Mr.Pos : The Thinking & Learning in My Life
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2556
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
6 พฤษภาคม 2556
 
All Blogs
 
La tierra de las papas : โฉมหน้า ‘โบลิเวีย’ และมิตรภาพดีๆ ที่ใต้เปลือกมันฝรั่ง

เก็บความคิดหล่น..บน ‘ชั้นหนังสือ’

La tierra de las papas :                                                                    โฉมหน้า ‘โบลิเวีย’ และมิตรภาพดีๆ ที่ใต้เปลือกมันฝรั่ง

 

 

เอ่ยชื่อ 'โบลิเวีย' แล้ว รู้สึกไหมว่า ประเทศลาตินอเมริกาแห่งนี้ ช่างห่างไกลจากการรับรู้ของเราเหลือเกิน.. เอาความรู้แบบพื้นฐาน เบสิกสุดก่อนก็ได้ครับ โบลิเวีย มีเมืองหลวงชื่อ 'ลา ปาซ' (อย่าเผลอ ไปนึกถึง ลาซา ของ ทิเบต เป็นอันขาด ไกลกันคนละโยชน์ทีเดียว) เมืองนี้ตั้งอยู่กลางแอ่งบนที่ราบสูง อัลปลาติโน่ ที่สุดแห้งแล้ง และสูงสมชื่อ อยู่เหนือน้ำทะเลถึง 3,600 เมตร สูงกว่าหลังคาโลก ทิเบต ด้วยซ้ำ ชื่อ ลา ปาซ มักจะวนๆ ผ่านหูผ่านตาผม ก็ช่วงที่มีทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอเมริกาใต้นี่แหละ เปล่าเลย ! โบลิเวีย ไม่ได้เด่นดังด้านฟุตบอลอะไรขนาดนั้น นักเตะซูปเปอร์สตาร์ก็ไม่รู้จักซักราย แต่เมื่อใดที่ โบลิเวีย ต้องเป็นเจ้าบ้าน รับการมาเยือนของ โคตรทีมลูกหนังอย่าง อาร์เจนติน่า บราซิล ผลสกอร์ที่ได้ โบลิเวีย จะต้องมีชัยเหนือแซมบ้า - ฟ้าขาวได้แทบทุกที ขี้เหร่สุดก็ยันเสมอ ทีมเวิลด์คลาสเหล่านี้ได้ก็แล้วกัน

 

ไม่ต้องแปลกใจหรอกครับว่า ทำไมเหล่าแข้งทองอย่าง เมสซี กาก้า หรือ โรนัลดิลโญ่ ถึงเอาชื่อมาทิ้งที่ กรุงลา ปาซ กันทั้งนั้น ก็ดูตัวเลขความสูงจากระดับน้ำทะเลของ ลา ปาซ สิครับ คนไม่เคยใช้ชีวิต แค่มาเดินเล่น หายใจคงแทบไม่ทันแล้ว ความสูงระดับนั้น ออกซิเจนแสนจะเบาบาง นับประสาอะไรกับเตะฟุตบอลเป็นเรื่องเป็นราว เมสซี ก็ เมสซี เถอะ หนาวไปตามๆ กัน !   

 

อีกหนึ่งความรู้น้อยๆ ที่เชื่อมโยงผม เมื่อพูดถึง โบลิเวีย ขึ้นมา จำได้แม่นว่านี่คือดินแดนที่นักปฏิวัติ วีรบุรุษโลกที่ 3 อย่าง ‘เออเนสโต เช เกวารา’ ต้องมาจบชีวิตอันเป็นตำนานลงก่อนวัยอันควร ด้วยฝีมือ CIA สหรัฐฯ นั่นเอง พ้นจากนี้ องค์ความรู้เกี่ยวกับ โบลิเวีย ของผม ก็มีอยู่เบาบางพอๆ กับปริมาณออกซิเจน ที่ กรุงลา ปาซ นั่นแหละ เข้าไปค้นอ่านตาม  เว็บไซด์วิกิพีเดีย ก็มีแต่ข้อมูลดิบทื่อๆ แข็งๆ ไม่ได้แรงบันดาลใจอะไร จนกระทั่งมาพบ หนังสือวรรณกรรมเยาวชนจากประเทศสเปน ไซส์เล่มกะทัดรัด ที่ชื่อ ‘La tierra de las papas’ ในชื่อไทยว่า ‘บ้านเกิดมันฝรั่ง’ นั่นแหละ ( papas - ปาปาส คำหลังสุดนี้ แปลว่า มันฝรั่ง ครับ) ผมถึงบางอ้อว่า โบลิเวีย  ยังเป็นถิ่นกำเนิด แหล่งปลูก 'มันฝรั่ง' อาหารที่คนทั้งโลกคลั่งไคล้อีกด้วยแน่ะ แต่นี่ก็แค่เปลือกๆ ผิวๆ เท่านั้นเอง เพราะเมื่อค่อยๆ ปอกเปลือกมันฝรั่งออกมา วรรณกรรมเยาวชน เล่มนี้ ยังมีมิตรภาพของเด็กสาวจากสองซีกโลก สองอารยธรรมความเจริญ ปรากฏผูกพัน อย่างน่ารักน่าชังอยู่ตลอดเล่มอีกด้วย

 

ผู้แต่งหนังสือเรื่องนี้เป็นชาวเมืองมาดริด ประเทศสเปน ครับ มีชื่อว่า ‘ปาโลม่า บอร์ดอนส์’ (Paloma Bordons) มีหน้าที่การงานหลักในด้านป่าไม้ และช่วงชีวิตหนึ่งก็มีโอกาสเดินทางไปรับภารกิจอยู่ที่ โบลิเวีย ก่อนจะนำประสบการณ์เรื่องราว ที่ได้พบเจอในสังคม วัฒนธรรมของดินแดนลาตินอเมริกา ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์สีสันของ ชนพื้นเมืองอินเดียนแดง มาเขียนเล่าให้ชาวสเปนด้วยกันได้รับรู้ ส่วนนักแปลมือฉมังคือ ‘รองศาสตราจารย์ สถาพร ทิพยศักดิ์’ ผู้เชี่ยวชาญภาษา และวัฒนธรรมสเปน อันดับต้นๆ ของเมืองไทย เป็นผู้ถ่ายทอดความงดงามออกมาเป็นภาษาไทยนั่นเอง  

 

La tierra de las papas ถ่ายทอดให้เรารับรู้โฉมหน้า ความเป็นไปของ โบลิเวีย ประเทศสุดล้าหลังในแง่มุมที่เปี่ยมสีสัน ล้นด้วยชีวิตชีวาของผู้คน วัฒนธรรมชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองที่จับต้องได้ ผ่านมุมมองของ ‘มาเรีย’ สาวน้อยชาวเมืองมาดริด สเปน ที่ต้องระหกระเหิน จากบ้านเกิดที่สะดวกสบายศิวิไลซ์ ไปเริ่มชีวิตใหม่ที่ เมืองหลวงของ โบลิเวีย โลกที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อน พร้อมกับ ป๊าป๋า (คำที่เธอใช้เรียก พ่อ) ที่ต้องไปรับภารกิจงานด้านการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ที่นั่น มาเรีย ไม่ได้มีประกายตาสดใส หรือตื่นเต้นดั่งได้ของขวัญชิ้นใหม่ เมื่อต้องย้ายไปอยู่อีกซีกโลกแต่อย่างใดหรอกครับ แต่ เธอ เต็มไปด้วยอคติ ต่อต้าน ไม่ยอมรับชีวิตที่กำลังจะพลิกผันอย่างสุดฤทธิ์ นี่แหละคือความสนุก ที่ทั้งแสบทั้งคันของหนังสือเล่มนี้ !

 

เอาล่ะ แม้ว่า สถานะของ มาเรีย และป๊าป๋า จะถือเป็นคนต่างชาติชั้นสูง (ชาวสเปน เคยเป็นเจ้าอาณานิคมในประเทศแถบลาตินอเมริกา มาก่อน รวมถึง โบลิเวีย นี้ด้วยนะ มาเรีย คงอยากบอกคนที่นี่เช่นนั้น !) ที่อาศัยอยู่ใน คอนโด อย่างสะดวกสบาย ในย่านคนมีตังค์ กลาง กรุงลา ปาซ แต่ในเมื่อประชากรกว่าครึ่งค่อนประเทศของ โบลิเวีย มีแต่คนยาก และเป็นชนพื้นเมืองที่ล้าหลัง แถมยังทะลักเข้ามาหางานใน กรุงลา ปาซ อีกตั้งมากมาย โดยคนเหล่านี้จะสร้างบ้านตามเชิงเขา ที่ ตั้งอยู่ล้อมเมืองหลวง จึงเลี่ยงไม่พ้นเลยที่ มาเรีย จะต้องพบพานภาพไม่น่าอภิรมย์มากมาย ที่เธอไม่เคยเจอะเจอมาก่อนในบ้านเกิด   

 

ภาพของ ลา ปาซ ที่สะท้อนผ่านความนึกคิดของ เด็กสาวผู้ดื้อรั้น เป็นเมืองที่ล้าหลัง มีช่องว่างคนรวย – จน ที่ถมเท่าไหร่ก็ไม่มีวันเต็ม บนถนนเต็มไปด้วย คนว่างงาน คนอินเดียนแดงที่ขาดโอกาสทางการศึกษา แต่งกายดั่งตัวการ์ตูน เดินเร่ขายของไปมา ท่ามกลางระบบสาธารณสุขพื้นฐานที่ต่ำเตี้ย และระบบขนส่งมวลชนในเมืองที่ไม่เคยได้รับการพัฒนา แค่เพียงมองออกจากหน้าต่างห้อง มาเรีย ก็สามารถสัมผัสเห็น ย่านบ้านเรือนคนจนอันซอมซ่อบนเชิงเขา ที่ไม่มีแม้แต่ระบบประปา ไฟฟ้า และถนนตัดผ่าน ไม่เพียงแต่สิ่งที่ตาเห็นเท่านั้น มาเรีย ยังรู้จาก ป๊าป๋า ด้วยว่า  โบลิเวีย เป็นประเทศที่มีรัฐประหารเกิดขึ้น เป็นวงจรอุบาทว์ทางการเมืองอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า (อันนี้ผมว่ามันคุ้นจริงๆ นะครับ)    

 

แต่ภาพลักษณ์สุดติดลบของ ลา ปาซ และ โบลิเวีย ต่างๆ นานา ก็เป็นเพียงมายาคติที่ติดในใจ มาเรีย ในช่วงแรกๆ เท่านั้นครับ เพราะในที่สุด วัฒนธรรมแปลกใหม่ ผู้คนแปลกหน้าที่ต้องเจอะเจอ ปะทะสังสรรค์ กลับได้ขัดเกลาให้ มาเรีย ค่อยๆ เปิดใจยอมรับในความต่าง และมองโลกในมุมที่เปลี่ยนไป จากที่เคยต่อต้าน รังเกียจ ไม่ยอมรับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ และชิงชังวิถีผู้ด้อยโอกาสกว่าเธอในประเทศนี้

 

พร้อมๆ กันนั้น ทั้ง มาเรีย และ ป๊าป๋า ก็ได้เปิดบ้านต้อนรับสมาชิกใหม่เข้ามา เธอคือ ‘กาซิลด้า’ เด็กสาวอินเดียนแดง ที่ก้าวเข้ามาในฐานะ ผู้รับใช้ในบ้าน ความแตกต่างอย่างสุดขั้วของเด็กสาวจากสองโลก ทั้งฐานะ การศึกษา มุมมองต่อโลก ได้ทำให้ทั้งสองเริ่มเรียนรู้ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมความต่างซึ่งกันและกัน จนเกิดเป็นมิตรภาพอันอบอุ่นงดงาม แบบ Feel Good ที่ทำให้เราต้องอ่านแล้วอมยิ้มไปตลอดทั้งเรื่อง แม้ท้ายที่สุด กาซิลด้า จะต้องจาก มาเรีย ไป ด้วยปัญหาสังคมที่หมักหมมมายาวนานในประเทศยากจน ที่เด็กสาวแรกรุ่นจำนวนมากต้องกลายเป็นแม่คนก่อนวัยอันควรอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นี่เป็นสิ่งที่ มาเรีย จินตนาการไม่ออกเลยจริงๆ ว่า เด็กสาวอายุไม่ถึง 15 ดี จะก้าวออกไปใช้ชีวิตครอบครัวได้อย่างไรกัน ! (ปัญหาใน โบลิเวีย อันนี้มันก็คุ้นๆ ว่าเกิดอยู่แถวๆ บ้านเราอีกนั่นแหละ)

 

La tierra de las papas นั้นเล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก พ่อ และลูกสาว ได้อย่างน่ารัก อบอุ่น ด้วยสายตาที่มองโลกแบบไม่เสแสร้ง ท่ามกลางฉากหลังอันเป็นสังคม วัฒนธรรมของดินแดนลาตินอเมริกาที่เปี่ยมสีสัน น่าสนใจ ที่เราอาจหาสัมผัสได้ไม่ง่ายนักจากหนังสือวรรณกรรมทั่วไปที่มีอยู่อย่างดาษดื่น

 

นอกจากภาพลักษณ์ วัฒนธรรม โฉมหน้าด้านต่างๆ ของ โบลิเวีย จะปรากฏให้เราได้เห็น ให้เราได้เข้าใจตัวตน ความเป็นประเทศแห่งนี้มากยิ่งขึ้นแล้ว ตัวละครทั้ง มาเรีย และสาวน้อยอินเดียนแดง กาซิลด้า ในเรื่องนี้ ยังได้ย้อนกลับมาสอนผู้ใหญ่อย่างเราๆ ว่า หากเรารู้จักที่จะเคารพ และให้เกียรติ ความแตกต่างทางความคิดของผู้อื่นที่อยู่ร่วมกับเราในสังคม โดยปราศจากอคติเจือปนดูบ้าง สังคมก็คงจะไม่ยุ่งเหยิงสับสน และคงน่าอยู่ดูดีกว่านี้เป็นไหนๆ จริงไหมครับ…

 




Create Date : 06 พฤษภาคม 2556
Last Update : 6 พฤษภาคม 2556 21:18:05 น. 0 comments
Counter : 1881 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

โปสการ์ดราดซอส
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add โปสการ์ดราดซอส's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.