" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2554
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
14 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 

036. ตัวอย่างบริษัทไทยที่นำข้อแนะนำและมาตรฐานสากลต่างๆ มาใช้ :บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง

ตัวอย่างบริษัทไทยที่นำข้อแนะนำและมาตรฐานสากลต่างๆ มาใช้ :บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง

สำหรับประเทศไทยนั้น มีผู้นำในการนำ standards and guidelines มาใช้ในการทำ CSR หลายบริษัทที่น่าสนใจ เช่น บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย ปตท. บางจาก เซ็นทรัลกรุ๊ป น้ำตาลมิตรผล ธนาคารกรุงไทย เราได้สัมภาษณ์ผู้บริหารของ บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการนำมาตรฐานสากล หรือ international standards ในการสร้าง corporate social responsibility มาปรับใช้ภายใต้กรอบของเศรษฐกิจและกฎหมายของประเทศไทย และได้คำแนะนำตามประเด็นต่างๆ ดังนี้

• ความเป็นมาในการทำ CSR ของบริษัทฯและวิสัยทัศน์

การทำ CSR มีมาแล้วตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง โดยผู้ถือหุ้นหลักที่มีสิทธิในการบริหารงานบริษัทฯ คือ บริษัท Holcim ผู้ผลิตปูนรายใหญ่ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเรื่อง Corporate Social Responsibility เป็นไปตามมาตรฐานยุโรป และ GRI ดังนั้นปูนซีเมนต์นครหลวงจึงมีพันธกิจในการทำประโยชน์ให้แก่สังคมและให้ความสำคัญกับการทำ CSR มากพอๆ กับผลประโยชน์ทางการค้า ด้วยเหตุผลคือ บริษัทฯตระหนักว่า หากต้องการให้ธุรกิจของตนเติบโตได้ในระยะยาว จำเป็นที่จะต้องให้สังคมและผู้บริโภคมีสวัสดิภาพที่ดี สามารถเติบโตพัฒนาไปด้วยพร้อมๆ กัน และมีการเกื้อหนุนกันระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อ รวมทั้งสังคมรอบด้าน

ทั้งนี้กระทั่งปูนซีเมนต์นครหลวงได้จัดกิจกรรมการพัฒนาชุมชนเรื่อยมา จนกระทั่งได้มาทำงานด้านสังคมที่เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผ่าน CSR Club โดยมีคุณคันธนิธิ์ สุคนทรัพย์ เข้ามารับตำแหน่งรองประธาน CSR Club เมื่อ ปี พ.ศ. 2552 ซึ่งคุณคันธนิธิ์ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งรองประธานด้านธุรกิจสัมพันธ์ของ ปูนซีเมนต์นครหลวงเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งในปีนั้นได้มีการแต่งตั้ง CEO คนใหม่ คือ คุณฟิลิป อาร์โต้ อดีตผู้บริหารบริษัทข้ามชาติ ที่เคยทำงานมาในหลายประเทศ ทั้งยุโรปและออสเตรเลีย ผู้บริหารทั้งสองท่านคือ คุณฟิลิปและคุณคันธนิธิ์ต่างเคยมีประสบการณ์ด้าน CSR มาก่อน และมีความตระหนักถึงความสำคัญของ sustainable development จึงมีความคิดที่จะพัฒนานโยบายของบริษัทฯไปในทางนี้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

• นโยบาย CSR ของบริษัทฯ

ขณะนี้ย่างเข้าครบรอบ 40 ปี ของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง บริษัทฯมีความตั้งใจจะเน้นยุทธศาสตร์ด้าน CSR ใหม่ โดยเน้นที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือ stakeholders ของบริษัทฯ ซึ่งต่างจากเดิมที่ไม่ได้เจาะจงกลุ่มเป้าหมายในการทำกิจกรรมในเชิงส่งเสริมพัฒนา โดยบริษัทฯได้แบ่ง stakeholders ออกเป็น 4 รายใหญ่ คือ พนักงาน ลูกค้า คู่ค้าทางธุรกิจ และชุมชน (โดยไม่ทิ้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่นๆ เช่น NGO หน่วยงานราชการ เป็นต้น) ผลที่ตามมาคือ บริษัทฯจะคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้เป็นหลักเมื่อต้องทำการตัดสินใจต่างๆ เกี่ยวกับระบบการผลิต ทุกครั้งที่เลือกพัฒนาโครงการหรือกิจกรรมด้าน CSR บริษัทฯจะถือผลประโยชน์ของทั้ง 4 stakeholders นี้เป็นสำคัญ ส่งผลให้เกิดประโยชน์มากที่สุดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

• การทำตามมาตรฐานสากล และการนำมาปรับใช้กับบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวงไทย

สำหรับบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง การอยู่ภายใต้การควบคุมบริหารงานของผู้ถือหุ้นใหญ่ Holcim ซึ่งเป็นบริษัทฯผู้ถือหุ้นที่เป็นสากลนั้น จำเป็นจะต้องเตรียมข้อมูลด้านกระบวนการผลิตที่แม่นยำ และมีวิธีการคำนวณตัวเลขชี้แจงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการผลิตที่ปลอดภัยต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมถือเป็นหนึ่งองค์ประกอบของ Corporate Social Responsibility ที่ Holcim ต้องการ ดังนั้นสำหรับปูนซีเมนต์นครหลวง บริษัทฯจำเป็นต้องคำนึงถึงมาตรฐานสากลในการบริหารการผลิตอยู่เป็นหลัก

สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือการรายงานวัตถุดิบและขั้นตอนการผลิตที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล และมีผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดย 82% ของเครื่องจักรที่ปูนซีเมนต์นครหลวงใช้นั้นได้มาตรฐานการประหยัดพลังงานและมีประสิทธิภาพการใช้เครื่องจักรสูง

นอกจากนี้บริษัทฯได้พัฒนา Green Labels ตามมาตรฐานไทยของ Thailand Greenhouse Gas Organization (TGO) และ Thailand Environment Institute (TEI) ซึ่งได้ระบุไว้ว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯจะต้องผ่านกระบวนการผลิตโดยมีอัตราการปล่อยคาร์บอนในอากาศ (carbon emission) ลดลงอย่างน้อย 10% ในระยะย้อนหลัง 5 ปี สำหรับเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ทางปูนซีเมนต์นครหลวงมีผลิตภัณฑ์ที่ได้ carbon level อยู่ 4 ผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราการปล่อยคาร์บอนลดลง เฉลี่ยประมาณ 20-24% นอกจากนี้ยังมีอีกหลายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีอัตราการปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า 4 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และกำลังรอการทำ Green Label อยู่

ด้านมาตรฐานสากล บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง ยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Holcim ที่ถือเป็นหนึ่งใน 10 บริษัทปูนซีเมนต์ชั้นนำของโลก อันเป็นสมาชิกของ World Business Council for Sustainable Development (BCSD) และ 10 ผู้ประกอบการดังกล่าวยังเป็นผู้สร้าง CSI- The Cement Sustainability Initiative ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่มีความคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการทำตามข้อตกลง “แนวทางการลงบันทึกและรายงานก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์” ตามทิศทางของข้อตกลงก๊าซเรือนกระจกของสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และสถาบันทรัพยากรโลก ส่วนเป้าหมายอื่นๆ ของกลุ่ม CSI คือ การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการของการดำเนินธุรกิจ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยของพนักงาน ความรับผิดชอบด้านการใช้เชื้อเพลิงและวัตถุดิบ การจัดการด้านสภาวะอากาศ การลดการปล่อยก๊าซต่างๆ และการลดผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น

ล่าสุด ทางปูนซีเมนต์นครหลวง ได้ยึดหลักการดำเนินงานให้สอดคล้องกับพิธีสารเกียวโต หรือ Kyoto Protocol ซึ่งเป็นข้อตกลงนานาชาติที่มีเป้าหมายในการลดมลพิษทางอากาศด้วยวิธีต่างๆ เช่น การใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น

• การจัดทำรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมาบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง มีการจัดทำรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2549 โดยยึดแบบรายงานจากบริษัท Holcim ผู้ถือหุ้นหลัก เป็นตัวอย่าง และรวบรวมข้อมูลพร้อมทั้งจัดทำด้วยตัวเอง ต่อมาผู้บริหารชุดใหม่ดังที่กล่าวมาข้างต้น มีการตั้งเป้าในระยะยาวให้จัดทำรายงานทุกๆ ปี โดยจะตีพิมพ์รายงานสำหรับปี พ.ศ.2552 ในปีนี้ ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทฯยังได้ลงทุนจ้างบริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน consulting ทางสังคม สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย คือบริษัท Environmental Resources Management (ERM) เพื่อวางเกณฑ์มาตรฐานในการทำรายงานให้ถูกต้องตามเกณฑ์ของ GRI และให้บริษัท Price Waterhouse Cooper เป็นผู้จัดทำรายงานดังกล่าวอีกด้วย

คุณคันธนิธิ์ รองประธานด้านธุรกิจสัมพันธ์ของ ปูนซีเมนต์นครหลวง ยังมีข้อแนะนำที่น่าสนใจสำหรับบริษัทที่สนใจจะทำรายงานการอย่างยั่งยืนว่า ควรใช้ตัวอย่างจากบริษัทไทยที่ริเริ่มทางด้านCSR และ sustainable reporting มาก่อนแล้ว โดยควรเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวที่สามารถทำได้เลย แล้วค่อยพัฒนาไปสู่มาตรฐานสากลอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยให้ศึกษาแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และวิธีทำ sustainability report ให้เข้าใจถ่องแท้ โดยสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์การทำงานดังกล่าวกับบริษัทอื่นๆ ที่ทำมาแล้ว

• ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainability reporting) ที่เกิดกับบริษัทฯ และสังคมในวงกว้าง

คุณคันธนิธิ์กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่บริษัทฯจะได้จากการทำรายงาน Sustainability report คือ ความไว้วางใจจากผู้ถือหุ้นและลูกค้า รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในสังคม ว่าเป็นผู้ผลิตที่มีการประกอบการโปร่งใส คำนึงถึงการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภค และสังคมโดยรวม การมีข้อมูลการประกอบการที่โปร่งใส และสามารถนำตัวเลขมาเปิดเผยนำเสนอได้เพื่อพิสูจน์ว่ามีส่วนร่วมในการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อมและชุมชน ทำให้บริษัทฯมีความน่าเชื่อถือในการลงทุน ถือเป็นประโยชน์มหาศาลที่ช่วยทำให้บริษัทฯสามารถอยู่ได้และมีผลประกอบการที่ดีในระยะยาว

• ตัวอย่างโครงการพัฒนา CSR ที่ประสบความสำเร็จ

การทำกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง ที่ผ่านมาเป็นไปในหลายด้าน ทั้งด้านการพัฒนารักษาชุมชน ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้านการพัฒนาบุคลากรของบริษัทฯ ทางบริษัทฯมีความเห็นว่า ไม่ควรให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ควรนำบริษัทฯและพนักงานให้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เพื่อจะได้เกิดการสานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบริษัทฯและผู้อื่นในสังคม และระหว่างบุคลากรของบริษัทฯเองด้วย ตัวอย่างเช่น
• โครงการองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้านเทคนิค
• โครงการพัฒนาศักยภาพของผู้นำและการกำหนดแผนเพื่อความเติบโตในสายอาชีพ
• โครงการให้คำปรึกษาและการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาบุคลากรของลูกค้าของบริษัทฯ
• โครงการฝึกอาชีพและเสริมทักษะของชุมชน
• โครงการปลูกต้นไม้ในชุมชน
• โครงการก่อสร้างห้องสมุดชุมชน
• โครงการสร้างนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
• โครงการอุทยานศึกษา การฟื้นฟูระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมพุแคเฉลิมพระเกียรติร่วมกับกรมป่าไม้และจังหวัดสระบุรี
• การสนับสนุนให้รถบรรทุกปูนซีเมนต์ใช้ก๊าซธรรมชาติ
• โครงการความปลอดภัยในการจัดส่งของ ‘อินทรีย์โลจิสติกส์’
• การฝึกอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสำหรับพนักงานและผู้รับเหมา การสนับสนุนการออกค่ายพัฒนาชนบทระหว่างปิดภาคเรียนแก่นิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ ฯลฯ

รายละเอียดโครงการอื่นๆ ที่บริษัทฯได้มีส่วนร่วมมากมาย สามารถหาอ่านได้จาก รายงานพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ปี พ.ศ.2549

โครงการที่ บจก. ปูนซีเมนต์นครหลวงมีความภาคภูมิใจมากอันหนึ่ง คือ “โครงการ 80 พรรษา 880 ฝายอินทรีย์สร้างถวายในหลวง” ซึ่งบริษัทฯมีโครงการสร้างฝายใน 3 จังหวัดภาคเหนือ ขณะนี้เข้าสู่ปีที่ 3 โดยที่ผ่านมาได้สร้างฝายไปแล้วกว่า 2,300 ฝาย และในปีที่ 3 ได้ตั้งเป้าการสร้างฝายไว้มากกว่า 1,200 ฝาย นอกจากนี้บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง ยังมอบเงินสนับสนุนโครงการแก่มูลนิธิชัยพัฒนาเป็นจำนวนทั้งหมด 9,000,000 บาท ด้วยกัน และมีแผนที่จะร่วมกันกับร.พ. บำรุงราษฏ์ ในการอาสารักษาผู้ป่วยในชุมชนบริเวณพื้นที่สร้างฝายอีกด้วย



Sustainability Report / Standard / Guideline

สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม Corporate Social Responsibility Institute (CSRI)
ชั้น 10 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โทร. 02 229 2604, 02 229 2605, 02 229 2608
โทรสาร 02 654 5414
E-mail: csri@set.or.th


Source://www.csri.or.th/knowledge/sustainability-report-standard-guideline/230

----------------------------------------------------------------------------

Re-reporter by Moonfleet






นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง




 

Create Date : 14 มีนาคม 2554
0 comments
Last Update : 14 มีนาคม 2554 22:25:11 น.
Counter : 1345 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.