"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
30 ตุลาคม 2553
 
All Blogs
 

Anthony Wilson ลูกไม้ดนตรีที่หล่นไม่ไกลต้น

ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อแอนโธนี วิลสันนั้น จำได้ว่ามาจากอัลบัมโซโล Anthony Wilson ที่ออกมาเมื่อปี 1997 นับรวมเวลาถึงตอนนี้ก็ผ่านมาสิบสามปีแล้ว หากคุณยังไม่คุ้นเคยแวดวงนักดนตรีแจ๊สแล้วล่ะก็ อาจจะสับสนกับแอนโธนี วิลสันที่มีอยู่หลายคนในโลกดนตรีกลมๆ ใบนี้ ทั้งโปรดิวเซอร์ชาวอังกฤษ แอนโธนี ฮาเวิร์ด วิลสัน ผู้เคยร่วมงานกับวงอย่างนิว ออร์เดอร์, แฮปปี มันเดย์ส และจอย ดิวิชัน ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นโปรดิวเซอร์บีบีซี โทนี วิลสัน หรือไม่ก็โทนี วิลสัน มือกีตาร์ชาวแคนาดา ดังนั้น เวลาค้นชื่อของแอนโธนี วิลสันในเสิร์ช เอ็นจินแล้ว คุณอาจจะมึนสักหน่อย หากว่ามีชื่อสารพัดดังที่กล่าวมาดาหน้าขึ้นมาให้ดูเป็นตับ



แอนโธนี วิลสันคนที่เรากำลังกล่าวถึงนี้ ก็เป็นมือกีตาร์แจ๊สเช่นเดียวกัน มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองแห่งเทพธิดาลาวัลย์ ลอส แองเจลิส ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบฟังเพลงแจ๊สเป็นทุนเดิม เจอรัลด์ วิลสัน ตำนานดนตรีแจ๊สที่ยังมีลมหายใจคงจะอยู่ในลิ้นชักแห่งความทรงจำของคุณไม่มากก็น้อย เจอรัลด์เป็นทั้งนักเปียโน, นักประพันธ์ และผู้คุมวง แอนโธนีก็ได้ก้าวเดินตามรอยเท้าของผู้เป็นพ่ออย่างน่าชื่นชม ในอันที่จะเล่นดนตรีแจ๊สเป็นอาชีพ ซึ่งถือเป็นแนวทางหลักๆ ของแอนโธนี โดยเฉพาะในสายฮาร์ดบ็อปและโพสต์บ็อป ถึงแม้ว่าเขาจะมีชื่อเสียงด้วยการเป็นนักกีตาร์มากกว่าที่จะเป็นนักเปียโนตามอย่างพ่อ แต่ก็ดูเหมือนว่าเจอรัลด์ วิลสันยังคงมีอิทธิพลและชื่อเสียงในแง่ของการเป็นผู้คุมวง และอะเรนเจอร์มากกว่าผู้เป็นลูกอย่างเห็นได้ชัด

ไม่เพียงแต่มีชื่อในด้านของการเล่นเปียโนเท่านั้น เจอรัลด์ยังโดดเด่นครอบคลุมไปถึงการควบคุม, อะเรนจ์เพลงให้กับวง และการประพันธ์เพลง ก็เฉกเดียวกับแอนโธนี ผู้เป็นลูก ที่มีชื่อเสียงในการเล่นกีตาร์แจ๊ส นับเนื่องไปถึงการอะเรนจ์, การคุมวง และทักษะการแต่งเพลง แอนโธนีอ้างอิงถึงนักดนตรีอย่าง เวส มอนต์โกเมอรีและเคนนี เบอร์เรลที่เป็นอิทธิพลทางดนตรีสำคัญในการเล่นกีตาร์ของเขา ในขณะที่ดุก เอลลิงตัน, กิล เอแวนส์, แท็ดด์ เดมรอน, โอลิเวอร์ เนลสัน และมาร์ตี เพชให้แรงบันดาลใจแก่เขาในฐานะการเป็นผู้คุมวงและอะเรนเจอร์ ดุก เอลลิงตันมักจะกล่าวเสมอว่า วงดนตรีก็เปรียบเสมือนเครื่องดนตรีของเขา และบทเรียนอีกอย่างหนึ่งที่แอนโธนีได้เรียนรู้จากดุกก็คือ การควบคุมวงและการอะเรนจ์วงให้ได้ดีก็สำคัญพอกันกับการเล่นเครื่องดนตรีให้ได้ดีสักชิ้นหนึ่ง ฉะนั้น ทักษะการเล่นในฐานะการเล่นกีตาร์ของแอนโธนีก็มิอาจสบประมาทได้

เส้นทางในโลกดนตรีแจ๊สของแอนโธนีเริ่มต้นอย่างสวยงาม และในฐานะนักดนตรีที่สร้างสรรค์ เขาเดินหน้าพัฒนาผลงานของตัวเองอย่างต่อเนื่อง แอนโธนีมีผลงานในฐานะศิลปินเดี่ยวมาตั้งแต่ปี 1998 ประเดิมด้วยอัลบัมชื่อเดียวกับเจ้าตัว ได้รับเกียรติเสนอชื่อเข้าชิงและเก็บรางวัลแกรมมีในสาขา Best Large Jazz Ensemble Recording ไปในปีนั้น อัลบัมที่สองออกมาในชื่อชุด Goat Hill Junket ได้รับการบรรจุเข้าไปเข้าในสารบบท็อปเทนของเหล่านักวิจารณ์ในปีนั้น และเป็นอัลบัมวงเก้าชิ้นที่โดดเด่น

ต่อมาอัลบัมชุดที่สาม Adult Themes กวาดดาวห้าดวงในบทวิจารณ์ของนักวิจารณ์จากนิตยสารดาวน์บีต ซึ่งหากคุณเป็นคนที่ติดตามนิตยสารดนตรีแจ๊สดาวน์บีตแล้วละก็ ก็คงจะพอทราบเลาๆ ว่า นิตยสารฉบับนี้ไม่ได้แจกห้าดาวอย่างดาดดื่น นอกจากจะเหนือชั้นจริงๆ เท่านั้น ในเดือนพฤษภาคม 2001 กรูฟโน้ต เร็คคอร์ดสก็ปล่อยอัลบัม Our Gang ออกมา ผลงานชุดนี้เป็นผลงานในแบบวงสามชิ้น ซึ่งได้รับการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายทั้งในนิตยสารดาวน์บีต และนิตยสารหัวอื่นๆ และด้วยการบันทึกเสียงที่ได้มาตรฐาน ทำให้อัลบัมชุดนี้ยังเป็นที่นิยมจากนักเล่นเครื่องเสียงด้วยเช่นเดียวกัน

ด้วยความพลิ้วไหวและความสามารถในการเล่นแอ็กคอมพานีที่ยากจะหาตัวจับได้ แอนโธนี วิลสันของเราจึงได้เป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกเสียง และการออกทัวร์กับนักร้อง, นักเปียโนสาวนามอุโฆษ ไดอานา ครอล ตั้งแต่ปี 2001 ซึ่งเป็นปีที่ไดอานาได้รางวัลแกรมมีจากอัลบัมชุด Live In Paris (เวิร์ฟ เร็คคอร์ดส) การทำงานกับไดอานา ครอลนั้นก็ถือว่าเป็นหนึ่งบทบาทที่ขยับขยายชื่อเสียงของตัวเขาเองเข้าสู่แฟนเพลงแจ๊สในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแฟนเพลงในกระแสหลัก นอกจากนี้แล้ว การที่เขาเล่นแบ็กอัพ และออกโชว์ตัวกับศิลปินมีชื่อ อย่าง อัล จาร์โร, แอรอน เนวิล และแม็ดเดลีน เปรูซ์ ก็เป็นสร้างพื้นที่ให้เป็นจุดสนใจในแง่ของพัฒนาการทางศิลปะ, ความสมบูรณ์ของเนื้องานดนตรี และความช่ำชองในการอิมโพรไวส์

เบนนี วอลเลซ, แลรี โกลดิงส์, โจ เฮนรี, ฮาโรลด์ แลนด์, คริส บอตติ, เดอะ เคลย์ตัน-แฮมิลตัน แจ๊ส ออร์เคสตรา และเจอรัลด์ วิลสันก็เป็นนักดนตรีที่เป็นที่นับหน้าถือตาไม่กี่คนที่แอนโธนีได้สร้างสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและยั่งยืนเอาไว้ด้วย

ด้วยความเป็นนักประพันธ์และอะเรนเจอร์ที่มีฝีมือ บวกกับความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในแบบแผนเพลงดั้งเดิม และยินยอมที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ ทำให้แอนโธนีได้รับรางวัลจากการแข่งขันนักประพันธ์นานาชาติในปี 1995 จากนั้นก็ไปได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในอีกสองสาขารางวัลของสมาคมผู้สื่อข่าวแจ๊ส (สาขานักดนตรีหน้าใหม่ยอดเยี่ยมและบทประพันธ์เพลงยอดเยี่ยม) ในปี 1998 จากนั้นก็มีภารกิจใหม่ๆ ตามมาเป็นหางว่าว อาทิ กลุ่มกิจกรรมกิล เอแวนส์ จากสมาคมนักวิชาการแจ๊สนานาชาติในปี 1999 ส่งผลให้เกิดผลงาน Adult Themes ขึ้นมาในปีนั้น, ร่วมงานในผลงาน Tokyo Wednesday ซึ่งมีความยาวเท่ากับคอนเสิร์ต ในงานคุมบา แจ๊ส เซ็นเตอร์จากการร่วมมือกันกับ NEA ในปี 2002 และงานออร์เคสตราชิ้นใหญ่ที่ทำกับแลรี โกลดิงส์ ชื่อชุดว่า Solstice Sequence ในปี 2003 ในระยะหลังนี้ แอนโธนีมักจะถูกจัดให้อยู่หมายเลขต้นๆ ทุกครั้งที่นิตยสารดาวน์บีตจัดลำดับบรรดานักประพันธ์, อะเรนเจอร์ และมือกีตาร์ที่มักจะถูกมองข้าม และสมควรจะได้รับการใส่ใจมากกว่านี้ ทั้งนี้มาจากการโหวตของนักอ่านทั่วโลกในรายปี

โปรเจ็กต์ต่างๆ ที่วางแผนเอาไว้ในปี 2005-2006 รวมไปถึงงานบันทึกเสียง และการออกทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลกกับโปรเจ็กต์หนึ่งร้อยปีโคลแมน ฮอว์กินส์ (นำโดยแอนโธนี และเบนนี วอลเลซ) และก็การแสดงสดอีกมากมายหลายงานทั่วอเมริกากับวงเก้าชิ้นของเขาเอง จากนั้น Savivity ผลงานลำดับที่สองของวงแอนโธนี วิลสัน ทริโอก็ออกมาไล่ๆ กันในปี 2005 และ Power of Nine ในปี 2006

ในปี 2009 แอนโธนีคลอดอัลบัม Jack of Hearts กับวงทริโอ ประกอบด้วยแลรี โกลดิงส์ (แฮมมอนด์ บี3), จิม เคลต์เนอร์ และเจฟ แฮมิลตัน (กลอง) ดูเหมือนว่าเขาจะผูกพันอยู่กับวงทริโอในลักษณะของกีตาร์, กลอง และออร์แกน มากกว่าจะเป็นเซ็ตกีตาร์, กลองและเบส หรือเปียโนอย่างที่เรามักจะคุ้นเคยกัน อัลบัม Savivity ที่ออกมาในปี 2005 ก็มีโจ แบ็กก์ เล่นออร์แกน ทั้งๆ ที่ตัวแอนโธนีเองมักจะคลุกคลีทำงานอยู่กับนักเปียโนมากกว่า หากแต่ว่าผลงานในชุด Jack of Hearts กลับไม่มีสัดส่วนของเปียโนอยู่เลยแม้แต่นิดเดียว ในช่วงต้นปี 2009 เขาได้ไปสนิทสนมกลมเกลียวอยู่กับแลรี โกลดิงส์ แล้วก็ร่วมกันตั้งวงทริโอขึ้นมา โดยมีจิมกับเจฟเข้าร่วมด้วย




ในยุค 90 และ 2000 ตัวแลรีก็เป็นหนึ่งในแกนนำผู้สนับสนุนสุนทรียศาสตร์การเล่นออร์แกนในแบบจิมมี สมิธยุคหลัง นอกจากนั้นเขายังได้รับอิทธิพลทางดนตรีมาจากนักออร์แกนลำดับต้นๆ ของวงการอย่าง แลรี ยัง ผู้ซึ่งเริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นศิษย์ก้นกุฏิของจิมมี สมิธ แล้วก็ไต่เต้าผลักดันตัวเองเข้าสู่การเป็นนักดนตรีสายโพสต์บ็อปและโมดัล เป็นนักดนตรีผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อย่างมีอัตลักษณ์ จนในที่สุดก็ได้สมญาว่าเป็น “จอห์น โคลเทรนแห่งออร์แกน” ตัวแลรี โกลดิงส์เองก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นตัวตายตัวแทนของแลรี ยัง ในทางตรงกันข้าม เขามีความเป็นตัวของตัวเองอย่างยิ่งในฐานะนักดนตรี แต่ก็ยังร่วมแบ่งปันความรักชอบในดนตรีโพสต์บ็อป ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม Jack of Hearts จึงตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของโพสต์บ็อป

สมาชิกภาพของแลรีในวงทริโอวงนี้นั้น จึงอำนวยประโยชน์ได้อย่างมากในแง่ของบทเพลงใหม่ๆ ที่ถูกประพันธ์ขึ้นโดยทั้งแลรีและแอนโธนีเอง ข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งคือ ได้มีการคัดเลือกเอาบทเพลงอันพึงระลึกถึงของโคลแมน ฮอว์กินส์ มาอะเรนจ์ใหม่ ก็คือ Hawk Eyes และอีกสองเพลงของดุก เอลลิงตันที่ไม่ค่อยจะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง Zweet Zursday และ Carnegie Blues แต่จริงๆ แล้ว เพลงของดุกที่เลือกมาบรรจุลงอัลบัมนั้น ไม่ได้เป็นเพลงสแตนดาร์ดแนวถนัดของตายของแอนโธนีสักเท่าไร แถมยังไม่ได้แพร่หลาย หากแต่ว่าเขาก็ฉลาดพอที่จะเลือกเอาเพลงเหล่านั้นมาเพื่อถ่ายทอดความสุนทรีย์ ที่ควรค่าแก่การสดับตรับฟัง ถึงแม้ว่างานเหล่านั้นไม่ได้ขึ้นชั้นมาเป็นเพลงสแตนดาร์ดก็ตาม ทั้ง Zweet Zursday และ Carnegie Blues มีความยาวเกือบแปดนาทีในแต่ละเพลง ทั้งๆ ที่เพลงต้นฉบับก็มีความยาวไม่กี่นาที กีตาร์และออร์แกนเล่นรับส่งต่อเนื่องกันตลอดทั้งเพลง แลรีได้แสดงลีลาการโซโลออร์แกนอย่างเต็มพิกัดในเพลง Carnegie Blues ซึ่ง็ช่างเหมาะเจาะเหลือเกินกับแจ๊สติดกลิ่นอายบลูส์อย่างเพลงนี้
ส่วนเพลง Hawk Eyes นั้นสามารถนำมาร้อยเรียงต่อเนื่องกับ Mezcal ได้อย่างไร้รอยต่อด้วยกรูฟสนุกๆ ในแบบที่แลรีถนัด ฟังไปอาจจะหวนรำลึกถึงลีลาของนักออร์แกนผู้ล่วงลับอย่างแจ็ก แม็กดัฟ ลีลาการสะบัดข้อมือของแอนโธนีนั้นเล่า ก็ช่วยเพิ่มรสชาติให้กับเพลงได้เป็นอย่างดี

แอนโธนีใช้เพลง Mezcal มาเป็นเพลงเปิดอัลบัม เพลงนี้เป็นเพลงที่แต่งร่วมกับแลรี รสชาติออกมาค่อนข้างจะฟังกีสนุกๆ ที่ฟังไปแล้วก็ต้องขยับแข้งขยับขา ไลน์กีตาร์และออร์แกนต่างเล่นออกมาได้ชัดเจน รายละเอียดไม่มาก หากแต่รื่นรมย์ ผนวกกับลีลากลองหนักแน่นของจิม เคลต์เนอร์ ซึ่งเป็นมือกลองสายป็อปร็อก ทำให้เพลงนี้อาจจะออกห่างรสชาติของแจ๊สไปสักนิดหนึ่ง แต่ความเป็นฟังก์แบบวงทริโอที่มีออร์แกนนั้น มีอย่างเต็มเปี่ยมไม่ต้องสงสัย

Theme from “Chinatown” บทเพลงดั้งเดิมของเจอรี โกลด์สมิธจากหนังฟิล์มนัวร์ขึ้นหิ้งของโรมัน โปลันสกี ซึ่งแอนโธนีนำมาปอกเปลือก โดยใช้ลีลาการโซโลกีตาร์เจือไปด้วยกลิ่นอายบลูส์ลอกเอาความนัวร์ออกไป เหลือไว้เพียงความสวยงาม หวามไหว หากแต่ก็ยังไม่ทิ้งความหม่นมัวเอาไว้เป็นคราบไคลในค่ำคืนอันมืดมนแห่งอาชญากรรม Viva Perdida Acabou บทเพลงสบายๆ ที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน รวมไปถึงอารมณ์เพลงที่ค่อนข้างจะปลดปล่อย ด้วยการตีกลองในแบบฉบับร็อกของจิม เคลต์เนอร์ ทำให้กลิ่นอายความเป็นแจ๊สก็ถูกลดทอนลงไปโดยปริยาย

Jack of Hearts เพลงชื่อเดียวกับอัลบัม ค่อนข้างจะนิ่มและเนิบนาบ จังหวะกลองของเจฟ แฮมิลตันต่างไปจากจิมอย่างเห็นได้ชัด เปิดเพลงขึ้นมาด้วยเสียงสละสลวยของออร์แกน โดยมีกีตาร์เล่นคลอเป็นริธึมให้ ก่อนที่จะนำเข้าสู่การโซโล และการรับส่งลูกและเคล้าคลอกันอย่างต่อเนื่อง แอนโธนีน่าจะต้องการความหลากหลายในอัลบัมของเขา ดังนั้น ตัวเลือกในการใช้มือกลองสองคนสองสไตล์นั้น จึงเป็นการตอบโจทย์ของตัวเองอย่างตรงจุด เนื่องด้วยลีลาที่แตกต่างของมือกลองทั้งสองคน เมื่อถึงตรงนี้แล้วก็กลายเป็นเรื่องของความคิดเห็นของแต่ละคนไปโดยดุษณี แต่เราเองเห็นว่าถึงแม้จะแตกต่างกันในลีลา แต่ว่าเมื่อมองในองค์รวมของ Jack of Hearts ทั้งอัลบัมแล้ว ยังคงมีความเป็นเอกภาพที่ร้อยรัดทุกอย่างเข้าไว้ด้วยเสียงกีตาร์ของแอนโธนี และเสียงออร์แกนของแลรี อันเป็นเครื่องดนตรีหลักของผลงานชุดนี้

แอนโธนีนั้นเป็นมือกีตาร์แจ๊สจ๋า ที่ร้านขายซีดีแจ๊สหัวก้าวหน้าบางร้านก็ไม่ได้มีแผ่นของเขาวางขาย แต่เราก็ยังคงเห็นว่า เขาเป็นหนึ่งในมือกีตาร์แจ๊สที่มากไปด้วยความสามารถ เข้าใจ, เข้าถึง และเชี่ยวชาญในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ เป็นที่น่าเสียดายมากที่ ถึงแม้ว่าเขาจะยังดิ้นไม่พ้นเงาของเจอรัลด์ วิลสัน ผู้เป็นพ่อในแง่ของชื่อเสียงที่สั่งสมมาช้านาน แต่ด้วยหลักไมล์แห่งระยะทางจะเป็นบทพิสูจน์ให้เขาได้ว่าจะพ้นออกมานอกร่มเงาที่แผ่กิ่งก้านสาขาได้หรือไม่ หรือถ้าไม่ ด้วยผลงานของเขาเองก็จะเป็นเครื่องรับรองคุณภาพได้เป็นอย่างดี โดยไม่จำเป็นจะต้องไปวัดรอยเท้ากับนักดนตรีใหญ่ผู้เป็นพ่อ เพราะคงจะไม่เป็นธรรมนักหากจะต้องตัดสินฝีมือของใคร โดยเอาบรรทัดฐานที่สูงมาเป็นตัวชี้วัด




The Anthony Wilson Trio – Jack of Hearts โปรดิวเซอร์ โจ ฮาร์ลีย์
แอนโธนี วิลสัน กีตาร์
แลรี โกลดิงส์ แฮมมอนด์ บี3 ออร์แกน, ซีแลสต์
เจฟ แฮมิลตัน กลอง (เพลงที่ 2, 3, 4, 9)
จิม เคลต์เนอร์ กลอง (เพลงที่ 1, 5, 6, 7, 8, 10)

Tracklisting
1. Mezcal (Wilson/Goldings)
2. Jack of Hearts (Wilson)
3. Hawk Eyes (Coleman Hawkins)
4. Carnegie Blues (Duke Ellington)
5. Theme from “Chinatown” (Jerry Goldsmith)
6. Vida Perdida Acabou (Wilson)
7. Orange Crate Art (Van Dyke Parks)
8. Harajuku (Wilson/Goldings)
9. Zweet Zursday (Duke Ellington)
10. Homecoming (Wilson)

ผลงานเดี่ยวของแอนโธนี วิลสัน
Anthony Wilson - Anthony Wilson (1997)
Anthony Wilson - Goat Hill Junket (1998)
Anthony Wilson - Adult Themes (1999)
Anthony Wilson - Our Gang (2001)
Anthony Wilson - Savivity (2005)
Anthony Wilson - Power of Nine (2006)
Anthony Wilson - Jack of Hearts (2009)




 

Create Date : 30 ตุลาคม 2553
0 comments
Last Update : 31 ตุลาคม 2553 20:36:01 น.
Counter : 1529 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.