Group Blog
 
<<
กันยายน 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
21 กันยายน 2554
 
All Blogs
 
==== นายหน้า ====

//topicstock.pantip.com/home/topicstock/2008/05/R6611979/R6611979.html

//topicstock.pantip.com/home/topicstock/2007/06/R5555470/R5555470.html

//www.pantip.com/cafe/home/topic/R9457414/R9457414.html





เรื่องมีอยู่ว่า ร้านขนมแถวบ้านเจ้าประจำรู้มาว่าเราจะขายบ้าน เลยอาสาเป็นนายหน้าให้ ถ้ามีคนมาร้านเค้า
เพราะทั้งหมู่บ้านก็มีอยู่ร้านเดียว เราก็โอเคไป 3 เปอร์เซ็นต์นะ
หลายวันต่อมา เราก็ไปซื้อขนมตามปกติ
แล้วมีคนในหมู่บ้านเดียวกันที่รู้ว่าเราจะขายบ้าน
มาถามเรา หน้าร้านขนมนั้น
ก็คุยกันไป ติดต่อไป จนตอนนี้ขายให้ไปแล้ว
โดยไม่ได้ให้เปอเซ็นต์ลุงร้านขนมเค้า
ลุงเค้าก็โทรมากลับมาด่าเราแช่งเรา
หาว่าเราโกง อย่างนู้นอย่างนี้
เราก็ว่า ถ้าลุงติดต่อเองจะไม่ว่าเลย
นี่เราก็คุยของเราเอง แค่คุยหน้าร้านลุง
จะเก็บค่าหน้าร้านเหรอ เก็บเปอเซ็นต์ค่าอะไรอ่ะ
ไม่ได้เหมือนสัญญาเอเย่นต์ทั่วไปนะ
ที่ไม่ว่าขายเองหรืออย่างไรก็ต้องแบ่งเปอเซ็นต์ให้
ลุงโฆษณาให้เหรอ ลูกค้าคนนี้ผมเดินมาเจอเอง
ลุงไม่ได้จัดมาซะหน่อย

จนตอนนี้ ลุงเค้าก็แอบประกาศไปทั่ว ว่าเราใจโฉด
ลุงเค้าน่าสงสาร โดนหลอก ฮือๆ ก็ว่าไป
เราไปได้ยินมาจากร้านข้าวตามสั่ง โดยที่คนมาเม้าท์กับป้าร้านข้าวไม่รู้ว่าผมเป็นเจ้าของบ้านน่ะ
ฟังๆแล้ว เราผิดเต็มๆเลย ไม่รู้เค้าไปเล่ายังไงบ้าง
แบบว่า สงสารลุงเค้าเหลือเกิน เฮ้อ...

ก็ได้แต่ช่างปากลุงเค้า แต่มาคิดๆดู ตกลงเราโกงจริงหรือเปล่า
ต้องให้เปอเซนต์ลุงไหมอะครับ
เค้าแช่งแม่เราเลยอ่ะ... กลัวลุงเค้าจะมาเผาบ้านเรามั้ยเนี่ย

จากคุณ : goodnightcry - [ 16 พ.ค. 51 03:55:51 ]


--------------------------------------------------------------------------------

ความคิดเห็นที่ 1

ความคิดผมนะครับ ถึงคุณจะให้เงินไป ข่าวที่กระจายไปแล้วก็ไม่เปลี่ยนไปหรอก ครับ หรือไม่ก็เป็นข่าวใหม่ว่า "ทำนองว่าพอถูกด่าว่า เลยยอมจ่าย ทั้งที่จริงจะโกง คนแบบนี้แย่จริงๆ" ประมาณนี้แหละครับ ลองคิดดู

จากคุณ : woodly (woodly) - [ 16 พ.ค. 51 08:35:40 ]

ความคิดเห็นที่ 2

จริงควรจะให้ลุงเค้าน่ะค่ะ เพราะไม่แน่ใจว่าคนที่ซื้อบ้านจากคุณ เค้ารู้ข่าวว่าคุณขายบ้านมาจากใคร ลองถามคนซื้อสิค่ะ ว่าทราบได้ยังไง

ถ้าเค้าทราบข่าวจากคุณลุง คุณอาจให้ลุงเค้าสัก 1-1.5 % ก็ได้ เพราะเค้าโฆษณาให้คุณ แต่ไม่ได้เป็นคนพาลูกค้ามาดูบ้าน

แต่ถ้าเค้าทราบข่าวจากคุณเองโดยตรง ลองพาลูกค้ามาช่วยยืนยัน เรื่องจะได้เคลียร์

จากคุณ : น้ำหวาน (IT Talk) - [ 16 พ.ค. 51 09:48:42 ]

ความคิดเห็นที่ 3

ให้ไปก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น หรอกค่ะ ว่าแต่บ้านใหม่คุณก็อยู่แถวนั้นด้วยเหรอค่ะ
งั้นก็ต้องเจอปากลุงไปอีกนาน

ถ้าไม่ได้ อยู่แถวนั้น ก็ทำบุญเยอะ อโหสิให้เขาไป

ปากคนห้ามไม่ได้หรอกค่ะ ให้เงินตามหลังไป เขาก็ไม่ได้สรรเสริญคุณหรอก

จากคุณ : เค็มจิตร - [ 16 พ.ค. 51 10:06:35 ]


ความคิดเห็นที่ 4

แล้วมีคนในหมู่บ้านเดียวกันที่รู้ว่าเราจะขายบ้าน
^
^
แล้วเค้ารู้จากใครอ่ะคะ
แต่ก็จริงนะ ให้ตอนนี้ก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นน่ะ -_-

จากคุณ : ว่านน้ำ - [ 16 พ.ค. 51 10:17:29 ]

ความคิดเห็นที่ 5

ตามจริงครับ ถ้าคนซื้อรู้มาจากลุง ต้องให้ครับ บางทีคนซื้อก้อคิดว่าอยากตัดตอนมาเอาส่วนลด
ไม่อยากจ่ายค่านายหน้า แต่ถ้าเค้ารู้มาจากคุณเอง ก้อว่าไปอย่าง

จากคุณ : ผู้ใหญ่ใจดีมาก - [ 16 พ.ค. 51 10:30:46 ]

ความคิดเห็นที่ 6

น่าจะให้ลุงสัก 1-1.5 % ครับ แต่ให้ตอนนี้คงไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าให้ตอนแรกก็คงไม่เป็นขี้ปากชาวบ้าน

จากคุณ : magicsand - [ 16 พ.ค. 51 13:00:11 ]

ความคิดเห็นที่ 7

1. ลุงเขาแนะนำคนซื้อว่า คุณจะขายที่หรือไม่
2. ลุงเขาได้พาคนซื้อมาพบคุณหรือไม่
3. คนซื้อได้ยืนยันว่า เขาได้รับข้อมูลจากลุงหรือไม่

ถ้าทั้งสามข้อ นั้น ลุงเกี่ยวข้องทั้งหมด
คุณต้องจ่าย ถ้าเกี่ยวไม่หมด จะจ่ายหรือไม่ก็ได้
ถ้าเป็นเพียงข้อ 1 ผมไม่จ่าย

ปกตินายหน้าต้องพาคนซื้อมาพบคนขาย
ผมถือวิธีของผมอย่างนี้ ถ้าผมเป็นนายหน้า
ผมจะทำแบบที่ผม ว่า

ตลอดเวลาที่ได้ซื้อขายที่ดิน มากว่า 20 ปี
ทั้งเป็นคนซื้อ ทั้งเป็นคนขาย ทั้งเป็นนายหน้า
ผมก้อทำแบบนี้

จากคุณ : น้าพร - [ 16 พ.ค. 51 13:24:53 ]

ความคิดเห็นที่ 8

... ตาม # 7 คุณ น้าพร ...

... ผมประกาศ ขายที่ดิน มีนายหน้ามาขอเป็น ตัวแทนขาย ...
... ถ้าให้เขาขาย มีสัญญา 1 ปี...

... ถ้าเขาจบการขาย ได้ เขาได้ 3 %
... ผมถามว่า ในช่วงนี้ ถ้าผมขายของผมได้เอง โดยไม่ได้พึ่งนายหน้า
... เขาบอก เขาต้องได้ 1.5 %
... จู่ ๆ ที่ดินผมก็ถูกมัดเอาไปปีนึง
... ที่เขาบอกไปโฆษณา มันก็ เอาไปลง ที่เดียวกับที่ผมลง ฟรี อยู่แล้ว
....เออ มันตลกดี

จากคุณ : ซีมาสเตอร์ - [ 16 พ.ค. 51 16:00:11 ]


ความคิดเห็นที่ 9
ถ้าคนซื้อรู้จากคุณลุงก่อนคุณลุงควรได้นะครับ
จากคุณ : นพหมู (nopmoo) - [ 17 พ.ค. 51 00:45:10 ]


ความคิดเห็นที่ 10
เพิ่งโดนค่ะ แต่ในฐานะคนซื้อนะ เพราะเพิ่งซื้อบ้านมา
ของเราเกิดจากความไม่รู้เรื่องมากกว่าน่ะ บ้านหลังแรกน่ะค่ะ
ไปขับวนรอบหมู่บ้านแล้วจดเบอร์เอา โทรไปถามเค้าบอกราคาไม่ผ่านนายหน้า
อยู่มาวันนึงจู่ๆอยากเข้าไปดูในบ้าน เลยขับไปวนดูนึกว่าเค้าอยู่บ้าน
กดกริ่งเท่านั้นแหละ คนข้างบ้านกุลีกุจอมาเปิดให้
พาเที่ยวชมบ้านเสร็จสรรพ ไอ้เราก้อนึกว่าเค้าฝากบ้านให้ช่วยดูแล
ไม่นึกว่าจะเป็นนายหน้า เลยคุยกันซะยาว
ตอนหลังเราก้อโทรติดต่อเจ้าของบ้านโดยตรง
ก้อเข้าใจกันว่าซื้อแบบไม่ผ่านนายหน้า
พอข้างบ้านรู้เท่านั้นแหละ โวยวายต้องเอาค่านายหน้า
เจ้าของบ้านก้อเรียกเราเข้าไปคุยด้วย นายหน้าดันหาว่าเราลูกเล่น
ไปตกลงกันเองจะได้ซื้อถูกลง.... จนสุดท้ายเจ้าของบ้านยอมให้บางส่วน
เรื่องนี้ทำเอาย้ายเข้ามายังไม่มองหน้ากันเลยค่ะ
เซงจิงๆ... เกิดจากความไม่รู้เท่าทันแท้ๆเลย

จากคุณ : deal with it!! (GniN) - [ 17 พ.ค. 51 03:37:02 ]

ความคิดเห็นที่ 11

ถ้าคนซื้อเขารู้จากลุงก่อนคุยกับเรา ให้1.5%
ที่ให้ครึ่งเดียวเพราะไม่ได้พามาหาเรา
เวลาให้ก็นัดลุงไปให้ที่ร้านอาหารตามสั่ง
หรือร้านทำผมที่คนเยอะๆ กระจายข่าวเร็ว
ถึงไม่สนใจขี้ปากชาวบ้านก็ต้องแก้เกมลุง
แต่ถ้าคนซื้อรู้เองโดยไม่ได้รู้มาจากลุง
แล้วเรื่องอะไรจะให้ แล้วจะให้ทำไมคะ

จากคุณ : แต้มดาว - [ 17 พ.ค. 51 13:27:43 ]

ความคิดเห็นที่ 12

เป็นบทเรียนใครจะขายที่ดิน ต้องเขียนต่อว่า
ไม่รับติดต่อนายหน้า ผมเห็นประกาศแบบนี้บ่อย
(นี่แหละฤทธิ์เดชนายหน้า ) เพื่อป้องกันการอ้าง
ขอเงินค่านายหน้า

จากคุณ : visitna - [ 17 พ.ค. 51 13:51:37 ]

ความคิดเห็นที่ 13
เราเคยขายบ้านมานะ
ตอนแรกมีบริษัทรับขายมาติดต่อ ก็เอาเลยเพราะต้องการขายได้
คืออยากซื้อบ้านใหม่ให้ได้เพราะไปจองมาแล้ว
ที่นี้เขาเก็บเงินด้วยนะ สามพันกว่าบาท สามีก็ตกลงค่ะ
เราก็ไม่เป็นไรถ้าขายได้ก็ต้องให้อีก 3% แต่ก็ผ่านไปประมาณ
1 เดือน ยังไม่มีอะไรคืบหน้า แต่เราก็ติดประกาศหน้าบ้านด้วยนะคะ
สัญญาเป็นแบบเปิด คือเราขายได้ด้วย เขาขายได้ด้วย
พอต่อมาขายไม่ได้มาว่าบ้านเราไม่ดีมีงี้ด้วยนะ...
รายที่สองติดต่อมาอีก ไม่ต้องเสียเงิน เป็นสัญญาเปิดเหมือนกัน
จริงๆแล้วอยากให้เจ้านี้ขายได้ ก็เกือบจะขายได้ แต่คนซื้อเครดิต
ไม่ดีพอเลยชวดไป ที่อยากให้เจ้านี้เพราะว่าทำแบบตรงไปตรงมา
แต่ต่อมาเจอเพื่อนบ้านมาดูบอกว่าถ้าแนะนำมาให้เท่าไหร่
เราเองให้ 10,000 บาท แต่พอเขานำญาติมาจริงๆ จนซื้อโอน
เรียบร้อย สามีให้ไป 15,000 บาท แล้วเลี้ยงอาหารอีก หนึ่งมื้อ
เลี้ยงทั้งคนแนะนำ + คนซื้อนะคะ

จากคุณ : ส้มคั้น ไม่มีล็อคอินเหมือนกัน - [ 17 พ.ค. 51 17:44:09 A:124.120.57.232 X: TicketID:174031 ]






ความคิดเห็นที่ 14

นายหน้านั้น ถ้าเป็นอาชีพ จริงๆ เขาจะเป็นนายหน้า เฉพาะด้าน
เช่น เป็นนายหน้าให้คนซื้อ เท่านั้น
ไม่ก็เป็นนายหน้าให้คนขายเท่านั้น จะไม่กินสองทาง

ถ้ากินสองทาง ไม่เรียกว่านายหน้า เรียกว่า พวกเจ้าเล่ห์เพทุบาย

การที่คนเป็นนายหน้าจะรับค่านายหน้าได้นั้น ต้องทำงานตามสมควร
ไม่ใช่บอกว่า นั่นไง คนเสื้อแดง จะขายบ้าน

พอคนเสื่อแดง ขายบ้านได้แล้ว ก็ไปขอรับค่านายหน้า
อย่างนี้ไปเป็นขอทานมีเกียรติกว่า

เอาหน้าที่นายหน้า ของผู้ขายก่อนครับ

1. ต้องทำหน้าที่ติดต่อผู้ที่จะซื้อให้ได้พบกับผู้จะขาย (นี่คือหน้าที่หลักที่สุด)
1.1 นายหน้าต้องรู้ที่อยู่ของผู้จะซื้อ หรือที่จะติดต่อได้ตลอดเวลา

2. นายหน้าจะต้องมีเอกสารสำคัญของผู้จะขาย อยู่กับตัว
และได้รับเอกสารจาก ผู้จะขายโดยตรง
เช่น ภาพถ่ายบ้าน สำเนาโฉนดที่ดินที่จะขาย ชื่อที่อยู่ + เบอร์โทร
2.1 นายหน้า ต้องรู้สภาพ และข้อเท็จจริงของทรัพย์ที่จะขายตามสมควร
เช่น ที่ดิน 150 ตารางวา บอกขาย ตารางวาละ 20,000 บาท
ราคาตลาด ราคา 22,000 บาท ติดจำนอง 1.2 ล้าน
เจ้าของผ่อนแบ้งค์อยู่ ไม่ได้ขาดผ่อน

3. จากข้อ 1 และ 2 นายหน้าอาจมีสัญญานายหน้ากับเจ้าของหรือไม่ก็ได้
นายหน้าจะเป็นผู้หาคนสนใจมาซื้อ
ดังนั้น นายหน้าจะต้องมี ข้อมูลของผู้จะซื้อตามสมควร
เช่น ที่อยู่ + เบอร์โทร

นายหน้าที่ดี จะไม่เชียร์ให้คนซื้อ หรือเชียร์ให้ขาย
แต่จะต้องให้ข้อมูลตามจริง เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่าย
บนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้องตรงกับความจริงทุกอย่าง

การเปิดประตู บ้านบุคคลอื่น แล้วพาเข้าชม ในตัวบ้าน
โดยเจ้าของไม่ได้มอบหมาย ถือว่า เป็นการทำเกินหน้าที่
การชี้ว่า คนใส่เสื้อแดง จะขายบ้าน ทั้งสองอย่าง ไม่ถือว่า
ได้ทำหน้าที่เป็นนายหน้า

จากคุณ : น้าพร - [ 17 พ.ค. 51 18:45:50 ]

ความคิดเห็นที่ 15

ปกตินายหน้า จะได้ค่านายหน้า ก็ต่อเมื่อ การซื้อขาย เสร็จสมบูรณ์
และจะรับเงินภายหลังจากที่เจ้าของได้รับเงินแล้วหนึ่งวัน

ผมไม่เคยทำสัญญานายหน้ากับผู้ใดเลย ไม่ว่าเป็นฝ่ายซื้อ หรือขาย
ยิ่งสัญญาทาส ที่เขียนว่า เมื่อตกลงให้นายA หรือ บริษัท A เป็นนายหน้าแล้ว
ไม่ว่า ถ้านาย A หรือ บริษัท A ขายได้เองหรือไม่ก็ตาม เจ้าของต้องจ่ายค่านายหน้า
อย่างนี้คือสัญญาทาส

คนที่จะมาซื้อ ที่ดิน หรือบ้าน เขาไม่ได้ดูว่า ใครเป็นนายหน้า
แต่เขาดูว่า ของที่เขาซื้อนั้น ต้องตาม ที่เขาอยากได้หรือไม่
ถ้าต้องตามที่เขาอยากได้ เขาจะซื้อ ถ้าไม่ต้อง เขาก็ไม่ซื้อ
มีหลายท่าน เข้าใจว่า ฝากขายกับบริษัท PPP ซิ ชื่อเสียงเขาดี
ดังนั้น จะขายได้ง่าย เป็นตรรกะที่ผิดมาก

คนซื้อบ้าน ไม่ได้ซื้อเพราะ บริษัท แต่เขาซื้อเพราะ เขาอยากได้ของ
และต้องเป็นของที่ตรงกับที่ใจเขาวาดไว้ตามสมควร

ดังนั้นต่อไป หากจะขายบ้าน หรือที่ดิน ให้ทำอย่างนี้

1. ทำป้าย ไว้ 20 – 30 อัน ขนาด 2 ตารางฟุต
ติดแถวๆ ใกล้ๆ บ้าน ในรัศมี 1 – 2 กม.
เขียนว่า ขายบ้าน 3 ห้องนอน 2 น้ำ 60 ตารางวา
ซอย ddd เข้าไป 200 เมตร โทร 101xxx0101 คุณ “แม้ว”

2. ลงใน web หลายๆ แห่ง หมั่น เข้าไป up-date ด้วย

3. เตรียมเอกสาร สำคัญ ไว้ให้พร้อม 20 ชุด
ใครมาขอก็ให้ไป

4. ไม่ทำสัญญานายหน้ากับใคร
4.1 หากมีคนมาขอเป็นนายหน้า ต้องแจ้ง
เงื่อนไขการเป็นนายหน้าให้เขาทราบ
หรือไม่งั้น ก็ print ที่ผมเขียนมาให้เขาดูครับ
ไม่ควรตกลงเป็น % ควรบอกเป็น จำนวนเงิน เช่น 10,000
หรือ 20,000 บาท บอกให้ชัดว่า เงื่อนไขเป็นอย่างไร
และจะได้เงินเมื่อการซื้อขายสมบูรณ์
ถ้านายหน้า มีหลายคน และคนซื้อมีคนเดียว
ให้ถามคนซื้อว่า ได้ข้อมูลมาจากใคร

ถ้าไม่ลงตัว ไม่จ่าย ไม่งั้น ก็หารกันทั้งหมด
จะไม่จ่ายให้ใครคนใดคนหนึ่ง

ผมทำอย่างนี้เสมอมา ทั้งเป็นนายหน้าเอง
ทั้งเป็นฝ่ายซื้อเอง และเป็นฝ่ายขายเอง

หลายครั้ง ยังไม่ทันซื้อขาย มีนายหน้ามาขอเป็นนายหน้า
ผมก็บอกว่า ยินดี แต่ ค่านายหน้ามี 20,000 นะ
เขาบอกว่า พวกเขามี 4 คน ขอคนละ 20,000 บาท นะตกลงตามนี้นะ
แล้ววางหู ทันที
ผมก็โทรไปทันที่ว่า “ไม่ตกลง” แล้ววางหู ถ้าเขาไม่ทันวางหู
ผมจะบอกทันทีว่า ไม่ตกลง แล้ววางหูทันทีเช่นกัน
ต่อไปนายหน้าคนนี้โทรมาอีก ผมบอกว่า น้องชายซื้อไปแล้ว ก็เท่านั้น
คนแบบนี้ ไม่ต้องคบ

อีกรูปแบบหนึ่ง นายหน้า เห็นราคา 4.2 ล้าน
โทรมาถามโน่น นี่ นู่น แล้วต่อราคา เป็น 3.5 ล้าน
ผมจึงถามไปโดยสุภาพว่า คุณเป็นคนซื้อเองหรือไม่ หรือเป็นผู้แทน
(ใช่คำสุภาพ แทนคำว่านายหน้า)
ได้คำตอบว่า เป็นผู้แทน จึงถามต่อไปว่าแล้วจะเป็นผู้แทนของใครล่ะ
ฝ่ายผู้ขายหรือฝ่ายผู้ซื้อ ได้คำตอบว่า เป็นทั้งสองฝ่าย
จึงได้ตอบไปว่า ผมมีผู้แทนฝ่ายผม คือฝ่ายขายอยู่แล้ว
ดังนั้น คุณไม่ต้องลำบากดอก ถ้ามีคนซื้ออยู่กะตัวก็นัดเจอกัน
ให้คนซื้อมาต่อราคาเอง ผู้แทนนั้นแม้ต่อราคาได้
ก็ไม่มีเงินมาวางผม ผมไม่รู้จะตอบตกลงได้อย่างไร
แล้วก็วางหูไป

ถ้าริจะเป็นนายหน้า หรือรับมือกะนายหน้า ต้องใจเย็น
และรู้ทันเขาครับ ถ้าเขาต่อราคามา เราก็บอกว่า ถ้าคุณต่อราคา
แสดงว่าคุณไม่ได้เป็นนายหน้าคนขายนะ ถ้าขายแล้วคุณจะไม่ได้เงินค่านายหน้า
เพราะ คนขายเสียประโยชน์ ไม่ต้องตามตรรกะ ที่คุณเป็นฝ่ายคนขาย
แต่กลับทำให้คนขายได้ราคาน้อยลง

การจะต่อราคา ต้องให้คนซื้อมาต่อ ไม่ใช่นายหน้ามาต่อ
ถ้านายหน้ามาต่อราคา นายหน้าต้องไปรับเงินกับคนซื้อ
ถ้าจะมารับกับผมนั้น ผมให้ไม่ได้

จากคุณ : น้าพร - [ 17 พ.ค. 51 18:47:08 ]


ความคิดเห็นที่ 17

ถ้าเป็นนายหน้าของคนซื้อ ผมจะโยนให้คุยกับนายหน้าของผม
เพื่อให้นายหน้า กะนายหน้าคุยกัน อย่างน้อย เรามีเวลาคิด
และอย่างน้อย นายหน้าเราจะได้ค่าเอี่ยวด้วยอีกหน่อย ก็ยังดี
เพราะอย่างไรเสีย ผมต้องจ่ายค่านายหน้าอยู่แล้ว และจำนวนไม่ได้ลดหรือเพิ่ม
แต่นายหน้าของผมได้ประโยชน์

บางครั้งเจอนายหน้า 2 -3 คน แต่คนซื้อคนเดียว
ต้องนัดเจอคนซื้อ วันเวลาเดียวกันครับ
จะได้รู้ว่า ใช่คนเดียวกันหรือไม่ ไม่ก็ถามเขาตรงๆ
ว่าคนซื้อชื่อ “คุณหญิงWWW” ใช่หรือปล่าว
เพราะนี่มีนายหน้า อีก 2 คน บอกว่าคนซื้อ ชื่อ “คุณหญิงWWW”
เช่นเดียวกัน

ถ้าเราเป็นฝ่ายซื้อ บางทีนายหน้าเอาของมาบวกราคาขึ้นอีกเป็นแสน
จึงบอกไปว่า ที่แปลงนี้ สองอาทิตย์ก่อน มีนายหน้าจาก บางพลีมาเสนอขาย
วาละ 25,000 เท่านั้น แต่นี่คุณ แดง เอามาเสนอผม 30,000 แพงไปหน่อย
ถ้าเจอแบบนี้ คุณแดง ที่รอบจัดจะบอกว่า โอ้ย เฮีย!!! นั่นมันราคาเดือนที่แล้ว
ที่แปลงนี้เจ้าของเข้าขึ้นราคาไปหลายวันแล้ว

จึงได้บอกไปว่า เอางี้ ผมขอเช็คราคาก่อน ถ้าทางโน้นยืนยันราคาเดิม
ผมจะตกลงซื้อกับทางโน้นนะ สุดท้าย คุณแดง ก็ต้องถอย
ไม่งั้นคุณแดง ก็ต้องลดราคามาให้ถูกกว่า 25,000
ถ้าราคาเท่ากัน คุณแดง ผมก็ซื้อจากคุณแดงไม่ได้ เพราะทางโน้นเขาเสนอมาก่อน
(ตกลง งานนี้ใครเขี้ยวกันแน่หว่า ผม – >>ตัวน้ำพรเอง หรือนายหน้า)

ทุกอย่างต้องระวังครับ
อีกเรื่องสำคัญมาก คือ จะไม่จ่ายเงินมัดจำ หรือให้นายหน้ารับเงินมัดจำให้เรา
ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดก็ตาม เพราะ นั่นหมายถึง อ้อยเข้าปากช้าง ไม่มีวันได้คืน
ไม่ว่าจะเป็น คุณแดง นาย AAA หรือบริษัท BBB ก็ตาม

การรับเงิน ค่าที่ดิน ค่าบ้าน หรือจ่ายเงินก็ตาม ต้องรับกับมือ จ่ายกับมือ
ไม่ทำกับตัวแทนครับ น้ำตาเช็ดหัวเขามาเก้าหมื่นกว่าคนแล้ว
คุณจะเป็นคนที่แสนก็ตามใจ

หวังว่าคงเป็นประโยชน์ตามสมควรนะครับ

---------------------------------------------------------------------------------------

ทีนี้มาถึง การรับเงิน กรณีทีเราเป็นคนขายที่ หรือเป็นเจ้าของบ้าน
ถ้าเป็น แคชเชียร์เช็ค ผมจะบอกให้เขาซื้อที่สาขา ที่เราใช้บริการอยู่ประจำ

ถ้าอยู่ไกล จะบอกให้เขา ซื้อที่ธนาคารที่เราใช้อยู่ประจำ
แล้ว ให้เขาแจ้ง วัน เวลา ที่เขาจะไปซื้อ

หลังจากนั้น จะประสานกับแบ้งค์ ของเราว่า ลูกค้าจะมาซื้อ
แคชเชียร์เช็ค เป็นเงิน 25 ล้าน ช่วยดูให้หน่อย
แล้วขอให้ทางแบ้งค์ของเราช่วยดูเลข แคชเชียร์เช็คให้ล่วงหน้าด้วย
โดยไม่ให้คนซื้อ รู้ว่า เรามีเลขนั้นแล้ว
ยิ่งถ้าสามารถ fax หรือถ่ายเอกสาร ส่งมาทาง e-mail
ให้กับสาขาของเราได้ จะดียิ่งขึ้น

หลังจากนั้น วันโอน เราก็ ขอดู หรือให้เขาถ่ายเอกสารมาให้เราดู
ตรวจสอบให้แน่ใจ ว่าถูกต้อง
ทั้งยัง ต้องโทรกลับไปที่สาขาเจ้าของแคชเชียร์เช็คอีกด้วย
เป็นคำรบสอง ว่า เราจะรับแคชเชียร์เช็คหมายเลข A 01010101 แล้วนะ
ตั้งแต่เช้ามา ถึง เวลานี้ มีการอายัด แคชเชียร์นี้หรือไม่

ถ้าทุกอย่างไฟเขียวถือว่า OK แล้วหละ
การทำบันทึกรับเงิน ณ สำนักงานที่ดิน ให้ระบุว่า
รับเป็นแคชเชียร์เช็คหมายเลข A 01010101 ด้วย

เป็นการป้องกัน เขาโทร หรือส่งทนายไปอายัดในวินาทีสุดท้าย

พอรับแล้ว ก็ส่งม้าด่วนไป ขึ้นเงินครับ

นี่เป็นวิธีหนึ่ง

----------------------------------------------------------

วิธีที่สองคือ
นัดคนซื้อ ไปที่ ธนาคาร ที่เรามีบัญชีอยู่ เช่น แบ้งค์ ABC
แล้วให้เขาซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายเรา ต่อหน้าเรา

เราก็เก็บสำเนาไว้ชุดหนึ่ง

วันรุ่งขึ้น เราก็ไปโอนที่กัน
ดูสำเนา และแคชเชียร์เช็คว่าตรงกันหรือไม่
พอตรงกัน ก็ต้องโทรไปสอบถามกับทางธนาคารว่า มีอายัดหรือไม่
เราจะโอนที่ดินแล้วนะ

พอไฟเขียว เราก็เซ็นโอนให้เขา โดยระบุ ว่ารับค่าที่ดินเป็นแคชเชียร์เช็ค
หมายเลข .............. อะไรก็บันทึกไป

ทีนี้ ถ้าต้องแบ่งจ่าย เป็น สอง หรือสามใบ ก็ทำเช่นเดียวกัน

----------------------------------------------------

ที่ต้องแบ่ง เป็นสองหรือสามใบ เพราะ เมียมีหลายคน
หรือ สะดวกต่อการแจ้งเรื่อง ภาษี เนื่อง จากเจ้าหน้าที่ที่ดิน
จะขอดูแคชเชียร์เช็คด้วย เราต้องการให้เขาดูยอดไหน
ก็ทำแคชเชียร์เช็คไปเท่ายอดนั้น

นอกเหนือจากนั้น ก็ทำอีก สักสองใบ และเงินสดเท่าที่ต้องจ่ายภาษีและค่าธรรมเนียมโอน

------------------------------------------------

นอกจากนี้ ถ้าสนิทกับแบ้งค์ และเงินเยอะ
เราก็ ขอพนักงานแบ้งค์ สาขานั้นๆ มาช่วยรับแคชเชียร์เช็คด้วยเลย
อย่างนี้ ก็สะดวกขึ้น
ส่วนขั้นตอนการตรวจสอบ และการทำ ก้อทำแบบที่บอกมาทุกครั้งครับ

------------------------------------------------

เอาหละ ทีนี้เจอ สิบแปดมงกุฎ ตัวจริง คือ ทุกอย่างจริงหมด
แต่เขาทำปลอมไว้ชุดหนึ่ง พอวินาทีที่จะจ่ายให้เรา
เขาก็สลับ ของปลอมให้เราถือไว้ นาทีต่อมา ก็ให้คนของเขา
เอาตัวจริงไป ขอคืนเงินจากแบ้งค์ อย่างนี้ก็เป็นไปได้

เราต้องแจ้งทางแบ้งค์ไว้ก่อนว่า ถ้ามีเหตุการณ์อย่างนี้
ขอให้ทางแบ้งค์ โทรบอกเราด้วย ให้เบอร์โทรไว้ สองสามเบอร์

คนละค่าย ป้องกันเครือข่ายล่ม

เอาหละ นิติกรรมที่เราทำไปนั้น ถือว่าเป็นโมฆียะ
เราก็เข้าไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดิน สาขานั้นๆ ว่า
เราโดนสิบแปดมงกุฎเข้าให้แล้ว ขอให้ท่าน
ช่วยแก้ไข นิติกรรม นั้น กลับมาอยู่สถานะเดิมด้วย

ถ้าท่านอิดออก เราก็ แจ้งอายัดโฉนดที่ดินแปลงนั้นไว้อีกสำทับหนึ่ง

หลังจากนั้น ต้องไปแจ้งความ คดีอาญา
และฟ้องศาลแพ่ง ให้เพิกถอน นิติกรรม ขอความคุ้มครองชั่วคราว
ห้ามจำหน่าย จ่าย โอน หรือ ทำนิติกรรมใดๆ ในที่ดินแปลงนี้
ตลอดอายุของการฟ้อง

และร้องต่อศาลให้สั่ง ว่า ขอให้สำนักงานที่ดิน คืนเงินค่าธรรมเนียม ค่าภาษี
ที่เราชำระไปด้วย เนื่องจากเป็นการกระทำโดยฉ้อโกง
เงินที่ได้มา เป็นทรัพย์ ที่ไม่สมควรได้ นิติกรรมไม่ได้เกิดขึ้นจริง

------------------------------------------------------

ทั้งสามสี่ขั้นตอนที่ว่ามานี้ มาจากประสบการณ์จริง ครับ
หวังว่าคงเป็นประโยชน์ นะครับ


----------------

สัญญานายหน้า
เขียนโดย Tsunna_ซึนนะ ที่ 2:49

สัญญานายหน้า
นายหน้า ( brokerage / courtier) เป็นสัญญาประเภทสัญญามีชื่อ ซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งตกลงจะให้ค่าบำเหน็จ (commission) แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเรียกว่า "นายหน้า" (broker) เพื่อตอบแทนการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการให้เขาได้เข้าทำสัญญากับบุคคลอีกฝ่าย สัญญานายหน้ากับสัญญาตั้งตัวแทน (agency) มีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งหากไม่ทำความเข้าใจให้ดีอาจสลับสับสนกันได้ ภาษาปากในภาษาไทยมักเรียกนายหน้าโดยทับศัพท์จากคำ "broker" ในภาษาอังกฤษ ว่า "โบรเกอร์" หรือ "โบรก" เฉย ๆ
บทบัญญัติของกฎหมาย
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทย
บรรพ 3 เอกเทศสัญญา, ลักษณะ 16 นายหน้า
"ม.845 บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญา ก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกัน สำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จ แล้ว นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดได้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้ เช่นนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ"
ตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์เยอรมันนี (Buergerliches Gesetzbuch)
บรรพ 2 หนี้, ภาค 8 หนี้เฉพาะบางอย่าง, ลักษณะ 10 สัญญานายหน้า
อนุลักษณะ 1 บททั่วไป
"ม.652 (การเกิดสิทธิเรียกร้องค่าบำเหน็จ)
(1) บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี หรือจัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี บุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขบังคับก่อน ค่าบำเหน็จยังเรียกร้องกันมิได้จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
(2) นายหน้ามีสิทธิจะได้รับการชดเชยค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น ความข้อนี้ให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ"
อนุลักษณะ 2 สัญญานายหน้ากู้ยืมระหว่างวิสาหกรและผู้บริโภค
"ม.655ก (สัญญานายหน้ากู้ยืม)
สัญญาซึ่งวิสาหกรตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่ผู้เป็นนายหน้าในสัญญากู้ยืมของผู้บริโภค หรือตกลงจะชี้ช่องแก่ผู้บริโภคให้ได้เข้าทำสัญญากู้ยืมของผู้บริโภค ย่อมใช้บังคับได้ตามบทบัญญัติต่อไปข้างหน้านี้ ภายในบังคับแห่งประโยคถัดมา. ความข้อนี้มิให้ใช้บังคับแก่การตาม ม.491 (2)."
อนุลักษณะ 3 : นายหน้าจัดหาคู่
"ม.656 (นายหน้าจัดหาคู่)
(1) บุคคลย่อมไม่ผูกพันเพราะตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้าที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาสมรสก็ดี หรือเพราะเป็นนายหน้าจัดแจงการสมรสก็ดี สิ่งใดที่จ่ายไปตามคำมั่นเช่นว่าจะเรียกร้องเอาคืนมิได้เพราะผู้จ่ายจะผูกพันให้จ่ายก็หาไม่
(2) บทบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่ความตกลงซึ่งบุคคลฝ่ายอื่นได้เข้าผูกพันกับนายหน้าเพื่อปฏิบัติตามคำมั่น รวมถึงการรับสภาพหนี้ด้วย"
เหตุผล
ไผทชิต เอกจริยกร ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงเหตุที่บุคคลต้องจัดหานายหน้า ว่า
"การที่บุคคลหนึ่งต้องอาศัยนายหน้าเข้าทำการชี้ช่องให้มีการทำสัญญากัน แทนที่จะเข้าทำสัญญากับบุคคลใด ๆ โดยตรงนั้น ก็อาจเป็นเพราะว่าบุคคลดังกล่าวไม่ทราบหรือไม่สามารถจะติดต่อบุคคลอื่นใดให้เข้ามาทำสัญญากับตนได้ เพราะถ้าบุคคลนี้ทราบก็คงไม่ต้องอาศัยนายหน้าเข้ามาชี้ช่องให้ นายหน้าจึงเปรียบเสมือนคนกลางที่ทำให้บุคคลทั้งสองฝ่ายที่ต้องการทำสัญญากันมาพบ มารู้จัก และมาทำสัญญาในระหว่างกัน...
ส่วนทางด้านตัวนายหน้าเอง จะทำการเป็นนายหน้าก็เพื่อเป็นการช่วยเหลือบุคคลผู้ที่ต้องการจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สามารถทำการตามประสงค์ได้ ไม่ว่านายหน้าจะหวังบำเหน็จนายหน้าเป็นการตอบแทนหรือไม่ เพราะอาจจะเป็นเพื่อนหรือเป็นญาติก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว นายหน้ามักทำการด้วยประสงค์ที่จะได้รับค่าบำเหน็จ โดยเฉพาะนายหน้าในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ นายหน้าจัดหางาน หรือนายหน้าเกี่ยวกับการเช่าอสังหาริมทรัพย์"
องค์ประกอบ
คู่สัญญา
ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845
"บุคคล ผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกัน สำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จ แล้วนายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดได้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลง กันไว้เช่นนั้นความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกัน สำเร็จ"
กฎหมายไทย โดย ป.พ.พ. ม.845 บ่งบอกว่าคู่สัญญานายหน้ามีสองฝ่าย ฝ่ายแรก คือ ผู้ตกลงจะให้บำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อตอบแทนการที่นายหน้าได้ชี้ช่องให้เขาได้เข้าทำสัญญากับบุคลอื่น และฝ่ายที่สอง คือ นายหน้าเอง อันทำหน้าที่ประหนึ่งคนกลางระหว่างสัญญาอีกฉบับหนึ่งซึ่งปรกติแล้ว บุคคลผู้เป็นนายหน้ามักเป็นบุคคลธรรมดา แต่หากนิติบุคคลจะเป็นนายหน้าบ้างก็ทำได้โดยผ่านผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ๆ ตามหลักทั่วไป
กฎหมายไทยไม่ได้กำหนดว่าผู้เป็นนายหน้าได้ต้องมีความสามารถทำนิติกรรม นักกฎหมายไทยจึงเห็นต่างกันเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกว่า นายหน้าจะมีความสามารถทำนิติกรรม หรือไม่มี หรือมีแต่บกพร่อง เช่น เป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต หรือคนล้มละลาย ก็ได้ เพราะปรกติแล้วนายหน้าไม่จำต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวในสัญญาที่ตนเป็นสื่อให้เกิดขึ้น
กลุ่มที่สองซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อย ว่านายหน้าเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง จึงต้องบังคับตามหลักทั่วไปเกี่ยวกับสัญญาด้วย ดังนั้น ในเมื่อไม่มีกฎหมายยกเว้นเป็นพิเศษ จึงต้องนำหลักทั่วไปเรื่องความสามารถทำนิติกรรมมาใช้บังคับด้วย โดยถ้านายหน้ามีความสามารถดังกล่าวบกพร่อง สัญญานายหน้าจะเป็นโมฆียะ
วัตถุประสงค์แห่งสัญญา
"โจทก์จำเลยตกลงแบ่งเงินค่านายหน้าขายที่ดินคนละครึ่ง, บัดนี้ขายที่ดินได้แล้ว โจทก์จึงฟ้องแบ่งค่านายหน้าครึ่งหนึ่งในส่วนที่จำเลยยังไม่แบ่งให้. ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า จำเลยเป็นผู้รับซื้อที่ดินเอง และนำสืบว่าจำเลยซื้อเองโดยเอาเงินของ อ. มาซื้อ, ชั้นแรกจะใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ซื้อแล้วทำจำนอง อ., แต่เห็นว่าเสียค่าธรรมเนียมมาก จึงลงนาม อ. เป็นผู้ซื้อ, แลได้ทำสัญญาไว้ว่า อ.จะขายให้จำเลยตามราคาที่ซื้อไว้ แต่จำเลยต้องส่งดอกเบี้ยให้ อ. ร้อยละ 8, ถ้าจำเลยชำระราคาที่ดินเสร็จ อ. จะโอนที่ให้, ถ้าจำเลยงดส่งดอกเบี้ย 3 เดือนหรือไม่ชำระราคาที่ดิน สัญญาเป็นอันยกเลิก.
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หากจำเลยเป็นผู้ซื้อเอง ก็เห็นได้ว่า เป็นนายหน้าให้แก่ตัวเอง ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้, ในสัญญาซื้อขายแลสัญญาระหว่างจำเลยกับ อ. ก็แสดงอยู่ในตัวชัดเจนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้ซื้อ. ส่วนข้อฎีกาว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม จำเลยมิได้ยกขึ้นคัดค้านแต่ชั้นศาลล่าง, จึงไม่รับวินิจฉัย. จึงพิพากษายืนตามศาลล่างซึ่งพิพากษาให้จำเลยแบ่งค่านายหน้าให้โจทก์ตามฟ้อง."
คำพิพากษาศาลฎีกา 337/2478
กฎหมายไทย โดย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845 บ่งบอกว่า สัญญานายหน้ามีวัตถุประสงค์เป็นการที่นายหน้าชี้ช่องให้ผู้วานนายหน้าได้เข้าทำกับบุคคลอื่น ซึ่งเป็นจุดต่างกับสัญญาตั้งตัวแทนที่ตัวแทนจะเข้าทำสัญญากับบุคคลอื่นแทนตัวการเลย
การเป็นนายหน้าให้ตนเองย่อมทำไม่ได้ บุคคลต้องเป็นนายหน้าให้ผู้อื่นเท่านั้นและสัญญาที่นายหน้าจะชี้ช่องให้ผู้วานนายหน้านั้นจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่มีจำกัดเป็นสัญญาจะซื้อจะขายก็ได้

วัตถุแห่งสัญญา
วัตถุแห่งสัญญานายหน้า คือ ค่าบำเหน็จ (commission) ที่ผู้วานนายหน้าตกลงจะให้แก่นายหน้า หากไม่ได้ตกลงกันเรื่องนี้ จะเรียกค่าบำเหน็จกันมิได้เลย
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 นิยาม "บำเหน็จ" ว่า "รางวัล, ค่าเหนื่อย"ส่วน ดิกชันนารี.คอม นิยามคำภาษาอังกฤษ "commission" ว่า "เงินรวมหรืออัตราส่วนที่ให้แก่ตัวแทน ผู้แทน ฯลฯ เพื่อตอบแทนการบริการของเขา"
ถ้ามิได้ตกลงค่าบำเหน็จกันไว้ แต่ปรกติแล้วกิจการที่นายหน้ารับทำนั้นย่อมเป็นที่คาดหมายว่าเขาหวังเอาค่าบำเหน็จ ก็ให้ถือโดยปริยายว่าตกลงเรื่องค่าบำเหน็จกันแล้ว ดัง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 846 วรรค1 ว่า "ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้ท่าน ให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า"
ค่าบำเหน็จนี้ จะกำหนดเป็นจำนวนตายตัว เช่น หนึ่งแสนแปดหมื่นบาท หรือกำหนดเป็นร้อยละ เช่น ให้ได้รับค่าบำเหน็จร้อยละสามสิบจากเงินที่ผู้วานนายหน้าได้รับในการทำสัญญากับบุคคลอื่น ก็ได้ ถ้าไม่ได้ตกลงกำหนดจำนวนกันไว้ก็ให้ถือ "จำนวนตามธรรมเนียม" (usual remuneration) อันหมายความว่า จำนวนตามที่เคยให้กัน หรือตามที่ผู้คนทั่วไปให้กันโดยปรกติดังที่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 846 วรรค 2 ว่า "ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม"
อนึ่ง นักกฎหมายบางคนเห็นว่า สัญญานายหน้าต้องมีค่าบำเหน็จเสมอไป หากตกลงกันว่าไม่มีค่าบำเหน็จ สัญญาที่เกิดขึ้นย่อมไม่ใช่สัญญานายหน้า
แบบ
กฎหมายไทยมิได้กำหนด "แบบ" ( form) สำหรับสัญญานายหน้าเอาไว้ ดังนั้น สัญญานายหน้าเมื่อตกลงกันได้ก็เกิดขึ้นบริบูรณ์ทันทีตามข้อตกลงนั้น แม้เป็นเพียงการตกลงด้วยวาจา มิได้ทำเป็นหนังสือก็ตาม

ผล
ความรับผิดของนายหน้าเกี่ยวกับสัญญาที่ตนเป็นสื่อ
"ตัวนายหน้าไม่ต้องรับผิดไปถึงการชำระหนี้ตามสัญญาซึ่งได้ทำต่อกันเพราะตนเป็นสื่อ เว้นแต่จะมิได้บอกชื่อของฝ่ายหนึ่งให้รู้ถึงอีกฝ่ายหนึ่ง"
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 848
ตามกฎหมายไทย โดย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 848 แล้ว นายหน้าไม่ต้องรับผิดในสัญญาที่ตนเป็นสื่อให้เกิดขึ้น เพราะนายหน้ามิได้เกี่ยวข้องกับสัญญานั้นโดยตรง เว้นแต่คู่สัญญาดังกล่าวไม่ทราบนามของคู่สัญญาอีกฝ่าย เพราะนายหน้าไม่ยอมบอก อันทำให้คู่สัญญาฝ่ายนั้นไม่ทราบจะไปบังคับชำระหนี้กับใคร และเพื่อป้องกันนายหน้าทุจริตด้วยโดยนายหน้าต้องรับผิดในสัญญาที่ตนเป็นสื่อ ให้เกิดขึ้นนั้นแทน แต่มิใช่รับผิดในสัญญานายหน้า
"ชื่อ" ในถ้อยคำ "...มิได้บอกชื่อของฝ่ายหนึ่งให้รู้ถึงอีกฝ่ายหนึ่ง" (...has not communicated the name of a party to the other party.") หมายถึง ชื่อและชื่อสกุลของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายตามที่ปรากฏในทะเบียนของทางราชการ เช่น ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสำมะโนครัว บัตรประจำตัวประชาชน ฯลฯเพราะการฟ้องร้องบังคับคดีกันต้องใช้ชื่อตามทะเบียนเช่นนี้
ไผท ชิต เอกจริยกร ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเหตุผลที่กฎหมายบัญญัติเรื่องนายหน้าไม่เปิดเผยชื่อคู่สัญญาแต่ละ ฝ่ายให้กันทราบ ว่า "...ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องแปลกที่นายหน้าทำไมไม่เปิดเผยชื่อให้อีกฝ่ายรู้ จะปิดเงียบ ๆ ทำไม ในเรื่องนี้คิดไปได้ว่า นายหน้าอาจจะกลัวว่าหากเปิดเผยชื่อให้แต่ละฝ่ายทราบ นายหน้าอาจจะไม่ได้รับบำเหน็จนายหน้า โดยถ้าหากคู่สัญญาจะแอบไปทำสัญญากันเอง"

สิทธิของนายหน้าเกี่ยวกับสัญญาที่ตนเป็นสื่อ
ในสัญญาที่นายหน้าเป็นสื่อให้เกิดขึ้นระหว่างผู้วานนายหน้ากับบุคคลอื่น หากต้องมีการรับเงินหรือชำระหนี้ กฎหมายไทยให้ "สันนิษฐานไว้ก่อน" ว่านายหน้าไม่มีอำนาจทำการเช่นนั้นแทนผู้วานนายหน้าซึ่งเป็นคู่สัญญา ดัง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 848 ว่า "การรับเงินหรือรับชำระหนี้อันจะพึงชำระตามสัญญานั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่านายหน้าย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับแทนผู้เป็นคู่สัญญา" ทั้งนี้ เนื่องจากนายหน้ามีหน้าที่เพียงเป็นสื่อให้ผู้วานนายหน้าได้ทำสัญญากับบุคคลอื่น และนายหน้าที่ก็มิใช่ตัวแทนของผู้วานนายหน้าด้วย นายหน้าจึงไม่ควรสอดเรื่องอันมิใช่กงการของตน
คำว่า "สันนิษฐานไว้ก่อน" หมายความว่า สามารถพิสูจน์หักล้างได้ เช่น นายหน้าอาจนำสืบว่าผู้วานนายหน้ามอบหมายให้ตนทำหน้าที่รับชำระหนี้แทนเขาก็ได้

สิทธิของนายหน้าตามสัญญานายหน้า
"บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกัน สำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดได้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้ เช่นนั้นความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ"
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845
"ถ้านายหน้าทำการให้แก่บุคคลภายนอกด้วยก็ดี หรือได้รับคำมั่นแต่บุคคลภายนอกเช่นนั้นว่าจะให้ค่าบำเหน็จอันไม่ควรแก่นายหน้าผู้กระทำการโดยสุจริตก็ดี เป็นการฝ่าฝืนต่อการที่ตนเข้ารับทำหน้าที่ไซร้ ท่านว่านายหน้าหามีสิทธิจะได้รับค่าบำเหน็จหรือรับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้ เสียไปไม่"
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 847
สิทธิได้รับค่าบำเหน็จ
ด้วยบทบัญญัติ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845 วรรค 1 ผู้วานนายหน้าต้องจ่ายค่าบำเหน็จตามจำนวนที่ตกลงไว้ให้แก่นายหน้าเมื่อนายหน้าทำตามสัญญานายหน้าจนสำเร็จ กล่าวคือ เมื่อนายหน้าเป็นสื่อให้ผู้วานนายหน้าได้เข้าทำสัญญากับบุคคลอื่นจนสำเร็จแล้ว
ที่ว่า "จนสำเร็จ" มิได้หมายความถึงขนาดที่สัญญาระห่างผู้วานนายหน้ากับบุคคลอื่นจะเรียบร้อยบริบูรณ์เต็มขั้น เป็นแต่ทั้งสองตกลงผูกมัดกันเกิดเป็นสัญญา แม้รายละเอียดปลีกย่อยบางเรื่องยังมิได้ตกลงหรือทำกัน ก็ถือว่านายหน้าบรรลุหน้าที่ของตนแล้ว เรียกค่าบำเหน็จได้ แม้ต่อมาภายหลังคนทั้งสองนั้นจะไม่มาทำสัญญากัน หรือต่างผิดสัญญากันก็ตาม
เมื่อนายหน้าทำหน้าที่จนเกิดสัญญาตามที่ตนชี้ช่องแล้ว และสัญญานั้นมีกำหนดเงื่อนไขบังคับก่อน (condition precedent) นายหน้ายังเรียกเอาค่าบำเหน็จไม่ได้จนกว่าเงื่อนไขนั้นจะบรรลุแล้ว เช่น สัญญาซื้อขายที่ ก กับ ข ทำด้วยเพราะเหตุที่ ค นายหน้าของ ก เป็นสื่อให้ มีเงื่อนไขว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายจะยังไม่โอนไปจนกว่าบุตรของ ก จะสอบไล่ได้ที่หนึ่ง เช่นนี้แล้ว จนกว่าบุตรของ ก จะสอบไล่ได้ที่หนึ่ง ค ก็ยังเรียกค่าบำเหน็จมิได้
หากในการเป็นสื่อกลางของนายหน้า ผู้วานนายหน้ากับบุคคลอื่นตกลงกันไม่ได้ หรือเปลี่ยนใจไม่ผูกนิติสัมพันธ์กันก็ดี หรือเมื่อนายหน้าเป็นสื่อกลางเรียบร้อยด้วยดีแล้ว แต่สุดท้ายผู้วานนายหน้ากับบุคคลอื่นไม่ทำสัญญากันก็ดี หรือนายหน้าทำหน้าที่ไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาตามสัญญานายหน้าในกรณีที่มีกำหนดไว้ก็ดี นายหน้าไม่มีสิทธิเรียกค่าบำเหน็จ เว้นแต่ผู้วานนายหน้ากับนายหน้าจะตกลงกันว่า แม้งานไม่สำเร็จ แต่ก็ให้นายหน้าได้รับบำเหน็จเต็มจำนวนหรือเป็นจำนวนเท่านี้เท่านั้น
ในบางกรณีมีสัญญาเกิดขึ้นโดยอ้อมจากการชี้ช่องของนายหน้า เช่น ก เป็นนายหน้าให้ ข กับ ค ทำสัญญากัน เจรจากันเสร็จแล้ว ข ไม่เห็นชอบด้วยจึงไม่ทำสัญญากับ ค เผอิญว่า ง มาได้ยินเข้าจึงเข้าทำสัญญากับ ค แทน เช่นนี้แล้ว เมื่อมีคดีขึ้นสู่ศาลไทย ศาลมักพิพากษาให้ ง ต้องจ่ายค่าบำหน็จให้แก่ ก ในฐานะเป็นนายหน้า เพราะจัดว่า ง ได้ล่วงรู้ช่องทำสัญญามาจาก ก
สิทธิได้รับคืนซึ่งค่าใช้จ่าย
ด้วยบทบัญญัติ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845 วรรค 2 ค่าใช้จ่ายที่นายหน้าเสียไปในการทำหน้าที่ จะเรียกจากผู้วานนายหน้าได้ก็ต่อเมื่อตกลงกันไว้เท่านั้นซึ่งหากตกลงกันไว้ นายหน้าก็เรียกค่าใช้จ่ายได้แม้ว่าสัญญาที่นายหน้าเป็นสื่อให้จะยังทำกันไม่สำเร็จ (ต้นร่างภาษาอังกฤษของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่า "even if a contract is not concluded" แปลว่า "แม้สัญญายังมิได้ตกลงกัน" ส่วนเบอร์แกร์ลิชส์เกเซทซ์บุคของเยอรมันว่า "even if a contract does not come about" แปลว่า "แม้สัญญาจะยังไม่อุบัติ")
ค่าใช้จ่ายข้างต้น เช่น "...ค่าพาหนะ ค่าโทรศัพท์ เพื่อให้มีการติดต่อระหว่างคู่สัญญา ค่าอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ค่าเลี้ยงดู..." โดยหากนายหน้าทำหน้าที่ไม่สำเร็จ เขาต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้เอง

กรณีหมดสิทธิได้รับบำเหน็จและค่าใช้จ่าย
"จำเลย ตกลงขายที่ดินของตนให้แก่กระทรวงการคลังตามที่โจทก์ผู้เป็นนายหน้าของจำเลย ติดต่อให้ ทั้งที่จำเลยวางมัดจำทำสัญญาไว้กับ ค ว่าจะซื้อขายที่ดินผืนนั้นด้วยกัน แต่อย่างไรก็ดี ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับบำเหน็จจาก ค หรือโจทก์กระทำการไม่สุจริตแต่อย่างใด ถือมิได้ว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติให้สำเร็จหรือได้ทำหน้าที่ให้แก่บุคคลภายนอกอัน เป็นการฝ่าฝืนหน้าที่ของโจทก์ในฐานะเป็นนายหน้าให้จำเลยแต่อย่างใด"
คำพิพากษาศาลฎีกา 326-328/2518
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 847 ว่า "ถ้านายหน้าทำการให้แก่บุคคลภายนอกด้วยก็ดี หรือได้รับคำมั่นแต่บุคคลภายนอกเช่นนั้นว่าจะให้ค่าบำเหน็จอันไม่ควรแก่นายหน้าผู้กระทำการโดยสุจริตก็ดี เป็นการฝ่าฝืนต่อการที่ตนเข้ารับทำหน้าที่ไซร้ ท่านว่านายหน้าหามีสิทธิจะได้รับค่าบำเหน็จหรือรับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปไม่" ("A broker is not entitled to remuneration or to reimbursement of his expenses if, contrary to his engagement, he has acted also for the third party or has been promised by such third party a remuneration which is not consistent with the broker acting in good faith.")
หมายความว่า ในเหตุการณ์นี้มีบุคคลสามฝ่าย ฝ่าย 1 เป็นนายหน้าชี้ช่องให้ฝ่าย 2 ได้ทำสัญญากับฝ่าย 3 และกลับกัน ฝ่าย 1 นั้นยังเป็นนายหน้าชี้ช่องให้ฝ่าย 3 ได้ทำสัญญากับฝ่าย 2 ด้วย เพื่อฝ่าย 1 ซึ่งเป็นนายหน้าจะได้รับค่าบำเหน็จจากทั้งฝ่าย 2 และฝ่าย 3 หากสมประโยชน์แก่ทั้งฝ่าย 2 และ 3แต่หากการรับงานซ้ำซ้อนกันเช่นนี้ส่งผลให้ฝ่าย 2 หรือ 3 ต้องเสียหาย อันกล่าวได่ว่า นายหน้ารับค่าบำเหน็จซึ่งปรกติแล้วนายหน้าผู้สุจริตจะไม่รับกัน จัดเป็นการฝ่าฝืนต่อหน้าที่นายหน้า เช่นนี้แล้ว นายหน้าจะหมดสิทธิได้รับค่าบำเหน็จและค่าใช้จ่ายจากฝ่ายที่เสียหายนั้น
เช่น ก ต้องการขายพระเครื่อง จึงติดต่อ ข ให้ช่วยหาคนมาซื้อพระเครื่องตนสักหน่อย, จังหวะเดียวกัน ข ทราบว่า ค กำลังอยากได้พระเครื่องอยู่พอดี จึงเสนอกับ ค ว่าตนจะช่วยหาคนมาขายพระเครื่องให้, และ ข ก็ชี้ช่องให้ ก กับ ค มาทำสัญญาซื้อขายกัน โดยตกลงกันว่า ก จะจ่ายค่าบำเหน็จให้ ข หนึ่งแสนบาท และ ค จะจ่ายค่าบำเหน็จให้ ข เก้าหมื่นบาท, เช่นนี้แล้ว เห็นได้ว่า การที่ ข เป็นนายหน้าควบระหว่าง ก กับ ค ไม่ทำให้ประโยชน์ของ ก และ ค เสียไป กับทั้งไม่ฝ่าฝืนหน้าที่อันพึงกระทำดังนายหน้าผู้สุจริตด้วย, ข จึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จจากทั้ง ก และ ค นั้น, ก หรือ ค จะปฏิเสธว่า ข เป็นนายหน้าควบ ไม่จ่ายค่าบำเหน็จให้มิได้

ความระงับสิ้นลง
กฎหมายไทยมิได้กำหนดอาการที่สัญญานายหน้าจะระงับสิ้นลงไว้โดยเฉพาะ เช่นนี้ จึงเป็นไปตามบทบัญญัติทั่วไปอันว่าด้วยความระงับแห่งสัญญา โดยสัญญานายหน้าย่อมสิ้นลงเพราะวัตถุประสงค์แห่งสัญญาได้บรรลุแล้ว กล่าวคือ เมื่อนายหน้าได้ทำหน้าที่ของตนจนลุล่วงเรียบร้อย
อาจสิ้นลงเพราะในสัญญากำหนดไว้ เช่น ให้สิ้นลงเมื่อพ้นกำหนดสิบเดือนนับแต่วันทำสัญญา หรือให้สิ้นลงเมื่อนายหน้าทำหน้าที่ไม่สำเร็จภายในกำหนดสิบเดือนนับแต่วันทำสัญญา นอกจากนี้ สัญญานายหน้ายังอาจสิ้นลงหากถูกบอกเลิกโดยคู่สัญญาที่มีสิทธิ หรือคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงเลิกสัญญากันก็ได้

อายุความ
เมื่อนายหน้าทำหน้าที่จนลุล่วงแล้ว ย่อมมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าและค่าใช้จ่ายที่ตนเสียไปตามที่ตกลงกับผู้วานนายหน้าไว้ หากผู้วานนายหน้าบิดพลิ้วไม่จ่ายให้ นายหน้ามีทางแก้ไขทางเดียวคือฟ้องเป็นคดีต่อศาล และกฎหมายไทยไม่ได้กำหนดอายุความสำหรับการฟ้องคดีเช่นนี้ไว้เป็นพิเศษ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปอันมีกำหนดสิบปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ซึ่งว่า "อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี"
คำพิพากษาศาลฎีกา138/2502 จำเลยทำสัญญากับโจทก์ ให้โจทก์เป็นนายหน้าชี้ช่องจัดการให้จำเลยทำสัญญาเปิดเครดิตเงินปอนด์กับธนาคาร โดยจำเลยสัญญาจะจ่ายค่านายหน้าในอัตราปอนด์ละ 15 บาท โจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายค่านายหน้าให้ตามสัญญา ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ 108,300 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี จำเลยฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความสองปีตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (7) [ปัจจุบันคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ประกอบธุรกิจจะเรียกสินจ้างให้ฟ้องเป็นคดีภายในสองปี] ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ใช้เวลาว่างจากการงานประจำมาหารายได้ชั่วครั้งชั่วคราวด้วยการเป็นนายหน้า ไม่ใช่ประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าเป็นปรกติ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่อยู่ในกำหนดอายุความสองปีตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (7) แต่มีอายุความทั่วไป คือ สิบปีนั้น ชอบแล้ว เมื่อฟ้องโจทก์ยังไม่พ้นอายุความสิบปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ศาลฎีกาพิพากษายืน
ผไทชิต เอกจริยกร ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงปัญหาการฟ้องร้องเรื่องนายหน้าในประเทศไทย ว่า
"เรื่องที่เป็นปัญหามากที่สุดที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติกันเสมอจนมีการฟ้องร้อง
อยู่เนือง ๆ ก็คือ เมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องให้คู่สัญญาได้พบได้ทำสัญญากัน นายหน้ามักจะถูกคู่สัญญาบิดพลิ้วไม่ยอมชำระบำเหน็จนายหน้า โดยไปแบทำสัญญากันลับ ๆ ไม่ให้นายหน้าทราบ เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระค่านายหน้า และจะได้เอาเงินส่วนที่เป็นบำเหน็จนายหน้าไปเป็นส่วนลดของราคาซื้อขายเพื่อเป็นการประหยัด [ในกรณีที่สัญญาอันนายหน้าเป็นสื่อให้เกิดขึ้นนั้นเป็นสัญญาซื้อขาย] เพราะเห็นว่านายหน้าไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงชี้ช่องเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยลืมไปว่าถ้าไม่มีนายหน้าแล้ว สัญญานั้น ๆ ก็คงจะไม่เกิดขึ้น..."



Create Date : 21 กันยายน 2554
Last Update : 21 กันยายน 2554 13:52:50 น. 13 comments
Counter : 30391 Pageviews.

 


โดย: BoonsermLover วันที่: 15 ตุลาคม 2554 เวลา:10:55:15 น.  

 
กระทู้ดีมีประโยชน์ ขอบคุณครับ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
black Friday appliances | black Friday baby | best deals black friday | tops.bestdealsblackfriday.us">black Friday desktops


โดย: pamay วันที่: 17 ตุลาคม 2554 เวลา:20:06:41 น.  

 
ขอบคุณครับที่รวบรวมข้อมูลดีๆมีประโยชน์


โดย: psion IP: 180.180.57.41 วันที่: 6 พฤศจิกายน 2555 เวลา:13:06:06 น.  

 
ขอบคุณที่แบ่งปันความรู้ดีมีประโยชน์มากคะ



โดย: นายหน้ารุ่นเยาวช์ IP: 58.8.210.176 วันที่: 23 มกราคม 2556 เวลา:9:16:44 น.  

 
ขอบคุณครับ ได้ความรู้เยอะเลย


โดย: สมพงษ์ IP: 110.168.208.252 วันที่: 20 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:16:26:18 น.  

 
ขอบคุณครับ มีประโยชน์มากๆ ครับ
-----------------------------------------

//www.google.com


โดย: นามแฝง IP: 171.96.171.46 วันที่: 5 ตุลาคม 2557 เวลา:11:08:40 น.  

 
ขอบคุณที่ให้ความรู้ค่ะ ไม่ได้เป็นง่ายๆเลย


โดย: มิน IP: 27.55.136.233 วันที่: 24 ธันวาคม 2557 เวลา:21:01:29 น.  

 
//krabistarlighttraveltour.blogspot.com/2015/01/land-for-sale.html

อันนี้คุณบวกเลยอยากได้เท่าไร


โดย: วัชรพันธุ์ IP: 49.49.209.37 วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา:19:02:52 น.  

 
ขอบคุณนะครับ เป็นประโยชน์จริงๆ


โดย: ตุ้ย IP: 202.57.132.197 วันที่: 30 พฤษภาคม 2558 เวลา:15:43:43 น.  

 
ได้ความรู้มากๆค่ะ


โดย: จิน IP: 115.87.92.161 วันที่: 3 กันยายน 2558 เวลา:12:55:33 น.  

 
มี ประโยชน์ และมีสาระดีๆ ได้ความรู้ สามารถนำมาใช้ในชีวิตจริงครับ


โดย: นายประโยชน์ พลจันทึก IP: 171.4.80.232 วันที่: 6 ตุลาคม 2558 เวลา:16:09:15 น.  

 
เราอยากขายบ้านมาก เป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น 4นอน3น้ำ 2 จอดรถ พื้นที่ใช้สอย 180 ตารางเมตร อยู่ย่านพระราม 2 ตั้งไว้ที่ 4.2 ล.เราซื้อมา 4.1ล.เราทำเพิ่มหลายอย่างมากเเราทำพื้นจอดรถใหม่เราต่อเติมหลังบ้านให้เป็นครัวและจัดสวนใหม่ ตั้งใจจะขายแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงแล้วราคานี้ OKมั้ย แล้วถ้าฝากขายจะเหลือเท่าไหร่ เราทำใจไว้แล้วว่ายอมขาดทุนแต่ขอให้ขายได้แต่ไม่อยากจ่ายให้ค่านายหน้า ใครสนใจทักมานะ อยากขายมาก ราคาคุยกันได้ 089-6783092


โดย: ติ่งค่ะ IP: 125.27.217.22 วันที่: 13 สิงหาคม 2559 เวลา:11:20:24 น.  

 
อยากขายทาวเฮ้าส์ ซอยสุขุมวิท 105.(ลาซาล 32) อยู่ม.แฮปปี้แลนด์วิล ติดต่อ 082-5632936. คุณยุ


โดย: ยุวรี IP: 184.22.97.173 วันที่: 16 มิถุนายน 2565 เวลา:11:02:22 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

น้าพร
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 81 คน [?]




Friends' blogs
[Add น้าพร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.