"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
11 สิงหาคม 2551
 
All Blogs
 

Wish you were here ..... Esbjorn Svensson

ชีวิตต่างบ้านต่างเมืองในยามนี้จะมีอะไรที่ดีไปกว่าดนตรีเล่า? เสียงเปียโนดังแผ่วมาจากเครื่องเล่นแผ่นซีดีที่ตั้งอยู่ข้างเตียงนอน ดูเหมือนว่าสเตอริโอราคาย่อมเยาเครื่องนี้ จะสามารถทำหน้าที่ถ่ายทอดเสียงเพลงผ่านลำโพงโหลๆ ทั้งสองข้างได้เกินกว่าราคาของมัน Tuesday Wonderland เป็นเพลงที่มันกำลังเปล่งเสียงออกมาในตอนนี้ เอื้อมมือหยิบหนังสือพิมพ์แท็บบลอยด์ฉบับเล็กๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแจ๊สทั้งดนตรีและสถานที่ เพื่อมาย้อนกลับมาอ่านข่าวพาดหัวไม่เล็กไม่ใหญ่ ที่เฝ้าอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีกตั้งแต่เมื่อวาน

“ดาวรุ่งวงการดนตรีแจ๊สชาวสวีดิช เอ็บสยอร์น สเว็นสัน ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากการดำน้ำ”



ในอเมริกา เอ็บสยอร์นยังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก เนื่องจากปัญหาการรวมตัวกันของค่ายโซนีกับบีเอ็มจีเมื่อหลายปีก่อน ทำให้เขายังไม่ได้เซ็นต์สัญญาในอเมริกา แต่หากเป็นนักฟังเพลงแถบยุโรปแล้วละก็ เขาเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่ความนิยมชมชอบของนักฟังเพลงรุ่นใหม่ แม้แต่นักฟังเพลงแจ๊สชาวไทยเองก็ตาม ถึงแม้ว่าบ้านเราจะไม่ได้หาซื้อผลงานของเขาได้ง่ายๆ นัก แต่โลกกลมๆ ใบนี้ก็ได้รับการย่นย่อระยะทางให้สั้นลงด้วยสิ่งที่เรียกว่า world wide web ผลงานของเขาจึงเข้าถึงกลุ่มคนฟังได้บ้าง
บางคนคงได้แต่สงสัยไม่รู้หยุดหย่อนว่า ใครๆ ก็ดำน้ำ แล้วทำไมเอ็บสยอร์นต้องจากไปเพราะการดำน้ำ ไม่รู้เหมือนกัน… สิ่งที่รู้เพียงอย่างเดียวในตอนนี้คือ เอ็บสยอร์น สเว็นสัน กลายเป็นนักเปียโนในหน้าประวัติศาสตร์แจ๊สไปแล้ว ย้อนเวลากลับไปสามปีที่แล้ว หลังจากคลิก order สั่งซื้อแผ่นซีดีของเอ็บสยอร์น สเว็นสัน ทริโอ ชุด Viaticum ผ่านทางเว็บไซต์ไปแล้ว ไม่นานนักก็ได้รับพัสดุส่งตรงมาให้ได้ชื่นอกชื่นใจ นั่นเป็นงานชุดแรกที่ได้รู้จักวงดนตรีวงนี้

สายตากวาดไปยังชั้นวางแผ่นซีดีที่ตอนนี้มีผลงานของเอ็บสยอร์นครบทุกอัลบัม ซีดีสิบเอ็ดแผ่น และดีวีดีอีกหนึ่งแผ่น ยังไม่นับรวมบรรดาแผ่นบูตเล็กทั้งหลาย ไฟล์ดาวน์โหลดจากคอนเสิร์ตสารพัดสถานที่ที่แฟนเพลงพันธุ์แท้หามาประเคนให้ถึงหน้าจอคอมพิวเตอร์ เรารู้ว่าพวกเขาไม่ได้ดาวน์โหลดเพลงแต่เพียงถ่ายเดียว หากแต่ไฟล์เพลงคอนเสิร์ตตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลกที่พวกเขานำมาแบ่งปันกันนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อแฟนเพลงของเอ็บสยอร์นทุกๆ คน ถ้าหากเป็นแฟนเพลงเหนียวแน่นของนักดนตรีสักคน คุณก็จะรู้ว่างานบูตเล็กอย่างนี้มันน่าฟังเยี่ยงไร

เอ็บสยอร์น ไม่เคยจำกัดแนวดนตรีของตัวเองว่าเป็นดนตรีแจ๊ส แต่ครั้งหนึ่งเขาเคยพูดว่า “เพลงที่ผมทำอยู่นี่ ถ้าหากจะต้องหาคำนิยามให้มัน ก็น่าจะเป็นแจ๊ส แต่ไม่ใช่แจ๊สแบบที่เคยเป็นมา” วงทริโอของเอ็บสยอร์น (ซึ่งประกอบด้วยตัวเขาเองในตำแหน่งเปียโน, แดน แบร์กลุนด์ ตำแหน่งดับเบิลเบส และแม็กนุส ออสตรอม ตำแหน่งกลอง) ได้รับการขนานนามว่า เป็นปรากฏการณ์ของวงดนตรีสามชิ้น ซึ่งมองตัวเองว่าเป็นวงดนตรีป็อปที่เล่นแจ๊สมาตลอด เป็นวงที่แหวกขนบในการแบ่งความสำคัญต่อสมาชิกในวง ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าวงหรือสมาชิกในทีมก็ตาม แล้วก็ยังเป็นวงดนตรีที่สามารถเข้าร่วมรายชื่อแสดงในเทศกาลดนตรีทั้งๆ ที่งานนั้นๆ เป็นของวงร็อกทั้งสิ้น, เป็นวงที่ใช้ลูกเล่นเรื่องไฟและเครื่องปล่อยควันในการแสดงคอนเสิร์ต, เป็นวงที่ชวนให้แฟนเพลงที่มาชมการแสดงร่วมร้องตามไปด้วยกับเพลงแจ๊สสแตนดาร์ด อาทิ Bemsha Swing ของเธลอเนียส มังก์ สรุปใจความเป็น e.s.t. คงจะเป็นวงดนตรีแจ๊สทริโอที่ก้าวไปไกลกว่าวงดนตรีแจ๊สสามชิ้นตามสูตรทั่วๆ ไป บทเพลงของพวกเขาสามารถจะไปโผล่อยู่ในอันดับเพลงป็อปก็ได้ มิวสิกวิดีโอก็อาจจะไปเล่นอยู่ในคลื่น MTV สแกนดิเนเวีย ด้วยการผสมผสานดนตรีแจ๊สกับดรัมแอนด์เบส, รากของดนตรีอิเล็กทรอนิก, จังหวะแบบฟังก์, ป็อป, ร็อก หรือไม่ก็ดนตรีคลาสสิกแบบยุโรป

e.s.t. ชนะใจกลุ่มคนฟังกวาดไปตั้งแต่แฟนเพลงแจ๊สสแตนดาร์ด ไปจนถึงเด็กแว๊นก๊วนฮิปฮอปด้วย นักวิจารณ์และแฟนเพลงทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกันว่า e.s.t. เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ให้กับวงดนตรีแจ๊สในปัจจุบัน



ด้วยความเปิดกว้าง เป็นอิสระ ใฝ่รู้ และโอกาสอีกเล็กน้อย ที่เป็นส่วนประกอบให้เกิดความเป็นศิลปินในตัวเอ็บสยอร์นขึ้นมาทั้งหมด
“ผมเล่นเปียโน เพราะว่าพวกเราไม่มีเครื่องดนตรีชนิดอื่นอยู่ในบ้านเลย ความจริงแล้วผมอยากจะเล่นกลองมากกว่า อย่างตอนเป็นเด็ก ผมก็เก็บเอาเศษเล็กเศษน้อยจับมาเล่นเอง อยากจะให้เสียงมันออกมาแบบวง Ballroom Blitz ในเพลง Sweet อย่างนั้นน่ะครับ แต่พอแม็กนุสเข้ามาในตำแหน่งกลอง ผมก็ตัดสินใจที่จะเล่นเปียโนดีกว่า แม็กนุสกับผมเติบโตมาด้วยกัน แล้วก็เล่นกันตั้งแต่แรก พอแม็กนุสได้กลองชุดชุดแรกมาครอบครอง เขาก็ยกมาไว้ที่บ้านผม แล้วเราก็เริ่มเล่นกัน เราก็ไม่มีไอเดียหรอกครับว่าเล่นอะไรกันอย่างไร แต่มันก็สนุกมากๆ ครับ แล้วก็คงเป็นเพราะว่าเราไม่ได้มีครูมาสอนว่าต้องเล่นอย่างไร ไม่มีใครคอยมาบอกว่าเล่นอย่างนี้ๆ เราก็เลยสามารถที่จะพัฒนางานเพลงของเราออกมาในแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ทีละเล็กทีละน้อย”

จากช่วงกลางทศวรรษที่ 80 เป็นต้นมา เอ็บสยอร์นและแม็กนุสก็เริ่มสั่งสมประสบการณ์ให้ตัวเองเป็นนักดนตรีไซด์แมนที่น่าจับตาในวงการแจ๊สสวีเดนและเดนมาร์ก ทั้งสองคนฟอร์มวงทริโอวงแรกในปี 1990 จนกระทั่งปี 1993 ที่พวกเขาได้เริ่มต้นทำดนตรีบันทึกเสียงอย่างจริงจัง เพราะว่าเขาได้เจอกับแดน แบร์กลุนด์ ทั้งเอ็บสยอร์นและแม็กนุสก็ตื่นเต้นกันมากในพื้นฐานการเล่นที่แข็งแกร่งและสร้างสรรค์ที่แตกต่างหลากหลายของแดน ทำให้ต้องกล่อมแดนให้มาร่วมวงในที่สุด

ในปี 1993 วง Esbjörn Svensson Trio ก็บันทึกเสียงอัลบัมชุดแรก โดยใช้ชื่อว่า When Everyone has Gone (Dragon) ในปี 1995 บันทึกการแสดงสดภายใต้ชื่อ Mr. & Mrs. Handkerchief (Prophone) ก็ถูกวางจำหน่ายภายในประเทศ แต่หลังจากนั้นหกปี ก็จำหน่ายทั่วโลก โดยใช้ชื่ออัลบัมว่า e.s.t. Live ’95

ในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 วงทริโอวงนี้ก็ได้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองในประเทศสวีเดน และยังได้ข้อตกลงกับค่ายเพลงป็อปชื่อว่า Superstudio Gul / Diesel Music อัลบัมแรกที่พวกเขาทำกับค่ายนี้คือ E.S.T. Plays Monk ออกมาในปีเดียวกัน และขายได้มากกว่าหนึ่งหมื่นก็อปปีในสวีเดน ศิลปินหน้าใหม่มาแรงกลุ่มนี้ก็ตั้งหน้าเก็บกวาดรางวัลทางดนตรีไปด้วย ในปี 1995 และ1996 เอ็บสยอร์นได้รับรางวัลนักดนตรีแจ๊สสวีดิชยอดเยี่ยมแห่งปี พอมาในปี 1998 ได้รับรางวัลประพันธ์เพลงยอดเยี่ยมแห่งปี ในปี 1997 วางจำหน่ายอัลบัม Winter in Venice ผลงานเพลงประพันธ์เองทั้งหมด ก็เรียบร้อยโรงเรียนแกรมมีสวีดิชในที่สุด

ในปี 1999 อัลบัม From Gagarin’s Point of View ถือเป็นอัลบัมแรกที่วางจำหน่ายนอกสแกนดิเนเวีย ผ่านทางต้นสังกัด ACT ออกแสดงคอนเสิร์ตที่เทศกาล JazzBaltica และ Montreux อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นเปิดตัววงหน้าใหม่มาแรงเข้าสู่ตลาดโลกอย่างสมบูรณ์



หนึ่งปีถัดมา Good Morning Susie Soho ออกวางจำหน่ายและได้ฉายา “วงทิโอแห่งปี” จากนิตยสาร Jazzwise ประเทศอังกฤษ e.s.t ออกทัวร์ Rising Stars และเล่นในเทศกาลดนตรีสำคัญๆ ทั่วทวีปยุโรป ในขณะเดียวกัน ค่ายโซนี โคลัมเบียในอเมริกาก็ได้ทำอัลบัม Somewhere Else Before ซึ่งเป็นผลงานที่รวมเอาอัลบัม From Gagarin´s Point of View และ Good Morning Susie Soho ไว้ด้วยกันเพื่อวางจำหน่ายที่ประเทศอเมริกา

Strange Place For Snow เป็นผลงานที่ e.s.t. คลอดออกมาในปี 2002 ก่อนที่จะต้องออกทัวร์เป็นเวลาเก้าเดือนทั่วประเทศในแถบยุโรป รวมไปถึงญี่ปุ่นและอเมริกา ผลงานเพลงในชุดนี้ยังกลายมาเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่อง Dans Ma Peau (In My Skin) กำกับฯ โดยนักแสดงและนักเขียนบทหญิงสัญชาติเดียวกันชื่อ Marina de Van นอกจากนั้นยังได้รับรางวัลทางดนตรีมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น Jahrespreis der Deutschen Schallplattenkritik และ German Jazz Award จากประเทศเยอรมัน รางวัล Choc de l’année และ Victoire du Jazz (เปรียบได้กับแกรมมีของฝรั่งเศส) จากฝรั่งเศสในฐานะวงวงดนตรีต่างประเทศยอดเยี่ยม และรางวัลดาวเด่นของเทศกาล ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษจากเทศกาลมิเด็ม ประเทศฝรั่งเศสเช่นกัน

ในปี 2003 ทางวงออกวางจำหน่ายอัลบัม Seven Days of Falling หลังจากวางจำหน่ายไม่นาน อัลบัมก็ทะยานเข้าสู่อันดับเพลงป็อปชาร์ตของประเทศเยอรมัน, ฝรั่งเศส และสวีเดน (ขึ้นสูงสุดที่อันดับ 15) นอกจากจำหน่ายในยุโรปแล้ว ก็ยังวางที่อเมริกา, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้อีกด้วย พวกเขาออกตระเวณแสดงสดเป็นวงสนับสนุนให้กับ K.D. Lang ทั่วทวีปอเมริกาทั้งในสเตเดียมและคอนเสิร์ต ฮอลขนาดใหญ่ที่จุคนได้เกินห้าหมื่น และมากกว่าแสนคนที่ดูการแสดงของพวกเขาเล่นในระยะเวลาสิบสองเดือนหลังจาก Seven Days of Falling วางตลาด จากการตรากตรำครั้งนี้ e.s.t. ได้รับรางวัล Hans Koller ในฐานะศิลปินยุโรปยอดเยี่ยมแห่งปีในเดือนธันวาคม 2004 เป็นการตอบแทน คะแนนโหวตโดยเซียนจากอุตสาหกรรมเพลงแจ๊สยี่สิบสองคน ในยี่สิบสองประเทศในยุโรป

Viaticum (2005) กลับยิ่งประสบความสำเร็จมากกว่าอัลบัมที่ผ่านมา มันวิ่งทะยานเช้าสู่ 50 อันดับเพลงป็อปในประเทศเยอรมันและฝรั่งเศส ขึ้นสู่ท็อปอันดับที่สี่ที่สวีเดน ทางวงก็ได้ขยายการออกทัวร์ไปทั่วโลกเพื่อสนับสนุนการวางจำหน่ายอัลบัมนี้ อีกทั้งยังได้ปรากฏตัวในงานคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีสำคัญๆ ในยุโรป, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, บราซิล, แคนาดา และอเมริกา e.s.t. ยังได้รับรางวัลโกลด์และแพล็ตตินัม เยอรมัน แจ๊ส อะวอร์ด, รางวัล IAJE และรางวัลแกรมมีสวีดิชอีกด้วย เท่านั้นยังไม่พอ พวกเขายังเป็นวงดนตรีจากแดนยุโรปวงแรกที่ได้ขึ้นปก Downbeat นิตยสารดนตรีแจ๊สที่เก่าแก่ของอเมริกาอีกต่างหาก (ฉบับเดือนพฤษภาคม 2006) ไม่เพียงแค่ในยุโรปเท่านั้นที่ e.s.t. เป็นที่สนใจของเหล่าแฟนคอนเสิร์ต หากแต่ทั่วทุกภูมิภาคเลยก็ว่าได้



สตูดิโออัลบัมล่าสุด Tuesday Wonderland (วางจำหน่ายเมื่อกันยายน 2006) เชื่อมโยงกับอัลบัม Viaticum อย่างเห็นได้ชัด การตีความ Viaticum ก็คือว่าดนตรีเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงที่เราจะนำติดตัวในการเดินทางสู่เส้นทางชีวิตข้างหน้า Tuesday Wonderland เป็นการเดินทางทางจิตวิญญาณของตัวมันเอง ในอันที่จะเปิดโลกใหม่ไปสู่แดนมหัศจรรย์ทางดนตรีของ e.s.t. และในปีที่แล้วนี้เอง Live in Hamburg ผลงานบันทึกการแสดงสดก็ออกมาตอกย้ำความสำเร็จในถนนสายดนตรีของพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง

แต่แล้ว…เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2008 เป็นวันที่เราต้องจารึกไว้ในใจ เมื่อเอ็บสยอร์นได้หายตัวไปในระหว่างการดำน้ำที่อิงแกโร นอกกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เพื่อนๆ ในก๊วนดำน้ำพบร่างของเขาเหยียดยาวหมดสติอยู่ที่ก้นทะเล เขาถูกพาตัวไปโรงพยาบาลมหาวิทยาลับคาโรลินสกาอย่างเร่งด่วนด้วยเฮลิคอปเตอร์ แต่ก็ไม่สามารถที่จะเหนี่ยวรั้งชีวิตของเขาเอาไว้ได้ เอ็บสยอร์นจากไปในขณะที่เขาอายุเพียง 44 ปีเท่านั้นเอง แต่การเดินทางของ e.s.t. ยังไม่จบสิ้นเพียงเท่านี้ เมื่อเอ็บสยอร์นและเพื่อนๆ ได้ฝากผลงานชิ้นสุดท้ายเอาไว้ในชื่อ Leucocyte ซึ่งเตรียมวางจำหน่ายในเดือนกันยายนนี้ การเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด เป็นการเดินทางที่ก้าวไกลไปกว่าชีวิตของคนคนหนึ่ง นั่นคือการเดินทางของดนตรี
RIP 16 เมษายน 1964 – 14 มิถุนายน 2008



Musicians
Esbjörn Svensson - Piano
Dan Berglund - Double Bass
Magnus Oström – Drums

E.S.T. Discography

When Everyone Has Gone (1993)
E.S.T. Live '95 (1995, เคยออกวางจำหน่ายในสวีเดนภายใต้ชื่อ Mr. & Mrs. Handkerchief)
E.S.T. plays Monk (1996)
Winter in Venice (1997)
From Gagarin's Point of View (1999)
Good Morning Susie Soho (2000)
Somewhere Else Before (2001, ผลงานรวมเพลงที่ออกจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา จากสองอัลบัม From Gagarin's Point of View และ Good Morning Susie Soho)
Strange Place for Snow (2002)
Seven Days of Falling (2003)
Live in Stockholm (2003, ฟอร์แม็ต DVD, บันทึกเสียง 10 ธันวาคม 2000 ประกอบด้วยภาพการแสดง, บันทึกการสัมภาษณ์ และอื่นๆ)
Viaticum (2005)
Viaticum Platinum Edition; Viaticum + Live in Berlin (2005, บันทึกเสียง 19 เมษายน 2005)
Tuesday Wonderland (2006)
Live in Hamburg (2007, บันทึกเสียง 22 พฤศจิกายน 2006)
Leucocyte (2008)





 

Create Date : 11 สิงหาคม 2551
1 comments
Last Update : 31 กรกฎาคม 2552 12:13:29 น.
Counter : 1231 Pageviews.

 



น่าเสียดายค่ะ

 

โดย: Big Spender 11 ตุลาคม 2551 6:58:27 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.