Mr.Pos : The Thinking & Learning in My Life
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2556
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
6 ธันวาคม 2556
 
All Blogs
 
รำลึกชีวิตวัยเยาว์ ‘เนลสัน แมนเดลา’

  

เช้าตรู่ของวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๖ โลกได้สูญเสีย วีรบุรษของชาวผิวดำ ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้การแบ่งแยกสีผิว ‘เนลสัน แมนเดลา’ ไปแล้วด้วยวัย ๙๕ ปี ณ บ้านพักชานเมืองโจฮันเนสเบิร์ก หลังจากที่ แมนเดลา ได้ต่อสู้กับอาการป่วยไข้มายาวนานหลายเดือน 

ประธานาธิบดี ‘จาค็อบ ซูมา’ แห่งแอฟริกาใต้ ได้กล่าวรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของ แมนเดลา ไว้ว่า.. ประเทศนี้ได้สูญเสียบุตรผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด และประชาชนแอฟริกาใต้ก็ได้สูญเสียบิดาอันเป็นที่รักยิ่งไป สิ่งที่ทำให้ แมนเดลา ยิ่งใหญ่ คือสิ่งที่ทำให้เขาเป็นมนุษย์ นั่นเอง

 

โลกใบนี้จดจำชื่อของ แมนเดลา ในฐานะของนักเคลื่อนไหวต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวเพื่อพี่น้องร่วมชาติ อย่างอดทน กล้าหาญ และเสียสละ จนกระทั่งเขาได้รับ รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี ๑๙๙๓ และในปี ๑๙๙๔ ถัดมา แมนเดลา ก็ก้าวสู่ตำแหน่ง ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้ที่ได้รับการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ จนก้าวลงจากตำแหน่งสูงสุดนี้ในปี ๑๙๙๙… ในวาระที่คนทั้งโลกต่างร่วมไว้อาลัยต่อ บุรุษผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ ๒๐ ผู้นี้ ผมขอเรียบเรียงฉากชีวิตในวัยเยาว์บางส่วนของ แมนเดลา มาให้ได้รับรู้กันครับ..

 

 

 

วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๑๙๑๘ เด็กชายผู้หนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวของหัวหน้าผู้ปกครอง ชนเผ่าเท็มบู (Thembu) แห่งหมู่บ้านเล็กๆ ทางตอนใต้ของเมืองควูนู (Qunu) ใน Transkei ซึ่งเวลานั้นเป็นจังหวัด หรือแคว้นหนึ่งของดินแดนแอฟริกาใต้ ในวัยเด็กเขาถูกเรียกขานในภาษา Xhasa ว่า ‘Rolihlahla’ ซึ่งมีความหมายถึง ‘ troublemaker’ หรือ เด็กน้อยผู้สร้างปัญหา อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา เด็กผู้นี้ ก็กลายมาเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของโลกในศตวรรษที่ยี่สิบ ชื่อของเขาเป็นแรงบันดาลใจของคนสีผิว และคนทุกชาติภาษาที่เรียกร้องความเท่าเทียม ความยุติธรรมในสังคม อีกหลายล้านคนทั่วโลก

                Transkei เป็นหนึ่งในเขตแคว้นอันมีภูมิประเทศงดงามของ แอฟริกาใต้ ที่เต็มไปด้วยภูเขาและแม่น้ำ ทุ่งดอกไม้ ในฤดูใบไม้ผลิ และมีต้นไม้สีเขียวอุดมสมบูรณ์ตลอดปี Rolihlahla เป็นหนึ่งในบุตร ๑๓ คนของหัวหน้าเผ่า ระหว่างวัยเด็ก เขาโลดแล่นสนุกสนานกับเพื่อนๆ วัยเดียวกันในหมู่บ้านกลางทุ่งหญ้ากว้าง ไล่ต้อนแกะ และฝูงวัว เข้าป่าปีนหาน้ำผึ้ง และลงว่ายในกระแสน้ำของลำธารที่เชี่ยวและเย็นจัดที่ไหลมาจากเขา

                Rolihlahla ได้เข้าโรงเรียนเมื่ออายุ ๗ ปี ซึ่งถือว่าเขาได้รับโอกาสที่ดีในการศึกษาต่างไปจากพี่น้องคนอื่นๆ อีก ๑๓ ชีวิต และวันแรกในห้องเรียน คุณครูของเขาคือ Ms. Mdingane ก็ได้มอบชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘เนลสัน’ ให้กับเขา และกลายเป็นชื่อที่คนทั้งโลกรู้จักในเวลาต่อมา

                บิดาของ เนลสัน จากเขาไปชั่วชีวิตเมื่อเขาอายุได้เพียง ๙ ขวบ เวลานั้นผู้เป็นแม่จึงตัดสินใจนำ เขา ไปอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลุง Jongintaba ผู้นำเผ่า Thembu ประสบการณ์ช่วงที่พักพิงอยู่กับลุง ผู้มีสถานะ มีอำนาจแห่งการปกครองช่วงนี้ทำให้ เนลสัน เริ่มซึมซับภาวะ และวิถีผู้นำต่างๆ ที่ควรจะเป็น เขาได้อยู่ในเหตุการณ์ เฝ้าสังเกตการณ์ ในที่ประชุมการโต้เถียง การปรึกษาหารือระหว่างลุง และประชาชนในเผ่าที่ต่างพูดคุยกันถึงความเป็นอยู่ สิทธิเสรีภาพ และอนาคตที่ดีกว่าเดิมของคนแอฟริกัน เนลสัน ได้รับรู้กฎหมายใหม่ของผู้ปกครองชาวผิวขาว ที่ออกมาบังคับใช้กับชาวพื้นเมืองผิวสี เนลสัน ยังมีโอกาสศึกษาประวัติศาสตร์ด้านต่างๆ ของชาวแอฟริกัน รวมทั้งเรื่องราวการเดินทางมาถึงแผ่นดินกาฬทวีป ของคนผิวขาวจากยุโรปอีกด้วย

                       

           ภูมิประเทศในชนบทอันงดงามของ เมือง Transkei ที่ แมนเดลา เติบโตมาในวัยเด็ก

    

            คนขาวกลุ่มแรกที่เหยียบย่างมาถึง แผ่นดินตอนใต้ของแอฟริกานั้นเดินทางจากยุโรป มาถึงในปี ๑๖๕๒ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นทำลาย และเหยียดย่ำวัฒนธรรม วิถีการดำรงอยู่ และศักดิ์ศรีของคนแอฟริกันเจ้าของถิ่นดั้งเดิม ราว ๒๐๐ ปีถัดมา ชาวแอฟริกันเผ่าใหญ่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Zulu , Xhosa , Sotho และเผ่าอื่นๆ จึงร่วมใจผนึกกำลังกันสู้ต่อต้านอำนาจการปกครองของชาวยุโรป ที่กำลังจะยึดครองดินแดนบรรพบุรุษของพวกเขา หากแต่อาวุธแบบโบราณของชาวแอฟริกัน ก็ไม่อาจต้านทานแสนยานุภาพของอาวุธปืนสมัยใหม่ของกองกำลังทหารยุโรปได้เลย ฉากจบของการต่อต้านครั้งนั้น เป็นสัจธรรมที่ผู้อ่อนแอกว่าย่อมถูกผู้แข็งแรงกว่ากลืนกินอยู่วันยังค่ำ

                สำหรับชาวผิวขาวหลัก ๒ กลุ่ม ที่เข้ามาดำรงอาศัยในแผ่นดินแอฟริกาใต้นั้น ก็คือ ชาวบริเตน ที่พูดภาษาอังกฤษ และชาวเนเธอร์แลนด์ ที่กลายมาเป็นที่รู้จักในชื่อ Afrikaners ซึ่งพูดภาษา Afrikaans แม้คนขาวต่างภาษาทั้งสองกลุ่มจะมีพื้นฐานไม่ได้เป็นมิตรที่ดีกันแต่อย่างใด แต่พวกเขาก็รับรู้เป็นนัยว่าพวกเขามี ศัตรูกลุ่มเดียวกันที่จะต้องร่วมมือกันกำจัด ก็คือชาวแอฟริกันผิวสีนั่นเอง

                เมื่อถึงปี ค.. ๑๙๑๐ แคว้นดินแดนต่างๆ ในอาณาเขตแถบนี้ ก็ได้ถูกรวบรวมการปกครองเข้าด้วยกันกลายเป็นประเทศแอฟริกาใต้ โดยรัฐบาลกลางที่ปกครองโดยคนผิวขาวแบบเบ็ดเสร็จ ถึงแม้ว่าประชากรมากกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ในประเทศเวลานั้นจะเป็นคนแอฟริกันก็ตาม

                จากนั้น..โฉมหน้าของดินแดนตอนใต้สุดของทวีปสุดลึกลับอย่างกาฬทวีป ก็ถูกพลิกโฉมไปอย่างมหาศาล เมื่อมีการค้นพบเหมืองเพชร ในเขตปกครองของอังกฤษ ที่เมือง Kimberley ในปี ๑๘๖๗ และมีการค้นพบ สายแร่ทองคำ ในเขตพื้นที่ของชาวดัตช์ ที่เมือง Transvaal ในปี ๑๘๘๖ ความละโมบ และการแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวยของคนผิวขาวที่เข้ามายึดครอง ได้บีบบังคับ กะเกณฑ์ให้เหล่าคนผิวสีต้องมีสถานะตกต่ำ กลายไปเป็นแรงงานระดับล่างในเหมืองเพชร และเหมืองทองคำ แต่พวกเขาก็หาได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมกลับคืนมาแต่อย่างใด เพราะผลกำไรและเงินทองมหาศาลทั้งหมดกลับตกอยู่กับ เจ้าของเหมืองชาวยุโรป เพียงฝ่ายเดียว นี่อาจเป็นสัญญาณแรกๆ แห่งการกดขี่คนต่างเผ่าพันธุ์ ต่างสีผิว ที่อุบัติขึ้นเป็นครั้งแรกๆ ในดินแดนแอฟริกาก็ว่าได้

                ว่ากันว่า ในช่วงเวลาแห่งการกอบโกยสินแร่ความร่ำรวยของชาวยุโรป คนงานในเหมืองชาวแอฟริกัน ต้องตกอยู่ในสภาพการดำรงชีวิตที่ย่ำแย่ คนงานถึง ๕๐ ชีวิตต้องแออัดยัดเยียดพักอาศัยอยู่ภายในห้องแคบๆ เพียง ๑ ห้อง คนงานต้องมีเอกสารใบอนุญาตผ่านแสดงตัว ซึ่งออกโดยเจ้าหน้าที่ผิวขาว ที่จะอนุญาตให้พวกเขาอยู่ได้เฉพาะในอาณาเขตใกล้เหมืองเท่านั้น นี่ก็คือการออกกฎหมายจำกัดอาณาบริเวณอยู่อาศัยของคนผิวดำ นั่นเอง

สภาพชีวิตอันยากแค้นของชาวเหมืองผิวดำ ที่ถูกนายจ้างผิวขาวกดขี่      

        ในปี ค..๑๙๓๖ ขณะที่ เนลสัน กำลังอยู่ในโรงเรียนนั้น รัฐบาลกลางผิวขาวในเมือง เคปทาวน์ (Cape Town) ก็ได้ปฏิเสธสิทธิ อำนาจ และเสียงโหวตในสภาของตัวแทนจากคนผิวสี ที่มีอยู่เพียงจำนวนน้อยนิด ให้กลายเป็นเสียงที่ว่างเปล่า และได้ออกกฎหมายเด็ดขาดใหม่ บังคับให้คนแอฟริกัน ต้องถือเอกสารติดตัวในการเดินทางไปไหนต่อไหน ที่ออกโดยรัฐ  ซึ่งยังถือเป็นการควบคุมการจ้างงาน การกักกันอาณาบริเวณ ไม่ให้คนแอฟริกัน สามารถไปไหนนอกเคหะสถานในยามค่ำคืนได้ ซึ่งหากพวกเขาถูกเจ้าหน้าที่ตรวจ โดยปราศจากใบอนุญาตที่ต้องพกพานี้แล้ว พวกเขาก็จะถูกส่งไปจำคุกอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทันที การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในแอฟริกา ได้เกิดขึ้นแล้ว !

                ปี ค.. ๑๙๓๖ ลุงของ เนลสัน ได้ตัดสินใจส่งเขาเข้าเรียนต่อยัง ‘มหาวิทยาลัยฟอร์ต แฮร์’ (Fort Hare) ซึ่งถือเป็นสถาบันการศึกษาที่ดีที่สุดขณะนั้นในแอฟริกาใต้สำหรับ ลูกหลานของคนดำ ณ ที่นั้น เนลสัน ได้สัมผัสกับชีวิตที่แปลกใหม่แตกต่างไปจากชนบทที่เขาเติบโตในวัยเด็ก เขาลุ่มหลงกับกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งกีฬา การเต้นรำ พร้อมๆ กับการเรียนในชั้นเรียนที่เริ่มโดดเด่น ฉายแววอย่างมีอนาคต เนลสัน ยังได้พบปะกับเด็กผู้ชายวัยรุ่น ที่เดินทางมาจากส่วนต่างๆ ทั่วทั้งแอฟริกา ซึ่งถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ เปิดประสบการณ์ชีวิตให้กับ เนลสัน เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในชั้นเรียนคัมภีร์ไบเบิ้ล วันอาทิตย์ ที่เขาได้รู้จักกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน ที่ชื่อ ‘โอลิเวอร์ เท็มโบ’ (Oliver Tambo) ที่แก่วัยกว่าเขา และนี่เป็นการพบเจอกันของมิตรแท้ ที่กลายมาเป็นเพื่อนกันตลอดชีวิต และร่วมอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อประเทศชาติ ในเวลาต่อมา

 

       

แมนเดลา ในชุดแต่งกายพื้นเมือง เผ่าเท็มบู เต็มยศ ในวัยหนุ่ม

            แต่จุดพลิกผันในชีวิตมหาวิทยาลัยของ เนลสัน ก็เกิดขึ้น ในช่วงการเรียนปีที่สอง เวลานั้นซึ่ง เนลสัน ได้รับเลือกให้เป็นประธานผู้นำนักเรียน และเขาก็ได้แสดงบทบาทผู้นำเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้เป็นครั้งแรๆ เนลสัน นำพานักเรียนคนอื่นๆ ประท้วงโจมตีผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพื่อเรียกร้องให้พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนให้ดีขึ้น เพื่อส่งผลที่ดีต่อการเรียนของนักเรียน เมื่อการสืบสวนได้เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริหาร และอาจารย์ต่างก็ตั้งเป้าโจมตีไปที่ เนลสัน ว่าเป็นนักเรียนหัวรุนแรง ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการประท้วงครั้งนี้ เขาถูกตั้งข้อกล่าวหา จนพ้นสภาพนักเรียน และไม่ได้กลับเข้าชั้นเรียนในปีสุดท้ายนั้นเลย   

 

                ระหว่างช่วงพักการเรียน ลุงของ เนลสัน ได้พร่ำสอนบทเรียนในชีวิตหลายสิ่งหลายอย่างแก่หลานชาย โดยเฉพาะการต้องเคารพ เชื่อฟัง และอยู่ในกรอบของมหาวิทยาลัย ถึงเวลานี้ หัวหน้าเผ่าเท็มบู ได้ตัดสินใจตีเส้นชะตาให้กับ เนลสัน ด้วยตัวเอง ด้วยการตัดสินใจเด็ดขาดจับ เนลสัน เข้าพิธีแต่งงานแบบคลุมถุงชนกับเด็กสาวในเผ่าที่เขาเลือกให้ พร้อมๆ กับ จัสติค (Justice) บุตรชายของเขาเองด้วย สิ่งนี้เองที่กลายเป็นจุดพลิกผันอย่างรุนแรงในชีวิตของ เนลสัน เด็กหนุ่มทั้งสอง ไม่อาจยอมรับ และเห็นด้วยกับประเพณีโบราณอันคร่ำครึ และไม่ยอมใช้ชีวิตคู่กับผู้หญิงที่เขาไม่เคยรัก และรู้จักมาก่อน เด็กหนุ่มทั้งสอง ตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิต ด้วยการหลบหนีออกจากหมู่บ้าน และมุ่งหน้าสู่ ‘โจฮันเนสเบิร์ก’ เมืองใหญ่ที่สุดของ แอฟริกาใต้ ที่อยู่ห่างไกลออกไปจากถิ่นเกิดของเขาถึง ๖๐๐ กิโลเมตร นี่คือการเดินทางสู่เมืองใหญ่ ที่ เนลสัน ไม่เคยรู้จักมาก่อน และเป็นการเดินทางไกลครั้งแรกที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าชะตาชีวิตของเด็กแอฟริกันเผ่าเท็มบูผู้นี้ และเปลี่ยนโชคชะตา ประวัติศาสตร์ของแอฟริกาใต้ไปตลอด นั่นคือปี ค..1941 ขณะที่ แมนเดลา มีอายุได้เพียง ๒๓ ปีเท่านั้น..

เรียบเรียงและอ้างอิงจาก : ‘Nelson Mandele’ Oxford Bookworms Factfiles by Rowena Akinyemi

 

 

 

 




Create Date : 06 ธันวาคม 2556
Last Update : 6 ธันวาคม 2556 15:42:58 น. 0 comments
Counter : 2324 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

โปสการ์ดราดซอส
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add โปสการ์ดราดซอส's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.