Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
 
22 กุมภาพันธ์ 2551
 
All Blogs
 
การกลั่นน้ำหอมจาก "ไม้กฤษณา"














นับแต่โบราณ “ไม้กฤษณา” ถือเป็นไม้มงคลตามความเชื่อทางศาสนา นอกจากนั้น ยังมีคุณสมบัติสามารถสกัดเป็นยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลากประการ รวมถึงสามารถกลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหย เพื่อใช้ทำหัวน้ำหอมคุณภาพสูง ซึ่งตลาดต่างประเทศ ทั้งตะวันออกกลางและยุโรปต้องการอย่างสูง ซื้อขายกันด้วยราคาแพง จนมีคำกล่าวว่า น้ำมันหอมระเหยจาก “ไม้กฤษณา”ราคาสูงที่สุดในโลก



ไม้กฤษณาสับก่อนนำไปกลั่น


จากความนิยมดังกล่าว ประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งที่มีไม้กฤษณาขึ้นเองตามธรรมชาติสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จึงเกิดอาชีพตัดไม้กฤษณาส่งขายโรงสกัดน้ำมันหอมอย่างแพร่หลาย กระทบให้ต้นกฤษณาถูกโค่นล้มจำนวนมาก ที่สุดแล้วต้องมีการออกกฎหมายคุ้มครองให้กฤษณาเป็นไม้อนุรักษ์

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน อาชีพสกัดน้ำมันหอมไม้กฤษณาในประเทศไทยยังคงอยู่ โดยปรับตัวให้สอดคล้องเพื่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาชีพนี้ยังสร้างรายได้อย่างงามให้คนในวงการ



ก่อนนั้นต้องขออนุญาตตั้งโรงกลั่น และมีการออกกฎหมายจำกัดการตั้งโรงกลั่นน้ำมันหอม เพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้กฤษณาในป่า แต่ปัจจุบันต้นกฤษณามีการปลูกเป็นไม้เศรษฐกิจ ไม่ต้องแอบเข้าไปลักลอบตัดในป่าเหมือนอดีต


นำไปหมักในโอ่งน้ำนาน 7 วัน

ส่วนที่จะนำมาสกัด คือ บริเวณเกิดรอยแผล ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างสารกฤษณาขึ้นมา มีสีดำสนิทในเนื้อไม้ ยิ่งเป็นต้นอายุมาก ราคาจะยิ่งสูง เดิมรอยแผลจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น รอยนกเจาะ แต่ปัจจุบันจะจงใจให้เกิดโดยใช้วิธีเจาะรู


สำหรับรูปแบบธุรกิจนั้น จะรับซื้อไม้กฤษณาสับจากชาวบ้าน ในราคา 70-200 บาทต่อกิโลกรัม (แล้วแต่คุณภาพไม้) ขั้นตอนนี้ จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์คัดเลือกไม้คุณภาพดี หลังจากนั้น นำไปตากแดด 3 วันจนเนื้อไม้แห้ง ซึ่งน้ำหนักไม้จะลดเหลือแค่ 1 ใน 3 จากตอนรับซื้อ


ต้นกฤษณา และรอยแผลที่อยู่ตามลำต้นเป็นส่วนที่จะตัดไปสกัด

จากนั้น บดเป็นผง นำไปหมักกับน้ำเปล่าในโอ่งนาน 7 วัน แล้วนำไปต้มในหม้อ 6 วัน จนเกิดไอระเหย กลั่นตัวเป็นน้ำมันหอม ซึ่งโอ่ง 1 ใบ จะจุผงไม้กฤษณาแห้งได้ประมาณ 10 กิโลกรัม สามารถกลั่นออกมาเป็นน้ำมันหอม ประมาณ 18 กรัม

น้ำมันหอมซื้อขายกันเป็น “โตร่า” 1 โตร่า ปริมาตร 12.5 CC หรือหนักประมาณ 12 กรัม ราคาถึง 4,500 – 6,000 บาท หักต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานแล้ว 1 โอ่งจะมีกำไรประมาณ 1,000 บาท ด้านช่องทางจำหน่าย จะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อถึงบ้าน แล้วนำไปขายต่อให้บริษัทจากแถบตะวันออกกลาง เพื่อใช้ทำหัวน้ำหอม นอกจากนั้น ส่วนผงไม้กฤษณาที่ผ่านการกลั่นแล้ว ยังนำไปใช้ทำผงธูปได้อีกด้วย


หม้อต้มไม้กฤษณาที่ผ่านการหมักแล้ว และไอระเหยจะกลั่นตัวออกมาเป็นน้ำมันหอม

ธุรกิจนี้ ตลาดมีรองรับไม่จำกัด กลั่นได้มากเท่าใด ลูกค้าพร้อมจะเหมาซื้อทั้งหมด โดยปัจจุบัน ธุรกิจของเขา มีหม้อต้มทั้งหมด 4 ใบ ทั้งที่ได้รับอนุญาตจากอุตสาหกรรมจังหวัดให้ผลิตได้ถึง 7 หม้อ แต่เวลานี้ ยังไม่พร้อมจะลงทุนสร้างหม้อเพิ่ม เพราะต้องใช้ทุนสูงมาก นอกจากนั้น จำเป็นต้องแบ่งทุนอีกส่วนไว้ซื้อวัตถุดิบด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยมาเป็นทุนหมุนเวียน


น้ำมันหอมไม้กฤษณาแต่ละแห่งจะมีกลิ่น และคุณสมบัติเฉพาะตัว มีผลมาจากทั้งสายพันธุ์ของไม้กฤษณาแต่ละต้น สภาพดิน น้ำ และอากาศที่ปลูก ตลอดจนกรรมวิธีการหมัก ซึ่งเป็นเคล็ดลับแตกต่างกันไป ทั้งนี้ น้ำมันหอมจากแถบ จ.จันทบุรี และตราด ถือว่าราคาสูงที่สุดในประเทศไทย เพราะมีจุดเด่นกลิ่นถูกใจชาวต่างชาติ และกลิ่นติดทนนาน


สมคิด เจริญคง ถือน้ำมันหอมไม้กฤษณา ขวดนี้ ราคาประมาณ 3,000 บาท



ขั้นตอนการกลั่นน้ำมันหอมไม้กฤษณา
1 – นำไม้กฤษณาสับตากแดด 3 วัน จนเนื้อไม้แห้งสนิท
2 – บดเป็นผงละเอียด
3 – หมักกับน้ำเปล่าในโอ่ง นาน 7 วัน
4 – ระหว่างการหมักหมั่นคนสม่ำเสมอ
5 – ต้มในหม้อ 6 วัน ด้วยอุณหภูมิร้อนสม่ำเสมอ
6 - รอจนไอระเหยกลั่นตัวเป็นน้ำมันหอม



การนำส่วนต่างๆของกฤษณามาใช้ประโยชน์


น้ำมันกฤษณา เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้โรคท้องอืดท้องเฟ้อ โรคลำไส้ โรคกระเพราะอาหาร โรคตับ ซึ่งในประเทศไทยรู้จักในนามกฤษณากลั่น ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ใช้ทาตัวเพื่อป้องกันไรในทะเลทราย เป็นเครื่องประทินผิว ใช้ทำหัวน้ำหอม ใช้กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ

ชิ้นไม้กฤษณา ใช้บดผสมเป็ยยาบำรุงหัวใจในเลือด ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ใช้ระงับอารมณ์โมโหดุร้าย ผ่อนคลายความตึงเครียด บำรุงสมอง ทำให้เกิดอารมณ์สุนทรีย์

น้ำกลั่นกฤษณา ใช้ทำสบู่หอม ยาสระผม เครื่องประทินผิว ใช้ทำสปาระงับความเครียดหรือรับประทานเป็นประจำเป็นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเป็นเถาดาน ฯลฯ

กากกฤษณาหลังจากการกลั่น ใช้ทำผงธูปหอม เครื่องป้นต่างๆ

เปลือกกฤษณา ชั้นนอกใช้ทำยากันยุง ชั้นกลางใช้เป็นเครื่องจักสาน ชั้นในใช้ทอเสื้อผ้า เชือกป่าน

ใบกฤษณาหลังจากเกิดกฤษณาแล้ว น้ำจากใบเป็นยารักษาโรคภูมิแพ้ รักษาโรคเบาหวาน ใช้เป็นสีในการทำธูปสีเขียว ใช้กลั่นน้ำมัน ฯลฯ

กิ่งไม้กฤษณา ใช้ทำดอกไม้จันทน์ ใชบดทำปาร์ติเกิ้ล ไม้อัด ทำธูป ใช้ทำเยื่อกระดาษ

เนื้อไม้กฤษณา ใช้บดทำปาร์ติเกิ้ล ไม้อัด ธูป วอลเปเปอร์ ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ใช้ในการก่อสร้าง ใช้ทำเยื่อกระดาษ

เมล็ด ใช้เมล็ดทำน้ำมันกฤษณา



นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาจากกฤษณาอีกที่กำลังเป็นที่นิยมกันก็คือ ชากฤษณา หรือ Jin Ko Tea ซึ่งผลิตมาจากยอดอ่อนของกฤษณา ที่มีใบไม่เกิน 3 ใบ และต้องทำการเก็บในช่วงใกล้สว่างแต่ยังไม่มีแสง นำมาเก็บในที่ที่มีความชื้นและอุณหภูมิเฉพาะเพื่อรักษาคุณภาพ จากนั้นก็นำมาตากและบดเป็นผงต่อไป (วิธีการคร่าวๆ) ชากฤษณานี้ จากการสอบถามผู้ผลิตรับทราบข้อมูลว่าตลาดญี่ปุ่นมีความต้องการสูงมาก ร้อยละ 98 ของที่ผลิตได้จะถูกส่งออกนอกประเทศ





















กฤษณา
Aquilaria crassna Pierre L. Lec.

ชื่อพื้นเมือง กฤษณา(ภาคตะวันออก) กายูการู กายูกาฮู (มาเลเซีย ปัตตานี) ไม้หอม (ภาคตะวันออก ภาคใต้)
(บาลี) อครุ, ตคร (จีน) ติ่มเฮียง (ไม้หอมที่จมน้ำ) (อังกฤษ) Eagle Wood , Lignum Aloes , Agarwood, Aloe Wood, Calambac, Aglia, Akyaw. ชื่อวิทยาศาสตร์ ในประเทศไทย มี 3 ชนิด คือ Aquilaria crassna Pierre, A.malaccensis Lamk. (ชื่อพฤกษศาสตร์พ้อง A. agallocha Roxb.) และชนิดใหม่ที่เพิ่งค้นพบ โดย Dr. Ding Hau คือ A. subintegra Ding Hau
ชื่อวงศ์ Thymelaeaceae

การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ

ไม้สกุล Aquilaria มีอยู่ประมาณ 15 ชนิด กระจายอยู่แถบเอเชียเขตร้อน ในประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงฟิลิปปินส์ และเอเชียใต้แถบประเทศอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา ภูฐาน เบงกอล รัฐอัสสัม รวมทั้งกระจายไปทางเอเชียเหนือจนถึงประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนการกระจายพันธุ์ของไม้กฤษณาในประเทศไทย มีรายละเอียดดังนี้

1. A. crassna พบในป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้งทางภาคเหนือ (เชียงราย แพร่ น่าน) ภาคกลาง (กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ โดยเฉพาะพบมากที่สุดที่บ้านห้วยตะหวัก อำเภอน้ำหนาว บริเวณเขาค้อ) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครนายก ปราจีนบุรี กบินทร์บุรี โดยเฉพาะพบมากที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บริเวณดงพญาไฟ)

2. A. malaccensis พบเฉพาะภาคใต้ที่มีความชุ่มชื้น (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง กระบี่ ตรัง พัทลุง ยะลา โดยเฉพาะที่เขาช่อง จังหวัดตรัง) มักพบกฤษณาต้นใหญ่ที่สุดถูกโค่นเหลือแต่ตอทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก

3. A. subintegra พบเฉพาะทางภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด โดยเฉพาะที่เขาสอยดาว)

กฤษณาชอบขึ้นในที่ชุ่มชื้น จึงมักพบตามป่าดงดิบทั้งชื้นและแล้ง หรือที่ราบใกล้กับแม่น้ำ ลำธาร สามารถขึ้นได้สูงถึง 1,100 เมตร หรือมากกว่าจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เช่น พบที่ยอดเขาเขียวบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยทั่วไปมักพบกฤษณาปนกับพรรณไม้อื่น เช่น ยาง ยมหอม ยมหิน หว้า ก่อเดือย และก่อชนิดอื่น ๆ สีเสียดเทศ กระโดงแดง และอื่น ๆ ที่บริเวณป่าเขาช่อง จังหวัดตรัง น่าจะเป็นถิ่นที่ดีของกฤษณา พบกฤษณามีเส้นขนาดผ่าศูนย์กลางมากกว่า 100 เซนติเมตร ซึ่งต่างกับที่พบบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางจะเล็กกว่า 50 เซนติเมตร (สมคิด, 2525)

ลักษณะทั่วไป

กฤษณาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงตั้งแต่ 18-21 เมตรขึ้นไป วัดโดยรอบลำต้นยาวประมาณ 1.5-1.8 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทรงเจดีย์ต่ำ ๆ หรือรูปกรวย ลำต้นเปลาตรง มักมีพูพอนที่โคนต้นเมื่อมีอายุมาก เปลือกนอกเรียบ สีเทาอมขาว เปลือกหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร มีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนทั่วไป เปลือกนอกจะปริ เป็นร่องเล็ก ๆ เมื่อมีอายุมาก ๆ ส่วนเปลือกชั้นในมีสีขาวอมเหลืองใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว รูปมน รูปไข่กลับหรือรูปยาวขอบขนานออกเรียงสลับกัน เนื้อใบเป็นมัน ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้าง 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 7-9 เซนติเมตร ใบแก่เกลี้ยงเป็นมัน แต่ใบอ่อนสั้นและคล้ายไหม

ดอก สีขาว ไม่มีกลีบดอก ออกเป็นช่อเล็ก ๆ มีกลิ่นหอม เป็นดอกสมบูรณ์เพศ เกิดที่ง่ามใบหรือยอด เป็นแบบ Axillary หรือ Terminal umbles ก้านดอกสั้น มีขนนุ่มอยู่ทั่วไป ตามง่ามใบและดอก ออกดอกในช่วงฤดูร้อน และกลายเป็นผลแก่ในประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

ผล เป็นแบบ Capsule รูปไข่กลับค่อนข้างแบน ส่วนที่ติดกับขั้วเล็ก เปลือกแข็ง มีขนสีเทา ผลยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ในเดือนสิงหาคม ผลเริ่มแก่และจะแตกอ้า มีเมล็ด 1 หรือ 2 เมล็ด แบบ Ovoid ขนาดของเมล็ดยาว 5-6 เซนติเมตร มีหางเมล็ดมีแดงหรือส้ม ปกคลุมด้วยขนสั้นนิ่มมีสีแดงอมน้ำตาล




ลักษณะของเนื้อไม้ ลักษณะของเนื้อไม้กฤษณาจะมีทั้งเนื้อไม้ปกติ และเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา ซึ่งคนไทยรู้จักจำแนกความแตกต่างมาแต่โบราณแล้ว ดังกล่าวถึงในมหาชาติ คำหลวงสมัยอยุธยาตอนต้น พ.ศ.2025 ว่ามีทั้งกฤษณาขาว (เสตครู) และกฤษณาดำ (ตระคัร) ซึ่งมีเนื้อไม้หอมเนื้อไม้กฤษณา ปกติจะมีสีขาวนวลเมื่อตัดใหม่ ๆ ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เสี้ยนจะตรง เนื้อหยาบปานกลาง เลื่อยผ่าได้ง่าย ขัดชักเงาไม่ได้ดี ไม่ค่อยทนทาน อยู่ในน้ำ จะทนทานพอประมาณ เมื่อแปรรูปเสร็จแล้ว ควรรีบกองผึ่งให้แห้งโดยเร็ว ในการผึ่งจะมีการปริแตกได้ง่าย และมักจะถูกเห็ดราย้อมสีเกาะ ทำให้ไม้เสียสี (กรมป่าไม้, 2486)

ส่วนเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา จะมีสีดำ หนัก และจมน้ำ คุณภาพของเนื้อไม้ ขึ้นอยู่กับการสะสมของน้ำมันกฤษณาภายในเซลล์ต่าง ๆ ของเนื้อไม้ องค์ประกอบทางด้านเคมี ของน้ำมันหอมระเหยจากกฤษณา ประกอบด้วยสารที่เป็นยางเหนียว [Resin] อยู่มาก สารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม คือ Sesquiterpene alcohol มีหลายชนิด คือ Dihydroagarofuran, b .Agarofuran, a -Agarofuran, Agarospirol และ Agarol (มีชัย, 2532)

คุณภาพของกฤษณาในประเทศไทย สมคิด (2534) ได้แบ่งเป็น 4 เกรด ดังนี้
เกรด 1 ชาวบ้านเรียกว่า ไม้ลูกแก่น มีน้ำมันกฤษณาสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วเนื้อไม้ ทำให้มีสีดำ มีราคาแพงมากประมาณ 15,000-20,000 บาทต่อกิโลกรัม มีน้ำหนักเป็น 1.01 เท่าของน้ำ หนักกว่าน้ำ จึงจมน้ำ
เกรด 2 มีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมรองจากเกรด 1 สีจะจางออกทางน้ำตาล มีราคาประมาณ 8,000-10,000 บาทต่อกิโลกรัม มีน้ำหนักเบากว่าน้ำ
เกรด 3 มีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมรองจากเกรด 2 มีราคาประมาณ 1,000-1,500 บาทต่อกิโลกรัม มีน้ำหนักเป็น 0.62 เท่าของน้ำ เบากว่าน้ำ จึงลอยน้ำ
เกรด 4 มีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมอยู่น้อย ใช้กลั่นน้ำมันหอมระเหย มีราคาประมาณ 400-600 บาทต่อกิโลกรัม มีน้ำหนักประมาณ 0.39 เท่าของน้ำ จึงลอยน้ำ ชนิดนี้ ชาวบ้านจะเรียกว่าไม้ปาก

ส่วนเนื้อไม้ปกติที่ไม่มีกฤษณาสะสมอยู่ จะมีน้ำหนักเพียง 0.3 เท่าของน้ำ


การขยายพันธุ์
โดยธรรมชาติไม้กฤษณาจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เมล็ดจะมีอัตราการงอกประมาณ 70% การเก็บเมล็ดมาเพาะนั้น ควรรีบเพาะเมล็ดที่เก็บมาทันที ก่อนที่แมลงและเชื้อรา ที่ติดมากับเมล็ดจะทำให้เมล็ดไม่งอก กล้าไม้ที่เกิดจากการเพาะเมล็ดจะมีการเติบโตช้า และอาจฟุบตายได้จากโรคเน่าคอดินที่เกิดจากเชื้อรา Peronophythora sp. โดยเฉพาะเมื่อเพาะในดินที่ไม่ได้ผ่านการอบฆ่าเชื้อ


การขยายพันธุ์กฤษณาที่นิยมทำ คือ การขุดกล้าไม้จากบริเวณต้นแม่มาปลูก ในเรือนเพาะชำ จนกล้าไม้อายุราว 1 ปี ซึ่งกล้าไม้จะมีความแข็งแรงและการเจริญเติบโตพอที่จะย้ายไปปลูกในแปลง วิธีอื่นที่ใช้ขยายพันธุ์กฤษณา คือ การตอนกิ่ง และการปักชำ

การปลูก การเจริญเติบโต การปรับปรุงพันธุ์
กฤษณาชอบขึ้นในป่าดิบชื้นหรืออาจปลูกใต้ร่มเงาไม้ชนิดอื่น เพื่อให้ได้ร่มเงา เช่นเดียวกับในป่าจะเจริญเติบโตดีกว่าปลูกในที่โล่งแจ้งในสภาพแปลงปลูกไม้กฤษณาของสถานีวิจัยผลิตผลของป่า ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ได้มีการศึกษาความเจริญเติบโตของไม้กฤษณา โดยหัวหน้าสถานีวิจัยผลิตผลของป่าและคณะ วิธีดำเนินการ คือ นำกล้าไม้กฤษณาจากป่าธรรมชาติ มาชำไว้ใน ถุงพลาสติกจนกล้ามีความแข็งแรง จึงย้ายมาปลูกในแปลง ด้วยระยะปลูก 5x5 เมตร ในระหว่างแถวของต้นสีเสียดแก่น ซึ่งมีร่มเงาพอสมควร ลักษณะดินเป็นดินร่วนค่อนข้างเหนียว เป็นดิน จากหินปูน ปลูกตอนต้นฤดูฝน จากการวัดความเจริญเติบโตเมื่อต้นกฤษณา อายุ 4 ปี พบว่า มีความโตทางเส้นรอบวงในระดับความสูง 130 เซนติเมตร โดยเฉลี่ย 8.9 เซนติเมตร ความสูง 345.3 เซนติเมตร และความกว้างเรือนยอด 173.77 เซนติเมตร เมื่อคำนวณเป็นความเจริญ เติบโตต่อปีจะมีความเจริญเติบโตต่อปี 2.2 เซนติเมตร ความสูงเพิ่มขึ้นปีละ 86.4 เซนติเมตร และความกว้างเรือนยอดเพิ่มขึ้นปีละ 43.5 เซนติเมตร จากผลการทดลองพบว่า กฤษณามีความเจริญเติบโตช้า (สมควร และคณะ, 2531)
การปรับปรุงพันธุ์ อาจทำได้โดยการคัดเลือกพันธุ์กฤษณาที่โตเร็ว แล้วทำการ ปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้น อาจจะช่วยเร่งการเจริญเติบโตของกฤษณาได้ แต่ควรคำนึงถึงการทำให้กฤษณาเกิดกลิ่นหอมด้วย


ปัจจุบันต้นกฤษณาที่ปลูก ณ สถานีวิจัยผลิตผลของป่า จังหวัดนครราชสีมา มีอายุประมาณ 8 ปี ได้ตายไปหมดแล้ว สาเหตุเนื่องจากปลูกไว้ใต้ต้นสีเสียดแก่น ซึ่งจะทิ้งใบหมด ในฤดูแล้ง ทำให้ต้นกฤษณาถูกแดดเผาจนตายไปในที่สุด

ส่วนในสภาพแปลงปลูกไม้กฤษณาของสถานีวิจัยผลิตผลของป่า ตำบลผานกเค้า อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ได้มีการทดลองปลูกไม้กฤษณาในป่าดงดิบร้อน เพื่อศึกษาการเจริญเติบโต วิธีการดำเนินการ คือ นำกล้าไม้กฤษณาจากป่าธรรมชาติบริเวณอุทยานแห่งชาติ เขาคิชฌกูฎ อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี มาชำไว้จนกล้ามีความแข็งแรงดี อายุประมาณ 1 ปี จึงย้ายมาปลูกในแปลงด้วยระยะปลูก 2.5x2.5 เมตร ในระหว่างช่องว่างของต้นก้ามปูขนาดใหญ่ โดยเริ่มปลูกในเดือนสิงหาคม 2526 จากการวัดความเจริญเติบโตเมื่ออายุ 6 ปี พบว่ามีความโตทางเส้นผ่าศูนย์กลางที่ความสูง 1.30 เมตร เฉลี่ย 7.89 เซนติเมตร ความสูงเฉลี่ย 6.51 เมตร และความกว้างเรือนยอด เฉลี่ย 3.61 เมตร เมื่อคำนวณความโตต่อปีได้ความโต 1.32 เซนติเมตร ความสูง 1.09 เมตร และความกว้างเรือนยอด 0.60 เมตรต่อปี จากผลการทดลองพบว่ามีความเติบโตช้า และเรือนยอดกฤษณาเริ่มชิดกัน จึงควรปลูกในระยะที่กว้างกว่า 2.5x2.5 เมตร ในปัจจุบันมีอายุประมาณ 11 ปีแล้ว ต้นกฤษณาเติบโตได้ดีขึ้นเพราะปลูกใกล้แหล่งน้ำ และมีแนวโน้มว่าจะเกิดกฤษณา (ทนงศักดิ์, 2535)



การจัดการ
การปลูกกฤษณาเป็นไม้แซมสวนป่า มีแนวโน้มว่าจะปลูกได้ดีกว่าการปลูก เป็นไม้เบิกนำ เพราะกฤษณาชอบความชุ่มชื้นสูง มีเอกชนรายหนึ่งปลูกกฤษณาเป็นไม้เบิกนำ และปลูกเป็นพืชชนิดเดียวแบบแปลงปลูกสัก เริ่มปลูกตั้งแต่ต้นฤดูฝน กฤษณาอยู่ได้ระยะหนึ่ง ก็ค่อย ๆ โทรมลง อาจเป็นเพราะโดนทั้งแดดและลมตลอดเวลา รวมทั้งระบบรากที่ปลูกใหม่ ยังไม่แข็งแรงเพียงพอ อาจปลูกแซมอยู่ในสวนป่าที่ปลูกชิด ในระยะแรก เช่น 2 เมตร หรือปลูกกล้วยน้ำว้าเป็นพืชพี่เลี้ยง แซมลงไปเพื่อให้มีรายได้ในช่วง 2-3 ปีแรก







ไม้กฤษณาในทางกฎหมายป่าไม้

ไม้กฤษณา ไม่ถูกกำหนดเป็นไม้หวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ แต่ถูกกำหนดให้เป็นของป่าหวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ซึ่งเป็นของป่าหวงห้ามเฉพาะในเขตป่าเท่านั้น ในที่ดินที่มิใช่ป่าก็ไม่ใช่ของป่าและก็ไม่ใช่ของป่าหวงห้าม
การเพาะชำกล้าไม้กฤษณา ไม่มีความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด
การปลูกกฤษณาในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย รวมถึงการตัดไม้กฤษณาขาย ไม่มีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน เพราะไม้กฤษณา ชิ้นไม้กฤษณาที่ได้จากการปลูกขึ้นในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย ไม่ใช่ไม้หวงห้ามหรือของป่าหวงห้าม
ที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครองตามกฎหมาย คือ ที่ดินที่มีเอกสารของทางราชการที่กรมที่ดินออกให้ ได้แก่ โฉนดที่ดิน ,โฉนดแผนที่ ,โฉนดตราจอง ,ตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” ,น.ส.3 ,น.ส.3ก ,น.ส.3ข ,แบบหมายเลข 3 ,น.ส.2 และ ส.ค.1 เป็นต้น
การใช้ประโยชน์
ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ปรากฏหลักฐานการใช้ประโยชน์จากกฤษณามาตั้งแต่สมัยพุทธกาล มักจะใช้จตุชาติสุคนธ์ คือ ของหอมธรรมชาติ 4 อย่าง ได้แก่ กลิ่นของกฤษณา กะลำพัก จันทน์ และดอกไม้ ประพรมในพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีมงคลถวายพระนามเจ้าชาย สิทธัตถะในปฐมวัย ตอนเหล่ากษัตริย์มัลลราชโปรดให้ตกแต่ง และประพรมพื้นโรงราชสัณฐาคารด้วย จตุชาติสุคนธ์ เพื่ออัญเชิญพระหีบทองน้อยที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเข้าประดิษฐาน หรือในตอนมหาภิเนษกรมน์ กล่าวถึงการประดับพระแท่นบรรทมพระพุทธองค์ด้วยพู่พวงสุคนธกฤษณาอีกด้วย

การใช้ประโยชน์จากกฤษณาในทางยา คนไทยรู้จักใช้มานานแล้ว ดังปรากฏ ในตำรายาพระโอสถสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.2202 กล่าวถึงตำรายาที่เข้ากฤษณาหลายชนิด เช่น “มโหสถธิจันทน์นั้นเอาสมุลแว้ง ดอกมะลิ สารภี พิกุล บุนนาค เกสรบัวหลวง เกสรสัตบงกช จันทน์ทั้ง 2 กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก แฝกหอม ตะนาว (ชื่อกระแจะเครื่องหอม) เปราะหอม โกฐหัวบัว เสมอภาค น้ำดอกไม้เป็นกระสาย บดทำแท่งละลายน้ำซาวข้าว น้ำดอกไม้ ก็ได้ รำหัดพิมเสนชโลม ถ้ากินแรกขัณฑสกรลงด้วย แก้พิษไข้สันนิบาต อาการตัวร้อนหนัก สรรพไข้ทั้งปวงหายสิ้นแลฯ” หรือใน “ตำรายาทรงทาพระนลาต แก้พระโลหิตกำเดา อันประชวรพระเจ้านัก ให้เอา กฤษณา อบเชยเทศ รากมะลิ รากสลิด รากสมี ชะมด ลดด้วยน้ำดอกไม้เทศ น้ำดอกไม้ไทยก็ได้ รำหัดพิมเสนลง ทรงทาหายแลฯ” เป็นต้น


ในตำราพระโอสถครั้งรัชกาลที่ 2 พ.ศ.2355 กล่าวถึงตำรายาที่เข้ากฤษณา หลายชนิด เช่น “ยาชื่อมหาเปราะ เอาดอกบุนนาค กฤษณา กะลำพัก ผิวมะกรูด ว่านน้ำ การบูร ไคร้หอม หอมแดง สิ่งละส่วน เปราะหอม 3 ส่วน ทำเป็นจุณบดทำแท่งไว้ ละลายน้ำดอกไม้แทรกพิมเสน ทั้งกิน ทั้งชโลม ทาก็ได้ แก้พิษลมทรางทั้ง 7 จำพวก แลสรรพทางอันจรมานั้น หายสิ้นดีนัก” ในตำรายาไทยระบุว่า กฤษณารสขมหอม สุขุม คุมธาตุ บำรุงโลหิตในหัวใจ (อาการหน้าเขียว) บำรุงหัวใจ บำรุงตับปอดให้เป็นปกติ แก้ลมวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด แก้ลมซาง แก้ไข้ อาเจียน ท้องร่วง บำบัดโรคปวดตามข้อ ตำรับยาที่เข้ากฤษณามีหลายชนิด เช่น ตำรายาเด็กในคัมภีร์ปฐมจินดา กล่าวว่ากฤษณาจะเข้ายาแก้ซาง แก้ไข้ แก้พิษ เช่น ยาแดง ยาคายพิษ ยาทาลิ้น ทาแก้เสมหะ ยาแก้ไข และยาล้อมตับดับพิษ ยากวาดแก้ดูดนมมิได้ ยาหอมใหญ่ แก้ซาง แก้ไข้ ยาเทพมงคล ยาสมมติกุมารน้อย ยาสมมติกุมารใหญ่ ยาอินทรบรรจบ ยาแก้ซางเพลิง ยาแก้ท้องเสีย แก้บิดในเด็ก เป็นต้น ส่วนในพระคัมภีร์มหาโชติรัตน์ว่าด้วยโรคระดูสตรี กฤษณา จะเข้ายาบำรุงโลหิต แก้โลหิตเป็นพิษ เช่น ยาอุดมโอสถน้อย-ใหญ่ ยาเทพรังสิต ยาเทพนิมิต กฤษณาจะเข้ายาบำรุงโลหิต บำรุงธาตุ บำรุงกาม เพื่อให้ตั้งครรภ์ เช่น ยากำลังราชสีห์ ในคัมภีร์ธาตุบรรจบ กฤษณายังเข้ายาเทพประสิทธิ์ ใช้แก้ลม แก้สลบ แก้ชัก ปัจจุบันตำรับยาที่เข้ากฤษณาก็ยังมีอยู่ เช่น ยากฤษณากลั่น แก้ปวดท้อง จุกเสียด แน่น รวมทั้งยาหอมแทบทุกชนิด เช่น ยาหอมตราห้าเจดีย์ ยาหอมตราฤาษีทรงม้า ล้วนแต่มีส่วนผสมของกฤษณาทั้งสิ้น (สุภาภรณ์, 2537)




เตาผลิตน้ำมันกฤษณา

ในปัจจุบันมีตำรายาที่เข้ากฤษณาอยู่หลายชนิด เช่น ยากฤษณากลั่นตรากิเลน ใช้บำบัดอาการปวดท้อง ท้องเสีย จุกเสียด แน่น หรือยาหอมที่เข้ากฤษณาก็มีอยู่หลายขนาน มีสรรพคุณ คือ ใช้แก้ลม วิงเวียนจุกเสียด หน้ามืดตาลาย คลื่นเหียน อ่อนเพลีย บำรุงหัวใจ ขับลมในกระเพาะลำไส้ บำบัดโรคปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น ยาหอมสุคนธโอสถตราม้า มีตัวยาที่สำคัญ คือ กฤษณา โกฐหัวบัว โกฐพุงปลา ชะเอม สมุลแว้ง ชะมด พิมเสน อบเชย กานพลู ฯลฯ ยาหอมตรา 5 เจดีย์ มีตัวยาสำคัญหลายชนิด คือ กฤษณา ชวนพก [Magnolia officinalis Rehd. Et wils] โกฐสอ กานพลู เกล็ดสะระแหน่ อบเชย โกฐกระดูก พิมเสน โสยเซ็ง [Asarum sieboldii Miq.] ฯลฯ ยาหอมทูลฉลองโอสถ ประกอบด้วยตัวยาที่สำคัญ คือ กฤษณา โกฐสอ โกฐเชียง ฯลฯ ยาหอมตราเด็กในพานทอง ตัวยาสำคัญ คือ กฤษณา กานพลู สมุลแว้ง ดอกบุนนาค โกฐหัวบัว ฯลฯ ยาหอมหมอประเสริฐ ตัวยาสำคัญ คือ กฤษณา จันทร์เทศ ผิวส้มจีน เกล็ดสะระแหน่ ฯลฯ

ในตำราจีน กฤษณาจัดเป็นยาชั้นดี มีรสเผ็ดปนขม ฤทธิ์อ่อน ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้ลมวิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน รักษาอาการปวดแน่นหน้าอก แก้หอบหืด เสริมสมรรถภาพทางเพศ แก้โรคปวดบวมตามข้อ ขับลมในกระเพาะอาหาร ปัจจุบันได้นำกฤษณาไปผลิตยารักษา โรคกระเพาะที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง คือ จับเชียอี่ (สุภาภรณ์, 2537)

จากหลักฐานการใช้ประโยชน์ของกฤษณา ยกตัวอย่างมาทั้งหมด พอจะสรุปคุณประโยชน์ของกฤษณาตามคุณภาพได้ดังนี้คือ ไม้ลูกแก่น เป็นไม้คุณภาพดีที่สุด สีดำสนิท ใช้เผาให้เกิดกลิ่นหอม สูดดมแล้วเกิดกำลังวังชา และถือเป็นมงคล ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาอิสลามในสุเหร่า หรือตามบ้านอภิมหา-เศรษฐี หรือต้อนรับอาคันตุกะพิเศษส่วนไม้กฤษณาคุณภาพรองลงมา คือ ไม้ตกตะเคียน (ที่เกิดจากการตัดฟันทิ้งไว้ 6-7 เดือน จนเนื้อไม้เปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนถึงน้ำตาลเข้ม) หรือไม้ปากขวาน (มีคุณภาพสูงกว่าไม้ตกตะเคียน เกิดจากการฟันต้นไม้ทิ้งไว้ราว 3 ปี มีสีเกือบดำ ถ้าทิ้งไว้เป็นร้อยปีมีสีดำสนิท เป็นไม้เกรดหนึ่ง) จะนำมากลั่นเป็นหัวน้ำหอม โดยนำเนื้อไม้มาป่นเป็นเส้นเท่าเข็มเย็บผ้า ความยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร นำไปตากแห้งแล้วแช่น้ำไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วนำไปต้มกลั่นด้วยระบบควบแน่นเพื่อให้ได้หัวน้ำหอมบริสุทธิ์ มีสีดำ บรรจุขวดขนาด 1 โตลา หรือ 12.5 ซีซี น้ำหนักประมาณ 11.7 กรัม ราคาในประเทศไทยโตลาละประมาณ 2,500 บาท (มนตรี, 2537) น้ำมันหอมระเหยจากกฤษณานี้ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตน้ำหอมและเครื่องสำอาง ผู้ผลิตน้ำหอม ชาวยุโรปยังสั่งซื้อในราคาสูง เพื่อปรุงแต่งทำน้ำหอมให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ติดผิวกายได้นานขึ้น ส่วนชาวอาหรับจะนิยมใช้น้ำมันหอมมาทาตัว เป็นเครื่องประทินผิว ติดผิวหนังนาน ป้องกัน ตัวแมลงต่าง ๆ ได้อย่างดี นอกจากนั้นยังใช้อุตสาหกรรมเข้าเครื่องยาต่าง ๆ หลายชนิด ส่วนกาก ที่เหลือก็นำไปทำธูปหอมหรือยาหอม ประโยชน์อย่างอื่นของกฤษณา คือ นำไปทำลูกประคำ และหีบใส่เครื่องเพชรเนื้อไม้ปกติจะใช้ทำเครื่องกลึง แกะสลัก คันธนู หน้าไม้ เรือเปลือกให้เส้นใยใช้ทำเสื้อผ้า ถุง ย่าม ที่นอน เชือก และกระดาษ (กรมป่าไม้, 2486)

การตรวจคุณภาพของไม้กฤษณา ถ้าทิ้งท่อนกฤษณาลงในน้ำ ท่อนที่จมน้ำมีคุณภาพดีเลิศเรียก "Gharki" ชนิดนี้เนื้อไม้จะเป็นสีดำมีกลิ่นหอม นิยมใช้ทางยา ถ้าท่อนใดลอยปริ่มน้ำมีสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำเงินเข้ม จะเป็นกฤษณาชนิดกลางเรียก "Neem Gharki" สำหรับท่อนที่ลอยน้ำเป็นกฤษณาชนิดเลวเรียก "Samaleh" พบอยู่ทั่วๆไป เมื่อเผาเนื้อไม้เกือบไม่มีกลิ่นหอม





ปัจจุบันน้ำหอมผลิตจากส่วนต่างๆ ของต้นไม้ทำให้มีน้ำหอมหลายชนิดวางขายในท้องตลาด เช่น น้ำหอมจากดอกกุหลาบ น้ำหอมจากใบลาเวนเดอร์ หรืออื่นๆ คุณรู้กันหรือไม่ว่า กำเนิดของน้ำหอมในยุดแรกไม่ได้เกิดจากพืชเลย แต่เกิดจากการเผาสารบางชนิดที่มีกลิ่นหอมใหมีควันฟุ้งกระจายต่างหาก (คำว่าน้ำหอม หรือ perfume จึงมาจาก fumus ซึ่งแปลว่า ควัน นั่นเอง)





ที่มา : //www.forest.go.th/ และ //www.manager.co.th




















Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2551 0:01:42 น. 11 comments
Counter : 11109 Pageviews.

 
ขอบคุณค่ะที่นำมาฝากกัน
ป.ล.เพลงเพราะค่ะ


โดย: โอน่าจอมซ่าส์ วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:0:10:42 น.  

 
หวัดดีค่ะ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีกลิ่นหอมๆ ได้เน๊อะ
ว้าวๆ วันนี้บล้อกสวยแปลกตาค่ะ


โดย: pat_pk วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:9:05:55 น.  

 
i m interesting product....


โดย: ZAREENA IP: 117.47.88.85 วันที่: 30 กรกฎาคม 2551 เวลา:18:51:20 น.  

 
สนใจ อยากทำธุรกิจ
มีคำแนะนำ บ้างไหม
adinan_be@hotmail.com


โดย: naim IP: 41.233.166.30 วันที่: 29 มกราคม 2552 เวลา:19:34:12 น.  

 
รับซื้อและจำหน่ายไม้กฤษณา และน้ำมันไม้กฤษณา และรับทำสารจำนวนมาก ราคาดี ติดต่อได้ที่ โรงกลั่นขวัญใจกฤษณา บ้านโป่งแรด จังหวัด จันทบุรี โทร. 081-9389115 , 080-6439018


โดย: ขวัญใจกฤษณา IP: 118.172.241.68 วันที่: 20 ตุลาคม 2553 เวลา:14:47:22 น.  

 
ใครสนใจไม้กฤษณา ปลูก 8 ปีแล้ว ติดต่อได้ 042-766375; 080-1877237 สกลนคร


โดย: สุนิสา IP: 125.26.245.138 วันที่: 1 สิงหาคม 2554 เวลา:8:08:45 น.  

 
ซื้อขายน้ำมันไม้กฤษณาค่ะ
โรงงานขวัญใจกฤษณา รับทำสารไม้กฤษณา และซื้อขายจำหน่ายน้ำมันไม้กฤษณาเกรด A โดยราคาประมาณ 4,000-5,000 บาท สนใจตอดต่อที่ 081-9389115 หรือ 080-6440326


โดย: ขวัญใจกฤษณา IP: 180.180.69.253 วันที่: 6 เมษายน 2556 เวลา:19:39:53 น.  

 
ต้องการขายไม้กฤษณาคับ อายุ 10ปีแล้วประมาณ150ต้น ต้นใหญ่คับยังไม่ทำสาร สนใจติดต่อ0916917151 หรือ 0828585158


โดย: คุณบุญเสริม IP: 49.48.125.133 วันที่: 20 มกราคม 2557 เวลา:13:07:02 น.  

 
อยากซื้อน้ำหอมไม้กฤษณาที่ไหนมีขายค่ะ ช่วยบอกที 0823444466


โดย: หนึ่งค่ั IP: 49.230.169.202 วันที่: 27 มกราคม 2557 เวลา:20:07:10 น.  

 
มีไม้ กฤษณา อายุ13 ปี ขายติดต่อ0810330076


โดย: มนตรี IP: 49.230.155.236 วันที่: 14 สิงหาคม 2557 เวลา:17:45:15 น.  

 
กฤษณา กฤษณา จำหน่ายกล้าพันธุ์ไม้กฤษณาสายพันธุ์ดี จากทีมงานเพาะพันธุ์กล้าไม้มืออาชีพที่มีประสพการณ์สูง
ราคาไม่แพง จำหน่ายทั้งปลีกและส่งทั่วประเทศ ผลงานเป็นที่ประจักษ์ทั่วประเทศกว่ายี่สิบปี
สนใจติดต่อคุณไก่ 095-4654546 ,0946465654
ID line kai54654546
Email nangpaya@hotmail.com
ชมผลงานและคุณภาพกล้าพันธุ์ไม้ได้ที่ //www.takuyak.com
หรือที่แฟนเพจ คุณไก่กล้าพันธุ์ไม้
หรือชมคลิปที่ //www.youtube.com ช่อง ชัยชนะ เสือเพ็ง
หรือที่แฟนเพจ ชมรมเกษตรกรผู้ปลูกไม้พะยูงแห่งประเทศไทย


โดย: คุณไก่ IP: 171.97.1.113 วันที่: 10 มีนาคม 2560 เวลา:15:57:01 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

นอกลู่นอกทาง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]








ภาพถ่ายดาวเทียมด้านอุตุนิยมวิทยา
ภาพสดๆจากที่ต่างๆทั่วมุมโลก
Ban Na Song BKK, Thailand
Karon Beach , Phuket , Thailand
Federal Highway, Angkasapuri ,Pantai Valley , Malaysia
Delta Estate , Singapore
Malate ,Manila , Philippines
Bandar Seri Begawan , Brunei
Guangxi Guilin, China
달빛무지개분수(Banpo Bridge Fountain )Sin’gilsa-dong , Seoul , South Korea
Hong Kong skyline from Admiralty, China
Shiomidai , Kanagawa , Japan
Cable Beach, Broome, Western Australia, Australia
Keahua Hawaii , USA
Sacramento California, USA
Washington D.C., USA
Manhattan , New York , USA
McCulloch Kelowna, Canada
Niagara Falls , Ontario , Canada
Panama Canal , Bella Vista , Panama
Santiago de Chile , Región Metropolitana , Chile
Fairbanks, Alaska Forecast Arctic
Mar del Plata Buenos Aires , Argentina
Tasiilaq , Østgrønland , Greenland
London Skyline from the Sheraton Park Tower , Knightsbridge , United Kingdom
Trafalgar Square , London , United Kingdom
Eiffel Tower Paris, France
Harstad Nordland , Norway
Halsum , Svalbarð , Iceland
Amsterdam , Netherlands
Vatican City State, Saint Peter's Basilica Borgo , Italy
Berlin, Germany
Чебоксарский залив, Yakimovo, Chuvashia , Russia
Udaipur Lake Pichola , Rājasthān , India
Mount Everest , Junbesi , Sagarmāthā , Nepal
Cape Town Sanddrift, South Africa
Orpen , Richmond , South Africa
Abū Hayl Dubai , United Arab Emirates
Kairo, Egypt
Medhufushi, Maldives
Mawson station Antarctica

Profile Visitor Map - Click to view visits
หนังทุกเรื่องหรือเพลงทุกเพลงในบล็อกนี้ เป็นเจ้าของ ของลิขสิทธินั้นๆตามเจ้าของเดิม นำมาเพื่อแบ่งปันชมกันในหมู่เพื่อนพ้อง ชาวบล็อกแก้งค์เท่านั้นครับ....
ไม่สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ 2539 หากผู้ใดคิดจะ ลอกเลียน หรือนำส่วนใดส่วนหนื่ง ของข้อความใน Blog แห่งนี้ไปเผยแพร่ ให้นำไปได้เลย โดยไม่ต้องขออนุญาต จขบ. แต่ต้องคัดลอกแจกจ่ายให้ครบ 50 ก็อปปี้ ไม่เช่นนั้น จะมีอันเป็นไป ต่างๆนานา ถึงขั้นชีวิตตกอับ อิอิ หากแต่ว่า..นำชื่อ จขบ. ไปใช้ในทางเสียหายหรือประจาน จะถูกดำเนินคดี ตามที่ กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด นะจ๊ะ
Friends' blogs
[Add นอกลู่นอกทาง's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.