ถ้าท่านมีเมตตาจิต ท่านจะมีญาติมิตรทั่วบ้าน

 
เมษายน 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
26 เมษายน 2550
 

โลหิตจาง

โลหิตจาง...ยอดพุ่ง ตรวจเลือดก่อนแต่งแก้ไขได้












ความรักของชาย หญิง เมื่อเดินทางมาถึงจุด ๆ หนึ่ง ก่อนที่จะตกลงปลงใจด้วยการแต่งงานใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน เรื่องของเม็ดเลือดเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ถ้าไม่อยากให้ลูกน้อยที่เกิดขึ้นมาต้องเผชิญ กับ...โรคธาลัสซีเมีย

โรคธาลัสซีเมีย (thalassaemia) หรือที่รู้จักกันในชื่อของโรคโลหิตจาง จากการสำรวจของหลายสถาบันการศึกษา พบว่า มีผู้ที่มียีนผิดปกติ ที่เป็นพาหะของโรค ซึ่งสามารถถ่ายทอดโรค สู่บุตรหลานได้ มีอัตราสูงถึงร้อยละ 30-40 ของประชากรไทย คือ ประมาณ 18-24 ล้านคน การตั้งครรภ์ 5 ใน 100 คน เป็นการตั้งครรภ์ ที่เสี่ยงต่อการมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมีย คิดเป็นจำนวนการตั้งครรภ์ที่เสี่ยง ปีละ 50,000 ครรภ์ ทารกที่เกิดมาแต่ละครั้งจากการตั้งครรภ์ของคู่สมรส ที่เป็นพาหะจะมีโอกาสต่อการเป็นโรคธาลัสซีเมียประมาณ 1 ใน 4

ในแต่ละปีจะมีคู่สมรสเสี่ยงต่อการให้กำเนิดบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมีย ประมาณปีละ 48,500 คู่ โดยจะมีทารกเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียเพิ่มขึ้น ปีละ 12,125 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี

รศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต สาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมียให้ฟังว่า เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ที่เกิดจากการสร้างเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติ ซึ่งตามปกติคนเราจะสร้างเม็ดเลือดลักษณะคล้ายรูปจาน หรือรูปร่างคล้ายยางรถยนต์หรือขนมโดนัท คือ ลักษณะเป็นเซลล์กลม ๆ ที่มีรอยจางลงตรงกลาง เม็ดเลือดแดงจะไหลเวียนไปตามกระแสเลือดในร่างกายเพื่อขนถ่ายออกซิเจนจากปอดไปยังอวัยวะอื่น ๆ ออกซิเจนจะถูกบรรจุภายในเม็ดเลือดแดงโดยสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่าเฮโมโกลบิน ประกอบไปด้วยกลุ่มของโปรตีนที่สำคัญ 2 ชนิดเรียกว่า แอลฟาและเบต้าโกลบิน โปรตีนเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นโดยยีนหรือรหัสทางพันธุกรรมที่อยู่ในตำแหน่งของโครโมโซม 16 (แอลฟาโกลบิน) และโครโมโซม 11 (เบต้าโกลบิน)

ถ้าหากมีความผิดปกติของยีนหรือรหัสทางพันธุกรรมของโปรตีนเหล่านี้ตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งสองตัว จะทำให้เกิดความผิดปกติในแง่ของการสร้าง เฮโมโกลบินที่มีปริมาณลดลงหรือมีลักษณะที่ผิดปกติไปจะเรียกว่า ภาวะแฝงธาลัสซีเมีย ผลที่เกิดขึ้นจะทำให้มีการลดลงของการสร้างเฮโมโกลบินเพียงเล็กน้อยจึงไม่มีผลต่อสุขภาพโดยรวมของบุคคลนั้น อย่างไรก็ตาม หากมีความผิดปกติของยีนเบต้าโกลบินทั้ง 2 โครโมโซมหรือยีนแอลฟาโกลบินทั้ง 2 โครโมโซม จะทำให้มีการลดลงของการสร้างสายโกลบินเป็นอย่างมาก จึงทำให้เม็ดเลือดไม่สามารถที่จะถูกสร้างขึ้นได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม และไม่สามารถจะขนถ่ายออกซิเจนได้ตามปกติจะเรียกว่า โรคธาลัสซีเมีย ผลคือ จะทำให้เกิดภาวะซีดตั้งแต่อายุน้อยและซีดไปตลอดชีวิต และหากไม่มีแอลฟาโกลบินยีนเลย จะทำให้ทารกนั้นตายตั้งแต่อยู่ในท้องได้

“ภาวะแฝงธาลัสซีเมียนั้น ไม่ใช่โรคแต่เป็นสัญญาณบอกให้ทราบว่า บุคคลนั้น เป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมียที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพ บุรุษและสามารถถ่ายทอดต่อไปให้ยังบุตรหลานได้ในอนาคต โดยสายพันธุ์ธาลัสซีเมียที่จับคู่กัน และมีผลให้คู่สมรส มีโอกาสได้บุตรที่เป็นธาลัสซีเมีย จะต้องเป็นสายพันธุ์ชนิดเดียวกัน ส่วนสายพันธุ์ต่างชนิดกันจะไม่มีโอกาสให้กำเนิดบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียเลย”

ผู้เป็นโรคต้องได้รับยีนผิดปกติ จากทั้งบิดาและมารดาและยีนผิดปกติทั้งสองนั้นต้องเป็นพวกเดียวกัน หมายถึง แอลฟา-ธาลัสซีเมียด้วยกันหรือเบต้า-ธาลัสซีเมียด้วยกัน เนื่องจากยีนธาลัสซีเมียมีหลายชนิด การได้รับยีนผิดปกติมาเข้าคู่กันจึงมีหลายชนิดด้วย มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน ถ้ายีนที่เข้าคู่กัน เป็นพวกเดียวกันและเหมือนกันด้วย เรียกว่า เป็นโฮโมซัยกัส-ถ้าเป็นพวกเดียวกัน แต่ไม่เหมือนกัน เรียกว่า คอมปาวน์ เฮทเทอโรซัยกัส-และนอกจากนี้ ความรุนแรงยังแตกต่างกันมาก ตั้งแต่เป็นโรครุนแรงมากที่สุด จนถึงไม่มีอาการเลย

การถ่ายทอดทางพันธุกรรมและอัตราเสี่ยงของการเป็นโรคมีอยู่หลายกรณี ถ้าพ่อหรือแม่เป็นพาหะ (เฮทเทอ โรซัยโกต) เพียงคนเดียว โอกาสที่ลูกจะเป็นพาหะเท่ากับ 2 ใน 4 หรือครึ่งต่อครึ่ง แต่จะไม่มีลูกคนใดเป็นโรค

ถ้าพ่อและแม่เป็นพาหะ (เฮท เทอโรซัยโกต) ของธาลัสซีเมียชนิดเดียวกัน และเหมือนกัน โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคชนิดโฮโมซัยกัส-เท่ากับ 1 ใน 4 โอกาสที่จะเป็นพาหะ (เฮทเทอ โรซัยโกต) เท่ากับ 2 ใน 4 และปกติเท่ากับ 1 ใน 4

ถ้าพ่อและแม่เป็นพาหะที่ไม่เหมือนกัน แต่อยู่ในพวกเดียวกัน โอกาสที่ลูกจะเป็นโรค (คอมปาวน์เฮท เทอโรซัยโกต) เท่ากับ 1 ใน 4 เป็นพาหะแบบพ่อเท่ากับ 1 ใน 4 เป็นพาหะแบบแม่เท่ากับ 1 ใน 4 และเป็นปกติเท่ากับ 1 ใน 4

ถ้าพ่อและแม่ฝ่ายหนึ่งเป็นโรคชนิดที่เกิดจากยีนที่ไม่เหมือนกัน แต่เป็นพวกเดียวกัน เช่น เบต้า-ธาลัสซีเมียด้วยกัน หรือแอลฟา-ธาลัสซีเมียด้วยกัน (คอมปาวน์ เฮทเทอโรซัยโกต) และอีกฝ่ายหนึ่งไม่มียีนผิดปกติ ลูกทุกคนจะมีภาวะธาลัสซีเมียแฝงอยู่ (เป็นพาหะ-เฮทเทอโรซัยโกต) เท่านั้น ไม่เป็นโรค

ถ้าพ่อและแม่ฝ่ายหนึ่งเป็นโรค (โฮโมซัยโกต หรือคอมปาวน์ เฮทเทอโรซัยโกต) อีกฝ่ายหนึ่งเป็นพาหะ (เฮทเทอ โรซัยโกต) ของธาลัสซีเมียพวกเดียวกัน โอกาสที่ลูกจะเป็นพาหะเท่ากับ 2 ใน 4 และเป็นโรคเท่ากับ 2 ใน 4

โรคธาลัสซีเมียมีความรุนแรงหลายระดับ บางชนิดรุนแรงมากทารกเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์ บางชนิดอาการน้อย แต่จะซีดลงเมื่อมีไข้ไม่สบาย อาการของผู้ป่วยชนิดที่ค่อนข้างรุนแรง คือ ซีดเรื้อรัง ตาเหลือง อ่อนเพลีย เจริญเติบโตไม่สมอายุ ม้ามและตับโต ต้องรับการให้เลือดเป็นประจำ ทำให้มีธาตุเหล็กเกินสะสมในร่างกาย มีผลเสียต่ออวัยวะต่าง ๆ มีการเจ็บป่วยไม่สบายบ่อย ๆ มีผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตของตนเองและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง

การรักษาโรคส่วนใหญ่ เป็นการรักษาแบบประคับประคองให้เลือดเมื่อซีดลงมาก ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง การให้เลือดอย่างสม่ำเสมอจนหายซีดร่วมกับการให้ยาขับเหล็ก จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น ปัจจุบันในประเทศไทยสามารถรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมียให้หายขาดได้แล้ว โดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่ได้จากไขกระดูก หรือเลือดสายสะดือของพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน หรือจากผู้บริจาคที่มีเอชแอลเอ (HLA) ตรงกัน ในประเทศไทยการรักษาโรคโดยวิธีนี้ทำได้ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยหลายแห่ง แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

“คู่สมรสหรือสามีภรรยา ที่ยังไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะแฝงธาลัสซีเมียหรือไม่ ควรตรวจเลือดโดยวิธีพิเศษ เพื่อตรวจหาภาวะแฝงและโรคธาลัสซีเมีย ถ้าพบว่ามีภาวะแฝงทั้งคู่ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อดูว่ามีความเสี่ยงที่จะให้กำเนิดบุตรที่ป่วยหรือไม่ หรือโอกาสเป็นเท่าไร เพื่อประกอบการตัดสินใจ ในกรณีที่คู่สามีภรรยามีความเสี่ยงต่อการเกิดบุตรโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง และภรรยาตั้งครรภ์ แพทย์สามารถให้การวิเคราะห์วินิจฉัยโดยวิทยาการทันสมัยได้ตั้งแต่อายุครรภ์อ่อน ๆ ที่สถานพยาบาลของรัฐที่สามารถให้การรักษาได้การรักษาโดยการให้เลือดและยาขับเหล็กสามารถทำได้ทุกโรงพยาบาล โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลจังหวัดบางแห่ง สำหรับการรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตในผู้ป่วยเด็กนั้นปัจจุบันทำได้ 4 แห่ง คือโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า”

หากมีการวางแผนเพื่อลดหรือ ชะลอมิให้ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น จะสามารถประหยัดงบประมาณของประ เทศได้ อีกทั้งแม่จะได้ให้กำเนิดบุตรที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และมีคุณภาพ

ใส่ใจสักนิด เพื่อรอยยิ้มของชีวิตใหม่ที่จะลืมตาขึ้นมาดูโลก...

จุฑานันทน์ บุญทราหาญ




Create Date : 26 เมษายน 2550
Last Update : 26 เมษายน 2550 21:42:51 น. 0 comments
Counter : 271 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

PAKASAI
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีครับ ผมขอใช้พื้นบนอินเทอร์เน็ตเก็บความรู้ ที่ผมพบเจอมาและคิดว่าน่าใจ เก็บใว้อ่านเองและเพื่อนๆที่สนใจเช่นกันครับ
[Add PAKASAI's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com