มีนาคม 2554

 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
วัสดุห้องสมุด
วัสดุห้องสมุด


สาระสำคัญ

วัสดุห้องสมุดมีไว้เพื่อการอ่านและการศึกษาค้นคว้า ซึ่งห้องสมุดได้จัดหา รวบรวม จัดเก็บ เพื่อให้บริการในห้องสมุด วัสดุห้องสมุดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ วัสดุประเภทสิ่งพิมพ์ (Printed materials) และวัสดุประเภทไม่ใช่สิ่งพิมพ์ (Non-Printed Materials)



จุดประสงค์การเรียนรู้
1. อธิบายความหมายของวัสดุห้องสมุดได้

2. บอกประโยชน์ของวัสดุห้องสมุดได้

3. จำแนกประเภทของวัสดุห้องสมุดได้

4. จำแนกวัสดุประเภทสิ่งพิมพ์ได้

5. จำแนกวัสดุประเภทที่ไม่ใช่สิ่งพิมพ์ได้

6. บอกวิธีการระวังรักษาวัสดุห้องสมุดได้

1. ความหมายของวัสดุห้องสมุด
วัสดุห้องสมุด (Library materials) หรือ วัสดุสารนิเทศ (Information Resources) หมายถึง วัสดุที่ใช้เพื่อการอ่านและการศึกษาค้นคว้าทุกรูปแบบ ทุกสาขาวิชา ซึ่งห้องสมุดได้จัดหามา และจัดเก็บรวบรวมเอาไว้เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ในห้องสมุด

2. ประโยชน์ของวัสดุห้องสมุด
วัสดุห้องสมุดมีความสำคัญและประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาค้นคว้า เสริมสร้างปัญญา ของคน ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

2.1 เป็นบันทึกแห่งภูมิปัญญาของมนุษย์ ใช้สืบทอดความคิด ความรู้ เรื่องราวต่าง ๆ ศิลปวัฒนธรรม อารยธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งต่อ ๆ กันมา ซึ่งวิชาความรู้เหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองของสังคมมนุษย์

2.2 ความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร จากวัสดุห้องสมุดซึ่งมีอยู่หลายชนิดหลายรูปแบบ ช่วยขจัดความไม่รู้ในเรื่องต่าง ๆ และสร้างสติปัญญา

2.3 ข้อมูลจากวัสดุห้องสมุดที่ถูกต้อง ครบถ้วน และทันเวลาจะช่วยในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การขาดสารนิเทศอาจทำให้เกิดปัญหาในการตัดสินใจ ดังนั้นผู้บริหารยุคใหม่จึงควรมีข้อมูลหรือวัสดุห้องสมุดเพียงพอแก่การวางแผนเพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดต่าง ๆ

2.4 ความรู้ ข้อมูลต่างๆ จากวัสดุห้องสมุดก่อให้เกิดการศึกษาค้นคว้าและการพัฒนาวิทยาการต่าง ๆ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์

2.5 ความรู้จากทรัพยากรสารนิเทศบางชนิดก่อให้เกิดความจรรโลงใจ ความซาบซึ้ง เกิดความคิดสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการคิด และทำแต่สิ่งที่ดีงามมีคุณค่าแก่ การ ดำเนินชีวิต

2.6 หนังสือบางเรื่อง โสตทัศนวัสดุบางชนิดทำให้เกิดความเพลิดเพลิน ผ่อนคลายความ ตึงเครียด ช่วยให้เกิดการพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งมีผลสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต ให้เป็นปกติสุขได้ไม่น้อยไปกว่าความต้องการด้านอื่น ๆ ซึ่งอยู่ที่การเลือกใช้สารนิเทศที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง

3. ประเภทของวัสดุห้องสมุด
วัสดุห้องสมุดมีอยู่มากมายหลายรูปแบบนั้น พอจะแบ่งตามลักษณะที่ปรากฏได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

3.1 วัสดุประเภทสิ่งพิมพ์ (Printed materials)

3.2 วัสดุประเภทไม่ใช่สิ่งพิมพ์ (Non-Printed Materials)

4. วัสดุประเภทสิ่งพิมพ์ (Printed Materials)

วัสดุประเภทสิ่งพิมพ์ หมายถึง วัสดุที่สามารถใช้บันทึกข้อมูล ความรู้ ความคิด เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยวิธีการพิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษร สารนิเทศทุกชนิดที่ตีพิมพ์ลงกระดาษ โดยการตีพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ประเภทต่าง ๆ ห้องสมุดจำแนกวัสดุตีพิมพ์ ดังนี้

4.1 หนังสือ (Books) คือ สิ่งพิมพ์ที่เกิดจากความรู้ความคิดด้วยสมอง สติปัญญาและประสบการณ์ของมนุษย์ จากการศึกษาค้นคว้าและจัดทำเป็นรูปเล่มอย่างถาวร โดยเฉพาะหนังสือ ที่เป็นวรรณกรรมอันมีค่าที่เกิดจากมันสมองอันปราดเปรื่องของผู้เขียน ย่อมให้คุณประโยชน์อันล้ำค่าแก่ผู้อ่าน แหล่งความรู้ที่มนุษย์สามารถศึกษาค้นคว้า ส่วนใหญ่จะได้จากหนังสือ แม้ว่าวิทยาการปัจจุบันจะผลิตความรู้ในรูปของสื่อใหม่ ๆ เช่น ไมโครฟิล์ม เป็นต้น แต่วัสดุดังกล่าวก็ถ่ายทอดความรู้มาจากหนังสือ ฉะนั้น หนังสือ คือ สิ่งที่รวมความรู้ที่มีคุณค่า ความสำคัญของหนังสือยังมีมากสำหรับการศึกษาวิจัย ทั้งในสถาบันการศึกษาและการดำรงชีวิตประจำวัน เป็นที่ยอมรับกันว่า หนังสือเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ประเทศใดมีสถิติคนอ่านหนังสือมากจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หนังสือเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของหนังสือแล้ว สามารถแบ่งหนังสือได้เป็น 2 ประเภท คือ

4.1.1 หนังสือสารคดี (Non – Fiction Books) เป็นหนังสือที่มีเนื้อหามุ่งเน้นให้สาระความรู้ที่เป็นวิชาการในสาขาวิชาต่าง ๆ เป็นหลัก เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นจากความรู้ ความคิด และข้อเท็จจริง (fact) เพื่อให้สาระความรู้โดยเฉพาะ ได้แก่ หนังสือตำรา (textbooks) หนังสือความรู้สาขาต่าง ๆ เช่น ปรัชญา ศาสนา สังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ และวรรณคดี เป็นต้น อาจแบ่งหนังสือสารคดีเป็นประเภทย่อย ๆ ได้อีกตามหน้าที่ (function) ของหนังสือ คือ

4.1.1.1 หนังสือแบบเรียนหรือตำรา (Textbooks) คือ หนังสือประเภทหนึ่งที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อหรือคู่มือในการศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างๆ และระดับการศึกษาต่าง ๆ

4.1.1.2 หนังสือความรู้ทั่วไป (General Book) เป็นหนังสือที่เสนอเรื่องราว ทั่ว ๆ ไป ไม่เฉพาะเจาะจงความรู้สาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง เหมาะสำหรับผู้อ่านและผู้สนใจทั่วไป

4.1.1.3 หนังสือคู่มือครู หลักสูตร ประมวลการสอน โครงการสอน (Curriculum Laboratory) หนังสือประเภทนี้ห้องสมุดจะจัดแยกไว้ต่างหากจากหนังสืออื่น ๆ

4.1.1.4 หนังสืออ้างอิง (Reference Book) เป็นหนังสือที่ใช้อ่านค้นคว้าหาคำตอบที่ต้องการเพียงตอนใดตอนหนึ่งเฉพาะตอนที่ต้องการ ไม่ต้องอ่านทั้งเล่ม ให้ใช้ภายในห้องสมุดเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ยืมออกนอกห้องสมุด เช่น พจนานุกรม สารานุกรม ดรรชนี หนังสือรายปี เป็นต้น

4.1.2 หนังสือบันเทิงคดี (Fiction) เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียนและอาศัยประสบการณ์ จำลองชีวิตเพื่อให้ความเพลิดเพลินและแง่คิดคติต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต ได้แก่ นวนิยาย นิทาน รวมเรื่องสั้น หนังสือการ์ตูน หนังสือที่เขียนเพื่อมุ่งให้ความบันเทิง

ประโยชน์ของหนังสือ
มนุษย์ได้รับประโยชน์จากหนังสือด้วยการอ่าน แต่หนังสือไม่มีอิทธิพลพอจะบังคับให้ใครอ่านได้ ฉะนั้น จึงต้องรู้จักเลือกอ่านเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะบุคคล หนังสือสามารถให้คำตอบแก่ผู้ไม่รู้ในด้านต่าง ๆ เช่น

1. ความรู้ทางการวิชาการ เป็นความรู้ที่ส่วนมากจะได้รับจากในห้องเรียนผ่านผู้สอน ซึ่งถ่ายทอดมาจากหนังสือประเภทตำรา แต่การศึกษาในปัจจุบันความรู้เฉพาะในชั้นเรียน ไม่สามารถให้ผู้เรียนรู้กว้างไกลทันเหตุการณ์ปัจจุบันได้ จำเป็นที่ต้องอ่านหนังสือประเภทวิชาการอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมความรู้และความคิดให้ลึกซึ้งเป็นพื้นฐานในการศึกษาระดับสูงขึ้น การแสวงหาความรู้เป็นกระบวนการต่อเนื่อง หนังสือจึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะทำให้ผู้ใฝ่ในการศึกษา ได้พัฒนา ไม่มีวันสิ้นสุด จะเห็นได้จากผู้ทรงคุณวุฒิล้วนแต่เป็นนักวิชาการที่ต้องศึกษาค้นคว้าตลอดเวลา

2. ความรู้ทางอาชีพ การประกอบอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง จำเป็นต้องรู้จักปรับปรุงให้งานก้าวหน้ากว่าผู้อื่น โดยเฉพาะความรู้ในวิชาชีพจะพัฒนาตลอดเวลา จากการเปลี่ยนแปลง ทางธรรมชาติและเหตุการณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น ความรู้เดิมในการประกอบอาชีพย่อมล้าสมัยไม่ทันเหตุการณ์ จำเป็นต้องปรับปรุง ฉะนั้น ความสนใจในเรื่องการศึกษาค้นคว้าจากการอ่านหนังสือ เพื่อนำความรู้มาใช้กับอาชีพ ย่อมนำความเจริญก้าวหน้าไปไกลกว่าผู้อื่นการศึกษาจากหนังสือ ช่วยสร้างความมั่นคงในอาชีพได้อย่างดี

3. ความรู้เรื่องของชีวิต การดำรงชีวิตปัจจุบัน เป็นปัญหาที่มนุษย์ต้องแก้ไขตลอดเวลา เพื่อการอยู่รอด ปัญหาจะเริ่มตั้งแต่ตื่นนอน จนกระทั่งเข้านอนในแต่ละวัน เป็นปัญหาทั้งส่วนตัว ครอบครัว การงาน ตลอดจนประเทศชาติ ผู้มีประสบการณ์ชีวิตจะถ่ายทอดเป็นลายลักษณ์อักษร ในลักษณะหนังสือ ทั้งทางวิชาการและบันเทิง เพื่อเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้ศึกษา ฉะนั้นผู้สนใจการอ่านจะได้รับความรู้และความสามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะบุคคลได้ มนุษย์มีจำนวนมหาศาล ปัญหาก็มีจำนวนเท่าเทียมกัน การเป็นนักอ่านจะช่วยสร้างวิจารณญาณให้ผู้อ่านนำความรู้ที่ได้ จากหนังสือไปใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างดีในทุก ๆ ทาง ทั้งทางวิชาการหรือทางอาชีพดังกล่าวมาแล้ว ตลอดจนการดำรงชีวิตในสังคม เพื่อการอยู่อย่างสุขสบายและการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมนั้น ๆ

4. ความจรรโลงใจ เป็นการเสริมสภาพจิตใจให้แจ่มใส มีชีวิตกระตือรือร้น ไม่ท้อถอย ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการ ความจรรโลงใจช่วยยกระดับความคิดให้พัฒนา วิธีการที่จะปฏิบัติได้ดังกล่าว มนุษย์เลือกได้ตามความถนัด เช่น การเล่นหรือฟังดนตรีหรือการอ่านหนังสือ เป็นต้น หนังสือจึงช่วยสร้างความจรรโลงใจให้มนุษย์ได้ด้วยวิธีง่าย ๆ เพียงการอ่านหนังสือเล่มที่ถูกใจสนองความต้องการช่วยแก้ปัญหาที่คับข้องใจ ความจรรโลงใจก็จะเกิดแก่ผู้อ่านได้

สรุปแล้วประโยชน์จากหนังสือมีหลายประการ ผู้อ่านจะได้รับประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งตามสภาพแต่ละบุคคลที่จะเลือกสนองความต้องการและนำไปใช้กับชีวิตของตนเป็นการประหยัดเวลาในการศึกษาค้นคว้าและใช้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนั้น ๆ ได้คุ้มค่า

คุณค่าของหนังสือ
วิทยาการปัจจุบันกว้างไกล แม้เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นแต่ความรู้ที่อยู่ในรูปหนังสือยังเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการ การศึกษาค้นคว้ายังคงอ้างอิงข้อมูลจากหนังสือเป็นหลัก ถ้าเปรียบเทียบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ระหว่างประเภทโสตทัศนวัสดุกับหนังสือ หนังสือยังคงได้เปรียบกว่า ดังนี้

1. หนังสือสะดวกต่อการใช้ สามารถอ่านได้ตลอดเวลาโดยไม่จำกัดสถานที่ ซึ่งต่างกับโสตทัศนวัสดุที่ต้องอาศัยเครื่องช่วยการใช้ และมีสถานที่เฉพาะ เช่น ภาพยนตร์ แถบภาพ หรือแถบเสียง เป็นต้น

2. หนังสือให้รายละเอียด เนื้อหาได้มากและลึกซึ้งกว่าสื่ออื่น ๆ

3. หนังสือราคาถูกกว่า ถ้าเปรียบเทียบในคุณภาพเดียวกัน แต่หนังสือที่ราคาสูง คุณภาพและประโยชน์จะมากกว่าสื่ออื่น ๆ โดยเฉพาะคุณค่าในด้านอนุรักษ์ความรู้

4. หนังสือช่วยสื่อความหมายและถ่ายทอดได้อย่างถูกต้อง เพราะเป็นลายลักษณ์อักษร ตลอดจนเร้าให้เกิดความอยากทดลองปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้อ่านสามารถทบทวน ตามได้ โดยไม่เร่งรีบ ต่างกับการใช้สื่อประเภทภาพยนตร์ หรือแถบภาพ ซึ่งต้องปฏิบัติให้ทัน ในเวลาจำกัด

5. หนังสือจะส่งเสริมการสร้างนิสัยรักการอ่าน และศึกษาค้นคว้าได้มากกว่าสื่ออื่น ๆ เพราะสามารถสัมผัสได้ด้วยตนเอง ทำให้เกิดอารมณ์และความคิดคล้อยตาม

6. การเก็บและบำรุงรักษาหนังสือจะสะดวกกว่าสื่ออื่น ๆ เพราะไม่ต้องมีเทคนิคและวิธีการ ที่ซับซ้อน

7. แม้ปัจจุบันวัสดุย่อส่วนต่าง ๆ จะอนุรักษ์หนังสือเก่าไว้ได้ แต่ก็ยังอาศัยรูปแบบจากต้นฉบับหนังสือเดิม และวิธีการใช้ก็ยุ่งยากมากกว่า ถ้าเปรียบเทียบกับการอ่านจากหนังสือ

สรุปแล้วหนังสือจะให้ประโยชน์ต่อผู้อ่าน ดังต่อไปนี้

1. อธิบายเรื่องไม่รู้ให้กระจ่างได้ในขอบเขต และความสามารถของแต่ละบุคคล

2. ส่งเสริมความใฝ่รู้ให้แก่ผู้อ่านจากภาษาที่เข้าใจง่าย และรูปเล่มที่ดึงดูดความสนใจ

3. หนังสือจะบันทึกเรื่องราวในอดีตเป็นประวัติศาสตร์ สนับสนุนให้มีการศึกษาค้นคว้า ให้กว้างขวางต่อไป

4. หนังสือจะกล่อมเกลาจิตใจผู้อ่านให้เกิดอารมณ์สุนทรี และประทับใจกับบุคคล และเหตุการณ์บางอย่าง

5. ช่วยสร้างนิสัยรักการอ่าน และส่งเสริมให้การอ่านเป็นความจำเป็นของชีวิต เมื่อต้องการทราบและแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยวิธีการแสวงหาคำตอบจากหนังสือ

6. หนังสือเป็นเพื่อนคลายเหงา ช่วยให้ผู้อ่านรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

ส่วนประกอบของหนังสือ

การใช้หนังสือเพื่อการศึกษาค้นคว้าให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่และรวดเร็วนั้น ผู้ใช้จำเป็นจะต้องรู้จักส่วนต่าง ๆ ของหนังสือว่า หนังสือมีส่วนประกอบอะไรบ้าง และแต่ละส่วน มีความสำคัญหรือมีประโยชน์อย่างไร ส่วนประกอบของหนังสือโดยทั่วไปสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนประกอบตอนต้น ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนประกอบตอนท้าย ดังนี้

ส่วนประกอบตอนต้น ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้

1. ใบหุ้มปก (Book Jacket หรือ Dust Jacket) คือ กระดาษที่ใช้ห่อหุ้มปกนอกของหนังสือที่เป็นปกแข็ง ใช้กระดาษตีพิมพ์มีสีสันสวยงาม เพื่อดึงดูดความสนใจ มีชื่อหนังสือ และชื่อผู้แต่งปรากฏอยู่ ประโยชน์ของใบหุ้มปก คือ ช่วยป้องกันไม่ให้ปกหนังสือสกปรก และช่วยรักษาปก ให้ใหม่อยู่เสมอ และให้รายละเอียดบางอย่างที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน เช่น อาจมีประวัติสั้น ๆ ของ ผู้แต่งและผลงาน รวมทั้งมีเรื่องย่อหรือคำวิจารณ์เกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้น ซึ่งมีผู้ติชมเอาไว้ในที่ต่าง ๆ

2. ปกหนังสือ (Cover หรือ Binding) มีทั้งปกหน้าและปกหลัง โดยมีสันหนังสือ (Spine) เป็นส่วนช่วยยึดให้ปกหน้าและปกหลังเข้าด้วยกัน ปกหนังสือมีทั้งชนิดที่เป็นปกแข็ง ซึ่งทำจากกระดาษแข็งหุ้มด้วยผ้าแรกซีน หรือหุ้มด้วยผ้า หรือหุ้มด้วยหนัง และชนิดปกอ่อน ซึ่งทำด้วยกระดาษหนาหรือบางตามที่ผู้ผลิตจะกำหนด ปกหน้าตามปกติจะปรากฏชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่ง และชื่อสำนักพิมพ์ หนังสือที่มีสันหนาจะพิมพ์สันหนังสือตามรายละเอียดเช่นกับปกหน้า ถ้าเป็นหนังสือของห้องสมุดจะมีเลขเรียกหนังสือกำกับไว้ที่สันด้วย แต่ถ้าเป็นหนังสือสันบางเลขเรียกหน้าหนังสือของห้องสมุดจะเขียนไว้ตรงปกหน้า ประโยชน์ของปกหนังสือ คือ ช่วยรักษารูปเล่มของหนังสือ ให้คงทน และหยิบจับได้สะดวก

3. สันหนังสือ (Spine) สันหนังสือจะมีเฉพาะหนังสือหนา ๆ เป็นส่วนเชื่อมระหว่างปกหน้าและปกหลัง ที่สันอาจมีชื่อเรื่องและชื่อผู้แต่ง

4. ใบรองปก หรือใบยึดปก (End Papers) เป็นแผ่นกระดาษที่มีความเหนียวเป็นพิเศษ ทนทาน พับครึ่งหน้ากระดาษ ด้านหนึ่งผนึกติดกับปกนอก อีกด้านหนึ่งผนึกติดเป็นแผ่นเดียว กับใบรองปก ช่วยทำให้หนังสือแน่นหนาขึ้น สันหนังสือบางเล่มส่วนนี้อาจพบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น แผนที่ แผนภูมิ ตารางหรือลวดลายต่าง ๆ ใบรองปกส่วนมากเป็นกระดาษขาวว่างเปล่า มีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำหน้าที่ช่วยยึดปกกับตัวเล่มหนังสือให้ติดกัน

5. หน้าชื่อเรื่อง (Half Title Page) อยู่ถัดจากใบรองปก หน้านี้จะบอกแต่เพียงชื่อหนังสือไว้อย่างเดียว หรือถ้าเป็นหนังสือชุดก็จะบอกชื่อชุด (Series) เอาไว้ด้วย ปัจจุบันหนังสือส่วนมากไม่มีหน้าชื่อเรื่อง เนื่องด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ

6. หน้าภาพพิเศษ หรือหน้าภาพนำ (Frontispiece) เป็นหน้าที่มีภาพสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับเนื้อหาของหนังสือเล่มนั้น ลักษณะเป็นภาพขนาดใหญ่เต็มหน้ากระดาษ ถ้าเป็นหนังสือชีวประวัติอาจเป็นภาพของบุคคลสำคัญ หรือภาพของผลงานชิ้นเด่น ๆ ทางด้านศิลปกรรมของหนังสือ ทางด้านศิลปะ ส่วนหนังสือทั่ว ๆ ไปจะไม่มีหน้านี้

7. หน้าปกใน (Title Page) ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดของหนังสือ เพราะจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้น ๆ อย่างสมบูรณ์ ดังนี้

7.1 ชื่อเรื่อง (Title) ชื่อเรื่องของหนังสือที่ปรากฏในหน้าปกในนี้ ถือว่าเป็นชื่อเรื่อง ของหนังสือที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด หนังสือบางเล่มชื่อที่ปกนอกกับที่หน้าปกในไม่เหมือนกัน เพราะอาจมีชื่อเรื่องย่อยหรือชื่อเรื่องรองซึ่งเป็นข้อความที่อธิบายชื่อเรื่อง หรือข้อความที่ช่วยขยายความหมายของชื่อเรื่องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

7.2 ผู้แต่ง (Author) บอกชื่อและนามสกุลของผู้แต่งหนังสือและผู้แต่งร่วมคนอื่น ๆ หากหนังสือเล่มนั้นมีผู้แต่งหลายคนและบอกชื่อผู้รวบรวม ชื่อผู้แปล ผู้วาดภาพประกอบ หรือบรรณาธิการ สำหรับหนังสือบางเล่ม

7.3 ผู้แปล (Translator) จะมีในกรณีผู้แต่งเป็นชาวต่างประเทศ

7.4 บรรณาธิการ (Editor) เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องในเล่ม ไม่ใช่ผู้เขียนเรื่องเอง

7.5 ผู้เขียนภาพประกอบ (Illustrator) จะมีในหนังสือที่มีภาพประกอบเป็นองค์ประกอบสำคัญ เช่น หนังสือสำหรับเด็ก เป็นต้น

7.6 ครั้งที่พิมพ์ (Edition) จะแจ้งครั้งที่พิมพ์เอาไว้ตั้งแต่มีการพิมพ์ครั้งที่ 2 เป็นต้นไป (พิมพ์ครั้งแรกไม่แจ้งเอาไว้) และถ้ามีการแก้ไขเพิ่มเติมก็จะบอกเอาไว้ด้วย เช่น พิมพ์ครั้งที่ 3 แก้ไข และเพิ่มเติม

7.7 พิมพลักษณ์ (Imprint) คือลักษณะการพิมพ์หรือรายการที่เกี่ยวกับการพิมพ์ ได้แก่ สถานที่พิมพ์ ชื่อเมือง หรือ จังหวัด ผู้จัดพิมพ์ หมายถึง สำนักพิมพ์ หรือหน่วยงานที่จัดพิมพ์และ ปีที่พิมพ์

7.8 เลขมาตรฐานสากล (ISBN International Standard Book Number) คือ เลขมาตรฐานหนังสือสากล แต่ละเล่มจะไม่ซ้ำกัน มีประโยชน์ในการสั่งซื้อ เมื่อใช้เลขนี้สั่ง จะได้เล่มที่ตรงตามข้อมูลที่ต้องการ เช่น ISBN 974-8262-90-1 เป็นเลขมาตรฐานหนังสือสากล ของหนังสือที่พิมพ์ในประเทศไทย (974 - เลขประเทศไทย, 8262- เลขสำนักพิมพ์, 90 – เลขประจำหนังสือ, 1 – เลขตรวจสอบในคอมพิวเตอร์)

8. ลิขสิทธิ์ (Dedication Page) จะอยู่ด้านหน้าของหน้าปกใน เป็นหน้าที่บอกให้ทราบถึง มีจดลิขสิทธิ์จำนวนครั้งที่จดลิขสิทธิ์ไว้ โดยใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ของหนังสือเล่มนั้น หากมี การคัดลอกตัดตอน ดัดแปลง ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือแปล หรือพิมพ์ซ้ำ จะต้องขออนุญาต จากเจ้าของลิขสิทธิ์เสียก่อน มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์อาจเป็นผู้เขียน หรือสำนักพิมพ์ซึ่งได้ซื้อลิขสิทธิ์ของหนังสือเล่มนั้นจากผู้เขียนก็ได้

ถ้าเป็นหนังสือภาษาอังกฤษจะมีข้อมูลบัตรรายการห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน (Library of Congress Cataloging in Publication Data) ซึ่งเป็นข้อมูลที่อำนวยความสะดวกให้แก่บรรณารักษ์ ในการวิเคราะห์เลขหมู่และทำบัตรรายการ หรือสั่งซื้อบัตรรายการสำเร็จรูปของหนังสือเล่มนั้นได้โดยไม่ต้องเสียเวลาในการจัดทำ หากห้องสมุดมีงบประมาณมากเพียงใด

9. หน้าคำอุทิศ (Dedication Page) จะอยู่ก่อนถึงหน้าคำนำ เป็นข้อเขียนที่ผู้แต่งกล่าว คำแสดงถึงความกตัญญูแก่ผู้มีอุปการคุณ บุคคลที่รักใคร่ให้กำลังแรงใจในการเขียนหนังสือเล่มนั้น ได้สำเร็จ ส่วนมากจะเป็น บิดามารดา สามี ภรรยา ลูก ครูอาจารย์ ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้ว

10. หน้าคำนำ (Preface หรือ Foreword หรือ Introduction) เป็นส่วนแรกของหนังสือ ที่ผู้อ่านจะต้องอ่านอย่างละเอียดก่อนที่จะอ่านเนื้อหาของหนังสือจริง ๆ เพราะคำนำจะทำให้ผู้อ่านทราบถึงแนวทางของเนื้อหา ขอบเขตของหนังสือที่เสนอในเล่ม

บางครั้งคำนำอาจเป็นส่วนที่ผู้เขียนแจ้งให้ผู้อ่านได้ทราบถึงสาเหตุและวัตถุประสงค์ในการแต่งหนังสือเล่มนั้น รวมทั้งขอบคุณผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือสนับสนุน แต่ถ้าหากในกรณีที่ผู้เขียน จะต้องกล่าวขอบคุณผู้ช่วยเหลือและให้ความร่วมมือแก่บุคคลเป็นจำนวนมาก เช่น ในการทำวิทยานิพนธ์ มักจะแยกคำกล่าวขอบคุณออกจากคำนำ และเรียกชื่อว่า “ประกาศคุณูปการ หรือ กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgement)” ซึ่งจะอยู่ในหน้าถัดไปจากคำนำ

หนังสือบางเล่มอาจมี “คำนิยม” เป็นข้อความของบุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป เขียนชมหรือแนะนำเกี่ยวกับผู้แต่งหรือเนื้อหาของหนังสือต่อผู้อ่านใส่ไว้เพื่อเป็นการ เพิ่มน้ำหนักให้แก่งานเขียนนั้น ๆ คำนิยามนี้จะอยู่ก่อนหน้าคำนำที่ผู้แต่งเขียนขึ้นมาเอง

11. ประกาศคุณูปการ (Acknowledgement) คือ ส่วนที่ผู้เขียนกล่าวขอบคุณผู้ช่วยเหลือ ในการแต่งหนังสือเล่มนั้น ถ้ามีหลายคนนิยมแยกไว้อีกหน้าหนึ่ง (ไม่กล่าวรวมในคำนำ) บางตำราเรียกส่วนนี้ว่า กิตติกรรมประกาศ ซึ่งนอกจากจะแสดงมารยาทของผู้แต่งแล้ว ผู้อ่านยังได้ประโยชน์ที่ได้ทราบคุณวุฒิ หรือตำแหน่งหน้าที่การงานของผู้มีส่วนในหนังสือเล่มนั้น ทำให้พิจารณาได้ว่าเนื้อหาน่าเชื่อถือหรือไม่

12. หน้าสารบัญ หรือ สารบาญ (Contents หรือ Table of Contents) บางครั้งเขียนว่า สารบาญจะอยู่ต่อจากหน้าคำนำเป็นหน้าที่บอกให้ผู้อ่านทราบว่าหนังสือเล่มนั้นมีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องอะไรบ้าง จัดลำดับบทหรือตอนไว้อย่างไร และภายในบทหรือตอนนั้นมีสาระขอบเขตไว้อย่างไร พร้อมทั้งมีเลขหน้ากำกับแจ้งให้ผู้อ่านทราบว่าหนังสือเล่มนั้นมีขอบเขตกว้างขวางเพียงใด มีเรื่อง ที่ตนต้องการศึกษาค้นคว้าหรือไม่ อยู่ที่หน้าใด สารบัญจึงช่วยให้ผู้อ่านค้นหาเรื่องราวที่ต้องการ ได้สะดวกรวดเร็ว

13. รายชื่อแผนที่ ตารางและภาพประกอบ (List of Maps, Table and Illustration) หนังสือที่มีแผนที่ ตาราง หรือภาพประกอบอยู่เป็นจำนวนมาก และมีส่วนสำคัญต่อเนื้อหา เช่น หนังสือภูมิศาสตร์ หนังสือประวัติศาสตร์ หนังสือสถิติและวิจัย หนังสือศิลปะ เป็นต้น ผู้เขียนจะจัดทำบัญชีรายชื่อของแผนที่ ตาราง หรือภาพประกอบ พร้อมทั้งเลขหน้ากำกับไว้เพื่อช่วยให้ผู้อ่านค้นหาสิ่งที่ต้องการได้สะดวกรวดเร็ว เช่นเดียวกับสารบัญ

ส่วนเนื้อเรื่อง เป็นส่วนที่อยู่ต่อจากส่วนประกอบตอนต้น นับว่าเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ของหนังสือ ในส่วนนี้ประกอบด้วย เนื้อเรื่อง และเชิงอรรถ

1. เนื้อเรื่อง (Text หรือ Body of the Book) เป็นส่วนสำคัญที่สุดของหนังสือ ผู้เขียน มักแบ่งเนื้อเรื่องของหนังสือออกเป็นบทหรือเป็นตอนซึ่งจะเริ่มตั้งแต่บทที่หนึ่งไปจนถึงบทสุดท้ายตามที่ปรากฏในสารบัญ มีเลขกำกับหน้าเรียงลำดับติดต่อกันไปโดยตลอด

2. เชิงอรรถ (Note หรือ Footnote) เป็นหลักฐานการอ้างอิงข้อความที่นำมาจากที่อื่น เพื่อประกอบการเขียนอาจพิมพ์ไว้ที่ส่วนล่างของหน้ากระดาษที่ข้อความนั้นปรากฏอยู่ หรือใส่ไว้ ในวงเล็บแทรกอยู่กับเนื้อหา หรืออาจรวบรวมไว้ท้ายบทหรือท้ายเล่มเลยก็ได้แล้วแต่ความถนัด และความเหมาะสมของผู้ประพันธ์และงานเขียนชั้นนั้น เชิงอรรถมี 3 ประเภท คือ

2.1 เชิงอรรถอ้างอิง (Citation Footnote) คือ เชิงอรรถแหล่งที่มาของข้อความที่นำมาประกอบการเรียบเรียงในเนื้อเรื่อง

2.2 เชิงอรรถเสริมความ (Contents Footnote) คือ เชิงอรรถซึ่งอธิบายเรื่องราวข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในบางตอนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หรืออาจเป็นการอธิบายคำศัพท์ที่มีความสัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง



Create Date : 20 มีนาคม 2554
Last Update : 20 มีนาคม 2554 13:10:16 น.
Counter : 988 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Watcharawat
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



New Comments