Every Feeling Everyone Every Day

๑ ท่านชอบพุทธศาสนาในเหลี่ยมไหน




ถ้าเราเปิดหนังสือทุกเล่มที่เขียนกันในสมัยปัจจุบันอันว่าด้วย ต้นเหตุของการเกิดศาสนาแล้ว จะเห็นว่าเขาเขียนไว้เหมือนๆ กันตรงกันที่ว่า คนป่าดั้งเดิมกลัวฟ้าผ่า ฟ้าร้อง กลัวความมืด กลัวพายุ กลัวสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เหนือความเข้าใจหรือความต้านทานของคนป่าเหล่านั้นและวิธีที่จะหลบหลีกอันตรายก็คือต้องแสดงอาการยอมแพ้หมอบกราบอ้อนวอนบูชาแล้วแต่คนฉลาดที่สุดในสมัยนั้นเห็นว่าจะต้องทำตามที่ตนนึกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผีเหล่านั้นจะชอบใจ นี่นับว่า ศาสนาเกิดมาในโลกด้วยอำนาจของความกลัวและมีการปฏิบัติไปตามความกลัว.

ความกลัวของคนชั้นหลังๆ เลื่อนสูงขึ้นมาถึงกลัวความทุกข์ชนิดที่อำนาจทางวัตถุช่วยไม่ได้ เช่น ความเกิด แก่ เจ็บ ตายความหม่นหมองมืดมัว เพราะอำนาจของความอยาก ความโกรธความหลงผิด ถึงแม้คนเราจะมีอำนาจหรือเงินทองสักเท่าไร ก็ไม่สามารถระงับอาการอันโหดร้ายของความทุกข์เหล่านั้นได้ ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่เจริญด้วยนักคิด นักค้นคว้า ผู้มีสติปัญญาทั้งหลาย จึงได้ละทิ้งการไหว้บรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาทำการค้นหาวิธีเอาชนะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือเอาชนะความอยาก ความโกรธ ความหลงผิดให้ได้ นี่นับว่าเป็นบ่อเกิดของศาสนาที่สูงขึ้นไปในทางปัญญา ในที่สุดได้พบวิธีที่จะเอาชนะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือเอาชนะกิเลสต่าง ๆ ได้.

สำหรับพระพุทธศาสนา ก็มีมูลมาจากความกลัวแบบหลังนี้เหมือนกัน พระพุทธเจ้า เป็นผู้พบวิธีที่จะเอาชนะสิ่งที่คนกลัวได้เต็มตามความประสงค์และเกิดวิธีปฏิบัติเพื่อดับความทุกข์ชนิดที่เรียกว่า พระศาสนา พุทธศาสนาแปลว่า ศาสนาของผู้รู้ เพราะพุทธะ แปลว่าผู้รู้ คือรู้ความจริงของสิ่งทั้งปวงได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่อาศัยสติปัญญา หรืออาศัยวิชาความรู้ที่ถูกต้องเพื่อทำลายความทุกข์และต้นเหตุของความทุกข์เหล่านั้น.

การทำพิธีรีตอง เพื่อบูชาบวงสรวง อ้อนวอนบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ไม่ใช่พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่รับเข้ามาไว้ในศาสนาของพระองค์เลย เพราะเป็นสิ่งที่น่าขบขัน น่าหัวเราะ และถือเอาเป็นที่พึ่งอันแท้จริงไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธการกระทำเช่นนั้นโดยสิ้นเชิง.

มีคำกล่าวใพระพุทธศาสนา "ความรู้ ความฉลาด และความสามารถ ที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์นั่นแหละ เป็นตัวฤกษ์ที่ดี อยู่ในตัวมันเองแล้ว ดวงดาวในท้องฟ้าจะทำอะไรได้ ประโยชน์ที่ควรจะได้ก็ผ่านพ้นคนโง่ๆ ที่มัวแต่นั่งคำนวณดวงดาวในท้องฟ้าไปเสียสิ้น" ดังนี้ ; และว่า "ถ้าน้ำศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำคงคา ฯลฯ จะทำให้คนหมดบาป หมดทุกข์ได้แล้ว พวกเต่า ปู ปลา หรือหอยที่อาสัยอยู่ในแม่น้ำหรือสระศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็จะหมดบาปหมดทุกข์ไปด้วยน้ำนั้นเหมือนกัน" หรือ "ถ้าหากว่าคนจะพ้นทุกข์ได้ด้วยการบวงสรวงบูชาอ้อนวอนเอา ๆ แล้ว ในโลกนี้ก็จะไม่มีใครมีความทุกข์เลยเพราะว่า ใครๆ ต่างก็บูชาอ้อนวอนเป็น"

โดยเหตุที่ ยังมีคนที่มีความทุกข์ทั้งที่ได้กราบไหว้บูชาหรือทำพิธีรีตองต่างๆ อยู่ จึงถือว่าไม่เป็นหนทางที่จะเอาตัวรอดได้ ฉะนั้นเราจะต้องพิจารณาโดยละเอียดละออให้รู้ ให้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไรแล้วปฏิบัติต่อสิ่งนั้น ๆ ให้ถูกต้อง

พุทธศาสนาไม่ประสงค์การคาดคะเน หรือทำอย่างที่เรียกว่าเผื่อจะเป็นอย่างนั้นเผื่อจะเป็นอย่างนี้ เราจะทำไปตรงๆ ตามที่มองเห็นด้วยปัญญาของตัวเอง โดยไม่ต้องเชื่อคนอื่น แม้จะมีคนอื่นมาบอกให้ ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเชื่อเขาทันที เราจะต้องฟังและพิจารณาจนเห็นจริงว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แล้วจึงจะเชื่อ และพยายามทำให้ปรากฏผลด้วยตนเอง

ศาสนาเหมือนกับของหลายเหลี่ยม ดูเหลี่ยมหนึ่งมันก็เป็นไปอย่างหนึ่ง ดูอีกเหลี่ยมหนึ่งมันก็เป็นไปอีกอย่างหนึ่งแล้วแต่ว่าบุคคลนั้นจะถือหลักการคิดในแนวไหนก็จะเห็นศาสนาเดียวกันในลักษณะที่ แตกต่างกันได้ แม้พุทธศาสนาก็ตกอยู่ในลักษณะเช่นนี้

คนเราย่อมเชื่อความคิดเห็นของตัวเอง เพราะฉะนั้น ความจริงหรือสัจจะสำหรับคนหนึ่ง ๆ นั้น มันอยู่ตรงที่ว่าเขาเข้าใจและมองเห็นเท่าไรเท่านั้นเอง สิ่งที่เรียกว่า "ความจริง" ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนเราเข้าถึงปัญหาหนึ่งๆ ได้ตื้นลึกกว่ากัน หรือด้วยลักษณะที่ต่างกันและด้วยสติปัญญาที่ต่างกัน สิ่งใดที่อยู่เหนือสติปัญญาความรู้ความเข้าใจของตน หรือตนยังไม่เข้าโจ คนนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นความจริงของเขา ถ้าเขาจะพลอยว่าจริงไปตามผู้อื่นเขาก็รู้สึกอยู่แก่ใจว่า ไม่เป็นความแท้ความจริงของเขาเลย

ความจริงของคนหนึ่งๆ นั้น จะเดินคืบหน้าได้เสมอ ตามสติปัญญา ความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน จนกว่าจะถึงความจริงขั้นสุดท้าย คนเรามีการศึกษามาต่างกัน และมีหลักพิจารณาสำหรับจะเชื่อต่างๆ กัน ฉะนั้น ถ้าจะเอาสติปัญญาที่ต่างกันมาดูพุทธศาสนาก็จะเกิคความคิดเห็นต่างกันไป ทั้งนี้เพราะว่าพุทธศาสนาก็มีอะไรๆ ครบทุกอย่างที่จะให้คนดู

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว พุทธศาสนาคือวิธีปฎิบัติ เพื่อเอาตัวรอดจากความทุกข์. โดยการทำให้รู้ความจริงว่า อะไรเป็นอะไร ตามที่พระพุทธเจ้าทานทรงทำได้ก่อนและได้ทรงสอนไว้ แต่คัมภีร์ทางศาสนานั้นย่อมมีอะไรๆ เพิ่มขึ้นได้ ทุกโอกาสที่คนชั้นหลังเขาจะเพิ่มเติมลงไป พระไตรปิฎกของเราก็ตกอยู่ในฐานะอย่างเดียวกัน คนชั้นหลังๆ เพิ่มเติมข้อความเข้าไปตามที่เห็นว่าจำเป็นสำหรับยุคนั้นๆ เพื่อจะช่วยให้คนมีศรัทธามากขึ้นๆ หรือกลัวบาปรักบุญมากขึ้น ซึ่งอาจจะมากเกินขอบเขตจนกระทั่งเกิดการเมาบุญกันใหญ่

แม้แต่พิธีรีตองต่างๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นและเกี่ยวเนืองกับพระพุทธศาสนาเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็พลอยถูกนับเข้าเป็นพุทธศาสนาไปด้วยอย่างน่าสมเพช เช่น การจัดสำรับคาวหวานผลหมากรากไม้เพื่อเซ่น วิญญาณของพระพุทธเจ้าอย่างที่เรียกว่าถวายข้าวพระเป็นต้น. มันเป็นสิ่งที่มีไม่ได้ตามหลักของพุทธศาสนา แต่พุทธบริษัทบางพวกเข้าใจว่านี่เป็นพุทธศาสนา และได้สอนกันถือกันอย่างเคร่งครัด.

พิธีรีตองต่างๆ ทำนองนี้ ได้เกิดขึ้นอย่างหนาแน่นมากมายจนหุ้มห่อของจริง หรือความมุ่งหมายเดิมให้สาปสูญไป. ขอยกตัวอย่างเช่นในเรื่อง การบวชนาค ก็เกิดมีพิธีทำขวัญนาค เชื้อเชิญแขกมาเลี้ยงดูกันอย่างเมามายเอิกเกริก ทำพิธีทั้งที่วัดและที่บ้าน บวชไม่กี่วันก็สึกออกมาแล้วกลายเป็นคนเกลียดวัดยิ่งไปกว่าเดิมก็มี. นี่ขอให้คิดดูเถิดว่า สิ่งไม่เคยมีในครั้งพุทธกาลก็ได้มีขึ้น

การบวชสมัยพระพุทธเจ้า นั้นหมายความว่าบุคคลใดที่ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาแล้ว ก็ปลีกตัวจากบ้านเรือนเป็นคนที่ทางบ้านตัดบัญชีทิ้งได้ ไปอยู่กับพระพทธเจ้าและพระสงฆ์ โอกาสเหมาะสมเมื่อไรท่านก็บวชให้ โดยมิได้พบหน้าบิดามารดาญาติพี่น้องเลย จนตลอดชีวิตก็ยังมี แม้บางรายจะมีกลับมาเยี่ยมบิดามารดาบ้างก็ต่อโอกาสหลังซึ่งเหมาะสมแต่ก็มีน้อยเหลือเกินในพุทธศาสนามีระเบียบว่ามาบ้านได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุผลสมควร และพึงทราบไว้ด้วยว่าพวกที่บวชนั้นไม่ได้เวียนมาบ้าน ไม่ได้บวชในที่ต่อหน้าบิดามารดา ไม่ได้ฉลองกันเป็นการใหญ่แล้วไม่กี่วันสึก สึกแล้วก็ไม่มีอะไรดีขึ้นไปกว่าเดิม อย่างที่เป็นกันอยู่ในเวลานี้.

เราหลงเรียกการทำขวัญนาคและการทำพิธีต่างๆ ตลอดถึงการฉลองอะไรๆ เหล่านั้น ว่าเป็นพุทธศาสนาแล้วก็นิยมทำกันอย่างยิ่ง จนหมดเปลืองทรัพย์ของตนหรือของคนอื่นเท่าไรก็ไม่ว่า พุทธศาสนาใหม่ๆ อย่างนี้เกิดมีมากมายแทบจะทั่วไปทุกแห่ง. ธรรมะหรือของจริงที่เคยมีมาแต่ก่อนนั้น ถูกหุ้มห่อโดยพิธีรีตองจนมิด เกิดมุ่งหมายผิดเป็นอย่างอื่นไป เช่นการบวชก็กลายเป็นเรื่องสำหรับแก้หน้าเด็กหนุ่มๆ ที่ถูกหาว่าเป็นคนดิบ หาเมียยากอะไรเหล่านี้เป็นต้น. ในบางถิ่นบางแห่ง ถือเป็นโอกาสสำหรับรวบรวมเงินที่มีผู้นำมาช่วย เป็นการหาทางร่ำรวยเสียคราวหนึ่ง ถึงอย่างนั้นเขาก็เรียกว่าพุทธศาสนา ใครไปตำหนิติเตียนเข้าก็จะถูกหาว่าไม่รู้จักพุทธศาสนา หรือทำลายศาสนา.

อีกเรื่องหนึ่ง ตัวอย่าง เช่น กฐิน : พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายจะให้ภิกษุทำจีวรเป็นด้วยตนเองด้วยกันทกรูป และให้พร้อมเพรียงกันทำด้วยมือของตัวเองในเวลาอันรวดเร็ว. ถ้าผ้าที่ช่วยกันทำนั้นมีผืนเดียวก็มอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของภิกษุองค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าอาวาส แต่เป็นภิกษุซึ่งหมู่สงฆ์เห็นว่ามีคุณสมบัติสมควรที่จะใช้จีวรผืนนั้นได้หรือขาดแคลนผ้าจะใช้สอย ให้เป็นผู้ใช้สอยจีวรผืนนั้นได้ในนามของสงฆ์ทั้งหมด.

พระองค์ทรงมุ่งหมายจะให้พระทุกรูปหมดความถือเนื้อถือตัว ไม่ว่าจะเป็นพระผู้น้อย สมภารเจ้าวัดหรือพระผู้ใหญ่มีศักดิ์มีเกียรติอะไรก็ตาม ต้องลดตัวลงมาเป็นกุลีกันหมดในวันนั้นเพื่อจะมาระดมกันกะผ้าตัดผ้าเย็บผ้า ต้ม แก่นไม้ทำสีย้อมผ้า และอะไรๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะให้จีวรนั้นสำเร็จได้ไนวันนั้น เพราะเป็นการรวบรวมเอาเศษผ้ามาต่อกันเป็นจีวร. พระพุทธเจ้าท่านทรงมุ่งหมายให้สิ่งที่เรียกว่ากฐินเป็นอย่างนั้น คือไม่ต้องไปเกี่ยวกับฆราวาสเลยก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้กฐินกลายเป็นเรึ่องมีไว้สำหรับประกอบพิธีหรูหราหาเงินเอิกเกริกเฮฮาสนุกสนาน พักผ่อนหย่อนใจโดยไม่ได้รับผลสมความมุ่งหมายอันแท้จริง แต่กลับใช้เวลามาก เปลืองเงินมากยุ่งยากมาก จนกลายเป็นโอกาสลาหรับทำสำมะเลเทเมา คือไปทอดกฐินเพื่อกินเหล้ากินปลาเล่นไพ่เฮฮากันอย่างสนุกสนานหรือไม่ก็มุ่งหน้าหาเงินกันเท่านั้น.

พุทธศาสนา "เนื้องอก" ทำนองนี้ มีขึ้นใหม่ ๆ มากมายหลายร้อยอย่างโดยไม่ต้องระบุชื่อ เพราะมากจนระบุไม่ไหวแต่อยากจะให้เชื่อว่า "พุทธศาสนาเนื้องอก" เป็นเนื้อร้ายชนิดหนึ่งซึ่งงอกขึ้นๆ จนปิดบังห่อหุ้มเนื้อดีหรือแก่นแท้ของพุทธศาสนาให้ค่อยๆ ลบเลือนไป ด้วยเหตฉะนี้แหละสิ่งที่เราเรียกว่าพุทธศาสนาๆ จึงมีเพิ่มขึ้นมากมายหลายประเภทจากตัวแท้ ของศาสนาที่มีอยู่ดั้งเดิม เกิดเป็นนิกายใหญ่และนิกายย่อยๆ อีกตั้ง ๒๐-๓๐ นิกาย ที่กลายเป็น นิกายตันตระ ที่เนื่องกับกามารมณ์ไปก็มี จำเป็นที่จะต้องแยกแยะให้รู้จักตัวพุทธศาสนาเดิมแท้ไว้เสมอจะได้ไม่หลงงมงายยึดถือเปลือกที่หุ้มภายนอกหรือติดแน่นในพิธีรีตองต่างๆ จนเป็นการประพฤติผิดไปจากความมุ่งหมายเดิมที่ถูกต้องยิ่งขึ้น.

เราควรยึดกายวาจาบริสุทธิ์ให้เป็นที่พึ่งของจิตบริสุทธิ์เพื่อให้เกิดปัญญารู้ว่าอะไรถูก แล้วประพฤติปฏิบัติไปตามนั้น. อย่าได้ถือว่าถ้าเขาว่าเป็นพุทธศาสนาแล้ว ก็เป็นพุทธศาสนา. เนื้องอกนั้นได้งอกมาแล้วนับตั้งแต่วันหลังจากพระพุทธปรินิพพาน และยังงอกเรื่อยๆ มา กระจายไปทุกทิศทุกทางจนกระทั่งบัดนี้เลยมีเนื้องอกก้อนโตๆ อย่างมากมาย.

พวกเราเองจะไปอ้างเอา "พุทธศาสนาเนื้องอก" มาถือว่าเป็นพุทธศาสนาไม่ได้ หรือ คนในศาสนาอื่นจะมาชี้ก้อนเนื้องอก เหล่านี้ ซึ่งมีอยู่อย่างน่าบัดสีอย่างน่าละอายว่าเป็นพุทธศาสนา ก็ไม่ถูกเหมือนกัน คือไม่เป็นการยุติธรรมเพราะสิ่งนี้ไม่ใช่พุทธศาสนา แต่เป็น "เนึ้องอก" พวกเราที่จะช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาเพื่อให้เป็นที่พึ่งแก่คนทั้งหลาย หรือเพื่อประโยชน์แก่ตัวเราเองก็ตาม จะต้องรู้จักจับฉวยให้ถูกตัวแท้ของพุทธศาสนา ไม่ไปถูกชิ้นเนื้อร้ายเนื้องอกดังที่กล่าวมาแล้ว.

แม้พุทธศาสนาตัวแท้ก็ยังมีหลายแง่หลายมุม ที่จะทำให้เกิดการจับฉวยเอาไม่ถูกความหมายที่แท้ของพระพทธศาสนาก็ได้.

ถ้ามองด้วยสายตาของนักศีลธรรม ก็จะเห็นว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งศีลธรรม (Moral) เพราะมีกล่าวถึงบุญบาป ความซื่อตรง ดีชั่ว ความกตัญญูกตเวที ความสามัคคี ความเป็นคนที่เปิดเผยตัวเองและอะไรต่างๆ อีกมากมาย ล้วนแต่มีอยู่ในพระไตรปิฏกทั้งนั้น แม้ชาวต่างประเทศก็มองดูในส่วนนี้อยู่มาก หรือว่าชอบพุทธศาสนาเพราะเหตุนี้ก็มีอยู่มาก.

พุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่ง สูงขึ้นไปเป็นสัจจธรรม (Truth) คือ กล่าวถึงความจริงที่ลึกซึ้งเร้นลับนอกเหนือไปกว่าที่คนธรรมดาสามัญจะเห็นได้. ส่วนนี้ก็ได้แก่ความรู้เรื่องความว่างเปล่าของสรรพสิ่งทั้งปวง (สุญญตา) เรื่องความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ความเป็นทุกข์ (ทุกขัง) ความไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา); หรือเรื่องการเปิดเผยว่าทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับสนิทของทุกข์เป็นอย่างไร และวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทกข์เป็นอย่างไร; ในฐานะเป็นความจริงอันเด็ดขาดที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ (อริยสัจจ์) ซึ่งทุกคนควรจะต้องรู้ นี้เรียกว่าพุทธศาสนาในฐานะเป็นสัจจธรรม.

พุทธศาสนา ในฐานะที่เป็นศาสนา (Religion) คือส่วนที่เป็นตัวระเบียบปฏิบัติ ซึ่งได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา กระทั่งผลที่เกิดขึ้นคือความหลุดพ้น. และปัญญาที่รู้เห็นความหลุดพ้น ว่างมือใครปฏิบัติ แล้วจะหลุดพ้นไปจากความทุกข์ได้จริง. นี่เรียกว่า พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา.

เรายังมี พุทธศาสนาในเหลี่ยมที่เป็นจิตวิทยา (psychology) เช่น คัมภีร์พระไตรปิฎกภาคสุดท้าย กล่าวบรรยายถึงลักษณะของจิตไว้กว้างขวางอย่างน่าอัศจรรย์ที่สุด เป็นที่งงงันและสนใจแก่นักศึกษาทางจิตแม้แห่งยุคปัจจุบัน เป็นความรู้ทางจิตวิทยาที่จะอวดไดัว่าแยบคายหรือลึกลับกว่าความรู้ทางจิตวิทยาของโลกปัจจุบันไปเสียอีก.

พุทธศาสนายังมีเหลี่ยมความรู้ซึ่งจัดได้ว่าเป็นปรัชญา (philosophy) คือสิ่งที่ทดลองไม่ได้ ยังต้องอาศัยการคำนึงคำนวณไปตามหลักแห่งการใช้เหตผลแห่งการคำนึงคำนวณระบอบหนึ่ง. แต่ถ้าเห็นแจ้งประจักษ์ได้ด้วยตา หรือค้วยการพิสูจน์ทดลองตามทางวัตถุ หรือแม้เห็นชัดด้วย" ตาใน" คือญาณจักษุก็ตาม เรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ (science) ได้. ความรู้อันลึกซึ่งเช่นเรื่องสุญญตาย่อมเป็นปรัชญาสำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรมไปพลางก่อน แต่จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ทันทีสำหรับผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว เช่น พระอรหันต์ เพราะท่านได้เห็นแจ้งประจักษ์แล้วด้วยจิตใจของท่านเองไม่ต้องคำนึงคำนวณตามเหตุผล.

หลักพระพุทธศาสนาบางประเภท ก็เป็นวิทยาศาสตร์ โดยส่วนเดียว เพราะพิสูจน์ได้ชัดแจ้งด้วยความรู้สึกภายในใจของผู้มีสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอริยสัจจ์เป็นต้น. ถ้าผู้ใดมีสติปัญญาสนใจศึกษาค้นคว้าแล้วจะมีเหตผลแสดงอยู่ในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มืดมัวเป็นปรัชญาเหมือนอย่างบางเรื่อง.

สำหรับบุคคลผู้บูชาวัฒนธรรม ก็จะพบว่ามีคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาหลายข้อที่ตรงกับหลักวัฒนธรรมสากล. และมีคำสอนอีกมาก ที่เป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธโดยเฉพาะ ซึ่งดีกว่าสูงกว่าวัฒนธรรมสากลอย่างมากมาย.

แม้พุทธศาสนาส่วนที่เป็นตรรกวิทยา (logic) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่โยกโคลงที่สุด ก็มีมากด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะในพวกพระอภิธรรมปิฎกบางคัมภีร์ เช่นคัมภีร์กถาวัตถุ เป็นต้น.

แต่อย่างไรก็ตามอยากจะขอยืนยันว่า พุทธศาสนาเหลี่ยมซึ่งชาวพุทธจะต้องสนใจที่สุด นั้นคือ เหลี่ยมที่เป็นศาสนา ซึ่งหมายถึงวิธีปฏิบัติโดยรวบรัด เพื่อให้รู้ความจริงว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไร จนถอนความยึดถือหลงใหลต่าง ๆ ออกมาเสียจากสิ่งทั้งปวงได้. การกระทำเช่นนี้เรียกว่า เราเข้าถึงตัวพระพุทธศาสนา ในฐานะเป็นพุทธศาสนา : มีผลดียิ่งไปกว่าที่จะถือเป็นเพียงศีลธรรมขั้นพื้นฐาน และสัจจธรรมอันเป็นความรู้ที่ลึกซึ่งอย่างเดียวโดยไม่ปฏิบัติอะไรและเป็นผลดีกว่าที่จะถือเป็นปรัชญา ที่มีไว้คิดไว้นึกไว้เถียงกันอย่างสนุกๆ แล้วไม่ละกิเลสอะไรได้ หรือดีกว่าที่จะถือเป็นเพียงวัฒนธรรมสำหรับการประพฤติที่ดีงามน่าเลื่อมใสในด้านสังคมแต่อย่างเดียว.

อย่างน้อยที่สุด เราทั้งหลายควรถือ พุทธศาสนาในฐานะเป็นศิลปะ (Art) ซึ่งในที่นี้หมายถึงศิลปะ แห่งการครองชีวิต คือเป็นการกระทำที่แยบคายสุขม ในการที่จะมีชีวิตอยู่เป็นมนุษย์ให้น่าดูน่าชมน่าเลื่อมใสน่าบูชาเป็นที่จับอกจับใจแก่คนทั้งหลายจนคนอื่นพอใจทำตามเราด้วยความสมัครใจไม่ต้องแค่นเข็นกัน: เราจะมี ความงดงามในเบื้องต้น ด้วยศีลบริสุทธิ์: มีความงดงามในท่ามกลาง ด้วยการมีจิตใจสงบเย็น เหมาะสมที่จะทำงานในด้านจิต : มี ความงดงามในเบื้องปลาย ด้วยความสมบูรณ์แห่งปัญญา คือรู้แจ้งสิ่งทั้งปวงว่าอะไรเป็นอะไร จนไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นเพราะสิ่งทั้งปวงนั้น.

เมื่อใครมีชีวิตอยู่ด้วยความงาม ๓ ประการ เช่นนี้แล้ว ถือว่าเป็นผู้มีศิลปะแห่งการดำรงชีวิตอย่างสูงสุด. ชาวตะวันตกหันมาสนใจพุทธศาสนา ในฐานะเป็นศิลปะแห่งชีวิตโดยนัยนี้เป็นอันมาก และกล่าวขวัญกันมากกว่าแง่อื่นๆ.

การที่เราเข้าถึงตัวแท้ของพระพุทธศาสนา จนถึงกับนำมาใช้เป็นแบบแห่งการครองชีวิตได้นั้น มันทำให้เกิด ความบันเทิงรื่นเริงตามทางของธรรมะ ไม่เหงาหงอยไม่เบื่อหน่าย หรือหวาดกลัวดังที่เกรงกันอยู่ว่า ถ้าละกิเลสกันเสียแล้วชีวิตนี้จะแห้งแล้งไม่มีรสชาติอะไรเลย หรือถ้าปราศจากตัณหาต่าง ๆ โดยสิ้นเชิงแล้วคนเราจะทำอะไรไม่ได้ หรือไม่คิดทำอะไรอย่างนี้เป็นต้น แต่โดยที่แท้แล้ว ผู้ดำรงชีวิตอย่างถูกต้อง ตามศิลปะแห่งการครองชีวิตของพระพุทธเจ้านั้น คือผู้มีชัยชนะอยู่เหนือสิ่งทั้งปวงที่เข้ามาแวดล้อมตน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บุคคสิ่งของหรืออะไรก็ตาม จะเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และทางใจก็ตาม ย่อมจะเข้ามาในฐานะผู้แพ้ ไม่อาจจะทำให้เกิดความมืดมัว สกปรก เร่าร้อนให้แก่ผู้นั้นได้. อากัปกิริยาที่เป็นฝ่ายชนะอารมณ์ทั้งปวงนี้ ย่อมเป็นที่บันเทิงเริงรื่นอย่างแท้จริง; และนี่คือข้อที่ควรถือเป็นศิลปะในพุทธศาสนา.

ธรรมะในพระพุทธศาสนา จะให้ความเพลิดเพลินแก่จิตใจที่ต้องการธรรมะ นับได้ว่าเป็นอาหารจำเป็นอย่างหนึ่งเหมือนกัน.คนที่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสยังต้องการอาหารทางตา หู จมูก ลิ้น กายแสวงหากันไปตามวิสัยปุถุชนนั้นก็ถูกแล้วแต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งอยู่ลึก และไม่ต้องการอาหารอย่างนั้น สิ่งนี้คือวิญญาณซึ่งเป็นอิสระหรือบริสุทธิ์ ต้องการความบันเทิงเริงรื่น คืออาหารทางธรรมะ นับตั้งแต่ความยินดีปรีดาที่รู้สึกว่าตนได้ทำอะไรอย่างถูกต้อง เป็นที่พอใจของผู้รู้ทั้งหลาย มีความสงบระงับในใจชนิดที่กิเลสมารบกวนไม่ได้. มีความเห็นแจ่มแจ้งรู้เท่าทันสิ่งทั้งปวงว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ทะเยอทะยานในสิ่งใด . มีอาการเหมือนกับนั่งลงได้ ไม่ต้องวิ่งไปวิ่งมาเหมือนคนทั้งหลาย ชนิดที่ท่านให้คำเปรียบไว้ว่า "กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ".

"กลางคืนอัดควัน" นั่น หมายถึงการนอนไม่หลับกระสับกระส่ายมือก่ายหน้าผาก คิดจะ แสวงหาอย่างนั้นอย่างนี้คิดจะกระทำเพื่อให้ได้เงิน ได้ลาภหรือสิ่งต่าง ๆ ที่ตนปรารถนา อันเป็นควันกลุ้มอยู่ในใจ เพราะมันยังมืดค่ำ ลุกไปไหนไม่สะดวก ต้องทนนอนอัดควันอยู่.

ครั้นถึงเวลารุ่งขึ้น ก็ออกวิ่งว่อนไปตามความต้องการของ"ควัน" ที่อัดไว้เมื่อคืน นี่เรียกว่า "กลางวันเป็นไฟ" เป็นอาการของจิตใจที่ไม่ได้รับความสงบ ไม่ได้รับอาหารทางธรรมเป็นความหิวกระหาย ไปตามอำนาจของกิเลสและตัณหา : "กลางคืนอัดควัน" ร้อนกลุ้มอยู่แล้วตลอดคืน;"กลางวันยังเป็นไฟ" คือทั้งร้อนทั้งไหม้อะไรไปในตัวเสร็จตลอดทั้งวันแล้วจะหาความสงบเยือกเย็นอย่างไรได้.

ถ้าคนเราต้อง "กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ" ไปจนตลอดชีวิต ถึงตายแล้ว จะเป็นอย่างไรบ้าง ขอให้ลองคิดดู. เขาเกิดมาทนทุกข์ทรมานจนตลอตชีวิต คือนับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเน่าเข้าโลงไปทีเดียว โดยไม่มีสติปัญญาที่จะระงับดับไฟ ดับควันนั้นเสียเลย. บุคคลชนิดนี้จะต้องอาศัยสติปัญญาของบุคคลประเภทพระพุทธเจ้า สำหรับช่วยแก้ไขให้เบาบางลงตามส่วน. เมึ่อเขาได้เข้าใจสิ่งทั้งหลายทั้งปวงถูกต้องตามความเป็นจริงมากขึ้นเท่าไรควันหรือไฟก็จะลดน้อยลงเท่านั้น.

ทั้งหมดนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนามีลักษณะหลายเหลี่ยมหลายมุม เหมือนกับภูเขาลูกเดียวมองจากทิศต่าง ๆ กัน ก็เห็นรูปต่าง ๆ กัน ได้ประโยชน์ต่าง ๆ กัน แล้วแต่ใครจะมองอย่างไร. แม้พระพุทธศาสนา จะมีมูลมาจากความกลัว ก็ไม่ใช่ความกลัวที่โง่เขลา ของคนป่าเถื่อน จนถึงกับนั่งไหว้รูปเคารพหรือไหว้สิ่งที่ปรากฏการณ์แปลก ๆ: แต่เป็นความกลัวชนิดที่สูงด้วยสติปัญญา คือกลัวว่าจะไม่ได้รอดพ้นไปจากการบีบคั้นของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือความทุกข์ทั้งหลายที่เรามองเห็น ๆ กันอยู่.

พุทธศาสนาตัวแท้ ไม่ใช่หนังสือ ไม่ใช่คัมภีร์ ไม่ใช่เสียงบอกเล่าตามพระไตรปิฏก หรือตัวพิธีรีตองต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่ตัวแท้ของพระพุทธศาสนา ตัวแท้ต้องเป็น ตัวการปฏิบัติด้วยกายวาจาใจ ชนิดที่จะทำลายกิเลสให้ร่อยหรอหรือหมดสิ้นไปในที่สุด ไม่จำเป็นต้องเนื่องด้วยหนังสือ ด้วยตำรา ไม่ต้องอาศัยพิธีรีตองหรือสิ่งภายนอก เช่นผีสางเทวคา แต่ต้องเนื่องด้วยกายวาจาใจโดยตรง คือจะต้องบากบั่นกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป จนเกิคความรู้แจ่มแจ้ง สามารถทำอะไรให้ถูกต้องได้ด้วยตนเอง ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนอวสาน. นี่แหละคือตัวแท้ของพระพทธศาสนา ในส่วนทีเราจะต้องเข้าถึงให้จงได้. อย่าได้ไปหลงยึดเอาเนื้องอกที่หุ้มห่อพระพุทธศาสนา มาถือว่าเป็นตัวพระพุทธศาสนากันเลย.





 

Create Date : 08 เมษายน 2551
2 comments
Last Update : 9 เมษายน 2551 8:56:34 น.
Counter : 437 Pageviews.

 

เข้ามาอ่านครับ

 

โดย: กระต่ายไม่ขูดมะพร้าว 8 เมษายน 2551 20:24:06 น.  

 





แวะมาส่งดอกไม้งามยามดึก
หลับฝันดีจ้า

ใกล้สงกรานต์แล้ว...
ถนนข้าวเหนียวที่ ขก ยินดีต้อนรับเด้อ...






 

โดย: เดหลีสีแดง 9 เมษายน 2551 3:41:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ณธีร์
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




๏ กลั่นความรู้สึกวันละนิด
กรองความคิดวันละหน่อย
คั้นอารมณ์วันละน้อย
เรียงร้อยรอยลักษณ์อักษรา ฯ

Group Blog
 
 
เมษายน 2551
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
8 เมษายน 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ณธีร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.