" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2551
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
18 ตุลาคม 2551
 
All Blogs
 
003. สิทธิทำสัญญาแตกต่าง ในทฤษฎีสัญญาประชาคม

Resource://www.oknation.net/blog/print.php?id=201229



สิทธิทำสัญญาแตกต่าง ในทฤษฎีสัญญาประชาคม

บทนำ

ทฤษฎีสัญญาประชาคม(Social Contract Theory)เป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน มีที่มาจากนักคิดนักปราชญ์ในฟากยุโรปโดย ฮิวโก โกรติอุส(Hugo Grotius: ค.ศ.1583-1645)ได้อธิบายสภาวะตามธรรมชาติของมนุษย์ว่า ธรรมชาติของมนุษย์อยู่อย่างอิสระ ไม่ขึ้นกับอำนาจใด ต่อมาเมื่อมนุษย์ได้ตกลงกันก่อตั้งสังคมขึ้นเรียกความตกลงนี้ว่าสัญญาประชาคม(Social Contract)

ต่อมาทฤษฎีนี้ได้เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ก่อให้เกิดทฤษฎีสัญญาประชาคมอีก 3 รูปแบบ โดยนักปราชญ์ 3 ท่าน คือ

โทมัส ฮอบบ์(Thomas Hobbes : ค.ศ. 1588-1679) เขียนหนังสือ Leviathan (ค.ศ.1651) ได้เสนอหลักการสัญญาสวามิภักดิ์(Pactum Subjectiones)

จอห์น ลอค( John Locke : 1632-1704) เขียนหนังสือ Two Treatises of Government(ค.ศ.1689) ได้เสนอหลักการสัญญาสหภาพ ( Pactum Unionis

ฌอง จาร์ก รุสโซ( Jean Jacques Rousseau : ค.ศ. 1712-1778) ปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ Du Contrat Social(ค.ศ.1762)

ซึ่งแนวคิดทฤษฎีของนักปรัชญาแต่ละท่านก็แตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่มีหลักใหญ่ร่วมกันประการหนึ่งคือ สัญญาประชาคม นั่นเอง

ต่อมาทฤษฎีสัญญาประชาคมได้เข้ามามีอิทธิพลสำคัญ ต่อการนำแนวคิดกฎหมายธรรมชาติและสิทธิธรรมชาติไปสร้างแนวคิดเพื่อจำกัดอำนาจรัฐที่ไร้ขอบเขตในขณะนั้น และสร้างหลักประกันให้แก่ประชาชนผู้ใต้ปกครองให้ได้รับความคุ้มครองความมั่งคงและปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน และเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องสิทธิประโยชน์อันชอบธรรมที่มนุษย์พึงมีพึงได้ ดังจะเห็นได้จากการปฏิวัติอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นก้าวแรกสู่สิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน

ทฤษฎีสัญญาประชาคมยังกลายมาเป็นรากฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นทฤษฎีที่อธิบายถึงการเกิดขึ้นของประชาคมการเมืองที่เป็นไปโดยใจสมัครผ่านสิ่งที่เรียกว่าสัญญาประชาคม โดยเนื้อหาของทฤษฎีสัญญาประชาคม คือรัฐมีต้นกำเนิดมาจากมนุษย์ที่เป็นสมาชิกของสังคมการเมืองได้ลงความเห็นร่วมกันโดยเจตนาเพื่อสร้าง “รัฐ” โดยยึดหลักของเจตนารมณ์ทั่วไป/เจตนารมณ์ร่วม/เจตจำนงทั่วไป/เจตจำนงร่วม(General Will)หรือความดีร่วม(Common Good) เพื่อประโยชน์สุขร่วมกันของประชาชน

ตามทฤษฎีนี้ การสร้างและการดำรงอยู่ของรัฐ ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชน คือ การปกป้องและสิ่งเสริมสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด โดยที่มนุษย์ทุกคนไม่ได้มอบสิทธิธรรมชาติให้แก่ผู้ใดหรือคณะใด สิทธิธรรมชาตินี้ยังอยู่กับมนุษย์ มนุษย์ทุกคนจึงมีสิทธิทุกประการในรัฐที่ตนได้ร่วมก่อตั้งขึ้นมา

แต่เจตนารมณ์ทั่วไปของรัฐ ซึ่งโดยเนื้อหาก็คือประโยชน์สุขร่วมกันของมวลสมาชิก มักมีปัญหาในทางการบริหารจัดการ ที่ซึ่งสุดท้ายแล้วเรามักวัดประโยชน์สุขของสังคมจากมติของเสียงข้างมาก(เฉพาะในระบอบประชาธิปไตย ระบอบอื่นก็ใช้วิธีการอื่น) และบ่อยครั้งที่สิทธิของเสียงข้างมากไปละเมิดหรือลิดรอนสิทธิธรรมชาติของสมาชิกเสียงข้างน้อย

สิทธิของมนุษย์(เมื่อยามที่ต้องตกไปเป็นเสียงข้างน้อย)จึงตกอยู่ในภาวะล่อแหลมต่อการถูกละเมิดตลอดเวลา

ขณะเดียวกันทฤษฎีประชาสังคมก็มีปัญหาในตัวเองด้วยเช่นกัน เพราะขณะที่สัญญาประชาคมกล่าวว่า สมาชิกมาทำสัญญาต่อกันเพื่อก่อตั้งรัฐ แต่ในทางปฏิบัตินั้นเด็กแรกเกิดซึ่งไม่ได้แสดงเจตนาทำสัญญาร่วมกับใครตั้งแต่แรก แต่ต้องจำยอมรับสัญญาประชาคมโดยปริยาย และมีผลผูกพันกับตัวเขานับแต่เกิดกระทั่งตาย ซึ่งขัดต่อหลักสัญญาที่ว่าคู่สัญญามีอำนาจ “บอกเลิก”สัญญาได้ และมีสิทธิทำสัญญาแตกต่างกันได้ เช่นเดียวกับการทำกรมธรรม์ประกันภัยในยุคปัจจุบัน เป็นต้น

ในบทความนี้จะตามหาและทวงคืนสิทธิธรรมชาติที่ตกหล่นหายไปทางประวัติศาสตร์ นั่นคือสิทธิในการทำสัญญาที่แตกต่างกัน ซึ่งสูญหายไปจากสังคมมนุษย์ยาวนานนับแต่ยุคฮอบบ์ ลอค และรุสโซ เรื่อยมากระทั่งถึงยุคปัจุบัน

ปัญหาของเสียงข้างมาก?

ดังได้กล่าวแล้วว่าสัญญาประชาคมคือรากฐานสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย และเมื่อสมาชิกในสังคมเกิดความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ อุดมการณ์ ค่านิยม ความเชื่อ ฯลฯนั้น ระบอบประชาธิปไตยจะถูกบังคับให้หาคำตอบสุดท้ายด้วยมติของเสียงข้างมากเสมอ(ผิดถูกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) อย่างดีที่สุดของเสียงข้างมากในระบอบนี้ก็คือเสียงข้างมากของผู้เชี่ยวชาญในกระบวนการยุติธรรมนั่นเอง(ซึ่งน่าจะพ้นจากการถูกความโลภความโกรธครอบงำมากกว่าเสียงข้างมากของฝูงชน)

ในทัศนะของรุสโซนั้นเสียงข้างมากคือเจตนารมณ์ทั่วไป และเสียงข้างน้อยคือเสียงของผู้หลงผิดซึ่งจะต้องถูกบังคับให้ยอมรับและปฏิบัติตามความถูกต้องของเจตนารมณ์ทั่วไป

นอกจากนี้รุสโซยังเชื่อว่า ถ้าหากยังต้องการให้รัฐดำรงอยู่ สิทธิเสรีภาพของสมาชิกต้องมีขอบเขต เพราะถ้าปล่อยให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพอย่างไม่มีขอบเขต รัฐก็จะสลายตัวเป็นเหตุให้เกิดสภาวะ “อนาธิปไตย” หรือสภาวะไร้รัฐ

การปกครองจึงต้องมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนบ้าง ไม่ปล่อยให้มนุษย์มีสิทธิเสรีภาพมากเกินไปกระทั่งควบคุมไม่ได้และเป็นอันตรายต่อรัฐ ยิ่งกว่านั้นรุสโซยังได้กำหนดกรอบแห่งอำนาจของรัฐไว้ว่า รัฐจะต้องไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพใด ๆของมนุษย์เว้นแต่เรื่องที่เป็นผลดีต่อสังคมเท่านั้น

นั่นคือ หากรัฐเห็นว่าเป็นการกระทำเพื่อความมั่นคงซึ่งเป็นเรื่องดีต่อสังคม รัฐก็มีอำนาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ รวมถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของเสียงข้างน้อยเพื่อเจตนารมณ์ของคนส่วนใหญ่

รุสโซเห็นว่า เจตนารมณ์ทั่วไป “ถูกต้อง”เสมอ เจตนารมณ์ทั่วไปแห่งรัฐจะไม่มีการทำผิด เพราะรุสโซเห็นว่าเจตนารมณ์ทั่วไปทำเพื่อประโยชน์และความสุขของสังคมเท่านั้น

นั่นคือหากเป็นเจตนารมณ์ของเสียงข้างมากย่อมถูกต้องเสมอ เพราะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของสังคม

ขณะที่ลอคกล่าวถึงความดีร่วมกัน(Common Good)ในฐานะเป้าหมายหรือจุดประสงค์แห่งการสร้างรัฐ นอกจากนี้ลอคยังได้อธิบายต่อไปว่า รัฐต้องมีอำนาจจำกัด เพราะอำนาจของรัฐเกิดจากสัญญา ซึ่งย่อมเป็นอำนาจที่จะกระทำได้เท่าที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของประชาคมคือรักษาไว้ซึ่งความดีร่วมกัน

ในทัศนะของลอค รัฐจึงมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย พิทักษ์สิทธิเสรีภาพและทรัพย์สินของมวลสมาชิก

ขณะที่รุสโซใช้คำว่าเจตนารมณ์ทั่วไป (General Will) แทนมติของเสียงข้างมาก ซึ่งโดยเป้าหมายของเจตนารมณ์ทั่วไป ก็เพื่อบรรลุประโยชน์และความสุขร่วมกันของมวลสมาชิก พิจารณาโดยเนื้อหาของเจตนารมณ์ทั่วไป ก็คือเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสมาชิกทุกคนให้ได้มากที่สุดนั่นเอง

ดังนั้น คำว่าเจตนารมณ์ทั่วไปของรุสโซ กับความดีร่วมกันของลอค จึงมีความหมายในสิ่งเดียวกัน คือประโยชน์และความสุขของมวลสมาชิก

และวิธีการเพื่อไปสู่ เจตนารมณ์ทั่วไปหรือความดีร่วมกันนั้น อาจมีความเห็นแย้งต่างกันได้ เพราะเป็นปัญหาในภาคปฏิบัติ

อย่างไรก็ตามรูปแบบการปกครองการเมืองแบบหนึ่งที่มนุษย์ปัจจุบัน เ ชื่อว่าสามารถนำพามนุษย์ไปสู่ เจตนารมณ์ทั่วไปได้ก็คือ รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง

ซึ่งเป็นรูปแบบการบริหารปกครองที่ยินยอมและจำใจทำตามมติเสียงข้างมากในการบริหารจัดการ ซึ่งในการนี้จะเผชิญกับปัญหาการละเมิดสิทธิของคนจำนวนหนึ่งเสมอๆดังได้กล่าวมาแล้ว

เราจะเห็นว่าทฤษฎีสัญญาประชาคมเริ่มต้น ขึ้นต้นดี อุดมการณ์ดีเป็นลำไม้ไผ่ แต่พอเหลาลงไปตอนปลายๆ กลายเป็นบ้องกัญชาของเสียงข้างมากลากไป และลิดรอนสิทธิของเสียงข้างน้อยไปในที่สุด

เหตุใดเสียงข้างมากจึงกลายมาเป็นกลไกสำคัญในระบอบประชาธิปไตย คงต้องย้อนกลับไปดูนิยามก่อนว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยคือสิ่งใด

นิยามของความหมาย “ประชาธิปไตย” มีคำตอบมีหลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับการนิยามของแต่ละคน แต่มีนิยามหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงและอ้างในวงกว้างมากที่สุด คือนิยามของประธานาธิบดีลินคอล์น ( Abraham Lincoln :ค.ศ.1809-1865) ประธานาธิบดีคนที่ 16 แห่งสหรัฐอเมริกาได้กล่าวสุนทรพจน์ไว้ว่า ประชาธิปไตยคือ การปกครอง “ของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” และยังเชื่อกันต่อไปอีกว่าปกครองระบอบนี้ เป็นรูปบบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด แปลไทยเป็นไทยคือ ระบอบประชาธิปไตยมิใช่รูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดนั่นเอง

ที่เป็นเช่นนี้เพราะมนุษย์ยังค้นไม่พบ(หรือยังประดิษฐ์ไม่ได้)ว่าระบบการเมืองใดที่ดีที่สุด เพราะเหตุว่ามนุษย์มีความเชื่อแตกต่างกันไป เช่น เพลโต้(Plato: 427-347 ก่อน ค.ศ. )เชื่อว่าการปกครองรูปแบบ “ราชาปราชญ์”(Philosopher King)ดีที่สุด อริสโตเติล(Aristotle : 384-322 ก่อน ค.ศ. )เชื่อว่ารูปแบบ”อริสโตโครซี”(Aristocracy)ดีที่สุด คาร์ล มาร์กซ์(Carl Marx:ค.ศ.1818-1883)เชื่อว่า “สังคมนิยมคอมมิวนิสต์”(Communism)ดีที่สุด ศาสนาพราหมณ์เชื่อว่าการปกครองแบบ “วรรณะ”ดีที่สุด ขณะที่สังคมไทยอดีตเชื่อว่าการปกครองโดย “กษัตริย์”ดีที่สุดซึ่งแบ่งได้อีกสามแบบคือ พ่อปกครองลูก ธรรมราชา และ สมมติเทพ(เทพอวตาร) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากศาสนานั่นเอง ในยุคปัจจุบันสังคมไทยเชื่อกันว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดีที่สุด ฯลฯ

ซึ่งความเชื่อว่าด้วยสิ่งที่ดีที่สุดก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน และในแต่สังคมและยุคสมัยก็เชื่อแตกต่างกันไปด้วย

ดังนั้นการกล่าวว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด จึงเป็นเพียงความเชื่ออย่างหนึ่งเท่านั้นเอง

และจากคำกล่าวที่ว่า การปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนนั้น ในทางปฏิบัติและการบริหาร ระบอบประชาธิปไตยจึงยึดถือเอาหลักทางคณิตศาสตร์แบบหนึ่งคนหนึ่งเสียง(ได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีอะตอมในทางวิทยาศาสตร์)คือ จำนวนเสียงข้างมากเป็นตัวกำหนดความถูกต้องชอบธรรม เช่น รับรองรัฐธรรมนูญ ผ่านกฎหมาย ประชามติ การเลือกผู้แทน แม้กระทั่งการพิพากษาคดี ฯลฯ ซึ่งก็พออนุโลมได้ว่า ถูกต้อง เพราะเป็นเกฎณ์ที่ง่ายที่สุด ในการวัดความต้องการและความถูกต้องของสังคม

นั่นเป็นเพราะว่ามนุษย์ยังไม่อาจค้นพบวิธีการที่ดีกว่านี้นั่นเอง

และที่กล่าวว่าระบอบประชาธิปไตย เลวน้อยที่สุด เพราะระาาบอบประชาธิปไตย ยังต้องเจอปัญหาอีกหลายประการ เช่น มีโอกาสที่จะถูกปกครองโดยอารมณ์หรือฝูงชนคลั่งในนามของเสียงข้างมาก การที่คนส่วนมากถูกความโลภเข้าครอบงำผ่านนโยบายประชานิยม การถูกล่อลวงชักจูงแบบพวกมากลากไป ระบบหัวคะแนนจัดตั้ง พรรคนาซีของฮิตเลอร์ในสาธารณรัฐเยอรมัน ฯลฯ

ซึ่งปมปัญหาของเสียงข้างมากแบบฝูงชนคลั่งนี้(เป็นไปตามอารมณ์ในขณะนั้นๆ) บิดาผู้ก่อตั้ง ( Founding Fathers ) สหรัฐอเมริกา บางท่านก็เล็งเห็นว่าประชาธิปไตยแบบเสียงข้างมากอาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ที่เรียกว่า ระบอบ “เสียงข้างมากที่ชั่วร้าย” ( Mobocracy) เพราะบางครั้งฝูงชนก็ถูกชักจูงได้ง่าย(ในสังคมการเมืองไทยก็คือยุคที่ฝูงชนถูกแบ่งเป็นสองขั้วคือฝ่ายพรรคไทยรักไทยกับฝ่ายที่เหลือรวมหมู่ โดยไม่รู้ฝ่ายใดผิดถูกอย่างแจ้งชัด)

ขณะที่ โทมัส เจฟเฟอร์สัน หนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกา เห็นว่า ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่ากฎของม็อบ ซึ่ง ประชาชน 51% ยึดเอาสิทธิของคนอีก 49% ไปทั้งหมด

ส่วนเบนจามิน แฟรงคลิน หนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกาอีกคนหนึ่งก็บอกว่า ประชาธิปไตยคือเรื่องของหมาป่า 2 ตัว กับแกะอีก 1 ตัว มาลงคะแนนเสียงกันว่าจะกินอะไรเป็นอาหารกลางวัน (นงนุช สิงหเดชะ อเมริกาก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย มติชน 30 สิงหาคม พ.ศ. 2550)

ก็คงเหมือนกับ “ครอบครัวประชาธิปไตย”ที่พ่อแม่สองคนกับลูกๆอีก 5 คนลงมติกันในญัตติที่ว่า “วันนี้ลูกๆไปโรงเรียนดีไหม” หรือ “ลูกเล่นเกมส์วันละ 4 ชั่วโมงได้ไหม”

ขณะที่ประชาธิปไตยในหมู่โจร นั้นมติของเสียงข้างมากก็คือมติที่ว่า “ปล้นใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร” เท่านั้นเอง

ทำอย่างไรเสียงข้างมากจึงเป็นสิ่งเดียวกับ “ความถูกต้องชอบธรรม” และระบอบประชาธิปไตยจะคุ้มครองเสียงข้างน้อยที่เห็นต่างกันได้อย่างไร

สิทธิของเสียงข้างน้อย?

แม้แนวคิดของรุสโซเห็นว่า ความเห็นของเสียงข้างน้อยหรือผู้ที่เห็นต่างจากเสียงส่วนใหญ่เป็นความเห็นของผู้หลงผิด ซึ่งจะต้องถูกบังคับให้ยอมรับและปฏิบัติตามในความถูกต้องให้ยอมรับและปฏิบัติตามที่เสียงข้างมากต้องการ

แต่จากมุมมองทั้งของรุสโซและลอค ทำให้เราได้มุมมองใหม่ๆว่า เจตนารมณ์ทั่วไป คือความดีร่วมกัน และความดีร่วมกันคือประโยชน์และความสุขของมวลสมาชิก ซึ่งโดยเนื้อหาคือ การมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพในร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินนั่นเอง

รัฐที่ดี ก็คือรัฐที่ให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพได้สูงสุด แต่วิธีการหรือการบริหารจัดการโดยระบอบการเมืองที่อาศัยเสียงข้างมากนั้น ก็ใช่ว่าเสียงข้างน้อยผิดทุกกรณี

หากเป็นเรื่องที่ว่า การขับรถมอเตอร์ไซค์ต้องสวมหมวกนิรภัย หรือขับรถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย หากฝ่ายเสียงข้างน้อยคัดค้าน ก็เป็นเรื่องที่วินิจฉัยได้ง่ายว่า เสียงข้างน้อยเป็นพวกหลงผิด

หรือ กรณีการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า(ชลประทาน หรือป้องกันน้ำท่วม) กับการอนุรักษ์ป่าไม้ ฝ่ายเสียงข้างมากไม่ว่าฝ่ายใดก็อาจผิดหรือถูกก็ได้ แต่หากไม่เลือกทำสักอย่างประโยชน์สุขของทุกคนก็จะได้รับผลกระทบอันเกิดจากความล่าช้าเสียหายจากการไม่เลือกด้วยเช่นเดียวกัน การไม่เลือกก็อาจผิดด้วย ขณะเดียวกันหากไม่สร้างเขื่อน ก็จำเป็นต้องใช้พลังงานอื่นๆมาทดแทน เช่น แก๊ส น้ำมัน ถ่านหิน นิวเคลียร์ ฯลฯ ซึ่งก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งอาจร้ายแรงมากกว่าเดิม(เว้นแต่มีพลังงานทางเลือกใหม่ๆที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาเสนอตัวทันเวลาเท่านั้นเอง)

แต่บางกรณีก็เป็นมากกว่าเรื่องถูกผิด เช่น การเลือกว่าประเทศไทยจะใช้รถยนต์แบบพวงมาลัยซ้ายหรือขวา การเลือกว่าจะใช้ระบบศาลแบบจารีตหรือประมวลกฎหมาย การเลือกว่าจะใช้วิธีการแบบไต่สวนหรือกล่าวหา การเลือกว่าจะมีระบบลูกขุน หรือไม่มี ฯลฯ เหล่านี้เป็นการลงมติที่อยู่เหนือเรื่องถูกผิดดีชั่ว

หรือกรณีว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประเทศไหนควรเลือกระบบใด เช่น แบบประธานาธิบดี แบบรัฐสภามีกษัตริย์เป็นองค์ประมุข แบบกึ่งประธานาธิบดี หรือแบบใหม่ๆที่จะมีขึ้นในอนาคต ฯลฯ เหล่านี้เป็นเรื่องของความเหมาะสมและสถานการณ์มากกว่า

นั่นคือ ความเห็นของเสียงข้างน้อย ก็ใช่ว่าเป็นความเห็นของผู้หลงผิดดังที่รุสโซกล่าวไว้เสมอไปก็หาไม่

ตรงกันข้ามเสียงข้างน้อย ที่ต่อมากลายมาเป็นพวกเห็นถูก ก็มีปรากฏให้เห็นมากในประวัติศาสตร์โลก

เช่น ยุคหนึ่งเสียงข้างมากเชื่อว่าโลกนี้ “แบน” แต่เสียงข้างน้อย(ที่รู้จริง)บอกว่าโลกนี้ “กลม”

ยุคหนึ่งสียงข้างมากเชื่อในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เสียงข้างน้อยเชื่อในประชาธิปไตย(จึงก่อการปฏิวัติ) ยุคต่อมาก็เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยดีกว่า

ฯลฯ

ปัญหาการขัดกันระหว่างวิธีการและเป้าหมายนี้ โดยทั่วไปนั้นระบอบการเมืองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เผด็จการทหาร เผด็จการพลเรือน ฯลฯ ก็ถือหลักนิยมว่าเป้าหมายสำคัญกว่าวิธีการนั่นคือหากจะมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของส่วนน้อยบ้างก็ไม่เป็นไร(เพราะไม่ใช่ญาติของผู้มีอำนาจ) หากทำให้สังคมส่วนรวมอยู่รอดและได้ประโยชน์ แต่ในสังคมประชาธิปไตยนั้น ทั้งวิธีการและเป้าหมายต้องควบคู่ไปด้วยกัน หาไม่แล้วจะกลายเป็นระบอบเผด็จการเสียงข้างมากไปเสียโดยง่าย

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างเสียงข้างมากกับเสียงข้างน้อยนั้น การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงได้พัฒนารูปแบบขึ้นมาหลากหลาย เช่น การชดเชยค่าเวนคืนที่ดินสำหรับทำถนน สร้างเขื่อน และสาธารณประโยชน์อื่น เป็นต้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่อาจชดเชยและสร้างความพอใจให้ผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพได้ระดับหนึ่ง

หรือในกรณีขัดแย้งกันทางความคิด ความเชื่อ เช่น ในประเทศฝรั่งเศส มีบุคคลบางกลุ่มเชื่อในระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ พวกเขาจึงจัดตั้งกลุ่มการเมืองขึ้น โดยสิทธิธรรมชาติแล้วรัฐต้องรับรองสิทธิในความเชื่อนี้ พรรคสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในฝรั่งเศส จึงสามารถจัดตั้งเป็นพรรคการที่ถูกต้องตามกฎหมายภายใต้บรรยากาศของการปกครองแบบประชาธิปไตย

ดังนั้นกรอบในการพิจารณาความชอบธรรมของเสียงข้างมาก จึงต้องดูว่าเสียงข้างมากไปละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน(ข้างน้อย)หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันความชอบธรรมของเสียงข้างมากจะถูกถ่วงดุลอำนาจและถูกตรวจสอบโดยทฤษฎีอื่นๆ เช่น ทฤษฎีว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของพลเมืองที่จะได้รับความคุ้มครอง ซึ่งได้พัฒนามาเป็นลำดับนับแต่ยุคกรีกโรมัน(มีมาก่อนทฤษฎีสัญญาประชาคม) สู่ยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ยุคแห่งการรู้แจ้งในยุโรป และกลายมาเป็นสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิทธิสากลที่รัฐใดๆก็ละเมิดมิได้ เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพตามธรรมชาตินั่นเอง

แล้วทำอย่างไร รัฐจึงจะคุ้มครองสิทธิธรรมชาติของทุกคนได้มาก(กรณี)ที่สุด ขณะเดียวกันก็บรรลุเจตนารมณ์ทั่วไปด้วย คือสังคมส่วนรวมบรรลุประโยชน์และความสุขร่วมกัน

ทำอย่างไรจึงจะเรียกได้ว่าถูกต้องทั้งเป้าหมายและวิธีการ คือ บรรลุความดีร่วมกันและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคนด้วย

แนวคิดว่าด้วยการทำสัญญาประชาคมที่แตกต่างกันในรายละเอียด จึงเป็นทางออกหนึ่งในการจัดการความขัดแย้งดังกล่าว

สิทธิทำสัญญาแตกต่างในสัญญาประชาคม

ดังได้กล่าวมาแล้วว่าเสียงข้างน้อย มิได้มีสภาพกลายเป็นสิ่งเดียวกับผู้หลงผิดที่รัฐจะต้องบังคับให้ทำตามเสียงข้างมากเสมอไปดังเช่นที่รุสโซนำเสนอ

และในทางการเมือง การอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเสียงข้างมาก ก็มิใช่การต่อต้านเสียงข้างมากเสมอไปเพราะการอยู่ฝ่ายตรงข้ามก็คือ การเห็นเป็นอย่างอื่น หาใช่สิ่งตรงข้ามทุกกรณีเสมอไปก็หาไม่

เช่น หากคนส่วนใหญ่เห็นว่าระวางโทษสำหรับการลักทรัพย์คือติดคุก แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับโทษลักษณะนี้ ก็อาจหมายถึงการเห็นชอบให้มีลงโทษด้วยการให้ทำงานสังคม เฆี่ยน โบย เบี้ยปรับ เพราะพวกเขาเห็นว่าคุก เป็นแหล่งเรียนรู้และเพาะอาชญากรรม นำไปสู่การสร้างเครือข่ายอาชญากรรม เป็นปมด้อย เสื่อมเสียประวัติ ทำให้ผู้พ้นโทษย้อนกลับมาทำผิดซ้ำซ้อนทำร้ายสังคมได้อีก ฯลฯ

หรือกรณีการมีภรรยาของชายไทยมุสลิม กล่าวโดยหลักศาสนาแล้วเขาสามารถมีภรรยาได้ไม่เกิน 4 คน และหากเขาอยากรับรองให้เป็นภรรยาถูกต้องตามกฎหมายทุกคนก็กระทำไม่ได้ เพราะกลายเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อน ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย(ผู้นำท่านหนึ่งในกองทัพของเราก็กำลังเจอปัญหานี้และไร้ทางออกในระดับทฤษฎี) เกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ถูกหลักศาสนาแต่ผิดกฎหมาย หรือเกิดเป็น “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต”(หากกำหนดว่าชายไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้มีภรรยาได้ไม่เกิน 4 คนได้ถูกต้องตามกฎหมาย และคนอยู่นอกอาณาเขตก็ดื้อแพ่งใช้สิทธินี้ด้วย)ทำให้กฎหมายไร้สภาพบังคับโดยปริยาย ขาดความเด็ดขาดศักดิ์สิทธิ์ มีกฎหมายก็เหมือนไม่มี เป็นต้น

ดังนั้นสัญญาประชาคมที่มนุษย์ร่วมทำสัญญากันนั้น แม้ว่ามีเป้าหมายร่วมกัน คือ ประโยชน์และความสุขของสังคม แต่ขณะเดียวกันสมาชิกก็สามารถตกลงให้มีกรอบกว้างๆเพื่อให้สมาชิกได้เลือกใช้สิทธิอย่างเสมอภาค เหมาะสมและเป็นธรรมภาย ใต้ความเชื่อที่แตกต่างกัน เช่น ความเชื่อว่าระบบกฎหมายนี้ดีกว่าระบบนั้น(จึงจัดให้มีระบบกฎหมายมากกว่าหนึ่งระบบ) เชื่อว่าโรงเรียนเอกชนดีกว่าโรงเรียนรัฐบาล(จึงให้เอกชนจัดการศึกษาแข่งกับรัฐได้) เชื่อว่าการลงโทษแบบนี้ดีกว่าแบบนั้น(การยกเลิกโทษประหารชีวิตดีกว่าการคงโทษนี้เอาไว้) เป็นต้น

ดังที่ลอคกล่าวเอาไว้ว่า “อำนาจของรัฐเกิดจากสัญญา”นั่นคือ อำนาจของรัฐจะมีขอบเขตมากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมเป็นอำนาจที่จะกระทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสังคมหรือประชาคมที่ว่าธำรงไว้ซึ่งความดีร่วมกัน(Common Good)

สิทธิในการทำสัญญาแตกต่าง อาจช่วยลดข้อขัดแย้งในสังคมได้มาก ตราบที่ไม่มีวิธีการอื่นใดที่ดีกว่า

ดังมีกรณีให้พิจารณาต่อไปนี้

กรณี เรียกร้องยกเลิกโทษประหารชีวิต

ขณะที่คนส่วนใหญ่ในบางสังคมเชื่อว่า โทษประหารชีวิตเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการป้องกันและป้องปรามอาชญากรรรม และรัฐก็คุ้มครองความเชื่อของคนส่วนใหญ่ด้วยการออกเป็นกฎหมายรับรองสิทธิในความเชื่อนี้

รัฐหนึ่ง คนส่วนใหญ่เห็นชอบให้ประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษ แต่รัฐอื่นๆเห็นชอบให้แขวนคอ ยิงเป้า ตัดคอ ฯลฯ ก็เชื่อแตกต่างกันไป

บางรัฐเห็นชอบให้มีโทษเฆี่ยน หรือโบยไว้สำหรับบางฐานความผิด แต่บางรัฐคนส่วนใหญ่เชื่อว่าระวางโทษแบบนี้ เป็นการกระทำที่เลวร้าย ป่าเถื่อน และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน

ขณะที่กลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่งเชื่อว่า โทษประหารชีวิตนั้นป่าเถื่อน ขัดต่อความเป็นมนุษย์ผู้มีใจสูง ป้องกันและป้องปรามอาชญากรรมไม่ได้ มีแต่ทำให้เหยื่อและพยานถูกฆ่าปิดปาก เพราะอาชญากรเกรงกลัวโทษประหารชีวิต

ในสังคมเดียวกัน มีเจตนารมณ์ทั่วไปเหมือนกัน แต่เชื่อในอุดมการณ์และแนวคิดการไปสู่ความสงบสุขแตกต่างกัน ขณะเดียวกันหากรัฐคุ้มครองความเชื่อของคนส่วนใหญ่ ก็ไปละเมิดสิทธิในความเชื่อคนกลุ่มน้อย

สิทธิในสัญญาประชาคมนั้นเป็นสิทธิในธรรมชาติที่สมาชิกจะต้องได้รับการรับรองและคุ้มครองอุดมการณ์และความเชื่อ ดังนั้นพวกเขาย่อมมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะทำสัญญาแตกต่างจากคนอื่นๆหากสังคมเห็นพ้องและให้การรับรอง

เพราะหากไม่รับรองแล้ว พวกเขาย่อมมีสิทธิยกเลิกสัญญา เพื่อไปอยู่ในรัฐที่มีอุดมการณ์เดียวกัน รวมถึงสิทธิในการสร้างรัฐใหม่ซ้อนรัฐเดิมด้วย

เช่น สังคมหนึ่งปกติคือกำหนดระวางโทษสูงสุดประหารชีวิต แต่หาก นาย ก ต้องการยกเลิกโทษประหารชีวิตและให้กำหนดโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิตแทน เขาย่อมมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะทำสัญญากับประชาคม(กับรัฐ?)เพื่อเว้นโทษประหารชีวิตได้

แต่หากเกิดการขัดกันของสิทธิหรือเจตนารมณ์ คือกรณี นาย ข(ยอมรับให้มีโทษประหารชีวิต) ฆ่า นาย ก แล้วนาย ข ต้องรับโทษสถานใด

อยากตั้งข้อสังเกตว่า นาย ก ซึ่งเป็นผู้เสียหายและได้แสดงเจตนารมณ์(ผ่านพินัยกรรมที่เสมือนด้วยสัญญา)ให้เว้นโทษประหารชีวิต ดังนั้น นาย ข ย่อมไม่ต้องรับโทษประหารชีวิต

เพราะเจตนารมณ์ของ นาย ก เป็นสิทธิสำคัญที่รัฐก็ละเมิดไม่ได้(เหมือนสิทธิในเรื่องมรดกที่สิทธิของผู้ให้สำคัญกว่าสิทธิของผู้รับ) เพราะอำนาจรัฐเกิดจากสัญญาตามแนวคิดของลอคนั่นเอง

ในทางกลับกัน หากนาย ก ฆ่านาย ข แล้วนาย ก ต้องรับโทษตามเจตนารมณ์ของนาย ข คือหากไม่ระบุไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ยึดถือหลักทั่วไปที่บัญญัติไว้ในกฎหมายนั่นเอง ซึ่งในที่นี้นาย ก ต้องระวางโทษประหารชีวิตนั่นเอง(ซึ่งโดยทั่วไปนาย ก คงไม่คิดไปฆ่าใครแน่ เพราะกำหนดระวางโทษไว้น้อยกว่าคนอื่น ย่อมเชื่อถือได้ว่า นาย ก ไม่คิดกระทำความผิดในฐานความผิดที่กำหนดระวางโทษประหารชีวิตเป็นแน่ ขณะที่นาย ข เองก็ไม่มีทางล่วงรู้เหยื่อ(ผู้ตาย)นั้นได้กำหนดระวางโทษสูงสุดเอาไว้อย่างไร รู้แต่ว่าในสังคมนั้นมีบางคนที่ได้กำหนดระวางโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น)

แนวคิดนี้ รับรองสิทธิตามธรรมชาติที่ลอคเรียกว่า “ความยุติธรรมส่วนบุคคล”(La justice privée) คือให้สมาชิกแต่ละคนมีอำนาจบังคับการตามสิทธิของตนในการลงโทษผู้ที่มากระทบสิทธิของตนได้ตามธรรมชาติของมนุษย์ที่เรียกว่า “การป้องกันตัวด้วยกำลังของตนเอง” แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบที่กำหนดโดยสัญญาประชาคมเท่านั้น

แนวคิดนี้ไม่ขัดต่อหลัก“หลักต่างตอบแทน” เพราะแต่ละฝ่ายก็ตอบแทนอีกฝ่ายหนึ่งด้วย“ใจสมัคร” และเป็นไปตามหลักสัญญาที่ว่าแต่ละฝ่ายต้องทำสัญญาด้วยใจสมัครยินยอม

สิทธิเหล่านี้จึงรวมถึงการกำหนดรูปแบบของโทษ หากมีสมาชิกบางคนบางกลุ่มเชื่อว่ามนุษย์มีความเกลียดกลัวแตกต่างกัน

นั่นคือพวกเขาย่อมมีสิทธิในการเลือกวิธีการหรือรูปแบบการประหารชีวิตผู้ที่ละเมิดต่อสิทธิในชีวิตของเขาภายใต้กรอบของสัญญาประชาคม ซึ่งเป็นวิธีการประหารชีวิตที่ประชาคมเปิดกว้างและรับรองเอาไว้ด้วย เช่น การยิงด้วยอาวุธปืน เก้าอี้ไฟฟ้า แขวนคอ ปาด้วยก้อนหิน ตัดคอ วางระเบิด ถ่วงกดน้ำ คลุมหน้าด้วยถุงพลาสติก ฯลฯ

ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองแนวคิดความเชื่อของพวกเขา ที่เชื่อว่ารูปแบบการประหารชีวิตเหล่านี้มีผลต่อการป้องปรามผู้คิดก่ออาชญากรรมได้(ทำนองว่าเป็นการเขียนเสือให้วัวกลัว เป็นการสร้างจินตนาการล่วงหน้าถึงรูปแบบการถูกลงโทษ แต่ไม่มีใครอาจล่วงรู้รูปแบบของโทษล่วงหน้าได้ นอกจากเหยื่อหรือผู้ตายเท่านั้นเอง)

สิทธิในความเชื่อที่แตกต่างนี้ รวมถึงอำนาจในการลงโทษผู้ละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่นด้วยวิธีการเดียวกันกับที่ผู้กระทำผิดใช้ด้วย

รูปแบบการลงโทษนี้ ไม่ใช่แนวคิดว่าด้วยการแก้แค้น แต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งกันและกันของมวลสมาชิก บนสมมติฐานที่ว่าสมาชิกทั้งหมดเป็น“มนุษย์ใจสูง” จึง “ไม่มีใครคิดทำชั่ว/ผิด” มนุษย์จึงไม่ต้องเกรงกลัวโทษ และรูปแบบของโทษ

ดังนั้น กรณีที่มีการคงโทษประหารชีวิตเอาไว้ โทษก็ยังมีลักษณะที่แน่นอน แต่มีรูปแบบไม่แน่นอน จึงไม่ขัดต่อหลักความเป็นธรรมและหลักต่างตอบแทน เพราะโทษเท่าเดิม ต่างกันแค่รูปแบบ แต่เนื้อหาเท่าเดิมคือตาย สถานเดียว

ขณะเดียวกันการทำสัญญาที่แตกต่างกันนี้ ก็ยังเปิดโอกาสให้บางคนแสดงเจตนาเว้นโทษประหารชีวิตตามอุดมการณ์ความเชื่อของเขา และยังอยู่ร่วมกันเป็นปกติสุขในสังคมการเมืองเดียวกันต่อไปได้

สิทธิทำสัญญาแตกต่างนี้ จะนำสังคมไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ระวางโทษทางเลือก” เพิ่มความหลากหลายรูปแบบในการลงโทษตามความเชื่อของแต่ละคน

แน่นอนการประท้วงอันเกิดจากความขัดแย้งกันระหว่างเสียงข้างมากกับเสียงข้างน้อยในเรื่องระวางโทษ และรูปแบบการประหารชีวิต ก็เป็นอันว่ายุติลงได้

กรณี เลือกระบบศาล

ธรรมดาของชาวสวนชาวนานั้นมีเครื่องมือหลากหลายประเภทสำหรับปรับปรุงพื้นที่ หรือ ตัด/โค่นต้นไม้ เช่น มีด พร้า มีดดายหญ้า รถตัดหญ้า ขวาน สิ่ว เลื่อย ฯลฯ อุปกรณ์แต่ละชนิดก็มีประโยชน์ใช้สอยอย่างจำกัด การเลือกเครื่องมือให้ถูกกับชนิดของงานหรือสถานการณ์ ย่อมทำให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ในระบบกฎหมายก็เช่นกันมีระบบกฎหมาย(เครื่องมือ)ที่แตกต่างกันไป แต่ทุกระบบก็มีไว้เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน คือสร้างความยุติธรรมนั่นเอง

จำเป็นต้องกล่าวก่อนว่าระบบกฎหมายในโลกนี้แบ่งระบบการพิจาณาคดีได้ 2 ระบบคือ

ระบบกล่าวหา(Accusatiorial System) มีที่มาจากประเทศอังกฤษและกลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมายระบบคอมมอนลอว์ (Common Law) เช่นสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ แคนาดา รวมทั้งกลุ่มประเทศอาณานิคมของอังกฤษ ในระบบนี้มีการใช้คณะลูกขุนทำหน้าที่ติดสินถูกผิดและกำหนดโทษ

ระบบไต่สวน(Inquisitorial System) วิวัฒนาการมาจากระบบกล่าวหา มาจากกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯซึ่งใช้กฎหมายระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law)

ระบบที่แตกต่างกันย่อมมีสถานการณ์ให้เลือกใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่างกันไปในแต่ละกรณี เหมือนอุปกรณ์ทำสวนของเกษตรกรชาวสวนชาวนา

ดังนั้นระบบคณะลูกขุนก็ดี ระบบกล่าวหาก็ดี ระบบไต่สวนก็ดี ฯลฯล้วนแต่เป็นระบบ(เปรียบด้วยเครื่องมือของเกษตรกร)ที่ถูกมนุษย์สร้างขึ้นมา เพื่อมุ่งหวังสิ่งเดียวกันคือสร้างความยุติธรรม เท่านั้นเอง

แต่การจะเลือกใช้ระบบไหน วิธีการไหนดีที่สุด อันนี้เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินชี้ขาดโดยง่ายดายได้ แต่การที่สังคมใดสังคมหนึ่งเลือกใช้เครื่องมือชนิดเดียวสำหรับทำงานทุกสถานการณ์นั้น “สติปัญญา”กล่าวแก่เราว่าการทำงานแบบนั้นน่าจะ “ผิดมากกว่าถูก”

ดังนั้นจึงมีหลายๆคดี เป็นที่ถกเถียงกันว่า คดีแบบนี้ หากถูกนำเข้าสู่ศาลในระบบกล่าวหา ผู้เสียหายจะไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่หากเข้าสู่อีกกระบวนการหนึ่งคือระบบไต่สวน ผู้เสียหายก็จะได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น

เพราะสิ่งที่เรียกว่าระบบกฎหมายหรือระบบการพิจารณาคดี ก็ล้วนวางอยู่บนข้อจำกัด และข้อจำกัดย่อมสร้างความยุติธรรมได้จำกัด และความยุติธรรมที่จำกัด ก็คือความไม่ยุติธรรมนั่นเอง

และการที่มนุษย์สร้างระบบกฎหมายขึ้นมา ก็เพื่อคุ้มครองมนุษย์มิให้ตกเป็นเหยื่อของระบบยุติธรรมด้วยเช่นกัน เช่น การยึดหลักการในทางกฎหมายอาญาที่เรียกว่า “การพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัย”(Prove beyond reasonable doubt) ซึ่งเป็นระบบคุ้มครองสิทธิของผู้บริสุทธิ์ แต่ก็มักถูกใช้มาเป็นจุดอ่อนในการช่วยเหลือผู้กระทำผิดให้พ้นข้อกล่าวหาได้ด้วยเช่นกัน

ด้วยข้อจำกัดของระบบต่างๆ เราจึงถูกบังคับให้เลือกใช้ระบบอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับรูปการณ์แห่งคดี

เช่น ประเทศไทยมีศาลระบบกล่าวหาในคดีแพ่งและคดีอาญา และเรามีระบบไต่สวนในคดีที่ใช้อำนาจตามกฎหมายมหาชน คือในศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

สำหรับดคีอาญานั้น ทำอย่างไรสมาชิกสังคมจึงจะพอใจ และเห็นว่ากฎหมายสร้างความยุติธรรมได้จริง โดยไม่ต้องพึ่งพาความยุติธรรมนอกระบบซึ่งนำไปสู่ศาลเตี้ยและความวุ่นวายปั่นป่วน กระทั่งรัฐล่มสลายไปในที่สุด

ในการทะลายข้อจำกัดของความยุติธรรมนี้ สามารถเกิดขึ้นได้สองทาง ทางแรกคือ ให้เสรีภาพแก่สมาชิกในการเลือกระบบพิจารณาคดี หรือทางที่สอง คือการผสมผสานระบบที่แตกต่างเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อลดข้อจำกัดของแต่ละระบบให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็คือประสิทธิภาพสูงสุดที่ตามมานั่นเอง(ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ระบบกล่าวหาและระบบไต่สวนจะผสมผสานกันมากขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในระดับน้อยมาก เพราะยากผสมผสานเข้าไว้ด้วยกันได้ แตกต่างจากรถยนต์ไฮบริด หรือไบฟูเอลที่ก้าวหน้าไปมากแล้ว)

ยกตัวอย่างข้อจำกัดของกฎหมายระบบกล่าวหา

เช่น ค่ำคืนหนึ่งในที่เปลี่ยว นาย ก กับพวก ได้ร่วมกันยิงนาย ข ถึงแก่ความตาย หลังจากเกิดเหตุ นาย ก กับพวกได้แยกย้ายกันหลบหนีการถูกจับกุม โดยได้นำของกลางคืออาวุธปืนที่ใช้กระทำความผิดหลบหนีไปด้วย นอกจากนี้ นาย ก ยังมีความรู้เกี่ยวกับการทำลายคราบเขม่าดินปืน(เพราะมีญาติใกล้ชิดรู้เรื่องเหล่านี้ดี)รอระยะเวลาหนึ่ง พอให้แน่ใจว่าคราบเขม่าดินปืนได้สลายสิ้นไปแล้ว นาย ก จึงเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ค้นหาอาวุธปืนของกลางไม่พบ ยิ่งกว่านั้นพยานในที่เกิดเหตุก็ไม่มี เพราะเป็นที่เปลี่ยวและมืด)

รูปการณ์เป็นอย่างนี้ หากเป็นการพิจารณาในคดีระบบกล่าวหา จะพบว่าการนำสืบพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ย่อมเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะพยานหลักฐานมีน้อยมาก พยานบุคคลก็ไม่มี อย่างนี้ศาลก็คงต้องจำใจต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย คือยกฟ้องหรือพิพากษาว่าจำเลยไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา

ดังนั้นหากฝ่ายผู้เสียหายใช้กฎหมายระบบกล่าวหา แล้วพบว่า ระบบกฎหมายนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อความยุติธรรมอย่างรุนแรง ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะเลือกระบบกฎหมายใดๆที่เขาเชื่อว่าให้ความยุติธรรมแก่เขาได้มากกว่า เพราะเป้าหมายสูงสุดของของระบบกฎหมายแต่ละระบบ คือการทำให้เกิดความยุติธรรมสูงสุดนั่นเอง

เพราะขณะที่ฝ่ายโจทก์ข้องใจถึงเส้นทางหลบหนีของฝ่ายจำเลยว่าหลังเกิดเหตุแล้วหนีไปไหน อย่างไร ติดต่อใครในระหว่างหลบหนีบ้างก็ไม่อาจกระทำไม่ได้ เพราะจำเลยไม่ยอมให้การใดๆ ทำให้ฝ่ายผู้เสียหายขาดพยานหลักฐานสำคัญที่ควรจะได้เพื่อประโยชน์แห่งรูปคดี

แต่หากเราถือหลักว่า “ผู้บริสุทธิ์ย่อมเปิดเผย”(สติปัญญาและสามัญสำนึกกล่าวแก่เราเช่นนั้น) คือ ผู้บริสุทธิ์ย่อมไม่ปกปิดข้อเท็จจริง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตนเอง ด้วยหลักการนี้เราอาจพบวิธีการได้มาซึ่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ (ขณะที่ระบบกล่าวหานั้น ต้องใช้ทั้งเวลา เงินทองและเจ้าหน้าที่มากในการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือคว้าน้ำเหลว หาพยานหลักฐานไม่ครบ หรือหาได้ครบแต่ต้องใช้เงินทองมากมายซึ่งภาระนี้ตกแก่รัฐหรือผู้เสียหาย)

เพราะหากให้ศาลใช้อำนาจบังคับให้จำเลยแถลงต่อศาลถึงเส้นทางหลบหนี ตามหลักที่ว่า “ผู้บริสุทธิ์ย่อมเปิดเผย” ก็อาจได้ข้อมูลเพิ่มเติมเพียงพอให้สืบค้นหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ เพราะศาลจะทราบถึงเส้นทางการเดินทางหลบหนี หรือ คำให้การนั้นขัดแย้งกันเองในจุดใดบ้าง เหล่านี้อาจทำให้หาพยานหลักฐานเพิ่มเติมมามัดตัวได้ว่า นาย ก ได้ทำลายคราบเขม่าดินปืนที่ไหน ซื้อน้ำยาที่ไหน ติดต่อโทรศัพท์หาใคร ใครสั่งการให้จัดหาน้ำยาล้างเขม่าดินปืน ฯลฯ

ดังนั้นหากฝ่ายโจทก์เชื่อว่ารูปคดีแบบนี้ หากให้ศาลใช้วิธีการพิจารณาคดีในระบบไต่สวนแล้วทำให้เขาได้รับความเป็นธรรมที่ควรได้รับแล้ว ย่อมเป็นสิทธิธรรมชาติที่เขาพึงมีพึงได้โดยชอบธรรม

เพราะในระบบไต่สวนนั้น โดยหลักการคือศาลจะทำหน้าที่ค้นหาความจริงด้วยตนเอง ศาลจะมีบทบาทในการดำเนินคดีสูง เพราะระบบไต่สวนเน้นในเรื่องการค้นหาความจริงและมีความยืดหยุ่นกว่าระบบกล่าวหา และถือเป็นหน้าที่ของรัฐแสวงหาความจริงและให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณี

แต่ตามปกตินั้นทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิ(ประชาคมยังไม่รับรอง)ว่าในขณะกระทำผิดนั้น ให้ใช้กระบวนการพิจารณาแบบอื่นตามเจตนารมณ์ของผู้เสียหายได้

เว้นแต่สัญญาประชาคมรับรองว่า สมาชิกบางคน(หรือทุกคน)ทำสัญญาไว้เป็นอย่างอื่นได้ เช่น การให้ผู้เสียหายนำคดีขึ้นสู่ศาลในระบบที่ตนเชื่อว่าระบบนั้นให้ความยุติธรรมแก่ตนได้มากที่สุด

การเปิดช่องทางให้สมาชิกสังคมการเมืองเลือกระบบการพิจารณาคดีได้นั้น ย่อมเป็นไปตามหลักต่างตอบแทน คือแต่ละคนสามารถกำหนดรูปแบบการดำเนินคดีและรูปแบบแห่งโทษได้ภายใต้กรอบแห่งเจตนารมณ์ทั่วไป ตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อประโยชน์สุขของสังคม

สิทธิในสัญญาประชาคมเพื่อทำสัญญาที่แตกต่าง นำเราไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ยุติธรรมทางเลือก” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการยุติปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งในสังคมได้อีกระดับหนึ่ง และหากสิทธิทำสัญญาแตกต่างสามารถป้องปรามการทำผิดคิดชั่วได้มากขึ้น ก็นับว่าน่ายินดียิ่ง

สรุป

ประชาชนที่เป็นสมาชิกสังคมการเมือง ย่อมมีสิทธิธรรมชาติเสมอกันในรัฐที่ก่อตั้งขึ้นตามสัญญาประชาคม กรณีที่สมาชิกเสียงข้างน้อยได้รับผลกระทบจากการบริหาร หรือมีความเชื่อแตกต่างจากเสียงข้างมาก สิทธิของเสียงข้างน้อยก็ยังเป็นสิทธิธรรมชาติโดยสมบูรณ์ ดังนั้นพวกเขาย่อมมีสิทธิที่จะให้รัฐพิทักษ์และส่งเสริมคุ้มครองสิทธิในความแตกต่างนั้น

สิทธิในสัญญาประชาคมจึงรวมถึงสิทธิในการทำสัญญาที่แตกต่างกัน หากประชาคมยินยอม และตราบที่สัญญานั้นไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อเจนารมณ์ทั่วไปของรัฐ ซึ่งก็คือความสงบสุขและสิทธิเสรีภาพของทุกคนนั่นเอง

ดังนั้นสิทธิในการเรียกร้องให้บังคับใช้รูปแบบของโทษที่แตกต่างกัน หรือสิทธิในการเลือกกระบวนยุติธรรมที่แตกต่างกัน จึงเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่รัฐต้องคุ้มครองและส่งเสริมจัดให้มีขึ้น

เว้นแต่ทฤษฎีสัญญาประชาคม จะยอมรับและเปิดเผยตนเองว่าเป็นเพียงมายา และเหลวไหลไร้สาระ นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง



ขอขอบคุณสารสนเทศจาก
//www.oknation.net/blog/print.php?id=201229





















Create Date : 18 ตุลาคม 2551
Last Update : 29 พฤษภาคม 2555 13:21:22 น. 0 comments
Counter : 857 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.