"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
กันยายน 2548
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
29 กันยายน 2548
 
All Blogs
 

Patricia Barber / Live : A Fortnight In France (Bluenote)

มนต์เสน่ห์ของแม่มดแห่งเปียโน

ในขณะที่นอราห์ โจนส์ เลือกจะเป็นเจ้าหญิงล้านนาร้องเพลงพลิ้วไหวให้คนฟังเคลิบเคลิ้ม ไดอานา ครอลเลือกที่จะปรับเปลี่ยนบุคลิกทางดนตรีของตัวเองอย่างเข้มข้นหลังจากได้คู่คิดคู่ชีวิตที่ถูกคนแล้ว

หากจะพูดถึงแพทริเชีย บาร์เบอร์บ้าง เธอน่าจะเป็นคนที่มีความเข้มข้นทางดนตรีมากที่สุดในบรรดานักเปียโนร่วมยุคร่วมสมัยอย่างนี้ ที่อดจะเอาเปรียบเทียบกันไม่ได้เลยก็เพราะว่าพวกเธอเป็นเซียนเปียโนด้วยกันทั้งสามคน ถึงแม้ว่านอราห์ โจนส์จะไม่สำแดงความสามารถในทางเปียโนมากเท่าที่ควร หากเน้นย้ำไปในเรื่องของการเล่นกันเป็นทีมมากกว่า อย่างไรก็ตาม การจัดหมวดหมู่ดนตรีให้กับแพทริเชียนั้นยากยิ่งกว่า ด้วยเพลงที่เธอเขียนเองใหม่เกือบทั้งหมดในผลงานแต่ละอัลบัม และการหยิบยกเพลงป็อปขึ้นมาตีความใหม่ ความที่เธอเป็นทุกอย่างทั้งนักดนตรี นักเขียนเพลง นักร้อง จึงช่วยไม่ได้ที่งานของแพทริเชียแลดูจะมีมิติมากกว่าคนอื่น ซึ่งนั่นก็หมายถึงความยากในการรับฟังอีกระดับหนึ่งเช่นกัน บางขณะดูเธอจะเข้าไปชิดใกล้กับอะวองต์การ์ดเสียเหลือเกิน แต่แล้วเธอก็ถีบตัวเองออกมาจากจุดนั้นเพื่อมายืนอยู่ในพื้นที่ของเพลงร่วมสมัยเท่านั้น นั่นแหละ ความคิดทางดนตรีนั้นไม่มีอะไรแน่นอนเสมอไป กฎเกณฑ์นี้ไม่จำกัดเฉพาะในชีวิตเท่านั้น



แพทริเชีย บาร์เบอร์ นักร้องนักเปียโนสาวใหญ่คนนี้ถือได้ว่าเป็นนักตีความบทเพลงที่ชาญฉลาดคนหนึ่ง ซึ่งถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติและคุณสมบัติ ทั้งยังเป็นคุณสมบัติที่ค่อนข้างจะแตกต่างไปจากของศิลปินคนอื่น น้ำเสียงของแพทริเชียเป็นอัลโตที่ออกจะเย็นชาเล็กน้อย แต่เป็นความเย็นชาที่ไม่เลิศเลอเหมือนกับไดอานา ครอล เพราะสาวใหญ่รายหลังออกจะเย็นชาแบบไม่ติดดินอยู่สักหน่อย แต่กระนั้นก็เป็นคุณสมบัติอันโดดเด่นที่ทำให้เธอยืนหยัดอยู่แถวหน้าได้ตลอดมา เธอไม่พยายามที่จะเป็นอย่างนักร้องแจ๊สคนอื่นๆ หากแต่เลือกที่จะยืนอยู่บนที่ทางของตัวเองมากกว่า ด้วยการเริ่มออกร้องเพลงท่องราตรีที่ชิคาโก อันได้รับคำวิจารณ์จากนักวิจารณ์ท้องถิ่ไปในทางติดลบเสียมากกว่า แต่แพทริเชียไม่เคยเหน็ดเหนื่อยต่องานเล่นดนตรีและร้องเพลงที่เธอรัก

หลังจากที่เธอประสบความสำเร็จได้รับการยอมรับจากการทำงานที่โกลด์ สตาร์ ซาดีน บาร์ เธอได้มาออกอัลบั้มชุดแรกคือ Split ในปี 1989 นั่นคือจุดเริ่มต้นของนักเปียโนสาวใหญ่คนนี้ เมื่อทางต้นสังกัดแจ๊สยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Verve จับเธอมาเซ็นสัญญาและออกอัลบัมที่สอง Distortion Of Love ในปี 1992 งานชุดนี้เป็นงานที่เริ่มสร้างชื่อเสียงให้กับเธอในแง่บวกจากนักวิจารณ์เพลงแจ๊ส อีกทั้งนักฟังก็เริ่มหันมามองสาวจากชิคาโกคนนี้เข้าบ้างแล้ว แต่ด้วยความเป็นศิลปินที่อยู่ในช่วงต้องการการสร้างสรรค์งานอย่างถึงที่สุด ค่ายใหญ่อย่างเวิร์ฟจึงไม่ใช่คำตอบของเธอ

Premonition สังกัดท้องถิ่นเล็กๆ เป็นสถานที่ต่อมาที่แพทริเชียเข้าไปร่วมสังฆกรรมด้วย งานสร้างสรรค์ที่เธอออกในนามเพรโมนิชันได้แก่ Café Blue ในปี 1994 และ Modern Cool ในปี 1998 ซึ่งถือเป็นช่วงที่ห่างกันนานพอสมควร และเมื่อปี 1998 นั่นเองทางค่ายแจ๊สยักษ์อย่าง Bluenote ก็ได้เข้ามาซื้อกิจการเพรโมนิชันไป และขณะเดียวกันก็ช่วยเสริมสร้างจุดแข็งให้กับแพทริเชียต่อไปด้วยการถอยอัลบัม Companion ออกมาในปี 1999 เป็นอีพีคอนเสิร์ตที่น่าติดตามอีกชิ้นหนึ่งของเธอ แล้วก็ยังถือเป็นงานที่ป็อปปูลาร์มากที่สุดในช่วงนั้นของเธอก็ว่าได้

Nightclub ออกมาในปี 2000 แพทริเชียยังคงทำงานสร้างสรรค์ของเธอต่อไปตามที่ปรารถนา พลังของเธอเหลือล้นจริงๆ จึงได้แสดงออกมากับงาน Verse ในปี 2002 ซึ่งเป็นผลงานที่เธอได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวกมาที่สุด จากการที่เป็นงานผสมผสานทางดนตรีแจ๊สและคลาสสิกที่ออกมาลงตัวมากที่สุด และท่วงทำนอง ลีลาภาษาที่สุดจะเป็นกวีของเธอเองด้วย



Live : A Fortnight In France อัลบัมชุดล่าสุดของแพทริเชีย เป็นงานบันทึกการแสดงสดที่เธอไปเล่นที่ฝรั่งเศส มีไนต์คลับ 3 แห่งด้วยกัน คือ L’Arsenal ในเมือง Metz, La Coursive ใน La Rochelle และ La Cigale ในปารีส ถึงแม้ว่าเธอจะเคยมีอัลบัมบันทึกการแสดงสดมาแล้วอย่าง Companion แต่อัลบัมนี้ถือได้ว่าเป็นการแสดงสดของเธอและเพื่อนร่วมวงที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ในแง่ความบันเทิงและเนื้อหาสาระทางดนตรีแจ๊สในส่วนของการอิมโพรไวส์ แพทริเชียพูดถึงการแสดงของเธอที่ประเทศฝรั่งเศสไว้ว่า “ฉันชอบไปฟรองโกฟิล ชอบผู้คนที่นั่น ภาษา อาหาร แล้วก็ไวน์ ฉันรักปารีสมากที่สุด สิ่งหนึ่งที่ฉันชอบในความเป็นฝรั่งเศสก็คือ พวกเขาทานอาหารไม่อิ่มจนเลี่ยน มันเหมือนกับดนตรีของฉันนั่นแหละ ฉันจึงเชื่อว่าเรามีอะไรที่ต้องตาต้องใจกัน”

เพื่อนร่วมวงของแพริเชียคราวนี้ก็ดูจะเป็นเพื่อนเก่าที่ร่วมงานกันมาอยู่แล้ว โดยแพทริเชียเล่นเปียโนและร้อง Neal Alger มือกีตาร์ Michael Arnopol เล่นเบส และ Eric Montzka มือกลอง

ส่วนมากแฟนเพลงจะไม่คิดว่างานแสดงสดจะมีเพลงใหม่อยู่ด้วย แต่คงใช้ไม่ได้กับแพทริเชีย เพราะเธอเพิ่มเพลงใหม่เข้าไปถึง 2 เพลงด้วยกัน เราจะมาว่ากันถึงเพลงใหม่ก่อนก็แล้วกัน

Gotcha เพลงจังหวะกลางๆ ซึ่งเธอเปิดด้วยเนื้อร้องชวนขำๆ อย่าง Did you ever think a piano would fall on your head? ทูนของเพลงนี้ค่อนข้างจะออกมาร่วมสมัย เป็นแนวทางหลักๆ ของเธอเลยทีเดียว เธอเองไม่ได้โชว์ฝีมือเปียโนมากนัก หากคนที่โดดเด่นจะเป็นนีล อัลเกอร์มือกีตาร์มากกว่า เพราะไลน์กีตาร์สอดแซมเข้ามาแทบจะทุกวลี เธอเขียนเพลงนี้ขึ้นหลังจากที่เสร็จจากงานอัลบัม Verse ก่อนที่เธอจะไปเริ่มทำงานเขียนเพลงให้กับกลุ่ม Guggenheim ซึ่งทำงานเกี่ยวกับศิลปะ ตอนนั้นเธอกำลังเขียนเพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทกวีโรมันเรื่อง Metamorphoses ของ Ovid เธอเขียนไว้ว่า “ฉันตื่นเต้นมากที่ได้ทำงานชิ้นนี้ ฉันทำเรื่องเสนอตัวเข้าทำเพลงหลังจากที่ได้ดูละครเวทีดัดแปลงจาก Metamorphoses ที่น่าทึ่งของ Mary Zimmermann ศิลปะย่อมเป็นแรงบันดาลใจศิลปิน”



แนวทางของเครื่องดนตรีในเพลง Gotcha นี้ออกจะเรื่อยๆ ไปเลย ดังนั้นจุดที่จะกระเพื่อมความสนใจของคนฟังจึงอยู่ที่ท่อนอิมโพรไวส์กีตาร์ของนีล ซึ่งเขาเองก็ทำออกมาได้น่าสนใจไม่น้อย โดยเมื่อได้ประกบคู่กับเบสอย่างไมเคิล ก็เลยดูจะเข้าทางกันได้ดี

Whiteworld ดูเหมือนว่าแพทริเชียจะชอบนิยายปรัมปราเรื่อง Metamorphoses ไม่น้อย ดังนั้นเพลง Whiteworld จึงยังวนเวียนอยู่กับเรื่องราวนี้ เนื้อหาเพลงอิงกับบทบาทของตัวละคร “อิดีปุส” ในนิ Metamorphoses ดูเหมือนว่าจะเป็นเพลงที่ทางวงได้แจมกันอย่างครบถ้วนกระบวนความ นีลสอดใส่ไลน์กีตาร์ร็อคเข้าไปผสมผสานกับจังหวะกลองอันรวดเร็วของเอริก บทบาทตีกลองในเพลงนี้ของเอริกน่าจะมีสีสันมากที่สุดในอัลบัมเลยก็ว่าได้ จังหวะขัดมีมาให้ฟังตลอดเพลง แถมด้วยช่วงอิมโพรไวส์กับเพอร์คัสชันน่าจะเป็นช่วงที่สร้างความประทับใจให้กับคนดูมากเลยทีเดียว ส่วนเนื้อหาของเพลงนั้น เธอยังแฝงไปด้วยปรัชญาจักรพรรดินิยมจากที่เห็นได้ในเนื้อเพลง เกี่ยวกับคนขาว, พวกเรา, พวกเขา แล้วก็สงคราม อาจจะดูเป็นการไม่น่าเชื่อสักหน่อยที่เราจะได้เห็นเนื้อหาทำนองนี้เข้ามาโลดแล่นอยู่ในดนตรีแจ๊ส แต่ถือเป็นประสบการณ์ชั้นเยี่ยมในการฟังแจ๊สทีเดียว

มีหลายเพลงในอัลบัมที่แพทริเชียหยิบเอางานเก่าของตัวเองออกมาเล่นสด หนึ่งในนั้นก็คือ Dansons La Gigue! เนื้อเพลงนี้เธอได้นำเอาบทกวีภาษาฝรั่งเศสของ Paul Verlaine กวีในยุคศตวรรษที่ 19 เธอและเพื่อนร่วมวงได้ปรับเปลี่ยนจากแบบเดิมที่อยู่ในอัลบัม Verse โดยเปลี่ยนจังหวะจาก 6 มาเป็น 4 เธอบอกไว้ว่า “ฉันชอบเพลงนี้มาก การเปลี่ยนคอร์ด เพื่อนร่วมวงของฉันก็ชอบเล่นเพลงนี้เหมือนกัน” ส่วนเพลง Pieces ซึ่งมาจาก Verse เหมือนกัน งานนี้นีลก็เหามือนจะได้แสดงฝีมืออีกตามเคย เสียงกีตาร์ของเขาเหมือนกับจากแยกออกเป็นเสี่ยงๆ ตามอย่างชื่อเพลง โดยเฉพาะในช่วงอิมโพรไวส์ที่นีลปล่อยลวดลายออกมาจนหมด ตามต้นฉบับแล้ว นักทรัมเป็ตมากความสามารถอย่าง เดฟ ดักลาส เป็นผู้ปล่อยฝีมือโดยมีนีลนี่แหละแบ็คอัพ หากจะบอกว่าเพลงนี้ใกล้กับคำว่าอะวองต์การ์ดมากที่สุดก็คงจะไม่ผิดนัก สื่อต่างประเทศเปรียบเทียบเพลงนี้ว่าเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของนักดนตรีสาวใหญ่อย่าง Laurie Anderson ที่มีทั้งสไตล์โมเดร์นและมินิมอลิสต์ แพทริเชียบอกว่า “เพลงนี้เราเล่นกันที่ปารีส ที่ซึ่งเราเล่นเพลงของเราให้แปลกและแตกต่างออกไปมากที่สุด” เครื่องเคาะที่แพทริเชียเสริมเข้ามาในเพลงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ Pieces มีสีสันอย่างลึกลับ ซึ่งอาจะจะเป็นการทดแทนเสียงทรัมเป็ตของเดฟที่หายไปก็เป็นได้



Crash เป็นอีกเพลงที่แพทริเชียได้สำแดงให้โลกได้เห็นว่า ทำไมเธอจึงเป็นนักเปียโนแจ๊สหญิงอันดับต้นๆ ได้ ตัวดนตรีฝังไว้ด้วยฟังค์อ่อนๆ คุณอาจจะแพ้ทางเธอเอาได้ง่ายๆ ถ้าได้ฟังเธอโซโลเปียโนในเพลงนี้ ซึ่งอัดกันตั้งแต่กลางเพลงยันท้ายเพลงเลยทีเดียว แต่ก็ยังเป็นเพลงที่มีความเป็นทีมเวิร์คมากพอสมควร เครื่องดนตรีทุกชิ้นเล่นสอดประสานกันอย่างไม่แย่งกันโดดเด่น โดยเฉพาะตัวแพทริเชียเองกับนีล ดูเหมือนว่าจะดวลเครื่องดนตรีกันอย่างเข้าขา

ในส่วนของเพลงคัฟเวอร์ แพทริเชียหยิบเพลงดังอย่าง Laura บัลลาดนุ่มๆ ที่เธอก็สามารถถ่ายทอดออกมาได้ดีตามสไตล์ เฉกเช่นเดียวกับนีลที่ดูจะถ่ายทอดความเหงาออกมาได้ดี Witchcraft ดูจะเป็นเพลงที่ผ่อนคลายมากที่สุดในอัลบัมนี้ก็ว่าได้ นอกจากจะเป็นเพลงสแตนดาร์ดที่ไพเราะอยู่แล้ว แพทริเชียเองก็ไม่ได้เอามาตีความให้ลึกล้ำมากจนเกินไป หากแต่สอดใส่ความสวยงามด้วยฝีมือเปียโนของเธอ และสไตล์แจ๊สง่ายๆ อย่างวงสี่ชิ้นทั่วไป ทำให้ไม่อาจจะละเลยเพลงนี้ไปได้เลย

Norwegian Wood ก็เป็นอีกเพลงที่จะทำให้เราหลงใหลเข้าไปในมนต์สะกดของการอิมโพรไวส์ โดยเครื่องดนตรีทั้งหมด 4 ชิ้นจากวงควอเต็ตของแพทริเชีย อารมณ์ของเพลงนั้นแน่นอนว่าต้องต่างไปจากต้นฉบับเพลงป็อปอย่างของเดอะ บีเทิลส์อยู่แล้ว แต่มันถูกเติมแต้มด้วยเสน่ห์ที่น่าค้นหาในการเรียบเรียงเพลงของเธอเอง กลายมาเป็นมนต์เสน่ห์ของแม่มดแห่งเปียโน

อย่างที่ได้กล่าวไว้แต่ต้นว่าฝีมือของแพทริเชียนั้นไม่ธรรมดา งานของเธอมีมิติลึกลับที่น่าค้นหา น่าติดตามฟัง ไม่ใช่อะวองต์การ์ด ไม่ใช่แทรดิชัน ไม่ยาก และไม่ง่าย ถึงแม้ว่างานสตูดิโอของเธอ (Verse, 2002) จะก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนของงานดนตรีที่เธอเคยทำมา แต่อัลบัมนี้เหมือนการมาพักผ่อนที่ฝรั่งเศส ไม่ได้เป็นการพักผ่อนเพียงแค่นั่งๆ นอนๆ ดูหอไอเฟลหรือชองป์ส เอลีเซ หากเป็นการพักผ่อนที่ค่อนข้างจะจริงจัง เลือกเฟ้นสิ่งที่ต้องการจะแสดงออก ความขลังทางดนตรีของเธอยังคงมีอยู่อย่างครบถ้วน ถึงแม้ว่าบางเพลงอาจจะขาดสีสันในเรื่องของเครื่องดนตรี แต่ในแง่อารมณ์ของการแสดงสด, การอิมโพรไวส์ หรือการตีความบทเพลงของตัวเองใหม่เพื่อการแสดงนั้น แพทริเชียกับเพื่อนร่วมก๊วนทำออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมเธอจึงอยู่หัวแถวของวงการได้

หวังว่ามนต์เสน่ห์ของแม่มดแห่งเปียโนคนนี้จะทำให้คุณตราตรึงอยู่กับดนตรีแจ๊สได้อย่างไม่ยากนัก



Patricia Barber / Live : A Fortnight In France (Bluenote)
Recorded at LaRochelle, Metz and Paris
Tracklisting;
1. Gotcha (Barber)
2. Dansons La Gigue! (Barber)
3. Crash (Barber)
4. Laura (Mercer, Raskin)
5. Pieces (Barber)
6. Blue Prelude (Bishop, Jenkins)
7. Witchcraft (Coleman, Leigh)
8. Norwegian Wood (Lennon, McCrtney)
9. Whiteworld (Barber)
10. Call Me (Fields, Gasso)

Musicians
Patricia Barber : Piano, Vocal
Neal Alger : Guitar
Michael Arnopol : Bass
Eric Montzka : Drums




 

Create Date : 29 กันยายน 2548
2 comments
Last Update : 29 กันยายน 2548 21:48:24 น.
Counter : 1625 Pageviews.

 

เพลงของเธอนี่บันทึกเสียงเยี่ยมจริงๆครับ
แต่ผมว่าเธอเครียดและจริงจังเกินไปสำหรับการฟังอย่างต่อเนื่องทั้งอัลบั้ม.... (เลยมักจะชิงหลับก่อนจบซะทุกทีไป)

 

โดย: winston IP: 61.47.100.68 29 กันยายน 2548 23:51:30 น.  

 

อืม อัลบัมนี้เบาลงเยอะนะคะ อย่างเราเองเจออัลบัม Verse ก็หงายหลังเหมือนกัน 555

 

โดย: nunaggie (nunaggie ) 30 กันยายน 2548 11:20:58 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.