Group Blog
 
<<
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
4 มกราคม 2555
 
All Blogs
 

ปีใหม่ไร้โรคาบูชาพระไภษัช ของศักดิ์สิทธิ์ ปี 2555

พันธุ์แท้พระเครื่อง
ราม วัชรประดิษฐ์



ภายหลังจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน การนับถือศาสนาพุทธในประเทศอินเดียก็ได้แบ่งแยกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ทางฝ่ายเหนือมีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพระเจ้ากนิษกะ พระองค์ทรงเป็นศาสนูปถัมภกทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ตลอดจนพระสงฆ์และศาสนสถานต่างๆ เป็นจำนวนมากมาย ณ แคว้นคันธารราฐ พระองค์ได้จัดประชุมสงฆ์ฝ่ายเหนือสังคายนาพระธรรมวินัยขึ้นที่เมืองบุรุษบุรีเมื่อปี พ.ศ. 624 เป็นเหตุให้พระไตรปิฎกเกิดแตกเป็น 2 นิกาย พระเจ้ากนิษกะทรงนับถือฉบับภาษา สันสกฤตที่สังคายนาขึ้นมาใหม่ เรียกกันว่า "พระ พุทธศาสนาลัทธิมหายาน"

พระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน จะมีคติความเชื่อว่า มีพระโพธิสัตว์เรียกว่าพระธยานิโพธิสัตว์อย่างหนึ่ง และมนุษย์โพธิสัตว์อย่างหนึ่ง นอกจากนี้ก็มีนางดารา คือพระชายาของพระโพธิสัตว์อีกมากมาย ทั้งหมดล้วนทรงอานุภาพและอวตารลงมายังโลกมนุษย์เพื่อช่วยเหลือมวลมนุษย์ และหนึ่งในหลายๆ พระองค์นั้นก็คือ "พระไภษัชคุรุ"

ด้วยความเมตตากรุณาที่พระ องค์ทรงมีแก่สัตว์โลก เพื่อบำบัดความเจ็บไข้แก่มนุษย์ที่มีความทุกข์ทั้งทางกายและจิตใจ พุทธศาสนิกชนจึงให้ความเคารพนับถือเป็น อย่างมาก และเกิดคตินิยมสร้างเป็นรูปเคารพขึ้น เพื่อผู้เจ็บไข้ได้ป่วยจะได้พากันไปสักการะขอพรจากพระองค์ให้พ้นทุกข์ภัยที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่ามีประจำอยู่ทุกวัดวาอารามเลยก็ว่าได้ ซึ่งคำว่า "ไภษัช" ก็คือคำว่า "เภสัช" นั่นเอง

พุทธลักษณะที่สำคัญของพระไภษัชคุรุ คือ พระหัตถ์ทรงบาตรน้ำพระพุทธมนต์ วัชระหรือตรีประคำ ดอกบัว อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นพุทธบริโภคประจำพระองค์ และตามคติความเชื่อของลัทธิมหายานนั้น ก่อนที่จะอธิษฐานขอพรตามความปรารถนานั้น ต้องมีการตีเกราะเคาะระฆัง สั่นกระดิ่ง เพื่อให้เกิดเสียงดังไปถึงพระองค์เพื่อทรงทราบเสียก่อน จึงจะเกิดความศักดิ์สิทธิ์

สืบต่อมาเมื่อผู้คนต้องมีการเดินทางรอนแรมตลอดจนทำมาค้าขายในแดนไกล จึงมีผู้คิดสร้างรูปเคารพ "พระไภษัชคุรุ" ให้มีขนาดเล็กในลักษณะพระเครื่อง เพื่อความสะดวกในการอาราธนาหรือพกติดตัวในเวลาเดินทาง เมื่อ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจะได้ทำน้ำพระพุทธมนต์เพื่อบำบัดได้

ซึ่งสมัยก่อนการแพทย์ยังไม่เจริญ หยูกยาต่างๆ ก็หาแสนยากเย็น ส่วน "เสียงดัง" เพื่อให้พระองค์ทรงรับทราบก่อนนั้น ก็มีการดัดแปลงโดยคว้านใต้ฐานให้กว้างและบรรจุเม็ดกริ่งลงไปแล้วปิดผนึกด้วยโลหะ ก่อนอธิษฐานขอพรก็เขย่าองค์พระให้เกิดเสียงดังเสียก่อน เรียกขานกันสืบต่อมาว่า "พระกริ่ง"

แรกเริ่มเดิมที "พระกริ่ง" สร้างขึ้นครั้งแรกในประเทศทิเบต เป็นที่นิยมกันมากในประเทศจีน, ทิเบต และขอม ต่อมาเมื่อมีการติดต่อค้าขายกับประเทศไทย รวมทั้งพุทธศาสนาลัทธิมหายานก็เผยแผ่เข้ามาเช่นกัน จากนั้นก็เริ่มมีการสร้าง "พระไภษัชคุรุ" และ "พระกริ่ง" ในประเทศไทยขึ้น พระกริ่งในประเทศไทยจึงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ พระกริ่งนอก และพระกริ่งใน

พระกริ่งนอก คือ พระกริ่งจากต่างประเทศ ที่เป็นที่นิยมสะสมกันในวงการพระเครื่องพระบูชาไทยนั้นเป็นพระชุด "เทียมตึ้งโงโจ้ว" ซึ่งแปลว่า ห้าพระศาสดาแห่งโลกธาตุ คือ พระกริ่งใหญ่ พระกริ่งหนองแส พระกริ่งบาเก็ง พระกริ่งจีนใหญ่ และพระกริ่งทีอ๋องหรือในภาษาจีนว่าพระกริ่งเทาะทะลีทีอ๋อง

ส่วน "พระกริ่งใน" ก็คือพระกริ่งที่สร้างขึ้นในประเทศไทย "ตำนานการสร้างพระกริ่ง" เริ่มขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากสมัยนี้มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติมากโดยเฉพาะประเทศจีน ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพนรัต แห่งวัดป่าแก้ว หรือวัดใหญ่ชัยมงคล ได้รับ "ตำราการสร้างพระกริ่ง" มาจากที่ใดไม่ปรากฏ และไม่มีหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด

ต่อมาตกทอดมายังสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนฯ แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างพระกริ่งอีกเช่นกัน กระทั่ง "ตำราการสร้างพระกริ่ง" ตกทอดมาถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร จึงปรากฏหลักฐานการจัดสร้างพระกริ่งขึ้นและทรงขนานพระนามว่า "พระกริ่ง ปวเรศฯ" ซึ่งถือว่าเป็นสุดยอดของพระกริ่งในประเทศไทย แต่หาดูได้ยากยิ่ง เพราะจำนวนการสร้างน้อยมาก ทรงแจกเฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายชั้นผู้ใหญ่เท่านั้นจึงไม่ค่อยแพร่หลายนัก จนตกมาถึงท่านเจ้าประคุณสม เด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทว) แห่งวัดสุทัศนเทพวราราม

มูลเหตุที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (แพ) เริ่มสนพระทัยเกี่ยวกับการสร้างพระกริ่งนั้นมีเรื่องเล่าว่า ขณะที่พระองค์ทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นพระศรีสมโพธิ ครั้งหนึ่งสมเด็จพระวันรัต (แดง) สมเด็จพระอุปัชฌาย์ของพระองค์ได้อาพาธท้องร่วง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเสด็จมาเยี่ยม และรับสั่งว่าเคยเห็นกรมพระยาปวเรศฯ สมเด็จพระอุปัชฌาย์ของพระองค์ อาราธนาพระกริ่งแช่น้ำอธิษฐานขอน้ำพระพุทธมนต์แล้วให้คนไข้ที่เป็นอหิวาตกโรคทานแล้วหายเป็นปกติมาแล้ว จึงรับสั่งให้นำพระกริ่งมาอาราธนาแช่น้ำอธิษฐานขอน้ำพระพุทธมนต์ นำไปถวายสมเด็จพระวันรัต (แดง) เมื่อท่านฉันน้ำพระพุทธมนต์แล้วโรคอหิวาตกโรคก็บรรเทา และหายเป็นปกติในเวลาต่อมา

หลังจากนั้นสมเด็จพระสังฆราช (แพ) จึงสนพระทัยในการสร้างพระกริ่งขึ้นเป็นลำดับ ค้นคว้าหาประวัติการสร้างพระกริ่ง ทรงหาแร่ธาตุตามที่ตำราบังคับไว้จนได้ครบ 9 ชนิด คือ ชิน, จ้าวน้ำเงิน, เหล็กละลายตัว, บริสุทธิ์, ปรอท, สังกะสี, ทองแดง, เงิน และทองคำ และจะทรงเป็นผู้ใช้ส่วนผสมด้วยพระองค์เองทุกครั้ง เพื่อให้เนื้อโลหะเป็นเนื้อนวโลหะกลับดำสนิท เรียกว่า "สัมฤทธิ์ดำ"

ซึ่งตาม ตำราโบราณาจารย์เชื่อกันว่ามีพุทธคุณในทางอำนาจ และความเจริญด้วยลาภ ยศ สักการะ จากนั้นนำมาแจกจ่ายแก่ศิษยานุศิษย์ และด้วยพุทธานุภาพนานัปการปรากฏแก่สายตาเป็นที่ประจักษ์นั่นเอง "พระกริ่ง" จึงเริ่มเป็นที่รู้จักและนิยมสะสมกันอย่างมากมาจนถึงปัจจุบัน มีอาทิ พระกริ่งเทพโมฬี พระกริ่งธรรมโกษาจารย์ พระกริ่งพรหมมุนี และ พระกริ่งวันรัต ปี 2479 เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการจัดสร้างกันอย่างแพร่หลายจากหลายๆ คณาจารย์ซึ่งมีพุทธานุภาพครอบจักรวาลและป้องกันรักษาโรคภัยไข้เจ็บมาแต่โบราณแล้วครับผม




 

Create Date : 04 มกราคม 2555
0 comments
Last Update : 4 มกราคม 2555 0:10:27 น.
Counter : 1113 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Panatee
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




Friends' blogs
[Add Panatee's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.