การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะหลังคลอด

.....การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ใช่เพียงแค่เป็นการให้อาหารเพื่อให้ลูกอิ่มและ
ช่วยให้ลูกเติบโตเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการส่งเสริมพัฒนาการและการเจริญ
เติบโตของเด็กอย่างมีคุณภาพ ช่วยเอื้อโอกาสให้เด็กลายเป็นผู้มีบุคลิกภาพ
ที่ดี เป็นผู้มีจริยธรรม จิตใจอ่อนโยน อดทน อดกลั้นและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้
อื่น ทั้งยังส่งผลโดยตรงต่อแม่ ครอบครัว สังคม และประเทศ กล่าวคือ แม่จะลดโอกาสการเกิดมะเร็งเต้านม ครอบครัวจะมีความสุขอันเนื่องมาจากการเป็นเด็กแข็งแรง มีพัฒนาการที่ดี ไม่ต้องเปลืองเงินไปกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลูกและการซื้อนมผสม สังคมจะเปี่ยมไปด้วยคนที่มีจิตใจดีและมีความสามารถเต็มตามศักยภาพ ในขณะที่ประเทศมั่นคงเพราะสังคมดีและเศรษฐกิจดี ซึ่งนมผสมไม่สามารถให้คุณค่าได้เท่ากับนมแม่
+-+ ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะหลังคลอด +-+

>>> ประโยชน์ต่อแม่

1. ลดการตกเลือดหลังคลอด

2. ช่วยขับน้ำคาวปลา ทำให้มดลูกเข้าอู่หรือคืนสู่สภาพเดิมได้เร็วขึ้น

3. ทำให้รูปร่างดี ไม่อ้วน

4. ลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่

5. ลดความเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางอันเนื่องจากการไม่มีประจำเดือนระหว่าง

ให้นมลูก

6. สะดวกเพราะสามารถให้ลูกกินที่ไหนและเมื่อไรก็ได้

7. กระตุ้นจิตสำนึกของการเป็นแม่ ทำให้แม่เอาใจใส่เลี้ยงลูก เกิดความรัก ความผูกพัน ระหว่างแม่และลูกเป็นรากฐานต่อการพัฒนาสุขภาพจิตลูกต่อไปในอนาคต

>>> ประโยชน์ต่อลูก

1. มีสารอาหารครบถ้วน เหมาะสมต่อการย่อยและการดูดซึมของลูก ทำให้การเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูกสมบูรณ์

2. ให้ภูมิต้านทานโรคแก่ลูกทำให้ไม่ค่อยเจ็บป่วย โดยเฉพาะน้ำนมในช่วงแรกๆเป็นวัคซีนหยดแรกของชีวิต

3. มีสารซึ่งทำให้ระบบที่สำคัญของร่างกาย เช่น สมอง ประสาท เจริญเติบโตสมบูรณ์ ทำให้มีการพัฒนาของสมองดี มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด

4. นมแม่มีสารกระตุ้นการเจริญของเซลบุเนื้อเยื่อ ทำให้ผนังลำไส้เจริญเติบโตดี ป้องกันสารแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายทางลำไส้ ป้องกันการแพ้โปรตีน หรือป้องกันภูมิแพ้

5. มีน้ำย่อยหลายชนิด บางชนิดช่วยย่อยนมแม่ บางชนิดเป็นตัวนำเกลือแร่ทำให้ถูกดูดซึมได้ง่าย และบางชนิดทำลายเชื้อโรคซึ่งจะช่วยป้องกันโรคท้องร่วงได้

6. ช่วยขับขี้เทา ถ่ายอุจจาระง่าย ไม่แข็ง ลดอาการตัวเหลืองของลูก

7. ให้ฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของลูก

8. ได้รับความอบอุ่นทางจิตใจ อันเป็นรากฐานต่อสุขภาพจิต และการปรับตัวเข้ากับสังคม

>>> ประโยชน์ต่อครอบครัว

1. ประหยัดรายจ่ายในการซื้อและเตรียมนมผสม

2. ลูกแข็งแรงทำให้ประหยัดรายจ่ายจากค่ารักษาพยาบาลลูก และแม่ไม่ต้องลางานบ่อย

3. เชื่อมความรักและความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

+-+ วิธีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เน้นหลักที่ ดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี +-+

• ดูดเร็ว โดยลูกต้องได้ดูดนมแม่ทันทีหลังคลอดหรือภายใน 1/2 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เพื่อสร้างความผูกพัน ความรัก และความอบอุ่นให้เกิดขึ้นระหว่างแม่-ลูก และยังเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายของแม่สร้างน้ำนมออกมาเร็วขึ้นด้วย
• ดูดบ่อย ลูกต้องได้ดูดนมแม่บ่อยๆทุก 2-3 ชั่วโมงและให้ลูกดูดนมแม่ตามความต้องการ ควรให้ลูกดูดนมข้างละประมาณ 10-15 นาที เนื่องจากการให้ลูกดูดนมแม่บ่อยจะทำให้ร่างกายของแม่สร้างและหลั่งน้ำนม ได้มากและเพียงพอต่อความต้องการของลูก
• ดูดถูกวิธี จะทำให้ลูกดูดนมได้ถนัดและน้ำนมแม่ก็หลั่งได้ดี ขณะให้นมลูกแม่จะนั่งหรือนอนก็ได้ ตะแคงตัวลูกเข้าหาแม่ ศีรษะและลำตัวลูกอยู่ในแนวเดียวกันหรือก้มเล็กน้อย มือของแม่ข้างหนึ่งประคองเต้านมและอีกข้างหนึ่งประคองศีรษะลูกให้ลูกอมหัวนมและลานหัวนมให้ลึกจนเหงือกของลูกกดลงบนลานหัวนมซึ่งมีน้ำนมอยู่ภายใน ลิ้นจะอยู่ใต้ลานหัวนมเพื่อรีดน้ำนมออกมา

+-+ เทคนิคการให้นมแม่อย่างถูกวิธี +-+

1. ท่าการให้นมของแม่และลูกควรอยู่ในท่าที่สบาย ผ่อนคลายทั้งท่านั่งและท่านอน โดยให้ลูกนอนตะแคงตัวเข้าหาแม่เสมอ ท้องลูกแนบท้องแม่ ปากลูกอยู่ตรงกับหัวนมแม่ ศีรษะและลำตัวลูกอยู่ในแนวเดียวกันหรือก้มเล็กน้อย คอไม่บิด ศีรษะลูกอยู่สูงกว่ากระเพาะอาหารเล็กน้อยโดยให้ท้ายทอยลูกพาดอยู่ที่ข้อพับแขนแม่ในลักษณะแม่โอบกอดลูกไว้ในวงแขน ท่าในการอุ้มให้นมลูกมี 4 ท่า ดังนี้

• ท่านอน (Side lying) แม่และลูกนอนตะแคงข้างเข้าหากัน แม่โอบกอดลูกไว้ในวงแขนโดยใช้แขนข้างเดียวกับเต้านมที่จะให้ดูด เป็นท่าเหมาะที่สุดเพราะแม่ได้พัก ใช้กับแม่หลังคลอดลูกในวันแรก แม่ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง

• ท่านั่ง มี 3 ท่า ควรใช้เมื่อแม่พร้อมจะลุกขึ้นนั่งได้และพิจารณาใช้ท่าแต่ละท่าให้เหมาะกับปัญหาของแม่

- ท่า Cradle position แม่อุ้มลูกไว้บนตักและโอบกอดลูกไว้ในวงแขนแนบอก โดยใช้แขนข้างเดียวกับเต้านมที่จะให้ดูด ศีรษะลูกอยู่ที่ข้อพับแขน ฝ่ามือแม่ประคองที่ก้นหรือต้นขาลูก เป็นท่าที่แม่ทุกคนนิยมใช้และลูกไม่มีปัญหาการดูดนมแม่

- ท่า Modified Cradle position แม่อุ้มลูกไว้บนตักแต่เปลี่ยนมือจากท่า Cradle เป็นใช้มือข้างเดียวกับเต้านมที่ลูกดูดจับเต้านมไว้ และใช้แขนอีกข้างโอบกอดลูก มือจับและพยุงบริเวณท้ายทอยลูก เป็นท่าที่ใช้กับลูกที่มีปัญหาการดูดนม เพื่อประคับประคองลูกได้ถนัดและนำลูกเข้าหาลานหัวนมแม่ได้เร็วขึ้น เพื่อลูกจะอมหัวนมแม่ได้ลึกพอ ทำให้ลูกไม่หงุดหงิดหรือปฏิเสธการดูดนมแม่ เช่น กรณีหัวนมแตก/พอง ใช้เพื่อเปลี่ยนรอยงับของลูก ลดการเจ็บหัวนมของแม่ลง

- ท่า Football position อุ้มลูกนอนตะแคงไว้ด้านข้างลำตัวแม่ ปลายเท้าลูกชี้ไปด้านหลัง มีหมอนรองตัวลูก 2 ใบ แม่ใช้มือข้างเดียวกับเต้านมที่ลูกดูดจับและพยุงบริเวณท้ายทอยลูก ส่วนแขนโอบกอดลูกให้กระชับเข้าหาตัวแม่ เหมาะกับแม่ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องเพื่อไม่ให้ลูกนอนทับแผลแม่ แม่มีลูกแฝดเพื่อลูกได้ดูดนมแม่พร้อมกัน ลดเวลาการให้นมลูก แม่หัวนมสั้น หัวนมใหญ่เพื่อให้ลูกอมหัวนมได้ลึกพอ ไม่มีสิ่งกีดขวางระหว่างปากลูกกับหัวนมแม่ แม่หัวนมแตกเพื่อเปลี่ยนทิศทางรอยงับของลูก แม่เต้านมคัดบางส่วน (block duct) เพื่อลูกจะได้เปลี่ยนทิศทางการดูดรีดน้ำนมส่วนที่คัดออกมา

2. การประคองเต้านมที่ถูกต้องจะช่วยให้หัวนมเข้าไปในปากลูกได้ลึกขึ้น โดยมือแม่ควรอยู่นอกลานหัวนม นิ้วมือทั้งสี่อยู่ด้านล่าง นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านบน ปรับมือที่ประคองเต้านมไปตามแนวปากของลูกเป็นรูปตัว U หรือตัว C แม่ควรประคองเต้านมไว้ตลอดเวลาจนกว่าลูกจะดูดนมแม่ติด

3. การอมหัวนมให้ลึกพอ (Latch-on) แม่ใช้หัวนมแม่เขี่ยริมฝีปากลูกเบาๆเพื่อให้ลูกอ้าปากกว้างที่สุด พร้อมกับโอบศีรษะลูกเข้าหาเต้านมแม่โดยเร็ว เพื่อลูกจะอมหัวนมได้ลึกถึงลานหัวนมโดยสังเกตจากปลายจมูกลูกอยู่ชิดเต้านม เว้นปีกจมูกไว้หายใจ ริมฝีปากบนและล่างบานออก คางแนบเต้านม แก้มป่อง ..... การอุ้มให้นมลูกอย่างถูกวิธีจะทำให้ลูกนอนดูดนมในลักษณะที่สงบ มีความสุขและความพอใจสังเกตได้จากมือและเท้าลูกนิ่ง มือที่กำเริ่มคลายออก การดูดจะเป็นจังหวะช้าๆสม่ำเสมออาจเห็นเต้านมกระเพื่อมไปตามจังหวะการดูด ถ้าลูกดูดได้น้ำนมมากอาจได้ยินเสียงกลืนนม การดูดที่ถูกต้องลูกจะดูดอย่างเดียวไม่ใช่ทั้งดูดและดึงเต้านมไปด้วย ดังนั้นเต้านมจะไม่ยาน หัวนมจะไม่ถูกดึงให้ยืดยาวออก และข้อสำคัญขณะดูดนมแม่จะไม่เจ็บหัวนม เพราะเหงือกลูกกดลงบนลานหัวนมไม่ได้กดที่หัวนม ถ้าเจ็บหัวนมต้องรีบหาสาเหตุเพื่อแก้ไขเสียแต่เนิ่นๆ

4. ระยะเวลาการให้นม ในระยะแรกหลังคลอดควรให้ลูกดูดนมแม่ทั้ง 2 ข้างๆละ 15 นาทีเพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีน้ำนมเพิ่มมากขึ้น ต่อมาเมื่อมีน้ำนมมากควรให้ลูกดูดให้เกลี้ยงเต้าเพราะร่างกายจะได้สร้างน้ำนมชุดใหม่ได้อย่างเต็ม ที่เอาไว้ให้ลูกดูดได้มากๆในมื้อต่อๆไป

5. การเอาหัวนมออกจากปากขณะที่ลูกกำลังดูดนมแม่อยู่หรือขณะที่ลูกหลับ คุณแม่ไม่ควรดึงหัวนมออกจากปากทั้งที่ลูกกำลังอมหัวนมอยู่เพราะลูกอาจจะงับแรงขึ้น วิธีที่จะทำให้ลูกคายหัวนมออกโดยไม่ทำให้หัวนมแตกหรือถลอก คือ ใช้นิ้วก้อยสอดเข้าไประหว่างมุมปากลูกและแทรกผ่านเหงือก หรือใช้มือกดคางลูก ลูกก็จะปล่อยหัวนมออกเอง ในขณะเดียวกันให้คุณแม่ค่อยๆถอนหัวนมออกจากปากลูก

6. การไล่ลม ควรทำให้ลูกเรอทันทีหลังจากให้ลูกดูดนมเสร็จแล้วทุกครั้งหรือทำให้ลูกเรอก่อนที่จะให้ลูกมาดูดนมอีกข้างหนึ่ง

มี 2 วิธี

• การไล่ลมในท่าอุ้มพาดบ่า ให้คางลูกอยู่ที่บ่าของแม่ ใช้ฝ่ามือลูบหลัง หรือตบหลังเบาๆจนได้ยินเสียงเรอ
• การไล่ลมในท่านั่งบนตัก ให้โน้มตัวลูกมาด้านหน้าเล็กน้อย ใช้ฝ่ามือหนึ่งประคองใต้คางลูก อีกมือหนึ่งลูบหลังหรือตบหลังเบา ๆ จนได้ยินเสียงเรอ

+-+ การบีบเก็บน้ำนมแม่ +-+

..... กรณีที่ลูกไม่สามารถดูดนมแม่ได้อันเนื่องมาจาก ลูกป่วยต้องนอนอยู่โรงพยาบาล แม่ต้องทำงานนอกบ้าน แม่ต้องฝึกบีบน้ำนมเก็บไว้ให้ลูกกินนมจากแก้วได้ วิธีการบีบน้ำนมด้วยตนเองมีขั้นตอนดังนี้

1. การเตรียมภาชนะใส่น้ำนม ควรมีฝาปิดมิดชิด เช่น ขวดนม หรือแก้ว ล้างให้สะอาด นำมาต้มในน้ำเดือดนาน 10 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อโรค

2. แม่ต้องล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนการบีบน้ำนม ระวังเรื่องความสะอาด พยายามไม่ให้มีการปนเปื้อนเชื้อโรค

3. กระตุ้นการหลั่งของน้ำนมด้วยการใช้ผ้าขนหนูอุ่นๆวางประคบบนเต้านมสัก 1-2 นาที จากนั้นใช้ฝ่ามือข้างหนึ่งประคองเต้านมด้านล่างและใช้ปลายนิ้วมืออีกข้างหนึ่งนวดคลึงเต้านมเบาๆเป็นวงกลมเริ่มจากฐานของเต้านมไปยังหัวนม

4. การบีบน้ำนมจะใช้มือข้างไหนก็ได้ที่แม่ถนัด วางนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ที่ขอบนอกของลานหัวนม

5. กดนิ้วทั้งสองเข้าหาอกแม่ แล้วจึงบีบสองนิ้วเข้าหากัน น้ำนมจากกระเปาะน้ำนมจะถูกดันพุ่งออกมา นำขวดนมหรือแก้วรองรับน้ำนม เมื่อน้ำนมไหลออกให้ผ่อนนิ้วได้ ในการบีบไม่ควรใช้แรงบีบมากจนเจ็บหรือใช้นิ้ว มือไถเพื่อรีดน้ำนมเพราะจะทำให้ผิวหนังถลอกได้

6. คลายนิ้วและเริ่มทำซ้ำใหม่โดย กด บีบ ปล่อย เป็นจังหวะ จนกระทั่งน้ำนมน้อยลง จึงค่อยๆเลื่อนนิ้วทั้งสองไปรอบๆลานนม เพื่อบีบน้ำนมออกจากกระเปาะจนหมดเต้าโดยดูได้จากเต้านมจะนุ่มทั้งสองเต้า ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที

7. การบีบเก็บน้ำนมลงในขวดเท่าที่ลูกต้องการกินในแต่ละมื้อ

8. หลังจากบีบเสร็จ ปิดภาชนะให้มิดชิด ติดป้าย เขียนวันที่และเวลาที่บีบเก็บไว้

9. เมื่อบีบน้ำนมเสร็จ ควรปล่อยให้หัวนมแห้งก่อนแล้วจึงใส่ยกทรง ปรับให้ตัวเสื้อรับน้ำหนักพอดี เพื่อพยุงเต้านมไว้ไม่ให้หย่อนยาน

10. ควรบีบน้ำนมทุก 3 ชั่วโมง ไม่ควรนานกว่า 4 ชั่วโมงเพราะเต้านมจะคัดในระยะแรกและการสร้างน้ำนมลดน้อยลงในที่สุด

+-+ ระยะเวลาการเก็บน้ำนม +-+

ระยะเวลาที่เก็บได้ ระยะเวลาที่เก็บได้
เก็บในอุณหภูมิห้อง 4-6 ชั่วโมง
เก็บในกระติกน้ำแข็ง 1 วัน
เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา 1-2 วัน
เก็บในตู้เย็นช่องแช่แข็ง (แบบประตูเดียว) 2 สัปดาห์
เก็บในตู้เย็นช่องแช่แข็ง (แบบประตูแยก) 3 เดือน

+-+ การป้อนนมลูกด้วยแก้ว +-+
..... เมื่อแม่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองบางครั้งอาจต้องไปธุระ หรือไปทำงานในเวลากลางวันเมื่อครบวันลาหลังคลอด การป้อนนมจากแก้วเป็นวิธีที่ดีที่สุดแทนการให้ลูกดูดนมจากขวด ด้วยเหตุผลดังนี้
- ลูกอาจติดการดูดหัวนมยางและไม่ยอมดูดนมแม่อีก เพราะวิธีการที่ลูกใช้ลิ้นและริมฝีปากในการดูดนมแม่ต่างจากการดูดจากขวด
- การดูดจากขวดทำให้ลูกมีปัญหาในการพัฒนาฟันและกราม
- การป้อนนมด้วยแก้วฝึกไม่ยาก ปลอดภัย และยังใกล้ชิดกับลูกมากกว่า

+-+ วิธีป้อนนมจากแก้ว +-+

1. เตรียมแก้วสำหรับใสน้ำนม โดยล้างให้สะอาด ต้มน้ำเดือดนาน 10 นาที

2. ถ้ามีการแช่น้ำนมไว้หลายขวด ให้ใช้น้ำนมที่บีบไว้แรกๆก่อน

3. นำน้ำนมจากช่องแช่แข็งมาวางทิ้งไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา เพื่อให้ค่อยๆละลายจนหมด อุ่นน้ำนมที่ละลายแล้วในอ่างที่มีน้ำอุ่นอย่างช้าๆ เพื่อให้ชั้นไขมันที่แยกตัวออกมานั้นผสมเป็นเนื้อเดียวกัน ห้ามอุ่นหรือละลายน้ำนมโดยใช้เตาไมโครเวฟ หรือการต้ม

4. เขย่าน้ำนมให้เป็นเนื้อเดียวกัน เทแบ่งใส่แก้วที่เตรียมไว้ประมาณครึ่งแก้ว

5. ขณะที่จะเริ่มป้อนนมด้วยแก้วนั้น ถ้าลูกไม่อยู่นิ่ง ควรห่อตัวลูกไว้เพื่อป้องกันลูกเอามือมาปัดแก้ว

6. วางผ้ากันเปื้อนไว้ใต้คางลูก

7. อุ้มลูกนั่งบนตักในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน โดยแม่อยู่ในท่านั่งที่สบาย ใช้ฝ่ามือประคองที่ต้นคอลูก

8. ใช้มือจับแก้ว วางปากแก้วแนบที่ริมฝีปากล่างของลูกเบาๆ เอียงแก้วให้น้ำนมมาปริ่มอยู่ที่ปากแก้วตลอดเวลา

9. ห้ามรินน้ำนมเข้าปาก ให้ลูกใช้ลิ้นออกมาไล้น้ำนมเข้าปากเอง ลูกจะพักและควบคุมจังหวะการดื่มนมเองได้

10. ไล่ลมลูกเป็นระยะและเมื่อลูกดื่มนมเสร็จ

11. น้ำนมที่ละลายแล้วถ้าลูกรับประทานไม่หมดให้เททิ้ง ไม่เก็บไว้ ดังนั้นจึงควรเก็บน้ำนมลงในขวดเท่าที่ลูกต้องการในแต่ละมื้อ

+-+ การปฏิบัติตัวในระยะให้นมบุตร +-+

1. ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ ให้ครบ 5 หมู่ และมีโปรตีนสูง เช่น นม เนื้อ ตับ ไก่ หมู ควรกินผัก ผลไม้สดมากๆเพื่อให้ได้วิตามิน เช่น กล้วย ส้ม
สัปปะรด เพราะในระยะที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นี้ ร่างกายต้องการแคลอรี่เพิ่มมากกว่าปกติจำนวน 500 แคลอรี่ต่อวัน เนื่องจากพลังงานที่ได้รับเพิ่มขึ้นจะถูกนำไปใช้ในการสร้างน้ำนมที่มีคุณค่าและมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของลูก

2. ควรดื่มน้ำมากๆประมาณ 3 ลิตรต่อวัน โดยดื่มน้ำทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการให้นมลูก

3. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เช่น ชา กาแฟ โกโก้ หรือเครื่องดื่มที่มีโคล่าผสมอยู่

4. ถ้าคุณแม่ต้องรับยาชนิดใดๆ ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบว่ากำลังให้นมลูก เนื่องจากยางบางชนิดอาจผ่านทางน้ำนมและมีผลต่อสุขภาพของลูก

5. ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สบายไม่เครียดหรือวิตกกังวล เนื่องจากจะมีผลไปยับยั้งฮอร์โมนอ๊อกซิโทซิน น้ำนมแม่จึงไม่หลั่ง ถึงแม้จะมีน้ำนมอยู่เต็มเต้า เป็นเหตุให้ลูกดูดนมออกน้อย

6. ควรอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเพื่อความสุขสบายและรักษาความสะอาดของร่างกาย ไม่ควรฟอกสบู่บริเวณหัวนมมากเกินไปเพราะจะทำให้หัวนมแห้งแตกเป็นแผลได้ง่าย หากมีสิ่งสกปรกติดบริเวณหัวนมให้ใช้สำลีหรือผ้านุ่นๆ ชุบน้ำเช็ดออกเบาๆ

7. สวมยกทรงที่มีขนาดเหมาะสมกับเต้านมที่ขยายใหญ่ขึ้น

8. หลังการให้นมลูกไม่จำเป็นต้องเช็ดทำความสะอาดหัวนมทุกครั้ง แต่ควรรอให้หัวนมแห้งก่อนสวมยกทรงเพื่อป้องกันการอับชื้น

9. หากแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้ เช่น แม่หรือลูกป่วยและไม่ได้อยู่ด้วยกัน หรือแม่ต้องได้รับยาบางชนิดที่ต้องงดให้นมลูก แม่ควรบีบน้ำนมออกตามเวลาที่ควรให้ลูกดูด เพราะถ้าเต้านมคัดมากๆ จะทำให้การสร้างน้ำนมลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งหยุดการสร้างในที่สุด

+-+ ปัญหาที่พบบ่อยในระยะหลังคลอด +-+

*** ปัญหา สาเหตุ การแก้ไข ***

น้ำนมแม่มีน้อย

• ลูกดูดนมแม่ไม่บ่อยและไม่นานพอ
• ลูกดูดนมไม่ถูกวิธี
• การใช้นมผสมร่วมกับนมแม่
• แม่เครียด ขาดความเชื่อมั่น พักผ่อนไม่เพียงพอ
• กินอาหารและดื่มน้ำน้อย
• ให้ลูกดูดนมแม่ภายใน 1/2-1 ชั่วโมงหลังคลอด
• ให้ลูกดูดนมบ่อยและนานพอ
• ให้ลูกอมหัวนมให้ลึกถึงลานหัวนม
• หลีกเลี่ยงการให้นมผสม
• หลีกเลี่ยงความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ
• กินอาหารที่มีประโยชน์และดื่มน้ำมากๆ

หัวนมเจ็บ หรือ แตก

• ให้ลูกดูดนมไม่ถูกวิธี
• อุ้มให้นมลูกไม่ถูกวิธี
• ลูกมีพังผืดใต้ลิ้น

• ให้ลูกอมหัวนมให้ลึกถึงลานหัวนม
• ท่าอุ้มให้นมลูกกระชับถูกต้อง
• ปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาทั้งแม่และลูก

เต้านมคัดตึง

• ลูกดูดนมแม่ไม่บ่อยและไม่นานพอ
• การปล่อยให้น้ำนมค้างอยู่ในเต้านมนานๆ
• ให้ลูกดูดนมให้ถึงลานหัวนม
• ให้ลูกดูดนมบ่อย และนานพอ
• ประคบเต้านมด้วยน้ำอุ่นจัดนาน 10 นาที นวดคลึงเต้านม บีบน้ำนมออกจาก เต้าอย่างน้อยทุก 3 ชั่วโมงจะโดยการดูดของลูก หรือบีบออก ก็ได้เพื่อให้เต้านม มีการสร้างน้ำนมขึ้นมาใหม่อยู่เรื่อยๆ





......................... ข้อมูลดี ๆ มีประโยชน์ เหล่านี้มาจาก
.............................. ศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
................................... คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล





Create Date : 07 สิงหาคม 2551
Last Update : 7 สิงหาคม 2551 17:50:54 น.
Counter : 880 Pageviews.

1 comments
  
เป็นประโยชน์มากๆเลยค่ะ
ถ้ามีลูกเมื่อไหร่จะให้ลูกทานนมแม่ค่ะ
ทั้งมีประโยชน์และประหยัดดีด้วยค่ะ
โดย: สาวพิษณุโลก** วันที่: 11 สิงหาคม 2551 เวลา:12:40:57 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nomnom
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



นาฬิกา
สิงหาคม 2551

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31