น่าน... เมืองเก่าที่มีชีวิต (วันที่ 5 น่าน-นนทบุรี)


วันเสาร์ที่ 13 ธ.ค.57

เรานอนที่ จันทร์แดงเกสท์เฮ้าส์ มา 2 คืนแล้วยังไม่ได้แนะนำที่พักกันเลย วันนี้ขอมาแนะนำนิดหน่อยนะครับ
 


จันทร์แดงเกสท์เฮ้าส์ ตั้งอยู่ 135 ถนนสุมนเทวราช ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน น่าน 55000 เบอร์โทรศัพท์: 054771417 , 0869986522
 
 


จันทร์แดงเกสท์เฮ้าส์ จะอยู่ติดถนนสุมนเทวราชที่เป็นถนนเส้นหลักของเมืองน่านอีกเส้นหนึ่ง ตัวเกสท์เฮ้าท์จะเป็นเรือนไม้ตกแต่งแบบทางเหนือ เมื่อก่อนจะมีด้านหน้าเปิดบริการเรือนเดียว ต่อมาได้ขยายเพิ่มด้านหลังและทำสะพานไม้เป็นทางเชื่อมชั้นสองให้เดินถึงกันอีกด้วย

ตัวเรือนด้านหน้า
 
 


ที่พักจะมีที่จอดรถอยู่ด้านหลัง ต้องขับเข้าซอยด้านข้างเข้าไป
 
 


ที่จอดรถจะอยู่ในบ้านข้างใน จอดได้ประมาณ 7-8 คัน
 
 



 


 

ด้านนอกเป็นลานจอดรถ ตกแต่งเรือนไม้ด้วย ไม้เลื่อยทำให้ดูร่มเย็นดี
 
 


ที่พักด้านหน้าผมไม่ได้สำรวจ มาดูส่วนเรือนด้านหลังที่ผมพักดีกว่าครับ

ด้านหลังจะเป็นเรือนไม้สองหลัง (ลักษณะเป็นตัว U) ชั้นบนจะเชื่อมติดกัน จะทำเป็นห้องพักทั้งหมด ส่วนชั้นล่าง เรือนแรกชั้นล่างด้านขวามือจะเป็นห้องอาหาร ห้องนั่งเล่นและเป็นสำนักงาน

ส่วนด้านซ้ายมือจะเป็นห้องพักเรียงกันถ้าตรงขึ้นไปจะเป็นบันไดเดินขึ้นไปชั้นสอง

สำนักงาน ห้องอาหารจะกั้นเป็นสัดส่วน
 
 


เดินเข้าไปภายในด้านซ้ายมือจะมีห้องเล็กๆเป็นสำนักงาน ด้านขวาจะวางโต๊ะผลไม้ ขนมนมเนย น้ำร้อน น้ำเย็นให้พร้อมเครื่องดื่มชนิดซองต่างๆไว้บริการให้ลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง
 
 
 
 







ภายในจะมีโต๊ะไม้ใหญ่ 2 ตัวรองรับลูกค้าที่มาเป็นกลุ่มคณะได้หลายท่าน
 

 

 

ขึ้นไปชั้น 2  จะเป็นห้องเรียงกันโดยใช้ชื่อแต่ละอำเภอในจังหวัดน่านมาเป็นชื่อห้อง เก๋ดีครับ
 







 

เข้าไปดูภายในห้อง ห้องชั้นล่างผมไม่ได้ถ่ายรูปมานะครับ ลักษณะห้องจะคล้ายๆกัน เพียงแต่ห้องข้างล่างจะเป็นเตียงคู่ ส่วนชั้นบนจะเป็นเตียงเดี่ยว ภายในห้องกว้างดี แต่งห้องเรียบๆแต่ใช้ประโยชน์เนื้อที่ได้เต็มๆ ปลั๊กไฟก็มีให้หลายจุด

 
 
 








 
 
 
 
 

ส่วนเรือนอีกด้านก็จะทำสะพานไม้ไว้ให้เดินเชื่อมต่อไปยังเรือนด้านหน้าได้
 
 
 
 






 
อีกด้านจะเป็นเรือนโล่งมีโต๊ะไม้ไม่รู้ไว้ให้ลูกค้ามานั่งสังสรรค์กันตอนกลางคืนหรือเปล่า 
 
 
 
 

ตรงนี้จะเป็นทางเข้าไปเรือนด้านหน้าแล้วครับ
 
 


สรุป จันทร์แดงเกสท์เฮ้าส์ เราสองคนชอบมาก ทั้งราคา-ที่พัก-การตกแต่งและอยู่ในถนนเส้นหลักของเมืองน่าน ที่สำคัญเจ้าของน่ารักแถมใจดีอีกต่างหาก 

หลังจากพาชมที่พักก็ได้เวลาเดินทาง ตอนแรกว่าจะไปนอนดอยเสมอดาวแต่เมื่อคืนคุยกันกลับวันนี้เลยดีกว่าพรุ่งนี้จะได้นอนพักหนึ่งวัน วันนี้ก็ขับไปเรื่อยๆอยากแวะตรงไหนก็ค่อยแวะ

ประมาณเจ็ดโมงกว่าๆผมก็ลงมากินโจ๊กเหมือนเดิม เสร็จแล้วก็กลับขึ้นไปเก็บของ อาบน้ำแต่งตัว เวลา 09.03 น.หน้าไมล์ 1010.4 กม.ก็ออกเดินทางจากที่พัก ขับออกไปทางแพร่

ผมมาถึงแยกร้องเข็ม (อ.ร้องกวาง) เวลา 10.29 น.หน้าไมล์ 1100 กม. ขับตรงมาอีก 20 นาทีก็ถึงแยกร่องฟอง (แพร่) เวลา 10.49 น.หน้าไมล์ 1127 กม. เลี้ยวซ้ายเพื่อไปพระธาตุช่อแฮ

จากแยกร่องฟองเลี้ยวซ้ายแล้วขับตรงไปอย่างเดียวเลย ประมาณ 9 กม.ก็จะมาถึงสามแยกตัวทีเลี้ยวซ้ายตรงไปไม่ไกลก็ถึงพระธาตุช่อแฮ

ถึงพระธาตุช่อแฮเวลา 11.00 น.พอดี หน้าไมล์ 1138 กม.

เกือบลืม ก่อนถึงแยกร่องฟอง จะมีทางแยกเข้าไปเที่ยวแพะเมืองผี ถ้ามาจากน่านทางเข้าจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ ส่วนผมไม่ได้แวะ ถ้าใครสนใจก็ลองแวะเข้าไปชมได้
 
 
 
 


 

ครั้งนี้ผมขับมาจอดด้านหลัง เพื่อใช้บริการลิฟต์ของทางวัดครับ


 
 


ทางขึ้นลิฟต์จะมีรถวิลแชร์ไว้ให้กับผู้สูงอายุด้วย
 
 
 


ขึ้นไปแล้วก็ไหว้พระประธานในโบสถ์กันก่อนครับ

- หลวงพ่อช่อแฮ
เป็นพระประธานประดิษฐานในพระอุโบสถ ศิลปะล้านนา เชียงแสน สุโขทัย สันนิฐานว่า สร้างขึ้นหลังจากสร้าง องค์พระธาตุช่อแฮ แล้ว มีอายุหลายร้อยปี หน้าตักกว้าง 3.80 เมตร สูง 4.50 เมตร ก่อสร้างด้วยอิฐโบกปูน ลงรักปิดทองพระเจ้าทันใจและ ไม้เสี่ยงทาย

พระเจ้าทันใจหรือหลวงพ่อทันใจ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิปูนปั้น ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 30 นิ้ว สูงประมาณ 2 ศอก (กว้าง 80 ซม. สูง 1.20 ซม) เป็นพระพุทธรูปองค์ใหม่ที่สร้างขี้นเมื่อปี พ.ศ. 2465ผู้สร้างคือ ชาวไทยใหญ่ (เงี้ยว) สร้างพระพุทธรูป องค์นี้ แทนพระพุทธรูปองค์เดิมที่หล่อด้วยจืน (ตะกั่ว) ที่ถูกลักไป พระเจ้าทันใจหรือหลวงพ่อทันใจ (ทางเหนืออ่านว่า พระเจ้าตันใจ๋) เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มีผู้นิยมมากราบไหว้ บนบานศาลกล่าวอยู่เสมอ เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่ใครมาขอพรแล้ว จะได้สิ่งนั้น อย่างสมประสงค์ ด้านหลังซุ้มพระเจ้าทันใจประดิษฐานอยู่ มีไม้เสี่ยงทายทำด้วยไม้รวก หรือไม้สัก มีความยาวเกิน 1 วา คาดว่าใช้ แทน ไม้เซียมซี เมื่อผู้ใดต้องการเสี่ยงทายสิ่งใด ก็จะนำไม้ดังกล่าวมาทาบกับช่วงแขนที่กางเหยียดตรงไปจนสุดแขนทั้งสองข้าง ความยาวของวาอยู่ตรงจุดใดของไม้ก็จะ ทำเครื่องหมายไว้แล้วนำไม้มาอธิษฐานเบื้องหน้าพระเจ้าทันใจว่า สิ่งที่ตนประสงค์นั้น จะสำเร็จหรือไม่ หากสำเร็จก็ขอให้ความยาวของตนเลยจุดที่ทำเครื่องหมายไว้ออกไป เมื่ออธิฐานเสร็จแล้ว ก็นำไม้เสี่ยงทายขึ้น มาวาอีกครั้งหนึ่ง
 
 


ฝาผนังโบสถ์จะเป็นปูนปั้นลายไทยสีขาวสวยแปลกตาดี
 
 


หลังจากไหว้พระขอพรเสร็จก็ออกไปไหว้พระธาตุช่อแฮ

- พระธาตุช่อแฮ พระธาตุประจำปีขาล ขอมูลจากเวป คลิกเลย

พระธาตุช่อแฮ พระธาตุประจำปีเกิดปีเสือ (ปีขาล) พระธาตุช่อแฮ เป็นพระธาตุ1 ใน12 ราศี คือ เป็นพระธาตุประจำปีเกิด สำหรับคน ที่เกิดปีเสือ (ปีขาล) หากนำผ้าแพรสามสีไปถวายจะทำให้ชีวิตมีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรูได้ การสวดและไหว้ ให้เริ่มต้นนะโม 3 จบ แล้วสวดตามด้วยคาถาบูชาพระธาตุ 5 จบ พลังบารมีจะดลบันดาลให้มีชีวิตที่ดีขึ้น พระธาตุช่อแฮ หมายถึง เจดีย์บรรจุพระบรม สารีริกธาตุพระศอกซ้ายและพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและประดับบูชาด้วยผ้าแพรอย่างดี
 
 




 


รอบพระธาตุกำลังสร้างใหม่ทั้งสี่ด้าน ไม่รู้เรียกว่าอะไร แหะๆ


 
 


มีพระประจำวันเกิดไว้บูชา
 
 


อีกฝั่งก็จะเป็นพระธาตุประจำปีเกิด
 


ด้านข้างๆพระธาตุจะมีพระทันใจไว้ให้เราเข้าไปบูชากราบไหว้
 
 
 


เดินรอบพระธาตุเสร็จก็เดินกลับที่ลิฟต์ รอบพระธาตุก็จะมีจุดทำบุญตลอด

ตรงนี้ก่อนถึงลิฟต์จะเป็นเซียมซี ไม่ต้องเขย่าเหมือนก่อน เพียงแค่หมุนแล้วศรชี้ไปเลขอะไรก็ดูใบเซียมซีเลขนั้นแหละ อืมมมม..
 
 


 
มาครั้งนี้บันไดทาสีสวยสดใสดีจัง ขอแวะถ่ายรูปบันไดก่อนออกจากพระธาตุช่อแฮ
 
 
 
 


 

ออกจากพระธาตุช่อแฮ เลี้ยวขวาขับไปตามทางประมาณ 6 กม.ก็มีป้ายเลี้ยวขวาไปพระธาตุดอยเล็ง พอเลี้ยวขวาก็ขับตามป้ายขึ้นเขาไปประมาณ 5 กม.ก็มาถึงพระธาตุดอยเล็งแล้วครับ

ผมมาถึงพระธาตุดอยเล็งเวลา 11.53 น.หน้าไมล์ 1143.3 กม.

 
 


ลานจอดรถจะอยู่ด้านหน้า จอดเสร็จจะมีบันไดให้เดินขึ้นไปไหว้พระธาตุ มารู้ตอนเดินขึ้นบันไดไปถึงข้างบนพระธาตุแล้วว่า รถสามารถขับขึ้นไปได้เลย ให้ขับเลี้ยวซ้ายไปทางด้านข้างบันไดไปอีก

ทางขึ้นพระธาตุดอยเล็ง เป็นทางสองเลนจะกว้างช่วงตีนเขา แอบมีโค้งหักศอกนิดนึง ทางชันเป็นบางจุดขับระมัดระวังด้วย รถเก๋งก็ขึ้นได้สบายๆ ยังไม่โหดเท่าไหร่ ขอแค่ขับไม่ประมาทก็ไม่อันตรายแล้วครับ
 
 


 
เอาข้อมูล พระธาตุดอยเล็ง มาฝาก คลิกเลย
 
 
 


 
ขึ้นมาแล้วเราสามารถมองเห็นพระธาตุช่อแฮและวิวเมืองน่านได้บนพระธาตุดอยเล็ง
 
 
 


ด้านหน้าพระธาตุจะเป็นศาลามีพระพุทธรูปจำลองพระเกจิดังๆเหมือนจริงหลายรูปไว้ให้กราบไหว้ด้วยครับ
 
 


เดินไหว้พระธาตุ ชมวิวเสร็จก็ลงจากพระธาตุดอยเล็ง

ลงจากพระธาตุดอยเล็งเวลา12.10 น. กลับทางเดิม ไปพระธาตุช่อแฮ ถึงหน้าพระธาตุช่อแฮเลี้ยวขวาจะกลับเข้าตัวเมืองแพร่ ถ้าขับตรงไปผ่านหน้าพระธาตุช่อแฮไปอีกประมาณ 1.5 กม.จะมาถึงพระธาตุจอมแจ้ง ถ้าใครมาแพร่วิ่งเส้นนี้ ต้องมาไหว้ 3 พระธาตุจะอยู่ใกล้ๆกัน ได้แก่ พระธาตุช่อแฮ พระธาตุจอมแจ้ง แล้วก็พระธาตุดอยเล็ง

ผมมาถึงพระธาตุจอมแจ้งเวลา 12.20 น.หน้าไมล์ 1149.8 กม.
 



 
 


 
พระธาตุจอมแจ้ง : สร้างเมื่อ พ.ศ. 1331 ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้าง องค์พระธาตุจอมแจ้งสีทอง สูง 29 เมตร ฐานกว้าง 10 เมตร เดิมเรียกว่า พระธาตุจวนแจ้งเนื่องจากสมัยที่พระพุทธองค์เสด็จถึงสถานที่นี้จวน สว่างพอดี ต่อมาเพี้ยนเป็นจอมแจ้งเชื่อกันว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่บรรจุ พระเกศธาตุและพระบรมสารีริกธาตุ พระหัตถ์เบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า ข้อมูลจากเวป คลิกเลย

 
 


 
ด้านข้างพระธาตุจะเป็นอุโบสถ

 
 


 


 
พระประธาน

 
 


 
เดินออกมาด้านนอกจะมีพระนอนประทับอยู่กลางศาลาเปิดโล่ง


 
 


 
 


ด้านข้างๆจะเห็นมีก่อกองทราย ไม่รู้ทางพระธาตุทำพิธีอะไรมาก่อนหรือเปล่า
 
 


พระธาตุจอมแจ้ง ค่อนข้างเล็กดูเงียบมาก ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมาทำบุญเท่าไหร ใครแวะมาไหว้พระธาตุช่อแฮก็อย่าลืมมาทำบุญที่พระธาตุจอมแจ้งด้วยนะครับ ไม่ไกลกันเลย

ผมอยู่ที่พระธาตุจอมแจ้งได้ไม่นานก็ได้เวลาไปหามื้อเที่ยงแล้วครับ

ออกจากพระธาตุจอมแจ้งเวลา 12.33 น. ก็ขับกลับไปทางพระธาตุช่อแฮ ถึงหน้าพระธาตุก็เลี้ยวซ้ายขับไปทางตัวเมืองแพร่ ถึงแยกสนามบินก็เลี้ยวซ้าย ขับตรงไปตัวเมืองแพร่ เลี้ยวขวาไป ร้องกวาง-น่าน ผมเลี้ยวซ้ายขับไปถึงเด่นชัย เพื่อจะแวะกินร้านไซทอง

ก่อนถึงสี่แยกเด่นชัย ร้านไซทองจะอยู่ทางด้านซ้ายมือไม่ต้องกลับรถให้ลำบาก แต่ก่อนถึงร้านไซทอง จะมีร้านไส้กรอกเผาเตาดินหรือร้านไทรทองดักไว้ก่อน ร้านนี้ตอนมาครั้งที่แล้วไม่เคยเห็นหรือผมไม่ได้สังเกตก็ไม่รู้ แต่เห็นรถจอดเยอะเหมือนกัน ไว้คราวหน้าจะลองแวะชิมดู เปรียบเทียบใครอร่อยกว่ากัน ตอนนี้ขอแวะชิมร้านไซทองก่อนครับ
 
 


ที่จอดรถกว้างขว้างเหมือนเดิม ถ้าข้างหน้าเต็มก็สามารถเข้าไปจอดข้างในร้านได้เลยครับ ครั้งที่แล้วที่เคยมารถแน่นเลย มาครั้งนี้ลูกค้าหายไปเยอะ สงสัยเจอคู่แข่งเปิดตัดหน้าดักลูกค้าไปพอสมควร อันนี้เรื่องของฝีมือและคุณภาพ การค้าเสรีเนอะ ใครดีใครอยู่ ผู้บริโภคได้เปรียบ อิอิ

มาดูเมนูในร้านกันครับ
 
 



ผมมาถึงร้านไซทองเวลา 13.00 น.หน้าไมล์ 1178.8 กม. กำลังหิวเลยครับ ยิ่งเห็นกำลังเผาอยู่ มันน่ากินไปหมด

 
 


 
วิธีสั่งก็ยืนข้างหน้าเตานั้นแหละ จะมีใบสั่งอาหารมาให้เราเลือกก็ติ๊กๆอาหารที่เราจะกินลงไป แล้วก็จ่ายตังค์ที่เคาเตอร์ด้านหน้า เสร็จก็รออาหารแล้วยกไปกินที่โต๊ะเอง ถ้าเมนูไหนช้าเดี๋ยวเค้าจะตามไปส่งให้ที่โต๊ะอีกที

มา 2 คน สั่งไป 8 อย่าง เห้อๆ
 
 


 
มีปลานิลเผา เนื้อหวานโพด น้ำจิ้มก็เด็ดดวงมาก ตัวนี้สองคนแทะเกลี้ยงเลยครับ
 
 


ซี่โครงหมูย่าง จานนี้หน้าตาดูเป็นพระเอกเลย แต่รสชาติเฉยๆจืดไปหน่อย ออกแห้งไปนิดๆ จานนี้แต่ก็ไม่ถึงกับไม่อร่อย สั่งก็ได้ไม่สั่งก็ไม่เสียดาย
 
 


ต้มยำปลา ชามนี้รสชาติกลมกล่อมมาก เปรี้ยว เค็มกำลังดีซดร้อนคล่องคอชื่นใจ แต่ไม่รู้ว่าเป็นปลาอะไร ไม่รู้ว่าปลาดอลลี่หรือเปล่าแต่ช่างเถอะ ชามนี้ซดแต่น้ำก็ชื่นใจแล้ว เมนูนี้โอเค
 
 



ไส้อั่วเตาเผา ใส่เครื่องเทศผสมกันลงตัวยิ่งใช้เตาเผาดินไฟกำลังดีทำให้ไส้อั่วมีกลิ่นหอมของเครื่องเทศ สมกับเป็นเมนูหลักของร้าน แต่จานนี้กินไม่หมดครับต้องห่อกลับบ้าน

 
 


 
แหนมหมกใบตอง จานนี้ไม่ปลื้ม เนื้อแหนมแฉะๆ ไม่แห้งรสจืดๆเฉยๆไม่ชอบ 
 
 
 
 


ส่วนแคบหมูกับน้ำพริกตาแดงพร้อมผักเครื่องเคียงไม่ได้ถ่ายรูปมาครับ แคบหมูสั่งมากินเล่นได้เลยกรอบๆ เค็มๆอร่อยดี ส่วนน้ำพริกตาแดงเฉยๆ ส่วนจานสุดท้ายส้มตำไทยสั่งมาทีหลังแฟนอยากกิน ส่วนผมท้องไม่มีที่จะเก็บแล้วเลยไม่ได้ชิมแต่แฟนบอกว่าอร่อย กินคนเดียวหมดจาน เห้อๆ
 
 
 


อาหาร 8 อย่าง ข้าวเหนียว 2 ถุง น้ำแข็ง 1 กระติ๊ก น้ำเปล่า+เป็ปซี่อย่างละขวดทั้งหมด 530 บาท อิ่มสบายใจไร้กังวล 555

สรุป ร้านอาหารไซทองโดยรวมรสชาติกลางๆ มีโดดเด่นอยู่ไม่กี่อย่าง ดีตรงที่มีอาหารให้เลือกเยอะ ร้าน-ห้องน้ำสะอาด ที่จอดรถกว้างขว้าง ราคาสมน้ำสมเนื้อ การบริการดีขึ้นกว่าเก่า ไว้มีโอกาสจะลองอีกเจ้าเพื่อมาเปรียบเทียบรสชาติ

ปล.ใบเสร็จราคา 490 บาท สั่งส้มตำทีหลังจานละ 40 บาท
 
 


หลังจากเช็คบิลเรียบร้อยก็ขับออกจากร้านไซทอง เวลา13.45 น. ถึงแยกเด่นชัยเลี้ยวซ้ายขับไปถึงพิษณุโลกตรงวังทองเลี้ยวซ้ายเข้าเส้น 11 (เส้นนี้ขับง่ายครับ ตรงอย่างเดียวก็จะมาถึงอินทร์บุรี เสียอย่างเดียวถนนมีสองเลนรถวิ่งสวนกันแถมถนนพังทั้งสาย ยิ่งเย็นๆสิบล้อวิ่งด้วยทำเวลาไม่ได้ ไม่แนะนำครับ)

เส้นนี้จะผ่าน อำเภอสากเหล็ก- อำเภอวังทรายพูน -อำเภอทับคล้อ -บ้านเขาทราย –อำเภอดงเจริญ- อำเภอหนองบัว-อำเภอไพศาลี ตากฟ้า – อินทร์บุรี

ผมมาถึงสี่แยกสากเหล็กเวลา 16.00 น.หน้าไมล์ 1,374 กม. แวะเติมน้ำมันเต็มถังก่อนครับ
 
 


หลังจากนั้นก็ขับมาเรื่อยๆ ถนนเน่าทั้งสาย แถมเจอรถใหญ่ก็ต้องคลานตามกันไปเรื่อยๆ มาถึงสี่แยกตากฟ้า ก็แวะเปลี่ยนน้ำมันกรองโซล่า พอดีไฟโชว์ที่หน้าไมล์เลยแวะเปลี่ยนตรงอู่แถวนั้นพอดีครับ ใช้เวลาเปลี่ยนประมาณ 20 นาที ก็ขับไปเรื่อยๆจนมาถึงอินทร์บุรี เลี้ยวซ้ายไปถึงสี่แยกไฟแดง ตรงไปหน่อยชิดซ้ายแวะกินข้าวที่ปั๊มน้ำมัน ชื่อร้านน้องเปิ้ลครับ
 
 


ผมมาถึงร้านน้องเปิ้ลเวลา 18.35 น.หน้าไมล์ 1,553 กม. ร้านนี้เป็นร้านประจำผมครับ ถ้าไม่อิ่มจากที่อื่นมาก่อนก็จะมาฝากท้องไว้กับร้านนี้

ร้านเปิ้ลขายข้าวแกง ง่ายๆ ซื้อคูปองเสร็จก็ไปจิ้มๆเอามีอาหารหลายอย่าง มื้อนี้ก็กินง่ายๆอย่างในรูปนั้นแหละครับ
 
 


ร้านจะอยู่ภายในปั๊มเลยครับ มีที่จอดรถสบายๆ ภายในร้านจะมีขนม ของกินซื้อฝากกลับบ้านด้วย
 
 
 
 


ไข่เค็ม-น้ำพริกเผาไปกินที่บ้านต่อ
 
 
 


อิ่มเสร็จก็เดินทางกลับบ้าน ออกจากร้านน้องเปิ้ลเวลา 19.20 น.

ผมมาถึงบ้าน (นนทบุรี) เวลา 21.23 น.หน้าไมล์ 1,702.8 กม. ส่วนน้ำมันก็เหลือตามรูปนั้นแหละครับ
 
 


สำหรับทริปนี้ก็ไปแบบไม่มีวางแผนใดๆ เพียงแค่อยากไปเที่ยวน่าน ก็ขับรถไป ซึ่งต่างกับทริปก่อนๆ ที่ต้องวางแผน จองที่พักหาข้อมูลร้านอาหาร กว่าจะลงตัวได้ก็ใช้เวลาเกือบอาทิตย์ ไปแบบนี้ก็สนุกไปอีกแบบ ไปลุ้นกันแต่ละวันว่าวันนี้จะไปเที่ยวไหนดี ไว้มีโอกาสไปเที่ยวจะมาบันทึกเรื่องราวใหม่ครับ

ย้อนดูทริป น่าน... เมืองเก่าที่มีชีวิต

วันที่ 1 นนทบุรี – แพร่ คลิกเลย

วันที่ 2 แพร่ – ภูลังกา รีสอร์ท คลิกเลย

วันที่ 3 ภูลังกา รีสอร์ท – น่าน คลิกเลย

วันที่ 4 ตัวเมืองน่าน คลิกเลย

สรุประยะเดินทางวันนี้ทั้งหมด 692.4 กม.

จันทร์แดงเกสท์เฮ้าส์ น่าน – พระธาตุช่อแฮ ระยะทาง 128 กม.
พระธาตุช่อแฮ – ร้านไซทอง (แยกเด่นชัย) 29 กม.
ร้านไซทอง – แยกสากเหล็ก (พิจิต) 195 กม.
แยกสากเหล็ก – แยกอินทร์บุรี (สิงห์บุรี) 180 กม.
แยกอินทร์บุรี – นนทบุรี 149 กม.

ค่าใช้จ่ายวันนี้
- ทำบุญที่พระธาตุช่อแฮ 120 บาท
- ค่าอาหารร้านไซทอง 530 บาท
- เติมน้ำมัน ดีเซล ธรรมดา PTT เต็มถัง 1,580 บาท (ทั้งหมด 56 ลิตรๆละ 28.21 บาท) ปล.กทม.ลิตรละ 27.89 บาท
- เปลี่ยนกรองโซล่า+ค่าแรง 400 บาท
- ค่าอาหารร้านน้องเปิ้ล 134 บาท
- ไข่เค็ม-น้ำพริก ร้านน้องเปิ้ล 140 บาท
รวมทั้งหมด 2,904 บาท
 


รวมระยะทางทั้งหมดตลอดทริป 1,702.8 กม.

สรุปค่าใช้จ่ายแต่ละวัน

วันแรก 2,604 บาท
วันที่สอง 4,093 บาท
วันที่สาม 2,975 บาท
วันที่สี่ 904 บาท
วันที่ห้า 2,904 บาท

รวมค่าใช้จ่าย 5 วัน ตลอดทริป 13,480 บาท

 



Create Date : 15 มกราคม 2558
Last Update : 27 กันยายน 2564 20:17:00 น. 0 comments
Counter : 5000 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nongmalakor
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 120 คน [?]




ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง
Google
Group Blog
 
<<
มกราคม 2558
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
15 มกราคม 2558
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add nongmalakor's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.