หลากหลาย "ศิลปะ" ประดับบ้าน

ศิลปะถือเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความจรรโลงใจ ให้อารมณ์สุนทรีย์ เดี๋ยวนี้เจ้าของบ้านหลายท่านจึงนิยมนำงานศิลปะมาตกแต่งบ้าน นอกจากเหตุผลที่ทำให้บ้านดูสวยงามแล้ว เรายังเชื่อว่าเป็นการที่เจ้าของบ้านจะได้ใส่ความรู้สึกและตัวตนลงไปในบ้านด้วย ทว่าก็มีอีกหลายคนมองว่างานศิลปะเป็นเรื่องเข้าใจยาก มีคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้งานศิลปะประดับบ้านที่เข้าใจได้ง่ายมาฝากกันค่ะ


สมดุล = สวยงาม คุณผู้อ่านที่เคยติดภาพบนผนังเคยสงสัยกันไหมว่าทำไมเราวางแบบนี้แล้วภาพดูเอียงไปข้าง หรือแขวนแบบนั้นแล้วดูรกตาจัง สาเหตุเป็นเพราะเกิดความไม่สมดุลกันนั่นเอง ดังนั้นในการจัดวางภาพให้ออกมาสวยงาม สิ่งที่เราต้องนึกถึงก็คือ "ความสมดุล" ซึ่งแบ่งได้ 2 ประเภท
1. สมมาตร เป็นการจัดวางแบบเท่ากันทั้งซ้ายและขวาหรือบนและล่างให้ดูกลมกลืน เห็นได้บ่อยจากการจัดวางแบบซ้ำๆ จนเกิดความสวยงาม
2. ไม่สมมาตร เป็นการจัดวางแบบคละกันให้กลมกลืน แต่ให้ความรู้สึกสมดุลจากรูปทรงและสีสันที่แตกต่างกัน เมื่อมองโดยรวมแล้ว ก็ดูสวยงามลงตัว)


ผนังศิลปะ สิ่งหนึ่งที่ช่วยสร้างความน่าสนใจให้ผนังเรียบเกลี้ยงได้ดีก็คือ การประดับงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดหรือภาพถ่าย ซึ่งมักอยู่ในกรอบรูปหรือไม่ก็เฟรมผ้าใบ การจัดวางให้ดูสวยงามและเป็นจุดเด่นต้องคำนึงถึงขนาด สีสัน แสงสว่าง และระดับในการมอง ตัวอย่างเหล่านี้จะเป็นไอเดียให้คุณนำงานศิลปะมาตกแต่งผนังบ้านได้อย่างน่ามองมากขึ้น ลองดูกันค่ะ

1. โชว์เดี่ยว
บ้านใครที่มีผนังผืนใหญ่โล่งๆ ลองมองหางานศิลปะโชว์ทีแปรงมาประดับผนัง จะช่วยให้เกิดจุดนำสายตา ควรเลือกขนาดของชิ้นงานให้สัมพันธ์กับขนาดของผนังและระยะการมองภาพโดยรอบ และงานนั้นควรมีโทนสีเดียวกับเฟอร์นิเจอร์หรือส่วนตกแต่งบริเวณนั้นๆด้วย เพื่อสร้างความรู้สึกกลมกลืน สำหรับการติดตั้งชิ้นงานควรให้อยู่ในระดับสายตา เช่น ส่วนทางเดินหรือบริเวณที่ยืนมอง ควรติดในระดับความสูงที่วัดจากพื้นถึงกึ่งกลางของภาพประมาณ 1.50 เมตร และส่วนที่นั่งมองควรติดในระดับวัดจากพื้นถึงกึ่งกลางของภาพประมาณ 1.20 เมตร

2. ระยะเท่ากัน
เจ้าของบ้านบางท่านนิยมสะสมผลงานศิลปะเป็นชุด หากเป็นงานชิ้นเล็กๆขอแนะนำให้ติดเป็นชุดไปเลย จะดูสวยกว่าติดแบบเดี่ยว โดยการแขวนติดนั้นควรเว้นระยะห่างให้เท่ากัน จะเรียงกันตามแนวนอน แนวตั้ง หรือเรียงสองแถวก็ได้ตามใจชอบ แต่ควรให้เหมาะสมกับสัดส่วนและขนาดของผนัง และไม่ควรติดจนเต็มสุดขอบผนัง เพราะอาจดูเลอะเทอะเกินไป การติดงานศิลปะแบบนี้เหมาะกับผนังผืนยาวๆที่มีพื้นที่ไม่สมมาตร เช่น ผนังข้างบันไดซึ่งมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม หรือโถงทางเดินที่มักมีบานประตูคั่นเป็นจังหวะไม่แน่นอน การจัดวางแบบนี้จะช่วยให้ผนังด้านนั้นๆดูสวยลงตัวยิ่งขึ้น

3. คละกัน
หากชอบงานศิลปะหลากหลายเทคนิค จะนำมาติดในพื้นที่เดียวกันก็ได้ เพียงแต่เลือกชิ้นที่มีสีและขนาดใกล้เคียงกัน สำหรับการนำมาจัดให้เป็นกลุ่มก้อนดูสมดุลก็ควรติดแบบเว้นระยะห่างให้เท่ากัน วิธีนี้อาจไม่ค่อยเหมาะกับผนังเล็กๆ เพราะจะทำให้รู้สึกอึดอัดและรกสายตา แต่หากกะจังหวะได้อย่างลงตัวแล้วละก็ จะสร้างความตื่นตาให้ผนังเกลี้ยงๆที่ไม่มีจุดสนใจได้ดีเชียวละ อย่างเช่นผนังทางขึ้นบันได

4. สามเหลี่ยมบนผนัง
การวางภาพเป็นรูปสามเหลี่ยมแบบสมมาตรเป็นหลักการจัดวางแบบง่ายๆ โดยให้ส่วนล่างกว้างกว่าส่วนบน ควรเลือกงานศิลปะที่มีโทนสีและขนาดใกล้เคียงกัน เริ่มติดจากด้านล่างขึ้นด้านบน (อาจใช้กระดาษแปะลองดูตำแหน่งก่อนก็ได้) สำหรับงานศิลปะชิ้นเล็กๆควรติดในระดับสายตา เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น หากฝ้าเพดานสูงมากๆ ควรติดไฟดาวน์ไลต์ส่องตรงกลางภาพอย่างน้อยหนึ่งดวง จะช่วยให้ภาพดูมีมิติขึ้น นอกจากนี้รูปสามเหลี่ยมแบบสมมาตรยังแสดงถึงความมั่นคงน่าเชื่อถือ เราอาจนำการจัดวางแบบนี้ไปใช้กับผนังในห้องพระหรือห้องบรรพบุรุษก็ได้ ซึ่งก็จะช่วยให้ผนังห้องดูสูงขึ้นด้วย

5. สามเหลี่ยมบนตู้
หลักการนี้เหมาะกับการจัดวางงานศิลปะบนผนังเหนือตู้เตี้ย แต่ควรเลือกภาพและของตกแต่งที่มีขนาดไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเลือกชิ้นที่มีขนาดใหญ่สุดวางไว้ตรงกลาง แล้วค่อยๆวางชิ้นเล็กลดหลั่นกันไปตามลำดับ อาจวางซ้อนกันบ้าง เอียงบ้าง โดยไม่ต้องเป็นระเบียบเรียบร้อยมากนัก ก็จะได้การจัดวางงานศิลปะที่ดูผสมกลมกลืนเป็นธรรมชาติและไม่น่าเบื่อ

ไม่ควรวางภาพวาดไม่ว่าจะเป็นเทคนิคสีน้ำมัน สีอะคริลิก หรือสีน้ำ ไว้ในตำแหน่งที่โดนแสงธรรมชาติส่องถึงโดยตรง เพราะแสงยูวีจะทำให้งานศิลปะเสียหาย ควรออกแบบให้แสงเข้าทางด้านข้างหรือสกายไลต์ด้านบนจะดีกว่า


ศิลปะสามมิติ งานประติมากรรมลอยตัว ไม่ว่าจะเป็นงานปั้น งานหล่อ งานแกะสลัก หรือวัตถุที่เราสามารถมองเห็นได้รอบด้าน สามารถจัดวางได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร โดยพิจารณาจากวัสดุที่ใช้ผลิตเป็นสำคัญว่ามีสภาพแกร่งและทนแดดทนฝนหรือไม่ งานประติมากรรมสวยๆเพียงชิ้นเดียวก็สามารถช่วยแก้ปัญหาพื้นที่ใหญ่ๆโล่งๆในบ้านได้เป็นอย่างดีแล้ว รวมถึงเป็นจุดนำสายตาที่สร้างมิติได้ดีกว่างานศิลปะประเภทสองมิติ แต่เราต้องตระเตรียมพื้นที่สำหรับจัดวางมากขึ้นเช่นกัน เพื่อให้งานชิ้นนั้นดูโดดเด่นมีคุณค่าน่าประทับใจ


งานศิลปะชิ้นเล็ก เหมาะกับพื้นที่จำกัด เพราะสามารถวางไว้ใกล้ๆสายตาได้โดยไม่ต้องเผื่อระยะการมองมากนัก เช่น บนหลังตู้เตี้ย บนแท่นริมโถงทางเดินยาว หรือในตู้โชว์บิลท์อิน งานศิลปะที่สามารถโชว์ได้รอบ 360 องศา เหมาะกับการจัดวางกลางห้องให้สามารถเดินดูได้โดยรอบ อาจมีการหมุนหาเหลี่ยมมุมเพื่อความเหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้งานชิ้นนั้นดึงดูดสายตาสู่ห้องนั้นได้ทุกมุมมอง หรือชิ้นที่มีมุมมองสวยสุดเพียงด้านเดียว( เช่น ประติมากรรมรูปคน) เหมาะกับการวางชิดผนังมุมห้อง หรือสุดปลายทางเดิน เพราะฉากหลังจะช่วยขับให้งานศิลปะดูโดดเด่นขึ้น แถมยังช่วยให้ผนังหรือมุมห้องที่ดูทึบตันน่าสนใจยิ่งขึ้น หรือวางเรียงเป็นแนวในส่วนโถงทางเดินยาวๆในบ้านให้เกิดความต่อเนื่อง ก็ทำให้บรรยากาศดูน่าเดินขึ้นด้วย แต่ควรเผื่อระยะการมองและระยะทางเดินให้กว้างขึ้นอีก 60-80 เซนติเมตร (แล้วแต่ขนาดของชิ้นงาน)

ฉากหลังและแสงไฟเป็นตัวช่วยให้งานศิลปะชิ้นนั้นดูเด่นสะดุดตาขึ้นได้ เช่น งานศิลปะสีเข้ม ผนังด้านหลังควรจะเป็นสีอ่อน งานศิลปะที่มองได้รอบด้านอาจติดไฟเพิ่มเป็น 2 จุด (หน้าหลัง) หรือ 4 จุด สำหรับงานที่ต้องการให้เดินดูโดยรอบ ส่วนงานที่เน้นความสวยงามของรูปทรง สามารถเล่นเทคนิคแสงเงาให้ย้อนแสง โดยการวางไว้ชิดริมหน้าต่าง เพื่อให้เห็นรูปทรงได้สวยงามชัดเจนขึ้น


งานศิลปะชิ้นใหญ่ การติดตั้งควรคำนึงถึงพื้นที่โดยรอบและมุมมองในการมองเห็นเป็นสำคัญ งานชิ้นใหญ่ที่ทึบตันอาจทำให้ภายในบ้านดูอึดอัดและเล็กลงไปถนัดตา ลองมองหางานศิลปะที่ชิ้นเล็กลงกว่าที่ตั้งใจไว้สักหน่อย หรือเลือกงานที่มีรูปทรงโปร่งๆแทน โดยจะวางไว้กับพื้นหรือแขวนจากฝ้าเพดานลงมา ก็จะช่วยลดขนาดของพื้นที่ฝ้าสูงๆให้ดูสบายตาขึ้น งานชิ้นใหญ่ๆและทึบตันเหมาะกับการจัดวางไว้ที่ลานนอกบ้าน หรือบ่อน้ำโล่งๆ เพื่อสร้างเรื่องราว ซึ่งบางชิ้นอาจต้องมีการคำนวณฐานรากเพื่อรับน้ำหนักของชิ้นงานด้วย ควรออกแบบจุดส่องไฟ 2 - 4 จุด เพื่อให้ชิ้นงานเป็นจุดนำสายตาของพื้นที่นอกบ้านของเราได้ทั้งตอนกลางวันและกลางคืน


แสงสว่างกับงานศิลปะ
- พื้นที่เล็กเหมาะกับการใช้หลอดไฟประเภทแฮโลเจนซึ่งมีองศาแคบๆ (10-30 องศา ขึ้นอยู่กับความมสูงของฝ้าเพดาน) ส่วนพื้นที่กว้างๆอย่างพื้นที่นอกบ้าน อาจเลือกใช้หลอดไฟประเภท PAR ซึ่งให้แสงสว่างมากกว่า และยังเหมาะกับการส่องสว่างให้งานศิลปะชิ้นใหญ่ๆดูโดดเด่นขึ้นด้วย
- งานศิลปะที่มีคุณค่าสูงหรือต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ควรใช้หลอดไฟแอลอีดี เพราะให้แสงสว่างสูง แต่ให้ความร้อนต่ำ (ควรเตรียมพื้นที่สำหรับหม้อแปลงไฟด้วย)
- งานศิลปะชิ้นใหญ่ๆควรเลือกโคมไฟที่มีการปรับองศาได้ เพื่อปรับให้แสงสว่างส่องตรงกลางภาพ โดยติดในตำแหน่งกึ่งกลาง ห่างจากผนังประมาณ 60 เซนติเมตร
- ควรมีกำลังวัตต์เป็นสองเท่าของแสงสว่างโดยรอบ เพื่อสร้างความโดดเด่นให้ชิ้นงาน เช่น บริเวณทางเดินใช้ไฟ 15 วัตต์ ภาพที่ติดบริเวณนี้ควรใช้ไฟ 35 วัตต์



ที่มา thaiza.com



Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2554 2:44:10 น.
Counter : 860 Pageviews.

0 comments

Caffein Dog
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 14 คน [?]



Group Blog
กุมภาพันธ์ 2554

 
 
1
2
3
4
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28