DR.MOO CAN DO
Group Blog
 
 
มกราคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
26 มกราคม 2553
 
All Blogs
 
แฉคดีพิศวาสฆาตกรรม หมอนิติเวชฉีดพิษฆ่าเมีย

รัฐฟลอริดา ผู้หญิงที่ดูเหมือนมีสุขภาพดีเสียชีวิตในบ้านของเธอ เจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์ไม่สามารถอธิบายการตายของเธอได้ แม้ตำรวจจะสงสัยว่าเป็นการฆาตกรรม แต่พวกเขาก็ต้องรออีกหลายปีกว่าเทคโนโลยีใหม่ในทางนิติวิทยาศาสตร์จะพิสูจน์เรื่องนี้
ที่ตั้งของชุมชนปานามาบีชที่ร่ำรวยและสงบสุข เวลาราว 09.00 น. วันที่ 30 พ.ค. 1991 เจนนิเฟอร์ ไซเบอร์ส วัย 18 ปี เข้าไปในห้องนอนของพ่อแม่ เพื่อปลุก เคย์ ไซเบอร์ส คุณแม่ของเธอ แต่เคย์ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง เจนนิเฟอร์ตื่นตระหนก และโทรฯ หาพ่อซึ่งเป็นแพทย์นิติเวชของรัฐฟลอริดาทันที ต่อมาเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินและแพทย์จากสำนักงานแพทย์นิติเวชไปยังที่เกิดเหตุ เคย์ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง และไม่แสดงให้เห็นสัญญาณชีพ พวกเขาสรุปว่าคุณแม่ลูกสามวัย 52 ปีคนนี้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุด้วย อาการหัวใจวาย
แต่วันต่อมา เจ้าหน้าที่กรมบังคับใช้กฎหมายฟลอริดาก็ได้รับโทรศัพท์ ผู้ให้เบาะแสที่ไม่เปิดเผยชื่อรู้สึกไม่สบายใจกับความผิดปกติหลายอย่างเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเคย์ รวมทั้งการกระทำหลายอย่างของสามีเธอ หลังจากได้ยินรายละเอียดทั้งหมด เจ้าหน้าที่พิเศษ สก็อตตี้ แซนเดอร์สัน เห็นด้วยว่าควรจะจับตาดู ดร.ไซเบอร์สให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ในฐานะแพทย์นิติเวช ดร.ไซเบอร์สรู้ว่าการตายโดยไม่มีแพทย์ดูแลทุกกรณีจะต้องจัดให้มีการชันสูตรศพ และภรรยาของเขาก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เพื่อหาคำตอบว่าทำไมเขาจึงไม่ทำตามระเบียบขั้นตอน เจ้าหน้าที่สืบสวนจึงนัดเขามาสอบปากคำ
ดร.ไซเบอร์ส ยอมรับว่าเขาทำผิดพลาด และรู้สึก สับสน เขารักเคย์มาก โดยอ้างว่าการเสียชีวิตของเธอเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดจริง ๆ
คืนก่อนที่เธอจะเสียชีวิต เขากับเธอไปทานอาหารค่ำ ด้วยกัน แต่ราว ๆ ตี 4 เธอก็ปลุกเขา เคย์รู้สึกเจ็บหน้าอกและไหล่ซ้าย ดร.ไซเบอร์สรู้สึกเป็นห่วง ครอบครัวเคย์มีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจและเบาหวาน แต่เธอไม่ยอมไปโรงพยาบาล ดร.ไซเบอร์ส บอกว่าเขาพยายามเจาะเลือด เพื่อจะนำไปตรวจสอบในเช้าวันรุ่งขึ้น แต่เขาทำผิดพลาด หลังจากพยายามแต่ไม่สำเร็จอยู่สองครั้ง เขาก็ล้มเลิกความตั้งใจ
ดร.แกรี คัมเบอร์แลนด์ แพทย์นิติเวช พยายามระบุสาเหตุของการเสียชีวิตครั้งนี้ การตรวจสอบภายนอกได้พบรอยเข็มชัดเจนสองรอยที่แขนขวาของผู้ตาย เรื่องนี้ตรงกับที่ ดร.ไซเบอร์สอ้างว่าเขาพยายามเจาะเลือดจากเธอ ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตไม่นาน แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันว่า รอยเข็มสองรอยนี้แปลว่ามีการฉีดอะไรบางอย่างเข้าไปในร่างกายเธอ
ดร.คัมเบอร์แลนด์ไม่พบอะไรที่จะอธิบายว่าทำไมเคย์ ไซเบอร์สจึงตายอย่างกะทันหันเช่นนี้ เขารู้สึกไม่สบายใจเพราะผลการตรวจสอบ จึงเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อกับเลือดไว้เพื่อวิเคราะห์เพิ่มเติม ตัวอย่างเหล่านั้นถูกส่งต่อไปยังสำนักงานแพทย์นิติเวชเดดเคาน์ตี้ แต่นักพิษวิทยาทำงานได้ลำบาก ศพของเคย์ ไซเบอร์สถูกอาบน้ำยาอย่างรวดเร็วหลังจากเธอเสียชีวิต และเป็นไปได้ว่าน้ำยาเหล่านั้นอาจจะทำลายร่องรอยต่าง ๆ ของยาหรือสารพิษ เจ้าหน้าที่สืบสวนไม่มีความคืบหน้า ทางการไม่มีทางเลือก นอกจากจะคืนศพผู้ตายให้แก่ครอบครัว แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ยอมแพ้ พวกเขาค้นดูแฟ้มต่าง ๆ ของคดีนี้ เพื่อหาอะไรก็ได้ที่พวกเขาอาจมองข้ามไป จึงพบว่าในคำให้การที่ให้แก่ตำรวจ ดร.ไซเบอร์สอ้างว่าเขาพยายามโทรฯ หาภรรยาหลายครั้งในเช้าวันที่เธอเสียชีวิต เพื่อสอบถามอาการของเธอ เจ้าหน้าที่สืบสวนขอหมายศาลเพื่อให้เปิดเผยบันทึกการใช้โทรศัพท์มือถือของเขา และพบว่าเขาพูดความจริง แต่เดนนิส นอร์เรด เจ้าหน้าที่กฎหมายฟลอริดาสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติ
จากบันทึกระบุมีการโทรศัพท์อีกสองครั้งในเช้าวันที่เคย์เสียชีวิต หมายเลขถูกสืบสาวไปถึงอดีตผู้เชี่ยวชาญห้องแล็บซึ่งเคยทำงานกับ ดร.ไซเบอร์ส ผู้หญิงคนนี้ยอมรับว่าสองสามีภรรยาคู่นี้เป็นเพื่อนสนิทของเธอ เขาโทรฯ หาเธอในวันที่เคย์เสียชีวิต แต่เธอบอกว่าตอนนั้นเขาเศร้าโศกเสียใจมาก และเพียงแค่ต้องการคำปลอบโยน แต่เจ้าหน้าที่สืบสวนสัมผัสได้ว่าเธอยังไม่ได้บอกเรื่องทั้งหมด เมื่อพวกเขาสอบถามต่อไปอย่างไม่ลดละ เธอก็ยอมรับว่าเธอกับ ดร.ไซเบอร์สมีความสัมพันธ์กันฉันชู้สาว
ตำรวจส่งตัวอย่างเนื้อเยื่อของเคย์ ไซเบอร์ส ซึ่งเก็บมาจากการชันสูตรศพ ไปยังห้องแล็บบริการการแพทย์แห่งชาติ ใน เมืองวิลโลว์โกรฟ รัฐเพนซิลวาเนีย ซึ่งเป็นหนึ่งในห้องแล็บนิติวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยที่สุดในประเทศ ที่นั่น ดร.เฟรเดอ ริค รีเดอร์ส นักพิษวิทยาได้ยอมตกลงที่จะตรวจสอบกรณีนี้ และหลังจากทบทวนรายงานการชันสูตรศพของเคย์ ไซเบอร์ส เขาก็พบสิ่งที่อาจจะเป็นเบาะแส คือระดับโพแทสเซียมที่สูงขึ้นในของเหลวภายในดวงตาของเธอ
แม้โดยธรรมชาติโพแทสเซียมจะปรากฏอยู่ในร่างกายในปริมาณน้อย แต่ถ้ามีการฉีดโพแทสเซียมปริมาณมาก ๆ เข้าไปในกระแสเลือด มันก็จะทำให้หัวใจหยุดเต้นทันที เพื่อหาคำตอบว่า เคย์ ไซเบอร์สมีปริมาณโพแทสเซียมในร่างกายผิดปกติหรือไม่ นักพิษวิทยาจึงใช้ระบบที่เพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่ ซึ่งจะวัดอัตราส่วนระหว่างโพแทสเซียมกับธาตุเหล็ก กระบวนการนี้ประสบความสำเร็จ
แต่เจ้าหน้าที่ต้องเจอกับอุปสรรคใหญ่หลวงแทบจะในทันที หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชิ้นเดียวที่อาจพิสูจน์ได้ว่านี่เป็นการฆาตกรรม ได้ถูกผู้เชี่ยวชาญทางฝ่ายจำเลยคัดค้าน เนื่องจากมีโพแทสเซียมปรากฏในร่างกายอยู่แล้วตามธรรมชาติ ผู้พิพากษาจึงตัดสินว่าถ้าไม่มีตัวอย่างเพิ่มเติม ก็ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าเคย์ ไซเบอร์สถูกฉีดยาที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
ในช่วงเวลาหลายปีหลังจากเคย์ ไซเบอร์สเสียชีวิต นักพิษวิทยาที่ห้องแล็บบริการทางการแพทย์แห่งชาติ ในเมืองวิลโลว์โกรฟ รัฐเพนซิลวาเนีย ได้พัฒนาการทดสอบทาง นิติวิทยาศาสตร์แบบใหม่ ซึ่งสามารถตรวจหาสารพิษซึ่งก่อนหน้านี้ไม่สามารถตรวจหาร่องรอยได้ แม้ตัวอย่างซึ่งเก็บมาจากการชันสูตรศพจะมีอายุหลายปีแล้ว แต่จากคำให้การของ ดร.เควิน บัลลาร์ด มันได้ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี
อันดับแรก ดร.บัลลาร์ดต้องการตรวจสอบตัวอย่างเหล่านั้น เพื่อดูว่ามียาซึ่งออกฤทธิ์ให้เป็นอัมพาตตกค้างอยู่หรือไม่ เป็นที่ทราบกันว่ายาเหล่านี้จะเพิ่มระดับโพแทสเซียมในร่างกาย ซึ่งอาจอธิบายได้ว่า ทำไมในตัวอย่างเนื้อเยื่อของเคย์เมื่อหลายปีที่แล้ว จึงมีโพแทสเซียมอยู่ในระดับสูง เขานำตัวอย่างเหล่านี้ไปผ่านกระบวนการที่เรียกว่า QTOF-Quadrupole Time of Flight ในที่สุดการวิเคราะห์นี้ก็ทำให้เจ้าหน้าที่สืบสวนมีหลักฐานที่ใช้ในการพิสูจน์ว่านี่เป็นการฆาตกรรม
ตำรวจเชื่อว่า ดร.วิลเลียม ไซเบอร์ส ต้องการจะมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวโดยหลีกเลี่ยงการหย่าร้างซึ่งอาจทำให้ต้องสูญเสียเงินทองมากมาย ดังนั้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 1991 เขาจึงฉีดยาที่ออกฤทธิ์ให้เป็นอัมพาตใส่ภรรยาของเขาในปริมาณที่เป็นอันตรายถึงตาย จากนั้นเขาก็พยายามใช้ความเป็นหัวหน้าแพทย์นิติเวชของตนปกปิดอาชญากรรมที่เขาก่อในเดือนมกราคม ปี 2000 ดร.วิลเลียม ไซเบอร์สได้ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ความผิดฐานฆาตกรรมเคย์ ภรรยาของเขาเอง
ฆาตกรบางคนเชื่อว่าถ้าใช้ยาที่ไม่อาจหาร่องรอยได้ก็จะไม่ถูกจับลงโทษ แต่เมื่อนิติวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปมากขึ้น เจ้าหน้าที่สืบสวนก็มีโอกาสที่จะไขคดีฆาตกรรมด้วยสารพิษ ซึ่งในอดีตเคยหาหลักฐานได้ยาก
ข้อมูลจาก The New Detective ตอน Toxic Death ออกอากาศทางช่องดิสคอฟเวอรี่ แชนแนล


Create Date : 26 มกราคม 2553
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2553 10:21:05 น. 2 comments
Counter : 2679 Pageviews.

 
!!!! to be careful.....??


โดย: forenspug วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:14:33:35 น.  

 
อึ่ม....เรื่องนี้สอนว่า ก่อนจะตัดสินใจแต่งงานกะหมอ ต้องคิดแล้วคิดอีก


โดย: linn IP: 90.229.217.20 วันที่: 8 สิงหาคม 2553 เวลา:18:36:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

DR.MOO CAN DO
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]




ผมเป็น นิติพยาธิแพทย์ หรือ จะเรียกว่า หมอนิติเวช ก็ได้ครับ นิติพยาธิแพทย์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปีแล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง นิติพยาธิอีก 3 ปี และเมื่อสอบผ่าน ก็จะได้รับวุฒิบัตรเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขานิติเวชศาสตร์ และได้เป็นนิติพยาธิแพทย์ โดยสมบูรณ์
หน้าที่ของหมอนิติเวช แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ
ส่วนแรก จะเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยคดี โดยในผู้ป่วยคดีนั้นแพทย์นิติเวชจะมีหน้าที่ในการตรวจ และให้ความเห็นกับพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับบาดแผลที่ตรวจพบ ซึ่งตำรวจจะนำไปใช้ในการตั้งข้อกล่าวหากับคู่กรณี และหน้าที่ต่อมาของแพทย์นิติเวชคือการเป็นพยานในชั้นศาลในคดีดังกล่าว
ส่วนที่สอง จะเกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต โดยในกรณีผู้เสียชีวิตนั้นแพทย์นิติเวชมีหน้าที่ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุในกรณีตายผิดธรรมชาติตามที่กฎหมายกำหนด และหากมีความจำเป็นต้องผ่าชันสูตร ก็จะต้องมีการทำรายงาน และให้ความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุของการเสียชีวิต ส่งให้พนักงานสอบสวน สุดท้ายหน้าที่หลักที่สำคัญโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการเป็นพยานในชั้นศาลในคดีนั้นๆครับ
ประวัติการศึกษา
1.แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
2.วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3.ประกาศนียบัตร “Crime Scene Investigation” โครงการร่วมระหว่าง International Law Enforcement Academy กับ Federal Bureau of Investigation Academy
4.ประกาศนียบัตร “การบริหารงานโรงพยาบาล” คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ผลงาน
1.อาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มศว.
2.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาชั้นปีที่ 3 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
3.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาปริญญาโท สาขานิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
4.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาปริญญาโท สาขานิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
5.วิทยากร หัวข้อ "ICD-10" ของกระทรวงสาธารณสุข
6.วิทยากร หัวข้อ "การตรวจสถานที่เกิดเหตุ" ของมูลนิธิร่วมกตัญญู และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
7.วิทยากรอบรมหลักสูตรนายร้อยตำรวจอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
8.วิทยากร หัวข้อ "KPI รายบุคคล" ให้กับโรงพยาบาลและมหาลัยวิทยาลัย ในภาครัฐ
9.วิทยากร หัวข้อ "Living will" ให้กับโรงพยาบาลในภาครัฐและเอกชน10.วิทยากร หัวข้อ "นิติเวชศาสตร์กับงานด้านโบราณคดี" ให้กับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
11.ร่วมเขียนหนังสือ "KPI รายบุคคล"
12.ร่วมเขียนหนังสือ "มาตรฐาน ICD-10, ICD-9"
13.ที่ปรึกษารายการ "เรื่องจริงผ่านจอ" และ "Redline"
14.บทความทางวิชาการและผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ 15 เรื่อง
15.ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ตั้งแต่ ปี พศ.2553
16.ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพ ฯ คณะแพทยศาสตร์ มศว. ตั้งแต่ปี พศ.2551
ผศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี (DR.MOO CAN DO)
New Comments
Friends' blogs
[Add DR.MOO CAN DO's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.