Group Blog
 
 
สิงหาคม 2552
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
15 สิงหาคม 2552
 
All Blogs
 

ระบบและรูปแบบบริการพยาบาล


อารีญา ด่านผาทอง พย.ม.



ประเทศไทยกำลังอยู่ในกระบวนการปฏิรูประบบบริการสุขภาพทุกระบบย่อยภายในขอบเขตของการบริการสุขภาพย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลง ระบบบริการการพยาบาลจึงจำเป็นต้องปรับให้สอดคล้องกับทิศทางใหม่ในการบริการสุขภาพ ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการพยาบาลจะต้องมีความว่องไวในการปรับแต่ง ทั้งในการบริการ การจัดการการบริการการพยาบาล และการปฏิบัติการพยาบาลไปพร้อมๆกัน ระบบและรูปแบบการบริการพยาบาลสำหรับการบริการนั้นความสำคัญอยู่ที่การบูรณาการการบริการ 4 มิติไว้ด้วยกัน คือการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันความเจ็บป่วย และการฟื้นฟูสภาพ ซึ่งจำเป็นต้องจัดขึ้นอย่างมีรูปแบบและผู้รับบริการมองเห็นผลิตผลของการบริการอย่างชัดเจน (พวงรัตน์ บุญญานุรักษ์, 2545. หน้า 75)

ระบบบริการพยาบาล คือระบบที่ได้มาจากการใช้ความสามารถทางการพยาบาลเพื่อปรับแก้ไขความสมดุลระหว่างความสามารถในการดูแลตนเองกับความต้องการการดูแลทั้งหมดของผู้รับบริการ จะเกิดขึ้นเมื่อพยาบาลมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยหรือผู้รับบริการ เพื่อค้นหาปัญหาความต้องการการดูแลรวมทั้งปรับการใช้และพัฒนาความสามารถของผู้ป่วยหรือผู้รับบริการในการดูแลตนเอง หรือปรับการใช้และพัฒนาความสามารถของผู้รับผิดชอบในการสนองตอบต่อความต้องการการดูแลของบุคคลที่ต้องการการพึ่งพา ระบบการพยาบาลเป็นระบบของการกระทำที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามความสามารถ และความต้องการของผู้ป่วยหรือผู้รับบริการ (สมจิต หนุเจริญกุล, 2544. หน้า 128 )

พวงรัตน์ บุญญานุรักษ์ (2545, หน้า 75-83) ได้กล่าวไว้ว่าการพัฒนาระบบการบริการพยาบาลเพื่อการประกันคุณภาพนั้นมองได้หลายทิศทาง การพัฒนาระบบการบริการทางการพยาบาลเพื่อการประกันคุณภาพการพยาบาลจะต้องนำแนวคิดการจัดการคุณภาพ (Quality Management) และการจัดการความเสี่ยง (Risk Management) มาบูรณาการแล้วจัดทำขึ้นเป็นระบบบริการพยาบาลที่มุ่งคุณภาพอย่างชัดเจนใช้แนวทางปฏิบัติทั้ง 4 มุมมองไปพร้อม ๆ กันดังนี้

1. รูปแบบงานการบริการการพยาบาลที่จะต้องตอบสนองความต้องการทางสุขภาพของประชาชนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปบริการโดยมีการบริการประชากรที่มีสุขภาพดีและเจ็บป่วยมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันการเจ็บป่วยประกอบด้วย

1) การบริการพยาบาลแนวส่งเสริมสุขภาพ(Health Promoting Nursing Service)

2) การบริการการพยาบาลแนวป้องกันความเจ็บป่วยที่รุนแรง ทั้งนี้จะต้องให้การบริการการพยาบาลแบบองค์รวมที่มีคุณภาพ

3) การบริการการพยาบาลในแนวทางป้องกันความเสี่ยง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ

4) การบริการการพยาบาลในระยะพักฟื้น เพื่อช่วยให้สุขภาพได้ฟื้นคืนสภาพสู่ภาวะปกติได้เร็วที่สุดป้องกันการเกิดภาวะ แทรกซ้อนรวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ

2. เป็นการมองระดับเล็กประกอบด้วย

1) การบริการพยาบาลที่มุ่งผลผลิต (Outcome-based Nursing Service) โดยจะต้องกำหนดตัวผลิตผลของการพยาบาลออกมาให้ชัดเจนในการดูแลผู้รับบริการหรือการดูแลปัญหาสุขภาพเรื่องหนึ่งๆ

2) การพยาบาลองค์รวม (Holistic Care) คือการบูรณาการการดูแลด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน ในทุกกิจกรรมของการพยาบาล จุดเน้นอยู่ที่การใช้ศาสตร์การดูแล (Science of Caring) ในการปฏิบัติวิชาชีพการพยาบาลการบูรณาการพยาบาล (Integrative nursing) เป็นแก่นของการปฏิบัติสำหรับวิชาชีพแห่งการดูแล (Caring profession) พฤติกรรมการดูแลของบุคลากรพยาบาลเป็นดัชนีสำคัญของคุณภาพการพยาบาล

3) การปฏิบัติการการพยาบาลที่ใช้ครอบครัวเป็นฐาน (Family-based Nursing Practice) คือการดูแลช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพจะต้องยึดครอบครัวเป็นสำคัญ เนื่องจากทุกคนต้องพึ่งพาอาศัยครอบครัวในการดำเนินชีวิตประจำวัน และการดูแลสุขภาพเกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

3. แนวการจัดการ (Management view) คือการมองที่ตัวระบบของการบริการพยาบาลเชิง การจัดการที่จะนำไปสู่คุณภาพการพยาบาลมากยิ่งขึ้นมีการใช้

1) กระบวนการพยาบาลในการปฏิบัติการพยาบาล

2) การประชุมปรึกษาทางการพยาบาล (Nursing Conference) เป็นแนวทางปฏิบัติหนึ่งที่ให้พลังอำนาจ (Empowerment) แก่ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ก่อให้เกิดความเป็นอิสระและควบคุมตนเองได้สูงขึ้น

3) การเยี่ยมตรวจทางการพยาบาล (Nursing Rounds) เพื่อให้ได้ข้อมูลจากสถานการณ์การบริการและบุคคลที่ควรปฏิบัติงานจริงและใช้โอกาสนี้ในการสอน ให้คำปรึกษา กระตุ้นส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ไปพร้อม ๆ กัน

4) การใช้รูปแบบการพยาบาล (Nursing Modalities) คือวิธีการมอบหมายงานแก่ผู้ปฏิบัติการพยาบาลด้วยแนวทางเฉพาะและตามแนวคิดเฉพาะ

5) เอกสารการพยาบาล (Nursing Documentation) การบันทึกและจัดเก็บข้อมูล ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิบัติงานของพยาบาล การดำเนินการภายใต้แนวคิดและทฤษฎีหรือศาสตร์ทางการพยาบาลเพื่อแสดงออกซึ่งเอกลักษณ์และ เอกสิทธิ์ของวิชาชีพการพยาบาลอันจะนำไปสู่การเพิ่มพูนคุณภาพการพยาบาลยิ่งขึ้น

4. การจัดการเชิงระบบ (System View) หมายถึงโครงสร้างการบริหารโดยรวมจะต้องเอื้อให้การดำเนินงานที่มุ่งสู่คุณภาพเป็นไปได้อย่างคล่องตัวจริงจังและเด่นชัด ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างการบริหาร เช่น การจัดหน่วยงานที่ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลเช่นจัดให้มีหน่วยงานพัฒนาระบบการพยาบาล งานพัฒนาบุคลากรพยาบาล และต้องจัดรูปแบบการบริหารที่เสริมสร้างความอิสระในการปฏิบัติงาน ส่งเสริมพลังอำนาจวิชาชีพการพยาบาล และมุ่งการบริหารเชิงวิสัยทัศน์ (Vision-oriented Administration) และต้องเริ่มปฏิบัติในทันทีด้วยการจุดประกายความคิดและความเข้าใจก่อนเป็นขั้นต้น และการดำเนินกิจกรรมต่างๆเกิดขึ้นได้ในลำดับต่อๆไป สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือผู้บริหารระดับสูงที่จะต้องมีลักษณะผู้นำเชิงการเปลี่ยนแปลง (Transformation Leader) และใช้วิสัยทัศน์เป็นตัวนำในการบริหาร ใช้แนวทางการบริหารเชิงการดูแลและมุ่งดูแลคนเป็นสำคัญ

ในการการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล พยาบาลจะเป็นผู้ให้บริการพยาบาลคือมีการบริการสุขภาพแก่ประชาชนทุกวัยที่เน้นการแก้ไขปัญหาความเจ็บป่วยที่ซับช้อนรุนแรงจนถึงวิกฤติ ต้องการช่วยเหลือจากบุคลากรด้านสุขภาพที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะทาง ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการสืบค้นการช่วยเหลือเพื่อป้องกัน การแก้ไขปัญหา การป้องกันการเจ็บป่วยซ้ำ การฟื้นฟูสภาพเพื่อให้ประชาชนมีศักยภาพสูงสุด หลังการเจ็บป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการอย่างทั่วถึง มีระบบการดูแลที่ต่อเนื่อง มีการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในสถานบริการระดับเดียวกัน และต่างระดับ และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกันจุดมุ่งหมายของการพยาบาลในโรงพยาบาล (วันเพ็ญ พิชิตพรชัย และ อุษาวดี อัศตรวิเศษ, 2545. หน้า 60-61) มีรายละเอียดดังนี้

1) เพื่อให้เกิดการดูแลที่ต่อเนื่องโดยเน้นระบบการส่งต่อที่ดี

2) เพื่อให้เกิดคุณภาพการดูแลที่ดีโดยครอบคลุมภารกิจการพยาบาลในเรื่องการสืบค้น ป้องกัน แก้ไขปัญหาสุขภาพที่เกิดกับผู้ป่วย ตลอดจนให้การฟื้นฟูสภาพ

3) ป้องกันการเจ็บป่วยซ้ำ

4) เน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการใช้ความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายร่วมกัน

5) เน้นการจัดระบบมีประสิทธิภาพ


การดูแลหรือการพยาบาลเป็นวิชาชีพสุขภาพที่มีความรับผิดชอบในการป้องกัน ส่งเสริมให้การรักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพประชาชนอย่างมีคุณภาพ จึงต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้การพยาบาลเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียวมาเป็นผู้จัดการทางสุขภาพ ที่ขยายขอบเขตความรับผิดชอบของตนเอง สู่การจัดการระบบการดูแลให้มีความต่อเนื่อง ประสานความร่วมมือ จากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน สร้างความสมดุลระหว่างคุณภาพการดูแลกับการใช้ค่าใช้จ่ายในการดูแล สร้างความสมดุลระหว่างความต้องการของผู้ใช้บริการกับความพึงพอใจของผู้ให้บริการและผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย เพื่อให้การบริหารการบริการพยาบาลมีคุณภาพควรมีความเข้าใจการจัดระบบการดูแลผู้ป่วยที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมี 5 รูปแบบคือ (ปรางทิพย์ อุจะรัตน, 2541.หน้า 28-70)

1) ระบบการดูแลเป็นรายบุคคล (case method or total patient care) มีหลักการดูแลคือพยาบาล 1 คนจะให้การดูแลทุกอย่างสำหรับผู้ป่วยรายนั้น ๆ ตลอดระยะเวลาการขึ้นปฏิบัติงานในแต่ละเวร ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องตลอด 8 ชั่วโมงแต่ต้องใช้พยาบาลวิชาชีพจำนวนมาก

2) ระบบการทำงานเป็นหน้าที่ (functional nursing) การมอบหมายงานจะเน้นที่หน้าที่และกิจกรรมเป็นสำคัญโดยบุคลากรแต่ละคนจะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบหน้าที่ 1-2 อย่างเช่นพยาบาลวิชาชีพมีหน้าที่ให้ยาทางหลอดเลือดดำ และรับผู้ป่วยใหม่ทุกราย พยาบาลจะขาดสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ป่วย ระบบนี้ใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรได้ดี

3) ระบบการพยาบาลเป็นทีม (team nursing) ระบบนี้ต้องการสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ป่วยและบุคลากร ปรับปรุงคุณภาพการบริหารพยาบาลให้ดีขึ้นโดยนำพยาบาลวิชาชีพที่มีจำนวนจำกัดทำงานร่วมกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการให้การพยาบาลหลายระดับ ระบบนี้จะมีประสิทธิภาพถ้าบุคลากรทำงานโดยมุ่งวัตถุประสงค์เดียวกันคือให้การพยาบาลที่ดีแก่ผู้ป่วย มีความเชื่อมั่นไว้วางใจกัน ยอมรับในความสามารถของกันและกัน ซึ่งทุกคนในทีมต้องรู้บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองและปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม

4) ระบบการพยาบาลแบบเจ้าของไข้ (primary nursing) โดยที่พยาบาลวิชาชีพ 1 คน จะทำหน้าที่เป็นตัวจักรสำคัญในการดูแลผู้ป่วยตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาลตั้งแต่แรกรับเข้าไว้ในโรงพยาบาลจนกระทั่งจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยได้รับการพยาบาลที่ต่อเนื่องเพราะปฏิบัติตามแผนการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง แต่ต้องใช้พยาบาลวิชาชีพจำนวนมาก

5) ระบบการจัดการด้านผู้ป่วย (Case Management) เป็นระบบที่มุ่งเน้นการดูแลที่มีคุณภาพสูงสุดและค่าใช้จ่ายที่ประหยัดคุ้มค่าซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ Florence Nightingale เมื่อปี ค.ศ.1863 ว่าคุณภาพการดูแลจะขึ้นอยู่กับการให้การดูแลในขอบเขตของเวลาที่เหมาะสมใช้จ่ายอย่างประหยัดและไม่ใช้ทรัพยากรมากเกินไป มีลักษณะการดูแลที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง มีการวางแผนเกี่ยวกับการใช้เงิน เทคโนโลยี และคนอย่างเหมาะสม มีแผนปฏิบัติการร่วม (Care MAPs) และแผนการพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง รูปแบบของการดูแลระบบนี้มีมากจนบุคคลในองค์กรไม่แน่ใจว่ารูปแบบที่ดีควรเป็นอย่างไร


ระบบและรูปแบบการบริการพยาบาลสำหรับการบริการนั้นมีความสำคัญอยู่ที่การบูรณาการการบริการ 4 มิติไว้ด้วยกัน คือการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันความเจ็บป่วย และการฟื้นฟูสภาพในการปฏิบัติการพยาบาล พยาบาลให้การดูแลเน้นการดูแลคนแบบองค์รวม (Holistic care) ซึ่งต้องมองคนเป็นบูรณาการของกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ ที่มีความสลับซับซ้อน พยาบาลจึงต้องประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะในการดูแลคนทั้งคนและจะต้องเกี่ยวข้องกับสมาชิกในครอบครัวที่ช่วยเหลือผู้ป่วย/ผู้รับบริการและชุมชน (สมจิต หนุเจริญกุล, 2544. หน้า 45-46) ดังนั้นผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการพยาบาลจะต้องร่วมใจสร้างสรรค์ระบบบริการพยาบาลขึ้นตามแนวทางของวิชาชีพการพยาบาลที่จะต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนและประโยชน์ที่จะได้รับ (Cost- effectiveness) ซึ่งแนวคิดที่ต้องนำมาใช้เป็นฐานในการพัฒนาระบบบริการการพยาบาลเพื่อการประกันคุณภาพคือ เรื่องผลผลิต (Outcomes) คุณภาพ (Quality) และต้นทุน (Cost) จะต้องเกิดขึ้นพร้อมๆกัน ตามแนวทางปฏิบัติของการรับรองคุณภาพการบริการพยาบาล ผลการปฏิบัติจะมีประสิทธิภาพถ้าผู้บริหารระดับสูงมีลักษณะผู้นำเชิงการเปลี่ยนแปลง (Transformation Leader) และใช้วิสัยทัศน์เป็นตัวนำในการบริหาร การพัฒนาระบบการบริการทางการพยาบาลเพื่อการประกันคุณภาพการพยาบาลจะต้องใช้แนวทางปฏิบัติของมุมมองทั้ง 4 ไปพร้อมๆกัน (พวงรัตน์ บุญญานุรักษ์, 2545. หน้า 75) โดยต้องยึดหลักของการสร้างความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการ สร้างความเจริญเติบโตและความก้าวหน้าให้กับองค์การซึ่งรวมถึงผู้ให้บริการการพยาบาล ด้วยรูปแบบการดูแลที่ตระหนักถึงคุณค่าความต้องการและเอกสิทธิ์ของบุคคล มุ่งให้ผู้รับบริการได้ตัดสินด้วยตนเอง โดยใช้กระบวนการดูแล และอาศัยปัจจัยการดูแล 10 ประการ ผู้ให้การบริการมีความเอื้ออาทรต่อผู้รับบริการที่แสดงออกมามีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน มีการสร้างสัมพันธภาพและแสดงออกของพฤติกรรมที่สื่อให้เห็นถึงความจริงใจต่อกันระหว่างผู้ดูแลและผู้รับการดูแล อยากช่วยเหลือ เข้าไปผสมผสานให้เกิดเป็นพฤติกรรมในลักษณะการปฏิบัติที่นุ่มนวล ดูแลเอาใจใส่ ด้วยความห่วงใยและเอื้ออาทรต่อกัน มีการแสดงออกทางพฤติกรรมที่เห็นได้ 3 ประการคือ

1) พฤติกรรมที่แสดงออกทางสีหน้าและท่าทาง

2) พฤติกรรมที่แสดงออกทางคำพูด

3) พฤติกรรมที่แสดงออกในการกระทำเทคนิควิธีการพยาบาล



ซึ่งพฤติกรรมทั้ง3 ประการต้องมีความสัมพันธ์กลมกลืนกัน (พยอม อยู่สวัสดิ์, 2537) จึงทำให้ผู้รับบริการเกิดความพึงพอใจในการบริการที่ได้รับและการให้บริการพยาบาลมีคุณภาพ



แนวคิด Care Management กับ Case Management ต่างกันอย่างไร


ความแตกต่างของแนวคิด Care Management กับ Case Management คือ


Care Management มีจุดมุ่งหมายหลักอยู่ที่ Cost minimized เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดจาก doctor fee จึงมีการพัฒนารูปแบบ DRG (diagnostic related group) เพื่อทำให้ค่าใช้จ่ายเป็นแบบ prospective payment ทำให้เกิดปัญหาคือคุณภาพของการบริการไม่ดีผู้ป่วยยังมีอาการป่วยหนักต้องให้กลับบ้านเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เกิดในโรงพยาบาล ต้องพึ่งพาบุคคลในครอบครัวในการดูแลทำให้เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจขึ้น

Case Management หรือการจัดการผู้ป่วยรายกรณีหมายถึง การจัดการดูแลผู้ป่วยเฉพาะรายตามระยะเวลาและสอดคล้องกับระยะเวลาที่กำหนด จากการแบ่งประเภทกลุ่มตามการวินิจฉัยโรค(DRG: Diagnostic related groups) โดยมีพยาบาลวิชาชีพเป็นผู้จัดการดูแลอย่างต่อเนื่องทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน พยาบาลจะมีปฏิสัมพันธ์กับเครือข่ายแหล่งบริการสุขภาพ ผู้ป่วยและครอบครัว ตลอดจนแหล่งสนับสนุนในชุมชน มีจุดมุ่งหมายเพื่อความสำเร็จของคุณภาพบริการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (ผานิต สกุลวัฒนะ, อโนทัย วีรพงษ์สุชาติ, ศิริพร สิงหเนตร, 2540, หน้า 2) ภารกิจที่กำหนดไว้ประกอบด้วย ประเมินความต้องการด้านสุขภาพทุกระยะ ให้การพยาบาลโดยตรง จัดทำบันทึกค่าใช้จ่าย ประสานงานสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเพื่อการดูแลต่อเนื่อง ตัดสินใจในกระบวนการรักษาพยาบาล ให้ข้อมูลทางสุขภาพกับผู้ป่วย/ครอบครัว และเจ้าหน้าที่สหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

จะเห็นได้ว่าพยาบาลมีการดูแลผู้ป่วยที่ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงดังนั้นปัญหาและความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวพยาบาลจะเป็นผู้ที่ทราบข้อมูลมากกว่าสาขาวิชาชีพอื่น จึงสมควรเป็นอย่างยิ่งที่พยาบาลวิชาชีพเป็น Case Manager หรือผู้จัดการการดูแล

ในหอผู้ป่วยที่ปฏิบัติงานมีเจ้าหน้าที่สหสาขาวิชาชีพร่วมกันดูแลผู้ป่วยการใช้รูปแบบการจัดการทางการพยาบาล (Nursing Case Management) วิธี Tuscon Medical Center Case Management Model (TMC Model) ที่เน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีมของผู้จัดการหรือ managerการทำงานจะเกื้อกูลกันลดความซ้ำซ้อนและเป็นการใช้คนตรงความสามารถที่แท้จริง



NCM=Nurse Case Manager UCM=Utilize case manager

SWCM = Social worker Case Manager (อรพรรณ โตสิงห์,2545)


* มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ซึ่งในทีมหลักประกอบไปด้วยพยาบาล แพทย์ เภสัชกร ทีมเสริมประกอบด้วยโภชนากร นักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่การเงิน ว่าใครทำอะไร มีการมอบหมายชัดเจน

* มีการจัดทำแผนปฏิบัติการดูแล เลือกประชากรหรือกลุ่มผู้ป่วยซึ่งในหอผู้ป่วยเลือกผู้ป่วย CVA

* ร่วมกำหนดแผนการดูแลระหว่างสหสาขาวิชาชีพ

* ประเมินความต้องการของผู้ป่วย

* ร่วมกันเขียนพันธกิจ จุดมุ่งหมาย

* กำหนดช่วงเวลาการอยู่โรงพยาบาลของผู้ป่วย

* กำหนดผลลัพธ์ของการดูแล

* เขียนแผน และ ดำเนินการตามแผนการดูแล โดยมีผู้จัดการคอยกำกับให้มีการดำเนินการทุกขั้นตอน ตามแผนที่กำหนดไว้ การประเมินผล มีการประเมินความแปรปรวน จุดเน้นคือ วิเคราะห์ว่าข้อผิดพลาดเกิดจากเหตุการณ์ใดมากกว่าการหาคนผิด

* มีการวัดผลสัมฤทธิ์ด้านผู้ป่วยอยู่ในภาวะสุขภาพที่ดีขึ้น ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน กลับเข้าทำงานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกิดความพึงพอใจ มีความพร้อมทั้งผู้ป่วยและญาติในการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน ด้านผู้ให้บริการไม่เกิด job satisfaction ไม่ซ้ำซ้อนในการให้บริการ ไม่เกิด work overload Role conflict role overload และด้านผู้จ่ายค่าบริการลด cost ลด hospital re-admission

* มีการเตรียมศักยภาพของผู้จัดการทางการพยาบาล ได้แก่ มีความชำนาญด้านการบริหารจัดการมีการวิเคราะห์ต้นทุน มีความรู้เรื่องระบบสุขภาพ มีความสามารถในการจัดการทรัพยากร มีความสามารถเชิงคลินิก มีความสามารถในการใช้ผลการวิจัย มีความสามารถในการวางแผนจำหน่าย มีภาวะผู้นำสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น มีแนวทางการเตรียมในวิชาชีพ การจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี การจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ตลอดจนสร้างองค์ความรู้ด้วยการวิจัย (อรพรรณ โตสิงห์, 2545)


บทบาทของพยาบาลวิชาชีพในกระบวนการจัดการผู้ป่วยรายกรณี


1.แบ่งกลุ่มทีมการพยาบาลตามกลุ่มโรค

2.ผู้บริหารการพยาบาลมอบหมายงานการดูแลผู้ป่วยแบบการจัดการดูแลผู้ป่วยรายกรณี แก่พยาบาลวิชาชีพตามความชำนาญของแต่ละบุคคล

3.เมื่อพยาบาลผู้จัดการได้รับการมอบหมายการดูแลผู้ป่วย พยาบาลผู้จัดการต้องรีบประเมินสภาวะผู้ป่วยทันที

4.สร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อหาปัญหา

5.ร่วมวางแผนการจัดการผู้ป่วยรายกรณีและกำหนดวิถีวิกฤตของผู้ป่วย ครอบครัว แพทย์ พยาบาลและบุคลากรอื่นที่เกี่ยวข้องภายใน 24 ชั่วโมง

6.ติดต่อประสานการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยพยาบาลผู้จัดการดูแลรับผิดชอบการวางแผนการจัดการ การอำนวยการ ควบคุม และประเมินผล การดูแลผู้ป่วยตั้งแต่แรกรับไว้ในโรงพยาบาล จนกระทั่งผู้ป่วยกลับไปฟื้นฟูสภาพที่บ้าน ส่วนทีมการพยาบาลมีหน้าที่ดูแลให้การพยาบาลผู้ป่วยตามแผนการจัดการผู้ป่วยและวิถีวิกฤตและให้ข้อมูลย้อนกลับแก่พยาบาลผู้จัดการ

7.พยาบาลผู้จัดการรับฟังรายงานของผู้ป่วยจากทีมการพยาบาลและเยี่ยมอาการผู้ป่วยพร้อมกับแพทย์และเภสัชกรทุกวัน ร่วมแสดงความคิดเห็นกับแพทย์ ผู้ป่วย/ครอบครัวถ้าผู้ป่วยมีปัญหาในด้านอาหารไม่ว่าจะเป็นการรับประทานหรือการประกอบอาหารพยาบาลผู้จัดการปรึกษาโภชนากรเป็นต้น

8.ประเมินภาวะสุขภาพของผู้ป่วยจากรายงาน บันทึกอาการทางการพยาบาลและแนวทางการรักษาของแพทย์

9.บันทึกข้อมูลผู้ป่วยเกี่ยวกับความก้าวหน้าของภาวะสุขภาพ

10.วางแผนการจำหน่ายผู้ป่วย ให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวเกี่ยวกับโรคที่เป็น การปฏิบัติตนที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นในด้านการรับประทานอาหารและน้ำ การออกกำลังกาย การใช้ยาตามแผนการรักษาการสังเกตอาการผิดปกติ การมาตรวจตามแพทย์นัด การใช้แหล่งประโยชน์ตามที่ผู้ป่วยอยู่

11.ประสานการดูแลที่ต่อเนื่องในชุมชน โดยการส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นโรงพยาบาลชุมชน ศูนย์สุขภาพอนามัยในชุมชน

12.มีการประสานงานระหว่างพยาบาลผู้จัดการและแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มาตรวจตามนัด ถ้ามีความจำเป็นในการมาตรวจตามนัดพยาบาลอาจส่งจดหมายติดตามหรือโทรศัพท์ติดต่อกับผู้ป่วย/ครอบครัว

13.ถ้าผู้ป่วยต้องกลับมารับการรักษาในโรงพยาบาลอีกพยาบาลผู้จัดการคนเดิมจะเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้การดูแลต่อเนื่อง

ระบบการจัดการผู้ป่วยรายกรณีเป็นวิธีการมอบหมายงานชนิดหนึ่งโดยเน้นผู้ป่วย/ครอบครัวเป็นศูนย์กลาง ลดระยะการพักรักษาในโรงพยาบาล ประหยัดค่าใช้จ่าย มีความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างพยาบาลผู้จัดการ แพทย์ และบุคลากรอื่นที่เกี่ยวข้องในการวางแผนการดูแลผู้ป่วยให้สัมพันธ์กับมาตรฐานตามกลุ่มการวินิจฉัยโรคและส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถใช้แหล่งประโยชน์ชุมชนได้อย่างเหมาะสม ช่วยส่งเสริมให้บทบาทของพยาบาลวิชาชีพเด่นชัดขึ้นเป็นที่ยอมรับของสังคม (ผานิต สกุลวัฒนะ, อโนทัย วีรพงษ์สุชาติ, ศิริพร สิงหเนตร, 2540, หน้า 4-5)


เอกสารอ้างอิง


ปรางทิพย์ อุจะรัตน. (2541). การบริหารการพยาบาล (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: บริษัทบุญศิริการพิมพ์จำกัด.

ผาณิต สกุลวัฒนะ,อโณทัย วีรพงษ์สุชาติ,ศิริพร สิงหเนตร.(2540). การจัดการผู้ป่วยรายกรณี: รูปแบบ การจัดบริการสุขภาพ .วารสารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ภาคเหนือ . 3(1 1997),2-5.

พยอม อยู่สวัสดิ์. (2537). ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยในการปฏิบัติการพยาบาลวิชาชีพ : การศึกษาเชิงคุณภาพ. ใน การประชุมวิชาการสมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชฯ ครั้งที่ 8 เรื่อง”วิจัยทางการพยาบาลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในทศวรรษหน้า : ทิศทางและรูปแบบ” (หน้า 130-144). กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล.

พวงรัตน์ บุญญานุรักษ์. (2545). ระบบบริการการพยาบาลเพื่อการประกันคุณภาพ. ในการประชุมวิชาการ การพัฒนาศักยภาพพยาบาลวิชาชีพเพื่อการประกันคุณภาพบริการพยาบาล (หน้า75-83). คณะอนุกรรมการสาขาพยาบาลศาสตร์ สมาคมสถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย.

วันเพ็ญ พิชิตพรชัย และ อุษาวดี อัศตรวิเศษ (บรรณาธิการ). (2545). การจัดการทางการพยาบาล (Nursing Case Management) รูปแบบและวิธีดำเนินการในโรงพยาบาล.กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล สำนักพิมพ์นิยมวิทยา.

สมจิต หนุเจริญกุล (บรรณาธิการ).(2544). การพยาบาล:ศาสตร์ของการพยาบาล (พิมพ์ครั้งที่ 2 ).กรุงเทพฯ: หจก.วี.เจ.พริ้นติ้ง.

อรพรรณ โตสิงห์,(2545). การจัดการทางการพยาบาล (Nursing Case Management): รูปแบบกับการ ประยุกต์ใช้ . เอกสารประกอบการบรรยาย คณะ พยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.




 

Create Date : 15 สิงหาคม 2552
8 comments
Last Update : 18 สิงหาคม 2552 15:20:24 น.
Counter : 47343 Pageviews.

 

สวัสดีค่ะ
แวะมาทักทายจ้าา

 

โดย: อะตอมกลมๆ 16 มิถุนายน 2553 13:07:09 น.  

 

สุดยอดค่ะ

 

โดย: tuk (คุณครูพยาบาล ) 28 กรกฎาคม 2553 16:42:20 น.  

 

ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ

 

โดย: tuk (คุณครูพยาบาล ) 28 กรกฎาคม 2553 16:43:26 น.  

 

ขอบคุณค่ะ กำลังสอนเรื่องนี้อยู่พอดี

 

โดย: ศรีสุดา/ม.สวนดุสิต IP: 124.122.5.159 18 สิงหาคม 2553 20:50:07 น.  

 

ขอบคุณค่ะ สำหรับข้อมูล นำมาใช้ได้พอดีเลยค่ะ

 

โดย: ครูใหม่ IP: 110.164.187.51 19 เมษายน 2555 11:14:12 น.  

 

เป็นเนื้อหาที่มีประโยชน์ต่อเราชาวพยาบาลวิชาชีพมากค่ะ

 

โดย: ลูกศิริราช IP: 171.98.186.80 14 ตุลาคม 2555 10:43:18 น.  

 

มีแนวข้อสอบใหม่ค่ะ

 

โดย: ปาตี IP: 113.53.146.31 31 ธันวาคม 2555 15:11:26 น.  

 

ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ ที่นำระบบบริการพยาบาลมาลง ได้ใช้ในการเรียนจริงๆเลยค่ะ

 

โดย: เจนจิรา พระสว่าง IP: 1.4.131.28 14 เมษายน 2558 16:20:13 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


พยาบาลเกเร
Location :
สกลนคร Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ว่าที่APN(Advance Practice Nurse) สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่(อายุรศาสตร์)ด้านโรคเรื้อรัง ทำงานประจำที่ร.พ.ชุมชนในจังหวัดสกลนคร วันๆยุ่งแต่กับ R2R และพัฒนางานเกี่ยวกับคนไข้เรื้อรัง แต่...ก็ยังห่วงเรื่องความสวยๆงามๆอย่างเรื้อรังด้วยเช่นกัน






Friends' blogs
[Add พยาบาลเกเร's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.