"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2548
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
18 ตุลาคม 2548
 
All Blogs
 

Pat Metheny กีตาร์แจ๊สผู้ไม่เคยสร่างฝัน



ย้อนหลังกลับไปสามสิบปี นับจากวันเวลาที่แพ็ต เมธินี มือกีตาร์แจ๊สกระเดื่องนามได้ก้าวเท้าออกมาสู่พิภพแห่งดนตรีแจ๊สแล้ว ก็กล่าวได้ว่าสีสันของของวงการก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากปี 1975 กับอัลบัมแรก Bright Size Life ดนตรีแจ๊สใสๆ ในแบบของแพ็ตและค่ายอีซีเอ็ม และเพลงพิเศษที่เขาเขียนให้กับหญิงสาวชาวไทย Sirabhorn หรือด็อกเตอร์กะทิ บราซิลเลียนแจ๊สนั่นเอง ก็เป็นก้าวแรกที่สร้างความประทับใจให้กับนักฟังพอสมควร จวบจนกระทั่งปี 2005 แพ็ตยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องนับสิบชุด รูปแบบในการนำเสนอผลงานของเขาไม่ได้ราบเรียบเป็นผืนน้ำนิ่ง หากแต่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเดี่ยว เล่นคู่ วงสามชิ้น วงสี่ชิ้น หรือกระทั่งเล่นฟรีแจ๊ส เขาก็เคยผ่านมาแล้วทั้งนั้น



เมื่อพูดถึงฟรีแจ๊ส Song X เป็นอัลบัมแนวฟรีแจ๊สที่แพ็ตมาทำกับออร์เน็ต โคลแมน ราชาแห่งฟรีแจ๊ส ซึ่งอัลบัมนี้จะมีการหยิบมาปรับปรุง แล้วนำมาออกใหม่อีกครั้ง อย่างที่เราเรียกกันแบบคุ้นๆ ปากว่า “รีอิชชู” (Reissue) นั่นเอง ดูเหมือนว่าแพ็ตจะภูมิใจในผลงานชุดนี้มากพอสมควร จากการที่เขาบอกว่า มันเป็นงานที่น่าตื่นเต้นที่ได้ทำออกมาในตอนนั้น

“เหมือนผมได้ย้อนกลับไปสำรวจตัวเองกับการทำงานในอัลบัม Song X สิ่งที่น่าแปลกใจสำหรับผมก็คือ จริงๆ งานนี้ผ่านมาตั้งยี่สิบปีแล้ว (อัลบัมนี้ออกวางครั้งแรกในปี 1985) แต่ผมบอกตรงๆ ว่ามันฟังดูไม่ล้าสมัยเลยจริงๆ นะ ทั้งๆ ที่ยุคนั้นเป็นยุคก่อนซีดีเสียอีก ดังนั้น ตอนที่เราบันทึกเสียงกัน ก็เลยมีข้อจำกัดเยอะแยะไปหมด อย่างข้อจำกัดที่คุณสามารถจะบันทึกลงแผ่นได้นานกี่นาที ทันทีที่อัดไป 43 นาทีแล้ว คุณก็จะไม่สามารถจะได้ทั้งเพลงที่ยาวขนาดนั้นพร้อมกับเสียงแจ่มๆ พร้อมกัน”



แพ็ตใช้เวลาสามสัปดาห์กับออร์เน็ตก่อนการบันทึกเสียงจริง ทำงานและเขียนเพลงด้วยกัน

“แทบจะทั้งหมดมาจากผมกับเขา หรือไม่ก็มีเดนาร์โดเข้ามาอีกคน” เดนาร์โดในที่นี้ก็คือ เดนาร์โด โคลแมน หนึ่งในสมาชิกที่ทำอัลบัมนี้ด้วยกัน นอกจากนั้นยังมีแจ็ก ดิจอห์นเน็ตและชาร์ลี ฮาเดนอีกคน

“ผมหวังว่าจะรีอิชชูอัลบัมนี้ออกมาให้เจ๋งที่สุด อย่างน้อยที่สุด ผมก็ได้ทำมาสเตอร์ใหม่ มิกซ์เสียงใหม่แล้ว ยุคดิจิตอลเดี๋ยวนี้แก้เสียงกระด้างๆ ได้เยอะ เสียงมันก็เลยดีขึ้นมาก คิดว่าน่าจะวางขายได้ในเร็วๆ นี้ ยังไงก็น่าจะทันปีนี้”

งานดนตรีแจ๊สกับแพ็ตนั้น แทบจะมานั่งจำแนกแยกแยะกันไม่ได้เลยว่า เขาเล่นอะไร อย่างไร การก้าวข้ามกำแพงคำจำกัดความคือการเล่นของเขามากกว่า



ในปีนี้แพ็ตได้ย้ายมาเข้าสังกัด Nonesuch ซึ่งเป็นสังกัดลูกของวอร์เนอร์ บราเธอร์ส เนื่องจากวอร์เนอร์แจ๊สที่เขาสังกัดอยู่เดิมนั้น หยุดพักการผลิตงานไว้ชั่วคราว และด้วยความที่เพื่อนรักเก่าแก่ที่รู้จักกันตั้งแต่เขายังทำเพลงกับอีซีเอ็ม อย่าง บ็อบ เฮอร์วิทซ์ ได้มาทำงานอยู่ที่นันซัช จึงไม่เป็นการหนักใจกับแพ็ตที่จะย้ายตามมาอยู่กับเพื่อนแบบไม่ต้องคิดมาก

แพ็ตบอกไว้เกี่ยวกับตัวเองว่า “ยี่สิบปีหลังในชีวิตในการทำงานของผมนั้น ผมทำแต่สิ่งที่แสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองอย่างชัดเจนจริงๆ ผมทำเฉพาะสิ่งที่ผมต้องการจะทำเท่านั้น”

เขายังพอใจที่จะทำอะไรแบบทั่วๆ ไป ไม่ต้องทำดนตรีหนักหน่วงอะไรมาก แต่ว่าทุกเพลงที่ทำออกมาได้ทำหน้าที่ในการแสดงความรักในดนตรีแจ๊สของเขาออกมาอย่างชัดเจนทั้งสิ้น



เขายังบอกอีกว่า “ผมไม่ค่อยกังวลเท่าไรนะเกี่ยวกับเรื่องหลักการทั้งหลายแหล่ อย่างที่พวกนักฟังเพลงแจ๊สเขามักจะเอามานั่งถกเถียงการในวงสนทนา สำหรับผมแล้ว ความงดงามตามแบบอย่างของแจ๊สก็คือการที่เราค้นพบบุคลิกที่แท้จริงของตัวเอง มีประสบการณ์กับมันอย่างแท้จริงเท่านั้น แล้วผมก็คิดว่าผมมีสิ่งเหล่านั้นชัดเจน

“ถ้าผมมามัวนั่งกังวลว่าใครจะพูดถึงเพลงของผมว่า เออ มันเป็นแจ๊สประเภทไหนนะ ซึ่งผมได้ยินมาเยอะมาก แต่นั่นก็คือสิ่งที่ผมมองว่าแจ๊สมันเป็นอย่างนั้นน่ะ ผมคิดว่ามันเป็นอะไรที่ลุ่มลึกกว่านั้น แล้วก็ละเอียดกว่านั้น ไม่ใช่ว่าฟังแป๊บๆ ก็พูดได้เป็นฉากๆ มันสละสลวยเกินกว่านั้นจริงๆ ผมพยายามที่จะนำเสนอมาตรฐานที่มันสูงขึ้นอีกระดับ”

กับงาน The Way Up ที่เพิ่งออกวางจำหน่ายตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น เป็นสตูดิโออัลบัมชุดที่สิบสองของพวกเขาในนามแพ็ท เมธินี กรุ๊ป อันนำเสนอผลงานการประพันธ์ยาวถึง 68 นาที โดยมีแพ็ตกับไลล์ เมย์สเป็นตัวจักรสำคัญในการทำงานกับประสบการณ์ร่วมทุกข์สุขที่ยาวนานมาถึงสามสิบปีตั้งแต่งานชุดแรกของแพ็ต



“เราบ่มเพาะตัวงานมานานเป็นปีๆ ความคิดความอ่านความสนใจของเราก็ออกจะลงลึกไปเรื่อยๆ แต่ตอนนี้ สำหรับผมและไลล์ในฐานะของคนเขียนเพลง มันก้ำกึ่งกับสิ่งที่ทำๆ มาทั้งหมด ตอนแรกที่เขียนเพลงนี้ขึ้นมา เราคิดว่ามันเป็นเพลงต่อต้าน อาจจะมองได้ว่างานของเราต่อต้านโลกที่ซึ่งความกลัวได้กลายมาเป็นอาวุธทางวัฒนธรรมและการเมืองไปแล้ว ต่อต้านโลกซึ่งนิยมความหยาบกระด้าง ต่อต้านสังคมวัตถุนิยม บริโภคนิยม

“เราอยากจะนำเสนอความแปลกใหม่ เป็นความใหม่ที่นำเอาเครื่องมือใหม่ๆ เทคนิกใหม่ๆ มารับใช้การทำงาน เพื่อให้เกิดมุมมองที่ต่างออกไป เราอยากจะลงลึกลงไปข้างในสิ่งต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่เราคิดว่านักดนตรีกลุ่มนี้เขาสามารถจะนำพาเราเข้าไป ไปให้ไกลที่สุดที่พวกเขาไปกันได้ ยกระดับเพื่อให้เกิดทางเลือก เกิดมุมมองในแง่งาม ผมว่าแพ็ต เมธินี กรุ๊ปกำลังทำอะไรๆ ที่มันมากขึ้น จากจุดเริ่มต้นที่เรามองไปที่รูปแบบเปิดกว้าง มองไปที่การขยายองค์ประกอบด้วยภาคออร์เคสตราที่วงแจ๊สขนาดเล็กสามารถจะทำออกมาได้ เป็นความต่อเนื่องของทุกๆ อย่างที่เราทำกันใน The Way Up นั่นเป็นหลักปรัชญาที่ใช้ในอัลบัมชุดนี้ ผมคิดว่าเราเริ่มคิดที่จะทำอะไรอย่างนี้มาได้สักพักแล้ว”



เพื่อนร่วมวงใน The Way Up เป็นนักดนตรีชุดเดียวกับที่เล่นในอัลบัม Speaking Of Now ที่ออกมาเมื่อปี 2003 นอกจากแพ็ตแล้วก็ประกอบไปด้วย ไลล์ เมย์ส เล่นคีย์บอร์ดส สตีฟ ร็อดบี เล่นเบส อันโตนิโอ ซานเชซเล่นกลอง กวงวูเล่นทรัมเป็ตและร้อง หากแต่มีสมาชิกใหม่เพิ่มเติมเข้าด้วยอีกหนึ่งคน นั่นก็คือเกรกัวร์ มาร์เรต์ ลูกครึ่งชาวสวิสอเมริกัน นักเป่าฮาร์โมนิกา

“ตอนที่เรากำลังเขียนเพลงกันอยู่นั้น ผมก็นึกๆ อยู่ว่ามันมีเสียงอะไรนะที่ขาดหายไป มันเป็นเสียงลมหายใจนั่นเอง แต่มันไม่ใช่เสียงของกวง ผมว่ามันจะต้องไม่ใช่เสียงลมหายใจที่มาจากการร้องเพลง แล้วทันทีที่ผมได้ยินเพลงจากแผ่นของเกรกัวร์ กับการแสดงสดของเขากับคัสซานดรา วิลสัน ผมก็รู้สึกประทับใจเขามาก และก็เกิดความคิดว่าเขานี่แหละที่จะเติมเสียงที่ขาดหายไปก็ได้ ผมหาแผ่นทุกแผ่นที่เขาเล่นมาฟังจนหมด ลองให้สตีฟกับไลล์มาเล่นคลอไปกับแผ่น ซึ่งก็ออกมาเข้ากันได้เป็นอย่างดีเยี่ยม จริงๆ แล้วผมแทบไม่เคยคิดเลยว่าจะจ้างนักเป่าฮาร์โมนิกามาเล่นในวงจริงๆ นะนี่ จนกระทั่งผมได้ยินเสียงของเกรกัวร์นี่แหละ เขาเป็นหนึ่งในนักดนตรีน้อยคนที่สามารถแสดงจิตวิญญาณออกมาตามเสียงดนตรีที่ตัวเองเล่น เรารู้สึกเร้าใจจริงๆ ที่จะพาเขามาอัดเสียงชุดนี้ แล้วก็ออกทัวร์ด้วยกัน”

ผลของการหมักบ่มงานชุดนี้เป็นเวลาหลายปี สร้างให้ The Way Up กลายเป็นงานที่มีมาตรฐานสูงไปโดยปริยาย ก้าวข้ามไปสู่การไร้พรมแดนอย่างแท้จริง และอัลบัมนี้ยังจะเป็นอีกผลงานหนึ่งที่ระเบิดขีดความสามารถของแพ็ตออกมาอีกครั้ง หลังจากที่เขาได้เคยปลดปล่อยออกมาแล้วตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นนักรังสรรค์ดนตรีตั้งแต่วัยเยาว์เพียงแค่สิบเก้าปีในปี 1974 ด้วยฐานะลูกวงของแกรี เบอร์ตัน การเป็นแบนด์ลีดเดอร์ของเขาก็เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จสูงสุดในอาชีพนักดนตรีที่เขาทำมาตลอด ในตอนนี้นักดนตรีวัยห้าสิบกว่าคนนี้ก็จะได้ทำหน้าที่ของเขาอย่างต่อเนื่องในการนำเสนอผลงานที่สุดโต่งในทุกๆ เพลง ทุกๆ การโซโล และทุกๆ ตัวโน้ต



“ผมว่ามันเป็นงานที่เต็มไปด้วยพันธะแห่งความทะเยอทยานในแต่ละระดับของการเขียนเพลงจริงๆ ระดับในรายละเอียดที่เรากำลังมุ่งเข้าสู่จุดเริ่มต้น จากการเริ่มต้น สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่เป็นความเชื่อของพวกเราก็คืออยากจะหลีกหนีไปให้พ้นรูปแบบไปให้ได้มากที่สุดเมื่อไรก็ตามที่เราทำได้

“มีลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ ที่เราสอดแทรกอยู่ในบทประพันธ์นี้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์ลูดหรือช่วงขึ้นต้น หรือแม้ว่าจะเป็นแก่นของบทเพลงนั้นๆ เราก็มีลูกเล่นแทรก ไม่ว่าจะเป็นการเรียบเรียงหรือการใส่เท็กซ์เจอร์ของเสียงเพิ่มเข้าไป เราเองก็มีอัลบัมที่มีฟิลลิ่งต่อเนื่องควบคู่กันไปอยู่สองอัลบัม แต่เมื่อเราเสร็จสิ้นการทัวร์อัลบัม Speaking Of Now แล้ว วงของเราก็เข้าที่เข้าทางที่ทำให้ผมรู้สึกสบายใจมากที่พวกเราจะได้ทำงานร่วมกันไปอีก ผมรู้สึกเหมือนกับว่าเราสามารถจะย้อนกลับไปตอนที่ทำอัลบัม Imaginary Day เชื่อมต่อการสำรวจของพวกเรา ตอนหมดทัวร์ ผมกับไลล์ก็เริ่มมาทำงานด้วยกันอีก อยู่เมืองเดียวกัน อยู่ห้องเดียวกันเป็นเวลาเดือนครึ่ง แล้วก็เขียนเพลงออกมา



แพ็ตยังคงเชื่อมั่นในตัวเพื่อนร่วมวง ทั้งยังรู้สึกว่าการทำงานกับกลุ่มคนกลุ่มนี้เป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานด้วย

“การเขียนเพลงสำหรับผมเป็นรื่นรมย์อย่างหนึ่งในชีวิต แล้วผมก็รู้ว่าเพลงที่ผมเขียนขึ้นมานี่ เพื่อนๆ ของผมจะสามารถบรรเลงออกมาได้อย่างที่ผมอยากให้เป็น และพวกเราก็ภูมิใจมากครับกับงานที่ออกมา”

เชื่อได้เลยว่า แพ็ต เมธินีคนนี้จะยังคงมีผลงานดนตรีให้แฟนเพลงได้ฟังกันอย่างไม่หมดไฟฝัน ไม่ว่าถึงที่สุดแล้วเขาจะมีอายุเท่าไร แต่งานถ่ายทอดความคิดความฝันทางดนตรีดูท่าจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่เขาจะละทิ้ง



Pat Metheny Group / The Way Up (Nonesuch)
1. The Way Up : Opening (Mays, Metheny) 5.17
2. The Way Up, Pt.1 26.27
3. The Way Up, Pt.2 20.29
4. The Way Up, Pt.3 15.54
Musicians
Pat Metheny – Guitars
Lyle Mays – Piano, Keyboards, Toy Xylophone
Steve Rodby – Violin, Basses, Cello
Antonio Sanchez – Drums, Toy Xylophone
Cuong Vu – Trumpet, Voices
Gregoire Maret – Harmonica
Richard Bona – Guitar Percussion, Voices




 

Create Date : 18 ตุลาคม 2548
4 comments
Last Update : 18 ตุลาคม 2548 17:16:49 น.
Counter : 2745 Pageviews.

 

เป็นนัก guitar ที่ฟังแล้วเดาไม่ออกเลยว่าจะไหลไปยังไง

ไม่หมดกระบวนท่าซะที . . . ฟังแล้วก็ต้องคารวะครับ
เก่งมากๆ . . . เป็นหนึ่งในนักกีตาร์ไม่กี่คนที่กระชากผมออกจาก Heavy Metal มาฟัง Jazz เพื่อเปิดหูเปิดตาบ้าง

ถ้าคนไทยผมจะนึกถึง "โปรด" ครับ . . .

 

โดย: v74 20 ตุลาคม 2548 10:34:57 น.  

 

ชอบครับ....น้าคนนี้...อ.โปรด ก็ชอบเช่นกัน..แต่น้อยกว่า

 

โดย: สาหร่าย (แร้ไฟ ) 21 ตุลาคม 2548 17:25:56 น.  

 

ชอบสุดๆฮะคนนี้ แรงบันดาลใจเลย

 

โดย: รู้สึกแปลก 21 สิงหาคม 2549 13:08:09 น.  

 

ชอบมากครับ 10ปีผ่านไปเร็วจังผลงานแพ็ท เยอะมากฟังได้ไม่กี่ชุดเอง

 

โดย: ตึ๋ง โปรโตซัว IP: 27.55.106.157 30 กรกฎาคม 2558 22:00:06 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.