สุโขทัย
ก่อนนี้...ไม่เคยเข้าใจบรรดาช่างภาพเลยว่า ทำไมพวกเขาจึงหลงใหลเมืองประวัติศาสตร์อย่าง "สุโขทัย" กันอย่างถอนตัวไม่ขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่งมีโอกาสสะพายกล้อง มาท่องเที่ยวและถ่ายภาพด้วยตัวเอง นั่นแหละที่ทำให้ฉันได้รู้ว่า แค่ "หลงใหล" อาจจะยังไม่พอสำหรับเมืองที่สวยทุกมุมอย่าง สุโขทัย

"ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" จารึกที่ชาวสุโขทัยทุกคนภูมิใจหนักหนา มีส่วนอย่างมากต่อการมาเยือนของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เพราะพื้นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูกแห่งนี้ ยังคงเขียวขจีไปด้วยนาข้าวและสวนเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ สมดังคำกล่าวศักดิ์สิทธิ์ที่จารึกอยู่ในแผ่นศิลาของพ่อขุนรามคำแหง

แม้กาลเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานสักเท่าไร แต่ดูเหมือนว่า สุโขทัยจะยังคงเป็น "รุ่งอรุณแห่งความสุข" ของทุกคนอยู่ดี

"...ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า... " หนึ่งบทตอนในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ทำให้ฉันรู้สึกว่า ชาวสุโขทัยในอดีตช่างมีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตจริง ๆ

พื้นที่กว่า 70 ตารางกิโลเมตร ภายใน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อาจไม่ใช่ทั้งหมดของอาณาจักรสุโขทัยในอดีตที่ผ่านมากว่า 700 ปี แต่โบราณสถานสำคัญในพื้นที่แห่งนี้ก็ทำหน้าที่ส่งผ่านเรื่องราวดี ๆ ในอดีตมาถึงปัจจุบัน

รถรางค่อย ๆ เคลื่อนตัวออกจากจุดเริ่มต้น ณ บริเวณ วัดมหาธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางกำแพงเมืองเก่าสุโขทัย ไกด์สาวที่ทำหน้าที่นำชมและขับรถรางไปพร้อม ๆ กัน พยายามให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ แต่สารภาพด้วยใจจริงเลยว่า ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่ใช่เพราะข้อมูลไม่ดี แต่ด้วยลีลาการเล่าเรื่องที่ถอดแบบมาจากการท่องอาขยาน ผสมสำเนียง "เหน่อ ๆ" แบบสุโขทัย ทำให้จับใจความไม่ถูก ฉันเลยต้องอ่านข้อมูลในแผ่นพับประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม





วัดมหาธาตุ เป็นวัดสำคัญของกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุทรงดอกบัวตูม หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ศิลปะแบบสุโขทัย ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์บนฐานเดียวกัน นอกจากนี้ บริเวณวัดมหาธาตุยังมีพบเจดีย์แบบต่าง ๆ มากถึง 200 องค์ นี่ยังไม่นับรวมวิหาร ซุ้มพระ(มณฑป) พระอุโบสถ และตระพังอีกหลายแห่ง มากมายจนทำให้วัดแห่งนี้มีชื่อว่ามหาธาตุได้นั่นแหละ

ความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ฉายภาพโบราณสถานในเมืองเก่าได้แบบคร่าว ๆ หลังหมดรอบรถราง เราจึงต้องเช่าจักรยานเพื่อซึมซับรายละเอียดของสถานที่ต่าง ๆ เหล่านั้นอีกรอบ

เราขี่จักรยานวนซ้ายไปเรื่อย ๆ จาก วัดมหาธาตุ ผ่านร่มไม้ใหญ่ไปจนถึง วัดศรีสวาย ที่อยู่ทางด้านซ้ายมือ ลักษณะเด่นของวัดนี้อยู่ที่พระปรางค์ศิลปะลพบุรี 3 องค์ ข้อมูลในหนังสือ "เที่ยวเมืองพระร่วง" พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุไว้ประมาณว่า วัดแห่งนี้น่าจะเคยเป็นโบสถ์พราหมณ์มาก่อน และเมื่อภายหลังได้มีการขุดค้นพบทับหลังในศิลปะแบบเขมรรูปนารายณ์บรรทมสินทธุ์ และพบรูปเคารพพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็ยิ่งตอกย้ำข้อมูลเหล่านั้นว่าคือความจริง

สะดุดตาที่ชื่อ วัดตระพังเงิน พยายามนึกหาความหมายจนหมดปัญญา ในที่สุดก็ลองเดินไปถามชายผู้หนึ่งที่มีบัตรมัคคุเทศก์คล้องคอ ด้วยน้ำมิตรน้ำใจที่แสนดีของชายชาวสุโขทัย ทำให้เราได้คำตอบว่า ตระพัง แปลว่า สระน้ำ หรือหนองน้ำ พอหันไปมองที่วัดอีกทีจึงต้องร้อง อ๋อ...เพราะรายรอบคือสระน้ำน้อยใหญ่ที่มากมายจนนับไม่ถ้วน ซึ่งนอกจากวัดตระพังเงินแล้ว ยังมีวัดอื่นที่ชื่อพ้องกันอีก เช่น วัดตระพังทอง วัดตระพังสอ วัดตระพังทองหลาง และวัดตระพังช้างเผือก

วัดสระศรี ตั้งอยู่กลางสระน้ำขนาดใหญ่ที่ชื่อ "ตระพังตระกวน" อีกครั้งกับคำแปล ไกด์เมืองเก่าบอกว่า ตระกวน เป็นภาษาเขมร แปลว่า ผักบุ้ง แต่มอง ๆ ไปไม่เห็นมีผักบุ้งทอดยอดอยู่ในสระน้ำสักยอด





นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคณะใหญ่ขี่จักรยานผ่านสระน้ำไปที่ วัดตระกวน ช่างเป็นภาพที่สวยงามและเป็นระเบียบอย่างยิ่ง ฉันขี่จักรยานขยับจากสระน้ำขนาดใหญ่ ผ่านไปจนถึง พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งพอไปถึงภาพในอดีตภาพหนึ่งก็แวบขึ้นมา จำไม่ได้ว่าปีไหน แต่ฉันมีโอกาสได้เห็นพระพักตร์ในหลวงครั้งแรกที่นี่ ตอนนั้นบรรยายความรู้สึกไม่ถูก รู้แต่ว่าฉันเปล่งเสียง "ทรงพระเจริญ" ออกไปพร้อม ๆ กับประชาชนนับหมื่นคนที่มารอรับเสด็จฯ

แปลกที่ความรู้สึกนี้ทำให้ฉันนึกไปถึงภาพอดีตของกรุงสุโขทัยตามบันทึกในศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหงปกครองไพร่ฟ้าหน้าใสของพระองค์ด้วยความรักในรูปแบบพ่อปกครองลูก ดูช่างละม้ายกับพ่อหลวงในปัจจุบันของเราจริง ๆ

เราปั่นจักรยานเลาะผ่าน ศาลตาผาแดง ออกนอกกำแพงเมืองเก่า ตรงไปที่วัดศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่ง ซึ่งพอเอ่ยถึง "พระพุทธรูปพูดได้" เชื่อแน่ว่าหลายคนต้องรู้จัก

วัดศรีชุม คือสถานที่ซ่อนความเร้นลับที่หลายคนพยายามถอดรหัสอยู่นานหลายปี จนในที่สุดก็ค้นพบว่า ผนังด้านข้างพระอจนะ (พระประธานในมณฑป) มีช่องเล็ก ๆ ที่คนสามารถเข้าไปได้ เชื่อกันว่านี่เป็นกุศโลบายของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วง ที่ต้องการใช้เสียงเร้นลับปลุกใจทหารหาญของพระองค์นั่นเอง

เราทักทาย "แดงต้อย" สุนัขพันธุ์ปั๊กที่นั่งหลับรับแขกอยู่ด้านหน้า ก่อนจะพาตัวเองเข้าไปสัมผัสกับพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร

พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยมีพระพักตร์รูปไข่ พระรัศมีเป็นแบบเปลวเพลิง ขมวดพระเกศาเล็กแหลม พระขนงโก่ง พระโอษฐ์บางเล็ก มีรอยแย้มโอษฐ์เล็ก ๆ ที่เมื่อมองแล้วจะต้องยิ้มตามอย่างมีความสุข

ฉันชอบมองพระพักตร์พระพุทธรูปก็เพราะทำให้ยิ้มตามอย่างมีความสุขได้ โดยไม่ต้องใช้เหตุผลใด ๆ ประกอบ

แดดสุโขทัยไม่ปรานีให้กับสาวผิวสองสี (ดำและดำมาก) อย่างเราเลย แต่ไหน ๆ ก็นั่งรถมาไกลถึง อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย แล้ว จะมัวนั่งมองสถาปัตยกรรมโบราณผ่านช่องหน้าต่างรถตู้ได้อย่างไร ว่าแล้วก็ลงไปชมเมืองเก่าท้าแดดกันสักหน่อย





อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ในอำเภอศรีสัชนาลัย ห่างจากตัวเมืองสุโขทัยมาประมาณ 70 กิโลเมตร เดิมชื่อ "เมืองเชลียง" แต่ถูกเปลี่ยนเป็น "ศรีสัชนาลัย" ในสมัยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงขึ้นครองกรุงสุโขทัย และสร้างเมืองขึ้นใหม่เป็นศูนย์กลางการปกครองแทนเมืองเชลียง

ภายในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์มีโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมาย แต่หลัก ๆ ที่นักท่องเที่ยวทุกคนจะพลาดไม่ได้ก็คือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือ วัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง และอีกชื่อคือ วัดพระปรางค์ ลักษณะเป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ มีปรางค์ประธานก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน สถาปัตยกรรมจัดอยู่ในสมัยอยุธยา บริเวณเรือนธาตุด้านหน้ามีบันไดขึ้นองค์ปรางค์สู่ซุ้มโถง ด้านหน้าองค์ปรางค์มีวิหาร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ส่วนทางด้านขวามีพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลาที่มีลักษณะงดงาม

เด็กนักเรียนโรงเรียนป่ากะยาง อำเภอสวรรคโลก เดินฟังคุณครูอธิบายประวัติศาสตร์ของวัดนี้อย่างเป็นระเบียบ แม้คะเนวัยดูแล้วไม่น่าจะเกิน 7 ขวบ แต่พวกเขาก็ตั้งใจกับการเรียนรู้นอกรั้วโรงเรียนแบบนี้ไม่น้อย

"สวัสดีค่ะ/ครับ" เด็ก ๆ ทักนักท่องเที่ยวด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม นี่เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมน่ารัก ๆ ของเด็กต่างจังหวัดที่เรายังพบเห็นได้เสมอ

พัดลมตัวเก่าของเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ภายใน หลุมขุดค้นทางโบราณคดีวัดชมชื่น ทำงานอย่างปกติ มันอาจไม่เย็นเยียบเทียบเท่ากับเครื่องปรับอากาศในรถ แต่ไม่มีมัน(พัดลม)ไขมันที่ฉันสะสมมาก็ทำท่าจะละลายไปต่อหน้าต่อตาเหมือนกัน





ภายในหลุมขุดค้นพบหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์ จำนวน 15 โครง มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนด้านหลังคือ วัดชมชื่น มีเจดีย์ประธานทรงกลมก่อด้วยศิลาแลง วิหารด้านหน้าก่อด้วยศิลาแลง มีมุขยื่นออกมา ส่วนด้านหลังเชื่อมต่อกับมณฑป ที่ปรากฏลวดลายปูนปั้นสวยงามอยู่บนบริเวณหน้าบัน

ปราสาทวัดเจ้าจันทร์ อยู่ถัดมาไม่ไกล เป็นกลุ่มโบราณสถานสมัยสุโขทัยตอนต้น เราใช้เวลาที่โบราณสถานแห่งนี้เพียงน้อยนิด ก่อนจะมาซื้อบัตรเข้าชมโบราณสถานบริเวณทางเข้า อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

โชเฟอร์รถตู้ผู้ชำนาญเมืองเชลียงขับรถพาเราไปหยุด ณ จุดแรกที่ วัดช้างล้อม โบราณสถานที่สำคัญของวัดนี้คือ เจดีย์ประธานทรงลังกา ที่ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ฐานเจดีย์มีช้างปูนปั้นยืนหันหลังชนผนังเจดีย์อยู่โดยรอบ นับได้จำนวน 39 เชือก แต่ที่ดูพิเศษกว่าเชือกอื่น ๆ เห็นจะเป็นช้างที่อยู่ตามมุมเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ เพราะตกแต่งเป็นช้างทรงเครื่อง มีลวดลายปูนปั้นประดับที่คอ ต้นขา และข้อเท้า ดูสวยสง่า

หน้า วัดช้างล้อม คือ วัดเจดีย์เจ็ดแถว หลายคนบอกว่าวัดนี้สวยกว่าวัดอื่น ๆ ในสุโขทัย เพราะมีเจดีย์หลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นศิลปะสุโขทัยแท้ และศิลปะแบบศรีวิชัยผสมสุโขทัย มีเจดีย์ประธานรูปดอกบัวตูมอยู่ด้านหลังพระวิหาร และมีเจดีย์ราย รวมทั้งอาคารขนาดเล็กแบบต่าง ๆ จำนวนมากถึง 33 องค์ ฉันเดินตรงไปยังเจดีย์รายองค์หนึ่งที่มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยอดเป็นทรงกลม ภายในนั้นมีภาพจิตรกรรมเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้าอยู่ด้วย

อีกวัดที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน คือ วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ มีเจดีย์ศิลาแลงที่สวยงาม ถัดไปคือ วัดนางพญา วัดที่ได้ชื่อว่ามีลวดลายปูนปั้นงดงามและสมบูรณ์ที่สุด ทั้งลวดลายปูนปั้นที่เป็นรูปกึ่งมนุษย์กึ่งวานรกำลังวิ่ง รูปลวดลายพรรณพฤกษา และรูปเทพนมศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นด้วย

ขากลับเราพบกับรถสองแถวที่บรรทุกนักเรียนตัวเล็ก ๆ มาเต็มคัน และทันทีที่พวกเขาหันมาพบกับเรา(อีกครั้ง) เสียง "สวัสดีค่ะ/ครับ" ก็ดังขึ้น

ขอบคุณ "รุ่งอรุณแห่งความสุข" ที่ทำให้ฉันมีความสุข




การเดินทาง

บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด หรือบางกอกแอร์เวย์ส มีเที่ยวบินไป-กลับ กรุงเทพฯ - สุโขทัย ทุกวัน สอบถามที่ 0-2229-3456-63 หรือ //www.bangkokoair.com หากไม่สะดวกจะใช้บริการรถโดยสารก็มีให้บริการทั้งแบบธรรมดาและรถปรับอากาศ รถจะออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต กำแพงเพชร2) ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 6-7 ชั่วโมง สอบถามที่ บริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) โทร. 0-2537-8055-6, 0-2936-2852-66 และ //www.transport.co.th

หรือจะขับรถไปเองแนะนำให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (สายเอเชีย) ถึงประมาณกิโลเมตรที่ 50 บริเวณแยกบางปะอินให้เปลี่ยนเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 117 มุ่งหน้าสู่พิษณุโลก ก่อนจะเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 12 เข้าสู่เมืองสุโขทัย ระยะทางประมาณ 427 กิโลเมตร

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยอยู่ห่างจากตัวเมืองสุโขทัยไปตามเส้นทางสายสุโขทัย-ตาก(ทางหลวงหมายเลข 12) ประมาณ 12 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถประจำทางสายเมืองเก่า(รถสองแถว) ไปที่อุทยานฯ ได้ สอบถามเพิ่มเติมที่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทร. 0-5561-3241

ส่วนอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยอยู่อำเภอศรีสัชนาลัย ห่างจากตัวเมืองประมาณ 70 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถโดยสารประจำทางสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ที่จอดให้บริการอยู่บริเวณตลาดเทศบาลได้ สอบถามเพิ่มเติมที่ โทร. 0-5567-9211





ข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ



Create Date : 08 ตุลาคม 2552
Last Update : 8 ตุลาคม 2552 22:03:36 น.
Counter : 813 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Caffein Dog
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 14 คน [?]



Group Blog
ตุลาคม 2552

 
 
 
 
1
3
4
6
13
15
16
18
19
22
23
24
25
27
30
 
8 ตุลาคม 2552
All Blog