"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
กันยายน 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
16 กันยายน 2554
 
All Blogs
 

1959 นั้นสำคัญไฉน? (จบ)




ความสำคัญของปี 1959 นั้นยังคงมีต่อในฉบับนี้ เพราะว่าเรายังไม่ได้กล่าวถึงเสาหลักต้นสำคัญของดนตรีแจ๊สอีกคนหนึ่ง ซึ่งก็คือ “ไมล์ส เดวิส”

เมื่อปี 1959 มีการรวมตัวกันของนักดนตรีนามอุโฆษในวงการแจ๊ส เพื่อบันทึกเสียงสองเซสชัน พวกเขาเหล่านั้นก็คือ จอห์น โคลเทรน, บิล เอแวนส์, จูเลียน “แคนนอนบอล” แอ็ดเดอร์ลีย์, พอล แชมเบอร์ส และวินตัน เคลลี ไมล์ส เดวิสในตอนนั้นได้ทำอัลบัมชุดหนึ่งสำหรับแฟนเพลงทุกผู้นาม ซึ่งอัลบัมชุดนั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นอัลบัมอมตะอัลบัมหนึ่งของวงการแจ๊ส การที่จะทำงานออกมาให้ได้รับการยอมรับว่า “ยอดเยี่ยมตลอดกาล” นั้นเปรียบเสมือนภารกิจที่เป็นไปได้ยากยิ่ง แต่ว่ากาลเวลาก็ได้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า คำกล่าวขานสรรเสริญเยินยอของความเป็นที่สุด ก็มิได้เกินความจริงแต่อย่างใด หากแต่อัลบัมนี้ ไมล์สได้ใช้เวลาในการพัฒนามาเนิ่นนาน ซึ่งก็ไม่ได้จับหูคนฟังตั้งแต่ครั้งแรก นักดนตรีหลายคนก็บอกเล่าถึงความรู้สึกแปลกๆ แปร่งๆ ตอนที่ได้ฟังอัลบัมชุดนี้หนแรก แต่แล้วก็แปรเปลี่ยนเป็นอิทธิพลไปอย่างไม่รู้ตัว

เฮอร์บี แฮนค็อกเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “อัลบัมตอม่อของวงการดนตรี” แอชลีย์ คาห์นเขียนลงในหนังสือ “Kind of Blue”:The Making of the Miles Davis Masterpiece (สำนักพิมพ์ดาคาโป, ปี 2000) บอกว่า “หากเทียบดนตรีแจ๊สคือโบสถ์แล้ว อัลบัม Kind of Blue ก็คืออนุสรณ์สถานในโบสถ์”

“Kind of Blue ได้นำมาซึ่งการเล่นแบบโมดัลเป็นช่วงแรกๆ ซึ่งนักดนตรีจะอิมโพรไวส์เป็นชุดๆ ของสเกล ไม่ได้เล่นคอร์ดโปรเกรสชันแรงๆ ซ้ำๆ อย่างที่เราคุ้นๆ กับโมเดิร์น แจ๊สในยุคทศวรรษที่ 40-50 แบบนั้น คนแต่งเพลงก็จะไม่นิยมแต่งแพตเทิร์นแจ๊สแบบนั้นออกมาในช่วงปี 1959 สร้างกระแสการปฏิวัติทางดนตรีขึ้นมากลายๆ ซึ่งก็ไม่ใช่แรงกระเพื่อมเดียวที่ไมล์สจัดแจงเขย่าวงการ So What, All Blues และ Freddie Freeloader เป็นสแตนดาร์ดที่โดดเด่นอย่างมากในแง่ของดนตรีแจ๊ส และบัลลาด Flamenco Sketches และ Blue and Green ก็คงไว้ซึ่งความงดงาม และน่าหลงใหลแม้กระทั่งได้เดินทางผ่านเวลาถึงครึ่งศตวรรษให้หลัง

“คุณสามารถฟัง Kind of Blue ได้โดยไม่ต้องลืมตา คุณนึกออกไหมครับ? ขนาดนั้นเลยล่ะ” เจเรมี เพลต์ นักทรัมเป็ตรุ่นใหม่ไฟแรงกล่าวไว้เมื่อสองสามปีก่อนกับทาง All About Jazz สำทับด้วยคำสรรเสริญของเจสซี เจที่ว่า “ไมล์ส เดวิสก้าวล้ำหน้ายุคมัยของตัวเองเสียอีก สไตล์การเล่นของเขา, เทคนิก, การอิมโพรไวส์ และความต้องการที่จะยืนเด่นเหนือไปกว่าคนอื่นๆ มีผลต่อการเติบโตของผมมากทีเดียว ตอนผมฟัง Kind of Blue ครั้งแรก ผมก็รู้เลยว่าเขาสร้างโลกส่วนตัวของตัวเองขึ้นมา โลกที่มีสีฟ้ามาพบกับสีเขียว และสีสันของดนตรีกลายมาเป็นจุดสนใจหลักแทนที่จะเป็นตัวโน้ต เอากันแค่เสียงที่ออกมาเท่านั้น ไมล์สเป็นสุดยอดปรมาจารย์ของสไตล์ และคอนเซ็ปต์ริเริ่มของเขาก็จะยังท้าทายดนตรีที่ลงตัวอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ไงครับ”

“ผมว่ามันมีไอเดียและอารมณ์ที่คงเส้นคงวาซ่อนอยู่” บ็อบ บลูเม็นธัลกล่าว “บางคนก็บอกว่า “โอเค เราทำเพลงยาวสี่สิบนาทีได้นะ แล้วจะทำออกมายังไงดีให้คนฟังอยากจะฟังตั้งแต่ต้นจนจบ?” นี่เป็นการยกตัวอย่างที่เห็นภาพเลย ฉะนั้น มันก็ต้องคิดกันเยอะถึงชีวิตที่ยืนยาวของผลงานนั้นๆ แล้วอารมณ์ที่ไม่ธรรมดาที่มันเกิดขึ้น ก็คืออะไรที่คนไม่จำเป็นจะต้องกระหายที่จะฟังแจ๊ส ก็สามารถจะตอบสนองได้ Kind of Blue มีทุกอย่างหมดแล้ว”

เขาชี้ว่า หลังจาก Kind of Blue ออกมาไม่นานนัก จอห์น โคลเทรนบันทึกเสียงหนึ่งในอัลบัมสุดยอด Giant Steps ในปี 1959 ก็ใช้โมดัลฟอร์มเหมือนกัน แต่เพลงของจอห์นนั้น “ดนตรีซับซ้อน แล้วก็เป็นงานระดับปัญญาชน ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายความสามารถของนักดนตรี ที่จะตอบสนองได้ถึงระดับความซับซ้อน และวิธีคิดที่ไม่ง่ายแบบนั้น แต่ Kind of Blue คือสิ่งที่แตกต่างมาก มันเรียบง่ายไปหมด ในขณะที่ Giant Steps สร้างฮาร์โมนีที่ยุ่งยาก แต่ Kind of Blue ทำสิ่งตรงกันข้าม ดังนั้น เรื่องยากก็คือ จะขานรับสู่ทิศทางของดนตรีแบบนั้นได้อย่างไร โดยยึดเอามาตรฐาน ณ ตอนนั้นเป็นหลัก บางครั้งการทำอะไรให้มันดูง่ายนั้น เหมือนจะยากกว่าเสียอีก”

บ็อบเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า “คุณอาจจะไม่จำเป็นต้องเรียนการใช้คอร์ดแทนหรอก แต่อาจจะต้องเรียนรู้การเล่นเมโลดีอย่างไรที่จะดึงคนให้ฟังคุณไปได้นานๆ ผมว่าความช่ำชองในเรื่องความรวดเร็วและการเล่น ไม่ได้สำคัญเหนือไปกว่าความคิดและการสร้างสรรค์ผลงานเลย”

“ผมไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไงนะ แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว และผมก็ดีใจที่มันเกิดขึ้น” จิมมี ค็อบ นักดนตรีวัย 80 อดีตสมาชิกคนเดียวที่เหลืออยู่จากนักดนตรีชุดที่ร่วมทำงานในอัลบัม Kind of Blue ในปี 2009 เขาออกแสดงกับวงดนตรีฝีมือสุดยอด เพื่อสดุดีผลงานชุด Kind of Blue ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โดยเฉพาะการแสดงที่เฟรฮอฟเฟอร์ แจ๊ส เฟสติวัล ในเดือนมิถุนายน 2009 นั้นถือว่ายอดเยี่ยมไร้เทียมทาน

“สิ่งเดียวที่ผมเสียใจก็คือ ทำไมเหลือแค่ผมคนเดียวที่จะคุยเรื่องนี้ก็ไม่รู้สิ” จิมมีบอก เขารำลึกความหลังถึงไมล์ว่า “ผมชอบเล่นกับไมล์สมาก เราค่อนข้างจะซี้กันทีเดียว ผมเคยไปยิม ถ่ายรูปเขาเต้นฟุตเวิร์ก ซ้อมมวยตามลำพัง” เขาพูดถึงจอห์นไว้ว่า “เขาน่ารักมากเลย อุปนิสัยใจคอของจอห์นไม่ได้ดุเหมือนสำเนียงแซ็กโซโฟนของเขาเลย ผมไม่ค่อยได้คุยกับเขาเท่าไร เพราะโดยมากเขาจะซุ่มซ้อมเป่าแซ็กซะมากกว่า ถึงเขาจะเพิ่งเล่นท่อนโซโล 20 นาทีแล้วลงจากสเตจไปยังห้องแต่งตัว เขาก็ยังไปซ้อมต่ออีก” จิมมีเล่าพลางหัวเราะไปพลาง “นั่นคือความทุ่มเทที่เขาตั้งใจทำ เพื่อให้บรรลุสิ่งพึงประสงค์”

บ็อบ บลูเม็นธัลบอกว่า ก็ไม่ควรมองข้ามบทบาทของจิมมี ค็อบเช่นกัน “ผมคิดว่า จิมมี ค็อบไม่เคยเครดิตอย่างที่เขาควรจะได้จากการเป็นไซด์แมนในอัลบัมนั้นเลยจริงๆ เขาตามฟิลลี โจ โจนส์มาอยู่ในวงของไมล์ส ฟิลลี โจนั้นค่อนข้างจะเป็นมือกลองคุยโตที่มาก่อน เหมือนกับอาร์ต แบล็กกีกับวงเดอะ แจ๊ส แมสเซ็นเจอร์แบบนั้น ในขณะที่จิมมีเป็นนักดนตรีที่วาดรัศมีออราให้กับตัวเองได้อย่างง่ายๆ ได้มากกว่าที่คุณได้ยิน เขาเล่น Kind of Blue ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ผมนึกภาพฟิลลี โจเล่น Kind of Blue ไม่ออกเลย แล้วก็ประสบความสำเร็จขนาดนั้น หรือว่าขยายกลุ่มคนฟังได้กว้างมากขนาดนั้น แต่ไม่ใช่ว่าผมอคติอะไรกับฟิลลี โจ โจนส์นะครับ ผมแค่จะบอกว่า พอถึงเวลาที่จิมมี ค็อบต้องทำ เขาก็ทำได้แบบยกหัวแม่โป้งให้เลย จิมมีให้อารมณ์ที่แตกต่างตอนที่เขาเล่นใน Kind of Blue ซึ่งผมว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อัลบัมประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้”



จิมมีบอกว่า ในขณะที่เขางมหาเหตุผลที่ทำให้อัลบัมชุดนั้นประสบความสำเร็จแบบถล่มทลาย หากแต่กระแสความนิยมที่แพร่หลายออกไปในวงกว้างก็พูดแทนตัวมันเองอยู่แล้ว ซึ่งบ็อบเองก็เห็นด้วย ““คนฝรั่งเศสห้าสิบล้านคนพูดอะไรก็ไม่ผิด (Fifty Million Frenchmen Can’t Be Wrong ชื่อละครเวทีตลกเรื่องหนึ่ง ผลงานการแต่งเพลงของโคล พอร์เตอร์)” ก็คือสิ่งที่พวกเขาพูดกัน ถ้ามีคนตอบสนองมากพอล่ะก็ เราจะปฏิเสธอานุภาพและความยิ่งใหญ่ของมันได้ยังไงกันล่ะ?

“ไมล์ส เดวิสคือคนที่คุณจะก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยกันได้ แล้วก็เฝ้าสังเกตความคิดและความสนใจของเขา ที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ นี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนชัดเจนจุดหนึ่งในการพัฒนาของไมล์ส ประกอบกับเขาเองก็มีวงดนตรีที่มีฝีมือไม่น้อยหน้า และสามารถตอบสนองในสิ่งที่เขาคิดไปในทางเดียวกัน โดยเฉพาะคนคนหนึ่งซึ่งมีคลื่นที่จูนตรงกับไมล์สได้อย่างเหมาเหม็ง คนคนนั้นก็คือ บิล เอแวนส์”

เขายอมรับว่า ไมล์สมีความสามารถพิเศษใน “การเสาะหาเพื่อนร่วมงานที่จะให้แรงบันดาลใจ และร่วมกันทำผลงานกับเขา ไม่ว่าจะเป็นกิล เอแวนส์, บิล เอแวนส์, จอห์น โคลเทรน, เวย์น ชอร์เทอร์, โจ ซาวินัล แล้วก็อีกมากมายหลายคน คล้ายๆ กับดุก เอลลิงตันอยู่กลายๆ ในแง่นี้ บางคนถึงกับตั้งคำถามแรงๆ ว่า ไมล์สควรจะได้รับเครดิตในฐานะผู้ประพันธ์เพลงในอัลบัม Kind of Blue ไปเต็มๆ หรือว่าควรจะเป็นบิล เอแวนส์มากกว่า ซึ่งก็มีคนตั้งคำถามแบบเดียวกันนี้กับดุก เอลลิงตัน “บาร์นีย์ ไบเกิร์ดต่างหากที่เป็นคนประพันธ์เพลง Mood Indigo ไม่ใช่ดุก เอลลิงตัน” หรือ “คูตี วิลเลียมส์ต่างหากที่เขียนเพลง Do Nothing ‘Til You Hear From Me ไม่ใช่เขา” แต่ก็นั่นแหละ ทั้งคูตีและบาร์นีย์คงไม่สามารถสร้างสรรค์งานได้ขนาดนั้น โดยปราศจากดุก ข้อกล่าวหาเหล่านี้เกิดขึ้นหลายครั้งหลายหนกับไมล์ส และนักดนตรีที่ทำงานให้เขา

บางทีบิล เอแวนส์อาจจะคิดเพลงพวกนี้ขึ้นมาได้ หรืออะไรก็ตามที่ใกล้เคียงกัน มีเพลงอย่าง Peace Piece ที่มันคล้ายๆ Flamenco Sketches เขาคิดเพลงที่มันใกล้เคียง แต่ไม่เหมือนเป๊ะ นี่คือการทำงานส่งเสริมซึ่งกันและกันของไมล์สและบิล กับคนอื่นๆ ในวงที่เล่นในแนวเดียวกัน การทำงานแบบนี้ได้ผลอย่างไม่คาดฝันเลยทีเดียว”

บิลอ้างสิทธิในการเป็นคนแต่งเพลง Blue and Green แล้วก็มักจะไม่สบายใจอยู่บ่อยครั้งที่ไม่ได้รับเครดิต แต่ก็เป็นเพียงแค่เรื่องเล็กน้อย ไมล์สเองก็แสดงออกชัดเจนว่า เขารักสไตล์การเล่น และสัมผัสทางดนตรีของบิลมาตลอด และเขาก็ให้บิลได้มีส่วนร่วมเสมอ ทั้งในเวลาที่เขาจะออกอัลบัม หรือให้บิลเล่นในช่วงเด่นๆ ของเพลงอีก ทั้งสองคนนี้สามารถทำผลงานร่วมกันให้ออกมาดีเยี่ยมอย่างไร้ที่ติ

“ผมมั่นใจว่า ไมล์ส เดวิสก็ได้ยินนะ ที่ผมคิดว่า “บิล เอแวนส์มีในสิ่งที่ผมคิด” จริงๆ วินตัน เคลลีก็เก่งครับ แต่เขาได้อย่างอื่นไป บิล เอแวนส์นี่สิที่ได้ในสิ่งที่ผมกำลังมองหาอยู่ ณ ที่นี้ครับ” บ็อบกล่าว

แพ็กเกจซีดีของเลกาซีมีดีวีดีสารคดีเกี่ยวกับเบื้องหลังการทำอัลบัม Kind of Blue ด้วย รวมไปถึงเพลงอื่นๆ ที่ไมล์สได้บันทึกเสียงไว้ทั้งกับวงนี้ ซึ่งเผยให้เห็นถึงภาพมุมกว้าง และฝีมือของพวกเขาว่าเล่นได้ดีขนาดไหน ด้วยประสบการณ์ที่สยายปีกออกไปอย่างในเพลง On Green Dolphin Street, Stella By Starlight และ Fran Dance “ถึงพวกเขาจะไม่ได้เล่นโมดัล แล้วเพลงก็ใช้พื้นฐานการเปลี่ยนคอร์ดปกติธรรมดา หากแต่พวกเขาใส่อารมณ์เพลงที่เหมาะเจาะไปกันได้อย่างไร้ตำหนิกับ Kind of Blue” บ็อบเสริม

ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งปวง บ็อบ นักเขียนและนักวิจารณ์ก็ฟันธงอย่างไม่ลังเลเลยว่า “ถ้าผมต้องไปติดเกาะแล้วต้องเอาซีดีเพลงของไมล์สไปแผนหนึ่งล่ะก็ ผมจะเลือก Sketches of Spain จริงๆ มันก็มีหลายอัลบัมนะครับ แต่ชุดนี้คือชุดที่ผมโปรดปราน ผมว่าผมได้ฟังชุดนี้ก่อน Kind of Blue เสียอีก คือมันออกมาตอนที่ผมกำลังเริ่มฟังเพลงแจ๊สพอดี ผมว่าโดยองค์รวมแล้ว มันคือมาสเตอร์พีซชุดหนึ่งเลยล่ะครับ”

Sketches of Spain ผลงานที่ไมล์สกับบิลต้องการให้ออกมามีกลิ่นอายสแปนิช (ถ้าจะพูดให้ชัดเจน พวกเขาค่อนข้างเจาะจงให้มีกลิ่นดนตรีแอนดาลูเชียน) เป็นผลงานที่ได้รับความนิยมในวงกว้าง และมีสไตล์ดนตรีที่แปลกแยก แม้ว่าไมล์สจะถ่ายทอดถึงความเป็นตัวของตัวเอง ซาวด์ทรัมเป็ตของเขาและอารมณ์เพลงมาเป็นอันดับแรก พวกเขาเชิญกิล เอแวนส์มาจัดการเรื่องการอะเรนจ์เพลงให้ออกมาในแบบที่ไม่มีใคร และไม่มีอะไรที่จะมาเทียบเคียงได้อีก

ไมล์สบอกเอาไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองว่า ดนตรีคือความท้าทาย การจับอารมณ์ที่ใช่ แล้วถ่ายทอดออกมา ทุกอย่างต้องสอดรับกันเป็นเอกภาพ ซึ่งเขาใช้เวลานานกว่าจะเข้าถึง

“มันเป็นอะไรที่พิเศษ” บ็อบบอก “ความคิดที่จะทำอัลบัมออร์เคสตราสำหรับนักโซโล และวงออร์เคสตรา มันไม่ใช่วงบิ๊กแบนด์เลย อีกนัยหนึ่ง คุณอาจจะบอกได้ว่า Miles Ahead และ Porgy and Bess (อัลบัมสองชุดห่อนหน้าที่ไมล์สร่วมงานกับกิล ภายใต้สังกัดโคลัมเบีย) คือผลงานบิ๊กแบนด์ชิ้นโบว์แดง แต่ละแทร็กล้วนมีอัตลักษณ์ ภาคริธึมเล่นจังหวะแจ๊สเกือบตลอด มีการเล่นรับส่งกันในวงด้วย ซึ่งคุณอาจจะเคยได้ฟังงานแบบนี้หากว่าดุก เอลลิงตันเขียนเพลงให้กับไมล์ส ในขณะที่ยังมีตรายี่ห้อกิล เอแวนส์ และไมล์ส เดวิสพะอยู่ และในขณะที่พวกเขาพยายามทำคอนเซ็ปต์อัลบัมอย่างยาว คุณก็ยังจะรู้สึกว่ามันเป็นบิ๊กแบนด์ คอนเซ็ปต์ชั้นดีอยู่นั่นเอง แต่กับ Sketches of Spain ความรู้สึกจะไม่เหลืออยู่อีกเลย

“ผมคิดว่ามันเข้าใกล้ผลงานอย่าง เปียโน คอนแชร์โตของบราห์มส หรืออะไรแบบนั้น มือโซโลจะถูกล้อมรอบด้วยวงออร์เคสตรา ซึ่งวงออร์เคสตราจะไม่ได้ทำหน้าที่แบบภาคเครื่องเป่า และภาคริธึม อะไรแบบนั้น แต่มันก็คือการผสมสี นั่นคือส่วนที่ยอดเยี่ยมของอัลบัมชุดนี้ สำหรับผมแล้วพวกเขาได้พบวัตถุดิบชิ้นงามที่ลงตัวกับเนื้อหา สีสันกลมกลืน แล้วก็ยังแยกเป็นชิ้นเป็นส่วนอีกด้วย จริงๆ คุณวางเสียงโซโลไว้ระหว่างวงออร์เคสตรา อย่างที่พวกนักประพันธ์เพลงคลาสสิกมักจะทำกัน แต่ก็ยังเปิดพื้นที่บางส่วนให้กับการอิมโพรไวส์ที่อยากจะฟังเอาไว้ด้วย ซึ่งมันก็ออกมาเป็นเมโลดีที่ดีเหลือเชื่อจริงๆ”



พอล เทย์เลอร์ นักแซ็กโซโฟนกล่าวถึง Kind of Blue และ Sketches of Spain เอาไว้ว่า “มันคืออัลบัมคลาสสิกของไมล์สที่คุณไม่มีไม่ได้ อัลบัมทั้งสองชุดช่วยสื่อความหมายของซาวด์เนียนๆ ของแจ๊ส และการเป็นมินิมอลิสต์ก็ช่วยให้ผมซึมซับอิทธิพลในการเล่นได้ง่ายขึ้น”

บ็อบตั้งข้อสังเกตว่า ไมล์สไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับดิซซี กิลเลสปีในแง่ของเทคนิกการเล่นทรัมเป็ต อัลบัมอย่าง Sketches of Spain ก็เผยให้เห็นถึงสัญชาตญาณ และจุดสูงสุดแห่งความเป็นศิลปินที่มีแต่ไมล์สเท่านั้นที่ได้เดินมาถึง “ทั้งดนตรี, องค์ประกอบหลายส่วน และทุกๆ สิ่งได้ทำให้ขีดจำกัดต่างๆ ของเขากลายมาเป็นความบริสุทธิ์” เขาตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงหนึ่งของเพลง Solea ไมล์สได้ฆ่าตัวโน้ตทิ้งไปตัวหนึ่ง แล้วเขาก็หยุดเล่น แต่ “พอเขาเริ่มเล่นอีกครั้ง ไม่ได้บอกว่า “หยุดก่อนเถอะ มาเล่นใหม่อีกสักรอบ” เขาก็พึมพำๆ อยู่คนเดียว แล้วก็ให้วงเล่นต่ออีกสองสามวินาที จากนั้นเขาก็โผล่ขึ้นมาอีกครั้งด้วยท่อนมหัศจรรย์ท่อนนี้ สำหรับผมแล้ว นั่นคือชีวิตจริง คือดนตรีที่ดีที่สุด มันเกิดขึ้นเมื่อคนคนหนึ่งพยายามมองหาข้อจำกัดของตัวเอง ซึ่งมันก็เสี่ยงว่าจะเจอหรือไม่ แต่เมื่อเจอแล้วก็ลุกขึ้น เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เขาทำตอนเล่นเพลงนั้น มันเป็นแรงกระตุ้นได้มากครับ”

อัลบัมนี้ได้สร้างชื่อเสียงให้กับไมล์ส นอกเหนือไปจากนักเป่าทรัมเป็ตเพียงอย่างเดียว เขาได้รับการพิจารณาในฐานะเป็น “เสียง” ที่เกือบจะอยู่เหนือเครื่องดนตรีที่ตัวเองเล่นอยู่ เขาไม่ใช่เพียงแค่นักเป่าทรัมเป็ตอีกต่อไปแล้ว

การเข้าห้องอัดบันทึกเสียงผลงานชุดนี้เริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 1959 แต่เซสชันสุดท้ายมาเสร็จเอาในเดือนมีนาคม 1960 ไมล์สและเพื่อนๆ เล่นเซสชันละ 3 ชั่วโมง ทั้งหมด 15 เซสชันในการบันทึกเสียง แล้วก็อีกหลายชั่วโมงในการทำโพสต์ โพรดักชันกับทีโอ มาเซอโร และบิลก็ทำเพลงอยู่ ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ลีเบอร์สันเชื่อในโปรเจ็กต์ของไมล์ส จึงได้ช่วยผลักดันให้ฝันเป็นจริง เพราะว่าการทำงานระยะยาว บวกกับค่าใช้จ่ายมากขนาดนั้นในการทำอัลบัมแจ๊สสักชุดหนึ่ง เป็นไปได้ยากในยุคนั้น

บ็อบกล่าวว่า “ไมล์สคิดว่า แผ่นเสียงแบบลองเพลย์จะช่วยทำให้อะไรๆ เป็นไปได้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการเชื่อมความสัมพันธ์ให้กับคนที่กำลังนั่งฟังแผ่นของเขาอยู่ด้วย ผมว่าคุณเอาฮาร์มอน มิวต์กลับไปเล่น My Funny Valentine กับเขาในปี 1956 ก็ได้ (อัลบัม Cookin’ with Miles Davis Quintet, สังกัดเพรสทีจ) แล้วก็บอก “เอ้า เจ้านี่ล่ะคือเสียงของความรู้สึก” ผมคิดว่ากับ Porgy and Bess ก็เป็นเหมือนที่เขาคิดนะ แต่ Sketches of Spain นี่เรียกว่าประสบความสำเร็จแบบสุดๆ ไปเลย”

แพ็กเกจของเลกาซียังมีเพลงใหม่ๆ บรรจุไว้ด้วย รวมทั้ง Concierto de Aranjuez แบบแสดงสดที่เล่นกันในปี 1961 ที่คาร์เนกี ฮอล (ส่วนหนึ่งจากอัลบัม Miles Davis at Carnegie Hall (2 CDs), สังกัดโคลัมเบีย เลกาซี ปี 1998) นอกจากนั้นยังมีเทคจากเพลงต่างๆ ที่ทางวงซักซ้อมกันก่อนบันทึกเสียงในต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งส่วนท้ายของซีดีเป็นส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับ Sketches of Spain สักเท่าไร และก็ไม่ได้เพิ่มคุณค่าพิเศษให้กับตัวแพ็กเกจชุดนี้มากนัก เพลงอย่าง Maids of Cadiz ซึ่งเอามาจาก Miles Ahead ก็ยังถือว่ามีคุณค่าสมน้ำสมเนื้อในการบรรจุลงอัลบัมอยู่

กุนธอร์ ชูลเลอร์เป็นคนเขียนไลเนอร์ โน้ตให้กับอัลบัมชุดนี้ ถือเป็นไลเนอร์ โน้ตที่คุ้มค่า และเพิ่มมูลค่ากับอัลบัมอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าแฟนเพลงจะเป็นนักดนตรีหรือไม่ก็ตาม

บ็อบบอกว่า “การแสดงที่คาร์เนกี ฮอลนั้นน่าสนใจ เพราะว่าไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงอะเรนจ์เมนต์ดั้งเดิมเท่าไร ผลงาน Sketches of Spain ที่พวกเขาปล่อยออกมานั้นคือ การเล่นหลายเทคที่ถูกนำมาเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน หากเมื่อขึ้นเวทีแสดงสดเมื่อไร พวกเขาก็ต้องเล่นตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่หยุด ผลที่ตามมาก็คือ อาจจะมีบางช่วงบางตอนที่พวกเขาถอดออกจากอัลบัม เวอร์ชัน เพียงแค่เพราะว่ามันไม่โดนใจพวกเขาตอนที่บันทึกเสียงนั่นเอง”

เขาเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า “ผมว่ามันก็ดีนะที่เอาเพลง Maids of Cadiz และ Teo ใส่เข้าไปด้วย มันค่อนข้างจะเชื่อมโยงกันได้หน่อย จริงๆ ผมว่าเอา Maids of Cadiz และ Teo ใส่เข้าไปในซีดีแผ่นแรก แล้วก็วางจำหน่ายแค่อัลบัมแผ่นเดียว ไม่ใช่แผ่นคู่ก็ยังได้ ในไลเนอร์ โน้ตมีกล่าวถึง Blues for Pablo ด้วย แต่ก็ไม่เห็นมีบรรจุไว้ ซึ่งน่าจะดีถ้าจะมีเพลงนี้ในอัลบัมครบรอบ 50 ปี หรือพวกเขาอาจจะตัดแทร็กที่นักดนตรีคุยๆ กันตอนซ้อมออกไปก็ได้ หรือตอนซ้อมออร์เคสตราโดยไม่มีไมล์สอยู่ด้วย อัลบัมนี้เป็นอีกชุดหนึ่งที่ผมมักจะสงสัยสิ่งที่พวกเขาเพิ่มเข้ามาในแผ่นแถม ใน Mingus Ah Um พวกเขาใส่ทั้งอัลบัมมาให้เป็นของแถมแผ่นที่สอง ใน Kind of Blue มีสตูดิโอแทร็ก 4 เพลงที่เล่นโดยวงวงเดียวกัน ซึ่งผมว่ามันเข้ากันมาก ใน Time Out มีเวอร์ชันแสดงสดที่เดฟเล่นอยู่สองเพลง ผมว่ามันก็ดีนะครับ ที่จะแสดงให้เห็นว่ามันเหมาะกับการนำเสนอองค์รวมของเดฟในเวลานั้น หรือพูดอีกนัยหนึ่ง มันก็ประสบความสำเร็จแหละครับ แต่เขาไม่ได้เล่นสดเฉพาะเพลงในอัลบัม แต่ยังมีวัตถุดิบอย่างอื่นอยู่ในหัวอีก แล้วเขาก็มีกึ๋นพอที่จะมิกซ์ทุกอย่างให้ลงตัวสวยงาม”

บ็อบบอกว่า มีอย่างอื่นที่ช่วยเพิ่มความสนเท่ห์ให้กับผลงานชุด Sketches of Spain ของไมล์ส นั่นก็คือปกอัลบัม ซึ่งเรียบง่ายและไม่ค่อยมีใครพูดถึงเท่าไร

“รูปนั้นได้จากตอนที่เขาแอ่นตัวเล่นทรัมเป็ต แล้วก็รูปวัวกระทิง ภาพเงาย้อนแสงเล็กๆ ของเขาภาพนี้กลายมาเป็นเครื่องหมายการค้าไปพักหนึ่งเลย รู้สึกว่าภาพนี้จะถูกใช้ในอัลบัมอื่นๆ ด้วยในช่วงสองสามปีต่อมา ถ้าผมไม่ได้เข้าใจไปเองนะ มันเหมือนกับว่าภาพนี้คือ ความสนเท่ห์ของไมล์สเกิดจากภาพภาพนั้น”

เขาบอกว่า ปกอัลบัมภายใต้สังกัดโคลัมเบียมีรูปเงาเล็กๆ รูปนี้พะไว้ทุกอัลบัม

“ส่วนอัลบัมของเดฟ กับชาร์ลสนั้นเป็นภาพวาดนามธรรม เป็นภาพที่สวยและคุณก็ชอบ ส่วน Sketches of Spain มันเป็นรูปที่สื่อผ่านความหมายชัดเจนถึงดนตรีในอัลบัม รูปภาพมันบ่งบอก แม้แต่รูปนามธรรมก็ยังสื่อความหมายได้”

ท่ามกลางอัลบัมเด่นๆ อย่าง Anatomy of a Murder ของดุก เอลลิงตัน, Shape of Jazz to Come ของออร์เน็ต โคลแมน (สังกัดแอตแลนติก, ปี 1959), Giant Steps โดยจอห์น โคลเทรน และ Everybody Digs Bill Evans ของบิล เอแวนส์ (บันทึกในปี 1958 แต่จำหน่ายในปี 1959) อัลบัมตำนานจากศิลปินเอกเหล่านี้ ก็ได้ทยานสู่ความสำเร็จ ซึ่งพวกเขาก็ใช้เวลาทั้งชีวิต

ทำไมบทเพลงหรือผลงานเหล่านั้น ถึงได้ติดตรึงอยู่ในใจของแฟนเพลงเสมอมา นั่นเป็นเรื่องน่ากังขา แต่คำถามว่า “ทำไม” คงไม่ได้สำคัญไปกว่างานดนตรีที่กล่อมเกลาจิตใจของเรา ซึ่งคงจะเป็นตัวคุณเองที่สามารถจะตอบคำถามเหล่านี้ได้

และแน่นอน ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากว่าไม่มีต้นสังกัด และผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์อันยาวไกล มองเห็นความสามารถ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อมาด้วยฝีมือของศิลปินระดับเพชรน้ำเอกเหล่านี้





 

Create Date : 16 กันยายน 2554
0 comments
Last Update : 16 กันยายน 2554 13:45:19 น.
Counter : 1882 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.