ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด
<<
พฤศจิกายน 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
27 พฤศจิกายน 2554

ลักษณะของ“จิตที่เป็นสมาธิ”




สมาธิ หมายถึง ภาวะจิตที่มีคุณภาพและมีสมรรถภาพที่ดีที่สุด จิตที่เป็นสมาธิ หรือมีคุณภาพดีสมรรถภาพสูงนั้น มีลักษณะที่สำคัญดังนี้
1. แข็งแรง มีพลังมาก ท่านเปรียบไว้ว่าเหมือนกระแสน้ำที่ถูกควบคุมให้ไหลพุ่งไปในทิศทางเดียว ย่อมมีกำลังแรงกว่าน้ำที่ถูกปล่อยให้ไหลพร่ากระจายออกไป
2. ราบเรียบ สงบซึ้ง เหมือนสระหรือบึงน้ำใหญ่ ที่มีน้ำนิ่ง ไม่มีลมพัดต้อง ไม่มีสิ่งรบกวนให้กระเพื่อมไหว
3. ใส กระจ่าง มองเห็นอะไรๆ ได้ชัด เหมือนน้ำสงบนิ่ง ไม่เป็นริ้วคลื่น และฝุ่นละอองที่มีก็ตกตะกอนกันหมด
4. นุ่มนวล ควรแก่งาน หรือเหมาะแก่การใช้งาน เพราะไม่เครียด ไม่กระด้าง ไม่วุ่น ไม่ขุ่นมัว ไม่สับสน ไม่เร่าร้อน ไม่กระวนกระวาย


ไวพจน์ที่แสดงความของสมาธิคำหนึ่งคือ เอกัคคตา แปลกันว่า ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว
แต่ ถ้าว่าตามรูปศัพท์จะเห็นลักษณะของจิตที่คล้ายกับในข้อแรกคือ เอกัคคตา = เอก + อัคค + ตา (ภาวะ) คำว่า อัคคะในที่นี้ท่านให้แปลว่าอารมณ์ แต่ความหมายเดิมแท้คือ จุดยอด หรือจุดปลาย โดยนัยจิตเป็นสมาธิก็คือ จิตที่มียอดหรือมีจุดปลายจุดเดียว ซึ่งย่อมมีลักษณะแหลมพุ่ง แทงทะลุสิ่งต่างๆ ไปได้ง่าย

จิตที่เป็นสมาธิขั้นสมบูรณ์ เฉพาะอย่างยิ่งสมาธิถึงขั้นฌาน พระอรรถกจารย์เรียกว่า " จิตประกอบด้วยองค์ 8 "
องค์ 8 นั้นท่านนับจากคำบรรยายที่เป็นพุทธพจน์นั่นเอง กล่าวคือ
1 ตั้งมั่น
2 บริสุทธิ์
3 ผ่องใส
4 โปร่งโล่งเกลี้ยงเกลา
5 ปราศจากสิ่งมัวหมอง
6 นุ่มนวล
7 ควรแก่งาน
8 อยู่ตัวไม่วอกแวกหวั่นไหว

ท่าน ว่าจิตที่มีองค์ประกอบเช่นนี้ เหมาะแก่การนำเอาไปใช้ได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเอาไปใช้งานทางปัญญาพิจารณาให้เกิดความรู้เข้าใจถูกต้องแจ้งชัด หรือใช้ในทางสร้างพลังจิตให้เกิดอภิญญาสมาบัติอย่างใดๆ ก็ได้

ตามที่ กล่าวมานี้มีข้อควรย้ำว่า ลักษณะเด่นที่สุดของจิตที่เป็นสมาธิซึ่งสัมพันธ์กับความมุ่งหมายของสมาธิ ด้วยก็คือความควรแก่งาน หรือความเหมาะแก่การใช้งาน และงานที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาก็คือ ทางปัญญา อันได้แก่ การใช้จิตที่พร้อมเช่นนั้นเป็นสนามปฏิบัติการของปัญญา ในการพิจารณาสภาวธรรมให้เกิดความรู้แจ้งตามความเป็นจริงและโดยนัยนี้จึงควร ย้ำเพิ่มไว้อีกว่า สมาธิที่ถูกต้อง ไม่ใช่อาการที่จิตหมดความรู้สึก ปล่อยตัวตนเข้ารวมหายไปในอะไรๆ แต่เป็นภาวะที่ใจสว่าง โล่งโปร่ง หลุดออกจากสิ่งบดบังบีบคั้นกั้นขวาง เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ตื่นอยู่ เบิกบาน พร้อมที่จะใช้ปัญญา พึงพิจารณาพุทธพจน์ต่อไปนี้

" ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 5 ประการต่อไปนี้ เป็นเครื่องปิดกั้น เป็นนิวรณ์ เป็นสิ่งที่กดทับจิต ทำให้ปัญญาอ่อนกำลัง ห้าประการกล่าวคือ กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ภิกษุไม่ละธรรม 5 ประการที่เป็นเครื่องปิดกั้น เป็นนิวรณ์ เป็นสิ่งที่กดทับจิต ทำให้ปัญญาอ่อนกำลัง แล้วจักรู้จักประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักประจักษ์แจ้งซึ่งญาณทัศนะอันวิเศษ ที่สามารถทำให้เป็นอริยะ ซึ่งยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์สามัญ "

" ด้วยปัญญาที่ทุรพลไร้กำลัง ข้อนี้ย่อมมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้ เปรียบเสมือนแม่น้ำที่เกิดบนภูเขา ไหลลงเป็นสายยาวไกล มีกระแสเชี่ยวพัดพาสิ่งที่พอจะพัดเอาไปได้ บุรุษเปิดปากเหมืองออกทั้งสองข้างของแม่น้ำนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น กระแสน้ำท่ามกลางแม่น้ำนั้นก็กระจาย ส่ายพร่า เขวคว้าง ไม่แล่นไหลไปไกล ไม่มีกระแสเชี่ยว และพัดพาสิ่งที่พอจะพัดเอาไปไม่ได้... "

สังคา รวพราหมณ์กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ท่านพระโคตมะผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยให้ในบางคราว มนต์ทั้งหลาย แม้ที่ได้สาธยายมาแล้วตลอดเวลายาวนาน ก็ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้สาธยายตลอดเวลายาวนาน ก็แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ได้สาธยาย

พระ พุทธเจ้าตอบตรัสว่า : ดูกรพราหมณ์ ในเวลาใดบุคคลมีใจกลุ้มรุมด้วยราคะ ถูกกามราคะครอบงำอยู่และไม่รู้ชัดตามเป็นจริงซึ่งทางออกแห่งกามราคะที่เกิด ขึ้นแล้ว ในเวลานั้นเขาย่อมไม่รู้ชัด มองไม่เห็นตามเป็นจริง แม้ซึ่งประโยชน์ตน แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองฝ่าย มนต์ทั้งหลาย แม้ที่ได้สาธยายมาตลอดเวลายาวนานก็ย่อมไม่แจ่มแจ้ง ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้สาธยาย
(บุคคลมีใจ
กลุ้มรุมด้วยพยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉาก็เช่นเดียวกัน ทรงเปรียบจิตที่ถูกนิวรณ์ข้อต่างๆ ครอบงำดังต่อไปนี้)
1. (จิตที่ถูกกามราคะครอบงำ) เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำซึ่งเอาสีครั่งบ้าง สีขมิ้นบ้าง สีเขียวบ้าน สีแดงอ่อนบ้าง ผสมปนกันไว้ คนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง
2. (จิตที่ถูกพยาบาทครอบงำ) เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ ที่เอาไฟเผาลน เดือดพล่าน มีไอพุ่ง คนตาดีมองเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง
3. (จิตที่ถูกถีนมิทธะครอบงำ) เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่ถูกสาหร่ายและจอกแหนปกคลุม คนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง
4. (จิตที่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ) เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่ถูกลมพัดไหล กระเพื่อมเป็นคลื่น คนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง
5. (จิตที่ถูกวิจิกิจฉาครอบงำ) เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่ขุ่นมัว เป็นตม ซึ่งวางไว้ในที่มืด คนตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะน้ำนั้น ก็ไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง
ส่วน บุคคลที่ใจไม่มีนิวรณ์ 5 ครอบงำ และรู้ทางออกของนิวรณ์ 5 ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามเป็นจริง ทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์ทั้งสองฝ่าย มนต์แม้ที่มิได้สาธยายตลอดเวลายาวนานก็แจ่มแจ้งได้ ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่ได้สาธยาย และมีอุปมาต่างๆ ตรงข้ามกับที่กล่าวมาแล้ว


" ภิกษุทั้งหลาย อุปกิเลสแห่งทอง 5 อย่างต่อ ไปนี้ ทองเปื้อนปนเข้าด้วยกันแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้ไม่อ่อน ไม่ควรแก่งาน ไม่สุกปลั่ง เปราะ ไม่เหมาะที่จะนำไปทำอะไรๆ ; ห้าอย่างเป็นไฉน ได้แก่ เหล็ก โลหะอื่น ดีบุก ตะกั่ว และเงิน...เมื่อใดทองพันจากอุปกิเลส 5 ประการเหล่านี้แล้ว ก็จะเป็นสภาพอ่อน ควรแก่งาน สุกปลั่ง ไม่เปราะ เหมาะที่จะนำไปทำอะไรๆ ได้ดี "

" กล่าวคือ ช่างทองต้องการทำเครื่องประดับชนิดใดๆ จะเป็นแหวน ต่างหู สร้อยคอ หรือสุวรรณมาลาก็ตาม ย่อมสำเร็จผลที่ต้องการ ฉันใด อุปกิเลสแห่งจิต 5 อย่างต่อไปนี้ จิตพัวพันเศร้าหมองเข้าแล้ว ย่อมไม่นุ่มนวล ไม่ควรแก่งาน ไม่ผ่องใส เปราะเสาะ และไม่ตั้งมั่นด้วยดี (ไม่เป็นสัมมาสมาธิ) เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ฉันนั้น ห้าอย่างเป็นไฉน ได้แก่ กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา... "

" เมื่อจิตพ้นจากอุปกิเลส 5 ประการเหล่านี้แล้ว ก็จะเป็นสภาพอ่อนโยน ควรแก่งาน ผ่องใส ไม่เปราะเสาะ และย่อมตั้งมั่นด้วยดี (เป็นสัมมาสมาธิ) เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย อนึ่ง เธอจะน้อมจิตไปเพื่อรู้จำเพาะประจักษ์แจ้งซึ่งอภิญญาสัจฉิกรณีธรรม (สิ่งที่พึงทำให้ประจักษ์แจ้งด้วยการรู้เจาะตรง) อย่างใดๆ ก็ย่อมถึงภาวะที่สามารถเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ได้ ในเมื่อเหตุมีอยู่... "
มี พุทธพจน์บางแห่งตรัสว่า " ถ้าภิกษุปราศจากนิวรณ์ทั้งห้า และได้เริ่มทำความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติกำกับอยู่ไม่เลือนหลง กายผ่อนคลายสงบ ไม่เครียดกระสับกระส่าย จิตตั้งมั่น มีอารมณ์หนึ่งเดียว ไม่ว่าเธอจะเที่ยวไปอยู่ก็ตาม ยืนอยู่ก็ตาม นั่งอยู่ก็ตาม นอนตื่นอยู่ก็ตาม ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้มีความเพียร มีโอตตัปปะ ได้เริ่มระดมความเพียรอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และเป็นผู้อุทิศตัวเด็ดเดี่ยวแล้ว "

ข้ออุปมาของพระอรรถกถาจารย์เกี่ยวกับสมาธินี้ก็น่าฟัง ท่านว่า
สมาธิ ทำให้จิตตั้งอยู่ในอารมณ์สม่ำเสมอ ทำให้องค์ธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกับมันผนึกประสานกันอยู่ ไม่พร่า ไม่ฟุ้งกระจายเหมือนน้ำผนึกประสานแป้งเข้าเป็นก้อนเดียว และทำให้จิตสืบต่ออย่างนิ่งแน่วแน่มั่นคงเหมือนเปลวเทียนในที่สงัดงม ติดไฟสงบนิ่ง ลุกไหม้ไปเรื่อยๆ ส่องแสงสว่างสม่ำเสมอเป็นอย่างดี



Create Date : 27 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2554 21:09:12 น. 1 comments
Counter : 980 Pageviews.  

 
เคยนั่งสมาธิแล้วรู้กสึกเหมือนจะวูบค่ะ
แต่ตอนนั้นรู้ตัวนะค่ะ ไม่ได้หลับ
สงสัยว่าเป็นเพราะอะไรเหรอค่ะ
แอบสงสัยมานานแล้วค่ะ :)


โดย: Nepster วันที่: 27 พฤศจิกายน 2554 เวลา:23:40:39 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ข่าวดี
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]










ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


New Comments
[Add ข่าวดี's blog to your web]