16 อาการที่แม่มักคิดว่าลูกผิดปกติ
เรื่องที่คุณแม่กังวลใจมากที่สุด มักหนีไม่พ้นอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับลูก โดยเฉพาะลูกที่เพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นมาเป็นสมาชิกใหม่ แม้ความจริงจะเป็นเพียงอาการเล็กๆ น้อยๆ คุณแม่ก็มักตกใจและคิดว่าเป็นอาการที่ผิดปกติ มาดูกันสิว่ามีอาการปกติใดบ้าง ซึ่งมักเกิดขึ้นกับลูกน้อยวัยนี้ แล้วคุณแม่มักคิดว่าเป็นอาการผิดปกติกันค่ะ

อาการปกติของเจ้าตัวน้อย

1. อาเจียนหรือแหวะนม

เด็กวัยนี้มักแหวะนมกันมาก ถือเป็นเรื่องปกติค่ะ เพราะหูรูดกระเพาะอาหารยังทำงานได้ไม่ดี จึงปิดไม่สนิท ทำให้แหวะนมเล็กน้อยได้ ดังนั้นหลังมื้อนมควรไล่ลมให้ลูก โดยจับนั่งตัวตรงบนตักหรืออุ้มพาดบ่าสัก 5-10 นาที หรือให้ลูกนอนยกศีรษะสูง และตะแคงขวาหลังดูดนมราวครึ่งชั่วโมง ถ้าให้ลูกกินนมขวด ควรอุ้มให้ลำตัวและศีรษะลูกสูงไว้ ถือขวดนมให้น้ำนมท่วมจุกนมตลอดด้วย แต่ถ้าลูกอาเจียนมากขึ้น รีบพาไปพบกุมารแพทย์ค่ะ

2. แผลที่เพดานปาก

แผลที่เพดานปากมักเกิดขึ้นกับลูกน้อยในช่วง 2-3 วันหลังคลอด ส่วนใหญ่เกิดจากการดูดนม ที่แรงไปนิดของลูกเองค่ะ ไม่ได้มีความผิดปกติร้ายแรงใดๆ อาการที่เกิดขึ้นนี้จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง คุณแม่ไม่ต้องกังวลหรือให้การรักษาใดๆ นะคะ

3. ลิ้นถูกตรึง

ลิ้นวัยแรกเกิดมักสั้นจนดูเหมือนผิดปกติได้ ซึ่งเกิดจากเยื่อบุที่ยึดใต้ลิ้นกับพื้นของช่องปากสั้นหรือหนากว่าปกติ เมื่อโตขึ้นลิ้นก็จะยาวออก แล้วก็บางลงไปทางปลายลิ้นเอง ไม่ได้ถือเป็นเรื่องผิดปกติใดๆ เวลาร้องลูกก็สามารถแลบลิ้นพ้นริมฝีปากได้ เมื่อโตแล้วลูกก็กระดกลิ้นให้แตะเพดานได้ แลบลิ้นเลียริมฝีปากบนได้ ถือว่าปกติ ถ้ายังไม่แน่ใจพาลูกไปพบแพทย์ก็ดีค่ะ เพราะหากลิ้นถูกยืดกันจริงๆ แพทย์จะทำการผ่าตัดให้เมื่ออายุ 2-3 ปี

4. ฝีจากวัคซีนวัณโรค

วันแรกหลังคลอด วัยแรกเกิดจะถูกฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคถ้วนหน้าค่ะ อาจฉีดตำแหน่งหัวไหล่ข้างซ้ายหรือขวา หรือสะโพก พออายุสักหนึ่งเดือนก็มักเกิดฝีเล็กๆ แล้วก็แห้งกลายเป็นแผลบุ๋มเมื่ออายุสัก 2 เดือน คุณแม่ไม่ต้องดูแลหรือรักษานะคะ แต่ถ้าฝีมีขนาดใหญ่ แตก มีหนองไหลเป็นนานกว่า 2 เดือน เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ 70% วันละหลายครั้งจนกว่าแผลแห้งค่ะ

5. ปานแดงนูน

มักเป็นที่ใบหน้า เป็นก้อนนูนมีขอบชัด นุ่ม สีแดง ส่วนใหญ่มักหายเอง โดยเมื่อลูกโตขึ้นปานจะเล็กลงเรื่อยๆ ผิวสีแดงจะกลายเป็นสีเทาซีด เด็กผู้หญิงและทารกเกิดก่อนกำหนดที่หนักน้อยกว่า 1,500 กรัม จะเป็นมากกว่าเพื่อนค่ะ อาจมีปานแดงเพียงอันเดียว แล้วโตตามตัวในอายุ 6-8 เดือน ซึ่งลูกมักโตเร็ว ช่วงนี้ผิวอาจเป็นแผลได้ ถ้าไม่ติดเชื้อ เลือดไม่ออกก็อย่ากังวลค่ะ แต่ถ้าอยู่ในตำแหน่งสำคัญ แล้วก้อนโตเร็วมาก มีเลือดออก ติดเชื้อ รีบไปพบแพทย์นะคะ

6. กลากน้ำนม

มักเป็นกันมากที่แก้มทั้งสองข้าง ลามไปที่ใบหน้า คอ ข้อมือ มือ ท้อง แขน ขา โดยผิวจะมีผื่นแดง มีน้ำเหลือง มักเป็นเมื่อหม่ำนมวัวค่ะ ดังนั้นให้นมแม่ดีที่สุด แต่ถ้าคุณแม่มีประวัติเป็นภูมิแพ้ ก็เลี่ยงอาหารที่ทำให้แพ้ เพราะจะถูกขับออกมาทางนมแม่ เช่น นมวัว ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ไข่ อย่าให้อาหารเสริมกับลูกช่วง 6 เดือนแรก ไม่อาบน้ำบ่อยไม่ฟอกสบู่บ่อย ไม่ใช้น้ำอุ่นอาบ ไม่ใช้ผ้าหรือฟองน้ำถูผิวลูกแรง แล้วถ้ายังไม่ดีขึ้น พาลูกไปพบแพทย์ค่ะ

7. สะดือจุ่น

ทารกที่น้ำหนักตัวน้อยมักเป็นมากค่ะ เกิดจากวงรอบสะดืออ่อนแอ จึงปิดได้ไม่สมบูรณ์ อีกทั้งความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นเมื่อลูกไอ ร้องไห้ เบ่ง หรือบิดตัว ก็ทำให้เป็นก้อนนุ่มอยู่ข้างใต้สะดือ ก้อนที่ปูดออกมานี้ยุบได้ง่ายไม่ต้องเป็นกังวลค่ะ บางทีก็อาจมีก้อนปูดออกมาเหนือสะดือ ซึ่งก็จะหายได้เองหลังวัย 1 ปี ไม่ต้องกังวลนะคะ แล้วไม่ควรใช้แถบกาวเหนียวๆ ปิด หรือใช้เหรียญปิดทับก้อนปูดๆ นี้ เพราะไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้นค่ะ

8. ร้องโคลิก หรือร้อง 3 เดือน

มักพบในทารกต่ำกว่า 3 เดือน ซึ่งจะร้องซ้ำเป็นเวลาเดียวกัน เช่น ช่วงบ่ายหรือเย็น มักร้องต่อเนื่องเกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน เป็นมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ นานกว่า 3 สัปดาห์ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดค่ะ อาจเพราะมีลมเข้าท้องมาก แพ้โปรตีนนมวัว ได้รับนมมากได้อาหารมีแป้งสูง ทำให้มีก๊าซในท้องมาก จึงท้องอืด แน่นท้อง ไม่มีการรักษาใดๆ ที่ได้ผลค่ะลองไล่ลมหลังมื้อนมทุกครั้งนะคะ ถ้าใช้นมขวดต้องอุ้มลูกให้ถูกต้อง ถือขวดนมให้ถูกอาจให้นอนคว่ำบนตัก หรือนอนทับบนกระเป๋าน้ำอุ่นก็อาจช่วยบรรเทาได้บ้างค่ะ

9. ตัวเหลือง

มักพบใน 2-4 วันหลังคลอด อาจเป็นเพราะได้รับนมแม่ไม่พอ ดูดนมได้น้อย ดังนั้นควรให้ลูกอยู่กับคุณแม่ตลอดนะคะ ให้ดูดนมแม่บ่อยๆ คือ มากกว่า 8 มื้อต่อวัน อาการนี้อาจเริ่มเป็นในช่วงปลายสัปดาห์แรก หรือ 4-7 วันในสัปดาห์ที่ 2-3 หลังคลอด เมื่อให้นมแม่ต่อไป อาการนี้ก็จะค่อยๆ ลดลงจนเป็นปกติในช่วงวัย 3-12 สัปดาห์ได้เองค่ะ แต่ในบางกรณีนมแม่ก็อาจทำให้ลูกตัวเหลืองได้เช่นกัน เนื่องจากตับยังทำงานไม่เต็มที่ ซึ่งในกรณีนี้จะไม่มีผลเสียแต่อย่างใด (ถ้าลูกกินมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว)

10. ผิวหนังลอก

ผิวหนังจะมีการลอกถือเป็นเรื่องปกติค่ะ ผิวหนังของทารกครบกำหนดใน 1-2 วันแรกจะยังไม่ลอกจนหลังอายุ 24-48 ชั่วโมง จึงเริ่มลอก มักพบที่มือและเท้า ผิวหนังที่ลอกจะหายไปในเวลา 2-3 วัน คุณแม่ไม่ต้องไปทำการรักษาใดๆ นะคะ ส่วนทารกเกิดก่อนกำหนดผิวหนังจะลอกช้ากว่า คือ 2-3 สัปดาห์หลังคลอดถึงจะลอกมีเหมือนกันที่ทารกมีผิวลอกออกมาเลยหลังคลอด มักพบในทารกที่คุณแม่ตั้งครรภ์เกินกำหนดค่ะ

11. เขียวคล้ำ

ปลายมือปลายเท้าลูกวัยแรกเกิดมักมีสีเขียวคล้ำ เนื่องจากกลไกการควบคุมเลือดฝอยยังทำงานไม่เต็มที่ อีกทั้งยังเกิดจากการที่ร่างกายลูกถูกบีบรัด ทำให้มีเลือดคั่ง มีจุดห้อเลือดจำนวนมาก โดยเฉพาะร่างกายที่เป็นส่วนนำขณะคลอดตามธรรมชาติ เช่น ใบหน้า ก้น ซึ่งจุดห้อเลือดเหล่านี้มักหายไปได้เองอย่างรวดเร็วใน 2-3 วันค่ะ

12. ผิวหนังลายเหมือนร่างแห

ช่วงที่เกิดมาใหม่ๆ ผิวเด็กวัยทารกแทบทุกคนมักมีลักษณะเหมือนลวดลายร่างแห บางทีก็มองดูเหมือนลายหินอ่อน เพราะหลอดเลือดฝอยและหลอดเลือดดำย่อยกำลังขยายตัวค่ะ ศูนย์ควบคุมหลอดเลือดยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ หรือถ้าทารกอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมเย็นหรือร้อนไป ผิวก็มักมีอาการนี้เกิดขึ้นได้ เช่นกันค่ะ

13. เลือดออกที่ตาขาว

ภาวะนี้พบได้บ่อยในเด็กวัยแรกเกิด ไม่ถือว่าผิดปกติแต่อย่างใดค่ะ เลือดจะออกมามีลักษณะเป็นจุดๆ ที่ตาขาว หรือรอบๆ แก้วตา สาเหตุอาจเกิดขึ้นในขณะคลอดเกิดจากการที่ความดันในทรวงอกของลูกเพิ่มขึ้นอย่างทันทีทันใดในขณะที่ลูกผ่านออกมาทางช่องคลอด ซึ่งมักจะหายไปได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์

14. ตุ่มขาวในปาก

การที่มีตุ่มเม็ดสีขาวเท่าหัวเข็มหมุดเกิดขึ้นกลางเพดานปาก เหงือก หัวนมปลายอวัยวะเพศชาย ถือเรื่องเรื่องปกติที่เด็กมักเป็นกัน อาจมีตุ่มจำนวนมากน้อยต่างกัน อีกทั้งตุ่มเล็กๆ นี้ก็ไม่ได้ขัดขวางการดูดนมของลูก ซึ่งปล่อยไว้ก็จะหลุดไปเอง อย่าไปขยี้หรือบ่งออกเชียวนะคะ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ค่ะ

15. ตัวแดงครึ่งซีก

สาเหตุของภาวะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด มักเป็นกันมากในช่วง 4 วันแรกหลังคลอด และอาจพบได้จนถึงอายุ 3 สัปดาห์ มักเป็นกับทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อย ส่วนทารกครบกำหนดอาจพบได้บ้าง โดยหน้าผาก ใบหน้า ลำตัว แขนขาจะมีสีแดงครึ่งซีก อีกซีกหนึ่งจะซีดลงจนเห็นแนวกึ่งกลางแบ่งซีกได้ชัด และมักเป็นอยู่นานหลายชั่วโมง

16. ปากมีเม็ดพอง

เด็กแรกเกิดมักมีภาวะขอบริมฝีปากเป็นเม็ดพองเล็กๆ เกิดขึ้นได้ทั้งในบริเวณขอบริมฝีปากบนและล่าง หรือพบเฉพาะที่กลางริมฝีปากบนก็ได้ค่ะ อย่ากังวลใจนะคะ เพราะเม็ดพองที่เกิดขึ้นนี้จะค่อยๆ แห้ง แล้วก็ลอกหลุดออกเป็นแผ่นไปเองในที่สุดค่ะ







ข้อมูลจากMother&Care



Create Date : 27 ตุลาคม 2552
Last Update : 27 ตุลาคม 2552 23:12:36 น.
Counter : 728 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Caffein Dog
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 14 คน [?]



Group Blog
ตุลาคม 2552

 
 
 
 
1
4
5
6
12
13
15
17
18
19
20
23
24
25
 
All Blog