บันทึกบทเล็กๆ ของแฟนบอลไทยคนหนึ่ง
บันทึกแก้ลืมสำหรับคนกลุ่มเล็กๆ ที่เคยได้ร่วมทำกิจกรรมปลุกกระแสบอลไทยในช่วงสั้นๆ

ผมเชื่อว่าแฟนบอลชาวไทยทุกคนรักและเชียร์ทีมชาติไทยเสมอมาครับไม่ว่าจะชุดไหนก็ตามไม่ว่าจะดีหรือตกต่ำ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เกิดมาในยุคของทีมชาติไทย เริ่มดูตั้งแต่ยุคที่ทีมมีปิยะพงษ์ ผิวอ่อนเป็นดาราชูโรง ไล่มาจนถึงยุคของดรีมทีมที่มีซิโก้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมืองเป็นดาราของทีม

เรื่องราวที่ผมอยากจดบันทึก (แก้ลืม) ต่อไปนี้คือเรื่องราวของกลุ่มแฟนบอลกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ไปร่วมกิจกรรมเชียร์ฟุตบอลไทยในช่วงปี 2547-2550 โดยประมาณนะครับ ไม่ใช่กลุ่มแฟนบอลที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่อะไรนักหนาหรอกครับ

ในยุคที่ผมจะพูดถึงคือยุคที่นายกสมาคมฟุตบอลไทยฯ คือคุณวิจิตร เกตุแก้ว (หรือที่แฟนบอลไทยส่วนใหญ่เรียกว่า VJ) บุคคลที่แฟนบอลไทยรักมากๆ คนหนึ่ง ผมก็เป็นแฟนบอลไทยคนหนึ่งที่ติดตามและรักทีมชาติไทย เมื่อทีมแพ้เราก็จะไปสนทนากันในโลกออนไลน์ครับ ยุคนั้นก็ต้องเข้าเวปบอร์ด pantip.com ที่เป็นกลางและมีฐานแฟนบอลใหญ่ที่สุดทั้งไทยและเทศ และในช่วงเวลานั้นที่ทีมชาติไทยเล่นกันไม่ค่อยจะดีก็จะมีกระทู้ที่กลุ่มแฟนบอลที่ไม่พอใจการทำงานของสมาคมฟุตบอลไทยและนายกสมาคมฯ คิดจะรวมตัวกันเพื่อปลุกกระแสขับไล่

การออกแบบสติกเกอร์ขับไล่นายกสมาคมฟุตบอลคนก่อนที่นำพาไปสู่เรื่องราว

ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นที่คิดจะทำอะไรกับเขาด้วยและสิ่งที่ผมได้ทำในครั้งแรกนั้นคือการออกแบบป้ายสติกเกอร์ VJ GETOUT!!! โชว์ในเวป pantip ด้วยความคึกคะนอง นึกสนุก และมีแนวคิดที่ว่าถ้าเราแปะย่อมแสดงจุดยืนความไม่พอใจในตัวนายก ถ้าเยอะๆ เข้าก็คงพอจะไปไล่แกออกได้อย่างอารยะประเทศ สติกเกอร์ VJ GETOUT!!! นี้เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดนี้ ในตอนหลังได้เกิดสายรดข้อมือ VJ GETOUT!!! ที่สั่งทำจากอเมริกาอีกด้วย (ช่วงนั้น wristband ฮิตมาก)

wristband สายรัดข้อมือ VJ GET OUT!! 

ข่าวเกี่ยวกับ wristband ที่ผมทำ


เสื้อ VJ GETOUT!! (สังเกตอักษรสีเหลืองแนวตั้ง) ผลิตต่อเนื่องจากสายรัดข้อมือ

กระทู้นั้นทำให้ผมได้เจอเพื่อนๆ ที่รักบอลไทยด้วยกันหลายคนครับจนเกิดการนัดออกมาพูดคุยกันโดยมีพี่พินิจจากเชียร์ไทยเป็นพี่ใหญ่ มีแฟนบอลจากหลายแหล่งมารวมตัวกัน หลังการนัดพูดคุยกันไม่นานเราก็เปลี่ยนแนวคิด จากการขับไล่นายกสมาคมฯ เปลี่ยนมาเป็นการสนับสนุนฟุตบอลลีกตามจังหวัดต่างๆ เนื่องจากได้บทสรุปที่ว่าไล่ไปก็ไม่ทำให้ทีมชาติไทยเราเก่งขึ้น

ป้ายผ้าผืนแรกของกองเชียร์ (หายไปที่สนามดินแดง) เศร้า

ลีกที่สมาคมจัดในตอนนั้นคือไทยลีก (Thai League) ที่เล่นกันเองดูกันเอง เป็นทีมของรัฐวิสาหกิจ ธนาคารและบริษัทห้างร้านมีตลกมาเล่นช่วงพักครึ่ง (ความคิดใครวะ) ส่วนลีกคู่ขนานที่จัดโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) คือโปรลีก (provincial league) หรือลีกจังหวัดที่มีฐานแฟนบอลประจำท้องถิ่นให้การสนับสนุนซึ่งพวกเราวางแผนจะไปสนับสนุนเชียร์


ป้ายผ้าผืนแรกในตำนานของกองเชียร์บราโว่

นอกเหนือจากนั้นเรายังสร้างกลุ่มเครือข่ายแฟนบอลไทยที่มีชื่อว่า NTPF (Network for Thai Professional Football) โดยตัวผมเองมีรหัสว่า NTPF003 และมีพี่พินิจเป็น NTPF001 โดยมีแฟนบอลเข้าร่วมเป็นสมาชิกหลายร้อยคน พร้อมกับจัดตั้งเวปไซท์อีก 2 เวปคือ //www.ntpf.org เพื่อเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายและ //www.thaiproleague.com เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์ให้กับการแข่งขันโปรลีก

กลุ่มก่อตั้ง

นัดออกไปเยือนที่สุพรรณบุรี ก.พ.48

ตามเป้าหมายของเราคือใครอยู่จังหวัดไหนก็เชียร์จังหวัดนั้น ตัวผมและเพื่อนๆ ในกทม.เราก็จะเชียร์ทีมกทม.หรือที่เรียกว่า Bangkok Bravo (ปัจจุบันคือทีมกระทิงเหล็ก บางกอกเอฟซี (Bangkok FC) ในลีกดิวิชั่น1) ไม่นานเราจึงสร้างเวปไซท์อีกเวปเพื่อทีมที่เราเชียร์คือ //www.bangkokbravo.com โดยได้ เต้ย เทโร ซึ่งเปลี่ยนเป็นเต้ย บราโว่มาช่วยในเรื่องกราฟิค (ปัจจุบันคือ เต้ย เมืองทอง 555)


กลุ่มที่ดำเนินการเรื่องเวปไซท์ทั้ง 3 ก็มีกลุ่มพวกผมที่เป็นแฟนบอลบางกอกบราโว่เป็นแกนหลักในการดำเนินการ เพื่อนในกลุ่มเริ่มต้นที่จะลืมไม่ได้คือ อ้อน NTPF025 ตี๋ ปุ้ย NTPF007 โอ๋ ผีพราย เต้ย ต่าย และอีกหลายๆ คนที่วนเวียนเข้ามาร่วมเชียร์ฟุตบอลกับพวกเรา

เข็มกลัด BKK BRAVO

กิจกรรมที่พวกเราทำกันในตอนนั้นคือการไปตามเชียร์ทีมบางกอกบราโว่ทั้งในสนามเหย้าที่สนามไทยญี่ปุ่นดินแดงและตามต่างจังหวัดที่พอจะไปกันได้ ทั้งขับรถไปเองและนั่งไปกับทีม (ถ้าไกล) ในแต่ละสัปดาห์ก่อนเกมเราก็ได้มีการโทรไปคุยกับโค้ชในแต่ละทีมเพื่อสัมภาษณ์ถึงความพร้อมและการวางแผน ข้อมูลต่างๆ

ตามเชียร์ทุกนัดที่สนามเหย้าที่สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง


แผนการเล่นที่เราโทรไปสัมภาษณ์โค้ชและทำลงเวปก่อนเกมทุกสัปดาห์

นอกจากลงในเวปแล้วเรายังทำแผ่นพับเพื่อพิมพ์แจกที่สนามด้วยเพื่อสร้างกระแสเชียร์ทีมท้องถิ่น ทำของที่ระลึก ทำเสื้อเชียร์ ทำป้ายเชียร์ ธงยักษ์ ฯลฯ อย่างที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในฟุตบอลอาชีพยุคนั้น แม้แต่โค้ชของทีมเราเอง (โค้ชอเนก) ยังไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้ (ไม่มีวิสัยทัศน์) อย่างแผ่นพับก่อนเกมนี่ทางคุณอรรณพ สิงโตทองแห่งชลบุรียังเคยเอาไอเดียร์นี้ไปทำต่อกับทีมชลบุรีของแกเลย (ขอคุยนิดนึง)

แผ่นพับที่ทำทุกสัปดาห์เพื่อพิมพ์แจก

โดยบุคลิกของกลุ่มพวกเรานี่ส่วนใหญ่จะเป็นคนเงียบๆ ออกไปทางขี้อายครับ ไม่ใช่พวกที่จะเป็นแกนนำเชียร์อะไรได้ดีเลย แต่อุดมการณ์ที่ตั้งไว้ทำให้พวกเรามานั่งตีกลองและตะโกนเชียร์กันแบบเขินๆ ทีมที่เราเชียร์นี่ก็ไม่ค่อยจะมีคนดูในสนามครับ ปลุกกระแสกันไม่ขึ้นหรอก แม้แต่ปัจจุบันนี้ทีมของเมืองหลวงทั้ง “บางกอกเอฟซี” และ “แบ๊งคอกยูไนเต็ด” ก็ยังไม่มีแฟนบอลหนาแน่นเช่นทีมประจำจังหวัดอื่นๆ เขา และทีมเราก็เป็นทีมระดับกลางๆ ค่อนไปทางด้านล่าง โค้ชก็เป็นแนวโนเนม ทำงานแบบราชการแบบของบทำทีมและให้เมียบริหารจัดการค่าใช้จ่าย นักเตะก็คือเด็กๆ ในคอนโทรล เล่นเสร็จก็มาเข้าคิวจ่ายเงินพร้อมคำสั่งสอนนักเตะว่าโค้ชทำเพื่อพวกเรานะ ไม่มีคำว่าบอลอาชีพตามนโยบายหรอกครับ เข้าสนามฟรีไม่มีเก็บเงินเล่นตามโปรแกรมการตลาดไม่ต้องพูดถึง 55


นัดออกไปเยือนทีม RBAC ประมาณ พ.ค.50 นั่งบนเสื้อยักษ์

แต่สิ่งที่พวกเราได้สัมผัสเมื่อเลือกที่จะเชียร์ทีมนี้คือความผูกพันธ์ที่เราได้คอยตามเชียร์ทุกสัปดาห์ ลุ้นให้ทีมชนะ (ซึ่งในช่วงแรกออกไปทางตรงข้าม) แต่พอทีมเล่นดีขึ้นมันมีความสุขมาก ทำให้เข้าใจหัวอกของแฟนบอลในต่างประเทศที่คอยสนับสนุนทีมรักประจำท้องถิ่นเลยทีเดียวเพราะส่วนใหญ่อยู่เมืองไทยเชียร์บอลนอกมันก็เลือกเอาทีมเก่งๆ เชียร์ ใครจะไปเลือกเชียร์ทีมกากๆ ท้ายตารางกันเล่า

ปัจจุบันนี้ไม่มีกลุ่มเครือข่าย NTPF แล้ว โปรลีกก็รวมกับไทยลีกเรียบร้อยกลายเป็นไทยพรีเมียร์ลีก และก้าวหน้าอย่างที่พวกเราไม่คิดว่ามันจะเป็นไปได้ นายกสมาคมฯ เปลี่ยนคนแล้ว (แต่แย่ยิ่งกว่าเดิม) ทีมบางกอกบราโว่อดีตทีมรักของพวกเราก็เปลี่ยนชื่อเป็น"บางกอกเอฟซี" ย้ายสนามที่ตั้ง เปลี่ยนทีมบริหาร และโลดแล่นอยู่ในดิวิชั่น1 (กลางๆ ตาราง)

เรื่องราวของกองเชียร์ BRAVO หรือ Green Army หลังจากนั้นก็มีน้องๆ เพื่อนๆ วนเวียนเข้ามาสร้างสีสันให้กับการเชียร์ซึ่งทำได้อย่างดียิ่ง มีการออกแบบเสื้อใหม่ มีการทำเสื้อขนาดยักษ์ที่ในตอนนั้นยังไม่เคยมีใครทำ พวกรุ่นแรกส่งต่อให้รุ่นสอง ส่วนตัวผมเองในช่วงหลังก็มีธุระยุ่งกับงาน พอกลับไปอีกทีก็รู้สึกกลายเป็นคนแปลกหน้าไป ในอีกส่วนหนึ่งในตอนนั้นคือรู้สึกเบื่อกับความพยายามสร้างกระแสที่มันไม่สามารถทำอะไรให้ยิ่งใหญ่ไปได้มาก จึงค่อยๆ ถอยห่างออกมา ทีมงานที่ดูแลทีมของเราก็ทำกันแบบไม่จริงจัง เลิกบ้าง ทิ้งทีมบ้าง รู้สึกแย่มากๆ กับการทำงานแบบนี้

กลุ่มแฟนบอลที่เคยตามเชียร์ก็กระจัดกระจายไปอยู่ตามทีมในไทยพรีเมียร์ลีกเช่นเมืองทองยูไนเต็ด วัฒนธรรมการเชียร์ฟุตบอลเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สื่อต่างๆ นำเสนอข่าวสารมากมายกว่าแต่ก่อน นักบอลมีรายได้ที่ดี ธุรกิจฟุตบอลเฟื่องฟู แฟนบอลออกมาแสดงตัวกันมากขึ้น

ผ่านมาอีกหลายปีมัวแต่ยุ่งกับงานจนถึงตอนนี้แทบลืมเลือนช่วงเวลาเหล่านั้นไป ไม่รู้ยังไงจึงนึกถึงมันขึ้นมาอีกครั้งก็รู้สึกดีครับ ทบทวนวันเวลาเก่าๆ ที่ทุกบ่ายวันอาทิตย์จะขับรถไปที่สนาม ขนกลองขนธงไปเจอน้องๆ เพื่อนๆ ที่จะมาร่วมกันเชียร์ด้วยกัน จึงอยากเขียนบันทึกแก้ลืม


วันนี้ฟุตบอลลีคของไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างก้าวกระโดด แต่มองย้อนกลับไปเรื่องราวในวันนั้นอาจไม่ได้สำคัญอะไรกับฟุตบอลในวันนี้ แต่อาจสร้างแรงกระเพื่อมเล็กๆ ให้กับเพื่อนๆ บางคน และถือเป็นช่วงเวลาที่สนุกสนานในความทรงจำที่เกือบลืมเลือนไปแล้วสำหรับผม



Create Date : 05 ธันวาคม 2555
Last Update : 29 เมษายน 2558 10:12:37 น.
Counter : 3073 Pageviews.

3 comments
  
รู้สึกดีกับประสบการณ์ช่วงนั้น

มันทำให้ได้มีโอกาสเป็นนักข่่าวฟุตบอลด้วยครั้งหนึ่งในชีวิต

โดย: NTPF 025 (keyzer ) วันที่: 6 ธันวาคม 2555 เวลา:1:17:09 น.
  
เป้นความทรงจำที่ผมจะไม่ลืมครับ ขอบคุณสำหรับเรื่องราวนะครับที่เขียนให้อ่านกัน ชอบมากกกก
โดย: นายเต้ย บราโว่ IP: 101.108.48.72 วันที่: 6 ธันวาคม 2555 เวลา:9:40:52 น.
  
This post is fascinating, I think that there are a lot of things that many countries could learn from the Dutch education system. I’m amazed when I here about homework being given out to kids here in the UK more or less from the start of primary school. It probably isn’t all that much, but I hardy ever had any homework in my seven years of primary school. By the way, I love the photos that you’ve used in the post!
[url=//www.menslovebracelet.com/]faux cartier love bracelet replica[/url]
โดย: faux cartier love bracelet replica IP: 192.99.14.34 วันที่: 13 กรกฎาคม 2558 เวลา:18:46:59 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

biggg
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



my everyday life on EARTH

New Comments
ธันวาคม 2555

 
 
 
 
 
 
1
3
4
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog