พหุรงค์

ตอนเอกรงค์คราวก่อน ผมเคยบอกไว้ว่าขาวดำ มันไม่ใช่แค่การเอาสีออก แล้วจบ เสร็จแค่นั้น แต่ต้องคุมโทนแสงของทั้งภาพ ตั้งแต่ขาว เทา ไปจนถึงดำให้มีน้ำหนักสวยงามพอเหมาะพอดีด้วย
ภาพสีไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนยากเย็นขนาดนั้น เพราะโทนภาพของภาพสี มักจะสวยอยู่แล้ว และต่อให้โทนภาพจะเข้มข้น จืด จาง จัด แรง หรือจะแบนไปสักนิด ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้ภาพดูแย่ลงไปมากอย่างภาพขาวดำ

พูดว่าเป็นภาพสี ภาพมันก็ควรจะมีสีสัน แต่ว่าไม่ใช่แค่เร่งสีให้ภาพสี แล้วภาพจะสวยขึ้นเสมอไป บางภาพเร่งสีขึ้นนิดๆ จะสวยขึ้น บางภาพควรจะลดสีลง บางภาพก็เหมาะกับการเป็นภาพเอกรงค์มากกว่า
ปัญหาที่เจอของภาพสีที่ร้ายแรง ก็มีอย่างเดียวแหละครับ คือการเร่งสีจนเกิดอาการสีล้น เพราะปรับกันหนักมือเกินไปหน่อย
หากอยากจะให้ภาพของเรามีสีสดขึ้นมากๆ เราไม่สามารถดัน Saturation ขึ้นไปเยอะๆ อย่างเดียวดื้อๆ ได้ เพราะสีจะเลอะ หรือล้น ถ้าจะเร่งสีให้สดขึ้นมากๆ ได้ จำเป็นที่จะต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่องสีกันสักเล็กน้อย (เล็กน้อยเท่านั้นก็พอ) แล้วใช้เทคนิคในการปรับสีหลายๆ วิธีร่วมกัน

มาดูพื้นฐาน แบบพื้นสุดๆ เหมือนจะห่างไกลจากชีวิตจริง และออกน่าเบื่อกันดีกว่า ถึงจะยาว น่าเบื่อ ซ้ำซาก เพราะมีคนพูดบ่อยแล้ว แต่เป็นพื้นฐานที่จำเป็นมาก ในการเล่นกับสี
ก็คือในกล้อง และซอฟท์แวร์จัดการภาพทั่วไปจะมองสีในภาพแยกเป็น 3 แชนแนล Red, Green, Blue แสง และสี ที่โปรแกรมจัดการใดๆ ก็คือการเล่นแร่แปรธาตุ RGB นี้
ในระบบโฟโต้ชอป และซอฟท์แวร์ปรับแต่งภาพ นอกจาก Red, Green, Blue แล้ว ยังมีการใช้ Cyan, Magenta, Yellow ด้วย เพราะโฟโต้ชอปมีฐานจากงานพิมพ์มาก่อนก็ในเมื่อเครื่องมือจัดการภาพของเรามันเกี่ยวพันกับ 6 สี สองระบบ ดังนั้นอย่างน้อยเราต้องรู้ความสัมพันธ์ของสี 6 สี กับระบบสี RGB, CMY ก่อน เพื่อจัดการมันให้อยู่มือ

RGB กับ CYM เป็นเรื่องชวนสับสนมาก เพราะในตำราแยกว่า อันนึงเป็นแม่สีบวก แม่สีของแสง ผสมกันแล้วได้สีขาว อันนึงเป็นแม่สีรงค์วัตถุ หรือแม่สีลบ ผสมกันแล้วได้สีดำ ฟังแล้วมันไม่เหมือนกัน มันควรจะคนละเรื่องสิ
ที่จริงแล้ว ทั้ง GRB/CYMK มันคือของอย่างเดียวกัน เรื่องเดียวกัน ต่างกันที่มุมมองเท่านั้น

มุมมองที่ว่าคือกลไกการเกิดสี


แม่สีในระบบ RGB (Red, Green, Blue)

เกิดจากการ 'เปล่งแสง' ความยาวคลื่นต่างๆ ออกมาจากแหล่งกำเนิดแสง เช่นจอภาพ หรือหลอดไฟ เช่นหากมีแสงที่ความยาวคลื่น 600 นาโนเมตร เปล่งออกมา เราก็จะมองเห็นเป็นสีแดง คลื่น 550 นาโนเมตร เราเห็นเป็นสีเขียว 500 นาโนเมตร เป็นสีน้ำเงิน หากปล่อยแสง 600 กับ 500 มาผสมกัน เราจะเห็นเป็นแสงสีม่วงแดง ถ้าเติม 550 เข้าไปอีก ก็จะเห็นแสงนี้เป็นสีขาว คือมีความยาวคลื่นในช่วงที่ตามนุษย์เห็น พอๆ กัน เสมอกันหมดทุกช่วงคลื่น สมองจึงแปลผลเป็นสีขาว
RGB จะมองระบบสีว่า เอาช่วง 'คลื่นแสง' ที่เปล่งออกมา มารวมกันเข้าไป ยิ่งผสมหลายช่วง ยิ่งขาวขึ้น

(อ้อ... ตัวเลขนี้เป็นการ simplified นะครับ และผมจะพูดในทางอุดมคติและหลักการอย่างคร่าวๆ เท่านั้น เพื่อให้นึกตามได้ง่าย ไม่ใช่ตัวเลขอ้างอิงจริงๆ)

แต่หากมีช่วงไหนมากกว่าช่วงอื่น เราก็จะเห็นเป็นสีนั้น เช่นถ้ามีช่วง 570-590 นาโนเมตร เยอะกว่าช่วงอื่น ก็จะเห็นเป็นสีเหลือง หรือช่วงคลื่นไหนหายไป สีก็จะกลายเป็นตรงข้าม เช่นถ้า 590-610 นาโนเมตร (แสงสีส้ม) หายไป ช่วงอื่นยังอยู่ครบ เท่าๆ กัน เราก็จะเห็นแสงเป็นสีฟ้า

rgb


แม่สีในระบบ CYM (Cyan, Yellow, Magenta)

ในงานพิมพ์ กระดาษมันไม่สามารถเปล่งแสงได้เหมือนจอภาพ เราต้องเอาหมึกพิมพ์ หรือรงควัตถุที่มีสีไปทาไว้เพื่อให้เกิดเป็นสีขึ้น กลไกการเกิดสีของรงควัตถุนี้ จะเกิดสีโดยดูดแสงทั้งหมดเข้าไว้ แล้วสะท้อนออกมาเป็นบางช่วงคลื่นให้สายตาเราเห็น
ดังนั้น ถ้าเราทาสีที่ดูดแสงทุกสีได้เก่ง ยกเว้นที่ความยาวคลื่น 400 นาโนเมตร สายตาเราจะเห็นรงควัตถุนี้ เป็นสีม่วง และหากเอาสีนั้น มาผสมกับสีที่เก่งเรื่องดูดความยาวคลื่นอื่น ยกเว้นที่ 500 นาโนเมตร แปลว่าตอนนี้ช่วงแสงอื่นจะถูกดูดกลืนไปมาก เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ที่ 400 กับ 500 จะเหลือเยอะกว่าช่วงอื่น ทำให้เราเห็นภาพนี้มีสีน้ำเงิน

แต่ถ้าเราเอารงควัตถุอีกอย่าง ที่เก่งเรื่องดูดแสงในช่วงอื่น (รวมทั้ง 400 และ 500) แต่ไม่ค่อยดูดแสงช่วง 580 นาโนเมตร (ซึ่งถ้ามันอยู่เดี่ยวๆ มันคือรงควัตถุสีเหลือง) มาผสมเข้าไปอีก จะทำให้มันดูดแสงเยอะในทุกช่วงความยาวคลื่น เราก็จะเห็นสารผสมกลายเป็นสีดำ เทา หรือน้ำตาล ตุ่นๆ

ที่ไม่ดำสนิท เพราะมันดูดได้ไม่หมดเกลี้ยงหรอก เป็นข้อจำกัดทางฟิสิกส์ และเคมีของรงค์วัตถุ ทำให้มันยังมีแสงที่ปล่อยออกมาหน่อยๆ เวลาใช้งานจริงเราจะเติม blacK เข้าไปด้วย เพื่อให้มันดำปี๋จริงๆ

CMY จึงมองการเอา 'รงควัตถุ' มาผสมกัน เพื่อให้มันดูดสีที่ไม่ต้องการ ปล่อยออกมาแต่สีที่ต้องการ ยิ่งผสมหลายอย่าง ยิ่งดูดเยอะ ยิ่งดำลง

color-wheel-subtractive

เมื่อ เอา รงควัตถุแต่ละสีของ CYM มาผสมกัน มันจะได้ออกมาเป็น RGB เราจึงเรียกว่า CMY เป็นแม่สี (primary) ในระบบสีลบ ในระบบงานพิมพ์ ส่วน RGB เป็นสีที่เกิดขึ้นจากการผสมแม่สี จึงเป็นสีทุติยภูมิ (secondary)
และเมื่อเอาแสง RGB มาผสมกัน ก็จะได้ออกมาเป็น CYM เราจึงเรียก RGB ว่าเป็นแม่สีเหมือนกัน แต่เป็นในระบบแสง หรือสีบวก ส่วน CMY กลายเป็น secondary ไปตามระเบียบ ผลัดกันเป็นใหญ่ ทีใครทีมัน
เวลาเอาสีทั้งสองระบบนี้มาเขียนผังวงจรสีวงกลม โดยตั้งต้นจากแม่สี (ไม่ว่าจะเริ่มจาก CYM เป็นหลัก หรือ RGB เป็นหลัก) แล้วผสมกันให้ได้สีทุติยภูมิ เราก็จะได้แผนภูมิ 6 สี
* C จะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ R
* M ตรงข้ามกับ G
* Y ตรงข้ามกับ B
นักเรียนศิลปะจะต้องทำแผนภูมิ 12 สีกันทุกคน คือเอาสีที่อยู่ข้างๆ กันมาผสมกันอีกชั้นนึง แต่เราเป็นนักถ่ายภาพเอาแค่ 6 สี ก็ทำมาหากินได้แล้ว (แต่ถ้าจำได้ถึง 12 ก็ดีนะ)
และ โปรดจำแผนผัง 6 สีไว้ให้ขึ้นใจ เครื่องมือในการจัดการเกี่ยวกับแสงสี โปรแกรมแต่งภาพ กล้อง ไว้ท์บาล้านซ์ หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสี ในระบบดิจิตอล จะวนไปวนมาอยู่ในแผนผังวงจรสี 6 สีนี่แหละ

color_wheel_screen

ที่ต้องรู้ก็คือเวลาที่เราปรับ Saturation นั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไม่ว่าสีนั้น จะเป็นสีอะไร ก็จะถูกปรับให้ชิฟท์เข้าหาแม่สีที่อยู่ใกล้ที่สุดมากขึ้น ถ้าดูอัตราส่วนของสีแต่ละแชนแนล จะเห็นได้ว่า อัตราส่วนจะเปลี่ยนไป และสีแต่ละพิกเซลนั้น ถูกโปรแกรมมองว่าเกิดจากการผสมกันของแม่สี 3 หรือ 6 สี แล้วแต่เครื่องมือที่เลือกใช้ การเปลี่ยน Saturation นี้ จะเป็นการเปลี่ยนโดยการ เพิ่ม ปริมาณแชนแนลสีที่เป็นสีเด่นที่สุด ลดแชนแนลสีตรงข้ามที่ปะปนอยู่ ก็จะเกิดการหลอกตาว่าสีนั้นมีความสดใสมากขึ้น
มีเครื่องมือหลักๆ อยู่ 3 อย่าง ที่นิยมใช้ปรับ Saturation และเครื่องมือ กับวิธีย่อยๆ อีกมากมาย เพื่อปรับสีอย่างจำเพาะเจาะจง ตามสไตล์โฟโต้ชอป (ส่วนโปรแกรมแต่งภาพอื่นๆ จะใช้แค่ Saturation/Vibrance เท่านั้น)
ในเทคนิคที่ผมแนะนำให้ใช้ในการเร่งสีจะมีแค่ 3 เครื่องมือ 4 วิธีแค่นั้นแหละ คือ Saturation, Vibrance, Selective Color (Clean, Boost) ส่วน Match Color ก็เหมือนกับเทคนิคขาวดำที่เคยแนะนำไปแล้ว คือ สามารถปรับเร่งสีได้เหมือนกัน แต่ก็น่าจะเก็บไว้ใช้กับภาพชุดมากกว่า และมีเทคนิคสำหรับการเร่งสีเฉพาะจุด เฉพาะสีอีกต่างหาก
การเร่งสีด้วยแต่ละเทคนิค จะให้ผลที่แตกต่างกันไป เราต้องตัดสินใจเลือกให้เหมาะเอาเองกับแต่ละภาพ ไม่ใช่ว่า Saturation จะทำงานได้ดีไปตลอด บางทีเราก็ต้องใช้เครื่องมือหลายชนิดช่วยกัน เพื่อไม่ให้สีเพี้ยน หรือ Shift มากเกินไป เวลาที่เราปรับ Saturation ขึ้นไปสูงๆ

ผมเลือกภาพตัวอย่างภาพนี้ครับ เป็นภาพจากบึงฉวากสุพรรณบุรี เมื่อสักสามสี่ปีมาแล้ว สาเหตุที่เลือกภาพนี้เพราะ เป็นวันฟ้าหม่น ถึงจะเป็นโอลิมปัสที่ได้ชื่อว่าเป็นกล้องที่ให้ภาพสีสดใสก็ยังรับมือไม่ไหว พอแสงไม่เป็นใจ จิตใจก็หดหู่ สีสันก็ห่อเหี่ยว ทำให้สีเรือที่สดใส กลายเป็นหมองไป จำเป็นต้องมาปรับเพิ่มสี ให้สดใสดั่งใจเสียหน่อย
ข้อมูลการถ่ายภาพคือ Olympus E-410, Lens 14-42 ที่ 14 mm 1/160, f/9, 200 ISO, โหมดสี Vivid, วัดแสง ESP ไม่ได้ชดเชยแสง, โหมดถ่ายภาพ P แปลง RAW เป็น Tiff 8 bits กว้าง 700 pixels ด้วย Olympus Viewer 2 ใช้โหมดสี Normal ชดเชยแสงเพิ่มขึ้น +0.5 EV กำหนดไวท์บาล้านซ์เป็น Daylight: 5,300 Kelvin

เนื่องจากบทความตอนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสี ดังนั้นเพื่อการดูภาพโดยไม่มีสีเพี้ยน โปรดใช้เบราเซอร์ที่เจริญถึงพร้อมทางด้านสีสันแล้ว และสร้างขึ้นมาเพื่อนักถ่ายภาพ หรือผู้ทำงานด้านกราฟฟิก คือสามารถสนับสนุน Color Management ได้ด้วย อย่างเช่น Firefox หรือ Safari จะได้เห็นแสงสีศิวิไลซ์ของภาพอย่างถูกต้องแม่นยำ หากดูด้วยเบราเซอร์โอท็อป บ้านๆ อย่าง IE, Opera, Chrome ที่ไม่มีปลั๊กอินจัดการสี อาจจะเห็นว่าภาพสีเพี้ยนได้

ก่อนจะอ่านต่อไปในหัวข้อหลัก เรามาทดสอบความศิวิไลซ์ของเบราเซอร์กันก่อน โปรดดูสองภาพนี้

argb-icc

argb-noicc

ภาพข้างบน กับภาพล่าง เป็นภาพเดียวกัน โหมดสี aRGB เหมือนกัน ต่างกันที่ ภาพบนมี ICC-Color Profile ฝังไว้ในภาพ ส่วนภาพล่างไม่ได้ฝัง Color Profile
เบราเซอร์ด้อยพัฒนา จะไม่รู้จัก Color Profile ทำให้เอาข้อมูลการแสดงสีของระบบ (ถ้าไม่ตั้งอะไรมักจะเป็น Monitor Profile) มาใช้แสดงสีของภาพทั้งสองภาพ ทำให้ภาพสองภาพนี้ออกมาเหมือนกันทุกประการ
เบราเซอร์ที่พัฒนาแล้ว เมื่อเห็น Color Profile ของภาพบน ก็จะแสดงสีด้วยค่าสีที่ตั้งไว้ในภาพ ส่วนภาพล่าง ที่ไม่มีอะไรบอกไว้ ก็จะใช้โพรไฟล์สีของระบบมาแสดงแทน สีสันของสองภาพนี้ จึงออกมาต่างกัน โดยเฉพาะสีแดง ต่างกันชนิดที่ไม่ต้องเพ่งเลย
ใครดูสองภาพนี้แล้ว มองเห็นสีสัน ความเข้มเหมือนกัน (คือซีดเหมือนศพยังไม่ได้แต่งหน้า) แสดงว่าเบราเซอร์ที่กำลังใช้อยู่ เป็นเบราเซอร์ภูธรห่างไกลแสงสี อาจจะดูภาพในกระทู้นี้ไม่ได้เรื่องนะครับ ควรโหลดเบราเซอร์ศิวิไลซ์อย่าง Firefox 4 มาใช้ดูภาพ จะได้เห็นแสงสีเต็มอิ่ม

เว็บถ่ายภาพ กับเว็บ portfolio ของโปร มักจะฝัง Color Profile ไว้ในภาพด้วย ถ้าใช้เบราเซอร์ที่สนับสนุน จะเห็นแสงสีแบบที่ช่างภาพตั้งใจจะให้เห็น ไม่งั้นจะเห็นภาพซีดๆ จืดๆ หรือเข้มผิดปกติ หรือน้ำหนักแสงสีพิลึกๆ ไปได้

มาดูกันที่การเร่งสีด้วยเทคนิคแรก เป็นเครื่องมือแรกที่เราคุ้นเคยกันทุกคน และเป็นเครื่องมือเร่งสีที่ใช้กันบ่อยที่สุดคือ


Saturation Tools

วิธีการใช้ง่ายมาก เลื่อนสไลเดอร์ปรับ Saturate ไปทางขวาจนกว่าสีจะสดปิ๊งปั๊ง ตามที่เราต้องการ แค่นี้ก็เสร็จเรียบร้อย...

และนี่คือสาเหตุที่ผมเขียนบทความเรื่องนี้

เพราะมันก็เช่นเดียวกับการใช้ Saturation Tools ทำภาพขาวดำ (แล้วทำให้ภาพ Flat) ก็คือมันเป็นเครื่องมือที่ควบคุมให้พอเหมาะพอดีได้ยากมาก เราจะหยุดมือ ยั้งสไลเดอร์ไว้ตรงไหนถึงจะดี?
จุดที่มากที่สุดที่ควรจะใช้เป็นเขตห้ามผ่าน ก็คือ จุดที่ปรับแล้วไม่มีอาการสีล้น สีเลอะ บริเวณที่เคยเป็นสีหนึ่งกลับชิฟท์ กลายเป็นอีกสีหนึ่งขึ้นมา ถ้าอยากเห็นสีเลอะด้วยตัวเอง ก็ง่ายมาก ลองรูดสไลเดอร์ขึ้นไปเยอะๆ ก็จะเห็นเอง

Sat01

เวลาที่สีมันล้น อาจจะไม่หนักขนาดตัวอย่างนี้ แต่มันจะทำให้สีต่างๆ เพี้ยนไป หรือเลอะล้ำเขตแดนไปในพื้นที่ของสีใกล้เคียง อาการหนึ่งที่เราจะเห็นก็คือการไล่น้ำหนักสีจะเสียไป สีจะดูแบนลง สีโทนใกล้ๆ กันจะรวมตัวกลายเป็นสีโทนเดียวกันมากขึ้น ทำให้ภาพเสียมิติชัดลึกไป อีกจุดหนึ่งที่เราจะเห็นได้ง่ายคือ สีรองที่ซ่อนอยู่ จะแสดงตัวให้เห็นชัดเจนมากขึ้น เช่นสีส้มแดงในส่วนเงาของผิวคน หรือสีเขียวเหลือง ที่ผิวน้ำของภาพนี้
ก็ต้องยั้งมือกันนิดนึงครับ ถ้าเห็นว่ามันมากไป มีสีรองโผล่ขึ้นมา ก็ต้องถอยกลับไปนิดนึง อย่างในภาพนี้ ประมาณ 15 จะได้ภาพที่กำลังดีครับ

Sat02

ใน Preset ที่มีมาให้ เค้าปรับไว้ที่ 10 แค่นั้นแหละ แต่เราชอบสีจัดๆ แปร๋นๆ ให้มันกระโดดเตะเบ้าตาคนดูภาพเลย ชิมิล่ะ
10 หรือ 15 มันจะพอได้ไง งั้นจัดไป 20 เลยละกัน

แต่โปรดสังเกตตรงส่วนโค้งของหลังคาสีแดง ที่มันเริ่ม Flat ไม่มีมิติแล้ว เพราะสีแดง สีเกือบแดง กับสีแดงกว่าๆ ที่เคยมีหลายๆ โทนประกอบกันให้เห็นส่วนโค้งของหลังคานี้ มันถูกบีบให้กลายเป็นสีแดงเดียวกันหมด ทำให้เรามีข้อจำกัดเวลาปรับสีว่า เราปรับขึ้นไปได้แค่เล็กน้อยเท่านั้น ประมาณ 10 แถวๆ นั้น หรือมากกว่านั้นอีกนิดหน่อย ตามแต่ความเข้มสีเดิม และคุณภาพไฟล์ ของภาพต้นทุน ถ้าดันทุรังปรับมากเกินไป ภาพของเราก็จะลดคุณภาพลง
เท่าที่ผมเห็น คือ ข้าไม่สน ยังไงขอสดไว้ก่อน จัดหนักไปยี่สิบ สามสิบ โน่นเลย สีสดสะใจดี นี่แหละที่มาของประโยคที่ผมบอกไว้ในตอนก่อนว่า สงสารกุมั่งเหอะ สีแสบตาจนตากุจะบอดแล้ว

Sat04-at20


Vibrance

เป็นเครื่องมือสำเร็จรูปใช้ง่ายกว่า Saturation เยอะมาก ตรงที่โอกาสสีล้น สีเลอะน้อยกว่า เพราะ Vibrance จะเพิ่ม Saturation ในส่วนที่สีจัดอยู่แล้วขึ้นไป แต่จะไม่เพิ่มในส่วนที่เป็นสีกลางๆ หรือเพิ่มขึ้นแค่เล็กน้อยลองดูเวลาที่เพิ่มความเข้มสูงๆ อย่างเช่นลองปรับไปที่ 100 ก็ยังไม่มีอาการสีล้น สีเลอะให้เห็น ส่วนโค้งหลังคาสีแดง ก็ยังดูมีมิติ มีส่วนโค้งดีอยู่

Vib01

ผมเลือกที่ 20 ละกัน ดูว่าอยู่ในระดับที่ไม่มากเกินไป และก็สดใสขึ้นมาแล้ว ถึงจะไม่สดเข้มจี๊ดจ๊าด ขนาดกระโดดเตะเบ้าตาแตก แต่ก็เข้มพอที่จะได้บรรยากาศสดใสแล้ว

Vib02-20

ยังไม่สะใจ?

ใช่แล้ว.. ยังไม่สะใจครับ เราคนไทย ภาพมันสีสันไม่สดใสเจ้มจ้น จะทนได้ไง

เออ.. อันนี้ก็เป็นข้อแตกต่างของรสนิยมของคนเขตร้อน กับเขตหนาวนะครับ คนเขตหนาวเค้าชอบภาพสีจืดๆ ทึมๆ หมองๆ คนเขตร้อนอย่างเรา ต้องขอสดใสไว้ก่อน

อันนี้มันต้องใช้เทคนิคหลายอย่างเข้าช่วยนะครับ เทคนิคหนึ่งที่ควรใช้ในการเร่งสีให้สดใส โดยไม่เลอะคือการ ใช้


Selective Color Tool

เพื่อ Clean สีของ ภาพ หลักการของ Clean ก็คือ ในมุมมองของการจัดการสีด้วย Tool นี้ จะมองว่า แต่ละพิกเซล เกิดจากการรวมตัวของสี 6 สี (R,G,B,C,M,Y) ในอัตราส่วนต่างๆ กัน ซึ่ง 6 สีนี้ และแต่ละสีก็เกิดจากการผสมกันของ CMY 3 แชนแนล (tool นี้เป็นมรดกตกทอดมาจากระบบการพิมพ์ จึงใช้ระบบสี CMY)
ผมบอกว่าให้จำวงจรสี 6 สีให้ได้ ว่าสีอะไรอยู่ตรงไหน ก็จะได้ใช้ประโยชน์ตรงนี้แหละครับ จากวงจรสี หากกำหนดให้ CMY เป็นแม่สี เราจะบอกได้ว่า


  • R เกิดจาก M + Y และอยู่ตรงข้ามกับ C

  • Y เป็นแม่สี มีแม่สีตรงข้ามคือ C และ M

  • G เกิดจาก C + Y และอยู่ตรงข้ามกับ M

  • C เป็นแม่สี มีแม่สีตรงข้ามคือ M และ Y

  • B เกิดจาก C + M และอยู่ตรงข้ามกับ Y

  • M เป็นแม่สี มีแม่สีตรงข้ามคือ C และ Y

เอา Color Wheel ไปดูอีกรอบ กันลืม บอกแล้วว่าสำคัญ

color_wheel_screen

ถ้าเราดูในแต่ละสี จะพบว่า ใน 3 แชนแนลนั้น จะมีสีคู่ตรงข้ามปนอยู่ด้วย เช่น ในสีเหลืองจะมีทั้ง C, M, Y ปนอยู่ ทั้งๆ ที่สีเหลืองจะเกิดจากแชนแนล Y เท่านั้น แชนแนล C, M ที่ปนอยู่ จะทำให้เกิดสีเทาปนอยู่ในสีเหลือง และทำให้สีไม่สดใส ถ้าเรากำจัดเอาสีคู่ตรงข้าม ที่ปะปนอยู่ในแต่ละแชนแนลออกไป ก็จะทำให้แต่ละแชนแนลมีสีสด สะอาดขึ้น เมื่อเอามาประกอบกัน ก็จะทำให้สีสันสดใสขึ้น เรียกว่าเทคนิคการ


Clean

ทำโดยเปิด Selective Color ขึ้นมา แล้วเลื่อนสไลเดอร์ ปรับแม่สีตรงข้ามให้เหลือ 0 เท่านั้น
เช่นการปรับสี Magenta ก็คงแชนแนล Magenta ไว้เหมือนเดิม และเลื่อน Cyan กับ Yellow ให้เหลือ 0 หรือ Blue ก็ปรับลด Yelow ให้เหลือ 0 เช่นเดียวกัน ส่วนสีอื่นๆ ก็ทำในลักษณะเดียวกัน ทำจนครบทุกสี เพื่อให้ภาพยังคงสมดุลย์สีดีอยู่ไม่เพี้ยน ส่วนแถบ blacK ไม่ต้องไปยุ่งกะมัน

Clean01

โดยปกติตามรสนิยมผม ในภาพทั่วๆ ไป หลังจาก Clean แล้ว ผมว่าภาพมันจะการ์ตูนไปนิดนึง ออกแนวสว่างใสหวานแหวว ผมมักจะปรับลด Opacity ของ Layer นี้ลงหน่อย จะมีภาพบางแนว ที่ Clean แล้วมักจะใช้ได้เลยอย่างภาพนี้ ที่เดิมดูหมองๆ พอ Clean แล้ว ดูสดใสดี บวกกับเรือพลาสติก ที่ดูการ์ตูนหน่อยๆ น่ารักดี

Clean02

ในทางกลับกัน ถ้าใครช่างคิดนิดนึงจะเห็นได้ว่า แทนที่เราจะลดสีตรงข้ามลงเหลือ 0 เราใช้วิธีเพิ่มสีที่ต้องการขึ้นแทนได้ป่ะ..
ได้ครับ เทคนิคนี้เรียกว่า


Boost

วิธีก็ตรงกันข้าม กับ Clean เช่น สี Green เราก็เปิด Selective Color แล้วเพิ่มแชนแนลของ Cyan กับ Yellow ของ Green ขึ้นไปจนสุด
หรือสี Cyan ก็เพิ่มแชนแนล Cyan ขึ้นไปจนสุด ทำจนครบทุกสี แค่นั้นเอง

Boost01

เมื่อกี๊ผมบอกว่า Clean ทำให้สีกลายเป็นการ์ตูน แต่ Boost ทำให้สีเข้มดุ ดู Surreal หลอนๆ แรงยิ่งขึ้นไปอีก
เพื่อสุขภาพตาของคนดูภาพ เทคนิคนี้ไม่ต้องใช้ Opacity เต็มร้อยก็ได้ครับ ดูแล้วปวดตาเป็นบ้า

อ้อ.. ที่เรียกสี Green หรือ Yellow ไม่เรียกว่า เหลือง หรือเขียว แดง น้ำเงินนี่ ไม่ได้ดัดจริตนะครับ แต่อยากให้มันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กับ RGBCMY จะได้นึกตามง่ายๆ

Boost02

ถ้าคิดต่อ.. เราจะใช้ Clean + Boost รวมกันในภาพเดียวกันได้หรือเปล่า

...โรคจิต ชอบความรุนแรงนะเราเนี่ย..


ได้ครับ และควรใช้ด้วย สมดุลย์สีจะออกมาดีกว่า เหมือนกับการปรับ Saturation ขึ้นสูงๆ โดยไม่ทำให้สีชิฟท์ หรือเพี้ยน เพียงแต่ว่าในการปรับนั้น เราจะไม่ปรับรวมกันไปใน Selective Color เลเยอร์เดียวกัน เพราะมันควบคุมความแรงได้ยาก ย้อนกลับมาแก้ไขได้ลำบาก ถ้าใช้วิธีปรับแยก Clean กับ Boost เป็นคนละชั้นจะควบคุมความเข้มสีของภาพได้ง่ายกว่า โดยการปรับ Opacity ของแต่ละชั้นเอา

Clean&Boost01

ถ้ายังนึกไม่ออกว่าจะใช้อะไรเท่าไหร่ ให้มาตั้งต้นกันที่ Opacity ของ Clean 60% และ Boost 30% ก่อน
การปรับอัตราส่วนของทั้งสองชั้น และปริมาณรวมของทั้งสองชั้น จะส่งผลต่อภาพไม่เหมือนกัน แม้จะเพิ่มความอิ่มตัวของสีสันทั้งคู่ก็ตาม Clean จะทำให้ภาพดูสว่างสดใส ส่วน Boost จะดูเข้มดุ ต้องค่อยๆ ปรับกันไปทีละนิดทีละหน่อยจนกว่าจะชิน ว่าใช้ Clean และ Boost ผสมกันแค่ไหนถึงจะพอดี พอเหมาะ พอสม สำหรับแต่ละภาพ อย่างเช่นภาพสาวๆ สดใส ควรใช้ Clean มากหน่อย และ Boost น้อยหน่อย และให้ปริมาณรวม ไม่ต้องมากนัก หากเป็นภาพชุมนุมทางการเมือง ก็ใช้ Boost ให้หนักมือนิด ก็จะได้อารมณ์ดุเดือดรุนแรง ดีกว่าการใช้ Clean เยอะๆ เป็นต้น
การใช้ Clean และ Boost ผสมกันสองชั้น จะทำให้เราสามารถควบคุมได้ทั้งความอิ่มตัว ความเข้มของสี ความสดใส หรือดุดัน แม้จะเพิ่มความอิ่มตัวของสีเหมือนกัน แต่เราสามารถควบคุมบุคลิกของสีในภาพได้อย่างอิสระ เทียบแล้ว Saturation กับ Vibrance ที่ปรับได้อย่างจำกัด แพ้หลุดลุ่ยเลยเชียว และถ้ายังไม่สาแกใจพอเพียง ก็ยังสามารถซ้อน Saturations ซ้ำเข้าไปได้อีกต่างหาก โดยที่อาการสีล้นจะลดลงกว่าเดิม...

แต่อันนี้ไม่ไหวนะ แค่นี้ผมก็แสบตาแย่แล้ว ขอสีจืดๆ มั่งเหอะ

Clean&Boost02

ดูในการใช้งานจริงกันมั่ง ว่าผมจะทำอะไรกับภาพนี้ ดูจากภาพที่ทำสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว คือภาพนี้ครับ
จากภาพจืดๆ หมองๆ ในวันฟ้าหม่น ดูรกๆ แน่นๆ ก็พยายามทำให้ดูสีสันสดใส มีเรื่องราวอะไรขึ้นมาบ้าง โดยอาศัยการปรับแสงสีโทนภาพ แบบรวดเร็ว ไม่ได้ใช้เทคนิคที่ประณีตพิถีพิถันอะไรนัก

Final02

สองชั้นล่าง คือ Clean 60% กับ Boost 30% ผมแต่งภาพในสภาวะที่ไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ มีไฟในห้องส่องหน้าจอ เลยปรับหนักมือเกินไป มาดูทีหลัง ผมว่า Clean 50%, Boost 20% น่าจะพอดีกว่า ทำเสร็จแล้วก็จัดกรุ๊ปของสองชั้นนี้ ใส่ Mask เข้าไป เพื่อปรับสีเฉพาะด้านล่างของภาพ ไม่เกี่ยวกับด้านบน

สามชั้นต่อมาเป็นการจัดการกับฉากหลังโดยเฉพาะ ตอนแรกผมใช้วิธีลด Saturation ลง แต่มันทำให้ภาพดุเกินไป เลยใช้วิธีซ้อนภาพขาวดำจาก Lab Color (อ่านวิธีทำในตอนที่แล้ว) ลงไปแทน ใส่ฟิลเตอร์สีน้ำเงินเข้มลงไปนิดๆ แล้วก็ลด contrast ลง ทั้งหมดนี้ใช้หลักการที่ว่า ของไกล จะสีจืดกว่า ดูเป็นสีน้ำเงินกว่า คอนทราท์ต่ำกว่า ของที่อยู่ใกล้ และดูเบลอ ไม่มีรายละเอียด ดังนั้นในสองชั้นบน ผมเลยใส่เบลอฉากหลัง และชาร์พเพ่นเฉพาะฉากหน้า

Final01

คราวนี้ ลองเอาเทคนิคการปรับสีแต่ละแบบมาลองเทียบกันดู ลองเอาหลอดหยดจิ้มดูค่า RGB, CMY ของแต่ละช่องดูนะครับ แล้วจะได้เห็นพฤติกรรมของเครื่องมือปรับสีแต่ละแบบได้ชัดเจน
* Saturation จะใช้วิธีเพิ่มแชนแนลเด่นขึ้น แล้วลดแชนแนลอื่นลง โดยแบ่งแชนแนลเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งขึ้น กลุ่มหนึ่งลง ให้เข้าหาแม่สีที่สุด
* Clean จะเพิ่มแชนแนลเด่น (เพราะในขั้นตอนการทำ เรากำจัดสีตรงข้ามที่ปนอยู่ในแชนแนลเด่นไป) และแชนแนลที่เป็นคู่ตรงข้ามเราไม่ได้ไปยุ่ง เมื่อค่าของแชนแนลเด่นมากขึ้น สีก็จะสว่างมากขึ้น
* Vibrance กับ Boost จะคล้ายกัน คือไม่ยุ่งกับแชนแนลเด่น แต่จะไปลดแชนแนลที่เป็นสีตรงข้าม อัตราส่วนในการลดของสองวิธีนี้ก็จะต่างกันนิดหน่อย แต่ผลออกมาคล้ายกันมาก

หากลองเปิด Color Picker ดู เพื่อเทียบกับตำแหน่งก่อนปรับ จะเห็นได้ว่า
* Saturation จะชิฟท์ค่าสีขึ้นไปในแนวเส้นทแยงมุมเข้าหาแม่สีที่ด้านบนขวา
* Vibrance จะขยับไปทางขวาตรงๆ
* Boost จะขยับไปทางขวาสั้นๆ และลงล่างนิดๆ
* Clean จะขึ้นไปข้างบน เยื้องขวาเล็กน้อย

การผสม Boost เข้ากับ Clean ในอัตราส่วนต่างๆ จึงสามารถเลือกปรับตำแหน่งความเข้ม สด ของสีได้หลายตำแหน่ง ไม่ได้เกาะบนเส้นแทยงมุมเส้นเดียวเหมือน Saturations หรือเส้นนอนเส้นเดียวเหมือน Vibrant และมีพื้นที่ในการปรับกว้างขวางกว่ามาก และเมื่อปรับสุดแล้ว ค่าสีก็ยังชิฟท์ไม่ได้ไปไกลมาก ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องสีเปลี่ยน หรือชิฟท์
เนื่องจากมันละเอียดเกินไป และไม่ใช่งานวิจัย ดังนั้น ผมเล่าแค่นี้พอ ไม่ลงละเอียดกว่านี้ เรื่องนี้รู้ทฤษฎีเยอะ ก็สู้เอาสูตรสำเร็จมาฝึกทำให้ชำนาญไม่ได้หรอกครับ ไปลองเล่นกันเองบนภาพจริงเลยดีกว่า

ColorAdjChart


ประกาศลิขสิทธิ์
บทความ และภาพประกอบทั้งหมด ของตอนพหุรงค์ และเอกรงค์ (ยกเว้นรูปชาร์ตสีกลมๆ 3 รูปผมไม่ทราบแหล่งที่มาต้นทาง) เป็นลิขสิทธิ์ของผม อนุญาตให้นำไปใช้งาน เผยแพร่ อ้างอิง ดัดแปลง ทำสำเนา ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด เพื่อกิจส่วนตัว เพื่อการค้า การศึกษา หรือสาธารณะประโยชน์ได้
ตามสัญญาอนุญาตใช้งาน Creative Commons แบบอ้างอิงที่มาเวอร์ชั่น 3.0 ประเทศไทย
อ้างอิงที่มาจากกระทู้นี้ บล็อก หรือเฟซบุ๊คของผมก็ได้






Create Date : 05 เมษายน 2554
Last Update : 5 เมษายน 2554 9:35:30 น.
Counter : 17042 Pageviews.

2 comments
  
Photoshop CS3 หา Vibrance ไม่เจอ
ท่าทางผม จะสายตาฝ้าฟาง
แต่ใช้ Boost ชดเชยได้ครับ

ฝึกไป พร้อมกับอ่านไปทีละบันทัดครับ
โดย: yyswim วันที่: 16 เมษายน 2554 เวลา:22:45:49 น.
  
เหมือนว่าโฟโต้ชอปรุ่นเก่าจะไม่มี vibrance ให้ใช้นะครับ เป็นของเล่นใหม่ที่เพิ่งมี
โดย: อะธีลาส วันที่: 17 เมษายน 2554 เวลา:13:26:42 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

อะธีลาส
Location :
Sydney  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 44 คน [?]



Photographer, photo educator, writer and more.......

อนุญาตให้ ใช้ ดัดแปลง แก้ไข ตัดต่อ ทำสำเนา เผยแพร่ อ้างอิง จำหน่าย จ่ายแจก ภาพ และบทความในบล็อกนี้ ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด เพื่อสาธารณะประโยชน์ เพื่อการศึกษา เพื่อกิจส่วนตัว และเพื่อการค้าได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต ตามสัญญาอนุญาตใช้งาน Creative Commons: Attribution.


Website
http://mister-gray.bloggang.com
https://twitter.com/nickdhapana
http://500px.com/NickDhapana
https://plus.google.com/+NickDhapana
http://nickdhapana.tumblr.com
http://instagram.com/nickdhapana
https://www.facebook.com/dhapana/about


Skype & Email
cmosmyp@gmail.com


Line
nickdhapana


My Project's Page

Public Telephone
https://www.facebook.com/PublicTelephoneProject

They didn't say that.
https://www.facebook.com/pages/They-didnt-say-that/116827521834600

Exposure to the RIGHT
https://www.facebook.com/pages/Exposure2the_RIGHT/538556252881951

Thailand Perspective Project
https://www.facebook.com/ThailandPerspective

Dead on Arrival
https://www.facebook.com/pages/Dead-on-Arrival/666461363385961
เมษายน 2554

 
 
 
 
 
3
4
6
7
8
9
11
12
13
14
15
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
5 เมษายน 2554
All Blog