เทคนิคการถ่ายภาพ "หุ่นนิ่ง Still Life Photography"
ในความเป็น STILL LIFE

จะว่าไปเป็นเรื่องแปลกไม่น้อยที่บ้านเราหานักถ่ายภาพตระกูล still life ที่หยัดยืนอยู่ได้ด้วยผลงานและจิตวิญญาณยากพอ ๆ กับการควานสายตาหาแท่งเข็มในดงสมุทร ทั้งที่การถ่ายภาพแขนงดังกล่าวอาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของนักถ่ายภาพฝั่ง academy จำนวนไม่น้อยที่ทะยอยกันเดินออกมาสู่ถนนนักถ่ายภาพในแต่ละปี แถมในยุคที่ผู้คนร่วมชาติพากันเห่อเหิมลัทธิบริโภคนิยม ทุกตรอกซอกถนนล้วนเกลื่อนกล่นไปด้วยสิ่งที่ถูกเรียกขานว่างานโฆษณา ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ล้วนต้องพึ่งพานักถ่ายภาพสาขา still life เพื่อทำให้ภาพแทนของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเดินทางต่อไปสู่จุดหมายที่เรียกว่า กลเกมทางการตลาด

ทว่านักถ่ายภาพจำนวนไม่น้อยกลับพึงพอใจในสถานะเพียงแค่คำนำหน้าอาชีพของพวกเขาว่า ช่างภาพไดคัท จุดร่วมระหว่างตัวช่างภาพและผู้ว่าจ้างจึงมักบรรจบลงตรงที่คำว่า.. ภาพคม ไดคัทง่าย จ่ายเงินตรง นั่นคือสุดยอดแล้ว งานง่ายๆ ได้เงินเร็ว น้อยรายนักที่จะสมัครใจด้นฝันฟันฝ่าอุปสรรคพาตนเองไปสู่ปลายยอดอันแท้จริงของแขนงการถ่ายภาพ still life ทั้งสองกิ่งก้าน นั่นก็คือ.. ไฟน์ อาร์ต (fine art) และ คอมเมอเชียล อาร์ต (commercial art)

ถ้าหากแง่ง่ามความคิดบนผืนงานของ "จิตติมา เสงี่ยมสุนทร" ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาถูกมองว่าเป็น still life สายไฟน์ อาร์ต ตัวแม่ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะมีใครบางคนกล่าวถึง "มนู มนูกุลกิจ" ว่าเป็น still life สายคอมเมอเชียล อาร์ต ตัวพ่อ เช่นกัน ทว่าสิ่งเหล่านี้อาจมีค่าความหมายเพียงแค่ระรอกคลื่นที่ซัดสาดเข้ากับหน้าผาอันสูงชัน หาได้มีนัยยะต่อความมุ่งมั่นที่จะไปสู่จุดหมายของพวกเขา บางทีการได้เฝ้าฟังทรรศนะ ประสบการณ์ ตลอด จนคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ประสาคนที่กระโจนทะยานอยู่ในยุทธจักรนี้มานานอาจพอช่วยให้เราเข้าใจได้ดีขึ้นว่า..

"งาน Still life ที่ดีไม่ใช่เรื่องของโชคช่วยหรือจังหวะจะโคนที่โผล่เข้ามาแบบฟลุ้คๆ ทว่ามันคือผลลัพธ์ที่ได้จากการนำเอาจินตนาการอันเป็นปัจเจกไปเคี่ยวกรำผ่านความรู้ความเข้าใจทางการถ่ายภาพและชั้นเชิงทางด้านศิลปะของนักสร้างสรรค์แต่ละคน โดยมีทักษะเป็นส่วนผสมที่ซึ่งไม่อาจขาดพร่องลงไปได้อย่างเด็ดขาด"

ที่มา-ที่ไปของคำว่า STILL LIFE

ศัพท์บัญญัติวิชาการถ่ายภาพ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2530 ให้ความหมายของ still life ไว้ว่า..

ภาพหุ่นนิ่ง

ภาพชีวลักษณ์ (มีความหมายเหมือน table top ซึ่งมีความหมายว่าภาพเลียนธรรมชาติ)





still life หรือ หุ่นนิ่ง เป็นศัพท์แสงทางด้านศิลปะที่มีมานานนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ทว่ามาโด่งดังเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากเอาในช่วงศตวรรษที่ 17 โดยเหล่าจิตรกรชาวดัชท์ (dutch) ที่มีฝีมือลือเลื่องทางด้านการใช้ซับเจกต์ (subject) แสง (lighting) และการจัดองค์ประกอบภาพ (composittion) กับผลงานของพวกเขาได้เหนือกว่าศิลปินชาติอื่นในยุคเดียวกันจนเป็นที่มาของคำว่า duch master ผลงานในซีกด้าน still life ของจิตรกรชาวดัชท์ในยุคสมัยนั้นจึงมักถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ (history of art) อยู่อย่างเสมอ

ผู้ที่เคยผ่านการเรียนรู้หรือมีความสนใจทางด้านศิลปะจึงอาจทำความเข้าใจ เกี่ยวกับความหมายตลอดจนความเป็นไปของคำว่า still life ได้ไม่ยากว่าเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการสร้างสรรค์ผลงาน (ประเภทจิตรกรรม) ซึ่งอาจอยู่ในรูปของการวาดเส้น (drawing) หรือการระบายสี (painting) โดยการนำ, จัดหา, จัดเตรียม วัสดุสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ไม่เคลื่อนไหว เป็นสิ่งที่อยู่นิ่งกับที่ หรืออาจหมายรวมถึงสิ่งไม่มีชีวิต อาทิ แจกันดอกไม้, จาน-ชาม, หมวก, ผลไม้, เครื่องแต่งกาย ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ มาจัดวาง (set up) ไว้ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งซึ่งอาจเป็นห้องทำงานในสตูดิโอ หรือลานกลางแจ้งก็ได้ตามแต่ความคิดและความต้องการในการนำเสนอเพื่อให้สิ่งของเหล่านั้นทำหน้าที่เป็นแบบ (model) ในการวาดหรือระบาย โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการสร้างงานประเภทนี้อีกอย่างหนึ่งคือ แสง หรือทิศทางของแสงที่จิตรกรมักใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับอารมณ์ของผู้ชม

แม้จะเป็นรูปแบบการสร้างสรรค์ที่ดูไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อน ทว่างานประเภท still life กลับเป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนตัวตนของศิลปินผู้รังสรรค์ผลงานชิ้นนั้นๆ ได้อย่างแยบคายที่สุด ผลงานที่ปรากฏจะบอกแก่ผู้ชม (ภาพ) ได้ว่าศิลปินผู้นั้นมีรสนิยม ทัศนคติ ตลอดจนความรู้ความเข้าใจในชั้นเชิงศิลปะหรือมีทักษะในการสร้างสรรค์ ผลงานแค่ไหน

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักศึกษาวิชาการถ่ายภาพ (photography degree) หรือผู้ที่สนใจศาสตร์แขนงนี้อย่างจริงจังจำเป็นต้องหันมาให้ความสนใจในเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะในยุคสมัยต่างๆ รวมถึงการฝึกวาดและเขียนภาพอันเป็นความรู้พื้นฐานทางด้านศิลปะก่อนเพื่อช่วยเสริมสร้างทักษะและความรู้เกี่ยวกับวัตถุ, แสง-เงา, ทัศนมิติ, การตกกระทบของแสง, ทฤษฎีสี, องค์ประกอบและการจัดวาง รวมไปถึงความคิดรวบยอดในการนำเสนอ เพื่อให้สิ่งเหล่านี้เป็นฐานความเข้าใจที่แน่นหนาในการนำไปต่อยอดตามสไตล์ของแต่ละคนต่อไป

เดินไปสู่หนทางของ STILL LIFE PHOTOGRAPHY ที่คุณเลือก

still life photography ไม่ใช่งานภาพถ่ายประเภทที่ต้องปีนบันไดดูเสมอไปจนไอ้ปื๊ด-ไอ้เปี๊ยกแถวบางบอนเขย่งตาดูไม่ถึง !?! และ..still life photography ก็หาใช่งานภาพถ่ายสินค้าแต่บนผืนผ้าขาวๆ ที่จ้องจะรับใช้แต่ลูกค้าประเภทโลตัสและบิ๊กซี โดยปราศจากแง่งามทางด้านศิลปะ

ปัญหาอยู่ที่ว่า..คุณเลือกที่จะสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนั้นๆ เพื่อรับใช้ใคร ?

เพื่อรับใช้ตัวเอง -- มีไว้เสพสมชื่นชมคนเดียว

เพื่อรับใช้ผู้คนในสังคม -- ที่มีรสนิยมเช่นเดียวกัน ทำนองเดียวกัน คล้ายๆ กับคุณ

เพื่อรับใช้ลูกค้า -- ที่ถามหาฝีมือและสนนราคาที่พวกเขาและคุณพึงใจให้

ถ้าสรุปได้.. ก็ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะต้องมานั่งเกาหัวให้เสียเวลาต่อไปว่าจะกระโจนลงสู่ถนนสายนี้ไปเพื่ออะไร? และจะคุ้มค่าเหนื่อยไหม?

ในโลกนี้มี still life photographer จำนวนไม่น้อยเลยที่กระโจนหัวใจของพวกเขาข้ามไป-มาระหว่างการทำงานเพื่อรับใช้ลูกค้า รับใช้สังคม และรับใช้ ตัวเอง ด้วยความสนุกสนานภายหลังจากที่พวกเขาค้นพบว่า.. หนทางไม่สำคัญ เท่าจุดหมาย ถ้าแยกแยะได้งานไหนๆ ก็สามารถสร้างสรรค์ขึ้นด้วยความสนุกทั้งนั้น

องค์ประกอบของการก้าวไปสู่ชิ้นงาน STILL LIFE ที่ดี


คงอย่างที่ จิตติมา และ มนู ว่า.. งาน still life ที่มีคุณค่าไม่ได้มาจากโชคและจังหวะแบบฟลุคๆ แน่นอน ตรงกันข้ามนอกจากผู้สร้างงานจำเป็นต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ด้วยตัวเองยาวนานพอสมควรแล้ว ทักษะความรู้ที่แนบแน่นทั้งทางด้านศิลปะและการถ่ายภาพก็นับเป็นสิ่งที่ไม่อาจถามหาเส้นทางเลี้ยวลัดได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้

อาจารย์ศรศักดิ์ ศักดิ์บดินทร์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ชมรมภาพถ่ายขาวดำแห่งประเทศไทย ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับถ่ายภาพ still life ไว้ในเว็บไซต์ BWthai.org อย่างน่าสนใจว่า..

การถ่ายภาพในแขนงนี้อาจจะกล่าวได้ว่ามีความยากกว่าหลายๆ แขนงก็ว่าได้ ในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เพราะกว่าจะได้มาถึงตรงนี้ นักศึกษา หรือผู้ที่มีความสนใจทางด้านการถ่ายภาพ still life ทุกคนจะต้องเรียนรู้และได้ผ่านการเรียนรู้ในเรื่องของการถ่ายภาพมาแล้วหลายแขนงของวิชาการถ่ายภาพ ซึ่งจะต้องนำความรู้ในทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เรียนรู้มาใช้ร่วมกัน เช่น

การเลือกหาสิ่งของต่างๆ มาจัดถ่าย (objects)

ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่จะถ่าย (subject)

ความสามารถในการโยงสิ่งของที่มีในฉากเข้าด้วยกัน (narrative / telling story)

ความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอ/สร้างภาพ (creativity)

ความสามารถในการจัดสิ่งของต่างๆ ที่ใช้เป็นองค์ประกอบให้เข้ากัน (arrangement)

ความรู้และความสามารถในด้านการวางตำแหน่งขององค์ประกอบหลัก หรือการไม่ใช้องค์ประกอบหลัก (composition)

ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ในฉาก (space)

ความเข้าใจในเรื่องการสร้างมิติ (dimension/perspective)

รู้จักแสง และเข้าใจในเรื่องการใช้แสงเป็นอย่างดี (lighting)

เข้าใจถึงเรื่องของพื้นผิวของวัสดุที่นำมาใช้ใน set (textures and surface)

จากความเห็นข้างต้นของผู้มีประสบการณ์ทั้งสามเป็นข้อสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า.. ไม่มีแง่มุมใดที่เชื่อมโยงไปถึงเรื่องของพรสวรรค์ ที่ต้องมีติดตัวนักถ่ายภาพมาตั้งแต่เกิดเลย ทุกข้อความเห็นเหล่านั้นล้วนพุ่งเป้าไปที่เรื่องเดียวกันนั่นคือ พรแสวง หรือการใฝ่หาที่จักได้มาด้วยวิถีทางของความตั้งใจและแรงพยายามจากผู้เป็นนักถ่ายภาพเองทั้งนั้น




SUBJECT 'สาร' ที่ไม่อาจขาดหายไปจากงานภาพถ่าย STILL LIFE

มีนักถ่ายภาพรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่สับสนระหว่างคำว่า object กับ subject ซึ่งอาจส่งผลทำให้คนเหล่านั้นตีความหมายบางอย่างในภาพบิดเพี้ยนไป

object ในทางการถ่ายภาพหมายถึง.. วัตถุ-สิ่งของ จะเป็นคน สัตว์ สิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ได้ และวัตถุ-สิ่งของนั้นๆ อาจมีจำนวนมากกว่าหนึ่งหน่วยก็ได้ (ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ถ่าย)

ส่วน subject ทางการถ่ายภาพนั้นหมายถึง.. ประเด็น เนื้อหาสาระ หรือ สารที่ผู้สร้างสรรค์ผลงานต้องการนำเสนอไปถึงผู้ชม (ภาพ) ของเขา แต่ทั้งนี้ก็ไม่จำเป็นว่าประเด็นต่างๆ เหล่านั้นจะต้องประสบความสำเร็จในการสื่อสารเสมอไป เนื่องเพราะยังมีเหตุปัจจัยในการสนับสนุนอีกมากมายซึ่งจะยังไม่นำมา กล่าวถึงในที่นี้

บางคนอาจสงสัยต่อไปว่าในเมื่อภาพถ่ายแนว still life คือภาพถ่ายหุ่นนิ่งที่หมายถึงการถ่ายทอดวัตถุ-สิ่งของที่ไม่มีชีวิตเสียเป็นส่วนใหญ่แล้ว เหตุใดเราจึงจำต้องเค้นหา subject หรือประเด็นในการสื่อสารกับผู้ชมอีกด้วย

ทำไมหมุดหมายของการถ่ายภาพแนวนี้ไม่จบลงที่เพียงแค่ว่า.. ถ่ายได้สวย หรือถ่ายออกมาเหมือนอย่างที่ตาเห็นเท่านั้น อันที่จริงแนวคิดนี้หาใช่เรื่องผิดแต่ประการใด หากความปรารถนาหรือจุดมุ่งหมายของผู้เป็นนักถ่ายภาพสิ้นสุดลงที่เพียงนั้น ทว่าในสายตาของนักถ่ายภาพ still life อาชีพหลายท่านกลับมองว่า.. นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่โลก แห่ง still life ที่แท้จริงต่างหาก หาใช่จุดสิ้นสุด! การค้นหา การสร้างสรรค์ กลวิธีในการถ่ายทอดสิ่งที่เรียกว่า subject ให้ได้อย่างลุ่มลึก แยบคาย และชาญฉลาด เป็นสิ่งที่นักถ่ายภาพ still life กระหายที่จะค้นหาและนักเสพงานของพวกเขาก็ยังต้องการคำตอบอยู่เช่นกัน

เป็นช่างภาพแนว STILL LIFE แล้วอยู่ได้ไหม?

หากเอาคำถามเดียวกันนี้ไปจ่อปาก "มนู" ผู้เป็น still life สายคอมเมอเชียล อาร์ต ตัวพ่อ เราน่าจะได้คำตอบประมาณที่ว่า..

อยู่ได้และดีด้วย (เขาหมายถึงรายได้) แต่กว่าที่จะมายืนตรงจุดนี้ได้ (โคตร) ลำบาก..

ทว่าหากเป็นคำตอบจาก still life สายไฟน์ อาร์ต ตัวแม่ อย่าง จิตติมา คำตอบของคำถามเดียวกันอาจอยู่ในท่วงทำนองที่ว่า..

อยู่ได้และดีด้วย (เธอหมายถึงสบายใจดี ไม่มีลูกค้างี่เง่าๆ.. มาวุ่นวายในชีวิต) ได้ทำงานด้วยจิตวิญญาณอันเสรี..

ถ้าฟังแล้วคุณยังละล้าละลังกับคำตอบที่ได้ เราคงต้องขออนุญาตตบหลังหนักๆ ด้วยคำพูดแทนคนทั้งสองว่า.. คุณควรจะหาเวลาไปไล่สายตาดูไฟล์ภาพของตัวเองว่าในบรรดาหลายพันหลายหมื่นภาพที่ใช้ทั้งชีวิตถ่ายมานั้นมีภาพประเภทไหน สไตล์ใด อยู่บ้าง.. หากว่าครึ่งหนึ่งของภาพเหล่านั้นไม่มีภาพแนว still life เฉิดฉายอยู่เลย คุณก็ควรทำใจยอมรับว่า.. มันคงไม่ใช่และอาจลำบากหากฝืนเดินต่อไป แต่ถ้าผลออกมาตรงกันข้าม คำต่อไปที่เราอยากประโลมใจคุณให้ชุ่มชื้นคือ จุดที่เลือกยืนบางครั้งอาจไม่มั่นคง แต่มีความสุข



ข้อมูลจาก //www.kapook.com



Create Date : 28 มกราคม 2553
Last Update : 28 มกราคม 2553 20:10:24 น.
Counter : 978 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Caffein Dog
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 14 คน [?]



Group Blog
มกราคม 2553

 
 
 
 
 
1
2
4
5
6
7
8
9
10
11
14
15
17
18
19
20
21
22
24
25
26
27
29
 
 
All Blog