"อยากสุขแล้วได้สุขสมหวัง ภายหลังจะทุกข์เพราะได้สุขอีก เห็นทุกข์เเล้วละเหตุแห่งทุกข์ได้ ภายหลังจะสบายเพราะหายอยากสิ้น"
 
ตุลาคม 2550
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
1 ตุลาคม 2550
 
 

ทาง 5 สาย : ตายแล้วไปไหน ?? "ธรรมเทศนาของพระราชสิทธิมุนี"

ทาง 5 สาย

พระธรรมเทศนาของ พระราชสิทธิมุนี (โชดก ป.9)

พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ แสดงที่วัดยางงาม

จ. ราชบุรี 27 เม.ย 2501

ทาง 5 สายนั้นคือ

ทางไปอบาย
ทางไปมนุษย์
ทางไปสวรรค์
ทางไปพรหมโลก
ทางไปนิพพาน



อธิบายทางสายที่ 1.

คำว่า "อบาย" แปลว่า ชั่ว ต่ำ เลว ปราศจากความเจริญ มีอยู่ 4 อย่าง คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน

นรก แปลว่า ประเทศที่ปราศจากความสุข มีแต่ความทุกข์ มีอยู่ 457 ขุม คือขุมใหญ่มีอยู่ 8 ขุม นับตั้งแต่สัญชีวก กาฬสุตตนรก เป็นต้นไป ถัดนรกใหญ่ แต่ละขุมออกไปในทิศทั้ง 4 แต่ละมีอุสสุทนรกทิศละ 4 ขุม รวมเป็น 128 ขุม ถัดอุสสุทนรกออกไปอีก มียมโลกิยนรก อยู่ทิศละ 10 ขุม รวมเป็น 320 ขุม ส่วนขุมใหญ่สุด ลึกที่สุดนั้น ชื่อว่า โลกันตนรก รวมทั้งสิ้น จึงเป็น 457 ขุม คือ
นรกใหญ่ 8 ขุม
อุสสุทนรก 128 ขุม
ยมโลกิยนรก 320 ขุม
โลกันตนรก 1 ขุม


ถาม. อะไรเป็นเหตุนำสรรพสัตว์ไปตกนรกเหล่านี้?

ตอบ. โดยมากโทสะเป็นผู้นำไป ดังหลักฐานยืนยันความข้อนี้ ซึ่งปรากฎอยู่ในอัฏฐกถาอัฏฐสาลินีว่า

โทเสน หิ จณฺฑชาติตาย โทสสทิสํ นิรยํ อุปปชฺชนฺติ

เพราะโทสะนั้นเอง เป็นเหตุ สัตว์ทั้งหลายจึงตกไปตกนรก ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกัน กับโทสะ เพราะโทสะมีชาติหยาบมาก

เมื่อสัตว์ไปตกนรกเหล่านี้ ย่อมจะได้รับแต่ความทุกข์ถ่ายเดียว เพราะบาปกรรมที่ตนทำไว้นั่นเองเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น นรกจึงได้ชื่อว่า อบาย ดังบรรยายมาแล้วนั้น

เปรต มีอยู่ 12 จำพวก มีตัณหาชิตาเปรต ปรทตูปชีวิเปรต เป็นต้น บางจำพวกปากเท่ารูเข็มก็มี บางจำพวกถูกไฟเผาอยู่เป็นนิตย์ก็มี บางจำพวกมีไฟพุ่งออกจากปากก็มี บางจำพวกอาศัยทานที่บุคคลอุทิศให้ก็มี
อสุรกาย มีร่างกายใหญ่โตกว่าเปรต ชอบอยู่ในที่เยือกเย็น เช่น ภูเขา เป็นต้น
ถาม. อะไรเป็นเหตุนำสรรพสัตว์ไปเป็นเปรต กับอสุรกาย?

ตอบ. โดยมากโลภะเป็นเหตุ ดังหลักฐานในอัฏฐสาลินีอัฏฐกถา รับรองข้อนี้ไว้ว่า

เยภยฺเยน หิ สตฺตา ตณฺหาย เปตฺติวิสยํ อุปปปชฺชชนฺติ

จริงอยู่ โดยมากสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเกิดเป็นเปรตและอสุรกาย เพราะตัณหาเป็นเหตุ

ก. ตัวอย่างในอดีต ได้แก่ เปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสาร โลภกินของที่จะนำไปถวายพระ ตายแล้วได้ไปเกิดเป็นเปรต พึ่งจะได้รับบุญจากพระเจ้าพิมพิสารในศาสนาของพระพุทธเจ้าของเรานี้
ข. ตัวอย่างในปัจจุบัน มีตระกูลหนึ่ง ระหว่าง พ.ศ 2475 มีบุตร 10 คน บิดากำลังสร้างบ้านอยู่ 20 หลัง หลังที่หนึ่งเสร็จไปแล้ว ส่วนหลังที่สองกำลังหากระเบื้องปูพื้น บังเอิญบิดาเป็นโรคท้องร่วง มีความห่วงในลูกและทรัพย์สมบัติที่ตนครองอยู่มาก มีอาการทรงอยู่ได้ 3 วัน ก็ตายไป พอตายไปแล้ว ปรากฏว่า มาหลอกหลอนต่างๆ นาๆ เช่น เอาสิ่งของอยู่บนขื่อ บนเพดาน ทิ้งมาข้างล่างดังตึงตังๆ เหมือนกันกับคนทิ้งลงมาจริงๆ แต่ก็ไม่มีของตกลงมา ลูกเขยไปซื้อหนังมาไว้ขายตากไว้ที่ฉางข้าว เวลากลางคืน เดือนหงายๆ เสียงพับหนังเหมือนกับเสียงคน สุนัขเห่าตลอดคืนแต่เวลาคนลงไปดูก็ไม่เห็นมีอะไร ในบ้านนั้นมีคอกม้าอยู่ใต้ถุนบ้าน เสียงถอดลิ่มสลักออก แล้วขี่ม้าหนีออกจากคอกไป ครั้นจุดตะเกียงลงไปดู ม้าก็ยังยืนอยู่ตามเดิม ข้อนี้แสดงว่าผู้ตายนั้นได้ไปเกิดเป็นเปรต เพราะโลภะคือความห่วงสมบัติเป็นเหตุ
4. สัตว์ดรัจฉาน มีมากเช่น ช้าง ม้า วัว ควาย หมู หมา เป็ด ไก่ นก หนู กุ้ง หอย ปู ปลา เป็นต้น โดยส่วนมากโมหะเป็นผู้นำไป ดังมีหลักฐานปรากฎอยู่ในอัฎฐสาลินี อัฏฐกถาว่า

โมเหน หิ นิจฺจํ สมฺมฬฺหํ ติรจฺฉานโยนิยฺ อุปปปชฺชนฺติ

เพราะโมหะ นั่นแหล่ะ เป็นเหตุ สัตว์ทั้งหลายจึงพากันเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ซึ่งมีความลุ่มหลงอยู่เป็นนิตย์ ดังนี้

ตัวอย่างในข้อนี้ คือ ยังมีบุรุษคนหนึ่งเดินทางมาแต่ไกล มีความลำบากและเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า พร้อมทั้งหิวอาหารในทางไกลกันดารด้วย ครั้นมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พุทธศาสนิกชนกำลังพากันถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์อยู่ เพราะวันนั้นเป็นวันที่ชาวพุทธร่วมกันบำเพ็ญกุศล เมื่อชายคนนั้นมาถึงจึงนั่งพักอยู่ เพื่อรับเศษอาหารจากพระภิกษุสงฆ์ บังเอิญเขามองไปใต้ธรรมาสน์ เห็นสุนัขตัวหนึ่งกินอาหารอย่างอิ่มหนำสำราญแล้วนอนหลับอยู่ จึงคิดว่าสุนัขนี้มีบุญมากหนอ ดีกว่าเราผู้เป็นคนแท้ๆ พอพระภิกษุสงฆ์ฉันเสร็จเจ้าของทานก็ได้นำอาหารมาเลี้ยงชายคนนั้นอย่างเต็มที เขาได้รับประทานอย่างสมใจ เพราะที่เขารับประทานอาหารมากเกินควร อาหารไม่ย่อย เขาก็เลยตายไป ขณะนั้นก่อนที่ใจจะขาด ภาพสุนัขนั้นก็มาปรากฎแก่เขา พอตายไปจึงได้ไปเกิดในท้องสุนัขตัวนั้นเป็นลูกโทน คือมีลูกตัวเดียว ทั้งนี้ก็เพราะโมหะเป็นต้นเหตุ ถูกต้อง ตามหลักฐานดังที่ได้แสดงมานี้
สรุปความว่า ทางสายที่ 1 นี้ ไปอบายภูมิทั้ง 4 ได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์ดิรัจฉาน มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นผู้นำไปคือ.

โลภะ นำไปเกิดเป็น เปรต กับอสุรกาย

โทสะนำไป ตกนรก

โมหะ นำไปเกิดเป็น สัตว์ดิรัจฉาน
เมื่อเราไปตกนรกก็ดี ไปเกิดเป็นเปรต อสุรกายก็ดี ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ดี ไม่มีโอกาสจะได้สร้างความดีเช่นกับมนุษย์ จะไปฟังเทศน์ จะไปรักษาศีล จะไปเจริญกรรมฐานก็ไม่ได้ เพราะกรรมหนัก กรรมแรงปิดบังไว้ จึงเป็นเหตุให้สรรพสัตว์วนเวียนอยู่ในห้วงกิเลส และกองทุกข์อย่างน่าสะพรึงกลัว ฉะนั้น ขอมวลพุทธบริษัท จงพากันทำบุญให้มากๆ เถิด จะได้ไม่เสียใจในภายหลัง เพราะขณะนี้บางคนก็ดุจต้นไม้ใกล้ฝั่ง รอคอยลมคือความตายอยู่ทุกคืนวันเท่านั้น

อธิบายทางสายที่ 2.

คำว่า "มนุษย์" นี้ตามรูปศัพท์บาลี แปลได้หลายอย่าง เช่นแปลว่า ผู้มีใจสูง ก็ได้ แปลว่า ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ได้ แปลว่า ผู้เป็นเหล่ากอของผู้รู้ ก็ได้ ผู้ที่จะเกิดเป็นมนุษย์ก็เพราะอาศัยธรรมของมนุษย์ คือธรรมประจำมนุษย์ ได้แก่ศีล 5 ศีล 5 นี้แหล่ะเป็นคุณธรรมที่จะเสกสรรปั้นคนให้เป็นคน ถ้าใครขาดธรรม คือ ศีล 5 ก็จัดว่าเป็นคนไม่เป็นคน เหตุดังนี้ ท่านจึงแบ่งมนุษย์ออกเป็น 5 จำพวก คือ


มนุสฺสเทโว มนุษย์เทวดา ได้แก่มนุษย์ผู้มีศีล 5 เป็นนิตย์แล้ว ไม่พอใจอยู่เพียงแค่นั้น ยังได้พยายามบำเพ็ญกุศลเพิ่มพูนบารมีอยู่เรื่อยๆ เช่นให้ทาน ฟังธรรม เรียนธรรม ปฏิบัติธรรม มีหิริ คือละอายบาป มีโอตับปะ คือ ความสะดุ้งกลัวต่อบาปอยู่เสมอ เรียกว่าเป็นผู้มีใจสูงดุจ เทวดา เพราะประกอบด้วยเทวธรรม 7 ประการคือ
บำรุงเลี้ยงบิดามารดา
ประพฤติถ่อมตนต่อบุคคลผู้เจริญในตระกูล
พูดจาไพเราะเสนาะหู
ละความส่อเสียด
ละความตระหนี่เหนียวแน่น
รักษาคำสัตย์
ไม่โกรธ
มนุษย์ผู้มีคุณสมบัติเช่นนี้ ท่านขนานนามว่า มนุสฺสเทโว แปลว่า มนุษย์เทวดา




มนุสฺสภูโต มนุษย์แท้ๆ คือเป็นคนเต็มคน ได้แก่บุคคลผู้เกิดมาเป็นคนแล้วได้รักษาศีลห้าเป็นนิตย์มิได้ขาด มิได้ประมาทต่อศีล เพราะถือว่าเป็นมนุสฺสธรรม คือธรรมประจำมนุษย์ ธรรมที่ทำคนให้เป็นคน แต่มิได้บำเพ็ญกุศลจริยาอย่างอื่นอีก เช่นไม่ได้ให้ทาน ไม่ได้ฟังธรรม เป็นต้น มนุษย์อย่างนี้ท่านขนานนามว่า มนุสฺสภูโต แปลว่า มนุษย์แท้ ๆ คือเป็นคนเต็มคน เพราะมีคุณธรรมของคน


มนุสฺสติรจฺฉาโน มนุษย์สัตว์ดิรัจฉาน ได้แก่ มนุษย์ที่มีโมหะมาก ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักคุณของท่านผู้มีคุณ เช่น บิดามารดา ครูบาอาจารย์ เป็นต้น เป็นมนุษย์ผู้ไร้ศีลธรรม ดื่มสุรา เมาสุรา สูบฝิ่น กินกัณชา ทำอะไร ทางกาย วาจา ใจ ก็ขวางทำนองคลองธรรม มนุษย์อย่างนี้ท่านขนานนามว่า มนุสฺสติรจฺฉาโน แปลว่า มนุษย์สัตว์ดิรัจฉาน ดิรัจฉานแปลว่า ผู้ไปขวาง คือเดินทอดตัว ไม่เดินตั้งตัวเหมือนคน คนดิรัจฉานก็ฉันนั้น ทำอะไรก็ขวางธรรม คือผิดศีลธรรมอยู่เสมอ


มนุสฺสเปโต มนุษย์เปรต ได้แก่ มนุษย์ผู้มากไปด้วยความโลภ มากไปด้วยตัณหา ชอบลักเล็กขโมยน้อย โลภเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน ตีชิงวิ่งราว เป็นต้น แม้พวกที่เที่ยวขอทานมีบาดแผลเกรอะกรัง ก็จัดเข้าไปในประเภทนี้ด้วย


มนุสฺสเนรยิโก มนุษย์สัตว์นรก ได้แก่ มนุษย์ผู้ดุร้ายหยาบคาย เที่ยวฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เที่ยวปล้นเอาทรัพย์สมบัติของคนอื่นด้วยการทารุณดุร้าย เช่น ฆ่าเจ้าทรัพย์ตายบ้าง ตีจนบาดเจ็บสาหัสบ้าง เบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่น โดยอาการดุร้ายนานาประการ รวมความว่าเป็นคนไร้ศีลธรรม ไม่มีศีล5 ประจำตัวเลย มนุษย์เช่นนี้ท่านขนานนามว่า มนุสฺสเนรยิโก แปลว่าเป็น มนุษย์แต่ชื่อ ส่วนความประพฤติ ทางกาย วาจาใจ นั้นเลวทรามดุร้าย หยาบคายเหมือนกับสัตว์นรก
เท่าที่แสดงมานี้ก็พอชี้ให้เห็นแล้ว่า ศีลธรรมเท่านั้นเป็นเครื่องวัดบุคคลเป็นเครื่องแบ่งแยกบุคคลให้มีประเภทต่างๆ กัน ถ้าผู้ใดไร้ศีลธรรม ผู้นั้นก็ชื่อว่า เป็นคนไม่เต็มคนบ้าง เป็นคนเปรตบ้าง เป็นคนอสุรกายบ้าง เป็นคนนรกบ้าง เป็นคนดิรัจฉานบ้าง ถ้าผู้ใดมีศีลธรรม มีวัฒนธรรมอันดีงาม ผู้นั้นก็ชื่อว่า เป็นคนเต็มคนแท้ เป็นคนเทวดา

อธิบายทางสายที่ 3.

คำว่า "สวรรค์" นี้ ตามรูปศัพท์บาลี แปลว่า เลิศด้วยดี ก็ได้ แปลว่า มีอารมณ์ดีงาม ก็ได้ อันสรรพสัตว์พึงถึงด้วยกรรมอันดีงาม ก็ได้ แปลว่า เป็นที่ข้องอยู่ติดอยู่แห่งสัตว์ทั้งหลาย ก็ได้

รวมความว่า สวรรค์ แปลว่า โลกเป็นที่อยู่ของเทวดา มีแต่รูป เสียง กลิ่น รส อันดีงาม คือเป็นของทิพย์ ดีเลิศประเสริฐกว่าเมืองมนุษย์หลายเท่า ในกามาวจรมีอยู่ 6 ชั้น คือ :

สวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกา
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
สวรรค์ชั้นยามะ
สวรรค์ชั้นดุสิต
สวรรค์ชั้นนิมานรดี
สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัสดี
สวรรค์ 6 ชั้นนี้ ถัดกันไปโดยลำดับ ที่แสดงมานี้ปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 19 หน้าที่ 531

ถาม : อะไรเป็นผู้นำสัตว์ไปเกิดในสวรรค์ ?

ตอบ : มหากุศลเป็นผู้นำไป

ถาม : มหากุศล หมายความว่าอย่างไร มีกี่อย่าง อะไรบ้าง

ตอบ : มหากุศล หมายความว่า กุศลมาก คือมีหลายๆ อย่าง เช่น ให้ทาน ฟังธรรม เรียนธรรม เจริญกรรมฐาน ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า สร้างโปสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ สร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล สร้างกุฎิ ขุดบ่อน้ำ ตักบาตร บูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ของหอม เครื่องอาภรณ์ และบูชาด้วยปัจจัย 4 คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ยาแก้โรค เป็นต้น จนไม่สามารถ จะนับได้ เรียกว่ามหากุศลทั้งนั้น เมื่อสรุปลงมาย่อๆ แล้วมีอยู่ 8 อย่างคือ

ในเวลาทำบุญ มีความดีใจ ปรารถนาให้ได้มรรค นิพพาน คิดทำบุญเอง ไม่มีใครมาชักชวนให้ทำ ผู้ที่ทำบุญเช่นนี้ได้ผลบุญมาก คือสามารถจะนำไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ได้ ไปเกิดเป็นเทวดาก็ได้ ถ้าไปเกิดเป็นมนุษย์จะร่ำรวยมาก มั่งมีศรีสุข มีปัญญามาก หากออกเจริญสมถกรรมฐาน ก็จะได้บรรลุฌาน หากออกเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็จะได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน เป็น พระโสดาบัน เป็นต้น
ในเวลาทำบุญ มีความดีใจ ปรารถนาให้ได้มรรค นิพพาน ไม่คิดทำบุญเอง มีผู้ชักชวนให้ทำ ผู้ที่ทำบุญเช่นนี้ได้ผลดีมาก ได้ผลเป็นที่ 2 คือสามารถจะนำไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ได้ เป็นเทวดาก็ได้ ถ้าไปเกิดเป็นมนุษย์จะร่ำรวย มั่งมีศรีสุข มีปัญญามาก แต่เป็นที่ 2 ยังมีคนดี ยังมีคนแหลมกว่า หากออกเจริญกรรมฐาน ก็จะได้ฌาน หากออกเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็จะได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน เป็นต้น


ในเวลาทำบุญ มีใจเฉยๆ ปรารถนาให้ได้มรรค นิพพาน คิดทำบุญเอง ไม่มีใครชักชวนให้ทำ ผู้ที่ทำบุญเช่นนี้ได้ผลเป็นที่ 3 คือสามารถจะนำไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ได้ เป็นเทวดาก็ได้ ถ้าไปเกิดเป็นมนุษย์จะร่ำรวย มั่งมีศรีสุข มีปัญญาดี แต่เป็นที่ 3 ยังมีคนดี ยังมีคนแหลม ยังมีคนเก่งกว่า หากออกเจริญสมถกรรมฐาน ก็จะได้ฌาน หากออกเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็จะได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน เป็นต้น


ในเวลาทำบุญ มีใจเฉยๆ ปรารถนาให้ได้มรรค นิพพาน ไม่คิดทำบุญเอง มีผู้มาชักชวนจึงทำ ผู้ที่ทำบุญเช่นนี้ได้ผลเป็นที่ 4 คือสามารถจะนำไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ได้ เป็นเทวดาก็ได้ ถ้าไปเกิดเป็นมนุษย์จะร่ำรวย มั่งมีศรีสุข มีปัญญาดี แต่เป็นที่ 4 ยังมีคนดี ยังมีคนแหลม ยังมีคนเก่งกว่า หากออกเจริญสมถกรรมฐาน ก็จะได้ฌาน หากออกเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็จะได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน เป็นต้น


ในเวลาทำบุญ มีความดีใจ ไม่ปรารถนาให้ได้มรรค นิพพาน คิดทำบุญเอง ไม่มีผู้มาชักชวนให้ทำ ผู้ที่ทำบุญเช่นนี้ ขาดปัญญา ได้ผลเป็นที่ 5 สามารถจะนำไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ได้ เป็นเทวดาก็ได้ ถ้าไปเกิดเป็นมนุษย์จะร่ำรวย มั่งมีศรีสุข แต่ขาดปัญญาคือไม่มีปัญญา หากออกเจริญสมถกรรมฐาน ก็จะไม่ได้ฌาน หากออกเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็จะไม่ได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน


ในเวลาทำบุญ มีความดีใจ ไม่ปรารถนาให้ได้มรรค นิพพาน ไม่คิดทำบุญเอง มีผู้ชักชวนจึงทำ ผู้ที่ทำบุญเช่นนี้ ขาดปัญญา ได้ผลเป็นที่ 6 สามารถจะนำไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ได้ เป็นเทวดาก็ได้ ถ้าไปเกิดเป็นมนุษย์จะร่ำรวย มั่งมีศรีสุข แต่ขาดปัญญา หากออกเจริญสมถกรรมฐาน ก็จะไม่ได้ฌาน หากออกเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็ไม่ได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน


ในเวลาทำบุญ มีใจเฉยๆ ไม่ปรารถนาให้ได้มรรค นิพพาน คิดทำบุญเอง ไม่มีผู้ชักชวนให้ทำ ผู้ที่ทำบุญเช่นนี้ ขาดปัญญา ได้ผลเป็นที่ 7 สามารถจะนำไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ได้ เป็นเทวดาก็ได้ ถ้าไปเกิดเป็นมนุษย์จะร่ำรวย มั่งมีศรีสุข แต่ขาดปัญญา หากออกเจริญสมถกรรมฐาน ก็จะไม่ได้ฌาน หากออกเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็ไม่ได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน


ในเวลาทำบุญ มีใจเฉยๆ ไม่ปรารถนาให้ได้มรรค นิพพาน ไม่คิดทำบุญเอง มีผู้ชักชวนจึงทำ ผู้ที่ทำบุญเช่นนี้ ขาดปัญญา ได้ผลเป็นที่ 8 สามารถจะนำไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ได้ เป็นเทวดาก็ได้ ถ้าไปเกิดเป็นมนุษย์จะร่ำรวย มั่งมีศรีสุข แต่ขาดปัญญา หากออกเจริญสมถกรรมฐาน ก็จะไม่ได้ฌาน หากออกเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ก็ไม่ได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน

อธิบายทางสายที่ 4.

ทางสายที่ 4 คือ ทางไปพรหมโลก ทางไปพรหมโลก นั้น ได้แก่อารมณ์ 40 แบ่งเป็น 7 หมวดคือ

กสิณ 10 มีปฐวีกสิณ อาโปกสิน เตโชกสิน วาโยกสิน เป็นต้น
อสภะ 10 มีซากศพที่มีสีเขียวขึ้นพอง ซากศพทีมีหนองไหลออก ซากศพที่ขาดครึ่งตัวเป็นต้น
อนุสสติ 10 มี พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวดานุสสติ เป็นต้น
พรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
อรูปฌาน 4 มีอากาสานัญจายตนะ เป็นต้น
อาหาเรปฏิกูลสัญญา พิจารณาอาหารโดยความเป็นปฏิกูล
จตุธาตุววัฎฐาน กำหนดธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม


ทั้ง 40 นี้ เป็นอารมณ์ของสมถกรรมฐาน ผู้ที่เจริญกรรมฐานเหล่านี้ข้อใด ข้อหนึ่ง เช่น เพ่งดิน เพ่งน้ำ เป็นต้น จนได้บรรลุปฐมญาน ทุติยฌาน ฯลฯ เมื่อตายแล้วย่อมได้ไปเกิดในพรหมโลก ชั้นใดชั้นหนึ่ง ตามสมควรแก่ฌานของตน ถ้าผู้ใดต้องการไปเกิดในพรหมโลก ก็ต้องเจริญสมถกรรมฐานจนได้ฌานก่อน ผู้นั้นก็ได้ไปเกิดในพรหมโลกตามประสงค์

ทางสายที่ 1 และ 4 นี้ มีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก ภายในพุทธศาสนาก็มี ภายนอกพุทธศาสนาก็มี เช่น อาฬารดาบส อุทกดาบส ผู้เป็นอาจารย์ของพระพุทธเจ้า เป็นต้น ได้เดินทางสายนี้มาแล้ว

ถึงแม้ว่าได้ฌานแล้วไปเกิดในพรหมโลกก็ตาม ยังไม่พ้นทุกข์ได้ ถ้าหมดบุญแล้วยังจะกลับมาสู่อบายภูมิได้อีก ดังตัวอย่างต่อไปนี้คือ

ในอดีตกาล ยังมีแม่ไก่ตัวหนึ่งไปยืนฟังพระสอนวิปัสสนากรรมฐานอยู่อย่างไม่รู้เรื่อง ในขณะนั้นมีเหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบลงมาเอาไก่ตัวนั้นไปเป็นอาหาร เมื่อแม่ไก่ตัวนั้นตายแล้ว ได้ไปเกิดเป็นธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อนางอายุได้ 15 ปี นางไปถ่ายอุจจาระมีหมู่หนอนมาแย่งกันกินอุจจาระ เป็นกลุ่มๆ ก้อนๆ อยู่นางจึงเพ่งดูหนอนนั้น พร้อมทั้งบริกรรมในใจว่า "ปุฬุวกํ ปุฬุวกํ" แปลว่าหนอน หนอน ดังนี้ ไม่นานก็สามารถเกิดวิตกยกจิตขึ้นสู่กองหนอน วิจารวนรอบอยู่กองหนอน ปิติเกิดขนลุกซู่ตามร่างกาย สุขมีความสบาย เอกัคคตา มีใจดิ่งอยู่อารมณ์อันเดียว เรียกได้ว่าบรรลุปฐมฌาน เมื่อตายแล้วนางได้ไปเกิดในพรหมโลก ครั้นมาถึงศาสนาแห่งพระพุทธเจ้า นางได้จุติจากพรหมโลกมาเกิดเป็นมนุษย์ ตายจากมนุษย์ไปเกิดเป็นนางสุกร พระพุทธเจ้ากับพระอานนท์เข้าไปบิณฑบาตในบ้าน เมื่อได้ทอดทัศนาการเห็นเป็นเช่นนั้น พระพุทธองค์จึงทรงแย้มพระโอษฐ์ให้ปรากฏ พระอานนท์เถระจึงได้ทูลถามถึงเหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเป็นใจความว่า "ดูกรอานนท์ ตัณหาของสรรพสัตว์นี้หยาบมาก นางสุกรนี้ เมื่อก่อนเกิดเป็นแม่ไก่ ตายจากนั้นไปเกิดเป็นธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน ตายจากนั้นได้ไปเกิดในพรหมโลก ครั้นจุติจากพรหมโลกแล้วยังกลับมาเกิดในอบายภูมิ คือ นางสุกร เช่นนี้อีก"
ตามตัวอย่างนี้ พอชี้ให้เห็นแล้วว่า ผู้ที่ได้ฌานแล้วยังกลับไปสู่ทุคติได้อีก เพราะกิเลสยังมีอยู่ เป็นเพียงข่มไว้ชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น ยังละไม่ได้เด็ดขาด จึงจำเป็นต้องกลับมาสู่อบายภูมิได้อีก ดังหลักฐานในวิภังคบาลี รับรองความข้อนี้ว่า อุกฺขิตฺตา ปุญฺญเตเชน กามรูปคตึ คตา

ภวคฺคมฺปิจ สมฺปตฺตา ปุน คจฺฉนฺติ ทุคฺคตึ

ด้วยอำนาจแห่งบุญที่ตนทำไว้แล้ว สัตว์ทั้งหลายจึงได้ไปเกิดในพรหมโลก แม้ถึงภวัคคพรหมแล้ว ก็ยังกลับมาสู่ทุคติได้อีก ดังนี้

เพราะฉะนั้น ขอสาธุชนทั้งหลายจงอย่าพากันประมาท และนอนใจอยู่ เพียงแต่ทางสายที่ 2 ถึงที่ 4 นี้ยังไม่พ้นไปจากกิเลสและกองทุกข์ได้ ยังไม่พ้นจากอบายภูมิไปได้อย่างแน่นอน ยังมีโอกาสจะต้องย้อนกลับบ้านสู่ทุคติได้อยู่ มีประตูอบายเปิดคอยไว้ทุกเมื่อ ปิดประตูอบายยังไม่ได้อย่างเด็ดขาด จงพากันรีบถ่อรีบพายต่อๆ ไป จนกว่าจะถึงพระนิพพานโน้นเถิด จะไม่เกิดเสียใจภายหลัง ทางสายที่ 4 มีอรรถาธิบายดังบรรยายมาด้วยประการฉะนี้


อธิบายทางสายที่ 5.

ทางสายที่ 5 คือทางไปนิพพาน ได้แก่ การเจริญสติปัฏฐาน 4 ดังบาลีที่ได้ยกเป็นหัวข้อ ณ. เบื้องต้น นั้นว่า

เยเนว ยนฺติ นิพฺพานํ พุทฺธา เตสญฺจ สาวกา

เอกายเนน มคฺเคน สติปัฏฺฐานสญฺญินา

แปลว่า พระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกทั้งหลาย ได้ดำเนินไปแล้วสู่พระนิพพานด้วยหนทางสายใด ทางสายนั้นเป็นทางสายเอก อันนักปราชญ์รู้ทั่วถึงกันแล้วว่าคือ สติปัฏฐาน 4 มีดังนี้

การเจริญสติปัฏฐาน 4 คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน ได้แก่วิปัสสนาภูมิทั้ง 6 คือ :

ขันธ์ 5
อายตนะ 12
ธาตุ 18
อินทรีย์ 22
อริยสัจจ์ 4
ปฏิจจาสมุปปาท 12
ย่อให้สั้นได้แก่รูป กับ นาม รูปกับนามนี้ เกิดขึ้นที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และ กิเลสก็ เกิดที่ตรงนี้เช่น เวลาเห็นรูป รูปนามเกิดแล้ว สีเป็นรูป เห็นเป็นนาม ถ้าเห็นรูปดี ชอบใจเป็นโลภะ เห็นรูปไม่ดี ไม่ชอบใจ เป็นโทสะ เห็นแล้วเฉยๆ ไม่มีสติกำหนดรู้เป็นโมหะ

ทางหูก็เช่นกัน เช่น เสียงเป็น รูป หู (หมายเอาโสตประสาท) เป็นรูป ได้ยิน เป็นนาม ได้ยินเสียงเพราะชอบใจ เป็นโลภะ ได้ยินเสียงไม่เพราะ ไม่ชอบใจ เป็นโทสะ ได้ยินเสียงแล้ว ใจเฉยๆ และไม่มีสติกำหนดรู้เป็นโมหะ

ทางจมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นรูปนาม และเป็นเหตุให้ โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นโดยทำนองเดียวกันนี้

ตามธรรมดาของชาวโลก โดยทั่วๆ ไป แล้วเวลาจะดับไฟต้องเอาน้ำไปสาดหรือเทลงตรงไฟไหม้นั้น จึงจะดับได้ เช่นไฟกำลังไหม้บ้าน ต้องเอาน้ำไปเทรดที่บ้านนั้น ไฟจึงจะดับได้ ฉันใดผู้ที่จะดับกิเลส ก็ฉันนั้น กิเลสเกิดที่จมูก หู ลิ้น กาย ใจ ก็ดับกิเลสที่ตรงตา หู เป็นต้นนั้นเช่นกัน

วิธีที่จะดับได้นั้น ต้องพร้อมด้วยองค์ 3 คือ

อาตาปี มีความเพียรเผากิเลสให้ร้อนทั่ว ได้แก่หมั่นขยันทำกรรมฐานมิให้ขาด
สติมา มีสติกำหนด รูป นามอยู่ เสมอ
สมฺปชาโน มีสัมปชัญญะ คือ รู้รูปนามอยู่ ทุกๆ ขณะ
เมื่อปฏิบัติถูกต้องตามองค์เช่นนี้ ติดต่อกันไปภายใน 7 วัน 15 วัน 1 เดือน หรือ 2 เดือน เป็นต้น จึงจะสามารถละกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงได้

ภาคปฏิบัติตามสติปัฏฐาน 4 นั้น ทำดังนี้ คือ:

ให้เดินจงกรม ใช้สติจับอยู่ที่เท้า เวลายกเท้าขวาขึ้นให้ภาวนาในใจ "ขวาย่างหนอ" ใช้สติตามรู้ตั้งแต่เริ่มยก กลางยก สุดยก มิให้เผลอ ประมาณสัก 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง
เดินแล้วให้นั่งลง นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขาวทับมือซ้าย ตั้งตัวให้ตรงพอสมควร หลับตาให้เอาสติจับอยู่ที่ท้อง เวลาท้องพองขึ้น ให้ภาวนาตาว่า "พองหนอ" เวลาท้องยุบให้ภาวนาตามว่า "ยุบหนอ"
ในขณะที่นั่งอยู่นั้น ถ้ามีเวทนาเกิดขึ้น เช่น เจ็บ ปวด เมื่อย คัน ก็ให้ใช้สติ กำหนดตามอาการนั้นๆ คือ ให้ทิ้งพอง ยุบ ก่อนแล้ว กำหนดอาการเจ็บว่า เจ็บหนอๆ จนกว่าจะหายไป ถ้าอาการปวดเกิดขึ้น ก็ให้กำหนดว่า ปวดหนอๆ ถ้าอาการเมื่อยเกิดขึ้น ก็ให้กำหนดว่า เมื่อยหนอๆ ถ้าอาการคันเกิดขึ้น ก็ให้กำหนดว่า คันหนอๆ จนกว่าจะหายไป เมื่อเวทนาหายไปแล้ว ให้กลับมากำหนด พองหนอ ยุบหนอ ต่อไป นั่งให้ได้ประมาณสัก 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง แรกทำ จะนั่งเพียงวันละ 5 นาทีก่อนแล้ว ค่อยเพิ่มขึ้นเป็น 10-15-20-30 นาทีก็ได้
เวลาใจคิดไปถึงเรื่องต่างๆ เช่น นึกถึงบ้าน นึกถึงการงาน ลูกหลานเป็นต้น ให้ใช้สติปักลงไปที่หัวใจ พร้อมกับภาวนาว่า "คิดหนอๆ" จนกว่าจะหยุดคิด
เวลานอน ให้เอาสติจับอยู่ที่ท้อง ภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ จนหลับไปด้วยกัน ให้คอยสังเกตดูให้ดีว่า จะหลับไปตอนพอง หรือจะหลับไปตอนยุบ ถ้าใครจับได้นับว่าดีมาก
แสดงเหตุแห่งการปฏิบัติเป็นข้อๆ ดังนี้ คือ

ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า ได้เจริญสติปัฏฐานทั้ง 4 ตามพระบาลีในพระไตรปิฏก
ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน
ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท เพราะมีสติกำกับเสมอ
ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติตรงและถูกต้องครบทั้ง 3 ปิฎก ดังหลักฐานเป็นเครื่องสาธก มีอยู่ว่า
สกลํปิ หิ เตปิฏกํ พุทฺธวจนํ อาหริตฺวา

กถิยมานฺ อปฺปมาทํเอว โอตรติ

ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า ได้บำเพ็ญอัฏฐังคิกมรรค ทั้ง 8 อันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง
ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า ได้บำเพ็ญไตรสิกขาครบบริบูรณ์ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ขณะเดินจงกรม หรือนั่งกำหนดอยู่นั้น กายกรรม 3 วจีกรรม 4 มโนกรรม 3 บริสุทธิ์ดี จัดเป็นศีล ใจไม่เผลอจากรูปนาม จัดเป็นสมาธิ เห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ จัดเป็นปัญญา
ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า ได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยปฏิปัตติบูชา ดังที่ตรัสแก่พระอานนท์เถระ ในคราวจะปรินิพพาน ซึ่งปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 10 มหาปรินิพพานสูตรว่า
โย โข อานนฺท ภิกฺขุ วา ภิกฺขณี วา อุปาสโก อุปาสิกา วา

ธมฺมานุธมฺม ปฏิปนฺโน วิหรติ เป็นต้น แปลเป็นใจความว่า

"ดูกรอานนท์ บุคคลใด เป็นภิกษุก็ตาม เป็นภิกษุณีก็ตาม เป็นอุบาสก เป็นอุบาสิกา ก็ตาม ถ้าปฏิบัติธรรมสมควรแก่นวโลกุตตรธรรมทั้ง 9 ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรม คือ เจริญสติปัฏฐาน 4 ได้แก่เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง จนได้บรรลุ มรรค ผล นิพพานแล้ว บุคคลนั้นชื่อว่า ได้ สักการะ ได้เคารพ ได้นับถือ และได้บูชาเรา ด้วยการบูชาอย่างสูงที่สุด" ดังนี้

ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า ได้เป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อพระองค์มาก ดังที่ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายในเมือง ไพสาลีว่า
ภิกฺขเว มยิ สสิเนโห ติสฺสสทิโสว เป็นต้น ใจความว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมีความรักใคร่ในเรา ผู้นั้นจงเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เช่นกับ พระติสสะนี้เถิด ถึงแม้ว่าพุทธบริษัท จะทำการบูชาเราด้วยของหอม และดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น ก็ยังไม่ชื่อว่า ได้บูชาเราอย่างแท้จริง เฉพาะผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน สมควรแก่มรรค ผล นิพพาน เท่านั้น จึงจะชื่อว่า ได้บูชาเราอย่างแท้จริง ดังนี้

แสดงผลแห่งการปฏิบัติเป็นข้อๆ ดังนี้ คือ

ถ้าปฏิบัติถูกต้องตามที่บรรยายมานั้น จะทันปัจจุบันธรรม คือสติทันรูปนาม มีการเผลอน้อยขณะใด มีสติอยู่ ขณะนั้นโลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นไม่ได้ โลภ โกรธ หลง เปรียบเหมือนความมืด สติเปรียบเหมือนไฟฟ้า เมื่อเราดับไฟ ความมืดก็มา เมื่อเราเปิดไฟ ความมืดก็หายไป ฉะนั้น
เมื่อกำหนดทันปัจจุบันดีแล้ว จะรู้ลักษณะของรูปนามได้ดีมากว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นาม
เมื่อรู้รูปกับนามแล้ว จึงจะรู้พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้ เพราะพระไตรลักษณ์ปักอยู่กับรูปนาม อุปมาเหมือนตัวเสือ กับลายเสือ
รูปนาม เปรียบเหมือนตัวเสือ พระไตรลักษณ์ เปรียบเหมือนลายเสือ

ตัวเสือ จะไปหากินวัวกลางทุ่ง ส่วนลายเสือ ไปอยู่ในป่าเช่นนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้น เมื่อเห็นตัวเสือก็เห็นลายเสือ เมื่อเห็นรูปนามก็ย่อมเห็นพระไตรลักษณ์ อันนี้เป็นหลักของสภาวะธรรม เกิดเฉพาะแก่ผู้ปฏิบัติเท่านั้น จะเกิดแก่ผู้ไม่ปฏิบัติไม่ได้ เป็นอันขาดดุจอาหารจะกินแทนกัน จะอิ่มแทนกันไม่ได้ ใครกิน ใครอิ่ม ใครกิน ใครอ้วน โบราณท่านว่า กินเองจึงอ้วน

เมื่อรู้พระไตรลักษณ์แล้ว จึงจะได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน
ที่แสดงมานี้ แสดงผลโดยย่อ ถ้าจะแสดงผลโดยส่วนกลาง ผู้ปฏิบัติจะได้รู้แจ้งแทงตลอดวิสุทธิทั้ง 7 คือ

สีลวิสุทธิ มีศีลอันบริสุทธิหมดจดดี
จิตตวิสุทธิ มีจิตอันบริสุทธิหมดจดดี
ทิฏฐิวิสุทธิ มีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิดี คือ เห็นรูปงาม ได้แก่ ญาณที่ 1
กังขาวิตรณวิสุทธิ มีความรู้ความเห็น อันเข้าพ้นจากความสงสัยเสียได้ คือหายความข้องใจสงสัยในรูปนาม และหายความข้องใจสงสัยในเหตุในปัจจัยของรูปนามได้แก่ญาณที่ 2
มัคคามัคคาญาณทัสสนวิสุทธิ มีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ คือรู้ทางถูกและทางผิด ละทางผิดแล้วยึดทางถูกต่อไป ได้แก่เห็นความเกิดดับของรูปนาม ถึง อุทยัพพยญาณอย่างอ่อน
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ มีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ ดำเนินไปโดยลำดับๆ คือ เห็นความเกิดดับของรูปนาม เห็นเฉพาะความดับไปของรูปนาม เห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว เห็นโทษทุกข์ของรูปนาม เกิดความเบื่อหน่ายในรูปนาม อยากออกอยากหนี อยากหลุดพ้นจากรูปนาม มีใจเข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง มีใจเฉยๆ คือมีอุเบกขาเตรียมตัวเข้าสู่มรรค ผล นิพพาน เมื่อสรุปความแล้ว ได้แก่ ญาณที่ 4 อย่างแก่ จนถึงญาณที่ 12
ญาณทัสสนวิสุทธิ มีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ คือ ถึงพระนิพพานแล้ว ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทประหาน เรียกว่า ญาณที่ 14 คือ มัคคญาณ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์
ถ้าจะแสดงผลแห่งการปฏิบัติโดยพิสดารแล้ว ผู้ปฏิบัติทางสายนี้ จะได้ผลเป็นขั้นๆ ถึง 16 ประการคือ :

นามรูปปริเฉทญาณ รู้รูปนาม ได้แก่ วิสุทธิข้อที่ 3
ปัจจัยปริคคหญาณ รู้เหตุปัจจัยของรูปนาม ได้แก่ วิสุทธิ ข้อที่ 4
สัมมสนญาณ พิจารณารูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้แก่เข้าเขตวิสุทธิที่ 5 อ่อนๆ
อุทยัพพยญาณ เห็นรูปนามเกิดดับ ได้แก่ วิสุทธิที่ 5 อย่างแก่
ภังคญาณ เห็นเฉพาะความดับไปของรูปนาม
ภยญาณ เห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว
อาทีนวญาณ เห็นทุกข์ เห็นโทษของรูปนาม
นิพพิทาญาณ เกิดความเบื่อหน่ายในรูปนาม
มุญจิตุกัมยตาญาณ อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้น
ปฏิสังขาญาณ มีกำลังใจเข้มแข็งดี ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ไม่ยอมถอยหลัง
สังขารุเปกขาญาณ มีใจเฉยๆ อยู่กับรูปนาม ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไม่กลัว ไม่เบื่อ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย
อนุโลมญาณ อนุโลม คือทวนญาณที่ 4-5-6-7-8-9-10-11 มาอีก และอนุโลมตามโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ คือ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 มรรค 8
ญานข้อที่ 4 ถึง 12 ได้แก่วิสุทธิข้อที่ 6 ถ้าเทศน์วิสุทธิข้อที่ 6 ก็คือเทศน์ญาณที่ 4 ถึงญาณที่ 12 นั่นเอง
โคตรภูญาณ หน่วงนิพพานเป็นอารมณ์ ตัดขาดจากโคตรของปุถุชน เข้าสู่เขตโคตรของพระอริยเจ้าและพระนิพพานแล้ว แต่ยังไม่เต็มที่ ดุจคนถือสาส์นไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน ได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่บนหลังช้างแล้ว แต่ยังมิได้ถวายสาส์น หรืออีกอุปมาหนึ่ง ดุจบุคคลผู้เป็นแม่ครัวทำกับข้าว เอาช้อนตักน้ำแกงมาชิมดู ย่อมจะรู้รสบ้างแล้วว่า เค็มหรือไม่เค็ม แต่ยังไม่ได้ลงมือรับประทานแกงเต็มที่ ฉะนั้น อยู่ในระหว่างกลางวิสุทธิที่ 6 กับที่ 7 ต่อกัน
มัคคญาณ ตัดกิเลสได้เด็ดขาด คือละกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวตน เราเขา ละวิจิกิจฉา คือ ความลังเลสังสัยในวัตตปฏิบัติ ในพระรัตนตรัย ในบาป บุญ นรก สวรรค์ มรรค ผล นิพพาน อย่างเด็ดขาด ละสีลัพพตปรามาส คือการปฏิบัติผิดจากพระพุทธศาสนา เช่น บุชาไฟ ยืนขาเดี่ยวเหนี่ยวกินลม หรือแก้ผ้า กินหญ้าดุจโค เป็นต้น ญาณนี้ถึงพระนิพพานแล้ว คือมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ญาณนี้เป็นโลกุตตระ
ผู้ปฏิบัติถึงขั้นนี้ จึงจะพิสูจน์ได้ว่า นรก เปรต อสุรกาย บุญ บาป สวรรค์ มรรค ผล นิพพาน เป็นของมีจริง แท้ แน่นอน ถ้าปฏิบัติยังไม่ถึงนี้ ยังจะมีความสงสัยอยู่ตลอดไป
ผลญาณ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นผลสืบมาจากมรรคที่ได้ประหานกิเลสเด็ดขาดลงไปแล้ว ญาณนี้เป็นโลกุตตระ
ปัจจเวกขณญาณ ย้อนกลับไปพิจารณากิเลสที่ละแล้ว ที่เหลืออยู่ ซึ่งจะต้องปฏิบัติเพื่อละอีกต่อไป ญาณนี้เป็นโลกียะ ใช้มหากุศลเป็นเครื่องพิจารณา


ดังที่แสดงมานี้ เป็นผลแห่งการปฏิบัติตามสติปัฏฐาน 4 โดยพิสดาร

ผู้ปฏิบัติผ่านญาณ 16 ครั้งที่ 1 เรียกว่า เป็น พระโสดาบัน

ผู้ปฏิบัติผ่านญาณ 16 ครั้งที่ 2 เรียกว่า เป็น พระสกิทาคามี

ผู้ปฏิบัติผ่านญาณ 16 ครั้งที่ 3 เรียกว่า เป็น พระอนาคามี

ผู้ปฏิบัติผ่านญาณ 16 ครั้งที่ 4 เรียกว่า เป็น พระอรหันต์
เมื่อปฏิบัติผ่านญาณ 16 ถึง 4 ครั้งเช่นนี้แล้ว จึงจะเป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นอันว่า ไม่

ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดในห้วงมหรรณพภพสงสารอีกต่อไปแล้ว




เพราะฉะนั้น ขอให้สาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายจงพากันรีบลงมือปฏิบัติเสียแต่บัดนี้เถิด จะไม่เสียทีที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา อันสรีระร่างและทรัพย์สมบัติของเรานี้ไม่มีสาระและแก่นสารอะไรเลย ในเมื่อแตกตายสลายชีวิตลงไปแล้ว แม้ลูกๆ หลานๆ จะเอาใส่ในปากให้คาบไป ก็เอาไปไม่ได้ เราท่านทั้งหลายควรจะรีบถือเอาสาระแก่นสารจากสกลกายอันนี้เสียโดยเร็วพลัน อย่าประมาทอยู่ อย่ามัวผลัดวันประกันพรุ่งอยู่ ตนเท่านั้นเป็นที่พึ่งแห่งตน คนอื่นใครเล่าจะมาเป็นที่พึ่งแก่เราได้ จงพากันรีบถ่อรีบพายเถิด ประเดี๋ยวตะวันจะสาย ตลาดจะวาย สายบัวของเราจะเน่า

เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้




 

Create Date : 01 ตุลาคม 2550
5 comments
Last Update : 1 ตุลาคม 2550 21:03:36 น.
Counter : 5418 Pageviews.

 

ใช้ค่ะ ปล่อยวาง..
บล๊อกสีหวานเหมือนเจ้าของรึป่าวค่ะ

 

โดย: atit (atit_amo ) 2 ตุลาคม 2550 17:58:44 น.  

 



สาธุค่ะหนูนิ๊ม...ใช่แล้วค่ะ ธรรมะของพระพุทธเจ้าทำให้เรารู้จักตัวเราเองมากขึ้น และมีความสุขจากภายในมากขึ้น...เป็นอิสระมากขึ้นด้วย สาธุ ๆ ค่ะ

ยินดีที่ได้รู้จักนะคะ

 

โดย: ตาลาย (jdfoxbat ) 2 ตุลาคม 2550 19:02:46 น.  

 

ImageChef.com - Custom comment codes for MySpace, Hi5, Friendster and more


ดีจัง อนุโมทนากับธรรมทานด้วยค่ะ น้องหนูนิ้ม

ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ แล้วจะแวะมาใหม่ค่ะ

 

โดย: เอสเจ~* 4 ตุลาคม 2550 14:18:50 น.  

 

กลัวจะต้องไปอบาย จึงพยายามปฏิบัติอยู่ค่ะ
เดี๋ยวนี้ก็ลดละไปได้บ้าง แต่บางทีมันก็อาจ
จะเป็นไปตามวัยที่มากขึ้นด้วยก็ได้

 

โดย: แมงหวี่@93 (แมงหวี่@93 ) 5 ตุลาคม 2550 10:01:35 น.  

 

อนุโมทนาด้วยนะครับ...


ละเอียดดีจริงเลยครับ... :}

 

โดย: Pormaid 8 กุมภาพันธ์ 2551 23:17:12 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

 

nimmanoradee
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




หนูนิ้มเข้ามาที่นี่เพราะพระพุทธเจ้า บุคคลผู้ซึ่งให้สิ่งที่ทำให้หนูเจอกับความสุขที่ยิ่งใหญ่ ในการรู้จักตัวเอง รู้จักความสุขที่มาจากข้างในตัวเอง
โอ๊ค สมิทธิ์ - ควา...
[Add nimmanoradee's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com