Mr.Pos : The Thinking & Learning in My Life
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2556
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
17 พฤษภาคม 2556
 
All Blogs
 

15 ตัวละครอมตะใน ‘หนังไทย’ ใต้ลิ้นชักความทรงจำ ของ ข้าพเจ้า (ตอนที่ 1)

ตะกอนคิด.. อันเนื่องมาจากหนัง

15 ตัวละครอมตะใน ‘หนังไทย’ ใต้ลิ้นชักความทรงจำ ของ ข้าพเจ้า (ตอนที่ 1)

 

 

                หากภาพยนตร์ซักเรื่องหนึ่งจะประสบความสำเร็จ ได้รับตีตราให้เป็น หนังคุณภาพ และถูกยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคมได้นั้น ย่อมต้องมาจากหลากหลายปัจจัยประกอบกันครับ ไม่ว่าจะเป็น ศักยภาพ ฝีมือของผู้กำกับ บทภาพยนตร์ที่แข็งแกร่ง ความชาญฉลาดในการดำเนินเรื่อง มุมมอง และความงดงามของการถ่ายภาพ ที่สำคัญก็คือบทบาทการแสดงของตัวละคร ที่ส่งอิทธิพลให้หนังเรื่องนั้นขับเคลื่อนไปได้อย่างทรงพลัง !

 

                หนังที่ดีมีคุณภาพนั้น ย่อมต้องมีตัวละครที่โดดเด่นส่องรัศมีออร่าอยู่ในเรื่อง แต่ขณะที่หนังบางเรื่องแม้ไม่ประสบความสำเร็จในแง่คุณภาพ ไม่อาจสร้างความประทับใจแก่ผู้ชมโดยรวมได้ ก็อาจมีตัวละคร ซึ่งมีคาแรกเตอร์เป็นที่จดจำมากกว่าตัวหนังก็ย่อมเป็นไปได้

 

                ตัวละครซักตัว จากภาพยนตร์ซักเรื่องที่จะเข้ามาประทับอยู่ในความทรงจำของผู้ชมได้นั้น ย่อมต้องประกอบทั้ง คาแรคเตอร์ที่โดดเด่น และการสวมบทบาทอย่างเข้าถึง นั่นคือการตีบทแตก ของนักแสดงผู้นั้นเอง

 

                ในฐานะที่ตัวผม เป็นผู้หนึ่งซึ่งชมชอบการดูหนังไทย พอๆ กับหนังต่างประเทศ แม้ไม่เข้าขั้นแฟนพันธุ์แท้อะไรขนาดนั้น แต่ก็รู้สึกว่าในชีวิตการดูหนังไทย ได้มีตัวละครต่างๆ ผ่านเข้ามาให้เป็นที่จดจำตรึงใจอยู่ไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะระหว่างช่วงปี 2543 – 2550 อันเป็นช่วงเวลาที่ตัวเองแนบสนิทชิดเชื้อ อยู่กับหนังไทยมากที่สุด ทั้งยังเป็นยุคทองที่วงการหนังไทยกำลังบูม เต็มไปด้วย หนังคุณภาพน่าจดจำ เรียงรายออกมาฉายจนนับไม่ถ้วน..

 

                ต่อไปนี้จึงเป็นตัวละครที่คัดสรรแล้ว จากชีวิตการดูหนังไทยอันน้อยนิดของผู้เขียน ว่าพวกเขาและเธอ ล้วนเป็นตัวละครที่มีคาแรกเตอร์ ประทับอยู่ในความทรงจำมากที่สุด..  

 

 

อันดับที่ 1 ‘หลวงพ่อโล่’ จาก 15 ค่ำ เดือน 11 (2545)

 

รับบทโดย : นพดล ดวงพร

                หลวงพ่อโล่ คือ ตัวแทนของคนยุคเก่า ที่คนเจเนอร์เรชั่นใหม่ อาจดูหมิ่นว่าเป็นคนตกรุ่น พ้นยุคไปแล้ว หลวงพ่อโล่ คือคนแก่ ที่มีความคิดขบถ ต่อต้านสังคม กระทั่งไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนตามให้กับกระแสหลักใดๆ ที่หมุนเปลี่ยนแปลงไป ด้วยความยึดมั่น เชื่อมั่นในแนวทางที่ตน ศรัทธา จนวาระสุดท้ายในชีวิต

 

                ขณะเดียวกัน หลวงพ่อโล่ ยังเป็นบุคคลประเภท ที่จะยอมสละอุทิศตน เพื่อให้คนรอบข้าง หรือคนหมู่มากในสังคมเกิดความปีติสุข ตามวิถีทางที่ตนคิดว่าถูกต้อง ก่อนที่ตัวเองจะมายืนอมยิ้มอิ่มเอมในความสำเร็จนั้น เพียงลำพังคนเดียว โดยไม่จำเป็นต้องให้ใครมาสรรเสริญเยินยอในความดี นี่แหละคือทัศนะของความหมาย การทำความดีแบบปิดทองหลังพระ ที่ตัวละครตัวนี้มีความศรัทธา และเชื่อมั่นอย่างกล้าแกร่ง แม้เขาจะรู้ทั้งรู้ก็ตามทีว่า ลูกไฟที่ผุดขึ้นกลางแม่น้ำโขง นั้นหาได้เกิดขึ้นจากปาฏิหาริย์ – อิทธิฤทธิ์ของสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติแต่อย่างใด

 

                บุคลิกลักษณะที่เด่นชัดเหล่านี้ ได้หล่อหลอมให้ หลวงพ่อโล่ กลายเป็นตัวละครที่มีมิติ น่าจดจำ ทั้งความดื้อรั้นเอาแต่ใจตัวแบบคนแก่ ที่ยังมีหัวใจเป็นเด็ก และยังมีความศรัทธาน่ายกย่องจากคนรุ่นใหม่ ควบคู่ไปด้วย ซึ่ง นพดล ดวงพร ศิลปินพื้นบ้านอีสานรุ่นลายคราม ก็สามารถสวมบทบาทนี้ได้อย่างเข้าถึง

 

                นี่จึงเป็นตัวละครที่โดดเด่นที่สุด ในภาพยนตร์ที่สร้างปรากฏการณ์ บั้งไฟพญานาคฟีเวอร์ไปทั่วประเทศในเวลานั้น ขณะเดียวกัน 15 ค่ำ เดือน 11 ยังได้ชื่อว่าเป็นหนังไทยที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของวงการภาพยนตร์ยุคปัจจุบันอีกด้วย..

 

 

 

อันดับที่ 2 ‘จ่าสมหมาย’ จาก มือปืน (2526)

 

รับบทโดย : สรพงษ์ ชาตรี

                สรพงษ์ กล่าวเทิดทูน ..ชาตรีเฉลิม ยุคล มาโดยตลอดว่า ‘ท่านคือผู้ให้ชีวิตใหม่แก่ผม’ ที่ยิ่งไปกว่านั้น คือ ท่านมุ้ย ยังให้ความไว้วางใจมอบบทบาทการแสดงดีๆ หลายต่อหลายเรื่องให้ สรพงษ์ จนผู้ชายหน้าตาแสนธรรมดาคนนี้ ได้กลายสถานะเป็น พระเอกแถวหน้า ของวงการไปด้วยเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือบท จ่าสมหมาย มือปืนขาเป๋ ในคราบช่างตัดผม ในภาพยนตร์เรื่อง มือปืน นั่นเอง

 

                จ่าสมหมาย คือ เหยื่อ ที่ถูกภาครัฐปล่อยปละ ทิ้งขวางแบบไม่เห็นคุณค่า หลังจากที่ต้องอุทิศชีวิต รับใช้ชาติแผ่นดินในฐานะ ทหารผ่านศึก จนร่างกายพิกลพิการ ตัวละครตัวนี้ จึงเต็มไปด้วยปมร้าวภายในจิตใจจากความทรงจำในสมรภูมิรบอันเลวร้าย เมื่อต้องหวนคืนสู่สังคมปกติ เขาจึงถูกบีบคั้นให้ต้องดำเนินชีวิตอยู่คนละขั้วกับกฎหมายโดยสิ้นเชิง ด้วยการใช้สัญชาตญาณหนึ่งเดียวที่ถนัดที่สุด คือ การฆ่าคน มาเป็นเครื่องมือหากิน และต้องอำพรางสถานะที่แท้ของตนเอาไว้ตลอดเวลา

 

                ตัวละครอย่าง จ่าสมหมาย หาใช่บุคคลชั่วร้ายโดยกมลสันดานแต่อย่างใดเลย เห็นได้จากฉากที่เขาต้องสังหารเสี่ยใหญ่คนหนึ่งตามใบสั่ง แต่เขากลับจงใจปล่อยให้แผนงานนั้นล้มเหลว เนื่องเพราะได้เห็น ลูกสาวตัวน้อย ของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย นั่งอยู่ภายในรถด้วยนั่นเอง !

 

                แม้จะเป็นผู้ร้ายของสังคมอย่างเด่นชัด แต่ จ่าสมหมาย กลับเป็นตัวละครที่ทำให้คนดูเห็นอกเห็นใจมากที่สุด กระทั่งเฝ้าภาวนาให้เขารอดพ้นจากการถูก วิสามัญ จากฝั่งผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ โดยเฉพาะ ‘ไอ้มือดำ’ (รับบทโดย รณ ฤทธิชัย) สารวัตรปืนโหดอดีตเพื่อนร่วมรบ ผู้ฝากรอยแผลใจที่เจ็บปวด กระทั่งได้แปรความรู้สึกจากมิตรแท้ จนกลายเป็นศัตรูของเขาไปตลอดกาล

 

                ในทัศนะของผมแล้ว พูดได้ว่านี่คือบทบาทการแสดงที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของ สรพงษ์ ชาตรี ได้อย่างเต็มปาก ซึ่งรางวัลตุ๊กตาทองสาขาดารานำชายยอดเยี่ยมที่ สรพงษ์ ได้รับในเวลานั้น ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์คุณค่าในการแสดงของเขาได้โดยไร้ข้อโต้แย้ง..

 

 

อันดับที่ 3 ‘จ่าแหล้ม’ จาก มือปืน 2 สาละวิน (2536)

 

รับบทโดย : สรพงษ์ ชาตรี

                ภาพยนตร์ แอ๊คชั่น – ดราม่า ฟอร์มยักษ์เมื่อ 15 ปีที่แล้วเรื่องนี้ ของ ..ชาตรีเฉลิม ยุคล ยังมากล้นไปด้วยนักแสดงระดับพระกาฬ ที่มาร่วมฉาก ประชันบทบาทกันอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม นักแสดงที่ทำหน้าที่ได้ดี และเป็นที่จดจำมากที่สุด ก็ยังหนีไม่พ้น สรพงษ์ ชาตรี พระเอกคู่บารมีของ ท่านมุ้ย อีกเช่นเคย

 

                ใน มือปืน 2 สาละวิน สรพงษ์ ยังคงทำหน้าที่ของตนได้อย่างมีมาตรฐาน คงเส้นคงวา ในบท ‘จ่าแหล้ม’ ตำรวจภูธร ณ ดินแดนตะเข็บชายแดนไทย – พม่า ที่อุดมไปด้วยบุคลิกความกล้า บ้าบิ่น บู๊ล้างผลาญ และชาชินกับการใช้กระสุนปืนตัดสินคดีความตามข้างถนน โดยไม่ต้องพึ่งศาลยุติธรรมใดๆ ให้เสียเวลา นั่นจึงทำให้ ตัวละครตัวนี้ ซึ่งเป็น ตำรวจ กลับมีสถานะแทบแยกไม่ออกจาก มือปืน แต่อย่างใด

 

                อย่างไรก็ดี นั่นก็คือการรู้จักปรับตัวของเขา ให้เป็นไปตามสิ่งแวดล้อม ในดินแดนบ้านป่าเมืองเถื่อน ที่ซึ่งกฎหมาย และการจัดระเบียบสังคมยังไม่สามารถก้าวเดินทางมาถึง ณ ดินแดนที่มีคนตายด้วย ไข้โป้ง รายวัน จ่าแหล้ม จึงจำเป็นต้องพิทักษ์ ปกป้องทั้งชีวิตตัวเอง คนในครอบครัว และคอยพิทักษ์ รักษาความยุติธรรมของสังคมไปด้วยพร้อมๆ กัน ขณะที่ภายในจิตใจส่วนลึกของตัวเอง ก็ยังคุกรุ่นไปด้วยเพลิงแค้นส่วนตัว จากเหตุการณ์ที่ ภรรยารัก ต้องถูกผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ข่มขืนย่ำยีศักดิ์ศรี แล้วสังหารทิ้งอย่างอำมหิต !

 

                เอาเข้าจริงๆ แล้ว ตัวละครอย่าง จ่าแหล้ม แม้จะไม่ใช่ตำรวจผู้มีคุณสมบัติสูงส่งตามแบบฉบับในอุดมคติ อย่างที่ กรมตำรวจ หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยุคปัจจุบัน ต้องการก็ตาม แต่จากบทบาทการแสดงของ สรพงษ์ ชาตรี ก็ทำให้เรารู้สึกได้ว่า หากเราต้องตกเข้าไปอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายในดินแดนชายขอบอย่างในหนังแล้ว จ่าตำรวจแก่ๆ ปากเคี้ยวหมาก นุ่งโสร่งอยู่ตลอดเวลา อย่างเขา ย่อมจะสามารถปกป้อง พิทักษ์ความปลอดภัยให้เรา รอดพ้นจากอาญาเถื่อนทั้งหลายได้แน่ๆ

 

                นี่จึงเป็นบทบาททรงพลังอีกครั้งของ พระเอกระดับคุณภาพแถวหน้าของเมืองไทยผู้นี้..

 

 

-------------------------------------------------------------------------

 

 

เอาเป็นว่า วันหน้าถ้ามีโอกาสดีๆ ผมจะขอร้อยเรียงความทรงจำ และนำบุคลิก คาแรกเตอร์ของตัวละครไทยที่เหลือคั่งค้าง มาถ่ายทอดเล่าสู่กันฟังต่อไปนะครับ..

 




 

Create Date : 17 พฤษภาคม 2556
0 comments
Last Update : 17 พฤษภาคม 2556 15:30:43 น.
Counter : 4266 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


โปสการ์ดราดซอส
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add โปสการ์ดราดซอส's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.