มีนาคม 2553
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
8 มีนาคม 2553
 

ทฤษฎีมนุษย์นิยมของ คาร์ล โรเจอร์ส


ทฤษฎีมนุษยนิยมของคาร์ โรเจอร์ส

ประวัติของผู้กำเนิดทฤษฎี
คาร์ โรเจอร์ส เกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1902 เป็นบุตรชายคนที่ 4 มีพี่น้อง 6 คน เกิดที่เมืองโอ็กปาร์ค (Ork Park) รัฐอิลินอยส์ (Illinois) ประเทศสหรัฐอเมริกา เขามาจากครอบครัวที่อบอุ่น มี ความรักใคร่ และใกล้ชิดกันระหว่างพ่อแม่พี่น้อง บิดามารดาของเขาเป็นผู้ที่มี ความสนใจทางการศึกษามาก และเป็นคนที่เคร่งครัดทางศาสนา จึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาของลูกๆ อย่างเต็มที่ พร้อมๆ กับการอบรมให้ลูกๆ ฝักใฝ่ในศาสนาด้วย และเนื่องจากบิดามารดา มี ความระมัดระวังไม่ให้ลูกๆ พบเห็น หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่พึงปรารถนา จึงได้ย้ายครอบครัวไปอยู่ที่ฟาร์ม ทางทิศตะวันตกของชิคาโก ทำให้โรเจอร์ส ได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นในชนบท ที่ถือว่าเป็นช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วย ความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย จากครอบครัว เขาชอบอ่านหนังสือมากและอ่านหนังสือทุกประเภท และมีผลการเรียนดีเด่นเสมอมา
คาร์ โรเจอร์ส สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ในสาขาประวัติศาสตร์ และปริญญาโทในสาขาศาสนาและจิตวิทยา และปริญญาเอกในสาขาดทางด้านจิตวิทยา ที่มหาวิทยาลัย โคลัมเบีย (Columbis University) ในปี ค.ศ. 1931 ในระหว่างเรียน เขาได้มีโอกาสได้ฝึกงานด้านคลีนิกเกี่ยวกับเด็ก ที่ใช้วิธีการบำบัดของจิตวิเคราะห์ และเมื่อเขาได้มีโอกาสทำจิตบำบัดครั้งแรก ก็พบว่า มี ความขัดแย้งกันระหว่างการบำบัดแบบจิตวิเคราะห์กับวิธีการศึกษาตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่เขาได้ศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกแล้ว ได้ทำงานเป็นนักจิตวิทยา ณ สถาบันการศึกษาเด็ก เพื่อป้องกันการทารุณกรรมแก่เด็ก ซึ่งเขาได้นำหลักการทางจิตวิทยาไปใช้ในการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาอย่างจริงจัง และประสบผลสำเร็จอย่างดี ตลอดมา เช่น เด็กเหลือขอ อาชญากรวัยรุ่น เด็กที่ด้อยโอกาส ฯลฯ
ในระหว่างปี ค.ศ. 1940 –1945 โรเจอร์ส ได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยา และสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอ (Ohio State University)และในระหว่างปี ค.ศ.1945 – 1957 ได้ย้ายไปสอน ณ มหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) และในช่วงเวลาดังกล่าวโรเจอร์ได้ผลิตผลงานต่างๆ อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีการให้คำปรึกษาเน้นบุคคลเป็นศูนย์กลาง (Person-Centered Counseling) ในระหว่างปี ค.ศ. 1957 – 1963 ได้ย้ายไปสอน ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (University of Wisconsin) จากนั้น ได้ย้ายไปทำงานที่ศูนย์การศึกษาระดับสูงทางด้านทางพฤติกรรมศาสตร์ ที่แสตนฟอร์ด (Standford) และในปี ค.ศ. 1963 ได้ย้ายไปทำงานศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับบุคคล (Center for Studies of the Person) ที่แคลิฟอร์เนีย ซึ่งเขาได้นำหลักการทางจิตวิทยามาใช้เพื่อพัฒนาบุคคลในวงการต่าง เช่น แพทย์การศึกษา อุตสาหกรรม รวมทั้งประชาชนโดยทั่วไป ให้เกิดการพัฒนาบุคลิกภาพที่สมบูรณ์ เขาได้ใช้ชีวิตที่นั่นจนเสียชีวิตเมื่อ ปี ค.ศ. 1986 โรเจอร์ส มีผลงานต่างๆ และได้รับรางวัลทางวิจาการต่างๆ มากมาย ตลอดเวลาที่ผ่านมา เขาได้รับตำแหน่งที่สำคัญๆ ในทางจิตวิทยาอย่างมากมายเช่นเดียวกัน เช่น ประธานสมาคมจิตวิทยาแห่งอเมริกา (American Psychological Association) นอกจากนี้ เขายังได้เขียนบท ความและหนังสือเกี่ยวกับการแนะแนว และจิตบำบัด และบุคลิกภาพไว้มากมายหลายสิบเรื่อง โรเจอร์สได้ชื่อว่า เป็นนักจิตวิทยามานุษยนิยมที่สำคัญ และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายอีกท่านหนึ่ง เขาได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้ที่ยกระดับวิชาชีพจิตวิทยาให้ได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากมหาชน โดยพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ว่า นักจิตวิทยาที่รู้จริง ปฏิบัติจริง ย่อมเป็นผู้ที่มี ความสุข และ ความสำเร็จในชีวิต ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่จะช่วยเหลือผู้ที่มี ความทุกข์ร้อนทางด้านจิตใจ และมีปัญหาทางบุคลิกภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่ได้เคยรู้จักกับโรเจอร์ส ต่างก็ยกย่องว่า โรเจอร์สว่า เขาเป็นผู้ที่มีจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วย ความรัก ความเมตตา ต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคนอย่างบริสุทธิ์ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับบุคคลที่ตกอยู่ในห้วงแห่ง ความทุกข์โศก ความสับสนและ ความเดือดเนื้อร้อนใจ ไม่ว่าเด็กและผู้ใหญ่ แม้เพียงได้อยู่ใกล้ๆ ก็ทำให้เขาเหล่านั้น มี ความสบายใจและอบอุ่นใจได้เสมอ ทั้งนี้ เพราะเห็นพลัง ความรักและ ความปรารถนาที่มีต่อเพื่อนมนุษย์และ ความเชื่อของเขาที่มีอยู่ในจิตสำนึกว่า ความทุกข์ของมนุษย์ย่อมมีหนทางแก้ไขได้เสมอ


แนวคิดที่สำคัญ
แนวคิดที่สำคัญโรเจอร์สเชื่อว่า มนุษย์มีธรรมชาติที่ดีมีแรงจูงใจในด้านบวก เป็นผู้ที่มีเหตุผล (Rational) เป็นผู้ที่สามารถได้รับการขัดเกลา (Socialized) สามารถตัดสินใจเลือกวิถีชีวิตของตนเองได้ ถ้ามีอิสระเพียงพอ และมีบรรยากาศที่เอื้ออำนวย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ (Full Potential) และพัฒนาไปสู่ทิศทางที่เหมาะสมกับ ความสามารถของแต่ละบุคคล อันจะนำไปสู่การตระหนักรู้ในตนเองอย่างแท้จริง (Self-Actualization)

โครงสร้างทางบุคลิกภาพ
โครงสร้างบุคลิกภาพของโรเจอร์สประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนคือ
1. อินทรีย์ (The organism) หมายถึง ทั้งหมดที่เป็นตัวบุคคล รวมถึงส่วนทางร่างกาย หรือทางสรีระของบุคคล (Physical Being) ที่ประกอบด้วย ความคิด ความรู้สึกที่แสดงปฏิกิริยาตอบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นการแสดงพฤติกรรมทั้งหมดของบุคคล โดยแสดงพฤติกรรมเพื่อตอบสนอง ความต้องการ (Needs) ที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล และทำให้มนุษย์ มีแรงจูงใจที่จะพัฒนาตนเองไปสู่การรู้จักตนเองอย่างแท้จริง (Self-Actualization) นอกจากนี้ มนุษย์จะแสดงพฤติกรรมโดยการนำเอาประสบการณ์เดิมบางอย่างที่เขาให้ ความหมาย หรือให้ ความสำคัญต่อกับประสบการณ์เดิมบางอย่าง ที่เกิดจากการเรียนรู้ และนำเอาประสบการณ์เหล่านี้มาเป็นสัญลักษณ์ในจิตสำนึกของเขา (Symbolized in the Consciousness) โดยปฏิเสธประสบการณ์บางอย่างดังนั้นผู้ที่มี ความสามารถรับรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ ความหมายของประสบการณ์ที่ถูกต้องกับ ความเป็นจริงมากที่สุด จะเป็นผู้ที่สามารถพัฒนาได้ตามปกติ (Normal Development)
2. ประสบการณ์ทั้งหมดของบุคคล (Phenomenology Field) ที่เป็นสิ่งที่บุคคลจะรู้เฉพาะตนเท่านั้น และประสบการณ์ของบุคคลนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มพูนอยู่ตลอดเวลา โรเจอร์สอธิบายว่ามนุษย์อยู่ในโลกของการเปลี่ยนแปลง ที่มีตนเองเป็นศูนย์กลางเป็นประสบการณ์ที่อาจเกิดจากสิ่งเร้าภายนอกและสิ่งเร้าภายในตัวบุคคล สามารถแบ่งออกเป็นประสบการณ์ทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับจิตสำนึก และจิตใต้สำนึกของบุคคล ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเขา ทั้งเป็นสิ่งที่สื่อสารได้ และทั้งที่สื่อสารไม่ได้ ซึ่งเป็นพลังกระตุ้นให้บุคคลแสดงพฤติกรรมต่างๆ เช่น เด็กร้องไห้เมื่อเห็นสุนัขอาจเกิดจาก เคยถูกสุนัขกัด หรืออาจเคยถูกข่มขู่ให้กลัวสุนัขจนฝังใจหรือประสบการณ์ที่อยู่ในจิตใต้สำนึกบางอย่าง บุคคลไม่สามารถสื่อสารออกมาได้ เพราะอาจถูกเก็บไว้และซ่อนอยู่ภายในจิตใจจนเจ้าตัวไม่สามารถเข้าใจได้ เป็นลักษณะของเงื่อนปมที่ฝังอยู่ภายในจิตใจ โดยทั่วไปแล้วบุคคลจะให้ ความหมาย และเลือกรับรู้เฉพาะประสบการณ์ที่สำคัญ โรเจอร์ส ให้ ความสำคัญต่อ ความสามารถในการสื่อสารประสบการณ์เฉพาะตนให้กับผู้อื่นสามารถรับรู้ และเข้าใจได้ จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การเข้าใจตนเองของบุคคล ในขณะที่ผู้ที่มี ความแปรปรวนทางอารมณ์และบุคลิกภาพ เกิดจาก ความไม่สามารถในการสื่อสารประสบการณ์เฉพาะตนอย่างเหมาะสมได้
3. ตัวตน ( The Self ) เป็นศูนย์กลางของบุคลิกภาพ ที่เป็นส่วนของการรับรู้ และค่านิยมเกี่ยวกับตัวเรา ตัวตนพัฒนามาจากกการที่อินทรีย์มีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม เป็นประสบการณ์เฉพาะตน ในการพัฒนาตัวตนของบุคคลนั้น บุคคลจะพบว่า มีบางส่วนที่คล้ายและบางส่วนที่แตกต่างไปจากผู้อื่น ตัวตนเป็นส่วนที่ทำให้พฤติกรรมของบุคคลมี ความคงเส้นคงวา (Consistency) และประสบการณ์ใดที่ช่วยยืนยัน ความคิดรวบยอดของตน (Self-concept) ที่บุคคลมีอยู่ บุคคลจะรับรู้ และผสมผสานประสบการณ์นั้นเข้ามาสู่ตนเองได้อย่างไม่มี ความคับข้องใจ แต่ประสบการณ์ที่ทำให้บุคคลรู้สึกว่าอัตมโนทัศน์ที่มีอยู่เบี่ยงเบนไปจะทำให้บุคคลเกิด ความคับข้องใจที่จะยอมรับประสบการณ์นั้น ความคิดรวบยอดของตนเป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะบุคคลจะต้องอยู่ในโลกแห่ง ความเปลี่ยนแปลงโดยมีตัวเอง (Self) เป็นศูนย์กลางในการแสดงพฤติกรรมต่างๆ
โรเจอร์ส อธิบายว่า “ตัวตน” ของบุคคลสามารถแบ่งออกเป็นลักษณะต่างๆ ได้แก่
มโนภาพแห่งตน หรือ ความคิดรวบยอดของตน หรือตัวตนตามที่มองเห็น (Self-Concept) เป็นส่วนที่ตนมองเห็นภาพของตนเอง ที่บุคคลมีการรับรู้และมองเห็นตนเองในหลายแง่หลายมุม เช่น “ฉันเป็นคนเก่ง” “ฉันเป็นคนสวย” “ฉันเป็นคนอาภัพ ด้อยวาสนา” “ฉันเป็นคนขี้อาย”เป็นต้น และสิ่งที่บุคคลมองเห็นตัวเองนี้อาจไม่ตรงกับที่ผู้อื่นมองเห็น หรือรับรู้ก็ได้ เช่น ผู้ที่เห็นแก่ตัวและชอบเอาเปรียบผู้อื่น หรือผู้ที่มี ความทะเยอทะยานสูง อาจไม่ทราบว่า ตนเป็นคนเช่นนั้น ตัวตนแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ตัวตนที่เป็นจริง กับตัวตนตามอุดมคติ
ตัวตนตามที่เป็นจริง (Real Self) เป็นลักษณะของบุคคลที่เป็นไปตาม ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งบุคคลอาจรู้ตัวหรือไม่ตัวก็ได้ เช่น “เป็นคนเรียนเก่ง” “เป็นคนสวย” “เป็นคนร่ำรวย” ฯลฯ และพบว่าบ่อยครั้งที่บุคคล จะมองไม่เห็นในส่วนที่เป็นตัวตนที่แท้จริงของตนเลย ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น แตงกวา มองเห็นว่าเธอเป็นคนเรียนเก่ง กว่าเพื่อนๆ ทั้งๆ ที่ใน ความเป็นจริงแล้ว เธอไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย เธอจึงทำตัวดูถูกเพื่อนๆ ที่เรียนไม่เก่ง และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอไม่ค่อยมีเพื่อนเท่าที่ควร เป็นต้น
ตัวตนตามอุดมคติ (Ideal Self) หมายถึง ภาพที่ตนเองอยากจะเป็น ซึ่งหมายถึง บุคคลยังไม่สามารถเป็นได้ในสภาวะปัจจุบันเช่น “น้องแดงอยากเป็นทั้งคนเก่งและคนสวยเหมือนพี่ปุ๋ย” เป็นต้น
โรเจอร์สได้อธิบายถึงการทำงานของตัวตนในบุคคลว่า ต้องสอดคล้องกันอย่างเหมาะสม กล่าวคือ มโนภาพแห่งตนของบุคคลจึงต้องมี ความสมเหตุสมผล ตรงกับ ความเป็นจริงและตรงจากประสบการณ์ การที่บุคคลมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม บุคคลที่มีมโนภาพแห่งตนอย่างไร ก็จะมีพฤติกรรมไปตามแนวทางของมโนภาพที่เขามีอยู่ ถ้าบุคคลมีประสบการณ์ที่ทำให้มโนภาพแห่งตนเดิมที่เขามี อยู่ไม่ตรงกับ ความเป็นจริง หรืออาจกล่าวได้ว่า ถ้ามโนภาพแห่งตน ขัดแย้งและไม่สอดคล้อง (Incongruence) กับตนตาม ความเป็นจริงมากเท่าไร บุคคลจะเกิดการป้องกันตนเอง เกิด ความวิตกกังวล และนำไปสู่ปัญหาทางอารมณ์ จิตใจ และบุคลิกภาพมากขึ้นเท่านั้น และนอกจากนี้ ผู้ที่มีมโนภาพแห่งตน สอดคล้องกับตนตาม ความเป็นจริงนั้น ก็มักจะพอใจและมองเห็นตนตามอุดมคติสอดคล้องกันไปด้วยเช่นกัน เพราะเขาจะมี ความรู้สึกพึงพอใจกับตัวตนที่แท้จริงของเขาเสมอ ไม่จำเป็นต้องสร้างภาพตนตามที่ต้องการเป็นขึ้นมา เพราะเขาจะไม่อยากจะเป็นใครอีกนอกจากเป็นตัวเองเท่านั้น จะเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดีไม่ป้องกันตนเอง ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปสู่การรู้จักตัวเองอย่างแท้จริง ยอมรับตนเอง สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับ ความเป็นจริง มีการรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล้าเปิดตนเองออกรับประสบการณ์ใหม่ๆ เลือกตัดสินใจด้วยตนเอง โดยไม่ขึ้นอยู่กับการยอมรับของผู้อื่นและสังคม ตลอดจนเข้าใจในค่านิยมของตนเอง ในขณะที่สามารถยืดหยุ่นต่อสภาพการณ์ต่างๆ โดยไม่ยึดติดอยู่ในค่านิยมของตนอย่างยึดติดเป็นต้น อันเป็นคุณลักษณะของผู้ที่มีบุคลิกภาพที่สมบูรณ์



โรเจอร์ส ได้อธิบายถึง กระบวนการพัฒนาการทางบุคลิกภาพว่า มีกระบวนการ 2 ประการดังนี้


1. กระบวนการพัฒนาการค่านิยม (Organizing Valuing Process) ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า โรเจอร์สเชื่อว่า บุคคลเกิดมา พร้อมพลัง หรือแรงจูงใจ ที่จะพัฒนาตนเองไปสู่สภาวะของการรู้จักตนเองอย่างแท้จริง และเนื่องจากบุคคลเกิดมาจาก สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจสิ่งแวดล้อมและโลกส่วนตัวของบุคคลด้วย(Internal Frame of Reference) ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่บุคคลจะเลือกรับรู้ และให้ ความหมายต่อประสบการณ์ต่างๆ เช่น เด็กที่ถูกนำไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ อาจเกิด ความกลัว ที่อาจเกิดมาจาก การรับรู้ โดยไม่จำเป็นต้องมาจากสภาพ ความเป็นจริงของสิ่งแวดล้อมเสมอไป และเมื่อเด็กมีประสบการณ์เพิ่มเติม ที่ทำให้เกิด ความเชื่อว่าสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่นั้น ไม่น่ากลัวอย่างที่เคยรับรู้ ทำให้เด็กมีการรับรู้ โดยไม่จำเป็นต้องมาจากสภาพ ความเป็นจริงของสิ่งแวดล้อมเสมอไป และเมื่อเด็กมีประสบการณ์เพิ่มเติม ที่ทำให้เกิด ความเชื่อว่า สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่นั้น ไม่น่ากลัวอย่างที่เคยรับรู้ ทำให้เด็กมีการรับรู้เปลี่ยนแปลงไป เป็นการรับรู้ใหม่ หากจะกล่าวโดยสรุป จะเห็นว่า การที่เด็กเกิดมาหากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่น ปลอดภัยเต็มไปด้วย ความรักเอาใจใส่ จะทำให้เด็กรับรู้และให้ค่านิยม ต่อประสบการณ์นั้น ไปทางบวก เด็กจะรับรู้ต่อสภาพแวดล้อม และให้ ความหมายของการรับรู้ตาม ความเป็นจริง ในทางตรงข้าม เด็กที่ได้รับสิ่งแวดล้อมทางลบ เขาก็จะให้ค่านิยมต่อประสบการณ์ในทางลบ สิ่งเหล่านี้ ถือว่าเป็นกระบวนการพัฒนาการทางค่านิยม ที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องมาจากประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นประสบการณ์ของบุคคล จะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาการทางค่านิยมของบุคคล


2. การยอมรับจากผู้อื่น (Positive Regard from others) จะเห็นได้ว่า ตัวตน (self) ของบุคคล จะเริ่มพัฒนาเมื่อบุคคล มีปฏิกิริยาสัมพันธ์ กับสิ่งแวดล้อม รอบตัวเขา เขาจะรับรู้ ความจริงของสภาพแวดล้อม และนำเอาประสบการณ์ต่าง มาให้ ความหมายต่อการรับรู้เรียกว่า ประสบการณ์แห่งตนเอง (Self-Experience) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนเอง กับบุคคลที่สำคัญที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมของเขา จะนำไปสู่การพัฒนา อัตมโนทัศน์ (Self-Concept) เพราะทำให้บุคคลรู้สึกถึง ความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
การพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคลจะเริ่มจาก ในช่วงแรกของชีวิต ทารกไม่สามารถแยกตนเองออกจากสิ่งแวดล้อม และนึกว่าเป็นตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม ทำให้เด็กติดพ่อแม่ และสิ่งแวดล้อมตนเองได้ และเริ่มเข้าใจตัวตนของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้ จะเป็นช่วงที่เด็กมุ่งแสวงหา ความต้องการ พึงพอใจเพื่อสนอง ความต้องการของตน เพราะเขาพึ่งตนเองไม่ได้ต้องพึ่งคนอื่น จึงเรียนรู้ที่จะเรียกร้อง ความสนใจและการยอมรับจากผู้อื่น เมื่อโตขึ้นเด็กจะเริ่มเรียนรู้ว่าพฤติกรรมบางอย่างทำให้ผู้อื่นตอบสนองเขาอย่างรักใคร่ บางอย่างอาจทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ ไม่ยอมรับและไม่ได้รับการตอบสนอง ปฏิกิริยาเหล่านี้ทำให้เด็กเลือกพฤติกรรมที่ทำให้คนอื่นพอใจ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ เด็กจึงเรียนรู้ที่จะรับค่านิยมของผู้อื่นมาไว้ในตนเอง ทำให้เกิดการประเมินตนเอง (Self-Evaluation) จากพฤติกรรมที่ผู้อื่นยอมรับ หรือไม่ยอมรับ เขามาเป็นเครื่องตัดสิน


3. การยอมรับตนเอง (Self-Regard) บุคคลจะเรียนรู้ที่จะยอมรับตนเองจากการที่เขารับรู้ว่าผู้อื่นแสดงการยอมรับในตัวเขาหรือไม่ อย่างไร โดยไม่คำนึงถึง ความต้องการของตนเอง แต่จะเอา ค่านิยมของผู้อื่นที่มีต่อตัวเขา เป็นเกณฑ์ในการประเมินพฤติกรรมของตนว่า ดีเลว ทำให้เขาแสดงพฤติกรรรมเพื่อให้สนอง ความต้องการของผู้อื่น และให้ผู้อื่นยอมรับมากกว่า การคำนึงถึง ความพึงพอใจของตน ทำให้เขารับเอา (Interject) ค่านิยมผู้อื่นเข้ามาไว้ในตนเอง


4. ภาวะของการมีคุณค่า (Conditions or Worth) เป็นลักษณะที่บุคคลรู้สึกว่าตน มีคุณค่า เพราะเขาสามารถยอมรับตนเองได้ โดยมโนภาพแห่งตนที่เขารับรู้สอดคล้องกับ ความเป็นจริง เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่ถ้ามโนภาพแห่งตนของเขาแตกต่างไปจาก ความจริง จะทำให้เขาเกิด ความวิตกกังวลและปฏิเสธ ไม่ยอมรับตนเองตาม ความเป็นจริง ทำให้เขามีพฤติกรรมไม่สมเหตุสมผล ไม่สามารถปรับตัวได้ หากบุคคลรับเอาค่านิยมของผู้อื่น หรือบรรทัดฐานของผู้อื่น และสังคมเข้าไว้ในตนเองมากเกินไป จะทำให้เขาไม่สามารถยอมรับตนเองได้ เกิด ความรู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า เกิด ความคับข้องใจขึ้น
จะเห็นได้ว่า การที่บุคคลจะมีพัฒนาการทางบุคลิกภาพได้อย่างเหมาะสมนั้น จะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เด็กได้รับโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเด็กได้รับ ความรักจากครอบครัวโดยปราศจากเงื่อนไข (Unconditional Positive Regard) จะทำให้เด็กเกิด ความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยซึ่งเป็น ความรู้สึกที่เป็นพื้นฐานของการมีบุคลิกภาพสมบูรณ์ ทั้งนี้เนื่องจากการยอมรับโดยปราศจากเงื่อนไข จะทำให้บุคคลเรียนรู้ถึงแม้ว่าพฤติกรรมบางอย่างของเขาจะไม่เป็นที่ยอมรับ แต่พ่อแม่ก็ยังให้ ความรักและยอมรับเขาอยู่เขาจะไม่เกิด ความรู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า และยังสามารถยอมรับตนเอง และสามารถมองตนเองในทางบวก (Positive Self-Regard) ได้และแม้ว่า เขาจะมีการตัดสินใจทำบางอย่างที่ผิดพลาด เขาก็ยังกล้าที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเอง ไปสู่การเปลี่ยนแปลงและแก้ไขได้ กล้าที่จะเผชิญกับประสบการณ์ใหม่ๆ สามารถใช้พลังที่มีอยู่ในตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กระบวนการพัฒนาค่านิยมและการยอมรับตนเองเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถรับรู้ และให้ ความหมายต่อประสบการณ์ต่างๆ ตาม ความเป็นจริง มี ความพอใจในตนเอง และสามารถพัฒนาตนเองให้อยู่อย่างมีประสิทธิภาพ (Fully Functioning Person)
ลักษณะของผู้ทีมีบุคลิกภาพที่สมบูรณ์ (Healthy Personality) ผู้ที่มีบุคลิกที่สมบูรณ์ในทัศนะของโรเจอร์ส จะมีลักษณะต่างๆ ได้แก่ เป็นผู้ที่มี ความสามารถปรับตัวได้ตาม ความเป็นจริง มี ความสอดคล้องระหว่างตัวตนกับประสบการณ์ สามารถเปิดตนเองออกรับประสบการณ์ใหม่ ๆ รับ ความต้องการที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก ได้ถูกต้องเข้าใจตนเอง สามารถเลือกและตัดสินใจตอบสนอง ความต้องการของตนเองได้ รับรู้เกี่ยวกับตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันเป็นตัวของตัวเองสามารถนำเอาประสบการณ์ต่างๆมาพัฒนาตนเอง เชื่อใน ความสามารถของตนเอง ตลอดจนรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง และไม่ตัดสินใจที่จะกระทำสิ่งต่าง ๆ โดยขึ้นอยู่กับการยอมรับหรือการไม่ยอมรับจากผู้อื่น





Create Date : 08 มีนาคม 2553
Last Update : 8 มีนาคม 2553 20:11:41 น. 2 comments
Counter : 71849 Pageviews.  
 
 
 
 
อ่านคร่าว ๆ แล้วชอบบทความนี้มาก ๆ ครับ ไว้จะมาอ่านอย่างละเอียดตอนที่ว่าง ๆ ... ตอนนี้ง่วงแระ (ฮ่าๆๆๆๆๆ)
 
 

โดย: มารน้อย กลอยใจ (dchmanee779 ) วันที่: 20 มีนาคม 2556 เวลา:1:34:25 น.  

 
 
 
 
 

โดย: สมาชิกหมายเลข 3841698 วันที่: 15 มิถุนายน 2560 เวลา:22:21:51 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

The wings สู้เพื่อฝัน
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




[Add The wings สู้เพื่อฝัน's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com