"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
29 พฤศจิกายน 2549
 
All Blogs
 

Pat Martino : Remember Wes Montgomery



ใครจะไปเชื่อว่านักกีตาร์ฝีมือระดับพระกาฬอย่างแพต มาร์ติโนจะเคยประสบกับปัญหาการสูญเสียความทรงจำมาแล้ว ถ้าได้ยินฝีไม้ลายมือของเขาแล้ว คุณอาจจะอ้าปากค้างไปเลยก็ได้หากว่าคุณไม่เคยรู้จักแพต มาร์ติโนมาก่อน ด้วยเทคนิคที่แพรวพราวและเป็นที่ยอมรับแก่มือกีตาร์ในรุ่นหลังๆ

งานดนตรีด้านกีตาร์ในบ้านเรานั้นนับว่ายังไม่ไปไม่ค่อยได้ดีมากเท่ากับงานเปียโนหรือแซ็กโซโฟน แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรื่อแปลก เพราะดูเหมือนว่าจะคล้ายคลึงกันทั่วไป นักดนตรีขึ้นหิ้งอมตะนิรันดร์กาลก็ไม่เปอร์เซ็นต์น้อยเหลือเกินที่จะเป็นมือกีตาร์ โดยมากจะเป็นเครื่องดนตรีอีกสองชนิดที่กล่าวมาเสียมากกว่า แต่ก็เอาเถิด ตราบใดที่ยังมีคนรักที่จะฟังเสียงบนเส้นลวดแล้วล่ะก็ ตราบนั้นมือกีตาร์ดีๆ ก็ไม่มีวันสูญหายดุจเดียวกับอยุธยาไม่สิ้นคนดี.....

Pat Martino and his lost memory

ความทรงจำที่แพตสูญเสียไปนั้นเกิดจากอาการป่วยทางสมองขั้นร้ายแรงที่เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังจากการผ่าตัดสิ้นสุดลง แพตจำอะไรแทบไม่ได้นอกจากครอบครัวของตัวเอง ส่วนเรื่องการเล่นกีตาร์ระดับขุนขวานกับหน้าที่การงานของตัวเองนั้น แทบจะสูญหายไปจากสารบบความทรงจำ ประหนึ่งว่าเขาได้กลายเป็นทารกน้อยที่กลับมาจุติใหม่อย่างนั้น

แต่ในเวลาหลายเดือนต่อมา แพตก็ได้รื้อฟื้นความทรงจำของตัวเองกลับคืนมา ด้วยการคร่ำเคร่งฟังงานเพลงที่เคยออกวางขายมาในอดีต และด้วยความล้ำหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทำให้อะไรๆ กลับมาง่ายขึ้นกว่าเดิม แพตดึงความจำที่สูญหายกลับคืนมาได้ รวมไปถึงหวนสู่เส้นลวด 6 สายที่คุ้นเคย ผลงานชุดเก่าๆ กลายมาเป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากที่ยังคงความงดงามและจริงใจต่อเขาอยู่ร่ำไป ซึ่งการกลับมาของความทรงจำนั้นตรงกันพอดีกับความรู้สึกที่ยังอยู่ในรอยจำ สมัยเมื่อเขาเริ่มเล่นกีตาร์ใหม่ๆ แววอัจฉริยะก็ฉายขึ้นมาในทุกๆ ตัวโน้ตที่เขาเล่น ด้วยลีลาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เขาไม่ได้เด่นเฉพาะในดนตรีแจ๊สเท่านั้น หากแต่เป็นการเข้าถึงในดนตรีอย่างแท้จริงด้วยความมีพลัลงและมีชีวิตในการเล่นแบบตัวเอง



แพต แอสซารา มาร์ติโนเกิดที่ฟิลาเดลเฟีย ปี 1944 คาร์เมน “มิกกี” พ่อของเขาผู้เป็นนักร้องแจ๊สตามคลับเป็นคนถ่ายทอดวิญญาณแจ๊สให้ คาร์เมนเคยเรียนกีตาร์ช่วงสั้นๆ กับเอ็ดดี แลงและได้พาแพตไปตระเวนตามคลับแจ๊สดีๆ ทั้งยังได้พบกับเวส มอนต์กัมเมอรีและนักดนตรีมีชื่อคนอื่นๆ อีกด้วย

“ผมชื่นชมพ่อเสมอ และก็อยากจะให้เขาประทับใจในตัวผมด้วย แล้วนั่นก็เป็นแรงผลักดันท่ทำให้ผมอยากจะสร้างสรรค์งานดนตรีของตัวเองจริงๆ” แพตบอก

เขาเริ่มจริงจังกับกีตาร์ตอนอายุได้ 12 ปี แล้วก็ลาออกจากโรงเรียนขณะที่เรียนได้ชั้นมัธยมเพื่ออุทิศตัวเองให้กับการเรียนดนตรีอย่างเข้มข้น ระหว่างที่เขาร่ำเรียนวิชาอยู่กับเดนนิส แซนดอล แพตก็ไปคลุกคลีพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักเรียนดนตรีฝีมือดีๆ อย่างจอห์น โคลเทรนด้วย

นั่นเองทำให้โคลเทรนและมอนต์กัมเมอรีเป็นเบ้าหลอมสำคัญของแพต โดยเฉพาะอัลบัม Grooveyard นอกจากนั้นยังมีงานของจอห์นนี สมิธที่ทำร่วมกับสแตน เกตซ์ที่เป็นอิทธิพลสำคัญใมนช่วงเริ่มต้นการเล่น

“สำหรับผม...จอห์นนีเหมือนเด็กผู้บริสุทธิ์ ที่เข้าใจทุกๆ อย่างเกี่ยวกับดนตรี” เขาว่าไว้อย่างนั้น

แพตเติบโตในถนนดนตรีในช่วงที่เพลงร้อกกำลังเบ่งบานในฟิลาเดลเฟียควบคู่ไปกับดาวร็อกอย่าง บ็อบบี ไรเดล, ชับบี เชคเกอร์และบ็อบบี ดาริน ถนนสู่แจ๊สหนแรกของเขาปูทางด้วยการเล่นร่วมกับนักออร์แกนอย่างชาร์ลส เอียร์แลนด์ เพื่อนร่วมโรงเรียนมัธยมปลาย ชื่อเสียงของเขาเริ่มขจรขจายเข้าสู่กลุ่มนักดนตรีแจ๊สย่านนั้น และเขาก็ถูกลอยด์ ไพร์ซ หัวหน้าวงดนตรีคัดเลือกเข้าไปเล่นร่วมกับนักดนตรีอย่าง สไลด์ แฮมป์ตันและเรด ฮัลโลเวย์

แพตมุ่งหน้าเข้าสู่ฮาร์เล็มเพื่อดื่มด่ำตัวเองกับโซลแจ๊สร่วมกับเอียร์แลนด์และเพื่อนคนอื่นๆ ก่อนหน้านี้เขาก็ได้ฟังดนตรีแจ๊สของคนขาวมาแล้ว “ผมยังไม่ค่อยได้ฟังแจ๊สจากภาคส่วนอื่นเท่าไรนัก” แพตบอกเล่าจากความทรงจำ วงดนตรีแจ๊สสามชิ้นของพวกเขาลึกซึ้งได้ด้วยเสียงกีตาร์ที่มีจังหวะจะโคนและท่วงทำนองของเขา หากแต่ก็ยังคงดำรงตนในฐานะนักดนตรีแบ็กอัพอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเล่นกับแจ็ก แม็กดัฟและดอน แพตเตอร์สัน

แต่แล้ววันของเขาก็มาถึงก่อนจะครบอายุ 18 เมื่อได้เซ็นต์สัญญาเป็นนักดนตรีในสังกัดเพรสทีจ เรคคอร์ดส ในช่วงนี้แพตได้บรรเลงผลงานอมตะอย่าง Desperado, El Hombre และ Baiyina จนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผลงานแรกๆ ที่ประสบความสำเร็จกับการทำดนตรีแหวกแนวผสมกับดนตรีไซคีเดลิก



ในปี 1976 แพตเร่มประปัญหากับการปวดหัว ซึ่งนำไปสู่อาการทางสมองอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา หลังจากการผ่าตัดและฟื้นตัว เขาก็เริ่มต้นอาชีพของตัวเองใหม่อีกครั้งเมื่อกลับมาที่นิวยอร์กในปี 1987 การออกเล่นในครั้งนั้นได้ถูกบันทึกลงแผ่นเป็นผลงานเปิดตัวในการกลับมา โดยใช้ชื่อว่า The Return แต่ก็มีปัญหาเกี่ยวกับครอบครัวของเขา ทำให้แพตหายไปนานถึง7 ปีก่อนที่จะกลับมาบันทึกเสียงอีกครั้งในปี 1994 ด้วยอัลบัม Interchange แล้วต่อด้วย The Maker ในเวลาไล่เลี่ยกัน เรียกว่าปล่อยของครั้งใหญ่เลยทีเดียว

ณ วันนี้ แพตอาศัยอยู่ที่ฟิลาเดลเฟียอีกครั้งและยังคงเดินหน้าต่อไปในอาชีพดนตรีที่เขารัก นิวยอร์ก ไทม์สเคยบันทึกไว้ว่า “แพต มาร์ติโนในวัย 50 ปี กลับมาอีกครั้งพร้อมด้วยทิศทางดนตรีใหม่ๆ ที่เพิ่มความหลากหลายให้กับมนต์มหัศจรรย์ของตัวเอง” การทดลองกับกีตาร์ซินธิไซเซอร์ของเขาเริ่มต้นขึ้นเมื่อเขากำลังรับการบำบัด นำพาเขาไปสู่การผสมผสานกับงานออร์เคสตรา บรรดานักดนตรคนอื่นๆ ต่างจับตามองและสนใจศึกษางานของเขา ซึ่งเขาก็ได้เปิดกว้างในไม่เฉพาะการเผยแพร่ความรู้ทางดนตรี หากแต่ยังรวมไปถึงมุมมองทางปรัชญาจากสายตาคนที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวและเอาชนะอุปสรรคมามาก

“กีตาร์ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผม” แพตรำพึงบอก “ผู้คนต่างหากเป็นสิ่งที่ทำใหสื่อออกมาได้ เหล่านั้นเป็นอะไรที่ผมซาบซึ้งมาก เพราะพวกเขามีชีวิตชีวา กีตาร์คือสเครื่องมือสำหรับแสดงออกเท่านั้น”

สิ่งที่แพตพูดแสดงออกให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างสรรค์งานมากกว่าที่จะถือเครื่องมือเป็นสำคัญ

Remember Wes Montgomery

อัลบัม Remember : A Tribute To Wes Montgomery ก็บ่งบอกชัดเจนอยู่แล้วว่า เป็นอัลบัมที่อุทิศแด่เวส มอนต์กัมเมอรี มือกีตาร์สไตล์ฮาร์ดบ็อปที่ขึ้นหิ้งไปแล้วโดยไร้ข้อกังขามานานเกือบ 40 ปีนับตั้งแต่เขาเสียชีวิตไปเมื่อปี 1968 อีกทั้ง Remember ก็ยังเป็นชื่อเพลงเพลงหนึ่งที่เวสเล่นด้วย นอกจากจอห์นนี สมิธ, เลส พอลแล้ว เวสเองก็ยังเป็นหนึ่งในนักกีตาร์แจ๊สที่มีอิทธิพลกับแพตโดยตรง หากได้ลองติดตามผลงานกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มแล้ว El Hombre (1967) แล้วก็ We’ll Be Together Again (1978) เป็นผลงานที่แสดงอิทธิพลที่ได้รับจากเวสอย่างชัดเจน

เวสมีสไตล์การเล่นที่ไม่เหมือนใคร หากเพียงรู้จักเขาจากการฟังเพียงอย่างเดียวแล้วละก็ เราอาจจะคิดว่าเขามีนิ้วมือเกิน 10 นิ้วก็ได้ แต่ในความเป็นจริง... เวสใช้นิ้วโป้งเพียงนิ้วเดียวที่จะดีดเส้นลวดทั้ง 6 เส้นให้เกิดเสียง ยิ่งกว่านักกีตาร์คลาสสิกที่เล่นกีตาร์ 10 สายเสียอีก ลักษณะการเล่นโดดเด่นที่เป็นอิทธิพลให้กับนักกีตาร์รุ่นหลังๆ ก็คือการเล่นออฟเตฟให้เกิดประโยชน์ ส่วนแพตนั้นก็ถือเป็นมือกีตาร์ที่โดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยเดียวกันในเรื่องของการใช้เทคนิกและความเร็วในการเคลื่อนนิ้ว



ในอัลบัมนี้บรรจุเพลงไว้ทั้งหมด 10 เพลง โดย 5 ใน 10 เป็นผลงานการประพันธ์ของเวส มอนต์กัมเมอรีเอง ซึ่งเป็นผลงานสร้างชื่อให้กับเวสทั้งสิ้น นั่นก็คือ Four on Six, Full House, Twisted Blues, Road Song และ West Coast Blues แพตนำมาเรียบเรียงเป็นดนตรีสำหรับวง 5 ชิ้นซึ่งไม่มีเครื่องเป่าลมทองเหลืองประกอบเหมือนต้นฉบับในบางเพลง การจูนเสียงกีตาร์นั้นออกแนวใกล้เคียงกับต้นฉบับพอสมควร หากแต่เพิ่มความทุ้มเข้าไปอีก ทำให้เสียงกีตาร์ที่ออกมานุ่ม อ้วน แต่อาจจะไม่ถูกกับจริตของแฟนเพลงบางคนก็เป็นได้ เพราะมันไม่บางใสฟังง่ายเท่าที่ควร ส่วนอีก 5 เพลงนั้นเป็นเพลงสแตนดาร์ดแจ๊สที่แพตคัดเลือกเอาจากผลงานที่เวสเคยเล่นเอาไว้ ซึ่งส่วนใหญ่นี้มีให้ฟังในซีดีบ็อกเซ็ตชุด Complete Riverside Recordings มีทั้งหมด 12 แผ่นด้วยกัน ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกหากว่าฟังงานของแพตแล้วเกิดติดใจอยากจะฟังต้นฉบับบ้าง

จริงๆ แล้วสไตล์การเล่นของทั้งสองคนอาจจะแตกต่างกันบ้าง ก็ตรงที่แพตนั้นเน้นการเล่นเทคนิกแพรวพราว งดงามไปด้วยลูกนิ้วที่รวดเร็วกับสไตล์โพสต์บ็อป ส่วนเวสนั้นมีพื้นทางบลูส์กับสไตล์ฮาร์ดบ็อป ดังนั้นการฟังอัลบัมอุทิศชุดนี้ จึงไม่จำเป็นเลยที่จะค้นหาความเหมือนในการเล่นของแพตที่มีต่อเวส หากแต่เป็นการเล่นแบบของแพตที่บ่งบอกว่าเขารักสไตล์การเล่นของเวสอย่างแท้จริง อีกทั้งยังมีการใช้ออกเตฟในแบบถนัดของเวสมากกว่า 1 ครั้งอีกด้วย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการเล่นสะท้อนภาพของเวสมากกว่าที่จะเป็นการเล่นเพื่อสร้างสไตล์ใหม่ๆ

นอกจากการเล่นที่โดดเด่นของแพตแล้ว ไซด์แมนอีก 5 คนก็ถือว่ามีส่วนสำคัญในการเสริมอัลบัม Remember ให้โดดเด่นได้ไม่น้อยเลยทีเดียว กับฝีมือการอิมโพรไวส์ในระดับมืออาชีพ เดวิด คิกกาวสกี (เปียโน) มืออาชีพทางเปียโนที่โดดเด่นไปด้วยการเล่นที่มีจังหวะจะโคนในสไตล์ออสการ์ ปีเตอร์สัน จอห์น แพตติทัคชี (เบส) หลายๆ คนคงคุ้นชื่อของเขาแล้วเพราะว่าเพิ่งจะมางานแจ๊สที่หัวหินไปเมื่อปีกลายนี้เอง ฝีมือการอิมโพรไวส์ขึ้นชื่ออยู่แล้วสำหรับจอห์น อีกทั้งยังผ่านงานแบ็กอัพให้กับศิลปินชื่อดังหลายคนมาแล้ว สก็อต อัลเลน โรบินสัน (กลอง) อาจจะไม่คุ้นชื่อนัก แต่สก็อตเคยเล่นกับแพตในงานตระเวนแสดงหลายๆ ครั้งในฐานะมือกลองที่เข้าใจและรู้ใจสไตล์การเล่นของเขาเป็นอย่างดี และคนสุดท้าย แดเนียล ซาดาวนิก (เพอร์คัสชัน) มือเครื่องเคาะที่มีความช่ำชองทั้งแจ๊สและละตินแจ๊สอย่างหาตัวจับยาก

หากชอบแทร็กเร็วๆ สักหน่อย Four On Six เป็นเพลงที่น่าสนใจในแง่ที่แพตนำเอามาอะเรนจ์ใหม่ในจังหวะที่เร็วกว่าต้นฉบับดั้งเดิมของเวสเอาการอยู่ ลูกนิ้วแพรวพราวจนจับแทบไม่ได้รวมไปถึงการเล่นออคเตฟด้วย และในเพลงนี้อีกเหมือนกันที่ทั้งเดวิดและแพตต่างก็สำแดงฝีมือการอิมโพรไวส์การอย่างไม่ยั้งในช่วงของแต่ละคน

Groove Yard แพตลดความรวดเร็วลงกว่าต้นฉบับ และกระจายความโดดเด่นไปยังไซด์แมนภาคริธึมอีก 2 คนก็คือเดวิดและจอห์นนั่นเอง ส่วนอีกเพลงหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ Full House เพชรน้ำงามของเวสที่เขาเคยเล่นไว้ด้วยความยาวเกือบ 10 นาที มาคราวของแพตก็มิได้แพ้กันสักเท่าไร ด้วยความยาว 7 นาที สำเนียงที่ยังคงความเคารพต่อเวส ราวกับว่าพวกเขายังนั่งเล่นด้วยกันคนละไลน์ เดวิดยังคงความโดดเด่นในการบรรเลงอย่างต่อเนื่อง

Remember : A Tribute To Wes Montgomery คงจะเป็นอีกอัลบัมหนึ่งที่ทำให้เราได้เริ่มซึมซับงานดีๆ ของแพต มาร์ติโนเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าบางครั้งและบางคนอาจจะรู้สึกไม่เหมือนแพตคนเดิมที่เคยรังสรรค์งานระดับเพชรอย่างเมื่อยุค 60-70 ก็ตาม แต่เราก็ยังเชื่อว่านี่เป็นผลงานดีๆ อีกชิ้นหนึ่งที่มือกีตาร์วัย 62 ปีคนนี้ได้สร้างสรรค์ขึ้นมา



Pat Martino / Remember : A Tribute To Wes Montgomery (Blue Note)
ดูแลการผลิตโดย Joseph A. Donofrio and Pat Martino

รายชื่อนักดนตรี
Pat Martino Guitar
David Kikoski Piano
John Patitucci Bass
Scott Alan Robinson Drums
Daniel Sadownick Percussion

รายชื่อเพลงในอัลบัม
1. Four On Six
2. Groove Yard
3. Full House
4. Heartstrings
5. Twisted Blues
6. Road Song
7. West Coast Blues
8. S.K.J.
9. If I Should Lose You
10. Unit 7

ผลงานเด่นของแพ็ต มาร์ติโน
1967 El Hombre (Prestige)
1968 East! (Prestige)
1972 Footprints (32 Jazz)
1972 Live! (Muse)
1974 Conciousness (Muse)
1976 Exit (Muse)
1978 We’ll Be Together Again (Savoy Jazz)
2001 Live At Yoshi’s (Blue Note)









 

Create Date : 29 พฤศจิกายน 2549
3 comments
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2549 22:37:48 น.
Counter : 2751 Pageviews.

 

เป็นนักดนตรีโปรดของสามี ค่ะ เห็นเขาเปิดฟังบ่อย ๆส่วนเราไม่ได้ใส่ใจกับคนนี้เท่าไหร่ แต่ชอบบีโทเฟ่น

 

โดย: Hawaii_Havaii 30 พฤศจิกายน 2549 0:56:36 น.  

 

เจอแฟนของแฟนพันธุ์แท้เข้าละสิ อิอิอิ

 

โดย: nunaggie 30 พฤศจิกายน 2549 21:59:06 น.  

 

ไม่ค่อยได้ฟังเเพต มาร์ติโน เเต่ชอบ wes montgomery เพิ่งรู้ว่าเเพต มาร์ติโนเค้ามีปัญหาทางสมอง blog ของคุณรายละเอียดเยอะดีจังครับ ขอบคุณที่เเปลมาฝาก

 

โดย: Wild Strawberries 4 มีนาคม 2552 16:22:29 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.