"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
เมษายน 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
27 เมษายน 2552
 
All Blogs
 

Keith Jarrett “ผมกำลังทำอะไรอยู่?”





จากการตั้งคำถาม, พินิจพิเคราะห์ และสรรค์สร้างดนตรีอย่างต่อเนื่อง คีธ จาร์เร็ตได้กรุยทางเข้าสู่ Hall of Fame ของเส้นทางสายแจ๊สเส้นนี้แล้วในที่สุด

ในปี 2551 ที่ผ่านไป คีธ จาร์เร็ตได้รับเกียรติในรางวัลฮอลออฟเฟมของ Downbeat นิตยสารดนตรีแจ๊สที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงของอเมริกา หากว่ารางวัลต่างๆ นานาก็หาได้มีความหมายใดๆ มากต่อคีธมากเท่ากับการได้เป็นสมาชิกใหม่ของฮอลออฟเฟม แห่งดาวน์บีทอันสะท้อนความประทับใจลึกๆ ของเขา “ผมอ่านดาวน์บีทตั้งแต่ยังเด็ก รู้ถึงประวัติที่ยาวนานและการหยั่งรากของหนังสือ แล้วก็คนอื่นๆ ที่ผมร่วมงานด้วย” คีธ จาร์เร็ตกล่าว “มันมีความหมายกับผมมากครับ ตราบเท่าที่คนอื่นๆ ยังเห็นคุณค่าผลงานของผม”

คีธ จาร์เร็ตให้สัมภาษณ์จากบ้านพักที่นิวเจอร์ซีย์ สองวันก่อนที่เขาจะเริ่มต้นการซ้อมการแสดงคอนเสิร์ตในชิคาโก กับวงทริโอขาประจำ ประกอบด้วยแกรี พีค็อก (เบส) และแจ็ก ดิจอห์นเน็ต (กลอง) การเตรียมตัวถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับนักเปียโนวัย 63 ปีท่านนี้ เนื่องจากเขาจะต้องควบคุมอาหารอย่างเข้มงวด เพื่อที่จะขจัดอาการเหนื่อยล้าจากอากาศร้อนที่มักจะเป็นอยู่เสมอ อาการป่วยนี้เกือบจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อาชีพของเขาหยุดชะงักลงตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้ว

การออกแสดงคอนเสิร์ตของคีธในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีของวงดนตรีทริโอ ที่เขากับแกรี และแจ็กได้ร่วมสร้างสรรค์ขึ้นมา ทั้งสามคนรวมตัวกันครั้งแรกในเดือนมกราคม ปี 1983 เพื่อเข้าเซสชันบันทึกเสียงในห้องอัดสามวันให้กับสังกัด ECM ซึ่งได้ผลิตอัลบัม Standards (Volume 1 และ 2) และ Changes โดยทั้งสามอัลบัมนี้ได้รับการปัดฝุ่น และนำออกมาจัดจำหน่ายใหม่แบบรวมแพ็กเกจ ใช้ชื่อว่า Setting Standards : New York Sessions ผลงานชุดที่สิบแปดของทั้งสามคน ชื่อว่า My Foolish Heart เป็นบันทึกการแสดงคอนเสิร์ตครั้งสำคัญที่มอนเทอเรย์ แจ๊ส เฟสติวัล เมื่อปี 2001, ต่อมาชุดที่สิบเก้า Yesterdays บันทึกการแสดงจากคอนเสิร์ตปี 2001 เช่นกันที่โตเกียว

ถ้าคีธเล่นเฉพาะกับวงทริโอวงนี้ตลอดยี่สิบห้าปีที่ผ่านมาเพียงวงเดียว เขาก็คงได้เป็นเสาหลักๆ ของหน้าประวัติศาสตร์แจ๊ส แต่ด้วยผลงานในสังกัดอีซีเอ็มที่เขาได้ทำเอาไว้ ยังสยายปีกไปถึงงานประพันธ์ดั้งเดิมของตัวเอง โดยใช้เครื่องดนตรีอย่าง บาโร้ก ออร์แกน, คลาวิคอร์ด, ฮาร์ปซิคอร์ด, สตริง ควอร์เต็ต และทริโอ, การตีความผลงานประพันธ์คีย์บอร์ด สายคลาสสิกของบาค, โมสาร์ต, แฮนเดล, โชสตาคอวิก และอาร์โว ปาร์ต นอกจากนั้นยังมีงานแสดงคอนเสิร์ตเดี่ยวอีกหกชุด (โดยชุดที่เจ็ดมีตารางการออกจำหน่ายในปลายปี 2009) ซึ่งคีธได้สร้างสรรค์โครงสร้างทางดนตรีให้กับผลงานเหล่านี้ด้วยจิตที่ว่างเปล่า เขาเริ่มต้นความท้าทายแบบนี้ด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกในปี 1971 ในขณะที่ยังเป็นลูกวงของไมล์ส เดวิส และได้ใช้เวลาในการบรรลุผลเป็นเวลาสิบสองปีต่อมา ในช่วงยุค 70 คีธยังได้ทำวงและผลงานหนังสือดนตรีกับวงสี่ชิ้นสองวง คือ เดอะ ยูโรเปียน ควอร์เต็ต ซึ่งอยู่ในการดูแลส่งเสริมของแมนเฟร็ด ไอเคอร์ โดยการรวบรวมนักดนตรีสแกนดิเนเวียน อย่าง ยาน การ์บารเร็ก, พาล ดาเนียลสัน และจอน คริสเตนเซน อีกวงหนึ่งก็คือ วง ดิ อเมริกัน ควอร์เต็ต ซึ่งคีธได้ฟอร์มวง และเลือกดิวอี เรดแมนใส่เอาไว้ในสุดยอดวงทริโอช่วงยุค 70 ของเขา ร่วมกับชาร์ลี ฮาเดน และพอล โมเชียน

ผลงานคอนเสิร์ตเดี่ยวสร้างให้คีธได้มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ แต่ความนิยมข้ามสายพันธุ์ทำให้ความได้รับความยกย่องนับถือในกลุ่มนักดนตรี บรรดานักเปียโนสายแจ๊สและคลาสสิกต่างยกให้เขาขึ้นหิ้งด้วยเหตุผลหลากหลายประการ แมนเฟร็ดเองก็ยกย่องคีธเอาไว้ถึงเรื่อง “เฟรสซิง, สัมผัส และคุณภาพในการเล่นซัสเพ็นชัน เปียโน, การเล่นรูบาโต และอิทธิพลที่ได้รับมาจากคีตกวีอย่าง โชแปงและเดอบุสซี ซึ่งผมฟังมาตั้งแต่ยังเด็กในฐานะคนยุโรป”



แล้วก็ยังมีความเก่งกาจในเรื่องจังหวะสัมผัสและทักษะที่กว้างไกลในเรื่องเมโลดี ซึ่งแสดงถึงลักษณะพิเศษในการอิมโพไวส์ของคีธ และการเคลื่อนนิ้วที่ไร้จุดตำหนิ อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าผลงานที่เป็นคงอยู่ของคีธ จาร์เร็ตสู่สำเนียงแจ๊สวันนี้เป็นการหาญกล้าเปิดโลกทัศน์ทางเปียโน หรือเป็นการสยายปีกกลวิธีการประพันธ์เพลงมากกว่า ซึ่งเขาเตรียมเอาไว้สำหรับวงควอร์เต็ต ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีอย่าง โจ โลวาโน, แบรนฟอร์ด มาร์ซาลิส, เคิร์ต โรเซนวิงเคิล และโรเบิร์ต แกลสเปอร์ ต่างก็บอกเอาไว้ว่า เป็นสิ่งสำคัญต่อหนทางไปสู่ดนตรีในแบบที่พวกเขาคิด

“ผมไม่รู้สึกนะ” คีธบอก “แต่เหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้อยู่อย่างหนึ่งก็คือ วงควอร์เต็ตมันเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะเฉพาะตัวบุคคล ผมต้องคำนึงถึงทุกๆ อย่างที่เกี่ยวเนื่องกับเพื่อนร่วมวง ในตอนที่ผมเขียนเพลง อย่างเช่น ดิวอีไม่ชอบเล่นคอร์ด หรือว่าอย่างในชุด Luminescence ที่ผมนั่งขบคิดถึงวิธีการเล่นของยาน อะไรแบบไมเนอร์ เซ็กคันด์ แล้วก็ลงมาเธิร์ด แล้วก็กลับไปเซ็กคันด์แล้วก็กลับมาเธิร์ดอีก ทีนี้มันก็เลยกลายเป็นออฟคีย์ไปละครับ พอเรามาซ้อมกัน ผมก็เล่นท่อนนี้ของเขาผ่านทางเปียโน เขาบอกว่า “ผมเล่นแพตเทิร์นนี้เหรอ?” ผมก็บอกเขาว่า “ใช่ คุณเล่นแบบนี้ตลอดล่ะ”

หากว่ามองย้อนกลับไปยังพื้นฐานวัยเด็กของคีธแล้ว เราคงเข้าใจภาพการเล่นของเขาในตอนนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะเขาเคยปฏิเสธการเข้าเรียนเปียโนกับกูรูอย่าง นาเดีย บูลองเช

“ผมรอที่จะเรียนเปียโนกับนาเดีย” คีธเล่าเรื่องราวย้อนหลัง “ผมยังหาเหตุผลไม่ได้เลยว่าทำไมผมถึงบอกปฏิเสธ แต่ผมมักจะมีสัญาชาตญาณในการเข้าใจตัวเองเสมอว่าผมเป็นใคร หูผมจะนำพาผมไป ไม่ว่าดนตรีของผมจะสื่อสารอะไรออกมา มันก็ไม่ใช่เพียงแค่แจ๊สอย่างเดียว บางครั้งอาจจะจำแนกประเภทไม่ได้ด้วยซ้ำ การหลอมรวมคือสิ่งที่เป็นตัวผมมาตลอด บางคนอาจจะบอกว่า “โอเค ซาวด์นี้เหมาะกับซาวด์นี้” ผมก็อาจจะเชื่อเขานะ และก็อาจจะไม่ได้ทดลองซาวด์แปลกๆ ใหม่ๆ ที่แตกต่าง ถ้าคุณได้วางแผนทำอะไรสักอย่าง แล้วแผนนั้นมันเปลี่ยนไม่ได้ ถ้าเป็นแผนที่ มันก็ดีใช่ไหมครับ แต่ถ้าเรื่องดนตรี ผมว่าไม่นะ”

มีอยู่ทางหนึ่งที่จะรักษางานให้สดใหม่เสมอ คีธบอกเอาไว้ว่า “ก็คือการดึงเอากลไกของเปียโนออกมาจากสิ่งอื่นๆ ทั้งหมด เพื่อให้เราได้เข้าใกล้ชิดมันมากที่สุด” ช่วงแรกๆ เขามุ่งมั่นกับการศึกษาวงดนตรีที่ไม่มีเปียโนอย่าง วงของออร์เน็ต โคลแมน, เจอร์รี มัลลิแกน และนักเปียโนนอกธรรมเนียมอย่าง เธลอเนียส มังค์ (“ผมคงเรียกวงของเธลอเนียสว่าเป็นวงไร้เปียโน เขาไม่ได้เล่นคอมพิงตลอด แต่ตอนที่เขาเล่น มันเหมือนคอมพิงแบบออร์เคสตรายังไงยังงั้น และอีกอย่างหนึ่ง การโซโลของเขา ผมว่ามันไม่ใช่แนวนักเปียโนเลย”) และพอล เบลย์

“ผมมักจะสนใจคนที่เปิดหูรับฟังอยู่เสมอๆ” เขาบอก “มันเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับคุณภาพของเสียงที่นักดนตรีเติมแต่งในจินตนาการ นักเปียโนสายแจ๊สไม่ค่อยได้ใส่ใจเรื่องทัช ผมโชคดีที่ได้เริ่มเล่นเปียโนคลาสสิกก่อน แล้วก็ยังโชคดี หรือว่าฉลาด ที่ยังคงเล่นเพลงโมสาร์ตอยู่อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ผมได้เล่นทริโอกับแจ็กและแกรี เพราะว่าดนตรีของโมสาร์ตต้องการสัมผัสที่ประณีต ซึ่งผมไม่เคยได้พัฒนาจุดนี้ จนกระทั่งได้มาเล่นเพลงโมสาร์ต สักห้าปีเจ็ดปีก่อนได้ ตั้งแต่นั้นมาการเล่นเพลงบัลลาดของผมก็เริ่มรู้สึกว่าเข้าใกล้กับที่ผมได้ยินมากขึ้น”

คีธ จาร์เร็ตเป็นคนให้ความเห็นเอาไว้เอง ถึงการสำรวจวงทริโอ สแตนดาร์ดและวงทริโอจิตอิสระวงก่อนหน้าที่เขาเล่นกับชาร์ลี ฮาเดน และพอล โมเชียน ยืนต้านทานกับกระแสกาลเวลาด้วยเนื้อหาทางดนตรีที่พวกเขาเล่นออกมา “เราอยู่ตรงกึ่งกลางของยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงนั้น” เขากล่าวอ้างอิงถึงวงทริโอกับพอลและชาร์ลี “ตอนนี้นักเล่นแนวอิสระไม่เล่นตามทฤษฎี หรือไม่งั้นก็อาจจะเล่นเครื่องมือของตัวเองไม่ได้ แต่พวกเขาก็ส่งอิทธิพลต่อคนอื่นๆ เพราะว่าได้ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่เต็มใจอยากจะทำ ถ้าเราอยากจะเล่นสวิง เราก็เล่นได้ ถ้าเราไม่อยากเล่น เราก็ไม่เล่น

“คืนหนึ่งที่วิลเลจ แวนการ์ด แม็กซ์ กอร์ดอนบอกกับผมว่า “คีธ ถ้าพวกนายเล่นสวิง คนดูก็จะเยอะมากกว่านี้อีกนะ”” เขาเล่าต่อ “ผมก็บอกเขาว่า “แม็กซ์ มันต้องใช้เวลาล่ะ แต่เราเชื่อว่าคนจะเข้ามา เพราะเรากำลังเล่นในสิ่งที่เราคิดว่าเราควรจะเล่น” ผมรู้ได้ยังไงเหรอ? ถ้าคุณเดินตามสัญชาตญาณของตัวเอง สิ่งที่คุณพูดออกมา คุณยังแทบไม่รู้ตัวเลย จำไม่ได้ “ตายละ ฉันยังไม่รู้เลยว่าฉันจะกินข้าวมื้อต่อไปเมื่อไร” ผมไม่อยากจะมาวุ่นวายกับเรื่องเส็งเคร็งของคนอื่นๆ รวมทั้งของตัวผมเองด้วย เพราะฉะนั้นผมก็เลยจะไม่ออมแรงใดๆ ผมจะไม่ปราณีแม้แต่กับตัวเอง ถ้าผมสามารถเขียนเพลงที่หาทางออกได้แตกต่างจากทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วผมยังรู้สึกแนบชิดกับมันอยู่ ผมถือว่าผมประสบความสำเร็จ”



ถึงแม้ว่าคีธจะไม่ได้เล่นผลงานประพันธ์ดั้งเดิมของตัวเองเลยกับวงทริโอ สแตนดาร์ดเป็นเวลาเกือบยี่สิบปี เขาถือว่าวงทริโอวงนี้เพิ่งจะได้สร้างความแตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมที่เคยทำกันมาในการตีความเพลงสแตนดาร์ดเก่าๆ โดยการนำเสนอชุดการอิมโพรไวส์เป็นเซ็ต ในการแสดงคอนเสิร์ต ซึ่งสามารถไปฟังได้ในอัลบัม Inside Out และ Always Let Me Go จากปี 2001 อันกลายมาเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวอย่างต่อเนื่อง

“เราพยายามยึดเหนี่ยวสิ่งที่มีคุณค่าอันนี้เอาไว้” คีธกล่าวต่อ “ถ้าผมคิดถึงสิ่งที่มีคุณค่า สิ่งนั้นก็น่าจะเป็นเรื่องที่ว่า ไมล์ส เดวิสทำอย่างไรถึงได้จู่โจมจังหวะใส่ทรัมเป็ตอย่างนั้นได้ ตอนที่เราทำอัลบัมคล้ายๆ กับอัลบัมอุทิศให้ไมล์ส Bye Bye Blackbird สองสัปดาห์หลังจากที่ไมล์สเสียชีวิต ผมบอกแจ็กกับแกรีว่า “เราจะไม่ทำอัลบัมอุทิศกัน แต่ไอเดียผมคือเล่นเหมือนกับว่าเราเป็นไมล์ส” ในการเล่นเพลงสแตนดาร์ด เราพยายามถอดเอาบุคลิกของเราออกมาจากบทเพลง เพื่อที่จะเสาะหาสถานที่ที่ยังไม่มีคนได้ไปกันมากนัก เราไม่ค่อยได้เห็นนักดนตรีรุ่นใหม่ๆ เล่นสวิงกันเท่าไร พลังงานไม่ได้ใช้ยังมีอีกเยอะ”

จากการเป็นนักดนตรีตระเวณแสดงในช่วงวัยรุ่นตอนกลางของคีธ เขาได้ออกสู่สายตาของสาธารณะก่อนที่อายุจะครบ 21 ปี ในเดือนเมษายน 1966 ในการทัวร์ข้ามประเทศ กับวงของอาร์ต เบล็กกี ในอัลบัม Buttercorn Lady จากนั้นเขาก็เข้าสู่วงของชาร์ลส ลอยด์ ควอร์เต็ตอันมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ในช่วงนี้เขาได้ศึกษาการเขียนดนตรีเชิงปรัชญาของเกอร์ดิเจฟ และเริ่มนำเอาความสนใจเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการทำดนตรีเฉกเช่นเดียวกับการทำดนตรีป็อปร่วมสมัย

“มันมีส่วนผสมใหญ่ๆ อยู่ในช่วงยุค 60-70 ที่เราหาไม่ได้ในตอนนี้” คีธเล่าต่อถึงโครงการล้มเหลวที่เขาเคยเกือบได้ทำกับจิมมี เอ็นดริกซ์และแจนิส จ็อพลิน กับเพื่อน “ผมจะมวนบุหรี่ให้พวกเขา แต่ไม่เล่นยา ผมไม่จำเป็นต้องใช้ยา”

“เราอาจจะเรียกยุคสมัยนี้ว่าเป็น “ยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร” ก็ได้นะ แต่ผมคิดว่ามันเส็งเคร็งทั้งนั้นล่ะ อะไรคือข้อมูลเหรอครับ? มันจะมีคุณค่าอะไรถ้ามันไม่ใช่ข้อมูลของอะไรบางอย่างที่ต้องเกาะติด? ในอนาคต ผมทำนายไว้เลยว่า คนฟังเพลงจะคิดกันไปว่าดนตรีเท่าเทียมกันหมด ไม่มีอะไรดี ไม่มีอะไรเลว”

คีธยังได้แสดงความรู้สึกเชิงลบเกี่ยวกับตำนานดนตรีร่วมสมัยของตัวเขาเอง “ผลกระทบของรุ่นผมควรจะมีมากกว่านี้ เพราะว่านักดนตรีรุ่นนี้เก่งๆ กันหลายคน แต่อย่างไรก็ตาม ฟิวชันก็ได้เปลี่ยนวิถีของพวกเขาไป นักคีย์บอร์ดต่างก็ไปหลงชอบเครื่องดนตรีอิเล็กทริก แล้วก็ไม่เคยหันหลังกลับมาอีกเลย สิ่งเหล่านี้เป็นการตัดสินใจทางรสนิยม จะมาทำเล่นๆ ไม่ได้ เหมือนนักวาดภาพโยนพู่กันทิ้ง บอกว่า “เออ อยากจะได้พวกนี้บ้าง” แต่พวกเขาพูดเป็นเสียงเดียวกัน บอกว่า “เออ ไม่เอาดีกว่า ฉันอยากจะได้พู่กันเก่าคืนแล้ว” แต่ขอโทษครับ พู่กันเก่ามันลงถังขยะไปแล้ว”

คีธได้สะบัดปลายนิ้วอย่างน่าประทับใจในฐานะนักดนตรีอิเล็กทริกกับไมล์ส เดวิส ในช่วงยุค 70 และปี 71 “มีการเข้าใจกันไปว่าอันนี้เป็นงานชั่วคราว ที่ผมไม่ได้จะจริงจังอะไรกับทิศทางของดนตรีอิเล็กทริก” คีธเล่าต่อ “เรามีความรู้สึกกันว่า ผมน่าจะเป็นส่วนร่วมของปรากฏการณ์นี้ ราวๆ ปี 1967 ไมล์สได้นำวงดนตรีทั้งวงไปที่คลับเล็กๆ ชั้นใต้ดินในปารีส ที่ซึ่งผมเล่นกับอัลโด โรเมโน และเจ เอฟ เจนนี-คลาร์ก ต่อมาในภายหลัง เขาก็จะไปที่นั่นเป็นระยะๆ เพื่อมาฟังวงทริโอที่ผมเล่นกับชาร์ลีและพอล พอผมเดินผ่านโต๊ะเขา เขาก็บอกว่า “เมื่อไรจะมาเล่นกับวงผม?” พอผมเล่นจบ เขาก็บอกว่า “คีธ! คุณเล่นเครื่องดนตรีผิดชนิดแล้ว” แล้วผมจะพูดอะไรได้? ดังนั้นความเห็นของผมเกี่ยวกับเครื่องเป่ากับเสียงร้อง เขาก็ได้ยินไปแล้ว แม้ว่าเราจะเล่นเพลงประหลาดกันขนาดนี้ แล้วก็ยังมีอีกสองครั้ง เขาถามผมว่า “คุณเล่นได้ยังไงไม่มีการเรียบเรียง?” ผมตอบสั้นๆ ว่า “ผมไม่รู้หรอก ผมแค่เล่นไป”

“ทันทีที่ผมได้ยินวงที่ประกอบด้วยเวย์น, เฮอร์บี, รอน และโทนี ที่เดอะ วิลเลจ เกต ไมล์สก็เล่นท่อนโซโลสั้นๆ ที่แสนสวยงาม เขามักเล่นท่อนโซโลสั้นๆ เสมอ แล้วลูกวงที่เหลือก็จะเล่นโซโลยาว” เขาร่ายต่อ “เขาเดินลงจากเวที, ไปที่บาร์, ดื่มน้ำ, ยืนอยู่ตรงนั้นพักใหญ่ แล้วก็เดินขึ้นเวทีไปเล่นเพลงต่อ ผมได้ยินมาว่านี่เป็นกิจกรรมของเขาอย่างนี้ในทุกๆ เพลง และผมก็คิดว่า “ผมอยากจะช่วยเขาบ้างนะ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน” ตอนที่ผมเข้าร่วมเล่น วงของไมล์สกำลังแปรสู่ความเป็นอิเล็กทริก ผมก็ยังไม่รู้ว่าหน้าที่ของผมจะมีอะไรบ้าง สิ่งที่เขาต้องการจากตำแหน่งคีย์บอร์ดก็คือ คนที่มีความสามารถท้าทายและสนุกสนาน ผมก็เล่นออกมาได้ตามนั้นครับ เมื่อวงเริ่มเล่น ไมล์สยืนอยู่บนเวทีตลอดเวลา แล้วก็รอเล่นท่อนของตัวเอง ผมก็ทำให้เขาได้สนุกอยู่พักหนึ่ง”



ความรังเกียจที่คีธมีต่อเครื่องดนตรีอะคูสติกปลอมๆ (ที่ยังเสียบปลั๊กอยู่ แต่บอกว่าเป็นอะคูสติก) คือหนึ่งในสาเหตุที่เขาแทบไม่ได้บันทึกเสียงในสตูดิโอเลยในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา “ผมเกลียดสตูดิโอ” ผมกล่าวเรียบๆ “แล้วอีกอย่าง สิ่งที่ผมเล่นก็เป็นสิ่งที่เล่นให้สาธารณชนฟังในสถานที่ว่างๆ”

การแสดงสดทำให้คนฟังได้จดจ่ออยู่กับดนตรีของเขาง่ายขึ้นหรือไม่? “ผมว่ามันไม่ยากครับที่จะจดจ่อในสถานการณ์อย่างนั้น อย่างไรก็ตาม ผมมีความรู้สึกว่าก็ยังมีคนฟังที่ยังพร้อมจะเปิดรับเสมอในสิ่งที่กำลังจะได้ยิน ไม่ใช่ว่ามีเพียงแค่ผมลำพัง”

“เขาเคยชอบบันทึกเสียสตูดิโอมาก” ความคิดเห็นของแมนเฟร็ด ผู้ซึ่งประณีต ละเอียดลออกับผลงาน และเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของค่ายอีซีเอ็ม “ผลงานชุด Belonging และอื่นๆ ที่เราทำในสตูดิโอก็ยอดเยี่ยมทั้งนั้นในเรื่องของซาวด์และบาลานซ์ อันยากจะทำได้ในการแสดงสด ภายหลังกับการทำงานทริโอ มันก็พัดพลิ้วไปในทิศทางอื่น คีธเองต้องการปฏิกริยาตอบสนองจากคนฟัง ซึ่งสิ่งนี้ก็ยากที่จะทำได้จากการทำงานในสตูดิโอเหมือนกัน”

ช่วงความคลุมเครือในแนวโน้มในวงของไมล์ส ที่จะเดินตรงไปข้างหน้า ไม่มีการย้อนหลัง ร่องรอยการเดินทางของคีธเดินไปเป็นวงกลม เนื่องด้วยเขาสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ให้กับตัวเอง ด้วยการย้อนหลังกลับไป, ปรับปรุงเนื้อหา และกลั่นกรองวัตถุดิบก่อนหน้าที่เขาได้ค้นพบมาเป็นช่วงๆ พิจารณาผลงานของเขาในยุค 2000 ในงานโซโลเดี่ยวเช่น The Carnegie Hall Concert จากปี 2006, Radiance จากคอนเสิร์ตในโอซากาและโตเกียวปี 2002 ซาวด์ที่ออกมาแตกต่างกันขนาดไหนถ้าเทียบกับ La Scala จากปี 1997

“แมนเฟร็ดกับผมคุยกันเรื่องการทำอัลบัมโซโลในสตูดิโอ ผมก็อยากทำอยู่” คีธเล่า “เดิมที ผมก็สงสัยเรื่องกระบวนการทำงาน เท่าที่ผมรู้ ยังไม่เคยมีใครสำรวจดู บางทีหลังจาก Facing You ผมไปเล่นคอนเสิร์ตในเทศกาลที่ฮิเดลเบิร์ก ต่อจากฟรีดดริก กุลดา ผมเริ่มเล่นเพลงโดยไม่ได้หยุด ต่อเพลงไปอีกเพลง แล้วมันก็มีท่อนส่ง ซึ่งในที่สุดผมก็หมดเวลาไปหลายนาทีในการเล่นท่อนส่งนั้น ทำให้ผมได้คิดขึ้นมาว่า ท่อนส่งมันต้องมีความหมายอะไรสักอย่างในตัวของมันเอง นำพาให้ผมได้ไปลงลึกในรายละเอียด ผมเองก็ยังไม่พร้อมต่อการค้นพบในครั้งนั้นเท่าไรนัก อีกหกถึงเจ็ดปีต่อมาที่ผมได้กลายมาเป็นนักดนตรีที่มีความสามารถพอที่จะใช้มือทั้งสองเล่นออกมาได้ดีในสถานการณ์นั้นๆ ดังนั้น ไม่ว่าจะกี่ปีที่ผมได้ใช้ไปในการสำรวจ ก็ถือว่าทำไปในฐานะของนักเล่นผู้น้อยที่ได้ทำให้ผมกลายมาเป็นผมยามเล่นดนตรีในตอนนี้”

“ตอนที่ผมไม่สบาย ถึงได้มีโอกาสในการสรุปรวบยอดงานของตัวเอง” เขาล่าต่อ “ผมฟังงานโซโลแล้วก็คิดว่า “เรากำลังทำอะไรอยู่นี่? โน้ตตรงนี้เยอะเกินไป ถ้าเราได้เล่นอีกครั้ง ไม่ล่ะ เราไม่เล่นอย่างนี้ ไม่เล่นอย่างนั้นแน่ๆ” ผมตระหนักว่าหากสามารถย้อนเวลากลับไปได้ ก็คงจะเล่นให้แตกต่างจากที่เคยได้เล่น ตอนนี้เมื่อคุณได้นั่งลงตรงหน้าเครื่องดนตรีที่มี 88 คีย์ กับสองมือคู่เดิม และพยายามที่จะย้อนกลับไปแก้สิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นมาในระยะเวลาสองทศวรรษ ทำในสิ่งที่คุณคิดว่าคุณเข้าใจมันมาตลอด มันเป็นประสบการณ์ประหลาดที่ต้องผ่านมา อย่างไรก็ตามความประหลาดใจก็กินเวลาแค่ชั่วเสี้ยววินาที และคุณก็เริ่มตระหนัก “โอ้ ถ้าเรามีพละกำลังพอที่จะกลับไปเริ่มต้นตรงนั้นใหม่แล้วล่ะก็ อย่างน้อยเราก็รู้ล่ะว่าต้องเริ่มต้นตรงไหน””

คีธ จาร์เร็ตยังคงมีตารางงานที่แน่นขนัด ทำให้การพูดคุยจบลงก่อนที่เขาจะต้องไปบำบัด CFS และรับประทานอาหารเย็น “ถ้าผมเป็นศิลปินที่แตกต่างไปจากนี้ ผมว่าผมก็คงใช้วัตถุดิบที่คิดขึ้นเอง” เขาทิ้งท้าย “ผมก็คงไม่ตั้งหน้าตั้งตาหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งไปเห็นแบ็กสเตจของเฮอร์บี แฮนค็อกที่ไหนสักแห่ง ตอนที่เขากำลังเริ่มจะจริงจังกับการเข้าสู่ยุคอิเล็กทริก แทนที่จะได้คุยกัน เขาก็พูดว่า “ว้าว นายได้ยินเสียงสายนี่ไหม? ไอ้อันนี้ที่ต่อนี่เข้ากับนี่ตรงนั้นน่ะ?” ผมก็บอกว่า “เฮอร์บี… อย่า เราไม่อยากคุยเรื่องสาย เราเกลียดสายพวกนี้บนเวทีจริงๆ”







 

Create Date : 27 เมษายน 2552
1 comments
Last Update : 31 กรกฎาคม 2552 12:10:31 น.
Counter : 2095 Pageviews.

 

กรี๊ดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดดด

ตะก่อนนึกว่าเค้าเป็นคนดำด้วยซ้ำ มารู้ทีหลังว่าขาว ฟัง "somewhere before" เยอะสุดแล้ว ^^

 

โดย: prunelle la belle femme 28 เมษายน 2552 4:16:56 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.