พฤศจิกายน 2557

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
10 พฤศจิกายน 2557
โรคพิษสุนัขบ้า

การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

หลังจากหัวหมุน หัวฟู กับการรับมือ HA ที่โรงพยาบาล  ตอนนี้ว่างจากงานแล้ว  จึงได้มาลงบทความเพิ่มเติมนะครับ

มีใครเคยถูกสุนัขกัดบ้างครับ ?  คุณทำอย่างไรหลังจากถูกกัด ?


ไล่เตะสุนัขไง  Smiley   ......เอ๊ย...ไม่ใช่ ไม่ใช่.........Smiley     หลายคนอาจจะตอบอย่างมั่นใจว่า ล้างแผล แล้วไปหาหมอ  ให้ฉีดวัคซีนกันพิษสุนัขบ้า   


โอเคครับ   แล้วถ้าเกิดเป็น แมวกัด  ลิงกัด หนูกัด หรือ แม้แต่ค้างคาวกัด   ถามว่าต้องทำเหมือนกันมั้ยครับ ?

หลายคนน่าจะเริ่มลังเลแล้วว่าจะต้องฉีดวัคซีนมั้ย


แล้วถ้าแค่หมา แมวข่วน เฉยๆ จะต้องฉีดวัคซีนมั้ย ?

นั่นสินะ.... ต้องฉีดมั้ยเนี่ย


นี่แหละครับ เนื้อหาที่เราจะพูดกันในบทความนี้

โรคพิษสุนัขบ้า คืออะไร ?

คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Rabies virus และ rabies-related virus ครับ อยู่ในวงศ์ Lyssavirus (ซึ่งคำว่า Lyssa มาจากภาษากรีก แปลว่า บ้า)   ซึ่งมันจะอยู่ในสารคัดหลั่งของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทุกชนิดทั่วโลก ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า  โดยเฉพาะสัตว์กินเนื้อ   โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์จะแพร่โรคระหว่างกันได้ผ่านการกัด  การปนเปื้อนน้ำลายที่มีเชื้อไวรัสดังกล่าวสู่เยื่อบุ (เช่น ตา , ช่องปาก)  หรือสู่ผิวหนังที่มีบาดแผล   และแพร่ผ่านรก


ทั้งนี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแต่ละชนิดก็มีความสามารถในการติดเชื้อไม่เท่ากัน  โดยที่ สุนัขจิ้งจอก หมาป่า หมาไน จะสามารถติดเชื้อง่ายที่สุด  ส่วน สุนัขและแมวบ้าน ซึ่งมักนำโรคมาสู่คนได้บ่อย กลับติดเชื้อโรคได้ปานกลาง   ส่วนค้างคาว นอกจากเชื้อ rabies virus แล้วยังจะมีโอกาสติดเชื้อกลุ่ม raies-related virus ได้หลายสายพันธุ์ ซึ่งในปัจจุบัน เรามีวัคซีนป้องกันเพียงกลุ่ม rabies virus เท่านั้น  แต่เนื่องจากกลุ่มนี้ยังพบได้น้อยในคน จึงอาจจะยังไม่เป็นปัญหามากนัก

ในเมืองไทย หลังจากที่การควบคุมโรคในสัตว์ดีขึ้น รวมถึง วัคซีนป้องกันในคนก็พัฒนาจนได้ผลดี แต่ผลข้างเคียงน้อย  และมีการให้วัคซีนหลังสัมผัสโรคได้อย่างทั่วถึง จึงทำให้อุบัติการณ์การเป็นโรคในคนไทยพบน้อยลงมากชัดเจน  โดยร้อยละ 90 ของผู้ป่วยเป็นผู้ที่ไม่ได้ไปรับการรักษาจากบุคลากรทางการแพทย์  เนื่องจากคิดว่าเป็นเพียงลูกสุนัข หรือ สุนัขเคยฉีดวัคซีนมาก่อน หรือรักษาไม่ถูกต้อง   ดังนั้นหากได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ก็จะส่งผลให้ลดโอกาสการติดโรคได้อย่างมากเลยทีเดียว

โรคนี้มีอาการยังไง ?

เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะไปเข้าทางเส้นประสาทที่อยู่ใกล้ๆบาดแผล แล้วไปสู่ระบบประสาทส่วนกลาง  ดังนั้นอาการแสดงของโรค มักเป็นการอักเสบของสมองและเยื่อหุ้มสมอง   โดยในระยะ 2-3 วันแรก ผู้ป่วยจะปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ คันหรือปวดบริเวณรอยที่ถูกกัด ทั้ง ๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว

ต่อมาจะหงุดหงิด กระสับกระส่าย ตื่นเต้นไวต่อสิ่งเร้ารอบกาย ไม่ชอบแสง ลม มีน้ำลายไหล กล้ามเนื้อคอกระตุก เกร็งขณะพยายามกลืนอาหารหรือน้ำ ทำให้เกิดอาการ "กลัวน้ำ" (การกลัวน้ำที่ว่านี้ คือ กลัวว่าถ้ากินน้ำแล้วจะมีอาการเกร็ง)  ต่อมาจะเริ่ม เพ้อคลั่ง สลับกับอาการสงบ ชัก ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นอัมพาต  โดยมีอาการแขนขาอ่อนแรง หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด เนื่องจากส่วนที่สำคัญของสมองถูกทำลายไปหมด   โดยเฉลี่ยจะเสียชีวิตภายใน 13 วัน


ในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายได้  ได้เพียงรักษาตามอาการ และประคับประคองเท่านั้น คนไข้จึงมักจะเสียชีวิต   ดังนั้น การป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด 

จากสถิติที่เก็บจากสถานเสาวภา และ โรงพยาบาลศิริราช ได้ผลไปในทางเดียวกันว่า ส่วนใหญ่กลุ่มคนที่ถูกกัดคือ เด็ก และตำแหน่งที่ถูกกัดมักจะเป็นบริเวณศีรษะและใบหน้า รองลงมาเป็นมือ และเท้า  ซึ่งล้วนแต่เป็นตำแหน่งที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยงมาก เสี่ยงต่อการติดเชื้อพิษสุนัขบ้า  โดยมีการทำสถิติประมาณการเสี่ยงติดเชื้อในแต่ละตำแหน่งของร่างกายหากถูกกัด พบว่า  50-80% สำหรับบริเวณศีรษะ และใบหน้า  , 15-40% สำหรับบริเวณมือและแขน , 3-10% สำหรับขา , 0.1-1% สำหรับการถูกข่วน หรือน้ำลายถูกบาดแผล  และโอกาสเกิดโรคยังต่ำมากในกรณีที่เป็นบาดแผลที่ไม่มีเลือดออก หรือออกแค่ซิบๆ  แต่ต้องบอกก่อนนะครับว่า นี้เป็นเพียงการประมาณการ สำหรับเชื้อพิษสุนัขบ้าทั่วๆไป  แต่ในบางสายพันธุ์ที่มักพบในสัตว์อื่นๆ เช่น สัตว์ป่า หรือ ค้างคาว  แม้ถูกข่วนก็ยังติดเชื้อได้เช่นกัน   แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังไม่มีหลักฐานการติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางน้ำลาย หรือ จากมารดาสู่ทารก  โดยสังเกตได้จากไม่พบรายงานการติดเชื้อของญาติที่ดูแลผู้ป่วยพิษสุนัขบ้า แม้จะอยู่ในประเทศที่มีผู้ป่วยพิษสุนัขบ้าจำนวนมาก   


อย่างไรก็ตาม มีการรายงานผู้ติดเชื้อจากการหายใจรับเชื้อไวรัสเข้าไปในกลุ่มเจ้าหน้าที่ห้องแล็ปที่ตรวจเชื้อพิษสุนัขบ้า และ คนงานในถ้ำ  นั่นหมายถึงว่าต้องมีความเข้มข้นของเชื้อในอากาศมากพอควร  ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโรคนี้จึงต้องป้องกันตนเอง เพื่อไม่ให้สัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย และสูดหายใจรับเชื้อเข้าไป


งั้นถูกกัดนานแค่ไหน ถึงจะเกิดโรคได้ ?

เชื้อจะใช้เวลาฟักตัวได้ตั้งแต่ 7วัน ถึง 6ปี  ครับ 6ปีครับ พิมพ์ไม่ผิด  นั่นหมายความว่า มีโอกาสที่เชื้ออาจจะก่อโรคได้นานกว่า 1-6ปี เลยทีเดียว  เพียงแต่ว่า ส่วนใหญ่จะเกิดอาการภายใน 20-60วัน โดยที่  88% จะเกิดภายใน 3 เดือน  และ 96-98%จะเกิดภายใน 1 ปี  มีเพียง 1-7%ที่จะเกิดนานกว่า 1ปี


กึ๋ย...ย.....แล้วถ้าเป็นโรคแล้วมีใครรอดบ้างมั้ยครับ ?

หุหุหุ  ณ ตอนนี้ ที่มีรายงานมา มีน้อยกว่า 10คนทั่วโลกที่รอด ซึ่งทั้งหมดที่รอดล้วนแล้วแต่ได้รับการฉีดวัคซีนหลังสัมผัสโรค(ก่อนมีอาการ)  โดยคนที่เสียชีวิต 45% ตายใน 20วัน  , 71%ตายใน 28วัน หลังถูกสัตว์กัด   ดังนั้น อย่าไปหวังการรอดกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเลยครับ


อั้ย..หย่ะ....น่ากลัวเจงๆ  แล้วเราจะป้องกันการติดเชื้อยังไงดีครับ ?

มีอยู่ 3 ข้อหลักๆครับ

1. การดูแลบาดแผล

2. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

3. การฉีดเซรุ่ม (อิมมูโนโกลบุลิน)


การดูแลบาดแผล

เมื่อถูกกัด ข่วน หรือ ถูกเลียบริเวณที่เป็นแผลเดิม  ควรล้างด้วยน้ำสะอาด โดยเปิดให้น้ำไหลผ่านร่วมกับล้างด้วยสบู่ นานอย่างน้อย 15 นาที  ล้างทุกแผลที่สัมผัสเชื้อ และให้ลึกถึงก้นแผลเลยครับ หากมีสิ่งแปลกปลอมให้เอาออกด้วย  แล้วใส่น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดน-ไอโอดีน (ที่รู้จักกัน ก็คือ เบตาดีน นั่นเองครับ แต่จะเอายี่ห้อไหนก็ได้ครับ) ถ้าไม่มีก็เอาแอลกอฮอล์ หรือ ทิงเจอร์ไอโอดีน ก็ได้  แต่มัน"แสบบบบบบ" มว๊ากกก !!! นะขอบอก


ถ้าเป็นแผลเปิด  แพทย์มักจะไม่เย็บแผลให้ครับ เพราะเนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งจากไวรัสพิษสุนัขบ้าเอง และ เชื้อ Pasteurella spp.ในน้ำลายสัตว์  เว้นแต่ แผลบริเวณใบหน้า หรือ ต้องเย็บเพื่อห้ามเลือด  ซึ่งถ้าต้องเย็บ ก็จำเป็นต้องฉีดเซรุ่มรอบๆแผลก่อนเย็บ   ส่วนแผลที่เปิดไว้ ก็จะให้ทำแผลต่ออีก 2-3 วัน หากแผลสะอาดดี ไม่มีติดเชื้อซ้ำซ้อน ก็จะเย็บปิด

ถ้าเป็นแค่แผลถลอก ข่วนเล็กน้อย คงไม่ต้องให้ยาฆ่าเชื้อ (ปฏิชีวนะ) รับประทาน  แต่ถ้าเป็นแผลเปิด ลึก มีเนื้อตาย หรือชอกช้ำเยอะ หรือ แผลถูกแมวกัด หรือ มีภูมิต้านทานต่ำ (เช่น โรคเอดส์ ตับแข็ง เบาหวาน เคยถูกตัดม้ามมาก่อน หรือได้ยากดภูมิต้านทาน) อย่างนี้ก็จะให้ยาฆ่าเชื้อรับประทานร่วมด้วย

นอกจากนี้ หากใครไม่เคยฉีดวัคซีนกันบาดทะยัก หรือเคยฉีดนานเกิน 5 ปี (สำหรับแผลถูกกัดซึ่งสกปรกแบบนี้  เอาแค่ 5ปีครับ  ) ก็จะต้องฉีดวัคซีน และ / หรือ เซรุ่มป้องกันโรคบาดทะยักด้วย  นั่นหมายถึงว่า วันแรกที่มาตรวจ คงจะต้องฉีดกันหลายเข็มหน่อย แต่ก็เพื่อความปลอดภัยนะครับ


การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า และ เซรุ่ม (อิมมูโนโกลบุลิน)

ก่อนจะพูดว่าใครต้องฉีดบ้าง ขออธิบายวัคซีน กับ เซรุ่มให้เข้าใจคร่าวๆก่อนครับ

วัคซีน (Vaccine)
คือ การเอาเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้ามาเพาะเลี้ยง ซึ่งสมัยก่อนใช้เซลล์สมองสัตว์มาเป็นตัวกลาง แต่พบว่าได้ผลป้องกันไม่ดี จึงพัฒนามาใช้เซลล์เพาะเลี้ยง เช่น ไข่เป็ด ไข่ไก่ หรือเซลล์มนุษย์ แทน ซึ่งได้ผลป้องกันที่ดีกว่า   ดังนั้นการฉีดวัคซีน คือการฉีดเชื้อเข้าไป แต่เป็นเชื้อที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ก่อน เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานได้เอง แต่ต้องใช้เวลาครับ ไม่ได้ออกฤทธิ์ป้องกันได้ทันที

เซรุ่ม หรือ อิมมูโนโกลบุลิน (Serum / Immunoglobulin) คือ การฉีดวัคซีนเข้าไปในตัวสัตว์ (ปัจจุบันใช้ ม้า) หรือ คน  เพื่อให้เกิดภูมิต้านทาน แล้วเจาะเลือดออกมาสกัดแยกเฉพาะภูมิต้านทานออกมา ทำให้บริสุทธิ์  แล้วจึงนำมาฉีดในผู้ป่วย  ซึ่งจะออกฤทธิ์โดยไปจับกับเชื้อโรคได้ทันที จึงเหมาะกับการฉีดในรายที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเดี๋ยวจะกล่าวต่อไป



     แต่แน่นอนครับว่า เนื่องจากเอาน้ำเลือดของสัตว์ มาฉีดใส่คน ก็ย่อมมีโอกาสแพ้ ได้  ซึ่งเซรุ่มจากม้า จะมีโอกาสแพ้ได้มากครับ โดยถ้าเป็นของสภากาชาด ซึ่งมีการทำให้บริสุทธิ์แล้ว จะมีโอกาสแพ้อยู่ที่ 1.6-6.9% ครับ  ซึ่งจำเป็นต้องทำการฉีดเซรุ่มเพื่อทดสอบการแพ้ ก่อนฉีดจริงครับ ซึ่งถ้าแพ้ ก็ต้องเปลี่ยนมาฉีดด้วยเซรุ่มจากคน (ซึ่งราคาแพงกว่า) การทดสอบการแพ้นั้น จะช่วยทดสอบว่าจะแพ้เซรุ่มแบบรุนแรงหรือไม่เท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยทดสอบว่าจะมีผลข้างเคียงแบบไม่รุนแรง (เช่น มีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามตัวตามข้อ ผื่นขึ้นที่ตำแหน่งฉีด ) หรือไม่

การพิจารณาฉีดวัคซีน และ / หรือ เซรุ่ม


ไม่ใช่จะต้องฉีดวัคซีนกันทุกรายนะครับ  ต้องดูตามความรุนแรงของแผล ซึ่งจะสะท้อนถึงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อครับ ซึ่ง WHO ได้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มครับ

กลุ่ม 1 คือ  ให้อาหาร  จับต้องตัวสัตว์  ถูกเลียที่ผิวหนังปกติ
     - กลุ่มนี้ ไม่ต้องฉีดยาครับ   ส่วนถ้าใครเสี่ยงจะต้องสัมผัสโรคเป็นประจำ เช่น เลี้ยงสุนัข หรือ สัตวแพทย์  ก็อาจต้องฉีดวัคซีนป้องกันแบบก่อนสัมผัสโรค แทนครับ

กลุ่ม 2 คือ  บาดแผลถูกงับเป็นรอยช้ำบนผิวหนัง โดยไม่มีเลือดออก ,  แผลถูกข่วน หรือเป็นรอยถลอกที่ไม่มีเลือดออก หรือ เลือดออกซิบๆเท่านั้น ,  ถูกสัตว์เลียบนผิวหนังที่มีแผลเก่าซึ่งยังไม่หาย
     - กลุ่มนี้ ต้องฉีดวัคซีนป้องกัน (แต่ไม่ต้องฉีดเซรุ่ม)

กลุ่ม 3 คือ  บาดแผลถูกกัด ข่วน แล้วมีเลือดออกชัดเจน , เยื่อบุต่างๆ เช่น ตา ปาก สัมผัสกับน้ำลายสัตว์ , ถูกเลียบนผิวหนังที่มีแผลสดใหม่  กินเนื้อสัตว์ที่เป็นโรคที่ปรุงไม่สุก  การดื่มนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์จากวัวที่เป็นโรค  สัมผัสโรคจากค้างคาว 
      - กลุ่มนี้ ต้องฉีดทั้งวัคซีนป้องกัน และเซรุ่ม

หลักการในการพิจารณา
1. ประเมินจากบาดแผลว่าอยู่ในกลุ่มใด  ถ้าเป็นกลุ่มที่ 1 ก็ไม่ต้องฉีดยา หรือแม้แต่รักษา (เพราะไม่มีบาดแผลอะไร)  แต่อาจพิจารณาให้วัคซีนเพื่อป้องกันก่อนสัมผัสโรค ในกลุ่มคนที่เสี่ยงที่จะถูกกัดซ้ำ
2. หากแผลเป็นกลุ่มที่ 2 หรือ 3  และสัตว์ที่กัดเป็นสัตว์อื่นๆที่ไม่ใช่สุนัข / แมว หรือ สัตว์นั้นหนีไปไม่สามารถสังเกตอาการได้ ก็ต้องฉีดวัคซีน + เซรุ่ม (ขึ้นกับว่าแผลจัดอยู่ในกลุ่มไหน) 
แต่ถ้าเป็นสุนัข /แมว และสามารถสังเกตอาการสัตว์ได้ ก็ต้องมาพิจารณาปัจจัย 3 ข้อ ดังนี้ คือ
    2.1) สุนัขหรือแมวนั้น เลี้ยงดูอย่างดี มีโอกาสสัมผัสโรคน้อย โดยเฉพาะ ไม่ได้พาออกนอกบ้านไปเจอสุนัขหรือแมวอื่นเลย
    2.2) สัตว์ได้รับวัคซีนต่อเนื่องอย่างดี อย่างน้อย 2 ปีที่ผ่านมา (ติดต่อกัน)
    2.3) การกัดมีสาเหตุ หรือเหตุจูงใจ เช่น แหย่สัตว์ ทำร้ายสัตว์
   หากมีครบทั้ง 3 ปัจจัย ก็สามารถเลือกที่จะยังไม่ฉีดวัคซีน  แต่ต้องสังเกตอาการสุนัขหรือแมวนั้นอย่างน้อย 10-14 วัน โดยให้ขังสัตว์ไว้ในกรง ไม่ให้ออกไปสัมผัสโรคเพิ่ม หรือ หนีหายไป  แต่ยังคงให้อาหารตามปกติ    หากสัตว์ไม่ป่วย ไม่ตาย ไม่หนีหลังจาก 10-14 วันไปแล้ว ก็ถือว่าปลอดภัย  แต่หากสัตว์ป่วยตาย ให้ส่งสัตว์ตรวจที่สถานเสาวภา และให้เริ่มฉีดวัคซีน + เซรุ่มในทันที
    แต่หากไม่ครบทั้ง 3 ข้อ พิจารณาฉีดวัคซีน+ เซรุ่ม และอาจหยุดการรักษาเมื่อครบ 10-14 วัน หลังกัดแล้วสัตว์ไม่ตาย

การฉีดวัคซีนมีอยู่ 4 สูตร แต่ในประเทศไทย นิยม 2 สูตร คือ
1. การฉีดเข้ากล้ามแบบวิธีมาตรฐาน
    ฉีดเข้ากล้ามบริเวณหัวไหล่ในผู้ใหญ่ หรือ บริเวณต้นขาในเด็กเล็ก (แต่จะไม่ฉีดที่ก้น เพราะจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่ดี และมักจะเป็นตำแหน่งที่ฉีดเซรุ่ม ซึ่งไม่ควรฉีดตำแหน่งเดียวกัน) ปริมาณ 0.5-1 มล.ต่อครั้ง (แล้วแต่ชนิดของวัคซีน)  โดยจะฉีดทั้งหมด (1 คอร์ส) 5 ครั้ง ในวันที่ 0 (วันที่มาพบแพทย์ครั้งแรก) , 3 , 7 , 14 , 28หรือ 30
    วิธีนี้จะทำให้ภูมิต้านทานขึ้นได้เพียงพอที่จะป้องกันโรคในวันที่ 14 หลังการฉีดครั้งแรก และสามารถคุ้มกันได้นาน 1 ปี  แต่หากเป็นผู้ป่วยที่ภูมิต้านทานบกพร่อง อาจจะได้ระดับไม่ดีเท่าคนภูมิปกติ 
    วิธีมีข้อเสีย คือ ต้องใช้ปริมาณยาที่เยอะ (2.5-5 มล.ต่อ 1 คอร์ส) จึงมีค่าใช้จ่ายสูง  จึงมีการศึกษาพบว่า ไม่พบผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคหากได้รับวัคซีนอย่างน้อย 4 เข็ม  และระดับภูมิต้านทานก็สูงเพียงพอตั้งแต่วันที่ 14 หลังฉีดครั้งแรก  ทาง WHO จึงมีการแนะนำให้ใช้สูตรฉีดเพียง 4 เข็ม (คือ วันที่ 0 , 3, 7 , 14) เป็นวิธีทางเลือก  แต่จะใช้ได้กับคนที่มีภูมิต้านทานปกติ และร่างกายแข็งแรงเท่านั้น



2. การฉีดเข้าชั้นผิวหนัง
    จริงๆแล้วมีอยู่ 2-3 สูตร  แต่ที่นิยมใช้กัน คือ สูตรของสภากาชาดไทย ซึ่งมีแบบดั้งเดิม และแบบปรับปรุง คือ
    2.1 แบบดั้งเดิม : ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง 2 ตำแหน่ง ตำแหน่งละ 0.1 มล. ในวันที่ 0 , 3, 7  และ ฉีด 1 ตำแหน่ง ในวันที่ 28หรือ30 , 90
    2.2 แบบปรับปรุง : ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง 2 ตำแหน่ง ตำแหน่งละ 0.1 มล. ในวันที่ 0 , 3, 7, 28หรือ30  
    วิธีนี้มีข้อดีคือ ใช้ปริมาณยาน้อยกว่ามาก (คือประมาณ 0.8 มล.ต่อคอร์ส ทั้ง2สูตร) และการฉีดเข้าแค่ชั้นผิวหนังจะไม่ค่อยส่งผลต่ออาการปวดตำแหน่งฉีดเท่าการฉีดเข้ากล้าม แต่ก็มีข้อเสียคือ ต้องถูกฉีดครั้งละ 2 ตำแหน่ง (รวม 8 ตำแหน่งต่อ 1 คอร์ส)

การฉีดเซรุ่ม หรือ อิมมูโนโกลบุลิน

เนื่องจากเมื่อฉีดวัคซีนไป ต้องรอให้สร้างภูมิต้านทานให้ได้ระดับที่เพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อ ประมาณ 10-14 วัน  ในระหว่างนี้หากมีเชื้อเข้าไปในบาดแผลจริงๆ ย่อมมีโอกาสที่จะไปเข้าสู่ระบบประสาทได้  จึงจำเป็นต้องให้เซรุ่ม เพื่อให้ภูมิคุ้มกันในทันที เพื่อป้องกันเชื้อเข้าสู่ร่างกาย  (ภูมิต้านทานที่ได้จากเซรุ่มจึงใช้ได้ผลเฉพาะช่วงแรกหลังให้เท่านั้น ไม่ได้อยู่คงทน ผิดกับภูมิต้านทานที่ได้จากการฉีดวัคซีนจะเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิด้วยตนเอง จึงมีระดับอยู่ได้นานกว่ามาก)  จึงพิจารณาฉีดเซรุ่ม ร่วมกับ วัคซีน ในรายที่มีแผลกลุ่มที่ 3 ทุกรายที่ไม่เคยรับวัคซีนพิษสุนัขบ้ามาก่อน

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า เซรุ่มที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นเซรุ่มที่ได้จากม้า ซึ่งเสี่ยงต่อการแพ้รุนแรงได้ ดังนั้นก่อนจะฉีดเซรุ่ม เราจะฉีดเพื่อทดสอบว่าอาจจะมีอาการแพ้รุนแรงหรือไม่ ด้วยการทดสอบที่ท้องแขน ใช้เวลาประมาณ 10 นาที  หากทดสอบแล้วให้ผลลบ  ก็จะพิจารณาฉีดเซรุ่มจากม้าได้  แต่หากให้ผลบวก ก็ต้องให้เซรุ่มจากคนแทน  ทั้งนี้ หากเคยมีประวัติแพ้เซรุ่มจากม้าเพื่อป้องกัน หรือแก้ภาวะอื่นเช่น แก้พิษงู , ป้องกันบาดทะยัก  ก็อาจจะต้องสงสัยว่าอาจจะแพ้เซรุ่มนี้ได้เช่นกัน



จะพิจารณาให้เซรุ่มเพียง 1 ครั้ง ภายในเวลาไม่เกินวันที่ 7 ของการให้วัคซีน  เพราะหากให้เกินเวลา หรือ ให้ปริมาณมากกว่าที่ควร จะส่งผลกดภูมิต้านทานที่ร่างกายจะสร้างจากการกระตุ้นโดยวัคซีน

การฉีดจะให้ฉีดที่บริเวณแผลให้ครบทุกแผล (เหมือนการฉีดยาชา) แม้ว่าแผลจะหายแล้วก็ตาม โดยฉีดทั้งใน และรอบแผล  เซรุ่มส่วนที่เหลือจะฉีดเข้ากล้ามบริเวณสะโพก  จะไม่ฉีดที่ต้นแขน เพราะจะไปขัดขวางการสร้างภูมิจากวัคซีน  หากจะเย็บแผล ก็ฉีดเซรุ่มก่อนเย็บ


การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า อาจจะต้องมีการเจ็บเนื้อเจ็บตัวจากที่ต้องฉีดวัคซีน หรือ เซรุ่มบ้าง แต่ก็เพื่อความปลอดภัยนะครับ  เพราะหากเป็นโรคขึ้นมา นั่นคือ เสียชีวิตนะครับ 



Create Date : 10 พฤศจิกายน 2557
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2557 22:48:56 น.
Counter : 13989 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ระเบิดเด่น
Location :
นครราชสีมา  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]



ผมเป็นศัลยแพทย์ รพ.นครราชสีมา ครับ เรียกผมว่า "หมอบีม" ก็ได้ครับ
เว็บไซต์นี้สร้างขึ้นเพื่อให้ความรู้เรื่องของสุขภาพ โรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคทางศัลยกรรม (เนื่องจากผมเป็นศัลยแพทย์) โดยผมจะเน้นให้ความรู้อย่างกว้างๆเพื่อให้ทราบสาเหตุของโรค และวิธีการรักษาโรค อาจจะไม่ลงลึกนักนะครับ อยากเน้นให้ทราบวิธีปฏิบัติตัวมากกว่า หากต้องการถามคำถาม ให้ฝากคำถามไว้ใน "ฝากข้อความหลังไมค์" นะครับ ผมจะตอบให้ครับ รบกวนอย่าถามไว้ในกระทู้ หรือ blog แต่ละเรื่องนะครับ เพราะผมอาจจะไม่ได้เข้าไปอ่านนะครับ ส่วน "blog ธรรมจรรโลงใจ" นั้น เพิ่มเข้ามาเผื่อผู้สนใจเกี่ยวกับธรรมะครับ ถ้าอยากจะแสดงความเห็น ก็ลงในความคิดเห็น หรือ จะส่งข้อความหลังไมค์ก็ได้ครับ ยินดีครับ