All the girls standing in the line for the bathroom !!!

*** หมายเหตุ : สงวนลิขสิทธิ์ บทความและผลงาน ใน Blog นี้ครับ ***
Group Blog
 
<<
เมษายน 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
2 เมษายน 2555
 
All Blogs
 

*** Tinker Tailor Soldier Spy *** Writer Actor Director Style

*** Tinker Tailor Soldier Spy ***






Tinker Tailor Soldier Spy สร้างจากนิยายปี 1974 ของ John le Carré อดีตเจ้าหน้าที่ MI 6 (Secret Intelligence Service หรือ หน่วยข่าวกรองอังกฤษ) ตัวจริง เสียงจริง นั่นทำให้ Tinker Tailor Soldier Spy มีเรื่องราวที่สมจริงมากกว่าหนังสายลับโดยทั่วๆไป



หนังเล่าเรื่องราวในยุคสงครามเย็นคุกรุ่น ว่าด้วยการสืบหา “สายลับโซเวียต” หรือที่ถูกเรียกว่า “หูด” ซึ่งแฝงตัวอยู่ในระดับสูงของหน่วยข่าวกรองอังกฤษ โดย George Smiley (Gary Oldman) หนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์กรที่เพิ่งถูกคำสั่งเกษียณอย่างสายฟ้าแลบ



หนังมีรายละเอียดที่ซับซ้อน และอัดแน่นไปด้วยข้อมูลจำนวนมาก แต่ก็มีความเป็นเหตุเป็นผลและเชื่อมโยงกัน โดยที่หนังไม่ได้สนใจความเข้าใจของผู้ชมเป็นอันดับแรก แต่เน้นไปที่ความเป็นไปได้ที่ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกถ่ายทอดออกมา


ซึ่งเรื่องราวส่วนใหญ่ทั้งหมดกว่า 80 % จะเป็นเรื่องราวในมุมมองของ Smiley ดังนั้นหนังจึงไม่เล่าเรื่องตามลำดับเวลาที่เหตุการณ์เกิดขึ้น แต่จะเล่าเรื่องตามลำดับเวลาของ Smiley เป็นหลัก อย่างเช่นถ้า Smiley นึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ในอดีตตอนไหน เหตุการณ์ตอนนั้นก็จะถูกเล่าออกมาทันที


หรือข้อมูลบางอย่างถ้าไม่มีเหตุผลดีๆให้ตัวละครพูดออกมา มันก็ไม่ควรถูกเผยออกมา อย่างข้อมูลของตัวละคร Karla ซึ่งทุกคนในเรื่องรู้จักกันดี และถูกเอ่ยถึงมาตั้งแต่ช่วงต้นเรื่อง หนังก็จะไม่พยายามยัดเยียดหรือใส่บทพูดให้ตัวละครได้อธิบายให้ผู้ชมเข้าใจ หรือใส่ฉาก flashback เพื่ออธิบายถึงตัวละครตัวนี้
แต่ข้อมูลของ Karla จะถูกคายออกมาแบบอ้อมๆ ในฉากต่างๆที่มีเหตุผลสมควรว่าตัวละครนี้จะต้องถูกพูดถึง




(อธิบายให้เข้าใจง่าย ก็คือมันจะไม่มีฉากประเภทที่ถูกใส่มาเพื่อเป็นการอธิบายข้อมูลบางอย่างที่ไม่ได้รู้กันทั่วไป เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจเรื่องราว สมมตินะครับมีหนังเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ที่พูดถึงทฤษฎีสตริง ทีนี้เรื่องของทฤษฎีสตริงไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปจะเข้าใจ หนังอาจจะใส่ฉากตัวละครกำลังอธิบายให้นักวิทยาศาสตร์หน้าใหม่ฟังว่า ทฤษฎีนี้คืออะไร หรืออาจเป็นฉากสอนเด็กนักเรียนที่มาเที่ยวชมที่ทำงานว่าทฤษฎีนี้เป็นอย่างไร เพื่อเป็นการอธิบายทางอ้อมให้ผู้ชมนั่นเอง แต่ถ้าเป็นแบบในหนังเรื่องนี้ จะไม่มีฉากแบบนี้อยู่ ก็เพราะว่าถ้าตัวละครเป็นนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์และรู้ทฤษีนี้อยู่แล้ว มันจะแปลกไปไหมที่จะมีการคุยกันว่าทฤษฎีนี้คืออะไร หรือจะใส่ฉากที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวเพื่ออธิบายทฤษฎีสตริงขึ้นมาทำไม)






ดังนั้นใน Tinker Tailor Soldier Spy ผู้ชมจะเหมือนผู้สังเกตุการณ์ ที่คอยปะติดปะต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง (ราวกับการนั่งฟังการสนทนาของนักฟิสิกส์ 2 คน โดยที่คุณไม่เคยเรียนฟิสิกส์มาก่อน แถมพวกเขาก็ไม่หันมาอธิบายศัพท์เฉพาะทางให้ฟัง)


ผู้ชมจะต้องประมวลผลถึงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ อีกรอบเมื่อหนังจบ ไม่ต่างจาก Smiley ที่ต้องประมวลผลถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตระหว่างสืบสวน


ดังนั้นการรับชมในรอบที่สอง น่าจะทำให้ผู้ชมเห็นจุดเล็กจุดน้อย และเข้าใจเรื่องราวต่างๆมากขึ้น แม้ว่าความรู้สึกสงสัย ใครรู้ว่าใครคือ “หูด” หรือความระทึกจากเรื่องราวที่คาดเดาไม่ได้จะหายไปแล้วก็ตาม



ด้วยรูปแบบการเขียนบทที่ไม่ธรรมดาและชาญฉลาดแบบนี้นี่เองที่ต้องชมไปที่เจ้าของเรื่องอย่าง le Carre และทีมผู้ดัดแปลงบท Bridget O'Connor และ Peter Straughan ที่สร้างโลกสายลับที่สมจริง เข้มข้น อย่างไม่ประนีประนอม







Tinker Tailor Soldier Spy เน้นไปที่ความซับซ้อน และความเป็นไปได้ของเรื่องราว โดยปราศจากฉาก Action ใหญ่โต หรือเรื่องราวที่ชวนประหลาดใจ คล้ายกับว่านี่เป็น “บทบันทึกการทำงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของ Smiley” มากกว่าจะมุ่งประเด็นไปที่เรื่องราวอันน่าตื่นเต้น เหนือคาด หักมุมแบบคาดไม่ถึง หรือมีเรื่องราวที่ใหญ่โต ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงระดับโลก ในลักษณะที่พบได้บ่อยในหนังสายลับเรื่องอื่นๆ



ขณะเดียวกัน หนังไม่ได้ต้องการสะท้อนอุดมการณ์ทางการเมือง หรือมุ่งประเด็นไปที่การวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในยุคสงครามเย็นแม้แต่น้อย


หนังไม่ได้พยายามยัดเยียดอุดมคติทางการเมือง หรือโน้มน้าวว่าฝ่ายไหนผิดฝ่ายไหนถูก หนังให้ภาพทั้งสองฝ่ายเท่าเทียมกันในแง่ศีลธรรม ต่อสู้กันด้วยวิธีการที่ไม่ต่างกัน ดังนั้นแม้จะมีตัวละครใดที่ทรยศ หรือหักหลังฝ่ายตน ผู้ชมก็ไม่ได้รู้สึกยินดียินร้าย หรือตะขิดตะขวงในใจ แต่กลับตระหนักได้ว่า ทุกคนมีสิทธิในการเลือกข้างอย่างเท่าเทียม เพราะจะว่าไปแล้วทั้งสองฝ่ายก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันสักเท่าไหร่ หนำซ้ำผู้ชมน่าจะรู้สึกเห็นใจบรรดาตัวละครทั้งหลายที่ต้องเข้ามาอยู่ในวังวนนี้เสียด้วยซ้ำ



ดังนั้น สิ่งที่หนังต้องการจริงๆก็คือ การสะท้อนภาพชีวิตของบรรดา “คนในวงการสายลับ” ในยุคนั้น ว่าพวกเขาทำอะไร และต้องรับมือกับอะไรบ้างก็เท่านั้น







การที่หนังอยู่ภายใต้การกำกับของ Tomas Alfredson ที่เล่าเรื่องราวแบบเรื่อยๆ ไม่พยายามเร่งเร้าอารมณ์จนเกินงาม โดยให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวสร้างความเข้มข้นน่าติดตามด้วยตัวของมันเอง ถือเป็นการ “ให้เกียรติ” เรื่องราวของ le Carre ให้ได้แสดงศักยภาพอย่างที่มันควรจะเป็น และนี่ยังเป็นการขับเน้นถึงประเด็นของเรื่องได้อย่างเต็มที่



สิ่งที่ Alfredson เลือกใช้ในการสร้างอารมณ์อันตึงเครียด ก็คือการสร้างบรรยากาศโดยรวมที่ไม่น่าไว้วางใจ คาดเดาไม่ได้ ผ่านการถ่ายภาพ และการเคลื่อนกล้องที่ชวนอึดอัด

เมื่อรวมกับดนตรีประกอบของ Alberto Iglesias ที่ฟังดูวังเวง ไม่ชอบมาพากลแล้ว เพียงแค่ฉากธรรมดาอย่างการบอกเลิกคู่ขาที่เป็นเกย์ของ Peter (Benedict Cumberbatch) ก็ให้ความรู้สึกกดดัน ตึงเครียด ราวกับจะเกิดเหตุฆาตรกรรมขึ้นยังไงยังงั้น



ผู้กำกับ Alfredson ยังใส่ประเด็นเกี่ยวกับเพศที่สามเข้ามา (โดยเฉพาะชายรักชาย) ไม่ต่างจากผลงานสร้างชื่ออย่าง Let the right one in (ที่ส่วนตัวแล้วไม่ได้ชอบมากมายนัก เพราะชอบ Version ของ Matt Reeves มากกว่าเล็กน้อย) เพียงแต่ในคราวนี้อาจจะดูเกินพอดีไปสักนิด แม้จะมีเหตุผลที่รองรับอยู่ก็ตามที







Gary Oldman มอบการแสดงที่ยอดเยี่ยมในบท George Smiley ด้วยท่าทีที่พูดน้อย เคลื่อนไหวน้อย แต่ก็เต็มไปด้วยพลัง และความน่าเกรงขาม ซึ่งนี่เป็นการเปิดโอกาสให้ Oldman ได้แสดงฝีมือเต็มที่



ฉากที่น่าจดจำของ Oldman ก็คือฉากที่เขาเล่าถึงการเผชิญหน้ากับ Karla เมื่อหลายปีก่อนให้ Peter ฟัง ซึ่งในฉากนี้ผู้ชมจะรับรู้ได้ถึงตัวตนของตัวละคร Karla แบบเต็มๆ หลังจากที่เคยถูกเอ่ยถึงมาหลายครั้งก่อนหน้านี้


ซึ่งการที่ตัวละคร Karla กลายเป็นที่จดจำ และกลายเป็นตัวละครที่น่าหวั่นเกรงมากที่สุดตัวละครหนึ่งในหนัง ทั้งที่แทบจะไม่ได้ปรากฎตัวแบบเต็มๆสักครั้งนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการแสดงที่ยอดเยี่ยมของ Oldman ในฉากนี้นี่เอง



ขณะที่นักแสดงอื่นๆในบทสมทบ หนังได้ยอดฝีมือชาวอังกฤษทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่นับไม่ถ้วนมารับผิดชอบ ถึงแม้หนังจะไม่ได้เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงฝีมืออะไรมากนัก แต่ว่าทุกคนต่างก็ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างดี







Tinker Tailor Soldier Spy เป็นหนังสายลับที่มีสไตล์โดดเด่นและแตกต่างมากที่สุดเรื่องหนึ่งในยุคปัจจุบัน แม้หนังจะยังคงเอกลักษณ์อันเป็นรูปแบบที่ซ้ำซากของตระกูลหนังสายลับที่ว่าด้วย การหลอกลวง การหักหลัง การล้วงความลับ และการหาตัวคนผิด


แต่การที่หนังเน้นไปที่การนำเสนอเรื่องราวชีวิตของบรรดาผู้คนในแวดวงสายลับ ที่นอกจากจะต้องหวาดระแวงจากเรื่องงานแล้ว เรื่องส่วนตัวของพวกเขาก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น



นี่เองทำให้ประเด็นสำคัญที่แอบแฝงอยู่ในหนังสายลับแทบทุกเรื่อง ถูกกระตุ้นให้ผู้ชมฉุกคิดขึ้นมาได้ก็คือ


“กระทั่งกลุ่มคนที่โกหก หลอกลวง กันทุกที่ทุกเวลา จนแทบจะไม่สามารถไว้วางใจอะไรได้อีก แต่ลึกลึกแล้วพวกเขายังคงเรียกหาสิ่งที่เรียกว่า ความจงรักภักดี”





9 / 10 ครับ






 

Create Date : 02 เมษายน 2555
2 comments
Last Update : 3 เมษายน 2555 20:46:39 น.
Counter : 4309 Pageviews.

 

ชอบมากครับเรื่องนี้

 

โดย: คนขับช้า IP: 223.205.60.205 3 มิถุนายน 2555 10:39:42 น.  

 

บอกตรงๆดูไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ จับต้นชนปลายไม่ค่อยถูก แต่ตลอดการรับชมมันมวนท้อง รู้สึกอึดอัด กดดันมากๆ ทั้งๆที่มันไม่ได้ยิงกันตู้มต้าม เรื่อยๆมาเรียงๆแต่มันทำให้เราละสายตาจากมันไม่ได้เลย สุดยอด แกรี่ โอลด์แมนสุดติ่งจริงๆ

 

โดย: i love johnny depp IP: 124.121.83.140 14 มกราคม 2556 23:51:26 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


navagan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 73 คน [?]




นวกานต์ ราชานาค
Navagan Rachanark


สนใจใน ภาพยนตร์, การวิเคราะห์-วิจารณ์ ภาพยนตร์,ดนตรี, งานเขียน และ ศิลปะอื่นๆ

สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ทดลอง และ งานดนตรีทดลอง และ งานเขียน


ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ

เริ่มจัดเก็บข้อมูลสถิติการเข้าชม

Time 09:00 Date 31/01/2010

by Histats.com

blogger web statistics

ถูกใจบทความ หรืออยากสนับสนุนเจ้าของ Blog

ก็ช่วย click ที่ Link โฆษณาครับ

ขอบคุณครับ

Friends' blogs
[Add navagan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.