พฤศจิกายน 2557

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
6
7
8
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
เจาะลึก บทสรรเสริญ พระรัตนตรัย : พระพุทธคุณ
พอพูดถึง บทสรรเสริญพระรัตนตรัย  หลายๆคนอาจทำหน้าฉงน นึกไม่ออกว่าคือบทสวดไหน  แต่ถ้าบอกว่า บทอิติปิโส สวากขาโต สุปฏิปันโน  ผมเชื่อว่าจะต้องร้องอ๋อแน่ๆครับ  หลายๆคนท่องจำได้ขึ้นใจ หลายๆคนอาจจะสามารถสวดกลับไปกลับมาได้อย่างคล่องแคล่ว  แต่ถามว่า ทราบความหมายของบทสวดเหล่านี้มั้ยครับ  บทความนี้นอกจากจะระบุถึงคำแปลแล้วยังจะอธิบายความหมายของคำแปลนั้น ให้เข้าใจได้อย่างถ่องแท้ด้วยครับ

บทสรรเสริญพุทธคุณ

อิติปิ โส ภะคะวา
  = เพราะเหตุอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น

อะระหัง
  -- เป็นผู้ไกลจากกิเลส
  -- อรหํ = พระอรหันต์  ซึ่งเป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงสุด เป็นผู้ที่ตัดกิเลสได้อย่างเด็ดขาดแล้ว (เดี๋ยวจะกล่าวถึงในช่วงสรรเสริญสังฆคุณครับ)



สัมมาสัมพุทโธ
  = เป็นผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง
  -- สัมมา = ดี , โดยชอบ  ,  สัม = ตนเอง , พุทโธ = ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
  -- คำว่าพุทโธ นั้น  หมายถึง เป็นผู้รู้แจ้งในธรรมทั้งปวงทั้งธรรมอันนำในทางเจริญและธรรมอันนำในทางเสื่อม  เป็นผู้ตื่น คือ ตื่นจากความหลงมัวเมา จากความไม่รู้ (เปรียบการหลับใหลเป็นการอยู่ในภวังค์แห่งกิเลส)  เป็นผู้เบิกบานในธรรม คือ จิตสะอาด สว่าง สงบ ไม่มีจิตที่ขุ่นมัวจากกิเลส  เปรียบเหมือนดอกบัวบานรับแสงอาทิตย์ 

วิชชาจะระณะสัมปันโน
   = เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
   -- สัมปันโน = สมบูรณ์ , ถึงพร้อม

   -- วิชชา หมายถึง ความรู้ ซึ่งไม่ใช่ความรู้ทางโลกทั่วๆไปนะครับ  แต่หมายถึง ความรู้เท่าทันความเจริญและความเสื่อม รู้เท่าทันในสังสารวัฏ รู้เท่าทันกฎแห่งกรรม ซึ่งประกอบด้วย วิชชา 3 ได้แก่
        ก) บุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ญาณเป็นเครื่องหยั่งรู้ขันธ์ที่เคยอาศัยในกาลก่อน เรียกกันง่ายๆคือ หยั่งรู้อดีตชาติ
           บุพพะ แปลว่า แต่ก่อน กาลก่อน
           นิวาส แปลว่า อยู่อาศัย
           อนุสสติ แปลว่า รู้ ระลึกถึง
           ญาณ แปลว่า เครื่องหยั่งรู้ ความหยั่งรู้
         ข) จุตูปปาตญาณ คือ ญาณเป็นเครื่องหยั่งรู้การเกิดดับของสัตว์โลก หมายถึง รู้ว่าสัตว์ตายแล้วไปเกิดที่ไหนอย่างไรนั่นเอง
           จุติ แปลว่า ดับ (ตายจากภพนี้)
           อุปปาตะ แปลว่า อุบัติ , เกิด (เกิดในภพถัดไป)



         ค) อาสวักขยญาณ คือ ญาณเป็นเครื่องหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะ  นั่นคือ รู้ว่าตนเอง หรือ ผู้อื่นสิ้นกิเลสแล้ว
            อาสวะ หมายถึง สิ่งสกปรก ซึ่งก็คือ กิเลส
            ขย  แปลว่า ความสิ้นไป

   -- จรณะ  แปลว่า เส้นทางดำเนินไป หรือ ความประพฤติ  ในทางพุทธศาสนา หมายถึง ข้อปฏิบัติอันนำไปสู่การบรรลุวิชชา  ประกอบด้วย 15 ประการ คือ
       ก) สีลสังวร คือ ความสำรวมระวังมิให้ละเมิดศีล  
       ข) อปัณณกปฏิปทา แปลว่า การปฏิบัติในทางที่ไม่ผิด  อันได้แก่
            - อินทรียสังวร คือ สำรวมใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้ยินดียินร้าย อันจะก่อให้เกิดกิเลส ไม่ว่าจะชอบใจ หรือ ไม่ชอบใจ
            - โภชเนมัตตัญญุตา คือ การรู้จักประมาณในการกินอาหาร  (โภชนะ = อาหาร , มัตตะ = พอประมาณ , อัญญู = รู้ )
            - ชาคริยานุโยค คือ การประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่  เพื่อชำระกิเลส ไม่เห็นแก่การนอน (ชาคริย = การตื่น , โยคะ = ความเพียร)
        ค) ศรัทธา คือ ความเชื่อ ความเลื่อมใส  ซึ่งในทางศาสนา หมายถึงความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล ไม่งมงาย  ประกอบด้วย 4 ประการ คือ
             - กัมมสัทธา คือ เชื่อว่ากรรม (การกระทำ)มีจริง
             - วิปากสัทธา คือ เชื่อว่าผลของกรรม มีจริง
             - กัมมัสสกตาสัทธา คือ เชื่อว่าคนได้ดีได้ชั่วเพราะกรรม คือ เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
             - ตถาคตโพธิสัทธา คือ เชื่อในการตรัสรู้ของตถาคต (คือพระพุทธเจ้า)



         ง) หิริ คือ ความละอายต่อบาป   หมายถึง การละอายที่จะกระทำชั่ว ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
         จ) โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อบาป หมายถึง เกรงกลัวต่อผล (วิบาก)ที่เกิดจากกรรมชั่ว

          ทั้งหิริ และโอตตัปปะ เรียกว่าเป็น ธรรมคุ้มครองโลก  เพราะช่วยทำให้คนไม่กล้าทำชั่วนั่นเอง

         ฉ) พาหุสัจจะ คือ การได้ศึกษาเล่าเรียนมาก ได้ยินได้ฟังมาก (พหูสูต -- พหุ = มาก, สุตตะ = ฟัง)
         ช) วิริยารัมภา คือ การปรารภความเพียร   ซึ่งในทางศาสนา จะมองความเพียรประกอบด้วย 4 ประการ  (วิริยะ = ความเพียร , อารัมภะ = ปรารภ)
             - เพียรในการประกอบกรรมดี
             - เพียรในการรักษาความดีที่สร้างไว้
             - เพียรละความชั่ว
             - เพียรสำรวมระวังไม่ประกอบกรรมชั่วเพิ่ม
          ซ) สติ  คือ ความระลึกรู้   หมายถึง รู้ว่ากำลังทำอะไร ดีชั่วอย่างไร 
          ฌ) ปัญญา คือ ความรอบรู้  ความรู้ทั่ว  ซึ่งประกอบด้วย 3 ระดับ คือ
             - สุตตมยปัญญา คือ ความรอบรู้อันเกิดจากการได้ยินได้ฟัง  (สุตตะ = ฟัง)  ซึ่งในทางโลกเราทำเป็นประจำ เช่น  การได้ฟังข่าวสาร ฟังประชุมวิชาการ ฟังครูบาอาจารย์สอน 
             - จินตามยปัญญา คือ ความรอบรู้อันเกิดจากคิด ตรึกตรอง  ซึ่งจะระดับสูงกว่าสุตตมยปัญญา เนื่องจากได้ใช้กระบวนการคิดทบทวน จึงมีความละเอียด และมีเหตุมีผลมากกว่า
             - ภาวนามยปัญญา  คือ ความรอบรู้อันเกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา ซึ่งการบรรลุธรรมจำเป็นต้องใช้ปัญญาระดับนี้

             ตั้งแต่ข้อ ค ถึง ฌ จะเรียกรวมว่า "สัทธรรม 7"

          ญ) ปฐมฌาณ คือ ฌาณขั้นต้น เมื่อจิตนิ่งเป็นสมาธิถึงระดับอัปปนา ก็จะบังเกิดองค์แห่งฌาณ 5 อย่าง ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
              - วิตก ทำหน้าที่ ข่ม ถีนมิทธะ (ความง่วงเหงาหาวนอน)
              - วิจาร ทำหน้าที่ ข่ม วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
              - ปีติ ทำหน้าที่ ข่ม พยาปาทะ (ความโกรธเคือง พยาบาท)
              - สุข ทำหน้าที่ ข่ม อุทธัจจะกุกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ)
              - เอก้คคตา ทำหน้าที่ ข่ม กามฉันทะ (ความติดใจ เพลิดเพลินในรสกามคุณ 5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส)
ฎ) ทุติยฌาณ คือ ฌาณขั้นที่ 2 สามารถตัดวิตกออกได้
          ฏ) ตติยฌาณ คือ ฌาณขั้นที่ 3 สามารถตัดวิจารออกได้
          ฐ) จตุตถฌาณ คือ ฌาณขั้นที่ 4 สามารถตัดปีติ และ สุขออกได้ เหลือแต่ เอกัคคตา (ความมีอารมณ์เดียว) หากจะแสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ก็จะใช้จิตระดับนี้ เนื่องจากมีความสงบนิ่งมาก


สุคะโต
  = เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี  สำหรับพระพุทธองค์ คือ ไปสู่พระนิพพาน (คำว่า สุคติภพ ก็หมายถึง ภพภูมิที่ดี นั่นคือ โลกมนุษย์ สวรรค์ 6 ชั้น , รูปพรหม 16 และอรูปพรหม 4)

โลกะวิทู
  = เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
  -- วิทู = ผู้รู้แจ้ง
  -- โลกในที่นี้ หมายรวมทั้ง 3ภพ คือ
      ก) กามวจรภูมิ คือ ภพภูมิที่ข้องแวะกับกามคุณ (มนุษยโลก , สวรรค์ 6 , อบายภูมิ ได้แก่ นรกภูมิ,เปตภูมิ=เปรต, อสุรกาย, เดรัจฉาน)



      ข) รูปภพ ได้แก่ รูปพรหม 16 ชั้น ซึ่งการจะไปบังเกิดในภพภูมินี้จะต้องบรรลุรูปฌาณขั้น 1-4 และรักษาฌาณได้ตลอดจนสิ้นชีพ  พรหมชั้นนี้ไม่ข้องแวะกับกามคุณ และไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของรูปขันธ์
      ค) อรูปภพ  ได้แก่ อรูปพรหม 4 ชั้น  ซึ่งการจะไปบังเกิดในภพภูมินี้จะต้องบรรลุอรูปฌาณขั้น 1-4 และรักษาฌาณได้ตลอดจนสิ้นชีพ  พรหมชั้นนี้ไม่ข้องแวะกับกามคุณ แต่ปฏิเสธการมีอยู่ของรูปขันธ์

อะนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ
  = เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้ อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า (ยิ่งกว่าด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ(การหลุดพ้น)  วิมุตติญาณทัสสนะ(ความหยั่งรู้หยั่งเห็นในการหลุดพ้น)  )
  -- เป็นสารถีผู้ฝึกสอนได้อย่างเยี่ยมยอด ฉลาดในการใช้อุบายวิธีสอน โดยไม่ต้องใช้อาชญาลงโทษเหมือนการสอนสัตว์ทั่วๆไป ให้สามารถบรรลุผลที่พึงได้อย่างเต็มกำลังของตน



  -- อน = ไม่ , อุตตะระ (อุดร) = เหนือ ,ยิ่งกว่า , ปุริสทัมะ = บุรุษ (ทั้งสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ และอมนุษย์)ที่ควรฝึกได้ , สาระถิ = เป็นผู้ฝึกสอน

สัตถาเทวะมนุสสานัง
  = เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
  -- สัตถา = ครู , เทวะ = เทวดา , มนุสสา = มนุษย์ ,  _นัง = เป็นคำแสดงว่าเป็นพหูพจน์




พุทโธ
  = เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม

ภะคะวาติ.
  = เป็นผู้มีความเจริญจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้
  -- ภควา มีความหมาย 3 ทาง คือ 
         ก) โชคดี ในที่นี้หมายถึง พระองค์ทรงมีโชคในพระชนมชีพ คือ ประสูติดี อยู่ในตระกูลดี
         ข) จำแนก ในที่นี้หมายถึง ทรงจำแนกธรรมออกเป็นหมวดต่างๆ เช่น อริยสัจ 4  อิทธิบาท 4 เป็นต้น
         ค) เป็นผู้หวังความเจริญพึงคบ






ครั้งนี้จบที่ บทสรรเสริญพุทธคุณก่อนนะครับ เนื่องจากเนื้อหามาก และขยายความได้เยอะครับ  บทความต่อไปค่อยเป็นบทสรรเสริญธรรมคุณ และสังฆคุณต่อครับ



Create Date : 05 พฤศจิกายน 2557
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2557 13:26:01 น.
Counter : 4306 Pageviews.

1 comments
  
ถามหน่อยว่าเขามีจริงหรือป่าว
โดย: .... IP: 223.204.168.89 วันที่: 7 มิถุนายน 2558 เวลา:12:45:51 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ระเบิดเด่น
Location :
นครราชสีมา  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]



ผมเป็นศัลยแพทย์ รพ.นครราชสีมา ครับ เรียกผมว่า "หมอบีม" ก็ได้ครับ
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ความรู้เรื่องของสุขภาพ โรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคทางศัลยกรรม (เนื่องจากผมเป็นศัลยแพทย์) โดยผมจะเน้นให้ความรู้อย่างกว้างๆเพื่อให้ทราบสาเหตุของโรค และวิธีการรักษาโรค อาจจะไม่ลงลึกนักนะครับ อยากเน้นให้ทราบวิธีปฏิบัติตัวมากกว่า หากต้องการถามคำถาม ให้ฝากคำถามไว้ใน "ฝากข้อความหลังไมค์" นะครับ ผมจะตอบให้ครับ รบกวนอย่าถามไว้ในกระทู้ หรือ blog แต่ละเรื่องนะครับ เพราะผมอาจจะไม่ได้เข้าไปอ่านนะครับ ส่วน "blog ธรรมจรรโลงใจ" นั้น เพิ่มเข้ามาเผื่อผู้สนใจเกี่ยวกับธรรมะครับ ถ้าอยากจะแสดงความเห็น ก็ลงในความคิดเห็น หรือ จะส่งข้อความหลังไมค์ก็ได้ครับ ยินดีครับ