กรกฏาคม 2555

5
8
9
10
11
13
14
15
16
17
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
ต้อนรับสมาชิกหุ่นกระป๋องหน้าใหม่ แนวทางการใช้งานเบื้องต้น แล้วคุณจะไม่งงกับแอนดรอยด์
ผมขอแนะนำสูตรเด็ดในการเริ่มทำความเข้าใจอุปกรณ์คู่กายให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  "เพื่อนๆที่มีอุปกรณ์แอนดรอยด์อยู่ในมือควรต้องเริ่มทำความเข้าใจจากข้อมูลภายในไปสู่ภายนอกครับ"

  อย่าเพิ่งเปิดรับข้อมูลภายนอก อย่าเพิ่งสงสัยกับศัพท์เฉพาะที่เคยได้ยินมา และอย่าเพิ่งอยากจะทำโน้นทำนี้ทุกๆอย่างตั้งแต่เริ่มทำความเข้าใจกับตัวเครื่อง เพราะมันจะเพิ่มความสับสนและวุ่นวายในการเรียงละดับความเข้าใจ   เริ่มจากภายในอุปกรณ์ของตนเองก่อนครับ ตั้งแต่ตัวเครื่องเราชื่อรุ่นอะไร เปิดปิดอย่างไร และมีปุ่มกดใดให้ใช้งานบ้าง 

เพราะแต่ละอุปกรณ์ของแอนดรอยด์แตกต่างกันตั้งแต่ปุ่มคำสั่งภายนอกของตัวเครื่อง โดยหลักแล้วสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์นอกจากจะมีปุ่มเปิดปิดเครื่องและปุ่มเพิ่มเสียงลดเสียง ก็จะมีปุ่มมาตราฐานอยู่ 4 ปุ่มด้วยกันที่เป็นตัวสั่งงานหลักๆ ของสมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ ได้แก่

-ปุ่ม Back หรือปุ่มย้อนกลับ เป็นปุ่มสำคัญที่หลักการทำงานเป็นไปตามชื่อ เมื่อต้องการย้อนการกระทำของการทำงานไปก่อนหน้านี้หนึ่งเสต็ป ให้เรากดปุ่มนี้ และเป็นปุ่มสำคัญในการใช้ปิดโปรแกรมการทำงานบนสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ เพราะการออกจากตัวแอพพลิเคชั่นที่ทำงานอยู่ต้องออกโดยวิธีการกดปุ่มย้อนกลับไปจนแอพพลิเคชั่นนั้นปิดตัวลงไป จะถือว่าเป็นการออกจากแอพได้ถูกวิธี

-ปุ่ม Home คิดอะไรไม่ออกบอกปุ่มโฮม ทุกเมื่อที่ต้องการจะกลับมาเริ่มต้นการใช้งานใหม่ที่หน้าจอแสตนบายก็กดได้ทันที ไม่ว่าจะอยู๋ในหน้าจอของการทำงานใด ตัวเครื่องก็จะกลับออกมาอยู่ในหน้าโฮมทุกครั้ง แต่จงจำไว้ว่าการออกจากแอพพลิเคชั่นที่ทำงานอยู๋ด้วยปุ่มโฮม เป็นการพักการทำงานของแอพพลิเคชั่นนั้นไว้เบื้องหลัง ไม่ใช่เป็นการปิด การออกจากแอพพลิเคชั่นหรือเกมด้วยปุ่มโฮมซ้ำๆ หลายๆโปรแกรม จะเป็นที่มาของอาการ ค้าง แลค เพราะเนื่องจากมีแอพพลิเคชั่นที่กำลังทำงานอยู่เบื้องหลังมากเกินไป

-ปุ่ม Menu ทุกคำสั่งที่ไม่ได้อยู่บนหน้าจอก็มักจะอยู่ภายในปุ่มคำสั่งนี้ การตั้งค่า, ตัวเลือก, ความสามารถเพิ่มเติม, ETC เป็นปุ่มที่ควรจะศึกษาไว้ให้มากที่สุด ในแต่ละการทำงาน ปุ่มเมนูก็จะมีชุดคำสั่งที่แตกต่างออกไป หาอะไรไม่เจอก็ลองเข้าไปหาดูภายในปุ่มคำสั่งนี้ครับ

-ปุ่ม Recent app เป็นปุ่มที่เรียกรายชื่อแอพพลิเคชั่นที่เราเคยเรียกใช้งานย้อนหลัง ก่อนนี้เรียกแอพฯอะไรมาใช้ รายชื่อก็จะเรียงขึ้นมาตามการใช้งานก่อนหลัง ประโยชน์เพื่อการสลับใช้แอพพลิเคชั่นได้อย่างสะดวกรวดเร็ว


 นี่คือปุ่มมาตราฐานที่สำคัญของระบบ OS Android แต่!! ไม่ได้หมายถึงทุกอุปกรณ์แอนดรอยด์จะมีมาให้ครบทั้งสี่ปุ่มในทุกๆอุปกรณ์นะครับ มันอาจจะโดนซ่อนหรือย้ายตำแหน่งไปยังที่อื่น เช่น ในตระกูลสมาร์ทโฟน Galaxy จาก Samsung มักจะไม่มีปุ่ม Recent app โดยเฉพาะ แต่จะใช้การกดปุ่ม"โฮม" ค้างไว้เป็นการทดแทนปุ่มคำสั่ง Recent app นั้นเอง หรือบางรุ่นอย่างเช่นเครื่อง HTC ซีรี่ย์ ONE จะไม่มีปุ่มเมนูบนตัวเครื่อง แต่จะออกแบบให้ปุ่มเมนูไปปรากฏอยู่ภายในหน้าจอโทรศัพท์แทน เป็นต้น

ก่อนจะเริ่มใช้งาน เราควรรู้ก่อนว่าตัวเครื่องของเรานั้น ปุ่มใดมีหน้าที่ในการทำงานในส่วนใด บางคำสั่งในการใช้งานมีการใช้ปุ่มร่วมกันสองปุ่มเช่น การเซฟภาพหน้าจอที่มักจะใช้ปุ่มปิดเครื่องกับปุ่มลดเสียงกดพร้อมกันเพื่อเซฟภาพจากหน้าจอเป็นต้น รวมถึงการกดปุ่มพาวเวอร์ค้างไว้เพื่อปิดเครื่องในกรณีเมื่อเครื่องเราเกิดอาการค้างและไม่รับคำสั่งใดๆ






จากเรื่องภายนอก ก็เริ่มมาทำความเข้าใจในการใช้งานภายในเครื่องกันครับ 

ก่อนอื่นขอแนะนำให้รู้จักกันก่อนกับแอพพลิเคชั่นแรกที่คุณจะใช้งานเมื่อได้เครื่องแอนดรอยด์มานั้นคือ "Launcher" บางคนสงสัยว่ามันคืออะไร ? 
 "Launcher"ก็คือทุกๆอย่างที่คุณกำลังสั่งงานเครื่องอยู่นั้นแหละครับ ที่ๆคุณเห็นสิ่งต่างๆที่มันวางอยู่บนหน้าจอ นั้นก็คือมันกำลังวางอยู่บน Launcher นั้นเอง ที่คุณรูดหน้าจอไปทางซ้าย รูดไปทางขวา กดปุ่มเมนู กดปุ่มโฮม ทุกอย่างที่ทำตามคำสั้งคุณอยู่ นั้นคือแอพพลิเคชั่นตัวนึงของแอนดรอยด์ที่เราเรียกกันว่า "Launcher" ซึ่งโดยปกติมันต้องมีติดเครื่องมาให้อย่างน้อยๆก็หนึ่งตัว เพื่อที่คุณจะได้ใช้งานต่างๆได้ตามปกติ ต่างยี่ห้อก็ให้ Launcher มาต่างกัน เป็นที่มาของคำถามว่า ทำไมเป็นสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์เหมือนกัน แต่หน้าตาการใช้งานกลับแตกต่างกัน นั้นก็เพราะเขาใช้ Launcher คนละตัวกัน เครื่อง Sony ใช้ Launcher Timescape / HTC ใช้ Launcher Sense / Samsung ใช้ Launcher Touchwiz ซึ่งแต่ละตัวส่งผลถึงความแตกต่างในการใช้งานกันอย่างสิ้นเชิง แยกกันเป็นเอกเทศเรียกว่าหาความไม่เหมือนกันได้มากมาย 

 เมื่อ Launcher แต่ละตัวส่งผลในการทำงานที่ต่างกันอย่างมหาศาล บางครั้งเมื่อการใช้งานใน Launcher ตัวเดิมๆไม่พึงพอใจ เราก็สามารถเปลี่ยนหาตัวใหม่มาใช้ได้ครับ เพราะมันเป็นเพียงแค่แอพพลิเคชั่นหนึ่งในการเลือกใช้งานของระบบแอนดรอยด์ แต่ตอนนี้ขอแนะนำให้รู้จักก่อนครับ ส่วนจะไปหาตัวอื่นมาใช้งานยังไง ไม่ยากเลยครับแต่จะขอพูดในลำดับถัดไป

 ที่ต้องพูดถึง Launcher เพราะจะบอกว่านี่เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญในการใช้งานครับ เราต้องเรียนรู้วิธีใช้งานเจ้าแอพฯตัวนี้ก่อนใครเพื่อน เพราะมันเป็นแอพพลิเคชั่นหลัก  ทุกๆเรื่องจะเริ่มต้นจากแอพ Launcher นี้นี่แหละครับ






     รูปแบบหน้าตา Launcher ของแอนดรอยด์จะไม่มีอะไรตายตัวเลยครับ มีตั้งแต่แบบคุ้นตาไปจนถึงแอพ launcher ที่ดูไม่ออกเลยว่ามันทำงานยังไง มีแบบที่ทำออกมาเลียนแบบ iPhone ทำเลียนแบบเครื่อง Windowsphone หรือทำเหมือนเครื่อง windows บนPC ไปจนถึง launcher ที่ไม่มีรูปแบบไม่มีหน้าโฮม ไม่มีหน้าการทำงานหลักเลยก็มีครับ แต่นั้นเป็นเรื่องที่เพื่อนๆต้องไปทำความเข้าใจการใช้งานเองถ้าเลือกจะใช้ Launcherแบบแปลกๆ ผมจะขอพูดถึงแอพพลิเคชั่น Launcher ที่มีพื้นฐานธรรมดาๆตามสไตล์นิยมของแอนดรอยด์ก่อนครับ


ตามสไตล์ดั้งเดิมของ Launcher แอนดรอยด์ส่วนใหญ่ที่ติดเครื่องมาจะประกอบด้วยหน้าการใช้งาน 3ชั้นครับ


ชั้นแรก คือ "หน้าโฮม"

  จุดเริ่มต้นของทุกการทำงาน เป็นหน้าหลักที่เปรียบเสมือนโต๊ะทำงานครับ โดยปกติจะว่างเปล่า (แต่ทางผู้ผลิตมักจะเอา Widget และ icon app มาวางไว้เพื่อความสวยงาม) หน้าโฮมที่เป็นเหมือนโต๊ะทำงานของเรานี่ สามารถนำสิ่งที่ต้องการมาจัดวางไว้เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเรียกใช้งานครับ โดยสิ่งที่จะเอามาวางไว้ได้นั้นหลักๆก็จะมีเป็น

-Icon app ไอคอนเรียกใช้งานของแอพพลิเคชั่นที่เราใช้กันบ่อยๆ 

- Shortcut  ตัวเรียกใช้งานด่วน โดยทั่วไปก็จะเป็นรายชื่อที่เราต้องการโทรบ่อยๆ แค่กดไปที่  Shortcut หน้าจอครั้งเดียวก็เป็นการโทรหาหมายเลขนั้นทันที หรือเป็น Bookmarkของเวปที่เราต้องเข้าบ่อยๆ แค่กดที่  Shortcut ตัวนั้น โปรแกรมเว็บบราวเซอร์ก็จะทำการเปิดหน้าเพจนั้นทันที

-Widget นี่คือไม้ตายและจุดเด่นของระบบแอนดรอยด์ครับ จะอธิบายแบบกว้างๆ มันก็คือมินิโปรแกรมที่ทำงานอยู่บนหน้าโฮม โดยเราไม่ต้องไปเปิดแอพพลิเคชั่นใดๆก่อน เช่น Widget ของ Twitter ก็จะเป็นหน้าต่างที่แสดงข้อความทวีตร์ได้เลยบนหน้าโฮมแค่เปิดจอก็สามารถอ่านทวีตได้ทันที หรือจะเป็น Widget ของแอพฯเล่นเพลง ที่เราสามารถสั่งงานการเล่นเพลงได้ตั้งแต่หน้าโฮมโดยไม่ต้องเข้าแอพก่อน ยังมีเป็น widget ที่ทำงานในรูปแบบอื่นๆอีกเช่น widget กรอบภาพ ที่เราสามารถตั้งให้ widget ตัวนั้นแสดงภาพสไลด์โชว์บนหน้าโฮม หรือจะเป็น Widget ในลักษณะปุ่มเปิดปิดการใช้งานฟังชั่นบางอย่าง เช่นการเปิดปิดแสงไฟหน้าจอ การเปิดปิด Wi-FI เป็นสวิทช์ เปิดปิดที่อยู๋บนหน้าจอนั้นเอง  และยังมีอีกหลากหลายอย่างมากมายที่แล้วแต่ผู้ออกแบบแอพพลิเคชั่นนั้นจะออกแบบมาให้ใช้งานในแบบใด ทั้งสารพัดประโยชน์และสวยงามครับ

   ส่วนวิธีที่เราจะนำเจ้าพวก  Icon app,  Shortcut  หรือ Widget มาวางหน้าจอนั้น โดยส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นวิธีพื้นฐานในการทัชหน้าจอบริเวณที่ว่างค้างไว้ แล้วตัว launcher ก็จะขึ้นคำสั่งการเลือกเพิ่มสิ่งที่ต้องการลงบนหน้าจอครับ หรือการกดปุ่มเมนูก็มักจะมีคำสั่งการเพิ่มสิ่งเหล่านี้ไว้บนหน้าจอด้วยครับ

   ส่วนหลังจากการวาง Icon app,  Shortcut , Widget ลงไปบนหน้าจอแล้ว จะทำการลบหรือย้ายตำแหน่ง ก็แค่ทัชค้างไปบนตัวที่เราต้องการ ลบหรือย้าย ถ้าต้องการลบก็ลากไปลงไอคอนถังขยะ ถ้าต้องการย้ายตำแหน่งก็ลากไปยังตำแหน่งที่ต้องการ หรือถ้าต้องการย้ายไปยังหน้าโฮมถัดไปก็ทัชค้างแล้วลากมายังขอบจอด้านซ้ายหรือขวารอสักครู่ หน้าโฮมก็จะเปลี่ยนไปอีกหน้า เราก็ทำการวางลงไปยังตำแหน่งที่ต้องการได้เลยครับ 

   และในบาง launcher จะรองรับการย่อขยายขนาดและรูปทรงของ Widget บนหน้าจอได้ด้วยครับ เพื่อเวลาเราทำการตกแต่งหน้าจอจะได้ลงตัวได้มากขึ้น

   ในบาง Launcher จะรองรับการเพิ่มจำนวนหน้าโฮมหรือลดจำนวนหน้าโฮมได้ โดยการกดปุ่มเมนู หรือการใช้นิ้วสองนิ้วทัชลงไปบนหน้าจอแล้วรูดเข้าหากันในบาง launcher จะเป็นการโชว์หน้าโฮมทั้งหมดที่มี จะลบหรือเพิ่มหน้าโฮมก็สามารถทำได้ในหน้านี้ครับ (บาง launcher ไม่สามารถลดหรือเพิ่มหน้าโฮมได้เช่น Launcher Timescape ของ SONY)

      ส่วน Icon app,  Shortcut , หรือ Widget เราจะหามาจากที่ไหน ?  คำตอบก็คือมันจะมาพร้อมกับแอพพลิเคชั่นที่เราทำการ install ลงเครื่องหรือแอพที่มีอยู่แล้วภายในเครื่องนั้นเองครับ (บาง widget จะมาพร้อม Launcher ถ้าเราทำการเปลี่ยน launcher Widgetเหล่านั้นก็จะไม่สามารถเรียกข้าม launcher มาใช้งานได้)






ชั้นสองก็คือหน้า "Notify page"

    เราจะสังเกตด้านบนหน้าจอของหน้าโฮมสกรีนจะมีแถบสีดำที่แสดงรายละเอียดของ แบตเตอรี่ สัญญาณโทรศัพท์ นาฬิกา และเป็นแถบการแจ้งเตือนสายไม่ได้รับ ข้อความเข้า หรือการแจ้งเตือนของการทำงานทุกๆอย่างในตัวเครื่อง ศูนย์รวมการแสดงสถานะนี่เราเรียกว่า "Status bar" ครับ โดยเราสามารถเลื่อนดึงแถบ status bar ลงมาเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ซึ่งในหน้าที่เราดึงลงมาจะเรียกว่า "Notify page" 

   โดยในหน้า Notify page จะมีการแสดงรายละเอียดหลายๆอย่างตามแต่การออกแบบมาให้จากทางผู้ผลิต บางรุ่นอาจจะเป็นหน้าว่างๆ บางรุ่นอาจจะมีสวิทช์เปิดปิดการทำงานบางอย่างของเครื่อง 

   เมื่อมีการเตือนจากแอพพลิเคชั่นบางตัวบน status bar ในหน้า Notify page จะแสดงถึงรายละเอียดการเตือนนั้นๆ เพิ่มเติมครับ เราสามารถทัชไปที่รายละเอียดการเตือนนั้นเพื่อเข้าสู่แอพพลิเคชั่นหลักที่ทำการเตือนมาได้โดยตรงครับ      

   รวมถึงแอพพลิเคชั่นบางตัวจะสามารถทำงานอยู่ในหน้าของ   Notify page ได้อีกด้วย โดยส่วนใหญ่จะเป็นแอพที่คอยแสดงรายละเอียดของการทำงานบางอย่างตามแต่ประเภทและความสามารถของแอพนั้นๆ เช่นแอพเล่นเพลงจะแสดงตัวควบคุมไว้ในหน้า Notify page หรือแอพแสดงปริมาณแบตบางตัวก็จะแสดงรายละเอียดเพิ่มเติมในหน้านี้เช่นกัน





ชั้นสามคือหน้า  "App drawer"

 หน้า App drawer ก็คือหน้ารวมรายชื่อแอพพลิเคชั่นทั้งหมดที่เครื่องเรามี โดยการเข้าหน้านี้สามารถเข้าได้จากช็อตคัทไอคอนจากหน้าโฮมสกรีน
   ใครที่เคยเห็นหน้าจอ iPhone เป็นอย่างไรหน้า "App drawer"ก็เป็นเช่นนั้น ครับ ไอคอนเรียงกันเป็นแถวๆ โดยปกติผมเองไม่ค่อยได้ใช้หน้า App drawer นี้หรอกครับ เพราะอะไรที่ใช้ก็มักจะลากไปวางหน้าโฮมหมดแล้ว(วิธีการลากไอคอนแอพฯไปวางหน้าโฮม ทำได้ด้วยวิธีทัชบนไอคอนค้างไว้ จะสามารถลากออกไปวางได้ครับ) 

 หลักๆของ หน้าการใช้งาน launcher ก็จะมีประมาณนี่ครับ ในส่วนของลูกเล่นและรายละเอียดเพื่อนๆต้องค่อยๆทำการศึกษาและลองใช้เพิ่มเติมครับ เราก็จะสามารถเรียนรู้การใช้งานส่วนใหญ่ในเรื่องพื้นฐานได้แล้ว




     หลังจากที่เราเรียนรู้การใช้งานในส่วนนอกของแอนดรอยด์แล้ว ต่อไปเราก็จะเริ่มทำความเข้าใจภายใน โดยจะเริ่มในส่วนของการตั้งค่าตัวเครื่องครับ

 จะรู้จักเครื่องเราว่าทำอะไรได้มากแค่ไหนก็จากภายในการตั้งค่านี่เป็นสำคัญครับ ฟังชั่นและฟีเจอร์ต่างๆมักจะมีการตั้งค่าอยู่ภายในนี้ 

  โดยวิธีเข้าการตั้งค่าเราก็แค่กดปุ่มเมนูในหน้าโฮม หรือบางรุ่นคำสั่งเข้าการตั้งค่าอาจจะอยู่ที่หน้า Notify page ครับ  หลังจากเข้าสู่การตั้งค่าแล้ว ไล่ทำความเข้าใจไปทีละหัวข้อ อะไรเปิดปิดอะไร ส่วนไหนไม่รู้มันคืออะไรค่อยมาถามคนที่รู้ไปทีละเรื่อง มันจะทำให้เราเข้าใจการทำงานมันได้แบบง่ายๆครับ เพราะการตั้งค่าส่วนใหญ่เข้าใจถึงการทำงานมันไม่ยากครับ






              สิ่งสุดท้ายที่จะเป็นการแนะนำการใช้งานพื้นฐานก็คือ แอพพลิเคชั่นภายในเครื่องครับ เราควรจะดูก่อนกว่าภายในเครื่องของเราทางผู้ผลิตมีการเตรียมแอพพลิเคชั่นใช้งานด้านใดมาให้เราไว้บ้าง แต่ละแอพฯมีประโยชน์ในการทำงานด้านใด

โดยปกติแล้ว ในระบบแอนดรอยด์ เมื่อมีไฟล์ใดที่เราต้องการใช้และมีแอพพลิเคชั่นที่รองรับในการใช้งานไฟล์ประเภทนั้น แอพนั้นก็จะทำงานขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องระบุแยกว่าไฟล์ข้อมูลต้องไปเก็บไว้ที่ไหน ใช้กับแอพฯอะไร มันเข้าถึงกันได้หมดครับ 

      ถ้าเราเริ่มทำความเข้าใจศักยภาพเครื่องในปัจจุปันได้แล้วว่า มีสิง่ใด ขาดสิ่งใด และเราไม่พอใจการทำงานของแอพพลิเคชั่นใด ก็ถึงเวลาที่เราจะมองหาแอพพลิเคชั่นใช้งานเพิ่มเติมได้แล้วครับ

       โดยการหาแอพพลิเคชั่นมาใช้เพิ่มเติมนั้น เราหาได้จาก "Play Store" ครับ ซึ่งจะมีเป็นแอพพลิเคชั่นภายในเครื่องสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ครับ

      ส่วนการใช้งาน "Play Store" แค่เพียงเราเชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ต แล้วเข้าแอพฯ play store แล้วทำการล็อคอินด้วย id และ รหัสผ่าน Gmail ที่เรามี (ถ้าไม่มีสามารถสมัครได้ผ่านหน้าแอพเลย) เท่านี้เราก็สามารถเข้าไปโหลดแอพฯมาใช้งานได้แล้วครับ

 โดยภายใน play store จะแยกแอพออกเป็นหมวดหมู่ แอพไหนไม่แจ้งราคาคือโหลดใช้ฟรี ส่วนแอพไหนมีราคา เราต้องมีบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตที่อนุญาติให้สามารถทำการซื้อของอนไลน์ได้ ในการสั่งซื้อครับ หลังการสั่งซื้อไม่พอใจ กลับเข้าหน้าเดิมเพื่อขอเงินคืนได้ภายใน 15 นาทีครับผม ส่วนในการอัพเดทแอพฯในภายภาคหน้า ให้เข้ามายัง playstore อีกครั้ง และกดปุ่มเมนู จะมีหัวข้อ "แอปส์ของฉัน" เมื่อเข้าไปแล้ว ถ้ามีแอพฯใดที่ออกตัวเวอร์ชั่นอัพเดทออกมา ก็มีคำว่า อัพเดทแจ้งอยู่ด้านหลังรายชื่อแอพนั้นครับ เราสามารถกดเข้าไปทำการอัพเดทได้เลยทันที






ผากเรื่องที่ควรรู้กับการใช้งานแอนดรอยด์ไว้ด้วยครับ


   -Android ทุกเครื่อง มีการต่ออินเตอร์เน็ตตลอดเวลาเป็นพื้นฐาน ถ้าคุณไม่ได้ทำการปิดมันไว้ใครที่ซื้อเครื่องมาโดยไม่รู้ มักจะตกใจกับยอดค่าบริการ หรือยอดเงินคงเหลือในหมายเลขโทรศัพท์ เพราะโดนเจ้าAndroidต่อเนตอยู่โดยไม่รู้ตัว

ทำการศึกษาให้ดีว่าตัวเครื่องที่เราใช้งานเปิดปิดเน็ตอย่างไร หรือสมัครแพ็คเกจอินเตอร์เน็ตไว้หรือไม่

      -อุปกรณ์Android ที่คุณใช้ไม่จำเป็นต้องทนใช้หน้าตาการใช้งานเดิมๆถ้าคุณรู้สึกไม่ถูกใจ ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอปกติของตัวเครื่อง หน้าตาการใช้งานตอนถ่ายภาพ หรือหน้าตาตอนโทรเข้าโทรออก ข้อความSMS คีย์บอร์ดในการพิมพ์ แม้แต่การล็อคหน้าจอ ทั้งหมด คุณสามารถหาตัวอื่นมาทดแทนได้ง่ายๆ เพียงเรียนรู้การลงโปรแกรมจาก "Play store"


      -แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือในปัจจุปัน ไม่จำเป็นต้องทำการชาร์จทิ้งไว้ในการใช้ครั้งแรก เพราะไม่มีประโยชน์ใดๆ ตัวเครื่องจะตัดไฟโดยอัตโนมัติเมื่อแบตเตอรี่เต็ม ชาร์จไว้ ไฟก็ไม่เข้าอยู่ดี

และการชาร์จไฟของแบตเตอรี่ Li-Ion จะชาร์จถี่แค่ไหนหรือชาร์จไม่เต็มอย่างไร การเสื่อมของแบตเตอรี่ก็เท่าเดิมเพราะอายุการใช้งานจะนับเป็นรอบการชาร์จจาก 0 ถึงเต็ม100% คือครบ1รอบ ไม่ว่าใน1รอบจะชาร์จเข้าชาร์จออกสักกี่ครั้งก็ตามเมื่อใช้พลังงานไปนับรวมกันเท่ากับ100% ก็คือครบ 1 รอบ

สาเหตุที่เสื่อมจะเกิดจาก กระแสไฟไม่สม่ำเสมอไฟตกไฟกระชาก สายชาร์จไม่ได้มาตราฐาน หรือเก็บในที่อุณหภูมิสูง


          -การประหยัดแบตที่ได้ผลที่สุดของAndroid คือการลดความสว่างของจอภาพ

เพราะการใช้พลังงานกว่า 50% สูญเสียไปกับหน้าจอแสดงผล การไปปรับตั้งเน้นในส่วนอื่นๆแม้จะช่วยในเรื่องของการประหยัดแต่ก็มีผลน้อยกว่ามาก แค่ใช้ความสว่างหน้าจอแต่เพียงพอดี ก็ยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ในแต่ละวันได้อย่างง่ายๆและเห็นผลด้วยครับ



      -การ ROOT ของระบบปฎิบิตการAndroid อีกหน่อยคุณอาจจะได้ยิน ขอให้เข้าใจก่อนว่า มันไม่ได้หมายถึงการทำให้เครื่องมีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่อย่างใด

แต่การROOT คือการเปิดสิทธิในการเข้าไปแก้ไฟล์ระบบของเครื่องที่โดยปกติทางผู้ผลิตจะปิดป้องกันไว้เพราะเป็นไฟล์ส่วนที่สำคัญต่อระบบ โดยเหตุผลของคนที่Rootเครื่องandroid นั้น เพราะต้องการเข้าไปแก้ไขในส่วนที่เขาป้องกันไว้นั้นเอง

ฉนั้น จงมีเหตุผลในการRootเครื่องก่อนลงมือทำ ถามตัวเองจะเข้าไปในส่วนของไฟล์ระบบเพื่ออะไร





    เรื่องการย้ายแอพลงเมมโมรี่การ์ด และคำว่า รอม แรม

-Rom ram sdcard ภายนอกภายใน ย้ายแอพได้ไม่ได้ ทำไมพูดกันไปคนละทางสองทาง


ก็เพราะแอนดรอยด์มันร้อยพ่อพันธุ์แม่ไงครับ ถ้าแยกตามแบรนคงไม่สับสน แต่จะรู้ัมันทั้ง OS ก็เยอะหน่อย ^^




Rom - หน่วยความจำภายในเครื่อง ใช้ลงโปรแกรม ไฟล์ระบบของOS โดยมากจะให้มาไม่เกิน 2Gb

Ram - หน่วยความจำชั่วคราว ใช้เป็นที่เรียกข้อมูลที่จะใช้งานในขณะนั้นออกมาเก็บไว้เพี่ือความเร็วในการใช้งาน ใช้เสร็จแล้วคลายออก โดยส่วนใหญ่จะมีขนาดตั้งตา 256 

MB - 1 GB ในปัจจุปัน 



  ยังมีหน่วยความจำอีกประเภทที่ฝังไว้ในเครื่องบางรุ่นคือ

Sd card ภายใน - จะเห็นได้จากพวกเครื่องที่ระบุความจำเครื่องให้มามากกว่า 2GB เช่น 4GB / 8GB / 16GB / 32GB โดยจะแยกเป็นความจำROMก่อน 2GB ที่เหลือคือหน่วยความจำของ Sd card ภายใน

   ยกตัวอย่างเช่น เครื่อง 16 GB จะโดนแบ่งเป็น rom 2GBและ Sdcardภายในอีก 14GB(ในความเป็นจริงจะไม่ถึง14 GB อาจจะเหลือแค่11-12GB)


โดยเครื่องที่มีหน่วยความจำsdcardภายใน จะรองรับการย้ายแอพจากหน่วยความจำROMมายังหน่วยความจำSdcardภายในได้ครับ ในกรณีแอพนั้นรองรับการย้าย

"แต่จะไม่รองรับการย้ายแอพไปสู่ความจำ SDCardภายนอกหรือ Micro sd cardที่เราใส่เพิ่มเองอย่างเด็ดขาด ย้ายไม่ได้เลยครับ"


แต่ถ้าเป็นเครื่องที่มีแต่ ROM และไม่มีหน่วยความจำ Sdcardภายใน ส่วนใหญ่เครื่องพวกนี้มักจะมีขนาดความจำให้มาต่ำกว่า 2GB จะสามารถทำการย้ายแอพไปสู่ SDcardภายนอกหรือ Micro sd cardที่เราใส่เพิ่มเองได้ครับ ถ้าแอพนั้นรองรับการย้าย


หลายคนยังสับสนครับ เพราะแต่ละแบรนเขาทำมาไม่เหมือนกัน





ขอจบที่เรื่องการเตือนที่่ตอนนี้โดนกันหลายคนกับการโหลดแอพฟรีบางตัวมาใช้งาน และมักจะมีโฆษณาแฝงมาด้วย

-การเตือนที่ไม่คุ้นตาในแถบ Status Bar ไม่ได้จะมาจาก SMS หรือ MMS จากทางเครือข่าย แต่มาจากภายในตัวเครื่องของท่านเอง

ในกรณีที่เจอสัญลักษณ์ไอคอนเตือนแปลกๆ แนะนำว่าอย่ากด เพราะมันอาจจะพาท่านไปยังหน้าสมัครบริการดูดตังค์โดยที่ท่านไม่รู้ตัว รวมถึงไอคอนหน้าโฮม ที่อยู่ๆก็โผล่มาจากไหนไม่รู้เช่น ไอคอนที่ชื่อ "App Free" ก็เป็นลิงค์พาท่านเข้าสู๋การบริการที่อาจจะทำให้เสียตังค์ เป็นการโฆษณาแฝงมากับแอพพลิเคชั่นฟรีต่างๆที่ท่านโหลดมาใช้งานนั้นเอง

วิธีการเอาออกใช้แอพ "Lookout Ad Network Detector" แสกนตัวเครื่อง รายชื่อแอพใดที่ปรากฏใน3หัวข้อแรกของการแสกน ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ แนะนำให้เอาออกครับ

ฝากเรื่องเบื้องต้นการใช้งานไว้เพียงเท่านี้ครับ ผมเชื่อว่า การเริ่มต้นใช้งานทึ่้ถูกวิธีจะสามารถทำให้เราเข้าใจการทำงานของเครื่องได้อย่างง่ายดาย และเข้าใจปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งการไม่รีบร้อนข้ามขั้นตอนเกินไปจนไม่รู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการใช้งานเราเองหรือเกิดจากตัวเครื่องที่ผิดปกติ

ขอบคุณที่อ่านครับ ^^




Create Date : 02 กรกฎาคม 2555
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2556 22:28:46 น.
Counter : 1118 Pageviews.

1 comments
  
อ่านแล้วเข้าใจขึ้นอีกเยอะเลยค่ะ
ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความดีๆ
โดย: น้องติ๋ม ชลบุรี IP: 110.49.240.32 วันที่: 11 กรกฎาคม 2555 เวลา:20:20:49 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

noppinij
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



Contributor : appdisqus.com
Admin : FB.com/Androidseed
Writer : Onmobile