"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
กันยายน 2548
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
27 กันยายน 2548
 
All Blogs
 

Ana Caram หญิงสาวที่ถือกำเนิดมาจากดินแดนแห่งบอสซาโนวา



“ผู้หญิงกับกีตาร์...” อาจจะเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนบางคน เพราะว่าเรามักจะเห็นกีตาร์อยู่ในอุ้งมือของนักดนตรีชายมากกว่า อีกทั้งการเล่นกีตาร์จะทำให้ปลายนิ้วด้าน อันเป็นข้อขัดแย้งในด้านความสวยความงามของผู้หญิง แต่นั่นคงจะไม่ใช่สาเหตุที่เราจะไม่ได้ฟังผู้หญิงเล่นกีตาร์ เพราะไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน มนต์ขลังแห่งเส้นสายลายเสียงก็ไม่เคยจางหายไปสักที

อันนา คาราม หญิงสาวจากแดนคาร์นิวัล

อันนา คาราม เป็นหญิงสาวอีกคนหนึ่งที่หลงใหลในเสียงดนตรี กีตาร์และบอสซา โนวา ห่างไกลออกไปทางใต้ของเซา เปาโล ประมาณ 150 ไมล์จากริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล วันที่ 1 ตุลาคม 1958 อันนาถือกำเนิดขึ้นมาในครอบครัวที่รักดนตรีเป็นที่ยิ่ง ทำให้เธอได้เริ่มเล่นดนตรีหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นฟลู้ต, กีตาร์ หรือร้องเพลง โดยมีดีกรีรับประกันจากมหาวิทยาลัยเซา เปาโล หลังจากนั้น เป้าหมายต่อไปของเธอก็คือการเข้าสู่กรุงริโอนั่นเอง

อันนาได้พบกับอันโตนิโอ คาร์ลอส โฌบิม ราชันย์แห่งบอสซาโนวา สัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ของดนตรีบราซิลเลียนมาร่วม 30 ปี อันเป็นการวิ่งไล่ล่าความฝันในการเป็นนักดนตรีครั้งสำคัญของเธอ

โฌบิมเคยบอกไว้ว่า “อันนามาหาผมที่ริโอ เธอเล่นกีตาร์และร้องเพลงให้ผมฟัง ผมก็สัมผัสได้ประเดี๋ยวนั้นเลยว่า เธอเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์จริงๆ”

แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ อันนาเริ่มสร้างสมชื่อเสียงของตัวเองในประเทศบราซิล ออกทัวร์และอัดแผ่นผลงาน หลังจากการออกทัวร์ที่ประเทศฟินแลนด์ เธอก็ได้ก้าวข้ามน้ำข้ามทะเลมาสู่นิวยอร์ก โดยขณะที่เธอกำลังแสดงคอนเสิร์ตอยู่ที่ซี แจ๊ส เฟสติวัล เธอได้พบกับปาควิโต ดริเวรา เขาให้เกียรติเชิญเธอเข้าร่วมร้องเพลงในวงดนตรีของเขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเขวีซี แจ๊ส เฟสติวัล ที่คาร์เนกี ฮอลทันที

ในค่ำคืนนั้น ตัวแทนจากสังกัดเชสกี เรคคอร์ดส ก็ติดอกติดใจฝีมือการเล่นของเธอ และสรุปผลออกมาด้วยการเซ็นต์สัญญาให้เธอเข้าเป็นศิลปินในสังกัด พร้อมออกอัลบัมแรก Rio After Dark ซึ่งได้รับคำวิจารณ์ในเชิงบวกจากนักวิจารณ์จากค่ายใหญ่ อย่าง Stereophile และ New York Times ทีเดียว



ผลงานชุดที่สอง Amazonia ซึ่งเธอได้ประพันธ์เพลงเองถึง 6 เพลงด้วยกัน ตามด้วยชุดที่สาม The Other Side Of Jobim อัลบัมที่อันนำขึ้นเพื่ออุทิศให้กับวีรบุรุษทางดนตรี และผู้ซึ่งได้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทของเธอด้วย เขาก็คือโฌบิมนั่นเอง เธอได้แซร์จิโอ แอ็ดสาด (สมาชิกวงดูโอ แอ็ดสาด) มาช่วยในส่วนของการอะเรนจ์และอำนวยเพลง ทั้งยังได้รับเกียรติจากโฌบิมมาร่วมร้องด้วย อัลบัมนี้ก็เช่นเคย...ได้รับเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์อย่างดีเยี่ยม อัลบัมอื่นๆ ต่อเนื่องอย่าง Bossa Nova, Maracana ก็ทยอยตามออกมา

Sunflower Time อัลบัมชุดนี้ เธอได้ไปออกกับสังกัดเมอร์คิวรี ซึ่งออกจำหน่ายในญี่ปุ่น จัดจำหน่ายโดยยูนิเวอร์ซัล มิวสิค ส่วนหนึ่งบันทึกเสียงและโปรดิวซ์กันที่ประเทศอังกฤษ โดยมีบลูอีย์ โมนิก หัวหน้าวงของอินค็อกนิโต ศิลปินแนวเอซิดแจ๊สชื่อดังเป็นผู้โปรดิวซ์ให้ อันนากลายเป็นศิลปินบราซิลเลียนที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าที่สุดในญี่ปุ่น และ Postcards From Rio ซึ่งเป็นอัลบัมรวมเพลงของเธอ ก็ได้ออกตามกันมาอย่างต่อเนื่อง



Blue Bossa อันนาจับเอาดนตรีบราซิลเลียน อันเป็นพื้นฐานที่แน่นปึ้กของเธอ มาผสมผสานกับบทเพลงสแตนดาร์ดของอเมริกัน ส่งผลออกมาเป็นงานบอสซาโนวาละมุนละไม อบอวลไปด้วยกลิ่นอายแจ๊ส คลับในยุคเก่าก่อน โดยการตีความในแบบของเธอนี้เป็นสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของอันนาไปเสียแล้ว

Hollywood Rio การปะทะสังสรรค์ของอเมริกันกับบอสซาโนวา



เมื่อเดือนธันวาคม 2547 ห้องอาหารหรูลอร์ดจิมส์ ในโรงแรมโอเรียนเต็ล ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้มีโอกาสสำคัญในการต้อนรับการมาเยือนเมืองไทยของอันนา คาราม โดยมีแฟนเพลงเข้าร่วมฟังตามสมควร เนื่องจากพื้นที่ในการจัดงานค่อนข้างจำกัด ประกอบกับราคาบัตรที่ค่อนข้งสูง จนเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้กลุ่มคนดูจำกัดอยู่เพียงกลุ่มเดียว แต่กระนั้นก็ตาม อันนาก็ยังแสดงอย่างมืออาชีพด้วยน้ำเสียง ฝีมือกีตาร์ และลีลาการเอ็นเตอร์เทนคนดูของเธอ ไม่น่าจะแพ้ศิลปินแนวเดียวกันเลย

เพลงหนึ่งที่น่าประทับใจ If I Were A Bell ที่เธอหยิบมาเล่นเฉยๆ โดยที่ไม่ได้มีอยู่ในอัลบัมใดเลยนั้น ช่างกลับกลายเป็นบทเพลงที่มีการอิมโพรไวส์อย่างถึงพริกถึงขิง สุดที่จะลบเลือนไปจากความทรงจำจริงๆ อาจจะผิดกับการเปิดฟังแผ่นซีดีของเธอเฉยๆ เนื่องจากว่าดนตรีบอสซา โนวานั้นออกจะล่องลอยไปเรื่อยๆ แต่การเติมเต็มด้วยการแสดงแบบนี้ ถือว่าเป็นชูรสชั้นดีให้กับการฟังเพลง

จะว่าไปแล้วดนตรีสไตล์บอสซา โนวาก็เพิ่งจะถือกำเนิดมาได้ไม่นานนัก เมื่อครั้งหนึ่งในปี 1959 จาว กิลแบร์โต นักร้องนักกีตาร์ จากเมืองบาเอีย ได้เริ่มต้นก่อรูปบอสซาโนวาขึ้นในเพลง Chega De Saudade และ Desafinado กับสังกัดโอเดียน จาวได้นำเสนอบทเพลงของเขาผ่านการอะเรนจ์ของชายหนุ่มไฟแรงจากริโอนามว่า โฌบิม ด้วยความที่มีเอกลักษณ์อันหาตัวจับยากของจาว เพราะเสียงของเขานั้นทั้งนุ่มนวล ละเมียดละไม สำเนียงแบบอะโฟร-อินเดียนผ่านทางภาษาโปรตุกีส ในเพลง Desafinado นั้น มีอยู่ประโยคหนึ่งที่กล่าวถึงคำว่า บอสซา โนวา แปลออกมาได้ว่า “…มันคือบอสซา โนวา มันเป็นธรรมชาติอย่างมากๆ...” ซึ่งนั่นคือการถือกำเนิดแนวดนตรีประเภทนี้ขึ้นมาครั้งแรกในโลกใบนี้

อันนาเองก็เป็นคนบราซิลเลียนพูดโปรตุกีสมาแต่กำเนิด จึงถือว่าเกิดมากับดนตรีแนวนี้อย่างแท้จริง และเธอเองก็ยังยึดมั่นอยู่กับมันอย่างไม่เคยคิดจะเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวทางอื่นเสียด้วย เพียงแต่รูปแบบการทำงานของเธอาจจะนำแนวนั้นมาผสานกับแนวนี้ อย่างที่เธอเคยทำมาก่อนหน้ากับอัลบัมอย่าง Blue Bossa อันน่าจะเป็นแนวทางที่เธอจะดำรงไว้ต่อไป เนื่องจากอัลบัมนี้ก็ต่อเนื่องมาจาก Blue Bossa ราวๆ 3 ปีได้ แต่ยังคงความคิดรวบยอดคล้ายเดิมเอาไว้ โดยที่นำเอาบทเพลงอเมริกันป็อปและแจ๊สมา คลุกเคล้ากับเสียงบอสซา จึงถือว่าเธอน่าจะเป็นลูกไม้ของโฌบิม ผู้ซึ่งมีความหวังว่าจะมีใครนำดนตรีบราซิลเลียนเข้าไปแทรกซึมกับวัฒนธรรมอเมริกันได้

เป็นที่น่าแปลกใจเหมือนกันว่าเหตุใดนักดนตรีที่ทำงานในอัลบัมนี้ถึงได้มีน้อยเหลือเกิน ไม่อาจะแน่ใจได้ว่าเป็นเพราะไม่ให้เครดิตหรืออย่างไร แต่จากการอ่านเครดิตบนหน้าปกแล้ว ก็พบแค่ว่ามิเชล เฟรเดนสัน เล่นเองแทบจะทุกอย่าง ยกเว้นเครื่องเป่าเท่านั้นเอง ที่ตกเป็นหน้าที่ของลอว์เรนซ์ เฟลด์แมน แต่ก็เป็นที่น่าอัศจรรย์เหมือนกัน เพราะว่าถ้ามิเชลเล่นอยู่คนเดียว การบันทึกเสียงคงจะต้องทำกันไปทีละแทร็ค จนกว่าจะครบไลน์ทั้งหมด หากแต่อารมณ์การฟังนั้นยังครบถ้วน เป็นธรรมชาติมาก ถึงมากที่สุด มิเชลไม่ใช่มือใหม่ แต่เขาเป็นนักดนตรีที่เคยออกอัลบัมเดี่ยวของตัวเองมาแล้ว โดยใช้ชื่อชุด Jazzis เมื่อราวปี 2001 หากแต่แนวทางส่วนตัวนั้นกลับเป็นแจ๊สที่มีการผสมเสียงอิเล็กโทรนิกเข้าไปด้วย ซึ่งตัวอัลบัมได้รับคำชมจากแฟนเพลงและนักวิจารณ์ตามสมควร

ภาคดนตรีของอัลบัมนี้ค่อนข้างนิ่มนวลเป็นพิเศษ มีภาคเครื่องสายจากการอะเรนจ์ของมิเชลรองรับในทุกๆ เพลง น่าเสียดายก็แต่ไม่ได้ยินเสียงเกากีตาร์จากฝีมือของอันนาเท่านั้น

Here There And Everywhere เป็นเพลงหนึ่งที่ค่อนข้างติดหูง่ายเป็นพิเศษ เพราะว่าไม่ใช่เด่นแต่ภาคเครื่องสายอย่างเดียว แต่ยังได้นำอารมณ์สวิงแบบยุค 50 กลับมาสอดแทรกด้วย เสียงเบสกับเสียงไวบราโฟนและออร์แกนโดดเด่นเป็นพิเศษ มีการล้อคลอไปตลอดเพลง อันนายังสามารถเติมแต่งสีสัน สื่อความเป็นบราซิลเลียนจากเพลงป็อปจ๋าอย่างเพลงนี้ได้อย่างน่าอัศจรรย์

Estate น่าจะพูดถึงเพลงนี้ก่อนเพราะเป็นเพลงเปิดอัลบัม แต่ด้วยความเด่นของ Here There And Everywhere ทำให้อดไม่ได้ที่จะเอ่ยถึงก่อน อย่างไรเสีย Estate ก็ใช่ว่าจะเป็นเพลงที่มองข้ามไปได้ง่ายๆ เมื่อไร ด้วยจังหวะจะโคนและการเรียบเรียงที่ดูฟูฟ่า ในขณะเดียวกันก็นุ่มนวลและรุ่มรวยไปด้วยความอ่อนหวานจากน้ำเสียงของอันนา บวกกับเสียงอัลโตแซ็กของลอว์เรนซ์ ก็ทำให้เพลงนี้โดนใจแฟนเพลงได้ไม่ยาก

Raindrops Keep Falling On My Head เพลงอมตะจากฝีมือการเขียนของคู่หู เบิร์ต บาคาแร็คและฮัล เดวิด หากแต่เป็นการเรียบเรียงและตีความใหม่ออกมาค่อนข่างจะสดใสกว่าเดิมเยอะทีเดียว โดยเฉพาะเสียงเคาะลิ่มเปียโนของมิเชล และเสียงฟลู้ตใสๆ ของลอว์เรนซ์อีกครั้ง เช่นเดียวกับเพลง As Time Goes By ที่รู้สึกว่าความสดใสจะเข้ามาแทนที่ความหม่นหมอง ทั้งๆ ที่เพลงต้นฉบับนั้นออกจะหมองเศร้า นี่คือมนต์เสน่ห์ที่ปฏิเสธไม่ได้ของบอสซาโนวาที่เราได้ค้นพบตลอดการฟังเพลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

อันนายังคงหยิบเอาบทเพลงบราซิลเลียนใส่ไว้ในอัลบัมนี้ด้วยถึง 3 เพลง Linda บอสซาโนวาช้าๆ สัญลักษณ์ของความงามแห่งอีพานีมา เสียงของอันนาถ่ายทอดให้เราได้รู้สึกถึงความนุ่มนวลและอ่อนหวานอย่างสัมผัสได้เลยทีเดียว Tempero Brasileiro หรือ Brazilian Spice เพลงนี้อันนาแสดงให้เราเห็นวิญญาณของนักร้องอย่างแท้จริง อันนอกเหนือไปจากการมีแก้วเสียงที่ดี และการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ อารมณ์ก็คืออีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ เธอแสดงการร้องสแก็ตเล่นเสียงอย่างสนุกสนานไว้เพลงนี้ อาจจะๆม่ค่อยได้เห็นการอิมโพรไวส์จากเธอมากนัก นี่ก็เป็นท่อนหนึ่งที่เธอสร้างอารมณ์จากการอิมโพรไวส์ได้เป็นอย่างดี Pra Voce หรือ For You เพลงหวานๆ ที่น่าจะเป็นที่ชื่นชอบของนักฟังเพลงเช่นเดียวกับ Linda

นอกจากการปรุงรสที่กลมกลืนและคลุกเคล้าให้เข้ากันได้ดีระหว่างแซมบา บราซิลและอเมริกันจากฝีมือของอันนาแล้ว ฝีมือของมิเชลก็เป็นนสิ่งที่ไม่น่าจะมองข้ามเช่นกัน กับความสามารถรอบด้านแบบนี้ เขาคงจะเป็นอีกคนหนึ่งที่มีอนาคตไกล

ดนตรีบอสซา โนวามีเสน่ห์ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว หากแต่อันนา คารามยังสามารถนำมันมาขับขานได้ในหลากหลายรูปแบบ สวนทางกับบางคนที่บอกว่า “เบื่อบอสซา เพราะฟังแล้วจะหลับ” ในแง่หนึ่งอาจจะเป็นอย่างนั้น แต่หากฟังผลงานของคนที่กำเนิดจากดินแดนบอสซา และเข้าใจบอสซาได้อย่างถึงรากถึงโคนอย่างอันนาแล้ว เราเชื่อว่าคำว่า “น่าเบื่อ” น่าจะยังอยู่ห่างไกลเหลือเกินกับผลงาน Hollywood Rio ของเธอ

Ana Caram / Hollywood Rio (Chesky Records)
Musicians
Vocals, guitar : Ana Caram
Saxophones, flute : Lawrence Feldman
All music programs : Michel Freidenson
Arranger : Michel Freidenson
Tracklisting;
1. Estate
2. The Summer Knows
3. Here There And Everywhere
4. I’m Getting Sentimental Over You
5. The Shadow Of Your Smile
6. Raindrops Keep Falling On My Head
7. Linda
8. Tempero Brasileiro
9. Smile
10. As Time Goes By
11. I Will Wait For You
12. Pra Voce
Produced by David Chesky, Michel Freidenson และ Ana Caram
Selected albums
Rio After Dark (1989 Chesky Records)
The Other Side Of Jobim (1992 Chesky Records)
Bossa Nova (1995 Chesky Records)




 

Create Date : 27 กันยายน 2548
5 comments
Last Update : 27 กันยายน 2548 20:57:04 น.
Counter : 1231 Pageviews.

 

เผอิญแวะเข้ามาเยี่ยมชมครับ...bossa nova & samba นี่เป็นเพลงในสไตล์ที่ผมชอบมากที่สุดเลย...อ่านแล้วได้เกร็ดความรู้ในเรื่องศิลปินส์ที่เราชื่นชอบได้รู้อะไรๆอีกหลายอย่าง...ถ้าเขียนถึงศิลปินส์คนอื่นๆในแนวเดียวกันนี้อีก จะคอยติดตามครับ...ไม่ทราบว่าคุณเป็นนักเขียนอย่างเดียวหรือว่าชอบเพลงในแนวนี้จริงจังด้วยเหมือนกัน....ดีครับดี...

 

โดย: tanodom (tanodom ) 16 ตุลาคม 2548 23:07:28 น.  

 

เราเริ่มจากการเป็นคนฟังเพลงก่อน แล้วจากนั้นจึงหาความรู้มาเพิ่มเติม ประกอบกับจบด้านสื่อสารมวลชนมา การเขียนบทความจึงอยู่เป็นสิ่งที่อยู่ในกมลสันดานด้วยค่ะ

 

โดย: nunaggie (nunaggie ) 25 ตุลาคม 2548 21:13:19 น.  

 

ศิลปินบอสซา โนวาเริด ๆ ยังมีอีกนะคะ จุ๋มว่าลิซา โอโน สาวญี่ปุ่นหัวใจบอสซาเพลงเธอก็เริดนะคะ ดนตรีดี เสียงหวานนุ่ม clementine สาวฝรั่งเศสก็อีกคนนึงค่ะ จุ๋มขอแนะนำ

 

โดย: จุ๋ม IP: 58.10.64.222 29 กันยายน 2549 16:20:14 น.  

 

บังคิคถึง

 

โดย: บัง IP: 61.19.150.242 1 มิถุนายน 2550 10:12:48 น.  

 

วนแวะเข้ามาเยี่ยมเยียนอีกครั้ง ขอแวะเอาเพลงของ ana caram ในชุด bossa nova มาเสริมให้เผื่อคนที่ไม่เคยฟังได้เข้าไปรับฟังเพิ่มเติม อยู่ใน คคห.ที่ 30 ตามลิ้งค์ที่ให้ไว้นี้

//topicstock.pantip.com/chalermkrung/topicstock/C3863469/C3863469.html

 

โดย: tanodom 4 สิงหาคม 2550 13:38:37 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.