เด็ก การเดินทาง และสนามฟุตบอล
Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2552
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
2 พฤษภาคม 2552
 
All Blogs
 

แหลมกู๊ดโฮป โยกไปก็เยกมา

‘บาร์โธโลมิว ไดแอซ’ นายแน่มาก!
ผมกำลังนึกถึงภาพการนำเรือของนักเดินเรือ
ผู้ยิ่งใหญ่ชาวโปรตุเกสคนนี้ อ้อมแหลมกู๊ดโฮป
ปลายสุดของทวีปแอฟริกา เมื่อกว่า 500 ปีมาแล้ว
คงยากลำบากกว่าสภาพที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้หลายเท่า

หากใครคิดจะเดินไปไหนในอาคารที่พักท้ายเรือช่วงนี้
ต้องพยายามยึดเหนี่ยวสิ่งใกล้มือไว้ให้มั่น
ฝาผนังและราวบันไดจึงเป็นที่พึ่งทางกายที่หาได้ง่ายที่สุด

สำหรับอุปกรณ์ในครัวอย่าง โต๊ะ ตู้ อ่างล้านจาน เตาอบ
เตาไฟฟ้าหุงต้มอาหาร ชั้นวางของต่างๆ ล้วนถูกออกแบบมา
เพื่อรับกับสถานการณ์เช่นนี้อยู่แล้ว
ด้วยการยึดหรือเชื่อมติดกับพื้นและผนังอย่างแน่นหนา
รวมถึงเตียงนอน โต๊ะเครื่องแป้ง และโซฟาในห้องพักทุกห้อง
ตลอดจนอุปกรณ์สำคัญทุกชิ้นบนสะพานเดินเรือ

แม้นาฬิกาในห้องครัว จะบอกเวลาใกล้เที่ยงแล้ว
แต่หมอกหนาเป็นม่านขาวยังคงสนุกกับการบดบังทัศนวิสัย
ในการเดินเรือต่อไป

ลมผสมละอองเย็นวิ่งปะทะร่างผมทันที
เมื่อก้าวขาออกนอกอาคารที่พัก
แรงของมันหนักหน่วงจนผมต้องชะงัก
ถอยกลับไปยังจุดเริ่มต้น สภาพอากาศเวลานี้อนุญาตให้ผม
ส่งสายตาออกมาข้างนอกได้เท่านั้น
คลื่นลูกโตยังคงโหมกระหน่ำใส่กราบเรือไม่หยุด
ราวกับจะฉุดให้จมลงสู่ก้นทะเล

หลายคนเริ่มมีอาการเมาคลื่นให้เห็น
โดยเฉพาะห้องเครื่อง 2 คนนี้ หวาน กับ เชษฐ์
จนต้นกลต้องไล่ขึ้นไปพัก ลำพังงานในห้องเครื่องจักร
ที่ร้อนอบอ้าวกว่า 50 องศาเซลเซียส กับสารพัดกลิ่นน้ำมัน
ก็มากพอจะทำให้คนไม่คุ้นชินเกิดอาการมึนและเมาได้ง่ายๆ แล้ว
อย่าว่าแต่คนผ่านงานมานานก็เถอะ
ยิ่งเจอะเจอคลื่นลมแปรปรวนแบบนี้
อาการเวียนหัวตาลายจึงถามหาได้ไม่ยาก

เรือยังคงเดินหน้าทำมุมเอียงไปมาไม่ต่ำกว่า 45 องศา
กับระดับน้ำทะเลต่อไป ในความเร็วที่ถูกต่อต้านอย่างหนัก
จากคลื่นและลม
คงเป็นสภาพเดียวกันกับเมื่อครั้งศตวรรษที่ 17
ตอนที่กัปตันชาวดัตช์ เฮนดริก แวน เดอร์ เดกเค่น
พยายามนำเรือ The Flying Dutchman อ้อมส่วนใต้สุดของทวีปนี้
เพื่อหวังติดต่อค้าขายกับประเทศฟากตะวันออก
แต่โชคร้ายเขาและลูกเรือทั้งหมดต้องจมหายสาปสูญไปไร้ร่องรอย

ตามตำนานกล่าวว่า กัปตันเดกเค่นนำเรือฝ่าพายุบ้าคลั่ง
โดยไม่ยอมฟังเสียงทัดทานใดๆ จากลูกเรือที่เตือนว่า
นี่อาจเป็นสัญญานจากพระผู้เป็นเจ้าให้ยกเลิกภาระกิจนี้เสีย
แต่ด้วยความดื้อรั้นมุทะลุของกัปตัน
นับจากวันนั้นเรือสินค้าอันเลื่องชื่อก็จมสู่ห้วงทะเลลึกชั่วนิรันดร์

เรื่องนี้คงถูกลืมเลือนนานแล้ว หากไม่ใช่เพราะเสียงโจษจัน
จากนักเดินเรือคนแล้วคนเล่า ซึ่งอ้างว่าเห็นเรือปิศาจ The Flying Dutchman ปรากฏตัวขึ้นบริเวณน่านน้ำแถบนี้
เหตุการณ์ที่รู้จักกันดีก็เช่น ในปี 1881
ลูกเรือประจำเรือของเจ้าชายจอร์จที่ 5 คนหนึ่ง
เห็นเรือปิศาจแล่นนำอยู่ข้างหน้า และเพียงไม่นาน
เขาและเพื่อนลูกเรือคนอื่นๆ ก็จบชีวิตลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
และในปี 1939 มีผู้คนมากกว่า 60 คน
อ้างว่าเห็นเรือปิศาจแล่นเรียบชายฝั่ง
แล้วหายไปท่ามกลางความมืด ล่าสุดปี 1942
นอกชายฝั่งเมืองเคปทาวน์ของแอฟริกาใต้
ผู้บังคับการเรือ U Boot แห่งราชนาวีเยอรมัน
ก็อ้างว่าเห็นเรือของกัปตันเดกเค่นแล่นตัดหน้าไป
ทั้งหมดจึงกลายเป็นตำนานคลาสสิคเล่าขานกันไม่รู้จบ
ของ The Flying Dutchman

ในหนังสือวิชาสังคมสมัยชั้น ม. 2 ของผม
แหลมกู๊ดโฮป หรือ แหลมแห่งความหวัง
ช่างสวยงามและน่าเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศจริงอย่างยิ่ง
แต่หลังจากวันนี้ หากมีโอกาส
ผมจะบอกคุณครูผู้สอนให้ช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่า
“กรุณาใช้เส้นทางบนบกเท่านั้น
หากคิดมาทางทะเลล่ะก็จะไม่รับประกันความปลอดภัย”

และเหตุนี้เอง แหลมพายุ จึงเป็นอีกชื่อที่ดูเหมาะเจาะลงตัวกว่า
อย่างที่ไดแอซเคยให้สมญานามไว้เมื่อปี 1488
หลังจากพระเจ้ายอร์นที่ 2 แห่งราชอาณาจักรโปรตุเกสรับสั่ง
ให้เขานำเรือเลียบฝั่งแอฟริกา เพื่อหาทางอ้อมทวีปให้ได้
13 วันที่เขาแล่นเรืออยู่ในทะเลลึก
ท่ามกลางสภาพอากาศแปรปรวน คลื่นลมบ้าคลั่ง
ยากแก่การเดินเรือฝ่าไปได้ แต่ในที่สุดเขาก็เห็นฝั่งทอดตัว
ตามแนวตะวันออกและตะวันตกอีกครั้ง
นั่นแสดงว่าเรือได้อ้อมแหลมสุดของทวีปแอฟริกาแล้ว
ไดแอซจึงนำความสำเร็จนี้ไปกราบทูลพระองค์
และเรียกชื่อแหลมแห่งนี้ว่า แหลมพายุ

ต่อมาพระองค์ทรงเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า แหลมแห่งความหวัง
เพราะเป็นเส้นทางแห่งความหวังใหม่ทางการค้าที่เปิดประตู
สู่โลกตะวันออกและอินเดีย

เรือของเรายังคงมุ่งหน้าต่อไป สวนทางกับเรือของไดแอซ
ที่ครั้งหนึ่งเคยผ่านมา ณ จุดเดียวกันยังแหลมกู๊ดโฮปแห่งนี้
ว่ากันตามหลักภูมิศาสตร์ แหลมกู๊ดโฮปก็ไม่ใช่ส่วนปลายสุดของทวีปแอฟริกา หากแต่เป็น แหลมอากุลฮาส ซึ่งขึ้นชื่อลือชาเรื่องพายุ
และคลื่นลูกโตไม่แพ้กัน อยู่ห่างจากแหลมกู๊ดโฮปไปอีก
ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 200 กิโลเมตร
เป็นอีกย่านอันตรายของเรือบรรทุกสินค้า
เพราะมีเกาะแก่งและโขดหินใต้น้ำมากมาย
ทำให้เรือจำนวนไม่น้อยติดตื้นหรืออับปางนอนหงาย
อยู่ใต้มหาสมุทรมาแล้วนับไม่ถ้วน

ทะเลบริเวณแหลมทั้งสองนี้เอง
เป็นจุดปะทะกันของกระแสน้ำเย็นจากมหาสมุทรแอตแลนติก
และกระแสน้ำอุ่นจากมหาสมุทรอินเดีย
ที่มีอุณหภูมิต่างกันสุดขั้ว เป็นที่มาของสภาพอากาศแปรปรวน
เกินคาดเดา และหมอกลงจัดตลอดปี
แม้กระทั่งกลางเดือนตุลาคมขณะที่เรือของเรามาเยือน

ระหว่างนี้ผมจึงมีลูกค้าขาจรเพิ่มขึ้นอีก 2 คน
ในการดูแลเรื่องอาหารการกินให้ เชษฐ์อาการไม่เท่าไหร่
นอนพักปรับตัวสักหน่อยก็น่าจะดีขึ้น
แต่สำหรับหวานยังมีอาการหน้าซีดเป็นผีญี่ปุ่น
แถมกินอะไรไม่ลงจนกุ๊กต้องบังคับให้หาอาหารใส่ท้องบ้าง
มิฉะนั้นอาการเมาคลื่นจะไม่ทุเลา

เช่นเคย กุ๊กไม่ใช่หมอแต่อาศัยประสบการณ์ในการรักษา
“ไม่หิวก็ต้องกิน อย่าปล่อยให้ท้องว่าง” กุ๊กสั่ง

“เอ็งเก็บแรงไว้เมาที่บราซิลดีกว่า”
กุ๊กคงกังวลล่วงหน้าว่าจะหาเพื่อนร่ำสุราไม่ได้

หวานหยิบชามข้าวต้มไปวางตรงหน้าตัวเอง
ก่อนส่งสายตาไม่สร่างเมามาทางผม

พลันผมก็เห็น ‘ดินแดนแห่งความหวัง’ ตั้งอยู่ในดวงตาคู่นั้น




 

Create Date : 02 พฤษภาคม 2552
1 comments
Last Update : 2 พฤษภาคม 2552 10:49:29 น.
Counter : 1410 Pageviews.

 

' ดินแดนแห่งความหวัง ' จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหรือเปล่านะ กับคลื่นที่ถาโถม และคุณยังคงมั่นใจเดินหน้าต่อ

 

โดย: wngwbnsn IP: 61.7.186.95 2 พฤษภาคม 2552 18:04:49 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


มาเดะ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add มาเดะ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.