°o.O[P]in[K]-[M]oo[N]O.o°
::บทที่ 3 องค์ประกอบ และกลไกการเกิดความดันโลหิตสูง::




ความดันโลหิต (blood pressure) หมายถึง แรงที่กระทำโดยเลือดบนหน่วยพื้นที่บนผนังเลือด โดยความหมายทั่วไป ความดันโลหิตจะหมายถึง ความดันของเลือดแดง (arterial blood pressure) ซึ่งวัดค่าออกมาเป็นหน่วยมิลลิเมตรของปรอท ความดันสูงสุดในหลอดเลือดแดงเกิดตรงกับหัวใจบีบตัว (systole) แล้วดันเลือดเข้าสู่เอออร์ตาเรียกว่า systoric blood pressure ส่วนความดันต่ำสุดในขณะหัวใจคลายตัว (diastole) เรียกว่า diastolic blood pressure ผลต่างระหว่างความดันทั้งสอง เรียกว่า pulse pressure
Systoric blood pressure บอกถึงความสามารถในการยืดขยาย (distensibility) ของผนังหลอดเลือดแดง ขณะรับเลือดจากหัวใจในช่วงหัวใจบีบตัว
Diastolic blood pressure บอกถึงภาวะที่มี load ต่อผนังหลอดเลือดแดงขณะหัวใจพัก และบ่งถึงค่าแรงต้านต่อการบีบตัวของหัวใจในการส่งเลือดออกไปเลี้ยงร่างกาย
Pulse pressure คือ ผลต่างของความดันซิสโตลิกและความดันไดแอสโตลิก ค่าปกติมีประมาณ 30 ถึง 40 มิลลิเมตรปรอท ปัจจัยที่มีอิทธิผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าของ pulse pressure ได้แก่ ปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจต่อการบีบตัว 1 ครั้ง (stroke volume) และความสามารถในการยืดขยายของผนังหลอดเลือดแดง
Mean arterial pressure (MAP) ความดันเลือดแดงเฉลี่ย เป็นค่าของความดันโลหิตระหว่างความดันโลหิตซิสโตลิกและความดันโลหิตไดแอสโตลิกเนื่องจากในรอบการทำงานของหัวใจช่วงล่างบีบตัวจะใช้เวลาสั้นกว่าช่วงเวลาคลายตัว ดังนั้นในการพิจารณาค่าของความดันเลือดแดงเฉลี่ย จึงไม่ใช่ค่ากึ่งกลางระหว่าความดันซิสโตลิกและความดันแอสโตลิก แต่ค่าของความดันเลือดแดงเฉลี่ยจะอยู่ค่อนมาทางความดันไดแอสโตลิกเล็กน้อยมีค่าโดยประมาณจากสูตรดังนี้ (Thelan, Davie&Urden,1990)
MAP = diastolic B.P.+ 1 pulse pressure
3
ค่าของความดันโลหิตในคนปกติสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยส่วนบุคคล เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ น้ำหนักตัว ช่วงเวลาของแต่ละวันการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เป็นต้น ดังนั้นในการวัดความดันโลหิตจึงควรกำหนดการวัดในช่วงเวลาเดียวกัน ท่าเดียวกัน เพื่อให้ได้ค่าที่แน่นอน คงที่และถูกต้อง
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความดันโลหิต
1. แรงบีบตัวของหัวใจ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดความดันโลหิตและมีบทบาทสำคัญในการกำหนดค่าความดันโลหิตซิสโตลิก
2. ปริมาตรของเลือดที่ไหลเวียนในหลอดเลือดแดงเป็นปัจจัยที่มีผลโดยตรงต่อความดันโลหิต ถ้าปริมาตรเลือดไหลเวียนมีมาก ความดันโลหิตจะสูงขึ้น ถ้าปริมาณเลือดมีน้อยความดันโลหิตจะลดลง
3. ความต้านทานของเลือดส่วนปลาย ขึ้นอยู่กับขนาดของหลอดเลือดแดง arterioles เป็นสำคัญ ถ้าหลอดเลือดเหล่านี้หดตัวทำให้ความต้านทานต่อการไหลเพิ่มขึ้น จึงทำให้ปริมาณเลือดที่ไหลออกจากหลอดเลือดแดงลดลง ในทางตรงกันข้ามถ้าหลอดเลือดขยายตัวจะลดความต้านทานต่อการไหล ความต้านทานของเลือดส่วนปลายนี้มีบทบาทสำคัญในการคงระดับความดันโลหิตและเป็นตัวสำคัญในการกำหนดค่าความดันไดแอสโตลิก หลอดเลือดแดง arterioles นี้ถ้ามีการขยายตัวพร้อมกัน ความดันเลือดจะลดลงอย่างมาก จนเข้าสู่ภาวะช็อคได้
4. ความหนืดของเลือด ถ้าเลือดมีความหนืดมากขึ้นจะยิ่งต้านการไหลของเลือด ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นจากการที่หัวใจต้องทำงานมากขึ้น เพื่อผลักดันให้เลือดเคลื่อนที่ไป ความหนืดของเลือดขึ้นกับระดับของฮีมาโตคริตและระดับของโปรตีนในพลาสมา เช่น ในภาวะ polycythema เลือดมีความหนืดมาก และปริมาตรมากทำให้ความดันโลหิตสูง
5. ความยืดหยุ่นของผนังหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ โดยปกติผนังชั้นกลางของหลอดเลือดแดงประกอบด้วย elastic tissue มาก ทำให้หลอดเลือดแดงมีคุณสมบัติยืดขยายได้มาก และหดตัวกลับสู่ขนาดปกติได้ดี โดยเฉพาะหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ ทำให้ความดันโลหิตไดแอสโตลิกไม่ต่ำมากและเลือดสามารถไหลไปสู่ปลายทางได้แม้ในขณะหัวใจคลายตัว

ภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension)
เป็นภาวะที่มีความดันของเลือดแดงสูงกว่าปกติในขณะพัก และสูงคงอยู่ตลอดเวลา โดยใช้ระดับของความดันโลหิตตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกดังนี้
ความดันโลหิตปกติในผู้ใหญ่ คือ ระดับความดันโลหิตตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอท
ความดันโลหิตสูง คือ ระดับความดันโลหิตตั้งแต่ 160/95 มิลลิเมตรของปรอท
ความดันโลหิตระหว่าง 140/90 ถึง 160/95 มิลลิเมตรปรอท จัดเป็นกลุ่มความดันโลหิตสูงก้ำกึ่ง (boderline หรือ labile hypertension) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง


ปัจจัยที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูง โดยทั่วไปได้แก่ กรรมพันธุ์ ความอ้วน ระดับไขมันในเส้นเลือด ความเครียดทางจิตใจและสังคมรวมทั้งลักษณะนิสัยความเคยชิน เช่น การรับประทานอาหารรสเค็ม
ในภาวะปกติร่างกายมีกลไกการปรับความดันโลหิตให้มีค่าอยู่ในระดับปกติและคงที่อยู่เสมอถ้าปัจจัยชนิดใดชนิดหนึ่งเปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยชนิดอื่นๆ จะร่วมกันปรับตัวเพื่อรักษาให้มีค่าอยู่ในระดับความดันโลหิตปกติและคงที่ กายตัน(Guyton,1986) ได้แบ่งองค์ประกอบต่าง ๆ ที่มีผลต่อระดับความดันโลหิตเป็นสองกลุ่มตามกลไกของการควบคุมดังนี้
1. กลไกการปรับความดันโลหิตที่เกิดขึ้นโดยรวดเร็ว หมายถึง กลไกที่ใช้เวลาเพียงเล็กน้อยเป็นวินาทีในการปรับ ได้แก่
1.1 กลไกทางระบบประสาท ซึ่งได้แก่ปฏิกิริยารีเฟลกซ์ โดยรีเฟลกซ์ที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมความดันโลหิตคือ bororeceptor reflex, chemoreceptor reflex และ central nervous system, ischemic mechanism ส่วนที่สำคัญที่สุดในการควบคุมความดันโลหิตโดยเฉพาะ โดยอาศัยตัวรับรู้ (receptor) ที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิตเรียกว่า baroreceptor cells หรือ pressoreceptor cells ซึ่งอยู่บริเวณผนังของหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่
เมื่อระดับของความดันโลหิตสูงขึ้น สัญญาณคลื่นประสาทจาก receptor ไปยังสมองจะเพิ่มความถี่มากขึ้น โดยส่งผ่านไปกับประสาทสมองคู่ที่ 9 และคู่ที่ 10 การตอบสนองที่เกิดขึ้น คือหลอดเลือดจะลดแรงตึงตัวลงทำให้ความต้านทานส่วนปลายลดลง ในขณะเดียวกันจะมีการส่งคำสั่งจากประสาทเวกัสมาที่หัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลงและความแรงในการบีบตัวลดลง จึงทำให้ cardiac output ลดลง ความดันโลหิตจึงลดลงสู่ภาวะปกติ
ในทางกลับกันถ้าระดับความดันโลหิตลดลงมาก เช่น กรณีสูญเสียเลือด baroreceptor จะรับรู้ต่อการเปลี่ยนแปลงของความดันดังกล่าว จะเปลี่ยนแปลงความถี่ของสัญญาณคลื่นประสาทที่ไปยังสมองให้ช้าลงมีผลต่อสมองคือ หลอดเลือดหดตัว หัวใจเต้นเร็วและความแรงในการบีบตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นมีการหดตัวของหลอดเลือดดำเกิดขึ้น และมีผลทำให้ความจุของเลือดในหลอดเลือดดำลดลง จึงมีปริมาณเลือดไหลกลับสู่หัวใจเพิ่มขึ้น ทำให้ cardiac output เพิ่มขึ้น การตอบสนองของร่างกายดังกล่าวนี้ช่วยปรับให้ระดับความดันโลหิตเข้าสู่ภาวะปกติได้
Baroreceptor reflex มีบทบาทสำคัญในการปรับความดันโลหิตตลอดเวลาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิต จะเกิดได้แม้ในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ ท่าทางของร่างกาย ซึ่งเป็นผลจากแรงภายนอกคือ แรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้ปริมาณเลือดที่ไหลกลับสู่หัวใจเปลี่ยนแปลงชั่วคราว และรีเฟล็กซ์จะถูกกระตุ้นให้ทำงานทันทีโดยมีการเปลี่ยนแปลงขนาดของหลอดเลือด การเต้นของหัวใจ และความแรงของการบีบตัวของหัวใจ
Chemoreceptor reflex เป็นรีเฟล็กซ์ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบทางเคมีของเลือดโดยมีตำแหน่งของ chemoreceptor อยู่ที่ carotid และ aortic bodies บริเวณใกล้กับ carotid sinus และ aortic arch มีความไวในการรับรู้ต่อการเปลี่ยนแปลงของความดันบางส่วนในเลือดแดงของออกซิเจน (PaO2) และของคาร์บอนไดออกไซด์ (PaCO2) และความเข้มข้นของไฮโดรเจนในเลือด ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการควบคุมการหายใจ และ receptor นี้มีผลกระตุ้นศูนย์ควบคุมหลอดเลือดหัวใจ ในสมอง (vasomotor center) ทำให้การตอบสนองมีความรุนแรงยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น CNS ischemic response reflex ซึ่งเป็นกลไกฉุกเฉินที่จะควบคุมความดันโลหิต ในกรณีที่มีความดันโลหิตลดลงมากจนเลือดไปสู่สมองลดลง ใกล้ระดับที่เป็นอันตรายและทำให้เกิดภาวะ cerebral ischemia โดยภาวะนี้จะเป็นตัวกระตุ้นที่รุนแรง ทำให้มีการตอบสนองโดยมีการเพิ่มการทำงานของระบบประสาทซิมพาธิติก ผ่านศูนย์ควบคุมการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มการทำงานของหัวใจ และการบีบตัวของหลอดเลือด ปรับให้ความดันโลหิตสู่ระดับปกติ รีเฟล็กซ์นี้ทำเป็นระบบฉุกเฉินในการป้องกันภาวะสมองขาดเลือด
1.2 กลไกทางฮอร์โมนและสารเคมี เป็นกลไกควบคุมความดันโลหิตที่เกิดขึ้นในเวลารวดเร็วโดยอาศัยบทบาทของฮอร์โมนและสารเคมีด้วยซึ่งได้แก่ norepinephine epinephine system, renin angiotensin system และ vasopressin (ADH)
1.2.1 ฮอร์โมน norepinephine และ epinephine มีผลต่อระบบไหลเวียนเช่นเดียวกับการกระตุ้นประสาทซิมพาธิติก คือ ทำให้หัวใจทำงานเพิ่มขึ้น หลอดเลือดส่วนใหญ่ในร่างกายหดตัวทั้งหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ ความดันโลหิตสูงขึ้นซึ่งเป็นการเพิ่ม cardiac output และความต้านทานส่วนปลาย (Guyton,1986)
ส่วนฮอร์โมนอื่น ๆ ที่มีส่วนในการควบคุมความดันโลหิต คือ vasopressin ซึ่งทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มความดันภายในหลอดเลือด และเพิ่มแรงต้านทานของหลอดเลือดส่วนปลาย โดย vasopressin เพิ่มการดูดซึมกลับของน้ำที่หลอดท่อไตจึงทำให้ปริมาตรภายในหลอดเลือดเพิ่มขึ้น (Orten & Neuhaus,1982)
1.2.2 ระบบเรนิน-แองจิโอเทนซิน (renin-angiotensin system) เป็นกลไกของการปรับความดันโลหิตที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอีกชนิดหนึ่ง นอกจากนั้นยังสามารถควบคุมในระยะยาวด้วย ซึ่งจะถูกกระตุ้นเมื่อมีระดับความดันโลหิตลดลงปริมาณเลือดที่ไหลผ่านไตน้อยลง juxtaglomerular cell ของไตจะหลั่งเรนิน ซึ่งการหลั่งเรนินนี้ยังเป็นผลจากการกระตุ้นประสาทซิมพาธิติกและจากภาวะที่มีปัสสาวะน้อยลง เรนินในกระแสเลือดจะถูกเปลี่ยนไปเป็นแองจิโอเทนซิน I ที่มีผลต่อหลอดเลือดเพียงเล็กน้อย แองจิโอเทนซิน I จะถูกเปลี่ยนโดยเอนไซม์จากปอดให้กลายเป็นแองจิโอเทนซิน II ที่มีผลต่อระดับความดันโลหิตมากกว่า โดยการทำให้หลอดเลือดแดงหดตัวและยับยั้งการขับออกของเกลือและน้ำที่ไตจึงมีผลกระตุ้นการผลิตและหลั่งฮอร์โมนอันโดสเตอโรนซึ่งไปยับยั้งการขับเกลือและน้ำ แองจิโอเทนซิน II มีผลต่อหลอดเลือดค่อนข้างมาก โดยมีฤทธิ์ที่แรงกว่านอร์อิพิเนฟรินประมาณ 200 เท่า กลไกการปรับระดับความดันโลหิตโดยระบบเรนิน-แองจิโอเทนซินดังแสดงในภาพด้านล่าง





















ภาพที่ 10 แผนผังแสดงกลไกการทำงานของระบบเรนิน-แองจิโอเทนซินในการปรับความดันโลหิต
ที่มา : Texbook of medical physiology ( p.254 ) by A.C. Guyton, 1986, (7 th ed.).
philadephia : W.B.Saunders.



2. กลไกการปรับความดันโลหิตที่ต้องใช้เวลานาน หมายถึง กลไกที่ใช้เวลานานเป็นนาทีถึงชั่วโมงในการปรับระดับความดันโลหิต ซึ่งเกิดขึ้นช้ากว่ากลไกทางระบบประสาท ได้แก่การควบคุมปริมาตรของเลือดโดยกลไกทางหลอดเลือดฝอยและกลไกทางไต
2.1 กลไกทางหลอดเลือดฝอย (capillary fluid shift) เกิดโดยเมื่อความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงจะมีผลไปถึงความดันในหลอดเลือดฝอยด้วย ทำให้สมดุลของการแลกเปลี่ยนสารน้ำผ่านผนังหลอดเลือดฝอยถูกรบกวนไปด้วยถ้าความดันโลหิตสูง ค่า hydrostatic pressure ของหลอดเลือดฝอยจะเพิ่มขึ้นด้วยทำให้มีการกรองของน้ำออกนอกหลอดเลือดมากขึ้น ปริมาตรของเลือดภายในหลอดเลือดจึงลดลง ถ้าความดันโลหิตลดลงก็จะเกิดผลตรงกันข้าม กลไกนี้มีประโยชน์ช่วยปรับความดันโลหิตโดยการควบคุมปริมาตรของหลอดเลือด
2.2 กลไกทางไต (Renal body fluid mechanism) การปรับความดันโลหิตโดยบทบาททางไตเป็นกลไกที่ต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงกว่าจะมีประสิทธิภาพสูงสุดซึ่งในช่วงแรกของการปรับต้องอาศัยกลไกอื่นๆ ที่ตอบสนองภายในเวลาอันรวดเร็วกว่าร่วมด้วยกลไกทางไตทำได้โดยอาศัยบทบาทการทำงานของระบบเรนิน-แองจิโอเทนซิน ทำให้เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการดูดกลับของโซเดียมและน้ำ คือ aldosterone และโดยการออกฤทธิ์ของ vasopressin ทำให้มีการดูดกลับของน้ำที่หลอดฝอยของไตเพิ่มขึ้น กลไกทางไตในการปรับความดันโลหิตเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของความดันของหลอดเลือดดังแผนผัง















พยาธิกำเนิดของความดันโลหิตสูง
ภาวะความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเรียกว่า primary หรือ essential หรือ idiopathic hypertension ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 92 ถึงร้อยละ 94 ของประชากรที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ส่วนชนิดที่ทราบสาเหตุเรียกว่า secondary hypertension
ถึงแม้ว่าไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของความดันโลหิตสูงชนิด essential แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายสาเหตุหลายประการในกลุ่มผู้ป่วยที่หลากหลายที่สำคัญคือ เชื่อว่าความดันโลหิตสูงเป็นผลของอิทธิพลสิ่งแวดล้อมหลายประการต่อสภาพทางพันธุกรรมของผู้นั้นและอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกายที่มีผลต่อความดันโลหิตสูงได้แก่ แคทอิออน ต่างๆ คือ เกลือที่ร่างกายได้รับไป ความไวของร่างกายต่อการได้รับเกลือซึ่งพบประมาณร้อยละ 60 ของผู้ป่วย ตัวอย่างของสิ่งแวดล้อมดังกล่าวนี้ เช่น แคลเซียม โปรแตสเซียม และแมกนีเซียม ความอ้วน และอื่นๆ สาเหตุต่างๆ เหล่านี้ถึงแม้ว่าเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป แต่กลไกของการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงยังอธิบายได้ไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตามการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงนั้นอาจกล่าวได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกันพยาธิสภาพ ของหัวใจและหลอดเลือดร่วมกับปัจจัยที่สำคัญคือ การได้รับเกลือในอาหารจำนวนมาก และสภาพทางพันธุกรรมดังแผนผังในภาพ













































การรักษาพยาบาล
จุดมุ่งหมายร่วมกันของแพทย์และพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูงคือลดความดันโลหิตสูงขึ้นเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางโรคหัวใจและหลอดเลือดตลอดจนอวัยวะเป้าหมายอื่นๆ มิให้เสียหายอย่างกลับคืนไม่ได้ พยาบาลจึงจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องโรคและยาที่ใช้รักษาเป็นอย่างดี เพื่อสามารถตอบคำถามและให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวได้ ควรเน้นให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าความดันโลหิตสูงที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จำเป็นต้องควบคุมความดันโลหิตแม้ว่าจะไม่มีอาการแสดงออกมา และให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการรักษาพยาบาลให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสซักถามในสิ่งที่ตนเองสงสัยหรือไม่แน่ใจ มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนการรักษาและดูแลตนเองให้สอดคล้องกับแบบแผนการดำเนินชีวิต
การรักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุมักจะต้องใช้การรักษาด้วยการใช้ยา (Pharmacologic therapies) และวิธีการรักษาโดยไม่ใช้ยา (nonpharmacologic therapies)
ส่วนผู้ป่วยความดันโลหิตสูงชนิดมีสาเหตุจะต้องรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูงและลดความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมบางโรคจำเป็นต้องใช้วิธีการด้วยการผ่าตัดร่วมด้วย
ในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้แนะนำขั้นตอนการรักษาตั้งแต่ระดับความดันโลหิตที่ควรเริ่มรักษาตลอดจนวิธีการรักษาในขั้นตอนต่างๆ ซึ่งรวมทั้งการใช้ยารักษาและการรักษาโดยวิธีอื่นๆ ดังแสดงในแผนภูมิ











































ภาพแผนภูมิที่ 12 แสดงถึงขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
ที่มา : องค์การอนามัยโลก อ้างอิง Kaplan,1992.855
การรักษาด้วยวิธีไม่ใช้ยา (Nonphamacological therapies)
1. การลดอาหารที่มีเกลือโซเดียม อาหารที่รับประทานประจำวันโดยทั่วไปมีปริมาณเกลือ 10-20 กรัม (เกลือ 1 กรัมมีโซเดียม 17.1 mEq) และเกลือ 1 ช้อนชามีโซเดียม 2.3 กรัมหรือ 100 mEq ประมาณ 2/3 เป็นเกลือในอาหารตามธรรมชาติ ส่วน 1/3 เป็นเกลือที่เพิ่มขึ้นในการปรุงอาหาร จากการศึกษาพบว่าถ้าลดปริมาณการบริโภคเกลือจาก 10 กรัม เหลือ 5 กรัมต่อวัน จะสามารถลดความดันโลหิตได้ถึง 10/5 มม.ปรอท
ควรแนะนำไม่ให้เพิ่มรสเค็ม พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือปน เช่น ของดอง ของเค็ม ของตากแห้ง หรืออาหารที่มีปริมาณเกลือสูงอยู่แล้ว เช่น กะปิ น้ำปลา ซีอิ้ว เป็นต้น
2. การให้โปรแตสเซียม แคลเซียม ให้เพียงพอ การให้โปรแตสเซียมเพิ่มในอาหารจช่วยป้องกันการทำลายเส้นเลือดและลดโอกาสการเกิด stroke ได้ นอกจากนั้นควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้เพียงพออย่างน้อย 1,000 มก./วัน
3. การลดน้ำหนัก จากการวิจัยพบว่าลดน้ำหนักได้ 1 กก. ในโรคอ้วนความดันโลหิตจะลดลง 1.6/1.3 มม.ปรอท การลดน้ำหนักนอกจาจำกัดแคลอรี่แล้วยังต้องลดอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงและกรดไขมันอิ่มตัวด้วย
4. การออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องโดยเฉพาะการใช้กล้ามเนื้อใหญ่เคลื่อนไหว เช่น aerobic exercise เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ ปั่นจักรยานและว่ายน้ำพบว่าสามารถลดความดันโลหิตสูงได้ แต่ไม่ควรออกกำลังกายแบบ isometric exercise เพราะจะเป็นอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ
5. การปรับแบบแผนการดำเนินชีวิตบางอย่าง เช่น การงดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ งดการดื่มสุรา และการควบคุมอารมณ์โกรธ ฝึกทักษะทางสังคมในการสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นการแสวงหาแรงสนับสนุนทางสังคมที่พอเพียง ฝึกตัดสินใจแก้ปัญหาและฝึกวิธีการผ่อนคลายรวมทั้งการเปลี่ยนการรับรู้และทัศนคติต่อเหตุการณ์ต่างๆ ไปในทางที่ดีหรือเปลี่ยนอารมณ์ไปเป็นพลังที่สร้างสรรค์จะทำให้เกิดผลดีกับผู้ป่วย
6. การลดความตึงเครียดเป็นวิธีการให้ผู้ป่วยฝึกฝนทักษะการควบคุมตนเอง การใช้วิธีการผ่อนคลายมีขั้นตอน 5 ขั้นคือ อยู่ในท่าที่สบาย หายใจเป็นจังหวะช้าๆ ตั้งสมาธิให้แน่วแน่ วิธีนี้สามารถกระทำได้ทุกที่ที่ใดก็ได้





การรักษาโดยวิธีการใช้ยา (Pharmacological therapies)
ปัจจุบันยารักษาความดันโลหิตสูงมีมากมายหลายชนิดซึ่งแต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสียและประสิทธิภาพแตกต่างกันไป ในการเริ่มต้นใช้ยารักษาคณะเชี่ยวชาญเฉพาะโรคสาขาโรคความดันโลหิตสูงของกระทรวงสาธารณสุขได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ให้ใช้ยาลดความดันโลหิตที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะในกลุ่ม thiazides เป็นยาชนิดแรกในการรักษา เนื่องจากราคาถูกและมีประสิทธิภาพดีในการรักษาเหมาะสมกับฐานะเศรษฐกิจของคนไทย
ขั้นตอนที่ 2 ถ้ารับประทานยาอยู่อย่างเดียวในขั้นตอนที่ 1 แล้วยังลดความดันโลหิตได้ไม่ดีแพทย์อาจพิจารณาให้เพิ่มยาชนิดที่ 2 คือยาในกลุ่มยาปิดกลั้นแอดรีเนอร์จิก (Adernergic receptor blocking drugs) หรือยาในกลุ่มขยายกลุ่มขยายหลอดเลือด
ขั้นตอนที่ 3 ในผู้ป่วยที่ได้รับยาขั้นตอนที่ 2 แล้วยังลดความดันได้ไม่ดีแพทย์มักจะให้เพิ่มยาใน ขั้นตอนที่ 3 ซึ่งได้แก่ ยาต้านแคลเซียม หรือยาที่ยับยั้งเอนไซม์ที่เปลี่ยน angiotensin
ขั้นตอนที่ 4 ในกรณีที่ไม่สามารถจะควบคุมความดันโลหิตได้ด้วยยาดังกล่าวแพทย์มักส่งต่อเพื่อปรึกษาผู้เชี่ยวชาญต่อไป
การดูแลที่จำเป็นโดยทั่วไปในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
1. ให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสพักผ่อนสร้างบรรยากาศที่สงบเงียบ
2. อธิบายถึงวิธีการตรวจเพื่อการวินิจฉัยให้ผู้ป่วยทราบ เพราะผู้ป่วยเหล่านี้มักตื่นเต้นตกใจ กลัววิตกกังวลและคิดมากไม่สามารถจะคลายความตึงเครียดได้ในขณะทำการตรวจต่างๆ ได้ง่าย
3. รับฟังผู้ป่วยในเรื่องความวิตกกังวล ห่วงใย ให้กำลังใจ ให้ข้อมูลตามเหมาะสม
4. วัดและบันทึกความดันโลหิตของผู้ป่วยอย่างระมัดระวังและให้ถูกต้องทั้งท่านั่งและท่านอนวันละครั้งและทุกครั้งก่อนให้ยาความดันโลหิต
5. บันทึกจำนวนของเหลวที่ได้รับและจำนวนปัสสาวะทุกวันและดูแลให้ผู้ป่วยชั่งน้ำหนักอย่างถูกต้อง
6. ถ้าผู้ป่วยได้รับยาลดความดันโลหิตที่ทำให้ปากแห้งกระตุ้นให้ผู้ป่วยดูแลความสะอาด ความสะอาดของ ปาก ฟัน เป็นพิเศษ
7. ในผู้ป่วยที่ได้รับยาที่ทำให้ความดันโลหิตต่ำลงอย่างมากในท่ายืนตรง จะต้องวัดความดันโลหิตของผู้ป่วยทั้งท่านอนและท่ายืนและการวัดในท่ายืนจะต้องกระทำหลังจากผู้ป่วยเปลี่ยนท่า 10 นาที เพื่อให้ความดันโลหิตคงที่ป้องกันการได้ยามากเกินไปและป้องกันการเกิดความดันโลหิตต่ำในท่ายืนตรงและหลีกเลี่ยงการปวดศีรษะในตอนกลางคืนจึงควรให้ผู้ป่วยนอนหลับในท่าศีรษะสูงผู้ป่วยที่ได้ยาลดความดันโลหิตอาจเกิดความดันโลหิตลดต่ำลงได้อย่างเฉียบพลันมีอาการเป็นลมหน้ามืด อ่อนเพลียไม่มีแรง คลื่นไส้ อาเจียน พยาบาลควรสอนให้ผู้ป่วยดูแลตนเองเพื่อป้องกันการเกิดความดันโลหิตต่ำอย่างเฉียบพลันและวิธีปฏิบัติถ้าเกิดขึ้น
7.1 ถ้ามีอาการหน้ามืดจะเป็นลม อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน จะต้องยกขาให้สูงว่าศีรษะ งอกล้ามเนื้อต้นขา และงอยืดข้อนิ้วเท้า ท่านี้จะช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองดีขึ้นและไม่ให้เลือด มาตกอยู่ที่บริเวณปลายๆ
7.2 หลังจากออกกำลังกายไม่ควรอาบน้ำร้อนให้แอลกอฮอล์ทาตัวมากเกินไปหรือไปนอนอยู่เฉยๆ เพราะจะทำให้หลอดเลือดขยายตัวมากเกินไป
7.3 เวลาเปลี่ยนท่าจากท่านอนเป็นท่านั่งหรือท่ายืนจะต้องทำช้าๆ ความดันโลหิตต่ำในท่ายืนตรงมักจะเป็นมากตอนเช้าๆ ก่อนจะลุกขึ้นควรจะยกแขนขาแล้วค่อยๆ ลุกขึ้นนั่งก่อนสักครู่หนึ่งจึงห้อยขา ถ้าผู้ป่วยสามารถจะนั่งได้โดยที่ไม่มีอาการเวียนศีรษะ ก็ควรจะลุกยืนข้างเตียงประมาณ 10 นาทีจึงเริ่มเคลื่อนไหว
7.4 หลีกเลี่ยงการยืนเฉยๆ เช่น ยืนรอรถเมล์ ยืนโทรศัพท์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากรับประทานยาไป 1-2 ชั่วโมง เพราะการยืนนานๆ จะทำให้หลอดเลือดบริเวณขาขยายตัวทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลงอาจทำให้หน้ามืดเป็นลมได้
7.5 ถ้าขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรใน 1-2 ชั่วโมงแรกของการรับประทานยาจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
7.6 หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ถ้าได้ยากลุ่ม monoamine oxidase inhibitor อาจเกิดปฏิกิริยาซึ่งทำให้เกิดเลือดออกสมองได้
7.7 หลีกเลี่ยงอาการท้องผูก อาจใช้ยาระบายอ่อนๆ ออกกำลังกายและดื่มน้ำให้เพียงพอท้องผูก ทำให้การดูดซึมของยาไม่สม่ำเสมอหรือมากเกินไป เกิดความดันโลหิตลดต่ำลงได้
7.8 ถ้าเกิดความดันโลหิตต่ำขั้นวิกฤตให้พันขาไว้ด้วยผ้าพัน เมื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจะช่วยไล่เลือดจากปลายขาได้










Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2551 14:23:14 น. 5 comments
Counter : 85947 Pageviews.

 
ขอบคูณข้อมูลที่มีประโยชน์มากนะคะ
กำลังหาทำรายงาน ขอบคุณจริงๆ


โดย: ฝน IP: 58.147.44.47 วันที่: 15 มิถุนายน 2551 เวลา:23:10:26 น.  

 
ขอบคุณค่า

เป็นข้อมูลที่ต้องการพอดีเลย


โดย: กล้วยไม้ยามเช้า IP: 202.12.73.18 วันที่: 24 กันยายน 2551 เวลา:12:26:26 น.  

 
รูปภาพไม่ขึ้นเลยค่ะ อยากดูรูปช่วยส่งให้หน่อยได้มั้ยค่ะ


โดย: Fanta IP: 115.67.116.139 วันที่: 14 ธันวาคม 2551 เวลา:10:24:09 น.  

 
เป็นประโยชน์มากเลยค่ะ ขอบคุณที่เอามาลงนะคะ


โดย: rosymirror IP: 223.206.181.251 วันที่: 30 พฤศจิกายน 2553 เวลา:18:33:48 น.  

 


โดย: peter125 (steven1064 ) วันที่: 2 มกราคม 2555 เวลา:9:00:20 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนูเดินบนเส้นทางอันโดดเดี่ยว




เราจักภูมิใจ...ในชีวิต

ถ้าโกรธกับเพื่อน.....มองคนไม่มีใครรัก
ถ้าเรียนหนักๆ.....มองคนอดเรียนหนังสือ
ถ้างานลำบาก.....มองคนอดแสดงฝีมือ
ถ้าเหนื่อยงั้นหรือ.....มองคนที่ตายหมดลม
ถ้าขี้เกียจนัก.....มองคนไม่มีโอกาส
ถ้างานผิดพลาด.....มองคนไม่เคยฝึกฝน
ถ้ากายพิการ.....มองคนไม่เคยอดทน
ถ้างานรีบรน.....มองคนไม่มีเวลา
ถ้าตังค์ไม่มี.....มองคนขอทานข้างถนน
ถ้าหนี้สินล้น.....มองคนแย่งกินกับหมา
ถ้าข้าวไม่ดี.....มองคนไม่มีที่นา
ถ้าใจอ่อนล้า.....มองคนไม่รู้จักรัก
ถ้าชีวิตแย่.....จงมองคนแย่ยิ่งกว่า
อย่ามองแต่ฟ้า.....ที่สูงเกินตาประจักษ์
ความสุขข้างล่าง.....มีได้ไม่ยากเย็นนัก
เมื่อรู้แล้วจัก.....ภาคภูมิชีวิตแห่งตน

Location :
นครสวรรค์ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





When I miss you,I just close my eyes::ยามใดที่ฉันคิดถึงเธอ ฉันจะเจอเธอได้เพียงหลับตา

°o.O[P]in[K]-[M]oo[N]O.o°




Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
242526272829 
 
7 กุมภาพันธ์ 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add หนูเดินบนเส้นทางอันโดดเดี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.