Group Blog
 
 
มกราคม 2549
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
15 มกราคม 2549
 
All Blogs
 

ธรรมะจากหนังสือ

*ปัจจุบันหนังสือธรรมะที่ใช้ภาษาอ่านง่าย หรือบางทีแต่งเป็นนิยายธรรมะ ทำให้ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายเวลาหยิบมาอ่าน มีให้เลือกอ่านอยู่มากมาย

หนังสือธรรมะเล่นแรกที่มีคนแนะนำให้อ่าน คือ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ของ อ.สุทัสสา อ่อนค้อม เมื่ออ่านจบลง เราก็ได้แนะนำเพื่อน ๆ ให้ไปหาอ่านบ้าง ที่จริงสมัยก่อนจะให้คนหยิบยืมไปอ่าน บางครั้งได้คืน บางครั้งไม่ได้คืน เสียดายอยู่ เพราะหนังสือบางเล่มหาซื้อไม่ได้อีกแล้ว

เมื่อกลับมาเขียน blog อีกครั้ง ก็อยากใช้พื้นที่ตรงนี้รวบรวมรายชื่อหนังสือดีๆ ที่เคยอ่าน ที่ตัวเองอ่านแล้วเข้าใจง่าย และคัดลอกคำนำของหนังสือเหล่านั้นไว้ประกอบ เพื่อจะช่วยกระจายเรื่องราวและข้อคิดดี ๆ เป็นธรรมะทานอีกด้านหนึ่ง

และหากท่านใดแวะเข้ามาอ่าน อยากแนะนำหนังสือดี ๆ ช่วยเขียนบอกไว้หน่อย จะขอบพระคุณอย่างที่สุดหาประมาณไม่ได้

credit ภาพดอกบัว : Narin Srikhamlure (Mr.Koe+)

* * * * * * * * * *


สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
เขียนโดย สุทัสสา อ่อนค้อม
ธันวาคม ๒๕๓๗


คำนำ

ข้าพเจ้าเกิดในครอบครัวที่บรรพบุรุษนับถือพุทธศาสนา พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พาเข้าวัดตั้งแต่เล็ก ๆ โดยเฉพาะเทศกาล "เทศน์มหาชาติ" จะพากันไปวัดตั้งแต่ตีสี่ตีห้า เพื่อจะได้ฟังพระสวด "คาถาพัน" ได้ครบ ๑,๐๐๐ คาถา ด้วยเชื่อวันว่าเมื่อตายจะได้ขึ้นสวรรค์ ก่อนนอน คุณพ่อคุณแม่ก็จะเล่านิทานที่เกี่ยวกับนรกสวรรค์ให้ฟังเสมอ ๆ เช่น เรื่องเทพบุตร เทพธิดา ที่มีความสุขอยู่ในวิมานสวย ๆ หรือเรื่องพระมาลัยไปเทศน์โปรดสัตว์ที่เมืองนรก เป็นต้น ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความคิดคำนึงและจินตนาการไปต่าง ๆ ตามประสานเด็ก ทรรศนะที่มีต่อพระพุทธศาสนาในวัยขนาดนั้น คือ ต้องทำความดีจึงจะได้ขึ้นสวรรค์ แล้วไม่อยากทำความชั่ว เพราะกลัวจะไปตกนรก

ความเชื่อเรื่องกรรมจึงมีมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เมื่อจบมัธยมต้นจากต่างจังหวัด ได้เข้ามาสอบเรียนต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (รุ่น ๒๙) ในกรุงเทพฯ อาศัยอยู่กับครอบครัวมุสลิมซึ่งเขารักเหมือนลูกสาว คุณยายของบ้านเป็นชาวพุทธ และไปฟังเทศน์ที่วัดทุกวันอาทิตย์ ไปวัดโพธิ์บ้าง วัดพระแก้วบ้าง ข้าพเจ้าก็ตามคุณยายไปแล้วก็สังเกตว่าคนที่ไปวัด มีแต่คนแก่ ๆ ข้าพเจ้าตอนนั้นอายุ ๑๘ ปี จึงเป็นคนเดียวที่อายุน้อยที่สุด

จบโรงเรียนเตรียมฯ ก็สอบเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์จุฬา พักที่หอพักนิสิตหญิงจุฬาฯ (ปัจจุบันเป็นศูนย์การค้ามาบุญครอง) วันอาทิตย์ก็ได้ไปเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ที่วัดบวรนิเวศ เป็นลูกศิษย์ ท่านเจ้าคุณธมฺมสาโร ภิกขุ จบปริญญาตรีแล้ว ทรรศนะที่มีต่อพระพุทธศาสนาก็ยังอยู่ในระดับนรกสวรรค์ ต่อเมื่อเรียนปริญญาโท สาขาปรัชญา ที่คณะและมหาวิทยาลัยเดิม ทำให้ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนากว้างขวางขึ้น อาจารย์ผู้ให้ความรู้และเป็นแรงจูงใจให้หันมาศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง คือ ท่าน รศ. ดร. สุนทร ณ รังสี ส่วนพระสงฆ์นั้น ข้าพเจ้าเคารพและศรัทธา ท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ในความเป็นปราชญ์ทางด้านพระพุทธศาสนาของพระคุณท่าน และท่านก็ได้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ด้านปริยัติแก่ข้าพเจ้าด้วยความเมตตาอย่างหาที่เปรียบมิได้

ในด้านการปฏิบัติ ข้าพเจ้าเริ่มปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังเมื่อปี ๒๕๒๖ เมื่อทางวิทยาลัยส่งให้เข้าอบรมปฏิบัติธรรมที่ วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ข้าพเจ้าได้เป็นศิษย์ของ พระเดชพระคุณหลวงพ่อจรัญ ตั้งแต่บัดนั้น (ปัจจุบันหลวงพ่อได้เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นที่ พระราชสุทธิญาณมงคล) และชีวิตก็พลิกผันหันเข้าหาธรรมะอย่างเต็มภาคภูมิ นับแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ ทรรศนะที่มีต่อพระพุทธศาสนาได้ก้าวพ้นจากระดับนรกสวรรค์ขึ้นมา ข้าพเจ้าไม่อยากเกิดในสวรรค์ เพราะเป็นภูมิที่ยังต้องเวียนว่าย ข้าพเจ้ามีความใฝ่ฝันที่จะข้ามพ้นจากสงสารสาคร แต่ก็คงจะเป็นได้เพียงความฝัน เพราะยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งพบว่าการจะเข้าถึงมรรค ผล นิพพาน นั้นยากแสนยาก และหากผู้ปฏิบัติขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็อาจหลงทางได้ง่าย

การไปวัดอย่างสม่ำเสมอ เรื่องได้ฟังธรรมเทศนาจากท่านเจ้าคุณหลวงพ่อหลายต่อหลายครั้ง บางเรื่องก็ฟังซ้ำถึงหกเจ็ดครั้ง (แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยเบื่อ) และความที่เป็นคนช่างจดช่างจำ เรื่อง "ไฟไหนเล่าร้อนเท่าไฟนรก" และ "สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม" จึงเกิดขึ้น ความปลาบปลื้มใจพูนทวีจนสุดจะพรรณนา เมื่องานเขียนของข้าพเจ้าได้รับความนิยมจากท่านผู้อ่านมากมายเกินความคาดหมาย ข้าพเจ้ารู้สึกปีติที่ได้ทำหน้าที่ช่วยเผยแผ่คำสอนของท่านเจ้าคุณหลวงพ่อผู้ซึ่งดำเนินตามรอยบาทขององค์พระศาสดาอย่างแน่วแน่ ข้าพเจ้าจึง "ได้บุญ" จาก ธัมมัสสวนมัย และ ธัมมเทสนามัย ในเวลาเดียวกัน ท่านเจ้าคุณหลวงพ่อผู้มีพระคุณต่อข้าพเจ้า ท่านเมตตาช่วยเหลือข้าพเจ้าทุกอย่าง และยังสนับสนุนส่งเสริมให้ข้าพเจ้าไปเรียนปริญญาเอกที่ประเทศอินเดีย การได้ใช้ชีวิตใน "แดนพุทธภูมิ" ทำให้ข้าพเจ้าได้ความรู้และประสบการณ์ด้านพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ท่านอาจารย์ เขมานันทะ (พระมหาบาง สิมพลี) ได้เมตตาช่วยเหลือในเรื่องการสมัครเรียนที่ มหาวิทยาลัยมคธ ตลอดจนช่วยสงเคราะห์ให้ได้พำนักในวัดทิเบต อันเป็นวัดของฝ่ายมหายาน ข้าพเจ้าจึงได้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นกำไรชีวิต

ท้ายที่สุดนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณนิตยสาร กุลสตรี โดยเฉพาะ คุณยุพา งามสมจิตร ผู้ซึ่งข้าพเจ้าเคารพนับถือดุจครูอาจารย์ ด้วยท่านทำให้ข้าพเจ้ามีโอกาสได้เกิดในบรรณพิภพ ข้าพเจ้าถือโอกาสนี้ แสดงคารวะและกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อท่านผู้มีพระคุณทุกท่านที่กล่าวข้างต้น และต่อท่านผู้อ่านที่ได้เมตตาช่วยค้ำจุนให้ข้าพเจ้ายืนหยัดอยู่ในโลกของตัวหนังสือได้อย่างมั่นใจ
ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุก ๆ ท่านเทอญ

สุทัสสา อ่อนค้อม
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

* * * * * * * * * *


เข็มทิศชีวิต เขียนโดยฐิตินาถ ณ พัทลุง
จัดจำหน่ายโดย บ.ซีเอ็ด ราคา 195 บาท


รายละเอียด

7 ปีที่แล้วผู้หญิงคนนี้มีหนี้เกือบร้อยล้าน วันนี้จ่ายหนี้หมด มีพอจนเลิกทำงานได้อย่างไร หนังสือเล่มนี้มีคำตอบ จากความสูญเสียอันใหญ่หลวง เธอได้มีโอกาสไปฝึกสมาธิภาวนา นับแต่วันนั้นชีวิตเธอก็เปลี่ยนไป เธอได้นำประสบการณ์ครั้งนั้นไปเป็นพื้นฐานการดำเนินชีวิตและธุรกิจ ในเวลาแค่สามปีเธอก็ปลดเปลื้องหนี้สินได้ กิจการมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอายุ 35 ปี เป็นคนไม่มีหนี้เพิ่งเกษียณตัวเองจากตำแหน่งประธานกรรมการเวิร์คกิ้ง ไดมอนด์ คำแนะนำในหนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณค้นพบตัวเองและหนทางที่จะก้าวต่อไป สามารถบริหารชีวิตสู่อิสระทางการเงินและจิตใจ

* * * * * * * * * *


เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน เขียนโดย ดังตฤณ
จัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี
ราคาเล่มละ


คำนำ

ทุกคนต่างมีความน่าเวทนาอยู่ในทางใดทางหนึ่ง ต่อให้เป็นบุคคลที่เหมือนอิ่มเอมเปรมสุข เป็นที่อิจฉาของสังคมขนาดไหน ก็ย่อมรู้ในใจเขาเองว่าชีวิตยังมีข้อขัดข้องประการใดบ้าง

ทำไมชีวิตถึงมีความขัดแย้ง เหตุใดจึงไม่มีใครเป็นสุขได้แต่ถ่ายเดียว? ก็เพราะคนเราไม่รู้แล้วก่อกรรมดีบ้างเป็นบางครั้ง และเพราะคนเราไม่รู้แล้วก่อกรรมชั่วบ้างเป็นบางคราว ไม่มีใครเกิดมาพร้อมกับความรู้ว่าทำดีต้องเสวยผลดี ทำชั่วต้องเสวยผลชั่ว จะช้าเร็วไม่มีใครหนีแรงสะท้อนกลับของบาปบุญได้พ้น

คนทั่วไปจะมีความเชื่อทางศาสนา หรือเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายอย่างไรก็ตาม สำรวจแบบชำแหละตัวเองแล้วก็ต้องพูดกันตรงๆว่านอกจากอาการปักใจเชื่อ แทบไม่มีใครรู้แจ้งเห็นจริงราวกับตาเห็นรูปกันสักกี่ราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเชื่อมั่นและอยากไปสวรรค์ อยากเข้าถึงนิพพาน ก็ยิ่งน้อยเท่าน้อยชนิดนับหัวได้ที่จะทราบทางไปอย่างแท้จริง ชนิดติดความจำขึ้นใจ และถือประพฤติปฏิบัติตนบนเส้นทางกรรมอันนำสู่สุคติภูมิ

พระพุทธเจ้ามีคำตอบ มีคำอธิบาย มีความรู้จริงเกี่ยวกับเรื่องกรรมวิบากและภพภูมิทั้งปวง บางวันผู้เขียนนึกเสียดายขึ้นมาว่าธรรมะในพระไตรปิฎกอันเปรียบประดุจภูเขาทองยังกองอยู่อย่างเปิดเผย แต่น้อยคนจะเหลือบแลไปเห็น และน้อยคนที่เห็นแล้วเต็มใจจะอ่าน จึงเป็นที่มาของหนังสือชื่อ ‘เสียดาย… คนตายไม่ได้อ่าน’ เล่มนี้

จุดใหญ่ใจความของหนังสือเล่มนี้ สำหรับเป้าหมายแรกคือให้รู้และเข้าใจเหตุผลที่มาที่ไปเกี่ยวกับกรรม ชนิดที่อ่านแล้วได้คำตอบน่าพอใจให้กับความสงสัยของคนทั่วไป ส่วนเป้าหมายปลายทางสุดท้ายคือให้ประจักษ์แนววิธีรู้แจ้งเรื่องกรรมด้วยตนเอง ชนิดที่อ่านแล้วไม่ต้องเถียงใครอีก รู้เฉพาะตนว่ากรรมวิบากเป็นเรื่องจริง เป็นสัจจะ เป็นอมตะไม่แปรผันตามกาล

แม้อ่านอย่างคร่าวที่สุด อย่างน้อยผู้อ่านก็น่าจะเปิดตาขึ้นเห็นโลกด้วยมุมมองที่แตกต่างไป เหลือบแลไปตามท้องถนนก็สามารถเห็นผลกรรมปรากฏฟ้องอยู่บนรูปร่างหน้าตาและบุคลิกนิสัยของใครต่อใครอย่างชัดเจน กระทั่งเมื่อเบิ่งจ้องมองกระจกเงา หรือเฝ้าพินิจความสุขความทุกข์อันเป็นปัจจุบันกาลของตนเอง ก็สามารถเห็น ‘ความจริง’ เกี่ยวกับกรรมวิบากได้ทุกวินาทีอยู่แล้ว

ผู้เขียนประสงค์จะเรียบเรียงเรื่องกรรมวิบากตามลำดับความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ นั่นคือให้ทราบที่มาว่าเราเป็นอย่างนี้ด้วยกรรมเก่าอันใด จากนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าในธรรมชาติมีช่องชั้นภพภูมิใดรองรับกรรมประเภทต่างๆอยู่บ้าง แล้วจึงสรุปลงที่ความน่าจะเป็น หรือสิ่งที่น่าจะทำขณะยังมีลมหายใจของความเป็นมนุษย์นี้อยู่

แนวคิดข้างต้นทำให้โครงสร้างของหนังสือแบ่งเป็น ๓ ภาค หรือ ๓ บรรพ (อ่านว่าบัพพะ) บรรพแรกคือการตอบคำถามว่าพวกเรา เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร? บรรพที่สองคือการตอบคำถามว่าพวกเรา ตายแล้วไปไหนได้บ้าง? บรรพสุดท้ายคือการตอบคำถามว่าพวกเรา ยังอยู่แล้วควรทำอะไรดี? ซึ่งก็แปลว่าครอบคลุมเรื่องกรรมวิบากและภพภูมิทั้ง ๓ กาลคืออดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ผู้เขียนขอถวายกุศลทั้งหมดจากการเขียนหนังสือเป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้า ผู้ถ่ายทอดความรู้อันเป็นประโยชน์สูงสุดให้แก่พระสาวก เพื่อพระสาวกจะได้สืบทอดความรู้ทั้งหลายให้แก่ครูบาอาจารย์ร่วมสมัย ตราบกระทั่งตกทอดมาถึงผู้เขียนในกาลปัจจุบัน

ดังตฤณ
สิงหาคม ๒๕๔๗

* * * * * * * * * *

เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัวเล่ม 1-11 เขียนโดย ดังตฤณ
จัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี ราคาเล่มละ 80 บาท


คำปรารภ
(จากหนังสือเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่ม ๑)

‘เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว’ เป็นชื่อคอลัมน์ตอบปัญหาเกี่ยวกับ กรรมวิบาก ซึ่งผมเขียนทยอยลงอย่างต่อเนื่องใน นิตยสารบางกอกรายสัปดาห์ ตั้งแต่ฉบับที่ ๒๔๑๘ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน คำถามกับคำตอบทั้งหมดในการรวมเล่มเป็นหนังสือครั้งแรกนี้ เรียงตามลำดับและไม่มีการจัดหมวดหมู่ เพื่อรักษาความเรียบง่าย และเปิดโอกาสให้เลือกอ่านได้ตามใจชอบ โดยไม่จำเป็นต้องมีการปูพื้นหลัง เหมือนที่ปรากฏในนิตยสารทุกประเภท

เวลาพูดว่า ‘เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว’ มีผลทางใจกับแต่ละคนแตกต่างกันอย่างไร? ผู้ไม่คาดหมายว่าตนจะต้องเดินทางไกล คงไม่เสียเวลาคิดเตรียมเสบียงให้เหนื่อยเปล่า แต่แน่นอน ผู้ที่รอบคอบและคาดหมายว่าตนอาจต้องเดินทางไกลในเร็ววันนี้ คงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนกับการกว้านเสบียงสำคัญติดตัวไว้ก่อนจะสายเกินการณ์

ผมขออัญเชิญพระพุทธพจน์มาเป็นหลักพิจารณาเบื้องต้น ดังนี้

บุคคลทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ กรรมนั้นแหละเป็นของของเขา และเขาย่อมพาเอากรรมนั้นไป กรรมนั้นย่อมตามเขาไปเหมือนเงาตามตน ฉะนั้น ทุกคนควรทำกรรมดี สั่งสมไว้สำหรับภพหน้า บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า ส่วนทรัพย์สินเงินทองข้าวของที่หวงแหนหรือข้าทาสบริวารทั้งหลาย แม้มีอยู่จริงก็ต้องละทิ้งไว้ในโลกนี้ทั้งหมด

สรุปคือ ‘เสบียง’ ตามนัยของหนังสือเล่มนี้ก็คือ ‘กรรมดี’ นั่นเองครับ ปัญหาคือเรายังเจอคำถามชวนฉงนกันอยู่เรื่อยว่าอย่างไรล่ะเป็นกรรมดี ในเมื่อโลกนี้เต็มไปด้วยเงื่อนไข และแม้เราเจตนาดีก็น่าคลางแคลงว่าการกระทำหนึ่ง ๆ ของเราเป็นกรรมดีแน่หรือไม่ ในเมื่อผลออกมาครึ่งขาวครึ่งดำอย่างไรชอบกล

การจะแสดงกรรมดีอย่างได้ผลจึงมักต้องควบคู่ไปกับการแสดงกรรมชั่วด้วย เพื่อขับเน้นให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนก่อน และตามธรรมชาติของการเรียนรู้เรื่องกรรมวิบากนั้น วิธีหนึ่งที่รวดเร็วคืออาศัยคำถามซึ่งคาใจคนโดยมาก ถ้ารวมคำถามชนิดที่ใคร ๆ ก็มีอยู่ในใจกันบ่อย ๆ มาตอบ ก็จะมีความน่าสนใจและชักนำมาศึกษาพุทธพจน์ให้ลึกซึ้งได้ง่ายขึ้น เพราะกรรมวิบากเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นคาตากันทุกวินาทีอยู่แล้ว แต่เมื่อไม่มีมหาบุรุษเช่นพระพุทธองค์มาตรัสแสดงเหตุผลเชื่อมโยงระหว่างกรรมและวิบาก ทุกสิ่งก็คล้ายเกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือมีมหิทธิพลังสำแดงอำนาจชักใยอยู่เบื้องหลัง

โลกยุคก่อนมีคำถามอยู่มาก แต่คำตอบมีอยู่น้อย

ส่วนโลกยุคนี้มีคำตอบอยู่มาก ทว่าน่าแปลกไหมที่คำถามกลับไม่น้อยลง?

นับตั้งแต่ลืมตาดูโลกและเริ่มจำความได้ มนุษย์ทุกคนจะรู้จักรสชาติของความสงสัย ความอยากรู้อยากเห็น และความอยากได้คำตอบกันทั้งสิ้น พูดง่าย ๆ คือพวกเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เต็มไปด้วยคำถามในหัว แล้วก็อาจโชคดีกว่าสัตว์อื่นตรงที่มักได้คำตอบมาไขข้อสงสัยกันเสมอ

เดี๋ยวนี้คำตอบอันชาญฉลาดอย่างที่สุดมีอยู่กลาดเกลื่อน แต่น้อยคนจะเฉลียวใจหรือฉุกคิดว่า ‘แล้วคำถามล่ะ ฉลาดที่สุดแล้วหรือยัง?’

คำถามที่ฉลาดที่สุด น่าจะหมายถึงการแสวงหาความรู้อันเป็นประโยชน์สูงสุด ลองเปรียบเทียบดู ระหว่าง ‘ตกลงหมอนั่นกับยายนั่นเป็นชู้กันหรือเปล่า?’ กับ ‘ตัวเราเหมาะกับอาชีพแบบไหน?’ แน่นอน ทุกคนต้องบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าคำถามข้อแรกไร้สาระ คำถามข้อหลังสิเร่งด่วน ควรได้คำตอบให้เร็วที่สุด เพราะคำถามข้อแรกเป็นเรื่องนอกตัว ขณะที่คำถามข้อหลังนั้น ตัวเราเองเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง

แต่แปลกไหมล่ะ? ในทางปฏิบัติมีคนไม่น้อยที่อยากได้คำตอบจากข้อแรกชนิดเอาเป็นเอาตาย ทั้งที่รู้แล้วไม่ได้สารประโยชน์มากไปกว่าเอามาใช้จ้อกันระหว่างเพื่อนสนิท ด้วยความสะใจที่เห็นคนอื่นเขาเลว เขาชั่วช้า เขาประพฤติผิดศีลธรรม

คำตอบที่ดีที่สุดจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากคำถามที่ดีที่สุด ขอบอกว่าตราบใดเรายังตั้งข้อสงสัยหรืออยากรู้อยากเห็นตามแรงดันของกิเลส ตราบนั้นในหัวเราจะไม่มีคำถามที่ดีที่สุดผุดขึ้นมาเลย

น่าฉุกใจไหมว่าขณะนี้อาจมีคำตอบที่ดีที่สุดอยู่ในโลก ติดอยู่ที่คำถามในหัวของเราอาจยังไม่ได้ตั้งขึ้นมาให้ตรงกับคำตอบดังกล่าวเท่านั้น...

หนังสือ ‘เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว’ เล่มนี้ บรรจุด้วยคำถามและคำตอบที่จะนำไปสู่คำถามที่ดีที่สุดคือ ‘เราจะเอาประโยชน์อันใดติดตัวไปจากโลกมนุษย์ได้บ้าง?’ โดยมีบทส่งท้ายไม่เคยตีพิมพ์มาก่อนเป็นส่วนผนวก คือคำแนะนำตรง ๆ ว่าเสบียงใดเตรียมง่ายที่สุดและคุ้มค่าที่สุดอีกด้วยครับ


ดังตฤณ

ธันวาคม ๒๕๔๗

* * * * * * * * * *

7 เดือนบรรลุธรรม เขียนโดย ดังตฤณ
จัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี


โปรดอ่านตรงนี้ก่อน

คนเราหายใจเข้าออกกันจนเคยชิน ไม่หยุดหายใจแม้ขณะเผลอเหม่อหรือหลับไหลไร้สติ ไม่หยุดหายใจแม้ขณะผิดหวังรุนแรงกับโลกภายนอก และไม่หยุดหายใจแม้ขณะกำลังตั้งหน้าตั้งตาแสวงวิธียุติทุกข์ด้วยทางลัดตัดช่องน้อยแต่พอตัว

แม้อาการร้องไห้ใจจะขาด ก็ต้องอาศัยลมหายใจในการช่วยร้อง

คนเราชาชินกับลมหายใจเสียจนลืมว่าตัวเองยังมีลมหายใจ มีลมหายใจแม้ขณะทะยานอยากได้อยากเอาสมบัตินอกกาย มีลมหายใจแม้ขณะยื้อแย่งแข่งขันเอาชัยกับคนอื่น และมีลมหายใจแม้ขณะแห่งวินาทีสุดท้ายที่ยึดมือญาติผู้มาดูใจก่อนลาจากชั่วนิรันดร์

แม้กำลังออกแรงชักเย่อกับมัจจุราช ก็ต้องอาศัยลมหายใจในการออกแรง

เรามีลมหายใจติดตัว มีสิทธิ์หายใจทุกวินาทีนับแต่แรกเกิด และมีความสามารถในการหายใจเข้าออกสั้นยาวไปต่างๆตามปรารถนา แต่กี่คนที่เรียนรู้ว่ามนุษย์อาจเป็นสุขอยู่กับลมหายใจทุกเฮือกของตนเอง กี่คนที่ตระหนักว่าลมหายใจอาจเป็นสมบัติล้ำค่าน่าเชยชมกว่าสมบัติใดๆ กี่คนที่วาสนาดีพอจะมีโอกาสรับฟังความจริงว่าตราบใดยังถือครองลมหายใจมนุษย์ ตราบนั้นเราอาศัยลมหายใจนั้นเองเป็นบันไดขั้นแรก ขั้นกลาง และขั้นท้ายเพื่อส่งให้ก้าวขึ้นคว้าประโยชน์ขั้นสูงที่สุดในโลกได้ภายในเวลา ๗ เดือน!

พระพุทธเจ้าสิ้นพระชนม์ เสด็จดับขันธปรินิพพานนานแล้ว พระกรัชกายขององค์ท่านจากพวกเราไปแล้ว ทุกวันนี้ไม่มีใครได้โอกาสสดับพระสุรเสียงแห่งองค์ท่านอีกแล้ว

ทว่าความเป็นพระศาสดาท่านยังคงอยู่ ตราบใดที่พระวจนะยังถูกบันทึกสืบทอดไม่ขาดสาย นับแต่ครั้งยังต้องอาศัยการจดจำผ่านวิธีท่องบ่นด้วยปาก มาถึงการจารลงบนใบลาน กระทั่งล่าสุดใช้สื่อเก็บข้อมูลด้วยแสงเลเซอร์ในยุคเรา

ส่วนที่ว่ายังมีการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับจะมีใครช่วยกันรับรู้ ถ่ายทอด และน้อมนำพุทธพจน์มาปฏิบัติให้เกิดผลยืนยันมากน้อยเพียงใด การมีพุทธพจน์อยู่ในตำราหรือแผ่นซีดีรอมเป็นเพียงโอกาสให้เข้าเฝ้าได้ ทว่ายังไม่เกิดการเข้าเฝ้าจริงแต่อย่างใดเลย

ยกตัวอย่างง่ายที่สุด ปัจจุบันชาวพุทธผู้รักดีมักมีความสงสัยกันอย่างแรง ว่าตนสามารถบรรลุมรรคผลได้ในชาตินี้ไหม เพราะฟังจากคนรอบข้างก็เหมือนจะช่วยยืนยันกันเองตามอัตโนมัติ ว่ามรรคผลล้าสมัยแล้ว ไม่มีใครสำเร็จธรรมได้แล้ว ต้องรอไปถึงพุทธกาลหน้าที่พระศรีอาริย์จะมาตรัสรู้เป็นสัพพัญญูผู้เปิดทางนิพพานแก่สัตว์โลกองค์ต่อไป แถมเมื่อย้อนดูตัว ก็เหมือนตัวจะเต็มไปด้วยโคลนกิเลสเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ทำใจให้เชื่อได้ยากว่าตนหรือคนรอบข้างทั้งหลายจะมีกำลังเพียงพอบุกบั่นเข้าถึงมรรคผลก่อนสิ้นชีวิตเอาจริงๆ

ที่ปล่อยให้ความเชื่อดังกล่าวปลูกฝังลงในใจชาวพุทธค่อนประเทศได้นานเพียงนี้ ก็เพราะเราคุยกันเอง พูดกันเองในระดับสาวก ไม่พากันพร้อมใจเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ไม่เปิดโอกาสให้ท่านแย้มพระโอษฐ์ยืนยันด้วยองค์ท่านเอง

ขอเชิญเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกันเถิด พระดำรัสยังดำรงอยู่ เรายังป่าวประกาศ ยังเป็นกระบอกเสียงแทนพระศาสดาได้ หากถามท่านในวันนี้ ก็เชื่อเถิดว่าท่านจะยังตรัสเช่นเดิมดังปรากฏในตอนท้ายของมหาสติปัฏฐานสูตร คือ…

ใครก็ตามที่เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้อย่างต่อเนื่อง เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือพระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือถ้ายังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็เป็นพระอนาคามี ภายในเวลา ๗ ปี หรือ ๖ ปี หรือ ๕ ปี หรือ ๔ ปี หรือ ๓ ปี หรือ ๒ ปี หรือ ๑ ปี หรือ ๗ เดือน หรือ ๖ เดือน หรือ ๕ เดือน หรือ ๔ เดือน หรือ ๓ เดือน หรือ ๒ เดือน หรือ ๑ เดือน หรือ ๑๕ วัน หรือ ๗ วัน

สรุปโดยคร่าว ผู้เป็นต้นตำรับวิธีบรรลุมรรคผลนิพพานนั้น ให้การรับรองว่าคนบารมีมากใช้เวลา ๗ วัน บารมีอย่างกลางใช้เวลา ๗ เดือน บารมีอย่างอ่อนใช้เวลา ๗ ปี ไม่ใช่ต้องใช้เวลากันนานทั้งชาติแต่อย่างใด ต่อให้ใครที่หลงนึกว่าตัวเองบุญน้อย กิเลสหนาปัญญาหยาบ ขอเพียงมีกำลังและความตั้งใจจริง เจริญสติปัฏฐาน ๔ ให้ได้ ๗ ปีอย่างน้อยต้องบรรลุมรรคผลแน่นอน

บรรลุมรรคผลแล้วสุขเยี่ยมยอดอย่างไร รสชาติแห่งภาวะลึกซึ้งสูงสุดจะประหลาดมหัศจรรย์ปานไหน ถ้าจินตนาการไม่ถูกก็ยกไว้ก่อน เอาเป็นว่าแค่บรรลุมรรคผลขั้นแรก เป็นโสดาบันบุคคลที่ถูกต้องในพุทธศาสนา ก็เป็นประกันให้อุ่นใจแล้วว่าถ้าชาติภพมีจริงเราย่อมไม่ไหลลงอบายอีก และถ้านิพพานมีจริงวันหนึ่งเราก็เที่ยงที่จะเข้าถึง

แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีใครกระพือข่าวอันเป็นมหามงคลของโลกดังกล่าว มีแต่เสียงลือดุจข่าวร้ายประจำยุคว่าช้าไปแล้ว ล้าสมัยแล้ว สายเสียแล้ว มรรคผลเป็นเพียงตำนานที่เหล่าสาธุชนผู้มีวาสนาร่วมชาติร่วมแผ่นดินกับพระพุทธโคดมบันทึกไว้ให้คนรุ่นเราชื่นชมเล่น มิใช่ของจริงที่หาได้ในวันนี้วันพรุ่งอีกต่อไป

ณ วันนี้ แม้ยังมีชนกลุ่มน้อยเข้าเฝ้าพระศาสดาผ่านพุทธวจนะ และเกิดศรัทธาปสาทะเชื่อถือเลื่อมใสว่ายังเป็นไปได้จริงในปัจจุบัน กับทั้งฮึกเหิมพอจะลงมือพิสูจน์ให้ประจักษ์ด้วยตนเองแล้ว ไม่สนเสียงบั่นทอนกำลังใจรอบข้างแล้ว ก็อุตส่าห์เกิดปัญหาตามมาอีกจนได้ นั่นคือคำถามคาใจว่าสติปัฏฐาน ๔ คืออะไร ทำตามลำดับขั้นหนึ่งสองสามกันท่าไหน มีสิ่งใดเป็นเครื่องรับประกันว่าปฏิบัติถูกปฏิบัติตรง?

เมื่อช้างยืนอยู่ สำหรับคนตาดีย่อมทราบทันทีว่ารูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร แต่สำหรับคนตาบอดที่มีโอกาสลูบคลำเพียงบางส่วนย่อมเถียงกันไม่หยุด ไม่มีจุดยุติลงเอยว่าช้างเป็นอย่างไรแน่ ใครจับตรงไหนก็นึกว่าช้างเป็นอย่างนั้น นับเป็นเรื่องลำบากที่ควรเห็นใจกันและกัน แต่ขอเพียงเป็นคนตาบอดที่ไม่ปักหลักยืนกับที่ ค่อยๆจับจุดไปจนครบถ้วนก็อาจรู้จักช้างทั้งตัวเท่าเทียมหรือใกล้เคียงคนตาดีได้

อุปมาอุปไมยเช่นเดียวกันกับที่เราพยายามมองเห็นสติปัฏฐาน ๔ ให้เป็นภาพรวมในคราวเดียว ย่อมยากเย็นและดูเหมือนเกินเอื้อมสำหรับคนบอดเช่นเราๆท่านๆ แต่หากเปลี่ยนมุมมอง ลองปรับวิธีมองเสียใหม่ มาแลดูจุดง่ายสุดเหมือนขนมหวานชิ้นเล็กเคี้ยวง่าย คือขั้นตอนแรกสุดที่พระพุทธเจ้าสอนแค่ให้มีสติรู้ว่ากำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า ทุกอย่างก็คงดูเป็นไปได้มากขึ้น ขยับใกล้ความจริงเข้าไปอีกนิด ขอให้ทราบเถิดว่าลมหายใจเข้าออกที่เกิดขึ้นทุกขณะจิตนี้แหละ คืออุปกรณ์ชิ้นแรก ตราบใดใครยังมีมัน ตราบนั้นทุกคนตั้งหลักปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ได้เสมอ

หนังสือเล่มนี้มีจุดประสงค์ง่ายๆ หนึ่งคือให้ผู้อ่านหันมาสนใจฟังพระพุทธเจ้าตรัส สองคือแสดงให้เห็นว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นความจริงได้อย่างไร

ผู้เขียนเป็นคนร่วมสมัยกับผู้อ่าน เพราะฉะนั้นผู้เขียนจึงคิดแบบเดียวกัน สงสัยแบบเดียวกัน รวมทั้งอยากปลงใจเชื่อมั่นได้สนิทแบบเดียวกับผู้อ่าน นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้รับฟังคำถามคาใจของชาวพุทธจำนวนหนึ่ง ซึ่งเหมือนกันราวถอดออกมาจากพิมพ์เดียว คือสงสัยว่าเพื่อปฏิบัติให้ถึงมรรคถึงผลนั้น…

ชาติเดียวทันไหม?

บารมีพอไหม?

ปัญญาไหวไหม?

ถ้าเพียงเปลี่ยนคำเพียงเล็กน้อย โจทย์ของชีวิตจะต่างไป และมีวิธีได้คำตอบสมเหตุสมผลกว่าเดิม เช่นลองถามตัวเองว่า เป็นมนุษย์พอไหม? ก็จะได้คิดถึงศักยภาพของมนุษย์อันเปิดเผย แทนการคิดถึงเรื่องชาติเรื่องบารมีลี้ลับ หากยังลังเลก็อาจเพิ่มเงื่อนไขเข้าไปเช่น เป็นมนุษย์ พบพุทธศาสนาพอไหม? ก็จะได้คิดถึงหลักฐานเป็นตัวบุคคลธรรมดาที่เคยยืนยันการบรรลุธรรมให้พระพุทธเจ้าทั้งในอดีตและปัจจุบัน แทนการทึกทักว่าปัญญาข้านี้คงไม่เพียงพอเป็นแน่

หากยังไม่ปลงใจสนิทก็อาจเพิ่มปัจจัยให้เห็นเค้าเงาคำตอบชัดเจนถึงที่สุด คือ…

เป็นมนุษย์ พบพุทธศาสนา ศรัทธาสติปัฏฐาน ๔ มีใจอุทิศตัว จะสำเร็จไหม?

เริ่มตั้งคำถามกันอย่างนี้ หนทางจะได้ดูสว่างไสวขึ้น และคำตอบจะไม่ลอยมาตามลมหรือไม่ผุดขึ้นจากความคาดเดาคะเนเองใดๆ เพราะพระพุทธองค์ผู้รู้แจ้งแทงตลอดเยี่ยงสัพพัญญูเจ้าทั้งหลายรับรองไว้หนักแน่น ว่าถ้าทำจริง ต่อให้บารมีน้อยเท่าน้อยก็ต้องถึงที่สุดได้ใน ๗ ปี

ทุกอักษรในหนังสือเล่มนี้ยืนอยู่บนฐานเดียวกับวิธีตั้งคำถามหามรรคผลดังกล่าว หนังสือเล่มนี้จะได้แสดงตามลำดับตั้งแต่เดือนแรกไปจนถึงเดือนที่เจ็ด ว่าเกิดประสบการณ์ทางใจกันอย่างไร จากภาวะแบบคนธรรมดาสามัญไปจนกระทั่งปรากฏการณ์แห่งมรรคผลอุบัติขึ้น

เพื่อป้องกันข้อกังขาต่างๆนานา ผู้เขียนขอทำความเข้าใจไว้ ๓ ประการ คือ…

ประการแรก ชื่อหนังสือไม่ได้เป็นคำรับรองว่าผู้เขียนบรรลุธรรม แต่เป็นการแสดงว่าพระพุทธเจ้าตรัสยืนยันไว้เช่นนี้ จะได้เป็นการยุให้ผู้ยังลังเลสงสัยเกิดบันดาลพลังใจเข้มแข็งพอจะลุกขึ้นพิสูจน์ความจริงภายในขอบเขตเวลาที่แม้ไม่เร็วทันใจ แต่ก็ไม่ช้าเกินรอ

ประการที่สอง คำว่า ฉัน ตลอดหนังสือเล่มนี้มิได้หมายถึงตัวผู้เขียน แต่เป็นการคัดเอาประสบการณ์จริงตามสถิติที่มักเกิดขึ้นกับผู้ภาวนา ทั้งตัวผู้เขียนเอง ทั้งเพื่อนนักปฏิบัติธรรม ตลอดไปจนกระทั่งครูบาอาจารย์ในอดีตก่อนพุทธปรินิพพานมาถึงปัจจุบันที่เป็นยุคอินเตอร์เน็ต แล้วผูกรวมเป็นเสมือนบุคคลคนเดียว โดยหวังว่าผู้อ่านอ่านแล้วจะรู้สึกโดนตัว โดนใจ ตั้งแต่ต้นจนจบ

ประการที่สาม ปรากฏการณ์ขณะจิตของการบรรลุมรรคผลนั้น ผู้เขียนนำมาจากการสาธยายธรรมในพระไตรปิฎก รวมทั้งอรรถกถาจารย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าท่านถึงธรรมจริง แม้การสาธยายลักษณะนิพพานที่จิตเข้าไปรู้ ก็มีหลักฐานเป็นพุทธพจน์ หาใช่สิ่งที่ผู้เขียนคิดประดิษฐ์ขึ้นจากความคิดหรือจินตนาการแต่อย่างใด

สรุปแล้วสิ่งที่จะได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้คือการเห็นภาพสมมุติของบุคคลธรรมดาสามัญคนหนึ่งที่เพียรปฏิบัติธรรมตลอดเจ็ดเดือน อันพอทำให้ยอมลงใจเชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง มรรคผลนิพพานมีจริง และพระพุทธเจ้าตรัสว่าสติปัฏฐาน ๔ เป็นทางเดียวที่จะพาไปถึงมรรคผลนิพพาน เป็นสิ่งที่ยืนยงคงกระพัน เป็นสัจจะไม่จำกัดกาล หมายถึงยังปฏิบัติกันได้ในปัจจุบัน หรือถ้าร้อยปีพันปีข้างหน้าสติปัฏฐาน ๔ ยังคงบันทึกสืบทอดกันอยู่ ผู้คนในยุคนั้นก็จะสามารถปฏิบัติเพื่อถึงมรรคผลนิพพานกันได้ ไม่ล้าสมัยแต่อย่างใดเลย

ขอกล่าวถึงที่มาที่ไป หรือเบื้องหลังของหนังสือเล่มนี้อีกสักเล็กน้อย เดิมทีด้วยความปรารถนาจะให้คนร่วมสมัยได้เกิดความศรัทธาพระพุทธองค์นั้น ผู้เขียนเกิดแรงบันดาลใจจะเรียบเรียงหนังสือเกี่ยวกับสติปัฏฐาน ๔ ให้อ่านเข้าใจง่ายด้วยภาษาร่วมสมัย โดยยกพระพุทธพจน์ขึ้นตั้ง แล้วแจกแจงตามลำดับว่าในฐานะผู้ปฏิบัติตามนั้น เมื่อทำเป็นขั้นๆแล้วเกิดผลอย่างไร หากติดขัดอุปสรรคอันใดแล้วจะผ่านไปได้ด้วยวิธีไหน

หนังสือดังกล่าวคือ มหาสติปัฏฐานสูตร มีอยู่ทั้งหมด ๒ เล่ม เล่มแรกเขียนเสร็จแล้ว ส่วนเล่มจบยังอยู่ในระหว่างทางอันขรุขระ อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจากผู้ศึกษาหนังสือเล่มแรกก็ทำให้ผู้เขียนเห็นตามจริงว่าเนื้อหายังหนักเกินไปสำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มมีความสนใจการภาวนา พอเห็นศัพท์แสงธรรมะที่ไม่เคยคุ้นแล้วถอดใจ ไม่มีความอุตสาหะพอจะอ่านและทำความเข้าใจให้ทั่วถึงตลอด

เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ทำให้พอมองเห็นล่วงหน้าว่าเล่มจบคงไม่เป็นมิตรกับมือใหม่ยิ่งกว่าเดิม เนื่องจากผู้เขียนตระเตรียมเนื้อหาทั้งข้อใหญ่ข้อย่อยไว้ละเอียดยิบ คนที่จะอ่านสนุกได้คงต้องมีพื้นฐานภาคทฤษฎีและปฏิบัติมากแล้ว

ผู้เขียนจึงตัดสินใจชะลอการออกหนังสือมหาสติปัฏฐานสูตรเล่มจบไว้ชั่วคราว แล้วคั่นกลางด้วยหนังสืออ่านง่ายสบายตาทั้งสำหรับมือใหม่และมือเก่า ใช้ภาษาเชิงพรรณนาให้เห็นภาพมากขึ้น รวมทั้งอ้างอิงพุทธพจน์เฉพาะจุดที่จำเป็น รวมแล้วเนื้อหาก็คือการผนวกเอามหาสติปัฏฐานสูตรเล่มแรกกับเล่มจบไว้อย่างย่นย่อกะทัดรัดนั่นเอง เชื่อว่าถ้าทำความเข้าใจกับเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จบ ก็จะสามารถย้อนกลับไปอ่านมหาสติปัฏฐานสูตรด้วยความเข้าอกเข้าใจชัดเจนขึ้น

ผู้เขียนเข้าใจดี ว่าหนังสือธรรมปฏิบัติที่อ่านง่ายที่สุดต้องใช้ประโยคและถ้อยคำบอกเล่าอันเป็นประสบการณ์สามัญล้วนๆ แต่ความจริงคือถ้าไม่มีศัพท์บัญญัติให้เรียกขานบ้างเลย ความทรงจำของคนเราจะพร่าเลือนจับต้องยาก เพราะฉะนั้นศัพท์ธรรมะจึงต้องปรากฏในหนังสือเล่มนี้ประปราย แต่เมื่อปรากฏในที่ใดเป็นครั้งแรก ก็จะพยายามอธิบายความหมายไว้ให้ง่ายที่สุด ขอให้ผู้อ่านยอมสละเวลาทำความเข้าใจบ้าง เพื่อประโยชน์ในระยะยาวต่อไป

อาการน้อมปักใจเชื่อเป็นมโนกรรมชนิดหนึ่ง และกรรมในชาตินี้จะพยายามรักษาเราไว้ในเส้นทางเดิมในชาติถัดๆไป กล่าวคือเมื่อเกิดใหม่ย่อมมีแนวโน้มจะเชื่อเช่นเดิม หากชาตินี้ปักใจเชื่อไปจนตายว่าเราไม่มีสิทธิ์บรรลุมรรคผล ชาติหน้าแม้พบพระพุทธเจ้าก็คงมีกำลังใจอ่อน อาจทำบุญอธิษฐานขอไปบรรลุมรรคผลในพุทธกาลต่อๆไปอยู่ดี

แต่หากเป็นตรงกันข้าม ปักใจกับตนเองว่าจะเชื่อเรื่องบรรลุมรรคผลได้จริงด้วยการเพียรเจริญสติปัฏฐาน ๔ อย่างต่อเนื่อง ไม่ช้าไม่นานต้องสำเร็จผลดังพุทธพยากรณ์ เช่นนี้อย่างไรก็ไม่ขาดทุน ด้วยความสุขอันเกิดแต่สติในปัจจุบัน และแม้พลาดมรรคผลในชาตินี้เข้าจริงๆเพราะถึงอายุขัยเสียก่อน ชาติต่อไปก็ต้องมีนิสัยทางความคิดแบบเดิม บำเพ็ญเพียรหนักแน่นเข้าอีก แล้วในที่สุดย่อมแก่กล้ากระทั่งเข้ากระแสจนได้

การเจริญสติปัฏฐาน ๔ เป็นพรในตัวเอง และเที่ยงที่จะให้ผลเป็นการบรรลุธรรมตามคำพยากรณ์ของพระพุทธองค์ ดังนั้นผู้เขียนจึงไม่อวยพรง่ายๆเพียงขอให้ทุกท่านบรรลุมรรคผล แต่ขอให้ลองทำตามพุทธพจน์จริงจังสักปีหนึ่งเถิด จะทราบเองโดยไม่ต้องฟังคนโน้นทีคนนี้ที ว่าเกิดเป็นมนุษย์ พบพุทธศาสนา ศรัทธาสติปัฏฐาน ๔ มีใจอุทิศตัว จะสำเร็จประโยชน์สูงสุดได้หรือไม่

ขอให้อานิสงส์จากการเขียนจงได้แก่ผู้ที่มีโอกาสอ่านทุกท่านเทอญ.

ดังตฤณ

ตุลาคม ๒๕๔๖

* * * * * * * * * *




 

Create Date : 15 มกราคม 2549
0 comments
Last Update : 10 ธันวาคม 2551 17:25:50 น.
Counter : 817 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ข้าวเหนียวหมูหวาน
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เกิดกรุงเทพ.. โตกรุงเทพ.. เรียนหนังสือกรุงเทพ... บ้านอยู่กรุงเทพ.... อนาคต ตั้งใจจะเป็นเจ้าของรีสอร์ทเล็ก ๆ ที่เชียงราย แต่ตอนนี้...ยังทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทฯ โทรศัพท์มือถือค่ายหนึ่ง ..และยังอยู่....กรุงเทพ...
Friends' blogs
[Add ข้าวเหนียวหมูหวาน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.