ปีมะโรง ขอจงมีความสุข - Ole24Hour
<<
กันยายน 2552
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
15 กันยายน 2552

อานาปานสติกรรมฐาน...หลวงปู่มั่น

โยคาวจรกุลบุตรผู้เจริญอานาปาน สติกรรมฐานพึงเข้าไปอาศัยอยู่ในป่า หรือโคนไม้ หรืออยู่ในเรือนโรงศาลากุฏิวิหารอันว่างเปล่า เป็นที่เงียบสงัดแห่งใดแห่งหนึ่งอันสมควรแก่ภาวนานุโยคแล้ว พึงนั่งคู้บัลลังค์ขัดสมาธิเท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรงดำรงสติไว้ให้มั่น คอยกำหนดรู้ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก อย่าให้ลืมหลง เมื่อหายใจเข้าก็พึงกำหนดรู้ว่าหายใจเข้า เมื่อหายใจออกก็พึงกำหนดรู้ว่าหายใจออก

เมื่อหายใจเข้าออกยาวหรือสั้น ก็พึงกำหนดรู้ประจักษ์ชัดทุกๆ ครั้งไปอย่าลืมหลง อนึ่งท่านสอนให้กำหนดนับด้วย เมื่อลมหายใจเข้าและออกอันใดปรากฏแจ้ง ก็ให้นึกนับว่าหนึ่ง ๆ รอบที่สองนับว่าสองๆ ไปจนถึงห้าๆ เป็นปัญจกะ แล้วตั้งต้นหนึ่งๆ ไปใหม่ไปจนถึงหกๆ เป็นฉักกะ แล้วนับตั้งต้นใหม่ไปถึงเจ็ดๆ เป็นสัตตกะ แล้วนับตั้งต้นใหม่ไปจนถึงแปดๆ เป็นอัฏฐกะ แล้วนับตั้งแต่ต้นใหม่ไปจนถึงเก้าๆ เป็นนวกะ แล้วนับตั้งต้นใหม่ไปจนถึงสิบๆ เป็นทสกะแล้วกลับนับตั้งต้นใหม่ตั้งแต่ปัญจกะหมวด 5 ไปถึงทสกะหมวด 10 โดยนัยนี้เรื่อยไป

เมื่อกำหนดนับลมที่เดินโดยคลองนาสิกด้วย ประการดังนี้ ลมหายใจเข้าออกก็จะปรากฏแก่โยคาวจรกุลบุตรชัดและเร็วเข้าทุกที อย่าพึงเอาสติตามลมเข้าออกนั้นเลย พึงคอยกำหนดนับให้เร็วตามลมเข้าออกนั้นว่า

1. 2. 3. 4. 5.
1. 2. 3. 4. 5. 6.
1. 2. 3. 4. 5. 6. 7.
1. 2. 3. 4. 5. 6. 7. 8.
1. 2. 3. 4. 5. 6. 7. 8. 9.
1. 2. 3. 4. 5. 6. 7. 8. 9. 10.

พึงนับตามลมหายใจเข้าออกดังนี้ร่ำไป จิตก็จะเป็นเอกัคคตาถึงซึ่งความเป็นหนึ่ง มีอารมณ์เดียวด้วยกำลังอันนับลมนั้นเทียว บางองค์ก็เจริญแต่มนสิการกรรมฐานนี้ด้วยสามารถถอนนับลมนั้น ลมอัสสาสะ-ปัสสาสะ ก็ดับไปโดยลำดับๆ กระวนกระวายก็ระงับลง จิตก็เบาขึ้น แล้วกายก็เบาขึ้นด้วยดุจถึงซึ่งอาการอันลอยไปในอากาศ


เมื่อลมอัสสาสะ-ปัสสาสะหยาบดับลงแล้ว จิตของโยคาวจรนั้นก็มีแต่นิมิตคิลมอัสสาสะ-ปัสสาสะสุขุมละเอียดเป็นอารมณ์ เมื่อพยายามต่อไปลมสุขุมก็ดับลง เกิดลมสุขุมละเอียดยิ่งขึ้นประหนึ่งหายไปหมดโดยลำดับๆ ครั้นปรากฏเป็นเช่นนั้นอย่าพึงตกใจและลุกหนีไป เพราะจะทำให้กรรมฐานเสื่อมไป พึงทำความเข้าใจไว้ว่า ลมหายใจไม่มีแก่คนตาย คนดำน้ำ คนเข้าฌาณ คนอยู่ในครรภ์มารดาดังนี้แล


พึงเตือนตนเองว่าบัดนี้เราก็มิได้ตายลมละเอียดเข้าต่างหาก แล้วพึงคอยกำหนดลมในที่ๆ มันเคยกระทบเช่นปลายจมูกไว้ ลมก็มาปรากฏดังเดิม

เมื่อทำความกำหนดไปโดยนัย นี้ มิช้าอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตก็จะปรากฏโดยลำดับไป อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต ในอนาปานสติกรรมฐานนี้ย่อมปรากฏแก่โยคาวจรต่างๆ กัน บางองค์ปรากฏดังปุยนุ่นบ้างปุยสำลีบ้าง บางองค์ปรากฏเป็นวงช่องรัศมีบ้าง ดวงแก้วมณีแก้วมุกดาบ้างบางองค์ปรากฏมีสัมผัสหยาบ คือเป็นดังเมล็ดในฝ้ายบ้าง ดังเสี้ยนสะเก็ดไม้แก่นบ้าง บางองค์ปรากฏดังด้ายสายสังวาลย์บ้าง เปลวควันบ้าง บางองค์ปรากฏดังใยแมลงมุมอันขึงอยู่บ้าง แผ่นเมฆและดอกบัวหลวง และจักรรถบ้าง บางทีปรากฏดังดวงพระจันทร์พระอาทิตย์ก็มี การที่ปรากฏนิมิตต่างๆ กันนั้นเป็นด้วยปัญญาของโยคาวจรต่างกัน


อนึ่งธรรม 3 ประการ คือ ลมเข้า 1 ลมออก 1 นิมิต1 จะได้เป็นอารมณ์ของจิตอันเดียวกันหามิได้ลมเข้าก็เป็นอารมณ์ของจิตอันหนึ่ง ลมออกก็เป็นอารมณ์ของจิตอันหนึ่ง นิมิตก็เป็นอารมณ์ของจิตอันหนึ่ง


เมื่อรู้ธรรม 3 ประการนี้แจ้งชัดแล้วจึงจะสำเร็จอุปจารฌาณและอัปปนาฌาณ เมื่อไม่รู้ธรรม 3 ประการก็ย่อมไม่สำเร็จ อานาปานสติกรรมฐานนี้เป็นไปเพื่อตัดเสียซึ่งวิตกต่างๆ เป็นอย่างดีด้วยประการฉะนี้ฯ



Create Date : 15 กันยายน 2552
Last Update : 15 กันยายน 2552 22:39:24 น. 4 comments
Counter : 1415 Pageviews.  

 
อานาปานสติในนัยของวิปัสนา สามารถศึกษารายละเอียดได้จาก อานาปานสติ 16 ขั้น หมวดกายนุปัสสนา (เกี่ยวกับกาย) ใน อานาปานสติภาวนา ฉบับสมบูรณ์ เล่มเล็ก ของท่านพุทธทาสภิกขุ ดังนี้




หมวดที่1 กายนุปัสสนา (เกี่ยวกับกาย)

ขั้นที่1 เกี่ยวกับลมหายใจยาว
หัด หายใจยาว ศึกษาลมหายใจยาวว่า มีลักษณะอย่างไร มีอาการอย่างไร มีธรรมชาติอย่างไร มีอิทธิพลอย่างไร มีปฏิกิริยาอย่างไร รู้กันให้หมด และ กำหนดให้ได้อยู่อย่างนั้น(จิตอยู่ที่ลมหายใจยาวตลอดเวลา)

ขั้นที่2 เกี่ยวกับลมหายใจสั้น
หัด หายใจสั้น ศึกษาลมหายใจสั้นว่า มีลักษณะอย่างไร มีอาการอย่างไร มีธรรมชาติอย่างไร มีอิทธิพลอย่างไร มีปฏิกิริยาอย่างไร รู้กันให้หมด และ กำหนดให้ได้อยู่อย่างนั้น(จิตยู่ที่ลมหายใจสั้นตลอดเวลา)

ขั้นที่3 รู้จักกายทั้งปวง
เรา เปรียบ "ลมหายใจ" เป็นกาย(รูป ในขันธ์5) ศึกษาดูว่า กายลม กับ กายเนื้อ เกี่ยวข้องกันอย่างไร นั่งกำนดว่าถ้าหายใจอย่างนี้ กายเนื้อเป็นอย่างไร ลมหายใจ ยาว สั้น หยาบ ละเอียด กายเนื้อเป็นอย่างไร

ขั้นที่4 ทำให้กายสังขารระงับ
เราสามารถบังคับใจได้โดยผ่านทางกาย
เราสามารถบังคับกายได้โดยผ่านทางลมหายใจ
เมื่อ ลมหายใจสงบระงับ กายก็สงบระงับ เกิดความสงบระงับขึ้นในระบบกายเป็นขั้นๆชั้นๆละเอียดๆ โดยทำอารมณ์สำหรับบังคับนั้นเป็นขั้นๆชั้นๆละเอียดๆตามลำดับ
1.กำหนดที่ลมหายใจโดยตรง
2.กำหนดตรงที่ลมหายใจกระทบ
3.กำหนดตรงที่ลมหายใจตกกระทบ แล้วสร้างนิมิตง่ายๆขึ้นมาใหม่ แล้วก็กำหนดนิมิตนั้นแทน
4.กำหนดนิมิตและสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของนิมิตได้

อธิบายเพิ่มเติมขั้นที่4
1.ตอน แรกๆเรายังไม่ชำนาญในการกำหนด สติจะไม่ค่อยอยู่กับลมหายใจนาน เผลอจะหายไปคิดเรื่องอื่นทันที่ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นขั้น1จึงให้กำหนดที่ลมหายใจโดยตรง ให้ตามมันไปตลอด คือ หายใจเข้าก็ตามไปตั้งแต่จมูกเข้าไปสุดที่สะดือ แล้วตามออกมาจากสะดือ ออกมาที่จมูกอีกครั้ง สติก็จะไม่หายไปไหน
2.เมื่อชำนาญมากขึ้นสติไม่ค่อย หนี้ไปไหนแล้วก็เปลี่ยนมากำหนดหรือเฝ้าที่ใดที่หนึ่งแทน ในที่นี้ก็คือปลายจมูกจุดที่ลมหายใจกระทบ ขั้นนี้เราจะไม่ตามลมหายใจไป
3.พอ เราเฝ้าดูลมหายใจที่ใดที่หนึ่งนานๆจะเกิดอาการที่คล้ายกับว่า ลมหายใจหายไป(จริงๆไม่ได้หายไปไหน แต่มันละเอียดขึ้นมากๆ)จนยากที่จะกำหนดในขั้นที่2ต่อได้ เราก็พัฒนามากำหนดตรงจุดที่ลมหายใจกระทบนั้นเป็น นิมิตง่ายๆขึ้นมาแทน นิมิตนี้ไม่ใช่ของจริงอะไร แต่เราสร้างขึ้น กำหนดขึ้น (จะเป็น ดวงขาว ดวงเขียว ดวงแดง บ้างที่ก็เหมือนใยแมงมุมวาวๆในแสงแดด เหล่านี้เป็นตัวอย่าง ซึ่งจะไม่เหมือนกันทุกคน)
4.ที่นี้พอชำนาญมากขึ้น ก็สามารถบังคับให้นิมิตนั้นเปลี่ยนได้ ใหญ่-เล็ก , เล็ก-ใหญ่ , เปลี่ยนสีไปมา , เปลี่ยนอิริยาบทให้มันลอยไปลอยมาได้ ตามจิตว่าจะให้เปลี่ยนอย่างไร เป็นสิ่งที่ทำได้ตามแบบธรรมชาติ ตามกฏของธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องแปลกอย่างไร

ที่มา : //topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/X2471717/X2471717.html


โดย: Ole- วันที่: 23 กันยายน 2552 เวลา:16:20:14 น.  

 
มาอ่านธรรมะ และขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ สาธุ...


โดย: diakmit IP: 118.172.151.17 วันที่: 22 กรกฎาคม 2553 เวลา:23:12:43 น.  

 
อนุโมธนาสาธุนะค่ะ ขอบคุณมากค่ะ


โดย: Thumma IP: 110.49.227.250 วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:21:33:26 น.  

 
ขอบคุณครับ


โดย: ต้อม IP: 203.155.74.131 วันที่: 25 มีนาคม 2556 เวลา:1:06:58 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เซียนเซิงสิบสามจุดห้า
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add เซียนเซิงสิบสามจุดห้า's blog to your web]