Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
 
8 กุมภาพันธ์ 2551
 
All Blogs
 
Super Thursday





















ปิดฉาก'ซูเปอร์ทิวสเดย์'แค่จุดเริ่มต้นของการต่อสู้อันยืดเยื้อ

บารัค โอบามา และฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครเป็นตัวแทนลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต เสมอกันในศึกเลือกตั้งขั้นต้นครั้งใหญ่ "ซูเปอร์ ทิวสเดย์" ส่วนฝั่งรีพับลิกัน จอห์น แมคเคน มาแรงกวาดชัยชนะไปได้หลายมลรัฐกว่าผู้สมัครคนอื่นๆในพรรค



ผลการต่อสู้อย่างดุเดือดของพรรคเดโมแครตปรากฏว่า โอบามาชนะไป 13 มลรัฐ และฮิลลารีชนะ 8 มลรัฐ ชัยชนะของฮิลลารีนั้นมีมลรัฐใหญ่ๆที่มีผู้แทนมากด้วย เช่น แคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์ก





แมคเคนชนะไป 9 มลรัฐ ซึ่งมีมลรัฐสำคัญอย่างแคลิฟอร์เนีย และมลรัฐใหญ่ๆทางตะวันออกเฉียงเหนือ จนทำให้เขาได้คะแนนนำอย่างแข็งแกร่งในฝั่งรีพับลิกัน แมคเคนได้ผู้แทนที่จะไปประชุมใหญ่พรรคเลือกตัวแทนชิงประธานาธิบดีจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ หลายมลรัฐที่เลือกตั้งในวันซูเปอร์ทิวสเดย์ของรีพับลิกันใช้ระบบ "ผู้ชนะได้หมด" ซึ่งก็คือ ผู้ชนะจะได้ผู้แทนของผู้แพ้ไปด้วย



คู่แข่งคนอื่นๆในพรรครีพับลิกัน ยังรักษาความหวังไว้ได้ และยืนยันจะสู้ต่อไป โดยมิตต์ รอมนีย์ ชนะไป 7 มลรัฐ และไมก์ ฮักคาบี ชนะไป 5 มลรัฐ

ผลโหวตไม่ชี้ว่าใครเป็นผู้ชนะขาด โดยผู้สมัครกวาดชัยชนะได้อย่างน้อยคนละ 5 มลรัฐ จึงค่อนข้างแน่ชัดว่า ศึกชิงเป็นตัวแทนพรรคของทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันจะยืดเยื้อต่อไปอีก



ในสุดสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้าจะมีการเลือกตั้งขั้นต้นสนามต่อไปในอีก 7 มลรัฐ

ทีมหาเสียงของฮิลลารีและโอบามาระบุว่า พวกเขาคาดว่า ทั้งสองฝ่ายน่าจะได้จำนวนผู้แทนสูสีกันจากการเลือกตั้งซูเปอร์ทิวสเดย์ จากการนับคะแนนถึงช่วงเช้าวันพุธ(6) ตามเวลาท้องถิ่น หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานว่า โดยรวมแล้ว ฮิลลารีได้ผู้แทน 760 คน และโอบามาได้ 692 คน ซึ่งต่างก็ยังได้ไม่ถึง 2,025 คน อันเป็นจำนวนที่จะทำให้ชนะเป็นผู้แทนพรรค



ส่วนสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ฮิลลารีได้ผู้แทน 829 คน คิดเป็นมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนผู้แทน 2,025 คนที่จะทำให้เธอชนะเป็นตัวแทนพรรค ส่วนโอบามาตามมาไม่ห่าง ได้ผู้แทน 750 คน



ในฝั่งพรรครีพับลิกัน วอชิงตันโพสต์ระบุว่า แมคเคนได้ผู้แทน 570 คน ส่วนรอมนีย์ได้ 251 คน และฮักคาบีได้ 175 คน โดยผู้สมัครต้องได้ผู้แทนเกินครึ่ง หรือ 1,191 คน จึงจะชนะเป็นผู้แทนพรรค

ด้านสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า แมคเคนได้ผู้แทน 560 คน รอมนีย์ได้ 226 คน และฮักคาบีได้ 154 คน



ผลเอ็กสิตโพลระดับประเทศในวันซูเปอร์ทิวสเดย์ระบุว่า ผู้ลงคะแนนฝั่งเดโมแครตมากกว่าครึ่งเห็นว่า ความสามารถในการสร้างความเปลี่ยนแปลง เป็นคุณสมบัติอันดับหนึ่งของผู้สมัคร ผู้ลงคะแนนเกือบ 1 ใน 4 เห็นว่า ประสบการณ์ ซึ่งเป็นจุดขายของฮิลลารี เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด

ผู้ลงคะแนนรีพับลิกันประมาณ 44% อยากได้ผู้สมัครที่มีความคิดค่านิยมเดียวกับพวกเขา ส่วนอีก 1 ใน 4 ต้องการผู้สมัครที่มีประสบการณ์



การเลือกตั้งขั้นต้นในวันซูเปอร์ทิวสเดย์นี้ เดโมแครตจะได้ผู้แทนมากกว่าครึ่งไปประชุมใหญ่พรรคในเดือนสิงหาคม และรีพับลิกันจะได้ผู้แทนราว 40% ไปประชุมใหญ่พรรคในเดือนกันยายน

แต่จากผลที่ปรากฏ ยังไม่มีใครสามารถทำน็อกเอาต์คู่แข่งได้ ผู้วิจารณ์ชี้ว่า ศึกที่ยืดเยื้อออกไปอาจทำให้มีการสาดโคลน และเกิดการแบ่งแยกภายในพรรคมากขึ้น



"เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้ผลผู้ชนะเด็ดขาด ศึกเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในมลรัฐอย่างเพนซิลเวเนีย โอไฮโอ เทกซัส ลุยเซียนา วอชิงตัน และเวอร์จิเนีย อาจจะเพิ่มแรงกดดันให้ทีมหาเสียงซึ่งอยากจะเผยเขี้ยวเล็บเต็มที" หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ระบุไว้ในบทบรรณาธิการ

โอบามากวาดชัยชนะไปได้ที่มลรัฐแอละแบมา อะแลสกา โคโลราโด คอนเนตทิคัต เดลาแวร์ จอร์เจีย ไอดาโฮ แคนซัส มินนิโซตา มิสซูรี นอร์ทดาโคตา ยูทาห์ และที่บ้านของเขา อิลลินอยส์



ฮิลลารีคว้าชัยชนะที่มลรัฐแอริโซนา อาร์คันซอ แคลิฟอร์เนีย แมสซาชูเซตส์ นิวเจอร์ซีย์ โอคลาโฮมา เทนเนสซี และที่ถิ่นของเธอ นิวยอร์ก

เนื่องจากพรรคเดโมแครตจัดสรรผู้แทนตามสัดส่วนคะแนนที่ผู้สมัครได้ โดยใช้เขตมลรัฐเป็นฐาน หรือใช้เขตเลือกตั้งส.ส.เป็นฐาน ผู้สมัครอาจจะได้ผู้แทนจำนวนมาก แม้จะแพ้ในมลรัฐนั้นก็ตาม



โอบามายังคงเรียกคะแนนจากผู้ออกเสียงผิวดำได้มาก และยังได้รับเสียงสนับสนุนจากคนขาวเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยที่จอร์เจีย เขาได้คะแนนไป 40% เอ็กสิตโพลระบุ ส่วนฮิลลารีได้เสียงสนับสนุนมากจากผู้หญิงและชาวละตินอเมริกา

แมคเคนชนะที่แอริโซนา แคลิฟอร์เนีย คอนเนตทิคัต เดลาแวร์ อิลลินอยส์ มิสซูรี นิวเจอร์ซีย์ นิวยอร์ก และโอคลาโฮมา


------------------------------------------------------------------------


ู้สมัครตัวแทนพรรค “เดโมแครต” ชิงตำแหน่ง ปธน.สหรัฐฯ : ฮิลลารี คลินตัน




บนสังเวียนการเมืองอเมริกา มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะมีประวัติโดดเด่น เฉกเช่น ฮิลลารี รอดแฮม คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งและวุฒิสมาชิกหญิงจากมลรัฐนิวยอร์ก

ฮิลลารี เป็นหนึ่งในตัวเก็งผู้สมัครแข่งขันเพื่อเป็นผู้แทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนปี 2008 และถ้าผลออกมาตามความคาดหมาย เธอผู้นี้ก็จะผงาดขึ้นเป็นผู้นำหญิงคนแรกของประเทศ



พร้อมกันนี้ อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนดังกล่าว ก็จะนำอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ผู้เป็นสามีหวนกลับคืนสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง เช่นเดียวกับที่บิลเคยชูสโลแกนเมื่อครั้งรณรงค์หาเสียงในปี 1993 ว่า “เลือก 1 แถม 1” ซึ่งหมายความว่าเลือกสามีแล้วจะได้ยอดศรีภรรยาคนเก่งของเขาแถมด้วย

จากการอุทิศตัวเป็นผู้รณรงค์ด้านสิทธิสตรี ตลอดจนการสร้างงานและระบบสาธารณสุข ทำให้ฮิลลารีมีประวัติโดดเด่นในสายตานานาชาติและภายในประเทศ



ขณะดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจากมลรัฐนิวยอร์ก ฮิลลารีพยายามถีบตัวเองขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งแกนกลางของพรรคเดโมแครต

อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งผู้นี้ เคยยกมือสนับสนุนภารกิจบุกอิรักเมื่อปี 2003 ทว่านับแต่นั้นเป็นต้นมา เธอก็ถอยห่างจากสิ่งที่เธอประณามว่าเป็น การ “ขยาย” ไปสู่ความขัดแย้งของประธานาธิบดีจอร์ช ดับเบิลยู บุช ทั้งยังเรียกร้องให้เริ่มถอนทหารออกจากอิรัก



ในระหว่างหาเสียงเพื่อเป็นผู้แทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ฮิลลารีพยายามที่จะให้คำจำกัดความของตัวเองว่า เป็นผู้สมัครที่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ซึ่งสามารถขึ้นนำพาประเทศตั้งแต่จุดเริ่มต้นขึ้นรับตำแหน่ง

ทว่า เส้นทางที่มุ่งไปสู่ทำเนียบขาวของเธอกลับไม่ได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ ฮิลลารีต้องเผชิญกับศึกทางการเมืองอันหนักหน่วง ทั้งจากความรับรู้ความเข้าใจที่มีต่อตัวเธอของบรรดาผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง ตลอดจนจากคู่แข่งคนสำคัญอย่างบารัค โอบามา สมาชิกวุฒิสภาจากมลรัฐอิลลินอยส์

หลายคนเชื่อว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวสหรัฐฯ จำนวนมากมักจะเชื่อมโยงฮิลลารีเข้ากับเรื่องอื้อฉาวของสามี ในระหว่างที่เขาปฏิบัติหน้าที่ในทำเนียบขาว



นักวิจารณ์บางคนมองว่า ฮิลลารีเพียงแค่ดำรงตำแหน่งวุฒิสภาเท่านั้น และไม่เคยทำงานด้านบริหารจริง ๆ เลย นอกจากนี้ เธอยังถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับศักยภาพที่จะได้รับการเลือกตั้ง เพราะอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งมักถูกมองว่าเป็น ผู้สร้างความแตกแยก ตลอดจนกังขาในความสามารถที่จะมัดใจผู้มีสิทธิลงคะแนนด้วย

สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ

ฮิลลารี เกิดเมื่อปี 1947 ณ มลรัฐอิลลินอยส์ของสหรัฐฯ ในครอบครัวหัวอนุรักษ์นิยม ระหว่างศึกษาในวิทยาลัยเวลสลีย์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ เธอเป็นนักศึกษาที่แสนยอดเยี่ยม ทั้งยังเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองด้วย



จากนั้นเธอจึงเข้าศึกษาต่อด้านกฎหมาย ณ มหาวิทยาลัยเยล ทั้งยังร่วมงานกับกลุ่มให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย
แก่เด็กและเยาวชน, สนับสนุนสิทธิสตรี และร่วมรณรงค์หาเสียงในนามของนักการเมืองพรรคเดโมแครตหลายคนหลายคน อาทิ วอลเตอร์ มอนเดล อดีตตัวเก็งประธานาธิบดี

ณ มหาวิทยาลัยเยลแห่งนี้เองที่ทำให้เธอได้พบกับบิล คลินตัน หลังจากนั้นทั้งคู่ก็จูงมือกันเข้าพิธีสมรสในปี 1975

ฮิลลารีกลายเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของมลรัฐอาร์คันซอ หลังจากที่บิลได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการมลรัฐในปี 1978 และรั้งตำแหน่งดังกล่าวอย่างต่อเนื่องนานกว่า 10 ปี จากนั้นในปี 1980 สองสามีภรรยาคู่นี้ก็ให้กำเนิดเชลซี ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวน

หลังจากที่บิลกระโดดลงสู่สังเวียนการเมืองระดับชาติ และได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1992 ผู้เป็นภรรยาก็ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงระบบสาธารณสุขที่แสนจะวุ่นวายของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม จนแล้วจนรอดคำแนะนำจากหน่วยงานของฮิลลารีก็ถูกรัฐสภาสหรัฐฯ ปฏิเสธ ภายหลังสมาชิกพรรครีพับลิกันและผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอดังกล่าว

นอกจากจะอกหัก เพราะแผนปรับปรุงสาธารณสุขถูกพับเก็บแล้ว ฮิลลารียังต้องเผชิญกับความพยายามอย่างไม่ลดละที่มุ่งโจมตีบทบาทตามประเพณีของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เมื่อเธอลุกขึ้นแสดงความเห็นอย่างเผ็ดร้อนว่า ไม่ต้องการอยู่แต่ภายในบ้าน และนั่ง “อบคุกกี้” ไปวัน ๆ ในขณะที่ผู้เป็นสามีกำลังบริหารประเทศ





จากเรื่องอื้อฉาวไปสู่ตำแหน่งวุฒิสมาชิก

เรื่องอื้อฉาวต่าง ๆ นานา ซึ่งถาโถมเข้ามาตลอดระยะเวลาที่บิลเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเฉพาะกรณีซึ่งเคยนำไปสู่การยื่นถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งทว่าไม่ประสบผลสำเร็จ นั้นคือความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับโมนิกา ลูวินสกี้ อดีตนักศึกษาฝึกงานในทำเนียบขาว มีผลกระทบกับภาพลักษณ์ของฮิลลารีในสายตาสาธารณชนด้วย

ขณะเดียวกัน เธอยังต้องรับศึกหนักจากเรื่องอื้อฉาวที่รู้จักกันในนามคดี “ไวต์วอเตอร์” แต่เรื่องความสัมพันธ์เชิงชู้สาวของสามีกับเลวินส์กี้ ก็ยากเกินว่าที่ฮิลลารีจะเพิกเฉยได้

ต่อมาภายหลัง เธอก็ยอมรับในหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเธอเองว่า การนอกใจของสามีสร้างความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสให้กับเธอ

ในปี 2000 หลังจากทั้งสองสามีภรรยาตระกูลคลินตันอำลาทำเนียบขาว ฮิลลารีก็ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาของมลรัฐนิวยอร์ก แม้ว่าจะถูกกล่าวหาว่า “ย้ายภูมิลำเนาเพื่อหาเสียงเลือกตั้งในถิ่นฐานใหม่” เพราะเธอไม่เคยพำนักอยู่ในมลรัฐดังกล่าวมาก่อน



ข้อเด่นข้อด้อย

มีสัญญาณบ่งชี้ล่วงหน้าก่อนที่ฮิลลารีจะประกาศเสนอตัวเป็นผู้สมัครแข่งขันผู้แทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 9 มกราคมปีที่แล้ว ตลอดระยะเวลาสองปีก่อนถึงวันที่ประธานาธิบดีคนใหม่แห่งสหรัฐฯ เข้ารับตำแหน่ง เธอมีการเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี

ตัวอย่างเช่น สมาชิกพรรคเดโมแครตหัวเสรีนิยมในมลรัฐนิวยอร์กตั้งข้อสังเกตว่า อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งผู้นี้ พยายามเอาตัวออกห่างจากประเด็นการต่อสู้ของฝ่ายเสรีนิยมบางประเด็น อาทิ สิทธิของพวกรักร่วมเพศ เช่นเดียวกับที่บิล ผู้เป็นสามีเคยดำเนินยุทธศาสตร์ “สามเหลี่ยม” ซึ่งก็คือ การประคับประคองตัวเองให้แยกออกมาจากฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย

หลาย ๆ เดือนหลังจากประกาศตัวเป็นผู้สมัคร ฮิลลารีสามารถระดมเงินหาเสียงได้อย่างสูงลิ่ว จนทำให้ผู้สมัครคนอื่น ๆ กลายเป็นคนแคระไปเลย พร้อมกันนี้ เธอยังได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นจากการโต้วาทีทางโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง

ต่อข้อถามที่ว่าเธอกำลังเล่นไพ่ทางเพศสภาวะอยู่หรือไม่ ฮิลลารีตอกกลับว่า “คนอื่น ๆ ไม่ได้โจมตีดิฉัน เพราะว่าเป็นผู้หญิง หากแต่พวกเขาโจมตี เพราะว่าดิฉันกำลังมีคะแนนนำ”

กระนั้นก็ตาม นักวิจารณ์หลายคนก็ยังคงโจมตีการสมัครแข่งขันเป็นผู้แทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของเธอ




ฮิลลารีถูกตราหน้าว่าเป็น ผู้ที่สร้างความแตกแยกเพราะจะมีชาวอเมริกันบางคนที่หัวเด็ดตีนขาดก็จะไม่ยอมลงคะแนนให้เธอ กระนั้นก็ตาม ข้ออ้างดังกล่าวก็มักจะนำมาใช้กับนักการเมืองเกือบทุกคน

ฮิลลารีปราศจากบารมีในการดึงดูดใจให้ผู้คนชื่นชอบอย่างที่ผู้เป็นสามีได้รับ แม้จะมีการทำให้ภาพลักษณ์ของเธอดูอ่อนหวานขึ้นในระหว่างการเสียงก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคำถามอย่างหนาหูว่า บิลอาจจะเป็นนอมินีตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เป็นได้



------------------------------------------------------------


ผู้สมัครตัวแทนพรรค “เดโมแครต” ชิงตำแหน่ง ปธน.สหรัฐฯ : บารัค โอบามา




“ร็อก สตาร์” ปกติแล้วย่อมไม่ใช่สมญานามที่จะถูกนำไปใช้กับวุฒิสมาชิกของสหรัฐฯ

แต่ก็แทบไม่มีวุฒิสมาชิกคนไหนเลย เคยสามารถที่จะก่อให้เกิดกระแสความตื่นเต้นสนใจ เหมือนกับ บารัค โอบามา วุฒิสมาชิกจากมลรัฐอิลลินอยส์ ในสังกัดพรรคเดโมแครต



เขากำลังถูกจับตามองว่าเป็นผู้สมัครที่น่าเกรงขาม และมีโอกาสสูงไม่น้อยที่จะเข้าเป็นประธานาธิบดีแทนที่ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ถึงแม้เขาจะใช้เวลาอยู่ในแวดวงการเมืองระดับชาติของสหรัฐฯเพียงแค่ 4 ปี เมื่อถึงวันเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปีนี้

โอบามา ก้าวขึ้นสู่ความสำคัญระดับชาติครั้งแรกสุด จากการได้รับเชิญให้ไปกล่าวปราศรัย ซึ่งสามารถสร้างความตื่นเต้นปั่นป่วนขนานใหญ่ ในการประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรคเดโมแครตปี 2004




ไม่กี่เดือนต่อมาหลังจากชนะอย่างถล่มทลายในการลงเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิก และเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในเมืองหลวงของประเทศ เขาก็กลายเป็นที่นิยมรักใคร่ของสื่อมวลชน และเป็นบุคคลที่จะพบเห็นกันบ่อยที่สุดคนหนึ่งในกรุงวอชิงตัน หนังสือ 2 เล่มที่เขาเขียนก็ขายดีติดอันดับเบสต์เซลเลอร์

โอบามา ได้รับความสนับสนุนอย่างแข็งขันจาก โอปราห์ วินฟรีย์ ผู้จัดรายการทอล์กโชว์ชื่อก้อง ซึ่งไม่เพียงรบเร้าให้เขาประกาศการเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในรายการของเธอ หากนับแต่นั้นยังไปปรากฏตัวในการเดินทางหาเสียงของเขาด้วย

ในด้านการหาเงินบริจาคสนับสนุน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับการรณรงค์หาเสียงแบบอเมริกัน โอบามาก็ทำได้ชนิดทำเอาหลายคนตื่นตะลึง โดยผู้สมัครคนอื่นที่อาจทัดเทียมได้ ก็มีเพียง ฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งสำคัญจากพรรคเดโมแครตเช่นกัน




ขณะทำงานในบทบาทวุฒิสมาชิก โอบามามีประวัติการลงคะแนนให้แก่ร่างกฎหมายและญัตติต่างๆ ในแบบฉบับของฝ่ายเสรีนิยมอย่างมั่นคง ทว่าเขาก็สามารถทำงานกับเพื่อนวุฒิสมาชิกที่มาจากพรรครีพับลิกัน ในหลายๆ ประเด็น อาทิ การให้การศึกษาและการป้องกันโรคเอดส์

เติบโตในต่างแดน

บารัค โอบามา เป็นชื่อที่ถูกตั้งตามชื่อบิดาของเขา ผู้ซึ่งเติบโตขึ้นในประเทศเคนยาและทำหน้าที่เลี้ยงแพะ แต่ก็เก่งกาจจนได้รับทุนการศึกษาให้มาเรียนต่อที่ฮาวาย



ที่นั่นเองหนุ่มเคนยาผู้นี้ได้พบและแต่งงานกับมารดาของโอบามา ซึ่งเป็นคนอเมริกันจากมลรัฐแคนซัส แต่ตอนนั้นพำนักอาศัยในนครโฮโนลูลูกับพ่อแม่ของเธอ

ขณะที่โอบามา ยังเป็นทารก พ่อของเขาได้โอกาสไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ทว่าไม่มีเงินที่จะนำครอบครัวไปอยู่ด้วย เวลาต่อมาเขาก็เดินทางกลับเคนยาคนเดียว โดยไปทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของรัฐบาล แล้วก็หย่าขาดจากแม่ของโอบามา



เมื่อโอบามาอายุ 6 ขวบ แอนน์ มารดาของเขาได้แต่งงานใหม่กับหนุ่มชาวอินโดนีเซีย จากนั้นทั้งครอบครัวก็ย้ายไปอยู่กรุงจาการ์ตา

เด็กชายโอบามาพำนักอยู่ที่นั่น 4 ปี จึงย้ายกลับฮาวาย ไปอาศัยกับตายาย และเข้าเรียนหนังสือ

ในระดับอุดมศึกษา โอบามา ไปศึกษาวิชารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนิวยอร์ก หลังสำเร็จแล้วจึงย้ายไปอยู่ที่ชิคาโก และอยู่ที่นั่น 3 ปีโดยทำงานเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านชุมชน



ปี 1988 เขาจากเมืองใหญ่ในมลรัฐอิลลินอยส์แห่งนั้น มาเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ระหว่างนั้น เขาได้รับเลือกให้เป็นประธาน “ฮาร์เวิร์ด ลอว์ รีวิว” วารสารวิชาการด้านกฎหมายอันเลื่องชื่อ ถือเป็นชาวผิวดำคนแรกที่ได้รับตำแหน่งดังกล่าว

หลังเรียนจบจากฮาร์วาร์ด โอบามา หวนกลับมาชิคาโกอีกครั้ง ทำงานและสอนหนังสือในฐานะนักกฎหมายที่ต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง รวมทั้งเป็นทนายความให้กับเหยื่อของการเลือกปฏิบัติ ก่อนที่จะลงสมัครและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกในวุฒิสภาของมลรัฐอิลลินอยส์

ปี 1988 เขาสมรสกับ มิเชลล์ โรบินสัน ซึ่งเป็นทนายความเช่นกัน ทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกัน 2 คน




คัดค้านสงครามอิรัก

โอบามา ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำสงครามรุกรานอิรักมาตั้งแต่ตอนต้นๆ แล้ว โดยได้พูดคัดค้านเรื่องนี้มาหลายเดือนก่อนกองทัพอเมริกันบุกเข้าไปเมื่อเดือนมีนาคม 2003

เขายังคงเรียกร้องให้เร่งถอนทหารอเมริกันออกจากอิรัก แต่สนับสนุนให้สู้รบกับอิหร่านในประเด็นเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของประเทศนั้น ตลอดจนเรียกร้องให้สหรัฐฯจัดการเจรจากับเกาหลีเหนือและซีเรีย



ข้อเสนอเช่นนี้นำไปสู่การโต้ตอบอย่างดุเดือดกับคู่แข่งขันคนอื่นๆ ในพรรคเดโมแครต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งมุ่งโจมตีโอบามาว่าอ่อนประสบการณ์ในด้านกิจการต่างประเทศ

นอกจากนั้น ยุทธศาสตร์การหาเสียงของโอบามาที่มุ่งเน้นว่า เขาคือตัวแทนที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง ขณะที่ฮิลลารีเป็นพวกรักษาสถานะเดิมซึ่งทำให้ประเทศชาติแยกแยก ก็ทำให้ทั้งสองฝ่ายแตกร้าวกันหนักขึ้นเรื่อยๆ

กระนั้นก็ตาม มีเสียงคาดเดากันไม่น้อยว่า หาก โอบามา พ่ายแพ้ให้แก่ฮิลลารี เธอก็อาจเลือกเขามาร่วมทีมเป็นผู้สมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดี ด้วยหวังที่จะให้เขาช่วยดึงเสียงจากผู้ลงคะแนนวัยหนุ่มสาว ตลอดจนเป็นการเอาใจพวกซึ่งไม่ชอบเธอในพรรคเดโมแครตด้วย



อย่างไรก็ตาม โอบามา และผู้สนับสนุนเขา ยังคงมั่นอกมั่นใจว่า เขามีความสามารถเหลือเฟือที่จะชนะได้ตำแหน่งประมุขของสหรัฐฯด้วยตัวเขาเอง



---------------------------------------------------------------



ผู้สมัครตัวแทนพรรค “รีพับลิกัน” ชิงตำแหน่ง ปธน.สหรัฐฯ: จอห์น แมคเคน



“วีรบุรุษสงคราม”, “คนพูดจาตรงไปตรงมา” และ “นักการเมืองความคิดอิสระ” กิตติศัพท์ดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นของจอห์น แมคเคน วุฒิสมาชิกมลรัฐแอริโซนา



แมคเคน วัย 71 ปี อดีตทหารผ่านศึกในสงครามเวียดนามที่เคยตกเป็นเชลยศึกนานถึง 5 ปี ก้าวผ่านลำดับชั้นในแวดวงการเมืองของสหรัฐฯ ผงาดขึ้นเป็นพลังแสดงความคิดความอ่านอย่างไม่อ้อมค้อมในเรื่องนโยบายต่างประเทศและกิจการทหาร

ความพยายามที่จะเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของแมคเคนในคราวนี้นับเป็นครั้งที่ 2 หลังจากพลาดหวังไปเมื่อปี 2000 โดยพ่ายให้กับจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในการรณรงค์หาเสียงที่แสนจะดุเด็ดเผ็ดร้อน



และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แมคเคนยังคงไม่เคยหลบลี้หนีหน้าเมื่อต้องแสดงความไม่เห็นด้วยกับพรรคต้นสังกัด

วุฒิสมาชิกมลรัฐแอริโซนาผู้นี้ เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนที่เหนียวแน่นที่สุดในปฏิบัติการบุกอิรัก ทั้งยังเห็นชอบให้ส่งทหารไปประจำการยังสมรภูมิดังกล่าวเพิ่มเติม ภายใต้การนำของพลเอกเดวิด เปตราอุส ผู้บัญชาการทหารของสหรัฐฯ ในอิรัก



กระนั้นก็ตาม เขาได้ประณามโดนัลด์ รัมเฟลด์ อดีตผู้ทรงอิทธิพลยิ่งในรัฐบาลสหรัฐฯว่า “เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีกลาโหมที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ” พร้อมกันนี้ ยังวิพากษ์วิจารณ์โจมตีการดำเนินสงครามอิรักของคณะรัฐบาลบุชอีกด้วย

สถานการณ์การรณรงค์หาเสียงเพื่อเป็นตัวแทนพรรคชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของแมคเคนในคราวนี้ ดำเนินไปอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ เนื่องจากปราศจากเงินทุนที่จำเป็นต่อการเรียกคะแนนเสียง ทว่าผลโพลระยะหลัง ๆ บ่งชี้ว่า ความนิยมในตัวเขากลับดีวันดีคืน



ลูกนาวี

แมคเคนกำเนิดในปี 1936 ณ ฐานทัพอากาศสหรัฐฯ “โคโค โซโล” ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศปานามา บิดาเป็นนายพลเรืออาวุโส เขาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือในปี 1958 จากนั้นก็เริ่มรับใช้ชาติในตำแหน่งนักบินประจำนาวีสหรัฐฯ

ในเดือนกรกฎาคม ปี 1968 ระหว่างถูกส่งไปประจำการในประเทศเวียดนาม แมคเคนสามารถเอารอดชีวิตมาได้ราวปาฏิหาริย์ หลังจากกองทหารศัตรูยิงขีปนาวุธถูกถังเชื้อเพลิงของเครื่องบินของเขาที่กำลังจะบินขึ้นไปปฏิบัติการทิ้งระเบิด เป็นเหตุให้เกิดเปลวไฟลุกท่วมเรือรบ เหตุการณ์ในครั้งนั้นคร่าชีวิตทหารไป 134 ราย



จากนั้น 3 เดือนต่อมาเครื่องบินของเขาถูกยิงตกในเขตเวียดนามเหนือและโดนนักรบเวียดนามจับกุม แมคเคนผู้มีจิตใจเด็ดเดี่ยวปฏิเสธข้อเสนอที่จะได้รับการปล่อยตัวก่อนคนอื่น ๆ จากการที่เขาเป็นบุตรชายนายพลเรือเอก

ตรงกันข้าม เขาถูกจองจำในฐานะเชลยสงครามเป็นเวลานานกว่า 5 ปี โดยถูกทุบตีและทำร้ายอยู่เป็นประจำจนทำให้แขนข้างหนึ่งของเขาเคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด

หลังเดินทางกลับมายังสหรัฐฯ เขาก็รับราชการทหารต่อ โดยในที่สุดก็ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ประสานงานกองทัพเรือประจำวุฒิสภา จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปี 1981




แมคเคนย้ายมายังมลรัฐแอริโซนา เพื่อบุกเบิกเส้นทางอาชีพสายการเมือง โดยเริ่มจากการคว้าตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนสหรัฐฯ ในปี 1982 จากนั้น 4 ปีต่อมาก็ไต่เต้าไปถึงตำแหน่งวุฒิสมาชิกได้สำเร็จ

ในการขับเคี่ยวเพื่อแย่งตำแหน่งตัวแทนพรรคชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐกับบุช ในปี 2000 ด้วยลักษณะท่าทีตรงไปตรงมาจึงทำให้แมคเคนได้รับแรงสนับสนุนในตอนต้น ๆ และสร้างความประหลาดใจด้วยชัยชนะในการเลือกตั้งขั้นต้นแบบไพรมารี ณ มลรัฐนิวแฮมป์เชียร์

ทว่า เส้นทางสู่ทำเนียบขาวของแมคเคนริบหรี่ลงเรื่อย ๆ หลังถูกโจมตีอย่างหนัก ต่อมาเขาก็เกิดแตกคอกับบรรดาสมาชิกผู้ทรงอิทธิพลในกลุ่มฝ่ายขวาที่เคร่งศาสนา




ในที่สุดบุชก็เป็นผู้คว้าตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกันและได้ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาครอง ส่วนแมคเคนก็กลับไปนั่งเก้าอี้วุฒิสมาชิกตามเดิม โดยเข้าไปเป็นสมาชิกคนสำคัญในคณะกรรมาธิการทหารของวุฒิสภา

ไม่ขอรับตำแหน่ง “รองประธานาธิบดี”

แมคเคนคัดค้านเสียงแข็งไม่ยอมรับมาตรการการลักพาตัวชาวต่างชาติที่อาจเป็นภัยคุมคามต่อความมั่นคงของประเทศ เพื่อเอาตัวไว้สืบสวน, ซักถาม และ ทรมาน ในคุกต่างประเทศ (extraordinary rendition) รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการทรมานนักโทษ เขาประสบความสำเร็จในการเสนอกฎหมายห้ามปฏิบัติอย่างโหดร้ายผิดมนุษย์หรือลดความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้าย

//www.bloggang.com/data/offway/picture/1202404741.jpg>


และแม้ว่า แมคเคนจะสนับสนุนแนวทางของพรรครีพับลิกันในบางกรณีที่สำคัญ อาทิ การทำแท้ง เขาก็ลุกขึ้นมาก่อกบฏในบางประเด็น อาทิ เรื่องสิทธิของกลุ่มรักร่วมเพศ และมาตรการควบคุมการหาเงินเพื่อใช้รณรงค์หาเสียง

หากอดีตนายทหารหัวใจทระนงผู้นี้ สามารถพิชิตทำเนียบขาวคราวนี้ได้สำเร็จ เขาก็จะกลายเป็นประธานาธิบดีที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวาระแรกที่มีอายุมากที่สุด

แมคเคนประกาศชัดเจนว่า จะไม่ยอมรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นอันขาด

“อย่างที่คุณรู้นั้นแหละ ผมใช้เวลานานหลายปีในค่ายเชลยศึกในเวียดนามเหนือ ถูกขังอยู่ในความมืด และประทังชีวิตด้วยเศษอาหาร - - แล้วผมจะต้องไปเผชิญกับสิ่งทั้งหมดเหล่านั้นอีกหนทำไมกันล่ะ”
















Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2551 0:22:40 น. 2 comments
Counter : 3215 Pageviews.

 


โดย: ตาอ้วนชวนคุย วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:0:38:37 น.  

 
ฝันดีนะค่ะฮันนี่


โดย: โอน่าจอมซ่าส์ วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:1:05:45 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

นอกลู่นอกทาง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]








ภาพถ่ายดาวเทียมด้านอุตุนิยมวิทยา
ภาพสดๆจากที่ต่างๆทั่วมุมโลก
Ban Na Song BKK, Thailand
Karon Beach , Phuket , Thailand
Federal Highway, Angkasapuri ,Pantai Valley , Malaysia
Delta Estate , Singapore
Malate ,Manila , Philippines
Bandar Seri Begawan , Brunei
Guangxi Guilin, China
달빛무지개분수(Banpo Bridge Fountain )Sin’gilsa-dong , Seoul , South Korea
Hong Kong skyline from Admiralty, China
Shiomidai , Kanagawa , Japan
Cable Beach, Broome, Western Australia, Australia
Keahua Hawaii , USA
Sacramento California, USA
Washington D.C., USA
Manhattan , New York , USA
McCulloch Kelowna, Canada
Niagara Falls , Ontario , Canada
Panama Canal , Bella Vista , Panama
Santiago de Chile , Región Metropolitana , Chile
Fairbanks, Alaska Forecast Arctic
Mar del Plata Buenos Aires , Argentina
Tasiilaq , Østgrønland , Greenland
London Skyline from the Sheraton Park Tower , Knightsbridge , United Kingdom
Trafalgar Square , London , United Kingdom
Eiffel Tower Paris, France
Harstad Nordland , Norway
Halsum , Svalbarð , Iceland
Amsterdam , Netherlands
Vatican City State, Saint Peter's Basilica Borgo , Italy
Berlin, Germany
Чебоксарский залив, Yakimovo, Chuvashia , Russia
Udaipur Lake Pichola , Rājasthān , India
Mount Everest , Junbesi , Sagarmāthā , Nepal
Cape Town Sanddrift, South Africa
Orpen , Richmond , South Africa
Abū Hayl Dubai , United Arab Emirates
Kairo, Egypt
Medhufushi, Maldives
Mawson station Antarctica

Profile Visitor Map - Click to view visits
หนังทุกเรื่องหรือเพลงทุกเพลงในบล็อกนี้ เป็นเจ้าของ ของลิขสิทธินั้นๆตามเจ้าของเดิม นำมาเพื่อแบ่งปันชมกันในหมู่เพื่อนพ้อง ชาวบล็อกแก้งค์เท่านั้นครับ....
ไม่สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ 2539 หากผู้ใดคิดจะ ลอกเลียน หรือนำส่วนใดส่วนหนื่ง ของข้อความใน Blog แห่งนี้ไปเผยแพร่ ให้นำไปได้เลย โดยไม่ต้องขออนุญาต จขบ. แต่ต้องคัดลอกแจกจ่ายให้ครบ 50 ก็อปปี้ ไม่เช่นนั้น จะมีอันเป็นไป ต่างๆนานา ถึงขั้นชีวิตตกอับ อิอิ หากแต่ว่า..นำชื่อ จขบ. ไปใช้ในทางเสียหายหรือประจาน จะถูกดำเนินคดี ตามที่ กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด นะจ๊ะ
Friends' blogs
[Add นอกลู่นอกทาง's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.