก็พากันผงะหงายด้วยความตกใจ และเมื่อได้สติทุกคนในที่นั้นก็รีบพนมมือและน้อมศีรษะแสดงความเคารพยังที่เท้าทั้งคู่ของกุมารสถิตอยู่ และจ้องมองหน้าของกุมารนั้นด้วยความประหลาดใจเป็นล้นพ้น
เวตาลตัวดีเมื่อเล่าเรื่องนิทานดังกล่าวแล้วก็ตัดบทเพียงแค่นั้น เพราะเห็นว่าพอเหมาะแก่การจะตั้งปัญหาให้พระเจ้าตริวิกรมเสนทรงตอบ โดยการตั้งคำถามว่า “โอ นฤบดี บอกข้าหน่อยสิว่า เพราะอะไรกุมารน้อยจึงหัวเราะเสียงน่ากลัวกึกก้องก่อนที่เขาจะถูกสังเวยชีวิตตามเงื่อนไขของปีศาจเช่นนี้ เรื่องนี้ประหลาดมากและข้ามองหาเหตุผลต้นปลายไม่เจอะเลย ถ้าพระองค์ทราบปริศนานี้ก็ขอได้บอกแก่ข้าด้วยเถิด แต่เออ ขอสะกิดไว้หน่อยว่า ทรงรู้แล้วมิใช่หรือว่า ถ้าพระองค์รู้คำตอบแต่แกล้งไม่ตอบละก็พระเศียรจะต้องแตกเป็นร้อยชิ้น”
เมื่อพระราชาได้ฟังเวตาลกล่าวดังนั้น ทรงตอบว่า “เจ้าจงเอาหูฟังให้ดี แล้วจะรู้ว่าเด็กหัวเราะเพราะอะไร ว่าโดยธรรมดาสามัญแล้ว สัตว์โลกที่อ่อนแอทั้งหลาย เมื่ออันตรายมาถึงตัวย่อมร้องเรียกให้พ่อหรือแม่ช่วยชีวิตด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าพ่อและแม่ตายไปก่อน เขาก็เรียกให้พระเจ้าแผ่นดินช่วย เพราะพระเจ้าแผ่นดินเป็นที่พึ่งของราษฎรโดยหน้าที่ของพระองค์อยู่แล้ว แต่ถ้าพึ่งพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ เขาก็จำเป็นต้องไปพึ่งเทพยดาทั้งหลายที่จะให้ความคุ้มครองแก่เขาได้ตามกรณี บัดนี้เมื่อพิจารณากรณีของเด็กน้อยแล้วจะเห็นว่าไม่เหมือนกัน เพราะกรณีเด็กผู้นี้ พ่อแม่ก็ยังอยู่ พระราชาก็ยังอยู่ เทพทั้งหลายก็ยังอยู่ ทุกคนอยู่ที่นั้นพร้อมกันหมด และแต่ละคนก็แสดงอาการตรงกันข้ามกับที่ใคร ๆ คาดหวังว่าจะเป็น คือพ่อและแม่ของเด็กกลับช่วยกันหิ้วแขนหิ้วขาของเด็กเอาไปสู่ตะแลงแกงเสียเอง เพราะหวังแต่สิ่งตอบแทนที่จะพึงได้จากพระราชา ข้างพระเจ้าแผ่นดินก็ดูกระเหี้ยนกระหือรือที่จะฆ่าเด็กนั้นเสียเพื่อรักษาชีวิตของตนเอง และพราหมณ์รากษสเล่าก็ไม่มีจิตใจที่จะทำอะไร นอกจากจะขม้ำท่าเดียว บุคคลทั้งหลายในที่นั้น เด็กน้อยกล่าวรำพึงแก่ตัวเองว่า พวกเหล่านี้ล้วนแต่ชักนำความคิดของตัวเองให้ผิดลู่ผิดทาง ทั้งนี้ก็เพราะบุคคลเหล่านี้ล้วนแต่กระทำอะไรก็เพื่อสังขารอันเปื่อยเน่า น่าเกลียด น่าขยะแขยง และเป็นทุกข์เป็นรังโรคด้วยกันทั้งสิ้น เหตุใดเขาจึงไมแลเห็นความจริงเหล่านี้ เขาทำเพื่ออะไรกัน กฎแห่งอนิจจังนั้นมีอยู่ ไม่มีใครหลีกพ้นได้ แม้พระพรหม พระอินทร์ พระวิษณุ พระศิวะ และเทพอื่น ๆ ก็อยู่ในกฎแห่งอนิจจังนั้นเหมือนกันหมดไม่มียกเว้น”
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้แล ทำให้กุมารน้อยระเบิดเสียงหัวเราะสนั่นหวั่นไหวด้วยความยินดี และด้วยความประหลาดใจ เสียงของเขาบอกถึงความปลื้มเปรมเพราะวัตถุประสงค์ของเขาบรรลุจุดมุ่งหมายแล้ว แต่ก็ประหลาดใจในขณะเดียวกัน เพราะความพินาศจะต้องมาถึงบุคคลเหล่านั้นแน่ ๆ ในอนาคต โดยมิต้องสงสัย ด้วยสัจธรรมย่อมเป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ”
พระเจ้าตริวิกรมเสนตรัสดังนี้แล้วก็นิ่งอยู่ และเวตาลก็ละจากพระอังสาของพระองค์ หายวับไปสู่ที่พำนักของตนด้วยอำนาจอันลึกลับ พระราชาไม่หยุดเสียเวลาเปล่า รีบติดตามเวตาลไปทันทีด้วยพระทัยอันมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวเฉกเช่นมหาสมุทรที่มีความั่นคงไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ตลอดกาลนั้นแล


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 6 กันยายน 2554 เวลา:0:31:23 น.  

 
นิทานเวตาลเรื่องที่
๒๑
ครั้นแล้วพระเจ้าตริวิกรมเสนก็เสด็จกลับไปยังต้นอโศก ดึงร่างเวตาลลงมาจากกิ่งอโศก แล้วเอามันพาดบ่า ดำเนินมาตามเส้นทางเดิม ขณะที่มาตามทาง เวตาลก็กล่าวว่า “ราชะ โปรดฟังเถิด ข้ากำลังจะเล่าเรื่องถวายสักเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องสัมพันธ์สวาทที่ดีเด่นมาก เรื่องมีดังนี้”
แต่โบราณสมัย มีเมืองหนึ่งชื่อ นครวิศาลา กล่าวกันว่ามีความงดงามราวกับเป็นเทพธานีแห่งที่สองของพระอินทร์ ซึ่งพระธาดาพรหมทรงสร้างเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของคนดีมีคุณธรรมที่ตกลงมาจากสวรรค์ ในนครนี้มีพระเจ้าแผ่นดินผู้มั่งคั่งองค์หนึ่งปกครองอยู่ ทรงนามว่าพระเจ้าปัทมนาภ ผู้ได้รับการยกย่องเป็นผู้นำความสุขมาสู่เหล่าชนนิกรโดยทั่วหน้า ราวกับเป็นพญาอสูรพลี (พญาอสูรพลี ราชาแห่งอสูร มีเรื่องราวโดยละเอียดอยู่ในนารายณ์อวตารปาลที่ ๖ (วามนาวตาร) พระนารายณ์อวตารมาปราบอสูรพลี โดยกำเนิดเป็นพราหมณ์เตี้ โอรสของพระกัศยปเทพบิดรกับนางอทิติ พราหมณ์เตี้ยขอที่ดิน ๓ ก้าวจาลพลีแล้วย่างเท้าไป ๓ ก้าว คือในสวรรค์ก้าวหนึ่ง ในโลกก้าวหนึ่ง และบาดาลก้าวหนึ่ง เมื่อพลีสิ้นพยศกลับใจได้ พระนารายณ์ก็ให้พลีไปครองบาดาล เป็นราชาใต้พิภพ โดยสัญญาว่าถ้าพลีประพฤติดีวันหนึ่งจะให้กลับไปครองสวรรค์อีกครั้งหนึ่ง) นั่นเทียว ในรัชสมัยของพระราชาผู้ทรงความดีเลิศในการปกครองนี้ มีเศรษฐีมหาศาลผู้หนึ่งชื่ออรรถทัตต์ มีความร่ำรวยมั่งคั่งยิ่งกว่าเทพแห่งทรัพย์ (เทพแห่งทรัพย์ หมายถึง ท้าวกุเวรโลกบาลแห่งทิศเหนือ เป็นยักษ์ ๓ ขา ผู้ครองนครอลกาบนภูเขาหิมาลัย เป็นเจ้าแห่งขุมทรัพย์ทั้งหลายในโลก เรียกกันว่า วสุบดี มีอีกชื่อหนึ่งว่าไพศรพณ์(ไวศฺรวณ) ไทยเรียกเพี้ยเป็นเจ้าแม่โพสพ) เสียอีก เศรษฐีผู้นี้มีธิดาเลอโฉมคนหนึ่งชื่อ อนงคมัญชรี (อนงคมัญชรี(เกสรดอกไม้ของกามเทพ) เป็นหญิงรูปงามมีเรื่องเล่าโดยละเอียดในภารตนิยาย) มีความงามสุดพรรณนา ราวกับพระพรหมจำลองลักษณ์รูปของนางให้เป็นแบบของเทพอัปสรฉะนั้น ในกาลต่อมาบิดาของนางจัดการให้นางแต่งงานกับพ่อค้าคนหนึ่งชื่อ มณิวรรมัน แห่งเมืองตามรลิปติ ตัวท่านเศรษฐีผู้เป็นบิดาของนางนั้น เป็นผู้ที่รักและหวงแหนธิดาของตนอย่างยิ่ง เพราะมีลูกสาวอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้น ดังนั้นเขาจึงไม่ยอมให้นางเดินทางไปไหน นอกจากให้นางและสามีอยู่แต่ในบ้านของเขาเท่านั้น อนงคมัญชรีกับสามีก็อยู่ด้วยกันเป็นปกติ ทั้งที่ใจนางมิได้ยินดียินร้ายต่อเขาเหมือนคนไข้ที่จำต้องยินยอมกินยาขมที่หมอสั่ง อันเป็นสิ่งที่น่าเบื่อยิ่งนัก แต่สามีก็ยอมอดทนต่ออารมณ์ของนางทุกอย่าง ทั้งนี้เป็นเพราะเขารักนางดังดวงใจนั่นเอง
ครั้งหนึ่งมณิวรรมันมีความจำเป็นต้องเดินทางไปเยี่ยมบิดามารดาของเขา ในเมืองตามรลิปติอันไกลโพ้น หลังจากเวลาผ่านไปได้สองสามวัน พระอาทิตย์แผดแสงแรงกล้าลงบนแผ่นดิน ทำให้กระบวนเดินทางค่อนข้างจะล่าช้าลง ทั้งนี้เพราะวสันตฤดูเพิ่งจากไปอากาศจึงร้อนและแห้งแล้งยามราตรีก็ผ่อนความร้อนลง มีลมแล้งพัดแผ่วและดวงจันทร์ก็มีสีซีดสลดดูวังเวงไร้ชีวิตชีวา
ในฤดูครีษมะ(ฤดูร้อน) อันแห้งแล้งเช่นนี้ว่า วันหนึ่ง นางอนงคมัญชรีธิดาพ่อค้าใหญ่ พร้อมด้วยพี่เลี้ยงสาว ๆ หลายนางกำลังนั่งรับลมอยู่บนดาดฟ้าของคฤหาสน์ นางชโลมกายด้วยผงจันทน์อันหอมกรุ่นและสวมเสื้อผ้าอาภรณ์ ผ้าแพรอันบางเบา ขณะนั้นนางแลลงมาดูผู้คนที่ผ่านไปมาบนถนนก็แลเห็นพราหมณ์หนุ่มชื่อ กมลากร บุตรของสมุหราชมนเทียรเดินอยู่บนถนนสายนั้น เขางามสง่าไปเสียทุกอิริยาบถ ราวกับพระกามเทพที่ปรากฏพระองค์ออกจากเถ้าถ่านอันเกิดจากการเผาไหม้ของสรีระ(การเผาไหม้ของสรีระ มีเรื่องเล่าในมหากาพย์และปุราณะว่า กามเทพแผลงศรดอกไม้ห้าชนิด ไปปักพระอุระของพระศิวะขณะทรงเข้าฌานอยู่ เป็นการกระทำอย่างอุกอาจโดยมีความปรารถนาจะให้พระศิวะเกิดความรักพระอุมา พระศิวะทรงกริ้วที่ถูกลบหลู่ จึงลืมพระเนตรที่สามขึ้นเป็นไฟกรด เผาร่างกามเทพมอดไหม้ไป ตั้งแต่นั้นกามเทพจึงไม่มีร่างกายอีก เรียกกันว่าพระอนงค์(ผู้ไม่มีร่างกาย)) เพื่อติดตามหานางรตีผู้เป็นชายาฉะนั้น ขณะเดียวกันกมลากรก็เงยหน้าขึ้นไป ได้พบนางผู้งามสง่าผุดผ่องราวกับจันทรมณฑล ชายหนุ่มก็มีหัวใจอันเบ่งบานด้วยความพิศวาสราวกับบัวกุมุท ซึ่งเผยกลีบออกรับแสงจันทร์ในราตรี สายตาของทั้งสองฝ่ายที่จ้องประสานกัน ก็กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยไม่กะพริบ ราวกับถูกสาปด้วยบัญชาอันทรงมหิทธานุภาพของกามเทพ ฝ่ายสหายของกมลากรแลเห็นทั้งสองฝ่ายกำลังตกอยู่ในความจังงังเช่นนั้น ก็รีบดึงแขนกมลากรให้ห่างจากที่นั่นและลากถูลู่ถูถังไปส่งจนถึงบ้าน


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 6 กันยายน 2554 เวลา:0:35:52 น.  

 
ฝ่ายอนงคมัญชรีพยายามสืบถามจากบริวารจนทราบชื่อของกมลากร แล้วก็นึกถึงเขาไม่วาย ทอดสายตาแลตามจนสุดสายตาแล้วจึงกลับลงมาจากดาดฟ้า เข้าสู่ห้องของนางด้วยความเหม่อลอยเหมือนคนไม่มีชีวิตจิตใจ ในอกมีแต่ความเสน่หาอาลัยอันท่วมท้น นางกลิ้งเกลือกกระสับกระส่ายอยู่บนเตียงด้วยพิษรักที่แผดเผาอยู่ในใจ คิดถึงชายหนุ่มอย่างบ้าคลั่ง หลังจากนั้นสองสามวัน อนคมัญชรีค่อยฟื้นคืนสติ มีความละอายหวาดหวั่นไม่สามารถทนพิษรักอันปวดร้าวเพราะการจากกันได้ ร่างของนางเริ่มผ่ายผอมลงและซีดเซียวลงตามลำดับ เพราะความครุ่นคิดถึงเขาอยู่ไม่วาย เมื่อแลเห็นว่าความรักของนางจะไม่ถึงผลสำเร็จแน่แล้ว นางก็คิดจะฆ่าตัวตาย ดังนั้นในคืนหนึ่ง เมื่อเห็นว่าบริวารนอนหลับแล้วก็ออกมาจากห้อง เดินตามแสงจันทร์อันสุกสกาวออกจากบ้านมุ่งไปตามทางเดินเลียบริมสระ มิช้ามินานก็มาถึงเทวาลัยแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในสวนขวัญ แวดล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่อันแผ่กิ่งก้านสาขาร่มรื่น ภายในเทวาลัยเป็นที่ประดิษฐานปฏิมากรทองคำเจ้าแม่จัณฑี (เจ้าแม่จัณฑี พระอุมาปางดุร้าย เรียกกันเป็นสามัญว่า เจ้าแม่กาลี มีภักษาหารคือ โลหิตสด ๆ) ซึ่งวงศ์ตระกูลของนางสร้างขึ้นไว้ สำหรับการกราบไหว้บูชา ประกอบด้วยเครื่องตกแต่งภายในงดงามเป็นที่น่าเจริญใจ อนงคมัญชรีก้าวเข้าไปในเทวาลัย และถวายนมัสการอย่างนอบน้อมต่อหน้าองค์เทวรูป และกล่าวว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า ข้ารักกมลากร ถ้าข้ามิได้เขาเป็นสามีในชาตินี้ก็ขอให้ได้กันในชาติหน้าเถิด” เมื่อนางได้กล่าวอธิษฐานจบลง ก็ฉีกผ้าคลุมร่างตอนบนออกทำเป็นบ่วงเพื่อแขวนคอตนเอง และเดินออกมาถึงต้นอโศก ตวัดเชือกขึ้นไปคล้องกิ่งอโศกไว้ เตรียมจะผูกคอตาย
ขณะนั้นเอง ปรากฏว่าหญิงบริวารคนหนึ่งของนาง ซึ่งนอนอยู่ในห้องเดียวกัน ตื่นขึ้นในตอนดึก ไม่แลเห็นนางก็ตกใจ ออกติดตามไปจนถึงต้นอโศก ขณะที่อนงคมัญชรีกำลังจะแขวนคอตนเองอยู่ก็ตกใจ ร้องตะโกนว่า “หยุด หยุด” แล้วรีบปีนขึ้นไปบนกิ่งอโศก และตัดบ่วงให้ขาดลง อนงคมัญชรได้สติเห็นนางพี่เลี้ยงกำลังพยาบาลอยู่ก็ถอนใจ เมื่อพี่เลี้ยงเซ้าซี้ถามว่านางเสียใจเรื่องอะไร อนงคมัญชรีจึงเล่าความคับแค้นใจของนางให้ฟัง และสรุปว่า “มาลติกาเอ๋ย เจ้าก็เห็นแล้วมิใช่หรือว่า ข้ามีพ่อแม่ที่ควบคุมข้าอย่างเข้มงวดทั้งที่ข้ามีสามีแล้ว ข้าเหมือนนักโทษติดคุกทำอะไรก็มิได้ แล้วอย่างนี้ข้าจะติดต่อกับยอดรักของข้าได้อย่างไรเล่า ในความคิดของข้าเห็นว่าความตายเท่านั้นที่เป็นความสุขของข้าได้ แล้วเจ้ามาช่วยข้าไว้ทำไม” ขณะที่อนงคมัญชรีคร่ำครวญอยู่นี้ นางกำลังทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสเพราะพิษรักจากบุษปศรของพระกามเทพ และได้รับความผิดหวังเพราะความรักอย่างเหลือที่จะทนทานต่อไปได้ นางก็หมดสติเป็นลมล้มฟุบสิ้นสติไปอีกครั้งหนึ่ง
นางมาลติกาพี่เลี้ยงเห็นดังนั้นก็ตกใจยิ่งนัก ตะโกนว่า “โอ้ พระมันมถะนี่หนอ (มันมถะ “ผู้กวนใจ” เป็นฉายาหนึ่งของพระกามเทพ เพราะกามเทพนั้นเป็นผู้ก่อกวนใจบุคคลทั้งหลายให้ปั่นป่วนวุ่นวายด้วยความรัก) เหตุใดจึงรุนแรงต่อนางถึงเพียงนี้ พระองค์ทรงมีอานุภาพล้นเหลือจนใคร ๆ ต้านทานมิได้ นางเป็นหญิงที่แสนจะแบบบาง นางจะทนทานท่านต่อไปได้อย่างไร” นางคร่ำครวญฉะนี้แล้ว ก็ตะลีตะลานวิ่งไปที่สระน้ำ เอาน้ำมาชโลมใบหน้าและลูบตามเนื้อตามตัวสหายของนาง และพัดวีอยู่ไปมา นางเอาใบบัวมารองนอนให้อนงคมัญชรีรู้สึกอ่อนนุ่มเย็นสบาย และวางสร้อยมุกดาอันเย็นยะเยือกปานหิมะลงบนอกของนาง ทันใดนั้นอนงคมัญชรีก็ลืมตาขึ้น ใบหน้าของนางนองชุ่มไปด้วยน้ำตาและกล่าวว่า “เพื่อนเอ๋ย สร้อยมุกดา และอื่น ๆ มันก็เย็นดีดอก แต่ก็เย็นนอกอกหาได้เข้าไปถึงภายในไม่ แต่ข้าก็เห็นว่าเจ้ารักข้าจริง เลยเกิดความคิดว่า เจ้าอาจจะช่วยความทุกข์ของข้าได้เพียงคนเดียวเท่านั้น เพราะเจ้าเป็นคนเฉลียวฉลาดและไว้ใจได้ คงจะเป็นสื่อช่วยให้ยอดรักของข้ามาหาข้าได้ ถ้าเจ้าประสงค์จะช่วยชีวิตของข้าจริง ๆ” เมื่อนางกล่าวดังนี้ มาลติกกาก็ตอบสนองด้วยใบหน้าอันยิ้มแย้มว่า “เพื่อนเอ๋ย เวลานี้ก็ใกล้จะสิ้นคืนแล้ว เอาเป็นพรุ่งนี้เถอะ ข้าจะไปที่บ้านหนุ่มน้อยนั่น เจรจากับเขาให้เข้าใจ แล้วจะนำยอดชายของเจ้ามาพบกับเจ้าที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นตอนนี้ข้าจะพาเจ้ากลับบ้านไปพักผ่อนก่อน เตรียมใจไว้ให้ดี พรุ่งเจ้าจะได้สมความปรารถนา”
และตอนเช้าตรู่วันรุ่งขึ้นนั้นเอง มาลติกาก็กระวีกระวาดออกจากบ้านไปอย่างเร้นลับโดยไม่มีใครเห็น ตรงไปบ้านของกมลากรทันที ได้ทราบว่าตัวของเขาเองหาได้อยู่ในบ้านไม่ แต่ลงไปที่สวนแต่เช้า นางก็ติดตามไปถึงสวนหลังบ้าน แลเห็นชายหนุ่มนอนอยู่ใต้ต้นไม้กำลังกลิ้งเกลือกไปมาบนเตียงซึ่งปูลาดด้วยใบบัวอันเย็นชื้น มีอาการกระสับกระส่ายถอนใจด้วยความกลัดกลุ้มอันเป็นผลของความรักอันเร่าร้อนและทรมานสุดขีด มีสหายคนหนึ่งคอยปรนนิบัติเขาอยู่ด้วยความเป็นห่วง โดยพัดวีด้วยใบตองที่ตัดมาสด ๆ นางก็กล่าวแก่ตัวเองว่า “อาการของหนุ่มน้อยแสดงว่าเป็นไข้ใจเพราะไม่ได้พบเห็นนางผู้เป็นที่รักของเขากระมังหนอ” คิดได้ดังนี้นางก็ตัดสินใจจะแอบดูเหตุการณ์ต่อไป
ระหว่างนั้นเอง สหายของกมลากรก็กล่าแก่ชายหนุ่มว่า “เพื่อนเอ๋ย ลองมองดูรอบ ๆ ตัวของเจ้าสิ ธรรมชาติในสวนนี้น่าเพลินตาเพลินใจนัก ดูแล้วจะช่วยให้เจ้าสบายใจขึ้นบ้าง อย่าทำตัวเป็นคนหมดอาลัยตายอยากอย่างนี้เลย” เมื่อพราหมณ์หนุ่มได้ฟังดังนั้นก็กล่าวตอบผู้เป็นสหายว่า “เพื่อนเอ๋ย หัวใจของข้าถูกอนงคมัญชรีธิดาวาณิชเด็ดเอาไปเสียแล้ว เดี๋ยวนี้อกของข้าก็ว่างโหวงเหวงไปหมด ข้าจะเอาจิตใจที่ไหนมารื่นเริงได้เล่า ยิ่งกว่านี้พระอนงค์ยังเอาข้าไปทำแล่งธนูของพระองค์อีกเล่า เพื่อนเอ๋ย ถ้าเพื่อนจะช่วยเพื่อนละก็ ทำให้ข้าได้พบนางผู้เป็นยอดหทัยของข้าทีเถอะ”
เมื่อได้ยินพราหมณ์หนุ่มพูดดังนี้ นางมาลติกาผู้ซ่อนตัวแอบฟังอยู่ก็หายสงสัย มีความยินดียิ่งนัก จึงเผยตัวให้ปรากฏ และเดินไปหาชายหนุ่มและกล่าวว่า “จงเป็นสุขเถิด บัดนี้อนงคมัญชรีส่งข้ามาพบท่าน ให้ช่วยสื่อสารให้ท่านทราบว่า ยอดชายที่นางใฝ่ฝันนั้นคิดถึงนางบ้างหรือเปล่า เพราะเขาจู่โจมเข้ามาเด็ดดวงหัยของนางไว้ในกำมือ แล้วหนีนางไปดื้อ ๆ ไม่โผล่หน้ามาให้เห็นอีก ก็แปลกดีนะ นางเป็นฝ่ายที่ถูกท่านปล้นเอาหัวใจไป นางกลับขอจำนนต่อท่านทุกอย่างทั้งร่างกายและชีวิตของนาง ทั้งวันทั้งคืน นางทนทุกข์เฝ้าแต่ถอนใจใหญ่และกระสับกระส่ายกลิ้งเกลือกตัวไปมา นางต้อทนทรมานเพราะพิษแห่งศรรักที่ปักอก แต่นางก็เหมือนทรายหลงศร ยอมตายอย่างเต็มใจเพราะศรรักนั้น น้ำตานางไหลรินไม่ขาดสาย พาเอาสีอัญชันที่ทาเปลือกตาพลอยละลายเลอะแก้มของนางน่าเวทนานัก ฉะนั้นถ้าท่านต้องการให้ช่วย ข้าจะช่วยให้ท่านและนางได้พบกันและสมประสงค์กันทั้งสองฝ่าย”
เมื่อนางมาลติกากล่าวอย่างนี้ กมลากรก็มีใจยินดียิ่งนัก ตอบนางว่า “โอ้ แม่นางผู้ใจงาม ถ้อยคำของท่านแม้จะปลอบข้าให้ชื่นใจ เพราะรู้ว่ายอดรักของข้ารักและคิดถึงข้าเช่นเดียวกัน แต่ข้าก็ยังเป็นห่วงนางยิ่งนัก เพราะรู้ว่าข้าเองทำให้นางต้องเดือดร้อน และตรอมใจไร้ความสุขไปด้วย ในภาวะเช่นนี้ข้าก็เห็นแต่แม่นางเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งของเรา เพราะฉะนั้นท่านเห็นว่าควรจะทำอย่างไร ก็ทำตามที่ท่านเห็นสมควรเถิด” ได้ยินดังนั้นมาลติกาก็ตอบว่า “ถ้าอย่างนั้นคืนนี้ ข้าจะพาอนงคมัญชรีลงไปที่สวนขวัญอย่างลับ ๆ เพื่อไปดักพบท่านที่นั่น ข้าจะคอยอยู่ข้างนอกและช่วยเปิดประตูให้ท่าน และด้วยวิธีนี้นางกับท่านก็จะได้พบกันสมความปรารถนา” เมื่อมาลติกาแนะแผนดังกล่าวอันทำให้พราหมณ์หนุ่มหน้ามนเกิดความหวังดังนั้นแล้ว นางก็อำลากลับไปแจ้งให้อนงคมัญชรีทราบ ทำให้นางมีความปลื้มใจยิ่งนัก
ครั้นเมื่อดวงสูรยะคล้อยต่ำลง และค่อยหายไปพร้อมกับสนธยากาล ทำให้ท้องฟ้าเข้าสู่ความมืดแลเห็นดาวสะพรั่งพรายเต็มท้องฟ้าระยิบระยับลำดับนั้น ดวงศศีก็เยี่ยมพ้นขอบฟ้าขึ้นมาส่องแสงขาวนวลสกาวแผ่ซ่านไปในวิศวากาศ ดอกบัวกุมุทก็ขยายกลีบเรียวแฉล้มเฉลาต้อนรับแสงจันทร์ด้วยความยินดีประดุจจะกล่าวว่า “ความงามที่จากไปของเหล่าบัวในเวลากลางวัน ได้กลับมาหาข้าผู้เป็นบุปผาราตรีอีกครั้งหนึ่งแล้ว” ลำดับนั้นกมลากรคนรักของอนงคมัญชรีก็จัดกายแต่งตัวด้วยอาภรณ์อันงดงาม เดินไปสู่ที่นัดหมายด้วยหัวใจที่ร้อนรนจนแทบจะคอยต่อไปไม่ไหว เมื่อไปถึงประตูสวนของอนงคมัญชรีก็หยุดคอยอยู่นอกประตู สักครู่หนึ่งมาลติกาก็ย่องมาเปิดประตูสวน พาพราหมณ์หนุ่มเข้าไปสู่แท่นหินใต้ต้นอโศกอันแผ่ร่มเงาสาขาเป็นที่ร่มรื่น กมลากรก้าวเข้าไปเผชิญหน้ากับนาง พอพ้นเงาไม้ แสงจันทร์อันสว่างก็ส่องลงมาอาบร่างดูประดุจรูปสลักงาช้าง งามสง่าหาที่ติมิได้ ราวกับพระกามเทพมาปรากฏพระองค์เฉพาะหน้า
อนงคมัญชรีผุดลุกขึ้นทันที หัวใจผวาต่อภาพที่เห็นประหนึ่งว่าภาพนั้นเป็นภาพมายาที่มาปรากฏให้หลงใหลชื่นใจชั่วขณะ และกำลังจะสลายหายวัดไป นางปราดเข้ากอดคอเขาไว้ ละล่ำละลักว่า “เจ้าหนีข้าไปไหน เจ้าหนีข้าไม่พ้นหรอกกมลากรเอ่ย เจ้าจริง ๆ หรือนี่ กมลากร ข้าไม่ได้ฝันไปดอกหรือ” นางสะอื้นด้วยความรู้สึกที่เต็มตื้นสุดระงับ “ไม่นึกเลยว่าข้าจะได้พบเจ้าอีก ไหนขอดูหน้าให้เต็มตาสักนิดซิ” นางกอดเขาไว้แน่นด้วยความสุดเสน่หา เงยหน้าขึ้นสบตาอันเรียวยาวดั่งคันศรพระอนงค์แวบหนึ่ง พลางซบหน้าลงกับอกที่ผายผึ่งและแข็งแกร่งอย่างสิ้นแรง กมลากรรีบประคองไว้ทันที นางกระซิบว่า “ใช่แล้ว เจ้าเอง กมลากรของข้า ในที่สุดเจ้าก็มาหาข้าจนได้” ร่างงามดังอัปสรสวรรค์ของนางทรุดฮวบลง ดวงใจที่อัดแน่นด้วยความเสน่หาอันลึกซึ้งและร้อนแรงปานไฟเผา มิอาจะทนทานต่อไปได้ถึงกาลแตกสลาย นางสิ้นใจในวงแขนของเขาทันที กมลากรตกใจแทบสิ้นสติ ประคองร่างนางอันหาชีวิตไม่แล้ววางลงบนพื้น น้ำตานองหน้าด้วยความเสียใจสุดซึ้ง กล่าวด้วยความตกใจว่า “อนงคมัญชรี เจ้าหนีข้าไปแล้วหรือโธ่เอ๋ย ทำไมเป็นอย่างนี้”
กมลากรก้มลงมองดูใบหน้าของนางอันงามผ่องปานพระพักตร์ของพระปัทมาวดี (ปัทมาวดี หรือปัทมา พระลักษมีชายาของพระนารายณ์หรือพระวิษณุ เป็นเทวีแห่งโชคลาภและความงาม) พลางจุมพิตและอุ้มนางขึ้นมากอดไว้ ร่ำไห้ด้วยความรักและความเสียดายอย่างสุดระงับ ความร้อนแรงปะทุขึ้นในอกราวภูผาอัคนีระเบิดเป็นเสี่ยง ๆ ชายหนุ่มทรุดฮวบลงเคียงข้างนางและขาดใจตาย
เมื่อนางมาลติกาเข้ามาดูก็เห็นคนทั้งสองกลายเป็นศพไปแล้ว นางตกใจและร่ำไห้ด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้ง เพราะนึกไม่ถึงว่าอวสานจะมาถึงคู่รักทั้งสองอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ราตรีอันยาวนานก็ถึงความสิ้นสุดลงในเวลาใกล้รุ่ง ตอนเช้านั้นเอง ญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่ายก็มากันพร้อมหน้า เมื่อได้ฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากปากคนทำสวน ก็เกิดความรู้สึกต่าง ๆ กัน มีทั้งความประหลาดใจ พิศวง เศร้าโศกเสียใจ และเสียดายอย่างสุดซึ้ง ต่างก็ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะทำอย่างไรกับศพคนทั้งสอง
ขณะที่ตะลึงกันอยู่อย่างนั้นเอง มณิวรรมันสามีของอนงคมัญชรีก็เดินทางมาถึง หลังจากที่ไปเยี่ยมพ่อที่เมืองตามรลิปติชั่วคราว พอกลับมาถึงบ้านพ่อตา ก็ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น มีความตกใจเป็นล้นพ้น รีบวิ่งมาสู่สวนขวัญทันที มีใบหน้าอันนองด้วยน้ำตา พอมาถึงก็เห็นเมียของเขานอนกอดกับชายอื่นและสิ้นใจตายเสียแล้ว ก็บังเกิดความเสียใจและเสียดายนางอย่างสุดซึ้ง หัวใจเขาก็แตกสลายสิ้นลมปราณในบัดดล ต่อมาไม่นาน ผู้คนทั้งหลายจากทุกทิศานุทิศได้ทราบข่าวก็รีบมายังที่เกิดเหตุ และเบียดเสียดยัดเหยียดกันมุงดูด้วยความประหลาดใจ
ขณะนั้นเอง พระแม่เจ้าจัณฑีอันสถิตเป็นประธานในเทวาลัยของเศรษฐี ที่สร้างไว้เป็นทีสักการะส่วนตัวก็ก้าวลงจากแท่น และปรากฏพระองค์ให้ประจักษ์แก่สายตาของทุกคนในที่นั้น พร้อมด้วยคณะเทพบริวาร ญาติผู้ใหญ่ผู้หนึ่งของตระกูล จึงก้มลงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระเทวีผู้ทรงศักดิ์ เศรษฐีวาณิชผู้เป็นบิดาของนางอนงคมัญชรีชื่อ อรรถทัตต์ ได้สร้างเทวาลัยในสวนนี้เพื่อถวายแก่พระแม่เจ้า และเขามีความศรัทธาต่อพระแม่เจ้าด้วยใจภักดีไม่มีเสื่อมคลาย ขอพระองค์ทรงช่วยให้เขาพ้นวิกฤตกาลวันนี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า” เมื่อพระเทวีผู้เป็นศิวชายา และเป็นนาถะของคนทั้งหลาย ได้ยินคำของร้องและเสียงสวดอ้อนวอนของเหล่าคณะเทพก็มีพระทัยเมตตายิ่งนัก ทรงประพรมน้ำทิพย์บนร่างของคนทั้งสาม ทำให้ฟื้นคืนสู่ความมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ต่างก็มีอาการเหมือนคนตื่นจากความฝัน เหลียวมองหน้ากันอย่างไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น พระเทวีจึงตรัสว่า “จงได้สติเถิด เจ้าผู้เป็นมรรตัยชนทั้งสาม เหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นการกระทำของพระกามเทพผู้ทรงศรอันมีพิษร้ายกาจ ใครเล่าจะอาจต้านทานบุษปศรของพระมันมถะได้ บัดนี้เราได้ให้สติสัมปชัญญะคืนแก่เจ้าแล้ว พิษรักเป็นอันสิ้นสูญ เจ้าจงรู้จักฐานะอันแท้จริงของเจ้าเถิด กมลากรจงกลับไปบ้านของเจ้า จงลืมเสียให้หมดว่าเจ้าได้กระทำอะไรลงไป อนงคมัญชรีก็เช่นเดียวกัน จงลืมเหตุการณ์ครั้งนี้เสีย แล้วจงรักภักดีต่อสามีของเจ้า เพราะเขาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เขารักเจ้ายิ่งกว่าชีวิตของเขาเสียอีก ข้าขอให้พรแก่เจ้าทั้งสองจงมีความสุข ในความรักของเจ้าตลอดไปเถิด” สิ้นเทวดำรัสร่างของพระจัณฑีก็หายวับกลับไปสู่เทวาลัยตามเดิม
เมื่อเวตาลเล่านิทานของตนจบลงในระหว่างการเดินทางแล้ว ก็ตั้งปัญหาถามพระเจ้าตริวิกรมเสนว่า “โอ ราชะ ทรงตอบข้าสิว่า ในจำนวนคนที่ตายเพราะความรักทั้งสามคนนั้น คนไหนเล่าที่มีความรักอันแท้จริงยิ่งกว่าคนอื่น ๆ อย่าลืมนะพระเจ้าข้า แม้รู้แล้วไม่ตอบ พระเศียรจะต้องแตกเป็นเสี่ยง ๆ แน่ ๆ” เมื่อพระราชาได้ฟังปัญหาของเวตาลเช่นนี้ก็ตรัสตอบว่า “ข้าเห็นว่า มณิวรรมันน่าจะเป็นคนที่มีความรักแท้จริงมากที่สุด เพราะความรักของอนงคมัญชรีกับกมลากรเป็นความรักแบบคนตาบอด ไม่มีเหตุผล และไม่มีความละอาย จะเรียกว่าเป็นความรักที่เห็นแก่ตัวของคนสองคนนั้นก็ได้ ส่วนมณิวรรมันนั้นมีความรักอนงคมัญชรีอย่างแท้จริง เพราะเมื่อเขาเห็นนางผู้เป็นภรรยาของเขานอนตายในอ้อมกอดของชายอื่น เขาก็มิได้ตำหนินางหรือโกรธนาง เพราะเขามิได้เห็นว่าคนทั้งสองกำลังหลู่เกียรติของเขาเลยแม้แต่น้อย เขาทนได้เพราะรักนางอย่างแท้จริง เขามิได้เห็นว่าใครจะมีค่าสำหรับเขายิ่งไปกว่านาง และด้วยความรักความเสียดายนางเป็นล้นพ้นทำให้เข้าต้องตายลงด้วยความรัก ดังนั้น มณิวรรมันจึงควรนับได้ว่าเป็นผู้มีความรักอย่างแท้จริงในกรณีนี้”
เมื่อพระราชาตรัสเฉลยดังนี้ เวตาลเจ้าเล่ห์ก็ได้โอกาสหายวับกลับไปสู่ถิ่นพำนักของตนด้วยความสะใจ ทำให้พระเจ้าตริวิกรมเสนต้องเสด็จกลับไปตามทางเดิมเพื่อเอาตัวมันกลับมาอีกครั้งหนึ่ง


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 6 กันยายน 2554 เวลา:0:39:31 น.  

 
นิทานเรื่องที่
22
พระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับไป ทรงดึงร่างเวตาลลงมาจากยอดอโศกวางไว้บนอังสาของพระองค์ แล้วทรงนิ่งเงียบ เวตาลจึงแหย่ว่า “นฤบดี ข้ามีนิทานสนุกตื่นเต้นกว่าเรื่องก่อน ๆ เสียอีก รับรองว่าจะต้องทรงชอบแน่ ๆ เรื่องมีดังนี้”
ในสมัยบรรพกาล มีกษัตริย์องค์หนึ่งทรงพระนามว่า ธรณีวราหะ ทรงปกครองนครปาฏลิบุตร ซึ่งมีพราหมณ์อาศัยอยู่มาก พระราชาทรงอนุเคราะห์แก่พราหมณ์ทั้งหลายเป็นพิเศษ เรียกว่า พรหมสถล และในนครนั้นเองมีพราหมณ์อีกผู้หนึ่งชื่อ วิษณุสวามิน พราหมณ์ผู้นี้มีภรรยาผู้หนึ่งซึ่งเหมาะสมกับเขาเป็นพิเศษ ราวกับเครื่องสังเวยเหมาะกับไฟฉะนั้น จำเนียรกาลผ่านไป สองสามีภรรยามีบุตรชายด้วยกันสี่คน ต่อมาบุตรทั้งสี่เติบใหญ่เป็นหนุ่ม และศึกษาพระเวททั้งสี่เจนจบ อยู่มามินานบิดาก็ไปสวรรค์ และมารดาก็ตามไปในเวลาถัดมา
ส่วนพราหมณ์หนุ่มทั้งสี่เมื่อสิ้นบิดามารดาแล้วก็อ้างว้างว้าเหว่ด้วยไร้ที่พึ่ง มีญาติใกล้ชิดก็ถูกเขาโกงเอาทรัพย์สมบัติไปหมด ทั้งสี่คนจึงปรึกษาหารือกันว่า “บัดนี้เราก็ยากจนสิ้นไร้ไม้ตอกอย่างนี้จะทนอยู่ต่อไปได้ไฉน พวกเราควรจะไปพึ่งญาติฝ่ายแม่ของเราที่หมู่บ้านยัชญสถลดีกว่า” ตกลงพร้อมกันดังนี้แล้ว ก็เดินทางไปพบผู้เป็นตาที่หมู่บ้านนั้น แต่ปรากฏว่าตาตายไปแล้ว เหลือแต่ลุง ๆ ทั้งหลายผู้เป็นบุตร ซึ่งพวกเขาก็ช่วยเหลือตามมีตามเกิด ให้ที่พักและอาหารกินตามสมควร พราหมณ์ทั้งสี่มาอยู่บ้านผู้เป็นลุงแล้ว วัน ๆ ก็มิได้ช่วยทำอะไร นอกจากอ่านพระเวทเพียงอย่างเดียว ต่อมามินาน ลุงก็เริ่มรังเกียจเพราะเห็นพวกเขาเป็นคนอนาถาไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเลี้ยงดูต่อไปให้เปลืองข้าวเปลืองน้ำ จึงพากันละเลยไม่เอื้อเฟื้อข้าวปลาอาหารเครื่องนุ่งห่มและปัจจัยอื่น ๆ อีก พราหมณ์ทั้งสี่เมื่อประสบกับความไม่อาลัยไยดีก็ช้ำใจว่าญาติกาไม่ดูแล จึงประชุมกันลับ ๆ เพื่อหาทางอยู่รอด ขณะนั้นพี่ชายคนโตก็ออกความเห็นของตนว่า “เราจะนิ่งงอมืองอเท้าต่อไปไม่ได้แล้ว ใครมีความเห็นจะให้ทำอะไรก็จงเสนอมาเถิด แต่ถ้ายังคิดมิออก ข้าก็จะเล่าอะไรที่ข้าไปพบเห็นมา เผื่อพวกเจ้าจะได้อาศัยเป็นแนวทางพิจารณาต่อไป ข้ารู้ดีแล้วว่าชะตากรรมเป็นเพียงสิ่งที่ใคร ๆ จักหลีกเลี่ยงมิได้ มันกำหนดทุกสิ่งในโลกนี้ทั้งเวลาและสถานที่ตามครรลองของมัน ข้าจะเล่าให้ฟังว่า วันนี้ข้าออกไปเดินเล่นนอกบ้านเพราะรู้สึกกลุ้มใจเต็มที เมื่อข้าเดินผ่านป่าช้าในป่านอกเมือง ก็เห็นชายคนหนึ่งนอนตายอยู่พื้นดิน มีแขนขาทอดออกไปคนละทิศละทาง เมื่อตอนที่ข้าแลเห็นเขา ข้าก็เกิดความอิจฉาเขา และข้าพูดแก่ตัวเองว่า ชายคนนี้ช่างโชคดีนี่กระไร ได้นอนพักผ่อนอย่างสบาย เพราะเขาหมดสิ้นภาระอันแสนเข็ญในโลกนี้แล้ว เมื่อข้ารำพึงอย่างนี้ก็เกิดความคิดแวบขึ้นมาในสมองว่า ข้าควรจะตายอย่างเขาบ้าง เมื่อคิดดังนี้ข้าก็เตรียมจะผูกคอตาย จึงหาเชือกมาเส้นหนึ่งทำบ่วงคล้องคอผูกติดกับต้นไม้ต้นหนึ่ง แล้วปล่อยตัวลงมาห้อยโตงเตงอยู่กลางอากาศ ข้าถูกเชือกรัดคอแน่นจนทำให้ใกล้จะหมดสติ และกำลังตาเหลือกตาปลิ้นอยู่นั้น ข้าก็รู้สึกว่าชีวิตยังไม่ยอมออกจากร่าง ข้าก็ดิ้นสุดฤทธิ์จนเชือกขาด ทำให้ข้าหล่นตุ้บลงบนพื้นดิน ต่อมามิช้าข้าก็เริ่มฟื้นคืนสติ ลืมตาขึ้นเห็นชายใจดีผู้หนึ่ง กำลังพัดวีข้าอยู่ด้วยเสื้อของเขา เขากล่าวแก่ข้าว่า “สหายเอ๋ย ท่านก็เป็นคนฉลาดคนหนึ่ง เหตุไฉนจึงยอมจำนนต่อชะตาเอาง่าย ๆ อย่างนี้เล่า ท่านควรจะรู้ว่าความสุขนั้นเกิดจากการกระทำความดี และความทุกข์เกิดจากการทำชั่ว นี่คือสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์และสุขโดยแท้ ถ้าหากความกลุ้มใจของท่านเกิดจากความทุกข์ ทางแก้ก็คือจงเร่งกระทำความดีเสียแต่บัดนี้ ข้านึกไม่ถึงเลยว่าทำไม ท่านถึงโง่เขลาจนถึงกับฆ่าตัวตายอย่างนี้”
ด้วยคำพูดปลอบใจของชายผู้นั้นทำให้ข้าตาสว่างขึ้น ส่วนชายที่ข้าไม่รู้จักชื่อผู้นั้นเห็นว่าหมดธุระกับข้าแล้วก็เดินทางจากไป ส่วนข้าก็ตัดสินใจเด็ดขาดไม่คิดจะทำอัตวินิบาตกรรมอีกต่อไป เพราะฉะนั้นพวกเจ้าก็คงจะเห็นแล้วสิ ว่าถ้ายังไม่สิ้นกรรม การที่คิดจะยุติผลของกรรมโดยฆ่าตัวตาย ก็ไม่มีทางสำเร็จ บัดนี้ข้าติดสินใจแล้วว่า ข้าจะจาริกแสวงบุณย์ไปนมัสการแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย แล้วจากนั้นข้าก็จะบำเพ็ญตบะอย่างยิ่งยวด เพื่อข้าจะได้บรรลุมรรคผลอันสูงสุด ไม่กลับมาสู่ชีวิตอันทรมานเช่นนี้อีกต่อไป”
เมื่อพี่ชายใหญ่กล่าวเช่นนี้ น้องชายคนรองก็กล่าวขึ้นว่า “ท่านพี่ที่เคารพ ท่านก็เป็นคนฉลาดหลักแหลม ไฉนจึงเป็นทุกข์เป็นร้อนนักหนา เพียงสาเหตุนิดเดียวคือความจนเท่านั้น พี่ไม่รู้หรือว่า ความมั่งมีนั้นก็เฉกเช่นเมฆที่ลอยผ่านไปในฤดูสารท (ฤดูใบไม้ร่วง) ใครบ้างเล่าที่จะรักษาทรัพย์ไว้ได้ตลอดกาล หรือสามารถทำให้หญิงเจ้าเล่ห์หยุดมายาสาไถยได้ ดังนั้นคนฉลาดพึงพิจารณาความมั่นคงจริงใจในทุก ๆ สิ่ง และเราควรแสวงหาสิ่งนี้เท่านั้น” พี่ชายใหญ่เมื่อได้ฟังถ้อยคำของน้องก็นิ่งอยู่ ในที่สุดทั้งสี่คนก็แยกทางไปแสวงหาคำตอบ และนัดพบกันในภายหน้าที่จุด ๆ หนึ่ง เมื่อแยกทางกันไปนั้นคนหนึ่งไปทิศตะวันออก ตะวัน ตก เหนือและใต้
เวลาผ่านไป ในที่สุดชายทั้งสี่กลับมาเจอหน้ากันอีกครั้งที่สถานที่นัดพบซึ่งตกลงกันไว้ และถามซึ่งกันและกันว่าใครไปเรียนรู้อะไรมาบ้าง ชายคนหนึ่งตอบว่า “ข้าได้เรียนรู้มายาศาสตร์อันเร้นลับ คือถ้าข้าได้พบกระดูกแม้น้อยชิ้นของสัตว์ใดก็ตาม ข้าก็จะสามารถทำให้เกิดเป็นเนื้อของสัตว์ชนิดนั้นขึ้นมาได้ทันที” ชายอีกคนหนึ่งเมื่อได้ฟังถ้อยคำของชายคนแรกก็กล่าวว่า “เมื่อใดที่ข้าเห็นเนื้อสัตว์เกิดขึ้นมาติดกระดูก ข้าก็จะสามารถทำให้เกิดหนังและขนของสัตว์นั้นได้ทันทีเหมือนกัน” ชายคนที่สามได้ยินก็กล่าวว่า “ถ้าข้าได้เห็นหนังและขนของสัตว์นั้น ข้าก็จะสร้างแขนขาของมันขึ้นมาได้ชั่วพริบตาเดียว” ชายคนที่สี่เมื่อได้ฟังคำพูดของสามคนโอ้อวดวิชาดังนั้นก็พูดว่า “เมื่อกระดูก เนื้อ หนัง ขน และแขนขาของสัตว์ที่ตายแล้วตัวนั้นบังเกิดขึ้นครบถ้วน ข้าก็สามารถทำให้สัตว์นั้นมีชีวิตขึ้นมาได้”
เมื่อต่างก็กล่าวโอ้อวดความสามารถของตนดังนั้นแล้ว ทั้งสี่คนก็แยกย้ายกันเข้าป่า เพื่อเสาะหากระดูกสัตว์มาทดลองดังที่พูดกันไว้ ปรากฏว่าคนเหล่านั้นได้พบกระดูกชิ้นส่วนของสิงโตเข้าชิ้นหนึ่ง ก็หยิบเอาไปโดยหารู้ไม่ว่าเป็นกระดูกของสัตว์ชนิดใด เมื่อเอาไปแล้วชายคนแรกก็เสกมนตร์ทำให้เกิดเนื้อขึ้นมาหุ้มกระดูกอย่างถูกต้อง ชายคนที่สองก็ร่ายมนตร์ประจุหนังและขนลงไปตามตำแหน่งของมัน ชายคนที่สามทำให้เกิดอวัยวะแขนขาขึ้น และคนที่สี่ก็ร่ายมนตร์ทำให้มันมีชีวิตขึ้น สิงโตก็ลุกขึ้นผงาดและคำรามด้วยเสียงอันดัง แสดงพลังของไกรสรสีหราชผู้เป็นราชาแห่งสัตว์ทั้งหลาย ปากของมันอ้ากว้างให้เห็นฟันและเขี้ยวอันแหลมคม และเหยียดเท้าออกแสดงให้เห็นกรงเล็บอันแหลมคมในอุ้งเท้าทั้งสี่ ในชั่วพริบตานั้นเองมันก็กระโจนเข้าใส่สี่ชายพี่น้องและฆ่าตายหมดทุกคน แล้วก็เดินเลียลิ้นหายเข้าป่าไป นี่แหละจะเห็นได้ว่า ถึงพราหมณ์ทั้งสี่จะมีวิทยาการอันเลิศถึงกับชุบชีวิตสัตว์ขึ้นจากกองกระดูกได้ แต่ความโง่เง่าในสันดานทำให้เขาไปชุบชีวิตสิงโต แลเจ้าป่านั้นก็ไม่รู้จักว่าความกตัญญูคืออะไร มันจึงขย้ำเขาเสียอย่างดุร้าย เหมือนมัจจุราชมาคร่าชีวิตอย่างไร้ความเมตตาฉะนั้น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโชคชะตานั้นกำหนดชีวิตและความเป็นไปให้แก่มนุษย์ บางครั้งแม้มนุษย์จะประสบผลสำเร็จในกิจการที่ต้องลงทุนด้วยความพากเพียรบากบั่นแทบล้มประดาตาย แต่ชะตากรรมกลับอำนวยผลให้แก่เขาด้วยความเจ็บปวด แม้กระทั่งนำความตายมาให้ในที่สุด
เมื่อเวตาลซึ่งนั่งสบายอยู่บนพระอังสาของพระเจ้าตริวิกรมเสนเล่าเรื่องจบลงระหว่างเดินมาตามทางในราตรีนั้น ก็พูดขึ้นว่า “ราชะ ในบรรดาชายสี่คนที่เล่ามานั้น ใครเป็นผู้ผิดที่สร้างสิงโตตัวนั้นขึ้นมา ทำให้ผู้อื่นรวมทั้งตัวเองต้องถูกฆ่าตายหมด โปรดบอกข้ามาเร็ว ๆ และอย่าลืมกติกาว่าถ้ารู้แล้วไม่ตอบอะไรจะเกิดขึ้น” เมื่อพระราชาได้ฟังเวตาลกล่าวดังนั้นทรงรำพึงว่า “อ้ายผีตัวนี้ อยากจะให้ข้าพูดเพื่อทำลายความเงียบ และถือโอกาสหนีไปตามเคย แต่ช่างเถอะข้ายินดีจะไปลากตัวมันกลับมาเอง” หลังจากที่ทรงตัดสินพระทัยแล้ว ก็ตรัสแก่เวตาลว่า “ชายคนหนึ่งในหมู่ชายทั้งสี่นั้น ผู้ซึ่งร่ายมนตร์ให้สิงโตมีชีวิตขึ้นมานั่นแหละที่เป็นคนผิด เพราะคนอื่นอีกสามคนนั้นเพียงแต่ร่ายมนตร์ขึ้นเพื่อให้เกิดเนื้อ หนัง ขน และแขนขา โดยไม่รู้ว่าตนกำลังสร้างสัตว์ชนิดใดขึ้นมา ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ใช่ผู้ผิด เพราะเขาเพียงแต่โง่เขลาตามสันดานเท่านั้น แต่ชายคนนี้ (คือคนที่สี่) เขารู้และเห็นอยู่แล้วว่ามันเป็นสัตว์อะไร กลับไปให้ชีวิตมัน โดยจะอวดวิชาของตนเท่านั้น เขาจึงผิดเต็มประตู เพราะเป็นต้นเหตุแห่งความตายของทุกคน”
เวตาลเมื่อได้ฟังคำตอบจากพระราชาดังนั้น ก็หายวับไปจากพระอังสาของพระองค์ด้วยมายาเวทที่ตนชำนิชำนาญ และกลับไปอยู่บนต้นอโศก ทำให้พระเจ้าตริวิกรมเสนต้องเสด็จกลับไปเอาตัวมันกลับมาอีกครั้งหนึ่ง


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 6 กันยายน 2554 เวลา:0:43:13 น.  

 
นิทานเรื่องที่
๒๓
ครั้นแล้ว พระราชาตริวิกรมเสนก็เสด็จกลับไปทางเดิม ถึงต้นอโศกก็ดึงตัวเวตาลกลับลงมา แม้มันจะแปลงตัวร้อยอย่างพันอย่างเพื่อตบตาพระองค์ แต่ในที่สุดก็ยอมแพ้ พระราชาจับมันพาดพระอังสาแล้วเสด็จไปตามทาง ทรงนิ่งเงียบไม่ตรัสอะไรเลย ในที่สุดเวตาลก็เป็นฝ่ายพูดขึ้นเองว่า “โอ ราชะ ถ้าจะว่าไปธุรกิจส่วนพระองค์ที่จะต้องทำก็ยังมาไม่ถึง แม้จะต้องทรงพากเพียรอีกมาก อย่ากระนั้นเลย ข้าจะเล่านิทานดี ๆ ให้ฟังสักเรื่องหนึ่งจะได้หายเหนื่อย”
ในแคว้นลิงคะ มีเมืองหนึ่งชื่อโศภาวดี สวยงามราวกับนครอมราวดีของท้าวศักระ อันเป็นที่อาศัยของผู้ชอบธรรมทั้งหลาย เมืองนี้มีกษัตริย์ชื่อประทยุมน์ปกครองอยู่ พระองค์เป็นผู้กล้าหาญและเป็นชายชาตรีเหมือนดังเทพประทยุมน์ (ประทยุมน์ – โอรสคนสำคัญของพระกฤษณะ (นารายณ์อวตารปางที่ ๘) กับนางรุกมิณี ถือกันว่ามีรูปโฉมงดงามยิ่งกว่าชายทั้งหลายในโลก เพราะพระกามเทพกลับชาติมาเกิดเป็นมนุษย์ หลังจากที่ถูกพระศิวะเผาไหม้เป็นจุณจนไม่มีรูปร่างมาช้านาน แต่ในที่สุดพระศิวะมีความสงสารนางรตี ชายาของกามเทพที่พลัดพรากสามีและมีความเศร้าโศกน่าสงสาร พระมหาเทพจึงอนุญาตให้กามเทพไปเกิดเป็นโอรสของพระกฤษณะ ส่วนนางรตีลงมาเกิดเป็นนางมายาวตี ได้เป็นชายาของพระประทยุมน์ ต่อมาพระประทยุมน์ได้ชายาใหม่ชื่อนางกกุทมตี และโอรสด้วยกันชื่ออนิรุทธิ์) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแห่งพระนามของพระองค์ ถ้าจะค้นหาสิ่งซึ่งเรียก ว่าความชั่วแล้วไซร้ก็เห็นจะเป็นไปได้เพียงชื่อของยุคสมัย (กลียุค) เท่านั้นเอง
ส่วนหนึ่งของพระนครโศภาวดีนี้เป็นเขตที่พระราชทานให้เป็นหมู่บ้านพราหมณ์โดยเฉพาะ เรียกว่า ยัชญสถล ฉะนั้นที่ชุมนุมพราหมณ์แห่งนี้จึงคลาคล่ำไปด้วยผู้รู้ทั้งหลาย ที่หมู่บ้านยัชญสถลนี้เอง มีพราหมณ์มหาศาลผู้ชำนาญพระเวททั้งสี่ มีนามว่า ยัชญโสม เขาเป็นผู้ที่ทำพิธีสังเวยไฟเป็นประจำเพื่อสวัสดิมงคลของผู้มาเยือนและเพื่อสังเวยทวยเทพทั้งปวง ยัชญโสมผู้นี้มีชีวิตล่วงวัยหนุ่มมาช้านาน จนมีอายุมากจึงได้บุตรชายคนหนึ่งสมใจจากนางผู้เป็นภริยาที่ดีพร้อม เขาจึงถือว่าบุตรของเขากับนางได้รับพรจากพระผู้เป็นเจ้าโดยแท้ เด็กชายผู้นั้นจำเริญวัยขึ้นในบ้านของบิดา เป็นที่รักดังดวงใจของพ่อแม่ ท่านบิดาจึงตั้งชื่อให้ว่า เทวโสม จำเนียรกาลต่อมาเด็กหนุ่มอายุได้สิบหกปี มีความรู้ในพระเวทและศิลปะศาสตร์ต่าง ๆ ทำให้ได้รับความยกย่องจากคนทั้งหลายเป็นอันมาก แต่แล้วจู่ ๆ เด็กที่น่ารักคนนี้ก็สิ้นชีวิตโดยกะทันหันด้วยไข้ชนิดหนึ่ง ทำให้พ่อแม่เสียใจดังจะตายตามไปด้วย เฝ้าแต่กอดร่างบุตรชายอันหาชีวิตไม่แล้ว ร่ำไห้เพียงใจจะขาดรอน ทั้งสองคนเก็บศพลูกชายไว้ช้านานโดยไม่ยอมให้ใครเอาไปเผา
ดังนั้นพราหมณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านนั้นก็มาประชุมกัน และกล่าวให้สติแก่พราหมณ์สามีภรรยาคู่นั้นว่า “แน่ะพราหมณ์ ท่านควรจะมีสติพิจารณาว่า ไม่มีปาฏิหาริย์ใด ๆ หรอกที่จะช่วยให้เขามีชีวิตกลับคืนมาอีก ปาฏิหาริย์เช่นเดียวกับฟองบนผิวน้ำ แลดูเหมือนจะมีแก่นสาร แต่มันก็แตกง่าย แล้วก็ไม่เหลืออะไรเลยนอกจากอากาศธาตุ จงดูเยี่ยงกษัตริย์มหาศาลผู้ทรงเดชานุภาพ มีกองทหารเต็มโลก ใคร ๆ ก็สยบด้วยความกลัวเกรง กษัตริย์โง่เขลาเหล่านั้นเสวยความสุขอยู่ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลก แล้วยังหลงว่าตนเองจะได้กลายเป็นอมตะอีกเล่า สุขสำราญอยู่ในวังอันวิจิตร นั่งนอนบนเตียงประดับไปด้วยแก้วมณี มีแต่เสียงดนตรีประโคมกล่อมอย่างไพเราะเสนาะหู แต่พอตายลง มีอะไร เขาก็เอาร่างของจอมราชันนั้นอาบน้ำ เอาประทิ่นของหอมเช่นผงจันทน์ชโลมลูบไล้ นอนสงบนิ่งอยู่บนบรรจถรณ์ มีนางร้องไห้ขับเสียงแสดงโศกาดูรเพียงจิตใจจะแตกสลาย แล้วหลังจากนั้นก็ถูกเขายกร่างไปตั้งบนจิตกาธาน จุดไฟเผามอดไหม้ไปเหลือแต่กระดูกและอังคาร คนทั้งหลายก็มีสภาพอย่างเดียวกันนี้แหละ ไม่มีปาฏิหาริย์ใด ๆ จะช่วยใครให้ฟื้นคืนชีพได้หรอก ไม่มีใครหนีความตายได้ แล้วตัวท่านจะเอาแต่กอดศพคร่ำครวญอยู่ไย” คนอื่น ๆ อีกหลายคนก็กล่าวเตือนสติสองผัวเมียด้วยคำพูดคล้าย ๆ กันนี้
บรรดาญาติพี่น้องเห็นว่าสองผัวเมียค่อยได้สติแล้วก็ค่อยดึงร่างพราหมณ์ทั้งสองออกจากการกอดรัดลูกชาย จัดการแต่งศพให้เรียบร้อย นำขึ้นแคร่ตรงไปยังสุสาน ตั้งศพบนจิตกาธานเพื่อจุดไฟเผา ในเวลาดังกล่าวนั้นเอง ปรากฏว่ามีนักบวชประเภทปาศุบตผู้หนึ่ง ตั้งอาศรมอยู่ในบริเวณสุสานนั้น นักพรตผู้นี้เป็นผู้ชำนาญในมายาศาสตร์คนหนึ่ง มีชื่อว่า วามศิวะ ร่างกายเหี่ยวย่นด้วยเส้นเอ็นปูดระเกะระกะ อันเกิดจากชราภาพและบำเพ็ญตบะทรมานร่างกายมาช้านาน ร่างกายถูกชโลมด้วยขี้เถ้าจากที่เผาศพจนดูขาวโพลนไปหมด มีมวยผมขมวดมุ่นบนศีรษะ ภาพลักษณ์ทั้งหมดดังกล่าวนี้ทำให้วามศิวะดูเหมือนพระศิวะจริง ๆ ฤษีนั่งเล่นอยู่ในอาศรม พอได้ยินเสียงผู้คนร้องไห้คร่ำครวญอยู่ไกล ๆ ในป่าช้า จึงกล่าวแก่ศิษย์ที่อาศัยอยู่ด้วยกันว่า “เฮ้ย ลุกขึ้น ลองออกไปดูซิว่าเสียงนั่นมาจากไหน รีบไปเร็ว ๆ แล้วกลับมารายงานข้า การณ์ปรากฏว่าศิษย์ที่อาจารย์เรียกไปใช้นั้นเป็นคนที่ถือมั่นในปฏิญญาว่าจะเสพอาหารก็แต่เฉพาะบิณฑบาต มาได้เท่านั้น ตัวศิษย์คนนี้เป็นคนโง่และเป็นคนชั่ว เย่อหยิ่งหลงตัวเองจองหองว่าตนมีฌาน รู้เวทมนตร์มายาศาสตร์และอื่น ๆ ในประเภทเดียวกัน ขณะที่อาจารย์เรียกตัวมาใช้ เขากำลังอารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดพาลรีพาลขวางเพราะอาจารย์ชอบหาเรื่องด่าเขาบ่อย ๆ ดังนั้นเมื่ออาจารย์ใช้เขาคราวนี้อีก เขาจึงตอบไปว่า “ข้าไม่ไป ท่านไปเองสิ เพราะเวลาบิณฑบาตของข้าเหลือน้อยเต็มที ข้าจะต้องรีบไป” เมื่ออาจารย์ได้ฟังดังนั้น ก็กล่าวว่า “เจ้านี่มันน่าด่าเสียจริง ๆ โง่เง่าและเห็นแก่กินเป็นเรื่องใหญ่ เวลานี้ก็เพิ่งผ่านไปครึ่งยามเท่านั้น จะว่าถึงเวลาบิณฑบาตแล้วอย่างไร” เมื่อศิษย์ชั่วได้ยินดังนั้นก็โกรธมากกล่าวว่า “คนอย่างเจ้ามันก็น่าด่าเหมือนกัน อ้ายแก่สกปรก ข้าไม่ใช่ลูกศิษย์ของเจ้าอีกแล้ว และเจ้าก็ไม่ใช่ครูของข้าอีกต่อไป ข้าจะไปอยู่ที่อื่น เจ้าจงถือบาตรของเจ้าไปภิกขาจารเองเถอะ” เมื่อกล่าวดังนี้แล้วก็ลุกไปหยิบไม้เท้าและบาตรมาวางตรงหน้าอาจารย์แล้วก็เดินจากไป
ฝ่ายฤษีเมื่อลูกศิษย์หนีไปแล้ว ก็เดินไปหัวเราะไป และเดินทางมาถึงสถานที่เผาศพบริเวณสุสาน ก็เห็นศพพราหมณ์หนุ่มนอนอยู่บนกองฟืนเตรียมจะจุดไฟเผา ฤษีเฒ่าผู้มีมนตร์วิเศษก็เกิดความคิดว่าตนจะเข้าสิงร่างเด็กหนุ่มเพื่อละร่างชราน่าเกลียดของตนกลับไปเป็นหนุ่มอีกครั้งหนึ่ง คิดฉะนี้แล้วก็หลบออกไปด้านหนึ่งแล้วเปล่งเสียงร้องไห้ดัง ๆ หลังจากนั้นก็กระโดดโลดเต้นอย่างมีความสุข ต่อจากนั้นฤษีเฒ่าผู้ต้องการจะเป็นหนุ่มอีก ก็ละร่างของตนและร่ายมนตร์วิเศษเข้าสิงร่างเด็กหนุ่มในบัดดล ทันใดนั้นร่างของเด็กหนุ่มซึ่งนอนอยู่บนกองฟืนในจิตกาธาน ก็ขยับร่างและลุกขึ้นนั่งพร้อมกับอ้าปากหาวนอน เมื่อบรรดาญาติและคนทั้งหลายที่รายล้อมอยู่ ณ ที่นั้นแลเห็นก็พากันส่งเสียงตะโกนกึกก้องว่า “ไชโย เขาฟื้นแล้ว เขาฟื้นแล้ว”
ฝ่ายนักบวชเจ้าเล่ห์ ผู้เป็นหมอผีอาคมฉมัง ได้เข้าสิงพราหมณ์หนุ่มเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องการที่จะละศีลของตน (เพราะตนเป็นนักพรตอยู่) จึงประกาศแก่คนทั้งหลายว่า “เมื่อข้าเพิ่งตายลง ข้าละโลกนี้ไปสู่ปรโลก องค์พระศิวะได้มาช่วยให้ข้ากลับคืนชีวิตอีกครั้ง และพระองค์ตรัสแก่ข้าว่า พระองค์มีพระประสงค์ให้ข้าถือศีลบำเพ็ญพรตอย่างพวกนักบวชปาศุบต บัดนี้ข้าจะต้องไปสู่ที่อันวิเวก เพื่อบำเพ็ญพรตดังกล่าว หาไม่แล้วชีวิตข้าจะอยู่สืบไปมิได้ ดังนั้นข้าจะต้องจากพวกเจ้าไปแล้ว” กล่าวแก่บรรดาผู้มาชุมนุม ณ ที่นั้นแล้ว นักพรตผู้ตัดสินใจเด็ดขาด ก็ละคนทั้งหลายให้กลับไปบ้านของตน ตัวเองบังเกิดความยินดีและความเศร้า แต่ในที่สุดก็หักใจได้ ละทิ้งร่างเดิมเสีย กลายเป็นร่างชายหนุ่ม เดินทางออกจากที่นั้นท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง
เวตาล เมื่อเล่านิทานจบลง ก็กล่าวแก่พระเจ้าตริวิกรมเสนว่า “โอ ราชะ ช่วยอธิบายให้ข้าทราบหน่อยเถอะว่า เหตุใดนักมายาเวทผู้ยิ่งใหญ่คนนั้น เมื่อสิงร่างของคนอื่นจึงร้องไห้ในครั้งแรก และกระโดดโลดเต้นในครั้งหลัง ข้าอยากฟังเหตุผลอย่างมากเลย”
เมื่อพระราชาผู้ทรงรอบรู้กว่านักปราชญ์ทั้งหลาย ได้สดับปัญหาของเวตาลที่ทูลถามเช่นนั้น จะไม่พูดก็กลัวคำสาป จึงกล่าวทำลายความเงียบขึ้นด้วยคำตอบดังนี้ “เมื่อพิจารณาความรู้สึกของนักพรตผู้นี้แล้วจะเห็นได้ว่า ที่นักพรตร้องไห้ก็เพราะเขากำลังจะละทิ้งร่างเดิมเพื่อเข้าร่างใหม่ ก็ร่างเดิมนั้นเป็นของเขามาแต่กำเนิด และเขาอยู่กับสังขารนั้นมาช้านานหลายสิบปีจนแก่เฒ่า ก็ร่างนี้แหละที่พ่อแม่อุ้มชูเลี้ยงดูเขามาตั้งแต่ยังแบเบาะ เมื่อจะจากสังขารนี้ไปจะไม่ให้อาลัยอาวรณ์กระไรได้ ก็ความรักตัวเองนั้นเป็นอุปนิสัยสันดานของทุก ๆ คนมิใช่หรือ เพราะฉะนั้นเมื่อเขาจะต้องสูญเสียของที่รักไป เขาจึงเศร้าใจและร้องไห้ แต่การที่เขาเต้นรำทำเพลงเช่นนั้นก็เพราะว่า เขามีความสุขที่จะได้เข้าไปสู่ร่างกายใหม่ และจากการที่เขาจะกลายเป็นหนุ่มนั้น จะทำให้เขามีเวลาในการใช้ชีวิตได้อีกยาวนานหลายสิบปี เป็นกำไรชีวิตที่หาได้ยากอย่างหนึ่ง และจะทำให้เขามีเวลาอีกมากมายที่จะฝึกมายาเวทได้อย่างสบาย ๆ และจะก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปเป็นไหน ๆ และถ้าจะว่าไป ใครเล่าที่ไม่ยินดีต่อความเป็นหนุ่ม?”
เมื่อเวตาลซึ่งสิงอยู่ในศพได้ฟังคำตอบของพระราชาก็ยิ้มอย่างสมใจ กระโดดจากพระอังสาของพระราชา หายวับไปในความมืด กลับคืนไปยังต้นอโศกตามเดิม พระเจ้าตริวิกรมเสนผู้มีน้ำพระทัยอันเด็ดเดี่ยวและหนักแน่น เหมือนภูผาที่ไม่แคลนคลอนแม้ถึงคราวจะสิ้นกัปกัลป์ก็ตาม ทรงหันหลังกลับและวิ่งกวดผีเจ้าเล่ห์ไปอย่างเร็วเพื่อเอาตัวมันกลับมาอีกครั้งหนึ่ง


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 6 กันยายน 2554 เวลา:0:47:30 น.  

 
นิทานเรื่องที่
๒๔
พระเจ้าตริวิกรมเสนผู้วีระ หามีความย่อย่นต่อการเดินทางในค่ำคืนที่น่าสะพรึงกลัวไม่ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าที่พำนักของเวตาลนั้นอยู่ในสุสานของรากษสในความมืด ซึ่งมีแสงวอมแวมด้วยเปลวไฟจากเชิงตะกอนที่เผาศพ พระองค์เสด็จฝ่าเข้าไปจนถึงต้นอโศก ลากเวตาลเอาตัวมาพาดบ่าและเสด็จกลับทางเดิม
ระหว่างทางที่เดิน เวตาลซึ่งนั่งบนพาหาของพระราชา ก็ทำลายความเงียบ กล่าวขึ้นว่า “โอ ราชะ ข้าเหนื่อยเต็มทีแล้วที่ต้องกลับไปกลับมาหลายสิบเที่ยวตามพระองค์ จนข้าเบื่อเต็มที เอาเถอะ ข้าจะเล่านิทานถวายอีกสักเรื่องหนึ่งพร้อมกับมีปัญหายาก ๆ มาถาม จงฟังเถิด”
ในเขตที่ราบสูงเดกข่าน มีพระราชาองค์หนึ่งชื่อธรรมะ ครองแคว้นเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง เป็นผู้ทรงคุณธรรมเป็นเลิศ แต่พระองค์มีพระญาติหลายพระองค์ซึ่งไม่น่าไว้ใจ มเหสีของพระราชามีนามว่าจันทรวดี ซึ่งเสด็จมาจากถิ่นเดิมของพระนางคือ แคว้นมาลวะ พระนางเป็นผู้มีตระกูลสูง และมีคุณธรรมสูงเช่นเดียวกัน พระราชากับพระราชินีมีพระธิดาด้วยกันองค์หนึ่ง นามว่าเจ้าหญิงลาวัณยวดี เมื่อพระธิดามีอายุสมควรแก่การอภิเษกสมรส แต่ยังไม่ทันทำพิธีนั้น พระญาติวงศ์ก็ก่อการกบฏยึดราชอาณาจักรของพระราชาไปแบ่งปันกัน พระราชาพร้อมด้วยมเหสีและราชธิดา เสด็จหนีออกจากเมือง พร้อมกับเอาแก้วแหวนเงินทองของมีค่าติดพระองค์ไปด้วย พระราชาทรงตั้งพระทัยจะเสด็จไปสู่แคว้นมาลวะ อันเป็นที่อยู่ของพระบิดาของพระมเหสี พระราชาพร้อมด้วยครอบครัวเดินทางไปตลอดคืนก็บรรลุถึงป่าเชิงเขาวินธัย พอดีเป็นเวลารุ่งสาง พระสูรยาทิตย์ก็ขึ้นสู่ขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ฉายรัศมีเป็นแฉก ประหนึ่งหัตถ์ทิพย์กำลังห้ามไว้ แต่พระราชาและครอบครัวเสด็จถึงป่าใหญ่แล้วมิได้แลเห็นภยันตรายใด ๆ ก็พากันเดินผ่าป่านั้นไป หนทางอันรกเรื้อทำให้ทั้งสามองค์เจ็บเท้าระบมไปหมด เพราะถูกหญ้ากุศะอันแหลมคมบาดเอา หลังจากนั้นมินานทั้งสามพระองค์ก็มาถึงหมู่บ้านของพวกภิลละ เป็นชุมนุมชนใหญ่ เต็มไปด้วยผู้คนซึ่งเป็นพวกโจรลักเล็กขโมยน้อยในบ้านใกล้เรือนเคียง มันเอาทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นประหนึ่งด่านแรกของมฤตยูนคร
ฝ่ายพวกเหล่าร้ายแลเห็นพระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาแต่ไกล ทรงพัสตราภรณ์และประดับพระองค์ด้วยมณีรัตนะหลากสีงดงาม พวกศวระซึ่งถืออาวุธนานาชนิดก็กรูกันจะเข้ามาปล้น เมื่อพระเจ้าธรรมะทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ตรัสแก่พระราชธิดาและพระมเหสีว่า “พวกเจ้าป่าเถื่อนพวกนี้จะต้องจับพวกเจ้าก่อนแน่ ๆ เจ้ารีบหนีไปก่อนเถอะ” เมื่อพระเจ้าแผ่นดินตรัสดังนี้ พระมเหสีจันทรวดี และพระราชธิดาลาวัณยวดีตกพระทัยมาก รีบพากันหลบเข้าป่าไปทันที เหลือแต่พระราชาผู้กล้าหาญแต่พระองค์เดียวที่กวัดแกว่งอาวุธเข้าฟันแทงศัตรูอย่างไม่คิดแก่ชีวิต และฆ่าพวกศวระตายลงหลายคน พวกโจรก็ดาหน้าเข้ามาอีกและยิงธนูเข้ามาดังห่าฝน หัวหน้าพวกศวระเห็นพระราชาต่อสู้อย่างสุดฤทธิ์ดังนั้นก็ตะโกนเร่งพรรคพวกในหมู่บ้านให้มาช่วยสมทบอีก พวกโจรช่วยกันกลุ้มรุมเข้ารายล้อม ฟันโล่ของพระราชาหักกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และประหารพระราชาเสีย พวกโจรกรูเกรียวกันเข้าแย่งชิงเครื่องเพชรนิลจินดาเอาไปหมด แล้วพากันกลับคืนสู่หมู่บ้าน ขณะนั้นพระนางจันทรวดีซ่อนตัวอยู่ในป่า พร้อมทั้งธิดาแลเห็นเหตุการณ์โดยตลอดว่าพวกโจรช่วยกันรุมฆ่าพระสวามีเสียแล้ว ก็ตกพระทัยแทบสิ้นสติ รีบคว้าแขนพระธิดาวิ่งเตลิดเข้าไปในป่าลึกซึ่งอยู่ห่างไกลจากที่เดิมเป็นอันมาก มีความเหน็ดเหนื่อยสิ้นแรง จึงหลบเข้าแอบต้นไม้ใหญ่อันมีกิ่งก้านสาขาแผ่ครึ้มร่มเย็น และหญิงทั้งสองคนก็กอดคอกันนั่งร้องไห้ สถานที่คนทั้งสองมานั่งพักอยู่นี้คือโคนต้นอโศกริมบึงบัวอันกว้างใหญ่
ปรากฏว่ามีชายคนหนึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณใกล้เคียงกันนั้น ขี่ม้าออกมาโดยมีบุตรชายนั่งบนหลังม้าตัวเดียวกัน เพื่อไปล่าสัตว์เอามาทำอาหารเช่นที่เคยปฏิบัติเป็นประจำ พรานผู้นี้มีชื่อว่าจัณฑสิงห์ เมื่อเขาแลเห็นรอยเท้าของหญิงทั้งสองในบริเวณนั้น จึงกล่าวแก่สิงหปรากรมผู้เป็นลูกว่า “เราจะติดตามรอยเท้าอันสวยงามเหล่านี้ไป และถ้าเราได้พบหญิงทั้งสองผู้เป็นเจ้าของรอยเท้าจริง ๆ พ่อจะให้เจ้าเลือกนางในสองคนนั้นตามใจเจ้า” เมื่อจัณฑสิงห์กล่าวดังนี้ สิงหปรากรมผู้เป็นลูกก็ตอบว่า “ข้าจะเลือกผู้หญิงเจ้าของรอยเท้าเล็กมาเป็นเมีย เพราะข้ารู้ว่าในจำนวนรอยเท้าทั้งใหญ่และเล็กที่เราเห็นนี้ รอยเท้าเล็กต้องเป็นเด็กสาวแน่ ๆ ข้าจะเอาคนนี้ ส่วนอีกแบบหนึ่งเป็นรอยเท้าใหญ่ คงจะมีอายุมากกว่า ข้าคิดว่าเหมาะสมแก่พ่อแล้ว” เมื่อจัณฑสิงห์ได้ยินลูกชายกล่าวดังนั้นก็ตะคอกว่า “เจ้าพูดว่าอะไรนะ แม่ของเจ้าเพิ่งตายไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ และข้าต้องเสียนางไปด้วยความรักและเสียดาย ข้าจะมีกะใจต่อหญิงอื่นได้หรือ” ฝ่ายบุตรชายได้ฟังก็ห้ามว่า “พ่อจ๊ะ อย่าพูดอย่างนี้สิ บ้านเรือจะขาดแม่เหย้าแม่เรือนเป็นผู้ดูแลไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นพ่อไม่เคยฟังบทกวีของท่านมูลเทพหรืออย่างไร เขาเขียนไว้ว่า ใครก็ตามถ้าไม่เป็นอ้ายโง่ ก็คงไม่เข้าไปสู่เรือนอันว่างเปล่าที่เขารู้ว่าไม่มีนางอันเป็นที่รัก เฝ้าคอยการกลับบ้านของเขาอยู่ เพราะบ้านอย่างนั้นถึงจะเรียกกันว่าบ้าน แต่ความจริงมันก็คือกรงขังที่ไม่มีโซ่ตรวนนั่นเอง ดังนั้น พ่อจ๋า พ่อจะต้องเสียใจเพราะความตายของข้าจะไปคอยอยู่ที่ประตูบ้านนั้นเทียว ถ้าหากพ่อไม่ยอมแต่งงานกับหญิงคนที่เป็นสหายกับแม่ยอดรักของข้า”
เมื่อจันฑสิงห์ได้ฟังคำของลูกชายก็ตกลงใจยินยอม และพาลูกชายติดตามรอยเท้าของหญิงทั้งสองต่อไป ในที่สุดก็มาถึงริมบึงบัว ทั้งสองแลเห็นราชินีจันทรวดีผิวดำ มีเครื่องประดับกายคือสร้อยมุกดาเส้นยาวที่พระศอ นั่งอยู่ในร่มเงาของต้นไม้ต้นหนึ่ง นางดูราวกับราตรีตอนเที่ยงคืนที่ทอดอยู่บนฟากฟ้าในเวลากลางวันแสก ๆ และธิดาของนางคือลาวัณยวดีนั้นเล่าก็เหมือนกับแสงจันทร์อันผ่องใสบริสุทธิ์ ที่ฉายอาบเรือนร่างของนาง นายพรานกับลูกชายประจักษ์ภาพอันโสภาดังนั้น ก็เดินตรงเข้าไปหา ส่วนพระเทวีแลเห็นดังนั้นก็ลุกขึ้นยืน ร่างกายสั่นเทิ้มด้วยความหวาดกลัว และคิดว่าเขาเป็นโจร แต่นางผู้เป็นธิดาของพระเทวีหาได้คิดเช่นนั้นไม่ นางกล่าวแก่มารดาว่า “แม่จ๋า อย่ากลัวไปเลย ชายนี้มิใช่โจรหรอก บุรุษทั้งสองนี้ล้วนแต่หน้าตาดี แต่งตัวดี ท่าทางจะเป็นผู้ดีบางคนที่มาล่าสัตว์เป็นงานอดิเรกมากกว่า” อย่างไรก็ดี พระเทวีก็ยังไม่ปลงใจเชื่อ และแสดงอาการละล้าละลังอยู่ จัณฑสิงห์แลเห็นก็ลงจากหลังม้าและกล่าวแก่หญิงทั้งสองว่า “อย่าตกใจไปเลยแม่คุณ เรามาที่นี่ก็เพราะความรักชักนำมาหรอก เพราะฉะนั้นจงวางใจเถิด เรื่องราวความเป็นมาของเจ้าเป็นอย่าง อย่ากลัวเราเลย พูดมาให้หมด เรารู้สึกเหมือนเจ้าทั้งสองเหมือนดังเทวีรตีกับรีติ (นางรตี กับปรีติ นางรตีเป็นชายาชองกามเทพ ส่วนปรีติมีความหมายเหมือนรตี คือแปลว่า ความรื่นรมย์ ความยินดี เข้าใจว่าทั้งสองชื่อนี้น่าจะเป็นคน ๆ เดียวกัน) หนีมาสู่ป่านี้เพราะความเศร้าโศกที่พระกามเทพถูกเผาผลาญด้วยไฟกรดจากพระเนตรของพระศิวหรือ และเจ้าทั้งสองเข้ามาสู่ป่าลึกที่ไร้ผู้คนอย่างที่นี่ได้อย่างไร ทั้งนี้เพราะรูปลักษณ์ของเจ้าน่าจะอยู่แต่ในรัตนนิเวศน์เท่านั้น หัวใจของเราต้องทนทุกข์ทรมานด้วยความคิดอันเจ็บปวดที่ว่า ฝ่าเท้าอันแบบบางอ่อนละมุนของเจ้า ควรจะอยู่บนพรมอันอ่อนนุ่ม กลับมาต้องบุกดงพงหนามอันทำให้เจ็บปวดมิใช่น้อย ยังฝุ่นละอองที่ฟุ้งขึ้นมาจากการก้าวย่างนั้นเล่า ก็มาเกาะติดตามหน้าตาและผิวพรรณ ทำให้หม่นหมองเสียเปล่า ๆ ทั้งแสงอาทิตย์อันแผดจ้าก็ทำให้ร่างอันงาม สลวยแบบางปานกลีบดอกไม้ของเจ้า ต้องระทดระทวย อ่อนแรงลง เพียงแต่คิดแค่นี้หัวใจข้าก็พลอยเจ็บปวดไปหมด พูดมาเถิด เจ้าเข้ามาอยู่ในป่านี้ อันมีแต่สัตว์ร้ายได้อย่างไร”
เมื่อได้ฟังจัณฑสิงห์ถามดังนี้ พระเทวีก็ถอนพระทัย มีความละอายและความโศกเศร้ายิ่งนัก ค่อยรวบรวมความกล้า และเล่าเรื่องให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ฝ่ายจัณฑสิงห์แลเห็นพระนางไร้ที่พึ่ง และไร้ผู้ปกป้องคุ้มครองเป็นที่น่าสงสาร จึงปลอบโยนเอาใจทั้งพระราชินีและธิดาให้คลายทุกข์ และขอร้องให้ผู้เคราะห์ร้ายทั้งสองมาอยู่กับครอบครัวของตน ครั้นแล้วจัณฑสิงห์กับบุตรชายก็พาสอง แม่ลูกขี่ม้าเดินทางไปยังเมืองวิตตปบุรี อันเป็นที่อยู่ของตน พระเทวีนั้นเป็นผู้ที่ไร้ที่พึ่ง เมื่อได้รับความอนุเคราะห์ให้พ้นจากความลำบาก ก็ดีพระทัยราวกับตายแล้วได้เกิดใหม่ ก็หญิงที่ไร้ที่พึ่งและถูกทิ้งให้อ้างว้างเดียวดายเช่นนางและธิดาจะทำอะไรยิ่งไปกว่านี้ได้เล่า สิงหปรากรมบุตรชายของจัณฑสิงห์ ก็ตั้งนางจันทรวดีเทวีเป็นภรรยาของตนเพราะนางมีเท้าเล็ก ส่วนจันฑสิงห์ก็แต่งงานกับนางลาวัณยวดี ผู้เป็นธิดาของพระเทวี เพราะนางมีเท้าใหญ่ ตามสัญญาที่ตกลงกันไว้แต่แรกว่า ผู้เป็นพ่อจะแต่งงานกับหญิงเจ้าของรอยเท้าใหญ่ ส่วนผู้เป็นลูกจะแต่งงานกับนางผู้เป็นเจ้าของรอยเท้าเล็กคือพระราชินี ตกลงชายทั้งสองคาดการณ์ผิด เพราะรอยเท้าเล็กกลับเป็นแม่ ส่วนรอยเท้าใหญ่กลับเป็นลูก เรื่องนี้ได้เปลี่ยนฐานะของหญิงทั้งสองไปโดยปริยาย กล่าวคือลูกสาวกลับกลายเป็นแม่ยายของแม่ ส่วนหญิงมารดาคือพระเทวกลับกลายเป็นสะใภ้ของลูกสาวตัวเอง ในกาลต่อมาหญิงทั้งสองนั้นมีลูกกับผัวหลายคน เป็นชายบ้างเป็นหญิงบ้าง แล้วในเวลาล่วงไป ลูกของคนเหล่านั้นก็แต่งงานไป มีลูกเต้าของตนเองอีกเป็นอันมาก
เมื่อเวตาลเล่านิทานตองตนจบลง ก็สะกิดพระราชาตริวิกรมเสน แล้วตั้งคำถามว่า “เอาละ ราชะ พระองค์อย่าเพิ่งงงเสียก่อน ข้าอยากรู้ว่าบรรดาลูก ๆ ที่เกิดจากหญิงทั้งสองลงมาจนแยกเป็นสองสายนั้น นับเนื่องเป็นอะไรกัน จะเรียกขานกันว่ากระไร โปรดบอกมาสิว่าปัญหานี้มีคำตอบอย่างไร แต่โปรดอย่าทรงลืมว่า ถ้าพระองค์รู้แล้วแต่ไม่ตอบ คำสาปที่จะตกลงบนพระองค์นั้นคืออะไร”
เมื่อพระราชาได้ฟังคำถามของเวตาลเช่นนั้น ทรงไตร่ตรองแล้วไตร่ตรองเล่า รู้สึกวนเวียนพระเศียร นึกไม่ออกว่าจะตอบอย่างไรดี จึงเสด็จต่อไปในความเงียบ ไม่ตรัสอะไร ในที่สุดเวตาลผู้สิงอยู่ในศพที่พระองค์ทรงแบกไว้บนอังสาก็หัวเราะหึหึ และรำพึงว่า “ฮ่า ฮ่า พระราชาไม่รู้คำตอบจริง ๆ จึงเสด็จไปตามทางเงียบ ๆ ด้วยพระบาทที่ชาไปหมดเช่นนี้ น่าสงสารนัก บัดนี้ข้าจะหลอกลวงพระองค์ผู้เปรียบดังขุมทรัพย์อันประเสริฐ และเป็นผู้วีระเห็นปานนี้ได้อย่างไร ข้าจะไม่ถามพระองค์อีกแล้ว แต่ถึงข้าจะหยุดแล้วก็ตาม เจ้าโยคีทุศีล (โยคีศานติศีล) เจ้าอุบายนั่นคงจะไม่เลิกราง่าย ๆ ฉะนั้นข้าจะหลอกลวงมัน และทำให้ผลแห่งตบะกรรมของมันกลับมาตกอยู่กับพระราชา ผู้ซึ่งความรุ่งโรจน์เรืองรองกำลังคอยท่าอยู่ในอนาคตของพระองค์”
เมื่อได้ไตร่ตรองดังนี้แล้ว เวตาลก็กล่าวแก่พระราชาว่า “โอ นฤบดี ถึงแม้พระองค์จะต้องกังวลพระทัย และเหน็ดเหนื่อยเพราะการเดินทางกลับไปกลับมาในสุสานอันน่ากลัวนี้มากมายหลายครั้งในราตรีอันดำมืดทุกทิศานุทิศ พระองค์ก็มิได้ทรงย่อท้อ ดูจะมีความสุขด้วยซ้ำ ข้ามีความพอใจในความกล้าหาญเยี่ยงนี้ยิ่งนัก บัดนี้ขอให้ทรงแบกศพนี้ต่อไป เพราะข้ากำลังจะออกจากร่างของมันเดี๋ยวนี้แล้ว จงฟังคำแนะนำของข้าให้ดี มันจะเป็นประโยชน์แก่พระองค์ไม่น้อย จงทำตัวเป็นปกติอย่ามีพิรุธ เจ้าโยคีชาติชั่วนั่นจะเรียกข้าเข้าไปในศพนั้น และจะยกย่องให้เกียรติข้าในฐานะเครื่องบูชายัณอันเป็นที่ปรารถนาอย่างสูงสุด และเพื่อจะเอาพระองค์เป็นเครื่องสังเวยในฐานะมนุษย์เมธ (การบูชายัณด้วยมนุษย์) มันจะกล่าวแก่พระองค์ว่า “โอ ราชัน จงทอดพระองค์ลงนอนบนพื้นดินแบบอัษฎางคประดิษฐ์ คือมีส่วนต่าง ๆ แปดอย่างแตะพื้นปฤถิวี” พอมันพูดอย่างนี้ พระองค์จะต้องกล่าวแก่มันว่า “ท่านลองแสดงให้ข้าดูก่อนว่าเขาทำท่านั้นอย่างไร แล้วข้าจะทำตามแบบนั้นทุกประการ” จากนั้นอ้ายโยคีทุศีลจะนอนคว่ำหน้าลงกับดิน และแสดงให้เห็นว่าท่าอัษฎางคประดิษฐ์เขาทำกันอย่างไร ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ พระองค์จะต้องรีบฟันมันให้คอขาดกระเด็นไปด้วยพระแสงดาบ แล้วพระองค์ก็จะได้รับรางวัลยอดปรารถนาที่มันอยากได้เป็นนักหนา นั่นคือตำแหน่งราชาแห่งวิทยาธร ขอพระองค์จงพอพระทัยในการที่เอามันเป็นเครื่องสังเวยสมปรารถนา ถ้าไม่ทำอย่างที่ข้าแนะ อ้ายโยคีศานติศีลจะเอาท่านเป็นเครื่องสังเวยของมัน และเพื่อป้องกันชีวิตของพระองค์ดังที่กล่าวมานี้ ข้าจึงเป็นต้องถ่วงเวลาพระองค์โดยให้เสด็จกลับไปกลับมาตามทางก่อน ที่พระองค์จะผลีผลามไปเป็นเหยื่อมันโดยไม่ได้คิดและป้องกันตัวเสียก่อน บัดนี้ได้เวลาแล้ว เสด็จไปเถิด ขอจงทรงพระเจริญ”
เมื่อเวตาลกล่าวจบลง ก็ออกจากศพที่พาดบนอังสาพระราชา ฝ่ายพระเจ้าตริวิกรมเสน เมื่อเวตาลจากไปแล้ว ก็ออกเดินทางไปสู่สำนักของโยคีศานติศีลผู้เป็นศัตรู เข้าไปนั่งใต้ต้นไทร มีศพพาดบ่า คอยท่าโยคีอยู่


โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 6 กันยายน 2554 เวลา:0:53:50 น.  

 
นิทานเรื่องที่
๒๕
พระราชาตริวิกรมเสน ทอดพระเนตรเห็นโยคีศานติศีล ก็เดินตรงเข้าไปหา ทรงพาดศพไว้บนอังสา ทรงเหลือบดูโดยรอบก็พบว่าโยคีผู้นั้นนั่งอยู่โคนต้นไม้แต่ลำพังในสุสาน ซึ่งดูอึมครึมในค่ำคืนอันมืดสนิทเพราะเป็นกาฬปักษ์ ท่าทางโยคีผู้นั้นดูกระวนกระวาย แสดงว่ากำลังคอยการมาถึงของพระองค์อยู่ ที่นั่งของฤษีชั่วผู้นี้อยู่ในวงมณฑลสีเหลือง ซึ่งป่นเป็นผงจากกระดูกที่ป่นแล้วบนพื้นดิน ละเลงด้วยเลือดสีแดงสด และมีเลือดในโถอีกสี่ใบซึ่งตั้งอยู่ประจำทิศทั้งสี่ มีตะเกียงที่ใช้มันสมองมนุษย์เป็นน้ำมันหล่อเลี้ยงสะบัดแสงวับแวม และใกล้ ๆ กันนั้นมีกองกูณฑ์สำหรับเผาเครื่องสังเวย ซึ่งมีอยู่เต็มที่ถูกต้องตามลักษณะยัชญพิธีสำหรับฤษีใช้พลีแก่เทพผู้เป็นที่โปรดปรานของตน
พระราชาเสด็จตรงเข้าไปที่โยคีศานติศีล เมื่อโยคีเห็นพระราชานำศพมาให้ตามต้องการก็ลุกขึ้นยืนต้อนรับด้วยความยินดี และกล่าวสัมโมทนียกถาขึ้นว่า “สาธุ มหาราชะ พระองค์สู้อุตส่าห์นำของที่ข้าต้องการมาให้ด้วยความยากลำบาก เป็นความจริงโดยแท้ที่ใคร ๆ เขาพากันสรรเสริญพระองค์ว่าเป็นพระราชาอันประเสริฐ เป็นผู้กล้าหาญซึ่งไม่มีใครสามารถหักได้ พระองค์เป็นผู้ไม่เห็นแก่ตัวเอง แลเห็นประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง นักปราชญ์กล่าวว่า ความยิ่งใหญ่ของมหาบุรุษอยู่ที่ว่า เขาไม่เคยย่อท้อต่องานที่เขาได้รับมอบหมายให้ทำ เขามุ่งมั่นฝ่าฟันอุปสรรคเต็มที่ ทั้ง ๆ ที่ตกอยู่ในอันตราย”
โยคีกล่าวคำพูดอย่างนี้ เพราะมีความอิ่มอกอิ่มใจว่า ตนกำลังจะบรรลุผลสุดท้ายในสิ่งอันปรารถนาสูงสุดแล้ว จึงนำศพลงจากอังสาของพระราชา เอาศพไปอาบน้ำ แล้วเอาน้ำมันจันทน์และของหอมต่าง ๆ มาชโลมร่างจนทั่ว เอาพวงมาลาคล้องคอศพนั้น แล้วเอาศพไปวางไว้ในเขตวงกลมบนพื้นดิน จากนั้นโยคีก็แต่งตัวตนเอง เอาขี้เถ้ากระดูกผีมาทาตามร่าง แล้วสวมสายยัชโญปวีตที่ทอจากเส้นผมมนุษย์ จากนั้นก็นุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าของผู้ตาย สำรวมจิตตั้งสมาธิ ร่ายมนตร์เรียกเวตาลให้เข้ามาสิงในซากศพ และทำการบูชาด้วยการมอบบาตรอันมีค่ามาก (อรรฆบาตร) ให้ ในบาตรนั้นใส่ฟันผี ซึ่งติดมากับหัวกะโหลก และบูชาด้วยดอกไม้ และเครื่องหอมต่าง ๆ จากนั้นก็มอบดวงตามนุษย์ให้ และสังเวยเวตาลด้วยเนื้อสด ๆ ของมนุษย์ เมื่อเสร็จพิธีสังเวยแล้วโยคีทุศีลก็กล่าวแก่ท้าววิกรมาทิตย์ซึ่งนั่งอยู่ข้าง ๆ ว่า “เจ้าจงนอนคว่ำหน้าลงบนพื้น แสดงการเคารพด้วยอัษฎางคประดิษฐ์ต่อจอมราชันแห่งมหาเวทผู้มาสถิตอยู่ ณ ที่นี้ และเพื่อท่านจะได้เมตตาประทานพรแก่เจ้า ให้มีความสมปรารถนาตามใจที่เจ้าคิดทุกประการ”
เมื่อราชาได้ยินดังนี้ ทรงรำลึกถึงถ้อยคำของเวตาลที่สั่งเอาไว้ จึงกล่าวแก่โยคีว่า “ข้าแต่ท่านสาธุคุณ ข้าไม่รู้จักการทำอัษฎางคประดิษฐ์ ขอท่านจงทำให้ข้าดูก่อน เพื่อข้าจะได้ทำอย่างถูกต้อง” โยคีได้ฟังก็ทอดตัวลงนอนคว่ำด้วยลักษณะอัษฎางคประดิษฐ์ แสดงลักษณะอวัยวะแปดส่วนแนบพื้นดินให้ดู พระราชาเห็นได้ทีก็ถอดพระแสงดาบจากฝัก ฟันคอโยคีขาดกระเด็นไปในชั่วพริบตา จากนั้นพระราชาทรงผ่าอกโยคี ล้วงเอาหัวใจอันเป็นดอกบัวจากอกออกมา และมอบศีรษะกับหัวใจของโยคีร้ายให้เป็นรางวัลแก่เวตาล
ทันใดนั้นก็มีเสียงโห่ร้องกึกก้องของปีศาจทั้งปวงจากทุกทิศทุกทาง แสดงความยินดีแก่พระราชาผู้กำจัดนักพรตชั่วร้ายให้สิ้นชีวิตไป นำอิสรภาพมาสู่ภูตผีปีศาจอีกครั้งหนึ่ง เวตาลผู้สิงอยู่ในร่างศพก็กล่าวแก่พระราชาว่า “มหาราชัน เจ้าโยคีทุศีลมันทำทุกวิถีทางเพื่อหวังเป็นจักรพรรดิแห่งวิทยาธร แต่ก็ไม่สำเร็จ ส่วนพระองค์สิจะได้ตำแหน่งนั้นโดยความดีของพระองค์เอง ตำแหน่งนี้จะคอยพระองค์อยู่หลังจากที่ทรงเสวยสุขในโลกมนุษย์จนสิ้นอายุขัยแล้ว ข้าขอโทษในกาลที่แล้วมาในการที่ยั่วยวนประสาทพระองค์ แต่ก็ไม่ทรงถือโกรธต่อข้า บัดนี้ข้าจะถวายพรแก่พระองค์ ขอทรงเลือกอะไรก็ได้ตามใจปรารถนาเถิด”
พระเจ้าตริวิกรมเสนได้ฟังคำพูดของเวตาล ก็แย้มพระสรวล ตรัสว่า “เพราะเหตุที่เจ้ายินดีต่อข้า และข้าก็ยินดีในความมีน้ำใจของเจ้าเช่นเดียวกัน พรอันใดที่ข้าจะปรารถนาก็เป็นอันสมบูรณ์แล้ว ข้าเพียงแต่อยากจะขออะไรสักอย่างเป็นที่ระลึกระหว่างข้ากับเจ้า นั่นก็คือนิทานที่เจ้ายกปัญหามาถามข้าถึงยี่สิบสี่เรื่อง และคำตอบของข้าก็ให้ไปแล้วเช่นเดียวกัน แลครั้งที่ยี่สิบห้าคือวันนี้ถือเป็นบทสรุป แสดงอวสานของเรื่อง ขอให้นิทานชุดนี้จงมีเกียรติแพร่กำจายไปในโลกกว้าง”
เมื่อพระราชาตรัสดังนี้ เวตาลก็สนองตอบว่า “ขอจงสำเร็จ โอ ราชะ บัดนี้จงฟังเถิด ข้าจะกล่าวถึงคุณสมบัติที่ดีเด่นของนิทานชุดนี้ สร้อยนิทานอันร้อยรัดเข้าด้วยกันดังสร้อยมณีสายนี้ ประกอบด้วยยี่สิบสี่เรื่องเบื้องต้น แลมาถึงบทที่ยี่สิบห้า อันเป็นบทสรุปส่งท้าย นับเป็นปริโยสาน นิทานชุดนี้จงเป็นที่รู้จักกันในนามของเวตาลปัญจวิงศติ (นิทานยี่สิบห้าเรื่องของเวตาล) จงมีเกียรติยศบันลือไปในโลก และนำความเจริญมาสู่ผู้อ่านทุกคน ใครก็ตามที่อ่านหนังสือแม้แต่โศลกเดียว หรือเป็นผู้ฟังเขาอ่านก็เช่นเดียวกัน จักรอดจากคำสาปทั้งมวล บรรดาอมนุษย์ทั้งหลาย มียักษ์ เวตาล กุษมาณฑ์ แม่มด หมอผีและรากษส ตลอดจนสัตว์โลกประเภทเดียวกันนี้ จงสิ้นฤทธิ์เดชเมื่อได้ยินใครอ่านนิทาน อันศักดิ์สิทธิ์นี้” เมื่อเวตาลประสิทธิ์ประสาทวัจนะดังกล่าวนี้แล้วก็ออกจากศพและหายวับไปด้วยมายาเวท ไปสู่ที่อันพึงปรารถนา
พระศิวะเป็นเจ้าเมื่อทรงฟังนิทานกถาของเวตาลจบลง ทรงพอพระทัยมาก จึงแสดงพระองค์ให้ปรากฎ แวดล้อมด้วยเหล่าเทพทั้งปวง เพื่อให้พระราชาได้เห็นประจักษ์แก่ตา และตรัสแก่พระราชาผู้น้อมคารวะอยู่เบื้อหน้าว่า “ดีจริง ลูกของข้า สำหรับความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของลูกที่สามารถสังหารอ้ายโยคีทุศีลลงได้ มันใฝ่ฝันนักหนาที่จะได้เป็นราชาแห่งวิทยาธรทั้งหลาย นานมาแล้ว ข้าได้สร้างเจ้าขึ้นมาจากอนุภาคของตัวข้าเองให้เจ้าเป็นวิกรมาทิตย์ (ผู้กล้าหาญดังดวงอาทิตย์) เพื่อให้เจ้าได้ปราบปรามพวกอสูรร้ายซึ่งพากันมาเกิดในรูปของคนเถื่อน (มเลจฺฉ) และในวันนี้เจ้าก็ปรากฏให้ข้าเห็นในรูปของนักรบผู้ยิ่งใหญ่โดยแท้ในนามของตริวิกรมเสน เพื่อปราบปรามอาณาจักรต่าง ๆ และทวีปน้อยใหญ่ให้ราบคาบ และเป็นอธิราชผู้ครองโลกแต่ผู้เดียว หลังจากนั้นจักได้เป็นจักรพรรดิแห่งวิทยาธรทั้งหลายในสวรรค์ และหลังจากที่เจ้าได้ครองสวรรค์มาช้านานจนเกิดความเบื่อหน่ายแล้ว เจ้าก็จะสละแดนสวรรค์ไปด้วยใจอันแน่วแน่ และในที่สุดเจ้าก็จะได้บรรลุโมกษะ (ความหลุดพ้น) ข้าผู้เป็นพระเจ้า บัดนี้ข้าจะให้ดาบวิชัยยุทธ์แก่เจ้าเพื่อใช้ปราบศัตรูทั้งมวล จนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางอย่างที่ข้าว่าไว้”
เมื่อพระผู้เป็นเจ้าตรัสข้อความนี้แก่พระราชาวิกรมาทิตย์แล้ว ก็ยื่นพระแสงดาบอันเรืองเดชให้แก่พระราชาเป็นของขวัญ แล้วอันตรธานไปจากที่นั่น ฝ่ายพระเจ้าตริวิกรมเสน ทรงเห็นพระราชภารกิจที่ได้รับมากระทำบรรลุผลโดยสมบูรณ์แล้ว หมดเรื่องที่จะต้องทำต่อไปอีก ก็เสด็จกลับคืนนครประดิษฐาน (อุชชยินี) ณ ที่นั่น พระองค์ได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติจากอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงที่มาคอยเฝ้ารับเสด็จ และในกาลต่อมามินาน ชนทั้งหลายก็ได้ยินได้ฟังมหานิทานเรื่องที่พระองค์ได้ฟังมาตลอดราตรีที่สุสานอันน่ากลัวนอกพระนครนั้น ตลอดเวลากลางวันต่อมา พระองค์ทรงชำระสระสนานอินทรีย์ด้วยน้ำอันเอามาจากสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นทรงแจกมหาทานแก่คนทั้งหลายเพื่อบูชาพระศิวะ มีการเต้นรำทำเพลงนานาชนิดอย่างเอิกเกริกทั่วทั้งพระนคร ต่อจากนั้นมินานพระราชาผู้ทรงเทพอาวุธอันเรืองเดช ก็เสด็จออกไปกำราบปราบปรามบ้านเมืองน้อยใหญ่จนได้แผ่นดินโลก ตลอดจนทวีปใหญ่น้อยทั้งปวงเรื่อยลงไปทางทิศทักษิณ จนจรดมหาสาครที่แหลมกุมารี เมื่อทรงครองแผ่นดินโลกและมหาสาครทั้งเจ็ดแล้ว ทรงกระทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นพระจักรพรรดิเจ้าโลก และโดยความโปรดปรานของพระศิวะเป็นเจ้า พระองค์ได้เป็นจอมราชันแห่งวิทยาธร เสวยสมบัติโลกและสวรรค์มาช้านาน ก็บังเกิดความเบื่อหน่าย สละทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วบำเพ็ญเพียรอย่างสูงสุด ได้บรรลุโมกษธรรม เข้าถึงองค์พระศิวะเป็นที่พึ่ง ก็ได้รวมเข้าสู่องค์พระเป็นเจ้า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระองค์ชั่วนิรันดร
จบบริบูรณ์

.........................

เอกมฺปิ ปาปํ กโรติ ปาโปเยวาติ วุจฺจติ.
บุคคลทำความชั่วแม้ครั้งเดียวเขาก็เรียกว่าคนชั่วเหมือนกัน.


............ ปีศาจน้อยจอมซน ...





โดย: คืนฝันปีศาจน้อย วันที่: 6 กันยายน 2554 เวลา:1:00:40 น.  

 



สวัสดีวันพายุมาค่ะคุงผี



โดย: ญามี่ วันที่: 29 กันยายน 2554 เวลา:14:07:45 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

คืนฝันปีศาจน้อย
Location :
สมุทรสาคร Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




web stats
free counters
Friends' blogs
[Add คืนฝันปีศาจน้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.