All the girls standing in the line for the bathroom !!!

*** หมายเหตุ : สงวนลิขสิทธิ์ บทความและผลงาน ใน Blog นี้ครับ ***
Group Blog
 
<<
กันยายน 2552
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
5 กันยายน 2552
 
All Blogs
 

*** Inglourious Basterds *** Glorious Tarantino Vol. 2

*** Inglourious Basterds ***






มาต่อจากคราวที่แล้วกันเลยนะครับ



บทที่ 3: “นักสร้างความขัดแย้ง”



ใน Inglourious Basterds มีหลายตอนที่หนังเล่นกับอารมณ์ และความคาดหวังของผู้ชม ซึ่งหลายครั้งจบด้วยการ “หักมุม”


สำหรับการ “หักมุม” ที่ว่านี้ ไม่ใช่การหักมุมที่เนื้อเรื่อง แต่เป็นการหักมุมจากความคาดหวังของผู้ชม หรือพูดง่ายๆว่า หนังนำพาอารมณ์ผู้ชมไปในทิศทางหนึ่ง ด้วยการใช้รูปแบบเดิมๆของหนัง ที่ผู้ชมคุ้นเคย (หรือที่เรียกว่า Cliché) ก่อนที่จะหักมุมไปสู่อีกทิศทางหนึ่งซึ่งคาดเดาได้ยาก และตรงข้ามกับความคาดหวังของผู้ชมโดยสิ้นเชิง






มาดูตัวอย่างกัน ใน Chapter 1 ขณะที่ Shosanna ในวัยเด็กวิ่งหนีออกไปจากใต้พื้นบ้าน หลังจากที่ครอบครัวของเธอถูกสังหารหมดแล้ว (ซึ่งในเวลานั้นคงไม่มีใครคิดว่าตัวละครนี้จะเป็นตัวละครสำคัญของเรื่อง)


ตอนที่เธอวิ่งออกไปไกลขึ้นเรื่อยๆ หนังตัดภาพไปที่ พันเอก Landa ซึ่งกำลังเล็งปืนไปที่ตัวเธอ จากนั้นดนตรีก็โหมประโคมขึ้น เหมือนกำลังสร้างอารมณ์ประมาณว่า Shosanna คงจะต้องโดนยิงแน่ๆ (หรืออย่างน้อยๆ พันเอก Landa คงจะลั่นไก แต่ไม่โดนสาวน้อย)


ขณะที่ความกดดันของผู้ชม (ซึ่งถูกสร้างอย่างมีประสิทธิภาพโดย การตัดต่อ และ ดนตรีประกอบ ) กำลังพุ่งขึ้นสูง อยู่ดีๆ ดนตรีประกอบก็เงียบ พันเอก Landa ก็ลดปืนลงเฉยๆ ความกดดันที่กำลังเข้มข้น ถูกลดลงมาสู่ความผ่อนคลายอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นส่งผลให้ผู้ชมมีอาการโล่งใจอย่างมาก คล้ายๆกับกินข้าวต้มอยู่ดีๆ คำถัดไปกลายเป็นไอศกรีม ยังไงยังงั้น



และนี่ก็ถือเป็นตัวอย่างของความคาดเดาสถานการณ์ไม่ได้ในหนังของ Tarantino นั่นทำให้ผู้ชมได้ลุ้น และสนุกไปกับเรื่องราว ที่มักจะหักอารมณ์ผู้ชม จนคาดเดาไม่ได้อยู่เสมอ






มีอยู่ตอนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความละเอียดในการเขียนบทของ Tarantino ตอนนี้อยู่ใน Chapter 4 ซึ่งเป็นการมาถึงของตัวละคร Bridget von Hammersmark (Diane Kruger) นักแสดงสาวชาวเยอรมันที่แท้จริงแล้วเป็นสายลับอังกฤษ หนึ่งในตัวละครที่คาดเดาไม่ออก และไว้ใจไม่ได้



จากเนื้อเรื่องในตอนนี้ เหตุการณ์ปะทะเดือดในบาร์ที่ทำให้ แก๊ง The Basterds ต้องตายไป 3 คน นั้น มีสาเหตุมาจากการที่ ร้อยโท Archie Hicox (Michael Fassbender) นายทหารอังกฤษอดีตนักวิจารณ์หนัง เผลอแสดงตัวออกไปว่าตนเองไม่ใช่คนเยอรมัน


เนื่องจากดันไปสั่งเหล้า 3 แก้ว โดย ชูนิ้ว 3 นิ้ว คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง ให้กับบาร์เทนเดอร์

ซึ่งนี่ไม่ใช่สิ่งที่ชาวเยอรมันทำกัน (3 ของเยอรมันคือ นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง) นั่นทำให้ พันตรี Hellstrom มั่นใจว่า คนกลุ่มนี้ไม่ใช่ทหารเยอรมัน







ดูเผินๆเหมือนเป็นความบังเอิญ ที่ทำให้ ร้อยโท Hicox ต้องสั่งเหล้า 3 แก้ว จนทำให้ถูกจับได้ แต่ก็อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่า นี่มันเป็นแผนที่ พันตรี Hellstrom วางเอาไว้เพื่อจับผิดหรือเปล่า


ซึ่งเมื่อมาพิจารณาดีๆ ในกรณีที่มันเป็นแผนของ พันตรี Hellstrom จริง จะพบว่า แผนนี้คงไม่สำเร็จแน่ถ้าไม่ได้ Bridget ช่วย



ทำไมน่ะเหรอ?



การที่จะทำให้ทั้งโต๊ะที่มี 5 คน สั่งเหล้าดื่มแค่ 3 คน พอดีนั้น เพียงแค่ พันตรี Hellstrom บอกว่า “ไม่ดื่ม” เพียงคนเดียว แผนการนี้คงไม่สำเร็จ

แต่แล้ว Bridget ก็พูดขึ้นมาว่า เธอก็ "ไม่เอา" เหล้าเช่นกัน ซึ่งนั่นทำให้ ร้อยโท Hicox ต้องสั่งแค่ 3 แก้ว
(ข้อสงสัยนี้จะหมดไปทันที ถ้า 4 ของเยอรมัน ก็ใช้นิ้วโป้งด้วย แต่ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะตามธรรมชาติ การชูนิ้ว โดยแยก นิ้วนาง และ นิ้วก้อย นั้นทำได้ยาก)






นอกจากนี้ หากจำกันได้ ตอนที่ ร้อยโท Hicox พยายามไล่ พันตรี Hellstrom ไปจากโต๊ะ แต่คนที่บอกว่าให้ พันตรี Hellstrom อยู่ต่อได้ ก็คือ Bridget
ที่สำคัญคนที่นัดพบกันในสถานที่แห่งนี้ก็คือเธอนั่นเอง



จึงไม่แปลกใจที่ ร้อยโท Raine (และผู้ชม) จะเคลือบแคลง และสงสัยในพฤติกรรมของเธอ



สุดท้ายหนังก็ไม่ได้บอกสาเหตุที่แน่ชัดเกี่ยวกับการกระทำของ Bridget เพราะมันไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรนัก


แต่นี่ก็แสดงให้เห็นถึง ความละเอียดอ่อนในการเขียนบท และ ความสามารถในการสร้างความไม่น่าไว้วางใจให้กับหนังของ Tarantino






อีกรูปแบบที่เห็นได้บ่อยในงานของ Tarantino ก็คือ การสร้างตัวละครที่เป็นที่ชื่นชอบ หรือเป็นที่น่าสงสารของผู้ชม ให้อยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายตัวละครที่หนังสร้างให้เป็นตัวดำเนินเรื่องหลัก หรือพูดง่ายๆก็คือ ฝ่ายตัวเอกของเรื่อง


ลองคิดถึงตัวละครอย่าง พันเอก Landa หรือ พันตรี Hellstrom นายทหารฝ่ายนาซี ที่บทหนังเขียนส่งให้เต็มที่ ตัวละครเหล่านี้จึงเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ และเป็นที่รักของผู้ชมได้ไม่อยาก


ส่วนตัวละครที่น่าสงสารก็เช่น นายทหารนาซีคุณพ่อคนใหม่ ที่ต้องมาอยู่ในสถานการณ์วิกฤติ หรือวีรบุรุษสงครามของนาซีที่กลายมาเป็นดารา อย่าง Zoller ที่ตามตื้อจีบ Shosanna โดยที่เธอไม่สนใจเขาแม้แต่น้อย






กรณีของ Shosanna กับ Zoller ใน Chapter 3 หนังขายเสน่ห์ของ Zoller ในฐานะ ชายหนุ่มอารมณ์ดี ผู้ตามจีบ Shosanna โดยที่เธอไม่สนใจสักนิด ซึ่งใน Chapter นี้ หนังมีอารมณ์ Romantic เจือปนอยู่ค่อนข้างสูง



และผู้ชมคงจะรู้สึกเห็นใจ Zoller อยู่ไม่น้อย



แต่พอมาถึง Chapter 5 ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็เริ่มย่ำแย่ก่อนจะจบลงอย่างน่าเศร้า เมื่อ Shosanna กระหน่ำยิง Zoller จนล้มลงจมกองเลือด เนื่องจากเขาเข้ามาขวางแผนการของเธอ

ตอนนี้ความน่าสงสารในชะตากรรมของ Zoller เพิ่มถึงขีดสุด ในขณะเดียวกับที่ Shosanna ก็รู้สึกผิดในการกระทำของตัวเอง อารมณ์เศร้าแบบโศกนาฏกรรมของหนังก็พุ่งขึ้นมาทันที



แต่ไม่ทันไร Tarantino ก็ “หักมุม” อารมณ์ของผู้ชมทันทีด้วยการให้ Zoller ที่แท้จริงแล้วยังไม่ตาย หันมากระหน่ำยิง Shosanna แบบไม่เหลือภาพของ "ชายหนุ่มอารมณ์ดี" ที่คอยตามตื้อจีบสาวที่ตัวเองชอบหลงเหลืออยู่เลย


เหมือนกับว่าความรู้สึกดีๆของ Zoller ที่มีทั้งหมดเป็นเรื่องจอมปลอมยังไงยังงั้น และการที่ Shosanna ต้องจบชีวิตก็เพราะหลงไปมอบความเห็นใจและความสงสาร (ซึ่งก็คงไม่ต่างกับอารมณ์ของผู้ชมนัก) ต่อทหารนาซีคนหนึ่ง






จากทั้งหมดข้างต้น ยืนยันได้อย่างดีว่า Tarantino เป็นยอดฝีมือในการสร้างความขัดแย้งให้กับเรื่องราว ซึ่งมันสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออารมณ์ของผู้ชม


ซึ่งสไตล์แบบนี้ก็เห็นได้ชัดเจนในงานเก่าๆของ Tarantino เอง

อย่างอารมณ์เหวอๆกับชะตากรรมของ Vincent Vega ใน Pulp Fiction ที่ทั้ง นึกไม่ถึง และ ไม่ทันตั้งตัว, ความคาดเดาไม่ได้ใน Reservoir Dogs หรือ ความขัดแย้งทางอารมณ์ในตอนสุดท้ายของ Kill Bill Vol. 2




เชื่อสิว่า ระหว่างการเผชิญหน้ากันของ พันเอก Landa กับ ร้อยโท Raine ใน Chapter 5

หลายคนคงแอบเชียร์ พันเอก Landa อยู่ลึกๆ และคงเดาไม่ออกว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายกำชัยชนะ







บทที่ 4: “ความรักต่อภาพยนตร์”



สิ่งที่มักจะพบเห็นในงานของ Tarantino ก็คือ การอ้างถึงเรื่องราวของภาพยนตร์ (ขอเรียกสั้นๆว่า “หนัง”) หรืออย่างน้อยก็แค่ “ชื่อ” ของหนังเรื่องอื่นๆ อยู่เสมอ

ซึ่งใน Inglourious Basterds ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น



เราจะพบเห็นการพูดคุยถึงเรื่องหนังของตัวละครอยู่บ่อยครั้ง อย่างในฉากเปิด Chapter 3 ระหว่างการสนทนาของ Shosanna กับ Zoller และในฉากเปิดตัว ร้อยโท Hicox นักวิจารณ์หนังที่กลายมาเป็นทหาร

แม้กระทั่งในตอนที่ ร้อยโท Hicox กำลังโต้แย้งกับ พันตรี Hellstrom เรื่องสำเนียงที่ไม่เหมือนชาวเยอรมันของเขา ร้อยโท Hicox ก็ยังใช้หนังเก่าเรื่องหนึ่งมาเป็นข้ออ้างอยู่ดี






แน่นอนเนื่องจากหนังทั้งหลายที่ถูกอ้างอิงในเรื่องเป็นหนังเก่าที่ผมไม่เคยดู จึงยากที่จะลงรายละเอียดได้ว่าหนังเรื่องต่างๆที่ตัวละครพากันพูดถึงนั้น มีที่มาที่ไป และ สอดคล้องกับเรื่องราวอย่างไร


แต่ที่แน่ๆก็คือ มันทำให้รู้ว่า Tarantino เป็น “นักดูหนัง” ตัวยง และมีความสุขที่จะได้พูดถึงหนังที่ตัวเองชื่นชอบ ซึ่งเหมือนเป็นการแสดงความคารวะ และอาศัยโอกาสในการเผยแพร่หนังที่ตนเองชื่นชอบเหล่านั้นลงในผลงานให้ผู้ชมรุ่นใหม่ๆได้รู้จัก



นอกจากจะอ้างไปถึงหนังที่ตนเองชื่นชอบแล้ว Tarantino ยังหยิบยืมองค์ประกอบต่างๆ เล็กๆน้อยๆจากหนังเรื่องก่อนหน้าของตนเองมาใช้ ซึ่งใครที่ติดตามงานของเขามาหลายเรื่องคงนึกออกเช่น การใช้ดนตรีประกอบ หรือ มุมกล้องต่างๆ
อย่างฉาก Shosanna ในวัยเด็ก แอบอยู่ใต้พื้นบ้าน ซึ่งคล้ายกับฉากการ์ตูนที่เป็นประวัติของ O-Ren Ishii ใน Kill Bill Vol. 1






ไม่ใช่แค่หนังเท่านั้น Tarantino ยังนำความเป็น “นิทาน” มาใส่ลงไปในตัวหนังด้วย


ซึ่งก็เห็นได้ตั้งแต่ฉากแรกของหนัง ที่ประโยคเริ่มต้นยอดนิยมในนิทานแทบทุกเรื่อง อย่าง “Once upon a time …” ได้ถูกนำมาใช้ในการเปิดเรื่อง ซึ่งเป็นการเลือกใช้คำที่เหมาะสม เนื่องจากมันเป็นการบอกให้ผู้ชมได้รับรู้ว่า เรื่องราวที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้ ไม่ได้อิงเหตุการณ์จริง และมีความคล้ายคลึงกับนิทานเรื่องหนึ่งมากกว่า


นอกจากนี้นิทานเรื่องดังอย่าง Cinderella ก็ยังถูกนำมาดัดแปลงลงไปในส่วนหนึ่งของหนังด้วย เพียงแต่ว่าในครั้งนี้เรื่องราวไม่ได้จบลงอย่างมีความสุขแบบในนิทานต้นฉบับ






และสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีถึง “ความรักในภาพยนตร์” ของเขาก็คือ


แม้ว่านี่จะเป็นหนังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เนื้อเรื่องหลักก็ยังเกี่ยวข้องกับหนังอยู่ดี เพราะว่าพล็อตเรื่องก็คือ การแก้แค้นผู้นำนาซีที่มารวมตัวกันที่โรงหนังในงานเปิดรอบปฐมทัศน์หนังโฆษณาชวนเชื่อของนาซี



อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ตัวหนังเองมีความเป็น “หนังโฆษณาชวนเชื่อในยุคสงคราม (Propaganda film)” แฝงอยู่ด้วย ซึ่งก็น่าจะเป็นความตั้งใจของ Tarantino เอง ที่ต้องการจะบูชาหนังแนวนี้ ซึ่งนิยมสร้างในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ขอบคุณ คุณ BloodyMonday ด้วยครับ กับข้อมูลในส่วนนี้)






Tarantino เป็น “นักดูหนัง” ตัวยง เขามักจะแสดงความรักต่อหนังเหล่านั้นด้วยการอ้างอิงหรือใส่หนังเก่าๆที่เขาชื่นชอบลงมาในผลงานของตัวเองเสมอ ทั้งการใส่มาในบทพูดของตัวละคร การหยิบยกบางส่วนมาดัดแปลง หรือแม้กระทั่งลอกฉากบางฉากจากหนังที่เขาชื่นชอบมาใส่ในงานตัวเองเสียเลย



ฉะนั้นหากใครที่เป็นนักดูหนังรุ่นเก่าๆ (หรือรุ่นใหม่ที่เคยผ่านตาหนังเก่าๆ มาเยอะ) คงพอจะ “เข้าใจ” และ “สนุก” ไปกับ การนั่งนึกถึงบรรดาหนังทั้งหลายที่ Tarantino นำมาอ้างถึงในเรื่องนี้






บทที่ 5: “บทสรุป”



Inglourious Basterds คือ หนังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ออกตัวไว้เลยว่าไม่สนใจความจริงทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ต้น หนังมาพร้อมกับบทสนทนาที่คมคาย อารมณ์ขันกวนๆ และ ความรุนแรงแบบถึงเลือดถึงเนื้อ ตามสไตล์ของ Quentin Tarantino ที่คราวนี้ถือว่าเป็นการกลับมา Top Form เต็มที่อีกครั้ง


Inglourious Basterds แบ่งการเล่าเรื่องเป็น 5 Chapters (อย่างที่เขียนอธิบายไปแล้วในบทแรก)


ซึ่งใน 4 Chapters แรกนั้น หนังค่อยๆไล่อารมณ์ผู้ชมขึ้นมาเรื่อยๆจนกระทั่ง Chapter สุดท้าย หนังก็ประเคนความสะใจให้ผู้ชมเต็มที่ กับปฏิบัติการณ์ล้างแค้นนาซี ที่ทั้งรุนแรง และ เน้นความสะใจเป็นหลัก
ซึ่งมีรูปแบบคล้ายๆกับตอนจบของ Death Proof






ใน Chapter สุดท้าย หนังมีความเป็น แฟนตาซี อยู่สูง ลองนึกดู ภาพใบหน้ามหึมาของ Shosanna ที่เกิดจากการฉายภาพลงไปบนควันไฟที่กำลังไหม้ ทำให้ดูเหมือนภาพ 3 มิติใหญ่ยักษ์ กำลังหัวเราะสะใจกับการชำระแค้น ขณะที่พวกนาซีทั้งหลายหนีตายอลหม่าน หรือร่างของ Hitler ที่ถูกกระหน่ำยิงซะพรุนจนไม่มีชิ้นดี


เหมือนเป็นการตอกย้ำกลายๆว่า ที่เรากำลังดูกันอยู่นี้ คือ “หนัง” และหนังที่ว่านี้ ก็เป็นหนังที่สร้างขึ้นเพื่อความสะใจเป็นหลัก

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่หนังจะมองพวกผู้นำนาซี เป็น “พวกชั่วร้าย” ในขณะเดียวกันก็เป็น “ตัวตลก” ของเรื่อง ที่มีเพียงมิติเดียว ไปพร้อมๆกัน



ถึงแม้หนังจะดู เป็น “นิทาน” และเน้น "ความสะใจ" มากกว่าจะเน้นความ "จริงจัง" ในตัวเอง แต่ประเด็นต่างๆที่สอดแทรกเข้ามานั้น ช่างคมคาย เสียดสี และสะท้อนความจริงได้มากมาย

อีกทั้งยังจิกกัดไม่เลือก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็โดนกันทั่วหน้า






Inglourious Basterds มาพร้อมกับทีมนักแสดงชุดใหญ่ ซึ่งแม้ว่าตัวละครจะเยอะ แต่ว่าทุกตัวละครต่างก็มีวินาทีที่น่าจดจำเป็นของตัวเอง โดยไม่เกี่ยงว่าบทที่ได้รับจะมากหรือน้อย


ที่โดดเด่นที่สุดคงเป็นบท พันเอก Landa ของ Christoph Waltz

ซึ่ง Waltz คือคนที่ได้รับประโยชน์จากหนังเรื่องนี้ไปเต็มๆ แม้ว่าที่จริงแล้วบทนี้ จะไม่ใช่บทนำของเรื่องก็ตาม


คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ส่วนหนึ่งนั้น เป็นเพราะ บทหนังที่ส่งให้ตัวละครนี้โดดเด่นกว่าตัวละครอื่น
แต่ก็คงจะยกความดีความชอบทั้งหมดไปที่บทหนังเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะการแสดงของ Waltz ก็มีส่วนในการสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมได้อย่างมากมาย แม้กระทั่งในบางฉากที่ตัวละครนี้ไม่ได้เป็นตัวเด่น แต่การปรากฏตัวของ Waltz ก็ขโมย scene ได้เสมอ


ที่สำคัญข่มตัวละครเอกตัวจริงของหนัง อย่าง ร้อยโท Raine ของ Brad Pitt และ Shosanna ของ Melanie Laurent มิดในทุกๆฉากที่ร่วมจอกัน


และแม้ว่าในตอนท้ายเรื่อง บท พันเอก Landa จะถูกบทหนังกดให้ตกต่ำลงมา แต่นั่นก็ยังไม่สามารถทำให้ลืม ความน่ากลัว น่าเกรงขาม ในช่วงก่อนหน้าได้แต่อย่างใด



Inglourious Basterds น่าจะส่งให้ชื่อของ Waltz ไปโลดแล่นในเวทีล่ารางวัลช่วงปลายปีได้ไม่อยาก

แต่ที่แน่ๆในตอนนี้ เขาก็ได้ใจผู้ชมไปเกินร้อย







แม้ว่า Inglourious Basterds จะไม่มี ฉากที่โดดเด่น และสามารถนึกออกได้ทันทีเมื่อนึกถึงชื่อหนัง เหมือนที่ผลงานเก่าๆของ Tarantino อย่าง Pulp Fiction (เช่น ฉากเต้นรำระหว่าง Vincent Vega และ Mia Wallace), Kill Bill Vol. 1 (เช่น ดนตรีเปิดตัว Elle Driver) หรือใน Reservoir Dogs (เช่น ฉากตัดหู) เคยทำได้

อีกทั้งการที่เราเห็นสไตล์เดิมๆแบบนี้ของ Tarantino มาหลายครั้งแล้ว จึงทำให้รู้สึกว่าหนังไร้ซึ่งความสดใหม่



แต่ Inglourious Basterds ก็ถือว่าเป็นหนังที่มีคุณภาพ และ ความบันเทิง ในสไตล์ ที่ใกล้เคียงกับ Pulp Fiction ผลงานสร้างชื่อของ Tarantino มากที่สุด




9 / 10 ครับ





หมายเหตุ: กลับไปอ่าน Vol. 1 ได้ที่นี่ครับ

*** Inglourious Basterds *** Glorious Tarantino Vol. 1




 

Create Date : 05 กันยายน 2552
14 comments
Last Update : 5 กันยายน 2552 7:47:04 น.
Counter : 6629 Pageviews.

 

อิอิ ในที่สุดก็มาอัพ Volume 2 แล้วนะครับ

คุยต่อ ผมว่าการกระทำของบริดเจ็ต ในฉากนั้น เธอทำไปเพราะเพียงเพื่อไม่อยากให้ความลับที่ตัวเองเป็นสายลับต้องสั่นคลอน ถ้าเธอปฏิเสธที่จะไล่นายทหารคนนั้นไป มันจะดูผิดปกติ เพราะเธอเป็นดาราที่เข้ากับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี ส่วนเรื่องเหล้านั้น อาจเป็นความบังเอิญและความโชคร้ายหรือนายพันคนนั้นก็รู้ดีอยู่แล้วว่าเธออาจจะไม่ชอบดื่มเหล้าชนิดนี้ เพราะเธอคงไม่ปฏิเสธท่าจะรู้ว่าตัวตนของร้อยโทอาร์ชี่ย์ จะโดนเปิดเผย เธอคงไม่เอาชีวิตไปเสี่ยงกับดงกระสุนแน่นอนครับ ผมว่ามันเป็นความซวยขนานแท้

เพราะสุดท้ายแล้วการที่เธอโดนยิงที่ขาก็เป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่จะไม่ไปร่วมงานนั้น ที่เธอรู้ดีว่าสุดท้ายผลลัพธ์ในงานนั้นจะเป็นเช่นไร?


ปล. ติดนิสัยเหมือนกันเลยครับ บ้าความสมบูรณ์แบบนิดๆ อิอิ

 

โดย: ไอซ์คุง (ปีศาจความฝัน ) 5 กันยายน 2552 13:22:41 น.  

 

^
^
^

ก็อย่างที่ผมบอกหล่ะครับ



ว่าประเด็นเรื่อง Bridget นี่ หนังไม่ได้สรุปให้แน่นอน เพราะจะว่าไปมันไม่ใช่ส่วนสำคัญอะไรนัก

จริงๆแล้วอาจแค่ ซวยสุดขีด อย่างที่คุณ ไอซ์คุง ว่าไว้ก็ได้


มันเป็นเพียงแค่ความขี้สงสัยของผมเท่านั้นเอง




แต่มันก็ทำให้ระหว่างที่ผมดู Chapter 5 นั้น
ผมรู้สึก ไม่ไว้วางใจ ในตัว Bridget น่ะครับ

ซึ่งคิดว่าเป็นเพราะ "ความไม่น่าไว้วางใจ" ที่เธอได้ก่อไว้ใน Chapter ก่อนหน้า กับ "ความคลุมเครือ" ในการกระทำของเธอ ที่หนังไม่ได้ให้รายละเอียดน่ะครับ

 

โดย: navagan 5 กันยายน 2552 16:09:49 น.  

 

หวาย มาบอกว่าหนังไม่มีฉากจำนี่ขอค้านหัวทะลุกำแพงเลยครับ 555555 อย่างน้อยฉาก "นังหน้ายักษ์โชแซนน่า" นี่ก็ตื่นตะลึง + แรงได้ใจจริงๆ (อีกฉากที่ฮาแบบกวนตีนสุดๆคือตอนแนะนำตัว Hicox ที่มี Hitchcock นั่งอยู่ในห้องด้วย)

 

โดย: nanoguy IP: 125.24.117.44 7 กันยายน 2552 4:54:41 น.  

 

^
^
^
^

555+ พี่ก็ตะลึงนะ "หน้ายักษ์" น่ะ ตอนดูยังคิดเลยว่า โห! มากันแบบนี้เลยเหรอ แฟนตาซี มากๆ


แต่พอดูจบมันก็ไม่ได้ ติดตา ติดใจ ออกมาน่ะ

แต่เป็นบทสนทนา 2-3 ตอนต่างหาก ที่ติดหัวออกมา



ปล. ลุงแก่ในฉากนั้น คือ Alfred Hitchkock เหรอเนี่ย พี่ไม่รู้จริงๆ

 

โดย: navagan 7 กันยายน 2552 13:32:05 น.  

 

ลุงคนนั้นน่าจะเป็น Winston Churchill มากกว่านะ

 

โดย: coa IP: 124.157.132.236 7 กันยายน 2552 16:14:46 น.  

 

ไปดูมาแล้วครับ ยอมรับว่าสุดยอดจริงๆ

แต่ที่สุดยอดกว่าคือการวิเคราะห์ของท่านครับ ขอคาวระ 3 จอก

 

โดย: Seam - C IP: 58.9.198.120 8 กันยายน 2552 9:19:57 น.  

 

มาอ่านตอนจบของงานวิจารณ์แล้ว

เก่งคับ ยกนิ้วให้

ปล.ตรง once upon a time เราเห็นบางคนก็บอกว่า ทารานติโน่ต้องการแสดงถึงความเป็น ตะวันตก นิดๆ ตามสไตล์ของเค้า
แต่อย่างที่คุณ navagan ก้โอเคนะครับ

 

โดย: dream fly IP: 110.164.102.84 8 กันยายน 2552 22:57:59 น.  

 

^
^
^
^

ตอบ coa

ขอบคุณมากครับ ผมไปเช็คใน IMDB มาแล้ว

ไม่ใช่ Alfred Hitchkock ครับ แต่เป็น Winston Churchill จริงๆด้วย



ตอบ Seam - C

โอ้ย อย่าเรียกว่า "ท่าน" เลยครับ ดูสูงส่งเกินจริงไปหน่อย



ตอบ dream fly

คล้ายๆจะเคยได้ยิน เรื่อง "once upon a time" ว่า Tarantino ต้องการแสดงถึงความเป็น ตะวันตก มาบ้างเหมือนกันครับ (ไม่แน่ใจนัก)

แต่ผมไม่เก็ทว่าเพราะอะไร แต่ตามความเข้าใจของผม มันเป็น หมายถึงว่า มันเป็น "นิทาน" น่ะครับ

 

โดย: navagan 9 กันยายน 2552 3:29:22 น.  

 


อยากดูมาก

 

โดย: renton_renton 13 กันยายน 2552 8:35:06 น.  

 

ขอบคุณมากจ้า มาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม เพิ่งดูจบ ตอนแรกดูแล้วไม่ได้คิดไร ก็คิดว่าหนังกวนๆ มีคำสนทนาแบบฮาๆ แต่พอได้มาอ่านรายละเอียด มีไรมากกว่่าที่คิดไว้

 

โดย: The star ot something new IP: 24.150.221.173 11 มกราคม 2553 6:54:23 น.  

 

ในตอนที่แก็งค์กำลังคุยกันในห้องใต้ดิน
แบรดพิท กำลังบ่นๆว่าทำไมต้องมาเจอที่ห้องใต้ดินด้วย
เพราะสู้กันลำบาก แต่ดันบอกว่า การต่อสู้ที่ดีที่สุดก็เกิดขึ้นใต้ดินเหมือนกัน
ผมคิดว่า เค้าหมายถึงหนังเรื่อง fight club ที่แบรทพิทเคยเล่นหรือเปล่าครับ ??

 

โดย: ผ่านมา IP: 118.172.20.92 12 กุมภาพันธ์ 2553 11:48:35 น.  

 

เพิ่งดูมาค่ะ อยากออกความเห็นบ้าง
เราตรงข้ามกะคุณจขบ.อ่ะค่ะ เรื่องอีตา Zoller
คือว่าเราไม่ชอบตัวละครตัวนี้มาตั้งแต่แรกเลยค่ะ และยิ่งดูไปเรื่อยๆก็ยิ่งเพิ่มความไม่ชอบมากขึ้นเรื่อยๆ
และคห.ส่วนตัวเชื่อว่าผู้หญิงที่ไม่ชอบตัวละครนี้น่าจะมีเยอะด้วย

สาเหตุเพราะอะไร

แรกเลย ที่เห็นได้ชัดๆคือไอ้ความตื๊อเข้าขั้นหน้าด้านเนี่ยแหละค่ะ
อีตานี่อาจจะยึดหลัก"ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก"ในการจีบ Shosanna แต่การตื๊อมันก็ต้องทำอย่างมีกาลเทศะค่ะ ไม่อย่างนั้นมันจะยิ่งสร้างความรู้สึกลบ เหมือนอย่าง Zoller กับ Shosanna นี่แหละค่ะ

สองคือ ถ้าสังเกตให้ดีๆจะเห็นตั้งแต่แรกแล้วว่าอีตานี่ส่อนิสัยชอบบังคับฝืนใจผู้หญิง ชอบแสดงอำนาจบาตรใหญ่ และหลงตัวเอง
ซึ่งลักษณะนี้แสดงออกทุกครั้งที่ตานี่ปรากฏตัว แต่ถูกพรางไว้ด้วยความช่างพูดมีอัธยาศัย

แค่เรื่องตื๊ออย่างไม่ดูตาม้าตาเรือก็ว่าแย่แล้ว ยิ่งมารวมเข้ากับนิสัยชอบบังคับฝืนใจ ไม่แปลกเลยค่ะที่ Shosanna จะเกลียดอีตานี่

-ฉากถามชื่อ
Shosanna แสดงความเป็นปรปักษ์อย่างชัดแจ้งด้วยการบิดเบือนความหมายว่า Zoller ต้องการเช็คบัตรประจำตัว
นอกจากนี้ยังเป็นการส่งสารแบบอ้อมๆด้วยว่า "ฉันไม่บอกชื่อกับคุณ ถ้าคุณต้องการจะรู้ให้ได้ คุณก็ต้องใช้อำนาจของคุณเพื่อให้ได้ชื่อของฉันล่ะนะ!"
ซึ่งอีตานี่ก็ดันรับบัตรประจำตัวของ Shosanna ไปดูหน้าตาเฉย!
ฉากนี้แสดงให้เห็นอ้อมๆว่า Zoller คุ้นเคยกับการที่ผู้คนรอบตัว(ซึ่งอาจจะรวมถึงชาวบ้านท้องถิ่นอย่างชาวฝรั่งเศสที่อีตานี่ไปประจำการ) ต้องมาคอยพินอบพิเทาคล้อยตามเขา และตัวเขาเองก็ชอบมันเสียด้วย!
ความจริงแล้วสิ่งที่ Zoller ควรทำคือปฏิเสธการดูบัตร แต่ขอร้องให้เธอบอกชื่อด้วยความเต็มใจต่างหาก
ซึ่งบอกตามตรงว่าเราคาดว่าหนังจะดำเนินไปอย่างนั้นด้วยค่ะ แต่โดนเควนตินเซอร์ไพรซ์เอาเล็กๆ *-*
แต่ก็ดีค่ะ เป็นการแสดงถึงนิสัยเบื้องลึกของตัวละครตัวนี้ได้อย่างแนบเนียนสุดๆ ต้องยอมรับเลยค่ะว่าเควนตินฉลาดและละเอียดมาก
มันแสดงให้เห็นด้วยว่า Zoller ต้องการตัวผู้หญิงคนนี้ และเขาก็ไม่สนใจด้วยว่าเธอจะไม่เต็มใจและต้องบังคับเอา ไม่สนใจจริงๆ คือไม่มีแว่บเข้ามาในความคิดเลยค่ะ

-ฉากในคาเฟ่
อันนี้คงไม่ต้องบรรยายมากนะคะ นั่งที่โต๊ะของ Shosanna หน้าตาเฉย ทั้งที่เธอปฏิเสธไปแล้ว แต่ก็โอเค การจีบหญิงที่เขาไม่ชอบหน้าตัวเอง หน้าด้านแค่นี้ถือว่าพอทนค่ะ

-ฉากในเรสเตอรองท์
แย่มากค่ะ
ไม่ใช่เรื่องการเชิญ Shosanna มานะคะ อันนั้นโอเคว่าคนเชิญดำเนินการไปเอง(แต่จริงๆเขาควรจะไปเชิญเธอเองนะคะ แต่โอเคว่าอาจจะปลีกตัวไปเองไม่ได้)
แต่เป็นเรื่องที่เขาจัดการเรื่องใช้โรงของเธอเป็นรอบปฐมทัศน์ทั้งที่เธอไม่ได้ขอ ทั้งยังไม่บอกเธอก่อนอีกต่างหาก เรียกว่ามัดมือชกกันเลย ทั้งที่ Shosanna ก็แสดงออกอย่างชัดแจ้งว่าเธอเกลียดนาซีแท้ๆ

-ฉากในห้องฉายหนัง
ฉากนี้ Zoller แสดงธาตุแท้อย่างชัดเจนเลยค่ะ เมื่อเธอปฏิเสธเขาเป็นครั้งที่สาม เขาก็ใช้กำลังเข้ามาในห้อง โดยไม่สนใจว่าทำให้เธอต้องได้รับบาดเจ็บ
ซ้ำยังทวงบุญคุณในเรื่องที่เขายัดเยียดให้เธอทั้งที่เธอไม่ได้ขอ!
สำหรับผู้ชาย ดูแล้วอาจจะมีความรู้สึกร่วมว่า "ทำให้ถึงขนาดนี้แล้วทำไมถึงไม่ยอมใจอ่อนสักที"
แต่เราดูแล้วมีความรู้สึกร่วมกะ Shosanna ค่ะว่า "ก็มายัดเยียดให้ทั้งที่ไม่ได้ขอให้ทำ เคยคิดบ้างมั้ยว่าฉันต้องการมันรึเปล่า!"

ส่วนฉาก Zoller ยิง Shosanna นี่บอกตามตรงว่าเราไม่ค่อยเซอร์ไพรซ์ค่ะ
ตอน Shosanna ยิงนี่เซอร์ไพรซ์นะคะ คิดไม่ถึงว่าจะมีปืน (แต่คิดดูก็ธรรมดาละนะ)
แต่หลังจากยิงไปแล้วเราก็เอะใจแต่แรกแล้วค่ะ ว่ายังไม่น่าจะตาย ทำไม Shosanna ไม่ยิงซ้ำที่หัว (ว่าไปแล้วเราว่า Shosanna ใจอ่อนแปลกๆนะคะ คือกะจะย่างสดหมอนี่อยู่แล้วแท้ๆ)
พอหมอนี่ยังไม่ตายจริงๆ เราก็กะอยู่แล้วค่ะว่าต้องจู่โจม Shosanna แน่ๆ นิสัยของหมอนี่ที่เควนตินใบ้มาตลอดมันบอกน่ะค่ะ แต่ก็คิดไม่ถึงเหมือนกันค่ะว่าจะมีปืน นึกว่าจะพุ่งเข้าชาร์จอะไรแบบนั้นมากกว่า

ในแง่ของคนดู เกลียดหมอนี่ค่ะ อารมณ์แบบเดียวกะคนดูเกลียดพวกตัวร้ายน่ะค่ะ
แต่ถ้าในแง่ศิลปะ ตัวละครนี้ยอดมากค่ะ เป็นตัวละครที่เราว่าสมจริง คือดูเป็นมนุษย์มากๆ

จะว่าไปนักแสดงเรื่องนี้เก่งกันทุกคนเลยนะคะ ที่เราประทับใจเป็นพิเศษคือคุณพ่อชาวนา แสดงอารมณ์ได้ดีมากค่ะ
แล้วก็จ่าที่โดนไม้เบสบอลทุบอ่ะค่ะ ตัวนี้เป็นอย่างที่คุณจขบ.ว่าเลยคือชวนให้รู้สึกเห็นใจ ทั้งที่อยู่ฝ่ายตัวร้าย กล้าหาญมากๆ ทั้งที่รู้ว่าตัวเองจะต้องตายแบบทรมาน
ส่วนอีตาวิลเฮล์ม เราไม่ค่อยรู้สึกอะไรอ่ะค่ะ แหะๆ

อีกเรื่องคือ ลักษณะการเซอร์ไพรซ์ของเรื่องนี้ ซึ่งน่าจะเป็นลักษณะเฉพาะของหนังเควนติน(พอดียังไม่เคยดูเรื่องอื่นของเขาอ่ะค่ะ)
มันออกแนวแบบเซอร์ไพรซ์เล็กๆมากกว่านะคะ ไม่ได้เซอร์ไพรซ์แบบชวนช็อก
คือคิดไม่ถึงว่าตัวละครจะทำอะไรอย่างนี้ แต่ไม่ได้ถึงกับเกินความคาดหมาย เพราะมันให้ความรู้สึกแบบว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ ไม่รู้ว่าวินาทีต่อไปมันจะเกิดอะไรขึ้น ตัวละครจะทำอะไรต่อไป
มันชวนให้เกิดความกดดันแปลกๆแบบว่า"โอ๊ยอะไรจะเกิดก็เกิดสักทีเซ่!"มากกว่าอ่ะค่ะ
สรุปว่าชอบค่ะ ^^

 

โดย: นู๋แป๋ว IP: unknown, 58.137.193.135 10 พฤษภาคม 2553 14:53:02 น.  

 

^
^
^


ขอบคุณ มุมมองของคุณ "นู๋แป๋ว" (ที่น่าจะแทนมุมมองของผู้หญิงบางส่วน) ด้วยนะครับ



ผมก็มองในมุมมองของผู้ชายน่ะครับ เรื่องการจีบสาว

แล้วแฟนผมที่ไปดูด้วยกัน ก็บอกว่า



"ตอนแรก Zoller ก็น่าเห็นใจอยู่บ้างนะ แต่ไม่นึกว่ามันจะเลวร้ายขนาดยิง Shosanna"





ส่วนเรื่องที่ Shosanna ยิง Zoller ในห้องฉายผมไม่แปลกใจนะ

และเข้าใจความรู้สึกผิดของเธอที่ไปยิงเขา เพราะหนังก็ปูมาว่าเธอเริ่มเห็นใจเขาบ้างแล้ว





ส่วนเรื่องที่ว่า "ทำให้ทั้งที่ไม่ได้ขอ" นั้น จริงๆแล้ว แม้ Shosanna ไม่ได้ขอ แต่เธอก็ชอบนะครับ

เพราะมันเป็นโอกาสที่เธอจะได้แก้แค้นพวกนาซีน่ะครับ


ขอบคุณอีกครั้งสำหรับความเห็นนะครับ




ปล. ขอเดาว่า คุณนู๋แป๋ว ต้องไม่ชอบผู้ชายประเภท "ตามตื้อ" แน่ๆเลย
แล้วก็ไม่ชอบ "ผู้ชายหลงตัวเอง" ด้วย

หรือจะเคยมีประสบการณ์จริงครับ

 

โดย: navagan 11 พฤษภาคม 2553 12:27:25 น.  

 

_____ _____ 6 ______

 

โดย: Nichol IP: 178.158.39.172 19 กันยายน 2564 15:04:42 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


navagan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 73 คน [?]




นวกานต์ ราชานาค
Navagan Rachanark


สนใจใน ภาพยนตร์, การวิเคราะห์-วิจารณ์ ภาพยนตร์,ดนตรี, งานเขียน และ ศิลปะอื่นๆ

สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ทดลอง และ งานดนตรีทดลอง และ งานเขียน


ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ

เริ่มจัดเก็บข้อมูลสถิติการเข้าชม

Time 09:00 Date 31/01/2010

by Histats.com

blogger web statistics

ถูกใจบทความ หรืออยากสนับสนุนเจ้าของ Blog

ก็ช่วย click ที่ Link โฆษณาครับ

ขอบคุณครับ

Friends' blogs
[Add navagan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.