ซุนวู บทที่สิบเอ็ด เก้ายุทธภูมิ

บทที่สิบเอ็ด

เก้ายุทธภูมิ

ซุนวูกล่าวว่า พื้นที่ทำการรบมี อุทธัจจภูมิ ลหุภูมิ อุกฤษฏ์ภูมิ สัญจรภูมิ มรรคภูมิครุภูมิ ทุรภูมิ บัญชรภูมิ มรณภูมิ

ข้าศึกรุกเข้าโจมตีในแดนเราเรียกว่า อุทธัจจภูมิ

กองทัพเราล่วงเข้าไปในแดนข้าศึกอย่างผิวเผินเรียกว่า ลหุภูมิ

พื้นที่ซึ่งฝ่ายใดยึดได้ย่อมมีประโยชน์ทางยุทธการ เรียกว่า อุกฤษฏ์ภูมิ

พื้นที่ซึ่งฝ่ายใดก็ได้ไปมาสะดวก เรียกว่า สัญจรภูมิ

ประเทศราชใดมีเขตแดนต่อเนื่องหลายประเทศ ผู้ใดถึงก่อน ยอมได้รับความสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปเรียกว่า มรรคภูมิ

พื้นที่ซึ่งฝ่ายเราลุกเข้าไปเบื้องหลังเราได้ผ่านด่านขวางมากมาย เรียกว่า ครุภูมิ

ในแดนโขดเขาลำเนาไม้ หรือที่วิบาก หรือห้วยหนองคลองบึงบางและวิถีทางอันยากแก่การสัญจรทั่วไปเรียกว่า ทุรภูมิ

ปากทางที่จะเข้านั้นแคบคราวจะถอยต้องอ้อมวกเป็นทางไกล พื้นที่เช่นนี้ ข้าศึกย่อมใช้กำลังส่วนหน้อยเข้าโจมตีกำลังส่วนใหญ่ของเราได้เรียกว่า บัญชรภูมิ

ในพื้นที่ต้องรบอย่างอุตลุดรวดเร็วจึงจะพ้นภัยมิฉะนั้นต้องทัพล่ม เรียกว่ามรณภูมิ

เพราะฉะนั้นจึงหลีกเลี่ยงการรบในอุทธัจจภูมิ แต่รุกตะลุยเข้าไปในลหุภูมิอย่างไม่หยุดยั้ง

จงอย่าวู่วามเข้าตีในอุกฤษฏ์ภูมิและอย่าสะกัดกั้นข้าศึกใน สัญจรภูมิ

พึงผูกไมตรีกับประเทศที่เป็นมรรคภูมิและเมื่อตกอยู่ในครุภูมิแล้ว พึงกวาดเก็บเสบียงอาหาร เพื่อเลี้ยงกองทัพ

ในทุรภูมิจงรีบเดินทัพผ่านไป หากตกอยู่ใน บัญชรภูมิ ก็ต้องคิดแก้ไข หักเอาด้วยอุบายถ้าอยู่ในมรณภูมิ จงรีบรบเพื่อเอาตัวรอด

อันผู้ใดได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญการศึกในบรรพกาล ท่านย่อมสามารถทำให้ทัพหน้าและทัพหลังของข้าศึกขาดจากกัน กองใหญ่กองย่อยต่างไม่คิดคิดพึ่งพิงกัน นายไพร่ ไม่มีจิตช่วยเหลือกัน ผู้ใหญ่ผู้น้อยไม่มีถ้อยทีออมชอมกัน เหล่าพลแตกแยกมิเป็นส่ำแม้จะชุนนุมพลไว้พร้อมก็ขาดความสามัคคี

ท่านย่อมปฏิบัติการเมื่อเห็นผลและระงับเมื่อผลไม่อำนวย

หากตั้งคำถามว่า"เมื่อข้าศึกพรักพร้อมไหลหลั่วถะถั่นมาควรปฏิบัติอย่างไร" คำตอบคือ"ควรช่วงชิงจุดสำคัญซึ่งข้าศึกประสงค์เสียก่อน " นี้จะทำให้ข้าศึกจำต้องคล้อยตามยุทธกระบวนของเรา อันการศึกสำคัญที่ฉับไว จึงเอาความไม่ประมาทของเราเข้าจู่โจมจุดที่ข้าศึกขาดความระมัดระวัง

อันกองทัพเมื่อเข้าตีไปในแดนข้าศึก ยิ่งรุกเข้าไป เหล่าพลทหารก็ยิ่งเด็ดเดี่ยวขึ้นแต่ฝ่ายรับจะกลับอลวนคุมไม่ติด เพราะถูกรังควานถึงถิ่นอยู่ เมื่อฝ่ายรุกเก็บกวาดเสบียงอาหารในแดนบริบูรณ์ได้แล้วจงเลี้ยงดูทวยทหาร ให้อิ่มหมีพลีมัน อย่าใช้งานตรากตรำออกกำลังและบำรุงขวัญไว้ให้ดี คราวจะใช้กำลังทหาร หรือกะการณ์ใดๆพึงเป็นไปอย่างลึกล้ำ คาดไม่ถึง เพราะฉะนี้ จะต้องเข้สู่ที่อับจน แม้ตายก็ไม่แพ้เมื่อความตายยังไม่สามารถเอาชนะได้ กองทหารนี้จึงนับได้ว่าอุทิศกำลังงานอย่างเต็มที่

อันวิสัยของเหล่าทหารเมื่อตกอยู่ในวงล้อม ความกลัวก็หมดไป ถ้าเข้าที่คับขัน ก็รวมกันอย่างแน่นหนาเมื่อรุกลึกเข้าไป ก็จะสมัครสมานร่วมมือกันและยอมรับอย่างเด็ดเดี่ยวเมื่อถึงคราวจำเป็น

ด้วยเหตุนี้เหล่าทหาร ไม่ต้องกระตุ้นจิตใจก็จักระมัดระวังไม่ประมาท เชื่อฟังคำสั่งสอน โดยไม่ต้องเรียกร้องรักชิดสนิทชอบโดยไม่ต้องมีสิ่งรัดรึง ซื่อตรงต่อหน้าที่ ของตน โดยไม่ต้องพร่ำสั่งจงขจัดปัดเป่าเสียซึ่งความเชื่อทางโหราศาสตร์ โชคลาง และคำกล่าวอ้างเหล่าพลจะรบจนสุดใจไม่เปลี่ยนแปรเลย

อันทหารเราไม่เก็บออมทรัพย์สินจะด้วยเกลียดการมีทรัพย์สินก็หาไม่ เหล่ายอมมอบกายถวายชีวิต จะด้วยเกลียดการมีชีวิตยืนยาวนาน ก็หาไม่แต่ที่เสียสละได้ก็เพราะความเด็ดเดี่ยวและมั่นคงนั่นเอง

ในวันที่แม่ทัพสั่งรบเหล่าทหารที่ได้แต่นั่ง จะน้ำตาชุ่มเสื้อ ส่วนผู้ที่ได้แต่นอน หมอนเสื่อน้ำตาจะนองหน้า ด้วยเสียใจที่ตนเอง บาดเจ็บหรือป่วยไข้ ไม่สามารถออกรบกับเขาได้

เหล่าทหารที่ว่านี้หากใช้งานในที่คับขันเพียงใด เขาก็สามารถแสดงความกล้าหาญเช่น จวนจู และ เฉากุ้ย ให้ประจักษ์ เป็นมั่นคง

เพราะฉะนั้นการนำทัพ ของผู้ชำนาญศึก จึงเปรียบเช่น ไส้วหยาน ไส้วหยาน คืออสรพิษแห่งหุบเขา

ฉางซาน เมื่อถูดตึเข้าที่หัว หางจะตวัดถึงทันที ถ้าถูกตึเข้าที่หางหัวจะแว้งกัดโดยฉับพลัน ถ้าหากถูกตึเข้ากลางตัว หัวและหางจะตลบถึงทั่งสองข้าง

ถ้าตั้งคำถามว่า"กองทัพ ก็อาจจะทำให้เหมือนกับ ไส้วหยาน ได้หรือไม่" ตอบว่ ทำได้ อันชาวหวู และชาวเยียะเป็นอริกันแต่ขณะร่วมเรือสำเภาและประสบมรสุม เขาจัดช่วยเหลือซึ่งกันและกันดังหนึ่งแขนซ้ายและแขนขวา ที่เดียว

ด้วยเหตุนีการที่ผูกม้ารบติดกัน ให้รวมกลุ่มฝังล้อดินรถไว้ ประหนึ่งการตะล่อมผูกรัดเหล่าทหารให้อยู่ในระเบียบวินัยมั่นคง จึงเป็นสิ่งที่หวังอะไรไม่ได้เลยจำเป็นต้องเหล่าทหารมีความกล้าเสมอกัน นี่เป็นหลักของการนำทัพ รู้จักสมคล้อยถือประโยชน์จากสภาพลุ่มดอนแห่งพื้นที่นี้เป็นทฤษฏี ทางภูมิศาสตร์ เพราะฉะนั้นการนำทัพของผู้เชี่ยวชาญการศึก อุปมาดังจูงคนเดียวให้ปฏิบัติงานได้ เนื่องจากเข้าใจบ่มก่อความจำเป็นให้เกิดขึ้นนั่นเอง

คุณสมบัติของแม่ทัพก็คือ ความเยือกเย็นสุขุม และความเที่ยงธรรมมีวินัย

สามารถพลางหูพรางตาของทหารไม่ให้รู้อะไรเลย

ในการปฏิบัติต่อข้าศึก รู้จักยักย้ายวิธีดำเนินการและเปลี่ยนแปลงยุทธโยบาย เพื่อให้ข้าศึกตกอยู่ในความมืดมน หรือเปลียนแปลงที่ตั้งวกวิธีทางเดิน เพื่อมิให้ข้าศึกคาดหมายได้

การนำทัพไปสู่สมรภูมิที่กำหนดไว้เปรียบเหมือนไต่เต้าสูที่สูงแล้วชักบันไดออกเสีย นำทัพลึกเข้าแดนข้าศึก เปรียบเหมือนน้าวหน้าไม่แล้วลั่นไกอุปมาดั่งต้อนฝูงแกะ จะขับไล่ให้ไป หรือชัดพาให้มาเหล่าแกะนั้นย่อมไม่รู้กลความเลย

การชุมนุมพลมหาศาลคุมเข้าสู่แดนมหันตราย ซึ่งเป็นเหตุให้เหล่าทหารร่วมใจกันเป็นศิลปะของผู้บังคับบัญชา ความพินิจพิเคราะห์ ถึงการแปรเปลี่ยนแห่งนวภูมิรู้แจ้งเห็นจริงของคุณโทษของการหยุดยั้ง ตั้งรับ หรือเคลื่อนไหว รุกไล่ตลอดจนจิตวิสัย ของมนุษย์เป็นสิ่งที่ควรวิเคราะห์จงหนักแล

หลักการคุมทัพเข้าชิงชัยแดนข้าศึกถ้ารุกลึกเข้าไป ขวัญทัพย่อมแน่วแน่เด็ดเดี่ยว ถ้ากล้ำกรายเพียงชายแดนจิตใจย่อมไม่สำรวมดี รบพุ่งถึงถิ่นแดนที่ห่างไกลจากประเทศของตนโดยต้องข้ามประเทศเขตขัณฑ์ที่เข้าไปนั้นเรียกว่า อรันถภูมิ แผ่นดิน ถิ่นที่ถึงไหนถึงได้ เรียกว่า มรรคภูมิที่รุกลึกเข้าไปเรียกว่า ครุภูมิ ที่กล้ำกรายเพียงชายแดนเรียกว่า ลหุภูมิ ด้านหลังยันที่สูงด้านหน้าเป็นทางแคบ เรียกว่าบัญชรภูมิ ที่จนตรอกไร้ทางออก เรียกว่า มรณภูมิ

ด้วยเหตุนี้ เมื่อกองทัพอยู่ใน อุธัจจภูมิต้องเขม็งจิตใจรี้พลให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่ออยู่ในลหุภูมิต้องให้สมัครสมานคุมกันตามลำดับ ในอุกฤษฎ์ภูมิ ต้องตีโอบเข้าทางด้านหลัวในสัญจรภูมิ ต้องรักษาไว้โดยไม่ประมาทในมรรคภูมิต้องเพิ่มพูนสัมพันธภาพกับประเทศนั้นๆ ในครุภูมิ ต้องอาศัยเสบียงจากข้าศึก ในทุรภูมิ ต้องรีบรุดออกเสีย ในบัญชรภูมิ ต้องปิดช่องโหว่ที่ข้าศึกเปิดล่อไว้ ในมรณภูมิ ให้ถือว่าเป็นเรือนตาย เพื่อให้รบพุ่งเต็มความสามารถจะได้หักฝ่าออกไปได้

เพราะว่าวิสัยของทหารเมื่อถูกล้อมก็จะโต้ เมื่อจำเป็นก็จะสู้ ครั้นมีเหตุคับขันก็จะปฏิบัติมั่นตามคำสั่งผู้เป็นนาย

ฉะนั้นถ้าไม่รู้เจตจำนง ของเหล่าเจ้านคร เราจะผูกมิตรด้วยไม่ได้ไม่รู้จักลักษณะภูเขาลำเนาไม้ แดนวิบาก ตลอดจนห้วยหนองคลองบึง จะเดินทัพไม่ได้ไม่ใช้ชาวพื้นเมืองนำทาง ไม่ได้เปรียลจากภูมิประเทศ

เงื่อนงำแห่งนวภูมิหากไม่รู้แจ้งแม้เพียงหนึ่ง จะเรียกกองทัพผู้พิชิตไม่ได้

อันกองทัพของผู้พิชิตเมื่อเข้าโจมตีประเทศใหญ่ ประเทศนั้น แม้จะมีรี้พลมากหลาย ก็รวมกันไม่ติดแสนยานุภาพ ซึ่งเข้าบดบังข้าศึก จะทำให้แม้ประเทศที่มีพันธะกับศัตรูอยู่ก็ต้องละล้าละลัง เอาใจออกห่างเสีย

ด้วยเหตุนี้ไม่พึงกระตือรือร้นชิงผูกมิตรทั่วหล้า ซึ่งจะยังผลให้ ประเทศที่เราผูกมิตรด้วยพลอยก่อหวอดเพิ่มพูนอิทธิบาทยิ่งใหญ่ จงเชื่อมั่นในกำลังของตน ถึงคราวให้แสนยานุภาพเข้าทำศึกก็จักถอนเมืองและล่มประเทศแห่งอริราชได้

ยามฉุกเฉินจงปูนบำเหน็จรางวัล แก่เหล่าพลที่ทำความดีความชอบอย่างถึงใจ และตั้งกฏเข้มงวดเกินอาชญากรรมธรรมดา เพื่อลงโทษผู้ประพฤติผิดจนคุมแสนยากรได้ดั่งช่วงใช้คนๆเดียวกัน

จงบัญชาให้เหล่าทหารปฏิบัติการโดยเคร่งครัดอย่าได้แจงเหตุผล จงชี้ให้เห็นคุณประโยชน์ของงาน อย่าได้เกริ่นกล่าวถึงด้านที่อาจจะเป็นโทษ

วิสัยของทหารตกอยู่ในที่จนมุม ก็จะดิ้นรนเพื่อหาทางรอด ตกอยู่ในแดนตาย ก็จะขวนขวายเพื่อสวัสดิภาพดังนั้น เมื่อกองทัพ ตกอยู่ในที่คับขัน จึงอาจจะกลับแพ้เป็นชนะได้

เพราะฉะนั้นในการทำศึก จึงสำคัญที่ทำตัวให้คล้อยไปตามรูปรอยที่ข้าศึกมุ่งหมายไว้ ครั้นได้ที ก็รวมกำลังพุ่งเข้าทลายในจุดเดียวไล่ลุกบุกตลุยเข่นฆ่าแม่ทัพข้าศึก แม้ในหนทางยาวนับพันลี้ ผู้ชำนาญการศึกย่อมมีประสิทธิภาพในการทำศึกเช่นนี้แล




Create Date : 18 สิงหาคม 2558
Last Update : 18 สิงหาคม 2558 13:55:25 น.
Counter : 332 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 1940642
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



สิงหาคม 2558

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31