{โปรโมทบทความเพื่อน}The Lady: หนังรักฉบับซูจี ที่มีการเมืองเป็นฉากหลัง
ถ้าจะมีอะไรที่เราคนไทยส่วนใหญ่พอจะนึกออกเมื่อพูดถึงประทศเพื่อนบ้านเราอย่างพม่า ก็คงจะไม่พ้น ดินแดนที่เป็นศัตรูคู่แค้นกับไทย (อันที่จริงคืออยุธยา) มาตั้งแต่อดีต กับอีกเรื่องหนึ่งคือภาพความเป็นเผด็จการของรัฐบาลทหารพม่าในช่วงรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งจากภาพของความเผด็จการนี้นี่เอง ก็ทำให้เราได้รู้จักกับผู้หญิงที่ชื่อว่า “ออง ซาน ซูจี” วีรสตรีผู้นำประชาธิปไตยต่อสู้รัฐบาลทหาร จนตัวเองต้องถูกกักขังภายในบ้านมาเป็นเวลากว่า 15 ปี และเพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อปี 2010 ที่ผ่านมา

“The Lady” คือหนังที่พูดถึงเรื่องของออง ซาน ซูจี ก่อนหน้านี้ก็เคยมีหนังที่เกี่ยวกับพม่าและซูจีคือ Beyond Rangoon (1995) แต่ก็เป็นการเล่าเรื่องผ่านบุคคลที่ 3 ที่เข้าไปร่วมในเหตุการณ์ 8888 (การประท้วงครั้งใหญ่ในพม่าเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1988) “The Lady” จึงถือเป็นหนังเรื่องแรกที่พูดถึงตัวซูจีโดยตรง

แต่เดี๋ยวก่อน…หากต้องการไปดูหนังเรื่องนี้เพื่อต้องการรู้เรื่องประวัติศาสตร์การเมืองพม่าหรืออัตชีวประวัติส่วนตัวของซูจีแล้ว ก็ต้องขอแสดงความเสียใจล่วงหน้าไว้ก่อน เพราะสิ่งที่ The Lady พูดถึงคือ “ความรู้สึก” ไม่ใช่ “ประวัติ” ของซูจี

แม้ว่าตัวหนังจะใช้ชื่อว่า “The Lady” แต่คำที่อาจสื่อเนื้อหาของตัวหนังได้ดีที่สุดก็คือ “The Family” สำหรับใครต่อใครหลายคนแล้ว ออง ซาน ซูจี คือสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นภาพของตัวแทนความเข้มแข็ง ความเสียสละ แต่ในอีกสถานะหนึ่งซูจีก็คือภรรยาของ “ศ.ดร.ไมเคิล อริส” ชาวอังกฤษ และลูกชายอีก 2 คน “อเล็กซานเดอร์ และ คิม” ซึ่งสำหรับซูจีแล้ว หากปราศจากซึ่งครอบครัวของเธอแล้ว ซูจีอาจไม่ได้เป็นซูจีที่เรารู้จักอย่างในปัจจุบัน โดยเฉพาะการสนับสนุนสำคัญจากสามีของเธอ “ศ.ดร.ไมเคิล อริส” ซึ่งมีบทบาทเด่นไม่แพ้ซูจีในหนัง (หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ)

และนั่นทำให้ The Lady มีสัดส่วนของ “หนังรัก” มากกว่า “หนังการเมือง” หรือพูดให้ตรงกว่านั้นคือ “หนังรักที่มีฉากหลังเป็นการเมือง”

แต่ก็อีกนั่นแหละ…หากต้องการไปดูหนังเรื่องนี้เพราะอยากทราบว่าสาวพม่ากับหนุ่มอังกฤษไปรักกันได้ยังไง (ทั้งที่จริงเนื้อเรื่องตรงนี้น่าสนใจทีเดียว) ก็ต้องขอแสดงความเสียใจอีกเช่นกัน เพราะตัวหนังไม่ได้พูดถึงตรงนั้นเลย แต่ความรักใน The Lady คือความรักในแบบ “ชีวิตคู่” ความรักที่จะช่วยดูแลซึ่งกันและกัน เข้าใจกัน เป็นกำลังให้กัน แม้ว่าจะต้องแลกมากับการอาจไม่ได้พบหน้ากันเลยอีกตลอดชีวิต

ตัวหนังเริ่มต้นด้วยการลอบสังหารนายพลอองซาน พ่อของซูจี และเป็น “วีรบุรุษเพื่ออิสรภาพของพม่า” ที่เป็นผู้นำในการเรียกร้องเอกราชพม่าจากญี่ปุ่นและอังกฤษ (พม่าได้รับเอกราชในปี 1948 หลังนายพลอองซานตายได้ 1 ปี) สถานะการเป็นลูกวีรบุรุษ ทำให้ผู้คนเกิดความคาดหวังและขอร้องให้ซูจีมาเป็นผู้นำในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อครั้นเธอกลับมาพม่าในปี 1988 อันเป็นช่วงเดียวกับที่กลุ่มนักศึกษาและประชาชนกำลังเรียกร้องประชาธิปไตยจากเผด็จการทหารภายใต้การนำของนายพลเนวิน ที่กินระยะเวลามาแล้วกว่า 30 ปี แม้ว่าโดยใจจริงซูจีไม่ได้อยากยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลยก็ตาม

“คุณไม่เข้าไปยุ่งกับการเมือง แต่การเมืองจะเข้ามายุ่งกับคุณ” เป็นคำพูดที่ซูจีพูดกับทหารคนหนึ่งที่เฝ้ายามเธอระหว่างถูกกักขัง ซึ่งเป็นคำที่สะท้อนชีวิตของซูจีได้ดีที่สุด ตัวหนังไม่ได้บอกอะไรเรามากนักเกี่ยวกับซูจีในช่วงระยะเวลาหลังจากพ่อถูกลอบสังหารจนถึงการตัดสินใจกลับมาพม่าในปี 1988 แต่จากประวัติของเธอก็ทำให้เราทราบว่าซูจีในช่วงนั้นแทบไม่มีความสนใจในการเมืองพม่าเลย นอกจากประวัติพ่อของเธอ ซึ่งเป็นการศึกษาในแง่ประวัติมากกว่าจะนำมาใช้ในทางการเมือง อาจเนื่องด้วยที่เธอย้ายไปอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานาน การกลับเข้ามาในพม่าในปี 1988 จุดประสงค์ก็คือมาดูแลแม่ของเธอที่ป่วยหนัก ไม่ได้ต้องการมา “เล่นการเมือง”

แม้ซูจีจะไม่อยากยุ่งกับการเมือง แต่การเป็นลูกของนายพลอองซานก็ทำให้การเมืองก็มายุ่งกับซูจี ทั้งจากฝ่ายของประชาชนและฝ่ายรัฐบาลทหาร จนในที่สุดซูจีก็ตัดสินใจยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นการตอบกลับ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการความรู้สึกต้องการสานต่องานของพ่อ กับการได้เห็นภาพโหดร้ายที่รัฐบาลทหารทำต่อประชาชน แม้ว่าจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่การที่เธอไปอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลานาน ก็มากพอที่จะทำให้เธอเกิดภาพการเปรียบเทียบ และเป็นแรงผลักดันหนึ่งในการตอบตกลงเป็นผู้นำการต่อสู้ แต่ปัญหาของการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในประเทศนี้ก็คือ คุณอาจไม่สามารถชนะได้เพียงในเวลาไม่กี่วัน และกับการต่อสู้ที่คาดได้เลยว่าต้องยาวนาน กำลังใจของคุณดีพอแค่ไหน

“ไมเคิลและลูกๆ ก็คือกำลังใจของเธอ”

เบื้องหลังความสำเร็จของผู้นำหลายๆ ต่อหลายคน ก็คือ คู่ชีวิตและครอบครัว ที่คอยสนับสนุนและช่วยงานมาโดยตลอด ซูจีก็เช่นกัน แต่กรณีของเธออาจต่างจากคนอื่นตรงที่ “หลังบ้าน” ของเธอเป็นผู้ชาย และยังเป็นผู้ชายชาวตะวันตกเสียด้วย แต่ความแตกต่างทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม ไม่ได้เป็นตัวขวางกั้นความเข้าใจซึ่งกันและกันแต่อย่างไร อาจเพราะพื้นฐานของไมเคิล คืออาจารย์ด้านหิมาลัยศึกษา (ซึ่งอยู่ใกล้กับพม่า) และความรักความผูกพันกับซูจีมาเป็นระยะเวลานาน (เคยแยกกันอยู่ช่วงหนึ่งก่อนกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง) ทำให้ไมเคิลไม่เคยห้ามหรือเรียกร้องให้ซูจีหยุดสิ่งที่เธอกระทำอยู่ แม้แต่ในห้วงสุดท้ายของชีวิตไมเคิลเอง เพราะชัยชนะทางประชาธิปไตยของพม่า ก็คือชัยชนะของซูจี ชัยชนะของซูจีก็คือชัยชนะของไมเคิลเช่นกัน

สำหรับไมเคิลแล้ว “ความรักที่ได้เห็นคนที่เรารักมีความสุข ย่อมเหนือกว่าความรักที่เรามีความสุขแต่เพียงฝ่ายเดียว”

ตลอดทั้งเรื่องนอกจากภาพของซูจีแล้ว เราจึงได้เห็นภาพของไมเคิลเคียงคู่ไปด้วยกันโดยตลอด ภาพของสามีที่สนับสนุนและช่วยเหลือภรรยาอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ถ่ายเอกสารใบปลิวพรรค NLD เรื่อยไปจนถึงเสนอชื่อซูจีเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ รวมถึงการทำหน้าที่เป็น “แม่” แทนให้กับลูกๆ ทั้ง 2 โดยเฉพาะกับคิม ลูกชายคนเล็กที่อยู่ช่วงย่างเข้าวัยรุ่น ที่หลายครั้งอาจยังไม่ “เข้าใจ” ในสิ่งที่แม่ทำอยู่เท่าที่ควร และแม้นเวลาจะผ่านไปเป็นสิบปี ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนความรักที่ไมเคิลมีให้ต่อภรรยาของเขาไปได้ และนี่คือแรงใจที่ทำให้ซูจียังคงต่อสู้ตลอดมา เพราะประชาธิปไตยไม่ได้มีความสำคัญต่อชาวพม่าเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อไมเคิลและซูจีด้วย เหมือนดั่งที่ไมเคิลบอกกับซูจีว่า “พม่าคือสิ่งที่เชื่อมโยงพวกเขาไว้ด้วยกัน แม้ในวันที่ไม่เจอกัน”

การที่ผู้สร้าง The Lady เลือกที่จะถ่ายทอดแง่มุมด้านความรักมากกว่าการเมือง ทำให้หนังเรื่องนี้มีแง่มุมที่ใหม่ ไม่น่าเบื่อเป็นสารคดีอัตชีวประวัติมากเกินไป แต่ก็ใช่ว่าหนังเรื่องนี้จะละทิ้งประเด็นอุดมการณ์ด้านประชาธิปไตยไปเสียเลยทีเดียว ในเรื่องเรายังคงเห็นความโหดร้าย (และงมงาย?) ของรัฐบาลทหารพม่า ขณะเดียวกันการเน้นความรักของซูจี ยิ่งทำให้การถูกกักบริเวณของเธอมีความสำคัญขึ้น เพราะนั่นหมายความว่า ทั้งซูจิและไมเคิลต้องเสียสละมากเพียงไรเพื่อประชาธิปไตยของพม่า และเสรีภาพเป็นสิ่งที่น่าถวิลหามากเพียงไร

“มิเชล โหย่ว” รับบทบาทซูจีได้อย่างไร้ที่ติ ทั้งในแง่ของผู้นำทางการเมืองและในแง่ของผู้หญิงที่ต้องจากสามีและลูกๆ ที่รักมา โครงหน้าของโหย่วนั้น “คล้าย” กับซูจีอยู่แล้ว แต่ด้วยการแสดงของเธอทำให้เธอ “เหมือน”ซูจีได้อย่างน่าขนลุก อีกคนที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ “เดวิด ทิวลิส” (ศ.ลูปินใน Harry Potter) ที่รับบทไมเคิล ที่ตีบทได้แตกกระจุย จนทำให้สามารถรับรู้ถึงความรักที่ไมเคิลมีต่อซูจีได้ชัดเจน ส่วนนักแสดงคนอื่นก็รับผิดชอบบทของตัวเองได้ดี ที่ต้องชมอีกอย่างคือบทลูกชายของซูจีซึ่งแคสมาได้หน้าเหมือนตัวจริงมากทีเดียว

ตัวหนัง The Lady ยาวประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งถือว่ายาวทีเดียว แต่ก็ไม่น่าเบื่อแต่อย่างไร อาจไม่มีฉากดราม่าบีบคั้นหนักๆ หรือฉากโต้เถียงทางการเมืองแบบจะจะคมคาย แต่ก็ก็สามารถสร้างความประทับใจและเรียกน้ำตาได้ไม่ยาก แม้โปรดักชั่นส์อาจไม่หรูเลิศ มีหลุดป้ายโฆษณาในไทยหลายครั้ง (ฉากพม่าในเรื่องถ่ายที่ไทยทั้งหมด) แต่โดยรวมก็ลื่นไหลทีเดียว และอย่างที่บอกไปว่า The Lady ไม่ใช่หนังอัตชีวประวัติ ดังนั้นหากใครไม่มีความรู้เกี่ยวกับประวัติซูจีอยู่บ้าง ก็อาจงงเล็กน้อยกับเหตุการณ์ในเรื่องได้ อย่างเช่นเรื่องจำนวนครั้งการกักบริเวณ หรือการประท้วงของพระสงฆ์ แต่ถึงจะไม่มีพื้นความรู้เลยจริงๆ ก็ยังสามารถดูรู้เรื่องและสนุกกับหนังได้ดู เพราะ The Lady คือ “หนังรัก” ไม่ใช่ “หนังการเมือง”

//www.siamintelligence.com/the-lady-the-movie/

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

ปล.ถ้าอยากติดต่อหลังไมค์ในพันทิป ผู้เขียนบทความนี้ ใช้ชื่อล็อคอิน ว่า "เซียวเล้ง" นะจ้า ติดตามผลงานได้



Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2555 11:18:16 น.
Counter : 724 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขึ้นเนินกิโลเมตรที่46
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



กุมภาพันธ์ 2555

 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
9
10
11
12
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29