มิถุนายน 2551

1
2
3
4
5
6
7
8
9
11
12
13
15
18
19
20
21
22
23
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog
วาทกรรม "ระบอบทักษิณ" ผลิตผลแห่งถ้อยคำ ที่เกิดจากความประมาท?
แม้จนถึงขณะนี้ ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณหลุดออกไปจากอำนาจแล้ว รอแต่วันที่จะขึ้นศาล ตามบทสรุปการไต่สวนของ คตส.
คำว่าระบอบทักษิณ ก็ยังถูกใช้เป็นวาทกรรม ในการกล่าวอ้าง เพื่อรุกไล่อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ตลอดเวลา.
เหตุผลหนึ่งนั้น อ้างกล่าวว่า ระบอบทักษิณยังคงอยู่ จึงจำเป็นจะต้อง ไล่รื้อ ขุดรากถอนโคนให้หมดสิ้น ไปจากสังคมไทย
สอง มี"เจตนา"ที่เหลื่อมซ้อนในการอ้าง ตามข้อหนึ่ง เพราะกลัวว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะหลุดจากคดี และไม่ได้ขึ้นศาล ตามที่ฝ่ายนั้น คาดการณ์ไว้ และอาจมุ่งให้เป็นไปอย่างนั้นด้วย

หลายคนใช้วาทกรรม ระบอบทักษิณ อย่างสนุกและมีอรรถรส ไม่ว่าจะเป็นแวดวง นักวิชาการ สื่อสารมวลชน นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม
และบางคน อาจไม่ทราบว่าใครเป็นผู้บัญญัติ คำว่า ระบอบทักษิณ ด้วยซ้ำไป

เชื่อว่าส่วนใหญ่ ใช้ในความเห็นเชิงอัตวิสัย เป็นส่วนมาก ไม่ได้มีใจตรวจสอบ และหาความเชื่อมโยง ระหว่างสภาวะที่เป็นภววิสัยของสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ" กับรูปแห่งถ้อยคำและความหมายของ คำว่า "ระบอบทักษิณ" อย่างเที่ยงตรง ถูกต้องดีพอ
คำว่าระบอบทักษิณ จึง มิใช่ถ้อยคำเชิงวิชาการ ของนักวิชาการ
แต่เป็นถ้อยคำ"ในงาน"ของนักหนังสือพิมพิ์ ที่มีสถานะของถ้อยคำ ในคราบไคลของนักวิชาการ อย่างที่สุด

ทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น?

โดยทั่วไป เวลาเราจะพูดถึงระบอบการปกครองต่างๆที่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน ซึ่งมีหลักแห่งปรัชญาและมีแนวความคิดที่ชัดเจน เราจะพูดถึงระบอบประชาธิปไตยบ้าง ระบอบเผด็จการบ้าง ระบบสังคมนิยมบ้าง ซึ่งต่างก็ล้วนแล้วแต่เป็นระบอบ ที่มีหลักแนวคิดที่โดดเด่น และแตกต่างกันไปอย่างชัดเจน
ระบอบต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มีที่มา-ที่ไป มีรูปแบบลัทธิ-ทฤษฎี บางระบอบมีเจ้าสำนักคิดของตัวเอง และล้วนแล้วแต่มีพัฒนาการความเป็นมา อย่างยาวนานทั้งสิ้น
แต่แม้บางระบอบจะมีเจ้าสำนักคิด ที่เป็นเหมือนกับผู้ให้กำเนิดระบอบต่างๆ เหล่านี้
แต่ก็ไม่มีผู้ให้กำเนิดในระบอบไหน ที่จะได้ใช้ชื่อ-สรรพนามของตัวเอง มากำหนดเป็นรูปถ้อยคำ เพื่อแทนความหมายของระบอบการปกครอง อันเป็นผลผลิตแห่งแนวคิดที่ก่อรูปขึ้นของตัวเอง

แม้แต่ระบอบสังคมนิยม ก็ไม่ได้ชื่อว่า "ระบอบมาร์กซ" แม้แต่ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ก็ไม่ได้ชื่อว่า "ระบอบฮิตเลอร์" "ระบอบ มุสโสลินี"เช่นนี้ เป็นต้น

ฉะนั้นแล้ว คำว่าระบอบการปกครองแบบใด ย่อมไม่ใช่ระบอบการปกครองของใครคนนั้น ที่คิดสร้างขึ้น แต่หมายถึง รูปความคิดในการปกครองในรูปแบบหนึ่ง แบบใด ที่สังคมยอมรับ และรัฐได้นำมาใช้ในการปกครองสังคมประเทศชาติ ของตัวเอง โดยจะต้องขยับขยาย พัฒนาและนำไปสูการออกแบบ กำหนดกฎหมายและบทบัญญัติต่างๆ ขึ้นเพื่อปกครองรัฐนั้น เพื่อให้สอดคล้อง และสนองตอบต่อแนว ความคิดหรือลัทธิทางการเมืองดังกล่าวนั้นๆ

เมื่อกลับมาพิจารณา คำว่า"ระบอบทักษิณ" ให้ถ่องแท้
เราก็จะพบว่า คำว่าระบอบทักษิณ ไม่ได้มีราก-อุดมการณ์ หรือแนวความคิดทางการเมือง ที่มีรูปแบบเนื้อหาแตกต่าง และโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์พอจนสามารถที่จะสถาปนาให้เป็นระบอบการปกครอง อีกแบบหนึ่งได้เลย แม้แต่น้อย
กล่าวให้ถึงที่สุด เพียงแค่จะกล่าวคำว่ามีการก่อรูปแนวความคิด-อุดมการณ์ทางการเมือง เพื่อสถาปนา "ระบอบทักษิณ" นั่น ก็มากเกินไปแล้ว
เพราะทัศนะของ พ.ต.ท.ทักษิณที่สื่อสารออกมา ตามกาละ เทศะต่างๆ นั้น พูดได้ว่า แยกออกไปจากสิ่งที่เรียกกันว่า ระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้เลย

อย่างน้อยที่สุด เพราะว่าอะไร? นั่นก็เพราะว่า รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีรากเหง้า และที่มา จากรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน.
อย่างน้อยที่สุด ที่ยืนของพ.ต.ท.ทักษิณ ก็คือมาจากประชาชน มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ภายใต้กติกา และแนวความคิด-อุดมการณ์ของ คนอื่น ดังนั้น จะพูดอย่างไร ก็ถือได้ว่าพูดอยู่ในพื้นที่ของระบอบประชาธิปไตย.

ถ้าเช่นนั้น คำว่า"ระบอบทักษิณ"ในความหมายของผู้บัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้น นั้น หมายถึงอะไร?

เท่าที่ติดตาม และเท่าที่เฝ้าสดับ รับฟังมาจากกลุ่มต้านทักษิณหลายๆคน น่าจะประมวลได้ว่า คำว่า"ระบอบทักษิณ" นั้น พวกเขาหมายถึง
(ล้วนมีลักษณะด้านลบ)

1.ลักษณะการปกครองของผู้ปกครองที่แทรกแซงองค์กร(จะอิสระ หรือไม่อิสระก็ไม่ใช่สาระสำคัญ)
2.แทรกแซงสื่อ
3.คอรัปชั่น
4.พยายามหลีกหนีระบบการตรวจสอบ
5.ใช้เงินนำหน้าในการดำเนินการต่างๆ
6.ใช้โครงการประชานิยมหลอกลวงชาวบ้าน
7.มีลักษณะไม่ฟังใคร มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ตัดสินใจเร็ว
8.มีลักษณะดูก้าวร้าว ในบางครั้ง พูดจาเหน็บแนม เสียดสีเก่ง
9.มีท่วงท่าของความร่ำรวยเป็น มุ่งไปสู่ความร่ำรวย นำพาประเทศไปสู่ความร่ำรวย ต้องการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว

ข้างต้นก็คือความหมายโดยรวมของสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ" ซึ่งล้วนเป็นข้อกล่าวหา ที่จะต้องได้รับการพิสูจน์ วิเคราะห์ ค้นหาความจริง และตัดสินกันต่อไป
พูดกันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ข้อเท็จจริงตามข้อ 1-9 ที่ฝ่ายหนึ่งใช้กล่าวหานั้น ถือได้ว่า เป็นลักษณะของ"พฤติกรรมการปกครอง การใช้อำนาจ การบริหารราชการ" มากกว่า "รูปแนวคิดที่แสดงออกถึงปรัชญา-อุดมการณ์ทางการเมือง"

แน่นอนว่า"พฤติกรรมการใช้อำนาจ ในการปกครอง ในการบริหารบ้านเมือง" ซึ่งมีที่มา และอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ที่มีลักษณะเฉพาะตัว (กล่าวคือมีเอกลักษณ์โดดเด่น สอดรับกับบุคคลิกภาพเฉพาะตัว) ย่อมไม่ได้หมายความว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีแนวคิดทางการเมืองที่แปลกแยก ไปจากระบอบประชาธิปไตย ตราบใดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เสนอแนวคิด หรืออุดมการณ์ทางการเมืองใหม่ๆ (ถ้าเทียบกับ พลเอกชวลิต แล้ว จะเห็นได้ว่า พลเอกชวลิตมีภาพของคน ที่ได้เสนอแนวความคิด ทฤษฎี และอุดมการณ์ทางการเมือง ต่อสาธารณะ อย่างชัดเจน)

ดังนั้นพูดได้ว่า การใช้คำแทนความหมาย ถ้าเพียงแต่เป็นพฤติกรรม ที่สะท้อนบุคคลิกลักษณะของผู้ปกครอง ว่าเป็นการสถาปนา"ระบอบการปกครอง"นั้น จึงเป็นการใช้ถ้อยคำที่เกินความเป็นจริง และไม่ถูกต้อง สอดคล้องกับสภาวะการณ์ที่แท้จริง อันเป็นภววิสัย

แน่นอนว่า ผู้เขียนย่อมมิได้เขียนบทความนี้ขึ้น เพื่อจะบอกว่า ผู้บัญญัติคำ "ระบอบทักษิณ" ใช้คำแทนความหมายไม่ถูก หรืออ่อนภาษาไทย แต่ประการใด
แต่กำลังจะสอบสวน และวิเคราะห์ดู เจตนาที่แท้จริงของผู้ที่บัญญัติถ้อยคำนี้ว่า มีเจตนา เบื้องลึกในจิตใจ อย่างไร มีความประสงค์ เช่นไร?

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่ผู้เขียนจะสามารถทราบความในใจของผู้บัญญัติ คำว่า "ระบอบทักษิณ" ได้

ดังนั้น บทวิเคราะห์ของผู้เขียนดังต่อไปนี้ จึงเป็นการคาดการณ์ จากสิ่งที่ปรากฎขึ้น เท่านั้น จะถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง ก็ไม่อาจจะทราบได้แน่ชัด
แต่จากการลำดับ กระบวน และรูปการณ์แห่งความคิดที่เป็นที่ประจักษ์ ตามสื่อต่างๆ แล้ว
ในที่สุด ผู้เขียนก็เชื่อว่า คำว่า "ระบอบทักษิณ" เป็น ถ้อยคำที่มุ่งเสียดเย้ย และตีตราประณาม มากกว่า ที่จะยกย่อง ให้เกียรติ เพราะสิ่งที่สังคมด้านหนึ่งนั้นพูดถึง"ระบอบทักษิณ"ก็ล้วนแต่ เป็นเรื่องที่เป็นข่าวในด้านลบ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ฝ่ายต่อต้านได้สรุปเอาและเชื่อเช่นนั้น ทั้งสิ้น (โปรดดูข้อ 1-9 ด้านบน)

คำว่า "ระบอบทักษิณ" จึงมีลักษณะตีตรา เสียดเย้ย เช่นเดียวกับคำว่า "ชวนเชื่องช้า"
หรือคำว่า "เช้าชาม เย็นชาม" ของระบบราชการ
แต่ที่ร้ายยิ่งกว่า คำว่าระบอบทักษิณ กลับเป็นคำนิยาม ที่สามารถบิดผัน แปรเปลี่ยนไป รับใช้"ความเลวร้าย ทั้งปวง" ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เกินกว่าที่ใคร จะคาดคิด.. โดยลืมสาระและความเป็นจริง ในเชิงภววิสัย ของ"ระบอบทักษิณ"ที่เกิดขึ้น ไปหมดสิ้น
ซึ่งภายหลังจากนั้น ไม่นาน ถ้อยคำนี้ ก็เป็นถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม อย่างสูงสุดในประวัติศาสตร์ทางการเมืองของไทยครั้งหนึ่ง และมีขนาดความใหญ่โต กว้างขวาง และอย่างน่ากลัวที่สุด.

ตามปกติความเห็นทางการเมือง ในประเด็นใด ประเด็นหนึ่งของผู้คนในสังคม ย่อมมีทั้งคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ย่อมมีทั้งความเห็นเชิงอัตวิสัย และภววิสัย ผสมผสานกันอยู่

เรื่องที่โชคร้ายที่สุดของสังคมไทย ในเวลานี้ ก็คือว่าความเห็นทางการเมือง ที่ผู้คนในประเทศไทย มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ได้แตกแยกออกเป็นสองฝัก สองฝ่าย

ฝ่ายสนับสนุนทักษิณนั้น เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกใส่ร้าย ไม่ได้ผิด และ/หรือไม่ได้เลวร้าย อย่างที่ฝ่ายต่อต้าน กล่าวหา หรือแม้แต่ว่าจะผิด ก็เห็นว่าไม่ได้ผิดมากมายอะไร และสามารถยอมรับได้ เพราะคิดว่าไม่มีใครที่จะดีเลิศไปทั้งหมด
ซึ่งฝ่ายนี้ จะว่าไปแล้ว นับว่าเป็นฝ่ายตั้งรับ ในเชิงเนื้อหาที่กล่าวอ้างกัน เพราะจะได้รับการประณามจากฝ่ายต่อต้านว่า สนับสนุนคนทำชั่ว ซึ่งฝ่ายต่อต้านอาจจะมองต่อไปได้ว่า กลุ่มคนที่อุ้มคนชั่ว บางทีก็อาจชั่ว ไปด้วยกันก็ได้

ส่วนฝ่ายต่อต้านทักษิณกลับเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณและ" ระบอบทักษิณ" ทำความผิด สร้างความเสียหายร้ายแรงหลายประการ และต้องเอาขึ้นศาลให้ได้ โดยฝ่ายนี้ได้ยอมรับการรัฐประหารของคณะทหาร ว่าเป็นเรื่องที่สมควรทำ หรือไม่ได้ คัดค้านและต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งเป็นครั้งแรก เพราะโดยปกติ กลุ่มคนฝ่ายนี้ ก็เคย"ไม่เอาทหาร" มาก่อน ซึ่งนับว่าเป็นฝ่ายรุก ในเชิงเนื้อหา เพราะเป็นคนตั้งข้อกล่าวหาคนอื่นก่อน

การตีตรา เสียดเย้ย พ.ต.ท.ทักษิณและฝ่ายสนับสนุน โดยใช้คำว่า"ระบอบทักษิณ" ก็เหมือนกับคำว่า "นายใหญ่" ซึ่งมีลักษณะ"เชิดชูขึ้น เพื่อทำลาย" หรือ "ยกคนขึ้นฟ้า เพื่อทุ่มลงดิน" เช่นนี้ นับเป็นคำพูดแหลมคม เหนือชั้น ที่นับว่ามีพลังงานมาก ถือเป็นคำพูดที่กระตุ้นต่อมโมหะ โทสะ และอิจฉาริษยาของคนได้เป็นอย่างดี ทำให้คนที่ไม่ได้ตั้งใจที่จะแสวงหาข้อเท็จจริง อย่างสมบูรณ์แบบ รอบด้าน และ/หรือมีอคติเป็นทุนเดิม พร้อมแล้ว ที่จะอยู่ตรงข้าม จึงได้นำคำว่า "ระบอบทักษิณ" ไปใช้อย่างสนุกปาก และพร้อมที่จะผรุสวาทคำนี้ ออกมา เพื่อขึ้นขี่ตีตรา พ.ต.ท.ทักษิณและฝ่ายสนับสนุน ได้ทุกที่ ทุกเวลา

ก็เหมือนกับในช่วงเวลาหนึ่งที่ผ่าน ที่คำว่า "ระบอบคอมมิวนิสต์" ซึ่งปัจจุบัน ประเทศจีนซึ่งกำลังจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ใช้ปกครองประเทศอยู่เวลานี้ ถูกทำให้เป็น "ระบอบของปีศาจ" ที่น่าเกลียด น่ากลัว เพื่อหลอกคนหัวอ่อน (รวมทั้งผู้เขียน)ของชนชั้นปกครองของไทย ขณะที่ลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังแพร่ไป ในหมู่นักศึกษา ปัญญาชนทั่วไป ในราวช่วงปี 2500-2525 นั้น

อันที่จริงผู้เขียนก็เชื่อว่า ผู้บัญญัติคำว่า "ระบอบทักษิณ" คงไม่คาดคิด และมีเจตนา ที่จะทำให้คำๆ นี้ กลายเป็นวาทะกรรม ต่อเนื่อง ที่ฮิตติดปากผู้คน และมีคนนำไปใช้โจมตี
พ.ต.ท.ทักษิณและฝ่ายสนับสนุน กระทั่งบิดผัน พลิกแพลง ไปสู่คำว่า "ทุนสามานย์" และกระทั่งบางคนยกระดับไปสู่คำว่า "ทรราช" ได้อย่างมันส์ปาก

แต่ถ้า ผู้บัญญัติไม่ได้ทำให้ "พฤติกรรมการใช้อำนาจ การปกครอง บริหารประเทศ" กลายเป็นถ้อยคำ"การเมือง"
คำว่า "ระบอบทักษิณ" ก็อาจเป็นได้แค่คำว่า "สไตล์" การบริหารงานแบบทักษิณ หรือ"รูปแบบ" หรือ"การจัดการ -การบริหารงานแบบทักษิณ" เท่านั้นก็น่าจะถูกต้องเพียงพอแล้ว

บทความนี้ ไม่ได้เขียนขึ้น เพื่อตอบประเด็นชี้ขาดว่าทักษิณ หรือ"ระบอบทักษิณ" ผิดอย่างไร หรือถูกอย่างไร

แต่กำลังจะบอกว่า วาทกรรมตีตรานั้น เป็นดาบสองคม ถือเป็นถ้อยคำที่กำเนิดขึ้น และนำไปใช้โดยประมาท
จริงอยู่ด้านหนึ่ง อาจจะดึงดูด ทำให้คนพุ่งความสนใจไปในเรื่องราว ที่เป็นด้านลบ ของผู้ถูกตีตรา เพื่อสังคมจะได้ช่วยกันหาทางยับยั้ง แก้ไข ปรับปรุง ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น
แต่อีกด้านหนึ่ง ถ้อยคำที่เป็นการเมือง มากเกินไป มันก็ทำให้คนเรา สรุปอะไรง่ายเกินไป และ ไม่คิดจะหาข้อเท็จจริง เชิงภววิสัยที่เป็นด้านบวกเอาเสียเลย


สุดท้ายสังคมไทย เวลานี้ จึงได้แตกแยกออกเป็น สองพวกใหญ่ๆ นั่นคือ กลุ่มคนที่เอาทักษิณ และไม่เอาทักษิณ ซึ่งฟังดูแล้วก็อนาถนัก
คนสองกลุ่มนี้ต่างก็เอาคำว่า "ดี" มาต่อท้ายตัวเอง และเอาคำว่า"เลว" ไปต่อท้ายของอีกฝ่ายหนึ่ง
จึงถือได้ว่า ต่างก็อยู่ในสภาวะของคนปัญญาอ่อนทั้งสิ้น( ปัญญามันน้อยลงไปๆ) พร้อมที่จะก่อเรื่องราวต่างๆ รุนแรง ฆ่าแกง กันได้ทุกเมื่อ.




โปรดติดตามบทส่งท้าย. ในกระทู้ถัดไปของผู้เขียน ขอบคุณครับ



Create Date : 17 มิถุนายน 2551
Last Update : 21 มิถุนายน 2551 12:18:04 น.
Counter : 849 Pageviews.

8 comments
  
จะมาตามอ่านต่อนะค่ะ
โดย: นา (nakamuk ) วันที่: 17 มิถุนายน 2551 เวลา:17:56:47 น.
  
อย่างไรก็ไม่ทราบ แต่สังเกตุไหม บ้านเมืองเรา นักการเมืองที่มีประวัติ แย่ ๆ พอเหตุการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายลงก็เห็นเชิดหน้าชูตาอยู่ในสังคมไทย อย่างไม่สะทดสะท้าน เพราะว่าคนไทย ให้อภัย และลืมง่าย จริงๆ
โดย: NathalieNoelle วันที่: 17 มิถุนายน 2551 เวลา:18:37:34 น.
  
เข้ามาเก็บข้อมูล
โดย: merf1970 วันที่: 17 มิถุนายน 2551 เวลา:19:51:32 น.
  

ขอบคุณความเห็นที่ 1-3

คุณ นา
คุณ NathaieNoelloe
คุณ merf1970

ขอบคุณที่สนใจและติดตามครับ
โดย: เนื่อง มาจากเหตุ วันที่: 21 มิถุนายน 2551 เวลา:12:07:38 น.
  
ทักกี้จงเจริญ
โดย: ติ๊ก IP: 202.91.18.192 วันที่: 25 มิถุนายน 2551 เวลา:19:32:35 น.
  
ผลของกรรมเกิดจากการกระทำหลีกเลี่ยงไม่ใด้ โกหกไม่ใด้ มีแต่คนเท่านั้นที่โกหกหรอกตัวเองว่ากรรมไม่มีจริง
ความจริงย่อมหนีความจริงไม่พ้น
ทุกอย่างเกิดจากการกระทำทั้งนั้น ผลของมัน ขึ้นอยู่กับว่าทำดี หรือ ทำชั่ว
โดย: arijinjan วันที่: 23 กรกฎาคม 2551 เวลา:1:20:52 น.
  
ชอบบทวิเคราะห์นี้มาก / จะทำอย่างไรให้คนในสังคมไทยบางกลุ่ม รู้จักคิด วิเคราะห์เป็นไม่ปัญญาอ่อน ไม่ถูกจูงจากคนที่คอยจ้องทำลายกัน จากเรื่องส่วนตัวที่ไม่ประสบความสำเร็จ แล้วหาพวก บัดซบจังเลย นี่จะตั้งพรรคการเมืองอีกแล้ว
โดย: J.T IP: 125.26.80.222 วันที่: 2 มิถุนายน 2552 เวลา:0:48:15 น.
  
ผู้ที่ใช้คำว่า "ระบอบทักษิณ" คนแรกคือ เกษียร เตชะพีระ
และคำนี้ก็กลายมาเป็นคำสุดฮิต สุดดังในวงการเมืองบ้านเรา
โดย: iNk IP: 58.8.91.59 วันที่: 21 กันยายน 2552 เวลา:14:48:51 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เนื่อง มาจากเหตุ
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]